ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

~ หลวงปู่ชอบ ฐานสโม วัดป่าโคกมน ~

[คัดลอกลิงก์]
81#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 20:16 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ท่านพระอาจารย์บุญญฤทธิ์เล่าว่า พอได้ยินคำว่า “อภิญญา” ท่านก็เก็บบาตรขึ้นไปเชียงใหม่ทันที โดยไม่ฟังเสียงใครเลย ท่านเจ้าอาวาสยังท้วงว่า จวนเข้าพรรษาแล้วจะไปไหน ไม่อยู่จำพรรษาที่นี่หรือ

“ผมจะไปจำพรรษากับท่านอาจารย์ชอบครับ” ท่านตอบ

“ประเดี๋ยวได้ถูกหามออกมาดอก”

ก็น่าที่ท่านเจ้าอาวาสจะว่าเช่นนั้น ท่านพระอาจารย์บุญญฤทธิ์เป็นคนกรุงเทพฯ เคยเป็นข้าราชการ เพิ่งลาออกมา เรียกว่า เคยต่อชีวิตชาวกรุงที่สะดวกสบาย จู่ ๆ ก็จะไปธุดงค์ และเข้าป่าไปอยู่กับท่านพระอาจารย์ชอบเสียด้วย !

ท่านยืนยันว่า “หาม ไม่หาม ผมก็ไปละ !”

ไปถึงเชียงใหม่ พบหลวงปู่ตื้อ อจลธัมโม ซึ่งเป็นองค์ที่เลิศทางธุดงค์ในป่าเขาเหมือนกัน ทราบว่าท่านพระอาจารย์บุญญฤทธิ์จะไปตามหาหลวงปู่ชอบ ท่านก็ท้วงด้วยความหวังดี อย่าเพิ่งไปเลย รอหน้าแล้งก่อนเถอะ ตอนนี้อากาศชื้น ลำบากมาก

ท่านแวะที่ห้วยน้ำริน กราบหลวงปู่แหวน หลวงปู่แหวนท่านก็ห้ามอีก อย่าไป... !

ท่านพระอาจารย์บุญญฤทธิ์ก็ไม่ฟัง ท่านว่า ท่านเคยได้ยินเรื่องราวหลวงปู่ชอบมามากแล้วเหมือนกัน จำได้แต่เรื่องราว แต่จำชื่อหลวงปู่ไม่ได้ ดังนั้นเมื่อเห็นองค์ท่านที่วัดเจดีย์หลวงวันวิสาขบูชา วันนั้นจึงพลาดโอกาสที่จะเข้าไปกราบคารวะอย่างน่าเสียดาย และแถมใจยังนึกประมาทท่านเสียด้วย...!

ท่านว่า ชีวิตธุดงค์อันยากแค้น ลำบากกันดารของหลวงปู่คงจะเป็นที่เล่าลือกัน ทราบกันดีในหมู่พระกรรมฐาน ดังนั้นเพียงว่าจะไปอยู่กับท่านอาจารย์ชอบ...ไม่ทันรู้ว่าจะเป็นที่ไหน จังหวัดใด ก็จะถูกทักท้วง ห้ามปรามทันที

ท่านไม่ฟังเสียงใคร ดั้นด้นตามไปจนพบหลวงปู่ชอบจนได้ ท่านกำลังอยู่ที่ผาแด่น ท่านพระอาจารย์บุญญฤทธิ์กะให้ไปถึงหลวงปู่เวลาเข้าพรรษาพอดี “เพื่อว่า ท่านจะได้ไล่เราหนีไม่ได้” ท่านสารภาพแผนในใจ

ท่านเล่าว่า เคยได้ยินกิตติศัพท์ความลำบากยากแค้นกันดารมาแล้ว แต่ก็ได้ประสบคราวนี้เอง ว่าความจริงแล้ว มันลำบากยากแค้นกันดารมากกว่าที่คิดมากนัก

จริงอยู่ พอจะบิณฑบาตจากพวกยางที่เชิงเขาได้ หากแต่ว่าอาหารที่ใส่บาตรมานั้น พระชาวกรุงอย่างท่านเห็นครั้งแรกก็แทบสะอึก มีลักษณะเหมือนขี้ควายเราดี ๆ นี่เอง !

เขาใส่บาตรกันหลายอย่างอยู่... บอนตำกับน้ำ เหยาะเกลือพอปะแล่ม ๆ บ้าง... ใบไม้ตำกับเกลือ ใส่น้ำขลุกขลิกบ้าง ! บอนตำไม่ใส่เกลือบ้าง...!! เกลือกับพริกละลายน้ำบ้าง...! บอนตำไม่ใส่เกลือบ้าง...!! เกลือกับพริกละลายน้ำบ้าง...!! สับเปลี่ยนเวียนวนกัน
82#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 20:16 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
แรก ๆ ท่านรู้สึกพะอืดพะอม มองดูหลวงปู่ ก็เห็นฉันหน้าตาเฉย ท่านก็ต้องกล้ำกลืนฉันไปบ้าง

นี่เอง ที่ท่านสอนว่า ฉันตามมีตามได้..ฉันพอประทังให้ธาตุขันธ์อยู่ได้...!

ท่านฉันได้ เราก็ต้องฉันได้ เวลามีเกลือใช้ ก็ยังดีที่มีรสบ้าง บอนนั้นก็มัน ๆ ดี ท่านฉันไปหนึ่งเดือน ท้องร่วงถ่ายตลอด หน้าซีด หน้าเซียว

วันหนึ่ง มีไก่มาถวายเป็นอาหาร ได้ความว่ามีงานพิธีกันในหมู่พวกยาง

หลวงปู่ไม่ฉันเนื้อไก่นั้น สั่งว่า “เก็บไว้ให้บุญญฤทธิ์ ยามาแล้ว !” ท่านว่า แล้วก็ให้ไปตามท่านพระอาจารย์บุญญฤทธิ์มา

ท่านว่า ก็แปลก พอท่านฉันไก่ที่หลวงปู่สั่งว่า เป็นยา ท่านก็หายท้องร่วงที่เป็นมาตลอดเวลา ๑ เดือนเลย

ท่านพระอาจารย์บุญญฤทธิ์ได้เล่า กิจวัตรที่ปรนนิบัติหลวงปู่ระหว่างอยู่ที่ผาแด่นว่า

ก่อนสว่าง ต้องไปก่อไฟต้มน้ำ โดยต้องทำอย่างเงียบที่สุด ไม่ให้มีเสียงเลย ดังนั้นจึงต้องไปหาฟืนมาเก็บสำรองไว้แต่กลางคืน ตอนเช้า บนเขามืดมาก ต้องค่อยคลำหาฟืน แล้วก็จุดไฟ

เกิดมาไม่เคยก่อไฟ ก็ต้องทำ ผ่าไม้ฟืน ตักน้ำถวายท่าน ถังน้ำเป็นถังสังกะสี เกรงหูถังจะกระทบส่งเสียงดัง ต้องเอานิ้วหัวแม่มือสอดคานไว้ ค่อยตักน้ำ เผลอตัว บางทีหูถังก็หนีบนิ้ว ทำให้ต้องตั้งสติระวังตัวไม่ให้เผลอ

ต้มน้ำเดือดแล้ว พอดีใกล้สาง ผสมน้ำอุ่นไปถวายท่าน เดินก็ต้องค่อย ๆ ย่อง ไม่ให้มีเสียงเลย กระโถนนั้นกลางป่าไม่มีใช้ ต้องใช้กระบอกไม่ไผ่แทน เช้าขึ้นต้องคอยนำกระบอกไม่ไผ่ ไปเทและล้าง

ตอนสาย และ บ่าย ก็กวาดใบไม้ ภาวนาไปด้วย ป่าลึกบนยอดเขานั้น ท่านว่าระยะนั้นพวกป่าไม้เองก็ยังไปไม่ถึง ต้นไม้แต่ละต้นใหญ่มหึมา สองคนโอบไม่รอบ หมีไปกินผึ้งแถวบริเวณกุฏินั่นเอง เสียงบ่นพึมพำ ทำให้ท่านเข้าใจในตอนนั้นเอง วลีที่ว่า บ่นเป็นหมีกินผึ้ง นั้นเป็นอย่างไร เวลาหมีไปแล้ว มนุษย์ก็ได้อาศัยน้ำผึ้งจากรังผึ้งเหล่านั้นมาเป็นคิลานเภสัชต่อไป พวกผึ้งมาทำรวงรังกันมากในบริเวณนั้น

ใกล้ ๆ กับผาแด่น มีดอยอีกแห่งหนึ่ง ชื่อ ผาเด่ง เป็นที่เหมาะแก่การทำความเพียรเช่นกัน

ท่านเล่าว่า ภาวนาไป บางทีได้ยินเสียงดัง หว่ก ๆ เหมือนกับหวูดรถไฟ หลวงปู่บอกว่า เป็นเสียงพญานาค เสียงดังมาก จนอากาศสั่นสะเทือนทีเดียว สันเขานั้นเรียวสูงขึ้นไป เวลาเดินจงกรม เงาของเราจะทอดยาวไปทับอีกเขาหนึ่ง เหมือนเงากำลังเดินจงกรมอยู่ ณ เขา นั้นเช่นเดียวกัน ยามบ่าย ถ้าอากาศดี แสงแดดจะส่องตามทิวเขาที่สลับซับซ้อนกัน เห็นสีม่วง สีน้ำเงิน สีแสด สีชมพู ดูงามตายิ่งนัก

ธรรมชาติสงบวิเวก จิตก็วิเวกสงบตามไป

ท่านว่า หลวงปู่ไม่สอนมาก ต่างองค์ต่างภาวนา แต่เมื่อท่านคิดอย่างไร บางทีหลวงปู่ก็ทัก บุญญฤทธิ์ทำจิตอย่างนั้นไม่ถูก
83#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 20:17 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
จากที่หลวงปู่ยอมรับศิษย์ให้ติดตาม ระยะนี้เองที่ข้อวัตรปฏิบัติที่เป็นสิ่งภายนอกของท่านได้เป็นที่รู้เห็น หรือมีโอกาสที่มีผู้ได้ยินได้ฟังมากขึ้น

ศิษย์รุ่นน้อง รุ่นลูก รุ่นหลาน ได้ประสบกับตาตนเอง ก็เล่าต่อ ๆ กันไป...จึงมีต้นเค้า ให้สามารถสืบสาวราวเรื่องกลับมาเรียนซักท่านเจ้าของประวัติได้...

ครั้งหนึ่ง ใน พ.ศ. ๒๔๙๐ ท่านไปวิเวกที่ปางหยาดหนาด ซึ่งอยู่ห่างจากผาแด่นไปทางทิศตะวันตก ราว ๓ กิโลเมตร มีสามเณรน้อยชื่อ เลื่อน และผ้าขาวคนหนึ่งชื่อ สมผล ติดตามไปด้วย หลวงปู่ไม่ค่อยได้ออกบิณฑบาต ท่านอดอาหาร ๗ วันบ้าง ๑๕ วันบ้าง สามเณรและผ้าขาวจึงต่างหาอาหารกินกันเอง คืนหนึ่งมองเห็นที่กุฏิหลวงปู่มีแสงสว่างแดงโร่ไปทั้งกุฏิ สว่างจ้าจนบอกไม่ถูก ตกใจกันว่าแสงอะไร หรือเกิดไฟไหม้ ชวนกันวิ่งไปดู ไปถึงที่กุฏิก็กลับมืด ไม่เห็นมีแสงอะไร พอกลับออกไป ก็เห็นแสงสว่างที่กุฏิอีก ! กลับไป กลับมา หลายครั้ง จนมานั่งงงกัน จะว่าตาฝาดก็เห็นเหมือนกัน รุ่งขึ้นมีโอกาส ก็กราบเรียนถามท่าน

ท่านจึงเล่าให้ฟังว่า เมื่อคืนนี้เทวดามาเต็มหมด มาขอฟังเทศน์

“ท่านอาจารย์เทศน์หรือเปล่าครับ”

“เทศน์” ท่านตอบ และราวกับรู้ใจศิษย์ทั้งสองที่นั่งนิ่งอ้าปากตะลึง แต่ใจคงอยากรู้เรื่องต่อแทบไม่หายใจ ท่านก็เลยบอกต่อให้

“เฮาเทศน์เรื่องพระไตรสรณาคมน์ให้ฟัง”



อีกครั้งหนึ่ง ที่มีผู้รู้เห็นเรื่องเทวดามาฟังธรรมจากท่าน คือท่านอยู่ที่บ้านไร่ม่วง ศรัทธาคนหนึ่ง ชื่อ แดง เห็นแสงสว่างเป็นสีแดงจ้าจับฟ้า ทางทิศที่กุฏิหลวงปู่ตั้งอยู่ ก็วิ่งไปเรียก หลวงปู่ชามา อจุตโต (แห่งวัดป่าอัมพวัน จังหวัดเลย มรณภาพแล้ว) ให้ไปช่วยดับไฟ เพราะคิดว่าไฟไหม้ ไปถึง ก็ไม่เห็นมีฟืนมีไฟอะไร แต่อย่างเคย กลับมาก็ยังเห็นแสงสว่างอย่างเก่า หลวงปู่ชามาจึงเคารพ เกรงหลวงปู่มาก

หลวงปู่ชามายกย่องบารมีธรรมหลวงปู่มาก ท่านเล่าว่า ท่านเคยประสบด้วยองค์เองหลายครั้ง นอกจากที่บ้านไร่ม่วง ท่านเคยไปธุดงค์กับหลวงปู่หลายต่อหลายแห่ง ครั้งนั้นท่านทั้งสองไปวิเวกกันที่ภูวัว และภูทอก จังหวัดหนองคาย ท่านว่าเป็นที่ซึ่งมีเทพภุมเทวดามาก

“เราเองไม่เห็นอะไร..แต่ท่านเห็น” หลวงปู่ชามาท่านบอก แล้วก็เล่ารายละเอียดว่า ขณะนั้นท่านวิเวกอยู่ที่ภูทอก ในถ้ำบนเขาชั้นที่ ๕ ท่านมีคนติดตามไปด้วยชื่อ ทิดดม เห็นกลดของหลวงปู่ชอบสว่างมาก มีแสงเรืองออกโดยรอบบริเวณกลด แสงสว่างจ้าราวกับกลางวัน ในขณะมี่บริเวณห่างออกไปนั้นมืดสนิท ทั้งทิดดมและหลวงปู่ชามา ตกใจ เข้ามาดูใกล้ ๆ เห็นหลวงปู่ชอบท่านนอนหลับอยู่ พอห่างออกมา กลับเห็นเหมือนท่านนั่งสมาธิ มีรัศมีแพรวพราวแสงออกจากตัว
84#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 20:17 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ตื่นเช้าขึ้นมา ต่างคนต่างขอโอกาสเรียนถามว่า เป็นอะไร เพราะอะไร

หลวงปู่กลับย้อนถามว่า นอกจากองค์ท่าน เห็นอะไรอื่นอีกไหม

หลวงปู่ชามาและทิดดมสารภาพว่า ไม่เห็น เห็นแต่แสงอยู่ในกลด

ท่านเลยตอบว่า พวกตาหมากขามขี้ (สำนวนอีสาน – ตาไม่ถึง) เมื่อคืนนี้ พวกเทพมาเต็มหมดแถวนี้

“เราเองไม่เห็นอะไร...แต่ท่านเห็น”

“เราเองไม่รู้อะไร...แต่ท่านรู้”


ประโยคแบบข้างบนนี้ จะเป็นความที่ศิษย์รุ่นน้อง รุ่นลูก รุ่นหลาน บางคนจะต้องรำพึงกันเสมอ เพราจะว่าไม่มีไม่จริง ก็ได้พบเหตุการณ์บางอย่างที่สอดคล้องกันให้อัศจรรย์ใจอยู่

ท่านพระอาจารย์คำผองเล่าว่า ท่านเคยติดตามหลวงปู่ไปอยู่ที่บ้านม่วงไข่ ซึ่งในสมัยแรก ๆ นั้นยังลำบากมาก ที่พักพระเณรอยู่บนเขา ต้องลงมาบิณฑบาตที่บ้านชาวไร่เชิงเขา น้ำกินน้ำใช้ก็เช่นกัน ข้างบนเขานั้นไม่มีบ่อน้ำ ต้องลงมาอาบน้ำที่เชิงเขา และช่วยกันตักน้ำขึ้นไปใส่ตุ่มบนยอดเขา ทางชันมาก เต็มไปด้วยป่าไผ่ ซึ่งมีหนามไหน่คม คอยเกาะเกี่ยวสบง อังสะพระเณร บางทีถึงเลือดออกซิบ ๆ ความที่เรียก “ทาง” นั้นไม่มีเลย ต้องเดินหลีกกอไผ่ลดเลี้ยวลงมาเอง บางครั้งใบไผ่ที่ตกทับถมกัน มองดูเหมือนผืนดิน พอเหยียบเข้า ก็ยุบลง ทำให้พระเณรลื่นไถลลงไหล่เขามา ถลอกปอกเปิกหมด

ได้ความลำบากกัน ทั้งเวลาลงมาบิณฑบาตและตักน้ำ จะไปเรียกชาวบ้านมาช่วยทำ เขาก็กำลังยุ่งอยู่กับการทำไร่ ไถนาของเขา พระเณรก็อดบ่นกันไม่ได้

ท่านได้ยินก็เปรยว่า “เทวดาเขาคงจะทำให้หรอก”
85#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 20:18 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ไม่มีใครคิดอะไรมาก เย็นวันนั้น ฝนตกใหญ่...ตกหนักอย่างไม่ลืมหูลืมตา พายุก็แรง เสียงลม เสียงฝน เสียงฟ้า เหมือนภูเขาจะถล่ม

ตอนรุ่งเช้า พระเณรก็เตรียมเรื่องสบงจีวรกันอย่างทะมัดทะแมง เพื่อรับมือกับหนามไผ่ที่เคยผจญกันมาระหว่างทาง ฝนตกหนักอย่างนี้ กอไผ่จะล้มระก่ายกันขวางทาง ต้องกระโดดข้ามกันแค่ไหนก็ไม่ทราบ

ประหลาดที่สุด ที่เมื่อพอเตรียมจะลงจากเขา มองลงไปก็เห็นเป็นทางดินกว้าง ตั้งต้นจากวัดบนเขา ลงไปจนถึงที่ตักน้ำ และบิณฑบาต กอไผ่รื้อไปเป็นกอ ๆ แต่ก็มิได้ล้มลงกีดขวางทาง ราวกับมีมือยักษ์มากวาดป่า กอไผ่แหวกออกไปเป็นแนว แล้วแยกกอไผ่เหล่านั้นออกไปวางสองข้างทางนั้นอย่างเป็นระเบียบ

ท่านชี้แจงว่า “พญานาคเขามาทำทางให้”

เหตุนี้เวลาเที่ยวจาริกธุดงค์ไปตามยอดดอย บนเทือกเขาตามป่าดงพงลึกนั้น หลวงปู่จึงเตือนศิษย์ ให้สำรวมระวัง ไม่ให้ประมาทว่า ถ้าหากไม่มีผู้คนจะเห็น หรือได้ยินแล้ว จะไม่มีอะไรอื่นอีก สิ่งลึกลับเกินกว่าที่จิตของมนุษย์ปุถุชนธรรมดาจะรู้เห็นได้ยังมีอีกมากมายนัก

สิ่งเหล่านั้น ท่านว่า แม้จะมีอยู่มากมายเพียงไร แต่สำหรับผู้ที่ไม่เห็น ไม่รู้ก็เหมือนไม่มี ทั้ง ๆ ที่ความจริง โลกนี้ไม่เคยว่างเว้นจากมวลสัตว์ชนิดต่าง ๆ ทั้งหยาบและละเอียด ซึ่งมีภพภูมิแตกต่างกัน ผู้ยังไม่เคยพบ เคยเห็น เคยรู้ จึงยังไม่ควรปฏิเสธว่า ไม่มี ไม่จริง

โดยเฉพาะผู้ปฏิบัติ...! และเพื่อความไม่ประมาท ควรจะสำรวมระวังในอิริยาบถต่าง ๆ ให้งดงามตลอดเวลา

ให้งดงามทั้งกาย...กิริยาที่ปรากฏภายนอก

ให้งดงามทั้งวาจา....ที่เปล่งสำเนียงออกมา และ

ให้งดงามทั้งใจ....ที่นึกคิด ปรุงแต่ง อย่านึกว่าไม่มีใครรู้ ใครได้ยิน “ใจ” ของเรา...!!

ปรจิตวิชา หรือการกำหนดรู้ใจผู้อื่นนี้ หลวงปู่รู้รวดเร็วมาก ทักจิตของศิษย์ผู้คิดผิดได้โดยถูกต้อง ไม่มีผิดเลย ในระยะหลัง ๆ นี้ ท่านมักจะ “ปล่อยวาง” ไม่ค่อยอยากทักแล้ว

http://www.dharma-gateway.com/mo ... lp-chob-hist-34.htm
86#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 20:18 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๓๕. ในโอกาสหนึ่งที่ไปโปรดศิษย์ที่เวียงจันทน์

ความจริง เหตุการณ์ที่จะกล่าวต่อไปนี้ เป็นความที่ผู้เขียนได้บันทึกไว้แล้วในหนังสือ “จันทสาโรบูชา” อันเป็นชีวประวัติของ พระคุณเจ้าหลวงปู่หลุย จันทสาโร แต่โดยที่มีเรื่องราวเกี่ยวข้อง ไม่เฉพาะแต่กับหลวงปู่หลุยเท่านั้น แต่ได้เกี่ยวข้องกับหลวงปู่ชอบด้วย สมควรจะนำมารวมพิมพ์ไว้กับหนังสือเล่มนี้ด้วยเช่นกัน เพื่อให้ชีวประวัติของ พระคุณเจ้าหลวงปู่ชอบ สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

โดยเฉพาะตอนที่เล่าถึงเรื่องการได้ “กลิ่นหอม” อันเป็นเรื่องที่บรรดาศิษย์หลายคนจะยืนยันถึงการได้ “กลิ่นหอม” เหล่านี้เสมอ

เราไม่ทราบว่า กลิ่นอะไร...กลิ่นดอกไม่ชนิดไหน หอมอ่อน...หอมประหลาด....

พระคุณเจ้าหลวงปู่หลุยบอกว่า หอมกลิ่นศีลของท่าน...!

ใช่...แต่ละองค์ ท่านก็จะมีกลิ่นหอมที่แตกต่างกัน ให้เราสัมผัสกันได้

หลวงปู่เทสก์

หลวงปู่ชอบ

หลวงปู่หลุย

หลวงปู่ขาว

ท่านพระอาจารย์จวน

กลิ่นดอกไม้ กลิ่นหมาก....

เป็นสัญลักษณ์เฉพาะองค์ท่าน เป็นสัญญาณให้ศิษย์รับรู้ว่า ท่านกำลังแผ่กระแสเมตตามาให้ ...หรือ บางครั้ง องค์ท่านก็อาจจะกำลัง “ดู” เราอยู่ หรือ “มาดูอยู่ใกล้ตัวเรา” นี่เอง...!

...ให้เร่งทำความเพียร ภาวนา ต่อไป...

จากหนังสือ “จันทสาโรบูชา” ซึ่ง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชทานในงานพระราชทานเพลิงศพ พระอาจารย์หลุย จนฺทสาโร วันเสาร์ที่ ๗ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๓๓ หน้า ๑๘๓ – ๑๘๖

ระหว่างที่อยู่ถ้ำผาบิ้ง ได้มีพวกที่นครเวียงจันทน์มานิมนต์ พระเถระผู้ใหญ่ของฝ่ายไทยไปทำบุญ ได้ความว่า พยายามนิมนต์ ๑๐ องค์ มี หลวงปู่ชอบ ฐานสโม หลวงปู่หลุย จันทะสาโร หลวงปู่ชามา อจุตโต หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ หลวงปู่บุญมา ฐิตเปโม เป็นต้น ความจริงเขานิมนต์ หลวงปู่ขาว อนาลโย ด้วย แต่ท่านมอบให้ท่านพระอาจารย์บุญเพ็ง เขมาภิรโต เดินทางไปแทน เรื่องนี้ได้เรียนถามท่านผู้ที่เกี่ยวข้องในการนิมนต์ที่เวียงจันทน์ และผู้นิมนต์ได้เล่าให้ฟังว่า ในการเดินทางไปเมื่อปี ๒๕๑๓ ก็ได้นิมนต์ท่านไป แล้วให้ไปพักอยู่ที่ วัดจอมไตร ที่เวียงจันทน์ ที่ดงนาซ๊อก เป็นเวลา ๒ อาทิตย์

หลังจากที่ทางเวียงจันทน์นิมนต์แล้ว มีสุภาพสตรีคนไทยท่านหนึ่ง ซึ่งระหว่างนั้นกำลังทำงานอยู่ในองค์การระหว่างประเทศที่เวียงจันทน์ ทราบข่าวก็มาขอนิมนต์ท่านและคณะไปทำบุญบ้าน

เธอเล่าว่า

หลวงปู่ชอบ หลวงปู่หลุย หลวงปู่ชามา หลวงปู่บุญมา หลวงปู่อ่อน ท่านอาจารย์บุญเพ็ง ก็รับนิมนต์มา

เมื่อมาถึงบ้านเธอได้รู้สึกประทับใจอย่างมากมายหลายประการ โดยเฉพาะเมื่อหลวงปู่ชอบมาถึง หลวงปู่หลุยซึ่งมาถึงก่อน ก็มาช่วยล้างเท้าให้ และเช็ดเท้าให้หลวงปู่ชอบเอง หลวงปู่หลุยท่านบอกว่า หลวงปู่ชอบคุณธรรมสูงกว่า ท่านต้องขอปรนนิบัติ
87#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 20:18 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
หลังจากการถวายจังหันแล้ว ก็ได้ตามไปที่วัด เธอก็ได้ลองเรียนถามว่า

ได้ยินข่าวว่า พระคุณเจ้าเหล่านี้ทรงคุณธรรมอันล้ำเลิศ อยากจะทราบว่า ถ้าท่านแผ่เมตตามาถึงเรา เราจะได้รับกระแสแห่งเมตตานั้นหรือไม่

เผอิญเธอก็เป็นคนที่ช่างเจรจาสักหน่อย จึงกล่าวต่อไปเป็นเชิงตัดพ้อว่า

หลวงปู่มีลูกศิษย์มาก จะแผ่เมตตามาถึงได้อย่างไร จะต้องเจือจานคนมากมาย จะมาถึงได้ครบทุกคนกระนั้นหรือ

หลวงปู่หลุยเป็นผู้ตอบว่า “ถึงซิ เมตตาต้องมาถึงแน่” แต่หลวงปู่ชอบนั้นยิ้ม ไม่ได้ตอบว่ากระไร

เธอเล่าว่า

ในคืนนั้นเธอและสามีก็เข้าห้องพระภาวนา ต่างคนต่างเข้าที่ภาวนา จุดธูปเทียนบูชาพระแล้ว นั่งสมาธิต่อไปไม่นาน ก็ได้กลิ่นหอมดอกไม้ป่าตลบเต็มไปทั้งห้อง หอมจนทนไม่ได้ ต้องออกปากถามกัน ได้ความว่า ทั้งสามีภรรยาต่างได้กลิ่นหอมเหมือนกัน กลิ่นอธิบายไม่ถูกเช่นกัน

รุ่งขึ้นพอไปกราบที่วัดจอมไตร เธอก็ต่อว่า ว่า

“ไหนว่าจะแผ่เมตตามาให้ลูกหลาน ไม่เห็นได้รับ ไม่เห็นมาหาเลย”

หลวงปู่หลุยเป็นองค์ที่ตอบแทนว่า

“ทำไมจะไม่ไป ไปแล้ว”

ถามว่า

“ไปอย่างไร ไม่เห็นองค์มา ไม่เห็นตัว หลวงปู่นั่งอยู่เฉย ๆ แล้วบอกว่าไป ใครจะเชื่อ”

ท่านก็ยิ้มแล้วตอบว่า

“ก็ไปแล้วนะซิ ไปด้วยกลิ่น หลวงปู่ชอบก็ไป ไม่ได้กลิ่นหรือ หอมกลิ่นศีลของท่าน”

ได้ยินเช่นนั้น เธอและสามีก็ต่างมองตากันด้วยความอัศจรรย์ใจ เพราะการที่ได้กลิ่นดอกไม้ป่าเต็มห้องนั้น ไม่ได้เคยพูดกับใคร นอกจากรำพึงรำพันกันระหว่างสามีภรรยาก่อนจะไปกราบท่าน ท่านก็กลับตอบเช่นนี้ และตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา เธอก็ได้กลิ่นหอมตลอดมา และทราบว่า ถ้าเป็นหลวงปู่หลุยจะหอมกลิ่นหนึ่ง ท่านหลวงปู่ชอบจะหอมอีกกลิ่นหนึ่ง

เวลาท่านอบรม ท่านก็แนะบอกให้รักษาศีล ๘ เธอบอกว่า

ทำไม่ได้ ทำราชการไม่มีวันเวลาที่จะดูแลตน เพื่อรักษาศีล ๘ ให้บริสุทธิ์ได้

หลวงปู่หลุยท่านก็บอกว่า

ถ้าอย่างนั้น รักษาศีลอุโบสถเฉพาะวันพระก็แล้วกัน

วันหนึ่ง อยู่เวียงจันทน์ไปเที่ยว วันนั้นไม่ได้เป็นวันที่รักษาศีล แต่กลับหอมดอกไม้ หอมชื่นใจไปหมด รู้ว่าเป็นดอกไม้ที่ไม่มีขายในท้องตลาด เพียงนึกถึงท่านก็ได้กลิ่นดอกไม้

เธอเล่าว่า

กลิ่นในครั้งก่อน ๆ นั้นเป็นกลิ่นดอกไม้สด แต่เดี๋ยวนี้ดูจะปนกลิ่นกระแจะด้วย ระยะนั้นหลวงปู่ชอบยังไม่อาพาธ ท่านเทศน์ให้ฟังอยู่ด้วย จำได้ว่า เทศน์ที่ท่านเทศน์ให้ฟังนั้น เป็นเรื่องเกี่ยวกับการให้ทุกคนทำจิตให้สงบ ท่านเทศน์อยู่เป็นเวลาถึง ๑๕ นาที แล้วก็สรุปว่า

“ความสุขจะเท่ากับจิตสงบเป็นไม่มี เอวํ”

ง่าย ๆ เช่นนี้

ในระยะที่พักอยู่ที่เวียงจันทน์ นอกจากท่านจะพักที่วัดจอมไตรแล้ว ก็พักที่นาคำน้อย แต่ก็มีการนิมนต์ไปภาวนาที่ถ้ำผาพร้าวด้วย เธอว่าเธอรู้สึกประหลาดอยู่อย่างหนึ่งเกี่ยวกับหลวงปู่ทุกองค์ โดยเฉพาะวันนั้น จวนจะถึงกำหนดกลับแล้ว เพราะท่านได้มาพักอยู่หลายอาทิตย์ จึงไปกราบหลวงปู่ชอบ เรียนถามว่าจะกลับเมืองไทยอย่างไร
88#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 20:19 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ท่านบอกว่า “กลับเครื่องบิน”

สามีของเธอที่เป็นผู้กราบเรียนถามก็งงว่า จะกลับอย่างไร เพราะถ้าจะกลับโดยเครื่องบิน จะต้องเดินทางไปขึ้นเครื่องบินที่เวียงจันทน์ ซึ่งอยู่ห่างจากตำบลที่หลวงปู่และคณะกำลังพำนักอยู่มาก เป็นร้อยกว่ากิโลเมตร ก็ในเมื่อตำบลที่คณะท่านพักอยู่นั้น อยู่ตรงข้ามกับฝั่งไทยพอดี เพียงข้ามแม่น้ำโขงก็จะถึงเมืองไทย การเดินทางกลับทางเรือดูจะเป็นการสะดวกที่สุด

อีกประการหนึ่ง ถึงจะไปเวียงจันทน์ แต่เครื่องบินไม่มีทุกวัน ตั๋วเครื่องบินก็ยังไม่ได้จอง จะทำอย่างไร เมื่อท่านบอกว่า กลับเครื่องบิน จึงคิดว่าไม่มีทางจะทำได้

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงเวลา ปรากฏว่ามีผู้นำเสนอจะนำเครื่องบินมาส่งให้ เป็นเครื่องของทางราชการ ซึ่งไม่มีกำหนดเวลาใด ตกลงพระ ๙ องค์ก็ขึ้นเครื่องบินมา สามีของเธอได้ติดตามมาดูแลท่าน มาในเครื่องบินลำนั้นด้วย

ขณะที่นั่งอยู่ในเครื่องบิน ได้กราบเรียนหลวงปู่ชอบว่า อยากจะขอของดีไว้ให้พวกที่เขามาส่งนี้ด้วย เช่น พวกนักบินและเจ้าหน้าที่ประจำเครื่องบินได้มีไว้คุ้มครองตัว เพราะต้องปฏิบัติงานเสี่ยงอันตรายตลอดเวลา

หลวงปู่ท่านก็ยิ้ม ๆ แล้วก็ล้วงลงไปในย่าม ซึ่งย่ามนั้นมองเหมือนไม่มีอะไร แต่ท่านหยิบออกมาทีไร ก็มีพระให้ทุกที ได้ครบกันทุกคนทั้ง ๖ –๗ คน สามีเธอเป็นคนสุดท้าย ก็คิดอยู่ในใจว่า เราจะขอ "อ้ายงั่ง" เถอะ

“อ้ายงั่ง” นี้เป็นพระที่ทางประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวยกย่องกันมากว่าศักดิ์สิทธิ์ ช่วยในด้านแคล้วคลาด ก็นึกขออยู่ในใจในสิ่งที่เขาคิดว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะเวลาที่เฝ้าดูนั้น ออกสงสัยเป็นกำลังว่า หลวงปู่ชอบหยิบอะไรออกจากย่าม พระแต่ละองค์ที่แต่ละคนได้ไม่เหมือนกัน และขนาดก็ไม่ใช่เล็กน้อย ทำไมจึงมีได้ทุกครั้ง จึงแกล้งนึกว่า ขออ้ายงั่งเถอะ แต่น่าประหลาด หลวงปู่ท่านก็ควักออกมาจากย่าม และก็ได้พระ งั่ง จริง ๆ

เรื่องนี้แม้จะเป็นการแสดงเรื่องพระเรื่องเครื่องราง แต่ก็แสดงว่าท่านมีจิตบริสุทธิ์ สามารถทำสิ่งใด ๆ ได้เสมอ เพียงแต่ท่านไม่พูด ไม่แสดงเท่านั้น

เธอกล่าวว่า อย่างไรก็ดี สิ่งที่เห็นได้ชัดคือ ความอ่อนน้อมถ่อมองค์ของหลวงปู่หลุย ระยะนั้นท่านพรรษา ๔๐ กว่า และอายุก็มากถึง ๖๘ พรรษาแล้ว คุณธรรมของท่านเองก็มีอย่างเหลือล้นแล้ว ประดุจน้ำเต็มแก้วเต็มฝั่งแล้ว แต่ท่านก็ยังคุกเข่าล้างเท้าให้หลวงปู่ชอบ และเช็ดเท้าให้อย่างนอบน้อมถ่อมตน เป็นบุคลิกประจำองค์ของท่านโดยแท้

http://www.dharma-gateway.com/mo ... lp-chob-hist-35.htm
89#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 20:19 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๓๖. หลวงปู่กับการเดินทางไปนอกเขตประเทศไทย

ตั้งแต่สมัยที่ท่านยังเป็นพระหนุ่ม หลวงปู่ได้ธุดงค์เข้าป่าลึก ขึ้นเขาสูงเป็นประจำ หลายต่อหลายครั้งที่ท่านได้เดินทางเข้าไปในเขตประเทศซึ่งมีชายแดนติดต่อกับไทย คือ ลาวและพม่า โดยมีประสบการณ์นานาชนิดซึ่งเป็นที่เล่าขานกันต่อ ๆ มาดังที่ได้กล่าวมาแล้ว

ในบั้นปลายแห่งชีวิต พ.ศ. ๒๕๒๖ ท่านได้รับนิมนต์ให้กลับไปเยี่ยมพม่าอีกครั้งหนึ่ง พร้อมกับหลวงปู่หลุย จันทสาโร และคณะสงฆ์อีกร่วม ๑๐ รูป เช่น หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ หลวงปู่บัวพา ปัญญาพาโส และ ท่านพระอาจารย์สุวัจน์ สุวโจ เป็นอาทิ

“อยากจะเห็นว่า เดี๋ยวนี้เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร”

ท่านบ่นถึงเมืองเก่า ๆ ในพม่าที่ท่านเคยธุดงค์ผ่านไป และจำพรรษาอยู่ถึง ๒ รอบ รวมเกือบ ๖ พรรษา แต่การไปครั้งนี้เป็นการเดินทางโดยเครื่องบิน จากกรุงเทพฯ ไปลงที่ร่างกุ้ง ได้มีโอกาสเพียงกราบพระเจดีย์ชะเวดากอง และชมสถานที่โดยรอบกรุงร่างกุ้ง  และไปเมืองหงสาวดีเท่านั้น ทางการพม่ายังจำกัดเขตการเดินทางของชาวต่างชาติอยู่ หลวงปู่จึงไม่มีโอกาสกลับไปเยี่ยมบ้านเมืองพม่า ซึ่งท่านได้บุกป่าฝ่าดง ข้ามเขาสูงเข้าไปจากทางภาคเหนือของเมืองไทย เมืองพวกนั้นท่านว่า ชื่อเมืองปัน เมืองยอง อยู่ทางด้านเหนือ สูงกว่าเมืองร่างกุ้งมาก

นอกจากพม่าและลาว ในภายหลังท่านก็ได้รับนิมนต์ไปปีนัง มาเลเซีย สาธารณรัฐประชาชนจีน และสหรัฐอเมริกา สังเกตว่าการรับนิมนต์นั้น หลวงปู่มุ่งจะไปโปรดญาติโยมที่อยู่ในดินแดนเหล่านั้นด้วย ซึ่งหลายครั้งที่ท่านยอมรับว่า เคยมีชีวิตผูกพันเกี่ยวข้องกับท่านมาแต่ในภพชาติก่อน ๆ

เฉพาะที่สหรัฐอเมริกานั้น หลวงปู่ได้เดินทางไปโปรดญาติโยม ถึง ๓ ครั้ง ครั้งแรกในเดือนเมษายน ถึง พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๓ ไปในงานวางศิลาฤกษ์ศาลาของวัดภูริทัตตวนาราม เมืองออนทาริโอ รัฐแคลิฟอร์เนีย ครั้งที่สอง เดือนตุลาคม ถึง พฤศจิกายน ในปีเดียวกันนั้น เพื่อเป็นประธานในงานทอดผ้าพระกฐินพระราชทาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ณ วัดภูริทัตตวนาราม เช่นกัน ในวันที่ ๒๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๓ และครั้งที่สาม หลวงปู่รับนิมนต์เมตตาไปจำพรรษาให้ ณ วัดพุทธรัตนราม เมืองเคลเลอร์ รัฐเท็กซัส ในปีพรรษา พ.ศ. ๒๕๓๔



โดยที่ปัจจุบันนี้ ในสหรัฐอเมริกา อันเป็นประเทศที่มีดินแดนกว้างใหญ่ไพศาล มีคนไทย ลาว เขมร อพยพไปตั้งถิ่นฐานบ้านช่องอยู่มาก แยกย้ายกันไปประกอบอาชีพกระจายกันไปทั่วทั้งประเทศ แทบทุกคนเป็นพุทธศาสนิกชน จึงได้มีพระภิกษุสงฆ์จากไทยรับนิมนต์จากศรัทธาญาติโยมไปตั้งวัดให้นับเป็นสิบ ๆ วัด นับเป็นศูนย์กลางรวมจิตใจของชาวไทยและเพื่อนชาวพุทธ ชาติอื่น ๆ ด้วย เมื่อทุกคนทราบข่าวการเดินทางไปจากเมืองไทยของหลวงปู่แต่ละครั้ง ก็จะมีผู้คนมาคอยรอรับที่สนามบินอย่างเนืองแน่น
90#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 20:20 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้


ระหว่างที่พำนักอยู่ที่สหรัฐอเมริกา ญาติโยมไทย - ลาวที่เคารพเลื่อมใสศรัทธาในองค์หลวงปู่ ก็มักจะนิมนต์ท่านไปโปรดตามสถานที่ต่าง ๆ แล้วแต่โอกาสอันควร ท่านมีเมตตาเล่าให้บรรดาลูกศิษย์ที่ใกล้ชิดติดตามท่านไปว่า ที่วัดที่ท่านไปพัก เช่นวัดภูริทัตตวนาราม เมืองออนทาริโอ วัดเมตตาวนาราม เมืองแซนดิเอโก วัดญาณรังษี ใกล้กรุงวอชิงตัน ดี ซี รัฐเวอร์จิเนีย ตอนกลางคืนมีพวกเทวดามานมัสการและขอฟังธรรมกับท่าน บางทีก็มามาก บางทีก็มาน้อย สำหรับที่วัดพุทธรัตนาราม ซึ่งเป็นที่ท่านอยู่จำพรรษานั้น เทวดามาทุกวันเลย ถ้าไม่มาตอนกลางคืน ก็มาตอนกลางวัน โดยมากจะพากันมาตอนกลางคืน

การที่เทวดาจะมากราบหลวงปู่ตามวัดต่าง ๆ นี้ แม้เวลาทำวัตรสวดมนต์ เขาก็มาร่วมอนุโมทนาด้วย อยู่ในบริเวณศาลาก็มี อยู่นอกศาลาก็มี มากันมากมาย ส่วนมากจะเป็นเทวดาผู้หญิงมากกว่าเทวดาผู้ชาย

คราวหนึ่งญาติโยมชาวลาวอพยพที่มาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่เมืองบัฟฟาโล รัฐนิวยอร์ก ได้มีศรัทธานิมนต์หลวงปู่พร้อมคณะลูกศิษย์ผู้ติดตามไปโปรดพวกเขายังเมืองบัฟฟาโล เพราะที่นั้นยังไม่มีวัดพุทธศาสนาที่จะทำบุญด้วย

ท่านโปรดเขาอยู่ที่เมืองบัฟฟาโลนั้นระยะหนึ่ง ท่านเล่าว่า ที่นั้นเคยเป็นสมรภูมิรบได้มีพวกอินเดียนแดงที่สู้รบกันสมัยก่อนแล้วตายไปพากันมาขอส่วนบุญมากมาย ต่อมาญาติโยมนิมนต์ท่านจาริกต่อไปยังน้ำตกไนแอการ่าที่อยู่ริมเขตแดนระหว่างอเมริกาและแคนาดา

ไปถึงที่น้ำตกไนแอการ่าสักพัก บนท้องฟ้าซึ่งปลอดโปร่งแจ่มใส มีแสงแดดเจิดจ้า ก็กลับมีเมฆดำเคลื่อนมาบังอย่างกะทันหัน แล้วมีฝนตกลงมาอย่างหนัก อย่างแทบไม่มีปี่มีขลุ่ย ทำให้คณะติดตามไปต้องรีบพากันหาที่หลบฝนกันอย่างจ้าละหวั่น เพราะเป็นที่แจ้ง ไม่มีที่กำบังเลย และก็ไม่มีวี่แววเรื่องฝนจะตกมาก่อน ฝนตกหนักสักพักจึงหยุด พอออกจากที่หลบฝนสักประเดี๋ยว ฝนก็ตกอีกเป็นรอบที่สอง ทำให้ต้องหลบเข้าหาที่มีหลังคามุงกันชุลมุน



มีศิษย์บางคนสงสัยเรื่องฝนครั้งนี้ เพราะปกติเวลาช่วงนี้ของปีเป็นฤดูร้อนที่มีอากาศแจ่มใสตลอด ปราศจากฝนมาหลายเดือนแล้ว และพยากรณ์อากาศซึ่งเคยแม่นยำตลอดมา ก็มิได้กล่าวเลยว่าวันนั้นจะมีฝน ทำไมจึงมีฝนขึ้นมาได้ ฝนตกลงมามากเสียด้วย และตกถึง ๒ ครั้ง ๒ ครา จึงได้กราบเรียนถามท่าน

ท่านตอบว่า “พญานาคเขามากราบ”

“พญานาคที่ไหนขอรับ”

“ที่นี่....ไนแอการ่า”

“พญานาคมา  ? ฝนก็มา..????”

“อือ  พญานาคมา”


ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้