ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

~ หลวงปู่ฝั้น อาจาโร วัดป่าอุดมสมพร ~

[คัดลอกลิงก์]
51#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 13:18 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
เข้าพรรษาปีนั้น พระอาจารย์ฝั้นได้จำพรรษาอยู่ที่วัดป่าภูธรพิทักษ์ตามปกติ แนะนำพร่ำสอนและทำเป็นตัวอย่างแก่สานุศิษย์อย่างเคร่งครัดเหมือนปีก่อน ๆ รวมทั้งเทศนาสั่งสอนประชาชนตลอดพรรษา การประกอบความเพียรก็เร่งทั้งกลางวันและกลางคืน พระเณรรูปใดมีอารมณ์ฟุ้งซ่านไปในทางที่ผิด ท่านก็เทศน์สอนขึ้นมาเองโดยไม่มีใครบอก ราวกับว่าท่านหยั่งรู้ได้ด้วยตัวของท่านเองฉะนั้น บรรดาพระเณรจึงตั้งใจสำรวมกันอย่างเต็มที่

พอออกพรรษาแล้ว พระอาจารย์วิริยังค์ได้นิมนต์พระอาจารย์ฝั้น และพระอาจารย์กงมาไปร่วมงานที่วัดดำรงธรรม อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี อีกครั้งหนึ่ง เสร็จงานวัดนั้นแล้ว ท่านได้ไปพักวิเวกอยู่ในป่าข้าง ๆ น้ำตกพริ้ว และได้มีญาติโยมนิมนต์ไปพักตามที่ต่าง ๆ อีกหลายแห่งตลอดระยะเวลาร่วม ๒ เดือน

ตอนเดินทางกลับ พระอาจารย์ฝั้นได้แวะพักที่วัดป่าบ้านฉางเป็นเวลา ๔ – ๕ วัน ประจวบกับชาวไร่กำลังเดือดร้อนเรื่องด้วงมะพร้าวกันมาก บางไร่กินจนมะพร้าวตายแทบเกลี้ยง บางแห่งต้องตัดสินใจเผาทิ้งหมดทั้งไร่ โยมผู้หนึ่งจึงขอให้ท่านทำน้ำมนต์ให้ เพื่อขจัดปัดเป่าความเดือดร้อนดังกล่าวให้หมดสิ้นไป พระอาจารย์ฝั้นก็ได้ทำน้ำมนต์ให้ แล้วหยิบไม้สีฟันของท่านให้ไปด้วย ๔ – ๕ อัน กำชับให้ตั้งใจภาวนา พุทโธ ให้ดี แล้วให้เอาไม้สีฟันไปเหน็บ ๔ มุมไร่ กับให้เอาน้ำมนต์ไปพรมรอบ ๆ ไร่ด้วย

อีก ๒ วันต่อมา โยมผู้นั้นกับภรรยาก็กลับมาหาพระอาจารย์ฝั้นอีก ยกมือไหว้ท่วมหัวพร้อมกับเรียนว่า ความเดือดร้อนทั้งปวงเหือดหายไปอย่างน่าอัศจรรย์ บัดนี้ ตัวด้วงทั้งหลายหายไปจากไร่ของตนจนหมดสิ้นแล้ว ไม่ต้องเผาไร่เหมือนเจ้าของไร่คนอื่น ๆ

ออกจากวัดป่าบ้านฉาง พระอาจารย์ฝั้น ได้เดินทางเข้ากรุงเทพฯ แวะพักกับพระอาจารย์ลี ที่วัดอโศการาม จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ๒๔๙๕ จึงพาคณะกลับไปยังจังหวัดสกลนคร


ต้นตีนเป็ดอายุหลายร้อยปี ที่มาของชื่อถ้ำเป็ด

กลับไปคราวนี้ท่านและไปพักที่วัดป่าสุทธาวาส เพื่อเตรียมการประชุมในวันที่ระลึกคล้ายวันประชุมเพลิงศพพระอาจารย์มั่น จนกระทั่งเสร็จการประชุมแล้ว จึงได้กลับไปพักที่วัดป่าภูธรพิทักษ์ตามปกติ แต่เมื่อพักได้ในราว ๒ สัปดาห์ พระอาจารย์ฝั้นก็พาพระลูกศิษย์ออกธุดงค์อีก คราวนี้ไปพักวิเวกที่ถ้ำเป็ด เขตอำเภอสว่างแดนดิน ใกล้ ๆ กับวัดพระอาจารย์วัน อุตฺตโม ในปัจจุบัน ถ้ำเป็ดเป็นสถานที่วิเวกสงบดีมาก เหมาะแก่การบำเพ็ญภาวนาเป็นอย่างยิ่ง ตลอดเวลาหลายเดือนที่ท่านไปพักวิเวกอยู่นั้น ท่านได้จัดการบูรณะสร้างถังน้ำ และได้สร้างกุฏิ ๒ – ๓ หลัง พร้อมทั้งศาลาโรงฉันไว้ด้วย
52#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 13:19 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

ศาลาโรงธรรมในถ้ำเป็ด
ที่พระอาจารย์ฝั้นสร้างไว้เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๕


ปัจจุบันถ้ำเป็ดอยู่ในกิ่งอำเภอส่องดาว จังหวัดสกลนคร ซึ่งแยกออกมาจากอำเภอสว่างแดนดิน มาตั้งเป็นอีกอำเภอหนึ่ง การคมนาคมก็สะดวกขึ้นกว่าเดิม เพราะสมัยโน้นไม่มีถนนหนทางไปบ้านส่องดาว การไปมาต้องเดินเท้าแต่ประการเดียว

ที่ถ้ำเป็ด นอกจากพระอาจารย์ฝั้นจะพัฒนาทางด้านสถานที่ โดยชักชวนชาวบ้านให้ช่วยกันสร้างถาวรวัตถุไว้เป็นสาธารณะประโยชน์แล้ว ยังพัฒนาทางด้านจิตใจของชาวบ้านพร้อมกันไปด้วยอีกทางหนึ่ง โดยการเทศน์สั่งสอนให้รู้จักทาน ศีล และภาวนา ให้ขยันหมั่นเพียรในการทำมาหากิน ปกติเมื่อพ้นฤดูทำนาแล้ว ชาวบ้านแถบนั้นจะเที่ยวเล่นสนุกสนานไปโดยไร้ประโยชน์ แล้วก็พากันบ่นว่าอดอยาก อาหารการกินก็ไม่สมบูรณ์ พระอาจารย์ฝั้นได้แนะนำให้ทำสวนครัว ปลูกผักต่าง ๆ ตลอดจนพริก มะเขือ ฯลฯ เป็นต้น แรก ๆ มีบางคนเท่านั้นที่ทำตาม และก็ได้ผลดีแก่เศรษฐกิจในครอบครัว ทำให้ชาวบ้านทั่วไปพากันเอาอย่าง ถึงขนาดบางรายมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการจำหน่ายผลผลิตด้วย

ความสะอาดเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่พระอาจารย์ฝั้นพยายามเทศน์สั่งสอน โดยแนะนำผู้ใหญ่บ้านให้ประชุมลูกบ้าน แล้วแนะนำให้ลูกบ้านรักษาความสะอาด และรักษาสุขภาพอนามัยทุกหลังคาเรือน เวลาออกบิณฑบาตเห็นตรงไหนสกปรกรกรุงรัง ก็บอกให้ทำความสะอาดตรงนั้น ไม่นานนัก หมู่บ้านนั้นก็สะอาด มองไปทางไหนก็ดูสดใสขึ้นมาก ไม่ว่าจะเป็นบ้านเรือนหรือถนนหนทางโดยทั่วไป

อีกหมู่บ้านหนึ่งใกล้ ๆ กับถ้ำเป็ด ถึงฤดูแล้ง ชาวบ้านไม่ทำมาหากินอะไรเลย เฝ้าแต่ขุดหาอึ่งอ่างมาประกอบอาหารอยู่ทุกวี่ทุกวัน ยางวันไม่ได้สักตัวเดียว บางวันได้แค่ตัวสองตัว เมื่อไม่พอกินก็บ่นว่าอดอยาก พระอาจารย์ฝั้นได้ใช้โอกาสที่ชาวบ้านมาฟังธรรม เทศนาสั่งสอนว่าเป็นการขยันหมั่นเพียรในทางที่ผิด ปราศจากประโยชน์ทั้งส่วนตัวและประโยชน์ส่วนรวม ขุดอึ่งอ่างได้ไม่คุ้มค่ากับเวลาที่เสียไป ควรเอาเวลาว่างจากการทำนามาขุดดินทำไร่ทำสวนจะดีกว่า ชาวบ้านก็ประจักษ์ในเหตุผลและพากันทำตาม จนกระทั่งเห็นผลขึ้นมาตามลำดับ บางคนถึงกับไปปรารภกับพระอาจารย์ฝั้นว่า ถ้าทำอย่างที่ท่านแนะนำมาแต่ต้น ป่านฉะนี้คงตั้งหลักฐานได้กันหมดแล้ว

เมื่อขึ้นไปพักที่ถ้ำเป็ดใหม่ ๆ มีถ้ำเล็ก ๆ อยู่ถ้ำหนึ่งถัดลงมาจากที่พักของพระอาจารย์ฝั้น พระภิกษุศิษย์รูปหนึ่งเห็นว่าสงบดี เหมาะแก่การพักวิเวก จึงให้พวกโยมที่ขึ้นไปส่ง จัดการยกแคร่สูงคืบเดียวให้ เพื่อใช้เป็นที่พัก ตกเย็นก่อนลงไปพักที่ถ้ำเล็กนั้น พระอาจารย์ฝั้นได้เตือนพระภิกษุลูกศิษย์ว่า “ลงไปนอนที่ถ้ำนั้น ภาวนให้ดีล่ะ อย่าถึงกับหอบบริขารบาตรจีวรหนี ตั้งใจภาวนาให้ดี อย่าประมาท” ท่านหยุดหัวเราะแล้วกล่าวต่อไปอีกด้วยว่า “ความกลัวของคนเรานั้นน่ะ ถ้ากลัวสุดขีดถึงกับเป็นพระกัมมัฏฐานก็เป็นบ้าได้เหมือนกัน ถ้าไม่กลัวตายเสียอย่างเดียวอยู่ไหนก็อยู่ได้” พระภิกษุรูปนั้นเข้าใจว่าท่านตักเตือนเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา เมื่อตกดึกทำกิจวัตรเสร็จประมาณ  ๖ ทุ่มเศษ ก็ลงไปถ้ำเล็ก เข้าทำวัตรสวดมนต์จบแล้วก็เอนกายลงนอนพัก ตั้งใจว่าสักครู่จะลุกขึ้นภาวนาตามปกติ

กำลังเคลิ้ม ๆ พระภิกษุรูปนั้นก็สะดุ้งตื่นขึ้นมาด้วยความตกใจ เนื่องจากมีฝูงกบและเขียดแตกตื่นออกมาจากถ้ำเป็นฝูง ๆ แคร่ที่ยกไว้เป็นที่พักก็อยู่ตรงปากถ้ำพอดี กบใหญ่ ๆ ๓ – ๔ ตัว จึงโดดขึ้นมาเกาะอยู่บนหน้าอกจนรู้สึกเย็นยะเยือก พอท่านผุดลุกขึ้นมันก็โดดหนี จะลุกหนีออกมาก็บังเอิญนึกถึงคำเตือนของพระอาจารย์ฝั้นขึ้นมาได้ จึงสงบใจให้เป็นปกติ แล้วนั่งสดับเหตุการณ์อยู่เงียบ ๆ ทันใดก็ได้ยินเสียงงูเลื้อยดังแกรกกรากอยู่ในถ้ำ จะหนีก็เหมือนไม่เชื่อพระอาจารย์ จึงมุมานะนั่งภาวนาท่ามกลางเสียงงูเลื้อย และท่ามกลางเสียงกบเขียดกระโดดเป็นฝูง ๆ ตลอดคืน ในที่สุดเมื่อจิตสงบดีแล้ว ความกลัวก็หายไปเป็นปลิดทิ้ง

53#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 13:19 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
เช้าวันนั้น เมื่อลงไปทำกิจวัตรที่กุฏิพระอาจารย์ฝั้นตามปกติ ท่านได้ทักทายขึ้นว่า

“เป็นไงมั่ง เกือบจะหอบบริขารวิ่งหนีความตายแล้วไหมล่ะ จะหนีไปอยู่ที่ไหนจึงจะพ้นความตายเล่า อยู่ที่ไหนมันก็ตายเหมือนกันแหละ”

พูดจบ ท่านก็ล้างหน้าบ้วนปากแล้วลงเดินจงกรมตามปกติ พระภิกษุรูปนั้นได้แต่รับฟังด้วยความอัศจรรย์

พระอาจารย์ฝั้น พำนักอยู่ที่ถ้ำเป็ดจนเกือบจะเข้าพรรษา คณะตำรวจโรงเรียนพล ฯ เขต ๔ จึงเอารถจี๊ปกลางขึ้นไปรับ เพื่อนิมนต์กลับไปจำพรรษาที่วัดป่าภูธรพิทักษ์ตามเดิม

กลับมาจำพรรษาปี พ.ศ. ๒๔๙๕ มีพระเณรเพิ่มขึ้นมาก ท่านจึงรับภาระเพิ่มมากขึ้นไปด้วย ทั้งการสั่งสอนศิษย์ภายใน คือ พระภิกษุสามเณร และศิษย์ภายนอก คือบรรดาญาติโยมที่ไปศึกษาธรรม ตลอดจนคณะอุบาสก อุบาสิกา ที่ไปรักษาศีลอุโบสถเป็นประจำทุกวันพระ ท่านได้บำเพ็ญตนเป็นตัวอย่างแก่บรรดาสานุศิษย์อย่างเคร่งครัด เสมอต้นเสมอปลายตลอดทั้งพรรษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันพระอุโบสถ ตอนกลางคืนท่านจะพาสานุศิษย์นั่งสมาธิภาวนาตลอดคืน เมื่อเห็นว่ามีง่วงเหงาหาวนอน ก็จะเทศน์อบรมสลับไปเป็นช่วง ๆ เป็นที่น่าเลื่อมใสและศรัทธาแก่ผู้พบเห็นเป็นอย่างยิ่ง บางคนถึงกับออกปากปฏิญาณตนเลิกการประพฤติชั่วโดยเด็ดขาด นับว่าท่านได้ยังประโยชน์แก่มวลชนอย่างได้ผลเป็นอันมาก

หลังออกพรรษาปี พ.ศ. ๒๔๙๕ พระอาจารย์ฝั้นมีกิจนิมนต์ลงไปกรุงเทพฯ พร้อมด้วยพระอาจารย์กงมา จิรปุญโญ เสร็จกิจแล้วได้เลยไปจันทบุรีอีกครั้งหนึ่ง กลับจากจันทบุรีได้แวะเข้าพักที่วัดอโศการาม

หลังจากนั้นแล้วจึงเดินทางกลับไปจังหวัดสกลนคร โดยมีคณะศิษย์ทั้งหลายจากกรุงเทพฯ บ้าง จากจังหวัดใกล้เคียงบ้าง พากันติดตามไปรับการอบรมธรรมจากท่านหลายคน พร้อมทั้งคณะทายก ทายิกาที่เป็นศิษย์ประจำอยู่ก่อนก็ยกขบวนเข้ารับการอบรมด้วยเป็นจำนวนมาก เป็นเหตุให้ท่านต้องมีภาระในการรับแขกมากยิ่งขึ้น แต่ท่านก็มิได้ย่อท้อหรือเบื่อหน่าย ใครจะไปนมัสการเมื่อใดท่านต้อนรับเสมอหน้ากันหมด บางครั้งแขกมากมายทั้งกลางวันและกลางคืน จนท่านจะหาเวลาลุกไปสรงน้ำก็ยังยาก กว่าแขกจะกลับหมดก็ตก ๓ ทุ่มเศษ จึงได้มีโอกาส เคยมีพระภิกษุลูกศิษย์แนะนำให้รับแขกเป็นเวลา แต่ท่านไม่ยอม อ้างว่าจะทำให้คนเหล่านั้นเสียเวลาทำมาหากิน ต้องมารอกันเสียเวลาเป็นชั่วโมง ๆ โดยเปล่าประโยชน์

ในพรรษาปี พ.ศ. ๒๔๙๖ พระอาจารย์ฝั้นคงจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าภูธรพิทักษ์ตามเดิม ระหว่างนั้น ทางด้านฆราวาสญาติโยมยิ่งเพิ่มจำนวนมากขึ้น ผู้ที่ไปนมัสการก็มีมาก ทั้งใกล้และไกล แต่ท่านก็ยังเข้มแข็งในปฏิปทาตามปกติ

ตอนกลางพรรษาปีนั้น พระอาจารย์ฝั้นได้ปรารภกับศิษย์ทั้งปวงอยู่เสมอว่า ท่านได้นิมิตเห็นถ้ำอยู่ถ้ำหนึ่ง อยู่ทางทิศตะวันตกของเทือกเขาภูพาน ในถ้ำนั้นมีแสงสว่างเท่า ๆ กับตะเกียงเจ้าพายุ ๒ ดวง อากาศก็ดี สงบและวิเวก เมื่อขึ้นไปอยู่ในถ้ำนั้นแล้วก็เหมือนกับอยู่ในโลกอีกโลกหนึ่งทีเดียว ท่านปรารภอยู่เสมอด้วยว่า ออกพรรษาแล้วจะต้องไปดูให้ได้ พอออกพรรษา พระอาจารย์ฝั้นก็ตัดสินใจออกเดินทางไปยังถ้ำตามที่นิมิตไว้ แต่มิได้ตรงไปยังถ้ำดังกล่าวเสียทีเดียว ท่านได้ออกเดินทางไปกับพระภิกษุสามเณรอย่างละรูป ไปพักที่วัดป่าอุดมสมพร เพื่อพาคณะญาติโยมบำเพ็ญกุศลทักษิณานุปทานอุทิศแก่บุพการีทั้งหลาย เสร็จแล้วออกเดินทางไปพักที่วัดป่าบ้านกู่ เพื่อบำเพ็ญกุศลครบรอบวันฌาปนกิจของพระอาจารย์กู่ จากนั้นได้เดินทางไปพักที่วัดป่าข้าง ๆ วัดบ้านไอ่ ๒ คืน แล้วเดินทางต่อไปยังบ้านคำข่า พอไปถึงพวกโยมได้พาไปพักในดงข้างหมู่บ้าน เป็นดงหนาทึบมาก ชาวบ้านเรียกกันว่า ดงวัดร้าง เมื่อทำความคุ้นเคยกับญาติในหมู่บ้านดีแล้ว ท่านก็ถามว่า ภูเขาแถบนี้มีถ้ำบ้างหรือไม่ พวกโยมตอบว่ามีหลายแห่งทั้งถ้ำเล็กและถ้ำใหญ่ ท่านจึงให้พวกโยมพาขึ้นไปดูในวันต่อมา วันนั้นทั้งวันให้ดูถ้ำหลายถ้ำ แต่ไม่ตรงกับถ้ำที่นิมิตสักแห่ง จึงกลับไปยังที่พัก
54#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 13:20 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ญาติโยมได้บอกท่านว่า ยังมีอีกถ้ำหนึ่ง อยู่บนยอดเขา เป็นถ้ำใหญ่มาก ชาวบ้านเรียกว่าถ้ำขาม ทุกปีเมื่อถึงวันสงกรานต์ ชาวบ้านจะขึ้นไปทำบุญและสรงน้ำพระบนถ้ำนั้นเป็นประจำ แล้วก็พาท่านไปดูในวันรุ่งขึ้น การเดินทางเต็มไปด้วยความยากลำบาก ต้องปีนต้องไต่ไปตามไหล่เขาอันเต็มไปด้วยขวากหนาม


ขณะขึ้นไปพักบนถ้ำขามวันแรก ๆ
ท่านและญาติโยมได้ช่วยกันปลูกแคร่นอน
ให้เป็นที่พักชั่วคราวของท่าน


เมื่อไปถึงถ้ำขามแล้ว พระอาจารย์ฝั้นเดินดูรอบ ๆ บริเวณอยู่สักครู่ ก็ออกปากขึ้นทันทีว่า “เออ ถ้ำนี้แหละที่เรานิมิตเห็นตอนกลางพรรษา” พูดแล้วท่านก็ให้พวกโยมจัดหาไม้มาทำเป็นแคร่นอนขึ้นในถ้ำรวม ๒ ที่ ความจริงท่านตั้งใจจะพักค้างคืนในคืนนั้นเลย แต่เนื่องจากไม่ได้เตรียมบริขารและเสบียงอาหารไปด้วย จึงจำต้องกลับลงมาก่อน ระหว่างทางที่ลงมานั้น ท่านได้ให้พวกโยมตัดทางลงมาด้วย จะได้ขึ้นโดยสะดวกในวันหลัง

เช้าวันรุ่งขึ้น หลังจากฉันจังหันเสร็จแล้ว ท่านก็เดินทางขึ้นไปยังถ้ำขามพร้อมด้วยญาติโยมและเสบียงกรัง เพราะถ้ำนั้นอยู่ห่างจากหมู่บ้านมาก การสัญจรบิณฑบาตไม่สะดวก ต้องอาศัยลูกศิษย์ทำอาหารเอง จึงต้องเตรียมเสบียงกรังขึ้นไปด้วย

พระอาจารย์ฝั้นได้ขึ้นไปพักอยู่บนถ้ำขาม พร้อมด้วยพระภิกษุสามเณรผู้เป็นศิษย์เมื่อประมาณเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๗


บนลานหินบริเวณถ้ำขาม ขณะพระอาจารย์ฝั้น
ขึ้นไปวิเวกเป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๖


เมื่อขึ้นไปพักใหม่ ๆ มีความขัดข้องในเรื่องน้ำกินน้ำใช้ พวกโยมก็แนะนำว่ามีน้ำบ่อซึมอยู่ที่ภูเขาอีกลูกหนึ่งทางตะวันออก ห่างจากถ้ำขามไปประมาณ ๔ กิโลเมตร เมื่อไม่มีแหล่งน้ำใดใกล้กว่า จึงจำเป็นต้องใช้น้ำจากบ่อซึมดังกล่าว โดยใช้กระบอกไม่ไผ่เป็นภาชนะบรรจุน้ำ สะพายใส่บ่าทั้งสองข้างกลับไปยังถ้ำขาม หากใช้ถังหรือปีบบรรจุจะหกเสียหายแทบหมด เพราะต้องหาบหามระหกระเหินเป็นระยะทางไกลมาก

ในช่วงที่ขึ้นไปใหม่ ๆ การใช้น้ำต้องกระทำอย่างประหยัด พระเณรต้องเดินไปสรงน้ำไกลถึง ๔ กิโลเมตรเศษ เสร็จแล้วจึงสะพายกระบอกน้ำกลับขึ้นมาบนถ้ำขามอีก กว่าจะถึงที่พักเหงื่อก็โทรมร่างราวกับว่ายังไม่ได้อาบน้ำมาเลย

อยู่ในสภาพเช่นนั้นมาประมาณครึ่งเดือน พระอาจารย์ฝั้นก็บอกพระภิกษุลูกศิษย์ว่า บนเขาหลังถ้ำขามนี้มีอ่างน้ำอยู่เหมือนกัน แต่ดินถมลงไปจนเต็มหมด หากขุดดินออกคงเก็บน้ำฝนได้มากอยู่ ท่านบอกว่าได้นิมิตเห็นอ่างที่ว่ามา ๒ – ๓ วันแล้ว จากนั้นก็พากันเดินสำรวจ ในที่สุดก็ได้เห็นปากอ่างซึ่งมีหญ้าปกคลุมอยู่เต็ม พระอาจารย์ฝั้นได้ให้พระภิกษุลูกศิษย์โกยดินขึ้น พอโกยดินลึกลงไปประมาณเมตรเศษ ๆ ก็มีน้ำซึมออกมา จึงปล่อยไว้ให้น้ำซึมออกมาเป็นน้ำบ่อ อาศัยตักใช้ไปได้หลายวัน พอน้ำแห้งก็โกยดินกันใหม่ให้ลึกลงไปกว่าเก่า ก็มีน้ำซึมออกมาให้ใช้อีก เป็นอยู่เช่นนั้นประมาณเดือนเศษ พอขุดลึกลงไปโพรงอันกว้างใหญ่ ๒ – ๓ โพรงซึ่งอยู่ใต้ดินก็ทะลุถึงกันเข้าเอง เป็นเหตุให้กลายสภาพเป็นอ่างขนาดใหญ่ ขนาดลงไปยืนแล้วยื่นมือขึ้นมาไม่ถึงปากหลุม เป็นอ่างเก็บน้ำฝนได้อย่างดีจนกระทั่งทุกวันนี้ และต่อมาอีกปี ก็ได้ระเบิดหินทำเป็นสระน้ำขึ้นอีก ๓ สระ บนหลังเขา จึงมีน้ำใช้มาตลอดจนถึงปัจจุบัน

ทางด้านหลังถ้ำ ซึ่งเต็มไปด้วยต้นลั่นทมขาว ดอกสะพรั่งส่งกลิ่นหมอฟุ้งไปทั่งบริเวณ พระอาจารย์ฝั้นได้ให้พวกญาติโยมปัดกวาดทำความสะอาดจนกระทั่งมีสภาพเรียบร้อยน่าดูขึ้น
55#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 13:21 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ถึงวันวิสาขบูชาเดือน ๖ พระอาจารย์ฝั้นได้นำญาติโยมทำพิธีเวียนเทียน เสร็จแล้วเทศนาอบรมสั่งสอนตลอดทั้งคืน ท่านนั่งเทศน์ใต้ต้นลั่นทมจนสว่างคาตา มีชาวบ้านขึ้นไปร่วมงานมากเป็นพิเศษ ธูปเทียนบูชาสว่างไสวไปหมดทั้งภูเขา ต่อมาพระอาจารย์ฝั้นได้ให้ญาติโยมช่วยกันทำที่พักมีหลังคาและฝากั้น เพื่ออาศัยจำพรรษาที่ถ้ำขามในปีนั้น แต่การจำพรรษาจะให้พระภิกษุสามเณรอยู่กันน้อยรูปที่สุด เพราะลำบากเกี่ยวกับอาหารการฉัน หมู่บ้านก็อยู่ไกล บิณฑบาตไปไม่ถึง ท่านปรารภด้วยว่า ได้พบสถานที่อันเหมาะแก่การบำเพ็ญเพียรอย่างสมบูรณ์แล้ว ท่านเองไม่ลงไปจำพรรษาข้างล่างอย่างแน่นอน แล้วท่านก็เลือกที่พักสำหรับจำพรรษา คือ กุฏิของท่านที่อยู่บนถ้ำขามในปัจจุบัน ชาวบ้านเรียกว่าถ้ำเสือ เมื่อขึ้นไปพักใหม่ ๆ เสือตัวนี้ยังขึ้นลงเข้าออกอยู่เป็นประจำ ต่อมาเมื่อท่านไปทำที่พักขวางทางเข้า มันจึงหลบหนี ไม่กล้ำกรายเข้ามาอีกเลย

เป็นอันว่าในปีพ.ศ. ๒๔๙๗ พระอาจารย์ฝั้นได้จำพรรษาอยู่บนถ้ำขาม โดยมีพระภิกษุอีก ๓ รูป กับสามเณรอีก ๓ รูปร่วมจำพรรษาอยู่ด้วย แม้จะอดอยากอย่างไรก็มิได้ถือเป็นอุปสรรค เพราะที่นั่นไกลจากหมู่บ้าน ต้องเดินเท้าเปล่าจากถนนใหญ่ไปอีกเป็นระยะทางถึงกว่า ๒๐ กิโลเมตรการบิณฑบาตจึงไม่อาจกระทำได้

แต่ในพรรษานั้นมีชาวไร ๓ ครอบครัวขึ้นไปทำไร่พริกบนภูเขาอีกลูกหนึ่ง และมีศรัทธานิมนต์พระไปบิณฑบาตเป็นประจำ จึงไม่ถึงกับอดอยากกันเท่าไรนัก ส่วนพระอาจารย์ฝั้นนั้น ท่านได้ตกลงใจไม่ฉันข้าว ฉันแต่หน่อไม้กับผลไม้เท่าที่มีเท่านั้น หน่อไม้ก็ฉันกับน้ำปลาตลอดทั้งพรรษา เมื่ออกพรรษาแล้ว ท่านก็ยังฉันแต่หน่อไม้และผลไม้ต่อมาอีกเป็นเวลาถึงเดือนเศษ รวมแล้วเป็นเวลาถึง ๔ เดือนเศษที่ท่านไม่ได้ฉันข้าวเลยแม้แต่เมล็ดเดียว

ก็น่าแปลก ปกติเมื่อหมดฤดูกาลแล้ว หน่อไม้จะไม่งอก แต่ปีนั้นมีหน่อไม้ให้ท่านฉันตลอดปี

http://www.dharma-gateway.com/mo ... phun-hist-01-06.htm
56#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 13:21 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
เมื่อออกพรรษาแล้ว ท่านได้พาญาติโยมซึ่งเสร็จจากการทำนาไปทำสระน้ำบนหลังถ้ำ และตัดเส้นทางลงมาบิณฑบาต โดยวิธีนัดพบกันกลางทาง กล่าวคือทางพระเดินจากถ้ำลงมา ชาวบ้านออกจากบ้านไปใส่บาตร เมื่อใส่บาตรแล้วก็แยกย้ายกันกลับ

ถึงฤดูแล้งปีพ.ศ. ๒๔๙๘ พระอาจารย์ฝั้นปรารภกับบรรดาญาติโยมที่ไปปฏิบัติท่านว่า ผู้คนที่ไปปฏิบัติท่าน เพิ่มจำนวนขึ้นทุกวัน ศาลาโรงธรรมที่มีอยู่ไม่แข็งแรงและไม่เพียงพอแก่การพักอาศัย สมควรที่จะสร้างศาลาโรงธรรมอันเป็นที่พักให้ถาวรขึ้น ญาติโยมทั้งหลายก็เห็นพ้องด้วย จึงช่วยกันจัดหาอุปกรณ์การก่อสร้าง โดยตกลงให้พระอาจารย์ฝั้นเป็นผู้อำนวยการสร้างด้วยตัวของท่านเอง

การลำเลียงอุปกรณ์ก่อสร้างขึ้นไปบนภูเขาครั้งนั้น เต็มไปด้วยความยากลำบากเป็นอย่างยิ่ง ทั้งพระทั้งเณรพร้อมด้วยชาวบ้าน ต้องใช้กำลังกายแบกหามวัสดุต่าง ๆ ขึ้นไป เสาบางต้นยาวตั้ง ๑๑ – ๑๒ เมตร แต่ถึงกระนั้นก็ไม่มีใครย่อท้อ ระหว่างนั้นชาวบ้านได้ทราบข่าวว่า พระอาจารย์ฝั้นจะสร้างศาลาโรงธรรม ก็พร้อมใจกันขึ้นไปช่วยอย่างคับคั่ง จนกระทั่งการขนอุปกรณ์การก่อสร้างสำเร็จลงโดยไม่มีใครเห็นแก่ความเหนื่อยยาก

เมื่อถึงวันยกเสา ชาวบ้านทั้งใกล้และไกล ได้ขึ้นไปช่วยอย่างพร้อมเพรียงและในที่สุด การยกเสาขึ้นตั้งโดยการควบคุมของพระอาจารย์ฝั้น ก็สำเร็จไปได้อย่างน่าอัศจรรย์

ที่ว่าน่าอัศจรรย์ก็เพราะว่า พื้นที่ที่จะปลูกสร้างศาลาโรงธรรมนั้นไม่เสมอกัน สูง ๆ ต่ำ ๆ และระเกะระกะไปด้วยก้อนหิน เสาทุกต้นที่ขึ้นตั้งบนก้อนหิน จึงสั่นบ้างยาวบ้าง เมื่อพระอาจารย์ฝั้นสั่งให้ตัดและบากเสาให้เป็นใกสำหรับรับคานเรียบร้อยแล้วทุกต้น จึงให้ยกขึ้นตั้งหมดทุกเสา

ปรากฏว่า เสาทุกเสาตั้งได้ที่ทุกต้น โดยไม่ต้องแก้ไขหรือขยับเขยื้อนเลย มิหนำซ้ำ ทั้ง ๆ ที่ตั้งเสาขึ้นบนหิน เสาทุกต้นก็แน่นปั๋ง รางกับฝังลึกในดินเป็นเมตร ๆ

ชาวบ้านที่ขึ้นไปช่วยต่างกลัวกันว่า เสาจะล้มทับ แต่พระอาจารย์ฝั้นปลอบว่า ไม่เป็นไร ตั้งใจทำไปเถอะ และไม่ยอมให้ชาวบ้านตีค้ำยันเพื่อกันล้ม ท่านบอกชาวบ้านว่า ถ้าไม่เชื่อผลักดูก็ได้ว่ามันจะล้มไหม ชาวบ้านบางคนได้เข้าไปผลักดูเขย่าดู เมื่อเห็นว่าตั้งอยู่บนหินได้อย่างแน่นหนาทุกต้นก็ได้แต่ประหลาดใจ แต่ละคนไม่กล้าพูดอะไร ได้แต่มองหน้ากันไปมา

เมื่อตั้งเสาเสร็จก็ตกเย็น พวกญาติโยมบางคนก็ลงจากเขากลับบ้าน แต่ส่วนใหญ่พักค้างกันอยู่บนเขา เพื่อช่วยงานต่อไปในวันรุ่งขึ้น
57#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 13:21 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
คืนนั้น พระอาจารย์ฝั้นได้ลงไปทำวัตรสวดมนต์แล้วเทศนาสั่งสอน และแนะนำให้พวกชาวบ้านภานาพุทโธกันเข้าไว้ อย่าหลับนอนให้มากนัก เมื่อแนะนำเสร็จก็ให้ไปพักผ่อนกันได้ พอตกดึกเงียบสงัด บรรดาญาติโยใ ๓ – ๔ คนที่พักอยู่ในถ้ำ ต่างได้ยินเสียงผู้คนนับร้อย ๆ คุยกันก้องถ้ำไปหมด แต่ยังไม่ได้ศัพท์ว่าพูดเรื่องอะไร แรก ๆ ก็คิดว่าชาวบ้านบางคนลุกขึ้นมาคุยกัน แต่เมื่อมองไปรอบ ๆ ก็เห็นทุกคนนอนหลับ จึงรู้สึกเอะใจและนึกกลัวขึ้นมาทันที จะนอนก็นอนไม่หลับ ได้แต่จับกลุ่มสดับเหตุการณ์จนกระทั่งตี ๕ เศษ จึงได้ลุกไปถามพระภิกษุรูปหนึ่งดูว่าเป็นเสียงอะไรกันแน่ แต่พระภิกษุรูปนั้นไม่ยอมตอบ เพียงแต่แนะนำให้ไปถามพระอาจารย์ฝั้นเอาเอง แล้วท่านก็ชวนชาวบ้าน ๓ – ๔ คนนั้นไปเดินจงกรมด้วยกันบนหลังถ้ำ

เช้าวันนั้น พระอาจารย์ฝั้นขึ้นไปบนศาลา ก็ทักทายกับพวกญาติโยมทันทีว่า เป็นยังไงบ้าง เมื่อคืนนั่งกลัวจนนอนไม่หลับทีเดียวหรือ ได้ยินพวกเทพเขามาอนุโมทนาสาธุการกันหรือเหล่า เขามาอนุโมทนากันตั้งมากมาย พวกโยม ๓ – ๔ คน ที่ผ่านเหตุการณ์มาเมื่อคืน ได้แต่มองหน้ากันอย่างประหลาดใจ ทำไมพระอาจารย์ฝั้นจึงทราบได้ว่า เมื่อคืนกลัวกันมากจนหลับไม่ลงก็ไม่ทราบ

ในที่สุด ศาลาโรงธรรมหลังถาวร ภายใต้การอำนวยการสร้างของพระอาจารย์ฝั้นก็สำเร็จลง ในการนี้ได้มีการสร้างกุฏิที่พักอาศัยของพระอาจารย์ฝั้นขึ้นใหม่ด้วย พร้อมทั้งทำสระน้ำใหญ่บนหลังถ้ำเพื่อเป็นที่เก็บน้ำฝนมาจนกระทั่งปัจจุบัน นับว่าได้อำนวยประโยชน์แก่บรรดาศิษยานุศิษย์ และบรรดาญาติโยมทั้งหลายเป็นอย่างยิ่ง


พระประธานในศาลาโรงธรรมบนถ้ำขาม

มีเรื่องน่าบันทึกไว้ในที่นี้อีกเรื่องหนึ่ง กล่าวคือ ก่อนจะลงมือสร้างศาลาโรงธรรมดังกล่าว ได้เกิดปัญหาแก่บรรดาญาติโยมทั้งหลายขึ้นมาว่า องค์พระประธานซึ่งเจ้าภาพจัดส่งไว้ที่บ้านคำข่านั้น ทำอย่างไรจึงจะอัญเชิญขึ้นไปให้ถึงถ้ำขามได้ เพราะระยะนั้น ถนนสำหรับขึ้นลงยังไม่มี ทางคนเดินแม้จะมีอยู่ แต่จะขึ้นลงแต่ละทีก็แสนลำบากมากอยู่แล้ว แต่พระอาจารย์ฝั้นได้บอกบรรดาญาติโยมทั้งหลายว่าไม่ยาก ให้พากันหามขึ้นไปเลย โดยมีคนถางทางนำหน้าขึ้นไปก่อน ฝ่ายที่หามพระประธานก็ให้หามตามไปเรื่อย ๆ หากจะตัดทางให้เสร็จก่อนแล้วหามพระประธานขึ้นไป ก็จะเสียเวลาไปอย่างน้อยถึง ๕ วัน จึงจะตัดทางได้สำเร็จ อีกประการหนึ่ง พระอาจารย์ฝั้นจะต้องจากถ้ำขามไปในงานประชุมประจำปีของคณะศิษย์พระอาจารย์มั่น ที่วัดป่าสุทธาวาส ไม่มีเวลาพอจะรอได้ ชาวบ้านก็สนองเจตนาของท่าน ด้วยการแบ่งกำลังออกเป็นสองชุด ชุดแรกให้ถางทางขึ้นไปก่อน ชุดหลังหามพระประธานตามขึ้นไป เมื่อลงมือกันเข้าจริง ๆ ชุดที่ถางทางขึ้นไปก่อน ทำงานไม่ทัน เพราะเป็นป่ารก เต็มไปด้วยขวากหนาม ชุดที่หามพระปรานขึ้นไปไม่อาจหยุดรอได้ เพราะพระประธานหนักมาก จะวางลงหรือยกขึ้นแต่ละครั้งลำบากเป็นที่สุด เนื่องจากสภาพพื้นที่สูงชันและเต็มไปด้วยก้อนหินระเกะระกะ จึงจำเป็นต้องแซงชุดที่ถางทางขึ้นไปก่อน เมื่อแซงไปแล้ว ก็บุกต่อไปโดยไม่หยุดยั้ง เพราะทางชันขึ้นตลอดเวลา ชุดที่ถางทางล่วงหน้า จึงพากันวางมีด ช่วยกันผลัดเปลี่ยน ทำหน้าที่หามร่วมขบวนไปด้วย ตนในที่สุดก็อัญเชิญพระประธานขึ้นไปถึงถ้ำขามได้สำเร็จภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง
58#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 13:22 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

ศาลาโรงธรรมบนถ้ำขามยังเป็นที่ฉันจังหันรวมของภิกษุสามเณรด้วย

น่าสังเกตว่า ในขณะที่ชาวบ้านช่วยกันหามพระประธานขึ้นไปนั้น ผู้คนชุลมุนวุ่นวายถึงขนาดล้มลุกคลุกคลานอยู่ตลอดเวลา หลายต่อหลายคนล้มลงไปในดงขวากหนาม น่าจะได้รับบาดเจ็บหรือมีบากแผลกันบ้าง แต่น่าอัศจรรย์เป็นอย่างยิ่ง ทุกคนปลอดภัยไม่มีใครได้รับบาดเจ็บเลยสักคน

และในปีนั้นเอง มีข้อน่าสังเกตอีกประการหนึ่งว่า ได้มีคณะศิษย์ทางกรุงเทพฯ พากันขึ้นถ้ำขามไปนมัสการพระอาจารย์ฝั้นเป็นจำนวนมาก แม้การขึ้นถ้ำขาม จะเป็นไปด้วยความยากลำบาก ยังอุตส่าห์ขึ้นไปจนถึง ที่จ้างเกวียนนั่งไปจนถึงเขาแล้วเดินขึ้นก็มี ที่ขึ้นไปแล้วต้องพักเหนื่อยค้างคืนก็มีมาก ทางรถยนต์ที่สร้างขึ้นไปจนถึงถ้ำขามในทุกวันนี้นั้น ก็เกิดจากนายช่างวิศวกรท่านหนึ่ง อุปสมบทแล้วขึ้นไปจำพรรษาอยู่บนถ้ำขามในปีพ.ศ. ๒๕๐๗ เมื่อจวนจะออกพรรษา ได้เกิดศรัทธาจะทำทางรถยนต์ขึ้นลงถ้ำขามให้ได้ จึงออกสำรวจทางหลังถ้ำ แล้วทำทางลงมาจนสำเร็จ ยังผลให้รถยนต์วิ่งขึ้นลงได้จนปัจจุบัน


อ่างเก็บน้ำบนถ้ำขาม

ในพรรษาปีพ.ศ. ๒๔๙๘ พระอาจารย์ฝั้นคงจำพรรษาอยู่บนถ้ำขามพร้อมด้วยพระภิกษุ ๔ รูปกับสามเณรอีก ๓ รูป เท่ากับพรรษาก่อน ในฤดูแล้งปีนั้น มีการทำสระน้ำเป็นงานหลัก สระน้ำบนถ้ำขามนั้นปรากฏว่าต้องทำถึงสองครั้ง เมื่อทำเสร็จครั้งแรกเก็บน้ำเต็มสระแล้วเกิดชำรุด ผนังแตกร้าว น้ำไหลซึมออกไปหมด จึงต้องจัดทำกันใหม่อีกครั้งหนึ่ง โดยขยับเนื้อที่เข้าไปอีก ครั้งนี้ทำผนังเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก จึงแน่นหนาถาวรมาจนกระทั่งปัจจุบัน และในปีต่อมาพระอาจารย์ฝั้นได้ทำสระน้ำอีกแห่งบนพื้นที่สูงขึ้นไป จึงมีทั้งหมดรวมสองสระ

ตลอดเวลาที่ผ่านไป พระอาจารย์ฝั้น ฯ ยังคงนำสานุศิษย์บำเพ็ญความเพียรอย่างคงเส้นคงวา สำหรับอาหารการบิณฑบาตยังคงขัดสนอยู่เช่นเคย แต่บรรดาพระภิกษุสามเณรที่อาศัยอยู่กับพระอาจารย์ฝั้นฯ ก็มิได้ย่อท้อต่อความลำบาก ชาวบ้านก็เอาใจใส่เป็นอย่างดี โดยเดินทางไปใส่บาตรที่เชิงเขา ส่วนพระและเณรก็เดินลงจากเขา รับบิณฑบาตแล้วก็เดินกลับขึ้นไป หว่าจะได้ลงมือฉันก็ตกเข้าไปเกือบ ๙ นาฬิกาครึ่ง ขณะเดียวกันนั้น ก็ได้มีการจัดสร้างกุฏิ สำหรับพระและเณรอยู่อาศัยเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยแรงศรัทธาของบรรดาสานุศิษย์ เพราะตลอดเวลาที่ผ่านไปมีพระและเณรขึ้นไปอาศัยและจำพรรษามากขึ้นเป็นลำดับ

มีข้อน่าสังเกตอีกประการหนึ่งว่า ขณะที่พระอาจารย์ในฯ ขึ้นไปพักบนถ้ำขามใหม่ ๆ นั้น บริเวณเชิงเขาเต็มไปด้วยป่ารก เป็นดงช้างดงเสือ และสัตว์ป่านานาชนิด แต่ปัจจุบันได้เป็นป่ากล้วย และไร่สวนไปมากมาย

59#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 13:23 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะพระอาจารย์ฝั้น ฯ ได้เป็นผู้แนะนำให้ชาวบ้านบุกเบิก เพื่อประโยชน์ในการครองชีพ และในทางเศรษฐกิจของชาวบ้านแถบนั้นเอง เรื่องมีอยู่ว่า วันหนึ่งขณะที่พระอาจารย์ฝั้น ฯ ได้แนะนำสั่งสอนให้ญาติโยมมีความขยันหมั่นเพียรในการทำมาหากิน ท่านได้แนะนำให้ปลูกกล้วยปลูกอ้อยให้มากขึ้นด้วย จะได้มีอยู่มีกินไม่อดอยากยากแค้น โยมคนหนึ่งได้ค้านขึ้นว่า หมู่บ้านแถบนี้พื้นที่ไม่อุดมสมบูรณ์ ปลูกอะไรก็ไม่ขึ้นเสียแรงเปล่า ๆ ต่อให้เทวดาหน้าไหนมาปลูกก็ไม่ได้ผล พระอาจารย์ฝั้น ฯ จึงถามว่าได้ลองปลูกดูแล้วหรือยัง โยมผู้นั้นตอบว่า ยัง พระอาจารย์ฝั้น ฯ จึงสั่งสอนว่า เพราะพวกเราพากันขี้เกียจเช่นนี้แหละถึงได้พากันอดอยาก ขาดแคลนกันมาเรื่อย มัวแต่พูดมัวแต่คิดว่าทำไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่ไม่เคยลงมือทำเลย แล้วจะรู้ผลได้อย่างไรว่าปลูกขึ้นหรือไม่ขึ้น หากปลูกไม่ขึ้นจริง ๆ แล้วบรรดาต้นไม้ต่าง ๆ เหล่านี้มันจะอยู่ได้อย่างไร ถึงภูเขานี้เองก็เถอะ ถ้าปลูกลงไปมันก็ขึ้นได้เหมือนกัน แล้วพระอาจารย์ฝั้นก็สั่งให้ญาติโยมหาหน่อกล้วยขึ้นไปปลูกดูบนภูเขา เพื่อลองดูว่ามันจะขึ้นได้หรือไม่ พร้อมกันนั้น ก็พาญาติโยมรวมทั้งโยมที่ค้านท่านไปปรับพื้นที่ตรงที่เป็นป่ากล้วยทุกวันนี้ด้วยกันทุกคน ต่อ ๆ มา พวกโยมก็แบกหน่อกล้วยขึ้นไปปลูกวันละต้นสองต้น ในที่สุดกล้วยที่ปลูกก็เจริญงอกงามจนเป็นป่ากล้วยอยู่ในปัจจุบัน และไร่สวนในบริเวณถ้ำขาม ก็เกิดขึ้นอย่างมากมายตามกันมา นับว่าพระอาจารย์ฝั้น ฯ ได้เป็นผู้บุกเบิกนำความเจริญไปสู่หมู่บ้านนั้นอย่างแท้จริง

ในพรรษาปี พ.ศ. ๒๔๙๙ พระอาจารย์ฝั้น ฯ ลงไปจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าภูธรพิทักษ์ เพราะบรรดาสานุศิษย์ทั้งหลายได้อ้อนวอนขออาราธนาท่านลงไปจำพรรษาอยู่ที่นั่น ออกพรรษาแล้วท่านก็กลับขึ้นไปบนถ้ำขามและนำสานุศิษย์ในการบูรณะ กับก่อสร้างถาวรวัตถุเพิ่มขึ้นตามลำดับ

ในพรรษา พ.ศ. ๒๕๐๐ มีพระและเณรจำพรรษาอยู่กับท่านรวม ๗ รูป เหมือนปีก่อน ปีต่อมาก็ยังคงจำนวนเดิม แต่ในปี พ.ศ. ๒๕๐๒ มีพระและเณรจำพรรษาเพิ่มขึ้นเป็น ๙ รูป ปี พ.ศ. ๒๕๐๓ เพิ่มเป็น ๑๕ รูป จนเกินกำลังของผู้ที่จะให้ความอุปัฏฐาก ยังความลำบากแก่พระและเณรในกลางพรรษาเป็นอันมาก ในพรรษาต่อมาท่านจึงตัดจำนวนลง คือในปี พ.ศ. ๒๕๐๔ มีพระและเณรจำพรรษาลดลงเหลือ ๙ รูป และปีพ.ศ. ๒๕๐๕ ลดลงอีกเหลือ ๖ รูป

เมื่อออกพรรษาปี พ.ศ. ๒๕๐๕ แล้ว พระอาจารย์ฝั้น ฯ ได้ลงไปพักที่วัดป่าอุดมสมพร ในฤดูแล้งของปี พ.ศ. ๒๕๐๕ ท่านได้นำญาติโยมพัฒนาเส้นทางจากโรงเรียนบ้านม่วงไข่ไปบ้านหนองโดกโดยช่วยดูแลเป็นกำลังใจแก่ชาวบ้านอย่างใกล้ชิด เป็นเวลาถึง ๕ – ๖ วัน การตรากตรำคร่ำเคร่งงานในขณะสังขารกำลังร่วงโรยเช่นนี้ เป็นเหตุให้ท่านป่วยหนักถึงขนาดต้องเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาลจังหวัดสกลนคร หลังจากนั้นประมาณ ๒ สัปดาห์ เมื่ออาการทุเลาลงแล้ว จึงกลับไปพักฟื้นที่วัดป่าภูธรพิทักษ์ และได้จำพรรษาอยู่ที่วัดนั้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๖ อีกพรรษาหนึ่ง เพราะขณะนั้นท่านมีอายุมากแล้ว และมีโรคภัยเบียดเบียนด้วย คณะแพทย์และสานุศิษย์เห็นว่าการเดินขึ้นลงที่ถ้ำขามต้องออกกำลังมาก อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของท่านได้ จึงวิงวอนให้ท่านพักจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าภูธรพิทักษ์ไปพลางก่อน

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ท่านจะจำพรรษาอยู่ที่วัดนั้นเพื่อเป็นการพักฟื้น แต่บรรดาญาติโยมทั้งใกล้และไกลก็ยังพากันไปนมัสการอยู่ไม่ขาด ท่านเองก็เมตตาต้อนรับ และเทศนาอบรมสั่งสอนโดยมิเห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย นับเป็นอันตรายต่อสุขภาพของท่านเป็นอย่างยิ่ง
60#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 13:24 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
นอกจากนี้ ท่านยังมีภารกิจในการอบรมพระภิกษุสามเณร โดยเฉพาะนวกภิกษุผู้บวชใหม่ไปพร้อมกันด้วย ทั้งยังได้นำการพัฒนาวัด โดยขุดลอกขยายสระหนองแวงให้กว้างและลึกจนเป็นรูปสระใหญ่ สร้างโบสถ์น้ำขึ้นในแบบได้ประโยชน์ใช้สอยและถูกต้องตามพระวินัยบัญญัติ โดยหลีกเลี่ยงความวิจิตรพิสดารในการตกแต่งอย่างสิ้นเชิง สำหรับกุฏิที่พักก็ได้สร้างขึ้นใหม่เท่าที่มีความจำเป็นเท่านั้น

ในปี ๒๕๐๗ พระอาจารย์เทสก์ เทสรังสี ผู้ซึ่งจากไปเทศนาอบรมสั่งสอนประชาชนทางภาคใต้ติดต่อกันมาถึง ๑๕ ปี ได้เดินทางกลับมาทางภาคอีสาน และได้แวะเข้าไปเยี่ยมเยียนพระอาจารย์ฝั้น ที่พรรณานิคมด้วย วันหนึ่งท่านได้เดินขึ้นไปบนถ้ำขาม พอเห็นสภาพบนถ้ำขามเข้าแล้วท่านก็ชอบใจ จึงได้พักวิเวกและจำพรรษาอยู่บนนั้น ปรากฏว่าในระหว่างพรรษาท่านสามารถบำเพ็ญความเพียรอย่างเต็มที่ เพราะพระภิกษุสามเณรที่ร่วมพรรษาด้วย ล้วนเป็นสานุศิษย์ของพระอาจารย์ฝั้น แต่ละรูปได้รับการอบรมจากพระอาจารย์ฝั้นอย่างดีมาแล้วทั้งนั้น จึงไม่เป็นภาระที่ท่านจะต้องหนักใจหรือสืบต่อการอบรมแต่ประการใด ความเหมาะสมในการวิเวกบำเพ็ญความเพียรบนถ้ำขามนั้น พระอาจารย์ขาว อนาลโย ก็พอใจเช่นเดียวกัน กล่าวคือในการพาคณะศิษย์ของท่านขึ้นไปพัก เพื่อเยี่ยมเยียนพระอาจารย์เทสก์ ในวันหนึ่ง ท่านถึงกับเอ่ยปากขอแลกสถานที่กับพระอาจารย์เทสก์ โดยขอให้พระอาจารย์เทสก์ไปอยู่ดูแลวัดถ้ำกลองเพลแทนท่าน ส่วนท่านเองจะขออยู่บนวัดถ้ำขามเอง แต่ไม่สำเร็จ

ในปีต่อ ๆ มา พระอาจารย์ฝั้นยังคงไป ๆ มา ๆ ระหว่างวัดป่าอุดมสมพร วัดป่าภูธรพิทักษ์ และวัดป่าถ้ำขาม แต่ไม่ว่าท่านจะไปพำนักอยู่ที่ใด บรรดาผู้คนจะพากันไปกราบไหว้นมัสการท่านอย่างเนืองแน่น ทุกคนได้รับการต้อนรับจากท่านอย่างเสมอหน้า ไม่เด็กไม่มีผู้ใหญ่ ไม่มีคนมีคนจน ไม่มีเจ้านายหรือบ่าวไพร่ ทุกคนได้รับความเมตตาปรานีเสมอกันหมด ตลอดเวลาที่ผ่านไป ท่านไม่เคยกระตือรือร้นในอันที่จะต้อนรับใครผู้ใดเป็นพิเศษ ทั้งไม่เคยย่อท้อในการเอาธุระแนะนำสั่งสอนอบรมเทศนาแก่ผู้คนทุกหมู่ทุกเหล่า

ท่านเป็นนักสร้างคน คือสร้างคนให้เป็นคนที่สมบูรณ์ ท่านได้แก้ไขผู้ประพฤติเป็นพาลเกเรเบียดเบียนข่มเหงรังแก สร้างความเดือดร้อนแก่ผู้อื่นโดยการใช้อำนาจหน้าที่ในทางมิชอบ ตลอดจนผู้ติดอบายมุขต่าง ๆ ให้บังเกิดความสำนึกตนและละเว้นจากการประพฤติมิชอบเป็นผลสำเร็จมามากต่อมาก


โบสถ์น้ำในหนองแวง
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้