ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

~ หลวงปู่ชอบ ฐานสโม วัดป่าโคกมน ~

[คัดลอกลิงก์]
31#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 19:56 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
พรรษาที่ ๑๑ พ.ศ. ๒๔๗๘ ท่านจำพรรษาที่วัดสระคงคา บ้านคลองสีพัน เมืองหล่มใหม่ จังหวัดเพชรบูรณ์

พรรษาที่ ๑๒ พ.ศ. ๒๔๗๙ จำพรรษาที่ วัดดงขวาง อันอยู่ในเขตเมืองหล่มใหม่ จังหวัดเพชรบูรณ์เช่นกัน เพียงแต่อยู่ห่างกันมากเท่านั้น

ท่านเร่งความเพียรอย่างอุกฤษฏ์ อาจจะเป็นเพราะที่ได้ถูกเทวดาไปกระซิบทักกับผ้าขาวตอนอยู่ถ้ำนายมก็ได้ ท่านว่า เราเป็นพระ มีศีลถึง ๒๒๗ ข้อ แต่ผ้าขาวนั้นเพียงศีลแปด แต่ก็เป็นพระอนาคามีแล้ว อายเขาเหลือใจ

ความจริง นับจากที่จากถ้ำนายมมาแล้ว ท่านก็เร่งในการทำความพากเพียรอย่างยิ่งเช่นกัน ตลอดเวลา ๒ พรรษาที่ผ่านมา ณ วัดสระคงคา และวัดดงขวาง มีการอดอาหารมากขึ้น ผ่อนอาหารสลับกัน บางโอกาสได้ทำความเพียรเฉพาะอิริยาบถ ๓ คือ ยืน เดิน นั่ง โดยอธิษฐานไม่นอน เพื่อเอาชนะกิเลส

ออกพรรษาแล้ว ท่านก็หลีกเร้นไปอยู่ตามป่าตามเขาสูง ในเขตจังหวัดเพชรบูรณ์และจังหวัดเลย จนเกือบจะกล่าวได้ว่า ไม่มีภูเขาใด ดอยยอดใดในสองจังหวัดนี้ ที่รอยเท้าของท่านจะไม่เคยเหยียบย่างธุดงค์ผ่าน

ท่านได้ธุดงค์จากจังหวัดเลย มุ่งไปทางเชียงใหม่ด้วยได้ข่าวว่า ท่านพระอาจารย์มั่นอยู่ที่นั่น ผ่านภูเรือ ด่านซ้าย นครไทย ใช้เวลาเดินทางรอนแรมไป ๙ วัน ๙ คืน ไม่มีอุปสรรคใด ๆ

พรรษาที่ ๑๓ พ.ศ. ๒๔๘๐ ท่านได้ไปจำพรรษาอยู่ ณ วัดบ้านโป่ง อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่

วัดบ้านโป่งนี้ เป็นสำนักที่ครูบาอาจารย์เคยไปพักบำเพ็ญเพียรกันมาก เช่น ท่านพระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล ท่านเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท) เป็นต้น แม้ท่านพระอาจารย์มั่นเอง ก็เคยจำพรรษา ณ ที่วัดนี้

ท่านเล่าว่า

เป็นที่สัปปายะ เหมาะแก่การภาวนามาก ภาวนาไม่นาน จิตจะสงบลงถึงฐานของสมาธิอย่างง่ายดาย การนั่งภาวนาจนตลอดสว่าง วันยังค่ำคืนยังรุ่งก็ทำได้โดยไม่ยาก เวลาเดินจงกรมก็รู้สึกเหมือนกับเหาะลอยไปในอากาศ

สถานที่นี้เหมาะแก่การทำประโยคความเพียร ไม่แต่ท่านเอง แม้แต่พระอื่น ก็ทำได้ถึงอัปปนาสมาธิโดยง่ายเช่นกัน จึงเป็นที่ซึ่งพระธุดงค์กรรมฐานนิยมไปพำนักไม่ขาดสาย จนเท่าทุกวันนี้



ในพรรษานี้ หลวงปู่มีกัลยาณมิตรที่ดีอยู่จำพรรษาด้วย คือ ท่านพระอาจารย์เทสก์ เทสรังสี (ปัจจุบัน... พระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฎ์) ซึ่งท่านพระอาจารย์เทสก์ได้เป็นหัวหน้าเทศนาอบรม และให้อุบายอันมีค่าแก่หมู่เพื่อน เตือนมิให้ติดสุข พอใจแต่เพียงการทำจิตให้สงบแต่อย่างเดียว การเดินปัญญา เพื่อพิจารณาถอดถอนกิเลสจะต้องดำเนินควบคู่กันไป

ปกติจิตของหลวงปู่จะรวมลงถึงฐีติจิต หรือ อัปปนาสมาธิ สงบนิ่งอยู่เช่นนั้นเป็นวันเป็นคืน หรือถอยออกมาสู่อุปจารสมาธิ ซึ่งเป็นภาวะตอนที่ ออกรู้ หรือ รับแขก อยู่เสมอ จิตรวมมีกำลังจริง...  แต่ปัญญาไม่แก่กล้า ฉะนั้น ณ ทีวัดบ้านโป่งนี้ ท่านจึงพักการรับแขกนอก แต่หันมาคิดค้นดูแขกภายใน... หรือกายของตนเองอย่างเอาเป็นเอาตาย อุบายปัญญาก็บังเกิดขึ้นทันกับสติ ที่จะห้ำหั่นกิเลสให้ขาดลงเป็นลำดับ ๆ

ครั้นออกพรรษา ปวารณาแล้ว ท่านก็ได้ลาจากวัดบ้านโป่งไปด้วยความสำนึกในคุณของสถานที่แห่งนี้เป็นที่สุด

http://www.dharma-gateway.com/mo ... lp-chob-hist-15.htm
32#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 19:57 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๑๖. ธุดงค์เข้าเขตพม่าและจำพรรษาในพม่า

ไม่เป็นการผิดเลยที่จะกล่าวว่า สำหรับหลวงปู่แล้ว “ป่าลึกและเขาสูง” นั่นเอง คือ “บ้านอันแสนผาสุก” ของท่าน เมื่อมีโอกาสท่านจะต้องเข้าฝ่าเข้าเขาไปตามนิสัย ได้ไปถึงใจกลางป่าลึก ถึงบนยอดดอยเขาสูงแล้ว ใจจึงจะมีความปลอดโปร่งโล่งสบายอย่างบอกไม่ถูก

การเที่ยวธุดงคกรรมฐานครั้งนี้ ท่านกำหนดจะเลยไปให้ถึงพม่า หมู่เพื่อนทราบข่าวต่างก็ทักท้วงว่า ได้ยินว่าทางที่ไปนั้นมีแต่ความทุรกันดาร เต็มไปด้วยป่าดิบดงร้าย ไม่มีบ้านคน มีแต่สัตว์ป่าซึ่งมักจะเป็นประเภทดุร้าย อย่างเสือ อย่างช้าง ท่านเล่าว่า เหมือนกับพม่านั้นมีมนต์เพรียกให้ไปเยี่ยม อันที่จริงคงเป็นความปรารถนาลึก ๆ ในหัวใจที่ท่านต้องการจะไปดูบ้านเกิดแต่อดีตชาติมากกว่า (ท่านเคยเกิดเป็นพม่า ชาติหนึ่ง)



สุดท้ายท่านก็ได้กัลยาณมิตรคู่คิดที่ออกเที่ยวธุดงคกรรมฐานไปพม่าด้วยกัน คือหลวงปู่พรหม จิรปุญโญ ซึ่งเป็นศิษย์ท่านพระอาจารย์มั่น รุ่นใกล้เคียงกับท่าน หลวงปู่พรหมต่างมีนิสัยอาจหาญ เด็ดเดี่ยว ใจเด็ดไม่กลัวตายเช่นเดียวกับท่าน จึงเดินทางฟันฝ่าความลำบากไปถึงเขตประเทศพม่าด้วยกันได้โดยผ่านทางแม่ฮ่องสอน

ไปถึงพม่า แล้วก็แยกทางกัน หลวงปู่พรหมต้องการจะเที่ยวไปดูเมืองต่าง ๆ ด้วย แต่หลวงปู่ปรารถนาจะอยู่แต่ในป่า ไม่ต้องการเข้าเมืองเลย จึงตกลงแยกกัน โดยหลวงปู่คงอยู่ตามป่า...เขา เพื่อโปรดชาวบ้านอย่างพวกยาง พวกกระเหรี่ยง

ท่านเอ็นดูชาวพม่ามาก ที่ส่วนใหญ่เป็นคนดีมีศีลธรรม ไม่ลักขโมย ไม่ฉ้อโกงกัน ทั้งมีน้ำใจศรัทธาในพระศาสนาอย่างดียิ่ง พวกยาง พวกไทยใหญ่ที่อยู่ในป่าในเขา แม้จะจนยากลำบากตรากตรำอย่างไร ก็จะต้องหาอาหารมาใส่บาตรอย่างเหลือเฟือ ท่านชมว่าพวกเขามีจิตใจงาม ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ถือศีลห้าบริสุทธิ์ แม้เป็ดไก่ก็หายาก ไม่มีคนเลี้ยง เพราะเขาต่างไม่ฆ่าสัตว์

ท่านเล่าว่า ท่านไปพม่าสองครั้ง ครั้งแรกที่ไปพร้อมหลวงปู่พรหม อยู่ติดต่อกัน ๒ ปี โดยจำพรรษาที่ ๑๔ พ.ศ. ๒๔๘๑ ที่ บ้านยาง พรรษาที่ ๑๕ พ.ศ. ๒๔๘๒ จำพรรษาบน ดอยอีต่อ ซึ่งเป็นเขาอยู่บนดอยยางแดง

จากนั้นท่านก็กลับเมืองไทย วิเวกอยู่แถวเชียงใหม่ ๓ ปี จึงหวนกลับไปพม่าอีกครั้งหนึ่ง เมื่อระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองระเบิดขึ้นแล้ว ในปลายปี ๒๔๘๕ พอปวารณาออกพรรษา ท่านก็เตรียมอัฐบริขารพร้อมเพื่อกลับไปโปรดชาวยาง ชาวพม่าอีกวาระหนึ่ง

พรรษาที่ ๑๙ พ.ศ. ๒๔๘๖ จำพรรษา ณ บ้านคนดอย ที่อยู่บนเขาในเขตพม่า

พรรษาที่ ๒๐ พ.ศ. ๒๔๘๗ จำพรรษาที่ ดอยเชียงตอง เขตไทยใหญ่

พรรษาที่ ๒๑ พ.ศ. ๒๔๘๘ จำพรรษาที่ ดอยเชียงคำ แดนพวกไทยใหญ่ เช่นกัน

รวมเวลาที่ท่านเที่ยวธุดงค์ในพม่าสองครั้งสองหนนี้ เป็นเวลาเกือบ ๖ ปี ทำให้เทศน์เป็นภาษาพม่าได้อย่างคล่องแคล่ว

ท่านชมผู้หญิงไทยใหญ่ว่า มีผิวขาวเหลือง งามทั้งรูปและงามจิตใจ ท่านว่าเป็นผลบุญของการที่เขายึดมั่นรักษาศีลไม่ให้ด่างพร้อย ไม่ให้ขาด ไม่ให้ทะลุ การอยู่โปรดพวกเขา เกือบจะไม่จำเป็นต้องพรรณนาคุณของศีล เพราะดูเขาจะซาบซึ้งรู้อานุภาพของศีลกันเป็นอย่างดีว่า
33#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 19:57 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ศีลเป็นกำลังอย่างไม่มีที่เปรียบ           ศีลเป็นอาวุธอันสูงสุด

ศีลเป็นเครื่องประดับอันประเสริฐ                    ศีลเป็นเกราะอย่างอัศจรรย์

ศีลเป็นคุณรวมกำลังอย่างเลิศ                        ศีลเป็นเสบียงทางอย่างสูงสุด

ศีลเป็นผู้นำทางอย่างประเสริฐ                       ซึ่งเป็นเครื่องขจรไปทั่วทุกทิศ

ศีลเท่านั้นเป็นเลิศในโลกนี้                             ส่วนผู้มีปัญญาย่อมเป็นผู้สูงสุด

ความชนะในหมู่มนุษย์และเทวดา                  ย่อมมีเพราะศีลและปัญญา


หลวงปู่อธิบายว่า ใครอยากเกิดเป็นคนรูปงาม ผิวขาวสวย ต้องพยายามรักษาศีลห้าให้บริสุทธิ์ ชาติหน้าจะได้เกิดเป็นคนสวยสมใจ

ที่พม่านี้ หลวงปู่ได้พบหญิงสาวคนหนึ่ง อายุประมาณ ๓๐ ปี นำผ้าขาวมาทำบุญถวายท่านให้ทำเป็นผ้าอาบ หญิงคนนี้นุ่งขาวห่มขาว ถือเพียงศีลแปด แต่การทำสมาธิภาวนาเก่งมาก พระบางองค์ยังต้องอายเพราะเหาะได้ สามารถไปเที่ยวสวรรค์ตั้งแต่ยังไม่ตาย นางสร้างบุญบารมีมาแต่ชาติปางก่อนอย่างเต็มที่ และมาถึงชาตินี้ก็ได้ปฏิบัติเพิ่มเติมต่อเนื่อง...ทั้งทาน ศีล ภาวนา ก่อให้เกิดสมาธิและปัญญาเป็นที่สุด

นับว่าเป็นคนที่เกิดมาอย่าง สุคโต และคงจะไปอย่าง สุคโต เช่นกัน

ตลอดเวลาทั้งหมด ๕ ปีกว่าที่อยู่ที่พม่านั้น พ้นเวลาเข้าพรรษา หลวงปู่ก็จะเที่ยวรุกขมูลไปเรื่อย ๆ จากเขาลูกนี้ไปดอยโน้น...และดอยโน้น จากถ้ำหนึ่ง ต่อไปอีกถ้ำหนึ่ง... และอีกถ้ำหนึ่ง ที่ไหนสงบสงัดภาวนาดีก็อยู่แห่งละ ๖ คืนบ้าง ๗ คืนบ้าง ๑๐ คืนบ้าง หรือบางแห่ง ถ้าสัปปายะมากในการภาวนา ก็อาจจะอยู่ถึงเป็นเดือน เช่นที่ถ้ำผาแดง นาไหง่ ซึ่งเป็นถ้ำอยู่ระหว่างบ้านหนองคัน ในหมู่บ้านนี้มีเพียงสิบปาย (หลังคาเรือน) เท่านั้น แต่ชาวบ้านก็เคารพเลื่อมใสศรัทธาหลวงปู่เป็นอย่างดี

ที่ถ้ำผาแดง นาไหง่นี้ ท่านเล่าว่าศักดิ์สิทธิ์มาก มีเทพมีภุมเทวดารักษามาก ระหว่างท่านพำนักบำเพ็ญสมณธรรม เคยมีช้างเข้ามาในถ้ำ (เป็นถ้ำเปิด) มาร้อง แคว้...แคว้ อยู่ห่างจากหลวงปู่เพียงสี่ห้าวาเท่านั้น แต่เมื่อท่านแผ่เมตตาให้ มันก็ก็ยอมถอยห่างออกจากถ้ำแต่โดยดี

ความจริงไม่แต่ที่ถ้ำผาแดง นาไหง่ นี่เท่านั้นที่มีเทพ มีภุมมเทวดารักษามาก ท่านว่า เกือบจะกล่าวได้ว่า ในป่า ในถ้ำ เกือบทุกถิ่น ทุกสถาน ล้วนศักดิ์สิทธิ์ มีเทพ มีภุมเทวดามากเช่นกัน เขามักมาอาราธนาท่าน ขอให้แสดงธรรมโปรดพวกเขาเกือบทุกคืน

ณ ที่พม่านี้เอง ที่มีพระอรหันต์มาแสดงธรรมให้ท่านฟัง เช่น พระพากุละ พระมหากัสสปะ พระอนุรุทธะ ซึ่งจะได้แยกกล่าวโดยละเอียดต่อไปข้างหน้า

และที่ในถ้ำ ตามท้องเถื่อนในถิ่นไพรพฤกษ์ ในเขตพม่านี้เอง ที่หลวงปู่ได้มีประสบการณ์รู้เห็นสิ่งลึกลับมากมาย....ได้เผชิญภัยจากสัตว์ป่าซึ่งถือกันเป็นเพศที่ดุร้ายเป็นภัยต่อมนุษย์...เผชิญภูตผีปีศาจ ซึ่งหมกไหม้อยู่ตามบาปกรรมที่เขาหลง... เผชิญงูพิษในถ้ำ ซึ่งลือชื่อกันว่าแสนดุ เป็นจ้าวถ้ำ ใครก็ตามไม่ว่าฆราวาสหรือพระที่ไปพักพำนักในนั้น มันจะต้องกัดทำอันตรายถึงชีวิตกันไปนักแล้ว แต่ท่านก็ขึ้นพักบำเพ็ญสมณธรรมโดยไม่หวั่นเกรงคำเตือน แต่ด้วยบารมีธรรมของท่าน ท่านได้แผ่เมตตาจนเจ้างูนั้นยอมสิโรราบ ซบหัวหมอบลงจนเหมือนจะคารวะท่าน แต่ท่านกับงูผู้ถูกทรมานดัดสันดาน ก็อยู่ร่วมกันในถ้ำนั้นได้ต่อไปอย่างสงบสันติ
34#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 19:58 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
.....เผชิญเสือใหญ่ ตัวขนาดเท่าม้า มาดักหน้าดักหลังพร้อมกันถึง ๒ ตัวบ้าง ลำพังตัวเดียวบ้าง แต่ละครั้งมาใกล้เพียงสาม – สี่วาก็จะถึงองค์ท่าน และเช่นกันกับเรื่องงูพิษ อำนาจเมตตาธรรมที่แผ่ไป ก็ทำให้เสือร้ายเหล่านั้นเชื่องลงอย่างน่าอัศจรรย์

ท่านเล่าว่า ตอนอยู่พม่า ท่านผจญกับเสือมากที่สุด แต่ก็ผ่านพ้นเหตุการณ์นั้น ๆ มาได้เสมอ

...รวมทั้งเรื่องการที่มีผู้หญิงตายทั้งกลม ขอถวายไหเงิน ไหทอง เพื่อขอให้พระยอมเป็นสามีสมสู่อยู่กับนาง...

...ฯลฯ

คงเป็นการยากที่ผู้เขียน ผู้มีปัญญาน้อย ด้อยความคิด จะสามารถเขียนความพิสดารเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ได้ เพราะในการดำเนินเรื่องหลายแง่หลายตอน มีการบรรยายเนื้อธรรมขั้นสูงแทรกคละเคล้ากลมกลืนกันอยู่ จึงใคร่ขออภัยท่านผู้อ่าน โปรดกรุณาไปอ่านความโดยพิสดารในภาค “ธรรมอุโฆษ” ตอนที่ผู้เขียนได้อัญเชิญข้อความที่ พระคุณเจ้า ท่านพระอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน ได้เคยเขียนพรรณนาเรื่องราวเกี่ยวกับหลวงปู่ไว้ในหนังสือ “ประวัติท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ” และหนังสือ “ปฏิปทาของพระธุดงคกรรมฐาน สายท่านพระอาจารย์มั่น ภูริมัตตเถระ”

มาลงพิมพ์ซ้ำรวมไว้ด้วย ด้วยความเคารพรักเทิดทูนบูชาอย่างสูงสุด ทั้งองค์ท่านเจ้าของประวัติ และองค์ท่านผู้เรียบเรียง

หลวงปู่อยู่ในพม่า โปรดทั้งมนุษย์ และพวกกายทิพย์อย่างเทวดา ภูตผีปีศาจ จนปลายสงครามโลกครั้งที่สอง ญี่ปุ่นที่มายึดครองพม่าแพ้สงคราม ทหารอังกฤษเข้ามารักษาการณ์และตรวจตรา พบท่านหลายครั้ง แม้ชาวบ้านญาติโยมจะระแวดระวังพาท่านไปแอบซ่อนตามที่ต่าง ๆ แต่ก็เป็นอันตรายอยู่ดี เพราะท่านเป็นชนต่างชาติ สงครามไม่เลือกว่าเป็นพระหรือเป็นคนธรรมดา เห็นว่าเป็นต่างชาติเขาก็จะต้องถือเป็นศัตรูต้องทำลาย และผู้ปกปิดรักษาท่านไว้ก็จะเป็นผิดด้วย เพื่อไม่ให้เป็นภาระความยุ่งยากแก่ญาติโยมเหล่านั้น ท่านจึงตกลงกลับเมืองไทย

พวกญาติโยมชาวพม่า นำทางมาในป่าเปลี่ยว มาส่งหลวงปู่ครึ่งทาง พามาจนถึงริมแม่น้ำแล้วก็บอกลา มีเด็กคนหนึ่ง อายุ ๑๐ กว่าขวบติดตามมาด้วย ทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่ต่างร้องไห้อาลัยท่านอย่างไม่อับอายใคร น้ำตาไหลพราก ท่านแผ่เมตตาอวยชัยให้พร ให้เขามีแต่ความสุขสวัสดีแล้วก็จากมา เหลียวไปดู ก็ยังเห็นทั้งสองคนร้องไห้อยู่จนสุดสายตา

สำหรับช่วงการเดินทางจากพม่ามาตามทางลัดในป่า เพื่อหลบหลีกทหารอังกฤษ รวมตลอดถึงเรื่องอัศจรรย์ที่ท่านต้องอดข้าว อดน้ำอยู่กลางป่าถึง ๓ วัน จนต้องปรารภถึงเทวดา และได้มีเทวดามาใส่บาตร...ซึ่งเป็นเรื่องที่อัศจรรย์เลื่องลือกันมากนี้ ผู้เขียนก็ขอประทานอภัย ขอให้ท่านผู้อ่านกรุณาต่อไปอ่านความโดยละเอียดในภาค “ธรรมอุโฆษ” ท้ายเล่ม ตอนที่อัญเชิญข้อความมาจากหนังสือ “ประวัติท่านอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ” ของ พระคุณเจ้าท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน

http://www.dharma-gateway.com/mo ... lp-chob-hist-16.htm
35#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 19:58 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๑๗. พระอรหันต์สมัยพุทธกาลมาเยี่ยมท่าน

ระหว่างท่านวิเวกอยู่ในเขตประเทศพม่า พักบำเพ็ญเพียรภาวนาอยู่ ณ ถ้ำแห่งหนึ่งที่บ้านเมืองยางแดง ท่านได้ทำมีดหายไป หาอยู่สามสี่วันก็ไม่พบ ท่านว่าก็มิใช่มีดพิเศษพิสดารอะไรนัก เป็นมีดประเภทธรรมดาที่ชาวบ้านใช้ถางป่านั่นเอง เพราะพระกรรมฐานจะมีของวิเศษเลิศเลออะไร ท่านก็ได้อาศัยมีดถางป่าพื้น ๆ นี้เอง เป็นบริขารประจำตัวสารพัดประโยชน์...หั่น...ตัด...ถาก...ถาง...งัด...แงะสิ่งใดก็ด้วยมีดประจำตัวนี้ ท่านใช้แล้วไปอาบน้ำ คิดว่าลืมทิ้งไว้บริเวณที่อาบน้ำ แต่เมื่อออกไปหาดูโดยทั่วหมดบริเวณแถวนั้น ทั้งที่บริเวณอาบน้ำ ที่ในถ้ำ หรือแม้แต่ที่อื่นใดที่คิดว่า อาจจะลืมไว้ ก็ไม่เห็นเลย เวลาผ่านไปสามวันสี่วันก็ยังไม่พบ ทำให้ท่านออกรู้สึกรำคาญใจ

ตอนกลางคืน ขณะมี่ท่านกำลังนั่งเข้าที่สมาธิภาวนาในเวลาดึกสงัด ปรากฏมีพระอรหันต์องค์หนึ่ง เหาะมาเยี่ยมท่านทางสมาธิภาวนา ท่านเหาะลอยมาทางอากาศ มีรัศมีสว่างแพรวพราย น่าเคารพน่าเลื่อมใสอย่างที่สุด หลวงปู่รีบกราบด้วยความเคารพอย่างสูงสุด ทั้งปีติทั้งยินดีอย่างสุดจะพรรณนา พระอรหันต์องค์นั้นพอเหาะลงถึงพื้นนั่งเรียบร้อยแล้ว ก็ถามทันทีว่า มีดของท่านหายไปใช่ไหม เมื่อท่านเรียนตอบรับคำ พระอรหันต์องค์นั้นก็บอกว่า ไม่ได้หายไปไหน ท่านลืมที่ต่างหาก นั่นไง... ท่านบอกพลางชี้มือ ....มีดของท่านอยู่นั่นไง ไปเอาเสียซี

หลวงปู่เล่าว่า ตอนเช้าท่านก็ไปดูที่พระอรหันต์ท่านชี้บอกไว้ในนิมิต ซึ่งเป็นหลังก้อนหิน ก็เห็นมีดอยู่ตรงนั้นจริง ๆ

ประหลาดที่ว่าท่านหาอยู่หลายวันไม่เห็น และความจริงท่านก็ไม่ได้บนบานอธิษฐานให้เทวดาหรือใครช่วยหาให้เลย แต่น่าอัศจรรย์ ที่พระอรหันต์ท่านกลับทราบ ทั้งยังเมตตาช่วยบอกให้ ทำให้ท่านได้มีดคืนโดยไม่คาดฝัน

พระอรหันต์องค์นี้ชื่อ พระพากุละ ท่านเล่าว่า พระพากุละนี้เมตตามาเยี่ยมท่านมิได้ขาด จากครั้งแรกที่มาชี้บอกเรื่องบริขารหายที่ถ้ำในพม่าแล้ว ต่อมายังให้ความเมตตามาแสดงธรรมโปรดท่าน มาเยี่ยมท่านตลอดมาจนปัจจุบันนี้ (กราบเรียนถามท่านครั้งสุดท้ายในปี ๒๕๒๙ นี้ ท่านรับว่าพระพากุละก็ยังคงมาเยี่ยมท่านอยู่)

เมื่อเราเรียนว่า เชื่อว่าท่านและท่านพระพากุละคงจะเคยมีความผูกพันกัน ท่านคงจะเคยเป็นศิษย์ของพระพากุละกระมัง

หลวงปู่ก็อธิบายว่า ...ต่างคนต่างเคยเกิดเป็นศิษย์ซึ่งกันและกัน !

ผู้เขียนได้ยินแล้ว ก็อดมิได้ที่จะนึกซาบซึ้งในคุณธรรมของท่านผู้รู้อย่างสุดซึ้ง ผู้เป็นปราชญ์ราชบัณฑิตอย่างแท้จริงนั้น ท่านย่อมครองคุณธรรมด้านกตัญญูกตเวทิตาคุณตลอดกาล ภพชาติจะผ่านไปเช่นไร ศิษย์และอาจารย์ย่อมเป็นศิษย์และอาจารย์ต่อกันอย่างมิรู้ลืม เราเคยอ่านพบในพระไตรปิฎกอยู่เสมอว่า เมื่อท่านผู้หนึ่งผ่านภพแห่งโลกนี้ไปเสวยสุขได้สวรรคสมบัติหรือพรหมสมบัติแล้ว เมื่อผู้เคยเป็นศิษย์ของท่าน หรือผู้เคยเป็นอาจารย์ของท่านยังครองชีวิตอยู่ในมนุษยโลก หากหลงผิด ท่านก็จะลงมาตักเตือนหรือแนะข้อคิดที่ถูกต้องให้ หากปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติถูก ปฏิบัติชอบ ท่านก็จะลงมาเยี่ยมอนุโมทนาสรรเสริญในศีลานุจารวัตร แสดงธรรมให้เป็นที่รื่นเริงบันเทิงในจิต และระยะนี้เอง ที่ท่านผู้ยังดำรงธาตุขันธ์อยู่ในโลกมนุษย์ก็อาจจะเรียนถามข้อสงสัยในธรรมวินัยบางประการได้
36#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 19:58 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
หลวงปู่ก็เช่นเดียวกัน ท่านพระพากุละมาเยี่ยมชมเชยและสรรเสริญข้อวัตรปฏิบัติของหลวงปู่มาก โดยเฉพาะด้านธุดงควัตรที่ท่านถือเคร่งควรเป็นเนติแบบอย่างของผู้สืบพระศาสนาเป็นอย่างดี ท่านได้แสดงธรรมยืนยันประโยชน์ของธุดงควัตรที่มีต่อผู้หวังผลที่สุดแห่งการปฏิบัติ อย่างไพเราะลึกซึ้ง และอนุโมทนาด้วยที่หลวงปู่ได้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ น่าเคารพเลื่อมใส จนท่านต้องมาเยี่ยมถึงที่อยู่

ท่านเล่าว่า วาระแรกที่ท่านพาพระกุละมาเยี่ยมอนุโมทนาและแสดงธรรมนั้น ท่านมีความปีติเปี่ยมในจิต ออกจากสมาธิมาเดินจงกรม รู้สึกตัวเบาราวกับจะเหาะเหินเดินอากาศลอยตามพระอรหันต์พากุละไปฉะนั้น ท่านเดินจงกรมจนสว่างโดยมิได้นึกเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าแต่ประการใด จิตเบา กายเบา จิตอ่อน กายอ่อน จิตสงบ กายสงบ ไม่มีอารมณ์ใดมาเกาะเกี่ยว

ท่านว่า ปรากฏการณ์ครั้งนั้น ทำให้ท่านมีความเชื่อมั่นในธรรมมากขึ้น และมีกำลังใจที่จะบำเพ็ญความเพียรให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป

ใครจะนึกฝันว่า จะมีพระอรหันต์ผู้ทรงคุณวิเศษเมตตามาเยี่ยม บริขารหาย ท่านก็เมตตาบอกที่ให้ ปฏิบัติทำความเพียรอยู่ ท่านก็มาอนุโมทนาและเมตตาแสดงธรรมสั่งสอน ท่านเล่าว่า ท่านมิได้นึกเห่อเหิมประการใด ว่าตนมีความดี ความวิเศษเลิศเลอกระทั่งมีพระอรหันต์มาเยี่ยม แต่ท่านกลับยิ่งต้องพิจารณาไตร่ตรองเทียบเคียงข้อวัตรปฏิบัติของท่านกับธรรมคำสั่งสอนที่ได้รับ ระมัดระวังมิให้ผิดพลาดหรือเสื่อมถอยลง

เพียร...ก็ต้องเพียรพยายามให้มากขึ้น

พิจารณา
...ปัญญาก็ต้องพิจารณาฟาดฟันกิเลสให้รอบรู้...รู้เท่ายิ่งขึ้น

สติ...ต้องกำกับรักษาจิต พยายามไม่ให้พลั้งเผลอสักขณะจิต รวมความว่า กลับยิ่งต้องระวังรักษาตัวทุกประการให้สมควรกับที่ได้มีวาสนาประสบพบเห็นสิ่งที่ไม่น่าจะเห็น ได้ยิน ได้ฟัง สิ่งที่ไม่คาดฝันว่าจะได้ยินได้ฟัง

ระหว่างที่พำนักอยู่ในพม่าเช่นกัน ท่านได้เดินธุดงค์ไปหาที่วิเวก พบถ้ำอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งมีชัยภูมิสงัดลี้ลับ ห่างจากหมู่บ้านมาก การออกบิณฑบาตจากถ้ำที่ปรารภความเพียร ไปหมู่บ้านนั้น ต้องใช้เวลาถึงเกือบสองชั่วโมง ไปกลับก็ร่วมสี่ชั่วโมงกว่าจะถึงที่พักได้ฉันอาหาร แต่ท่านก็พอใจที่จะอยู่บำเพ็ญความเพียร ณ ที่นั้น ด้วยเป็นที่สงัด สัปปายะแก่การภาวนา บางวันเวลาหากการบำเพ็ญเพียรเป็นไปอย่างดูดดื่มลึกซึ้ง ท่านก็พักการออกบิณฑบาตเป็นวัน ๆ ไป

ท่านเล่าว่า คืนวันหนึ่ง พอจิตรวมสงบลงก็ปรากฏ พระมหากัสสปเถรเจ้า เหาะลอยลงมาข้างหน้าท่าน ท่านว่า เป็นภาพที่งามมาก ด้วยเห็นท่านเหาะมาแต่ไกล จนกระทั่งใกล้เข้ามาเห็นรัศมีแพรวพรายสว่างเรือง ร่างของท่านค่อยเลื่อนลอยลงสู่พื้นแล้วค่อย ๆ นั่งลงตรงหน้าท่านด้วยความสงบเยือกเย็น ใบหน้าของท่านเปี่ยมล้นด้วยความเมตตา แล้วก็มีปฏิสันถารกับหลวงปู่อย่างอ่อนโยน ท่านถามถึงธาตุขันธ์ของหลวงปู่ว่าพอเป็นไปไหวไหมกับการบำเพ็ญความเพียรอย่างอุกฤษฎ์ที่น่าอนุโมทนาเช่นนี้
37#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 19:59 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
หลวงปู่เล่าว่า ท่านก้มลงกราบในนิมิตภาวนาด้วยความปีติตื้นตันใจ ดูเหมือนว่าการปฏิบัติ การภาวนาของท่านจะอยู่ในสายตาของท่านผู้รู้โดยตลอด

เมื่อท่านกราบเรียนอย่างนอบน้อมถ่อมองค์แล้ว พระมหากัสสปะก็อนุโมทนาในกำลังศรัทธาของท่าน และแสดงธรรมเน้นหนักเรื่องธุดงควัตร เช่นที่พระพากุละได้เทศนาสั่งสอนหลวงปู่มาแล้ว ท่านยืนยันว่า ธุดงควัตรนั้นเองเป็นหลักของพระผู้มุ่งมั่นต่อความหลุดพ้นจากทุกข์ จริงอยู่ที่หลวงปู่ปฏิบัติอยู่นี้ ก็น่าสรรเสริญชมเชยอยู่แล้ว แต่ท่านก็ใคร่จะอธิบายประโยชน์เพิ่มเติมให้ส่งเสริมอุบายธุดงค์ให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป

ขอให้หลวงปู่ปฏิบัติอย่าย่อท้อ เพื่อเป็นแบบอย่างดำรงอริยมรรค อริยวัตร อริยประเพณีสืบต่อ ๆ ไป

นอกจากด้านธุดงควัตร ท่านยังเมตตาแสดงด้านธรรมวินัยให้ฟังอย่างวิจิตรพิสดารอีกด้วย รวมทั้งปัญหาธรรมต่าง ๆ ที่หลวงปู่ติดข้องสงสัยด้วย

ท่านเล่าว่า จิตท่านดำรงอยู่ในสมาธิภาวนาระหว่างท่านพระมหากัสสปะมาแสดงธรรมและสนทนาสั่งสอน เป็นเวลาเกือบสี่ชั่วโมง จิตจึงถอนออกมา หลังจากที่ท่านพระมหากัสสปะได้ลาจากท่านไป โดยเหาะกลับไปทางอากาศเช่นเดียวกับเมื่อเริ่มมา

ออกจากสมาธิแล้ว หลวงปู่ก็นำธรรมะที่เพิ่งได้รับฟังสด ๆ ร้อน ๆ มาครุ่นคำนึง ทั้งปีติ ทั้งอาลัยระคนกัน

________ ปีติ.... ด้วยได้มีโอกาสกราบไหว้พระขีณาสวเจ้าองค์สำคัญ ผู้เป็นบรมครูทางธุดงค์แห่งพุทธกาล สมเด็จพระผู้มีพระภาคทรงสรรเสริญยิ่งนักว่า ท่านเป็นผู้มักน้อย สันโดษ เป็นเลิศในทางธุดงค์

________ อาลัย.... ด้วยนึกเสียดายไม่อยากจะให้ภาพพระอรหันตเจ้าผู้ยิ่งด้วยมหาการุณจะเลือนหายไปเลย

อย่างไรก็ดี ท่านได้ภาวนาต่อไปจนสว่าง มีความรู้สึกเอิบอิ่มปลื้มปีติอย่างบอกไม่ถูก ธรรมทุกข้อที่ท่านพระมหากัสสปะแสดงตักเตือน ดูราวกับจะปรากฏซ้ำขึ้นอย่างแจ่มชัด โดยเฉพาะข้อที่ท่านได้พยากรณ์เป็นเชิงให้กำลังใจแก่หลวงปู่ นั้นท่านว่า ท่านรู้สึกดื่มด่ำฉ่ำชื่น มีกำลังใจมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติทำความเพียรโดยไม่ลดละ เพราะมรรคผลนิพพานที่เคยรู้สึกว่าอยู่สูงลิบเหลือกำลังสอยนั้น ดูราวกับจะลอยล่ออยู่แค่เอื้อมนี่เอง....!!

นอกจากพระมหากัสสปะและพระพากุละ จะเมตตามาเยี่ยม กล่าวสัมโมทนียกถา เทศนาให้กำลังใจเสมอแล้ว ท่านเล่าว่ายังมีพระอรหันต์สมัยพุทธกาลอีกองค์หนึ่ง คือ พระอนุรุทธมหาเถรเจ้า ก็ได้มาปรากฏองค์เยี่ยมท่านอยู่เป็นปกติ

http://www.dharma-gateway.com/mo ... lp-chob-hist-17.htm
38#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 19:59 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๑๘. กลับมาเยี่ยมแดนอีสาน

หลังจากที่ท่องเที่ยววิเวกอยู่ในถิ่นแถบภาคเหนือ คือแถวเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง เพชรบูรณ์ ถึง ๑๔ ปี พอดีกัลยาณมิตรของท่านคือ หลวงปู่ขาว อนาลโย ได้มาชวนให้ท่านกลับอีสาน ท่านจึงตกลงใจกลับมากับหลวงปู่ขาว

หลวงปู่ทั้งสอง ต่างองค์ต่างจากถิ่นฐานบ้านเกิดและวงศาคณาญาติ มาแสวงหาที่สัปปายะบำเพ็ญเพียรภาวนาทางภาคเหนือ เป็นเวลาใกล้เคียงกัน และ ต่างองค์ต่างได้รู้เห็นธรรม...ตามสำนวนอันถ่อมองค์ของท่านก็ว่า ...ธรรมอันสมควรเป็นที่พึ่งแห่งตนได้.... แต่สำหรับปุถุชนธรรมดาอย่างเรา ก็คงจะแอบนึก แอบเดากันเองว่า เป็นธรรมอันสูงขั้นใด... สมควรจะกลับไปเยี่ยมถิ่นฐานบ้านเดิม และโปรดพวกวงศาคณาญาติเสียที อีกประการหนึ่งหลวงปู่มั่น ภูริทัตตมหาเถระ พระอาจารย์ของท่านซึ่งได้ล่วงหน้ากลับจากเชียงใหม่ไปก่อนหน้านั้น ท่านกำลังโปรดญาติโยมอยู่แถบอีสานเหมือนกัน จะได้มีโอกาสไปกราบเยี่ยมท่านพระอาจารย์มั่นด้วย

ความจริง ในการกลับอีสานครั้งนี้ หลวงปู่และหลวงปู่ขาวได้ไปชวน หลวงปู่แหวน สุจิณโณ ด้วย นอกจากความสนิทสนมคุ้นเคยที่ธุดงค์ผ่านป่าผ่านเขา ผ่านเป็นผ่านตายมาด้วยกันแล้ว เฉพาะหลวงปู่ชอบกับหลวงปู่แหวนต่างมีชาติกำเนิดเป็นชาวจังหวัดเลยด้วยกันด้วย ท่านจึงชักชวนให้หลวงปู่แหวนกลับไปโปรดชาวจังหวัดเลยบ้าง แต่หลวงปู่แหวนก็ได้ตอบปฏิเสธหลวงปู่ทั้งสองไป ท่านว่า ท่านจะยังไม่กลับ จะอยู่เชียงใหม่ บำเพ็ญภาวนาให้ถึงอรหัตตผลก่อน จึงจะคิดกลับ เวลานี้ยังไม่คิด อย่างไรก็ดี หากได้ผลสมปรารถนาแล้วท่านจะคิดอีกครั้งหนึ่ง ว่าควรจะไปจากเชียงใหม่หรือไม่ “เชิญท่านกลับเลยไปก่อนเถอะ” ท่านบอกกับหลวงปู่

(ปรากฏว่า หลวงปู่แหวนไม่ได้กลับมาจังหวัดเลยอีกเลย จนกระทั่งท่านมรณภาพเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๘ นี้) ท่านทั้งสองก็ไม่ได้พบกันอีก จนกระทั่งเดือนมีนาคม ๒๕๒๗ ท่านกลับจากฉลองกุฏิที่ผาแด่น เชียงใหม่ ท่านจึงไปเยี่ยมหลวงปู่แหวนที่วัดดอยแม่ปั๋ง อำเภอพร้าว เป็นการพบกันครั้งแรกหลังจากที่ได้จากกันเมื่อเกือบสี่สิบปีก่อน



ในขณะที่องค์หนึ่ง อายุได้ ๙๖ ปี เปรียบประดุจใบไม้ที่ใกล้จะถึงเวลาร่วงจากขั้ว และอีกองค์หนึ่งอายุ ๘๓ ปี เป็นอัมพาตเดินไม่ได้ ต้องมีพระลูกศิษย์อุ้มพาไปตลอดเวลาแต่ท่านทั้งสององค์ก็เป็นปูชนียบุคคล เป็นผู้ทรงธรรมวิสุทธิ์ เป็นที่เคารพ รัก เลื่อมใส ของคนทั้งแผ่นดิน การพบกันครั้งนี้ หลวงปู่ทั้งสองก็ได้พูดคุยธรรมสากัจฉากันอย่างรื่นเริง ถึงความหลังสมัยที่ธุดงค์โชกโชนมาด้วยกัน พบเสือ พบช้าง พบเทพยดา พญานาค มาคารวะ มาทำบุญ มาขอฟังธรรมด้วยกัน

หลวงปู่ชอบได้กลับไปเยี่ยมหลวงปู่แหวนอีกครั้งหนึ่งในปี ๒๕๒๘ เพียงสองสามวันก่อนท่านจะมรณภาพ เป็นการพบกันครั้งสุดท้ายจริง ๆ สำหรับท่าน

สำหรับเรื่องที่หลวงปู่แหวน บอกกัลยาณมิตรของท่านทั้งสองว่า จะยังไม่กลับอีสาน จนกว่าจะได้รับอรหัตผลก่อน จึงจะคิดเรื่องการกลับนั้น สมควรจะเล่าแทรกไว้ด้วยว่า วันหนึ่งหลวงปู่ขาว ซึ่งอยู่ที่วัดกลองเพล อุดรธานี ก็ปรารภให้ศิษย์ใกล้ชิดฟังว่า ท่านได้นิมิตเห็นหลวงปู่แหวน ใสเหมือนแก้ว ใสที่สุด สว่างไสวทั้งองค์ ดวงใจของท่านก็ใสประดุจแก้ว

หลวงปู่ขาวรำพึงว่า “ท่านแหวนได้อรหัตแล้วละหนอ”

จากเชียงใหม่ หลวงปู่ชอบและหลวงปู่ขาวก็ลงมากรุงเทพฯ ก่อน พบ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสสเถระ) ท่านก็ถามหลวงปู่ทั้งสองว่า

ไปอยู่เชียงใหม่มา ได้อะไรดี

หลวงปู่ชอบเป็นคนพูดน้อยอยู่แล้ว ท่านจึงเพียงยิ้ม ๆ ปล่อยให้หลวงปู่ขาว สหายของท่านเป็นผู้ตอบแทน ท่านบอกว่า

ได้ศรัทธาดี ได้อจลศรัทธา
39#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 20:01 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้


พักอยู่กรุงเทพฯ ไม่กี่วัน ท่านก็จับรถไฟขึ้นไปอีสาน ผ่านนครราชสีมา และขอนแก่น พักที่วัดซึ่งท่านทั้งสองเคยจำพรรษา คือ วัดป่าสาลวัน นครราชสีมา และวัดป่าบ้านเหล่างา ขอนแก่น แล้วก็เดินทางมุ่งไปที่สกลนคร ด้วยได้ทราบว่า ระยะนั้น ท่านพระอาจารย์มั่นจำพรรษาอยู่ ณ วัดป่าบ้านหนองผือ นาใน อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร มีพระเณรพระธุดงคกรรมฐานจำพรรษาและห้อมล้อมรับการอบรมจากท่าน อยู่ ณ บริเวณใกล้เคียงกับที่ท่านพักจำพรรษาอยู่เป็นจำนวนมาก

ความตอนนี้ ท่านพระอาจารย์บุญเพ็ง เขมาภิรโต ซึ่งปัจจุบันเป็นเจ้าอาวาสวัดถ้ำกลองเพล แต่ขณะนั้นยังเป็นสามเณรน้อย ปรนนิบัติหลวงปู่มั่นอยู่ เล่าความให้ฟังว่า

พอเหลือบเห็นหลวงปู่ชอบและหลวงปู่ขาวก้าวเข้าไปในบริเวณลานวัด หลวงปู่มั่นก็อุทานด้วยความยินดี ที่เห็นหน้าศิษย์เอกทั้งคู่



“นั่น..ท่านขาว ท่านชอบมาแล้ว ไป..ไปต้อนรับท่าน”

ภิกษุสามเณรที่เคยรู้จักท่านต่างก็ดีใจ แสดงความกุลีกุจอที่ได้พบหน้า “พี่ชายใหญ่.... ท่านอาจารย์ขาว..ท่านอาจารย์ชอบ” อีกครั้งหนึ่ง ช่วยกันรับเครื่องบริขารจากท่าน พร้อมกับรีบหาน้ำท่ามาถวาย ส่วนภิกษุสามเณรที่เพิ่งเข้ามาอยู่ในสำนักในระยะหลัง ไม่เคยเห็นท่านทั้งสองมาก่อน ก็แอบนึกกันว่า

“....นี่เอง ท่านอาจารย์ขาว นี่เอง ท่านอาจารย์ชอบ เราเคยได้ยินชื่อท่านทั้งสองกันมานานแล้ว พ่อแม่ครูจารย์ (คำที่พระเณรทั้งหลายเรียกท่านพระอาจารย์มั่น) เคยพูดถึงด้วยความยกย่องบ่อย ๆ เรื่องราวของท่านเป็นที่กล่าวขวัญกันในหมู่ครูบาอาจารย์มากมาย วันนี้เรามีบุญได้เห็นองค์ท่านแล้ว”

บางองค์ก็แอบนึกว่า

“เคราะห์ดี เราไม่ได้นึกหมิ่นท่าน...ใครจะนึกว่า พระรูปร่างผอมสูง โปร่งบาง องค์นี้จะเป็นท่านอาจารย์ขาว และองค์เล็ก ๆ ดำคล้ำนั้น จะเป็นท่านอาจารย์ชอบ สีจีวรดูเก่าคร่ำคร่า กลดก็ดูขาดวิ่น...”

แต่ท่านเหล่านั้นก็คงนึกได้ถึงเหตุการณ์ในสมัยพุทธกาล เมื่อสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ เวฬุวนาราม ใกล้กรุงราชคฤห์ และได้มีภิกษุชราองค์หนึ่ง เข้าไปถวายบังคมแทบเบื้องบาทมูลของสมเด็จพระพิชิตมาร ภิกษุชราผู้นั้นแม้มีร่างกายซูบผอม เส้นเอ็นสะพรั่ง นุ่งห่มด้วยผ้าจีวรอันเก่าคร่ำคร่า แต่ผิวพรรณวรรณะผ่องใส กิริยาท่าทางสงบเย็น เมื่อถวายบังคมสมเด็จพระบรมศาสดาด้วยเบญจางคประดิษฐ์ครบสามครั้ง แล้วก็นิ่งรอคอยฟังพระพุทธฎีกาโดยดุษณี เมื่อทรงมีพุทธบรรหารก็กราบทูลตอบอย่างสงบเสงี่ยม เฝ้าอยู่ได้ระยะหนึ่งก็กราบถวายบังคมลากลับไป

บรรดาภิกษุทั้งหลาย ซึ่งเข้ามาในสำนักสมเด็จพระทศพล ในระยะหลังไม่เคยเห็นภิกษุชราแปลกหน้าผู้นี้ จึงถามกันเซ็งแซ่ว่า ภิกษุชราผู้มีร่างกายซูบผอม เส้นเอ็นสะพรั่ง นุ่งห่มด้วยผ้าจีวรอันเก่าคร่ำคร่านี้เป็นผู้ใด สมเด็จพระบรมครู จึงดูทรงเมตตาและแสดงความคุ้นเคยนัก ปกติ สมเด็จพระบรมศาสดา ทรง “วาง” ทุกอย่าง ไม่ทรงแสดง “กิริยาดีใจ” ไม่ทรงแสดง “กิริยาเสียใจ” ให้ปรากฏ แต่เมื่อทอดพระเนตรเห็นภิกษุชราผู้มีร่างกายซูบผอม เส้นเอ็นสะพรั่ง นุ่งห่มจีวรอันเก่าคร่ำคร่า ก็ได้เห็นสีพระพักตร์แช่มชื่นขึ้นด้วยความยินดี ประหนึ่งบิดาได้ประสบหน้าบุตรสุดที่รักที่จากไปในแดนไกล กลับมาเยี่ยมบ้านฉะนั้น

ใครทราบบ้างไหม ท่านเป็นใคร มาแต่ไหน เสียงถามกัน

แต่ก็ไม่มีภิกษุองค์ใดตอบได้ เพราะต่างองค์ก็เพิ่งเข้ามาสู่สำนักสมเด็จพระบรมศาสดาในเวลาไม่นานนัก

สมเด็จพระบรมครู ทรงทราบวาระจิตของเหล่าภิกษุทั้งหลาย จึงเสด็จมาในที่ประชุมนั้น และรับสั่งว่า

“นี่แหละ เชษฐภาดาของพวกเธอ มหากัสสปะ ผู้เป็นพี่ชายใหญ่ของเธอทั้งหลาย เธอออกจากป่าจากเขามาหาเรา” แล้วทรงสรรเสริญวัตรของพระมหากัสสปะต่อไปว่า “เธอเป็นผู้พอใจในเสนาสนะป่าเขาอันเงียบสงัด เธอมีความมักน้อย สันโดษ ใช้แต่ผ้าบังสุกุลจีวร ๓ ผืนเป็นวัตร ไม่ชอบระคนด้วยหมู่เธอผู้บุตรของเรา เธอเป็นที่รักของเหล่าเทวดาและมนุษย์”

40#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 20:01 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ท่านอาจารย์มั่นสั่งให้สามเณรบุญเพ็ง ไปจัดการสถานที่พักให้หลวงปู่ทั้งสอง กำชับว่า “ท่านขาว ท่านชอบ ท่านชอบป่านะ เราไปจัดป่าให้ท่านนะ” ท่านอาจารย์บุญเพ็งเล่าว่า เป็นความประทับใจที่ท่านไม่มีวันลืมเลือนเลย ในใจพองโตด้วยความปลื้มปีติที่ได้มีโอกาสรับใช้ศิษย์รุ่นพี่ใหญ่ทั้งสอง

วันนั้นเช่นกัน ภิกษุสามเณร ณ วัดป่าบ้านหนองผือ นาใน ก็คำนึงกันว่า

“เช่นเดียวกับพระมหากัสสปะเมื่อมาเฝ้าสมเด็จพระจอมมุนินาถ พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ออกมาจากป่าจากเขา หลวงปู่ขาวและหลวงปู่ชอบ เมื่อมากราบท่านพระอาจารย์มั่น องค์บุรพาจารย์ของท่านก็เพิ่งออกจากป่าจากเขามา เราต่างได้ยินคำสรรเสริญยกย่องมานานแล้วว่า ท่านทั้งสองบำเพ็ญเพียรเจริญรอยตามพระมหากัสสปะ ผู้เลิศในการทรงธุดงค์ เราได้ยินได้ฟังมานานแล้วว่า ท่านทั้งสองพอใจในเสนาสนะป่าเขาอันเงียบสงัด ท่านมีความมักน้อย สันโดษ ใช้แต่ผ้าบังสุกุลจีวร ๓ ผืน เป็นวัตร ท่านไม่ชอบระคนด้วยหมู่ ท่านผู้เป็นพี่ชายใหญ่ ท่านผู้เป็นที่รักของเหล่าเทวดาและมนุษย์ ท่านมาในครั้งนี้ เราคงมีโอกาสได้ฟังอะไรดี ๆ ให้เป็นขวัญตา ขวัญใจ ขวัญหุของพวกเราแน่”

แน่นอนที่พระเณรทุกองค์จะนึกคาดคอยเช่นนั้น เพราะเวลาใด ที่มีพระเถระผู้ใหญ่ ผู้มีภูมิธรรมขั้นสูงออกจากป่าที่พักบำเพ็ญภาวนา หรือไปธุดงค์ ณ เมืองไกล จะมีความรู้ ความเห็นจากการภาวนา มาเล่าถวายอาจารย์ของท่าน เวลานั้นจะเป็นเวลาที่พระเณรทั้งหลายกระหยิ่มดีใจ คอยสนใจฟังกันมากที่สุด เพราะความรู้ ความเห็นจากการภาวนาเหล่านั้น เป็น “ของจริง” ที่แต่ละองค์ได้ประสบพบเห็นมา และก็มักจะแปลกแตกต่างกันไปตามจริตนิสัยของแต่ละองค์ ยิ่งคราวนี้ หลวงปู่ทั้งสอง ซึ่งเป็นผู้ ได้รับการพยากรณ์จากท่านพระอาจารย์มั่นมาแล้ว เป็นผู้ได้รับคำยกย่องสรรเสริญอยู่เสมอ...กลับจากธุดงค์มากราบคารวะครูบาอาจารย์พร้อมกัน ประดุจคู่พญาช้างกลับจากการตระเวนไพรมาด้วยกันฉะนั้น

แน่นอน...หลวงปู่ทั้งสองคงจะมีเรื่องที่รู้เห็นจากการภาวนาล้วน ๆ เกี่ยวกับอริยสัจจ์ภายในบ้าง เกี่ยวกับพวกเทพ พวกอินทร์ พรหม ยม ยักษ์ พญานาค ภายนอกบ้าง มาเล่าถวายให้ฟังอย่างมากมาย

คงได้ฟังกันอย่างเพลิดเพลินตลอดรุ่ง

“บุญเพ็งไปปูเสื่อ” ท่านพระอาจารย์มั่นสั่งสามเณรบุญเพ็ง แล้วกำชับว่า “ท่านขาว ท่านชอบ ท่านชอบป่านะ เราไปจัดป่าให้ท่านนะ”

สามเณรบุญเพ็งรีบไปจัดสถานที่ให้อย่างกุลีกุจอ ท่านเล่าว่า เป็นความประทับใจที่ท่านไม่ลืมเลย ในใจพองโตด้วยความปลื้มปีติที่จะได้มีโอกาสปรนนิบัติรับใช้ศิษย์รุ่นพี่ใหญ่ ผู้เป็นพระเถระผู้ใหญ่ ท่านจำได้ไม่ลืมว่า ท่านจัดให้หลวงปู่ขาวผูกกลดอยู่ใต้ร่มต้นมะไฟ ส่วนหลวงปู่ชอบนั้น ท่านจัดให้ไปอยู่ใต้ร่มไม้ห่างไปอีกทางหนึ่ง คือผูกกลดอยู่ใต้ร่มหมากเม่า

ต่างองค์ต่างอยู่ในป่า ไม่ระคนกับหมู่

และก็เป็นอย่างที่พระเณรน้อยใหญ่คาดคอย กล่าวคือ ได้มีโอกาสฟังหลวงปู่ใหญ่ ท่านพระอาจารย์มั่น และหลวงปู่ขาว หลวงปู่ชอบสนทนาธรรมกันอย่างลึกซึ้ง และรื่นเริงในธรรม

อย่างไรก็ดี ตามวิสัยครูบาอาจารย์ ซึ่งเป็นประดุจพ่อแม่ของศิษย์ ท่านพระอาจารย์มั่นก็ไม่วายที่จะ “ประหน้า” ศิษย์เอกทั้งคู่ด้วยเทศนากัณฑ์ใหญ่ก่อน โดยเริ่มว่า

“กลัวแต่คนอื่นจะเห็นตับไดไส้พุงของตัว แต่ตัวเองไม่สนใจตับไตไส้พุงและจิตใจของตัว ว่ามันมีอะไรอยู่ภายในนั้น มัวเพลินดูเพลินฝัน เพลินคิดแต่เรื่องคนอื่น กลัวเขาจะมาเห็นตับไตไส้พุงของเรา คิดส่งออกไปภายนอก ไม่สนใจคิดเข้ามาภายใน นักปฏิบัติเราไม่สนใจ ดูกาย..ดูใจของตัวเราเอง จะหาความฉลาดรอบรู้มาจากไหน”

หลวงปู่สบตาหลวงปู่ขาว แล้วก็นิ่งอยู่ด้วยความสำรวม
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้