ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

~ หลวงปู่ชอบ ฐานสโม วัดป่าโคกมน ~

[คัดลอกลิงก์]
11#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 19:25 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ท่านเล่าว่า จิตของท่านรวมลงสู่ความสงบได้โดยง่ายมาก และเกิดความรู้พิสดาร การนี้เริ่มปรากฏแก่ท่าน ตั้งแต่ขณะที่ท่านยังเป็นสามเณรอยู่ ท่านสามารถมองเห็นสิ่งต่าง ๆ ที่แปลกลึกลับได้ดี เกินกว่าสายตามนุษย์สามัญจะรู้เห็นได้ ได้ล่วงรู้ความคิดความนึกในจิตใจของผู้อื่น

ไม่ได้นึกอยากเห็น  ก็เห็นขึ้นมาเอง

ไม่ได้นึกอยากรู้  ก็รู้ขึ้นมาเอง

รวมทั้งการรู้เห็นสิ่งแปลก ๆ เช่น พวกกายทิพย์ คือ เทวบุตร อินทร์ พรหม ยม ยักษ์ นาค ครุฑ... หรือการรู้วาระจิตคนอื่น ที่เขาคิด เขานึกอยู่ในใจ ก็สามารถได้ยินชัด

สิ่งเหล่านี้...แรก ๆ ท่านก็ทั้งตกใจ ทั้งประหลาดใจ แต่เมื่อเป็นมาระยะหนึ่ง ได้รู้ว่าอะไรคือความจริง อะไรคือภาพนิมิต ก็ระงับสติได้ มีสติว่า นี่เป็นเรื่องพิสดาร แต่ไม่ควรจะให้ความสนใจมากนัก

นี่เป็นเหตุหนึ่ง ที่เมื่อได้บวชเป็นภิกษุแล้ว ท่านก็บากบั่นมุ่งมั่นต่อไปในแดนพุทธาณาจักรอย่างไม่ย่อท้อ

ครูบาอาจารย์ก็ช่วยให้ความมั่นใจว่า เมื่อท่านเป็นผู้มีนิสัย วาสนาทางนี้แล้ว ก็ควรจะเร่งทำความพากเพียรต่อไป ไม่ควรให้ความสนใจต่อสิ่งที่เป็นเหมือน "แขกภายนอก" เหล่านี้ อย่านึกว่าตนเป็นผู้วิเศษ ผู้เก่งกล้าอะไร ผู้ใดมีวาสนาบารมีสร้างสมอบรมมาอย่างไร ก็จะเป็นไปอย่างนั้น เปรียบเสมือนการปลูกต้นผลไม้ หากเรานำเอาเมล็ดมะม่วงมาเพาะ ปลูก ลงดิน รดน้ำ พรวนดิน ใส่ปุ๋ย บำรุงต้นไม้นั้นไป วันหนึ่งก็จะออกดอกออกช่อให้ผลเป็นเมล็ดมะม่วง ไม่เคยปลูกมะม่วง แต่จะนั่งกระดิกเท้ารอให้เกิดต้นมะม่วง มีผลมะม่วงขึ้นมาเอง ก็ไม่ได้เช่นเดียวกัน

ท่านเป็นผู้มีวาสนาบารมีธรรมสร้างสมมาแต่บรรพชาติ จิตจึงเกรียงไกรมีอานุภาพ แต่ก็ควรจะประมาณตนอยู่ เพราะความรู้สิ่งเหล่านี้ ไม่ใช่จุดหมายปลายทางของผู้กระทำความเพียรภาวนา นักปราชญ์จะไม่มัวหลงงมงายอยู่กับความรู้ภายนอก อันเป็นโลกียอภิญญา จุดหมายปลายทางของปวงปราชญ์ราชบัณฑิตนั้น อยู่ที่การกำจัดอาสวกิเลสที่หมักดองอยู่ในกมลสันดานของเรานั้นให้หมดไป สิ้นไป โดยไม่เหลือแม้แต่เชื้อต่างหาก

หลวงปู่ได้น้อมรับคำสอนเตือนสติของครูบาอาจารย์ด้วยความเคารพ แม้หมู่เพื่อน ๆ จะมีความเกรงใจท่านอยู่มาก แต่ท่านก็มีความเสงี่ยม เจียมตัวอยู่ มิได้นึกเห่อเหิมอวดตัวแต่ประการใด

ระยะแรก ๆ ท่านเต็มไปด้วยความระวังตัว ด้วยไม่แน่ใจว่า บางครั้งภาพที่ปรากฏให้ท่านเห็นนั้น จะมีผู้อื่นเห็นเหมือนกับท่านหรือไม่ หากเขาปรากฏให้ท่านเห็นเพียงผู้เดียว การทักทายปราศรัย หรือสนทนาก็อาจทำให้ถูกมองเหมือนเป็นคนบ้า คนประหลาด พูดคุยคนเดียวก็ได้ ท่านจึงเป็นผู้เงียบสงบ ไม่ค่อยพูดคุยสุงสิงกับใครมากนัก ด้วยได้ใช้ภาษาใจได้อย่างเป็นประโยชน์มากกว่า อย่างไรก็ดี ต่อมาท่านก็ชำนาญในการนี้มากขึ้น จนรู้ได้ทันทีว่านี้เป็นนิมิตหรือไม่ แต่ในขณะเดียวกันนั้น ท่านก็คิดหมายมาดว่า ท่านจะต้องเร่งโอกาสความเพียรพยายามต่อไปโดยไม่ประมาท

http://www.dharma-gateway.com/mo ... lp-chob-hist-06.htm
12#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 19:25 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๗. ได้พบกัลยาณมิตร

แม้จะเป็น นวกภิกษุ คือภิกษุบวชใหม่ แต่หลวงปู่ก็ได้ผ่านชีวิตการธุดงค์มาหลายปีแล้ว เริ่มแต่ระยะที่ท่านอาจารย์ของท่านพาดำเนินมาในฐานะผ้าขาวน้อย ๔ ปี และต่อมาในฐานะสามเณรอีก ๔ ปี ฉะนั้นเมื่อบวชแล้ว อยู่รับการอบรมจากพระอุปัชฌายะและพระกรรมวาจาจารย์ ให้รู้จักพระธรรมวินัยให้พอรักษาตัวได้ ใกล้จะถึงเวลาเข้าพรรษา พรรษาแรก พ.ศ. ๒๔๖๘ ท่านจึงขอต่ออุปัชฌายะไปจำพรรษาอยู่ ณ วัดป่านาคำใหญ่ ซึ่งเป็นวัดป่า เหมาะแก่การบำเพ็ญเพียรมากกว่า แต่ในขณะเดียวกันก็มิได้อยู่ห่างไกลจากวัดสร่างโศกที่พระอุปัชฌายะของท่านอยู่จำพรรษานัก เพราะต่างอยู่ในเขตอำเภอยโสธรด้วยกัน

ออกพรรษาแล้ว ท่านก็ออกธุดงค์ไปตามป่าเขาใกล้เคียง ถึง พรรษาที่สอง พ.ศ. ๒๔๖๙ ท่านไปจำพรรษาที่ วัดศรีมงคลเหนือ อำเภอมุกดาหาร จังหวัดนครพนม ซึ่งปัจจุบันนี้ได้แยกออกเป็นจังหวัดมุกดาหารแล้ว

ระยะนี้ญาติพี่น้อง โดยเฉพาะโยมมารดาได้ขอร้องให้ท่านมาโปรดบรรดาญาติบ้าง ดังนั้น ใน พรรษาที่ สาม พ.ศ. ๒๔๗๐ หลวงปู่จึงได้เดินทางกลับมาจังหวัดอุดรธานี มาจำพรรษา ณ วัดป่าหนองบัวบาน อำเภอเมือง ซึ่งไม่ไกลจากอำเภอเชียงพิน บ้านที่อยู่ของบรรดาญาติพี่น้องของท่านเท่าใดนัก

วัดป่าหนองบัวบานนี้ เป็นวัดเก่าแก่ อยู่ริมหนองน้ำใหญ่ แต่ไม่ใช่วัดเดียวกับวัดป่านิโครธาราม บ้านหนองบัวบาน ที่ หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ เพื่อนสหธรรมิก ของท่านสร้างในภายหลัง



ณ วัดป่าหนองบัวบานแห่งนี้เอง นอกจากจะเป็นที่ภาวนาดีแล้ว หลวงปู่ยังได้มีโอกาสพบเพื่อนภิกษุรูปหนึ่ง ซึ่งในชีวิตสมณเพศอันยาวนานในภายหลังต่อมาเกือบ ๖๐ พรรษกาลนั้น ได้เป็นกัลยาณมิตรต่อกันตลอดมา...ภิกษุรูปนั้นแม้จะมีอายุมากกว่าท่านกว่าสิบปี แต่มีพรรษาอ่อนกว่าท่านเล็กน้อย ก็มิได้ถือตัวประการใด คงใกล้ชิดสนิทสนม ร่วมปฏิบัติธรรม สนทนาธรรม แลกเปลี่ยนธรรมสากัจฉาต่อกันเป็นอย่างดี

ภิกษุท่านนั้น คือท่านที่เรารู้จัก เราเคารพบูชากันในภายหลัง ในนามว่า หลวงปู่ขาว อนาลโย แห่ง วัดถ้ำกลองเพล นั่นเอง

ปกติหลวงปู่เป็นผู้เงียบขรึม พูดน้อย ไม่ค่อยสนิทกับใครง่าย ๆ หรืออีกนัยหนึ่ง ท่านเป็นผู้เลือกคบมิตร ท่านทราบดีว่า

“ยาทิสํ  กุรุเต  มิตตํ            ยาทิสญฺจ  เสวติ

โสปิ  ตาสิสโก  โหติ            สหวาโส  หิ  ตาทิโส


บุคคลคบคนเช่นใดเป็นมิตร            และส้องเสพคนเช่นใด

เขาก็เป็นคนเช่นนั้น            เพราะการอยู่ร่วมกันย่อมเป็นเช่นนั้น”


ฉะนั้น เมื่อท่านได้พบหลวงปู่ขาว ได้เห็นความตั้งใจ เพียรพยายาม ความเป็นปราชญ์...ของหลวงปู่ขาว...และในเวลาเดียวกัน หลวงปู่ขาวก็ได้เห็นความตั้งใจมั่นในการปฏิบัติธรรม ความเป็นปราชญ์อภิญญาของหลวงปู่ ทั้งสองท่านจึงต่างเคารพในธรรมของกันและกัน เป็นกัลยาณมิตรเอื้อเฟื้อต่อกัน
13#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 19:26 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ท่านได้จำพรรษาอยู่ร่วมกัน ณ วัดหนองป่าบัวบาน ถึง  ๓ พรรษา จากปี พ.ศ. ๒๔๗๐ ถึง พ.ศ. ๒๔๗๒

ได้มีผู้เปรียบหลวงปู่ขาวและหลวงปู่ชอบว่า เหมือน พระสารีบุตร และ พระโมคคัลลาน์

สาเหตุหนึ่งที่ทำให้มีการกล่าวกันเช่นนั้น คงจะเป็นด้วย ในระยะแรกที่ท่านทั้งสองรู้จักกัน จำพรรษาด้วยกันนั้น ท่านต่างแสดงความประสงค์ที่จะก้าวล่วงกองทุกข์ให้ได้ แต่ก็กำลังแสวงหาครูบาอาจารย์ที่จะช่วยสอนสั่ง ขัดเกลากมลสันดานและชี้แนะทางพ้นทุกข์อย่างถูกต้องได้

เหมือนอย่างพระสารีบุตรและพระโมคคัลลาน์ ที่กำลังเป็นผู้แสวงหาครูอาจารย์ แต่ยังไม่ได้พบพระพุทธเจ้า

หลวงปู่ขาว และหลวงปู่ชอบ ระหว่างพรรษาแรกที่หนองบัวบานก็กำลังแสวงหาครูอาจารย์ และยังไม่ได้พบท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตมหาเถระ

เหมือนอย่างพระสารีบุตรและพระโมคคัลลาน์ ที่ต่างเป็นสหายกัน และให้ให้สัญญาต่อกันว่า ถ้าหากใครมีโอกาสพบอาจารย์สอนทางพ้นทุกข์ก่อนกัน ก็ขอให้ช่วยบอกกันด้วย

หลวงปู่ขาวและหลวงปู่ชอบต่างเป็นสหายปฏิบัติธรรม จำพรรษาอยู่วัดเดียวกัน ชอบพออุปนิสัยซึ่งกันและกัน ต่างให้สัญญาต่อกันว่า ถ้าหากใครได้พบพระอาจารย์มั่นก่อน ก็ขอให้ช่วยบอกกันด้วย

เหมือนอย่างพระสารีบุตร และพระโมคคัลลาน์ เมื่อองค์หนึ่งคือพระสารีบุตรได้มีโอกาสพบท่านผู้บอกทางพ้นทุกข์ (พระอัสสชิ) ท่านก็ชวนพระโมคคัลลาน์เพื่อนของท่านไปเฝ้าพระพุทธเจ้า

สำหรับหลวงปู่ขาว และหลวงปู่ชอบ เมื่อองค์หนึ่ง คือหลวงปู่ชอบได้มีโอกาสกราบท่านพระอาจารย์มั่น ท่านก็ชวนให้หลวงปู่ขาวเพื่อนของท่านได้ไปกราบครูบาอาจารย์บ้าง

ท่านได้เป็นกัลยาณมิตรต่อกันตลอดมา ได้เดินธุดงค์ด้วยกัน เมื่อต่างได้มากราบท่านพระอาจารย์มั่นถวายตัวเป็นศิษย์ รับคำสอนจากท่านแล้ว ก็แยกกันออกไปปฏิบัติธรรมตามจริตนิสัยของแต่ละองค์...บางเวลาก็ร่วมเดินธุดงค์ เผชิญความเป็นความตายด้วยกัน... บางเวลาก็ออกไปหาสัจธรรม บางเวลาก็ติดตามครูบาอาจารย์ไปทางภาคเหนือด้วยกัน เป็นสิบปี... ชวนกันกลับมาภาคอีสานบ้านเกิดด้วยกัน บำเพ็ญธรรมเพื่อประโยชน์ตนเองและหมู่คณะแล้ว ก็สั่งสอนสานุศิษย์ของแต่ละท่านในหลักธรรมอันเป็นแนวเดียวกัน

แต่หนุ่ม   จนย่างเข้าวัยชรา

แต่เมื่อเป็น ผู้แสวงหา..จนเป็น ผู้ปล่อยวาง

ได้รับความเคารพ เลื่อมใส ศรัทธา จากประชาชนทั่วประเทศเช่นเดียวกัน

ท่านได้พบปะเยี่ยมเยียนกัน แสดงธรรมสากัจฉาต่อกันเป็นนิจ ให้บรรดาศิษย์ได้มีโอกาสกราบบูชาพระคุณเจ้าทั้งสองคู่กัน...จนกระทั่งองค์หนึ่ง...พระคุณเจ้าหลวงปู่ขาว อนาลโย ได้ล่วงลับดับขันธ์นิพพานไปก่อน เมื่อวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๒๖ ที่ผ่านมานี้....

โย  เว  กตญฺญู  กตเวทิ  ธีโร

กลฺยาณมิตฺโต  ทฬฺหภตฺติ  จ  โหติ

ทุกฺขิตสฺส  สกฺกจฺจ  กโรติ  กิจฺจํ

ตถาวิธํ  สปฺปุริสํ  วทนฺติ

บุคคลผู้มีปรีชาใด เป็นคนมีกตัญญูกตเวที ๑ มีกัลยาณมิตรสินทสนมกัน ๑ ช่วยทำกิจของมิตรผู้มีทุกข์โดยเต็มใจ ๑ ท่านเรียกบุคคลผู้นั้นว่า “สัตตบุรุษ”

http://www.dharma-gateway.com/mo ... lp-chob-hist-07.htm
14#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 19:26 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๘. พบท่านพระอาจารย์มั่น

หลวงปู่บวชแล้วถึง ๔ ปี จึงได้มีโอกาสพบท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตมหาเถระ..!!

ความจริง พระอาจารย์พา อาจารย์องค์แรก ผู้พาท่านออกดำเนินทางธรรม โดยให้เป็นผ้าขาวน้อย เดินรุกขมูลไปกับท่าน จนกระทั่งเป็นธุระให้ท่านบวชเณร...ก็เป็นศิษย์องค์หนึ่งของท่านพระอาจารย์มั่น ท่านเคยเคารพเลื่อมใสพระอาจารย์พา อาจารย์ของท่านมาก และอดคิดแปลกใจไม่ได้ที่ท่านพระอาจารย์พาเล่าให้ฟังถึงท่านพระอาจารย์มั่น อาจารย์ของท่านด้วยความเคารพเทิดทูนอย่างสูงสุด

ท่านว่าพระอาจารย์พาเคร่งครัด ในเรื่องข้อวัตรปฏิบัติมากอยู่แล้ว

แต่ท่านพระอาจารย์พา บอกว่าท่านพระอาจารย์มั่นเคร่งครัดในเรื่องข้อวัตรปฏิบัติมากที่สุด

ท่านว่า พระอาจารย์พา ฉลาดรอบรู้ในการเทศนาธรรมมากอยู่แล้ว

แต่ท่านพระอาจารย์พากล่าวว่า ท่านพระอาจารย์มั่น อาจารย์ของท่านฉลาดรอบรู้ในการเทศนาธรรม ได้กว้างขวางพิสดารมากที่สุด

ท่านว่า พระอาจารย์พา อ่านใจคนได้มากอยู่แล้ว

แต่ท่านพระอาจารย์พายืนยันว่า ท่านพระอาจารย์มั่น อาจารย์ของท่านอ่านใจคน ดักใจคน รู้จิตใจคนได้ทุกเวลา ทุกโอกาสมากที่สุด

ท่านพระอาจารย์มั่น เป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติชอบ ซึ่งในสมัยนี้ยากที่จะพบ “พระ” ผู้เป็น “พระ” อันประเสริฐ ผู้เป็นนาบุญอันเลิศ ยากจะหานาบุญใดมาเทียบได้

ควรที่ผู้ในใจใฝ่ทางธรรมอย่างเธอนี้ จะไปกราบกรานขอถวายตัวเป็นศิษย์

ครั้นหลวงปู่ได้ฟัง ก็อดคิดแปลกใจไม่ได้ว่า ในโลกปัจจุบันนี้ ยังจะมีบุคคลผู้ประเสริฐเลิศลอยเช่นนี้อยู่อีกหรือ แต่เมื่ออาจารย์ของท่านบอกไว้ ท่านก็จดจำไว้ คอยสำเหนียกฟังข่าวท่านพระอาจารย์มั่นอยู่ตลอดเวลา

และต่อมาเมื่อปรารภกับใคร กิตติศัพท์กิตติคุณของท่านพระอาจารย์มั่น ก็ดูจะเป็นที่เลื่องลือระบือมากขึ้น ท่านจึงคอยหาโอกาสจะเข้าไปกราบถวายตัวเป็นศิษย์อยู่ตลอดเวลา

ระหว่างที่ท่านบวช จำพรรษาอยู่ทางยโสธรหรือนครพนม ก็ได้ข่าวว่าท่านพระอาจารย์มั่นพักบำเพ็ญอบรมพระ – เณร อยู่ที่อุดรฯ และหนองคาย พอท่านมาอยู่อุดรฯ ก็ได้ยินข่าวท่านพระอาจารย์มั่นออกจากอุดรฯ เที่ยววิเวกไปตามหมู่บ้านแถบอำเภอวาริชภูมิ พังโคน สว่างแดนดิน วานรนิวาส อากาศอำนวย ในจังหวัดสกลนคร

ท่านไม่มีโอกาสได้จังหวะสักครั้ง

และก็เป็นการยากอย่างยิ่ง ที่จะติดตามไปพบท่านพระอาจารย์มั่นโดยง่าย เพราะสมัยนั้น เส้นทางคมนาคมแสนลำบาก ไม่ต้องพูดถึงถนนลาดยางเช่นทุกวันนี้ แม้แต่ทางรถยนต์ระหว่างจังหวัดต่อจังหวัด อำเภอต่ออำเภอก็ยังไม่ค่อยมี มีแต่ทางเกวียน ทางเดินเท้า โดยเฉพาะท่านพระอาจารย์มั่นพาอบรมพระเณรในหมู่บ้านที่อยู่ในป่าในเขา การคมนาคมก็ยิ่งลำบากยากแสนเข็ญมากไปอีก การเดินทางต้องเป็นไปด้วยเท้าเป็นส่วนใหญ่

แต่ในที่สุด หน้าแล้งนั้น หลวงปู่ก็ได้มีโอกาสไปกราบท่านพระอาจารย์มั่น ณ เสนาสนะ ป่าบ้านสามผง อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม...!!

ท่านพระอาจารย์มั่น พักอบรมพระเณรที่หมู่บ้านตามเขตอำเภอต่าง ๆ ในจังหวัดสกลนคร พอสมควรแล้วท่านก็เที่ยวต่อไป เข้าไปในเขตจังหวัดนครพนม โดยเฉพาะที่อำเภอศรีสงคราม ซึ่งยังมีหมู่บ้านที่เต็มไปด้วยป่าดงพงทึบอยู่มาก เช่น ที่บ้านโนนแดง ดงน้อย คำนกกก เป็นต้น และท่านก็มาหยุดอยู่ที่บ้านสามผง ซึ่งเป็นที่หลวงปู่ได้โอกาสเหมาะพอดี

ท่านเล่าว่า การเข้าไปกราบนมัสการท่านพระอาจารย์มั่นครั้งแรก พอวางบริขารลง ก็โดนท่านดุลั่น ตะเพิดให้ออกจากสำนักทันที

ท่านตกใจและงง ด้วยไม่ทราบต้นสายปลายเหตุแต่อย่างใด ระหว่างกำลังชื่นชมความเงียบสงัดสงบร่มเย็นของสถานที่ เห็นภาพพระ – เณรกำลังอยู่กันอย่างสำรวมระวังตัว จู่ ๆ ก็เหมือนถูกสายฟ้าฟาดลงมาอย่างไม่มีวี่แววพายุฝนล่วงหน้า

ท่านเองยังไม่เคยทราบนิสัยท่านพระอาจารย์มั่น เมื่อท่านอาจารย์ไม่ให้อยู่ ก็กราบลาท่าน มิได้นึกโต้เถียงขัดแย้งอะไร ท่านเล่าว่า ท่านกลัวท่านพระอาจารย์มั่นมาก จนพูดอะไรไม่ออก บอกอธิบายไม่ถูก ได้แต่เก็บบาตรและบริขารเสร็จแล้วก็เดินทางไป
15#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 19:27 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ในสมัยนั้น ล้อมรอบที่พักท่านพระอาจารย์มั่น จะมีสำนักที่พักของพระอื่น ๆ อยู่ในบริเวณไม่ห่างไกลนัก ด้วยท่านไม่ชอบให้มีพระอยู่ในเขตสำนักของท่านมากนัก โดยมากจึงมักจะหาสำนักที่พักให้ห่างออกไปพอควร ในเขตระยะที่อาจจะมาฟังเทศน์ รับฟังอุบายธรรมจากท่านโดยสะดวกเท่านั้น ดังนั้นหลวงปู่จึงไปพักอยู่ที่อีกสำนักหนึ่ง ซึ่งอยู่ไม่ไกลกันนัก ด้วยความเหมาะสมดังกล่าวแล้ว และอีกประการหนึ่ง ถ้าจะไปต่ออีกก็มืดค่ำแล้ว ท่านกะว่าจะค้างคืนสักคืนหนึ่งก่อน ตอนเช้าฉันเสร็จแล้วค่อยออกเดินทางต่อไป

รุ่งขึ้นวันใหม่ หลังจากที่ฉันเช้าเสร็จแล้ว ขณะกำลังเก็บบริขารเตรียมตัวจะออกเดินทาง ก็พอดีมีพระเณร ๒ รูป เข้ามาเรียนท่านว่า ท่านพระอาจารย์มั่นให้มาตามท่านกลับไป

“ท่านให้มาตามท่านกลับไปครับ” พระเณรยืนยันเมื่อหลวงปู่สงสัย ดังนั้นหลวงปู่จึงตกลงใจกลับไปอีกครั้งหนึ่ง

เมื่อกลับไปถึงกราบท่านพระอาจารย์มั่นครั้งที่สองนี้ ดูท่านเปลี่ยนไปเป็นคนละคนกลับครั้งแรก ท่านทักทายพูดคุยด้วยดี มีเมตตา ยิ้มแย้มแจ่มใส ไม่มีกิริยาดุดันเหมือนวันวาน ถ้าจะเปรียบดั่งท้องฟ้าซึ่งเมื่อวานมีพายุใหญ่เมฆฝนมืดคลุ้ม วันนี้ท้องฟ้ากลับปลอดโปร่งแจ่มใสเป็นสีน้ำเงินงาม พอสนทนาปราศรัยซักถามความประสงค์การบำเพ็ญภาวนาที่ปฏิบัติมาเรียบร้อยแล้ว ท่านพระอาจารย์มั่นก็บอกให้พระเณรจัดกุฎีที่พักให้เป็นอย่างดี



ไม่มีใครทราบแน่ชัดว่า เหตุใดครั้งแรกท่านพระอาจารย์มั่นจึงแสดงกิริยาเหมือนรังเกียจไล่หลวงปู่ แต่เพียงเช้าวันรุ่งขึ้นก็ให้ตามหา และแสดงความเมตตาสนิทสนมคุ้นเคยเป็นอย่างดี

เคยกราบเรียนถามหลวงปู่ ท่านก็ยิ้ม ๆ ไม่ตอบประการใด ศิษย์รุ่นหลังบางคนเชื่อว่า อาจเป็นด้วยครั้งแรก ท่านมองเห็นถลกบาตรของหลวงปู่เป็นสีจัดจ้า และเป็นดอกดวง ด้วยในสมัยระยะแรก ๆ นั้น พระกรรมฐานยังเพิ่งปรากฏ อัฐบริขาร เช่น สบงจีวรก็ยังมิได้เคร่งครัดในเรื่องสีแก่นขนุน ปรากฏในประวัติภายหลังว่า แม้หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ และหลวงปู่ฝั้น อาจาโร วันหนึ่งเมื่อท่านทั้งสองกลับจากธุดงค์ มากราบท่านพระอาจารย์มั่น ก็ถูกท่านทักทันทีว่า “พระเจ้าชู้ ! ” ได้ความว่า ท่านทั้งสองใช้จีวรสีฉูดฉาด ดังที่มีขายทั่วไปในตลาดต่างจังหวัด ดังนั้นต่อมาภายหลัง ศิษย์สายท่านพระอาจารย์มั่นทุกองค์ จึงสังวรระวังเรื่องเครื่องอัฐบริขาร มิให้ถูกตำหนิจากครูบาอาจารย์เลย

หลวงปู่เพิ่งจะเข้าไปกราบท่าน ไม่ทราบเรื่องราวพวกนี้ ถลกบาตรนั้นก็ซื้อหาเอาจากตลาดต่างจังหวัด ซึ่งมักจะเป็นร้านซึ่งไม่พิถีพิถันระวังเรื่องสีสัน สักแต่ว่ามีผ้าอะไรก็เย็บ ๆ ขาย เหตุนั้นถลกบาตรพระที่วางขายโดยมาก จึงมีสีฉูดฉาดบาดตา และบางทีก็เป็นดอกดวง ไม่งามตาควรแก่สมณเพศ เมื่อหลวงปู่ใช้ของเช่นนั้น จึงถูกท่านดุและไล่ให้หนี ครั้นต่อมาท่านพระอาจารย์มั่นพิจารณาเห็นว่า พระใหม่ผู้นี้คงไม่ตั้งใจจะกระทำไม่ถูกต้อง และอนาคตต่อไปจะเป็นศิษย์สำคัญของท่านผู้หนึ่ง ท่านจึงให้ไปตามกลับมา



นั่นเป็นความคิดประการหนึ่ง

แต่มีหลายท่านที่เชื่อกันว่า เป็นอุบายลองใจของท่านพระอาจารย์มั่น..!!

ที่ท่านมักจะใช้ทดสอบจิตใจศิษย์ของท่านบางคน ผู้เขียนเคยได้ยินหลวงปู่...อีกองค์หนึ่งเล่าให้ฟังว่า ท่านมักจะถูกทดสอบเช่นนี้หลายครั้ง โดยท่านพระอาจารย์มั่นไล่ให้หนี “ไป... ไป๊....เจ้าผีบ้าออกไป...!”

เมื่อท่านเก็บบาตรเก็บจีวรมากราบลา ท่านพระอาจารย์มั่นก็ทำหน้าเฉยถาม “จะไปไหน... ไปทำไม... ใครบอกให้ไป !”

เป็นเช่นนี้หลายครั้งหลายครา

ได้ความว่า เป็นอุบายของท่านที่จะทำกิริยาดุ ขู่เข็ญคำราม ”ดู” จิตของศิษย์ว่าจะอ่อนราบ เคารพครูบาอาจารย์ไหม หรือเมื่อถูกดุ ถูกว่าก็จะ “โกรธ” แสดงความอาฆาต ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น ก็จะถูก “เคี่ยว” หรือ “กำราบ”  หรือ “ทรมาน” ให้จิตดวงนั้นอ่อนสิโรราบลง

http://www.dharma-gateway.com/mo ... lp-chob-hist-08.htm
16#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 19:27 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๙. โปรดโยมมารดา

ดังได้กล่าวแล้วว่า หลวงปู่จากบ้าน ออกไปถือศีลแปดเป็นผ้าขาวน้อยธุดงค์ไปกับท่านอาจารย์ตั้งแต่เมื่ออายุ ๑๔ ขวบ กลับมาบ้านชั่วคราวสั้น ๆ ก็ไปเป็นผ้าขาวอีก และได้ออกบวชเป็นสามเณร จนกระทั่งเป็นพระภิกษุ ตลอดช่วงเวลาสิบกว่าปีนี้แทบจะไม่ให้มารดาญาติพี่น้องได้ชื่นชมโดยใกล้ชิดเท่าไร เมื่อท่านยอมมาจำพรรษาที่วัดป่าหนองบัวบาน จังหวัดอุดรธานี เมืองเดียวกับ ตำบลเชียงพิน บ้านที่ญาติพี่น้องพำนักอยู่ โยมมารดาจึงดีใจด้วยได้มีโอกาสไปปรนนิบัติวัฏฐาก “พระ” ได้บ้าง

ระหว่างที่มารดามาถวายจังหัน หรือฟังเทศน์ที่วัดก็ดี หรือเมื่อ “พระ” ได้ไปเทศน์โปรดที่บ้านก็ดี หลวงปู่ก็ได้มีโอกาสตอบแทนพระคุณโยมมารดาผู้เป็นบุพพการีของท่านเป็นปกติ

พรหฺมาติ  มาตาปิตโร                ปุพฺพาจริยาติ  วุจฺจเร

อาหุเนยฺยา  จ ปุตฺตานํ               ปชาย  อนุกมฺปกา


มารดาบิดา ท่านว่าเป็นพรหม เป็นบูรพาจารย์

เป็นผู้ควรบูชาของบุตรและเป็นผู้อนุเคราะห์หมู่สัตว์

หลวงปู่ได้ให้ความอนุเคราะห์ท่านผู้เป็นพรหม เป็นครูอาจารย์คนแรก เป็นผู้ควรบูชาของท่านตามควรแก่สมณเพศวิสัย โดยช่วยเทศน์กล่อมเกลาจิตของโยมมารดา เพิ่มพูนศรัทธาบารมีในพระพุทธศาสนา แต่แรกโยมมารดาได้มารักษาศีลแปดอยู่ด้วยที่วัดก่อน สุดท้ายครั้นเมื่อศรัทธาปสาทะของท่านเพิ่มพูนมากขึ้น เห็นทางสว่างทางด้านศาสนา โยมมารดาก็ปลงใจสละเพศฆราวาส โกนผมบวชเป็นชี

หลวงปู่เล่าว่า ท่านมิได้พูดจาเป็นเชิงบังคับ ชักจูงให้โยมมารดาของท่านบวชชีแต่อย่างใดเลย โยมมารดามีศรัทธาขอบวชเอง ด้วยเห็นผลในการภาวนาประจักษ์แก่ใจของท่านแล้ว

โยมมารดามาจำพรรษาที่วัดป่าหนองบัวบานถึง ๒ พรรษา เป็นโอกาสอันดีที่หลวงปู่จะทำหน้าที่บุตรที่ดี ตอบแทนพระคุณบุพการี โดยบิณฑบาตมาได้ ก็แบ่งให้โยมมารดาก่อน มีเวลาเทศนา สอนในการภาวนา มารดาก็น้อมใจเชื่อ และกระทำตาม เกิดความอัศจรรย์ในจิต ทำให้มีศรัทธาเชื่อมั่นในธรรมยิ่งขึ้น

การภาวนาของโยมมารดาเป็นผล กระทั่งในเวลาต่อมาได้ประสบภาพนิมิต เป็นผลช่วยให้ชีวิตของหลวงปู่ผ่านพ้นอันตรายมาได้อย่างอัศจรรย์ยิ่ง ซึ่งจะได้กล่าวถึงในภายหลัง

โยมมารดาของท่านพบความสุขสงบในเพศพรหมจรรย์ รู้จักทางภาวนา กระทั่งบอกหลวงปู่ไม่ต้องเป็นห่วงท่าน ท่าน “รู้” และให้พระลูกชายธุดงค์เที่ยววิเวกไปได้ตามใจ

ท่านจากไปอย่างสงบระหว่างหลวงปู่ไปเที่ยววิเวกที่พม่า

โย มาตรํ ปิตรํ วา            มจฺโจ ธมฺเมน โปสติ

อิเธว นํ ปสํสนฺติ              เปจฺจ สคฺเค ปโมทติ


ผู้ใดเลี้ยงมารดาบิดาโดยธรรม บัณฑิตย่อมสรรเสริญ

ผู้นั้นในโลกนี้ เขาละไปแล้วย่อมบันเทิงในสวรรค์


http://www.dharma-gateway.com/mo ... lp-chob-hist-09.htm
17#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 19:50 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๑๐. พบคู่กัลยาณมิตรอีกองค์หนึ่ง

ในปี พ.ศ. ๒๔๗๓ อันเป็นพรรษาที่ ๖ ของท่านนั้น เดิมหลวงปู่คิดว่า ท่านจะจากวัดป่าหนองบัวบานที่จำพรรษามาถึง ๓ ปีติดต่อกันนี้ ไปจำพรรษากับท่านพระอาจารย์มั่น แต่ท่านพระอาจารย์มั่นก็ได้หนีจากหมู่คณะไปจังหวัดเชียงใหม่แล้ว แต่ในปลายปี ๒๔๗๒ ส่วนที่หลวงปู่จะกลับมาจำพรรษาที่วัดป่าหนองบัวบานดังเดิม ท่านก็คิดว่า หลังจากที่ได้จำพรรษามาถึง ๓ ปีติดต่อกันแล้ว ก็ควรจะหาที่สงัดวิเวกแห่งใหม่ต่อไป เพราะธรรมชาติของมนุษย์นั้น เมื่ออยู่ที่ใดนาน ๆ ก็มักจะมีความสนิทสนมคุ้นเคยต่อบุคคลในละแวกนั้น ต่อสถานที่บริเวณนั้น อย่างที่เรียกกันว่า “ติดตระกูล” “ติดถิ่น” “ติดที่อยู่”

พระธุดงค์จะต้องระมัดระวังมิให้เกิดอาการ “ติดตระกูล” “ติดถิ่น” “ติดที่อยู่” ขึ้นได้ เพราะจิตซึ่งปกติมักพอใจจะสยบต่อความคุ้นเคย สะดวก สบาย อยู่แล้ว อยู่ที่ใดนาน ๆ ก็คุ้นกับญาติโยม คุ้นกับสถานที่ จิตก็จะยอมลงต่อกิเลส ออมชอมกับกิเลส ไม่เป็นอันพยายามทำความพากความเพียร ชอบอาหาร เปรี้ยว หวาน มัน เค็ม อย่างไร ญาติโยมก็จะแสวงหามาถวาย ชอบเสนาสนะเช่นไร สะดวกสบายอย่างไร ญาติโยมก็จะจัดสร้างถวาย จิตที่เคยว่องไวปราดเปรียว ก็จะซุกตัวเงียบลง...เงียบลง จนขนาดที่เรียกกันว่า “ภาวนาไม่ขึ้น” “ภาวนาไม่ก้าวหน้า” หรือความจริงคำว่า “ไม่ก้าวหน้า” ก็คือ “ถอยหลัง” นั่นเอง

ถอยหลังไป ถอยหลังมา สุดท้ายก็ถึงกับต้องสึกหาลาเพศไปก็มาก....

ดังนั้น ท่านเล่ากันว่า นักภาวนาจะต้องเป็นผู้ไม่ ติดตระกูล ไม่ ติดญาติโยม ไม่ ติดถิ่น ไม่ ติดที่อยู่ หรือแม้แต่ ติดอากาศ ติดร้อน ติดหนาว ก็ไม่สมควรด้วยเช่นกัน ร้อนเกินไปหรือ... หนาวเกินไปหรือ... ต้องทดลองให้มันรู้แจ้งกันลงไป ให้จิตมันชนะกิเลสลงไป ให้แจ้งชัด ถ้าญาติโยมคุ้นเคย คลุกคลีมากไป ก็ต้องหนี...! ถ้าที่อยู่สะดวกสบายเกินไป มีความมักคุ้นเกินไป ก็ต้องหนีเช่นกัน

ไปสถานที่ใหม่ พบญาติโยมกลุ่มใหม่ จิตจะ “ตื่น” ระวังตัวอยู่เสมอ การบำเพ็ญเพียรภาวนาจึงจะก้าวหน้าไปด้วยดี

ตลอดเวลาที่จำพรรษาอยู่ที่หนองบัวบาน ๓ ปี หลวงปู่ก็คิดว่า ท่านได้ให้โอกาส ญาติ ตระกูลของท่านมาทำบุญ ฟังเทศน์ธรรมพอสมควรแล้ว และที่สำคัญการช่วยอนุเคราะห์โยมมารดานั้น ท่านก็ได้ประคับประคองโยมมารดา พาดำเนินมาในทางธรรมจนแทบจะกล่าวได้ว่า โยมมารดาสามารถเป็นที่พึ่งของตัวเองได้ตามควรแล้ว ความจำเป็นที่จะอยู่วัดป่าหนองบัวบานให้เนิ่นนานต่อไปสำหรับอนุเคราะห์โยมมารดาจึงไม่มีอีก

เมื่อเหตุผลทุกข้อลงตัวกัน ท่านก็จากมา จำพรรษาที่ ๖ ณ วัดป่าบ้านหนองวัวซอ

วัดนี้อยู่ในเขตจังหวัดอุดรธานี เช่นเดียวกับวัดป่าหนองบัวบาน และ ณ ที่วัดนี้เอง ท่านก็ได้จำพรรษากับกัลยาณมิตรอีกองค์หนึ่ง เหมือนกับเมื่อท่านอยู่วัดป่าหนองบัวบานเช่นกัน

กัลยาณมิตรองค์ใหม่ของท่านนี้ ได้อุปสมบทโดยมีท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล) เป็นอุปัชฌาย์เช่นเดียวกับหลวงปู่ขาว อนาลโย กัลยาณมิตรองค์ก่อนของท่าน และความจริงคู่กัลยาณมิตรทั้งสองของหลวงปู่ได้บวชพร้อมกัน เป็นคู่นาคซ้ายขวาของกันและกัน โดยหลวงปู่ขาว อนาลโย ได้บวชเป็นนาคซ้าย ภายหลังท่านผู้เป็นนาคขวา ๑๕ นาที

กัลยาณมิตรที่ท่านได้จำพรรษาด้วยกัน ณ วัดป่าบ้านหนองวัวซอ คือท่านผู้ซึ่งประชาชนรู้จักกราบไหว้กันในนาม หลวงปู่หลุย จันทสาโร แห่งวัดถ้ำผาบิ้ง นั่นเอง



หลวงปู่หลุยและหลวงปู่ชอบ ต่างก็มีกำเนิดเป็นชาวจังหวัดเลยด้วยกัน จึงคบกันด้วยความสนิทสนมคุ้นเคย และภายหลังเมื่อท่านต่างไล่เลียงวันเดือนปีเกิดกัน ก็ปรากฏว่า ต่างเกิดในเดือนเดียว ปีเดียวกัน คือในเดือนสาม ปีฉลู หรือในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๔๔ และแม้วันเกิดก็เกือบจะเป็นวันเดียวกัน ห่างกันเพียงวันเดียว คือ ท่านเกิดวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๔๔ ส่วนหลวงปู่หลุยเกิดวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๔๔ โดยหลวงปู่หลุยเกิดก่อนท่าน ๑ วันเท่านั้น
18#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 19:51 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
อย่างไรก็ดีโดยที่พระธุดงค์กรรมฐานนี้เคร่งครัดในพระธรรมวินัยทุกข้อ โดยเฉพาะเคารพกันในเรื่องพรรษา ทุกท่านจะสอนศิษย์ของท่านเสมอว่า ผู้บวชทีหลังจะต้องเคารพผู้บวชก่อน ผู้บวชคือ ผู้เกิดใหม่ในศาสนา มีคำที่เรียกพระภิกษุว่า ทวิชาติ หรือ ผู้เกิด ๒ ครั้ง เกิดครั้งแรก...ชาติแรก คือ เกิดเป็นมนุษย์ เกิดครั้งที่สอง...ชาติที่สอง คือ เกิดในพระพุทธศาสนา เป็นพุทธบุตร พุทธชิโนรส ผู้บวชก่อนก็คือ ผู้เกิดก่อน เป็น พี่ ผู้บวชทีหลัง คือ ผู้เกิดทีหลัง เป็น น้อง ผู้เป็นน้องก็ย่อมต้องเคารพ ผู้เป็นพี่ชาย เป็นธรรมเนียมนิยม เป็นอริยประเพณีของผู้เจริญ

ท่านเคร่งครัดแม้บวชก่อนกันเพียง ๕ - ๑๐ นาที ก็จะต้องเคารพกัน การเคารพกันมิใช่เพียงยิ้ม ๆ ให้กัน หรือยกมือไหว้ให้พอพ้น ๆ ไป...!

ถ้ามาพบกัน ท่านก็ลงกราบกันอย่างนอบน้อม ด้วยท่าเบญจางคประดิษฐ์ นั่งกระหย่ง คุกเข่า ศอก ๒ ข้าง มือ ๒ มือ และศีรษะ ทั้ง ๕ จุด จรดพื้น เสร็จการเคารพตามธรรมวินัยแล้ว ท่านจึงจะโอภาปราศรัยกัน

เรื่องนี้พวกเราได้สังเกตเห็นกิริยา “กราบกัน” ของท่านด้วยความศรัทธา หลายต่อหลายครั้งที่เราเคยรบเร้ากราบไหว้ขอให้ท่านพาเราไปกราบองค์อื่น ๆ และเมื่อท่านถาม ก็รับกับท่านตรง ๆ ว่า “ชอบดูท่านกราบกัน” ท่านหลายองค์ที่ได้ยินคำพูดประหลาด ๆ เปิ่น ๆ เชย ๆ ของชาวกรุงเทพฯ ก็อดขันไม่ได้

แต่ท่านคงไม่ทราบว่า พวกเราหมายความเช่นนั้นจริง ๆ เป็นความซาบซึ้งศรัทธาอย่างยิ่งที่ได้เห็นท่านอาจารย์แต่ละองค์... :ซึ่งเมื่อท่านอยู่ในสำนักของท่านต่างก็มีชื่อเสียง ได้รับความเคารพอย่างสูงจากพระเณรในสำนักและประชาชนทั่วไป แต่เมื่อไปพบกัน ท่านก็จะกราบกันตามประเพณีของผู้เกิดในทวิชาติ ....อย่างนอบน้อมถ่อมองค์

ไม่คำนึงเลยว่า องค์นี้มีชื่อเสียงเลื่องลือ เป็นที่รู้จักมากมายทั่วประเทศอีกองค์หนึ่ง ออกจากป่ามา ไม่ค่อยมีคนรู้จัก หากมีพรรษาน้อยกว่า องค์ที่มีชื่อเสียงเลื่องลือ ก็รีบกราบเคารพ “พี่ชาย” ของท่านทันที

เป็นจริยาวัตรที่งดงาม งามตาที่สุด งามตา...เป็นเบื้องต้นแก่ผู้ปฏิบัติ งามตา...เป็นท่ามกลางแก่ผู้พบเห็น และงามตาเป็นที่สุดแก่ผู้ยึดถือระเบียบปฏิบัติสืบทอดพระศาสนาต่อ ๆ กันมา

พวกเราชินตากับภาพอันงามตา เย็นใจเช่นนี้ตลอดมา ฉะนั้นจึงอดรู้สึกขัดเขินนัยน์ตาไม่ได้ เมื่อบางครั้งไปเห็นพระบางคณะ บางองค์ที่ไม่แสดงกิริยามารยาทสำรวมเคารพในอาวุโสพรรษากันตามควร วันที่รู้สึกขัดเขินนัยน์ตาที่สุด เห็นจะเป็นครั้งหนึ่ง ขณะผู้เขียนกำลังเฝ้าสมเด็จพระสังฆราช ซึ่งเพิ่งหายประชวร ทรงอยู่ในระยะพักฟื้น ได้มีพระสงฆ์คณะหนึ่งเข้ามาเยี่ยมพระอาการด้วย ขณะนั้นสมเด็จพระสังฆราชประทับอยู่บนพระเก้าอี้ มีพระสงฆ์และฆราวาสเฝ้าอยู่บนพรม แต่คณะแขกผู้มาเยี่ยมพระอาการยังยืนรีรออยู่ คงจะรอให้มีใครจัดหาเก้าอี้มาให้ท่านนั่งบ้าง... (ให้เท่ากับสมเด็จพระสังฆราช !) แต่รออยู่ ไม่มีเก้าอี้มา ท่านทุกองค์ก็เลยยืนไหว้สมเด็จพระสังฆราช

ได้ความว่า ท่านต่างเป็นพระที่มีสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะ...! ท่านคงไม่ทราบว่า ได้ทำให้เกิดความรู้สึกขึ้นในใจของพวกฆราวาสในที่นั้นอย่างไร และอย่างน้อยก็ได้มีความรู้สึกเกิดขึ้นเป็นเสียงจากปากของเด็กผู้เยาว์คนหนึ่ง เธอถามขึ้นด้วยเสียงไม่เบานักว่า

“เอ... เขามีวินัยห้ามพระเจ้าคุณกราบสมเด็จพระสังฆราชหรือคะ”

หลายคนเกือบจะหลุดปากถามออกไปเหมือนกัน “นั่นซี... วินัยพระห้ามพระราชาคณะนั่งบนพรม กราบสมเด็จพระสังฆราชด้วยหรือ สมเด็จพระสังฆราชท่านทรงเป็นราชาแห่งสงฆ์ ดำรงตำแหน่งสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ ทรงเป็นสกลมหาสังฆปรินายก และทรงมีพรรษาแก่กว่า...แก่กว่ามากด้วย !”




ผู้เขียนนึกถึงภาพ หลวงปู่ฝั้น อาจาโร เมื่อไปเยี่ยม หลวงปู่ขาว อนาลโย ซึ่งนั่งอยู่บนเก้าอี้ หลวงปู่ฝั้นก็ก้มลงกราบที่พื้นอย่างนอบน้อม ...ท่านพระอาจารย์จวน กุลเชษโฐ ผู้มีอายุแก่กว่า ท่านพระอาจารย์วัน อุตตโม ถึง ๒ ปี แต่เมื่อพรรษาของท่านอ่อนกว่าท่านพระอาจารย์วัน ท่านก็ก้มลงกราบท่านพระอาจารย์วันที่พื้นด้วยความเคารพนอบน้อมเช่นกัน...!

ยังไม่เคยเห็นท่านยืนไหว้กันสักครั้งเดียว...!
19#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 19:51 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ต้องขอโทษท่านผู้อ่านที่เขียนนอกเรื่องไปได้เป็นคุ้งเป็นแคว ตั้งใจจะกล่าวเพียงว่า แม้หลวงปู่หลุย จันทะสาโร ท่านจะมีอายุแก่กว่าหลวงปู่ชอบ แต่เมื่อพรรษาท่านอ่อนกว่า (ดูเหมือนจะเพียง ๓ เดือน) เวลาท่านพบหลวงปู่ชอบ ท่านก็กราบหลวงปู่ชอบด้วยเบญจางคประดิษฐ์อย่างนอบน้อมถ่อมองค์เสมอ

กราบตามพระธรรมวินัย แล้วจึงสนทนาปราศรัยกัน

เป็นกัลยาณมิตรต่อกัน ร่วมปฏิบัติธรรม ร่วมครูบาอาจารย์องค์เดียวกัน สนทนาธรรม และเปลี่ยนธรรมสากัจฉาต่อกัน

ตั้งแต่เมื่อเป็นพระพรรษาน้อย จนเป็นพระเถระผู้ใหญ่

ตั้งแต่เมื่อเป็นผู้แสงวงหาโมกษธรรม จนเป็นผู้หมดสงสัยในพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์...!

ได้รับความเคารพ เลื่อมใส ศรัทธาจากประชาชนทั่วประเทศคู่เคียงกัน

ชื่อ พระคุณเจ้า หลวงปู่หลุย หลวงปู่ชอบ เป็นคู่มิ่งขวัญ คู่ที่ควรอัญชลี คู่อัญมณีบนยอดมงกุฎแห่งจังหวัดเลย เป็นเสมือนคู่พระปฏิมาทองคำอันเปล่งประกายบนแท่นสักการะฉะนั้น ที่ควรได้รับการบูชาคารวะอย่างสูงสุด เหมือนกับเรารู้สึกต่อกัลยาณมิตรของท่าน อาทิ พระคุณเจ้า หลวงปู่ขาว อนาลโย หรือพระคุณเจ้า หลวงปู่แหวน สุจิณโณ (มีชาติกำเนิดในจังหวัดเลยเช่นเดียวกัน)

ที่วัดป่าหนองวัวซอนั้น มีสภาพเป็นป่าดงพงทึบมากกว่าที่วัดป่าหนองบัวบานมาก ด้วยที่วัดปาหนองบัวบานนั้นได้พ้นจากสภาวะป่าชัฏมาเป็นป่าช้านานแล้ว แม้ว่าจะเป็นวัดร้าง แต่ร่องรอยของความเป็น “เมือง” ก็ยังมีอยู่ ไม่ใช่มีสภาพเป็น “ป่า” จริง ๆ อย่างที่หนองวัวซอ...

ท่านอธิบายว่า “ป่า” ที่เป็น “ป่า” จริง ๆ หมายถึงป่าที่บริบูรณ์ด้วยต้นไม้ใหญ่ สูงเสียดฟ้า มืดครึ้ม ช่วงใดที่ต้นไม้ยังไม่ “ใหญ่ขนาด” (สำนวนของท่าน หมายถึง ใหญ่จริง ๆ) แต่ก็มีเถาวัลย์รกเลี้ยวปกคลุมหนาแน่น หนามไผ่ หนามหวายเต็มไปหมด ที่สำคัญคือ หนองวัวซออุดมด้วยสัตว์ป่านานาชนิด ทั้งสัตว์เล็กอย่าง กระต่าย...ไก่ป่า นก ลิง ค่าง บ่าง ชะนี ทั้งสัตว์ใหญ่อย่างเสือ... กระทิง หมูป่า เม่น หมี โดยเฉพาะเจ้าป่าใหญ่ อย่าช้างป่า จะผ่านมาในเขตวัดมิได้ขาด สำหรับเสือนั้นมีมากมาย ได้ยินเสียงในร้องครางแทบทุกคืน

ทั้งมนุษย์และสัตว์ต่างก็อาศัยผืนแผ่นดินในโลกเป็นที่อยู่ที่อาศัยเช่นเดียวกัน ไม่ได้มีการปักป้ายกั้นเขตแดนไปว่า นั่นเป็นเขตของมนุษย์ นี้คือ เขตของสัตว์ ถ้าถิ่นใดแดนใดมีสัตว์พำนักพักพิงอยู่มากกว่า ก็เรียกกันว่า “ป่า” แต่ถ้าต่อมา มนุษย์เข้าไปในถิ่นนั้นมากขึ้น พวกของมนุษย์มากกว่า ถิ่นนั้นแดนนั้นก็กลายเป็น “เมือง” ไป
20#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 19:52 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ละแวกถิ่นที่พระธุดงคกรรมฐานไปตั้งเสนาสนะป่า สำหรับเจริญสมณธรรมระหว่างพรรษากาลฝนตกหนักนั้น ยังไม่อาจขีดเส้นปักเขตแดนลงไปว่า เป็น “ป่า” หรือเป็น “เมือง” คงดูก้ำกึ่งกันอยู่ แต่นั่นแหละ...แม้จะมีมนุษย์อยู่บ้าง แต่ก็เป็นส่วนน้อย จึงดูคล้ายกับมนุษย์เป็นผู้ล่วงล้ำก้ำเกินเข้าไปอาศัยอยู่ในเขต “ป่า” ของเขา อย่างไรก็ดี พวกสิงสาราสัตว์เหล่านั้นคงจะรู้สึกถึงรังสีแห่งความสงบเย็นที่บรรดามนุษย์ผู้มีศีรษะโล้นครองผ้าสีแก่นขนุนที่มาพำนักอยู่ตามกระต๊อบแคร่ไม้ไผ่ ท่านแผ่มาให้ด้วยความเมตตา มันจึงไม่แสดงปฏิกิริยาต่อต้านใด ๆ ให้ปรากฏ สัตว์ก็อยู่ส่วนสัตว์ พระก็อยู่ส่วนพระ วันดีคืนดี ช้างป่าบ้าง เสือบ้าง หมีบ้าง ก็จะเดินลอยชายผ่านเข้ามาในเขตวัด

หลวงปู่เล่าว่า

หนองวัวซอสมัยนั้นมีช้างป่ามากมายเหลือเกิน เสือก็มากเช่นกัน ใกล้วัดมีต้นมะขามป้อมป่ามาก พระเณรได้อาศัยฉันเป็นยาปรมัตถ์ บางทีฉันมากไป กลางคืนปวดท้องจะเข้าส้วม พบเสือกระโดดข้ามศีรษะไปก็มี

แต่มันคงจะให้ความไมตรีเฉพาะแต่ที่บริเวณวัดเท่านั้น สำหรับชาวบ้านละแวกใกล้วัด ซึ่งถือว่าอยู่ในเขตชายแดนประชิดติด “ป่า” ของเขา มันก็ยังแสดงความเป็นเจ้าป่าหรือเจ้าดงพงไพรให้ปรากฏบ่อย ๆ เช่นเข้ามาคาบเอาวัว เอาสุนัขไปเป็นอาหาร แถมยังมีเจ้าเสืออันธพาลตัวหนึ่งด้วย....

ทำไมเรียก อันธพาลเจ้าคะ พวกเรารีบซัก....

ไม่เรียกอันธพาลได้อย่างไร คราวนี้หลวงปู่หลุยช่วยอธิบาย ท่านเล่ายิ้ม ๆ ธรรมดานิสัยของสัตว์โลกที่ไม่รู้จักบาปบุญคุณโทษ สัตว์ใหญ่ย่อมกินสัตว์เล็ก ปลาใหญ่กินปลาเล็ก ธรรมชาติเสือย่อมพอใจจะจับสัตว์ที่อ่อนแอกว่ากินเป็นอาหาร เช่น วัว เก้ง กวาง หรือสุนัข แต่มันก็มักจะจับเหยื่อก็ต่อเมื่อท้องร้องเตือนด้วยความหิว เจ้าเสือตัวนี้เข้าในเขตหมู่บ้าน กัดวัวตายไปถึง ๖ ตัว แต่คาบเอาไปเป็นอาหารแต่เพียงตัวเดียว ทิ้งซากวัวอีก ๕ ตัวที่เหลือไว้ให้ชาวบ้านเจ็บใจเล่น... ถ้าจับเอาไปใส่ปากใส่ท้องเป็นอาหารให้คลายหิวก็ยังพอทำเนา แต่นี่ไม่ใช่เช่นนั้น... น่าสงสารชีวิตวัวอีก ๕ ตัว ที่สิ้นไปโดยเปล่าประโยชน์ คงจะเพียงแสดงอำนาจให้ประจักษ์เท่านั้น ! ถ้าไม่เรียกเจ้าอันธพาลแล้วจะเรียกอะไร...
ท่านถาม

วัดป่าหนองวัวซอนี้ต่อมามีชื่อว่า วัดบุญญานุสรณ์

ท่านเล่าว่า ความจริงก่อนหน้าที่จะมาจำพรรษากับหลวงปู่หลุย ที่วัดหนองวัวซอนี้ ท่านได้เคยพบหลวงปู่หลุยมาก่อนแล้ว ระหว่างธุดงค์อยู่ตามป่าเขาแถวจังหวัดเลยอันเป็นภูมิลำเนาบ้านเกิดของท่านทั้งสองนั่นเอง แต่ยังเป็นพระน้อยเพิ่งเริ่มบวช เคยลงเล่นน้ำสนุกสนานแบบพระเด็ก ๆ ด้วยกัน

http://www.dharma-gateway.com/mo ... lp-chob-hist-10.htm
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้