ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

~ หลวงปู่ชอบ ฐานสโม วัดป่าโคกมน ~

[คัดลอกลิงก์]
41#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 20:01 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ระหว่างทาง พักค้างคืน ก่อนจะถึงวัดป่าบ้านหนองผือนาใน ต่างองค์ต่างเข้าที่ บำเพ็ญภาวนา ถวายเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา และสังฆบูชา บูชาพระคุณท่านพระอาจารย์มั่น อาจารย์ใหญ่ผู้สอนสั่งกล่อมเกลาศิษย์ให้เข้ามาสู่เส้นทางมรรคอันถูกต้อง ที่เที่ยงแท้ ตรง และแน่แน่ว เข้าสู่ความหลุดพ้น หากไม่ได้ความกรุณา เมตตาชี้แนะ อย่างถูกต้องของท่านก็คงจะขาดประโยชน์ สูญประโยชน์อันควรมีควรเป็นไปอย่างน่าเสียดาย พระคุณของท่านหาประมาณมิได้ โดยปกติหลวงปู่ท่านจะพิจารณาธรรมเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชาอยู่เสมอ

แต่คืนนั้น ท่านทั้งสองได้ตั้งใจพิจารณากาย..กายคตานุสติปัฏฐาน ถวายบูชาท่านพระอาจารย์มั่นเป็นพิเศษ

หลวงปู่ขาวหลุดปากปรารภกับหลวงปู่ชอบว่า เราพิจารณากายกันอยู่ทางนี้ ที่โน่น...ป่านนี้ ท่านอาจารย์มั่น คงนั่งภาวนามองดูตับไตไส้พุงของพวกเราทะลุปรุโปร่งหมดแล้ว ก่อนที่เราจะไปถึงท่าน เครื่องในตับไตไส้พุงตัวเราคงไม่มีอะไรเหลือ ท่านคงขยี้คลี่ดูแหลกลานเป็นจุณไปหมดแล้วด้วยญาณของท่าน

คิดเพลิน..เพลินคิด กันไปเพียงเล็กน้อย ยังไม่วายถูกเตือน..!!

หลวงปู่เล่าว่า นี่แหละ พ่อแม่ครูจารย์อันประเสริฐแท้ ศิษย์จะมีความรู้เห็นเพียงไหน แต่ทางดำเนินหากจะไม่ถูกต้อง หรือแม้เพียงไม่เหมาะสมเพียงเล็กน้อย จะต้องได้รับคำเตือนทันทีทีเดียว และเป็นที่ทราบกันว่า ท่านพระอาจารย์มั่น ท่าน “เคี่ยว” ศิษย์ผู้ใหญ่ของท่านอย่างมาก เพื่อหล่อหลอมให้เป็นพระปฏิมากรอันล้ำค่าหาที่ตำหนิมิได้

และแม้ท่านจะทราบแล้วว่า ศิษย์บางท่าน บางองค์ หายสงสัยในธรรมแล้ว เสร็จกิจอันควรกระทำแล้ว ไม่มีกิจที่ต้องทำอีก ที่เหลืออยู่ในปัจจุบัน ที่มีชีวิต ก็มีแต่กิริยากิจปฏิปทากิจที่จะต้องดำเนินตามปฏิปทาอริยมรรค อริยประเพณี เพื่อความเหมาะสม และดีงามเท่านั้นก็ตาม แต่ท่านพระอาจารย์มั่นก็มากไปด้วยความเมตตา เพียงสังเกตว่า มีทางดำเนินที่ควรแก้ไขปรับปรุง ท่านก็มิได้รั้งรอที่จะให้โอวาทสั่งสอนเพิ่มเติม

ทั้งนี้ เพื่อให้ศิษย์ท่านเหล่านั้น สามารถเป็น ธรรมทายาท ของท่านอย่างเต็มภาคภูมิ ท่านตักเตือนโดยเล็งเห็นว่า ต่อไปภายหน้าท่านเหล่านั้นต่างจะต้องสืบทอดพระศาสนา มีส่วนเกี่ยวข้องกับหมู่คณะ ทั้งพระเณรและประชาชนทั่วไป

จริงอยู่ การปฏิบัติผิดหรือถูก เป็นเรื่องเฉพาะองค์ เพราะบางท่าน บางองค์ก็เป็นประดุจ “ผู้ไม่มีแผลในฝ่ามือ” ถึงจะถือยาพิษ จับยาพิษ แต่ยาพิษก็ไม่อาจซึมไปให้โทษแก่ฝ่ามือที่ไม่มีแผลได้เลย ฉันใด และ บาป หรือตำหนิย่อมไม่ตกแก่ผู้พ้นจากบาปแล้ว ฉันนั้น แต่การจะเป็นครูเป็นอาจารย์ของคนหมู่มาก ควรจะต้องระมัดระวังการปฏิบัติ

หลวงปู่เล่าว่า

ท่านพระอาจารย์มั่นจะให้โอวาทเสมอว่า การเป็นอาจารย์คนนั้นสำคัญมาก จึงควรต้องระมัดระวังตน อาจารย์ผิดเพียงคนเดียว อาจทำให้คนอื่น ๆ ผิดตามไปด้วยเป็นจำนวนมาก และในทำนองเดียวกัน ถ้าอาจารย์ทำถูกต้องเพียงคนเดียว ก็จะสามารถพาดำเนินให้คนอื่นปฏิบัติถูก ปฏิบัติชอบ ตามไปได้ โดยไม่มีประมาณเช่นกัน

ท่านสรรเสริญ สมเด็จพระจอมมุนีนาถ บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า ทรงเป็นบรมศาสดา ทั้งทางธรรม และทางโลก ทรงเป็น “ครู” ทุกอิริยาบถ ไม่ว่าเวลาใด ทรงดำเนิน...ประทับยืน ประทับนั่ง ทรงบรรทมด้วยท่าสีหไสยาสน์ คือนอนตะแคงขวาโดยลอด แม้เวลาเสด็จปรินิพพาน ท่านจึงเตือนสติศิษย์ของท่านเสมอ ให้ถือสมเด็จพระบรมศาสดา เป็นแบบอย่าง

แม้จนท่านพระอาจารย์มั่นมรณภาพแล้ว ท่านก็มักจะไปเยี่ยมแสดงสัมโมทนียกถา ให้ศิษย์ท่านบางองค์บ่อย ๆ องค์ใดที่เคร่งครัด ธุดงควัตรอยู่แล้ว ท่านก็จะมาสรรเสริญ ให้กำลังใจ องค์ใดที่บางโอกาสสำรวมระวังไม่เพียงพอ แม้เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น การวางบริขารไม่เป็นระเบียบ ซึ่งปกติก็ถ่ายทอดความเป็นระเบียบมามากอยู่แล้ว แต่ถ้าวันนั้น เกิดเหนื่อย เกิดเพลียขึ้นมา เลยละลืมไป คืนนั้น จะปรากฏในนิมิตภาวนา ท่านพระอาจารย์มั่นมาเตือน ทำให้ท่านต้องมีสติกำกับจิตกันอยู่ตลอดทุกขณะจิต

http://www.dharma-gateway.com/mo ... lp-chob-hist-18.htm
42#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 20:02 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๑๙. งานช่วยท่านพระอาจารย์มั่น

ในการกลับมากราบเยี่ยมท่านพระอาจารย์มั่น ณ วัดป่าบ้านหนองผือ ครั้งแรกท่านคิดจะกลับไปบ้านเกิดที่จังหวัดเลยโดยเร็ว เพราะได้เหินห่างจากแดนมาตุภูมิมาเป็นเวลาเนิ่นนานแล้ว อีกประการหนึ่ง หลวงปู่ขาว มิตรสนิทของท่าน ก็กราบลาท่านพระอาจารย์มั่นกลับไปอุบลราชธานีแล้ว แต่ท่านมาคิดว่า ตัวท่านนั้นได้เที่ยววิเวกห่างจากครูบาอาจารย์ไป มิได้เคยอยู่จำพรรษาด้วยท่านเลย ครั้งนี้ท่านพระอาจารย์มั่นก็มีอายุมากแล้ว แต่ได้มีพระเณรอยู่รับการอบรมจากท่านเป็นจำนวนมาก คงจะเป็นภาระอย่างมากแก่ท่าน หลวงปู่จึงคิดจะอยู่รับใช้ตอบแทนพระคุณท่านระยะหนึ่ง ก่อนกลับไปเยี่ยมบ้าน

และก็ราวท่านพระอาจารย์จะล่วงรู้ความมีน้ำใจของหลวงปู่ (หลวงปู่ว่า แน่นอน ท่านต้องรู้แน่อย่างไม่มีปัญหา !) ท่านก็มอบหน้าที่ให้หลวงปู่หลายประการ เช่น... ให้ท่านช่วยรับแขกบ้าง ให้ช่วยท่านดูแลพระบ้าง

ฟังดูก็เป็นเรื่องธรรมดา

...ช่วยท่านรับแขก ....? ถ้ามีแขก ก็ช่วยรับแขก โอภาปราศรัยแขก อย่าให้รบกวนท่านมากนัก

....ให้ช่วยท่านดูแลพระเณร...? แน่นอน ในฐานะที่ท่านเป็นศิษย์รุ่นพี่ใหญ่ ก็ต้องคอยดูแลตักเตือนศิษย์รุ่นน้อง ให้ประพฤติปฏิบัติอยู่ในกรอบอันดีงาม มีความขยันหมั่นเพียรในการบำเพ็ญภาวนา อย่าถือเอาความเกียจคร้านเป็นสรณะ...

ถ้าเป็นภาระหน้าที่ธรรมดา ๆ เช่นนี้ ท่านพระอาจารย์มั่นคงจะไม่มอบหน้าที่ให้หลวงปู่แน่...!

เพราะ...”ให้ท่านช่วยรับแขก” ... หมายความว่า ในเวลากลางดึก ซึ่งเป็นเวลาที่ปกติมนุษย์ควรจะพักผ่อนกายนั้น ปรากฏว่า ท่านพระอาจารย์มั่นมักจะมีแขกมาเยี่ยมมาขอฟังธรรมกันเสมอ บางคืนมากันมากมายหลายคณะ แขกคณะนี้กลับไป แขกคณะอื่นก็มาต่อ ทำให้ท่านเหน็ดเหนื่อยอย่างยิ่ง

ท่านจึงต้องขอให้หลวงปู่ช่วยท่านรับแขกด้วย

ถูกแล้ว..ไม่ใช่เป็นแขกมนุษย์ แต่เป็นแขกเทพ และความจริง การมอบให้ท่านช่วยรับแขกเทพนี้ ท่านก็มิได้ปริปากบอกเลย ! เพียงแต่..เมื่อหลวงปู่อยู่ในสมาธิ ก็จะมีเทพมากราบขอฟังธรรม เรียนท่านว่า ได้ไปกราบหลวงปู่มั่นแล้ว แต่ท่านเหน็ดเหนื่อย ด้วยคืนนี้รับแขกมามากคณะแล้ว ขอให้มาฟังธรรมจากหลวงปู่แทน

หลวงปู่เทศน์ แสดงธรรมไปเสร็จแล้ว ตอนเช้า ก็ขอโอกาสกราบเรียนเรื่องให้ท่านพระอาจารย์มั่นฟัง พร้อมทั้งเรียนถามท่านว่า ท่านพระอาจารยั่นได้สั่งให้เทวดามาขอฟังธรรมจากท่านใช่หรือไม่ หรือว่า เทวดาคณะนั้น...คณะนั้นสมอ้างชื่อท่านพระอาจารย์มั่นเอาเอง

ท่านพระอาจารย์มั่นก็รับว่า ท่านได้บอกเทวดาเช่นนั้นจริง ๆ เพราะท่านเหนื่อยในการรับแขกอย่างยิ่ง ด้วยมากันมากมายหลายคณะ และข้อธรรมที่จะแสดงก็ต้องกำหนดแตกต่างกันไปตามภูมิชั้นจริตนิสัยที่ควรแก่การรับการอบรมอันไม่เหมือนกัน

ท่านจึงมีหน้าที่ช่วยอาจารย์ของท่านรับแขกด้วยประการฉะนี้ ...เพียงแต่ว่าเป็นแขกเทพ ซึ่งต้องสนทนา แสดงธรรมกันด้วยใจล้วน ๆ ทั้งใจของผู้ฟังธรรมและทั้งใจของผู้แสดงธรรม...สัมผัสกันกลมกลืนเป็นอย่างดี และเช่นเดียวกับที่บรรดาเทวดาฟังธรรมจากท่านพระอาจารย์มั่น แล้วจะโมทนาสาธุกันสะเทือนเลื่อนลั่น เมื่อฟังธรรมขากหลวงปู่ พวกเทพก็จะกล่าวสาธุการกันด้วยความเคารพเลื่อมใสอย่างสุดซึ้งดังสะเทือนเลื่อนลั่นไปทั่วโลกเช่นเดียวกัน

ว่ากันว่า เวลาฟังธรรมท่านพระอาจารย์ในสนทนากับหลวงปู่เรื่องกายทิพย์ เรื่องแขกภายนอก เรื่องเทวดา ภูตผีทั้งหลายที่มาขอพึ่งบารมี ฟังธรรมและถามปัญหาธรรม ผู้มีโอกาสได้ฟังด้วยจะรู้สึกเพลิดเพลิน ตื่นตาตื่นใจ ไม่อยากให้จบลงเลย ท่านพูดสอดคล้องกัน และเป็นไปในแนวเดียวกันราวกับได้อยู่ด้วยกัน เห็นด้วยกัน ฟังด้วยกันฉะนั้น
43#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 20:02 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ส่วน...เรื่องการ “ให้ช่วยท่านดูแลพระ” นั้น... ก็หมายความว่า ปกติพระอาจารย์มั่นมีปรจิตวิชาอย่างว่องไว พระเณรองค์ใดคิดไม่ถูกไม่ควร จะต้องถูกท่านทักหรือเทศน์ตักเตือนเสมอ ดังที่เขียนถึงมาแล้วว่า แม้แต่เวลากลางคืน ท่านจะกำหนดจิตดูว่ามีใครเกียจคร้าน ไม่บำเพ็ญความเพียร หรือคิดสร้างบ้านสร้างเรือน นอกลู่นอกทาง อันเป็นการผิดสมณเพศวิสัย บ้างหรือไม่ จนปรากฏเป็นภาพในนิมิตให้หลวงปู่ชอบท่านได้เห็น เป็นภาพพระอาจารย์มั่นไปเคาะกุฏิศิษย์บ่อย ๆ

ท่านพระอาจารย์มั่นมักจะคุมจิต คอยดู เวลาศิษย์ออกไปบิณฑบาตตอนเช้า หรือมิฉะนั้นก็เวลาที่ท่านกำลังเทศน์อยู่ ใครคิดอะไรผิดปกติ จะต้องถูกท่านทัก หรือดุเอาบ่อย ๆ อย่างไรก็ดี ในระยะหลัง พระเณรมีจำนวนมากขึ้น โดยเฉพาะระหว่างที่ท่านเทศน์นั้น กระแสธรรมของท่านจะหลั่งไหลต่อเนื่องกันอย่างเผ็ดร้อน หากมีอะไรมาทักขัดจังหวะทำให้สะดุดหยุดลง ก็จะไม่ต่อเนื่องกัน ท่านจึงมอบให้หลวงปู่ “ช่วยดูแลพระ จับขโมย ให้ผมด้วย”

ขโมย ผู้ขโมยคิด อย่างไม่ถูกต้องตามครรลองของพระผู้ควรถือศีล ๒๒๗ ข้อให้บริสุทธิ์

เป็นที่เลื่องลือกันว่า ปรจิตวิชา หรือการล่วงรู้จิตผู้อื่น หลวงปู่ก็ว่องไวไม่แพ้ท่านพระอาจารย์มั่น อาจารย์ของท่านเหมือนกัน

พระเณรทั้งหลายจึงยำเกรงท่านมาก และเคารพท่านรองลงมาจากท่านพระอาจารย์มั่นทีเดียว

ผู้เขียนเคยกราบเรียนถามท่านว่า ที่หลวงปู่จับพระ จับขโมย ที่ว่า “ขโมยคิด”  ไม่ถูกต้องนั้น ท่านกำลังคิดเรื่องอะไร

หลวงปู่เล่ายิ้ม ๆ ว่า ส่วนมากก็ คิดฮอด ผู้สาว (คิดฮอด - คิดถึง)

ได้ความว่า บางทีไปบิณฑบาต ไปเห็นผู้สาวอาบน้ำ หรือมาใส่บาตร ทำตาหวานใส่ พระหนุ่มบางองค์ สติไม่ทันจิตก็อาจจะคิดเพลิดเพลินไปได้

บางทีเป็นการคิดประมาทธรรม ประมาทครูบาอาจารย์ ซึ่งเป็นการไม่ถูกต้องและบาปอย่างยิ่ง ก็จำต้องทักท้วงกัน

http://www.dharma-gateway.com/mo ... lp-chob-hist-19.htm
44#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 20:02 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๒๐. สถานที่ซึ่งท่านจำพรรษา

ระหว่างที่ทราบข่าวกันว่า หลวงปู่ได้เมตตายอมให้มีการทำประวัติท่านโดยละเอียด ได้มีครูบาอาจารย์หลายองค์มาขอให้ผู้เขียนพยายามค้นคว้าลำดับพรรษาของท่านให้ได้เพื่อประโยชน์แก่การศึกษาอ้างอิงของอนุชนรุ่นหลังสืบต่อมา ผู้เขียนก็ได้พยายามตะเกียกตะกายไปกราบเรียนถามครูบาอาจารย์ผู้เป็นศิษย์รุ่นใหญ่ เคยติดตามเที่ยวรุกขมูลกับท่านบ้าง ศิษย์รุ่นหลัง ๆ ที่ได้ติดตามปรนนิบัติท่านบ้าง ได้ข้อความส่วนใดมา สอบทานกันแน่นแฟ้นแล้ว จึงได้กราบเรียนถามองค์ท่านเองเป็นลำดับสุดท้าย ทั้งนี้เพื่อมิให้เป็นการรบกวนท่านมากเกินไป

สถานที่ซึ่งท่านจำพรรษา ๙ พรรษาแรกนั้น ไม่มีใครจำได้เลยจนองค์เดียว เป็นความกรุณาที่หลวงปู่เมตตาอย่างยิ่ง

โอกาสที่เราจะว่างและท่านจะว่างให้ตรงกันนั้นยากอยู่แล้ว ครั้นเมื่อมีเวลากราบท่านก็ยังยากต่อไปอีก เพราะท่านควรพักบ้าง หรือบางครั้งญาติโยม ศิษย์ก็ห้อมล้อมท่านแน่น ไม่ใช่ กาละ อันควรเสียแล้ว ก็ต้องรอต่อไป และเมื่อถึง กาละ อันควรที่ควรกราบเรียนถามได้ เวลาท่านตอบ จะต้องเงี่ยหูฟังกันอย่างหนัก ทางผู้เขียนเองซึ่งแสนจะไม่สันทัดในสำเนียงอีสาน ประจวบกับการที่ท่านอาพาธ ลิ้นไม่เป็นไปตามบังคับของท่าน ฟังแล้วต้องเรียนถามพระผู้ปรนนิบัติ ทั้งญาติโยมชาวจังหวัดเลยที่ติดตามท่านมา คำบางชื่อก็สามารถจดบันทึกลงได้เร็ว บางชื่อต้องกราบเรียนถามท่านซ้ำแล้วซ้ำอีก เพราะจับคำไม่ถนัด บางทีรบกวนท่านมากไป ก็ต้องยุติเลิกรากันไปก่อน คราวหน้าคอยหาโอกาสกราบเรียนถามท่านใหม่...เป็นเวลาหลายเดือน จึงจะได้ชื่อที่ท่านรับว่า พวกเราฟังถูกแล้ว !!

ตัวอย่างเช่น วัดศรีมงคลเหนือ ในพรรษาที่ ๒ เป็นต้น สามคำแรก ศรีมงคล ก็ใช้เวลานานอยู่แล้ว แต่เฉพาะคำว่า เหนือ นั้น ยิ่งนานไปกว่ามาก ถึงเป็นแรมเดือน เพราะท่านออกเสียงเบา และเราได้ยินเป็นอื่นไป กว่าจะถึงบางอ้อ คิดขึ้นได้ว่า ภาษาพูดทางอีสาน ไม่ค่อยออกสียงสระ เอือ แต่เป็นสระ เอีย คำท้ายที่ได้ยินท่านว่า นะ หรือ เนีย หรือ เหนีย นั้นคงต้องแปลงเป็นสระเอือ ดังนั้น เมื่อเราฉลาดขึ้น ร้องว่า “เหนีย คือ เหนือ ใช่ไหมเจ้าคะ วัดศรีมงคลเหนือ ถูกไหมเจ้าคะ หลวงปู่”

เห็นหลวงปู่ยิ้มรับด้วยความเมตตาและมีท่าโล่งใจ เราก็สบายใจได้ว่า คลำมาถูกทางแล้ว ถูกต้องแล้ว ....!!

ดังนั้นท่านผู้อ่านคงจะเห็นใจ ถ้าผู้เขียนไม่สามารถบันทึกวัด หรือ ถ้ำ สถานที่ซึ่งท่านจำพรรษามาได้หมด... นอกจากที่กล่าวมาแต่ข้างต้นแล้ว วัดที่ท่านจำพรรษาพอจะบันทึกไว้ได้ เป็นการต่อเนื่องจากที่กล่าวมา...จนถึงพรรษาที่ ๑๕ ข้างต้นนั้น...

พรรษาที่ ๑๖ พ.ศ. ๒๔๘๓ จำพรรษาที่ บ้านยาง เชียงใหม่

พรรษาที่ ๑๗ พ.ศ. ๒๔๘๔ จำพรรษาที่ วัดห้วยน้ำริน อำเภอแม่ริม เชียงใหม่ กับพระคุณเจ้า หลวงปู่แหวน สุจิณโณ

พรรษาที่ ๑๘ พ.ศ. ๒๔๘๕ จำพรรษาที่ สำนักสงฆ์แม่หนองหารสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ กับท่านพระอาจารย์เหรียญ วรลาโภ เพียง ๒ องค์ด้วยกัน

ออกพรรษาแล้วท่านก็เตรียมกลับไปหาที่ภาวนาอันสงัดที่พม่าอีก โดยผ่านไปวิเวกที่แม่ฮ่องสอนก่อน ความจริงท่านชวนท่านพระอาจารย์เหรียญ วรลาโภ ให้ไปด้วยท่าน แต่ท่านพระอาจารย์เหรียญพิจารณาในส่วนองค์ท่าน (การพิจารณา ของ พระธุดงคกรรมฐาน หมายถึง การเข้าที่ภาวนา พิจารณา) แล้วเห็นว่า จะมีอุปสรรค ท่านจึงขอตัวไม่ไปด้วย

ตกลงหลวงปู่จึงเดินทางต่อไปเพียงลำพัง ท่านเล่าว่า ระหว่างอยู่ที่แม่ฮ่องสอน มีพวกโจรมาปล้น จะเอา เงิน และ ของดี สมัยนั้นพระธุดงค์บางองค์ก็มีปัจจัยติดตัวมากเหมือนกัน แต่หลวงปู่เป็นพระธรรมยุต ไม่เคยจับเงิน ท่านก็ปล่อยให้โจรค้นบาตรตามใจ มันค้นหา เงิน ไม่ได้ จะหา “ของดี” ประเภทตะกรุด พระเครื่อง พระธุดงค์องค์นี้ก็ไม่มีสักอย่าง โจรมันคงจะนึกทุเรศเต็มประดาที่พระธุดงค์องค์นี้ไม่มี “ท่าที” ของพระธุดงค์ตามโลกนิยมเขาเลย มันจึงบ่นพึมพำและสุดท้ายก็ปล่อยไป

ท่านเดินทางจากแม่ฮ่องสอน ๔ วัน จึงเข้าเขตพม่า ซึ่งเหตุการณ์ช่วงที่ท่านอยู่ในพม่าตอนรอบหลังนี้ ก็ได้กล่าวมาในตอนต้นแล้ว อันเป็นเวลาระหว่างพรรษาที่ ๑๙ – ๒๑ พ.ศ. ๒๔๘๕ – ๒๔๘๘
45#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 20:02 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ท่านกลับจากพม่าในปลายปี ๒๔๘๘ และคงเที่ยวไปตามป่าเขาในเขตเชียงใหม่ต่อไปตามอัธยาศัย โดยได้มีโอกาสเที่ยววิเวกกับเพื่อนสหธรรมิกของท่าน เช่น หลวงปู่แหวน หลวงปู่ขาว หรือเพื่อนรุ่นน้องอย่างท่านพระอาจารย์เหรียญ

ปี พ.ศ. ๒๔๘๙ หลวงปู่ขาว ซึ่งเสร็จภารกิจทางธรรมแล้วเช่นกัน ก็ชวนท่านกลับอีสาน

พรรษาที่ ๒๒ พ.ศ. ๒๔๘๙ จำพรรษาที่ ป่าช้าวังหินโง้น (หินชะโงก) ปัจจุบันคือ วัดป่าโคกมน

พรรษาที่ ๒๓ – ๒๔ – ๒๕ – ๒๖ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๐ – ๒๔๙๑ – ๒๔๙๒ และ ๒๔๙๓ จำพรรษาที่วังม่วง ใกล้บ้านโคกมน ท่านจำพรรษาที่นี่ติดต่อกันถึง ๔ ปี และที่นี่ท่านพระอาจารย์บัวคำ อดีตเจ้าอาวาสวัดป่าสัมมานุสรณ์ ซึ่งมรณภาพไปแล้วได้มาจำพรรษาอยู่ด้วย ๒ พรรษา

ควรจะทราบด้วยว่า เมื่อกล่าวถึงการจำพรรษา ๔ ปีนี้ มิได้หมายความว่าหลวงปู่จะอยู่ที่วังม่วงตลอดเวลา ๔ ปี ออกพรรษาแล้วท่านก็จะออกวิเวกท่องเที่ยวไปหาที่บำเพ็ญภาวนาอันสงัดเงียบต่อไป ตามวิสัยของพระธุดงคกรรมฐาน ระหว่าง ๔ ปีนี้ หลวงปู่ได้ธุดงค์ไป ๆ มา ๆ ระหว่าง เลย และ เชียงใหม่ และเลยไปถึง เชียงราย พะเยาด้วย

ระหว่างมาเที่ยววิเวกทางเชียงใหม่นี้ ท่านได้พบสถานที่อันสงัดสงบบนยอดเขาสูงหลายแห่ง พิจารณาเห็นควรจะสร้างเป็นวัดให้เจริญสมณธรรม ที่สำคัญซึ่งท่านมักจะมาพักหรือจำพรรษาในภายหลังคือที่ ผาแด่น และ ปางยางหนาด

เฉพาะที่ผาแด่น ซึ่งเรียกกันว่า วัดป่าบ้านยางนั้น ท่านให้ท่านพระอาจารย์สมบูรณ์ ปสันจิตโต ช่วยสร้าง ท่านเองจำพรรษาหลายครั้ง ท่านพระอาจารย์ลี ธัมมวโร ก็เคยไปจำพรรษาที่นั่น

พรรษาที่ ๒๗ พ.ศ. ๒๔๙๔ จำพรรษาที่ วัดป่าบ้านยาง ผาแด่น เชียงใหม่

พรรษาที่ ๒๘ พ.ศ. ๒๔๙๕ จำพรรษาที่ถ้ำแม่แจ่ม เชียงใหม่ เช่นกัน

พรรษาที่ ๒๙ พ.ศ. ๒๔๙๖ กลับมาจำพรรษาที่โคกมน

พรรษาที่ ๓๐ พ.ศ. ๒๔๙๗ จำพรรษาที่วัดถ้ำพระสบาย ลำปาง

พรรษาที่ ๓๑ พ.ศ. ๒๔๙๘ จำพรรษาที่วังม่วง วัดป่าท่าสวย

จากนี้ไปหลวงปู่จะนึกนานหน่อย จนผู้เขียนคิดว่าไม่คุ้มกับการที่เราจะไปรบกวนท่าน

ความจริงที่ท่านกรุณานึก กรุณาตอบมาได้ถึง ๓๑ พรรษา ก็เป็นความเมตตาอย่างหาที่สุดมิได้อยู่แล้ว ท่านเจริญอายุถึง ๘๕ พรรษาแล้ว (อายุเมื่อปี ๒๕๒๙ อันเป็นปีที่เขียนประวัติครั้งแรก) เป็นปุถุชนคนธรรมดาก็ย่อมจะหลงเลือน ยากจะจำสิ่งใดได้ แต่ท่านก็จำเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ท่านประสบพบเห็นมาได้ดี ทั้งที่เป็นส่วนภายนอก และทั้งที่เป็นส่วนภายใน ถ้าเป็นเวลาอันควรและสถานที่อันควร กราบเรียนถามครั้งใด ท่านจะตอบทันทีและทุกครั้งก็ตรงกัน โดยเฉพาะเหตุการณ์สำคัญ ๆ เช่น การพบกันกับท่านพระอาจารย์มั่น หรือเพื่อนสหธรรมิกของท่านที่ธุดงค์กันมาอย่างโชกโชน หรือเหตุการณ์ที่ท่านประสบอันเป็นที่เลื่องลือเล่ากันมาจนประหนึ่งนิยาย...เหล่านี้ ท่านจะตอบทันทีโดยไม่ลังเล ว่าเกิดที่ใด จังหวัดใด บวชมากี่พรรษา

ตัวเราเองลองนึกย้อนไป ให้ตอบว่าปีนั้น เดือนนั้น อยู่ที่ไหน คงยากจะตอบ เพราะเราย่อมจะจำได้เพียงเหตุการณ์ประทับใจเท่านั้น ดังนั้นเราจึงควรพอใจในสิ่งที่ได้รับความกรุณามาแล้วจากท่าน

ใน พ.ศ. ๒๕๐๑ ผู้ใหญ่ถัน วงษา แห่งบ้านโคกมนในสมัยนั้น ได้ซาบซึ้งในวัตรปฏิบัติของท่าน ปรารถนาจะให้ท่านได้อยู่เป็นขวัญตาขวัญใจของชาวแดนมาตุภูมิของท่านนาน ๆ เพราะท่านมักเที่ยวธุดงค์ไปทางถิ่นอื่น แดนอื่นมากกว่า ถ้ามีวัดถาวร ท่านคงจะเมตตาอยู่ประจำให้มากขึ้น ผู้ใหญ่ถันจึงอุทิศที่ดินถวายหลวงปู่ให้สร้างวัด ได้มีชาวบ้านสมทบถวายอีกมาก จนเป็นเนื้อที่กว่า ๑๐๐ ไร่ ซึ่งคือ วัดป่าสัมมานุสรณ์ ในขณะนี้ และหลังจากนั้นศรัทธาญาติโยมทั้งที่จังหวัดเลย จังหวัดใกล้เคียง รวมทั้งชาวกรุงเทพมหานคร ก็ได้หลั่งไหลกันมาบำเพ็ญกุศลร่วมสร้างวัด จนมีความเจริญขึ้นมากดังในปรัตยุบันนี้ มีโบสถ์กลางน้ำ เจดีย์ใหญ่ และศาลาเมตตาฐานสโม ฯลฯ

ระยะหลังนี้ หลวงปู่จึงจำพรรษาที่วัดป่าสัมมานุสรณ์เป็นส่วนใหญ่ และในตอนระยะหลัง เมื่อท่านยอมลงมาโปรดญาติโยมทางกรุงเทพฯ ซึ่งท่านเล่าว่า ท่านรับนิมนต์มากรุงเทพฯ ครั้งแรก อายุ ๗๐ ปี (ไม่ได้นับการมาระหว่างเดินทางไปมา เช่นหากจะต้องเดินทางจากเชียงใหม่กลับอีสานโดยทางรถไฟก็ได้มาแวะพักที่กรุงเทพฯ กับหมู่พวกก่อน) ท่านก็ได้มาจำพรรษาโปรดชาวกรุงเทพฯ ด้วย
46#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 20:03 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
เท่าที่ทราบ ในพรรษาที่ ๓๕ พ.ศ. ๒๕๐๒ ท่านจำพรรษาที่บ้านบง อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ซึ่งเป็นยอดเขาสูงเทียมฟ้า เช่นเดียวกับที่ผาแด่น ท่านพระอาจารย์บุญญฤทธิ์ ปัณฑิโต ศิษย์เอกองค์หนึ่งของท่านเล่าว่า เป็นที่เสือดุมาก บางวันเอาควายไปกินถึง ๕ ตัว ที่จำพรรษาเป็นศาลาโล่งตลอด แทบจะไม่มีที่กันลม จึงหนาวบาดจิตบาดใจ

ออกพรรษา ชาวโคกมนก็ไปตาม ท่านจึงต้องกลับไปโคกมน

พรรษาที่ ๔๐ และ ๔๑ พ.ศ. ๒๕๐๗ และ พ.ศ. ๒๕๐๘ ท่านได้กลับไปจำพรรษาที่บ้านบงอีก

พรรษาที่ ๔๗ พ.ศ. ๒๕๑๔ จำพรรษาที่บ้านสานตม

พรรษาที่ ๕๐ พ.ศ. ๒๕๑๗ และ พรรษาที่ ๕๕ พ.ศ. ๒๕๒๒ จำพรรษาที่สำนักสงฆ์ ก.ม. ๒๗ ของ พล.อ.อ. โพยม เย็นสุดใจ

พรรษาที่ ๕๗ พ.ศ. ๒๕๒๔ จำพรรษาที่วัดอโศการาม

สำหรับที่ป่าช้าวังหินโง้น ซึ่งอยู่ที่บ้านโคกมนเช่นเดียวกัน ไม่ไกลไปจากวัดป่าสัมมานุสรณ์นัก เป็นที่ซึ่งท่านกลับจากเชียงใหม่ครั้งนั้น ก็แวะมาบำเพ็ญสมณธรรมเป็นแห่งแรก ท่านเห็นว่าเป็นที่ควรวิเวก ทำนุบำรุงให้เป็นวัดต่อไป ปัจจุบันนี้จึงกลายมาเป็นวัดป่าศรัทธาวนาราม (บ้านโคกมน) ตั้งแต่พรรษาที่ ๕๘ ถึง พรรษาที่ ๖๖ พ.ศ. ๒๕๒๕ ถึงปี พ.ศ. ๒๕๓๓ ท่านจำพรรษาที่วัดนี้โดยตลอด

พรรษาที่ ๖๗ พ.ศ. ๒๕๓๔ หลวงปู่ได้รับนิมนต์จากญาติโยมทั้งชาวไทย ลาว เขมร และญวน ที่พำนักอยู่ในสหรัฐอเมริกา ให้ไปจำพรรษาโปรดพวกเขาที่ห่างไกลดินแดนพระพุทธศาสนามาก ท่านก็ได้เมตตารับนิมนต์ไปจำพรรษาอยู่ ณ วัดพุทธรัตนาราม ซึ่งเป็นวัดซึ่งศรัทธาญาติโยมได้ไปสร้างอยู่ที่เมืองเคลเลอร์ รัฐเท็กซัส

และก็อย่างที่ได้กล่าวไว้แต่ต้น ว่าการจำพรรษาที่ใด มิได้หมายความว่า ออกพรรษาแล้วหลวงปู่จะอยู่ประจำ ณ วัดนั้นตลอดทั้งปี ท่านยังถือธุดงควัตร ออกไปเที่ยวธุดงค์ตลอด ทางภาคเหนือเป็นที่ซึ่งกลับไปเยี่ยมเป็นประจำ และส่วนทางอีสาน ภาคกลาง ภาคใต้ ท่านก็ไปเยี่ยมโปรดให้โดยทั่วกัน

เป็นที่น่าสังเกตว่า ในระยะหลังนี้ หลวงปู่ไม่ได้ถือเรื่องอธิษฐานพรรษาเคร่งครัดนัก ท่านเคยพูดว่า “บวชมาบ่ได้บวชเอาพรรษา... เฮาบวชเพื่อพ้นทุกข์”

อีกประการหนึ่ง อาจจะเป็นได้ว่า ท่านเป็น “ผู้ไม่มีแผลในฝ่ามือ” แล้วก็ได้...!

http://www.dharma-gateway.com/mo ... lp-chob-hist-20.htm
47#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 20:03 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๒๑. วัดที่หลวงปู่ได้สร้างมาแล้ว

ช่วงระยะเวลา ๗๕ พรรษา ที่พระคุณเจ้าหลวงปู่ชอบ ฐานสโมได้บวชและเดินธุดงค์เพื่อบำเพ็ญสมณธรรมสำหรับประโยชน์แห่งตนเอง และต่อมาก็เพื่อโปรดประชาชนชาวพุทธ เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมมาโดยลำดับนั้น ในที่ซึ่งท่านบำเพ็ญเพียรภาวนา และเห็นว่าเป็นสถานที่อันเป็นสัปปายะ ควรแก่การเจริญสมณกิจ เป็นศูนย์รวมจิตใจชาวพุทธ ให้ยึดมั่นอยู่ในความดี ท่านจึงได้นำจัดตั้งเป็นวัดขึ้น เท่าที่พอจะบันทึกไว้เป็นหลักฐานมีดังนี้

ในเขตจังหวัดเลย

วัดป่าห้วยลาด

วัดป่าบ้านบง

วัดป่าสานตม

วัดป่าม่วงไข่

วัดป่าโคกมน

วัดป่าสัมมานุสรณ์

วัดป่าฐานสโม บ้านซำทอง

ในเขตจังหวัดเชียงใหม่


วัดป่าผาแด่น

วัดป่าโป่งเดือด

วัดป่าปางยางหนาด

ในเขตจังหวัดศรีษะเกษ...

วัดป่าญาณวิเวก

ในเขตจังหวัดมุกดาหาร

วัดป่าม่วงหัก ต. กุดโง้ง อ. เมือง
48#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 20:03 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ในเขตประเทศลาว...

วัดหลักกิโลที่ ๑๓๖ (บนทางไปเวียงจันทน์)

ลักษณะที่ตั้งของวัด มีข้อสังเกตว่า ถ้าไม่ตั้งอยู่ในบริเวณเขตป่าช้า ก็ต่างตั้งอยู่ในป่าลึก บนเขาสูงเทียมเมฆทั้งสิ้น

เช่นที่ วัดป่าสัมมานุสรณ์ และ วัดป่าโคกมน ซึ่งอยู่ในหมู่บ้านที่เกิดของท่าน คือที่บ้านโคกมน ตำบลผาน้อย อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ต่างเคยเป็นเขตป่าช้ามาก่อน เช่นเดียวกับที่ วัดป่าญาณวิเวก จังหวัดศรีสะเกษและ วัดป่าม่วงหัก จังหวัดมุกดาหาร

ส่วนทุกวัดที่เหลือจากนั้น เช่น วัดป่าห้วยลาด วัดป่าบ้านบง วัดป่าบ้านสานตม วัดป่าบ้านม่วงไข่ ที่จังหวัดเลย และ วัดป่าผาแด่น วัดป่าโป่งเดือด วัดป่าปางยางหนาด ที่จังหวัดเชียงใหม่ ล้วนอยู่บนยอดเขา ทุกคนที่เคยไปกราบท่าน จะต้องเดินทางขึ้น เขาสูงเยี่ยมเทียมฟ้า เห็นม่านเมฆลอยระเรี่ยมากระทบพื้นดินทั้งนั้น

บางแห่ง ท่านจะอยู่จำพรรษา โปรดสัตว์โลก ทั้งที่เห็นได้ด้วยตา อย่างมนุษย์ สัตว์ และสิ่งลึกลับ เช่น พวกกายทิพย์ เทวดา พญานาค เป็นต้น หนึ่ง หรือ สองพรรษา อย่างวัดป่าสานตม จ. เลย วัดผาแด่น จ. เชียงใหม่ หรือที่ประจำอยู่เป็นการถาวรนานกว่าที่อื่น อย่างที่วัดป่าสัมมานุสรณ์ และวัดป่าโคกมน จ. เลย อันเป็นบ้านเกิดของท่าน

แต่บางแห่ง ท่านก็สร้างไว้เพื่อ ประโยชน์สุข พองชาวบ้านบริเวณนั้น โดยบางครั้งบางคราว หลวงปู่จะหลบ “เมือง” ออกมาวิเวก ซึ่งชาวบ้านก็จะได้มีโอกาสทำบุญกับเนื้อนาบุญอันประเสริฐของโลกบ้าง...และ ประโยชน์แก่หมู่พวกพระกรรมฐานรุ่นต่อ ๆ ไป จะได้มีที่สงัดวิเวก สำหรับเป็นที่พักภาวนาในเวลาออกธุดงค์ ท่านว่านับวัน ป่าเปลี่ยว ดงลึกก็จะหายากเข้า หมดไป สิ้นไป ความเจริญอย่างถนนหนทางบ้านเมืองลุกไล่ให้ป่ากลายเป็นเมืองมากขึ้น ต้นไม้สูงใหญ่ที่เคยยืนต้นเสียดฟ้า แผ่ร่มเงาครึ้ม จนเป็นป่ารกชัฏ ก็ถูกมนุษย์ซอกซอนเข้าไปแอบตัดทำลาย จนภูเขาต่าง ๆ กลายเป็นเขา ทุ่งหญ้าไปก็มาก ถ้าไม่จัดสร้างวัดไว้บ้าง ป่าก็จะถูกทำลายหมดสิ้นไป วัดอยู่ที่ใดบริเวณใด ป่าแถบนั้น บริเวณนั้น จะยังคงสภาพ “ป่า” ที่อุดมด้วยไม้น้อย ไม่ใหญ่ สงบงดงามอยู่อย่างเดิม และแม้แต่สัตว์ป่าก็จะยังคงอุดมสมบูรณ์ เพราะพวกสัตว์เขารู้ว่า ในบริเวณวัดเป็นที่ซึ่งพวกเขาจะอาศัยอยู่ได้ด้วยความสงบร่มเย็น และปลอดภัย

ประโยชน์สุดท้าย นี่เป็นประโยชน์สำหรับบ้านเมือง...และน้อยคนจะรำลึกได้ถึงความข้อนี้ ว่าความจริง วัดป่า นั้นต่างหาก ที่เป็นผู้ช่วยในการ “สงวนป่า” และ “สงวนพันธุ์สัตว์ป่า”

http://www.dharma-gateway.com/mo ... lp-chob-hist-21.htm
49#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 20:04 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๒๒. ปฏิปทาของท่าน

ในสายพระธุดงค์กรรมฐานศิษย์ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตมหาเถระ เป็นที่ยกย่องกันว่า หลวงปู่เป็นศิษย์ที่สำคัญที่สุดองค์หนึ่ง ที่เด็ดเดี่ยวกล้าหาญทางความเพียร มีนิสัยทางมักน้อย สันโดษ ขอบแสวงหาความสงัดวิเวก อยู่ตามป่าตามเขาตลอดมา ข้อปฏิบัติและธรรมภายในของท่านเป็นที่สรรเสริญ แม้จากปากองค์พระอาจารย์ของท่านเอง

สำหรับธุดงควัตร ๑๓ ที่เป็นแบบธรรมเนียมของพระธุดงคกรรมฐานมาแต่ครั้งพุทธกาลนั้น หลวงปู่ได้ถือปฏิบัติมาเป็นประจำแต่พรรษาแรกที่บวช

ธุดงควัตร ๑๓ ข้อ นั้นมีอยู่ว่า ...ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ...ถือผ้าไตรจีวรเป็นวัตร ...ถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร  ...ถือเที่ยวบิณฑบาตไปตามแถวเป็นวัตร ... ถือฉันหนเดียวเป็นวัตร ... ถือฉันเฉพาะในบาตรเดียวเป็นวัตร... ถือห้ามอาหารที่ส่งตามมาภายหลังเป็นวัตร ... ถืออยู่ป่าเป็นวัตร ... ถืออยู่รุกขมูลร่มไม้เป็นวัตร ... ถืออยู่ในที่แจ้งเป็นวัตร ... ถืออยู่ป่าช้าเป็นวัตร ... ถือการอยู่ในเสนาสนะที่จัดไว้ให้อย่างไรก็อยู่อย่างนั้นเป็นวัตร ... และถือเนสัชชิ การนั่ง (ไม่นอน) ตามแต่จะกำหนดเป็นคืน ๆ ไปเป็นวัตร

ท่านถือเป็นประจำ นอกจากบางข้ออาจจะปฏิบัติไม่ได้ทุกวัน ด้วยสถานการณ์บังคับ เช่น ถ้าอยู่ตามลำพังองค์เดียว จะบิณฑบาตไปตามแถวไม่ได้ หรือการปฏิบัติต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่นวันใดอยู่รุกขมูลโคนไม้แล้ว จะอยู่ในที่กลางแจ้งไม่ได้ อยู่ป่าช้าไม่ได้ (ยกเว้น โคนไม้นั้นจะอยู่ในป่าช้า แต่ก็ไม่อาจถือข้ออยู่ในที่กลางแจ้งพร้อมกันได้ !) หรือข้อเนสัชชิ ก็ต้องปฏิบัติบ้างเป็นบางคราว

ท่านถือเป็นประจำตลอดมา จนกระทั่งภายหลังท่านมีอายุเข้าสู่วัยชรา ข้อถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตรนั้น ญาติโยมอ้อนวอนขอมีส่วนบุญ ท่านจึงอนุโลมรับจีวรถวายบ้าง และเมื่อท่านอาพาธเป็นอัมพาต ฉันไม่ได้มาก แพทย์ก็ได้ขอให้ท่านฉันเพลช่วย ท่านจึงยินยอม การฉันหนเดียวจึงต้องเลิกไป

ตามคำของครูบาอาจารย์ที่เคยเที่ยวธุดงค์มากับท่านมาแต่สมัยแรก ๆ เล่าว่า ท่านเป็นผู้อยู่ง่าย มาง่าย ไปง่าย ปกติท่านชอบอยู่คนเดียว ไปคนเดียว แต่ถ้าจะมีหมู่พวกก็จะต้องเลือกเฉพาะผู้มีนิสัยใจเพชร เด็ดเดี่ยว สู้อด สู้ทน สู้ลำบาก เหมือนอย่างท่าน

.....อยู่ง่าย หมายถึงว่า ท่านไม่เลือกเรื่องที่พักนอน ถ้าเป็นในป่า ในเขา ก็ใช้ใบไม้แห้งหรือใบไม้สดมารอง ปูผ้าอาบลงไปก็ใช้เป็นที่นอนได้ ถ้าใกล้หมู่บ้าน มีฟางก็ใช้ฟาง มีใบไม้ใบหญ้าก็ใช้ใบไม้ใบหญ้า หรืออย่างดีก็อาศัยชาวบ้านช่วยจัดทำแคร่หรือร้านเล็ก ๆ ปูด้วยไม้ไผ่ทั้งลำ ถ้ามีเวลาชาวบ้านก็จะผ่าไม้ไผ่ออกเป็น ๒ ซีก ทุบแผ่เป็นแผ่นแบน ๆ เวลานอนค่อยราบเรียบไม่เป็นคลื่นลอนเหมือนใช้ไม้ไผ่ทั้งลำ... แคร่นี้จะกว้างเพียง ๒ – ๒ ศอก ยาวประมาณ ๑ วา สูงจากพื้นประมาณ ๑ ศอก พอให้หลบพ้นพวก มด ไร แมลงตามพื้นดินได้บ้าง และถ้าอยู่บนยอดเขาก็ได้อาศัยสุมไฟใต้แคร่ให้ความอบอุ่นได้ด้วย

.....มาง่าย ไปง่าย ของหลวงปู่เป็นที่เลื่องลือ บางครั้งอยู่ในป่าลึก ชาวบ้านเคารพศรัทธา อุตส่าห์ทำกระต๊อบให้เป็นอย่างดี มีฝา ๔ ด้าน มีหน้าต่าง มีชาน....ครบ ซึ่งจัดว่าเป็นเลิศอย่างยิ่ง เพราะในป่าลึก บนเขาสูง ที่จะหาที่มุง ที่บังได้ครบเป็น “กุฏิ” ที่พักนั้น ต้องนับเป็นพิเศษจริง ๆ ! บางทีท่านอยู่เพียง ๒ – ๓ วันก็บอกเพื่อน “ไปเถอะ...! ” เพื่อนอุทธรณ์ว่า สบายเช่นนี้ น่าจะอยู่ฉลองศรัทธาของเขาอย่างน้อยสักเดือนหนึ่ง แต่ท่านก็ไป...ไปประดุจพญาหงส์ที่ละสระมุจลินทร์อันโอฬารโดยไม่ห่วงหาอาลัยเลย

ฤดูฝน ดูจะเป็นปัญหา สมเด็จพระบรมศาสดาจึงทรงกำหนดพรรษาให้ภิกษุสงฆ์อยู่จำพรรษา แต่ระหว่างเที่ยวธุดงค์ เพียงหมดหน้าแล้ว ฝนก็เริ่มแล้ว ทางภาคอีสาน ฝนเริ่มตกแต่เดือนเมษายน ก่อนเข้าพรรษนานทีเดียว ยามฝนตก ถ้าหาที่พักตามถ้ำหรือเงื้อมผาไม่ได้ก็ไม่เป็นอันหลบฝนพ้นได้ ผ้าสังฆาฏิและเทียนไข ไม้ขีดไฟ ต้องเก็บไว้ในบาตร ระวังปิดฝาให้ดี บางครั้งต้องสู้ทั้งลมทั้งฝน องค์เปียกหนาวสั่นเป็นลูกนก กางกลด กลดก็สู้ลมไม่ไหว
50#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 20:04 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ตากฝนจนฝนหยุด สบง อังสะ จีวรที่เปียกโชกก็แห้งไปเอง บางคืนฝนตกตลอดคืนจนถึงเช้า ผ้าจีวรจะห่มบิณฑบาตก็ยังไม่แห้ง เป็นความลำบากที่เกิดขึ้นเป็นปกติวิสัยของพระธุดงค์กรรมฐานซึ่งท่านมักคุ้นจนชินชากับมันแล้ว

การเดินธุดงค์ของหลวงปู่ เป็นการ “เดิน” ธุดงคกรรมฐานจริง ๆ เป็นการ “เดิน” ด้วยเท้าโดยตลอด เพราะสมัยนั้นรถราหายาก และทางที่ท่านมุ่งดำเนินนั้นก็มุ่งเข้าไปในป่าลึก ซึ่งอย่าว่าแต่ทางรถยนต์หรือทางเกวียนเลย แม้แต่ทางเดินเท้าก็แทบจะไม่มี หรือบางทีอาจจะมีทางสำหรับพรานหรือคนเดินป่าอยู่บ้าง แต่ส่วนใหญ่ก็หาร่องรอยยาก โดยเฉพาะเวลาหมดฝน หลังออกพรรษาใหม่ ๆ ต้นไม้กำลังระบัดใบใหม่เขียวขจี ด้วยได้รับน้ำฝนมาจนเต็มอิ่ม จึงเติบโตงดงาม จนลบร่องรอยคนเดินหมด

การเดินธุดงค์นี้ ท่านชอบเดินทางเวลากลางคืนมากกว่ากลางวัน ความข้อนี้เป็นที่รู้กันในหมู่เพื่อนหมู่ศิษย์ทั้งนั้น เล่ากันว่า ไม่ว่าจะเป็นการขึ้นเขา ลงห้วย บุกเข้าไปในป่าดงพงทึบ ท่านก็จะชวนหมู่เพื่อนเดินทางกลางคืนเสมอ หลายองค์จะร้องอุทธรณ์ว่า ทำไมไม่รอรุ่งเช้าก่อน เดินทางกลางคืนนั้น น่ากลัวสะดุดรากไม้ ตอไม้ และบางทีก็มีภัยจากอสรพิษด้วยเราไปเผลอเหยียบมันเข้า เพราะมืด มองไม่เห็นอะไร นอกจากนั้น กลางคืนยังเป็นเวลาที่ส่ำสัตว์ออกหากิน ทั้งเสือ ทั้งช้าง ทั้งกระทิง หมี เม่นอยู่ดีไม่ว่าดีจะต้องไปปะทะพวกจ้าวป่าจ้าวดงเขาทำไมขอรับ

หลวงปู่ก็หัวเราะว่า ผมชอบเดินกลางคืน มันเย็นดี อากาศไม่ร้อน

กลางวันยังพอได้เห็นอะไรบ้าง กลางคืนไม่หลงทางหรือครับ

ก็ดูดาวได้...ท่านชี้แจง แต่สำหรับเรื่องข้อแก้การสะดุดตอไม้ เหยียบสัตว์ร้ายเช่น งู แมงป่องนั้น ท่านยิ้มเฉยเสีย มิได้อธิบายอย่างไร เป็นที่เชื่อกันว่า หลวงปู่ “เห็น” ในเวลากลางคืนได้ เช่นเดียวกับที่เราทุกคนจะใช้สายตาเนื้อ “เห็น” อะไรในเวลากลางวัน ความจริง ท่าน “เห็น” มากกว่าที่เราปุถุชนคนธรรมดาจะ “เห็น” ในเวลากลางวันเสียอีก เพราะท่าน “เห็น” รวมทั้งสิ่งที่ลึกลับ กายทิพย์ที่ไม่ปรากฏแก่ตาเราท่านธรรมดาด้วย ดังนั้น เวลา “กลางคืน” หรือ “กลางวัน” จึงไม่มีความหมายแตกต่างกันสำหรับท่าน และเวลากลางคืนอากาศเย็นสบายกว่า  ไม่ร้อนอบอ้าวดั่งกลางวัน จึงไม่น่าแปลกใจที่ท่านจะชอบการเดินทางกลางคืนมากกว่า

ท่านเล่าว่า ระหว่างเดินก็กำหนดจิตภาวนาไปตลอดเวลา การเดินทางทั้งคืนจึงเท่ากับเดินจงกรมภาวนาไปทั้งคืน บนบ่ามีบริขารของพระธุดงค์ครบครัน เช่น บาตร กลด มุ้งกลด กระติกน้ำ ที่กรองน้ำ ผ้าสังฆาฏิ รวมทั้งของจำเป็นในการเดินป่า เช่น มีด โคมไฟ เทียนไข ไม้ขีดไฟ เป็นต้น

ของเหล่านี้ หากเราแบกถือกันเอง ก็บ่นหนักแทบแย่อยู่แล้ว นึกไม่ออกว่าถ้าจะต้องแบกไปบนบ่าตลอดเวลา เส้นทางเป็นกี่ร้อยกี่พันเส้น บุกป่าแหวกพงหญ้าพงหนาม ขึ้นเขา ลงห้วย...จะทำอย่างไร ? แม้แต่จะพาเพียงลำพังตัวเราเองให้ไปถึงจุดหมายปลายทางอย่างตลอดรอดฝั่งก็แทบจะเป็นลมล้มสลบแล้ว นี่ยังจะต้องแบกอัฐบริขารและของอื่น ๆ ไปด้วยหรือ...?

แต่นั่นคือ พวกเราปุถุชนคนธรรมดา  !

หลวงปู่ท่านมิใช่อย่างนั้น...! ท่านเดินทางไปด้วยความสงบสบาย บ่าข้างหนึ่งแบกกลด บ่าอีกข้างหนึ่งสะพายบาตร ซึ่งบรรจุบริขารต่าง ๆ ภายในอย่างครบครัน จิตที่ภาวนาเป็นสมาธิก็มีแต่ความสงบรำงับ เยือกเย็น โปร่งสบายแทบจะไม่รู้สึกถึงความหนักหนาของบริขารต่าง ๆ เหล่านั้นเลย
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้