ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ

~ หลวงปู่หล้า เขมปตฺโต วัดบรรพตคีรี(วัดภูจ้อก้อ) ~

[คัดลอกลิงก์]
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 17:23 | ดูโพสต์ทั้งหมด
หนึ่งทุ่มประชุมกันที่กุฏิหลวงปู่มั่น

ผู้ที่ไปทำแต่ข้อวัตรครูบาอาจารย์และส่วนรวมบริบูรณ์ก็ตาม (แต่ถ้า)ถามเรื่องภาวนาไม่ได้ความก็ถูกเทศน์หนักอีก ผู้เขียนปีแรกถูกเทศน์หนักสามครั้ง แต่คนละเรื่อง มิใช่เรื่องเก่า ปีที่สอง ที่สาม ที่สี่ เงียบไม่มีเลยก็ว่าได้

แต่ธรรมเนียมนักปฏิบัติย่อมถือกันว่า ถ้าเทศน์องค์ใดเป็นต้นเหตุ ก็ให้ถือว่าเทศน์หมดวัด ถ้าไม่น้อมลงอย่างนั้นแล้ว มานะความถือตัวจะกำเริบโดยไม่รู้ตัว แม้เมื่อถูกชมก็เหมือนกัน ถือว่าชมหมดทั้งวัด

น้อมอย่างไรจึงได้ความอย่างนั้น

น้อมอย่างนี้ คือถ้าใครทำอย่างนี้ก็จะต้องถูกติเตียนอย่างนี้ไม่เลือกหน้า ถ้าใครถูกอย่างนี้ ก็ต้องถูกชมอย่างนี้ เรียกว่าน้อมลงมาใส่ตน นี้(คือ)ที่หลวงปู่มหาเคยอธิบายในยุคนั้น

และปรารภต่อไปว่า เมื่อสรงน้ำถวายองค์ท่านแล้ว องค์ท่านก็เข้าทางจงกรมต่อไปจนถึงมืดค่ำ พระเณรในวัดนั้นก็เช่นกัน ราวทุ่มหนึ่งก็ไปประชุมกันที่กุฏิองค์ท่าน จุดตะเกียงโป๊ะกลมเล็ก ๆ กราบแล้วนั่งพับเพียบเรียบร้อยสงบอยู่ องค์ท่านหากเทศน์เองโดยอิสระเห็นสมควรอันใดด้านศีล สมาธิ ปัญญาประเภทใด ๆ องค์ท่านก็เทศน์อย่างจุใจของผู้หวังอรรถหวังธรรม

ด้านศีลองค์ท่านกล่าวเป็นลำดับทั้งพุทธบัญญัติและอภิสมาจารอย่างแยบคาย ทั้งย่นและขยายหลายร้อยหลายพันนัย ย่นลงในเอกศีลในปัจจุบันทันกาลพร้อมทั้งสมาธิ ปัญญาให้สมดุลกันไปเป็นชั้น ๆ จนถึงโลกุตรศีล โลกุตรสมาธิ โลกุตรปัญญา อุบายขององค์ท่านแตกฉานในอรรถในธรรม พุทธประวัติของพระองค์ตลอดพระสาวกสาวิกา จับมายกเป็นตัวอย่างให้กุลบุตรกุลธิดา ปลุกใจให้ศรัทธายิ่งขึ้น ตลอดถึงองค์ท่านวัยหนุ่ม ได้ขึ้นเขาลงห้วย สันโดษมักน้อย ขยันหมั่นเพียร มอบเป็นมอบตายต่อการปฏิบัติ ปลุกจิตใจให้เห็นภัยในสงสาร

ภัย กับ ไฟ  กับ กิเลส  ก็มีความหมายอันเดียวกันแห่งรสชาติ มีไฟหลง กับ ไฟอวิชชา ที่ทำให้เป็นไฟ ก็มีความหมายอันเดียวกัน นอนเนื่องอยู่ในขันธสันดานของปวงสัตว์ ผู้ที่หนักไปในโลกิยสมบัติ วัตถุนิยมจนกลายเป็นยาเสพติดของเจตนาอันมุ่งหมาย จนกว่าอริยมรรคอริยผลเบื้องต้นจะปรากฏเด่นชัดในตน จึงจะไม่เดินวนขอบกระด้ง จึงจะพอใจเดินผ่าศูนย์กลางกระด้ง ข้ามฟากขอบกระด้งไปฟากโน้น คือฟากโลภ ฟากโกรธ ฟากหลง และถ้าไม่ยอมขี่เรืออสุภะอสุภังข้ามฟาก คือหนังหุ้มอยู่โดยรอบนี้ ก็ยากจะข้ามทะเลราคะได้ และยากจะบรรเทาราคะได้อีก

ผู้มีราคะมีหลงหนัง ฯลฯ อยู่ ก็เหมือนไม้ที่มียาง ทั้งแช่อยู่ในน้ำ จะสีให้เกิดไฟจนแขนขาดย่อมเกิดไฟขึ้นไม่ได้เลย ผู้คอยแต่จะเอาโกรธออกหน้า ถ้าไม่หนักไปทางเมตตาคน เมตตาสัตว์อื่น ให้เสมอภาคกันแล้ว โกรธก็ยิ่งจะบวก โกรธคูณ โกรธทวี ไม่ผ่อนปรนลงได้ ผู้ไม่มีสติลืม ๆ หลง ๆ เป็นเจ้าใหญ่นายโตของขันธสันดานแล้ว ไม่พอใจกำหนดลมออกเข้า ความลืม ๆ หลง ๆ นั้นเล่าก็ยิ่งบวกทวีคูณทวีหนักเข้า กรรมฐานแต่ละอย่าง ๆ มีพระคุณอยู่ก็จริง ยาแก้โรคแต่ละอย่าง ๆ มีคุณอยู่ก็จริง ถ้าวางยาไม่ถูกกับโรคแล้วโรคก็หายยากด้วย ข้อนี้ต้องขึ้นอยู่กับเจ้าตัว ของใครของมัน จะสังเกตรู้เองส่วนตัว

การประชุมก็หนึ่งทุ่มไปหาสี่ทุ่มเป็นส่วนมาก เสร็จแล้วบางทีก็จับเส้นถวาย การจับเส้นไม่ได้พูดไม่ได้คุยกันเลย บางทีจับเส้นไปไม่นานเท่าใดองค์ท่านบอกหยุด แล้วก็ส่งองค์ท่านเข้าห้อง องค์ท่านก็กราบพระภาวนาต่อไป และบางวันองค์ท่านก็เข้าห้องเร็วกว่านั้นบ้าง แต่การตื่นนอนล้างหน้านั้นมีเกณฑ์ตีสามอยู่แล้ว

ปี ๒๔๘๙ ก็ดี ๒๔๙๐ ก็ดี สามวันประชุมคราวหนึ่งตลอดทั้งแล้งและฝน แต่ฤดูแล้งก็ไม่แน่นอนเพราะพระอาคันตุกะมาบ่อย ๆ ๒๔๙๑ เจ็ดวันประชุมคราวหนึ่ง ๒๔๙๒ สิบวันบ้าง กว่าบ้างจึงประชุมเพราะชราภาพหนักเข้า

ในยุคหนองผือ องค์ท่านให้โอกาสพิเศษแต่ละบุคคล ใครขัดข้องจำเป็นให้เข้าหาได้เป็นพิเศษ การเปิดโอกาสรับแขกประจำวัน เข้าออกห้องแล้ว รับแขกประมาณห้าหกนาที เพราะจวนลงจงกรมก่อนบิณฑบาต ตอนฉันเสร็จถ่ายส้วมแล้วรับแขกที่กุฏิท่าน ห้าหรือสิบนาที บ่ายหนึ่งโมงตอนกลางวันรับแขกอยู่ประมาณยี่สิบนาที องค์ท่านตรงต่อเวลาขององค์ท่านมาก
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 17:24 | ดูโพสต์ทั้งหมด
ผู้จะต้องถูกเข่นอย่างหนัก

การเขียนประวัติตน ประวัติองค์หลวงปู่ ครูบาอาจารย์และหมู่เพื่อนในยุคหนองผือไม่ให้ลัก ๆ ลั่น ๆ ก็เป็นของทำได้ยากเพราะสมัยนั้นไม่มีเทป เป็นเพียงต่างคนต่างจำได้เท่านั้น ผู้ไม่สนใจบ้างก็จำไม่ได้เลยพอที่จะสมเหตุสมผลที่คนไปอาศัยอยู่ แต่อย่างไรก็ตามธรรมเทศนาขององค์ท่านทุก ๆ อุบาย ทุก ๆ กัณฑ์ ไม่ว่าส่วนรวมหรือเฉพาะบุคคลแสน ๆ นัย ล้าน ๆ นัยก็ตาม หนักเน้นลงไม่ให้เนิ่นช้าในสงสาร เขย่าอยู่เสมอว่าไม่ใช่บวชเล่น ใช่ปฏิบัติเล่นเพื่อลวงโลก เพื่ออามิส หรือเพื่อธรรมเนียม หรือเพื่อเปลี่ยนชื่อ

คนนอนหลับแต่หัวค่ำ คนหลับกลางวันตื่นใหญ่ ๆ คนนอนตื่นสายหลังตีสาม คนทำข้อวัตรแต่ภายนอกลวงอาจารย์ คนมักอวดดีทะเลาะกับเพื่อนฝูง คนฉลาดแกมโกง คนพูดธรรมฟังแต่ข้อวัตรเหลวไหล คนไม่เคารพไม่เจียมตัว คนวางเฉยหลอกลวงทำท่าว่าจิตคนสูง คนไปเที่ยววิเวกเล่น แต่เนื้อเรื่องเข้าไปวิวุ่น ไม่ตั้งใจปฏิบัติภาวนา คนไปเที่ยววิเวกเด็ดเดี่ยวในป่าในเขาจริง แต่เมื่อเขาทำร้านให้พักแล้ว ก็ติดต่อกับญาติโยมจนไม่มีเวลาทำความเพียร เมื่อกลับเข้าสำนักแล้วไปคุยอวดหมู่ว่าตนเก่งได้วิเวกดี ทั้งหลายที่บรรยายมานี้ต้องถูกเข่นจากองค์หลวงปู่ทั้งนั้น และก็ไม่ได้อยู่กับองค์ท่านพอ(ตลอด)พรรษา ไม่เหตุอันหนึ่งก็อันหนึ่ง พระธรรมบันดาลให้ร้อนใจอยู่กับองค์ท่านในสำนักไม่ได้

ข้ออื่นยังมีอยู่อีก พระเณรบางองค์ทำอะไรตามอัตโนมติเช่น ทำกลด ทำร่มก็ดี ย้อมผ้า ผ่าแก่นขนุนก็ดี ไม่ได้กราบศึกษาขอโอกาส ผิดประเพณีขององค์ท่านทั้งนั้น ส่งเสียงกับเพื่อนกุฏิอื่นก็ดี มักคุยแต่เรื่องโลกก็ดี ชอบติดต่อกับญาติโยมประจบประแจงก็ดี

เมื่อองค์ท่านเรียกใช้องค์ใด พระเณรองค์นั้นไปใช้ผู้อื่นอีกต่อหนึ่งก็ดี (หรือ)ไม่ใช้ใครต่อดอก แต่ไม่เอาใจใส่ลงมือทำง่ายก็ดี ลงมือทำอยู่ แต่ทำแบบมักง่ายก็ดี จับสิ่งของไม่มีสติ ป๊กเป๊ก ตึงตังก็ดี

ห่มผ้าตีลูกบวบใกล้คณะสงฆ์หรือพระปฏิมากรก็ดี สะบัดผ้าและตีหมอนตากหมอนดังตูม ๆ ตาม ๆ ก็ดี ล้างเท้าแล้วเช็ดไม่ดี มีรอยนิ้วเท้าที่ศาลาและกุฏิก็ดี

มีดพร้าขวานเสียม คานหามน้ำ เครื่องใช้ส่วนตัว ส่วนรวมไม่เก็บเป็นระเบียบก็ดี เคารพทำดีแต่บริขารส่วนตัว ของสงฆ์ของส่วนรวมไม่เคารพรักสงวนก็ดี มีดพร้าขวานสิ่วเลื่อยไม่คมไม่มีใครลับคมเลยก็ดี ด้ามพร้าด้ามขวานแตกหักไม่มีใครสงวนบูรณะก็ดี จอบเสียมขุดดินแล้วไม่ล้างก็ดี เครื่องเหล็กที่ใช้ด้วยสงวนคมตากแดดนานไม่มีใครเก็บก็ดี ร่มเปียกมาแล้วไม่เช็ดไม่ตากก็ดี ตากแดดนานจนเปราะก็ดี ร่มกางอยู่แต่เอียงวางทางหนึ่งให้ถึงดินก็ดี

โรงไฟรกรุงรังมีเถ้าถ่านเกลื่อนกลาดก็ดี ให้ร้านเก็บฟืนรกรุงรังก็ดี ฝาตุ่มน้ำไม่ปิดก็ดี ผ้าเช็ดเท้านาน ๆ ซักก็ดี

ที่พรรณนามานี้หลวงปู่ต้องเข่นแบบเผ็ด ๆ ร้อน ๆ ทั้งนั้น ยังอยู่อีกมากมายนัก ถ้าจะเขียนให้หมดก็กลายเป็นบุพพสิกขาหรือมหาขันธ์ ผู้ไปอยู่กับองค์ท่านจะอวดฉลาดไม่ได้ ต้องยกธงขาวว่าข้าน้อยมาเกิดชาติใหม่

การรับคนเข้าสำนักองค์ท่านแนบเนียนจำกัดมาก แม้จะเป็นมายา อ่อนโยนแต่ภายนอกแต่ภายในแข็งกระด้าง ตีเสมอยกตนเทียบ หรือสูงกว่าองค์ท่าน องค์ท่านก็ไม่รับไว้ เพราะไม่สุ่มสี่สุ่มห้า มีทั้งตาเนื้อภายนอกและมีทั้งตาในแห่งปัญญาด้วย พอจะสั่งจะสอนได้องค์ท่านจึงรับไว้ เพราะไม่มีใครจะไปจับมือท่านเซ็นได้
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 17:24 | ดูโพสต์ทั้งหมด
ในตอนนี้ พระอาจารย์เนตรพูดกับข้าพเจ้าว่า

“หล้าเอ๋ย ท่านมีวาสนากว่าผม ท่านเข้ามาคราวเดียวได้อยู่เลย ผมนี้เวียนอยู่สามปีจึงได้อยู่นะ หล้า ผมมาปีทีแรก เทศน์ผมว่า เนตรเอ๋ย ผมกับท่าน เทศน์ไม่ได้ผลดอก จงหนีไปวิเวกเสีย ว่าสองสามครั้งติด ๆ กันผมก็เลยไป มาปีที่สอง ก็เทศน์แบบเก่า เทศน์แบบเย็น ๆ เจ็บในมาก ผมก็ได้ออกไป มาปีที่สามนี้แหละได้แบบฝืด ๆ แต่ไม่รู้วันไหนจะไล่แบบเย็น ๆ อีก”

พูดแล้วท่านก็ยิ้ม แม้กุฏิจะว่างสักเพียงไรก็ตาม ถ้าไม่พอจะสอนได้ องค์ท่านก็ไม่รับ เทศน์ให้ฟังแล้ว สามวัน เจ็ดวัน ก็ไล่ออกไป องค์ท่านใช้คำว่า “เออเราเทศน์เด็ด ๆ ให้แล้ว รีบออกไปวิเวกนะ อย่าอยู่” บางรายเข้าไปไม่ถูกระเบียบเหมือนมาจากนรก ก็เลยไล่หนีแบบขู่ ๆ เข็ญ ๆ ในวันนั้นก็มีมาก

สมัยยุคหลวงปู่มั่นยุคบ้านหนองผือ มิได้เอาใจใส่สุขทุกข์แขกทางไกลในการดื่มกินพักผ่อนหลับนอนนั้น เพราะเหตุว่าสมัยนั้นโจรผู้ร้ายไม่คอยมี อะไร ๆ สะดวกมาก แต่ทุกวันนี้ต้องดูแลทุก ๆ ด้าน เพื่อความปลอดภัยและให้ความอบอุ่นทุก ๆ ด้านเพราะบ้านเมืองคับขันตามสติกำลังเท่าที่จะเป็นไปได้

และวันวิสาขะ วันมาฆะ และวันสารทอันเป็นวันสำคัญของชาวพุทธ องค์ท่านหลวงปู่มั่นก็พาพุทธบริษัทในสังคมปฏิบัติตามประเพณี

การสวดมนต์ประจำวันเช้าเย็นเอาของใครของมันเงียบ ๆ มิให้ใช้เสียงกระเทือนกัน สวดน้อยสวดมากแล้วแต่อิสระของแต่ละท่าน แต่ให้หนักไปในทางจงกรมภาวนา (นั่นคือ มหาสวดมนต์) ซึ่งผู้พิจารณาไตรลักษณ์อยู่ไม่มีกลางวันกลางคืนก็เรียกว่า สวด “อนัตตลักขณะสูตร” อยู่ไม่มีกลางวันกลางคืนแล้ว เป็นต้น

แต่วันมาฆะ วันวิสาขะต้องสวดพร้อมกันทั้งญาติโยม วันเข้าพรรษาออกพรรษาวันอุโบสถสวดแต่พระ เข้าพรรษา ออกพรรษาสามเณรก็สวดด้วย คือสวดมนต์แล้วก็สมาทานพรรษา กลางพรรษานอกจากวันอุโบสถก็ของใครของมัน

ถ้าพระเณรขัดข้องทางภาวนาหรือมีธุระด่วน ๆ เช่น เจ็บป่วยขึ้นสด ๆ ร้อน ๆ องค์ท่านก็ทรงอนุญาตให้เข้าหากราบเรียนพิเศษได้โดยทุกเมื่อตามกาละเทศะ

เรื่องธรรมชั้นสูงขององค์หลวงปู่มั่น ที่องค์ท่านยืนยันว่า ไม่ว่าธรรมะส่วนใด ถ้าสำคัญตนว่าเสวย ก็เป็นอันผิดทั้งนั้น ถ้าผู้ชอบแย้งก็จะมีข้อแย้งว่า เพราะมีในปฐมสมโพธิและในพุทธประวัติว่าพระพุทธเจ้าสำเร็จเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างเต็มที่แล้ว ก็ทรงเสวยวิมุตติสุขแห่งละ ๗ วัน รวมเป็น ๔๙ วัน เพราะนางสุชาดาถวายอาหาร คือข้าวมธุปายาสทั้งถาดนั้น แบ่งออกได้เป็น๔๙ คำ คงไปได้วันละคำ ก็กล่าวคำว่า เสวยวิมุตติสุข โต้ง ๆ

แต่ผู้เขียนเพื่อแบ่งเบาหลวงปู่มั่นว่า ชะรอยเกจิอาจารย์ผูกสมมุติขึ้นเพื่อให้ผู้ฟังรู้จักความหมายว่าพระองค์เสวยวิมุตติสุข คำว่า “เสวยวิมุตติสุข” นั้น ออกจากพระโอษฐ์ของพระองค์โดยแท้ หรือหากว่าเกจิอาจารย์ผูกสมมุติเพื่อให้ผู้ฟังเข้าใจก็อาจเป็นไปได้

ผู้เขียนเข้าใจว่า ระองค์สำคัญตัวว่าอยู่ในที่ไหนยังไงก็ไม่ทราบได้ เพราะรสจิตใจและธรรมะของพระองค์ไม่เป็นฐานะของสาวกจะรู้ได้ทุกแง่ทุกมุม เช่น พระอนุรุทธตามพระองค์ได้ในเวลาเข้านิโรธสมาบัติ ก็คงตามได้เป็นบางครั้งบางคราว จะให้เท่าเทียมถึงพระองค์ย่อมเป็นไปไม่ได้ ถ้าไม่อย่างนั้นแล้วสาวกก็ต้องตีเสมอเหมือนพระองค์ได้ทั้งนั้น เช่น ทรงสรรเสริญพระมหาสารีบุตรทรงมีพระปัญญามากก็ตาม แต่คงไม่ถึงเสี้ยวของพระองค์เลย แม้พระสิวลีมีลาภมาก ก็คงไม่ถึงเสี้ยวของพระองค์อีกด้วย

อีกประการหนึ่งที่น่าควรคิดเช่น นางธรรมทินนาภิกษุณี เข้านิโรธสมาบัติแล้ว วิสาขคฤหบดีไปทรงเรียนถามนางธรรมทินนาว่า

“ในขณะที่เข้านิโรธสมบัติอยู่นั้น ได้สำคัญตัวว่าอยู่ที่ไหนหรือไม่”.

นางก็ตอบว่า “มิได้สำคัญตัวว่าอยู่ในนิโรธสมาบัติ และไม่สำคัญว่า ตัวอยู่นอกนิโรธสมาบัติ หรืออาการใด ๆ ทั้งสิ้น” เหล่านี้เป็นต้น

เมื่อเป็นดังนี้ ก็ตรงกับคำของหลวงปู่มั่นที่ว่า ไม่ว่าธรรมส่วนใด ถ้าสำคัญตนว่าเสวย เป็นสำคัญผิดทั้งนั้น นี้เป็นธรรมชั้นสูงของพระพุทธศาสนา ถ้าจะอาจเอื้อมแซงคำเทศน์ของหลวงปู่มั่นในขณะนี้ก็ต้องพิจารณาให้รอบคอบดังกล่าวมาแล้วนั้น
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 17:24 | ดูโพสต์ทั้งหมด
กรรมฐานที่หลวงปู่มั่นสอน

ด้านภาวนาสอนให้เลือกเอาตามจริตนิสัยที่สะดวกของจิต เป็นที่สบายของจริต ในกรรมฐานสี่สิบห้อง อันใดอันหนึ่งแล้วแต่สะดวก เมื่อบริกรรมและเพ่งอยู่พอ ก็ลงไปปรากฏรสชาติอันเดียวกันเช่น ขณิกสมาธิรวมลงไปขณะหนึ่งแล้วถอนออกมา อุปจารสมาธิรวมลงไปแล้วมักจะมีนิมิตต่าง ๆ เช่น แสงเดือนหรือดวงอาทิตย์ ดวงดาว ควันไฟ เมฆหมอก กงจักร ดอกบัว เทวบุตร เทวดา หรือร่างของคนปรากฏว่าพองขึ้น หรือเหี่ยวลง หรือปรากฏว่าเหาะเหินเดินอากาศโลดโผนต่าง ๆ นานา เหล่านี้เป็นต้น เรียกว่าอุปจารสมาธิทั้งนั้น

“จาระ” แปลว่าไปตามนิมิตแขกที่มาเกยมาพาด ภายหลังจากนิมิตเดิมที่เพ่งไว้

“ฌานัง” แปลว่า เพ่งอยู่ อุปจารสมาธินี้ หมดกำลังก็ถอนออกมาเหมือนกัน

อัปปนาสมาธิเข้าไปละเอียดกว่านั้นอีก แต่ไม่มีนิมิตแขกมาเกยมาพาด เป็นแต่รู้ว่าจิตอยู่ไม่วอกแวกไปทางใด และไม่สงสัยว่าขณะนี้จิตเราเป็นสมาธิหรือไม่หนอ ย่อมไม่สงสัยในขณะนั้น ไม่ปรากฏว่ามีกาย ปรากฏแต่ว่ามันรู้อยู่เท่านั้น ไม่ได้วิตกวิจารอันใดเลย แต่หมดกำลังก็ถอนออกมาอีก แต่นานกว่าอุปจารสมาธิ เพราะความหยุดอยู่แน่วแน่นิ่งกว่ากัน

ขณิกสมาธินี้ ภวังคบาทก็ว่า ขณิกภาวนาก็ว่า ขณิกฌานก็ว่า

อุปจารสมาธินี้ ภวังคจลนะก็ว่า อุปจารภาวนาก็ว่า อุปจารฌานก็ว่า

อัปปนาสมาธินี้ ภวังคุปัจเฉทะก็ว่า อัปปนาภาวนาก็ว่า อัปปนาฌานก็ว่า

แต่การเรียกชื่อใส่ชื่อลือนามนั้นเป็นรสชาติอย่างหนึ่ง ส่วนรสชาติของสมาธิแต่ละชั้นก็เป็นรสชาติไปอย่างหนึ่ง คล้ายกับลิ้น จิ๊บแกงน้อยก็รู้จักรสน้อย จิ๊บมากก็รู้จักรสมาก แต่มิได้สอนให้ติดอยู่เพียงแค่นี้ เพราะสมาธิชั้นนี้อยู่ใต้อำนาจไตรลักษณ์มีอนิจจังเป็นต้น แต่จัดเป็นฝ่ายเหตุ ฝ่ายมรรค ฝ่ายผลของเหตุผลของมรรคเป็นปุญญาภิสังขารทั้งนั้น เป็นของจริงขนาดไหนล่ะ จริงตามฐานะแต่ละชั้นแต่ละชั้นเช่น หนังก็จริงตามฐานะของหนัง เนื้อก็จริงตามฐานะของเนื้อ เอ็นก็จริงตามฐานะของเอ็น กระดูกก็จริงตามฐานะของกระดูกเป็นต้น จริงตามสมมติที่ใส่ชื่อลือนาม จริงตามปรมัตถ์เสมอภาค คือเกิดขึ้นแล้วแปรปรวนแตกสลายไป ไม่เกรงขาม ไม่ไว้หน้าใคร ๆ ทั้งนั้น
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 17:25 | ดูโพสต์ทั้งหมด
สติปัญญาขั้นนี้ก็ต้องพิจารณาให้แยบคาย ให้รู้ตามความเป็นจริงในขั้นนี้ลึกลงไปอีก มิฉะนั้นความหลงไม่มีหนทางจะร่อยหรอไป เพราะความหลงเป็นแม่ทัพของกิเลสชั้นที่หนึ่ง อันมีอำนาจเหนือกิเลสใด ๆ ทั้งสิ้น จึงบัญญัติว่าอวิชชา เพราะไม่ใช่วิชา แต่เป็นวิชชาที่พาท่องเที่ยวเสวยสรรพทุกข์ เป็นวิชชาของกิเลสมาร เพราะกิเลสมารมีอำนาจเหนือมารใด ๆ ทั้งสิ้น

ย้อนมาปรารภเรื่องกรรมฐานอีก หลวงปู่มั่นยืนยันว่ากรรมฐานสี่สิบห้องเป็นน้องอานาปานสติ อานาปานสติเป็นยอดมงกุฎของกรรมฐานทั้งหลายอยู่แล้ว

ศาสนาอื่น ๆ นอกจากพุทธศาสนาแล้ว ไม่ได้เอามาสั่งสอนให้หัดปฏิบัติกันเลย เพราะกรรมฐานอันนี้บริบูรณ์พร้อมทั้งสติปัฏฐาน ๔ ไปในตัวด้วย และเป็นแม่เหล็กที่มีกำลังดึงกรรมฐานอื่น ๆ ให้เข้ามาเป็นเมืองขึ้นของตัวได้ เช่น พระมหาอนันตคุณของพุทโธ ธัมโม สังโฆ สีโล จาโค กายคตา แก่ เจ็บ ตาย รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เหล่านี้เป็นต้น ย่อมมีอยู่จริงอยู่พร้อมทุกลมออกเข้าแล้ว

แปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์ย่อมจริง ย่อมมีอยู่ทุกลมออกเขาแล้ว ไม่ต้องไปค้น ไปหา ไปจด ไปจำ ไปบ่น ไปท่องทางอื่นก็ได้ ถ้าไม่หลงลมเข้าลมออกแล้ว โมหะ อวิชชา วัฏจักร มันจะรวมพลมาจากโลกหน่วยไหนล่ะ หลงลมออกเข้าก็หลงหนังเหมือนกัน ถ้าไม่หลงหนังก็ไม่หลงลมออกเข้า โดยนัยเดียวกัน ดูโลกก็ดูทุกข์ ดูทุกข์ก็ดูโลก ดูสังขารก็ดูทุกข์ ดูทุกข์ก็ดูสังขาร พ้นโลกก็พ้นทุกข์ พ้นทุกข์ก็พ้นโลก พ้นสังขารก็พ้นทุกข์ พ้นทุกข์ก็พ้นสังขาร มีความหมายอันเดียวกันทั้งนั้น ไม่ผิด

รู้ลมออกเข้าในปัจจุบัน รู้ลมออกเข้าในอดีต รู้ลมออกเข้าในอนาคต รู้ผู้รู้ในปัจจุบัน รู้ผู้รู้ในอดีต รู้ผู้รู้ในอนาคต แล้วไม่ติดข้องอยู่ในผู้รู้ทั้งสามกาล ผู้นั้นก็ดับรอบแล้วในโลกทั้งสามด้วยในตัว อวิชชาและสังขารเป็นต้นก็ดับไป ณ ที่นั้นเอง ไฟโลภ ไฟโกรธ ไฟหลงก็ดับไป ณ ที่นั้นเอง

กองทัพธรรมมีกำลังสมดุลด้วยสติปัญญา กองทัพอวิชชา ตัณหา อุปาทานเป็นต้นย่อมแตกสลาย ไม่ต้องพูดไปหลายเรื่องหลายแบบก็ได้ พระอาทิตย์ส่องแสงจ้า มืดนั้นนาไม่ได้สั่งลา หายวับไป ณ ที่นั้น
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 17:25 | ดูโพสต์ทั้งหมด
การลาไปวิเวกของหลวงปู่มหา

พอถึงเดือนพฤศจิกายน ๒๔๘๙ นั้นเอง พระอาจารย์มหาบัวก็ดำริจะออกวิเวก โครงการขององค์ท่านจะไม่ไปไกล เพราะจะได้ฟังข่าวสุขทุกข์ของหลวงปู่ทุกประการ จะได้เป็นผู้กลับเข้ากลับออกอยู่ ไม่ไปแบบเตลิดเปิดเปิง และหวังจะได้ธรรมะพิเศษมาศึกษากราบเรียนเพิ่มเข้า เพราะอายุพรรษาก็มากเข้าสิบห้าพรรษาแล้ว และก็อาลัยหลวงปู่ เกรงผู้อยู่ข้างหลังจะปฏิบัติในสำนักบกพร่อง ทำให้หลวงปู่ไม่สะดวกธรรมะทุก ๆ กรณีในสำนัก แต่ลงท้ายก็เลยตกลงใจไป

ฝ่ายข้าพเจ้าก็นึกอยากจะไปกับองค์ท่านด้วย หลวงปู่ก็รู้จักแล้วและหลวงปู่ได้เทศน์อยู่บ่อย ๆ ว่าใครออกวิเวกปีนี้กลับมาเมื่อถูกถามไม่ได้ความในด้านภาวนา จะไม่ให้อยู่จำพรรษาด้วยต่อไปในอนาคต ถ้าไปวิเวกจริง ถามก็ต้องได้ความแท้ ไม่น้อยก็ต้องมาก แต่ไปวิวุ่นเป็นส่วนมากเพราะไปเที่ยวเล่นตามสำนักเฉย ๆ

การไปวิเวกในสมัยนั้นไปในดง ในป่า ในโคก ในดอน ในภูเขาได้ทั้งนั้น เพราะไม่มีสิ่งที่สงสัยกันในการเมือง ขอแต่กล้าหาญไม่กลัวเสือสัตว์ป่านานาชนิดเท่านั้น การไปองค์เดียวเป็นขั้นที่หนึ่ง ไปสององค์เป็นขั้นที่สอง ไปสามองค์เป็นขั้นที่สาม ไปเหลือนั้น (มากกว่านั้น) อยู่วัดดีกว่า เพราะถือกันว่าวิวุ่นไม่สะดวกได้

มีปัญหาว่า พระอาจารย์มหาบัวนั้น หลวงปู่มั่นก็เกรงว่าจะไปเที่ยวเล่นดอกหรือ จึงปรารภอย่างนั้น

แก้ว่า ปรารภเพื่อพวกอื่น บุคคลอื่นต่างหาก เพราะปีนั้นจะออกวิเวกหลายพวกอยู่ ครั้นล่วงเวลามาอีก ๒-๓ วัน ท่านอาจารย์มหาขึ้นไปกราบเรียนหลวงปู่มั่นว่า

“เกล้านึกจะไปเที่ยววิเวกจะเป็นประการใด และการงานที่จะใช้เกล้าพาหมู่ทำนั้นยังมีอะไรอยู่บ้างหนอ เกล้าจะพาหมู่ทำ เสร็จแล้วจึงจะได้ไป ถ้ามีงานจำเป็นอยู่เกล้าจะรออยู่ก่อน”

หลวงปู่ตอบว่า “จีวรกาลเราก็เสร็จแล้ว ฟืนเราก็บริบูรณ์แล้ว แต่บูรณะกุฏิ ซ่อมแซมหลังคาและเอาฟืน เดือนกุมภาพันธ์จึงพากันจัดทำ วาระนี้จะไปก็ไปได้”

พระอาจารย์มหาเรียนว่า “ถ้าไปจะไปวันไหน และทิศทางใดหนอจึงจะวิเวกพอควร”

หลวงปู่ตอบว่า “ถ้าสะดวกใจตน จะไปวันไหนก็ได้ ไปทางทิศตะวันออกก็มีที่วิเวกดีพอควรอยู่นะ”

แล้วพระอาจารย์มหาก็กราบลากลับกุฏิของตน แต่ไม่ถึงวันจะไป เป็นเพียงไปกราบศึกษาให้หลวงปู่มีสิทธิ วันจะไปจึงไปกราบลาใหม่

ข้าพเจ้าได้สำเหนียกว่า ลูกศิษย์ที่มีครู ไปลาอาจารย์เพื่อเที่ยววิเวกเป็นธรรมะลึกซึ้ง เป็นเชิงปรึกษาให้เกียรติอาจารย์ ให้ความเป็นใหญ่ไว้เสมอด้วยเคารพ ไม่ตัดสินเอาแต่ตัวตามอัตโนมติ เป็นเยี่ยงอย่างอันดีของฝ่ายปฏิบัติ ไม่ข้าม ไม่เกิน ไม่อวดดีอะไร อาจารย์ก็นักปราชญ์ ลูกศิษย์ก็บัณฑิต สมัยปัจจุบันนี้หาได้ยากแท้ ๆหนอ เพราะโดยมากลูกศิษย์ตกลงเอาเองหมดแล้ว เป็นเพียงมาลาไปเฉย ๆ บางรายกรุ่นให้อาจารย์อย่างไม่อาย เวลาไปไม่มาลาอีกซ้ำ กลายเป็นปฏิบัติแบบเปรตแบบผีไปอีก ผู้เขียนนึก ๆ แล้วก็น่าสังเวชมาก

หลวงปู่มั่นมรณธรรมไป ๓๐ ปีกว่าเท่านั้น ฝ่ายปฏิบัติทุกวันนี้ ไกลกันขนาดไหนหนอ ไม่ต้องกล่าวไปไยในครั้งพุทธกาล เพียงเท่านี้ก็ไกลกันขนาดนี้ แต่ธรรมวินัยนั้นอันเก่าอยู่ ผู้ปฏิบัติเลือนลางต่างหาก แต่ก็เป็นเรื่องอจินไตย ถ้าพิจารณาไปก็ฟุ้งซ่าน กล่าวไว้พอได้เทียบเคียงบ้าง
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 17:25 | ดูโพสต์ทั้งหมด
ข้าพเจ้าขอติดตามไปด้วย

กล่าวการไปเที่ยวต่อไป ล่วงมาจากการที่พระอาจารย์มหาไปกราบเรียนศึกษาหลวงปู่มั่นประมาณ ๓ วัน พระอาจารย์มหาก็ไปกราบลาองค์ท่านเตรียมเดินทาง ข้าพเจ้าก็เตรียมพร้อมแล้ว เรียนท่านอาจารย์มหาว่า

“กระผมจะต้องขึ้นไปกราบลาหลวงปู่หรือไม่หนอ”

พระอาจารย์มหาตอบว่า “ถ้าไปกราบลาแต่ผม มันก็ถูกแต่ผม ส่วนท่านก็ผิด เพราะเรื่องของใครของมัน”

ข้าพเจ้ายิ่งเพิ่มเห็นความเป็นธรรมะระหว่างพระอาจารย์มหายิ่งขึ้นเป็นอันมาก แล้วก็ขึ้นไปกราบลาพร้อมกัน องค์ท่านหลวงปู่ก็ใช้มารยาทอันละมุนละไมแบบเมตตา

กราบลาแล้วเตรียมเดินทางไปทางทิศตะวันออกของวัด ตามทางคนบ้าง ทางเกวียนบ้าง มีป่าดงเป็นทิวแถวมีทุ่งนาสลับเล็กน้อย มุ่งตรงไปวัดป่าบ้านพระคำภูอันเป็นวัดร้างเป็นป่าเต็งรังสูง ๆ ขณะนั้นกำลังหนาวจัดเริ่มเข้า ข้าพเจ้าก็ขอนิสัยกับพระอาจารย์มหา

ท่านให้โอกาสสั่งสอนประทับใจว่า

“เออ เดี๋ยวนี้เราออกมวิเวกไกลจากครูบาอาจารย์ เราทำความเพียรขนาดอยู่วัด มันก็ไม่สมกับคำที่ว่ามาวิเวก เพราะการอยู่วัดก็เป็นธรรมดาของคนมาก ก็ต้องมีงานจุก ๆ จิก ๆ อันนั้นบ้าง อันนี้บ้าง นี้สองคนเท่านี้ต้องตัดข้อวัตรให้น้อยลง เพื่อให้มีเวลาภาวนาติดต่อ ไม่ขาดวรรคไม่ขาดตอน ส่วนน้ำล้างบาตรและน้ำที่ผมจะสรงนั้น ให้คุณคอนมาไว้ที่ไหให้เต็ม ส่วนน้ำดื่มน้ำฉันนั้น ขอให้คุณไปตักมาไว้ใส่กาใส่ตุ่มให้เรียบร้อย ส่วนล้างบาตรนั้น โยมเขาตามมาล้างเอง แล้วผมเช็ดใส่ถลกเอง คุณจึงเอาไปผึ่งแล้วเก็บไว้ให้เรียบร้อย สรงน้ำก็ดี ปัดที่อยู่ปูที่นอนก็ดี ผมทำเอง ที่พักเราก็อยู่ไกลกันพอควรแล้วคือ กุฏิมุงหญ้า กั้นใบไม้ตองกุง ปูฟากแคบ ๆ พอดีมุ้ง มอดเจาะมอดไชทั้งฟากและใบตองกั้น และขอให้คุณตั้งใจทำความเพียรนะ ไม่จำเป็นอย่าพูดกับผมนะ และอย่าเข้าใจว่าผมรังเกียจ ไปบิณฑบาต ผมไม่ให้ท่านรับดอกเพราะท่านสามสี่วันก็จับไข้ มันเป็นเรื้อรังมาแต่กลางพรรษา”

แล้วก็พักอยู่นั้นเกือบเตือน น้ำใช้น้ำฉันไปตักเอาที่ห้วย เขาทดไว้ไกลจากวัดประมาณสามเส้น ข้าพเจ้าไปคอนมาไว้แต่ตีสี่ ตอนกลางคืน งมมืดไป ไม่ได้จุดไฟเลยเพราะโคมไฟไม่มี

ท่านพาทำความเพียรไม่หยุดหย่อน ไม่มีกลางวันกลางคืน แต่ข้าพเจ้ามักจับไข้ตอนเที่ยงหรือบ่ายหนึ่ง หนึ่งชั่วโมงก็สร่าง แต่ปวดหัวอยู่มับ ๆ แต่ฉันได้ ไปได้ ไม่เพลียนัก ๒-๓ วันครั้งหนึ่ง แต่ตอนกลางคืนไม่ค่อยไข้

วันหนึ่งพระอาจารย์มหาเอายาควินินเคลือบน้ำตาลให้ฉัน ก็เลยฉัน ๖ เม็ดทีเดียว หูดับอยู่ทั้งวัน เลยไม่ฉันอาหาร ปล่อยให้ยาออกฤทธิ์ คุ้มได้ ๑๕ วันไข้อีก อยู่อย่างนั้น แต่ตักน้ำกวาดลานวัดอยู่ พาไข้เดินจงกรมอีก ไข้แบบนั้นก็มี ถ้า(เป็น)ไข้รากสาด มุทะลุแบบนี้ก็คงจะตายกัน

ครั้นพักทำความเพียรอยู่นั้นประมาณเกือบเดือน พระอาจารย์มหาพาย้ายที่เข้าไปในดง ไกลจากที่พักเดิมประมาณ ๑๓ เส้น ส่วนน้ำนั้นมาตักเอาที่เก่า ไปบิณฑบาตบ้านพระคำภูตามเดิม เขามาทำร้านให้ ปูไม้กลมเล็ก ๆ กว้างพอดีกลด ไกลจากพระอาจารย์มหาประมาณ ๒ เส้น แต่กรรมบันดาลอีก เขาเอาไม้กลมเล็กมาปูต่างฟากให้นั้น มีไม้น้ำเกลี้ยงปนอยู่ ๒-๓ ท่อน พอพักได้ ๓-๔ วัน หน้าบวมขึ้นเห็นหน่วยตาลูกตาพอริบหรี่
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 17:26 | ดูโพสต์ทั้งหมด
พระอาจารย์มหาหัวเราะแล้วพูดว่า “ยิ่งขี้ร้ายก็ยิ่งตื่ม (เพิ่ม) ตดเหม็น” แล้วองค์ท่านไปตรวจดูร้าน ก็เห็นไม้น้ำเกลี้ยง ๒-๓ ท่อนเขาเอามาลาดปูนอนให้ ปนกับไม้อื่นอยู่ จึงคุมให้โยมถอดทิ้งเอาใหม่แทน เมื่อพิจารณาแล้วเขาไม่ได้แกล้งทำ เพราะเป็นเวลาใบไม้ร่วง เขาไม่รู้จักว่าไม้อะไร เห็นเกลี้ยงกลมแล้วก็เอากัน ทั้งทำด่วนด้วย ไม่ได้กั้นไม่ได้มุงอะไรหรอก เช้ามามุ้งก็เปียก กลดก็เปียก ตากกับที่เลย นี้การเที่ยวในสงสารแห่งชาติ ๆ ภพ ๆ มันเป็นอย่างนี้

ด้านภาวนาก็อาจารย์ลมออกเข้าเป็นหลัก รวมหรือไม่รวมก็สะดวกอย่างนั้น จะตีปัญหาไปน้อยมากต่ำสูง จับอันนี้เป็นหลักอยู่นั่นเอง พิจารณาอันอื่นดูว่าไม่อร่อยเท่าพระอาจารย์องค์ลม เว้นไว้แต่เดินจงกรมเท่านั้นจึงตั้งอันอื่นเป็นหลัก คือตั้งไว้กับขาก้าว ส่วนนอนและนั่ง ต้องลมเป็นหลัก

ถ้าพิจารณาอะไรพร้อมกับลมออกเข้าแล้วถือว่าชัดในส่วนตัวและไม่สงสัยอีกด้วย ส่วนท่านผู้อื่นนั้นชัดแยบคายด้วยวิธีใด แล้วแต่ของใครของมัน ไม่คัดด้าน จะสมถะก็เอาลมเป็นหลัก จะวิปัสสนาก็เอาลมเป็นหลัก จะพ้นหรือไม่พ้นตอนใด ๆ ก็เอาลมเป็นหลัก อุบายของใครของมัน อุบายพระบุญทันต่างหาก ความถือว่าเป็นของยากของง่ายย่อมไม่ตรงกันหมด ความอดทน ก็มียิ่ง มีหย่อนกว่ากัน

เมื่อศรัทธาความเชื่อ วิริยะความเพียร สติความระลึกได้ สมาธิตั้งมั่น ปัญญารอบรู้สมดุลเสมอกันยิ่ง ในขณะเดียวทั้ง ๕ นี้แล้วในปัจจุบันทันกาล ก็จะเป็นใจเป็นธรรมอันมีกำลัง พละพลังไม่มีประมาณแล ผู้ใคร่ครวญธรรมเป็นผู้เจริญตรงกันข้ามเป็นผู้เสื่อมถอย

ผู้เพลินในโลกมาก จะเป็นผู้เศร้าโศกมาก

ผู้เพลินในธรรมมาก จะนำความเศร้าโศกออกมากมาย

ผู้เห็นภัยในสงสาร ผู้ไม่ไว้ใจในสงสาร

ก็คือผู้ถือกุญแจเปิดประตูพระนิพพานนั้นแล

ใจใดไม่ติดอยู่ในผู้รู้เป็นตัวเหตุ

ใจนอกเหตุก็ไม่ต้องได้หาใจนั้นแลนามิได้ท่องเที่ยว

ใจเดียวธรรมเดียวทรงนอกเหตุ

หมดประเภทใจอื่นจะตามหา

ใจนั้นข้ามโลกาไปแล้วไม่มีรอยแล

ใจใดไม่รู้จักใจ ใจนั้นก็ไปพบแต่ภัย

ยิ่งไปเท่าใดก็ยิ่งพบแต่ภัยล้าน ๆ อสงไขยก็ไม่พบสุข
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 17:26 | ดูโพสต์ทั้งหมด
ลาท่านอาจารย์มหาไปวิเวกบ้านโพนงาม

ครั้นพักปฏิบัติอยู่กับพระอาจารย์มหาประมาณสองเดือนแล้ว การจับไข้ก็ยังคืนมาขบถอยู่ ไม่พอจะขาดแท้ มันแบบโบราณว่า

ไข้พ่อตารังเกียจ ไข้แตงโมกายเย็นกินได้ ไข้หมากไม้กายร้อนกินเย็น ไข้นอนกลางวัน สายัณห์ตะวันบ่ายสาม ถามกินสมอขามป้อม ไข้ขี้เกียจซักย้อมตากก็ลำบากทางกลิ่นเหม็น

เมื่อเป็นดังนี้จำเป็นต้องลาองค์ท่าน พรากไปปฏิบัติคนละแห่ง องค์ท่านก็เห็นดีด้วย แล้วองค์ท่านทั้งหัวเราะทั้งพูดว่า

ให้ออกไปทุ่งทางสกลนคร ให้ไปกางกลดกางมุ้งอยู่กลางทุ่ง เดินจงกรมภาวนาตากแดดอยู่ ชะรอยธาตุขันธ์มันจะชอบอากาศโปร่ง

ว่าแล้วองค์ท่านก็หัวเราะอีก ข้าพเจ้าอดไม่ได้ก็เลยหัวเราะไปตาม ดูคำเทศน์ขององค์ท่านขันมาก เป็นคติไปแบบลึก ๆ ชวนให้หวนคิดพิจารณาจับใจ จึงได้จำไว้ไม่ลืมเลย เพราะธรรมดาองค์ท่านปรารภอะไรเป็นอุบายให้ผู้ฟังมีคติทั้งนั้น ไม่ใช่พูดแบบคติโลกล้วน ๆ มีลีลานัยอยู่ในตัว (เช่น)

แบบหยิกแกมหยอกแบบนี้ ถ้าผู้ฟังล้อเข้าไปแบบเลียปาก จะถูกศอกกลับหลัง เข่าพร้อมนับสิบไม่ลุก

แบบบรรจงตรงไปตรงมา นี้ก็แบบหนึ่ง แบบนี้จะฝืนกระเบียดหนึ่งไม่ได้ เพราะได้ทุ่มเทแบบบรรจงแล้ว

แบบขู่ทำท่าทำทาง แบบนี้ต้องนิ่งฟังโดยเคารพ จะอุทธรณ์หรือพูดแก้ตัวในขณะนั้นไม่ได้ ต้องแก้ความประพฤติของตัวลับหลัง ท่านหากสังเกตเองว่าท่านเทศน์เผ็ด ๆ ร้อน ๆ แล้วมันได้ผลไหม ท่านต้องสังเกตอยู่หลายวัน แต่ผู้ใดโง่ก็เข้าใจว่าท่านไม่สังเกต

แบบปลอบโยนนิ่มนวล แบบนี้มี ๒ นัย นัยหนึ่งหมดหวังหมดวิชาแล้ว ถ้าไม่นิ่มนวลไว้มันจะเพ่งโทษมาก มันจะเป็นบาป แต่ตัดทิ้งไม่ยอมสอนอีกต่อไป นิ่มนวลแบบหนึ่งยังจะสอนต่อไปอีกอยู่

แบบทำกิริยาขึงอยู่เป็นนิจ แบบนี้เราต้องทำท่าไม่สนใจว่าท่านขึงใส่เรา เราทำดีเรื่อยไป หากแก้ตกอยู่ในตัว

แบบหนึ่งวางเฉยไม่พูดด้วย แต่ไม่ขึงไม่บึ้ง แบบนี้เราแก้เราไปก็หาย

ผู้เขียนได้ยินกับหูที่หลวงปู่มั่นเทศน์ว่า “ลูกศิษย์ร้อยคนก็ต้องใช้อุบายร้อยนัย เพราะนิสัยต่างกัน”

หันมาปรารภจะไปวิเวกคนละแห่งให้เหมาะสมกับผู้ไข้เรื้อรัง ครั้นบิณฑบาตฉันเสร็จแล้วองค์ท่านก็เขียนจดหมายฝากเจ้าตัวผู้จะไป จ่าหน้าซองว่า ส่งท่านมหาผาน บ้านโพนงาม วัดปริยัติธรรม เนื้อความในจดหมายว่า

ท่านมหาผ่านที่นับถือ

พระองค์ที่ถวายจดหมายนี้ ออกจากสำนักหลวงปู่มั่นมาวิเวก ต้องการพักวิเวกอยู่ในเขตบ้านนี้บ้างตามสมัยเท่าที่จะเป็นไปได้ และก็มีหวังจะกลับเข้าสำนักเดิมแห่งหลวงปู่มั่นอยู่ ฉะนั้นจงกรุณาให้โยมทำที่พักให้ช่วยเท่าที่เห็นสมควรว่าแห่งใดจะวิเวกพอ


ขอแสดงมาด้วยความนับถือ

บัว ป.


รับจดหมายจากพระอาจารย์มหา กราบลาเดินทาง องค์ท่านให้โยมไปส่งประมาณหนึ่งเส้น ก็บอกให้โยมกลับ เพราะทางเส้นนี้ได้รู้จักจำได้แล้วแต่เข้าไปหาหลวงปู่แต่แล้งปีกลายนี้ เดินคนเดียวไปตามสายป่า พอเที่ยงวันก็ถึงเข้าไปกราบท่าน

โอ ตอนนี้ตกไป ขออภัยต่อท่านผู้อ่านผู้ฟังบ้าง คือตอนจะออกจากพระอาจารย์มหาบัว ได้กราบวิงวอนองค์ท่านว่า

“เมื่อพระอาจารย์กลับถึงหลวงปู่มั่นก่อนกระผม กรุณากราบเรียนหลวงปู่ว่า คุณหล้าได้ลาเกล้าไปที่อื่น เพราะเกรงใจเกล้า เพราะ ๔-๕ วันจับไข้ อีกอันหนึ่ง จะลองดีตนว่า จะกล้าเป็นกล้าตายต่อพระศาสนาเพียงไร ดังนี้ หรือพระอาจารย์เห็นดีอันใดเหมาะสมตามเป็นจริง ก็แล้วแต่จะกรุณากราบเรียนเทอญ”

พระอาจารย์มหาย้อนถามคืนว่า “คุณเห็นประโยชน์ยังไง จึงให้ผมกราบเรียนหลวงปู่มั่นอย่างนั้น”
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 17:26 | ดูโพสต์ทั้งหมด
เรียนพระอาจารย์มหาว่า “เพราะเกรงหลวงปู่จะเขกว่า ‘คุณหล้าไปวิเวกกับคุณมหา แล้วแตกหนีจากคุณมหา เพราะไม่ลงคุณมหา ทิฐิมากเหลือเกิน เราจะไม่ให้คุณหล้าอยู่กับเราอีกต่อไปด้วย’ ดังนี้ ก็อาจเป็นได้ครับ”

พระอาจารย์ยิ้มแล้วพูดว่า “เออ คุณพูดมีเหตุผลดี ผมจะกราบเรียนหวงปู่ตามคำสัตย์ของคุณนั้นเอง”

กล่าวต่อ เรื่องการไปถึงบ้านโพนงามต่อไปอีก เมื่อถึงแล้วก็ยื่นถวายจดหมายโดยเคารพแก่ท่านอาจารย์มหาผ่าน พอท่านอ่านจบแล้ว ท่านก็บอก(ให้)โยมบิดาของท่าน ประกาศแก่ญาติโยมโดยด่วน ญาติโยมก็ออกมา ๓๐ คน เพราะเป็นเวลาเที่ยงวันเศษ แล้วเขาปรึกษากันโดยด่วนว่า

เอาท่านไปพักปฏิบัติธรรมที่โคกตุ้มนกกระทา อันเป็นผีบังบด ถ้าหลงมาจึงเห็นตุ้ม คือกรงนกกระทาขันแก๊ก ๆ อยู่ มันมีผีดุมากในโคกนั้น แล้วเขาก็ทำกระต๊อบให้ มุงฟาง กั้นฟาง มีส้วมหลุมตลอดรางปัสสาวะ ทางจงกรมเสร็จในวันนั้น มีน้ำบ่ออยู่ที่นั้นด้วย ไกลบ้านประมาณหนึ่งกิโลเมตรก็คงจะไม่พอ คงเพียงยี่สิบกว่าเส้นเท่านั้น เป็นป่าไม้เต็งรังสูง ๆ ถี่ ๆ

ความสะดวกทางบิณฑบาตก็พอเป็นไปได้ บุคคลก็เป็นที่สบายพอควร ส่วนการจับไข้นั้น ก็เว้น ๒ วัน ๓ วันก็เป็นไข้ แต่ฉันก็พอฉันได้ แต่ไม่หายปวดหัว วันไหนไข้ เขาจะมาเฝ้าก็ไม่ให้เขามา เขาจะมาฝนยาให้ประจำวัน ก็ไม่ให้เขามา ถึงคราวไข้ ก็ไข้อยู่องค์เดียว เป็นเพียงให้เขาเอาหินกับรากยาไว้ให้ จะฝนเองดอก ดังนี้

ส่วนมหาผ่าน ๗ ประโยคนั้น ท่านเป็นธรรมยุต ลูกศิษย์ท่านเจ้าคุณเทพกวี วัดโพธิสมภรณ์ อุดรธานี มีอุปัชฌาย์เดียวกันท่าน มาพักเยี่ยมบ้านของท่านเฉย ๆ เป็นวัดร้าง ท่านอยู่กับเด็กชายลูกหลานและท่านก็กว้างขวางมาก ท่านให้โยมบิดาของท่านมาปฏิบัติตอนเช้า ฉันเสร็จจึงกลับบ้าน ท่านบอกไว้ว่า

“วันลงอุโบสถปาริสุทธิจะมาลงด้วย เพราะผมอยากจะมาต่างวิเวกบ้าง คุณไม่ต้องเข้าไปหาผมดอก ผมจะออกมาหาเอง” ดังนี้

พอถึงวันท่านก็มาจริง ๆ ไม่ถือคนไม่ถืออะไรเลย แต่ท่านกำลังดำริว่าจะสร้างรั้ววัดด้วยไม้เป็นเสาเลื่อยเอง

ด้านภาวนาก็ลมหายใจออกเขาเป็นหลักตามเคย บางวันก็แผ่เมตตาพร้อมกับลมออกเข้า น้อมลงถึงธรรมอันไม่มีควรไม่มีภัยด้านจิตใจไม่มีความกลัวมาเป็นเจ้าหัวใจได้เลย

พักอยู่ประมาณสี่วันก็มีเสือมาเข้าบ้านเขา ๒ ตัว เป็นคู่กันมา มาจากทิศตะวันออกล่องชายเขา ร้องสลับกันตามทางชายเขามาตรงบ้านเขา ประมาณ ๕ ทุ่มติด ๆ กัน ๕ วัน แต่พอถึงชายบ้านแล้วก็หยุดเสียงเงียบไม่รู้ว่ามันไปไหน และประมาณตีสามก็ร้องสลับกันจากตีนบ้านออกไปเป็นลำดับ ตามสายที่มันเข้ามา ร้องแบบบรรจงไม่หวาดเสียวเลย ไกลจากที่พักไปประมาณ ๑๐ เส้น ร้องขาเข้าก็ไกลกว่านั้นประมาณ ๒๐ เส้น แต่ใกล้เข้ามาทุกที ร้องขาออกก็ค่อยไกลไปทุกที

ตอนเช้าเขาตามมาเอาข้าวเศษเหลือฉัน เขาเล่าว่า

“ชาวบ้านเขาวิจารณ์กันว่า แต่ก่อนไม่ได้ยินแบบนี้ นี้อาจหาญเหลือเกิน ร้องเข้ามาแบบบรรจง ร้องทั้งสองตัวสลับเสียงกันตามทางตรงเข้ามาหาบ้านด้วย ชะรอยจะเป็นด้วยพระคุณเจ้ามาอยู่ที่ผีมันหวง แล้วมันบันดาลแสดงอภินิหารให้กลัว ก็อาจเป็นได้นะครับ”

ตอบเขาว่า “เออ ตั้งใจฟังให้ดี อาตมาจะอธิบายให้ฟัง คือขณะนี้เป็นเดือนฤดูหนาวอยู่ และปีนี้ก็หนาวจัดมากกว่าทุกปี น้ำเกือบจะแข็ง แกงที่พวกโยมห่อใส่บาตร อาตมาเปิดฉัน มันจับก้อนเป็นเม็ดเป็นกลุ่ม ๆ เป็นจุดๆ ถ้าปีไหนหนาวจัดเสือก็เพลิน โบราณอีสานกล่าวว่า ปีไหนฝนจะดี เสือก็ร้องเพลิน ธาตุของเสือนั้นชอบหนาว ธาตุของแมวก็เช่นกัน มันไม่ใช่ผี ๆ สาง ๆ อะไรบันดาลดอก และโบราณกล่าวย้ำว่า เสือร้องเพลิน ฝนจะดีในปีหน้า และปีที่แล้วมานี้นะ ฝนก็ดีด้วย และก็เรื่องธรรมดาสัตว์ เมื่ออารมณ์ของจิตใจนึกเพลิน ก็แสดงความเพลินออกมาไม่ท่าหนึ่งก็ท่าหนึ่งให้จนได้ แต่มนุษย์เรามีหลายท่า ผิวปากบ้าง รำบ้าง ฟ้อนบ้าง เป็นต้น”

เมื่ออธิบายให้เขาฟังดังนี้แล้วก็สังเกตไปและก็ได้ผล เขาก็เลยหยุดสนใจในเรื่องเสือร้องทั้งหมู่บ้าน ภาษาสัตว์ปากมีมันก็ร้องไปเท่านั้น
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้