ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

~ หลวงปู่หล้า เขมปตฺโต วัดบรรพตคีรี(วัดภูจ้อก้อ) ~

[คัดลอกลิงก์]
71#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 18:18 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ธรรมะขององค์ท่านส่วนอื่น ๆ อเนกปริยายก็ตาม ตลอดข้อวัตรปฏิบัติอันเด็ดเดี่ยว ที่ทำ(เพื่อ)ส่วนตัวองค์ท่านก็ตาม (หรือ)เพื่อทอดสะพานให้อนุชนรุ่นหลังก็ตาม ย่อมเป็นเมืองขึ้นของคำที่องค์ท่านเทศน์ว่า

“ไม่ว่าธรรมส่วนใด ถ้าสำคัญตนว่าเสวย เป็นอันผิดทั้งนั้น”

เมื่อกล่าวว่า ธรรมส่วนใด ก็เป็นอันกล่าวถึง จิตส่วนใด อยู่ในตัว ผู้รู้ส่วนใด อยู่ในตัวอีกด้วย ญาณส่วนใด อยู่ในตัวอีกด้วย ส่อแสดงให้เห็นว่าทำลายอุปาทานในตัวแล้ว

ย้อนมาปรารภสับสนปนเปกันไปอีก เพราะนึกเห็นได้ จำได้อันใด ก็เขียนกันลงไป ไม่ต่ออนุสนธิเป็นระเบียบ สับสนอลหม่าน เพราะไม่ชำนาญในการแต่งและการเขียน และก็คงไม่ได้ไปตรวจเอาคะแนนในสนามโลกใด ๆ ทั้งสิ้นเลย

หลวงปู่มั่นเผาศพอาจารย์เนียม

ในปี พ.ศ. ๒๔๘๙ นั้นเอง เป็นเดือนพฤษภาคม แรม ๗ ค่ำ เวลาเช้าบิณฑบาตมาถึงวัดแล้ว กำลังเตรียมจะแต่งบาตรฉัน พระอาจารย์เนียมมีพรรษาล่วงไป ๑๘ พรรษา องค์ท่านป่วยมานานประมาณ ๑ เดือนกว่า องค์ท่านตั้งเตียงพักอยู่โรงจงกรมเก่าของหลวงปู่มั่นใกล้กับศาลาฉันอาหารประมาณ ๗-๘ วา ได้สิ้นลมปราณไปแบบสุภาพ ไม่มีสกลกายกระดิกหรือเคลื่อนไหวอันใด ปรากฏเห็นแต่ลมเบาไป หมดไป เท่านั้น งามมาก น่าเคารพมาก น่าเลื่อมใสมาก ไม่อั๊ก ไม่แอ็ก ไม่ยักคิ้ว ยักสบปาก ยักจมูก หลับตาสุภาพอยู่ ผู้เขียนได้เห็นกับตา พิจารณากับใจ พระอาจารย์มหาบัวก็ได้เห็นด้วย

หลวงปู่มั่นอยู่ศาลาก็ทราบย้ายเพราะได้กราบเรียนแล้ว หลวงปู่มั่นปรารภว่า

“เออ ท่านเนียมก็ไปแล้วในส่วนสิ้นลมปราณ เธอเล่ากับเราบ่อย ๆ ว่ารู้จักวิธีภาวนาแห่งสมมุติแล้ว พวกเธอมาศาลา ฉันเช้าซะ ปล่อยให้อยู่นั้นเสียก่อน ฉันเสร็จแล้ว เก็บบริขารแล้ว จึงพูดกันใหม่”

แล้วก็ปล่อยไว้ไม่มีใครเฝ้าอยู่ดอก เมื่อฉันเสร็จ ขนบริขารขึ้นกุฏิเรียบร้อยแล้ว หลวงปู่มั่นเดินมาจากกุฏิองค์ท่าน พอมาถึงศพ ก็ก้มลงจับเสื่อสองมือทั้งมือซ้ายและมือขวาทางหัวศพพร้อมทั้งกางขาออกแบบขึงขัง พร้อมทั้งปรารภว่า “

“พวกเรานี้มันขี้โง่ พากันเกิดมาตายเล่นเผากันเล่นอยู่” พอตกบทคำปรารภ พระอาจารย์มหาว่า “ถ้าจะเอาจริง ๆ พวกเกล้าพากันเอาดอก”

ว่าแล้วยกมือใส่หัว แกะมือหลวงปู่ออก หลวงปู่ตอบว่า “เราไม่ใช่จะทำเล่นดอก”

ทีนี้พระก็รุมกันจับเสื่อโดยรอบศพเป็นวงรอบ พระพวกผู้ใหญ่อยู่ทางหัวศพ พระผู้ขนาดกลางก็อยู่ระหว่างกลางตัวศพ พวกพระผู้น้อยก็อยู่ทางเท้าศพ ชูกันไปถึงริมวัดทิศตะวันออกเฉียงใต้ในเขตบริเวณวัด หลวงปู่มั่นปรารภว่า

“ไปบอกโยมบ้านหนองผือว่า หลวงปู่จะพาเผาพระอาจารย์ด่วนเดี๋ยวนี้”

แล้วก็บอกเณร ตาปะขาว และพระว่า “เอ้า รีบเอาฟืนโดยเร็ว”

ต่างก็รีบเอาฟืนโดยเร็ว พระเอาไม้ตาย เณร ตาปะขาวเอาไม้ดิบปะปนกัน เดี๋ยวเดียวฟืนก็พอ เพราะฟืนยังไม่อด หลวงปู่ก็บอกว่า

“ยกศพขึ้นตะแคงข้างขวา ไม่ต้องล้างศพตอก ไม่ต้องคลุมผ้าจีวรให้ดอก เพราะตายแล้ว ล้างทำไม คลุมห่มทำไม นั่นประคตเอวไหมใหม่ ๆ อยู่นั้น แก้ออก เอาไว้ให้ผู้ขาดเขิน”

เสร็จแล้วบอกตาปะขาวจุดไฟโดยด่วน ไฟเดือนหกฤดูร้อนแสก ๆ ลุกกรุ่นขึ้นโดยด่วน ชาวบ้านมาถึง ไฟลุกโพลงขึ้นแล้ว ทีนี้องค์ท่านก็ให้เอาผ้าปูนั่งของใครของมันปูกับพื้นดินห่มผ้าเฉวียงบ่าแล้ว กล่าวว่า

“เราจะพาว่ามาติกาเป็นพิธี ไม่ว่าเอาสตางค์ใครดอก”

พอจบแล้วก็กลับที่ใครที่มัน พอตกเวลาเย็นใกล้ค่ำ ไฟไหม้ศพเหลือแต่หัวกับหน้าอก พอตกตอนพลบค่ำองค์หลวงปู่กล่าวว่า

“พากันเห็นอาจารย์ไหม ไฟเผาอยู่นั่น รีบจงกรมภาวนาเข้าเดี๋ยวจะตายเปล่า”
72#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 18:18 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ข้าพเจ้านักสังเกตอยู่ว่า องค์ท่านจะพาสวดมนต์เป็นพิธีไล่ผีหรือไม่หนอ แล้วเลยเห็นท่านไม่เกี่ยวไม่ยุ่ง และก็นึกในใจว่า หลวงปู่นี้เด็ดเดี่ยวมากหาผู้เทียบได้ยากในสมัยปัจจุบัน ไม่แอบเอารายได้กับศพ ๆ เส็บ ๆ ของลูกศิษย์เลย เชื่อกรรมและผลของกรรมที่คนทำเอาเอง อันยังมีชีวิตอยู่จริง ๆ แม้พี่ชายของท่านผู้มรณภาพก็มาถึงแต่หลายวันแล้ว คือโยมแพงบ้านโคกนามน พระอาจารย์เนียมก็คนบ้านโตกนามน จังหวัดสกลนครนั้นเองไม่ใช่อื่นไกลเลย และหลวงปู่มั่นปรารภเปิดเผยต่อพระเณรในยุคนั้น ขณะนั้นว่า

“ท่านเนียมเป็นพระโสดาบันแล้ว ไปเกิดชั้นหก อาภัสรา”

ข้าพเจ้าก็คอยสังเกตอีกว่า องค์หลวงปู่จะทำประการใดหนอจะประกาศญาติโยมหรือประการใดหนอ ว่าเดี๋ยวนี้พระมรณภาพ อาตมาจะพาทำบุญอุทิศ ท่านผู้ใดจะมีศรัทธายังไงก็สมทบทุนกัน องค์ท่านก็เงียบเลย แต่บอกโยมแพงอันเป็นโยมพี่ชายของพระอาจารย์เนียมว่า

“โยมแพงอยากได้กระดูกก็ไปเอาเสียเน้อ อาตมาไม่เอาดอก เพราะอาตมาไม่อดกระดูก อาตมามีแต่จะทอดอาลัยในกระดูกนั้นแหละ โยมอดกระดูกก็ไปเอาซะ”

โยมแพงกราบเรียนว่า

“เกล้าก็ไม่เอาดอก เกล้าก็ไม่อดเหมือนกัน”

แท้จริงนั้นโยมแพงลงมติของหลวงปู่มั่นทุกกรณีแบบราบคาบมาแต่นมนานแล้วไม่จืดจาง

ท่านผู้อ่าน ท่านผู้ฟังคงไม่สนิทใจในตอนนี้ แต่ผู้เขียนสนิทใจอยู่จึงได้กล้าเขียนไว้ ถ้าไม่เขียนไว้ประวัติอันสำคัญจะไม่ยังคงที่ จะลบเลือนไป ถึงโลกปัจจุบันจะเป็นปัญหายุ่งเหยิงในส่วนนี้ก็ลงเอยอยู่กับปฏิปทาแต่ละรายของบุคคล หลวงปู่มั่นมิได้คืนมาต่อสู้อธิกรณ์ เอาแพ้เอาชนะด้วย

ผู้เขียนตีความหมายว่าหลวงปู่มั่นมิได้ประมาทในการกุศลอุทิศเลย ไม่ได้หวังว่าจะทำลัทธิการกระทบกระเทือนชาวพุทธทั่วไป ไม่ได้ทำด้วยความคับแคบสะเพร่า ไม่รอบคอบ ความจริงใจขององค์ท่านแยบคายไม่ชอบวิวุ่น ทอดสะพานให้ฝ่ายพระธุดงค์กรรมฐานโต้ง ๆ เชื่อกรรมและผลของกรรมที่คนทำไว้ก่อนตาย อัตตา หิ อัตตโน นาโถ โดยแท้ เพราะจะได้สมฐานะกับคนที่แบกกลดสะพายบาตรขึ้นเขาลงห้วย ฉันในบาตรปร๋อ แสวงอยู่ป่าปร๋อ เดินจงกรมภาวนา ปรารภแต่มรรค ผล นิพพานปร๋อ เหล่านี้เป็นต้น และเรื่องที่ผู้เขียน ผู้อ่าน ผู้ฟังจะพิจารณาแบ่งเบาอีกก็มากมายนักหนา

ผู้รีบเร่งพากเพียรเพื่อพ้นทุกข์ในสงสารก็เป็นการทำบุญอุทิศให้ตนเองและทั่วทั้งไตรโลกา อยู่แบบตรง ๆ แล้ว และก็เป็นมหาทอดสะพานให้ชาวโลกอยู่โดยตรง ๆ แล้ว การประพฤติเด็ดเดี่ยวเป็นเครื่องเหนี่ยวใจของท่านผู้ต้องการพ้นทุกข์ในปัจจุบันชาติ

การเห็นภัยในสงสารขณะจิตเดียว ประเสริฐกว่าการเห็นเพลินในสงสารล้าน ๆ ขณะจิต การนอนใจในโลก กับการนอนใจในหลุมถ่านเพลิงกิเลสก็คงมีความหมายและรสชาติอันเดียวกัน แต่ก็เป็นการเบื่อหูของผู้ไม่สนใจอีกละ ผู้ทำดีหวังดี ก็มีผู้หวังชั่วทำชั่ว มาเป็นอุปสรรค ผู้ทำชั่วหวังชั่ว ก็มีผู้ทำดีหวังดี มาเป็นอุปสรรคกัน แต่ผลรายรับนั้นต่างกันมาก และเหตุไปทางดีและทางชั่วนั้นขึ้นอยู่กับผู้จะเลือกเฟ้นถูก

ผู้ไม่รอบคอบในเหตุ ไม่มีประตูจะรอบคอบในผล ผู้ไม่รอบคอบในผล ก็ไม่มีประตูจะรอบคอบในเหตุได้ ผู้รอบคอบในเหตุก็คือผู้รอบคอบในผล ผู้รอบคอบในผล ก็คือผู้รอบคอบในเหตุ เพราะโยงถึงกันคระจ่างชัดเฉพาะตน ไม่ลำบากใจด้วย ไม่ว่าเหตุผลตอนไหนๆ
73#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 18:18 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
สมัยพุทธกาล เก็บศพไว้กี่วัน

สิ่งที่ควรวิจัยแบ่งเบาเรื่องศพ ๆ เส็บ ๆ อีก ครั้งพุทธกาล วัดป่าเชตวันมหาวิหารนั้น มีการเผาศพพระศพเณรอยู่ไม่เว้นแต่ละวันกระมัง ถ้าหากว่าเก็บศพไว้ก็คงไม่มีโกดังพอ พระอัญญาโกณฑัญญะปรินิพพานที่สระฉัททันต์ ช้างป่าทำฌาปนกิจ ช้างเขาเก็บศพองค์ท่านไว้กี่วันไม่ทราบได้ และช้างเขาไปนิมนต์พระที่ไหนมาให้กุสลาก็ไม่ทราบได้ เพราะเรียนน้อยรู้น้อยพลอยรำคาญ พระมหาสารีบุตร พระมหาโมคคัลลานะ ปรินิพพานก่อนสมเด็จพระบรมศาสดา องค์ท่านพาคณะสงฆ์และญาติโยมเก็บศพไว้กี่วันก็ไม่ทราบได้ ไม่ปรากฏชัดอีก พระราหุลไปปรินิพพานที่ดาวดึงส์ เทวดาเก็บศพไว้กี่วันไม่ทราบอีก เทวดาทำบุญอุทิศด้วยอาหารทิพย์หรือไม่ ไม่ทราบอีก

มีปัญหาว่า นั้นมันเรื่องของพระอรหันต์ทั้งหลาย เราจะเอามาเทียบไม่ได้หรอก

ตอบทันทีว่า นั้นแหละพระอรหันต์ทอดสะพานไว้ให้ปวงชาวโลกผู้จะสืบไปข้างหน้า พระบรมศาสดา เจ็ดวันจึงถวายพระเพลิง แต่ถึงกระนั้น มัลลกษัตริย์ก็เวียนถวายพระเพลิงก่อนหลายครั้งแล้ว แต่ไม่ติด เพราะเทวดาบันดาลมิให้ไฟติด เพราะคอยพระมหากัสสปะกำลังเดินทางมาจะถวายบังคมพระพุทธสรีระ พร้อมด้วยบริวาร ๕๐๐ องค์

แต่ผู้เขียนนี้ เมื่อตายแล้วคงจะถูกคอยพระมหากัสสะเหม็นก็อาจเป็นได้ แต่ได้ทำพินัยกรรมไว้แล้ว ไม่ให้คอยท่านผู้ใด คอยเพียงเอาฟืนเสร็จเท่านั้น กุสลาก็ไม่ต้องว่า อนิจจาก็ไม่ต้องเอ่ยให้ เพราะได้เรียนไว้แล้ว ตายอยู่วัดป่า กะโลงก็ไม่ต้องทำ เพราะไม่ได้ชู ไม่ได้หามผ่านบ้านท่านผู้ใด เว้นไว้แต่ตายอยู่ที่อุจาดเท่านั้น

ตายเวลาเช้าก่อนฉันจังหัน บิณฑบาตฉันเสร็จแล้วก็เผา เว้นไว้แต่มีอุปสรรคฝนตกมาก หรือเว้นไว้แต่กลางคืนหาฟืนไม่ทัน เชื่อแน่ว่าประเทศไทยมิได้อดฟืน ถ้าเอาเงินเผาเท่าใดก็ไม่พอง่าย เพราะเมืองพอในตัวเงินไม่มี ความเลี้ยงชีวีเนื่องด้วยท่านผู้อื่นจิปาถะ จะเอาศพไว้เป็นโล่เพื่อล้วงกระเป๋าผู้อื่น เรียกว่าตายร้อน เพราะเดือดร้อนท่านผู้อื่น ไม่ใช่ตายเย็น ร้อนทั้งพระหนุ่ม พระแก่ เณรน้อยคอยเฝ้าศพ ฉันก็ไม่อร่อย นอนก็ไม่หลับ

มีปัญหาว่า มันเป็นเรื่องของผู้อยู่ข้างหลัง ตอบจัง ๆ ว่ามันเป็นเรื่องเจ้าตัวจะสั่งเสียไว้ด้วยความจริงใจ มิฉะนั้นแล้วจะกลายเป็นผู้ไม่รอบคอบในอนาคต ทำความยุ่งเหยิงให้ผู้อยู่ข้างหลังลังเล ถ้ามีผู้ติเตียนผู้อยู่ข้างหลังว่าใจคับแคบจืดจางเกินไป เขาก็มีพินัยกรรมออกอ้างอย่างสมบูรณ์ ถ้าพินัยกรรมแต่ปากเปล่า ๆ คำผู้เล่าอาจลบเลือน หากยิ่งเป็นลายมือของผู้ตายเขียนไว้เองโดยไม่ถูกข่มเหง หรือผู้อื่นมาล่อให้เขียน ก็ยิ่งเป็นจริงขึ้น เพราะเขียนด้วยศรัทธาอันจริงใจล้าน ๆ เปอร์เซ็นต์ และก็เป็นมรณสติ ไม่ประมาทว่าตนจะไม่แตกไม่ตายด้วย จึงสมฐานะของผู้ไม่มักใหญ่ใฝ่สูงในเรื่องศพ ๆ เส็บ ๆ ด้วยเพราะไม่ใช่ปลา ไม่ใช่เนื้อที่ผู้อยู่ข้างหลังจะแบ่งกันไปทำปลาร้าปลาเจ่า ปิ้งแกงแบ่งแจกปลาแดกและน้ำปลาได้

หันมาปรารภเรื่องศพฆราวาสครั้งพุทธกาล เรื่องนางปฏาจารา บิดามารดาของนางเป็นเศรษฐี ท่าน ๆ ใคร ๆ ย่อมรู้ดีในธรรมบท พากันตายสด ๆ พร้อมกันในวันเดียวหลายคน บันคลบันดาล ลมพัดปราสาทหักตอนกลางคืน ตื่นเช้ากินข้าวเสร็จก็เผาในเชิงตะกอนเดียวกัน ๓-๔ ศพ และสามีของนาง ลูกของนางสองคนอีก สามีของนางงูกัดตายคาที่ ทิ้ง(ไว้)กับที่ มิได้เผาฝัง ลูกคนเล็กเหยี่ยวเอาไปฝังไว้ในท้องมันสด ๆ ลูกคนโตตกน้ำอจิรวดี น้ำพัดไปไม่เห็นศพ นางเสียจริตพิศวงจนถึงกับเป็นบ้า เปลือยกาย สุดท้ายก็ได้บวช สำเร็จพระอรหันต์ เรื่องศพทั้งหลายก็หายกังวล เพราะเผาศพกิเลสของตนจนเสร็จสิ้นก่อนตาย ถ้าเขียนไปหลายหลายเป็นเถรีประวัติ แต่เป็นการเทียบชัดที่เก็บศพไว้นาน หรือถูกกล่าวตู่ว่าครั้งพุทธกาลเป็นครั้งล้าสมัย แต่ยุคปัจจุบันจะลากสมัยก็อาจเป็นได้
74#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 18:19 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
นัยที่นี้มิได้หวังว่าจะปั่นท่านผู้อ่านผู้ฟังให้ยุ่งมันสมองอันใดเลย เกรงว่าจะเพ่งโทษหลวงปู่มั่นเลยเถิดไป เกรงจะกลายเป็นสร้างขุมนรกลงที่ใจให้ลึกลับเดือดร้อนมาก แต่ขอฝากไว้ให้นักปฏิบัติพิจารณาเองเถิด บางทีอาจเกิดโล่งใจไม่กังวลในศพ ๆ ของตนก็อาจเป็นได้ จะกังวลแต่เวลามีชีวิตอยู่ เพื่อจะได้รีบเร่งสร้างความดีไว้ให้ด่วน ชวนเจตนาเพื่อพ้นทุกข์ในสงสาร เร็วพลันทันกาลไม่นานเนิ่นช้าในปัจจุบันชาตินี้แล

และอีกความเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นธรรมชาติของผู้เคยคุ้นเชื่อง แต่เป็นธรรมดาของผู้เรียนวิชาเข็ดหลาบ เรียนวิชาเพื่อพ้นไปจากสิ่งเหล่านี้ มันมีกิเลสเป็นแดนเกิดให้รู้จักชัดกระจ่างแจ้งว่าเท็จจริงเพียงไรโดยส่วนเฉพาะตัวตามคำสั่งและคำสอนของพระองค์เป็นบรรทัด ไม่บัญญัติเอาตามอัตโนมติของตนด้วยมานะความถือตัวให้เป็นเสี้ยนหนามต่อธรรมวินัย เพราะพระธรรมวินัยบริบูรณ์แล้วไม่บกพร่องไปไหน ถ้าเทียบใส่อาหารก็ล้างมือเปิบเอาเท่านั้น

การเผาศพอย่างสมเกียรติพระกรรมฐาน

หันมาพรรณนาต่อไปอีกติดต่อว่า ปี ๒๔๘๙ นั้นเอง ยุควัดป่าบ้านหนองผือในกลางพรรษา ก็มีพระมรณะอีกหนึ่งรูป พรรษาเก้า ชื่อท่านอาจารย์สอ นธ.เอก บ้านเกิดเมืองนอนของท่านอยู่บ้านศรีฐาน อ.ลุมพุก สมัยนั้นขึ้น จ.อุบลราชธานี สมัยที่เขียนนี้คงเป็น จ.ยโสธร ท่านป่วยเป็นไข้อยู่ประมาณหนึ่งเดือนก็มรณภาพไป เพราะเหลือวิสัยจะรักษาได้ในสมัยนั้น แต่สมัยใด ๆ ยุคใด ๆ ก็ตามในสรรพโลกทั้งมวลรวมกัน ย่อมมีผู้เกิดผู้ตายอยู่ทุกวินาที ไม่ขาดระยะ จองขาดผูกขาดอยู่แล้ว เมื่อเกิดเมื่อตายอยู่ทุกวินาทีอย่างนี้แล้ว ความแก่ความเจ็บเล่า ก็ต่อสู้มีความหมายอันเดียวกัน จะบัญญัติว่าเป็นเรื่องเล็กเรื่องน้อยนั้น ก็เป็นเหตุให้คุ้นเชื่องลืมตัวลืมคนลืมใจลืมธรรม หักดอกไม้บูชาส่งเสริมความหลงประมาทมัวเมาหนักขึ้น

ฉะนั้น พระบรมศาสดาจึงทรงพระมหากรุณากล่าวแก่พระอานนท์ว่า “การพิจารณาความตายวันละร้อยครั้งนั้น ยังประมาทอยู่นะ อานนท์ พิจารณาทุกลมหายใจออกเข้าจึงไม่ประมาท”

เมื่อจะตีความหมายว่า พระองค์เทศน์ข้อนี้เฉพาะพระอานนท์องค์เดียว แล้วสรรพโลกทั้งปวงแก่เจ็บตายไม่เป็นหรอกหรือ หรือแก่เจ็บตายแต่พระมหาอานนท์องค์เดียว เมื่อเป็นดังนี้ ธรรมคำสั่งสอนของพระองค์แต่ละบทละบาท อันบริสุทธิ์ใสสะอาด ย่อมหยาดรดให้ทั่วถึงสรรพไตรโลกธาตุอยู่โดยตรง ๆ แล้ว เช่น ยก ชาติปิทุกขา บทเดียวเท่านี้ก็ถูกไตรโลกธาตุ กระเทือนไปทั้งผู้หูหนวกตาบอดทั้งนั้น ในฝ่ายสัตว์ที่มีวิญญาณครองสิงไม่เว้น

ย้อนหลังคืนมาเล่าเรื่องพระอาจารย์สอมรณภาพอีก การทำฌาปนกิจนั้นก็ทำแบบพระอาจารย์เนียมนั้นเอง มิได้ผิดกันแม้แต่นิดเดียว ส่อแสดงให้เห็นชัคได้ว่า หลวงปู่มั่นทอดสะพานให้ลูกศิษย์กรรมฐาน ในส่วนศพของพระเณรกรรมฐานไว้โดยกระจ่างแจ้งแล้ว และส่อแสดงให้เห็นชัดอีกว่า ตัวขององค์ท่าน เมื่อสิ้นลมปราณ ก็ต้องการให้ลูกศิษย์ทำถวายแบบนั้น จริงตามเจตนารักธรรมอันสงบแท้ไม่มีมายาสาไถยอันใดเลยในส่วนนี้แท้ ๆ
75#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 18:19 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ชาวโลกนิยมกันว่า การเก็บศพไว้นาน เพื่อทำให้สมเกียรติโลก การเผาเร็วคล้ายกับว่าเป็นของไม่มีค่า ข้าพเจ้าหนักไปในทางเผาเร็ว เป็นของสมเกียรติพระกรรมฐานแท้ เพราะไม่อยากจะดักบ่วงดักแร้วไว้ขูด ๆ เกลา ๆ ท่านผู้ใดทั้งทางตรงและทางอ้อม แต่มักมีปัญหาว่าท่านผู้นั้นมาไม่ทัน ท่านผู้ที่อยู่ไกลโน้นมาไม่ทัน ดังนี้ ความจริงแล้วใครมาเวลาไหน ๆ ก็ทนอยู่ เพราะผู้สิ้นลมปราณไปไม่ได้คืนมา มาเวลาใดก็ทันทั้งนั้น คือทันตายแล้วนั้นเอง แต่ถ้าหากว่าได้รับทราบข่าวว่าตาย พอมาถึงแล้วผู้ตายนั้นคืนมาก่อนเสีย เรียกว่ามาไม่ทันตาย (แต่)จะอย่างไรก็ทันเกิดทันตายอยู่ทุกเมื่อ เพราะเหตุว่าร่างกายอันมีหนังหุ้มอยู่โดยรอบ มีทั้งก้อนเกิดก้อนตายอยู่โดยธรรมอันแท้แล้ว

ผู้ทันเกิดทันตายลึกลงไปกว่านั้นอีกเล่า มีท่านผู้ใดหนอ

ขอตอบตามอัตโนมัติว่า พระอรหันต์ เพราะรู้ทันการเกิด รู้ทันการตายแล้วไม่มาเกิดมาตายอีก เหลือนอกนั้นได้ถูกแพ้เกิด ๆ ตาย ๆ ทั้งนั้น

ผู้เขียนอยู่นี้เห็นพระอรหันต์หรือไม่หนอ

ตอบว่าพอได้ยินแต่ชื่อว่าอรหันต์ ๆ ก็เลื่อมใสศรัทธาอยู่มากแล้ว แต่เมื่อได้เห็นจริงยิ่งจะเขียนมากกว่านี้ เอาจนท่านผู้อ่านขี้เกียจอ่าน

แท้จริงจะมาหาพระอรหันต์ในหนังหุ้มย่อมไม่พบเลย เพราะพระอรหันต์มิได้เป็นเปรตมาเฝ้าหนังหุ้ม ถ้าหนังหุ้มเป็นพระอรหันต์แล้ว โคกระบือเป็นต้น ก็เป็นพระอรหันต์ได้ทั้งนั้น ผู้พิจารณาหนังหุ้มลงสู่ปฏิกูล หรือเป็นแต่สักว่าธาตุดิน น้ำ ไฟ ลมผสมผสานกันอยู่ก็ดี หรือพิจารณาลงสู่ไตรลักษณ์ก็ดี นั่นเป็นหนทางเดินไปสู่พระอรหันต์เท่านั้น และถ้าถึงพระอรหันต์แล้ว หากจักเห็นอรหันต์ดอก ถ้ายังไม่ถึงแล้วก็คาดคะเนเดาด้นทั้งนั้น จะทุ่มเถียงเกี่ยงงอนกันสักเท่าใดก็ไม่เห็นได้ และถ้าไม่ทุ่มเถียงกันแล้วเป็นพระอรหันต์ก็ดี ดินน้ำ ไฟ ลม ล้วน ๆ ที่มามีวิญญาณครองสิงไม่ได้ทุ่มเถียงกันสักทีก็เป็นพระอรหันต์ได้ทั้งนั้น

เรียนวิชาทางติดแล้วไม่คาเป็นของเรียนง่าย เพราะเรียนทางมานะทิฏฐิ เรียนวิชาทางติดแล้วคาเป็นของเรียนยาก เพราะนิยมกันว่าเสียเปรียบ ฉะนั้นจึงมีแต่อาจารย์เต็มโลก แต่หาลูกศิษย์ยาก เพราะเหตุว่า ต่างฝ่ายต่างก็มุ่งจะเทศน์เอากันไม่ทางตรงก็ทางอ้อม เรื่องมานะถือตัวจัดจึงเป็นกิเลสตัวสำคัญ ถ้าไม่มีคำสอนพระบรมศาสดาเป็นบรรทัดไว้ยิ่งจะไปกันใหญ่ ไม่มีสถานีและผู้เชื่อคำสอนของพระองค์แท้ ๆ ก็คงมีส่วนน้อย สงครามเวรสงครามภัย จึงมีอยู่ทุกหย่อมหญ้าและเกือบทุกหย่อมหัวใจ

ระเบียบปฏิบัติวัดหนองผือ

จะกล่าวต่อเป็นการอยู่ต่อเป็นสำนักหลวงปู่มั่น ยุควัดป่าบ้านหนองผือ คำสั่งและคำสอนขององค์ท่านมีหลาย ๆ อุบายและหลาย ๆ นัย จะเป็นอุบายใด ๆ และนัยใด ๆ ก็ตาม เพื่อให้ผู้เห็นผู้ฟังผู้รู้พิจารณาหลุดพ้นในสงสารโดยด่วนทั้งนั้น เพราะไม่ใช่บวชเล่น ไม่ใช่ปฏิบัติเล่น เพื่อลวงตน เพื่อลวงโลก เพื่ออามิสใด ๆ ทั้งสิ้น องค์ท่านเทศน์ห้ำหั่นและเขย่าลูกศิษย์อยู่บ่อย ๆ

ในยุคบ้านหนองผือเป็นยุคสุดท้ายขององค์ท่าน รับลูกศิษย์ไว้มากจริง ฝ่ายพระไม่เกิน ๑๕ องค์ เณรไม่เกิน ๔ องค์ ตาปะขาวไม่เกิน ๒ คน แม่ชีไม่เกิน ๓ คน แต่แม่ชีมิให้อยู่ในบริเวณวัด เขาไปทำที่พักไว้ไกลวัดหลวงปู่และหมู่พระ ฟากบ้านหนองผือทิศตะวันตก วัดป่าของหลวงปู่และหมู่พระเณรอยู่ทิศตะวันออกของบ้านหนองผือฟากทุ่งนา วัดแม่ขาวและวัดพระไกลกันไม่ต่ำกว่า ๒๕ เส้น และองค์ท่านไม่ให้พระไปติดต่อเขา เป็นต้นว่า ถักซบบาตร (ถลกบาตร) หรือทอประคตเอว หรือเมื่อเวลาเขามาตอนเช้าส่งอาหารหลวงปู่เป็นบางรายเท่านั้น

โยมทางไกลมานอนค้างคืน เมื่อค้างคืน เขาก็ไปหาพักหากินหานอนที่อื่น ไม่ว่าโยมประจำบ้านและโยมมาทำบุญทางอื่น เขาไม่เอาศาลาของพระเป็นที่รับอาหารของเขา เขาไปกินกันทางอื่น เว้นไว้แต่มาคนเดียวหรือสองคนเป็นเพศผู้ชาย มาศึกษาธรรมะจากต่างจังหวัดไกล หรือมาเยี่ยมภิกษุสามเณรป่วยอยู่ที่นั้น แล้วจะได้ดูแลรักษาช่วยกันแล้วนอนค้างคืนอยู่ติด ๆ กัน ก็ต้องกินอยู่นั้น นอนอยู่นั้นด้วย แต่ก็กินหนเดียวมื้อเดียวเหมือนพระ อยู่อย่างสงบไม่อึงคะนึง เขามีใจพอพึงเป็นเองไม่ได้บังคับ
76#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 18:19 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
พระอาจารย์มั่นถือผ้าบังสุกุลตลอดชีวิต

ด้านบิณฑบาต หลวงปู่มั่นพาลูกศิษย์ปฏิบัติยินดีภัตที่ตกลงในบาตร ไม่ค่อยส่งเสริมในการตามส่งทีหลังอันเป็นปัจฉาภัต ยินดีฉันรวมในบาตรทั้งหวานคาว ไม่ซดช้อน เอามือเป็นช้อน ด้านจีวร ยินดีบังสุกุลวางไว้ที่กุฏิบ้าง บันไดใกล้ที่ขึ้นลงบ้าง ทางไปส้วมและใกล้ทางจงกรม และทางไปบิณฑบาตบ้าง และในศาลาที่ประชุมฉันบ้าง

แต่หลวงปู่มีภาพพจน์ลงไปอีก มีข้อสังเกตของพระอาจารย์มหาบัว เล่าให้ผู้เขียนฟังเป็นพิเศษ จึงสังเกตได้ พระอาจารย์มหาบัวเล่าให้ฟังว่า

“หล้าเอ๋ย ผมสังเกตหลวงปู่มั่นได้คือ ผ้าบังสุกุลอันใด ที่เจ้าศรัทธาเขาทำกองบังสุกุลไว้เป็นส่วนรวม เช่น ที่หนทางบิณฑบาตและศาลาและที่ร่มไม่ไกลจากกุฏิองค์ท่าน แม้ท่านจะขาดเขินสักเพียงใดก็ดี องค์ท่านไม่ค่อยจะใช้ให้เขา หรือไม่ใช้เลยก็ว่าได้ องค์ท่านใช้แต่เฉพาะที่เขาเอามาบังสุกุลไว้ที่กุฏิ ใกล้บันใด ใกล้ส้วม ใกล้บริเวณทางจงกรมขององค์ท่านเท่านั้น สังเกตดูดู๋ถ้าไม่เชื่อ"

เมื่อสังเกตดูก็เป็นจริงแท้ ๆ เพราะองค์ท่านลึกซึ้ง ใช้ของไม่มีราคีแก่ท่านผู้ใด และของที่เขาเอามาบังสุกุลใกล้บริเวณที่องค์ท่านอยู่และพักนั้นก็ดี องค์ท่านไม่ได้หวงไว้ใช้องค์เดียว เมื่อลูกศิษย์ขาดเขินก็ให้ทั้งนั้น

ในยุคหนองผือ พระอาจารย์มหาเป็นลูกศิษย์ของหลวงปู่มั่น ลึกซึ้งมากทุกวิถีทาง หลวงปู่ไว้ใจกว่าองค์อื่น ๆ ในกรณีทุก ๆ ด้าน ควรจะเปลี่ยนไตรจีวรผืนใดผืนหนึ่งก็ดี หรือครบทั้งไตรก็ดี หรือสิ่งใดที่ควรเก็บไว้เป็นพิเศษเฉพาะองค์หลวงปู่ก็ดี ในด้านจีวรและของใช้เป็นบางอย่าง ตลอดทั้งเภสัช เป็นหน้าที่ของท่านพระอาจารย์มหาทั้งนั้น เป็นผู้แนะนำให้คณะสงฆ์รู้ความหมายลับหลังหลวงปู่มั่นทั้งนั้น และหลวงปู่มั่นก็มิได้นัดหมายให้พระอาจารย์มหาบัวทำประโยชน์เพื่อองค์ท่านเองอย่างนั้น ทั้งทางตรงและทางอ้อม ลึกหรือตื้น ด้วยประการใด ๆ เลย

พระอาจารย์มหาเคารพลึกซึ้ง เป็นเอง และไม่ผิดธรรมด้วย ไม่ผิดวินัยด้วย เพราะธรรมวินัยมีอยู่แล้วว่า ภิกษุสามเณรใดไปไล่ทีตีเบี้ยปัจจัย ๔ ที่ได้มาโดยทางที่ชอบจากพระเถระในสังคมนั้น ๆ หรือสำนักนั้น ๆ เป็นอาบัติทุกกฎ ในพระวินัยปิฎกได้กล่าวไว้แล้ว

ฉะนั้น ในพระพุทธศาสนาจึงเว้นคุณวุโฒ วัยวุโฒไม่ได้บิดามารดาฝ่ายฆราวาสก็โดยนัย กุลบุตรกุลธิดาจะไปไล่ทีตีเบี้ยในการกินการใช้กับบิดามารดา ปู่ ย่า ตา ยาย ก็ขาดความเคารพและสิริและไม่สมบูรณ์ในธรรมวินัยส่วนนี้ด้วย กลายเป็นตีเสมอ อกตัญญู

แม้ถ้าองค์ท่านเกินงามในการกินการใช้ ก็ต้องมีอุบายละมุนละไม กลอุบายปรารภศึกษาโดยเคารพว่า ทำอย่างนั้นมันจะมิเกินไปดอกหรือประการใด เมื่อท่านเห็นว่าเกินไป ท่านก็จะผ่อนลงโดยสุภาพให้เราเข้าใจ เพราะเราใช้อุบายเตือนโดยเคารพ ท่านก็จะใช้อธิบายโดยเคารพละมุนละไม ผู้น้อยเตือนผู้ใหญ่ ใช้คำหยาบและเสียดสีไม่ได้ พระวินัยมีไว้แล้ว ผู้ใหญ่เตือนผู้น้อยแล้วแต่กรณีในเนื้อเรื่องและเหตุผล เป็นภาพพจน์อยู่กับท่าน แต่พระวินัยและธรรมห้ามมิให้ผูกอาฆาตและเฆี่ยนตีเพราะเกินไป พระองค์ทรงบัญญัติไว้พอดีแล้ว
77#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 18:20 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
เสนาสนะยุคบ้านหนองผือ


ศาลาพระอาจารย์มั่น วัดป่าหนองผือ

ที่นี้ด้านเสนาสนะ องค์หลวงปู่มิได้ชอบก่อสร้างหรูหราอะไรดอก ทำพอได้อยู่ได้พัก ก๊อก ๆ แก๊ก ไปเท่านั้น อย่างสูงก็มุงกระดานปูกระดาน ก็ไม่ไสกบ ฝาก็เหมือนกัน สมัยนั้นมีปูกระดานมุงกระดาน ๔ หลังเท่านั้น กับศาลาอุโบสถอีกหลังหนึ่ง กว้างประมาณ ๖ เมตร ยาวประมาณ ๘ เมตร เป็นศาลาเก่าโบราณที่เขาปลูกไว้ก่อนหลวงปู่มั่นไปอยู่ ส่วนศาลาฉันนั้นที่ปูฟากได้กล่าวแล้ว หลังอื่น ๆ ที่พระเณรอยู่นั้น ปูฟาก มัดด้วยเครือเถาวัลย์และมัดด้วยตอก กั้นด้วยฝาแถบตอง ใบตองก่อและใบหูกวางทั้งนั้น ประตูทำเป็นฝาแถบตองเป็นหูผลักไปมา หน้าต่างฝาแถบตอง เสี้ยมไม่ไผ่เป็นง่ามค้ำเอาในเวลาเปิด เชือกระเดียงตากผ้าก็ฟั่นเอาฝ้ายอีโป้เป็นสามเกลียว เพราะฝ้ายไม่อด ส่วนเครื่องมุงกุฏิ(ใช้)หญ้าคาเป็นส่วนมาก

ตามธรรมดาประจำปี พอถึงเดือนกุมภาพันธ์ก็มีการซ่อมแซมหลังคา ระดมไพหญ้า เวลาเช่นนั้นโยมก็มาช่วย พระเณรทั้งหมดก็ไพหญ้า ใครจะใช้อุบายหลบการงานไม่ได้ เว้นไว้แต่ผู้ป่วยจริง ๆ จัง ๆ การทำงานมิได้มีเสียงอึกทึก เมื่อมีเรื่องจำเป็น พูดกันพอได้ยิน ถ้ามีการผ่าฟืน ก็ได้ยินแต่เสียงงาน ฟังไกล ๑ เส้นแล้วไม่ได้ยินเสียงพูด ถ้าไกล ๑ เส้นแล้วได้ยินเสียง ก็ได้ยินแต่เสียงหลวงปู่องค์เดียวเท่านั้นละ แต่มิได้ทำงานจนเลยเขตข้อวัตรเช่นกวาดตราดและตักน้ำเป็นต้น การเก็บเครื่องมือและอะไรต่ออะไร เรียบร้อยไม่ปล่อยระเนระนาด ถ้าทำสองวันติด ๆ กันยังไม่เสร็จ หลวงปู่ให้หยุดวันหนึ่งเสียก่อน เกรงว่าสมถะและวิปัสสนาจะไม่ติดต่อ แล้วจึงทำต่อไปเป็นระยะ หยุดเป็นระยะ



ศาลาวัดป่าหนองผือ ก่อนการบูรณะ

หยุดนี้แปลว่างานที่เกี่ยวข้องหมดวัด แต่ข้อวัตรเกี่ยวกับครูบาอาจารย์ประจำวันเวลานั้น และส่วนรวมประจำวันเวลานั้น จะไม่ตรงต่อเวลาไม่ได้ ผูกขาดอยู่แล้ว ส่วนข้อวัตรประจำตัวเดินจงกรมภาวนาตอนกลางคืนนั้นก็ผูกขาดอีก จะอวดอ้างว่าตอนกลางวันเรามิได้พัก เราจะนอนแต่หัวค่ำละวันนี้ หรือเราจะตื่นสายละวันนี้ ก็ไม่ได้อีก เว้นไว้แต่เจ็บป่วยจริง ๆ ถ้าเจ็บนิด ๆ หน่อย ๆ แล้วโกหกว่าเป็นหนัก องค์หลวงปู่ก็รู้ และหมู่เพื่อนผู้ตาแหลมก็รู้อีก วิชาขี้เกียจขี้คร้าน วิชามักง่าย วิชาเห็นแก่ตัวในอามิสต่าง ๆ ไม่มีในสำนักของหลวงปู่เลย ถ้ามีอยู่ไม่ได้ กระเด็นเลย ไม่วิธีหนึ่งก็วิธีหนึ่งละ

ในยุควัดป่าบ้านหนองผือไม่ขี้เกียจเขียนเลย พอใจเต็มที่แล้ว เพราะเห็นด้วยตา พิจารณาด้วยใจ เพราะไม่ได้อ้างออกนอกไปว่าได้ยินแต่เขาว่า เขานั้นมันเกิดทีหลังของหูและตานอกตาใน ตาปัญญา ตาปัญญาชั้นสูงสุดสามารถไล่ความหลงและโง่ โง่และหลง และอวิชชา และกิเลสก็อันเดียวกัน กองปัญญานิพพิทาวิมุตติไล่ไปแตกกระเจิง
78#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 18:21 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๒๔๙๐ พระเถระผู้ใหญ่มาศึกษาธรรม

วัดป่าบ้านหนองผือยุคนั้น จะว่าชุมทางของพระเณรผู้ปฏิบัติก็ได้ ไม่ผู้คนจะว่าชุมทางของผู้ปฏิบัตินั้น ก็คือใจอันประกอบด้วย ศีลสมาธิ ปัญญา ก็ได้ไม่ผิดอีก แต่ถ้าไม่เขียน ผู้อื่นและผู้ฟังก็คอยแต่จะแซงอยู่ เขียนซะอย่าให้แซง จะเสียเวลา

ปี ๒๔๙๐ นั้นเอง ในฤดูแล้ง วันนั้นเป็นวันบังเอิญก็ว่าได้ มีพระผู้ใหญ่อันเป็นเถระต่างทิศต่างจังหวัด เข้าไปศึกษาหารือธรรมะกับหลวงปู่ในสำนักพร้อมกันในวันเดียว ท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ อุดร พระอาจารย์สิงห์ นครราชสีมา และท่านพระครูอะไรลืมชื่อไป ท่านเจ้าคุณอริยเวที (เขียน ป.ธ.๙) กาฬสินธุ์ หลวงปู่อ่อน อยู่วัดป่าหนองโดก อ.พรรณานิคม หลวงปู่ฝั้น อยู่ธาตุนาเวง วัดป่า อ.เมืองสกลนคร พระอาจารย์มหาทองสุข อยู่วัดป่าสุทธาวาส อ.เมือง จ.สกลนคร มีพระอาจารย์กงมา วัดดอยธรรมเจดีย์ แต่ยังมิได้ใส่ชื่อวัดเพราะไปตั้งใหม่ บางวันบางวาระก็อยู่พักวัดป่าบ้านโคก

วันที่พระผู้ใหญ่มาเยี่ยมหลายองค์โดยมิได้นัดหมายเช่นนั้น พอถึงหนึ่งทุ่มก็จุดตะเกียงเจ้าพายุ ตีระฆังลงไปรวมกันที่ศาลาอุโบสถ (ไม่ใช่ศาลาโรงฉันดอก เพราะมันคับแคบเกินไป) ครั้นกราบไหว้พร้อมกันเสร็จสิ้นแล้ว ต่างก็นั่งพับเพียบเงียบสงัดอยู่ ๒ -๓ นาที หลวงปู่มั่นมีสันติวิธี ปรารภขึ้นเย็น ๆ ว่า

“เออ วันนี้เหมาะสม ผมจะได้ศึกษากับพวกท่าน จะผิดถูกประการใดขอให้พวกท่านปรารภได้ไม่ให้เกรงใจ ผมได้ศึกษาน้อย เรียนน้อย”

แล้วองค์ท่านเสนอว่า

“พระบรมศาสดา บัญญัติอนุศาสน์ ๘ อย่างเป็นข้อเว้นเรื่องใหญ่ อันเป็น ปู่ ย่า ตา ทวด ของความผิด คือปาราชิก ๔ แล้วอีก ๔ ประเภทในฝ่ายปัจจัย ให้ปฏิบัติจนถึงวันสิ้นลมปราณ เพราะเป็นปัจจัยเครื่องอาศัยของบรรพชิต เรียกนิสัยก็มี ๔ อย่าง เที่ยวบิณฑบาตหนึ่ง อยู่โคนไม้หนึ่ง นุ่งห่มผ้าบังสุกุลหนึ่ง และก็เภสัชดองน้ำมูตรเน่าหนึ่ง ด้านบิณฑบาต พระองค์ได้ทอดสะพานไว้แล้วจนสิ้นลมปราณ แต่พวกเราไม่ค่อยจะไปบิณฑบาตกัน กลับเห็นว่ามีลาภ แล้วก็คอยให้เขาเอามาส่งและบังสุกุล พวกเราก็ไม่อยากแสวงเสียเลย อยู่ที่สงัดกายวิเวก พวกเราก็ไม่อยากแสวงเลย สิ่งเหล่านี้ พวกเราได้นึกคิดอย่างไรบ้าง พวกเราถูกตามอนุศาสน์แล้วหรือหากว่าบกพร่องอยู่บ้าง”

ท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ยิ้มอยู่โดยเคารพมิใช่ยิ้มแย้ม ส่วนท่านเจ้าคุณอริยเวที ป.ธ. ๙ กราบเรียนว่า

“ไม่มีสิ่งจะแซงพระอาจารย์ได้ดอก พวกกระผมจำได้ท่องได้เฉย ๆ ขอรับผม”

ในสมัยนั้น ผู้เขียนอายุสามสิบปีกว่าล่วงไป ได้สังเกตพฤติการณ์ของพระเถระในที่ประชุมทุก ๆ องค์ ตลอดพระภิกษุหนุ่มสามเณรน้อย ใช้มารยาทเคารพรักหลวงปู่มั่นเหมือนบิดามารดาบังเกิดเกล้า ไม่มีท่านองค์ใดจะจับผิดจับถูกในทางแง่ร้ายอันใดเลยแห่งหลวงปู่มั่น การประชุมถึงจิตถึงใจจึงจำได้ไม่ลืม คล้ายกับว่าเวลาร่างกายร้อนเข้าพักร่มไม้สูง ๆ โต ๆ มีกิ่งก้านสาขา อากาศโปร่งข้างล่าง ลมมาพัดพอเย็น ๆ ดี ไม่ค่อยแรง เรียกว่าประชุมเย็น มิใช่ประชุมร้อน

แล้วองค์หลวงปู่ก็ปรารภต่อไปอีกว่า

“พระบรมศาสดาทรงพระมหากรุณา ทรงสั่งและทรงสอนเป็นชั้นที่หนึ่ง คือภิกษุ จึงมีคำออกหน้าว่า ภิกขเว เกือบทุกวรรคทุกตอน ถ้าภิกขเวไม่ศึกษาปฏิบัติ แล้วจะให้ใครปฏิบัติศึกษาเล่า ส่วนพระองค์ทรงพระกรุณา ทรงสั่งสอนอุบาสก อุบาสิกา เทวดา มาร พรหมก็ดี ว่าในพระบาลีน้อยกว่าภิกษุทั้งหลาย นางภิกษุณีก็ดี สามเณรก็ดี สามเณรีก็ดี นางสิกขมานาก็ดี ในพระบาลีเห็นมีน้อยกว่าภิกษุ ผมผู้นั่งหลับตาได้ความอย่างนี้ ตามประสาผู้เฒ่า”

แล้วองค์ท่านหลวงปู่ก็ปรารภสมาธิ สมาธิแปลว่าตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์ที่เพ่งอยู่อันเดียวเป็นหลัก แต่เมื่อหมดกำลังก็ถอนออกมา ส่วนญาณพิเศษ ว่าหลุด ว่าพ้น ยังไม่ปรากฏ เป็นเพียงพักอารมณ์อันหยาบเฉย ๆ เรียกว่าจิตใจพักงานอันหยาบของอารมณ์
79#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 18:21 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
แต่จะติดอยู่แต่เพียงรสของสมาธิไม่ได้ เพราะรสของสมาธิเป็นรสขนาดกลาง ต้องพิจารณาใช้สติปัญญาลงสู่ธาตุขันธ์ ในส่วนรูปขันธ์นามขันธ์ให้เสมอภาคเหมือนหน้ากลอง ทั้งอดีต ทั้งอนาคตปัจจุบันใด ๆ ทั้งสิ้น ลงสู่ไตรลักษณ์เสมอหน้ากลองอีกเรื่อย ๆ ติดต่ออยู่ไม่ขาดสาย ย่นย่อลงมาเป็นหลักอันเดียวในปัจจุบัน ทรงอยู่ซึ่งหน้าสติ ซึ่งหน้าปัญญา ตราบใดนิพพิทาญาณยังไม่ปรากฏแก่สันดานอันประณีต ก็พิจารณาติดต่ออยู่ไม่ขาดวรรคไม่ขาดตอนอยู่อย่างนั้น มีทางเดียวเท่านั้น ไม่มีทางอื่นเลย

แต่นาน ๆ จึงจะพิจารณาคราวหนึ่ง ขาด ๆ วิ่น ๆ นั้น ผู้มีนิสัยหยาบก็พอประทังไปเท่านั้น ไม่สามารถจะถึงนิพพิทาญาณ ความเบื่อหน่ายคลายหลงคลายเมาได้ง่าย กลายเป็นหมันไปอีก

สมถกรรมฐานทุกประเภท นับแต่หนังหุ้มอยู่โดยรอบเป็นต้นไปก็ดี หรือล้าน ๆ นัยก็ดีแล ก็ต้องปลงปัญญาลงสู่ไตรลักษณ์ทั้งนั้น เพราะไตรลักษณ์เป็นที่ชุมทางของสมถะ และสมถะคล้ายกับเป็นเมืองขึ้นของไตรลักษณ์แบบตรง ๆ อยู่แล้ว ไตรลักษณ์เป็นเมืองขึ้นของนิพพิทาญาณความเบื่อหน่าย ความเบื่อหน่ายเป็นเมืองขึ้นของวิมุตติ วิสุทธิ นิพพาน พระโสดาบันเปิดประตูเข้านิพพานได้แล้ว แต่ยังไม่ถึงศูนย์กลางพระนิพพาน ยังไม่ได้เที่ยวรอบในพระนิพพาน

จริงอยู่ พระนิพพานไม่มีประตูรูป ประตูนาม ศูนย์ขอบศูนย์กลางไป ๆ มา ๆ อยู่ ๆ อะไร เป็นเพียงอุทาหรณ์เทียบเฉย ๆเพราะคำพูดก็เป็นวจีสังขาร พระนิพพานมิใช่คำพูดและนึกคิด หรือรสสิ่งต่าง ๆ มีรสเกลือ เป็นต้น ซึ่งเป็นรสหยาบ ๆ ในโลกของโลกลิ้น โลกผัสสะ กระทบจึงจะรู้จักเค็ม เว้นไว้แต่ชิวหาประสาทพิการ แม้ชิวหาประสาทจะพิการก็ตาม รสของเกลือเค็มตามธรรมชาติของความจริงก็เค็มอยู่อย่างนั้นแล ฉันใดก็ดี ความนึกจิตและคำพูดก็ดี จะไม่นึกคิดพระนิพพานอยู่ก็ตาม พระนิพพานก็เป็นธรรมชาติอันไม่ตายอยู่นั้นแล ลิ้นพิการเปรียบเหมือนยังไม่รู้รสนิพพาน

องค์ท่านเปรียบเทียบอีก สีมา พัทธสีมา ที่คณะสงฆ์ทำกรรมถูกต้องไม่เป็นสีมาวิบัติ คณะสงฆ์ ๔ รูปขึ้นไปก็สวดถอนได้ แต่โลกุตตรธรรมนี้ละเอียดไปกว่านั้น นับแต่พระโสดาบันขึ้นไปหาพระอรหันต์ แม้พระบรมศาสดาทุก ๆ พระองค์ อริยสงฆ์ของพระพุทธเจ้าเหล่านั้นทั้งหมดจะพร้อมกันมาสวดถอนจิตใจของพระโสดาบันก็ดี ให้เป็นปุถุชนคนหนาย่อมเป็นไปไม่ได้

เหตุนั้นพระอริยเจ้าทั้งหลายจึงยอมเคารพธรรมอย่างแจบจม ไม่จืดจาง ไม่ใช่ว่าพระอริยเจ้าทั้งหลายไม่ถือมั่นแล้วจะไม่เคารพธรรม ยิ่งเคารพมากกว่าปุถุชนคนหนาไม่มีประมาณได้ ไม่ใช่ว่าถอนอุปาทานความยึดมั่นถือมั่นได้แล้วก็เลยเถิดไป ไม่มีข้อวัตรเคารพธรรม เรียกว่าพระอริยเจ้าเลยเขตแดน กลายเป็นพระอริยะของพระเทวทัต แต่ท่าน(พระเทวทัต)ก็เห็นความผิดของท่านแล้ว แต่เห็นความผิด รู้ตัวจวนค่ำ เลยไม่มีเวลาขอขมาโทษพระองค์ ได้ขอแต่ลับหลัง เพียงไหล่ขึ้นมาหาคอหาหัว โดยน้อมถวาย ถึงกระนั้นก็ยังจะได้เป็นพระปัจเจกในอนาคต เพราะได้สร้างบารมีมาได้สองอสงไขยแล้วยังเหลือแสนมหากัป แต่ยังเป็นโลกีย์อยู่ จึงสามารถประพฤติล่วงอนันตริยกรรมได้

หลวงปู่มั่นประชุมคณะสงฆ์วันนั้นถึงหกทุ่มนับทั้งปกิณกะสารพัด

http://www.dharma-gateway.com/mo ... /lp-lah-hist-06.htm
80#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 18:21 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
พิธีปลุกเสกพระพุทธรูป

กล่าวเรื่องคือไปอีก ปฏิปทาของหลวงปู่ทอดสะพานให้ลูก ๆ หลาน ๆ ยังมีอยู่อีกมากมายนัก การเรี่ยไรแผ่ ๆ ขอ ๆ ในทางตรงและทางอ้อม และจัดงานขึ้นในวัด เพื่อหารายได้สมทบการก่อสร้างหรือซ่อมแซมที่เกี่ยวกับตัวเงิน ๆ ไม่มีในขันธสันดานขององค์หลวงปู่เลย ของรางของขลังไม่มีในปฏิปทาเลย รูปเหรียญ ขายพระเล็กพระน้อย พุทธาภิเษกก็ไม่มีในปฏิปทาขององค์ท่านเลยนา วิชาปลุกเสก แกะหู แกะตา แคะหู แคะตา ให้พระพุทธรูปหรือทำพิธีบวชให้พระพุทธรูปก็ไม่มีในสันติวิธีขององค์ท่าน

องค์ท่านกล่าวว่า

“สมมุติเป็นพระพุทธรูปแล้วก็เสร็จกัน เราดีอย่างไรจึงจะไปบวชให้องค์ท่าน องค์ท่านบวชก่อนเราแล้ว เราดีอย่างไรจึงจะไปปลุกท่านให้ตื่น ท่านตื่นก่อนเราเข้าสู่อนุปาทิเสสนิพพานแล้ว เราดีอย่างไรจึงจะไปแคะหูแคะตาให้องค์ท่าน ตานอก ตาใน หูนอก หูในขององค์ท่านดีกว่าเราแล้ว จะภิเษกภิษันให้องค์ท่านเป็นอะไรอีก องค์ท่านเป็นพระพุทธเจ้าเต็มภูมิแล้ว จะเอาไสยศาสตร์ไปพอกไปทาองค์ท่านทำไม นั้นแหละตัวบาป นั้นแหละขุมนรกขุมมิจฉาทิฏฐิ เห็นผิดเต็มภูมิแล้วยังสำคัญว่าเห็นชอบ เข้าข้างตัวแต่ไม่เข้าข้างธรรมวินัย เพียงเท่านี้ก็ยังไม่รู้จักผิดรู้จักถูกแล้ว ธรรมอันละเอียดลออก็ยังมีขึ้นไปกว่านี้มาก ไฉนจะรู้ได้”

พูดไปมากเป็นภัย แต่มีประโยชน์แก่นักปราชญ์ แต่บาดหูผู้ไม่ชอบและจะถูกกล่าวตู่ว่า ขัดขวางรายได้แห่งวัตถุตัว ง. แต่เมื่อไม่พูดยามมีชีวิตอยู่ ก็ไม่รู้ว่าจะไปพูดในเวลาไหน เพราะตายแล้วพูดไม่ได้ และคนเราเป็นส่วนมาก มักจะเข้าใจผิดไป คือเราจะทำดีตอนไหน ๆ ก็เป็นคนขี้ขลาด แต่เมื่อมีผู้พาทำชั่ว กลับอาจหาญใส่ อยากจะอวดว่าตนเป็นผู้ใจถึง นักปราชญ์อวดว่าใจถึงทางทำดี คนพาลอวดใจถึงทางทำชั่ว ผลฝ่ายรับ ได้รับผิดกัน รสชาติของผลที่ได้รับก็ผิดกันราวฟ้ากับแผ่นดิน

สิ่งที่มีวิญญาณครองสิงอยู่ในไตรโลกธาตุ ย่อมเป็นผู้ใจถึงทั้งนั้น ถ้าใจถึงทางดี ใจก็ได้รับผลดีตามส่วน ควรค่าของเหตุที่ทำดี ถ้าใจถึงทางชั่วใจก็ได้รับผลชั่วตามส่วน ควรค่าของเหตุชั่ว พระเทวทัตใจถึงทางมหาอเวจี พระอนาคามีใจถึงทางปราศจากกามและปราศจากโทสะ พระอรหันต์ใจถึงทางไม่มีกิเลส แมลงวันใจถึงทางกินมูตรคูถ แมลงผึ้งแมลงภู่ใจถึงทางกินเกสรดอกไม้

เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ได้ความชัดขึ้นว่า เหตุใจ ผลใจ ส่วนไปทางชั่วแล้วแต่เหตุ ส่วนน้อยมากก็แล้วแต่เหตุ จะดับเหตุชั่ว ก็ต้องดับที่ใจ จะสร้างเหตุดี ก็ต้องสร้างที่ใจ อนันตเหตุก็ใจเป็นผู้สร้างขึ้น อนันตผลก็ใจเป็นผู้ได้รับ จะปฏิเสธเหตุผลไปทางใดก็ไปไม่รอดได้

คัมภีโร แปลว่าล้ำลึกถึงใจ ใจนี้จะทำให้ลึกก็ลึกได้ จะทำให้ตื้นก็ตื้นได้ เพราะใจเป็นผู้ทำ แต่ก็ต้องพร้อมด้วยองค์สติองค์ปัญญาอีก มิฉะนั้นแล้วจะเป็นศิษย์ไม่มีครูไม่มีขอบเขตได้ จะกลายเป็นลมพัดนุ่น หรือไม้ลอยน้ำ หรือว่าวเชือกขาด

ฉะนั้น พระบรมศาสดาจึงยืนยันว่า เรามิได้อยู่ใต้อำนาจของใจ เราบังคับใจได้ในกาลที่ควรบังคับ ปุริสทัมมสารถิ เราฝึกใจได้เหมือนนายสารถีฝึกม้า ใจที่ฝึกฝนแล้วตอนไหน ๆ ก็นำสุขมาให้ใจตอนนั้น เหมือนมีดที่ลับคมแล้วนำคมมาให้มีด ฉะนั้น เราจึงมักพูดกันว่า มีดนี้คมดี ไม่ได้พูดว่าคุณนี่คมดี ถ้ามีดไม่คมเล่าก็มักพูดว่า มีดนี้ไม่คมแท้ ไม่ได้พูดว่าคุณนี้ไม่คมแท้ นี้เป็นรูปเปรียบตื้น ๆ แต่มีดมันก็ไม่ได้ยืนยันว่ามันเป็นมีดดอก และมันก็มิได้ยืนยันว่ามันเป็นเหล็กฝนหรือไม่ฝนดอกนะ เพราะเป็นสมมุติ ใช้กันในสังสารวัฏ

เพราะใจเป็นต้นสมมุติ สมมุติมรรคผล นิพพานเป็นมหาสมมุติที่สูง แต่รสชาติของสมมุติมรรคผลนิพพาน ไกลกันกับรสชาติสมมุติว่ากิเลสจนมองไม่เห็นได้ด้วยตานอกอันจับหน้าผาก ตาจับใต้หน้าผากกับตาเนื้อก็มีความหมายอันเดียวกัน
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้