ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

~ หลวงปู่หล้า เขมปตฺโต วัดบรรพตคีรี(วัดภูจ้อก้อ) ~

[คัดลอกลิงก์]
31#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 16:18 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ไตรสิกขา

                ไฟฟืนทิพย์เผากิเลสนั้นจะเอามาจากไหนเล่า พระบรมศาสนาและพระอริยสาวกพระอริยสาวิกาของพระองค์ทรงหาไว้แล้ว จะเผาจะสุมอยู่ทั้งหมดทั่วทั้งไตรโลกาก็ไม่หมดฟืน เป็นไฟก็จะเผาโดยนัยเดียวกันคือศีล สมาธิ ปัญญา ที่ชี้ลงสู่หัวใจทุก ๆ รูป ทุก ๆ นาม

อริยธัมเม ฐิโต นโร (อริยธรรมตั้งอยู่ที่นรชน) ศีล สมาธิ ปัญญา ทางพระพุทธศาสนานี้เอง จะว่าเป็นกองดับเพลิงโลกก็ถูก จะว่าเป็นยาโอสถก็ใช่ จะว่าเป็นไฟเป็นฟืนเผากิเลสก็ถูก จะว่าเป็นแว่น ส่องตาส่องใจไปสู่ทางร่มเย็นก็ได้ไม่ผิด จะว่าศีลมรรค สมาธิมรรค ปัญญามรรค ศีลผล สมาธิผล ปัญญาผลก็ได้ทั้งนั้น จะว่าจิตมรรค จิตผลก็ได้ทั้งนั้น ใช้สำนวนโวหารหลายอัน แต่มีความหมายเดียวกัน เหมือนแกงหม้อใหญ่ แต่เมื่อลงมือฉันแล้วก็มีความหมายว่าอิ่มอยู่ที่ท้องขณะเมื่อฉันพอ ขึ้นอยู่กับภาพพจน์ของจิตที่มีสติปัญญาจะรู้เท่าทันเทียมถึง

ศีล สมาธิ ปัญญานี้ปรารภเป็น ติกะ หมวด ๓

ถ้าจะขยายเป็นมูลกระจายออกไป ก็ครบแปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์

ถ้าจะย่นลงสั้นก็ เอกจิต เอกธรรมในปัจจุบัน

ถ้าจะย่นลง ๒ ก็ กาย กับ ใจ ก็ว่า ธรรมกับวินัย ก็ว่า รูปขันธ์นามขันธ์ ก็ว่า จะว่าไปน้อย ไปมาก ก็ออกจากผู้ปัจจุบันนี้ จักนับไปกี่กองกี่ล้าน ๆ โกฏิ ๆ อสงไขย ก็ออกไปจากหนึ่งในปัจจุบัน จะตามอดีตก็พุ่งออกไปจากปัจจุบัน จะคาดหมายหรือทำนายทายทักในอนาคตก็พุ่งออกไปจากปัจจุบัน จะจริงเพียงไหนหรือไม่จริงเพียงไหนขึ้นอยู่กับปัจจุบันจะรอบคอบ ไม่เป็นหน้าที่จะไปจับผิดจับถูกกับอดีตอนาคต

ในทางธรรมฝ่ายปรมัตถ์อันลึกซึ้ง ผู้ไม่รู้จักรสชาติของปัจจุบันจิตปัจจุบันธรรมแล้วย่อมหนักใจในการปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนา และก็ไม่รู้จักการขยายออก และไม่รู้จักย่นเข้า ผิดหลักของ สังคโห คือ ย่นเข้ามา ผิดหลักของ อสังคโห ที่ไม่สงเคราะห์ย่นหรือขยายออก เมื่อรู้จักแล้วจะขยายหรือไม่ขยายก็ไม่สงสัยในโวหารน้อยและมาก

ย้อนคืนมากล่าวเรื่องลาออกจากภูผาแด่น เดินทางต่อไปพักอยู่หนึ่งคืนแล้วบิณฑบาต ฉันเสร็จแล้วเวลาประมาณบ่าย ๒ ก็ลา เดินทางลัดไปค่ำบ้านนานกเค้า

พอดีวันนี้ได้พักนอนกลางทุ่งทางทิศตะวันออกบ้านเขา แต่อากาศก็มีหนาวซ้ำท้ายฤดูอยู่บ้าง ปูผ้านอนลงบนแผ่นดินโต้ง ๆ ไม่มีใบไม้รอง ตองฟางก็ห่างลักลั่นเพราะโคกระบือกัดกินหมด มุ้งก็ไม่ได้กาง กางแต่กลด แล้วก็วางกลดตะแคงลงให้เป็นเงื่อมแล้วผินหัวใส่ ส่วนกลางตัวและขาก็ไม่หุ้ม นอนกำหนดลมหายใจออกเข้า จิตใจและสติอยู่กับลมอันมาถูกต้องแบบเบา ๆ ไม่ฟุ้งซ่านไปทางอื่นเลย ตาใสแจ๋วไม่ง่วงไม่เหงา คล้ายกับว่าไม่หลับ เพราะไม่ปรากฏว่าฝันอะไร กายใจเบามาก แต่ผ้าจีวรที่ห่มเฉวียงบ่านั้นด้านกลางตัวลงไปถึงแข้งเปียกด้วยหมอกหมด ส่วนฝ่าเท้าไม่ได้เอาผ้าคลุมเพราะเกรงจะสกปรก เพราะเท้าไม่ได้ล้าง

ตื่นเช้าได้เวลาเข้าไปบิณฑบาตบ้านนานกเค้า ออกมานอกริมบ้านเขา ฉันเสร็จเรียบร้อยแล้ว ลาเขาเดินทางตามชายเขา ตรงไปทิศตะวันตก ข้ามหนทางรถยนต์เส้นจังหวัดสกลนคร ผ่านไปกาฬสินธุ์ สมัยนั้นรถยนต์ยังไม่ได้แล่นไปกาฬสินธุ์ เพราะทางยังไม่เสร็จ แล้วผ่านบ้านโพนงาม ถึงบ้านพระคำภูค่ำมืดพอดี แล้วพักวัดร้าง เช้าบิณฑบาตฉันเสร็จ เดินทางต่อผ่านบ้านอูนดง ถึงวัดป่าบ้านหนองผือประมาณเที่ยงวัน จิตใจก็เบาขึ้นมากนัก
32#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 16:24 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
มอบกายถวายชีวิตต่อพระอาจารย์มั่น


พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต

ขณะนั้นองค์ท่านกับคณะสงฆ์กำลังทำผ้ารองก้นบาตร องค์ท่านพระอาจารย์ก็รีบห่มผ้าเฉวียงบ่านั่งเรียบอยู่ วางบริขารไว้ที่ควรแล้วก็กราบองค์ท่าน

องค์ท่านกรุณาถามว่า “มาจากไหน”

กราบเรียนว่า “มาจากถ้ำพระเวส”

ถามว่า “ภาวนาเป็นอย่างไร”

กราบเรียนว่า “ยังไม่เป็นอะไร คงเป็นเพียงว่าศรัทธาเท่านั้น”

แท้จริงอยากจะกราบเรียน เรื่องเสียงตูมลงจนภูเขาทั้งลูกกระเด็นนั้นอยู่แต่ไปใหม่ก็เก็บไว้เสียก่อน เพราะมีพระจ้องคอยฟังคำเรียนถวายอยู่มาก เพราะยังไม่คุ้นไม่เชื่องกับท่านองค์ใด คล้ายกับว่าอวดดีเกินไป พลิกจิตตั้งใจดี ๆ แล้วก็หมอบลงจรดพื้นกระดานศาลาไม่เงยหน้าขึ้น กล่าวว่า

“ขอมอบกายถวายชีวิตต่อพระอาจารย์ ผูกขาดทุกลมปราณ ตลอดทั้งคณะสงฆ์ในทีนี้ทุก ๆ องค์ด้วย ข้าน้อยว่าจะมาแต่ปีกลายนี้ แต่ท่านเจ้าคุณเทพกวีบอกว่าให้ไปหัดภาวนากับหลวงพ่อบุญมี วัดป่าหนองน้ำเค็ม เสียก่อนในปีนี้”

องค์ท่านได้ฟังแล้วก็บอกพระเณรเอาบริขารไปที่กุฏิที่ว่าง กราบแล้วก็ตามบริขารไปที่พัก

ขณะนั้นเป็นเดือนเมษายนข้างขึ้น แต่ลืมวันที่เพราะไม่ได้ดูปฏิทิน เป็น พ.ศ. ๒๔๘๙ ขณะนั้นอาจารย์มหาบัวก็อยู่นั้นก่อนข้าพเจ้าแล้ว พระอาจารย์วันก็ไปก่อนเดือน แต่เป็น พ.ศ. เดียวกัน อาจารย์ทองคำก็ไปอยู่ก่อนพระอาจารย์วัน แต่เป็น พ.ศ. เดียวกันอีก เมื่อคิดคืนหลังแล้วเป็นธรรมสังเวชถึงใจไม่จืดจาง


พระอาจารย์มหาบัว
ญาณสัมปันโน


เมื่อล่วงถึง ๕ วันแล้วก็เข้าไปกราบเท้าขอนิสัย องค์ท่านก็ได้กรุณารับ พระอาจารย์มหาบัวได้โอกาสลับหลังหลวงปู่มั่นแล้วก็กรุณาเตือนว่า

“เอาให้ดีนะ เมื่อคุณได้มอบกายถวายตัวกับองค์ท่านแบบแจบจมอย่างนี้แล้วต้องเข่นหนักนะ เพราะองค์ท่านมีความหมายว่าจะจริงเหมือนที่มอบกายถวายตัวหรือไม่ หรือเป็นเพียงมายาว่าเปล่า ๆ แล้วจะแสดงการสู้ข้อต่อครูเหล่านี้เป็นต้น เพราะธรรมดาเหล็กเมื่อเอามาให้ช่างตี ช่างก็ต้องตี พอจะเป็นมีดเป็นพร้าก็ต้องให้รู้จัก ถ้าเป็นเหล็กก้นเตาก็ใช้ไม่ได้ คืนให้เจ้าของเดิม ถ้าเป็นเหล็กแข็ง เผาไฟแดง ๆ แล้วก็ตีลงไปอย่างหนักนะท่าน แต่การตีค่อย ตีแรง ไม่เป็นหน้าที่ของเหล็กจะไปผูกขาดตั้งกฎไว้ผูกมัดช่างผู้จะตีนะท่าน สิ่งเหล่านี้ท่านต้องรู้ล่วงหน้าไว้นะ ผมนึกสงสารท่าน เพราะเป็นคนชาวอุดรด้วยกัน แม้ตัวของผม ท่านก็เข่นมามากแล้วด้วยอุบายต่าง ๆ ธรรมดาพ่อแม่ถึงจะเข่นลูก ๆ เต็มภูมิสักเพียงไรด้วยอุบายต่าง ๆ นานาก็ดี ยังมีเมตตาอยู่เต็มภูมิและถือว่าเป็นลูก ๆ อยู่เต็มภูมินั้นเอง”
33#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 16:24 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ในขณะที่พระอาจารย์มหาเทศน์ให้อุบายอยู่นั้น ข้าพเจ้ายกมือประนมฟัง นั่งนิ่งพิจารณาตามกระแสที่เทศน์ พอเสร็จองค์ท่านก็กลับที่พักของท่าน เมื่อพิจารณาแล้ว องค์ท่านบอกขุมทรัพย์เอาเพชรเอาพลอยไว้ให้เราเป็นทุน องค์ท่านสมภูมิเป็นมือขวาของหลวงปู่มั่นในยุคบ้านหนองผือแท้ ๆ

ครูบาอาจารย์ชุดใหญ่องค์อื่น ๆ มิได้เป็นมือขวาดอกหรือ

เป็นอยู่เต็มภูมิเหมือนกัน แต่ว่าองค์ท่านไปเป็นหัวหน้าอยู่อาวาสอื่น ๆ นี้หมายเฉพาะในวงชุดยุควัดป่าหนองผือเท่านั้น มิได้หมายว่าจะลบหลู่ดูหมิ่นชุดก่อนเก่า ไม่เลยนา

เมื่อกล่าวถึงยุคบ้านหนองผือที่ข้าพเจ้าไปมอบกายถวายชีวิตอยู่ด้วย ก็จำได้กล่าวปฏิปทาของพระอาจารย์ใหญ่มั่นและพระอาจารย์มหาบัวไปในตัว เพราะท้องเรื่องสมัยนั้นสัมพันธ์กันเหมือนเดือนดาวในท้องฟ้า เพราะเป็นประวัติของตนที่เห็นด้วยตา พิจารณาด้วยใจ ได้ปฏิบัติตามองค์ท่านตามสติปัญญาของตน แต่จะเป็นเหมือนกาจับภูเขาทองหรือกบเฝ้าดอกบัว ก็เป็นหน้าที่ของตนเองจะรู้ตัวเท่านั้น และต้องการเป็นศิษย์ที่มีครูนอก ครูใน ครูจิต ครูใจ ครูปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ มรรคผลนิพพาน เพราะไม่ต้องการครูอัตโนมติ บัญญัติเอาเอง

คนเราถ้าขาดการฟังการตรึกตรอง ให้รู้จักสิ่งที่ดีหรือชั่วโดยอุบายที่ชอบแล้ว ก็จะเป็นไปได้ยาก จะเป็นเหล็กดีสักเพียงไรก็ตาม ก็ต้องได้รับเข่น รับฝน รับชุบ ลับคมจากหินก่อนจึงจะใช้ได้บ้าง มิฉะนั้นแล้วไม่สมบูรณ์ บางท่าน ตนไม่ทันได้ดีพอก็อยากจะให้ครูบาอาจารย์ยกยอท่าเดียวตลอดไป เรียกง่าย ๆ ว่าบ้ายอ ก็หาได้ง่าย มีอยู่มากหลาย แต่ขายไม่ออก

ครูบาอาจารย์ดี ตอนใดลูกศิษย์ทำดี ย่อมส่งเสริม ตอนไหนทำชั่ว ย่อมกีดกัน การกีดกันถูกกาล หรือไม่ถูกกาล ค่อยหรือแรงแล้วแต่กรณี ไม่เป็นหน้าที่ของลูกศิษย์จะไปตั้งกฎเกณฑ์ผูกมัดอาจารย์ไว้ ไม่เป็นหน้าที่ของเหล็กจะไปผูกมัดช่างตีไว้ ว่าเมื่อมีผู้มาล้อมเตาอยู่มาก อย่าเผาข้าน้อยให้แดงมาก และอย่าตีข้าน้อยให้แรงมากเน้อ มันจะเสียมรรยาท ไม่เป็นหน้าที่ของเหล็กจะมาตั้งกฎเกณฑ์ได้ ช่างจะให้แขกเห็นความสามารถของช่างตีเหล็กอีกซ้ำก็ได้เป็นบางราย

เขาหักรถเข้าทาง ก็หักเวลากำลังเลี้ยวออกทาง ถ้าไม่อย่างนั้นแล้วไม่ทันกับเวลา จิตใจภายในก็เหมือนกัน ขณะไหนพลิกไปทางกามวิตก ตรึกไปทางกามก็ดี พยาบาทวิตก ตรึกไปทางพยาบาท หิงสาวิตก ตรึกไปทางเบียดเบียน ต้องพลิกคืนสู่สภาพเดิม มิฉะนั้นจะเย็นเกินไปจนบูด ฉันไม่ได้ เสียท้องปวดท้องต่าง ๆ
34#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 17:20 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
อาจริยวัตร


กุฏิหลวงปู่มั่น วัดป่าบ้านหนองผือ
ภาพจาก www.luangpumun.org


กล่าวต่อไปในวาระที่อยู่ในยุคหนองผือ ข้อวัตรส่วนตัวขององค์ท่าน ที่ท่านทำอะไรบ้าง เหล่านี้เป็นต้น และสอนลูกศิษย์ขนาดใด สอนญาติโยมขนาดใด จะได้กล่าวปะปนกันไป เพราะมิได้ชำนาญในการเขียนและการเรียง ดังได้กล่าวมาแล้วในตอนต้น ๆ นั้น

ข้อวัตรประจำตัวองค์ท่าน ตอนกลางคืนตีสาม ล้างหน้าบ้วนปากใส่กระโถนปากกว้างแบบเงียบ ๆ ห่มผ้าเฉวียงบ่า ไหว้พระสวดมนต์เงียบ ๆ ในห้องขององค์ท่าน บางวันก็สวดนานประมาณสามสิบนาที ได้ยินเสียงอยู่บ้าง แต่ไม่รู้ว่าสูตรใดแท้ เพราะเป็นขโมยแอบฟังทั้งกลัวด้วย ครั้นสวดมนต์เสร็จแล้วก็นั่งภาวนา ตะเกียงเล็ก ๆ จุดไว้นอกมุ้งกลด ภาวนาไปจนสว่างเป็นวันใหม่ได้อรุณ ลูกศิษย์ที่ไปรวมกันคอยรับเพื่อเอาข้อวัตรเช้า ในยามจะออกจากห้อง ไปคอยอยู่แบบเงียบ ๆ มิได้พูดกันซุบ ๆ ซิบ ๆ เลย


ทางเดินจงกรมที่ข้างกุฏิ
พระอาจารย์มั่น
ภาพจาก www.luangpumun.org


พอองค์ท่านกระแอมเสียงเบา ๆ ก็เปิดประตูค่อย ๆ เมื่อองค์ท่านเดินออกมาที่ระเบียง ต่างก็เอาข้อวัตรของใครของมัน ผู้เอาบาตรก็เอาแต่บาตร ผู้เอาจีวร ผู้นุ่งผ้าถวาย ผู้รัดประคตเอว ผู้รับผ้าเช็ดหน้าออกจากมือองค์ท่าน ผลัดผ้านุ่งแล้วยื่นถวายคืน ผู้เอากระโถนไปล้าง ผู้กวาดกุฏิ ผู้กวาดทางข้างล่างชายคา ระเบียงจงกรม ผู้คอยใส่รองเท้าสวมถวายใกล้ที่ลงบันได ผู้เอาไม้เท้าไปรอไว้ที่ศาลาฉันเพื่อจะรอถวายในเวลาเข้าบิณฑบาต ผู้เอาไฟถ่านอั้งโล่ไปวางไว้ที่ทางจงกรมหัวท้ายแห่งละอัน แล้วคอยสังเกตการณ์อยู่ตามบริเวณแถบนั้น เพราะเมื่อองค์ท่านไปศาลาจะได้เอาตามไปถวายที่ศาลาฉันอันหนึ่ง เตาหนึ่งจะได้รีบเก็บไว้ องค์ท่านเดินจงกรมก่อนไปบิณฑบาต ไม่ขาด

ได้เวลาก็เดินไปศาลาไกลจากกุฏิองค์ท่านประมาณหนึ่งเส้น ผู้รักษาไฟอั้งโล่ก็ยกไฟตามหลัง ขึ้นไปไว้ที่ใกล้องค์ท่านนั่งฉัน เพราะธาตุไฟอ่อน มีอาการหนาว และจะได้เอาผ้าอาบและผ้าคลุมตักมาอังและผึ่งเพื่อได้รับไออุ่นเพิ่มขึ้น

ให้เข้าใจว่าลูกศิษย์ที่ถือนิสัยมีอยู่กี่องค์ ก็ต้องมีข้อวัตรกับองค์ท่านทุก ๆ รูป ไม่สับสนก้าวก่ายกัน ของใครของมัน ทั้งตรงต่อเวลาด้วย เป็นระเบียบเรียบร้อย เงียบสงัดไม่เกรียกราว เว้นไว้แต่องค์นั้น ๆ ป่วยก็มอบให้องค์อื่นชั่วคราว เมื่อหายป่วยแล้วก็เข้าทำหน้าที่ตามเคย ส่วนงานส่วนรวม เช่น กวาดลานวัด ตักน้ำ รักษาโรงไฟ โรงฉันต่าง ๆ ต้องเอาใจใส่พร้อมเพรียงกันทั้งนั้น ไม่ต้องมีการตีระฆังนัดหมายให้เป็นการบังคับร้องเรียกมา เวลาของใครของมันแล้วแต่จะสังเกตไว้ ใครอ่อนแอเหลาะแหละต้องถูกเข่นต่อหน้าสงฆ์และต่อหน้าญาติโยมเสมอ ๆ องค์ท่านไม่ไว้หน้าใครเลย จะกล่าวข้างหน้าปะปนกันไปดอก
35#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 17:20 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
การซ้อนผ้าบิณฑบาต

จะกล่าวการเตรียมไปบิณฑบาต เมื่อองค์ท่านเดินไปถึงบันไดศาลา ก็มีผู้หนึ่งคอยรับถอดรองเท้าเอาเก็บไว้ที่ควร ระวังมิให้น้ำถูก เพราะรองเท้าหนัง องค์หนึ่งถือกระบวยล้างเท้าด้วยมือขวา มือซ้ายถูตามแข้งและฝ่าเท้าทั้งใต้ฝ่าเท้าและหลังเท้า เทถูเทถูโดยเร็วและไม่ให้กระทบกระเทือนด้วย และไม่แสดงมารยาทอันไม่ตั้งใจแลบออกมาให้ปรากฏด้วย และมีผู้คอยเช็ดเท้าอีก ต้องเช็ดเร็ว ๆ แต่เร็วมีสติ ไม่ให้กระเทือนเกินไป ไม่ให้เบาเกินไป

องค์ท่านขึ้นไปถึงศาลาฉัน ไม่ได้นั่งลงกราบ เพราะศาลาฉันโต้ง ๆ ไม่มีพระพุทธรูป (ศาลามีพระพุทธรูปลงอุโบสถต่างหาก) แล้วก็ซ้อนสังฆาฏิถวายองค์ท่าน เว้นไว้แต่ท่าทางฝนจะตก ขณะนี้ต้องซ้อนช่วยกันสององค์ องค์หนึ่งม้วนลูกบวบช่วยสองสามรอบแล้วปิดรังดุมคอถวาย องค์หนึ่งปิดรังดุมใต้ถวาย การเข้าบ้านซ้อนสังฆาฏิกลัดรังดุมใต้และบนนี้ องค์ท่านถือเคร่งมาก ตลอดถึงการนุ่งสบงที่มีขัณฑ์เข้าไปธุระบ้าน เช่น บิณฑบาตและสวดมนต์ องค์ท่านกล่าวว่า

“การห่มผ้านุ่งผ้า พระลังกาชอบเอาอนุวาตเข้าข้างในเพราะกันผืนเติมไม่ให้ซุยผุก่อนอนุวาต จะเอาอนุวาตเข้าข้างในหรือออกนอกก็ไม่ผิดวินัย จะผินเบื้องบนเบื้องล่างสลับกันไปก็ไม่ผิดพระวินัยเพราะที่ระแข้งจะได้ทนหรือสึกหรอทันกัน”

องค์ท่านอธิบายอย่างนั้น ผู้เขียนได้ฟังกับหู เห็นกับตาและชอบจำมา ถ้าไม่เขียนให้ละเอียดบ้าง ยุควัดป่าบ้านหนองผือของหลวงปู่มั่นก็จะเลือนลาง ไม่สมดุลกับผู้เขียนที่เป็นกบไปเฝ้าดอกบัว เป็นกาไปจับภูเขาทองสี่ปีเศษ เพราะยุควัดป่าบ้านหนองผือเป็นยุคสุดท้ายแห่งหลวงปู่มั่น และเก็บลูกศิษย์ก็เก็บไว้มากกว่ายุคใด ๆ ในสำนัก

สิ่งใดเป็นประโยชน์แก่ลูกศิษย์ก็ทุ่มเท ทอดสะพานให้ไม่ปิดบัง ไม่ว่าแต่เท่านี้ ผ้าสังฆาฯ และจีวรขององค์ท่าน ท่านใส่รังดุมทั้งดุมคอและดุมล่างทั้งสองทาง วันหนึ่งห่มผินทางหนึ่งขึ้นสลับกันเป็นวัน ๆ ลูกศิษย์ผู้ไปซ้อนไปห่มให้ ต้องมีสติจำไว้จึงห่มถวายให้ถูกเป็นวัน ๆ จึงถูกกับธรรมประสงค์ขององค์ท่าน การจำของก๊อก ๆ แก๊ก ๆ ประสมประสานกันไว้เป็นของประกอบปฏิปทาขององค์ท่านและลูกศิษย์ด้วย ไว้ให้สำเหนียกในปัจจุบันและอนาคต ว่าลบเลือนเปลี่ยนแปลงมาตามยุคตามสมัยเพียงไรบ้างในข้อวัตร

ถ้าเขียนข้อวัตรปฏิบัติพระเถระฝ่ายธุดงค์ในอดีตกาลยุคกรุงเทพฯก็เกรงว่าจะกระเทือนโลกปัจจุบันนี้แล้ว ผู้เขียนก็มีที่อ้างครั้งพุทธกาลเป็นศาลพิจารณาว่าเด็ดเดี่ยวประเปรียวเพียงไร มี ภิกขเว ภิกขเว ออกหน้าแล้ว ห้ำ ๆ หั่น ๆ ซ้ำ ๆ ซาก ๆ อยู่ทุกบททุกตอน

การสำคัญตัวว่าประพฤติเคร่งในปัจจุบันของยุคเดี๋ยวนี้ก็ดี คงจะพอเป็นการพอใช้ได้ในครั้งพุทธกาลหรือประการใด การสำคัญตัวว่าเป็นมัชฌิมา คงจะเป็นจวนจะพอใช้ในครั้งพุทธกาลกระมัง การสำคัญตัวว่าหย่อนบ้าง คงจะเป็นเหลวมากจนฉันไม่ได้ในครั้งพุทธกาล ก็อาจจะเป็นได้

ครั้งพุทธกาล (ถ้า)เดินจงกรมจนเท้าแตก จึง(จะ)ว่าเคร่งจนเกินไป แต่ทุกวันนี้เดินไปชนหินตอเลือดออกบ้าง ก็ว่าตนอดทนและเคร่ง ตนไม่มีสติก็ไม่ว่าเสียแล้ว น่าควรคิดไว้

ผู้เขียนเล่า ดีขนาดไหนล่ะ

ผู้เขียนก็ไม่ดีดอก มีแต่คำพูด แต่เขียนไว้เพื่อเตือนตนในยามที่ควรเตือน และ(เรื่อง)การเขียนการแต่ง หลวงปู่มั่นก็ไม่ค่อยส่งเสริม เพราะองค์ท่านถือว่าพระพุทธเจ้าเขียนแต่งไว้พอแล้ว

เรื่องบิณฑบาต พอหกโมงเช้า ธรรมเนียมบ้านหนองผือเขาก็ตีขอไม้ตะเคียนเป็นสัญญาณดังไกล เป็นสามบทติด ๆ กัน หมายความว่า พอเตรียมตัวใส่บาตรแล้ว พวกเราชาวบ้าน แต่พอพระผ่านละแวกบ้านเขาก็ตีขออีกสามบท เขารวมกันเป็นกลุ่มยืนเรียงรายกันเป็นทิวแถว แต่ละกลุ่มเขามีผ้าขาวปูม้ายาว ๆ ไว้เรียบ ส่วนม้านั่งของหลวงปู่มั่นเขาทำพิเศษต่างหากสูงกว่ากัน พอยืนรับบิณฑบาตแล้วก็นั่งให้พรเขาพร้อมกัน
36#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 17:21 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ไปกลุ่มอื่นอีกก็เหมือนกัน มีสามกลุ่มแล้วก็กลับวัด หลวงปู่มั่นค่อยกลับตามหลัง กับพระผู้ติดตามองค์หนึ่งตามหลังกลับมาด้วย มีโยมผู้ชายรับบาตรพระผู้ใหญ่มาวัด วันละสี่ห้าหกคนไม่ขาด ฝ่ายพระผู้น้อยที่กำลังถือนิสัยและเณรก็ดี รีบกลับให้ถึงวัดก่อน เพื่อจะได้ทันข้อวัตรของครูบาอาจารย์ เป็นต้นว่า ล้างเท้า เช็ดเท้า รับผ้าสังฆาฯ และจีวร หรือเตรียมแต่งบาตรแต่งพก เป็นต้น

แต่ในฤดูพรรษา พระเณรทั้งหลายเข้าเขตวัดแล้วไม่รับอาหารอีก จะได้จัดแจงแต่งถวายแต่เฉพาะหลวงปู่ มีบดอาหารใส่ครกบ้าง ซอยผัก บดในครกให้ละเอียดบ้าง เพราะองค์ท่านจะเคี้ยวไม่ละเอียดเพราะไม่มีฟัน ใช้ฟันเทียมแทน แล้วก็จัดข้าวใส่บาตร องค์ท่านมีข้าวเจ้าปนบ้าง ส่วนกับนั้นจัดใส่ภาชนะถวายวางไว้ใกล้ แล้วองค์ท่านเอาใส่เอง

องค์ท่านฉันรวมในบาตรทั้งหวานและคาวด้วย ไม่ซดช้อนด้วย โอวัลตินนั้นเอาใส่แก้วไม่ใหญ่โต ขนาดกลาง ใส่พอดีพอครึ่งแก้วตั้งไว้มีฝาครอบ พอฉันอาหารอิ่มแล้ว องค์ท่านก็ฉันประมาณสามสี่กลืน ไม่หมดแก้วสักวัน

แต่ก่อนจะลงมือฉัน ก็ให้พรเป็นพิธีพร้อมกัน ธรรมดาบ้าง สัพพพุทธาบ้าง ถ้าวันข้าวประดับดิน และวันสารท สวดพาหุงบ้าง

การให้พร(โดยที่)ไม่ได้ประนมมือ (หรือ) ทั้งสวดพาหุงทั้งใส่บาตรขณะเดียวกัน(นั้น) องค์ท่านไม่พาทำเลย เพราะถือว่าไม่เป็นการเคารพธรรม

ใส่บาตรเรียบร้อยก่อนจึงสวด ถ้าไม่สวดก็ให้พรธรรมดา และก่อนจะลงมือฉันองค์ท่านก็ทอดสายตาลงพิจารณาอาหารในบาตรอยู่สักครู่พอควร จึงลงมือฉัน และ(ถ้า)พระเณรยังไม่เสร็จ ยังจัดแจงของเจ้าตัวแต่ละรายยังไม่เสร็จตราบใด องค์ท่านก็ยังไม่ลงมือฉันก่อน

เมื่อลงมือฉันแล้ว ถ้าไม่จำเป็นจริง ๆ องค์ท่านก็ไม่กล่าวไม่พูดอันใดขึ้น ถ้าจำเป็นจริง ๆ กลืนคำข้าวแล้วจึงพูด แต่น้อยที่สุด เป็นระเบียบเรียบร้อยมาก มีสติอยู่กับความเคลื่อนไหวของกาย ในการจะหยิบ จะวาง จะเหยียดแขน คู้แขน แลซ้าย แลขวา

กิจวัตรประจำวันขององค์หลวงปู่มั่นย้อนมาปรารภเรื่องอาหารที่เข้ามาในวัดแล้วไม่รับในฤดูพรรษา เป็นมติของหลวงปู่มหาพาหมู่ทำ เพื่อตัดรอนความยุ่งยากจุกจิกออกจากหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นเป็นเพียงปรารภว่า

“อาหารที่ได้มาเป็นธรรมตกลงในบาตรแล้ว พระจะแจกกันในวัดหรือนอกวัดก็ไม่เป็นไรหรอก ครั้งพุทธกาลเบื้องต้นที่มีสาวกขึ้นใหม่ ๆ ห้าองค์ มีโกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ อัสสชิ องค์หนึ่งจัดให้เฝ้าบริขาร นอกนั้นไปบิณฑบาตมาเลี้ยงกันเป็นบางคราว เมื่อพระไม่แจกกันฉันกันใช้ จะให้ใครมาแจกให้เล่า แต่เราไม่บังคับในส่วนนอกวัดและในวัด แล้วแต่ศรัทธาเป็นเอง” ดังนี้

และการเว้นไม่ฉันอาหาร (ใน) ยุคหนองผือหลวงปู่มั่น (นั้น) ไม่ค่อยได้ทำกัน ถึงมีผู้ทำ ก็เพียงเว้นวันเดียว คือปี ๒๔๘๙ นั้นเอง มีสิบเอกผั่นอดอาหารวันหนึ่งเท่านั้น ชะรอยจะเป็นเพราะข้อวัตรจำกัด ใคร ๆก็ไม่อยากขาดข้อวัตรอันเกี่ยวกับหลวงปู่มั่นและส่วนรวม

เท่าที่สังเกตดูในยุคนั้น ท่านพระอาจารย์มหาบัว ที่เรียกเดี๋ยวนี้ว่า หลวงปู่มหา เวลาที่อยู่กับหลวงปู่มั่น คงจะนึกอยากจะเว้นอาหารอยู่ แต่(ท่าน)มีเหตุผลในใจว่า เราเป็นพระผู้ใหญ่ (เมื่อ)อยู่กับองค์ท่าน เราจะได้สังเกตองค์ท่านว่าวันหนึ่ง ๆ องค์ท่านฉันได้เท่าไร ข้าวหมดขนาดไหน กับอะไรหมดขนาดไหน เราจะได้สังเกตประจำวัน เพื่อจะจัดถวายให้ถูกเท่าที่มีมาโดยเป็นธรรม แม้องค์ท่านหยิบใส่บาตรเองก็ดี เราจะสงวนรู้ว่าหยิบอะไรบ้าง เพราะเราเป็นห่วงองค์ท่านมาก เมื่อองค์ท่านฉันได้บ้าง เราก็พลอยเบาใจ เมื่อฉันไม่ได้ เราก็สนใจในเรื่องนี้
37#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 17:21 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
หันมาปรารภเรื่องนี้ติดต่อกันไป

หลวงปู่มั่นฉันอิ่มขนาดไหน

ขนาดพอกลาง ๆ ถ้าอิ่มเร็วนัก พระเณรจะเดือดร้อน ถ้าอิ่มช้านัก พระเณรจะเอาเป็นตัวอย่าง คงจะเป็นแบบนี้ ที่ว่านี้(ว่า)ตามสังเกตแล้วเดากัน องค์ท่านอธิบายเป็นเพียงว่า อืดอาดนักก็ไม่ดี หิวนักก็ไม่ดี พอดีของใครของมัน ให้สังเกตเอา นั่ง นอน ยืน เดินก็เหมือนกัน นั่งหมายความว่านั่งภาวนา ยืน เดิน นอน ก็เหมือนกัน แต่ถ้านอนหมายถึงนอนหลับ วันหนึ่งคืนหนึ่งหลับสี่ชั่วโมงพอดี แต่ฉันนั้น ยังอีกสี่ห้าคำจะอิ่มให้หยุดเสียดื่มน้ำแล้วพอดี ส่วนเดินจงกรมนั้นวันหนึ่งคืนหนึ่งอย่างน้อยก็สาม-สี่-ห้าชั่วโมงก็ได้

ที่ว่ามานี้หมายความว่าปกติ ไม่ได้เจ็บป่วย การเดินจงกรมนั้นบางทีข้าพเจ้า(เดิน)แต่ห้าโมงเย็นตลอดรุ่งก็มี เดินภาวนา ไม่ใช่เดินเอาเวลา

ปรารภเรื่องฉันอิ่มเสร็จแล้วของหลวงปู่มั่น องค์ท่านเดินไปส้วม พระเณรต้องรีบล้างบาตรเก็บบริขารให้ทันองค์ท่าน

การไปส้วมก็มีผู้ตามไปรับใช้ เป็นต้นว่า รีบไปเทน้ำใส่กระบอกไว้ ถ้าอากาศหนาวก็รีบเอาน้ำร้อนไปชงไว้ที่กระบอกชำระ หรือใส่กระป๋องพิเศษชงแล้วตั้งรอไว้ แล้วก็คอยอยู่ตามบริเวณนั้น เมื่อท่านออกมาก็ได้รีบรับเอากระป๋องกับองค์ท่าน การรับของจากมือองค์ท่านก็ดี การยื่นอะไร ๆ ถวายองค์ท่านก็ดี ต้องสองมือน้อมเคารพพอควร จะเหลาะแหละคุ้นเชื่องจนลืมตนไม่ได้ ถ้าเราพลิกมารยาทประมาทแพล็บเดียวองค์ท่านก็รู้ ภายหลังไม่ให้เข้าใกล้เลย ใช้อุบายเข่นต่าง ๆ นานาอเนก ถ้าแก้ตัวกลับประพฤติดีทันก็เป็นการดี ถ้าไม่แก้ตัวแล้วถูกไล่หนีไม่รอช้า

อนิจจาเอ๋ยอย่าได้นอนใจเลย อยู่กับองค์ท่าน ถ้าเป็นช่างเหล็ก (ท่าน)ก็ไม่นอนเฝ้าเหล็กอยู่เฉย ๆ ต้องตีและเข่นให้เป็นมีดเป็นจอบเป็นสิ่วเป็นขวาน ถ้าเป็นเหล็กก้นเตาใช้ไม่ได้ ก็ขว้างทิ้งเพราะเป็นเหล็กส่วนตัว

การฉันในวัดป่าบ้านหนองผือ


ศาลาโรงฉัน วัดป่าบ้านหนองผือ (ปัจจุบัน)
ภาพจาก www.luangpumun.org


ย้อนมาปรารภในการเตรียมจะฉันหรือฉันอยู่ก็ดี ธรรมดานอกพรรษาต้องมีการแจกอาหารในศาลาโรงฉันจิปาถะขลุกขลุ่ย พระองค์ใดเป็นห่วงบาตรตนเองในยามเตรียมจัดแจงกัน ไม่ประเปรียวหูหลักตาไวช่วยแจก เกรงแต่หมู่ไม่ให้ นั่งเฝ้าบาตร องค์นั้นแหละต้องถูกเทศน์อย่างหนักในขณะนั้นด้วย

ถ้าองค์ไหนยอมเสียสละในใจว่า ถ้าหมู่ไม่พอใจเอาใส่ให้เรา เราก็ไม่ต้องฉัน เราจะพอใจช่วยแจกช่วยทำกิจอันเกี่ยวกับพระอาจารย์และหมู่เพื่อนให้เรียบร้อย เสร็จแล้วจึงมานั่งเฝ้าบาตรตน ผู้ใดปฏิบัติอย่างนั้นเป็นมงคลในสำนัก แม้ถึงคราวพลาดถูกเทศน์ในเรื่องอื่น ๆ ก็ไม่ถูกแรงนัก เพราะอำนาจความกว้างขวางในสำนักเป็นเครื่องดึงดูด ทำให้เรื่องอื่นผ่อนคลายไปในตัว และก็เป็นที่สะดวกของครูบาอาจารย์และหมู่เพื่อนด้วย แม้ปัจจัยสี่จีวรเสนาสนะเภสัช เจ้าตัวก็ต้องปล่อยให้เป็นเรื่องของครูบาอาจารย์และหมู่เพื่อนจะสงเคราะห์ตน โดยตนไม่ต้องพิถีพิถัน ภิกษุสามเณรใดปฏิบัติแบบนี้ในสำนักเป็นธรรมวินัยอันลึกซึ้งด้วย เป็นที่เกรงขามของหมู่เพื่อนในตอนนี้อีก
38#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 17:21 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
จะกล่าวถึงในเวลากำลังแจกอาหารอีก สภาพศาลาฉันในวัดป่าบ้านหนองผือสมัยนั้นเป็นศาลามุงหญ้าคาและปูฟาก กว้างประมาณสี่เมตร ยาวประมาณห้าเมตร ใช้กระโถนกระบอกไม้ไผ่บ้าน เวลากำลังแจกอาหารต้องนอนกระโถนไว้เรียบ ๆ ก่อน แจกอาหารแล้วจึงตั้งกระโถนขึ้นได้ เพราะฟากขลุกขลัก เดินไปมากระโถนจะล้ม

ในขณะกำลังฉันเงียบสงัดมาก ไม่มีองค์ใดจะเคี้ยวฉันอันใดให้มีเสียงกร๊อบ ๆ แกร๊บ ๆ เลย เช่น ถั่ว มะเขือแดงที่ได้ฉันเป็นบางยุคบางสมัย เมื่อเฉือนเป็นชิ้น ๆ แล้วก็ตาม เมื่อมือหยิบส่งเข้าประตูปากแล้วก็ต้องสำนึกว่า เมื่อเราเคี้ยวพรวดลงทีเดียวจะมีเสียงกร๊อบหรือไม่ ถ้าเห็นว่าจะไม่มีเสียงกร๊อบแล้ว เราจึงเคี้ยวพรวดลงทีเดียว ถ้าเห็นว่าจะมีเสียงกร๊อบก็ค่อยเน้นลงให้บุบก่อนจึงเคี้ยวต่อไป ข้อนี้พระอาจารย์มหาบัวบอก ข้าพเจ้าจึงได้รู้วิธีปฏิบัติ พระวินัยก็บอกไว้ไม่ให้ฉันดังจั๊บ ๆ หรือซู้ด ๆ แต่ดังกร๊อบมันก็ผิดเหมือนกัน เพราะมันคงเหมือนหมาเคี้ยวกระดูกและเสือกัดกระดูก

ปรารภเรื่องนี้ซ้ำ ๆ ซาก ๆ อีกก่อน เพราะยังไม่ละเอียดดี ตอนฉันอาหารเสร็จ พระอาจารย์ใหญ่ไปส้วมถ่าย ส้วมนั้นเป็นส้วมแบบโบราณ ขุดหลุมลึกประมาณสามเมตร ถวายเฉพาะองค์ท่าน กว้างเมตรเจ็ดสิบห้าเซ็นต์ ส้วมแบบโบราณมีรางปัสสาวะ ครั้นองค์ท่านเข้าไปถ่ายถอดรองเท้าเรียงคู่ไว้เรียบ ๆ ไม่ผินหน้าผินหลัง เปิดประตูแบบมีสติไม่ตึงตัง ปัสสาวะลงในรางปัสสาวะแล้วเทน้ำลงล้าง ถ่ายเสร็จแล้วชำระด้วยใบตองกล้วยแห้งที่พันไว้เป็นกลม ๆ ยาวคืบกว่าที่ลูกศิษย์จัดทำไว้ เพราะองค์ท่านเป็นโรคริดสีดวงทวาร ในยุคนั้นไม่มีกระดาษชำระ

กระดาษที่มีหนังสือชาติใด ๆ ก็ตามองค์ท่านไม่เหยียบ ไม่เอาลงในกระโถน ไม่เอาเช็ดทวารหนักทวารเบา องค์ท่านเคยอธิบายบ่อย ๆ ว่า หนังสือชาติใดก็ตาม สามารถจารึกคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทั้งนั้น จึงควรเคารพยำเกรง

เมื่อถ่ายเสร็จแล้ว องค์ท่านปัดกวาดเรียบ ค่อยเปิดประตูเบา ๆ ออกมาโดยสภาพไม่ตึงตังน่าเลื่อมใสถึงใจมาก เมื่อพิจารณาไปก็คล้ายกับว่าชมทรัพย์เศรษฐี แต่ชมทรัพย์เศรษฐียังมีดีกว่าชมทรัพย์โจรที่เขาปล้นมาได้ ถ่ายเสร็จเรียบร้อยทุกประการก็กลับพักกุฏิขององค์ท่าน ทำกิจธุระด้านภาวนาเฉพาะองค์ท่าน

http://www.dharma-gateway.com/mo ... /lp-lah-hist-03.htm
39#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 17:22 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ข้อปฏิบัติต่อหลวงปู่มั่น

ครั้นถึงเวลาบ่ายหนึ่งโมงกว่า ๆ องค์ท่านก็ลงจากกุฏิเปลี่ยนอิริยาบถบ้าง บ่ายประมาณสี่โมงเย็นก็กวาดลานวัดพร้อมกัน ไม่มีองค์ใดจะใช้กลเม็ดหลีกเลี่ยงได้ เว้นแต่ป่วยไข้ไม่สบายหรือได้เฝ้าพยาบาลภิกษุไข้อยู่เท่านั้น

กวาดลานวัดแล้วก็รีบหามน้ำฉันน้ำใช้ไว้เต็มตุ่มไห ประมาณวันละสี่สิบปี๊บเป็นเกณฑ์ วันซักผ้าและวันมีอาคันตุกะมาพักมาก ก็ตักมากกว่า รีบหามเรียบร้อยแล้วก็รีบไปสรงถวายหลวงปู่มั่น เสร็จแล้วกลับไปสรงกุฏิใครกุฏิมัน ไม่ได้รวมกันไปสรงที่บ่อ แต่บ่อน้ำก็ไม่ไกล อยู่ในวัด ริมวัด น้ำในบ่อก็ไม่ขาดแห้งเลยสักที เป็นน้ำจืดสนิทดีพร้อมทั้งใสสะอาดเยือกเย็นด้วย มีรางไม้กว้าง ๆ เทใส่รางมีผ้ากรอง พระอาจารย์มหาบัวได้ดูแลเป็นหัวหน้า แต่มิได้ให้องค์ท่านตักและหาม เพียงเป็นนายหมวดนายหมู่ดูแลในตอนที่ว่าน้ำ ๆ ฟืน ๆ ก็เหมือนกัน

และการสรงน้ำหลวงปู่ ถึงเวลาเณรและตาปะขาวต้มรอไว้แล้ว พระเณรผู้ประจำสรงน้ำไม่ได้เปลี่ยน เว้นไว้แต่ผู้ถูแข้งถูขาถวาย ส่วนผู้นุ่งผ้าผลัดผ้าถวาย และผู้ชงน้ำร้อนสรง และผู้เก็บตั่งที่นั่งสรงนั้นก็ดี ผู้รักษาไฟอั้งโล่ก็ดี ผู้รอสวมรองเท้าถวายก็ดี ไม่ได้ถูกเปลี่ยน ข้าพเจ้าก็ไม่ได้ถูกเปลี่ยนเลย เพราะมีข้อวัตรเกี่ยวกับสรงน้ำถวายอยู่ และมีข้อวัตรอันอื่นเกี่ยวอยู่หลาย ๆ อัน เฉพาะวันหนึ่งคืนหนึ่งเป็นนิจวัตร ใครเคยถวายข้อวัตรแผนกไหนก็ต้องทำแผนกนั้นเป็นประจำ จะก้าวก่ายสับสนอลหม่านแย่งกันทำไม่ได้ (ส่วนข้อวัตรส่วนรวมด้านอื่นเป็นอีกอย่างหนึ่ง) ข้อวัตรเกี่ยวกับลูกศิษย์ทำถวายองค์ท่านประจำวันประจำคืน จะก้าวก่ายกันไม่ได้ ของใครของมัน

ข้าพเจ้ามีข้อวัตรโชกโชนอยู่กับองค์ท่านหลายอย่างอยู่มาก คือ

๑. ตื่นขึ้นมาแต่เช้ารีบติดไฟอั้งโล่เข้าไปไว้ใต้ถุนองค์ท่านให้ไอไฟส่งขึ้นเพื่อไล่อากาศหนาวเย็นไปบ้าง

๒. เมื่อองค์ท่านวิการในธาตุขันธ์ผิดปกติ ได้ถ่ายตอนกลางคืนลงที่หลุมใต้ถุน ได้รีบเก็บด้วยมือ โดยเอามือกอบใส่บุ้งกี๋ที่เอาใบตองรองแล้วเอาขี้เถ้ารองอีก กอบอุจจาระจากหลุมมาใส่บุ้งกี๋นั้น ส่วนหลุมนั้นเอาเถ้ารองหนา ๆ ไว้แล้วมีฝาปิดไว้ตอนกลางวัน ค่ำมืดแล้วรีบไปเปิดไว้ เช้ามืดรีบไปตรวจดูแบบเงียบ ๆ เมื่อเห็นรอยถ่ายก็รีบเก็บ รีบล้างมือด้วยขี้เถ้าและน้ำมันก๊าด ตัดเล็บมือไว้ให้เรียบ ข้อที่เอามือกอบออก หลวงปู่มหาบอก แต่ว่าไม่ได้บอกต่อหน้าหลวงปู่มั่น บอกว่า “ครูบาอาจารย์ชั้นนี้แล้ว ไม่ควรเอาจอบเสียมนะ ควรเอามือกอบเอา” ดังนี้ ย่อมเป็นมงคลล้ำค่าของข้าพเจ้า

๓. เมื่อท่านออกจากห้องตอนเช้า รีบยกอั้งโล่จากใต้ถุนขึ้นไปรอรับที่ระเบียง ทั้งคอยรับผ้าเช็ดหน้าองค์ท่านที่ท่านถือมาจากห้องนอน พอครูบาวันนุ่งผ้าถวายเสร็จแล้วยกสองมือส่งองค์ท่านคืน

๔. เมื่อองค์ท่านลงเดินจงกรมตอนเช้า รีบเอาไฟตามไปไว้ที่หัวจงกรมและคอยดูแลอยู่ตามแถบนั้น เพราะเกรงท่านจะล้มใส่ไฟ

๕. เมื่อองค์ท่านไปศาลา เตรียมตัวไปบิณฑบาต จึงยกอั้งโล่ตามหลังไปด้วย ตั้งไว้ใกล้ที่องค์ท่านนั่งพอสมควร

๖. กลับบิณฑบาตแล้วรีบมาตรวจดูไฟอั้งโล่ แล้วรีบดูอาหารของตนว่าอันไหนที่บิณฑบาตมาได้ (ที่)พอจะถูกกับธาตุองค์ท่านและรีบช่วยหมู่เพื่อนในเรื่องอาหาร อย่านั่งเฝ้าบาตรของตนอยู่เหมือนกบงอยฝั่ง

๗. ฉันเสร็จแล้วรีบล้างบาตรตน รีบเช็ด เอาไปไว้กุฏิตน ตอนเที่ยงโอกาสว่างจึงตากบาตร

๘. รีบเอาบาตรท่านอาจารย์มหาบัวไปไว้กุฏิท่าน ท่านจะตากเอง

๙. รีบกลับมาเอาอั้งโล่ขึ้นไปที่พักขององค์หลวงปู่ให้ทันกับเวลา อย่าให้องค์ท่านขึ้นไปก่อนอั้งโล่

๑๐. จงสังเกตให้ดีว่าองค์ท่านร้อนแล้วหรือหนาวอยู่ อย่ารีบด่วนแต่ทางจะเอามาดับท่าเดียว

๑๑. บางวันองค์ท่านหนาวจัด แต่พักอยู่เตียงนอกห้อง ท่านนอนอยู่แต่ไม่หลับ ภาวนาอยู่นิ่ง ๆ ต้องขยับไฟเข้าหาใกล้เตียง ถ้าท่านห้ามจึงถอยไฟออก ถ้าท่านไม่ห้าม ท่านนิ่งภาวนาอยู่ เราต้องนั่งเฝ้าอยู่ใกล้เตียงนั้นนั่งอยู่ ถ้าหากว่าองค์ท่านพูดถามอะไร เราตอบเฉพาะตรงคำถาม อย่าลาม และก็ไม่แน่นอน บางทีได้เฝ้าอยู่จนเที่ยงวันก็มี ตอนหัวค่ำก็ต้องได้จุดได้รักษาวน ๆ เวียน ๆ อยู่นั้นแหละ สิ่งเหล่านี้มิใช่องค์ท่านและสงฆ์บังคับ ตนมีศรัทธาเอง
40#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 17:23 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

พระอาจารย์วัน อุตตโม

๑๒. เมื่อคราวซักหรือย้อมถวายองค์ท่าน เราก็ต้องอยู่กองย้อม กองซัก กองตาก กองพับไว้ กองตัด (คือ) หลวงปู่มหา กองเย็บ (คือ) ท่านอาจารย์วัน กองถวายยาแก้โรค (คือ) ท่านอาจารย์วัน (และ) อาจารย์ทองคำ ปูที่นอนและเอาบาตรไว้ (คือ) อาจารย์วัน (และ) อาจารย์ทองคำ

หลวงปู่ให้อุบายข้าพเจ้าปูที่นอนต่อหน้าอาจารย์วันว่า “ท่านหล้าปูที่นอนกับเขาไม่เป็น เอาแต่ของหยาบ ๆ หนัก ๆ” พูดเย็น ๆ เบา ๆ แต่ข้าพเจ้าก็เก็บไว้เฉพาะส่วนตัว ในสมัยนั้น ถ้าหากว่าเล่าให้อาจารย์มหาฟัง ท่านอาจารย์มหาก็จะต้องให้ปูจริง ๆ

มีอยู่ข้อหนึ่งที่อดไม่ได้ได้ เล่าถวายท่านอาจารย์มหาฟัง คือมีพระองค์หนึ่งปูที่นอนถวายหลวงปู่มั่น ทั้งปูทั้งเหยียบไปมาเต็มเท้า บริขารขององค์ท่านบางชนิด เช่น กระป๋องยาสูบ ก็ข้ามไปมา ข้าพเจ้าอดไม่ได้ก็เล่าถวายท่านอาจารย์มหา ท่านอาจารย์มหาก็หาอุบายสังเกต ก็พบจริง จึงพูดขึ้นว่า

“หมู่ทำแบบไม่มีสูงมีต่ำแบบนี้ ผมไม่เหมาะหัวใจ ปล่อยให้คนที่เขาเคารพกว่านี้มาทำจะเป็นมงคล ทำขวางหมู่เฉย ๆ” ดังนี้

แต่นั้นมาพระองค์นั้นก็เข็ดหลาบ


พระอาจารย์ทองคำ
จารุวณฺโณ


การปูที่นอนขณะนั้นมีสามองค์ คือ อาจารย์ทองคำ อาจารย์วัน คุณสีหา (คุณสีหาเป็นหลานอาจารย์วัน) เมื่ออาจารย์วันปู ปูกับคุณสีหา เพราะจับคนละทางเพื่อให้ผ้าตึงแล้วจึงยัดเยียดตามริมให้ตึงอีก บางทีอาจารย์ทองคำมาแอบปู แต่หลวงปู่คงเข้าใจว่าอาจารย์วันกับคุณสีหาเท่านั้นช่วยกันปู ข้อวัตรเฉพาะอันนี้ก้าวก่ายกันอยู่ทางลับ ๆ

มีปัญหาว่าเวลาลูกศิษย์ปูที่นอนนั้น หลวงปู่ไปอยู่ไหน หลวงปู่กำลังถ่ายอยู่ที่ส้วม ตอนหลังฉันจังหันเสร็จ เป็นส่วนมาก ถ้าถ่ายเวลาผิดนั้นแล้ว เรียกว่าธาตุไม่สบายเฉพาะองค์ท่าน

การทำข้อวัตรถวายหลวงปู่ประจำวัน คือไม่ให้หลวงปู่หาอุบายคอยลูกศิษย์ มีแต่ลูกศิษย์คอยเท่านั้น ตอนนั้นพระอาจารย์มหาได้เทศน์หมู่ในยุคหนองผือลับหลังหลวงปู่ ซ้ำ ๆ ซาก ๆ เสมอ ๆ แม้ตัวของผู้เขียนอยู่นี้ก็ดี ถ้าไม่มีหลวงปู่มหาควบคุมในยุคนั้น ก็มักจะตีความหมายไม่ออกหลายเรื่องอยู่ เพราะบางเรื่องลึกลับจนมองไม่ออก เมื่อองค์ท่านมีโอกาสลับหลังมาอธิบายให้ฟัง ก็เท่ากับของคว่ำอยู่แล้วหงายขึ้น

สำหรับองค์ท่าน (หลวงปู่มหา) ในสมัยนั้น ต้องมีภาระหนักใจกว่าองค์อื่น แต่ด้วยความศรัทธาและพอใจก็เลยกลายเป็นเบาลง (เหตุผลของท่านก็คือ)

ก. ด้านธรรมะส่วนตัว เพราะเราหลายพรรษา ทั้งชื่อใหญ่ เป็นมหาด้วย

ข. ด้านเกี่ยวกับหลวงปู่ เพราะเราเคารพและรักท่านมาก ๆ

ค. ด้านบริหารหมู่ เพื่อแบ่งเบาหลวงปู่

ง. ด้านญาติโยม เพื่อให้รู้จักความหมายของหลวงปู่ จิปาถะสารพัดทุก ๆ ด้าน

ท่านเคยเล่าให้ผู้เขียนฟังบ่อย ๆ ในยุคนั้น เพราะเข้าใกล้พระอาจารย์ใหญ่ขนาดไหน ก็เข้าใกล้หลวงปู่มหาขนาดนั้น องค์ท่านฉลาดมาก บอก(ผู้เขียน)ไว้ว่า ถ้าวันไหนจะไม่ทันหลวงปู่มั่นในข้อวัตรขององค์ท่าน อย่ามาล้างกระโถนผม อย่ามาเอาบาตรผมลงไปศาลา จงรีบให้ทันข้อวัตรขององค์หลวงปู่ก็แล้วกัน เพราะองค์ท่านจะวิจารณ์ว่ามาเป็นคณาจารย์แข่งกัน เพราะข้อวัตรขององค์ท่านมีมาก แต่องค์ท่านฉลาดรีบออกห้องก่อนหลวงปู่มั่นตอนเช้า เรามีเวลาไปล้างกระโถนไม้ไผ่ถวายให้และได้เอาบาตรลงมาไว้ศาลาถวาย ส่วนบาตรตนเองเอาลงไปก่อน(ตั้ง)แต่ยังไม่ได้อรุณ ต้องคล่องว่องไวจึงได้ วิชาเกียจคร้าน วิชาหลับกลางวัน วิชาเกรงจะไม่ได้ฉันของดี ๆ และมาก ๆ และเกรงจะไม่ได้ใช้บริขารดี ๆ ก็ไม่มีในสมัยนั้น
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้