ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

~ หลวงปู่ชอบ ฐานสโม วัดป่าโคกมน ~

[คัดลอกลิงก์]
51#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 20:04 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
จิตสงบ           กายสงบ

จิตสบาย         กายสบาย

จิตวิเวก          กายวิเวก

จิตเบา            กายเบา


จิตและกายต่างสงบอยู่ในตัวของตัวเอง ต่างมีหน้าที่ของตน บางเวลาเมื่อคิดค้นธรรมะ ปรากฏขึ้นแจ่มแจ้ง...สงบ สว่าง เท้าแทบมิได้รู้สึกว่าจะสัมผัสดินเลย...ไม่ว่าจะเป็นดินที่แข็งแตกระแหง เม็ดกรวด เม็ดทราย หินคมแหลม มิได้รู้สึกถึงความแข็ง แง่คมที่เคยบาดเท้าลึกเลย ความรู้สึกแทบจะเหมือนกับเดินไปบนพรมกำมะหยี่ ...อ่อนนุ่มนวล ตัวเบาหวิวราวกับเหาะลอยไปในปุยเมฆ

ท่านบำเพ็ญเพียรทุกอิริยาบถ นั่ง นอน ยืน เดิน ครบอิริยาบถ ๔ ไม่ว่าจะกำลังเดินทางดังกล่าวแล้ว หรือเมื่อไปถึงที่ซึ่งเห็นควรหยุดพักชั่วคราวหรือพักแรมเพื่อบำเพ็ญสมณธรรม จะเป็นตามใต้โคนไม้ หรือกลางแจ้ง บนยอดเขาหรือเงื้อมผา ริมเหว หรือในถ้ำ การบำเพ็ญเพียรของท่านก็มิได้ลดละ ทั้งกลางวันกลางคืน

ขณะอยู่บนเขาหรือในถ้ำกลางป่าลึก ซึ่งมีชาวเขาหรือชาวไร่ตั้งบ้านเรือนอยู่ห่าง ๆ และโดยปกติก็จะมีราว ๒ – ๓ ครอบครัวเป็นอย่างมาก ท่านดื่มด่ำในการบำเพ็ญภาวนามาก จะไม่ค่อยสนใจก็อาหารขบฉัน เว้น ๔ – ๕ วัน จึงจะออกบิณฑบาตทีหนึ่ง การภาวนาในป่าเขาเช่นนี้ ท่านว่า มีแต่ก้าวหน้า จิตเป็นสมาธิทั้งกลางวัน กลางคืน ทั้งอิริยาบถ ๔ นั่ง เดิน ยืน นอน แต่ส่วนใหญ่จะอยู่ในอิริยาบถ ๓ โดยการนอนนั้น ท่านเพียงกระทำเพื่อให้ธาตุขันธ์ได้พักผ่อนคลายเท่านั้น

กลางวันอากาศร้อน ท่านมักจะพักมากกว่า แต่กลางคืน อากาศจะเย็นสบายกว่า จิตจะลงได้สนิทเต็มฐานของสมาธิ และลงได้ครั้งละหลาย ๆ ชั่วโมง กว่าจะถอนขึ้นมา บางเวลาคิดเมตตาเทวดา ท่านก็ถอนจิตออกมาอยู่ในระดับอุปจารสมาธิ ต้อนรับเมตตาเขาตามควร โดยการแสดงธรรมหรือตอบปัญหา เสร็จธุระแล้วท่านก็ย้อนจิตเข้าสู่สมาธิ จนกว่าจะถึงเวลาที่ค่อยถอนขึ้นมา ซึ่งท่านก็จะพิจารณาภาคปัญญา ไตรลักษณ์ อริยสัจ ๔ ต่อไป

ท่านนั่งภาวนาครั้งละนาน ๆ ๒ – ๔ ชั่วโมง หรือ ๔ – ๕ ชั่วโมง หรือตลอดรุ่ง แล้วแต่จิตจะสงบ และถอนขึ้นมา

พ้นจากนั่ง ท่านก็เดินจงกรม เป็นการเปลี่ยนอิริยาบถ ซึ่งแต่ละครั้งก็คงนานเป็นหลายชั่วโมงเช่นกัน (แม้แต่ในปัจฉิมวัย อายุถึงกว่า ๙๐ พรรษา เดินเองไม่ได้ หลวงปู่ยังให้พระเณรเข็นรถ “จงกรม” ครั้งละ ๒ – ๓ ชั่วโมง เป็นปกติ)

บางครั้งข้อธรรมก็ผุดขึ้นระหว่างกำลังเดินจงกรม ทำให้ท่านต้องหยุดยืนพิจารณา จนกระจ่าง “รู้” แล้วจึงเดินต่อไป

ธรรมที่ผุดขึ้นทั้งเวลาที่เดินจงกรม หรือ นั่งสมาธินี้ ท่านเคยจดไว้เป็นเล่ม ๆ มีศิษย์ได้เคยเห็นหลายคน แต่น่าเสียกายที่เวลานี้ไม่ทราบว่าอยู่ที่ใด

สำหรับถ้ำที่บำเพ็ญภาวนานั้น ท่านเคยเล่าให้ศิษย์ใกล้ชิดฟังว่า ถ้ำต่าง ๆ ที่ท่านเคยผ่านไปบำเพ็ญภาวนานั้น...ทั้งในประเทศไทย ทั้งในประเทศลาว และทั้งในประเทศพม่า มีจำนวนถึง ๕๘ ถ้ำ

เฉพาะในเมืองไทยนั้น แน่นอน ย่อมมากที่สุด

ถ้ำที่ภาคเหนือ ก็เช่น ถ้ำที่จังหวัดเชียงใหม่ ถ้ำดอกคำ ภาวนาดี ที่พร้าว เชียงราย พระเยา แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง เพชรบูรณ์ แพร่ น่าน ถ้ำที่ภาคอีสาน...เลย อุดร ขอนแก่น นครราชสีมา หนองคาย สกลนคร นครพนม มุกดาหาร อุบลราชธานี ยโสธร กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ มหาสารคาม บุรีรัมย์
52#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 20:05 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
เฉพาะถ้ำที่ท่านจำพรรษานั้น เท่าที่ทราบแน่นอน มีที่ถ้ำแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ (พรรษาที่ ๒๘ พ.ศ. ๒๔๙๕) ถ้ำนายม จังหวัดเพชรบูรณ์ (พรรษาที่ ๑๐ พ.ศ. ๒๔๗๗) ถ้ำพระสบาย จังหวัดลำปาง (พรรษาที่ ๓๐ พ.ศ. ๒๔๙๗)

ส่วนถ้ำอื่น ๆ ที่พักนานเป็นแรมเดือน แต่มิได้จำพรรษาก็มี ถ้ำผาแดงนาไหง่ ถ้ำเสือ ภูหลวง ถ้ำมะกะ อำเภอแม่แตง ถ้ำดอกคำ อำเภอพร้าว ถ้ำตาดหมอก เชียงใหม่ ถ้ำแม่ละงอง เชียงใหม่ เป็นอาทิ

สำหรับบนยอดเขา ยอดดอยนั้น ยังไม่มีใครกราบเรียนถามท่านว่า ยอดเขายอดดอยที่ท่านวิเวกผ่านมา ตั้งแต่เป็นผู้จาริกแสวงธรรม จนเป็นผู้ปลดวาง โปรยปรายกระแสธรรม แก่ทั้งหมู่มวลมนุษย์และเทวดา พร้อมทั้งพวกกายทิพย์ทั้งปวงนั้นจะเป็นจำนวนกี่ร้อยกี่พันแห่ง และก็เช่นเดียวกับถ้ำ นอกจากในประเทศไทย ก็ยังมีทั้งในประเทศลาว ประเทศพม่าด้วย

...ภูเขาควาย ในประเทศลาวซึ่งเป็นภูเขาสูง อุดมด้วยป่าดงดิบและสัตว์ป่า เป็นที่ซึ่งทราบกันในหมู่พระธุดงคกรรมฐานว่า บรรดาฤๅษีชีไพร นักสิทธิ์ พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอรหันตเจ้าแต่สมัยพุทธกาลเคยขึ้นไปบำเพ็ญพรตภาวนา หรือนิพพาน และเป็นแถบถิ่นที่ท่านพระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตมหาเถระ อาจารย์ของท่านเคยไปปฏิบัติธรรมมาแล้ว และแนะนำให้บรรดาศิษย์หัวกะทิของท่านไปบำเพ็ญเพียร เป็นการทดสอบจิตจะแข็งแกร่งเพียงพอหรือไม่

...ยอดดอยอีต่อ ดอยบ้านยางแดง โปรดพวกยางในประเทศพม่า ดอยวิเวกเมืองหาง ดอยเชียงตอง ดอยเชียงคำ โปรดพวกไทยใหญ่ในเขตพม่าเช่นเดียวกัน

ท่านเล่าว่า เฉพาะที่จำพรรษาบนยอดดอยนั้น มี ๓๐ ดอย รวมทั้งในเมืองไทยและพม่า โดยเฉพาะที่พม่า ตลอดเวลาที่เดินทางไป ๒ ครั้ง รวม ๕ ปีเศษนั้น ได้จำพรรษาบนยอดดอยทั้ง ๕ พรรษา

ครั้นล่วงเข้าสู่มัชฌิมวัย การไปคนเดียว อยู่คนเดียวของท่าน ก็ลดละลงบ้าง ด้วยได้มีพระเณรผู้มุ่งต่ออรรถต่อธรรมใคร่ขอติดตามเป็นศิษย์มากขึ้น แต่ท่านก็ยังเลือกรับเฉพาะผู้มีนิสัยเช่นท่าน คือ เด็ดเดี่ยว อดทน...ทนอด ทนยาก ทนลำบาก ตั้งใจมั่นคงต่อการบำเพ็ญเพียรภาวนา ตั้งใจมั่นคง เจริญรอยตามแนวทางที่ครูบาอาจารย์พาดำเนิน...

ครูบาอาจารย์ของท่านพาดำเนินมา ท่านก็พาศิษยานุศิษย์ดำเนินต่อไป....

http://www.dharma-gateway.com/mo ... lp-chob-hist-22.htm
53#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 20:05 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๒๓. เมตตาธรรมที่สืบทอดจากครูบาอาจารย์ไปสู่ศิษย์

หลวงปู่สอนพระเณรเสมอ ให้แสวงหาที่สงัดวิเวก เร่งทำความเพียรภาวนาอย่างหนัก อย่าประมาท การทำความเพียร ให้ปฏิบัติจนเป็นความเคยชิน ไม่ให้เลือกกาลเวลาหรือสถานที่

ความจริงแทบจะไม่ต้องพูดด้วยวาจาเลย เพราะองค์ท่านก็เป็นแบบฉบับอันยิ่งยอดของของผู้แสวงหาทางที่อันสงัดวิเวกอย่างแท้จริงอยู่แล้ว เขาสูง... ป่าลึก... ถ้ำอันสงัดลับลี้ที่แทบจะไม่มีเท้ามนุษย์เคยเยี่ยมกรายไปถึง ล้วนเป็นที่ซึ่งท่านเคยดั้นด้นธุดงค์ผ่านไปแล้วอย่างโชกโชน ท่านสรรเสริญอยู่เสมอว่า การทำความเพียรภาวนา จะได้รับความก้าวหน้าทางจิตอย่างดูดดื่มลึกซึ้ง ในสถานที่อันสงัดวิเวก เพื่อความก้าวหน้าทางภาวนา จึงควรที่จะแสวงหาป่าเขาอันสงบสงัดลึกล้ำเป็นที่บำเพ็ญเพียร แต่ท่านก็เตือนบรรดาศิษย์เสมอว่า อย่าให้สิ่งนี้มาเป็นกังวลจนเสียประโยชน์ของเจ้าของ ด้วยมัวแต่ตรึกนึกแสวงหาแต่สถานที่ใหม่เรื่อยไป เมื่อหาสถานที่อันเป็นสัปปายะแก่จิตได้แล้ว ก็ควรพอใจพำนักบำเพ็ญภาวนาต่อไป จนกว่าจิตจะรู้สึก “จืดจาง” หรือ “เคยชิน” ไป

จิตผู้ภาวนาควรจะ “ตื่น” ระวังภัย ระวังสติ เมื่อใดเกิดอาการชินชาหรือที่เรียกว่า “ติด” ที่อยู่ ก็ต้องแสวงหาที่ใหม่ต่อไป

อาการ ติด ที่สมเด็จพระบรมศาสดาทรงให้บรรดาภิกษุควรระวังมี ๔ ประการ คือ

“ติดอาหาร” “ติดอากาศ” “ติดตระกูล” และ “ติดที่อยู่”

ติดอาหาร หมายถึง การติดในรสอาหาร ว่าประณีต อร่อย... เปรี้ยว หวาน มัน เค็ม

ติดอากาศ หมายถึง การติด อากาศร้อน หนาว โปร่ง สบาย ไม่ชื้น ไม่แฉะ

ติดตระกูล หมายถึง การติด พึงใจที่จะอยู่ใกล้ชิดญาติโยมผู้อุปัฏฐากให้มีแต่ความสะดวกสบาย

ติดที่อยู่ หมายถึง การติดถิ่น ติดสถานที่ ถือเป็นที่อยู่ประจำ จนกลายถือเป็นเจ้าเข้าเจ้าของไป

พระธุดงค์จะต้องสามารถ ละ ได้ ไม่มีการ ติด เหมือนพญาหงส์ที่บินจากสระมุจลินท์ไปโดยปราศจากการโศกสลดห่วงหาอาลัยฉะนั้น

หลวงปู่เตือนลูกศิษย์ของท่านเสมอว่า ...แต่จะอย่างไรก็ดี จะอยู่ที่ใดก็ตาม บัณฑิตย่อมรู้จักใช้สถานที่และเวลาให้เป็นประโยชน์ต่อการภาวนาทุกจังหวะและทุกโอกาส ไม่เฉพาะแต่เวลาที่นั่งภาวนาหรือเดินจงกรม แม้แต่ระหว่างบิณฑบาต ระหว่างฉัน ระหว่างทำกิจวัตรประจำวัน ไปห้องน้ำ ล้างหน้า ระหว่างเดินทาง ไม่เลือกสถานที่ว่าจะต้องอยู่ในกลางป่า ในถ้ำ ในคูหา บนยอดเขา ระหว่างโคจรบิณฑบาตไปในหมู่บ้าน... ก็ควรจะต้องตั้งสติ มองดูจิตของตนตลอดเวลา ไม่เลือกกาล เลือกสถานที่ ไม่เลือกหนาว เลือกร้อน เลือกฝนตก เลือกแดดออก เลือกสบาย หรือเลือกป่วยไข้ ...ต้องเป็นผู้มีสติอยู่ทุกกาล ทุกสถานที่ และทุกอิริยาบถ....

สติกำกับจิต สติต้องอยู่ตลอด ไม่ว่าจิตจะอยู่ในขั้นใด ขั้นเริ่มฝึกหัด ขั้นจิตเป็นสมาธิ ขั้นเริ่มฝึกหัดทางปัญญา ...จะเจริญสมถะหรือวิปัสสนาขั้นใดก็ตาม ต้องอาศัยสติกำกับดูแลอยู่ตลอด หากขาดสติ สมาธิและปัญญาก็จักไม่เจริญไปได้

ท่านให้พระเณรมุ่งตรงต่อ สติปัฏฐาน ๔ และ อริยสัจ ๔ ทางนี้เป็น “มรรค” เอโก มัคโค ทางเอกทางเดียวมุ่งตรงไปสู่ “ผล” คือการดับทุกข์หรือนิพพาน พระพุทธเจ้าทรงรับรองมาตลอด

ท่านอธิบายว่า เรื่อง สติ เรื่อง มหาสติปัฏฐาน ๔ เรื่อง ไตรลักษณ์ และ อริยสัจ ๔ ที่ท่านเน้นให้พระเณรปฏิบัตินี้ ท่านก็กล่าวตามแนวที่ท่านปฏิบัติ โดยได้รับโอวาทสั่งสอนมาจากพ่อแม่ครูอาจารย์ของท่าน ... กล่าวคือ ตามที่พระอาจารย์มั่นได้สั่งสอนท่านมานั้นเอง ว่าเป็นหัวใจของการปฏิบัตินำไปสู่การหลุดพ้น
54#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 20:05 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ถ้ามั่นใจในมรรคผลนิพพาน ปฏิบัติไปอย่างเต็มสติ เต็มปัญญา เต็มความสามารถ ไม่ย่อท้อ รอรี สงสัยนี่ สงสัยโน่น...ก็จะหายสงสัยในธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าโดยสิ้นเชิง หมดการตรึกนึกถึงอดีต อนาคต สามารถปล่อยวางทุกข์กังวลทั้งปวง วางภพ วางชาติได้

ท่านก็ปฏิบัติไปตามคำที่ครูบาอาจารย์พาท่านดำเนินมา และท่านก็นำธรรมคำสั่งสอนนั้นมาถ่ายทอดให้หมู่ศิษย์อีกทอดหนึ่ง

การทำจริง ย่อมได้รับผลจริงอย่างไม่ต้องสงสัย สำคัญแต่ว่า ทุกคนจะยอม “ทำจริง” หรือไม่เท่านั้น พระพุทธเจ้าสลบไปกี่ครั้ง ? ท่านพระอาจารย์มั่นก็สลบไปกี่ครั้ง ? ประวัติครูบาอาจารย์ผู้ใหญ่ที่ภาวนาสละตาย ซวนซบสลบไปแต่ละองค์...องค์ละกี่ครั้ง...? ผู้ที่มารู้จัก มากราบไหว้ในภายหลังก็เห็นแต่ตอนที่ท่าน “ผ่าน” แดนตายกันมาแล้ว

จะมีกี่คนที่เข้าใจถึงคำที่ท่านกล่าวสั้น ๆ กันว่า ต้องทำความพากความเพียรอย่างเต็มที่ อย่างอุกฤษฎ์...?

ไม่ใช่ทำแบบย๊อก ๆ แย็ก ๆ ...แล้วก็ฝันถึงสวรรค์ นิพพานเอา

ฝันก็ได้แค่ ฝัน ได้แค่ เงา คว้าได้แต่ เงา ที่จะเป็นสมบัติของตนอย่างเต็มภาคภูมินั้นอย่าได้ฝันไป

ตามสำนวนของหลวงปู่...ท่านสอนศิษย์ผู้ใกล้ชิดว่า ธรรมอยู่ริมตาย ฟากป่าหมากเยา* น้อยเดียว กว่าจะพ้นทุกข์ กระดูกเพียงปลายไผ่

* ต้นหมากเยา : ต้นสบู่ดำ

ท่านอธิบายว่า นิพพานไม่ได้สูญ ไม่ได้อยู่ตามที่โลกคาดคะเนหรือเดากัน ทำจริงจะได้เห็นของจริง รู้จริง และจะเห็นนิพพานเอง เห็นพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ เห็นครูบาอาจารย์ที่ท่านบริสุทธิ์เอง และหายสงสัยด้วยประการทั้งปวง

ท่านเล่าให้ศิษย์ผู้ใกล้ชิดและมุ่งมั่นต่อการหลุดพ้นฟังว่า นี้แหละเป็นคำสอนจากท่านพระอาจารย์มั่น และความจริงเป็นธรรมที่ท่านพระอาจารย์มั่นเมตตามาแสดงโปรดท่านทางนิมิตภาวนา

ท่านเล่าว่า ท่านพระอาจารย์มั่นมากด้วยความเมตตาต่อศิษย์ โดยเฉพาะสำหรับหลวงปู่แล้ว เวลาท่านติดขัดในการภาวนา ท่านพระอาจารย์จะเมตตามาแสดงธรรมสอนท่านทางสมาธิภาวนาเสมอ ไม่เลือกสถานที่ว่า จะเป็นเวลาที่ท่านอยู่ในถ้ำ หรืออยู่กลางป่า หรืออยู่บนเขา และไม่เลือกว่าจะเป็นเมืองใด ประเทศใด ...ไทยหรือลาว หรือพม่า

บางทีท่านพระอาจารย์มั่นก็จะเหาะลอยมาทางอากาศ แต่บางทีก็จะเดินมาอย่างธรรมดา หรือปรากฏร่างขึ้นในทันที เมื่อท่านเมตตาสั่งสอนจบลง หลวงปู่ก็จะก้มกราบด้วยความเคารพอย่างสูงสุด และเต็มตื้นด้วยความรู้สึกถึงพระคุณของพ่อแม่ครูบาอาจารย์ที่มีอย่างล้นฟ้าล้นดิน ไม่เคยทอดทิ้งศิษย์ ดูแลห่วงใยคอยสอดส่องให้ความรู้แก่ศิษย์ตลอดเวลา

...แม้แต่เมื่อท่านนิพพานไปแล้ว ท่านก็ยังคงเป็น “พ่อ” เป็น “แม่” เป็น "ครูบาอาจารย์" ที่สูงด้วยเมตตาต่อศิษย์อย่างไม่เสื่อมคลาย

ท่านเล่าว่า ท่านพระอาจารย์มั่นมาเยี่ยมและเมตตาสั่งสอนท่านเสมอ และขณะเมื่อผู้เขียนบันทึกมาถึงตอนนี้ ได้ขอโอกาสกราบเรียนถามถึง แม้ในเวลาปรัตยุบันนี้ (ปี พ.ศ. ๒๕๓๕ เมื่อเรียนถามครั้งสุดท้าย) ...หลวงปู่ก็รับว่า ท่านพระอาจารย์มั่นยังมาเยี่ยมอยู่เช่นเดิม

บันทึกมาถึงแค่นี้ ผู้เขียนก็ให้นึกถึงเรื่องที่กล่าวไว้ในพระไตรปิฎก ถึง พุทธกิจ ๕ ประการขององค์สมเด็จพระบรมครู ซึ่งคนสมัยนี้ส่วนใหญ่อ่านแล้วก็ไม่ยอมเชื่อ
55#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 20:06 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
พุทธกิจ ๕ ประการ ที่ทรงบำเพ็ญให้เป็นประโยชน์แก่ชาวโลกนั้น มีกล่าวไว้ว่า

กิจข้อแรก..... ปุพฺพณฺเห ปิณฺฑปาตญฺจ เวลาเช้าเสด็จออกบิณฑบาต เพื่อเป็นการโปรดสัตว์โลกผู้ต้องการบุญ

กิจข้อสอง.... สายณฺเห ธมฺมเทสนํ ในเวลาเย็น ทรงแสดงธรรมแก่ประชาชนผู้สนใจในการฟังธรรม ซึ่งมีตั้งแต่ท้าวพระยามหากษัตริย์ลงมาจนถึงคนเข็ญใจ

กิจข้อสาม .... ปโทเส ภิกฺขุโอวาทํ ในเวลาค่ำ ทรงประทานโอวาทให้กรรมฐานแก่พระภิกษุสงฆ์ รวมทั้งทรงแก้ไขข้อติดขัดในการภาวนาให้ด้วย

กิจข้อสี่.... อฑฺฒรตฺเต เทวปญฺหนํ ในเวลาเที่ยงคืน ทรงแสดงธรรมและตอบปัญหาแก่เทวดาทั้งหลาย

กิจข้อห้า.... ปจฺจุสฺเสว คเต กาเล ภพฺพาภพฺเพ วิโลกนํ ในเวลาใกล้รุ่ง ทรงเล็งพระญาณที่ใครจะมาข้องตาข่ายพระญาณของพระองค์ ที่อาจจะรู้ธรรมซึ่งพระองค์ทรงแสดง แล้วได้รับผลตามควรแก่อุปนิสัยบารมีของคนเหล่านั้น โดยเฉพาะผู้มีนิสัยที่จะบรรลุธรรมโดยรวดเร็ว แต่ชีวิตจะต้องตายเสียก่อน ก็จะเสด็จออกไปโปรดคนนั้นก่อนเพื่อน

การเสด็จไปโปรดสัตว์โลกตามพุทธกิจข้อต่าง ๆ นี้ ปกติจะเสด็จไปด้วยพระองค์เอง แต่บางโอกาสก็อาจจะเสด็จโดยพุทธนิมิตในภาวนาก็ได้ ตามพระธรรมปทัฏฐกถา กล่าวไว้หลายต่อหลายครั้งว่า พระสาวกของพระองค์กำลังพิจารณาธรรมอยู่ เกิดขัดข้องในการพิจารณาธรรมอันเป็นช่วงสำคัญด้วยประการใดก็ตาม สมเด็จพระบรมศาสดาระหว่างประทับอยู่ในพระคันธกุฎี จะทรงเปล่งพระโอภาสไปปรากฏพระองค์อยู่ต่อหน้าพระสาวกองค์นั้น ๆ ทรงมีพระพุทธการุณย์ ทรงตรัสแนะ...ทรงเฉลยธรรม... และเมื่อพระสาวกองค์นั้น ๆ พิจารณาตามไป ก็สามารถบรรลุมรรคผลอรหัตผลได้โดยไม่ยาก

ทรงแสดงธรรมและตอบปัญหาเทวดาทั้งหลาย... !?!

เปล่งพระโอภาส ไปปรากฏพระองค์ ... !?!

โลกสมัยใหม่จะไม่ยอมเชื่อกันเป็นอันขาด ว่าเป็นไปได้... ! กล่าวหากันว่าเป็นการเขียนตกแต่งต่อเติมเสริมต่อ โดยพระอรรถกถาจารย์ในภายหลัง ! เป็นไปได้อย่างไรที่มนุษย์เราจะทำอย่างนั้นได้... ! โกหกกันชัด ๆ ... !

โลกสมัยปรมาณูก้าวหน้ากันไปเท่าไรแล้ว คนไทยยังงมงายกันอีก

ไม่แต่คนไทยธรรมดาจะคัดค้าน มีพระภิกษุสงฆ์บางรูปก็ยังช่วยเขียนค้านพระไตรปิฎกนั้น...รับไม่ได้ ควรจะตัดออกสัก ๔๐ – ๖๐ %

ตัดทิ้งเสีย ฝรั่งเขาจะได้ยอมรับได้... !

โถ..ท่านก็เรียนแต่ปริยัติ ไม่ยอมปฏิบัติ ท่านจะทราบได้อย่างไร ว่าพระไตรปิฎกนั้นกล่าวถึงแต่ ของจริง ของแท้ มิได้มี ของปลอม มาเจือปนเลย

ไม่ปฏิบัติด้วยตัวเองแล้ว จะเห็นของจริงได้เช่นไร !

เรื่องเช่นนี้ ท่านผู้อยู่ในวงปฏิบัติธรรม เป็นจำนวนมากที่เคยผ่านมาแล้วด้วยตนเอง หรืออย่างน้อยก็ได้ประสบพบเห็นเรื่องของครูบาอาจารย์เป็นที่ประจักษ์ตาตนเองมาแล้ว !!

ไม่มีอะไรที่จะกล่าวได้ว่า มากเกินไป...หรือเป็นไปไม่ได้ สำหรับพระปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธองค์ ส่วนอิทธิฤทธิ์ ปาฏิหาริย์ของพระองค์ท่าน...ของพระสาวกผู้ทรงญาณลาภี...ผู้ประพฤติตามรอยพระบาทพระบรมครู ก็ย่อมเป็นไปในแนวเดียวกัน

http://www.dharma-gateway.com/mo ... lp-chob-hist-23.htm
56#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 20:06 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๒๔. ภัย ๔ อย่างของผู้ภาวนา

กลางดึกคืนหนึ่ง ขณะที่หลวงปู่กำลังจำวัดอยู่ ท่านได้สะดุ้งขึ้นอย่างแรง พระผู้ปฏิบัติอยู่ใกล้ ๆ ต่างรีบจัดหมอนและผ้าห่มถวายท่าน องค์หนึ่งสงสัยจึงกราบเรียนถามท่านว่า ท่านสะดุ้งตื่นด้วยเหตุใด หลวงปู่เลยบอกศิษย์ว่า ดูเมื่อกี้นี้ ไม่เห็นพระ มีแต่จระเข้อยู่เต็มกุฏิ

ไปดูซิ นอนอยู่ใต้ถุนตัวหนึ่ง นอนอยู่บนเตียงตัวหนึ่ง ตัวใหญ่ ๆ นอนอยู่ตรงกลาง ไปดูซิ...ใช่ไหม..

พระเณรรีบไปดู ก็จริงดังท่านว่า...!

กล่าวคือ แทนที่จะเห็นภาพพระเณร ศิษย์ของท่านกำลังนั่งภาวนาอย่างเอาเป็นเอาตาย ให้สมกับที่ปวารณาตัวถวายเป็นศิษย์พระกรรมฐาน แต่กลับมีพระเณรนอนอยู่ที่ใต้ถุน...บนเตียง...องค์ใหญ่นั้นนอนตรงกลาง...

ไม่น่าประหลาดใจที่ทำไมบรรดาศิษย์จึงเกรงกลัวท่านกันนัก ท่านไม่ต้องลุกเดินไปตรวจตราดูใคร ท่านเป็นอัมพาต นอนอยู่กับที่ แต่ท่านก็ทราบได้ดีว่า ศิษย์คนไหนภาวนาหรือไม่

ผู้ไม่ภาวนา ท่านเห็นเป็นภาพจระเข้นอนกลิ้งเกลือกกองกิเลสอยู่...!!

หลวงปู่เตือนเสมอถึงภัย ๔ อย่างของพระกรรมฐาน ท่านได้สอนศิษย์ของท่านควรระวัง... ระวังเหมือนถ้าเฮาจะลงไปในฮ้วงน้ำข้ามโอฆสงสาร ก็ต้องระวังภัย ๔ อย่างคือ คลื่น หนึ่ง จระเข้ หนึ่ง วังน้ำวน หนึ่ง...และ ปลาร้าย อีกหนึ่ง

ท่านบอกให้ศิษย์ระวัง ทั้งคลื่น ทั้งจระเข้ ทั้งวังน้ำวน และปลาร้าย

ความดื้อดึง ไม่อดทนเชื่อฟังต่อโอวาทที่ครูบาอาจารย์พร่ำสอนและนำเปรียบด้วยภัย คือ คลื่น

ความเห็นแก่ปากแก่ท้อง เห็นแก่หลับแก่นอน ไม่บำเพ็ญเพียร เปรียบด้วยกับ จระเข้


กามคุณ ๕ อย่าง ...รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส เปรียบด้วย ภัย คือ วังน้ำวน ใครหลงติดกามคุณทั้ง ๕ นี้ก็จะ “ติด” เหมือน ลิงติดตัง อยู่ในวังน้ำวน และมีแต่จะถูกกระแสน้ำดูดจมลงอย่างไม่ต้องสงสัย
57#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 20:06 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
มาตุคาม ที่พระพุทธเจ้าสอนพระอานนท์ไว้ก่อนจะเสด็จปรินิพพานว่า ...ควรหลีกเลี่ยงไม่พบปะด้วย ...หากจำต้องพบปะก็ไม่ควรพูดด้วย ...หากจำต้องพูดด้วย ก็ต้องพูดด้วยความสำรวมมีสติ... ท่านเปรียบด้วยภัย คือ ปลาร้าย...!

ผู้จะผ่านพ้น โอฆสงสาร หรือ ห้วงน้ำใหญ่ ไปถึงพระนิพพานได้ จะต้องอาศัยหลักของความเชื่อ ...ต้องเชื่อมั่นในหลักคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เชื่อมั่นในปฏิปทาทางดำเนินของครูบาอาจารย์ จะต้องมีความเชื่อมั่นแน่นอนว่า มรรคผล นิพพานเป็นของมีอยู่จริง เมื่อเราเชื่อว่า มรรคผลนิพพานมีอยู่จริง เราก็ปฏิบัติมุ่งต่อมรรคผลนิพพานได้ เมื่อเราเชื่อว่า มนุษย์สมบัติมี สวรรคสมบัติมี เราก็ทำทานรักษาศีล ไหว้พระเจริญเมตตาภาวนาให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป เราเชื่อว่าจิตของเราเป็นธรรมชาติที่ไม่ตาย รูปร่างกายเราต่างหากที่แตกดับ เราเชื่อโอวาทคำสอนของครูบาอาจารย์ เราก็ขวนขวายสร้างคุณงามความดี สร้างบุญกุศล เป็นอริยทรัพย์อริยบารมี ฝังไว้สำหรับติดตัวเราไปทุกชาติ ทุกภพ จนกว่าจะถึงพระนิพพาน

ถ้าเราไม่เชื่อโอวาท ไม่เชื่อกรรมดีกรรมชั่ว จิตใจก็หวั่นไหวเป็นลูกคลื่นมากระทบจิตใจ สู้คลื่นแรงที่ซัดโถมมาไม่ไหวก็อาจจะจมน้ำตาย

ผ่านคลื่นมาได้ หากมาติดการเห็นแก่ปากแก่ท้อง ไม่ปรารภความเพียร ถูกจระเข้ร้ายฟาดฟัน งับลงสู่ไต้ท้องน้ำ หรือกลายเป็นจระเข้ไปเสียเอง ดังนิมิตเกิดขึ้นฟ้องหลวงปู่ก็ได้

ผ่านคลื่น ผ่านจระเข้ ก็อาจมาติดวังน้ำวน มัวรัก มัวชอบ มัวหวง มัวห่วง มัวอาลัย ในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส เกิดความยึดถือมั่นหมายว่า เป็นของเรา เดี๋ยวเจ็บ เดี๋ยวป่วย กลัวเป็นหนัก กลัวล้มตาย กลัวแก่ กลัวตาย ไม่แต่ร่างกายของเรา แม้ที่อยู่ ที่อาศัยก็ห่วงก็หวง กลัวชำรุดทรุดโทรม ร่างกายของคนอื่น ก็ห่วง ก็หวง ก็อาลัยไปด้วย จิตใจก็หวั่นไหว แหวกว่ายอยู่กลางวังน้ำวน หลงยึด หลงติด ก็ถูกกระแสน้ำดูดลงสู่วังน้ำวน เป็นวัฏฎะวนตลอดไป

หลบคลื่น หลบจระเข้ หลบวังน้ำวน เผลอ ๆ อาจจะถูกปลาร้ายจับกินเป็นภักษาหาร ศิษย์ของท่านเองต้องสึกหาลาเพศออกไปนักต่อนักแล้ว

ท่านจึงเตือนศิษย์เสมอ ถึงภัย ๔ อย่างของผู้ภาวนา

http://www.dharma-gateway.com/mo ... lp-chob-hist-24.htm
58#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 20:07 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๒๕. การระลึกชาติ

ในเรื่อง บุพเพนิวาสานุสติญาณ หรือ ญาณระลึกชาติ ได้นั้น ไม่ต้องสงสัยเลยว่าหลวงปู่จะมีหรือไม่ สมเด็จพระพุทธองค์ได้ญาณนี้เมื่อคืนวันตรัสรู้ในเวลาปฐมยาม เป็นญาณลำดับแรกที่ทรงบรรลุ ทรงทราบรู้ระลึกถึงชาติหนหลังได้ ทั้งของพระองค์เองและสัตว์โลกอื่นๆ ตั้งแต่หนึ่งชาติ จนถึงอเนกชาติ...หาประมาณมิได้ ญาณนี้ทำให้ทรงทราบถึงอดีตชาติที่ท่องเที่ยว เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นทุกข์อยู่ร่ำไป และทรงทำให้รู้สึกสลด รันทด เกิดความสังเวชพระทัยจนน้ำพระเนตรไหล ทรงสลด สังเวช สงสารชาติของพระองค์ ชาติของสัตว์อื่น ที่ท่องเที่ยว เกิด แก่ เจ็บ ตาย ทนทุกข์ทรมานมา ไม่แต่จะเคยเสวยพระชาติเป็นเทวดา อินทร์ พรหม ยม ยักษ์ นาค มนุษย์ ซึ่งเป็นทั้งท้าวพระยามหากษัตริย์ พระเจ้าจักรพรรดิ แต่เป็นคนยากจน เข็ญใจ ก็มีมาก และนอกจากทรงเคยเสวยพระชาติเป็นสัตว์เดรัจฉาน แม้แต่การตกนรกหมกไหม้ก็เคยผ่านขุมนรกต่างๆ มาแล้วเช่นกัน ทำให้พระองค์ทรงเบื่อหน่ายในชาติกำเนิด การเวียนว่ายตายเกิดเป็นที่ยิ่ง การจุติ แปรผัน ตาย - เกิด เกิด - ตาย ของสัตว์โลกไม่มีที่สิ้นสุด

ญาณนี้เองเป็นเบื้องต้น เป็นบันไดขั้นแรกในคืนวันเพ็ญเดือนหก เมื่อสองพันห้าร้อยสามสิบห้าพรรษากาลที่ผ่านมา ที่ทำให้พระองค์สาวทอดไปสู่การตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ !

ญาณระลึกชาติได้เช่นนี้ เป็นญาณซึ่งปวงปราชญ์ท่านถือเป็นเครื่องเตือนใจให้สลด สังเวชในภพชาติ และเร่งพิจารณาให้รู้ถึง ทุกข์ รู้ เหตุให้เกิดทุกข์ รู้ ธรรมเป็นที่ดับทุกข์ และรู้ ข้อปฏิบัติให้ถึงธรรมเป็นที่ดับทุกข์

เร่งพิจารณาทวนกระแส ตัดภพ ตัดกระแสของภพ

ตัดกระแสของภวังค์ ให้ขาดสิ้นไป

ท่านตรวจตรา ทวนกระแสดู ใน ปฏิจจสมุปบาท ปัจจยาการว่า...
เมื่ออวิชชาดับ สังขารก็ดับ

สังขารดับ วิญญาณก็ดับ

วิญญาณดับ นามรูปก็ดับ

นามรูปดับ อายตนะก็ดับ

อายตนะดับ ผัสสะก็ดับ

ผัสสะดับ เวทนาก็ดับ

เวทนาดับ ตัณหาก็ดับ

ตัณหาดับ อุปาทานก็ดับ

อุปาทานดับ ภพก็ดับ

ภพดับ ชาติก็ดับ

ชาติดับ ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความโศก ความเศร้า ความร้องไห้ ร่ำไร รำพัน ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจ ความเสียใจ ความคับแค้นใจ ก็ดับไปตาม ๆ กัน

59#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 20:07 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
และทวนหวนกลับกระแสอีกว่า

เมื่อชาติดับ ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความโศก ความเศร้า ความร้องไห้ ร่ำไร รำพัน ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจ ความเสียใจ ความคับแค้นใจ ก็ดับ

เพราะชาติดับ ภพก็ดับ

ภพดับ อุปาทานก็ดับ

อุปาทานดับ ตัณหาก็ดับ

ตัณหาดับ เวทนาก็ดับ

เวทนาดับ ผัสสะก็ดับ

ผัสสะดับ อายตนะก็ดับ

อายตนะดับ นามรูปก็ดับ

นามรูปดับ วิญญาณก็ดับ

วิญญาณดับ สังขารก็ดับ

สังขารดับ อวิชชาก็ดับ

อวิชชาดับ แล้วสิ่งทั้งหมดก็ดับไปตาม ๆ กัน


ปราชญ์ท่านจะค้นดูในปัจจยการ ปฏิจฺจสมุปบาท อย่างละเอียดลออ ท่านจะพยายามทำให้อาสวกิเลสให้หมดสิ้นไป ดับไป ไม่ให้เหลือเชื้อ เพื่อท่านจะได้เป็นผู้สิ้นไปแล้วจากอาสวะทั้งหลาย เป็นผู้เสร็จกิจ จบพรหมจรรย์ ไม่มีกิจที่จะต้องทำอีกต่อไป

การเป็นผู้เสร็จกิจ ท่านหมายถึง กิจ ใน การละ การวาง การถอดถอนกิเลส การประหารกิเลส การดับกิเลส... นั้นไม่มีอีกแล้ว เพราะท่านได้ละ ได้วาง ได้ถอดถอน ได้ประหาร และดับหมดสิ้นแล้ว จึงเป็นผู้เสร็จกิจ ไม่มีกิจที่ต้องทำอีก เมื่อยังมีชีวิตอยู่ ก็มีแต่กิริยาจิต ปฏิปทากิจ ที่จะต้องดำเนินตามปฏิปทาอริยมรรค อริยประเพณี เพื่อความเหมาะสมและดีงามเท่านั้น

สำหรับญาณการระลึกรู้อดีตชาตินี้ ศิษย์ผู้ใกล้ชิด ผู้ใฝ่ในการปฏิบัติเพื่อพ้นทุกข์ได้เคยขอโอกาสกราบเรียนถาม หลวงปู่ก็ยอมเล่าให้ฟังบ้าง

ท่านเล่าว่า ท่านไม่ได้ระลึกชาติได้มากมายอะไร ที่สมเด็จพระพุทธองค์ทรงระลึกได้อเนกชาติหาประมาณมิได้นั้น เพราะท่านทรงมหาสติ มหาปัญญา มหาบารมี
60#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 20:08 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
สำหรับท่านนี้ เท่าที่ระลึกได้ ท่านไม่เคยเป็นกษัตริย์ มักจะเป็นแต่คนทุกข์ยากเสียมากกว่า


พ่อเชียงหมุน หรือ เชียงมั่น คือ ชายที่อยู่ทางด้านขวาของภาพ

พ่อเชียงหมุน หรือ เชียงมั่น

เคยเกิดเป็นพ่อค้าขายผ้าชาติลาว ออกเดินทางมากับพ่อเชียงหมุน (อุปัฏฐากคนหนึ่งในชาตินี้) ข้ามแม่น้ำโขงมาฝั่งนี้ มาทานผ้าขาวหนึ่งวา และเงินเป็นมูลค่าประมาณเท่ากับ ๕๐ สตางค์ ในปัจจุบันนี้ บูชาถวายพระธาตุพนม พร้อมทั้งอธิษฐานขอให้ได้บวช ได้พ้นทุกข์ ท่านเล่าว่า ท่านเคยมาสร้างพระธาตุพนมด้วย สมัยพระมหากัสสปเถรเจ้า พระธาตุพนมนี้สร้างก่อนพระปฐมเจดีย์

ท่านเคยเกิดเป็นคนยางอยู่ในป่า เคยเกิดเป็นทหารพม่า มารบกับไทย ยังไม่ทันฆ่าคนไทย ก็ตายเสียก่อน เคยเกิดอยู่เมืองปัน พม่า ชาตินี้ท่านก็ได้กลับไปดูบ้านเกิดในชาติก่อนที่เมืองปันด้วย

เคยเป็นทหาร ไปหลบภัยที่ถ้ำกระ เชียงใหม่ และเคยตายเพราะอดข้าวที่นั่น

ท่านเคยเป็นพระภิกษุ รักษาศีลอยู่กับพระอนุรุทธะ เคยเป็นสามเณรน้อยลูกศิษย์พระมหากัสสปะ

เคยเกิดเป็นท้าวมหาพรหมในพรหมโลก

สำหรับการเกิดเป็นสัตว์นั้น ท่านเล่าว่า ท่านก็ผ่านมาอย่างทุกข์ยากแสนเข็ญเช่นกัน เช่น เคยเกิดเป็นผีเสื้อ ถูกค้างคาวไล่จับเอาไปกิน ที่ถ้ำผาดิน

เคยเกิดเป็นฟาน หรือ เก้ง ไปแอบกินมะกอก กินไม่ทันอิ่มสมอยาก ถูกมนุษย์ไล่ยิง เขายิงที่โคกมน ถูกที่ขา วิ่งหนีกระเซอะกระเซิงไปตายที่บ้านม่วง

เมื่อครั้งเกิดเป็นหมี ไปกินแตงช้าง (แตงร้าน) ของชาวบ้าน ถูกเจ้าของเขาเอามีดไล่ฟัน ถูกหัวและหู เคราะห์ดีไม่ถึงตาย แต่ก็บาดเจ็บมาก ต้องทุกข์ทรมานจนกระทั่งหายไปเอง

เคยเกิดเป็นไก่ มีความผูกพันรักชอบนางแม่ไก่สาว จึงอธิษฐานให้ได้พบกันอีก ทำให้กลับมาเกิดเป็นไก่ซ้ำถึง ๗ ชาติ

เคยเกิดเป็นปลาขาว อยู่ในสระ ณ บริเวณซึ่งปัจจุบันคือ ที่สวนบ้าน พล.อ.อ. โพยม เย็นสุดใจ

ท่านเล่าชีวิตของการเป็นสัตว์นั้นแสนลำเค็ญ อดอยากปากแห้ง มีความรู้สึกร้อน หนาว หิว กระหาย เหมือนมนุษย์ แต่ก็บอกไม่ได้ พูดไม่ได้ ต้องซอกซอนไปอยู่ตามป่า ตามเขา ตามประสาสัตว์ ฝนตกก็เปียก ก็หนาวสั่น แดดออกก็ร้อน ก็ไหม้เกรียม อาศัยถ้ำ อาศัยร่มไม้ไปตามเพลง บางทีมาอยู่ใกล้หมู่บ้านหิว กระหาย เห็นพืชผลที่ควรกินชีวิตได้ พอจะหยิบฉวยจับใส่ปากใส่ท้องได้บ้าง ก็กลับกลายเป็นของที่เขาหวงห้ามมีเจ้าของ ต้องถูกเขาขับไสไล่ทำร้าย

มะกอกสักหน่วย กล้วยสักลูกส้มสูกลูกไม้ แตงสักผล... หยิบปลิดมาใส่ปาก กินยังไม่ทันอิ่มท้อง มนุษย์ก็ไล่ยิง ไล่ฟัน ของเพียงน้อยนิด แต่ต้องแลกด้วยชีวิตทั้งชีวิต ชีวิต...ซึ่งจะเป็นชีวิตของคน หรือชีวิตของสัตว์... ของสัตว์ใหญ่ หรือ ... ของสัตว์เล็ก ก็คือ ชีวิตดวงหนึ่งเหมือนกัน
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้