ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

~ หลวงปู่หล้า เขมปตฺโต วัดบรรพตคีรี(วัดภูจ้อก้อ) ~

[คัดลอกลิงก์]
61#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 18:14 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
พบหมูป่าลูกอ่อน

หันมาปรารภเรื่องเขาบอกว่า มีเสือ ๆ งู ๆ หรืออะไรต่ออะไรอีก อยู่ไปก็ไม่เจอไม่เห็น เขาเล่าให้ฟังแล้วก็ไม่หนักใจอะไร เห็นหมูป่าตัวเดียวเท่านั้น เวลาเช้าเดินไปบิณฑบาตตามหลังเขา ระหว่างที่พบนั้นหนทางคดเหมือนแขนศอกงอ เดินภาวนาไปทุกก้าว ขาก็ไปเจอหมูยืนผินหน้าตรงห่างกัน ๒ เมตร หมูนั้นสูงประมาณ ๑ เมตร พอขาซ้ายก้าวเหยียบพื้น ขาขวายังไม่ทันยกขึ้น ก็เห็นหมูยืนผินหน้า ทำตาพริบ ๆ อยู่ ทั้งหมูก็ไม่สะดุ้ง คนก็ไม่สะดุ้งต่างก็ยืนดูกันอยู่ประมาณ ๕ วินาที

ได้บันดาลพิจารณารวดเร็วว่าเดี๋ยวมันจะไปดอก เพราะมันกำลังพะวง พอนึกอย่างนี้จบลง มันก็วกขึ้น แล้วก็วิ่งเบา ๆ ไปทางขวามือใกล้ ๆ ลูกเล็ก ๆ ของมัน ๓-๔ ตัวก็วิ่งตามแม่มันไป แต่ก่อนมิได้เห็นลูกมัน เห็นแต่แม่มัน และนึกในใจขึ้นได้ว่า ผู้ภาวนามีสติอยู่กับกายกับใจติดต่ออยู่ พร้อมกับขาก้าวเดินนี้ เมื่อไปเจอสิ่งอันน่าสะดุ้งที่ใกล้ชิดก็ไม่สะดุ้ง เพราะสติสัมปชัญญะอยู่กับกายใจโดยเฉพาะ มิได้ส่งออกนอก สมาธิภาวนาแบบนี้สมดุลด้วยสติสัมปชัญญะและปัญญา (ไม่ใช่หัวตอ)

ฌานัง แปลว่า เพ่งอยู่

สมาธิแปลว่า ตั้งมั่นในการเพ่งอยู่

สติ แปลว่า ระลึกได้ในการเพ่งอยู่

สัมปชัญญะ แปลว่า รู้สึกตัวในการเพ่งอยู่

ปัญญา แปลว่า รอบรู้ในการเพ่งอยู่ สมดุลเป็นขณะเดียวกันไม่ใช่คนละขณะดอก ผู้ที่ชอบตื่นสะดุ้งผวา ขณะนั้นสติสัมปชัญญะไม่อยู่กับตัว เพราะส่งออกนอกมาก สติสัมปชัญญะหวนเข้ามาหาตนภายในช้า ไม่ทันกับเวลาสะดุ้งผวา มันเอาไปกินก่อน อย่างหมัดหนักได้ใส่ยาทายาหม่อง

ยาหม่องคืออะไร คือกำหนดลมหายใจให้ดี หรือสมถะใด ๆ ก็ได้ หรือวิปัสสนาใด ๆ ก็ได้ แต่ชาวโลกชอบพูดว่าโรคประสาทและโรคหัวใจ โรคประสาทและโรคหัวใจมีในขันธวิบากของพระอรหันต์หรือไม่ หรือหากว่าขันธวิบากเป็นฝ่ายสังขารขันธ์ขาดตัวอยู่แล้ว ก็ต้องอาจเป็นได้ และอยากทราบว่าการสะดุ้งเป็นสังขารล้วน ๆ หรือว่ามี โมหสัมปยุต

โมหะนั้นคือตัณหาเราดี ๆ นี่เอง ถูกหรือไม่ ผู้พ้นจากตัณหาแล้วเป็นผู้สะดุ้งหรือไม่ ธชัคคสูตรที่กล่าวเรื่องพระอรหันต์ว่า อภีรุ อัจฉัมภี อนุตตราสี อปลายีติ หาย  หายสะดุ้งหายขนพองสยองเกล้านั้นจริงหรือไม่ ถ้าหากว่าเป็นคำจริงแล้ว ผู้ที่เขามิได้เป็นพระอรหันต์ เขาก็มีเครื่องทดสอบพระอรหันต์ได้ ผู้ที่เขาไม่รู้จักทองแท้ แต่เขาก็มีเครื่องทดสอบทอง เขาก็รู้ทองในเครื่องทดสอบของเขา

พูดเรื่องอื่นต่อไปเถิด พักอยู่นั้น วันหนึ่งประมาณเที่ยงคืน ลมหายใจเข้าออกละเอียดเข้า รู้ชัดขึ้นว่า

ผู้ที่ท่านพ้นไปแล้วก็พ้นไป ไม่มีข้างหน้าข้างหลัง เหมือนลมออกเข้านี้หนอ

ผู้ตะเกียกตะกายอยากจะพ้นไป ก็ไม่มีข้างหน้าข้างหลังเหมือนลมออกเข้านี้หนอ

ผู้อยู่พอแล้ววันแล้วคืนไป ไม่มีข้างหน้าข้างหลัง เหมือนลมออกเข้านี้หนอ

ผู้ถือว่าไม่มีบุญไม่มีบาป ก็ไม่มีข้างหน้าข้างหลัง เหมือนลมออกเข้านี้หนอ

ขณะที่พิจารณาอยู่นั้น รู้พร้อมกันกับลมออกเข้าอยู่ ไม่มีอันใดก่อนไม่มีอันใดหลัง แล้วปีติเกิดขึ้นอย่างโลดโผนมาก ร้องขึ้นว่า

”จริงเผงทีเดียว ความเห็นชอบตอนนี้”

ขู่ตนว่า “มันจะเป็นบ้านะ”
62#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 18:14 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ตอบตนว่า “ถ้ารู้ตนจะเป็นบ้า ก็อย่าเป็นบ้าซินะ”

แต่ก็ไม่สำคัญว่าประเสริฐอันใดในขณะนั้น เป็นเพียงปีติที่ประกอบด้วยธรรมอันเห็นชอบเฉย ๆ กายใจเบาโปร่งอยู่ ปรากฏว่าจะชนภูเขาให้ทะลุได้ แต่มิได้หลงชน ถ้าชนก็คอหักตาย หรือหัวแตกตาย

ปีติความอิ่มกายอิ่มใจนี้ เป็นไปต่าง ๆ นานา แต่จะอย่างไรก็ตาม ก็เกิดเป็น ดับเป็น ไม่พ้นอนิจจาได้ดอก ท่านผู้ใดภาวนาห่างเหินจากไตรลักษณ์แล้ว มักจะชวนให้หลงไม่ใช่น้อย เพราะ การทะนงสำคัญตัว เป็นกิเลสที่ถอนได้ยาก เพราะนอนเนื่องอยู่ในขันธสันดานอันละเอียดเป็นตะกอนอันลึกละเอียด เมื่อน้ำแห้งงวดลงจึงสามารถจะเห็นตะกอนได้มาก น้ำแห้งโดยสุภาพไม่ใช่แห้งแบบเขย่าขวดแล้วเท

เช้าวันหนึ่ง ลงไปบิณฑบาต จึงเล่ากับญาติโยมว่า

“พรุ่งนี้ถ้าไม่มีสิ่งขัดข้อง อาตมาจะกลับคืนไปหาหลวงปู่มั่น เพราะคิดถึงองค์ท่านมาก จะลงมาบิณฑบาตฉันที่วัดร้างที่บ้านพวกท่านนี้”

เขาว่า “ทำไมไปง่ายเหลือเกิน”

“เออ ก็มาอยู่นี้ เดือนหนึ่งแล้ว นานไปก็เวลาจวนแจ แล้วจะได้รีบไปช่วยงาน เอาฟืนและอะไร ๆ ก๊อก ๆ แก๊ก ๆ เพราะปีหนึ่งต้องเอาฟืนหลายครั้ง”

พอฉันเสร็จแล้วก็กลับขึ้นภู ดูที่อยู่ที่พักจะได้วิโยคพลัดพรากไป รู้สึกว้าเหว่ในสถานที่ เพราะสถานที่นั้นอารมณ์บางคราวเกิดปีติสังเวชขึ้นในพุทธ ธรรม สงฆ์ ได้ทำให้ตาเปียกหลายครั้ง ดูดดื่มเสมอกันกับถ้ำพระเวส

ครั้นถึงเวลาเช้าก็ลงไป เพราะบริขารไม่มากและไม่ได้ส่งของอะไรเขา เสื่อ หมอนก็ใช้ผ้าอาบน้ำและห่อผ้าสังฆาฏิ ครุก็ไม่ได้ยืมเขา กา ก็คือ ครุ ครุ ก็คือกาน้ำ

พอไปถึงวัดร้างเขา ก็เอากลดและมุ้งและกาน้ำไว้วัดร้าง เข้าไปบิณฑบาต กลับมาฉัน เขาตามมาส่งอาหารในวัดร้างประมาณ ๕-๖ คน ฉันเสร็จให้ศีลให้พรเขา จัดแจงแต่งของใส่หน้าเขา เขาก็สงวนดู อธิบายให้เขาฟังว่า

“นี้ใบสุทธิ นี้เชือกตากผ้า นี้มีดโกน นี้หินลับคม นี้ของกรองน้ำ นี้หนังสือปาฏิโมกข์ นี้มุ้ง นี้กลด นี้มีดตัดเล็บ นี้มีดเหลาไม้สีฟัน แล้วก็หมดเท่านี้”

ทำไมจึงอธิบายให้เขาฟัง เพราะเหตุว่า เขาจ้องดู เพราะเขาจะสงสัยว่า หาเอาพระเล็กพระน้อยในถ้ำ และทรัพย์ในดินสินในน้ำ เกรงจะเสียวงศ์ตระกูลของครูบาอาจารย์ ให้เขาหายสงสัยเสีย ถ้าเขากล่าวตู่เรื่องไม่เป็นจริง เขาจะเป็นบาป แล้วลาเขา

เขาไปส่งประมาณ ๗-๘ เส้นก็ให้เขากลับ เพราะตั้งใจจะไปพักวัดป่าสุทธาวาส ก่อนเพื่อซักผ้า สมัยนั้นมหาไพบูลย์อยู่(ที่)นั้นองค์เดียว พอจะเข้าวัดก็ห่มผ้าเฉวียงบ่า รองเท้านั้นขาดแต่นานไม่ได้ถอดยาก วางบริขารไว้ศาลา แล้วขึ้นไปกราบท่าน ท่านถามไถ่ได้ความ แล้วกล่าวว่า

“เออ ดีนะ เฝ้าวัดให้ผมบ้าง ผมจะไปหล่อพระบ้านค้อ ผมมาแล้ว จึงไปเที่ยวอีก หรือไม่อยากไป ก็อยู่ด้วยกัน”

ตอบท่านว่า “ไม่ได้อยู่ดอก ท่านอาจารย์มหาเอ๋ย เพราะส่วนมาก จะขอพักด้วยเพียง ๓ คืนเพื่อขอซักผ้า แล้วจะได้รีบไปหาพระอาจารย์ใหญ่มั่น เพื่ออยู่จำพรรษาต่อไปอีก ถ้ากระผมเฝ้าวัดอยู่นี้ ถ้าอาจารย์มหา นานกลับ ผมก็แย่ เพราะการไปหล่อพระ จะกี่วันก็บอกไม่ถูก เพราะมีผู้เฝ้าวัดแล้ว ท่านอาจารย์มหาก็เบาใจ บางทีก็มีจดหมายถึงกระผมว่าติดอันนั้นติดอันนี้ตะพึดตะพืออยู่ กระผมก็หมดหนทาง ขอรับ”

ว่าแล้วท่านก็หัวเราะว่า “เออ ปัญญาดีมาก ซักผ้าแล้วก็ไปซะ”
63#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 18:15 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
อุบายทรมานสัตว์โลก

ในเวลาพักอยู่วัดป่าสุทธาวาสนั้น ซักผ้าเสร็จในวันที่สอง พักอยู่ศาลามีห้องกั้นห้องหนึ่ง ตอนเช้าฉันเสร็จ วันหนึ่งได้ไปกราบพระพุทธรูปปางพระปาลิไลยก์ ที่ท่านทำเป็นรูปคอนกรีต มีรูปช้างถวายฝักบัว มีรูปลิงถวายรวงผึ้ง แล้วนั่งพิจารณาตามกระแสอตีตารมณ์ ว่าช้างนั้นเป็นสัตว์เดรัจฉาน ยังมีข้อวัตรปฏิบัติพระองค์ ถวายฝักบัว หมอบลงเรียบร้อย คุดคู้ ยกงวงนอบน้อมอ่อนโยน ไม่ได้แข็งกระด้าง และก็จะได้เป็นพระปัจเจกในอนาคตด้วย ส่วนลิงก็ถวายรวงผึ้งสองมือโดยเคารพ พอถวายแล้วพระองค์ทรงฉัน ลิงดีใจ กระโดดขึ้นต้นไม้ เต้นไปมา พลัดตกตายคาที่ ได้ไปเกิดเป็นเทวบุตร

เห็นไหม พระองค์ก็ดี หนีจากพระเมืองโกสัมพี ที่บอกอยาก สอนยาก แตกกันเป็นสองฝ่าย ทางละ ๕๐๐ สอนให้สามัคคีกันก็ไม่ฟังเลย พระองค์มิได้วินิจฉัยให้ทางนั้นทางนี้แพ้และชนะ เพราะเห็นว่าเป็นอาบัติเล็กน้อย และแต่ละฝ่ายก็มีบริวารทางละ ๕๐๐ เท่ากัน จึงไม่ทรงตัดสิน ถ้าตัดสินให้ทางใดทางหนึ่งแพ้และชนะแล้ว อธิกรณ์จะกำเริบ

เห็นอยู่ทางเดียวว่า ถ้าเราหนีจากพวกนี้ไปด้วยฝีเท้า เข้าป่ารักขิตวัน จำพรรษาอยู่ผู้เดียว ญาติโยมเขาจะดูถูกพระพวกนี้เอง ว่าเป็นด้วยพระพวกหัวดื้อ นี้พระองค์จึงได้หนีไป แล้วเขาจะไม่ให้บิณฑบาต แล้วพระพวกนี้จะเห็นโทษเอง ต่างฝ่ายต่างก็จะมายอมกันเอง ไกล่เกลี่ยกันเอง ระงับกันด้วยติณวัตถารกวินัยโดยแน่แท้

เมื่อทรงอนาคตังสญาณ ญาณในส่วนอนาคต อย่างนี้แล้ว จึงได้หนีไป มิได้หนีไปด้วยความหมดประตูจะระงับอธิกรณ์เลย

โอ้ พระองค์ อุบายทรมานสัตว์โลกนี้มีมากมายสมภูมิแท้ ๆ อุบายแบบบรรจง อุบายแบบขี่ข่ม อุบายแบบวางเฉย อุบายแบบยกย่อง อุบายต่อล้อต่อเถียง อุบายแสดงยมก อุบายดักใจทายใจ อุบายไล่หนี อุบายปลอบโยน อุบายหนีด้วยฝีเท้าพระองค์เอง คือเรื่องปาลิไลยก์ ที่เรานั่งพิจารณาอยู่เดี๋ยวนี้

เมื่อนั่งพิจารณาอยู่ต่อหน้าพระปฏิมากรอย่างนี้ น้ำตาข้าพเจ้าก็ไหลอยู่ไม่ขาดสาย อยู่ผู้เดียว เป็นเวลานานประมาณ ๑๕ นาที แต่ระวังเกรงท่านอาจารย์มหาไพบูลย์จะเห็น นี้มันเป็นอย่างนี้ นิสัยของข้าพเจ้า ออกปฏิบัติทีแรกเป็นบ้าอย่างนี้ บ้าอย่างนี้ยาปรมัตถ์ทางพระพุทธศาสนาคงรักษาได้ไม่ยากเท่าไรนักกระมัง คงไม่เหมือนบ้าประสาท
64#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 18:15 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
เมื่อหลวงปู่รับกิจนิมนต์

ครั้นพักอยู่วัดป่าสุทธาวาส ๓ คืนแล้ว ฉันเช้าเสร็จก็กราบลาไป ลัดผ่านสนามบินไปวัดป่าธาตุนาเวง แต่ไม่พัก ข้ามบ้านนาหัวบ่อ แล้วแวะทางซ้ายข้ามบ้านพอก พักนอนบ้านคำข่า พักวัดป่าร้างที่ท่านพระอาจารย์ดีสร้างไว้ พักหนึ่งคืน ตื่นเช้าได้เวลา เข้าไปบิณฑบาตบ้านคำข่าพอไปได้ ๒ เรือน เขามาแย่งบาตรไปที่เรือน เขาทำบุญบ้านเขา

“ขออภัยที่มาหิ้วเอากลางทาง เพราะไม่รู้จักว่าพระคุณเจ้ามา เห็นจะมาค่ำนะขอรับ”

“เออ อาตมามาค่ำจริง พบเด็กคนหนึ่ง เขาชี้ที่พักวัดร้างให้ อาตมาไม่ได้ดื่มน้ำ ไม่ได้ล้างหน้า ไม่ได้สรงน้ำด้วย ถ้าจะให้อาตมาไปจริง ๆ ก็เอาน้ำมาที่ชายป่านี้ ให้อาตมาล้างขาล้างหน้าบ้าง”

เขาเอาน้ำมาโดยด่วน เขาบอกว่า “น้ำสะอาดไม่มีตัวสัตว์ดอก”

บ้านเขาอยู่กลางป่าละเมาะ กำบังที่ไหนก็ได้ ล้างเช็ดแล้วก็ไปเรือนเขา แต่เขาก็ล้างเท้าให้อยู่ มีพระอยู่เรือนทำบุญเขาประมาณ๘ องค์ ไม่ได้สวดพาหุง เขาเอาบาตรตั้งไว้แล้ว ใส่บาตรเสร็จ รับศีลห้าแล้วถวายเป็นสังฆัสสะ ข้าพเจ้าขอโอกาสพระท่านอุปโลกน์

ท่านบอกว่า “เคยข้ามถ้ำขามลูกนั้นไปกราบหลวงปู่มั่นอยู่บ่อย ๆ ทั้งโยมด้วย ทั้งพระด้วย”

พอเสร็จการฉันแล้วเขาเอาผ้ามาถวายไตรหนึ่งและเทียนผึ้ง ผ้าในกองบุญนั้นมีอยู่ประมาณ ๕ ไตร มูลค่าประมาณ ๓๐๐ บาท สมัยเงินแพง

ข้าพเจ้ารับกับเขาเป็นพิธีแล้วกล่าวว่า “อาตมารับโดยเคารพแล้ว จะพลิกใจถวายพระเณรเราต่อโดยเคารพเดี๋ยวนี้ เพราะสบงจีวรก็ตัดเย็บย้อมไปจากหลวงปู่มั่น ปีนี้มิได้พอขาดเขินดอก อาตมาเดินทางมาพบเหตุก็ว่าได้”

เขาตอบว่า “เป็นบุญของพวกกระผมบันดาลเอง พวกกระผมมิได้วิจารณ์พระคุณเจ้าในทางแง่ร้ายเลยครับ จะอย่างไรก็สนองให้พวกกระผมบ้าง”

“อาตมาก็ไม่ได้อวดมักน้อยเลย และก็มิได้อวดร่ำรวยเลย พระเณรของเรานี้ก็มีมาก เอาไว้วัดเรานี้แหละ ถ้าอาตมาฝืนเอาไป หลวงปู่มั่นและครูบาจารย์ในวัดป่าบ้านหนองผือ ก็จะวิจารณ์อาตมาอีก คล้ายกับว่า ไปเที่ยววิเวกหารายได้ปัจจัยสี่ และก็จะกลับวัดเดิมอยู่แล้วซ้ำ”

“ถ้าอย่างนั้น พวกกระผมจะฝากมูลค่าไปทีหลัง”

“เออ ก็ยิ่งไปใหญ่อีกละ หนีเสือก็ไปพบราชสีห์”

“ถ้าอย่างนั้นก็เอาผึ้งก้อนนี้และเทียนเล่มบาทคู่นี้ซะ”

“เออ จะเอาแต่เทียนเล่มบาทคู่นี้แหละ จะเอาไปทำวัตรหลวงปู่ ให้พวกท่านได้บุญด้วย”

ก็เลยเหมาะกันในเรื่องนี้พอดีพองาม
65#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 18:15 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
แล้วก็ลาจากกัน เขาบอกว่า จากนี้ไปหาหลวงปู่มั่นก็ภายในเที่ยงวันก็ถึงดอก เขาให้คนไปส่งคนหนึ่ง ออกจากบ้านเขาตรงทิศตะวันตก ล่องชายเขาเป็นป่าบ้าง ป่าไม้ไร่เลยป่าไป เขาไปส่งประมาณ ๖ เส้นพอจะไม่หลงแล้ว ก็บอกเขากลับคืน

เขาบอกว่า “อย่าหลงปลีกเส้นนี้เลยขอรับ” แล้วเขาก็กลับ

ตั้งหน้าเดินภาวนา พอไปอีกประมาณ ๑๕ นาที มีหนองน้ำใหญ่อยู่ข้างซ้ายมือ ไกลจากทางประมาณ ๕ วา ควายนอนน้ำเต็มอยู่ประมาณสิบตัว มีแต่ตัวอ้วน ๆ ล่ำ ๆ ทั้งนั้น พอเห็น มันก็ลุกพรึบ ขึ้นผินหน้าสู้ แกว่งเขาใส่

ทั้งเดินทั้งพูดกับควายว่า “กูก็ไปตามกู สูก็อยู่ตามสู อย่าได้มีเวรมีภัยแก่กัน”

แล้วก็ผ่านพ้นไป ไม่มีอันตรายใด ๆ แล้วเดินทางไปอีกประมาณ ๑๕ นาทีก็เข้าป่าไผ่ อนิจจาทุกขา บันดาลหลงทาง ไม่รู้ว่าเส้นใดต่อเส้นใด สับสนกัน หลงไปหลงมา วนเวียนอยู่ในป่าไผ่ หลงอยู่นั้นประมาณ ๑๕ นาทีอีก และก็เป็นฤดูร้อนแล้ว เหงื่อแตกโชกโชน ป่าไผ่นั้นไม่มีลมโกรกเลย ร้อนอบอ้าว ได้ยินเขาฟันขวานเปิง ๆ อยู่ไกลประมาณ ๘ เส้น รีบตรงไปหาเขา เกรงเขาจะเงียบก่อน แต่ไปยังไม่ถึงเขา เขาหยุดฟันก่อน แล้วก็ยืนดักฟัง ได้ยินเสียงพูดกัน รีบเข้าไปอีก จึงเห็นตัวเขา ผัวกับเมีย มีลูกผู้ชายคนหนึ่งประมาณ ๖-๗ ปี

พอเขาเห็น เขาก็ถามเลย “มาจากไหนขอรับ”

“มาจากบ้านคำข่า”

“เออ พวกกระผมก็อยู่บ้านคำข่านั้นเอง มาล้อมรั้วไร่ ท่านจะไปไหน”

“จะไปหาหลวงปู่มั่น บ้านหนองผือ ออกไปเที่ยววิเวกจากองค์ท่านนั้นเองแต่เดือน ๑๒ แต่ออกไปทางบ้านพระคำภู เดี๋ยวนี้หลงทางแล้ว ขอให้โยมช่วยบอกจะเป็นกุศลมิใช่น้อยเลย เพราะโชกโชนวนเวียนอยู่ในป่าไผ่นี้นานแล้ว”

ว่าแล้วโยมก็สั่งภรรยาว่า “จงอยู่กับลูกนี้สักประเดี๋ยว เราจะไปส่งพระ”

แล้วเขาจะสะพายเอาบาตร เลยพูดกับเขาว่า “บาตรเบา ๆ ดอกไม่หนัก จงถือเอามีดเดินออกก่อนอาตมา เล็ดลอดไปตรงไปใส่ทางก็พอเหมาะแล้ว เพราะโยมทำงานฟันขวานเปิง ๆ อยู่ก็คงเหนื่อยมากแล้ว”

เขาไปส่งประมาณ ๑๐ เส้นก็ถึงหลังเขา ก็พบหนทางสว่างใจมาก พูดกับเขาว่า

“โยมเอ๋ยอาตมารู้แล้ว สว่างจ้าในสัญญาความจำเพราะหมู่พระอาจารย์มหาได้พามาเอาตราด (ไม้กวาด) ทีนี้ อาตมาได้นั่งมัดเอาตราดอยู่ที่ก้อนหินก้อนนี้”

โยมยกมือใส่หัวแล้วกลับไป ให้พรโยมย่อ ๆ พอเหมาะเวลา

http://www.dharma-gateway.com/mo ... /lp-lah-hist-05.htm
66#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 18:16 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ท่านพระอาจารย์มั่นถาม ภาวนาเป็นไง


กุฏิพระอาจารย์มั่น วัดป่าหนองผือ

ตั้งใจเดินตรงตามหางมาถึงวัดหนองผือ เอาบาตรไปไว้ศาลา พักอยู่สักครู่ เวลานั้นตะวันประมาณบ่ายโมงสามสิบนาที สายตาจับอยู่ที่กุฏิหลวงปู่ ไม่ช้าก็เห็นท่านออกมาที่ระเบียงขององค์ท่าน จึงได้ห่มผ้าเฉวียงบ่า ถือฝาบาตรใส่เทียนที่เอามาจากบ้านคำข่าและใส่ไม้สีฟันค่อยเดินไปหา องค์ท่านแลเห็นใกล้บันได องค์ท่านปรารภเย็น ๆ เบา ๆ ว่า

“ท่านหล้านี้มาจากไหนหนอ เดินย่อง ๆ มาคนเดียว นิสัยก็แปลกหมู่ ชอบไปคนเดียว มาคนเดียว ส้นเท้าก็แหลม ๆ เดินไปมาปรากฏดังตึง ๆ”

ที่ว่าแปลกหมู่นั้น องค์ท่านก็ไม่อธิบายว่า แปลกไปทางดีหรือทางชั่ว แต่ข้าพเจ้าก็ยังไม่เรียนตอบสักคำเลย เพราะเข้าใจว่าองค์ท่านพูดไปตามเรื่องขององค์ท่าน และเป็นเรื่ององค์ท่านทดสอบเราว่า จะทั้งเดิน ทั้งพูด ทั้งล้าง ทั้งเช็ดเท้า หรือไม่

พอกราบเสร็จแล้วท่านก็ถามกระหน่ำต่อไป ทั้งคำเก่าและคำใหม่ปะปนกันไปตะพึด ยกมือกราบเรียนว่า “มาจากถ้ำผาแด่น”

“ภาวนาเป็นไง”

กราบเรียนว่า “รสจิตใจวิเวกวังเวง ความไหวการ ยืน เดินนั่ง นอน สติอยู่กับกายและใจ เหลียวซ้ายแลขวา เหยียดแขน คู้แขนรู้อยู่แทบทุกอิริยาบถ จิตใจอ่อนโยนในพุทธ ธรรม สงฆ์ น้ำตาไหลไม่ค่อยขาด การกลัวสัตว์ร้ายหรือผีไม่ค่อยมี จะมีมาบางอารมณ์ก็งูใหญ่ นึกในใจบ้า ๆ ว่า ถ้านั่งภาวนาอยู่ มันมาคาบกลืนลงไปทีเดียวก็ได้ แต่อารมณ์ชนิดนี้มาครู่เดียว ก็ขับมันหนีไปได้ แต่นาน ๆ มันจึงจะมาอีก”

องค์ท่านตอบว่า “กลัวมันทำไม งูมันกินเข้า ก็ยันท้องมันซิ”

ว่าแล้วองค์ท่านก็ยิ้ม แล้วองค์ท่านก็ปล่อยโอกาสให้เล่าถวายต่อไป

กราบเรียนต่อไปว่า “วันหนึ่งเป็นเวลาเที่ยงคืน กำหนดลมออกเข้า เมื่อลมละเอียดลงไป ปรารภขึ้นมาว่า เออ ท่านผู้พ้นไปแล้วก็ไม่มีข้างหน้าข้างหลังเหมือนลมออกเข้านี้ ท่านผู้ตะเกียกตะกายอยากพ้นไป ก็ไม่มีข้างหน้าข้างหลังเหมือนลมออกเข้านี้ ผู้ไม่มีข้อวัตรอันใดเพื่อหลุดเพื่อพ้น ก็ไม่มีข้างหน้าข้างหลังเหมือนลมออกเข้านี้ ผู้ที่ถือว่าไม่มีบุญไม่มีบาป ก็ไม่มีข้างหน้าข้างหลังเหมือนลมออกเข้านี้ ในเวลาวิจารณ์อยู่นั้น รู้พร้อมกันกับลมออกเข้า ไม่มีอันใดก่อนอันใดหลังแล้วเกิดความพอใจ ร้องขึ้นจนสุดเสียง แล้วขู่ตนว่า มันจะเป็นบ้านะ ตอบตนเร็วด่วนว่า ถ้ารู้ว่าตนจะเป็นบ้าก็อย่าบ้าซิ ผิดถูกประการใด กราบเรียนพ่อแม่ครูบาอาจารย์ได้โปรดกรุณาแก้ไขเทอญ”

องค์ท่านทอดสายตาลงต่ำขณะหนึ่งแล้ว จึงกรุณากล่าวว่า

“เออพิจารณาตามเป็นจริงของธรรมส่วนนี้”

ว่าแล้วองค์ท่านก็เรียกหา “สามเณรบุญเพ็งเอ๋ย เอาบริขารของเธอไปไว้กฏิเดิมของเธอนั้น ออกมาจากถ้ำใหม่ ๆ จะได้อยู่ที่เย็น ๆ ตามเคย”

แล้วก็ขอโอกาสทำวัตรและต่อนิสัย เสร็จแล้วองค์ท่านถามต่อไปอีกว่า “ได้ยินเขาว่าเปลือกน่องมีอยู่ที่ถ้ำผาแด่น เป็นต้นใหญ่โตได้เห็นหรือไม่”

เรียนว่า “ไม่ได้สังเกตและก็ไม่รู้จักต้นของมันด้วยขอรับ”

“เราต้องการ ทุบแล้วเอามาปูต่างอาสนะนั่ง โรคริดสีดวงทวารเราพอบรรเทาไป”

พอสงฆ์ขึ้นมาประชุมฟังเทศน์ตอนหนึ่งทุ่ม องค์ท่านปรารภขึ้นว่า

“ถ้าจะให้คุณหล้าคืนไปหาเปลือกน่องถ้ำผาแด่น เธอก็มาใหม่ ๆ เดี๋ยวนี้ กำลังเหนื่อย และอั้งโล่ที่เธอทำไว้สี่ห้าอันก่อนออกวิเวก ก็แตกหมด เพราะไม่มีใครทำเป็น ไม่อยากให้เธอไปละทีนี้ เพราะขาดผู้ใช้หลายหน้าที่หยาบ ๆ หนัก ๆ ไปองค์หนึ่งในวัด”
67#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 18:16 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
พระอาจารย์มหาบัวปรารภขึ้นว่า “เกล้าจะไปเอาเองดอก พรุ่งนี้”

พอถึงวัน องค์ท่านก็ไปองค์เดียวด้วยฝีเท้า เพราะสมัยนั้นฝีเท้าทั้งนั้น ข้าพเจ้ารู้ล่วงหน้า คาดคะเนในใจไม่ผิด การที่พระอาจารย์มหาบัวไปเอาเปลือกน่องถ้ำผาแด่นนี้ ไม่ใช่ไปด้วยภาพพจน์โง่ ๆ เลย

๑. เพื่อรับให้หลวงปู่โดยเคารพและศรัทธา

๒. เพื่อสอบว่า ท่านหล้ามาอยู่ถ้ำผาแด่นหนึ่งเดือนแต่ผู้เดียวจริงหรือ ถ้าหากว่ามาอยู่จริง ปฏิบัติไปแถวใด คลุกคลีกับญาติโยมขนาดไหน ฉันในบาตรหรือนอกบาตร อยู่แบบข่มใจหรือพอใจ คำพูดขณะอยู่ถ้ำและขณะญาติโยมไปในวันพระนั้น พูดไปเทศน์ไปแถวใดบ้าง เหล่านี้เป็นต้น

แต่ข้าพเจ้าคาดคะเนแล้วก็ไม่เดือดร้อน กลับมีความดีใจว่า โชคดีมีครูบาอาจารย์ผู้สำคัญไปสืบเป็นพยาน

พอองค์ท่านไปประมาณอาทิตย์กว่า ๆ ก็ได้เปลือกน่องมาจริง แล้วองค์ท่านไปเที่ยวพูดกับหมู่ลับหลังว่า

“ท่านหล้านี้นับเข้าเป็นหมู่กับพวกเราได้นะ ผมไปสืบดูแล้วไม่มีสิ่งที่จะดูถูกท่านได้ แต่ข้างหน้าใคร ๆ ก็มองกันไม่เห็นได้ ถ้าหากว่าต่างก็มุ่งหลุดมุ่งพ้น แล้วต่างก็ตะเกียกตะกายสูงใจสูงธรรมขึ้นในตัวดอก”

นี่เป็นคำพูดของพระอาจารย์มหาบัวพูดกับหมู่ลับหลัง ข้าพเจ้าได้ฟังหมู่เล่าให้ฟังแล้ว ก็พิจารณาเป็นกลาง ๆ ไม่รับไม่ปัด

ไม่ว่าใคร ๆ ในโลก ทำดีประจำวันอยู่ก็นับวันสูงขึ้นแห่งความดีไม่ว่าทางโลกีย์หรือโลกุตตระ ความชั่วถ้าทำประจำวันคืนก็นับวันพอกพูนสูงขึ้นทางฝ่ายชั่ว แต่ความชั่ว คนชั่วทำได้ง่าย ความชั่ว คนดีทำได้ยาก ความดี คนชั่วทำได้ยาก ความดี คนดีทำได้ง่าย เป็นของตรงกันข้ามอยู่ร่ำไป

ความดีเป็นฝ่ายเหตุที่พระพุทธศาสนาส่งเสริม ความชั่วเป็นฝ่ายที่พระพุทธศาสนาทรงกีดกัน ผู้ที่รู้จักเหตุฝ่ายดีฝ่ายชั่ว กับผู้รู้จักผลฝ่ายดีฝ่ายชั่วนั้นก็ มีความหมายของธรรมอันเดียวกัน และก็ไม่เลือกชั้นวรรณะด้วย

บาปบุญคุณโทษ มรรค ผล นิพพาน เป็นธรรมฝ่ายทรงอยู่มีอยู่แบบกลาง ๆ บรรจง ไม่ขึ้นอยู่กับเพศ ชั้นวรรณะ ไม่ลำเอียงด้วยอคติใด ๆ แห่งชั้นวรรณะและพรรคพวก แล้วแต่ใครจะสร้างเอา

การไปวิเวกในป่าในดอนดงภูเขา ไม่ใช่ไปเล่นสนุก ๆ เพื่อมาอวดเอาคะแนนอะไรในโลก ๆ มันเป็นเครื่องทดสอบตนอยู่ในตัวแห่งรสชาติของจิตใจว่า ศรัทธาและปัญญาสมดุลกันหรือไม่ วิริยะความเพียรในธรรมกรรมฐาน สติระลึกชอบในกรรมฐาน สมาธิตั้งมั่นในกรรมฐาน จะสมดุลกันขนาดไหน รสจิตรสใจได้ดื่มแล้วหรือประการใด กามวิตก ความตรึกในทางกาม พยาบาทวิตก ความตรึกในทางพยาบาท วิหิงสาวิตก ความตรึกในทางเบียดเบียน เมื่อจิตเข้าถึงปฐมฌานสิ่งเหล่านี้สงบลงแล้ว เมื่อถอนออกมาแล้ว สิ่งเหล่านี้กำเริบขึ้นหรือไม่ ไม่กำเริบนั้นด้วยวิธีไหน ก็ให้รู้วิธีนั้น กำเริบด้วยวิธีไหน ก็ให้รู้ด้วยวิธีนั้น ขาดไปแล้วด้วยวิธีไหน ก็ให้รู้ด้วยวิธีนั้น

กามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตก มีคุณเจือปนกับโทษหรือไม่ หรือเป็นโทษล้วน ๆ ไม่เป็นคุณเลยแม้แต่นิดเดียว เห็นเป็นจริงชัดหรือไม่ หรือว่าเป็นเพียงจำมาด้วยสัญญา ความเคยชินเคยหู ก็หันปากว่าไปเหมือน แก้วเจ้าขา กินข้าวกับกล้วย เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องทดสอบตัวเองให้ได้ความชัดทั้งนั้น มิฉะนั้นแล้ว การปฏิบัติก็สุ่มสี่สุ่มห้า คล้ายกับว่าทั้งซื้อทั้งขาย แต่ไม่รู้ว่าขาดทุนหรือได้กำไร แต่ละวัน ๆ แม้จะอยู่กับที่ กับวัด ก็ต้องตรวจตน เตือนตนอยู่แบบนี้เป็นคราว ๆ เสมอ จะละเว้นจนเหลิงเจิ้งก็ไม่ได้อีก
68#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 18:16 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
วิธีทดสอบตนเองขณะภาวนา

เราไปพักวิเวกบางแห่งไม่มีแขกมาสุงสิง สถานที่ก็อำนวยพอควร ด้านภิกขาจารก็ไม่ใกล้นักไม่ใกล้นัก วันหนึ่งคืนหนึ่งมียี่สิบสี่ชั่วโมง เราจะฉันขนาดไหนจึงพอดี เราจะเปลี่ยนอิริยาบถขนาดไหนจึงเหมาะ เราจะหลับขนาดไหนจึงจะเหมาะ เราจะปันเวลาขนาดไหนจึงจะเหมาะ เราหลับขนาดนี้ภาวนาได้ความยังไง เราดื่มขนาดนี้ภาวนาได้ความยังไง เราฉันขนาดนี้ได้ความยังไงด้านภาวนา

สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องทดสอบตนเอง เพื่อจะได้เอาออกใช้ปฏิบัติให้ได้ผลเฉพาะส่วนของตน เราตั้งกรรมฐานอันนี้ไว้เป็นหลักพิจารณา เราได้รับผลอย่างไร เช่น พิจารณากาย เป็นต้น เรากำหนดลมออกเข้าได้ผลเป็นอย่างไร เราพิจารณาพุทโธได้ผลเป็นอย่างไร เราพิจารณาเมตตา กรุณาได้ผลเป็นอย่างไร เราเพ่ง อาโป เตโช วาโย ปฐวี ได้ผลเป็นอย่างไร เราพิจารณา อนิจจังได้ผลเป็นอย่างไร เราพิจารณาทุกขังได้ผลเป็นอย่างไร เราพิจารณาอนัตตาได้ผลเป็นอย่างไร เราพิจารณาใจทั้งหมด ธรรมทั้งหมด รวมลงในผู้รู้แห่งเดียว ในปัจจุบันได้ผลเป็นอย่างไร สิ่งเหล่านี้จะได้รู้จริง ชัดจริง ในภาพพจน์ตน ไม่ต้องสงสัยถามใครทั้งนั้น

แต่จะปฏิเสธในการถามก็ไม่ได้ จะปฏิเสธในการฟังก็ไม่ได้ไปหน้าเดียว ควรมีการทดสอบอีก ถ้าเรารู้ชัด ปฏิบัติชัดตอนไหน ๆ ตอนนั้น ๆ ไม่กลับมาเดือดร้อนให้เราสงสัยแคลงคลางอีก ตอนนั้นไม่ถามใครอีกก็ได้

อุทาหรณ์แบบหยาบ ๆ เช่น เราจิ๊บเกลือก็รู้จักรสเค็มแล้วเราก็ไม่ต้องถามใคร ๆ ว่ารสเกลือนั้นรสเค็มมันเป็นอย่างไรครับ เราก็ไม่มีประตูที่จะถามอีกเพราะเราได้จิ๊บดูแล้ว ฉันใดก็ดีรสของธรรมแต่ละชั้น ๆ ก็โดยนัย จิตแต่ละชั้น ๆ ก็โดยนัยอีก

เมื่อปฏิเสธในการถามไม่ได้ ก็ปฏิเสธในการตอบไม่ได้เป็นบางรายเหมือนกัน เพราะสัตว์โลก มนุษย์ เทวดา มาร พรหมก็ดี ตลอดพระอรหันต์ คือพระอรหันต์ก็ดี ก็มีการสังสรรค์ถามตอบกันอยู่ทั้งฝ่ายสมมุติและปรมัตถ์

แม้สัตว์เดรัจฉานมันร้องเรียกกัน ถามตอบให้รู้ความหมายของกันและกัน เช่น บางกรณี มันกินอาหารอยู่ หรือจับอยู่ มันร้องถามหมู่เพื่อนของมัน หมู่ของมันได้ยิน ก็บินมาตอบ หรือบินหนีตอบ หรืออยู่ที่เก่าตอบเช่น เขาเบียดเบียนเรา แต่เราไม่เบียดเบียนตอบ จะว่าเราตอบเขาหรือไม่ตอบ จะตอบก็ได้ไม่เป็นไรดอก เพราะเราตอบในทางดี ตอบแบบไม่เบียดเบียน

เรื่องอื่นยังมีอยู่อีก เพราะจิตสังขารเป็นผู้ใช้กายสังขารเขียน ก็ต้องเขียนไป แต่อย่าทั้งเขียนทั้งเดือดร้อนทางใจก็แล้วกัน แม้ผู้อ่านผู้ฟังก็เหมือนกัน อย่าทั้งอ่านทั้งเดือดร้อน ทั้งฟังทั้งเดือดร้อนก็แล้วกัน เพราะเดือดร้อนนั้น มันเดือดร้อนให้ตน เดือดร้อนให้คนอื่นไม่ได้ กินอาหารอร่อยหรือไม่อร่อยก็ดี (ก็)กินให้ตน กินให้ท่านผู้อื่นไม่ได้ ฉันใดก็ดี ความเดือดร้อนก็เหมือนกัน เราเดือดร้อนให้เขา ถ้าเขาเดือดร้อนตอบ ความเดือดร้อนอยู่ในใจเรา เขามารับหอบเอาไปหาเขาหมดดอกหรือ แม้เขาไม่เดือดร้อนตอบ ความไม่ดีเดือดร้อนของเขา มาหาเราหมดดอกหรือ ตกลงความเป็นธรรมแท้ก็ของใครของมันตามเดิม

นี้ปรารภตามชั้นเราชั้นเขาตามเป็นจริงของสมมุติ แต่มีปรมัตถ์ควบอยู่แบบเจือปน ๆ มิใช่ปรมัตถ์โต้ง ๆ เพราะยังมีบุคลาธิษฐานเจือปนกัน เพื่อให้ความกระจ่างแก่ผู้ฟังผู้อ่านผู้พิจารณา เพราะพระสูตรพระวินัยมีทั้งบุคลาธิษฐาน ธรรมาธิษฐานเจือกันอยู่ พระปรมัตถ์เป็นธรรมาธิษฐาน มีธรรมเป็นที่ตั้งล้วน ๆ

ถามว่า ผู้มุ่งปฏิบัติตามพระวินัยพระสูตร จะได้ชื่อว่าปฏิบัติตามพระปรมัตถ์กันหรือไม่

ตอบว่า ได้ปฏิบัติตามปรมัตถ์อยู่ในตัวแล้ว เพราะคำว่าพระวินัยก็วินัยกาย วินัยวาจา วินัยใจ คำว่าพระสูตรก็สูตรของกายของวาจา ของใจ ผู้ไม่มีใจก็ปฏิบัติพระวินัยไม่ได้ ผู้ไม่มีใจก็ปฏิบัติพระสูตรไม่ได้ ผู้ไม่มีใจก็ปฏิบัติใจคือพระปรมัตถ์ไม่ได้ เป็นอันว่าพระปรมัตถ์กล่าวถึงธรรมและใจล้วน ๆ

แต่ให้เข้าใจว่าพระวินัยก็ดี พระสูตรก็ดี พระปรมัตถ์ก็ดี ทุกคนย่อมปฏิบัติได้ เว้นใจอันบ้าใบ้เสียจริตผิดมนุษย์เสีย เพราะไม่สามารถจะปฏิบัติได้สะดวก เพราะกรรมและผลของกรรมฝ่ายชั่วยังหนักอยู่ คล้ายกับดอกบัวยังอยู่ใต้น้ำ จะเป็นมนุษย์ก็จริง แต่เป็นมนุษย์ชั้นจัตวา
69#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 18:17 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ฉะนั้น บ้าใบ้เสียจริตผิดมนุษย์นั้น พระบรมศาสดาจึงไม่ทรงอนุญาตให้บวช แต่(ถ้า)ไม่รู้ชัด(แล้ว)รับบวช เมื่อบวชแล้วรู้ชัดเข้า ให้นาสนะเสีย คือให้สึกเสีย เพราะยังเป็นมนุษย์ไม่เต็มภูมิ ไม่ตรงกับคำถามอันตรายิกธรรมต่อหน้าสงฆ์ว่า “มนุสฺโสสิ” แล้วตอบว่า “อามะภันเต” เฉย ๆ ไม่ตรงต่อความจริงเพราะบ้าใบ้อยู่

ถามว่า ผู้เขียนชีวประวัติของตนเองอยู่เดี๋ยวนี้จะไม่เป็นบ้าอารมณ์ ดอกหรือ

แก้ว่า จะบ้าอารมณ์ยังดีกว่าบ้าแล้ง

ถามว่า บ้าแล้งนั้นคืออะไรบ้าง

ตอบว่า บ้าแล้งนั้น คือเพลินในโลกสงสารโดยถ่ายเดียว ไม่เหลียวแลทางปัญญาพาฟอกความหลง เป็นต้น

ถามว่า คำว่า หลง ๆ ในที่นี้ หลงอะไรครับ

ตอบว่า หลงหนังที่หุ้มอยู่โดยรอบแห่งกาย ว่าสวยงาม ว่าเป็นของยั่งยืน ว่าเป็นสุข ว่าเป็นของตนเอาจริง ๆ จัง ๆ จนแกะไม่ได้คลายไม่ออก แต่เมื่อสิ่งเหล่านี้ไม่ตั้งอยู่ตามความประสงค์ แล้วก็เดือดร้อนทางใจ เพราะผลลัพธ์เป็นฝ่ายสะท้อน เพราะเหตุหลงหนัง

ถามว่า ท่านผู้ไม่หลงหนังมีไหมเล่า

ตอบว่า ข้อนี้เป็นของตอบยาก เพราะผู้ไม่หลงหนังไม่ได้เขียนใส่หน้าผากไว้ แม้เขียนไว้ก็เชื่อไม่ได้ เพราะเขียนลวงก็มี เพราะการหลงหนังไม่ขึ้นอยู่กับ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และท่านผู้ไม่หลงก็ไม่ขึ้นอยู่กับ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ขึ้นอยู่กับใจ

ถามว่า ใจมันเป็นตัวยังไง ผมทำไมถึงไม่เห็นมันสักที ชาวโลกชาวธรรมก็มักพูดว่า ใจ ๆ

ตอบว่า ผู้ถามหาใจ ก็เอาใจถาม ผู้ตอบ ก็เอาใจตอบ คนตายแล้วถามไม่เป็น ตอบไม่เป็น เพราะไม่มีใจอยู่นั้น

ถาม ใจมันเป็นคุณหรือเป็นโทษ

ตอบ เมื่อมันทำโทษ มันก็เป็นโทษ เมื่อมันทำคุณ มันก็เป็นคุณ คุณและโทษของมันไม่มีใครไปปล้นไปจี้เอาได้

ถาม ใครใส่ชื่อให้มัน

ตอบ มันใส่ชื่อเอง

ถาม ใครเป็นเจ้าของมัน

ตอบ มันเป็นเจ้าของเอง

ถาม มันเกิดมาจากไหน

ตอบ มันเกิดมาจากมันเอง

ถาม อะไรพาให้มันเกิด

ตอบ ความหลงของมันพาให้เกิด

ถาม มันหลงอะไร

ตอบ มันหลงว่า มันเป็นมัน เอาจริง ๆ จัง ๆ
70#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 18:17 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ธรรมะหลวงปู่มั่น

หันมาปรารภต่อไปว่า ในยุคบ้านหนองผือในวาระผู้เขียนไปอยู่ด้วยกับองค์ท่าน ได้ยินองค์ท่านยืนยันว่าองค์ท่านเป็นพระอรหันต์หรือไม่

ตอบได้อย่างผึ่งผายว่า องค์ท่านมิได้ยืนยันว่าองค์ท่านเป็นพระอรหันต์หรือปุถุชนใด ๆ เลย ชะรอยผู้เขียนจะไม่รู้จักอิโหน่อิเหน่แล้วองค์ท่านจะไม่เล่าคำลับให้ฟังก็อาจเป็นได้ หรือเกรงว่าผู้ฟังประมาทและไม่เชื่อก็อาจเป็นโทษแก่เขาก็อาจเป็นได้ องค์ท่านจึงไม่เล่าให้ฟัง

ส่วนธรรมะขององค์ท่านแสดง บางคราวเป็นธรรมชั้นสูงมากเป็นต้นว่า

“ไม่ว่าธรรมส่วนใด ถ้าสำคัญตนว่าเสวย เป็นอันผิดทั้งนั้น”

ข้อนี้ประทับใจของข้าพเจ้ามาก ในเวลาที่องค์ท่านเทศน์อย่างนี้ พระอาจารย์มหาบัวก็ฟังอยู่ที่นั้นด้วย มีพระสองสามองค์นั่งฟังอยู่ด้วยกัน ไม่มีพระอาคันตุกะมาปน แต่แปลกอยู่ว่า ชีวประวัติของหลวงปู่มั่นได้พิมพ์มาหลาย ๆ ครั้ง ตรวจดูแล้วไม่เห็นธรรมข้อนี้ปนอยู่เลย ชะรอยต่างองค์ก็ต่างจำมาได้คนละบทคนละบาทอันสำคัญ

มุตโตทัยตีพิมพ์ฉบับต้น คราวถวายเพลิงของหลวงปู่มั่น ธรรมชั้นสูงในเล่มนั้นกล่าวว่า

“ถ้าไม่มีที่อยู่ ก็ไปอยู่ที่สูญสูญนั้น”

ใจความในหนังสือเล่มนั้นทั้งหมด ก็ขึ้นอยู่กับภาพพจน์ข้อนี้ นี้เป็นธรรมชั้นสูงในหนังสือเล่มนั้นทั้งหมด เหตุผลที่จะไปอยู่ที่สูญสูญนั้น หนังสือเล่มนั้นอธิบายว่า “ถ้าจะว่าสูญไม่มีค่า ก็ไม่ได้ เพราะไปบวกกับเลขหนึ่ง ก็สิบ ร้อย พัน หมื่น แสนล้าน” ดังนี้ เป็นมติของผู้เขียนคืออาจารย์มหาเส็งและอาจารย์ทองคำ ในยุคนั้นพระอาจารย์มหาบัวกำลังรักวิเวก เที่ยวปฏิบัติโชกโชนอยู่ ไม่สุงสิงในการเขียนหนังสือ

ข้าพเจ้าพิจารณาอยู่แต่ไร ๆ ว่าเหตุที่สูญจะเป็นของมีค่าก็เพราะมีผู้ไปยึดถือเอาเป็นเจ้าของ ถ้าไม่มีผู้ไปยึดถือเอาเป็นเจ้าของแล้วสูญก็กลายเป็นโมฆะไปตามสภาพที่สมมุติ ไม่ว่าแต่สูญเลย ขี้เป็ดขี้ไก่ก็ดี ถ้ามีผู้ไปยึดถือเอาเป็นเจ้าของแล้ว ย่อมเป็นของมีค่าทั้งนั้น ซื้อขายเอาไปใส่ผักก็ได้ ใครลักก็เป็นอทินนาทาน แต่พระนิพพานไม่เป็นหน้าที่จะแล่นไป หรือเดินไปอยู่ที่สูญสูญ ถ้าอย่างนั้น สูญก็เป็นสรณังคัจฉามิของพระนิพพาน พระบรมศาสดากล่าวไว้เพียงแต่ว่า เปลวไฟอันกำลังลมเป่า เมื่อเปลวไฟดับไปแล้วไม่เป็นหน้าที่จะไปยืนยันและสมมุติว่าไปตั้งอยู่ที่นั้นที่นี้ หรืออะไร ๆ ทั้งนั้น

ความขัดแย้งแห่งสงครามความเห็น ถ้าความเห็นออกนอกรีตนอกรอย เป็นอัตโนมติของผู้ยังมีกิเลสหนา ไม่เหมือนอัตโนมติของพระอริยเจ้า ที่มัดเข้าหาธรรมฝ่ายอริยะเป็นบรรทัด เป็นแว่น เป็นคระจกเงา เป็นกล้องจุลทรรศน์ เป็นเครื่องวัดเครื่องตวงอันไม่เลยเถิด ปราศจากเดาด้นคาดคะเน พร้อมทั้งมีสัมมาญาณะอันถ่องแท้ ไกลจากโลกิยวิสัยไปแล้วจะดึงลงมาเทียบกับโลโก โลกา โลเกเร โลกึง โลมึง โลกู ย่อมเป็นไปไม่ได้ทั้งอดีตอนาคต ปัจจุบันด้วย

ชีวประวัติของหลวงปู่มั่นก็ดี ของท่านองค์ใด ๆ ก็ดีจะแต่งจะเขียนพิสดารหรือย่อก็ตามที ถ้าแก่นเรื่องของธรรมะ ยอดเรื่องของธรรมะชั้นสูงไม่สมเหตุสมผลแล้ว ปราชญ์ผู้อ่านผู้ฟังก็ไม่ถึงใจถึงธรรมเท่าที่ควร ไม่ชวนอยากอ่านไม่ชวนอยากฟังด้วย มิหนำซ้ำถูกวิจารณ์ว่าไม่สมชื่อลือชาปรากฏว่าโด่งดังอะไรกันในทางที่ชอบแท้ของธรรมะ เมื่อผู้เขียนมิใช่เจ้าตัวเขียนเอง ย่อมตีความหมายลงมาหาตัวของผู้เขียน เพราะเข้าใจอย่างนั้น ชัดอย่างนั้น แต่มันก็เป็นเรื่องอจินตับอจินไตยเหลือวิสัยจะผูกขาด ชีวิตของหลวงปู่มั่นในยุควัดป่าหนองผือ พรรณานิคม จังหวัดสกลนครเป็นยุคสุดท้ายของชีวิตองค์ท่าน และสุดท้ายธรรมะชั้นสูงแห่งองค์ท่านอีกด้วย
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้