ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

~ หลวงปู่ชอบ ฐานสโม วัดป่าโคกมน ~

[คัดลอกลิงก์]
91#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 20:21 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้


ผู้เขียนนึกถึงที่ท่านเคยเล่าไว้ครั้งหนึ่งนานมาแล้วว่า คราวหนึ่งท่านอยู่กับหลวงปู่แหวนที่วัดห้วยน้ำริน จังหวัดเชียงใหม่ ปีนั้นเชียงใหม่แห้งแล้งอย่างมาก พวกญาติโยมก็พากันมาอ้อนวอนท่าน ขอให้เมตตา ต้นผลหมากรากไม้จะเหี่ยวแห้งแล้งกันตายหมดแล้ว สวนลำไย นาข้าวจะล่มหมดแล้ว ตุ๊เจ้าไม่ช่วยคงจะแย่ไปตามกัน ท่านทั้งสองเห็นใจญาติโยมที่หน้าแห้งอกไหม้ไส้ขม พากันมาร้องทุกข์ด้วยน้ำตาปริ่มตา ก็ช่วยกันสวดมนต์ขอให้ฝนตก

ท่านเล่าว่า ฝนตกหนักติดต่อกันสามวันสามคืน น้ำท่วมเชียงใหม่ทั้งเมือง

ขอพญานาคเขา เขามาช่วยกันเต็มที่ ทั้งพ่อ ทั้งแม่ ลูกเล็กเด็กแดง ตัวเล็กตัวน้อย ชูคอพ่นน้ำกันเป็นฝอย เต็มไปหมด

จริง...พญานาคมา ฝนก็มา

ท่านได้จาริกต่อไปที่วัดญาณรังษี เมืองฟอลส์เชิร์ช รัฐเวอร์จิเนีย ระหว่างพักที่วัดนี้ คืนสุดท้าย ศรัทธาญาติโยมชาวไทย ชาวลาว มามาก พากันร่ำร้องขอฟังเสียงหลวงปู่ชัด ๆ บางคนได้ข่าวเรื่องราวที่มีเทพมากราบคารวะท่านอยู่มากแล้ว จึงถือโอกาสเรียนถามย้ำถึงเรื่องราวที่ได้ยินมา บังเอิญครั้งนี้ได้มีการบันทึกเทปคำสนทนา "ถาม – ตอบ” ช่วงนั้นไว้ได้ ถึงเสียงตอบของหลวงปู่จะแผ่วเบาอยู่มาก แต่ก็ฟังได้ชัด

ผู้เขียนได้นำข้อความที่ถอดบันทึกเทปช่วงนั้นมาลงพิมพ์พอเป็นตัวอย่างดังนี้

หลวงปู่เริ่มด้วยการปฏิสันถาร ถามโยมหญิงผู้มีอายุคนหนึ่ง

หลวงปู่        :   มาอยู่นี่นานหรือยัง

โยม             :   มาอยู่นี่ ๕ – ๖ ปีแล้วค่ะ มาอยู่กับลูกสาวค่ะ (ตอบพร้อมกับน้ำตาคลอตาด้วยความปลื้มใจ ที่หลวงปู่เหนื่อย ไม่ใคร่พูด แต่ยังอุตส่าห์ทักทายอย่างเมตตา)

คำถาม       :   มาอเมริกา มีเทวดามากราบหลวงปู่ไหม

หลวงปู่        :   มา

คำถาม       :   มาหลาย บ่

หลวงปู่        :   หลายอยู่

คำถาม       :   อยู่วัดนี้ (วัดญาณรังษี) มี บ่

หลวงปู่        :   มีอยู่ วัดนี้มีอยู่

คำถาม       :   เทวดาสวยกว่าโยมอยู่นี่หรือเปล่า หรือว่าพอ ๆ กัน

หลวงปู่        :   งามอยู่

คำถาม       :   อยู่วัดที่เคลเลอร์ มีเทวดาบ่ (วัดพุทธรัตนาราม เมืองเคลเลอร์ ที่หลวงปู่ไปจำพรรษาที่อเมริกา)

หลวงปู่        :   มี

คำถาม       :   อยู่เท็กซัส ท่านเล่าว่า ตอนกลางคืนมีเทวดามากราบท่าน มาฟังธรรมกับท่าน

โยมผู้หญิง  :   เทวดาผู้หญิง หรือเทวดาผู้ชายมากกว่ากันเจ้าคะ

หลวงปู่        :   ผู้หญิงมากกว่า

คำถาม       :   เทวดามาวันนี้ เป็นผู้หญิงสาวหรือคนแก่มากกว่ากัน

หลวงปู่        :   ผู้หนุ่มหลายกว่า

โยมผู้หญิงอีกคนหนึ่ง    :   พญานาคมีจริงไหมคะ หลวงปู่

หลวงปู่        :   มีจริง

คำถาม       :   ที่ไนแอการ่ามีพญานาค บ่ ปู่

หลวงปู่        :   มี

คำถาม       :   วันนั้นมีพญานาคมาหรือเปล่า เขามาหาปู่ บ่

หลวงปู่        :   มา

พระองค์หนึ่ง  :   นั่นสิ พญานาคมา ฝนก็มา วันนั้นถึงฝนตกหนัก ตกแรง ทั้ง ๆ ที่ฝนไม่เคยตกแถวนั้นมาหลายเดือนแล้ว แต่กลับตกเฉพาะบริเวณนั้น...บริเวณปู่อยู่เท่านั้น รอบ ๆ ฝนไม่ตกเลย

คำถาม       :   เมื่อสักครู่ สวดมนต์ สวดชัย (ชัยมงคล) สวดธัมมจักร มีเทวดามาฟัง บ่

หลวงปู่        :   มี

ผู้ถามบ่น    :   เมื่อกี้มีเทวดามาฟังสวดมนต์ด้วย แต่เสียดายตาพวกเราไม่เห็นเลย (เรียนถาม) เทวดามาเท่ากับโยมที่มาสวดมนต์หรือมามากกว่านี้ ปู่

หลวงปู่        :   หลายกว่านี้

พระ             :   แสดงว่า เทวดาเขาขยันมากกว่าพวกเฮามนุษย์อีก พวกเฮาต้องอย่าขี้เกียจขี้คร้าน ให้ขยันสวดมนต์ฟังธรรมให้เหมือนเทวดา ปฏิบัติให้เหมือนหลวงปู่จะได้ “เห็น” อย่างท่าน

โยม             :   ตอนนี้ หูหลวงปู่ได้ยินดีไหมคะ

หลวงปู่        :   ได้ยิน

โยม             :   ตาเห็นดีบ่ เห็นไกลบ่

หลวงปู่        :   เห็น

92#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 20:21 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
คำถาม       :   มาเมืองนิวยอร์ก เมืองวอชิงตัน ดี ซี ม่วนบ่ ปู่

หลวงปู่        :   ม่วนอยู่

โยม             :   หลวงปู่อายุเท่าไรแล้วคะ ?

หลวงปู่        :   เก้าสิบ

โยม             :   หลวงปู่ไปอยู่พม่ากี่ปี

หลวงปู่        :   ๖ ปี

คำถาม       :   หลวงปู่เห็นหลวงปู่ตื้อครั้งแรกที่ไหน

หลวงปู่        :   เชียงใหม่

คำถาม       :   พบหลวงปู่แหวนอยู่ที่ไหน

หลวงปู่        :   เชียงใหม่

คำถาม       :   หลวงปู่ไปจำพรรษาอยู่กับหลวงปู่แหวนกี่พรรษา

หลวงปู่        :   ๓ พรรษา

คำถาม       :   หลวงปู่ตื้ออยู่ด้วยกันกี่พรรษา

หลวงปู่        :   ไม่เคยอยู่ด้วยกัน

คำถาม       :   ตอนที่ต้นไม้ล้มทับกุฏิอยู่ที่ไหนนะ หลวงปู่

หลวงปู่        :   อยู่อุดร

คำถาม       :   เกือบออกบ่ทันน้อ ใครเป็นคนไปเรียกหลวงปู่ออกมา

หลวงปู่        :   โยมแม่

คำถาม       :   เป็นโยมแม่เก่าหลวงปู่ เป็นเทวดาบ่ ปู่

หลวงปู่        :   อือ

คำถาม       :   ปีนั้นจำพรรษากี่องค์ปู่...ปีที่ต้นไม้ล้มทับกุฏิ ?

หลวงปู่        :   จำพรรษา ๑๐ องค์

คำถาม       :   มีหลวงปู่หลุยบ่ ปู่

หลวงปู่        :   มีอาจารย์หลุย

คำถาม       :   มีเณรบ่ หลวงปู่

หลวงปู่        :   มีเณร ๒ องค์

คำถาม       :   ตอนนั้นมีเสือบ่ หลวงปู่...ตอนอยู่อุดร

หลวงปู่        :   มีอยู่

คำถาม       :   อยู่ในที่นี้ มีลูกหลานหลวงปู่ แต่ชาติก่อนบ่

หลวงปู่        :   มี

คำถาม       :   เป็นผู้หญิง หรือผู้ชาย

หลวงปู่        :   เป็นผู้หญิง
93#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 20:23 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ประมวลภาพหลวงปู่เดินทางไปต่างประเทศ


หลวงปู่รับนิมนต์ไปเยี่ยมญาติโยม ณ ประเทศลาว ในเรือ นปข. จากวัดท่าแขก (ไทย) ข้ามฝั่งโขงไปบ้านสารคาม (ลาว)





หลวงปู่ได้รับนิมนต์ให้เดินทางไปโปรดญาติโยมนอกเขตประเทศไทยหลายครั้ง
นอกจากข้ามโขงเข้าไปในลาว ข้ามเขาไปในพม่า ระหว่างการเดินธุดงค์แล้ว
ท่านเดินทางไปมาเลเซีย ปีนัง สาธารณรัฐประชาชนจีน สหรัฐอเมริกา ฯลฯ ตามกิจนิมนต์

94#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 20:24 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๓๗. ปฏิปทาในปัจฉิมวัย

ปกติ หลวงปู่เป็นผู้ “อยู่ป่าอยู่เขา” เป็นนิสัย สมกับที่ท่านถือตนเป็นศิษย์ท่านพระมหากัสสปะ ไม่ค่อยจะออกมาสู่ “เมือง” และไม่ค่อยจะอยู่เป็นประจำที่ แม้แต่อยู่ตามป่าตามเขาแล้ว ท่านก็ยังวิเวกต่อไป จากป่านี้ ไปป่าโน้น จากเขาดอยนี้ ไปเขาดอยโน้น จากถ้ำนี้ ไปสู่ถ้ำโน้น ...มิได้อยู่ประจำเป็นที่ ท่านเคยเล่าให้ผู้ใกล้ชิดฟังสมัยเมื่อท่านยังเดินได้เป็นปกติว่า

“ถ้าเราเดินไม่ไหวก็จะให้เพื่อนหามไป ถ้าไม่มีใครหามก็จะกลิ้งไป ถ้ากลิ้งไม่ไหว ก็จะเอาคางเกาะไป”

ในปี ๒๕๑๔  ท่านภาวนาเห็นกระดูกของตนเอง แตกละเอียดข้างหนึ่ง ทางด้านซ้าย ท่านยังไม่ทันพิจารณาแน่นอนว่า จะเป็นอย่างไร เย็นนั้นก็เริ่มมีอาการปวดอย่างมากตามตัว โดยเฉพาะทางแขนขาข้างซ้าย พระเณรไปช่วยนวด แต่ท่านก็เพียงรู้สึกสบายเวลานวด ...หยุดเข้าก็กลับปวด ไม่ทุเลา ท่านเริ่มรู้สึกว่า ร่างกายทางซีกซ้ายชามากขึ้น แต่ท่านก็ยังฝืนเดิน วันหนึ่งกลับมาจากบิณฑบาต ท่านประคองตัวมาได้พอถึงวัด ก็ต้องล้มลง เพราะร่างกาย แขน ขา ทางซีกซ้ายนั้นชา หมดความรู้สึกไปหมด

ท่านเล่าว่า ท่านได้มีนิมิต เห็นคนร่างสูงใหญ่ มาขวางประตูไว้ ถามท่านว่า จะไปวันนี้ แน่หรือ ท่านตอบว่า เดี๋ยวก่อน โปรดสัตว์สักหน่อยเสียก่อน

คณะศิษย์พาท่านไปรักษาตามโรงพยาบาลต่าง ๆ ทั้งในต่างจังหวัดและกรุงเทพฯ รวมทั้งได้มีผู้เสนอการรักษาทั้งแบบปัจจุบันและแผนโบราณ การทำกายภาพบำบัด และนวดเส้น ฯลฯ แต่ก็มิได้หาย เดินได้อย่างเคย ความเจ็บปวดได้ทุเลาหายไป หากท่านคงเป็นอัมพาตทางซีกซ้ายมาแต่นั้น ต้องมีศิษย์คอยพยุงลุก พยุงนั่ง ช่วยเหลือทุกอิริยาบถ



และถึงท่านจะอาพาธเช่นนี้ แต่ธุดงคนิสัยของท่านก็มิได้ละลดลง หลวงปู่ยังคงเมตตาเที่ยวไปโปรดญาติโยม ลูกศิษย์ลูกหาตามเมืองต่าง ๆ อยู่เป็นประจำ และยังคงกลับไปวิเวกตามสถานที่ต่าง ๆ ที่ท่านเคยเดินธุดงค์มาแล้ว เช่น ที่บ้านม่วงไข่ บ้านสานตม...จังหวัดเลย ผาแด่น ผาเด่ง ห้วยน้ำริน...จังหวัดเชียงใหม่ เป็นอาทิ เพียงแต่มิได้เป็นการธุดงค์ด้วยเท้าอย่างเก่า แต่เป็นการธุดงค์ด้วนรถ...รถเข็น

ปฏิปทาในปัจฉิมสมัยของหลวงปู่จึงต้องเปลี่ยนแปลงไป

ปกติตอนเช้า หลวงปู่จะให้พาออกบิณฑบาต มีพระเณรหรือผ้าขาว หรือฆราวาสเข็นรถให้ท่านนั่งออกโปรดญาติโยมให้ได้ใส่บาตรเป็นประจำ ระยะในปีสองปีหลังนี้ ท่านจะให้พาออกเป็นบางวัน หรือเฉพาะโอกาสสำคัญ ๆ เช่น วันเข้าพรรษา วันออกพรรษา วันวิสาขบูชา วันมาฆบูชา งานกฐิน ผ้าป่า...เป็นต้น แต่ทุกวันตอนเช้า พอตื่นนอน ท่านมักถามพระเณร ผ้าขาวเสมอว่า “ไปบิณฑบาตแล้วบ่”

ท่านฉันเช้าเวลาประมาณ ๗.๐๐ น. ฉันเสร็จแล้วท่านจะจำวัตรประมาณ ๒๐ – ๓๐ นาที พระลูกวัดจะฉันทีหลังท่านเสมอ

ตอนเพล ท่านก็ฉันได้นิดหน่อย แต่ไม่มากเหมือนตอนเช้า เมื่อก่อน ท่านฉันมื้อเดียวเหมือนกัน ครั้นเมื่อท่านป่วยเป็นอัมพาต แพทย์จึงนิมนต์ให้ท่านฉัน ๒ มื้อ ร่างกายของท่านซึกข้างซ้าย ตั้งแต่ ไหล่ แขน ขา มือ ใช้การไม่ได้เลย ส่วนทางซีกขวายังใช้การได้ดี อย่างไรก็ดี ทุกส่วนของร่างกายท่านยังรู้สึกเจ็บ รู้สึกคันได้ เวลามดแมลงไต่ ท่านก็รู้สึก ตา หู ของท่าน ยังเห็นได้ ได้ยินได้ดี เวลาฉันอาหาร ลิ้น ฟัน ท่านเคี้ยวลำบาก ฉันไม่ได้มาก แพทย์จึงนิมนต์ให้ฉันเพลช่วย เพื่อจะได้มีอาหารเยียวยาธาตุขันธ์เพียงพอ ท่านก็อนุโลมตาม บางครั้งและหลาย ๆ ครั้ง ท่านไม่อยากฉันเพลด้วยซ้ำ แต่ท่านไม่ชอบขัดศรัทธา

ฉันเพลเสร็จ ท่านจะงีบสักครู่หนึ่ง พอตื่น ท่านจะต้องเปลี่ยนที่ไปที่อื่น หรือไม่ก็ให้คนเข็นรถไปดูรอบ ๆ บริเวณวัด ชาวบ้านจะมาคอยกราบท่านได้ในตอนนี้อีกครั้งหนึ่ง

ตกเย็นประมาณบ่าย ๔ โมง จะนิมนต์ท่านสรงน้ำด้วยน้ำอุ่นทุกครั้ง เสร็จแล้วถวายน้ำร้อน น้ำชา และนวดถวายท่านพร้อมไปด้วย ถ้ามีแขก ท่านจะรับแขกช่วงที่สรงน้ำเสร็จ เพราะอารมณ์ท่านแจ่มใส เสร็จแล้ว ท่านจะให้เข็นรถพาเที่ยวรอบ ๆ วัดอีก ส่วนมากจะเป็นการเข็น “จงกรม” กลับไปกลับมา ภายในศาลาหลังเตี้ย ๆ ติดกับพื้นดิน
95#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 20:25 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
การ “จงกรม” ด้วยรถเข็นนี้ จะนานประมาณ ๒ – ๓ ชั่วโมง จนคนเข็นต้องเปลี่ยนชุดกัน กำหนดเวลาขนาดนี้เข้าใจว่า คงเป็นประมาณเท่ากับที่ท่านเคยเดินจงกรมเองเวลาสุขภาพท่านยังดีอยู่ ยัง “ย่าง” เดินได้เอง

กลางคืน ท่านจะเข้าพัก ประมาณ ๒๐.๓๐ น. ประชุมทำวัตรเย็น ถ้ามีญาติโยมมามาก ท่านจะออกมานั่งเป็นประธาน ท่านจะยกมือซีกข้างดีขึ้นด้วยทุกครั้ง ก่อนทำวัตรสวดมนต์ และตอนสวดจบ

หลวงปู่จำวัตรไม่เป็นเวลา บางคืน ๒๒.๐๐ น. บางคืน ๒๓.๐๐ น. บางคืนสองยามหรือดึกกว่านั้น ถ้ามีญาติโยมอยู่คุยด้วย ท่านจะเมตตาอยู่ด้วยจนดึกดื่นก็มี

นั่นเป็นกิจวัตรนามเมื่ออยู่วัด แต่สำหรับกรณีที่มีการเดินทาง จะผิดแผกไปบ้างกล่าวคือ

ตอนเช้า ท่านจะตื่นก่อนลูกศิษย์เสมอ และจะเร่งให้รีบเตรียมของขึ้นรถ ใครช้าหรือตื่นสายก็ไม่ได้ไปกับท่าน ...นี่พูดถึงการไปฉันเช้าข้างหน้า ฉันเช้า ณ จุดใดจุดหนึ่งข้างหน้า เสร็จแล้วไปต่อ ท่านใช้รถเป็นที่ฉันเช้า และจำวัตรไปด้วย พอถึงเพลที่ไหน ก็ฉันที่นั่น บางทีก็ใช้ที่ใต้ร่มไม้ข้างทาง บางทีก็ฉันบนรถ

มีญาติโยมศรัทธาทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ได้สร้างกุฏิอย่างวิจิตรพิสดาร มูลค่านับแสน ๆ ล้าน ๆ บาท กล่าวถวายเสร็จ ท่านก็จะเมตตาอยู่ให้บ้างในตอนระยะแรก ไม่นานท่านจะย้ายไปพักกุฏิหลังอื่น กุฏิที่ท่านโปรดพัก มักจะเป็นกุฏิหลังเล็ก ๆ มุงด้วยหญ้าหรือแฝก พื้นเป็นไม้ไผ่ทุบ ที่เรียกว่า “ฟาก” ยกพื้นเหนือพื้นดินเล็กน้อย พอให้ข้างล่างได้มีที่สุมไฟไล่ยุง หรือให้ความอบอุ่นได้บนยอดดอย ทางจังหวัดเลยหรือเชียงใหม่ อากาศจะหนาวมาก แทบไม่เคยมีหน้าร้อน

ท่านว่า “สมัยท่านอาจารย์ใหญ่ (หลวงปู่มั่น อาจารย์ของท่าน) ก็อยู่อย่างนี้ สุมไฟอย่างนี้เหมือนกัน” และว่า “ที่ได้ธรรมะมาสั่งสอนอบรมหมู่คณะ ก็ได้มาจากกุฏิที่มุงด้วยหญ้า หลังเล็ก ๆ ปูด้วยฟากอย่างนี้แหละ !”

ท่านไม่สนใจให้ความสำคัญแก่เสนาสนะที่อยู่อาศัยเลย บางทีเขานิมนต์ท่านไปพักที่วัดที่สร้างใหม่ ๆ กุฏิวิหารถาวรไม่มี ท่านก็พักอยู่ได้ หรือแม้แต่กางเต็นท์ท่านก็พักได้...อย่างสบาย !

การขบฉัน ก็มิได้เอ่ยปากขอสิ่งนั้นสิ่งนี้ สุดแท้แต่ศรัทธาญาติโยมจะนำมาถวาย เป็นภาระหน้าที่ของแม่ครัวกับผู้ติดตามที่จะคอยดูแลสังเกตเท่านั้นว่า ท่านชอบฉันอะไร หรือ อาหารอย่างใด ถูก หรือไม่ถูกกับธาตุขันธ์ของท่าน

หลวงปู่ท่านไม่ชอบ “ใส่ฟัน” ท่านว่า “มันเคือง” ปัจจุบันนี้ท่านเหลือฟันจริงอยู่เพียง ๔ ซี่เท่านั้น หารที่จะฉันได้ จึงต้องเป็นอาการอ่อน ๆ นิ่ม ๆ หรือเหลว ๆ ส่วนรสของอาหารนั้นจะฉันเผ็ด หรือใส่พริกไม่ได้เลยสักเม็ดเดียว ส่วนจะเป็นข้าวเหนียว ข้าวเจ้า ข้าวต้ม ฉันได้ทั้งนั้น

หากมีการเจ็บป่วย ท่านไม่ชอบฉันยาเลย โดยเฉพาะยาที่มีรสขม ท่านบอกว่า “บ่สู้” การรักษาพยาบาลปล่อยให้เป็นหน้าที่ของแพทย์ แต่ถ้าแพทย์ทำให้เจ็บ เช่นฉีดยา ให้น้ำเกลือ เจาะเลือด ท่านก็ไม่เอา เคยมีคนเรียนถามท่านว่า “ถ้าหมอจะผ่าตัด จะให้ผ่าบ่ หลวงปู่” ท่านตอบว่า “บ่ให้ผ่า นอกจากบ่รู้สึกตัว”

ปกติ ท่านฉันน้ำน้อยมาก เฉลี่ยโดยประมาณ วันหนึ่งไม่เกิน ๒ แก้ว (รวมทั้ง น้ำร้อน น้ำชาด้วย) จะฉันเฉพาะน้ำสะอาดธรรมดา จำพวกน้ำอัดลม น้ำส้มคั้น ท่านจะจิบให้เจ้าของ ผู้ถวายได้มีศรัทธาชื่นใจเท่านั้น

บุหรี่ หลวงปู่สูบได้ทุกยี่ห้อ แต่ก็เพียงพ่นควันเล็กน้อย ที่โปรดมากคือ บุหรี่ใบตอง (ยาเส้นตามพื้นบ้าน) รองลงมาคือ บุหรี่ขี้โย เคยมีศิษย์บางคนมาขอร้องไม่ให้ท่านสูบ ท่านว่า “สูบมาแต่เป็นเด็กน้อยเลี้ยงควาย จะให้เลิกได้จั๋งได๋” และบางครั้งก็ว่า “สิสูบจนถึงวันเข้าหีบ (โลง) พู้นเหละ”
96#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 20:25 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ในช่วงปัจฉิมวัย ที่หลวงปู่มีอายุ ๙๐ พรรษากว่าแล้ว ยังมีความอดทนเป็นยอด ท่านจะไม่เคยบ่นให้ได้ยินเลยว่า ปวดหัว ตัวร้อน เป็นไข้ เป็นหวัด นอกจากพระผู้ปฏิบัติจะต้องสังเกตเอง กราบเรียนถามเอง บางครั้งท่านปวดหัวอยู่ตั้ง ๓ เดือน มีพระไปถามขึ้น ท่านจึงยอมบอก

เวลานั่งรถ ท่านกลั้นปัสสาวะครั้งละนาน ๆ เช่น ตั้งแต่กรุงเทพฯ ตลอดถึง เมืองเลย พิษณุโลกตลอดเชียงใหม่ ก็มี...นานเท่านาน ไม่ว่ากี่ชั่วโมง จะไม่ปริปากบ่น จากเมืองเลย – กรุงเทพฯ, เมืองเลย – เชียงใหม่, เชียงใหม่ – พะเยา, พะเยา – เชียงราย, เชียงราย – เชียงใหม่, หาดใหญ่ – ปีนัง, หาดใหญ่ – ภูเก็ต, เมืองเลย – ศรีสะเกษ, เมืองเลย – บ้านแพง, บ้านแพง – นครพนม, นครพนม  - มุกดาหาร, กรุงเทพฯ – จันทบุรี ฯลฯ

ท่านนั่งอยู่ท่าเดิม ไม่ขยับเขยื้อน พระเณรผู้ติดตามไม่พาพัก ท่านก็ไม่พัก

ท่านชอบ “ไป” จริง ๆ ยิ่งที่ลำบากทุรกันดาร ท่านยิ่งมักไป จะอุ้ม จะหามไป ท่านก็ไม่ว่า หลวงปู่นั่งรถได้ทุกระบบ แล้วแต่จะจัดถวาย ตั้งแต่ราคาเป็นล้าน ๆ จนถึงรถไถ รถอีแต๋น ท่านก็ยังเคยนั่งมาหลายครั้ง

ทั้ง ๆ ที่ท่านอยู่ในสภาพเคลื่อนไหวธาตุขันธ์ลำบาก ดูเหมือนลำบากมากเท่าใด ท่านก็ยิ่งชอบ ยิ่งสนุก ยิ้มได้บนความลำบากนั้น ถ้าท่านต้องการจะ “ไป” แล้ว ต่อให้ฝนตก ฟ้าร้อง แดดเปรี้ยง พายุกระหน่ำ ท่านก็จะไป และต้องไปให้ได้

ท่านจะอยู่วัดได้ไม่นาน สักวันสองวัน ท่านก็ “ไป” แล้ว พระเณรหนุ่มน้อยยังต้องยอมแพ้ท่าน ต้องเปลี่ยนวาระกันไปกับท่าน

งานนิมนต์ หรืองานพิธีต่าง ๆ ท่านไม่โปรด ท่านชอบไปตามสบายของท่าน ถ้ามีคนมานิมนต์ ท่านมักพูดว่า “ถ้าขัดข้องกะบ่ไป ถ้าบ่ขัดข้องกะไป” หรือ “ถ้าอยู่ดี สบายกะไป” และ “ถ้าเอารถมารับกะไป บ่เอารถมารับ กะบ่ไป” ทำนองนี้

เคยมีคนปรารถนาดี เสนอขอจัดรายการเดินทางถวายให้ท่านโดยละเอียด เช่นว่า นิมนต์อยู่ที่นั่น...เท่านั้นวัน อยู่ที่นี่...เท่านั้นวัน ไปที่นั่น...ที่นี่ วันนี้ วันนั้น...ฯลฯ ก็เคยลำบากมาแล้ว เพราะบทท่านจะไป ท่านไม่ได้นึกถึงงานพิธีหรือกำหนดการอะไร  ถ้ากรณีมีคนมาชี้แจงอธิบายเหตุผล ขอนิมนต์ให้อยู่ เพราะญาติโยมศรัทธาจะมาจากที่โน่น ที่นี่ มาทอดผ้าป่า ทอดกฐิน ขอให้หลวงปู่อยู่เป็นประธาน ท่านมักพูดว่า “ผู้อยู่กะรับไป ผู้ไปกะไป” ดังนี้

การไป...การอยู่ของท่าน มิได้กำหนดแน่นอน ว่าจะอยู่ที่นี่ หรือที่นั่น เท่านั้น เท่านี้คืน สุดแท้แต่ท่านจะสะดวกสบาย ไม่ว่าในพรรษา หรือ นอกพรรษา ท่านไปทั้งนั้น แต่ถ้าในพรรษา จะกำหนดไว้ไม่เกิน ๗ วัน ต้องนิมนต์ท่านกลับมาเอาราตรีที่วัดอธิษฐานพรรษาเสียก่อน นอนสักสองคืนแล้วจึงไปต่อ

ไปกันมาก ๆ จนครบทุกที่ที่เคยไป บางครั้งพระเณรเรียนถามว่า “จะไปไหนต่อครับ หลวงปู่” ท่านตอบว่า “จะไปไหนกะไป” หรือ “แล้วแต่หมู่คณะจะพาไป”

ถ้าบางโอกาสถามว่า “จะไปหรือจะอยู่ครับ หลวงปู่” ท่านมักจะตอบว่า “หมู่พาไปกะไป หมู่อยู่กะอยู่”

บางครั้ง เวลาขึ้นนั่งรถแล้ว มีที่สามารถเลือกไปวิเวกได้หลาย ๆ ที่ เรียนถามว่า “จะไปไหนดีครับ หลวงปู่” ท่านตอบว่า “แล้วแต่รถจะพาไป”

ด้วยการไป – การมาแบบปัจจุบันทันด่วนของหลวงปู่ ทำเอาลูกศิษย์ลูกหาผู้ติดตาม ตั้งตัวไม่ติดหลายต่อหลายครั้ง เพราะมิได้บอกกล่าวล่วงหน้าเป็นส่วนมาก บทท่านจะปุบปับ ใครเร็วก็ทัน ใครช้าก็พลาด และเวลาหลวงปู่ไปเยี่ยมที่บ้าน ลูกศิษย์บางท่านยังไม่ได้กราบ หลวงปู่ไปก่อนก็มี
97#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 20:25 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
แม้แต่พระเณรผู้มีหน้าที่ติดตามท่านก็เถอะ...! ตามธรรมเนียมการจะไปจะอยู่ต้องเตรียมของ จัดของ อัฐบริขารของครุบาอาจารย์ให้เรียบร้อยเสียก่อน ของตัวเองค่อยมาจัดทีหลัง แต่กรณีหลวงปู่ ไม่ใช่เช่นนั้น พระเณรผู้มีหน้าที่ติดตามต้องเตรียมของตัวเองให้เรียบร้อยไว้ก่อนเป็นปลอดภัย เพราะถ้าไปจัดของให้หลวงปู่เสร็จก่อน แล้วจึงจะมาจัดของตัวเอง ท่านจะไปก่อนโดยไม่รั้งรอเลย

หรือบางครั้ง มัวแต่จัดบริขารตัวเองอยู่ แต่มีคนไปช่วยจัดของให้หลวงปู่เสร็จก่อน พอเสร็จ...ท่านก็ไปก่อนเลย พระเณรบางองค์มัวช้า สะพายบาตรออกมาจากกุฏิ...อ้าว ท่านได้ออกไปก่อนแล้ว

ท่านมาเร็ว...ไปเร็ว มาแต่สมัยยังเดินได้อยู่แล้ว

ผู้ที่ทราบกิตติศัพท์ของท่าน พากันมากราบนมัสการนั้น มาจากทั่วประเทศ...ทั้งภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ และภาคอีสาน ...มีทุกเพศ ทุกวัย ทุกชั้น เป็นคนใหญ่คนโต นายพล นายพัน ข้าราชการชั้น ซี ๑๐ ซี ๑๑ ก็มี เป็นคนยากคนจน แม่ค้า พ่อค้าธรรมดา ก็มี ท่านให้ความปรานีเมตตาโดยเสมอหน้า

ปกติ ท่านจะไม่ค่อยพูดจาปราศรัยด้วย เพราะลำบากในสังขารท่านดังกล่าวแล้ว และแต่เดิม ท่านก็มีอุปนิสัยพูดน้อยอยู่แล้วด้วย มีคนไปกราบ ท่านก็จะนิ่งมองเฉยอยู่ โดยเฉพาะผู้ซึ่งไปใหม่ และยังไม่คุ้นกับท่าน บางคนไม่ทราบก็ไปบ่น ว่าไม่เห็นหลวงปู่พูดด้วย ทำไมไม่พูด

ความจริง ท่านกำลังแผ่เมตตาให้ ผู้ที่ “รับได้” “รู้ได้” นั้น บอกกันอย่างดีใจ “พลังเมตตาของหลวงปู่นั้นแรงนัก กระแสพุ่งมาเย็นฉ่ำแทบจะผงะล้มลงไป”

เช่นกัน ผู้ที่ “รู้ได้” “รับได้” ชอบมาภาวนา ขอธรรมจากท่าน ไม่ได้พูดอะไรกับท่าน และท่านก็ไม่ได้พูดอะไรด้วย แต่แล้วก็กลับไปอย่างยิ้มแย้มแจ่มใส “ได้ธรรมะจากท่านแล้ว” ท่านเหล่านั้นจะคุยกันอย่างปลาบปลื้มยินดี

http://www.dharma-gateway.com/mo ... lp-chob-hist-37.htm
98#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 20:26 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๓๘. หลวงปู่กับยอดคนแห่งแผ่นดิน



หลวงปู่เป็นพระป่า อยู่แต่ในป่าในเขาจนชิน และดูเหมือนจะไม่รู้จักโลกภายนอกที่ว่าเจริญของคนกรุง ท่านมักจะอยู่กับพวกยาง พวกกระเหรี่ยง พวกชาวเขาเป็นปกติ ไม่คุ้นเคยต่อการพบคนใหญ่คนโตมีชื่อเสียงของจังหวัดหรือบ้านเมืองเลย

ดังนั้น วันหนึ่ง ท่านไปเยี่ยมหลวงปู่ขาว อนาลโย ที่วัดถ้ำกลองเพล ขณะนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะเสด็จพระราชดำเนินมากราบหลวงปู่ขาวเป็นวาระแรก ทางบ้านเมืองจึงมาส่งข่าวให้ทางวัดเตรียมตัวรับเสด็จ พอหลวงปู่ทราบว่าเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินจะเสด็จ ก็เตรียมหนีทันที หลวงปู่ขาวซึ่งบ่นเช่นกันว่า ไม่ทราบว่าจะ “พูด” ด้วยอย่างไร ขอให้หลวงปู่ชอบอยู่ด้วยกันเป็นเพื่อน

อ้อนวอนกัน จนสุดท้ายหลวงปู่ก็ใจอ่อน ยอมอยู่ด้วย โดยเป็นที่เข้าใจว่า ท่านจะไม่ต้องพูดอะไรเลย และหลวงปู่ขาวก็ไม่ต้องพูดอะไรเท่าไรนัก ด้วยทางบ้านเมืองจะมาดูแลกำกับด้วย

ถึงวันที่กำหนด หลวงปู่ทั้งสององค์ ก็ครองจีวรอย่างเรียบร้อยรออยู่ จนเย็น ท่านก็บ่นกันว่า

“ไม่เห็นมา ให้รออยู่” องค์หนึ่งบ่น

“นั่นซิ ไม่เห็นมามีแต่ทหารสองพ่อลูก มาคุยอยู่เป็นนานสองนาน”

“คนพ่อเพิ่นงามกว่าลูกนะ” ท่านวิจารณ์กัน

หลวงปู่ทั้งสองหวัวกันจนองค์งอ เมื่อพระเณรช่วยกันชี้แจงว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ......เสด็จพระราชดำเนินแล้ว...!  พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ .....ที่หลวงปู่ว่า ทหาร ๒ พ่อลูกนั่นแหละ !!

เป็นเรื่องที่เล่ากันอย่างขบขันตลอดมา ผู้เขียนซึ่งปากอยู่ไม่สุข ภายหลังได้โอกาสก็กราบเรียนถามหลวงปู่ขาว

ทำไมหลวงปู่ไม่รู้จักพระเจ้าอยู่หัวและทูลกระหม่อมฟ้าชายล่ะเจ้าคะ (ขณะนั้นท่านยังมิได้ดำรงพระยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร)

ท่านว่า “ไม่เห็นมีขบวนแห่”

ส่วนหลวงปู่ชอบนั้น เมื่อกราบเรียนถามด้วยคำถามเดียวกันนั้น ท่านก็ยิ้มอาย ๆ ตอบผู้เขียนว่า “นึกว่าจะใส่ชฎา !”
99#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 20:26 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
หลังจากการเสด็จพระราชดำเนินครั้งนั้น ภายหลังพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินไปกราบนมัสการหลวงปู่ขาวที่วัดถ้ำกลองเพลอีกนับครั้งไม่ถ้วนและแทบทุกครั้ง สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถจะโดยเสด็จด้วย จนเป็นที่ทราบกันว่า ทั้งสองพระองค์ทรงมีพระทัย ผูกพันต่อหลวงปู่ และหลวงปู่ขาว ก็มี “จิต”ผูกพันต้อพ่อจ้าว แม่จ้าว แผ่เมตตาถวายทุกเวลาและทุกโอกาส ทั้งสองพระองค์และหลวงปู่ มี “จิต” ถึงกัน (ผู้เขียนเคยเขียนไว้ใน “อนาลโยคุโณ” ...ในหนังสือ “อนาลโยบูชา”)

สำหรับหลวงปู่ชอบ ทรงพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานของไปถวายสักการะเสมอ เช่น ดอกไม้ น้ำผึ้ง รถเข็น

วันนั้นจำได้ว่า เป็นเวลาต้นเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๑ ท่านราชเลขาธิการ ในขณะนั้นคือ ม.ล.ทวีสันต์ ลดาวัลย์ โทรศัพท์มาที่บ้านลาดพร้าวว่า สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระราชเสาวนีย์ถามว่า ทรงได้ข่าวว่า หลวงปู่ชอบ ฐานสโม กำลังมาพักโปรดลูกศิษย์อยู่ที่เรือนไทย ลาดพร้าว ไม่ทราบว่าขณะนี้ท่านยังคงพักอยู่หรือไม่

เข้าใจว่า ที่มีพระราชกระแสถามมาเช่นนี้ กิตติศัพท์ที่ว่า หลวงปู่เป็นผู้ มาเร็ว ไปเร็ว คงจะเป็นที่ทราบถึงพระเนตรพระกรรณเป็นอย่างดี เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า วันนี้ท่านอยู่ พรุ่งนี้ท่านอาจจะไม่อยู่ หรือเช้านี้อยู่....บ่าย...ไม่อยู่ ชั่วโมงนี้อยู่....ชั่วโมงหน้าไม่อยู่...ไปแล้ว...ก็ได้เสมอ

อย่างไรก็ดี วันนั้นได้กราบเรียนท่านราชเลขาธิการไปว่า หลวงปู่ท่านยังคงพักอยู่ และความจริง เวลานี้ หลวงปู่หลุย จันทะสาโร ก็กำลังพักอยู่ด้วยเช่นกัน

วันรุ่งขึ้น ก็มีพระราชเสาวนีย์ให้ ฯพณฯ นายเชาวน์ ณ ศีลวันต์ องคมนตรี อัญเชิญแจกันดอกบัวสัตตบงกช และน้ำผึ้งบริสุทธิ์พระราชทานมาถวายหลวงปู่ทั้งสององค์

และเพียง ๒ – ๓ วันต่อมา ท่านราชเลขาธิการก็ได้โทรศัพท์มาอีกว่า จะทรงให้ห้องเครื่องในวังส่งอาหารมาถวายหลวงปู่ทั้งสองทุกวัน จึงจะขอทราบเวลาฉันจังหันของท่าน เพื่อให้จัดส่งมาให้พอเหมาะกับเวลาฉัน ผู้เขียนได้เรียนท่านราชเลขาธิการไปว่า หลวงปู่ทั้งสององค์ได้ออกจากบ้านเรือนไทย กลับไปแล้ว



หลวงปู่ชอบไปไหน...?

กลับวัดของท่านที่จังหวัดเลย

เข้าใจว่า ขณะนั้นท่านราชเลขาธิการคงกำลังเฝ้าเบื้องพระยุคลบาทอยู่ ท่านนิ่งไประยะหนึ่ง แล้วก็บอกผู้เขียนว่า สมเด็จฯ มีพระราชกระแสถามว่า เวลานี้หลวงปู่ชอบมีเก้าอี้รถเข็นหรือไม่ ผู้เขียนก็เรียนท่านราชเลขาธิการว่า ความจริงเวลานี้ หลวงปู่ชอบมีเก้าอี้รถเข็นแล้ว แต่หลวงปู่เป็นเนื้อนาบุญอันเลิศ ประเสริฐที่สุดองค์หนึ่งของเมืองไทย หากจะทรงพระมหากรุณาพระราชทานเก้าอี้รถเข็นอีกคันหนึ่ง เพื่อถวายหลวงปู่ พระราชกุศลก็คงจะเพิ่มพูนมหาศาล

หลังจากนั้นเพียงสามวัน เผอิญผู้เขียนได้มีโอกาสเดินทางไปกราบหลวงปู่ที่วัดป่าสัมมานุสรณ์ ตำบลโคกมน จังหวัดเลย จึงถือโอกาสกราบเรียนให้ท่านทราบว่า
100#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 20:27 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
“แม่จ้าวหลวง (คำว่า “พ่อจ้าวหลวง” และ “แม่จ้าวหลวง” เป็นคำที่หลวงปู่ขาว หลวงปู่ชอบ ท่านมักจะใช้ยามเมื่อเอ่ยถึง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสมอ) คงจะพระราชทานเก้าอี้รถเข็นมาถวายหลวงปู่เร็ว ๆ นี้แหละเจ้าค่ะ”

พระเณรที่ห้อมล้อมหลวงปู่ มองหน้าผู้เขียนอย่างไม่ค่อยเข้าใจนัก เมื่อพระองค์หนึ่งถามว่า สมเด็จพระนางเจ้าฯ จะโปรดให้ส่งเก้าอี้รถเข็นมาอีกคันหนึ่งหรือ

จึงได้ความว่า เก้ออี้รถเข็นพระราชทานได้มาถึงล่วงหน้าแล้ว...ก่อนหน้าผู้เขียนเดินทางไปถึงวัด...ถึงสองวัน !

“...นี่ไง..!”

แล้วพระผู้ปฏิบัติหลวงปู่ท่านก็เข็นเก้าอี้รถเข็นพระราชทานออกมาให้ดู

ผู้เขียนนิ่งนึกนับวันดู เวลาห่างจากวันที่เรียนท่านราชเลขาธิการเพียง ๓ วันเท่านั้น...! เราว่าเรารีบมากราบหลวงปู่โดยเร็วแล้ว...! แต่ดูเหมือนว่า วันนั้นเอง...พอท่านราชเลขาธิการกราบบังคมทูลแล้ว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ก็คงมีพระราชเสาวนีย์ให้จัดเก้าอี้รถเข็นส่งมาถวายหลวงปู่ ณ จังหวัดเลยทันที

ถ้าไม่ใช่เพราะทรงเจริญพระราชศรัทธาอย่างยิ่งยวดแล้ว จะรวดเร็วถึงเช่นนี้หรือ

นึกถึงที่ท่านราชเลขาธิการเคยปรารภให้ฟัง “ทรงเคารพรักและมีพระราชศรัทธาหลวงปู่และท่านอาจารย์ทุกองค์มาก เวลารับสั่งถึง ทรงใช้คำว่า “พระอริยเจ้า” ทุกครั้ง”

คราวหนึ่ง ท่านราชเลขาธิการอัญเชิญพระราชกระแสมาว่า ได้ทรงให้สร้างกุฏิไว้ในเขตบริเวณพระตำหนักจิตรลดารโหฐานแล้ว บริเวณนั้นเป็นที่สงบ ต้นไม้เรียงรายโดยรอบ มีลักษณะเป็นป่าอย่างที่หลวงปู่คงจะชอบ ทรงนิมนต์ขอให้หลวงปู่ไปพัก ณ กุฏินั้นบ้าง เมื่อเวลาที่ท่านเข้ามาในกรุงเทพฯ

เมื่อนำความกราบเรียนหลวงปู่ ท่านตอบว่า ท่านเคยแต่อยู่ในป่า เข้าไปในเขตพระราชฐานจะลำบาก เพราะพวกศิษย์ติดตามก็เป็นแต่คนบ้านนอก ไม่รู้ธรรมเนียมอะไร...

เมื่อเห็นว่าผู้เขียนทำหน้าสลด บ่นอ้อมแอ้มว่า แม่จ้าวจะเสียพระทัย น้อยพระทัย ทรงอุตส่าห์สร้างกุฏิถวาย ท่านก็ยิ้มแย้มอย่างปลอบใจ บอกว่า

“อยู่ข้างนอก ก็แผ่เมตตา (ถวาย) ให้อยู่แล้ว แผ่ทุกวัน ให้ทุกองค์...ในนั้น”


หลวงปู่คงหมายความถึง ไม่เฉพาะจะแผ่ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถแล้ว ยังแผ่เมตตาถวาย “ทุกองค์” ... “ในนั้น...!” ด้วย

แล้วหลวงปู่ท่านก็เสริมด้วยใบหน้าที่เกลื่อนด้วยรอยยิ้มอย่างเมตตา เสียงของท่านแผ่ว เบา ตามปกติ แต่ก็ฟังแสนชัดว่า

“ในนั้น....มีเทวดามากน้อ มาก...แน่นไปหมด”

หลวงปู่แผ่เมตตาถวาย ในฐานะทรงเป็น พ่อจ้าวหลวง...แม่จ้าวหลวง ที่ทรงเป็นยอดคนแห่งแผ่นดิน และทรงเป็นปิ่นปักรักษาแผ่นดิน แต่อย่างไรก็ตาม พระองค์จริง ๆ ของพ่อจ้าวหลวงและแม่จ้าวหลวง ท่านก็ดูเหมือนจะไม่รู้จัก

ดั่งกรณีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งไปทรงกราบนมัสการท่านพร้อมกับหลวงปู่ขาว ณ วัดถ้ำกลองเพล ดังที่ได้เล่ามาแล้ว
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้