ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

~ หลวงปู่หล้า เขมปตฺโต วัดบรรพตคีรี(วัดภูจ้อก้อ) ~

[คัดลอกลิงก์]
81#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 18:22 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
สรรพตาปัญญาย่นลงมาเป็นสอง ตาปัญญาทางโลกีย์ ตาปัญญาทางโลกุตตระ ตาปัญญาทางโลกุตตระเป็นตาปัญญาอันเดินลัดออกกองทุกข์ ตาปัญญาทางโลกีย์เป็นตาปัญญาอันเดินวนเวียนอยู่ในกองทุกข์ เพราะเดินวนเวียนอยู่ในถนนสายโลภ โกรธ หลง เรียกวงเวียนใหญ่ในไตรโลกธาตุ

ไตร แปลว่า ๓ หรือจะเรียกว่าผ้าไตรสำหรับบวชผู้จะท่องเที่ยวอยู่ในกองทุกข์ก็ได้ จะว่าเพลิงสามกองก็ได้ จะว่าคุกที่ใส่สัตว์ผู้ท่องเที่ยวในสงสารก็ได้ จะว่าป่าโลภ ป่าโกรธ ป่าหลง ให้สัตว์ผู้ชอบท่องเที่ยวทัศนาจรก็ได้ จะว่านรกขุมใหญ่ขุมรวมก็ถูกทั้งนั้นแหละ ว่าไปเท่าใดก็ไม่จบสิ้นได้ จะไม่ว่าอะไรก็ตาม ถ้ากิเลสไม่จบสิ้นก็มีคุณค่าอันเดียวกัน เพราะกิเลสมันไม่ตั้งอยู่ เมืองว่า และเมืองไม่ว่า

ถ้าหากว่าได้อรหันต์ เพราะพูด เพราะว่า (แล้ว)จักจั่นร้องตลอดวัน จิ้งหรีดร้องตลอดคืน มันก็ได้อรหันต์ ถ้าหากว่าอยู่นิ่ง ๆ (แล้ว)ได้อรหันต์ สัตว์จำพวกที่ปากไม่เป็น พูดไม่เป็น ก็ได้อรหันต์ทั้งนั้น

ขึ้นอยู่กับสติปัญญาอันชอบต่างหากดอกกระมัง ผู้ปฏิบัติเพื่อพ้นทุกข์ในสงสาร จะคิดอยู่ในว่าไม่ถูก จะตั้งอยู่ใน ไม่ว่า ไม่ถูก อีก คนใบ้บอดหนวกเป็นต้น พระพุทธศาสนาไม่รับบวช แต่จะอย่างไรก็ให้ศึกษาวิชาเข็ดหลาบในกองทุกข์ก็ใช้ได้

ปรารภเรื่องอื่นคือไปอีก โรงครัวหุงต้มฉันในวัดเป็นนิจวัตรก็ดี หลวงปู่มั่นไม่ส่งเสริมเลย เว้นไว้แต่บิณฑบาตไม่พอฉันจริง ๆ จัง ๆ จนใช้คำว่า อดมาก หิวมาก องค์ท่านอ้างในอนุศาสน์ว่า ไปบิณฑบาตได้แต่ข้าว พระวินัยก็ชมว่า อติเรกลาโภ อยู่ ถือว่ามีลาภพอที่จะศึกษาและปฏิบัติให้เป็นไปในพระพุทธศาสนาได้อยู่ ฝ่ายจีวรได้แต่ผ้าฝ้าย ผ้าเปลือกไม้ก็ถือว่าเป็นลาภอยู่แล้ว ฝ่ายเสนาสนะก็เรือนร้างว่างเปล่า รุกขมูลลอมฟาง เงื้อมหินหรือถ้ำคูหา หรือกุฏิ ปราสาทกระต๊อบใบไม้เหล่านี้เป็นต้น ก็ถือว่าเป็นลาภแล้ว ส่วนจำพรรษาต้องมีบานประตูปิดเปิดเข้าออกได้ จะเป็นใบตองก็ใช้ได้ทั้งนั้น ถือว่าเป็นลาภทั้งนั้น ส่วนเภสัช นับแต่ขามป้อมหรือสมอดองด้วยน้ำมูตรเน่าเป็นต้น ก็ถือว่าเป็นลาภทางเภสัชแล้ว

ถ้าพิจารณาแล้ว แต่ก่อนรักสันโดษมากนัก ยอมเป็น ยอมตายต่อพระธรรมวินัยมาก เป็นเครื่องขัดเกลากิเลสในตัว แต่ทุกวันนี้ความนิยมสมมุติกันก็สับสนปนเปไปบ้าง แต่จะแปลกประหลาดไปสักเพียงใดก็ตาม อันเป็นฝ่ายวัตถุนิยมก็อยู่ในวงแขนของพระอนิจจัง พระทุกขัง พระอนัตตาแล้ว เพราะเป็นศาลยุติธรรมฝ่ายสังขาร ตัดสินอยู่ทุกกาลไม่ลงธรรมาสน์ ได้ทั้งหยาบ ทั้งประณีต ทั้งภายนอก ภายใน ไกล ใกล้ อดีต อนาคต ปัจจุบัน ก็หมดปัญหาอันจะสงสัยอยู่แล้ว เมื่อหมดปัญหาอันจะสงสัยในสังขารแล้ว สังขารจะใช้กลมายาสาไถยมาจากประตูใดอีกก็ตาม ก็คงลวงไม่ได้อยู่นั้นเอง ย่อมได้เหยียบเล็บ เพราะสติปัญญาจะก้าวเหยียบเล็บของความเข้าใจผิดได้ ความเข้าใจผิดคงไปไม่รอดไม่มีที่ซ่อนตัว

นักปฏิบัติเพื่อพ้นจากความหลง อันดองสันดานของตน ให้ติดให้วนอยู่ในอู่ของวัตถุนิยม แล้วไม่ปลงปัญญาลงสู่อนิจจตา ทุกข์ตา อนัตตตาแล้ว ย่อมเป็นไปได้ยาก เจริญขึ้นในธรรมชั้นสูงได้ยาก และก็มักตื่นข่าวในสังขารโลก โลกคือสังขาร สัตว์โลก โลกคือหมู่สัตว์ โอกาสโลก โลกคือแผ่นดิน ตื่นข่าวทั้งอดีต ทั้งอนาคต ทั้งปัจจุบันด้วย เมื่อตื่นข่าวก็ลังเลในปฏิปทาของตน แล้วก็คว้าหาเหมือนตกน้ำจนตรอกจนมุม ว่าในใจว่า ยังไงหนอ ยังไงหนอ อยู่อย่างนี้เสมอ ๆ ท่านผู้ติดอยู่ในกองนามรูปก็คือผู้สงสัยอยู่ในกองนามรูปนั่นเอง ผู้สงสัยสรรพโลกสรรพสังขารก็คือ ผู้ติดอยู่ในสรรพนิมิต นิมิต แปลว่าเครื่องหมาย หมายไว้ว่าเป็นสัตว์บุคคลตัวคนเราเขาจริง ๆ จัง ๆ จนแกะไม่ได้ คายไม่ออกพร้อมทั้งมีความเห็นผิดดิ่งลงไปมีกำลังกล้าถอนได้ยากเพราะฝังลึกแล้ว
82#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 18:22 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
หลวงปู่มั่นอาพาธ ไปพักวัดร้างบ้านนาใน

หันมาปรารภ ปี ๒๔๙๑ ในฤดูแล้งหลวงปู่มั่นก็เริ่มป่วยมีไข้สลับมีไอด้วย แล้วองค์ท่านป่วยอยู่ แต่ไปบิณฑบาตได้อยู่อีกประมาณ ๖ - ๗ วัน องค์ท่านนึกอยากจะไปพักบ้านนาในสักวาระ องค์ท่านก็สั่งเสียหลวงตาทองอยู่ว่า

“อยู่เอ๋ย จะไปพักวัดร้างบ้านนาในสักระหว่างก่อน เพราะไกลกันจากวัดป่าบ้านหนองผือประมาณหนึ่งกิโล”

แล้วก็บอกหลวงปู่มหาให้ดูแลหมู่ องค์ท่านจะไปกับองค์นั้นองค์นี้ ก็ไม่ลั่นวาจาออกชื่อ (โอ ขออภัย คำที่เขียนว่า หลวงปู่มหา นั้นหมายความว่าใช้ในปัจจุบันที่เขียนอยู่ คำว่า พระอาจารย์มหาบัว ก็ดีหรือ พระอาจารย์มหา เฉย ๆ ก็ดี หมายความว่าเรียกใช้ในสมัยนั้น)


กุฏิพระอาจารย์มหาบัว ญาณสัมปันโน
ที่วัดป่าหนองผือ


แล้วพระอาจารย์มหาพิจารณาว่าควรให้องค์หนึ่งไปกับองค์ท่าน แล้วตกลงลับหลังหลวงปู่ว่า ควรให้ท่านทองคำไปด้วย แล้วก็จัดแจงบริขารรวดเร็วพลันทันกาล แล้วองค์ท่านไปพักได้สองคืน พระเณรยังไม่กล้าเข้าไปเยี่ยม เพราะเกรงองค์ท่านดุว่า เรามาวิเวก พากันมายุ่งทำไม

พระเณรผู้อยู่ข้างหลังเงียบเหงาไปทั้งวัด ว้าเหว่มาก ปรากฏแก่ตาแก่ใจว่า ต้นไม้ต่าง ๆ ในวัดและบรรยากาศเงียบเหงา ลมก็ไม่พัดมา คล้ายกับว่าว้าเหว่ไปตามกันหมด ผู้เขียนนี้เดินรุดไปรุดมาในวัด แลดูทิศทั้งสี่รอบ ๆ จิตใจคิดคล้อยละห้อยหวนชวนให้นึกแต่เรื่องภายนอก คิดถึงหลวงปู่อยู่ไม่ขาด ภาวนาไม่ลงเป็นชิ้นเป็นอัน หวนคิดไปต่าง ๆ นานา ว่าหลวงปู่ทรมานชาวบ้านชาววัดหรือบุคคลผู้ใดหนอ เราไม่รู้ได้ทั้งนั้นละ เป็นเหตุชวนให้คิดแท้ๆ โอ๊ยตับจะแตกตายละทีนี้

พอตกพลบค่ำห้าโมงเย็นก็ไปกราบพระอาจารย์มหาแล้วปรารภว่า

“กระผมอยู่ไม่เป็นสุข อยากจะไปเยือนหลวงปู่ที่อยู่กับครูบาทองคำ ๒ องค์ ทั้งกลัวองค์ท่านจะดุ จิตใจกระผมว้าเหว่มากขอรับ กระผมนึกว่าจะไปองค์เดียว แล้วจะกลับตอนกลางคืนองค์เดียว จะเป็นประการใดหนอ”

องค์พระอาจารย์มหาตอบว่า “เออ ผมก็ว้าเหว่เหมือนกันท่านลองไปดูซิ ผมไม่ว่าดอก”

กราบลาองค์ท่านแล้วก็รีบไป พอไปถึงก็ค่ำมืดพอดี ขณะนั้นองค์หลวงปู่และครูบาทองคำนั่งอยู่พื้นดิน พอเรายังไม่ทันนั่งลงกราบองค์หลวงปู่พูดขึ้นเย็น ๆ ว่า

“เออ คุณหล้ามา ไปเอาฟืนนั้นมาใส่ไฟให้กัน ดุ้นไหนไม่เรียบร้อยก็เก็บเสียเน้อ”

ทีนี้อ้ายกิเลสมันสลดใจมากยั้งไม่อยู่ มือขวาจับเอาฟืนมาใส่ไฟ มือซ้ายเอาชายผ้าอาบมาเช็ดน้ำตา เพราะอ้ายกิเลสมันไหลหลั่งถั่งเทออกมา ทั้งนึกในใจว่า เออ เราหวนผิดคิดผิดว่าองค์ท่านจะดุว่า มันตามมาอะไรยุ่ง แต่กลายเป็นหน้ามืออยู่ตามเดิม เป็นเรื่องทดสอบได้ชัดว่าองค์หลวงปู่หนีมานี้ ไม่ใช่เรื่องเรา เกี่ยวอยู่ในการองค์ท่านขัดข้องดอก เป็นเรื่องใดไม่ทราบได้อีกละ น้ำตาไหลอยู่ประมาณ ๑๕ นาทีก็พลิกจิตคืนได้

องค์หลวงปู่กับครูบาทองคำหัวเราะอยู่ และองค์หลวงปู่เปล่งวาจาว่า “เทวบุตรร้องไห้ เทวบุตรร้องไห้” พร้อมทั้งพูดพร้อมทั้งหัวเราะและการจับไข้ขององค์ท่านก็เบาลงแล้ว ชะรอยจะเป็นด้วยอากาศโปร่งกว่ากันบ้างหรือยังไงไม่ทราบได้ ครั้นตอนดึกประมาณ ๔ ทุ่มเศษก็กราบลากลับวัด แล้วพระอาจารย์มหายังมิทันได้หลับขึ้นจากทางจงกรมใหม่ ๆ ไฟตะเกียงจุดริบหรี่อยู่ ขึ้นไปกราบองค์ท่าน เล่าถวายทุกประการ
83#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 18:27 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
องค์ท่านคำนึงพิจารณาแบบบรรจง องค์ท่านกล่าวว่า

“เออพรุง่นี้ฉันเช้าเสร็จผมจะพาหมู่เราทั้งหมดและชาวบ้านหนองผือทั้งหมด ไปอาราธนากราบเท้า นิมนต์วิงวอนให้องค์หลวงปู่ คืนมาวัดเราตามเดิม เพราะชาววัด ชาวบ้านก็ว้าเหว่เงียบเหงา กินมิได้นอนไม่หลับ แม้ตัวของผมก็สลดใจและว้าเหว่มากคราวนี้ องค์ท่านจะไปวิเวกจริงหรืออะไร ๆ ผมก็พิจารณายากอยู่สักหน่อย ไม่ว่าแต่สักหน่อยละ พิจารณายากกันดี ๆ นี้เอง หล้าเอ๋ยหล้า”

ครั้นตื่นเช้าบิณฑบาตฉันเสร็จ โยมก็หลั่งไหลเข้ามารวมกันที่วัดป่า องค์พระอาจารย์มหาก็ประกาศ พระในวัดเตรียมตัวห่มผ้าจีวร และโยมก็เอาแคร่สำหรับจะหามองค์หลวงปู่ไปพร้อมด้วย ทั้งชาวบ้านชาววัดประมาณร้อยคน พอไปถึงก็เงียบสงัด ไม่มีใครกรอบแกรบและไอจาม กราบพร้อมกันหมดแล้ว โยมผู้ฉลาดขอโอกาสกราบเรียนว่า

“เวลาที่องค์หลวงปู่มาพักวิเวกเพียงสองสามวันนี้ เท่ากับว่านานถึงร้อยพันปี ทั้งชาวบ้านและชาววัดไม่เป็นอันกินอันนอนว้าเหว่มาก ขอกราบเท้าเรียนถวายองค์หลวงปู่ ได้โปรดกรุณากลับตามเคยเทอญ โทษของเกล้าอันใดมี ขอได้โปรดประทานอภัยให้เกล้าและทุกถ้วนหน้าเทอญ การปฏิบัติทุก ๆ ประการ หลวงปู่เห็นสมควรประการใด ทั้งชาวบ้านและชาววัดจะยอมทำตาม ไม่มีขัดหฤทัยของธรรมแห่งองค์หลวงปู่ตามสติกำลังอยู่ทุกเมื่อเทอญ”

ครั้นแล้วก็ค่อยจัดแจงแต่งบริขารขององค์หลวงปู่ นิมนต์หลวงปู่ขึ้นบนแคร่หามเดินช้า ๆ เงียบ ๆ โยมหามออกก่อน พระตามหลัง ที่นั่งขององค์ท่านปูอาสนะด้วยเบาะยัดใบกล้าแห้ง องค์ท่านนั่งขัดสมาธิไม่ขึงขังและไม่อ่อนแอ แลดูถึงใจไม่มีจะเทียบได้

ข้าพเจ้ากิเลสมาก อยู่ไม่ไหว ก็แทรกโยมเข้าไปจับแคร่ชู นึกในใจว่าเราก็มีสิทธิจะจับแคร่หลวงปู่ชูช่วยเขา แต่เราจะแลดูพระอาจารย์มหาเสียก่อน ถ้าพระอาจารย์มหาถลึงตาเราจะถอยออก แต่องค์ท่านก็เลยปลงธรรมสังเวชในกิริยาซ้ำ ข้าพเจ้าทั้งนึกในใจว่า โอ้อนิจจาเอ๋ย น้ำตาของข้านี้นาเวย ออกมาขายหน้าอีกแล้ว ผ้าอาบน้ำเช็ดน้ำตาไปจนตลอดทาง

หลวงปู่อยู่ท่าภาวนา หลับตาภาวนาอยู่ ทำไมถึงรู้ว่าเราน้ำตาไหลเพราะคนทั้งหลายก็หามไปเงียบ ๆ ช้า ๆ หลวงปู่ปรารภขึ้นเย็น ๆ เบา ๆ ว่า

“หล้า ทำไมไม่คอยอยู่วัด ถ้ามาแล้วน้ำตาเธอออกง่าย นิสัยแปลกกว่าพงศ์อื่น”

แล้วองค์ท่านนั่งภาวนาขัดสมาธิตามเดิมจนถึงวัด.

ครั้นองค์หลวงปู่ขึ้นถึงกุฏิเรียบร้อยแล้ว บรรดาลูกศิษย์ที่ถือนิสัยก็มี รีบห่มผ้าเฉวียงบ่ามาขอโอกาสต่อนิสัยตามเคย ต่อแต่นั้นข้อวัตรในระหว่างลูกศิษย์กับหลวงปู่ก็ของใครของมันตามเคยที่ทำมา ขอให้เข้าใจว่ามีพระอาจารย์มหาและหลวงตาทองอยู่เท่านั้นไม่ได้ขอนิสัย เพราะองค์ท่านทั้งสองนี้มีพรรษาสูงพอควรแล้ว แต่พระอาจารย์มหานั้นขอหรือไม่ขอ ก็มีข้อวัตรประจำหลวงปู่แบบลึกซึ้งอยู่แล้ว ไม่จำเป็นจะสงสัยจะเอามากล่าววิจัยเลย เพราะองค์ท่านเป็นมือขวาช่วยหลวงปู่รองรับอยู่
84#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 18:28 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ธุคงควัตรจัดเป็นมัชฌิมาปฏิปทา

ครั้นล่วงเข้ามาเวลาวันเดือนปีชีวีของสังขารก็เคลื่อนคล้อยลงทุกวินาที ไม่ว่าคนแก่คนหนุ่มปานกลาง สังขารที่มีวิญญาณแลไม่มีวิญญาณ มีหน้าที่แปรปรวนไปจากสภาพเดิมอยู่ทุกขณะลมปราณ แล้วองค์หลวงปู่ป่วยลง

ชั้นที่หนึ่ง ไปบิณฑบาตได้รอบบ้าน

ชั้นที่สอง ไปบิณฑบาตริมบ้าน

ชั้นที่สาม ไปบิณฑบาตครึ่งทาง

พื้นที่สี ไปบิณฑบาตประตูวัด

ชั้นที่ห้า ไปบิณฑบาตใกล้ศาลาฉัน แต่ไปฉันกับหมู่ที่โรงฉันอยู่ (หมายเหตุ ในระหว่างที่ไปไม่ถึงบ้าน โยมเขาจัดกันมาลัดใส่แต่เฉพาะองค์ท่านกับพระผู้ตามหลังองค์หนึ่งเท่านั้นคือ ครูบาวัน ส่วนนอกนั้นเข้าบ้านตามเคย มีหลวงตาทองอยู่และพระอาจารย์มหาเป็นหัวหน้าพาเข้าบ้าน แต่ย่นเวลาเข้าเช้ากว่าเก่าเพราะ(จะ)ได้มาทันข้อวัตร)

ชั้นที่หก หลวงปู่บิณฑบาตที่ริมบันไดกุฏิองค์ท่าน

ชั้นที่เจ็ด องค์หลวงปู่ยืนบิณฑบาตที่บนระเบียงกุฏิ

ชั้นที่แปด หลวงปู่ตั้งบาตรไว้ที่ระเบียงอันนั่งฉัน ให้เข้าใจว่าขณะที่บิณฑบาตที่บันไดและระเบียงขององค์หลวงปู่นั้น หลวงปู่ไม่ได้ไปฉันกับลูก ๆ หลาน ๆ ในศาลาแล้ว จึงยอมฉันในถ้วยในชามและยอมซดช้อนสองสามกลืนบ้าง

นี้อย่างไรเล่า หลวงปู่มิได้ทำเพื่อถือรั้นถือขลังอันใดให้ส่งเสริมมานะทิฎฐิอันใดเลย ทำเพื่อทอดสะพานโต้ง ๆ ให้แก่ลูก ๆ หลาน ๆ ผู้สุดท้ายยอมเป็นยอมตายต่อข้อวัตรส่วนนี้ไม่คลอนแคลน ผู้มีนิสัยอย่างนี้ก็จะได้สืบไว้ ผู้ไม่มีนิสัยอย่างนี้ ก็มีที่พูดอีกว่า ไปบิณฑบาตและไม่ไป มันก็ได้กินและฉันอยู่ จะไปทำไม เกรงจะไม่ได้ฉันหรือ ท่านผู้ชอบอย่างนี้จะว่าก็ว่าซะ ถูกไปคนละส่วนอยู่ ไม่ผิดดอก เพราะพระธรรมวินัยส่วนนี้ไม่บังคับ แล้วแต่ศรัทธาแต่ละรายของเจ้าตัว แต่เป็นเครื่องขัดเกลากิเลส บางท่านกล่าวตู่ธรรมวินัยว่า ธุดงควัตรเป็น อัตตกิลมถานุโยค

หลวงปู่มั่นเคยเทศน์ว่า

“ธุดงควัตรก็ดี คัมภีร์วิสุทธิมรรคก็ดีย่นลงในพระปาฏิโมกข์แล้ว โมกขะโมกขัง แปลว่าข้ามพ้นจากความผิด ธุดงควัตรจัดเป็นมัชฌิมาปฏิปทาแบบขัดเกลากิเลส ถ้าพระไม่ปฏิบัติบ้างแล้วจะให้ผีตัวใดมาศรัทธาปฏิบัติเล่า”

ธุคงควัตรสิบสามข้อนั้นต้องได้คนละ ๑-๒-๓ ข้อหรือ ๔ ข้ออยู่ เพราะเหตุว่าบางองค์ยินดีแต่เสนาสนะเดิม มิได้โยกย้ายไปทางอื่นเพราะสันโดษในเสนาสนะแล้ว ก็ได้ข้อที่ว่า ยถาสันถติกังคะผู้ฉันหนเดียวก็ได้เอกาสนิกังคะ เหล่านี้เป็นต้น ยากนักยากหนาผู้จะไม่มีธุดงค์เลยทีเดียว ไม่ข้อหนึ่งก็ได้ข้อหนึ่งกันอยู่อย่างนั้น
85#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 18:28 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ผู้เขียนได้ธุดงค์อยู่คือนุ่งห่มผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ฉันมื้อเดียวเป็นวัตร อยู่ป่าเป็นวัตร ฉันในบาตรเป็นวัตร ฉันในบาตรเป็นวัตรนี้ บางคราวก็มีภาชนะสองบ้างเพราะเกี่ยวกับนมเป็นบางครั้ง บางทีก็มีน้ำแกงในแก้วบ้างเพราะมีสิ่งที่อ้างแอบกินกับโรคท้องผูกบ้าง แต่ปฏิบัติมาได้ ๒๕ ปีจึงมีภาชนะสองบ้าง แต่กำลังจะแก้กลับคืนอยู่ เพราะพระหนุ่มเณรน้อยเห็นแล้วจับเอาเป็นตัวอย่าง ถ้าตอนไหนหัวหน้าหย่อนบ้าง พระหนุ่มเณรน้อยจับเอาแบบไว้ไม่วางเลย ตอนไหนเคร่งเข้าบ้างก็สะอิดสะเอียน ถือกันว่าอากาศไม่ค่อยดีเท่าไรนัก

ที่เขียนอยู่เดี๋ยวนี้พรรษา ๓๖ ล่วงแล้ว อายุขัยล่วงไป ๗๐ ปี ส่วนอายุพรรษามีหน้าที่ล่วงไป ก็ล่วงไปซะ แต่ทว่าสำคัญที่กิเลสมันล่วงไปหรือไม่ ยังเหลืออยู่หนักเบาเท่าไร หรือหากว่าสิ้นไปจากขันธสันดานแล้ว ต้องขึ้นกับภาพพจน์แต่ละรายของแต่ละบุคคล จะโอปนยิโกและปัจจัตตังผู้นั่งศาลบัลลังก์จะหยั่งดูตนเอง มิฉะนั้นแล้วจะมัวแต่แอบกินกับอายุพรรษาไปเป็นอำนาจกวาดต้อนขู่เข็ญคนให้หักดอกไม้บูชากิเลสของตน

ตอนนี้ก็ไม่อยากเขียนดอก คล้ายกับว่าปากบอนหอนห้อ แต่ก็มอบให้เป็นกิเลสปากบอนไปซะ ปากก็บอน มือเขียนก็บอน ใจก็บอน บอนกับบ้อน ก็มีความหมายอันเดียวกัน เพราะบอน บ่อน บ้อน บ๊อน บ๋อน มาจากใจ แต่เขียนแล้ว อ่านแล้ว ฟังแล้ว พิจารณาแล้ว มิให้เป็นพิษเดือดร้อนก็แล้วไปเท่านั้น เพราะทุกสิ่งทุกอย่างคิดแล้วนึกแล้วก็ล่วงไปเท่านั้น เพราะจิตสังขารจัดเข้าในนามโลก นามสังขาร นามธรรม นามธาตุ นามอินทรีย์ นามังอนิจจัง นามังทุกขัง นามังอนัตตากันดี ๆ นี่เอง อย่างปฏิเสธไม่ได้ ผู้เขียนรู้ลบ รู้ได้ รู้เสีย รู้เกิด รู้ตาย รู้ไปหลาย รู้ไม่เกิด รู้ไม่ตาย รู้ไปมากก็ไม่เป็นไร แต่ระวังอย่าได้เดือดร้อน แต่ร้อนดับไปแล้วก็มิได้ระวังยาก แต่ถ้ามีอยู่ในใจ ก็ต้องระวัง ต้องร้อนแท้ๆ

การระวังเป็นการไม่ลืมตัวของผู้ยังไม่พ้น เพราะโชกโชนปฏิบัติอยู่ แต่ท่านผู้พ้นไปแล้ว จะต้องระวังทำไม เพราะไม่มีโทษ ผู้ที่มีโทษอยู่ก็ต้องระวัง ถ้าไม่ระวัง มันผิดจริง ๆ

แต่บางสิ่งบางกรณีเกี่ยวกับโลกวัชชะ ก็ต้องรักษาตามพระวินัย แต่ก็ไม่ต้องหนักใจในพระบัญญัติ เพราะพระบรมศาสดาบัญญัติไว้แล้วบริบูรณ์ไม่บกพร่อง และบางท่านชอบกล่าวว่า ทำไมจึงไม่ทำสังคายนาอีกเล่า

ผู้เขียนตอบว่า พระไตรปิฏกบริบูรณ์อยู่ ไม่บกพร่องแล้วไม่ใช่ขาดเขินเลย ท่านผู้ใดเหยียบหลุมถ่านเพลิงก็ปล่อยให้หลุมถ่านเพลิงสังคายนาเอา ทางดีตรงกันข้าม กรรมและผลของกรรมที่ทำดีและชั่วย่อมสังคายนาปวงสัตว์โลกอยู่ไม่มีกลางวันกลางคืนเลย อยู่ทุกลมปราณก็ว่าได้ อยู่ทุกขณะจิตก็ไม่ผิดอีก เพราะเหตุจิตผลจิตมีอยู่ในปัจจุบันแล้ว ไม่ต้องสาวโยงไปอดีตอนาคตก็ได้ เพราะพระไตรปิฏกฝ่ายสังคหนัย ย่นลงมาในปัจจุบันจิตปัจจุบันธรรมอันเป็นฝ่ายเหตุและผลแล้ว ฝ่ายที่ทรงอยู่นอกเหตุนอกผลเล่า ก็ย่นลงในเอกธัมโม ในปัจจุบันธรรม อันไม่ตาย ไม่เกิด ไม่ดับ ไม่แปรแล้ว

ถ้าสงสัยตอนไหน ๆ แล้ว ความสงสัยตอนนั้นก็เป็นเหตุและเป็นผล วนกันอยู่ ไม่มีเงื่อนต้น เงื่อนปลาย ความไม่สงสัยตอนต้นเป็นภูมิของพระโสดาบัน ความไม่สงสัยตอนท้ายเป็นภูมิของพระอรหันต์ แยกความสิ้นสงสัยออกเป็น ๔ ชั้น ตามชั้นของมรรคและผลไปเป็นตอน ๆ สัจจธรรมก็เช่นกัน แต่ก็ขึ้นอยู่กับนิสัยท่านผู้แตกฉานในธรรมเป็นเกณฑ์ ไม่ทั่วไปทุกรูปทุกนามผูกขาดเลย
86#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 18:28 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
อาหารบิณฑบาตประเสริฐกว่า

ปรารภเรื่ององค์ท่านหลวงปู่ที่ได้เขียนข้ามไปบ้าง เพราะระลึกได้ทีหลัง ในระหว่างท่านป่วยชราภาพ ซัดเซไปบิณฑบาตในบ้านอยู่นั้น วันหนึ่งครูบาทองคำกระซิบกับผู้เขียนด่วน ๆ ว่า

“ตอนองค์ท่านหลวงปู่ออกจากห้องแล้ว ตอนเช้าองค์ท่านลงไปจงกรมก่อนบิณฑบาต ท่านเป็นผู้รักษาไฟอั้งโล่ที่เอาไปตั้งไว้ที่สุดของทางจงกรม ทางละอัน เพราะระวังคอยดูแล เกรงองค์ท่านจะเซล้มใส่และก็ได้รักษาอยู่ใกล้องค์ท่าน ท่านจงกราบเท้าเรียนถวายว่า คณะสงฆ์ทุกถ้วนหน้าได้พร้อมใจกันแล้วว่า ขอกราบเท้าเรียนถวายองค์หลวงปู่ไม่ต้องลำบากไปบิณฑบาต คณะสงฆ์จะหามาเลี้ยง ดังนี้ เพราะเป็นเวลาสองต่อสอง ไม่มีองค์อื่นร่วมด้วยในกาลเทศะอย่างนั้น”

ตอบครูบาทองคำย่อ ๆ ว่า “เออ ผมก็จะลองกราบเท้าเรียนถวายนิมนต์ดู แต่ร้อยเปอร์เซ็นต์ทีเดียว ผมเข้าใจว่าองค์ท่านคงไม่ยอมรับ และผมเข้าใจว่าพระอาจารย์มหาคงได้พิจารณาแล้ว ถ้าหากว่ามีประตูจะได้ พระอาจารย์มหาคงกราบเท้าเรียนถวายก่อนพวกเราแล้ว และพระอาจารย์มหาจะไม่วิจารณ์พวกเรา ว่าอวดฉลาดข้ามกรายองค์ท่านดอกหรือ”

ครูบาทองคำตอบว่า “ไม่เป็นไรดอก ผมรับรองได้ ผมจะแก้ช่วยดอก ถ้าหากว่าผิดพอคอขาดบาดตายต่อพระอาจารย์มหา ผมจะรับเอาว่าเป็นด้วยผมดอก ถ้าโอกาสวันนี้ไม่ทัน พรุ่งนี้จึงกราบเรียนนิมนต์ ในยามองค์ท่านจงกรมตอนเช้า ที่อยู่สองต่อสองนั้นแหละ เพราะไม่มีใครคอยฟังอยู่ด้วย เพราะหมู่รวมคอยอยู่ศาลาหมดแล้วในตอนนั้น”

แต่วันนั้นไม่ได้กราบเท้าเรียนถวาย เพราะยังไม่ได้เล่าถวายพระอาจารย์มหาฟัง ทั้งเวลาไม่อำนวย เพราะถ้าวันไหนองค์หลวงปู่ออกห้องสายบ้าง องค์ท่านก็เดินจงกรมไม่นานเพราะจวนบิณฑบาต แต่สุดท้ายก็เลยไม่ได้กราบเรียนพระอาจารย์มหาเลย และเจ้าตัวผู้จะกราบเท้าเรียนถวายอาราธนานิมนต์ก็นึกในใจอยู่แล้วว่า คงไม่ได้เป็นอันขาด แต่ด้วยความเคารพครูบาทองคำก็จะปฏิบัติตามลองดู ส่วนครูบาวันนั้น ท่านฟังแล้วพิจารณาอยู่ไม่ว่ากระไร

คำว่า ครูบาทองคำ ครูบาวันนั้น ในสมัยนั้นผู้เขียนเรียกท่านทั้งสองนี้ว่า ครูบา แบบเต็มภูมิ เพราะถือว่าท่านทั้งสองนี้มีพรรษาเหนือตนไปไม่ถึง ๕ พรรษา เพราะมุ่งเรียกตามพระวินัย ไม่มุ่งเรียกตามธรรมาจารย์เหมือนพระสารีบุตรกับพระอัสสชิ

ครั้นเป็นวันใหม่ ได้เวลาหมู่พระสงฆ์สามเณรไปรวมกันที่ศาลา รอคอยจะเตรียมตัวไปบิณฑบาต องค์หลวงปู่เดินจงกรมกลับไปกลับมาอยู่ ได้นั่งคุกเข่าอยู่กับพื้นดินใกล้ ๆ คอยดูแลองค์ท่านอยู่ เพราะเมื่อองค์ท่านป่วยทวีเข้า ก็ได้รักษาไฟอยู่ใกล้ เกรงจะล้มใส่ ยกมือประนมพร้อมทั้งคุกเข่าอยู่กับพื้นดินว่า

“ขอโอกาสกราบเรียนถวาย พ่อ แม่ ครูบาอาจารย์ คณะสงฆ์ พร้อมใจกันให้เกล้ากราบเท้าเรียนถวายพ่อ แม่ ครูบาอาจารย์ ขอนิมนต์วิงวอนมิให้ไปบิณฑบาตเพราะชราภาพแล้ว เดินซัดไปเซมา คณะสงฆ์จะรับอาสาบิณฑบาตมาเลี้ยงดอกขอรับ”

ทีนี้องค์หลวงปู่ยืนกางขาออกนิดหน่อย กรุณากล่าวบรรจงพร้อมทั้งแยบคายว่า

“พวกเราเป็นขี้เท้าขี้เล็บของพระองค์เจ้า ไปบิณฑบาตแต่ละวันมันได้ประโยชน์อยู่ เราก็ได้ข้อวัตร เขามาใส่บาตร เขาก็ได้จาควัตร ทานวัตรของเขา ข้าวก้อนใดอาหารกับอันใดตกลงในบาตร ข้าวและกับอันนั้นเป็นของประเสริฐกว่ารับนิมนต์หรือเขาตามมาส่งในวัด ในมหาขันธ์และปฐมสมโพธิกถาได้กล่าวไว้ชัดแล้ว

และผัวเดียวเมียเดียวกับลูกน้อยบางคนเขาก็ได้ใส่บาตร ไม่ได้มีเวลามาวัด และลูกเล็กเด็กน้อยมันตามแม่มันมาใส่บาตรมันก็ได้กราบไหว้ ก็เป็นบุญจิตบุญใจของมัน ก็เรียกว่าเราโปรดสัตว์อยู่ในตัวแล้ว ขึ้นธรรมาสน์จึงจะว่าโปรดสัตว์ มันก็ไม่ถูกละ

อีกประการหนึ่งพระบรมศาสดาของพวกเรา ทรงฉันบิณฑบาตของนายจุนทะกัมมารบุตรแล้วก็ทรงเสค็จถึงเมืองกุสินาราในวันนั้น รุ่งเช้าก็ทรงสิ้นพระชนมายุ เรียกได้อย่างง่าย ๆ ว่า พระองค์เสด็จบิณฑบาตจนถึงวันสิ้นลมปราณ ได้ทอดสะพานทอง สะพานเงินสะพานอริยทรัพย์ ไว้ให้พวกเราแล้ว ถ้าพวกเราไม่รับมรดกของพระองค์ท่านก็เรียกว่าลืมตัวประมาท พวกเราก็ต้องพิจารณาคำนั้นให้ลึกซึ้ง”
87#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 18:29 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
หลวงปู่สั่งไว้

ผู้เขียนเมื่อได้ฟังอย่างนั้น ในขณะนั้นน้ำตาก็ไหลออกมา เพราะประทับใจและเต็มตื้นมากนักแล้ว ก็พอดีได้เวลาไปบิณฑบาตไม่ว่าแต่เท่านี้ ขณะที่องค์หลวงปู่ไปบิณฑบาตไม่ได้ ยอมฉันอยู่ที่ระเบียงกุฏินั้น พอถึงเวลาจงกรม องค์ท่านก็เดินจงกรมวนไปมารอบระเบียงเอาไม้เท้าคอยสักพื้นระเบียงป็อกแป็ก ๆ อยู่ สลดสังเวชและถึงใจมากนักหนาโลกาเอ๋ย

ครั้นล่วงเวลามา ๒๔๙๒ ปวารณาออกพรรษาแล้ว องค์หลวงปู่ก็ชราพาธทวีเข้า พระอาจารย์มหาก็ได้จัดพระเณรเปลี่ยนวาระเข้าเฝ้ารอบ ๆ ใต้ถุนและรอบกุฏิขององค์หลวงปู่ แต่ครูบาวัน ครูบาทองคำและข้าพเจ้าไม่ได้เปลี่ยน เพราะได้ถูกนอนเฝ้าที่ข้างบนระเบียงกุฏิองค์ท่านและก็มีงานประจำตัวคนละกระทง ข้าพเจ้ามีงานประจำตัวรักษาไฟอั้งโล่และคอยชำระอาจมของหลวงปู่

วันหนึ่งตอนกลางวันประมาณสี่โมงเช้ากว่า ๆ หลวงปู่องค์ท่านสั่งข้าพเจ้าว่า

“ถ้าเราตายรีบพากันเผาโดยด่วนเน้อ”

ปรารภแบบเย็น ๆ เบา ๆ

“ถ้าเผาแล้ว จงส่งข่าวไปหาท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์และญาติของเรา”

กล่าวสั้น ๆ เบา ๆ แล้วองค์ท่านหลวงปู่ก็นิ่งภาวนานอน ไม่รู้จะกราบเรียนอย่างไร เพราะอ้ายกิเลสน้ำตามันออกมาแล้ว ทั้งเอี้ยวคอไปแลดูครูบาวัน ครูบาวันก็แลดูประสบสายตากัน แต่ต่างคนก็ต่างนิ่งอยู่เงียบ ๆ อีกสักครู่หลวงปู่องค์ท่านบอกเย็น ๆ ว่า

“เอาไฟไปดับเสีย เพราะร้อนบ้างแล้ว พากันไปพัก จะอยู่องค์เดียวไปสักพักก่อน”

แล้วก็พากันเก็บสิ่งของเงียบ ๆ ไม่ให้กระเทือนก๊อก ๆ แก๊ก ๆ กราบแล้วก็พากันลงมาพร้อมกัน ครูบาวันก็ขึ้นกุฏิของท่าน ส่วนข้าพเจ้ายังไม่ขึ้นกุฏิของตน ทอดสายตาแลดูกุฏิของพระอาจารย์มหา เห็นองค์ท่านพักอยู่ธรรมดา ก็ขึ้นไปกราบองค์ท่านพร้อมทั้งประนมมือขอโอกาสกราบเรียนว่า

“วันนี้องค์หลวงปู่กล่าวว่า ถ้าเราตายรีบพากันเผาโดยด่วน เน้อ ปรารภแบบเย็น ๆ เบา ๆ ถ้าเผาแล้ว จงส่งข่าวไปหาท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์และญาติของเรา แล้วองค์หลวงปู่ก็นิ่งภาวนานอน พออีกสักครู่ก็บอกให้เอาไฟออก เพราะร้อนแล้ว แล้วก็บอกให้พวกกระผมลง ว่าจะพักอยู่องค์เดียวสักพักก่อน ดังนี้ พวกกระผมเก็บของเรียบร้อยแล้วก็ลงมาพร้อมกันกับครูบาวัน กระผมก็ไม่ได้พูดกับครูบาวันอันใดเลย ต่างคนก็ต่างนิ่ง แต่มองดูหน้ากันอยู่เงียบ ๆ ขอรับ”

พระอาจารย์มหาถามว่า “ในเวลาองค์หลวงปู่สั่งนั้น คุณอยู่ที่ไหน”

เรียนว่า “เฝ้าไฟอยู่ใกล้เตียงขององค์หลวงปู่ เพียงหัวเข่าหลวงปู่”

องค์ท่านถามต่อไปว่า “ท่านวันอยู่ไกลใกล้ขนาดไหนและทำอะไรอยู่”

เรียนวา “ครูบาวันอยู่ห่างหลวงปู่ประมาณวากว่า ๆ มีธุระเลือกยาอยู่เงียบ ๆ”

องค์ท่านถามต่อไปอีกว่า “ท่านวันได้ยินหรือไม่”
88#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 18:29 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
เรียนตอบว่า “ได้ยิน เพราะกระผมได้เอี้ยวคอคืนไปแลดูครูบาวัน ประสบตากันอยู่ ครูบาวันก็ไม่พูดอะไร กระผมก็ไม่พูดอะไร ต่างคนก็ต่างเงียบ แล้วการสั่งเสียขององค์หลวงปู่จะเป็นความจริงหรือประการใดขอรับ”

พระอาจารย์มหาตอบว่า “จริงทีเดียว”

กราบเรียนว่า “ถ้าเป็นความจริง ไฉนจึงสั่งกระผมเป็นคำฝากไปหาครูบาวันในตัว เพราะครูบาวันนั่งอยู่ใกล้องค์หลวงปู่มากกว่ากระผม และกระผมเล่าก็เป็นผู้น้อยพรรษา และไฉนจึงไม่สั่งพระอาจารย์มหา ซึ่งเป็นพระผู้ใหญ่องค์สำคัญขอรับ”

พระอาจารย์มหาตอบว่า “ไม่เป็นอย่างนั้นดอก เพราะองค์ท่านมองเห็นว่า พระองค์นี้เป็นพระอ่อนพรรษาก็จริง แต่แก่อายุทั้งยอมตัวเข้าใกล้เราด้วย ขณะนี้เราไม่ต้องการพูดมากหลายคำ ถ้าหากว่าเราพูดกับพระผู้ใหญ่ มันจะตอกเราหลายคำ เธอหากจะนำคำอันนี้ไปเล่าให้พระผู้ใหญ่ฟังเอง เพราะเธอเป็นผู้สนใจอยู่แล้ว อันนี้เป็นเพียงเริ่มธรรมาสน์เฉย ๆ ดอก หล้า พรุ่งนี้จะพูดดังกว่านี้ ให้คณะสงฆ์ได้ยินหมดละ เผง ๆ ทีเดียวละ”

ครั้นเป็นวันใหม่ ฉันเสร็จแล้ว คณะสงฆ์ขึ้นไปมากจนหมดวัด (องค์ท่านหลวงปู่) ก็ปรารภขึ้นดัง พร้อมทั้งบรรยายกว้างขวางออกไปละเอียดอย่างที่พระอาจารย์มหาทายไว้ไม่ผิดเลย องค์ท่านหลวงปู่บรรยายออกไปว่า

“ถ้าเอาเราไว้นานก็จุกจิกมาก ลูก ๆ หลาน ๆ จะจุก ๆ จิก ๆ ขาดจากวิเวก จะมีแต่วิวุ่นและสัตว์ก็จะตายมาก และพระองค์เจ้าก็ ๗ วันเท่านั้นถวายพระเพลิง ถึงกระนั้น มัลลกษัตริย์เขาก็เอาไฟไปถวายพระเพลิงตั้งแต่วันที่ ๓ แล้ว แต่ไฟไม่ติดถึง ๓ ครั้ง เพราะเทวดาบันดาลไม่ให้ไฟติด เพราะคอยพระมหากัสสปะกำลังเดินทางมา พร้อมด้วยภิกษุ ๕๐๐ นี้เราเป็นขี้เล็บขี้เท้าของพระองค์เจ้า เก็บเอาเอาไว้ก็คอยพระมหากัสสเหม็นเท่านั้น” ดังนี้ สั่งซ้ำ ๆ ซาก ๆ ด้วย

ผู้เขียนมิได้มีความสงสัยในองค์หลวงปู่ว่าจะมักใหญ่ใฝ่สูงในเรื่องฌาปนกิจอันใดเลยแม้แต่นิดเดียว เพราะได้เห็นด้วยตาเต็มตา เห็นด้วยใจเต็มใจ และพยานอันสำคัญก็คือพระอาจารย์เนียม ๑๘ พรรษา พระอาจารย์สอ ก็ ๙ พรรษา ๒ ศพปีเดียวกัน สิ้นลมปราณวันไหนก็เผาวันนั้นอีกด้วย ที่องค์หลวงปู่อยากจะเผาลูกศิษย์แบบหนึ่ง แล้วอยากจะให้ทำให้องค์ท่านแบบหนึ่งนั้น เป็นไม่มีเลย เป็นเรื่องผู้อยู่ข้างหลังต่างหากที่เอาไว้ช้า เพราะมีมติจะสร้างโบสถ์ไว้ให้เป็นปูชนียสถานทางวัตถุเพื่อให้ถึงใจแก่ประชาชนผู้หนักไปในทางวัตถุ พระฝ่ายปฏิบัติก็เลยกลายเป็นปัญหาโบสถ์มาจนทุกวันนี้ละเอ๋ย
89#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 18:29 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
วิทยุ ตู้เย็น โทรทัศน์

เรื่องที่ควรเขียนไว้เพื่อได้คำนึงก็คือ หลวงปู่มั่นไม่นิยมส่งเสริมการทำครัวเกี่ยวกับอาหารในวัดจนเป็นประเพณีนิจวัตร องค์ท่านอ้างในพระวินัยอย่างซ้ำ ๆ ซาก ๆ ว่าพระองค์ทรงพระอนุญาตในเวลาข้าวยากหมากแพง ครั้งสมัยเมืองเวสาลีไปบิณฑบาตไม่ได้ แม้ข้าว(ยัง)ไม่พออิ่มเลย ส่วนกับนั้นไม่ว่าเสียแล้ว คล้ายกับว่ากับข้าวนั้นเป็นของประเด็นต่างหาก

ครั้งพุทธกาลคล้ายกับว่า ถ้ามีข้าวพอจะอิ่มไปเป็นวัน ๆ แล้ว คงถือว่าพอเป็นไป พอปฏิบัติได้ ไม่ถือว่าฝืดเคือง

แต่ทุกวันนี้พญาลิ้นพญารสมันเป็นเจ้าใหญ่นายโตเสียแล้ว ถ้าวัดไหนมีโรงครัวอาหารใหญ่ ๆ มีงบประมาณประจำวันมาก ๆ อากาศก็เหมาะถูกกับกิเลส ข้าชอบนัก และมีนมมีโอวัลตินฉันก่อนบิณฑบาต แล้วจึงไปบิณฑบาต ยิ่งถูกนิสัยข้ามาก กลางวันก่อนเที่ยงก็มีอาหารว่างนี้ แหม มันยิ่งเหมาะมาก ด้านน้ำเปิดเอาที่ไหนก็ได้ไม่ต้องลำบากตัก โทรทัศน์ วิทยุ ตู้เย็น พัดลม หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ สยามรัฐหรืออะไรข้ารู้ทั้งนั้น เจ้าสัวคนนั้นอยู่ถนนนั้น บ้านเลขที่เท่านั้นเท่านี้ อาเสี่ยก็เหมือนกัน ผมก็รู้ทั้งนั้น ผมไม่โง่คนหรอก สำหรับผมไม่ต้องมาหาอุบายโม้และโฆษณาต่อหน้าผมเลย ผมนั้นมันไม่ค่อยได้ฉันข้าวอยู่วัดหรอก เขามาเข้าคิวเอาผมไปฉันทุกหนทุกเเห่งประสาพวกคุณอะไรไปบิณฑบาตหล็องจ๋อง ๆ จึงมีผู้ใส่ให้บ้างป๊อกแป๊กลง บางวันก็พอได้ฉันบ้าง บางวันก็ท้องพร่อง การไปเที่ยวต่างทิศเล่า ผมต้องการไปเครื่องบิน รถไฟ รถทัวร์ อะไร ๆ ได้ทั้งนั้น

สิ่งเหล่านี้มันมีในธรรมบท บทแห่งธรรมในครั้งพุทธกาล กรรมฐานทุกวันนี้มักจะไปแถวนี้เป็นส่วนมาก ส่วนครูอาจารย์ในฝ่ายเหตุที่องค์ท่านได้สร้างสมมาไว้แล้วบริบูรณ์ ผลฝ่ายรับเป็นมาเอง องค์ท่านเสวยไปแบบโอนาโอนา ไม่ได้ลืมตัวลืมตน พวกที่ยังไม่รู้อิโหน่อิเหน่ กำลังออกลิงออกลาย ประสงค์ใส่อยากให้ได้ลาภยศ สรรเสริญเยินยอเหมือนครูบาอาจารย์ ถ้าคราวได้ไปเที่ยววิเวกเล่า ก็ไปเที่ยววิวุ่นหาเทศน์เอาคน ส่วนตัวเองเป็นยังไงช่างมัน มันเป็นอยู่อย่างนี้เป็นส่วนมากทีเดียว เขาโคกับขนโคมันเป็นของเหลือวิสัย อจินไตย ต้องเขียนไว้บ้าง ต่างเป็นเหตุให้ได้สอนตัวผู้เขียน เพราะกันลืมตน ลืมใจลืมธรรม การเขียนจะให้ถูกใจคนทั่วโลกย่อมทำไม่ได้

ย้อนคืนมาปรารภในเวลาองค์หลวงปู่เริ่มป่วย อันเป็นสำคัญในอนาคตังสญาณ ญาณในส่วนอนาคต องค์ท่านทายไว้ว่า

“เราสิ้นลมปราณไปนี้ ต่างองค์ก็ต่างออกลิงออกลาย แย่งกระดูกกันและก็จะไม่ลงกันในฝ่ายปฏิปทา เพราะต่างก็จะอ้างกันว่าเราได้ฟังมาอย่างนี้ เราได้ใกล้ชิดอย่างนี้ แล้วก็แตกกันไม่ลงกันได้สนิท จะพอพูดกันได้แต่ภายนอก ส่วนภายในต่างฝ่ายก็ต่างเพ่งกันว่าปีนเกลียว”

ผู้เขียนได้ยินกับหูอยู่บ่อย ๆ ซ้ำ ๆ ซาก ๆ ก่อนเวลาฉันอาหารนั้นแหละ องค์หลวงปู่ชอบปรารภในตอนนี้ถึง ๖-๗ วันติด ๆ กัน หลวงปู่กล่าวต่อไปอีกว่า

“พระอาจารย์เสาร์สิ้นลมปราณแล้วต่างแย่งกระดูกกัน บางท่านเอาไปป่นปั้นรูปพระ ทำเป็นของลางของขลัง สารพัดจะพรรณนาได้ แต่มั่นมิได้เอาอะไรเลย เพราะถือว่าเรามิใช่หมาพอที่จะแย่งกระดูก พวกที่อยู่กับเราเดี๋ยวนี้ ผู้ปรารถนาดีก็มี ผู้จะออกลิงออกลายปีนเกลียวในอนาคตก็มี ถ้าเราพูดมากก็จะเดือดร้อน ถ้าเราไม่พูดก็คล้ายกับว่าเราไม่รู้ในอนาคต และก็ไม่มีผู้กล้าพูดอีก”

ฝ่ายบรรดาลูกศิษย์ที่ได้ยินแล้ว พอลับหลังองค์หลวงปู่แล้วก็จับกลุ่มกัน กระซิบกันว่า

“ถ้าท่านองค์ใดไม่ได้ฟังเทศน์ตอนนี้ การอยู่กับองค์ท่านก็ไม่มีความหมายอะไรเลย เพราะเทศน์ซ้ำ ๆ ซาก ๆ อยู่ ๖-๗ วันแล้ว”

ฝ่ายผู้เขียนก็พิจารณานิ่งอยู่ แต่นึกในใจไว้ว่า ถ้าเราไม่ตายก่อน องค์ไหนจะเท็จจริงเพียงไรในส่วนนี้ เราก็จะได้เห็นเราด้วย ท่านผู้อื่นด้วย ผลสุดท้ายก็...แต่ก็ไม่กล้าเขียนเพราะจะ...
90#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 18:29 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ข้ออื่นยังมีอยู่อีก องค์หลวงปู่ไม่รับคนเข้าบวชได้ง่าย ๆ การบวชที่กะวันลาสิกขาไว้แล้ว หลวงปู่ไม่รับ แม้การลาสิกขาในสำนักก็ไม่มี พระเณรในวัด ถ้าท่านผู้ใดคุยกัน ปรารภในการลาสิกขาก็ดี หรือปรารภเรื่องโลกเพื่อเพลินในโลกก็ดี องค์หลวงปู่รู้จักก็ไล่หนีมิให้อยู่ด้วย องค์ใดทะเลาะกันในสำนักก็ไล่หนีทั้งสองด้วย เพราะองค์หลวงปู่ถือว่า ที่ปฏิบัติภาวนา มิใช่ที่ทะเลาะกัน เพราะมิใช่โรงศาลจะมาไต่สวน ขอให้เอาแต่ไปว่ากันในฝ่ายพระเถระ ทางปกครอง ทางปริยัตินั้นเถิด ดังนี้ บางเรื่องบางกรณีก็พิจารณาระงับอยู่ในที่นั้นเสร็จ แต่น้อยรายที่สุดแท้ ๆ จึงจะรับพิจารณาให้

ข้าพเจ้าผู้เขียนเห็นว่าอุบายนี้ดี เพราะต่างรูปต่างนามต่างพรรคต่างพวกจะไม่จับกลุ่มทะเลาะกัน จะมุ่งแต่ประโยชน์ต่อกันทางสุภาพ อะไรไม่เหมาะสมก็จะเอาแต่ความดีอันมีเหตุผลพอ มาปรารภกัน จะไม่เอาความโกรธออกหน้าในการตักเตือนกันและกัน จะรับฟังของกันและกัน จะรับพิจารณาของกันและกัน จะไม่ชิงดีชิงเด่นกันเอาแพ้เอาชนะ เพราะมุ่งความเป็นธรรม มุ่งความสงบเป็นใหญ่ องค์หลวงปู่มั่นมีนโยบายแยบตายลึกลับในทางตรงและทางอ้อม สอนลูก ๆ หลาน ๆ แยบคาย

คำอธิษฐานของหลวงปู่หล้า

องค์หลวงปู่ได้เทศน์ปกิณกะต่าง ๆ อันเป็นคติที่ประเปรียว ไม่อืดอาด ไม่มักใหญ่ใฝ่สูง ไม่นอนใจ ไม่เกียจคร้าน ไม่ทะนงตัวว่า ๒๕ พรรษายังไม่ได้ทิ้งบาตรให้ใครล้างให้เป็นนิจวัตรเลย ทำเองและยังไม่เอาพระเอาเณรเอาตาปะขาวไว้อุปัฎฐากเลย ข้อนี้ก็สำคัญควรเขียนไว้

พระปฏิบัติทุกวันนี้ ชะรอยจะตรงกันข้ามเป็นส่วนมาก ส่วนผู้เขียน ๑๕ พรรษาจึงมีผู้ล้างบาตรให้บ้าง ส่วนตักน้ำใช้น้ำฉันนี้ หามก็ดี คอนก็ดี หิ้วก็ดี ๑๘ พรรษายังได้ทำอยู่และทุกวันนี้ก็ยังได้กำชับดูแลในการเปิดปิดอยู่ ทิ้งไม่ได้เพราะอาศัยน้ำฝนไหลจากหลังคาลงสู่ถัง และถ่ายเทถังอยู่สูงลงไปสู่ที่ต่ำ แม้กระโถนที่เอาไว้ประจำตอนกลางคืน ตื่นเช้าก็ไม่ผูกขาดว่าจะเอาไว้ให้แต่ลูก ๆ หลาน ๆ ล้างให้ ล้างก่อนไปก็มี แต่ไม่เอาความผิดกับลูก ๆ หลาน ๆ ถือว่าเคยทำติดนิสัย และเป็นการไม่นอนใจว่าคนเป็นเถระเต็มภูมิ และเป็นการแบ่งเบากับลูก ๆ หลาน ๆ อีกด้วย

การกวาดลานวัดตกอายุ ๗๐ ล่วงเข้า ไม่ค่อยจะทันพระเณรเสียแล้ว เพราะบางทีก็มีแขกมาพูดด้วย ถ้าจะบอกเขาและดุด่าบ้าง ก็วาสนาตนไม่พอ ก็กลัวเขาผูกเวร และบางทีก็ไส้เลื่อนลง ก็จำได้นอนหงายลง ชันหัวเข่าให้ไส้เลื่อนขึ้น แล้วรัดด้วยเข็มขัดหัวงูเห่าก่อน แล้วจึงได้ไปกวาดลานวัดก็กินเวลาไปบ้าง ถ้ารัดไว้หมดวันหมดคืน ลมก็เดินไม่สะดวกอีก มันเป็นสรรพทุกข์ไปทางหนึ่งอีก

ไส้เลื่อนนี้รังควานขึ้นแต่ พ.ศ.๒๕๒๒ อายุ ๖๘ พรรษา ๓๔ ว่าน ๆ ยา ๆ สมุนไพรจิปาถะสารพัดไม่หาย และก็มีท่านผู้มีศรัทธาเมตตาจะพาไปผ่าตัดให้ โดยมิได้ให้ลงทุนทรัพย์แต่ประการใด ๆ ก็มีอยู่หลายรายแล้ว และขอขอบคุณท่านทั้งหลายเหล่านั้นอยู่โดยทุกเมื่อ เพราะเจตนาดี แต่เมื่อพิจารณาดูเหตุผลของตนแล้ว ก็มีการเพ่งโทษคนเองว่า

ก. ฐานะของเราป่าเถื่อน ไม่สมฐานะโรงพยาบาลโก้เก๋ และเป็นที่ลำบากแก่ผู้อื่นติดตามเฝ้า และเจ้าตัวก็ไม่สะดวกหัวใจอีก

ข. ตนอยู่ในป่าในภูเขา คมนาคมก็ไม่สะดวก ขึ้นเขาลงห้วย หลวงหูหลวงตาผ้าดำ ๆ ไม่มีอำนาจวาสนาอันใดเลย แต่สำคัญตัวว่าเป็นผู้ปฏิบัติเด็ดเดี่ยวในป่าในเขา พอมีอุปสรรคเข้าในทางป่วยก็ทำขมับหว่ำ ๆ เส้นเอ็นเป็นเกลียว หน้าเหี่ยว ๆ ไม่มีสง่าราศี ผมหงอกครึ่งท่อน ไปนอนค้างคืนกีดขวางประชาชนในโรงพยาบาล อายุก็ล่วงกาลผ่านวัยแล้ว ข้อนี้แหละเพ่งโทษตนเองมาก ไม่มีศาลอุทธรณ์ตนเองเลย
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้