ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

~ หลวงปู่ฝั้น อาจาโร วัดป่าอุดมสมพร ~

[คัดลอกลิงก์]
21#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 10:52 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
พระอาจารย์ฝั้นได้บอกกับผู้ใหญ่บ้านว่า ท่านเที่ยวธุดงค์ปฏิบัติกัมมัฏฐานไปตามสถานที่อันวิเวกต่าง ๆ เมื่อมาถึงที่นี่ จึงขอพักอาศัยในศาลภูตานี้ เพราะศาลภูตาเป็นที่พึ่งของคนในหมู่บ้าน ท่านจึงขอพึ่งพาอาศัยบ้าง ท่านได้บอกผู้ใหญ่บ้านไปด้วยว่า ท่านพึ่งศาลภูตาได้ดีกว่าชาวบ้านเสียอีก ชาวบ้านพึ่งศาลภูตากันอย่างไร ปล่อยให้สกปรกรกรุงรังอยู่ได้ ท่านเองพอเข้ามาพึ่งก็ปัดกวาดถากถางหนามและข่อยออกไปจนหมดสิ้นอย่างที่เห็น ผู้ใหญ่บ้านประจักษ์ข้อเท็จจริงเพียงประการแรกถึงกับนิ่งงัน ครั้นแล้วก็สอบถามท่านถึงปัญหาธรรมต่าง ๆ เหมือนเป็นการลองภูมิ ท่านก็อธิบายให้ฟังอย่างลึกซึ้งหมดจดไปทุกข้อ ทำเอาผู้ใหญ่บ้านถึงกับออกปากว่า “น่าเลื่อมใสจริง ๆ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จโปรดเทศนาสั่งสอนคนสมัยก่อน บัดนี้มาเจอเอาคนจริงเข้าแล้ว” เช่นเดียวกัน ลูกบ้านทั้ง ๔ ซึ่งยืนสดับตรับฟังอยู่ใกล้ ๆ เกิดความเลื่อมใสไปด้วย


ดอนป่าช้า บ้านผือ จ.ขอนแก่น

ทั้งหมดได้กลับไปหมู่บ้าน จัดหาเสื่อที่นอนและหมอนมุ้งไปทำที่พักให้พระอาจารย์ฝั้น ทิฏฐิเดิมที่มีอยู่ปลาศนาการไปจนหมดสิ้น ถึงกับนิมนต์ให้ท่านจำพรรษาเสียที่นั่นเลยด้วยซ้ำ แต่ท่านปฏิเสธว่า ที่นั่นน้ำท่วม เพราะใกล้กับลำชี ไม่อาจจำพรรษาได้อย่างที่ชาวบ้านปรารถนา ชาวบ้านซึ่งมีความเลื่อมใสศรัทธาอยู่ก็แจ้งแก่ท่านว่า ไม่ห่างไปจากที่นี่นัก มีดอนป่าช้าอยู่แห่งหนึ่งน้ำไม่ท่วม เหมาะสำหรับเป็นสถานที่จำพรรษาอย่างยิ่ง ท่านไม่อาจปฏิเสธต่อไปอีกได้ จึงไปจำพรรษาอยู่ที่ดอนป่าช้าตามที่ชาวบ้านนิมนต์

ถึงกลางพรรษา ชาวบ้านส่วนหนึ่งซึ่งยังนับถือภูตผีปีศาจอยู่ ได้รับความเดือดร้อนตามความเชื่อเรื่องผีเข้าเป็นอันมาก กล่าวคือ เชื่อกันว่า มีผีเข้าไปอาละวาดอยู่ในหมู่บ้าน เข้าคนโน้นออกคนนี้ ที่ตายไปก็มี ที่ยังไม่ตายก็มี นอกจากนี้ยังมีโยมอุปัฏฐาก ๓ – ๔ คน ไปปรึกษากับพระอาจารย์ฝั้นด้วย เล่าว่า สามีล่องเรือบรรทุกข้าวไปขายที่จังหวัดอุบลราชธานี ภรรยากับลูก ๆ  ซึ่งเป็นโยมอุปัฏฐากกลัวว่าถูกผีเข้าเหมือนคนอื่น ไม่ทราบจะพึ่งใครได้ จึงมากราบไหว้ขอให้ท่านเป็นที่พึ่ง พระอาจารย์ก็บอกว่าไม่เป็นไร ไม่ต้องกลัว ภาวนา พุทโธ พุทโธ ไว้เสมอ ผีเข้าไม่ได้หรอก ต่อให้เรียกผี หรือท้าผีมากิน มันก็ไม่กล้ามากิน หรือมารบกวน โยมอุปัฏฐากกลุ่มนั้นก็เชื่อฟังและปฏิบัติตาม

อย่างไรก็ดี ปรากฏว่ายังมีผีเข้าชาวบ้านอยู่เรื่อย ๆ มีชาวบ้านได้ไปแจ้งแก่พระอาจารย์ฝั้นให้ทราบว่า ได้ถามผีดูแล้วว่า ทำไมไม่ไปเข้าพวกที่ปฏิบัติอุปัฏฐากบ้างล่ะ ผีในร่างคนก็ตอบว่า ไม่กล้าเข้าไป จะเข้าไปได้อย่างไร พอเข้าบ้านก็เห็นแต่พระพุทธรูปนั่งอยู่เป็นแถว

อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านกลุ่มอื่นยังคงมีความหวาดหวั่นเรื่องผีเข้ากันอยู่ ได้มีการประชุมหารือกันเพื่อหาหมอผีมาไล่ผีออกไป เมื่อเสาะหาหมอผีมาได้แล้ว ชาวบ้านกลับเดือดร้อนหนักยิ่งขึ้นไปอีก เพราะหมอผีตั้งเงื่อนไขว่า จะไล่ผีออกไปจากหมู่บ้านนั้นไม่ยาก แต่ทุกครัวเรือนต้องนำเงินไปมอบให้เสียก่อน จึงจะทำพิธีขับไล่ให้ โยมอุปัฏฐากจึงได้นำความไปปรึกษาหารือกับพระอาจารย์ฝั้น ว่าจะทำอย่างไรดี ท่านจึงแนะนำว่า หากหมอผีจะเก็บเงินเพื่อไปสร้างโน่นสร้างนี่ที่เป็นสาธารณสมบัติ หรือสร้างวัดวาอารามก็ควรให้ แต่ถ้าหมอผีเก็บเงินไปเพื่อประโยชน์ส่วนตนก็ไม่ควรให้ ทั้งยังได้แนะนำไม่ให้เชื่อเรื่องผีสางอีกต่อไป เพราะเป็นเรื่องเหลวไหล คนเราป่วยเจ็บกันได้ทุกคน จะปักใจเชื่อเอาเสียเลยว่าผีเข้า ย่อมเป็นเรื่องงมงายไร้เหตุผล โยมเหล่านั้นก็พากันเชื่อฟังท่าน และไม่ยอมจ่ายเงินให้ตามที่หมอผีเรียกร้องไว้ ในที่สุด หมดผีก็หมดความสำคัญไป ความเชื่อเรื่องผีสางของชาวบ้านก็ค่อย ๆ ลดน้อยลง
22#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 10:52 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ออกพรรษาปีนั้น พระอาจารย์ฝั้นได้ลาญาติโยมออกจากป่าช้าจะไปอำเภอน้ำพอง เมื่อถึงวัดศรีจันทร์ ปรากฏว่าเดินทางต่อไปไม่ได้ เพราะชาวบ้านเหล่านั้นได้ติดตามมาขอร้องให้ท่านกลับไปช่วยเหลืออีกสักครั้ง โดยอ้างว่ามีผีร้ายขึ้นไปอยู่บนหลังคาบ้านทุกหลัง ท่านจึงต้องกลับไปที่หมู่บ้านนั้นอีกครั้งหนึ่ง

การกลับไปครั้งนี้ ผู้ใหญ่บ้านได้ประชุมลูกบ้านแล้วมานมัสการท่าน ขอรับไตรสรณคมน์ ต่อจากนั้นความเชื่อเรื่องผีสางจึงหมดสิ้นลง

ปี พ.ศ. ๒๔๗๓ พระอาจารย์ฝั้นได้จำพรรษาที่วัดบ้านผือ จังหวัดขอนแก่น พอออกพรรษาแล้ว ท่านกับพระอาจารย์อ่อน ได้เที่ยวธุดงค์กัมมัฏฐานไปจนถึงหมู่บ้านจีด ในเขตอำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี บังเอิญได้ข่าวว่า โยมพี่สาวของพระอาจารย์อ่อนป่วยหนัก พระอาจารย์อ่อนจึงแยกไปรักษาโยมพี่สาว ส่วนท่านพำนักอยู่ที่บ้านจีดโดยลำพัง

ที่นั่น พระอาจารย์ฝั้นได้เผชิญศึกหนักเข้าเรื่องหนึ่ง เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับ “ธรรมต่อไก่” ธรรมต่อไก่เป็นวิธีบรรลุธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งชีผ้าขาวคนหนึ่งชื่อ “ไท้สุข” บัญญัติขึ้นมาว่า หากใครนำไก่ตัวผู้และไก่ตัวเมียคู่หนึ่งมามอบให้ชีผ้าขาวแล้ว เพียงแต่กลับไปนอนบ้านก็สามารถบรรลุธรรมได้ มีชาวบ้านหลงเชื่อกันอยู่เป็นจำนวนมาก

พระอาจารย์ฝั้นได้ชี้แจงแสดงธรรมต่อไปทั้งวัน ชีผ้าขาวกับผู้ที่เชื่อถือเหล่านั้นก็ยังไม่ยอมแพ้

ตอนหนึ่ง ชีผ้าขาว อ้างว่าตนมีคาถาดี คือ ทุ โส โม นะ สา ธุ พระอาจารย์ฝั้นได้ออกอุบายแก้ว่า ทุ สะ นะ โส เป็นคำของเปรต ๔ พี่น้อง ทั้งสี่ ก่อนตายเป็นเศรษฐีทีทรัพย์สมบัติมากมาย แต่ตลอดชีวิตไม่เคยทำคุณงามความดี ไม่เคยสร้างกุศลเลย เอาแต่ประพฤติชั่ว เสเพลไปตามที่ต่าง ๆ ครั้นตายแล้ว จึงกลายไปเป็นเปรตไปหมด ต่างตกนรกไปถึง ๖ หมื่นปี พอครบกำหนด คนพี่โผล่ขึ้นมาก็ออกปากพูดได้คำเดียวว่า “ทุ”  พวกน้อง ๆ โผล่ขึ้นมาก็ออกปากได้คำเดียวเช่นกันว่า “สะ” “นะ” “โส” ตามลำดับ หมายถึงว่า เราทำแต่ความชั่ว เราไม่เคยทำความดีเลย เมื่อไหร่จะพ้นหนอ ฉะนั้น คำเหล่านี้จึงเป็นคำของเปรต ไม่ใช่คาถาหรือคำสั่งสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

สั่งสอนแก้ไขกันอยู่ถึงอาทิตย์หนึ่ง ก็ยังไม่อาจละทิฏฐิของพวกนั้นลงได้

พอดีโยมพี่สาวของพระอาจารย์อ่อนหายป่วย พระอาจารย์อ่อนจึงย้อนกลับมา โดยมีพระอาจารย์กู่มาสมทบด้วยอีกรูปหนึ่ง กำลังใจของพระอาจารย์ฝั้นจึงดีขึ้น เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมา ทางฝ่ายท่านมีท่านเพียงรูปเดียวเท่านั้น อธิบายอะไรออกไปก็ถูกขัดถูกแซงเสียหมด

ในที่สุดชีผ้าขาวกับพรรคพวกก็ยอมแพ้ ยอมเห็นตามและรับว่า เหตุที่เขาบัญญัติ “ธรรมต่อไก่” ขึ้นมาก็เพื่อเป็น “นากิน” (อาชีพหากินด้วยการหลอกลวง) และยอมรับนับถือไตรสรณาคมน์ตามที่ท่านสั่งสอนไว้แต่ต้น
23#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 10:53 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
แต่ปัญหาก็ยังไม่หมดไปอยู่ดี เพราะว่าเมื่อพระอาจารย์ฝั้นบอกให้ชีผ้าขาวตัดผมเสีย ชีผ้าขาวผู้นั้นก็ไม่ยอมตัด อ้างว่าถ้าตัดผมเป็นต้องตายแน่ ๆ พระอาจารย์อ่อนจึงบอกว่า อย่ากลัว ดูทีหรือว่าจะตายจริงหรือไม่ คนอื่นเขาตัดผมกันทั่วไปไม่เห็นตายเลยสักคน ชีผ้าขาวจึงได้ยอมเมื่อตัดผมแล้วไม่ตาย ชีผ้าขาวจึงยอมรับนับถือบรรดาพระอาจารย์ทั้งสามยิ่งขึ้น

ระหว่างที่พำนักอยู่ที่บ้านจีด มีโยมผู้หญิงคนหนึ่ง ไอทั้งวันทั้งคืน เสาะหายาจากที่ต่าง ๆ มากิน จนนับขนานไม่ถ้วนก็ยังไม่หาย ผังเทศน์ก็ฟังไม่ได้ ขณะฟังก็ไออยู่ตลอดเวลา เป็นที่รบกวนสมาธิของผู้อื่น คืนที่สาม พอฟังเทศน์จบลง พระอาจารย์ฝั้นจึงถามว่า ทำไมไม่รักษา โยมผู้นั้นตอบว่า กินยามาหลายขนานแล้วก็ไม่เห็นหาย ท่านจึงบอกโยมผู้นั้นไปว่า คงเป็นกรรมเก่าที่ทำมาแต่ปางก่อน ขอให้หัดภาวนาดู แล้วบอกคาถาให้บริกรรมว่า ปฏิกะ มันตุ ภูตานิ วันแรกท่านให้ภาวนาตั้งจิตบริกรรม โดยกำหนดจิตที่ใดที่หนึ่ง วันแรกนั่งบริกรรมได้สักพักก็ยังไออยู่ตลอด วันที่สองปรากฏว่ามีอาการค่อยชุ่มคอขึ้นหน่อย อาการไอห่างไปบ้าง พอถึงวันที่สามอาการไอก็หายไปราวกับปลิดทิ้ง รู้สึกคอชุ่มขึ้น โยมผู้นั้นนั่งบริกรรมอยู่จนดึกดื่น ใคร ๆ หลับกันหมด แกก็ยังไม่ยอมหลับ ในที่สุดอาการไอก็หายโดยเด็ดขาดตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา

โยมผู้นั้นสำนึกในบุญคุณ ได้เอาเงินทองมาถวายพระอาจารย์ฝั้น แต่ท่านไม่ยอมรับ ผลที่สุดก็เอาจักรเย็บผ้ามาถวาย อ้างว่าเป็นค่ายกครู เพื่อไม่ให้เสียน้ำใจ ท่านจึงได้เอาจักรนั้นไปเย็บจีวรของท่านเองจนเสร็จแล้วจึงคืนให้

เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๔ ซึ่งเป็นพรรษาที่ ๗ ของพระอาจารย์ฝั้น ท่านได้จำพรรษาอยู่ที่ภูระงำ อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น โดยมีพระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ ติดตามอยู่ร่วมจำพรรษาด้วย นับเป็นปีที่ ๓ ที่ท่านไปจำพรรษาอยู่ที่ขอนแก่น

ก่อนหน้าที่จะไปถึงภูระงำ ท่านได้ออกจากอำเภอหนองหาน มาที่วัดศรีจันทร์ และได้เข้าร่วมพิธีกระทำญัตติกรรมพระภิกษุครั้งใหญ่ ในการนี้ท่านอดตาหลับขับตานอนจนตาลายไปหมด เพราะต้องเตรียมตัดเย็บสบง จีวร สังฆาฏิ ทั้งกลางวันกลางคืน เป็นเหตุให้ท่านอาพาธลง

พอเข้าใกล้พรรษาจึงได้ตัดสินใจไปจำพรรษาที่ภูระงำ ซึ่งขณะนั้นอาการอาพาธของท่านก็ยังไม่ทุเลาดีนัก

ระหว่างจำพรรษาอยู่บนภูระงำ ปรากฏว่าท่านได้รับความทุกขเวทนาเป็นอันมาก ตามเนื้อตัวปวดไปหมด จะนั่งจะนอนก็ปวดเมื่อยไปทุกอิริยาบถ ท่านจึงตัดสินใจออกไปนั่งภาวนาทำความเพียรอยู่ในที่โล่งแจ้ง ตั้งใจว่าจะภาวนาสละชีวิต คือภาวนาไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะมรณภาพ โดยนั่งภาวนาถึงความทุกข์ ความเวทนาที่เกิดขึ้นในร่างกาย และด้วยความสำรวมใจที่แน่วแน่ จิตของท่านก็พลันสงบวุบลงไป ร่างกายเบาหวิว ความทุกข์ทรมานทั้งหลายแหล่ก็พลอยปลาศนาการไปหมดสิ้น

ตั้งแต่ทุ่มเศษจนกระทั่ง ๙ โมงเช้า ท่านนั่งภาวนาในอิริยาบถเดียวอยู่ตลอดเวลา จนพระเณรทั้งหลายที่กลับจากบิณฑบาต ไม่กล้ารบกวน แต่พอพระเณรเข้าไปกราบท่านก็รู้สึกตัวและถอนจิตออกจากสมาธิลืมตาขึ้นมา

พระเณรต่างนิมนต์ให้ท่านฉันจังหัน แต่ท่านแย้งว่า ยังไม่ได้ออกบิณฑบาตเลย พระเณรต้องกราบเรียนว่า ขณะนั้นใกล้จะ ๑๐ โมงอยู่แล้ว ต่างไปบิณฑบาตกลับมากันหมดแล้ว ท่านจึงรำพึงขึ้นมาว่า ท่านได้นั่งภาวนาประเดี๋ยวเดียวเท่านั้นเอง นึกไม่ถึงเลยว่าจะข้ามคืนมาจนถึงขณะนี้
24#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 10:54 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

ปากถ้ำเป็นที่โล่งแจ้ง ที่พระอาจารย์นั่งภาวนา
จนระลึก "พุทโธ" ได้เป็นครั้งแรก


ปรากฏว่า จากการนั่งบำเพ็ญสมาธิภาวนาบนภูระงำครั้งนั้น ยังผลให้ท่านระลึก พุทโธ ได้เป็นครั้งแรก อาการอาพาธปวดเมื่อยหายไปหมด พ้นจากการทุกข์ทรมาน เบาตัว เบากาย สบายเป็นปกติ และทำให้ท่านคิดได้ด้วยว่า สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เคยทำความเพียร นั่งสมาธิอยู่ได้นานถึง ๔๙ วัน เมื่อเป็นเช่นนี้ หากท่านจะนั่งนานยิ่งกว่าที่ท่านเคยนั่งในขณะนี้อีกสักเท่าไหร่ ก็ควรจะต้องนั่งได้

ในการนั่งภาวนาทำความเพียรอีกครั้งหนึ่ง พอจิตสงบ ท่านได้นิมิตเห็นหญิงมีครรภ์แก่มาเจ็บท้องอยู่ตรงหน้า  แล้วคลอดมาเป็นเด็กใหญ่ สามารถเดินได้ วิ่งได้เลยทันที ขณะเดียวกันก็นิมิตคาถาขององคุลีมาล ซึ่งเป็นคาถาสำหรับหญิงคลอดลูกขึ้นมาได้ด้วย เมื่อถอนจิตจากสมาธิแล้ว ท่านได้จดคาถาบทนั้นไว้ว่า “โสตถิคัพพะสะ”

ต่อมาปรากฏว่า มีหญิงชราผู้หนึ่ง พาลูกสาวซึ่งเจ็บท้องใกล้จะคลอดเป็นท้องแรกมาหา แจ้งว่า เจ็บท้องมา ๓ วันแล้วไม่คลอดสักที ได้รับทุกข์เวทนาเป็นอันมาก ขอร้องให้ท่านช่วยเหลือ เพราะไม่ทราบจะพึ่งใครได้ พระอาจารย์ฝั้นจึงได้เขียนคาถาบทนั้นลงไปบนซองยา แล้วให้ไปภาวนาที่บ้าน ต่อมาอีก ๓ วัน หญิงชราก็มาส่งข่าวว่า ลูกสาวคลอดบุตรแล้ว ไม่เจ็บไม่ปวดแต่ประการใด

ตั้งแต่นั้นมา ชาวบ้านจะคลอดลูก ก็มาขอคาถาท่านอยู่เป็นประจำ

ออกพรรษาคราวนั้น ท่านลงจากภูระงำ เที่ยวธุดงค์ปฏิบัติกัมมัฏฐาน เทศนาธรรมสั่งสอนชาวบ้านไปเรื่อย ๆ จนถึงอำเภอน้ำพอง ซึ่งที่นั่น ท่านได้พบพระอาจารย์สิงห์ พระอาจารย์มหาปิ่น และพระเณรอีกหลายรูป ซึ่งต่างก็เที่ยวธุดงค์กันมาจากสถานที่ที่จำพรรษาด้วยกันทั้งนั้น

และที่อำเภอน้ำพองนี่เอง สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) เจ้าคณะมณฑลอีสาน เมื่อครั้งยังเป็นพระพรหมมุนี ได้มีบัญชาให้พระอาจารย์สิงห์นำพระภิกษุสามเณรในคณะของท่านเดินทางไปจังหวัดนครราชสีมา เพื่อเทศนาสั่งสอนพุทธบริษัท ซึ่งพระอาจารย์ฝั้นก็ได้ร่วมเดินทางไปกับพระภิกษุสามเณรคณะนี้ด้วย


พระอาจารย์สิงห์

เป็นที่น่าสังเกตว่า สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส)  นั้น แต่ไหนแต่ไรมาท่านไม่ชอบพระธุดงค์เอาเลย ท่านว่าเป็นพระขี้เกียจ ไม่ศึกษาเล่าเรียน ถึงกับมีเรื่องต้องขับไล่ไสส่งมาแล้วหลายครั้งหลายหน แม้แต่พระอาจารย์สิงห์ ซึ่งเป็นสัทธิวิหาริกของท่านเองก็ยังเคยถูกขับไล่มาแล้ว จนบางครั้ง พระอาจารย์สิงห์เกิดรำคาญถึงกับจะหลบออกนอกประเทศไปเลยก็มี แต่ทุกครั้งที่มีเหตุการณ์รุนแรงดังกล่าว พระอาจารย์ฝั้นจะเป็นผู้แก้ไข และได้พยายามขอร้องให้พระอาจารย์สิงห์ต่อสู้ด้วยการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบมาตลอด ในที่สุดสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ก็กลับบังเกิดความเลื่อมใส และยอมรับปฏิปทาของพระอาจารย์ทั้งปวงในสายกัมมัฏฐานตลอดมา จนถึงกาลอวสานแห่งชีวิตของท่าน

25#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 10:54 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

พระอุโบสถวัดสุทธจินดา นครราชสีมา

เมื่อถึงนครราชสีมา พระอาจารย์ฝั้นได้ไปพักอยู่ที่วัดสุทธจินดา ที่วัดนั้นมีพุทธบริษัทไปร่วมทำบุญกันมาก เมื่อครั้งที่หลวงชาญนิคม ผู้บังคับกองตำรวจ จังหวัดนครราชสีมา ได้ยกที่ดินผืนใหญ่ให้สร้างวัดป่าสาลวัน ท่านก็อยู่ร่วมในพิธีถวายที่ดินคราวนั้นด้วย

รุ่งขึ้นจากวันที่มีการถวายที่ดิน พระอาจารย์ฝั้นก็เดินทางเข้ากรุงเทพฯ เป็นครั้งแรก โดยเดินทางร่วมมากับพระอาจารย์สิงห์ และพระมหาปิ่น ปญฺญาพโล เพื่อเข้ามาเยี่ยมอาการป่วยของเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท) เมื่อถึงกรุงเทพฯ ก็ได้เข้าพักอยู่ที่วัดบรมนิวาส ตั้งแต่เดือนสาม จนถึงเดือนหก

ระหว่างพำนักอยู่ในกรุงเทพฯ เรื่องที่ไม่น่าจะเกิด ได้อุบัติขึ้นแก่ท่านโดยบังเอิญ ที่ว่าไม่น่าจะเกิดขึ้นนั้น ก็เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับสตรีเพศ

เรื่องมีว่า วันหนึ่งพระอาจารย์สิงห์ ได้พาท่านไปนมัสการท่านเจ้าคุณ พระปัญญาพิศาลเถระ (หนู) ที่วัดสระปทุม ระหว่างทางได้เดินสวนกับผู้หญิงคนหนึ่งเข้า นับตั้งแต่วินาทีนั้นเป็นต้นมา พระอาจารย์ฝั้นก็ลืมผู้หญิงคนนั้นไม่ลง

ท่านรู้สึกว่า ท่านได้เกิดความรักขึ้นในใจเสียแล้ว ขณะเดียวกัน ท่านก็บอกตัวเองด้วยว่า ท่านจะต้องขจัดความรู้สึกดังกล่าวออกไปเสียให้พ้นจากความรู้สึกนึกคิดให้ได้

กลับวัดบรมนิวาสในวันนั้น ท่านได้นั่งภาวนา พิจารณาแก้ไขตัวเองถึงสามวัน แต่ก็ไม่ได้ผล ใบหน้าของผู้หญิงนั้นยังคงอยู่ในความรู้สึกนึกคิด จนไม่อาจสลัดให้ออกไปได้ ในที่สุด เมื่อเห็นว่า เป็นการยากที่จะแก้ไขได้ด้วยตัวเองแล้ว ท่านจึงได้เล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้ท่านพระอาจารย์สิงห์ฟัง เพื่อให้ช่วยแก้ไข พระอาจารย์สิงห์ได้แนะให้ท่านไปพักในพระอุโบสถ พร้อมกับให้พิจารณาทำความเพียรให้หนักขึ้น

พระอาจารย์ฝั้นได้บำเพ็ญภาวนาอยู่ในพระอุโบสถเป็นเวลาถึง ๗ วัน ก็สามารถรู้ชัดถึงบุพเพสันนิวาสแต่ในปางก่อน ว่าผู้หญิงคนนี้กับท่าน เคยเป็นสามีภรรยากันมา จึงทำให้เกิดความรู้สึกดังกล่าวขึ้น เมื่อตระหนักในเหตุในผล ท่านก็สามารถตัดขาด ลืมผู้หญิงคนนั้นไปได้โดยสิ้นเชิง

หลังจากพักอยู่ในวัดบรมนิวาสได้ ๓ เดือน พระอาจารย์ฝั้นก็เดินทางกลับไปที่จังหวัดนครราชสีมา และได้จำพรรษาอยู่ที่วัดป่าศรัทธารวม ตำบลหัวทะเล พรรษานี้เป็นพรรษาที่ ๘ ของท่าน (พ.ศ. ๒๔๗๕) และน่าสังเกตด้วยว่า นับแต่ปี ๒๔๗๕ เป็นต้นมาจนถึงปี ๒๔๘๖ (พรรษาที่ ๘ ถึง พรรษาที่ ๑๙) ท่านได้จำพรรษาอยู่ที่วัด ในจังหวัดนครราชสีมาโดยตลอด

26#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 10:55 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

บริเวณวัดป่าศรัทธารวม ตำบลหัวทะเล

วัดป่าศรัทธารวมที่ท่านจำพรรษาในพรรษาที่ ๘ นั้น แต่ก่อนเคยเป็นป่าช้าที่ ๒ สำหรับเผาศพผู้ที่ตายด้วยโรคติดต่อ เช่นอหิวาตกโรค และ กาฬโรค ฯลฯ เป็นต้น

ในพรรษานี้ มีพระภิกษุสามเณรอยู่จำพรรษาด้วยกันรวม ๑๔ รูป คือนอกจากท่านแล้ว ยังมีพระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล, พระอาจารย์เทสก์ เทสรังสี, พระอาจารย์ภุมมี ฐิตธมฺโม, พระอาจารย์หลุย จนฺทสาโร, พระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ ฯลฯ รวมพระภิกษุ ๑๐ รูป และสามเณรอีก ๔ รูป ตลอดระยะเวลาเข้าพรรษา พระอาจารย์เทสก์ กับพระอาจารย์ฝั้นได้ช่วยเหลือพระอาจารย์มหาปิ่นในภาระต่าง ๆ เป็นอันมาก เช่นแสดงพระธรรมเทศนาอบรมญาติโยม และรับแขกที่มาเยี่ยมเยือนเป็นต้น

ออกพรรษาปีนั้น คือ พ.ศ. ๒๔๗๕ พระอาจารย์ฝั้นได้ชวนพระอาจารย์อ่อน ธุดงค์ไปวิเวกภาวนาที่บ้านคลองไผ่ ตำบลลาดบัวขาว อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา ตอนหนึ่งขณะไปวิเวกอยู่ที่บ้านหนองบัว พระอาจารย์ฝั้นได้เกิดอาพาธเป็นไข้มาเลเรียขึ้นมาอีก ฉันยาควินินก็แล้ว ยาอื่น ๆ ก็แล้ว ก็ไม่หายขาดลงไปได้ ท่านจึงได้ใช้วิธีนั่งภาวนากำหนดจิตดู

พอจิตรวมได้ที่แล้ว ท่านก็พิจารณากายเพื่อดูอาการไข้

ทันใด ท่านก็นิมิตเห็นอะไรอย่างหนึ่งจะเรียกว่าอะไรก็ไม่ทราบ ได้กระโดดออกจากร่างของท่านไปยืนอยู่ข้างหน้า ท่านพิจารณากำหนดจิตเพ่งดูมันต่อไป เจ้าอะไรตนนั้นก็กลับกลายเป็นกวาง แล้วกระโดดลงไปในห้วย จากนั้นกระโดดขึ้นจากห้วยวิ่งต่อไป ขณะวิ่งมันได้กลายเป็นช้างตัวใหญ่ บุกป่าเสียงไม้หักโครมครามลับไปจากสายตาของท่าน

รุ่งเช้าอาการไข้ของท่านก็กลับหายเป็นปกติ

พอเข้าเดือน ๖ นายอำเภอขุนเหมสมาหารได้อาราธนาพระอาจารย์อ่อนกับพระอาจารย์ฝั้นไปจัดสร้างวัดขึ้นวัดหนึ่ง ใกล้สถานีรถไฟบ้านใหม่สำโรง ตำบลลาดบัวขาว อำเภอสีคิ้ว เสร็จแล้วพระอาจารย์ฝั้นได้ธุดงค์กลับไปโคราชเพื่อต่อไปยังอำเภอโนนสูง

พอถึงบ้านมะรุม ได้จัดสร้างเสนาสนะป่าเป็นสำนักสงฆ์ขึ้นบนโคกป่าช้า ซึ่งอยู่ระหว่างหมู่บ้านแฝกและหมู่บ้านหนองงา ตำบลพลสงครามและได้จำพรรษาอยู่ใน พ.ศ. ๒๔๗๖ – ๒๔๗๗ (พรรษาที่ ๙ – ๑๐) ส่วนพระอาจารย์อ่อนได้แยกไปจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าบ้านใหม่สำโรง

27#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 10:56 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

บริเวณโคกป่าช้า บ้านมะรุม อ.โนนสูง ที่พระอาจารย์ฝั้น
ได้จัดสร้างเสนาสนะป่าขึ้นจำพรรษา


ออกพรรษาปี ๒๔๗๖ พระอาจารย์ฝั้นได้กลับไปโคราช เพื่อนมัสการพระอาจารย์สิงห์ ที่วัดป่าสาลวัน พอดีเกิด “กบฏบวรเดช” จะเที่ยวธุดงค์ทางไกลก็ไม่ได้ จึงชวนพระอาจารย์อ่อนพร้อมด้วยพระภิกษุสามเณรอีกหลายรูป ไปเที่ยววิเวกภาวนาอยู่ในท้องที่อำเภอปักธงไชย ระหว่างไปพักอยู่ที่ถ้ำเขาตะกุรัง มีเสือมารบกวนทั้งคืน เลียบ ๆ เคียง ๆ จะเข้ามาทำร้ายให้ได้ ท่านนึกรำคาญขึ้นมา จึงคว้าก้อนหินโยนเข้าไปก้อนหนึ่ง มันก็เลยโจนเข้าป่าไป ไม่มารบกวนอีกต่อไป

หลังจากตระเวนทำความเพียรในที่ต่าง ๆ ตนตลอดฤดูแล้ง ถึงเดือน ๖ พระอาจารย์ฝั้นก็กลับมาที่อำเภอปังธงไชย พอดีพวกญาติโยมมีความศรัทธาอาราธนาให้ท่านสร้างวัดป่าขึ้นใกล้ ๆ อำเภอ ท่านจึงพักอยู่ที่นั่นเพื่อจัดการให้ พอกำหนดเขตวัด วางแนวกุฏิศาลาไว้ให้พอสมควรแล้ว ท่านก็มอบหน้าที่ให้บรรดาญาติโยมสร้างกันเองต่อไป ส่วนท่านเดินทางกลับวัดป่าสาลวัน เพื่อกราบเรียนให้ท่านอาจารย์สิงห์ทราบว่าไปสร้างวัดป่าไว้ ขอให้ท่านรับรองการสร้างวัดนี้ไว้ด้วย

ในพรรษาที่ ๑๐ (พ.ศ. ๒๔๗๗) พระอาจารย์ฝั้นได้กลับไปจำพรรษาอยู่ที่บ้านมะรุม อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา

ต่อมาออกพรรษาปีนั้น พระอาจารย์ฝั้นได้ตกลงใจจะออกเดินธุดงค์ ไปทางดงพญาเย็นโดยมีพระภิกษุ ๓ รูป กับสามเณรอีก ๑ รูปร่วมคณะไปด้วย โยมผู้หนึ่งชื่อหลวงบำรุงฯ มีศรัทธาเอารถไปส่งให้จนถึงชายป่า เมื่อลงจากรถแล้วก็มุ่งเข้าดงพญาเย็นทั้งคณะ

ระหว่างเดินธุดงค์ พระเณรที่ร่วมคณะเกิดกระหายน้ำ ท่านก็บอกให้หยุดฉันน้ำก่อน ส่วนท่านเองเดินล่วงหน้าไป สักพักหนึ่งก็รู้สึกสังหรณ์ใจว่ากำลังมีอะไรเกิดขึ้นแก่ท่านสักอย่าง เดินอยู่ดี ๆ ก็รู้สึกใจเต้นแรง แต่มองไปรอบข้าง ไม่เห็นมีอะไรผิดปกติ ท่านจึงเดินไปเรื่อย ๆ แม้กระนั้นก็ยังไม่หายใจเต้น ทันใดท่านก็เห็นเสือนอนหันหลังให้อยู่ตัวหนึ่งข้างหน้า จะหลบหลีกก็ไม่ได้เสียแล้ว เพราะเป็นเรื่องกะทันหันเกินไป ตอนนี้หัวใจที่เต้นแรงแทบว่าจะพาลหยุดเต้นเลยทีเดียว

แต่ถึงอย่างไร ท่านก็ยังสำรวมสติได้อย่างรวดเร็ว ท่านตัดสินใจอย่างไม่เคยมีใครทำมาก่อน

เดินเข้าไปใกล้ ๆ มัน แล้วร้องตามไปว่า

“เสือหรือนี่ ! “

เจ้าเสือร้ายผงกหัวหันมาตามเสียง พอเห็นท่านก็เผ่นแผล็ว หายเข้าป่ารกทึบไป

เมื่อพระเณรตามมาทัน ทั้งหมดจึงออกเดินทางต่อเพื่อมุ่งหน้าไปยังบ้านสอยดาว อำเภอปากช่อง อยู่ห่างจากสถานีจันทึกไปประมาณ ๓๐๐ เส้น แต่ก่อนจะถึงได้แวะไปที่ไร่หลวงบำรุงฯ แล้วพักอยู่ที่นั่นหลายวัน คนของหลวงบำรุงฯ ได้จัดทำอาหารถวายพระ โดยมิได้ขาดตกบกพร่องแต่ประการใด

ที่ไร่ของหลวงบำรุงฯ ท่านอาจารย์ฝั้นได้เผชิญกับผีกองกอยเข้าครั้งหนึ่ง

ปกติพวกชาวบ้านเข้าใจว่า ผีกองกอยคือนกไม้หอม ถ้านกประเภทนี้ไปร้องที่ไหน เชื่อกันว่ามีไม้หอมอยู่ที่นั่น ก่อนไปหาไม้หอม เช่น ไม้จันทร์หอม ชาวบ้านจะทำพิธีบวงสรวงกันเสียก่อน อธิษฐานให้นกไปร้องอยู่ที่บริเวณที่มีไม้หอม จะได้หาพบง่ายยิ่งขึ้น พอบวงสรวงเสร็จก็เข้าไปนั่งคอยนอนคอยอยู่ในป่า ตกกลางคืนได้ยินเสียงนกประเภทนี้ร้องทางไหน ก็ตามเสียงไปทางนั้น

28#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 10:56 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ท่านอาจารย์ฝั้นได้ยินมันร้องทุกคืน พอตะวันตกดิน ได้ยินเสียงร้องจากทางหนึ่งไปอีกทางหนึ่ง พอสว่างก็ได้ยินเสียงร้องย้อนกลับไปทางเก่า

ระหว่างนั้น เด็กคนหนึ่งซึ่งติดตามมาด้วยได้ละเมิดคำสั่งของท่าน ขณะเข้าป่าไม่ได้สำรวมศีล มักลักลอบไปจับไก่ กิ้งก่า หรือบางทีก็จับแย้มาฆ่ากิน ด้วยเหตุนี้ พอตกกลางคืน แทนที่ผีกองกอยจะไปตามทางของมันอย่างเคย กลับวกมายังที่พักธุดงค์แล้วไปยังที่พักของเด็ก ท่านให้นึกเอะใจว่า เด็กคงศีลขาดเสียแล้ว จึงพร้อมทั้งพระภิกษุสามเณรจุดโคมเทียนโดยมีผ้าคลุมติดไว้ทุกทิศ แล้วนั่งล้อมเด็กไว้ คอยพิจารณาดูตัวมัน แต่ได้ยินเพียงเสียงของในเท่านั้น พระอาจารย์ฝั้นจึงนั่งสมาธิพอจิตรวมได้ที่ก็เห็นผีกองกอยตัวนั้น หน้าเท่าเล็บมือ ผมยาวคล้ายชะนี หล่นตุ๊บลงมาจากต้นไม้แล้วหายสาบสูญไปเลย

เมื่อทราบความจริงว่า เด็กละเมิดคำสั่งสอนของท่านจนศีลขาด ท่านจึงส่งเด็กกลับไปเสีย แล้วคณะของท่านก็เดินทางต่อไปจนถึงบ้านสอยดาว ทำความเพียรอยู่ที่นั่นอีกหลายเดือน จึงได้กลับไปยังนครราชสีมา

http://www.dharma-gateway.com/mo ... phun-hist-01-03.htm
29#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 10:57 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ระหว่างอยู่นครราชสีมา ท่านได้บำเพ็ญทุกรกิริยาอยู่พักหนึ่ง กล่าวคือท่านตั้งใจจะอดอาหารสักระยะเวลาหนึ่ง โดยจะไม่ฉันอะไรเลยนอกจากน้ำ เช้าขึ้นมา ท่านออกไปบิณฑบาตก็จริง แต่ได้มาแล้ว ก็ถวายองค์อื่นจนหมดสิ้น จากนั้นก็นั่งเย็บปะจีวร สบง ไปตามเรื่อง พอล่วงเข้าวันที่ ๓ ขณะที่กำลังสนเข็มอยู่ ท่านก็รู้สึกว่ามือสั่น จึงพิจารณาทบทวนดู ก็ประจักษ์ความจริงว่า ไฟถ้าขาดเชื้อเสียแล้วย่อมไม่อาจลุกโพลงขึ้นได้ฉันใด มนุษย์เราก็จะต้องมีอาหารสำหรับประทังชีวิตฉันนั้น ท่านจึงเลิกอดอาหาร แต่ฉันให้น้อยลงกว่าเดิม แม้ลูกศิษย์ของท่านบางคนมาขออนุญาตอดอาหารบ้าง ท่านก็ไม่อนุญาต เพราะเห็นว่าไม่เกิดประโยชน์อันใดดังกล่าวแล้ว

ในพรรษาที่ ๑๑ – ๑๙ (พ.ศ. ๒๔๗๘ – ๒๔๘๖) ท่านได้กลับไปจำพรรษาที่วัดป่าศรัทธารวม ตำบลหัวทะเล จังหวัดเดียวกันอีก

เมื่อเดือน ๓ ข้างขึ้น ๑๔ ค่ำ ปี ๒๔๗๙ ท่านได้ออกจากวัดป่าศรัทธารวม ไปตามพระอาจารย์มั่นที่เชียงใหม่ เพราะเวลาที่จากกัน ท่านคิดถึงพระอาจารย์มั่นอยู่ตลอดเวลา ในการไปตามหาพระอาจารย์มั่นครั้งนี้ พระอาจารย์อ่อนได้เดินทางร่วมไปด้วย


วัดเจดีย์หลวง จ.เชียงใหม่

เมื่อลงรถไฟที่สถานีเชียงใหม่แล้ว ทั้งสองท่านได้เดินทางต่อไปที่วัดเจดีย์หลวง นับว่าน่าอัศจรรย์เป็นอันมาก ไม่ทราบว่าท่านอาจารย์มั่นหยั่งรู้ได้อย่างไร จึงมาคอยท่านอยู่ก่อนแล้ว พระอาจารย์มั่น ได้บอกกับท่านทั้งสองว่า พระเณรมาหาเป็นร้อย ๆ ยังไม่ดีใจเท่าที่ท่านมาเพียงสององค์ มีพระเณรมาหากันมากแต่ไม่พบ เพราะท่านเที่ยวธุดงค์ปฏิบัติกัมมัฏฐานไปเรื่อย ๆ

เมื่อเข้าสู่ที่พักซึ่งพระอาจารย์มั่นกำหนดให้แล้ว ทั้งสองท่านได้ถวายการปฏิบัติต่อพระอาจารย์มั่น สักพักใหญ่ พระอาจารย์มั่นก็ลุกขึ้นมาเทศนาให้ฟัง ตอนหนึ่งท่านบอกด้วยว่า พระอาจารย์อ่อนและพระอาจารย์ฝั้น เป็นพระเจ้าชู้ พระอาจารย์ทั้งสองได้ฟังก็งุนงงและบังเกิดความตกใจ แต่เมื่อพิจารณาตัวเองดูแล้ว ก็ประจักษ์ว่าจริงอย่างที่ท่านบอก เพราะผ้าจีวร สบง เปลี่ยนไปเป็นสีเหลือง ไม่ใช่สีกลัก มิหนำซ้ำ ฝาบาตรที่ท่านพระอาจารย์ฝั้นใช้อยู่ยังประดับมุกอีกด้วย

คืนนั้น พระอาจารย์ทั้งสองนั่งสมาธิทำความเพียรจนสว่าง

เช้าวันรุ่งขึ้น พระอาจารย์อ่อนขอลาพระอาจารย์มั่นไปอำเภอพร้าว พระอาจารย์ฝั้นจะไปด้วย แต่พระอาจารย์มั่นไม่ยอมให้ไป ท่านให้พักอยู่ด้วยกันไปก่อน

ต่อมาพระอาจารย์อ่อน และพระอาจารย์ฝั้นได้ขอลาไปวิเวกที่อื่นอีกหลายครั้ง แต่พระอาจารย์มั่นพูดตัดบทไว้ทุกที อ้างว่าอยู่ที่นี่ดีอยู่แล้ว

อย่างไรก็ดี พระอาจารย์มั่นได้อนุญาตให้ท่านทั้งสองไปพักอยู่ที่ห้วยน้ำริน และต่อมาได้ไปยังบ้านปง ที่บ้านปงนี้เอง พระอาจารย์อ่อนเกิดอาพาธด้วยไข้มาเลเรีย พระอาจารย์ฝั้นได้ช่วยรักษาพยาบาลจนกระทั่งทุเลาลง แล้วพากันกลับไปหาพระอาจารย์มั่นยังวัดเจดีย์หลวงอีกครั้ง

กลับไปคราวนี้ พระอาจารย์มั่นได้ให้พระอาจารย์ฝั้น มุ่งทำความเพียรทั้งกลางวันกลางคืน ปรากฏว่าท่านทั้งสองต่างสามารถมองเห็นกันทางสมาธิโดยตลอด ทั้ง ๆ ที่กุฏิห่างกันเป็นระยะทางถึงเกือบ ๕๐๐ เมตร
30#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 10:58 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

สมเด็จพระมหาวีรวงศ์
(พิมพ์ ธมฺมธโร)


พอใกล้เข้าพรรษา สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (พิมพ์ ธมฺมธโร) ครั้งเป็นพระญาณดิลก ได้ขึ้นไปเป็นกรรมการสอบสวนชำระอธิกรณ์ที่วัดเจดีย์หลวง ได้ให้พระอาจารย์อ่อนเดินทางไปให้นิสสัยพระมอญ ซึ่งได้รับการญัตติกรรมเป็นพระธรรมยุตินิกาย ที่วัดหนองดู่ จังหวัดลำพูน แต่เนื่องจากวัดนี้อยู่ริมแม่น้ำปิง ขณะนั้นน้ำกำลังท่วม พระอาจารย์อ่อนจึงตัดสินใจไม่ไป พอดีกับพระอาจารย์ฝั้นได้รับจดหมายพร้อมกับธนาณัติจากหลวงเกรียงศักดิ์พิชิตเป็นปัจจัยมูลค่า ๔๐ บาทถวายเป็นค่าพาหนะ ให้ท่านเดินทางกลับไปจำพรรษาที่นครราชสีมา

ท่านทั้งสองจึงตัดสินใจกลับจากเชียงใหม่ในเดือน ๘ ขึ้น ๗ ค่ำ ปี พ.ศ. ๒๔๘๐

ระหว่างออกพรรษาปี พ.ศ. ๒๔๘๖ พระอาจารย์ฝั้นได้ออกเดินธุดงค์จากวัดป่าศรัทธารวม อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา อันเป็นวัดที่ท่านพำนักจำพรรษาติดต่อกันนานถึง ๑๒ ปี ไปพักวิเวกภาวนาตามป่าเขา ที่เห็นว่าสงบเงียบพอเจริญกัมมัฏฐานได้ โดยเปลี่ยนสถานที่ผ่านหมู่บ้านและอำเภอต่าง ๆ ไปเรื่อย ๆ จนถึงเขาพนมรุ้ง อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ เมื่อบำเพ็ญความเพียรอยู่ที่เขาพนมรุ้งเป็นเวลานานพอสมควรแล้ว ท่านได้เดินทางต่อไปถึงจังหวัดสุรินทร์ และได้ไปพักอยู่ในไม้กระเบา ริมห้วยเสนง ซึ่งร่มรื่นและเงียบสงัด เหมาะแก่การภาวนาเป็นอย่างยิ่ง การเดินธุดงค์ครั้งนี้ มีพระและเณรติดตามไปด้วยรวม ๓ รูป ทั้งยังมีเด็กลูกศิษย์ ๓ คน ขอติดตามท่านมาจากอำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์อีกด้วย

ระหว่างที่พระอาจารย์ฝั้น พำนักอยู่ในป่าริมห้วยเสนง บรรดาพุทธบริษัทชาวจังหวัดสุรินทร์และจังหวัดใกล้เคียงต่างเลื่อมใสในตัวท่านเป็นอันมาก สังเกตได้จากจำนวนผู้คนที่พากันไปฟังพระธรรมเทศนาและรับการอบรมจากท่านอย่างเนืองแน่นมิได้ขาด ผู้คนล้นหลามไปนมัสการทั้งกลางวันกลางคืน ราวกับว่ามีงานมหกรรมขึ้นมากทีเดียว

พระอาจารย์ฝั้น ได้ให้ลูกศิษย์หาเครื่องยามาประกอบเป็นยาดอง โดยมีผลสมอเป็นตัวยาสำคัญ กับเครื่องเทศอีกบางอย่าง ปรากฏว่ายาดองที่ท่านประกอบขึ้นคราวนี้มีสรรพคุณอย่างมหาศาล แก้โรคได้สารพัด แม้คนที่เป็นโรคท้องมานมาหลายปี รักษาที่ไหนก็ไม่หาย พอไปฟังพระธรรมเทศนา รับไตรสรณาคมน์ และรับยาดองจากท่านไปกินเพียง ๓ วัน โรคท้องมานก็หายดังปลิดทิ้ง แม้กระทั่งคนที่เสียจริต เมื่อรับไตรสรณาคมน์ และได้รับการประพรมน้ำมนต์แล้วก็หายเป็นปกติ ทันตาเห็น ไปหลายราย พุทธบริษัททั้งหลายจึงพากันแตกตื่นในความศักดิ์สิทธิ์ของท่านเป็นอย่างยิ่ง ถึงขนาดขนานนามให้ท่านเป็น “เจ้าผู้มีบุญ” เลยทีเดียว

ตั้งแต่นั้นมา แม้พระอาจารย์ฝั้นจะจากไปประจำอยู่ที่จังหวัดสกลนครแล้ว พุทธบริษัทชาวจังหวัดสุรินทร์ ก็ยังพยายามติดตามไปนมัสการ ทำบุญ ภาวนา และรับการอบรมจากท่านอยู่เสมอมิได้ขาด

ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้