ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

~ หลวงปู่ฝั้น อาจาโร วัดป่าอุดมสมพร ~

[คัดลอกลิงก์]
31#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 10:59 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

บริเวณวัดป่าโยธาประสิทธิ์ จ.สุรินทร์

ระหว่างพักอยู่ริมห้วยเสนงนั้น พระอาจารย์ฝั้นได้ย้ายสถานที่ไปพักโปรดญาติโยมตามที่ต่าง ๆ ตามคำนิมนต์ของชาวบ้านผู้มีจิตเลื่อมใสบ้างเป็นบางครั้ง แต่ละแห่งที่ท่านไปพัก บรรดาพุทธบริษัทต่างก็ติดตามไปรับการอบรมและปฏิบัติธรรมอย่างล้นหลามทุกครั้ง สถานที่แห่งที่สามที่ท่านไปพัก ต่อมาได้กลายเป็นวัดป่าโยธาประสิทธิ์ ซึ่งได้เจริญรุ่งเรืองเรื่อยมาจนกระทั่งทุกวันนี้

พอใกล้จะเข้าพรรษา พระอาจารย์ฝั้น จึงได้ลาญาติโยมเดินทางออกจากสุรินทร์ไปจำพรรษาที่วัดบูรพา จังหวัดอุบลราชธานีตามบัญชาของสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) สังฆนายก

สาเหตุที่สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ มีบัญชาให้พระอาจารย์ฝั้นไปจำพรรษาที่จังหวัดอุบลราชธานี เป็นเพราะในปีนั้น สมเด็จฯ อาพาธหนัก ถึงขนาดฉันอาหารไม่ได้ ต้องถวายอาหารทางเส้นโลหิต ท่านจึงเรียกพระเถระฝ่ายกัมมัฏฐานเข้าไปปรึกษาหารือเพื่อหาทางบำบัดโรค ในทางธรรมปฏิบัติ สมเด็จฯ ได้นิมนต์พระอาจารย์สิงห์ให้อธิบายธรรมเป็นองค์แรก เมื่อพระอาจารย์สิงห์อธิบายจบลงแล้ว สมเด็จฯ จึงให้พระอาจารย์ทอง อโกโส เจ้าอาวาสวัดบูรพาอธิบายอีก จากนั้นจึงหันมาทางพระอาจารย์ฝั้น ให้อธิบายธรรมให้ฟังอีกเป็นองค์สุดท้าย พระอาจารย์ฝั้นจึงได้อธิบายธรรมถวายโดยมีอรรถดังนี้

32#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 10:59 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ให้ท่านทำจิตเป็นสมาธิ ยกไวยกรณ์ธรรม ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ยกอันนี้ไว้เสียก่อน ทำจิตให้เป็นสมาธิ เราต้องตั้งสมาธิให้ได้ ภาวนากำหนดจิตให้เป็นสมาธิ พอตั้งเป็นสมาธิดีแล้ว ให้เป็นหลัก เปรียบเหมือนเราจะนับตั้งร้อยตั้งพัน ก็ต้องตั้งหนึ่งเสียก่อน ถ้าเราไม่ตั้งหนึ่งเสียก่อน ก็ไปไม่ได้ ฉันใด จิตของเราจะรู้ได้ เราก็ตั้งจิตของเราเป็นสมาธิเสียก่อน เรียบเหมือน นัยหนึ่งคือเหมือนเราจะปลูกต้นไม้ พอปลูกลงแล้ว ก็มีคนเขาว่า ปลูกตรงนั้นมันจะงามดี ก็ถอนไปปลูกตรงนั้น และก็มีคนเขามาบอกอีกว่า ตรงโน้นดีกว่า ก็ถอนไปปลูกตรงโน้นอีก ทำอย่างนี้ ผลที่สุดต้นไม้ก็ตาย ทิ้งเสียเปล่า ๆ ไม่ได้อะไรเสียอย่าง ฉันใด เราจะทำจะปลูกอะไร ก็ฝังให้มันแน่น ไม่ต้องถอนไปไหน มันเกิดขึ้นเอง นี้แหละสมาธิ ฉันใดก็ฉันนั้นแหละ หรืออีกนัยหนึ่ง เปรียบเหมือนเราจะขุดน้ำบ่อ ต้องการน้ำในพื้นดิน เราก็ขุดลงไปแห่งเดียวเท่านั้น พอเราขุดไปได้หน่อยเดียว ได้น้ำสัก ๒ – ๓ บาตรแล้ว มีคนเขาบอกว่าที่นั่นมันตื้น เราก็ย้ายไปขุดที่อื่นอีก พอคนอื่นเขาบอกว่า ตรงนั้นไม่ดี ตรงนี้ไม่ดี ก็ย้ายไป ย้ายมา ผลที่สุดก็ไม่ได้กินน้ำ ใครจะว่าก็ช่างเขา ขุดมันแห่งเดียวคงถึงน้ำ ฉันใด เปรียบเหมือนสมาธิของเรา ต้องตั้งไว้แห่งเดียวเท่านั้น เมื่อเราตั้งไว้แห่งเดียว ไม่ต้องไปอื่นไกล ไม่ต้องส่งไปข้างหน้า ข้างหลัง ไม่ต้องคิดถึงอดีต อนาคต กำหนดจิตให้สงบอันเดียวเท่านั้น

ได้ให้ท่านทำสมาธิภาวนา ทำจิตให้สงบ ให้พิจารณาแยกธาตุ แยกขันธ์และอายตนะออกเป็นส่วน ๆ ตามความเป็นจริง พิจารณาให้เห็นความเป็นไปของสิ่งเหล่านั้นตามหน้าที่ของมัน ให้แยกกายออกจากจิต แยกจิตออกจากกาย ให้ยึดเอาตัวจิต คือผู้รู้เป็นหลัก พร้อมด้วยสติ ธาตุทั้ง ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ให้พิจารณาให้อยู่ในสภาพของมันเองแต่ละอย่าง เมื่อพิจารณาตามความเป็นจริงแล้ว จะเห็นได้ว่า ธาตุทั้ง ๔ ต่างเจ็บไม่เป็น ป่วยไม่เป็น แดดจะออก ฝนจะตก ก็อยู่ในสภาพของมันเอง ในตัวคนเราก็ประกอบไปด้วยธาตุทั้ง ๔ นี้รวมกัน การที่มีความเจ็บปวดป่วยไข้อยู่นั้น ก็เนื่องมาจากตัวผู้รู้ คือจิต เข้ายึดด้วยอุปาทานว่าเป็นตัวเป็นตน เป็นของเขาของเรา เมื่อพิจารณาตามความเป็นจริงแล้ว ตัวผู้รู้คือจิตเท่านั้นที่ไปยึดเอามาว่าเจ็บ ว่าปวด ว่าร้อน ว่าเย็น หรือหนาว ฯลฯ ตามสภาพความเป็นจริงแล้ว สิ่งทั้งปวงเหล่านั้นไม่ได้เป็นอะไรเลย ดินก็คงเป็นดิน น้ำก็คงเป็นน้ำ ไม่มีส่วนรู้เห็นในความเจ็บปวดใด ๆ ด้วย เมื่อทำจิตให้สงบและพิจารณาเห็นสภาพความเป็นจริงแล้ว จิตย่อมเบื่อหน่ายและวางจากอุปาทาน คือเว้นการยึดถือมั่นในสิ่งเหล่านั้น เมื่อละได้เช่นนี้ ความเจ็บปวดต่าง ๆ ตลอดจนความตายย่อมไม่มีตัวตน เพราะฉะนั้น หากทำจิตให้สงบ เป็นสมาธิแน่วแน่แล้ว โรคต่าง ๆ ก็จะทุเลาหายไปเอง


เมื่อพระอาจารย์ฝั้นอธิบายธรรมถวายสมเด็จพระมหาวีรวงศ์จบแล้ว สมเด็จฯ ได้พูดขึ้นว่า เออ, เข้าทีดี แล้วถามพระอาจารย์ฝั้นว่า ในพรรษานี้ ฉันจะอยู่ได้รอดตลอดพรรษาหรือไม่ พระอาจารย์ฝั้นก็เรียนตอบไปว่า ถ้าพระเดชพระคุณทำจิตให้สงบได้ดังที่อธิบายถวายมาแล้ว ก็รับรองว่าอยู่ได้ตลอดพรรษาแน่นอน
33#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 11:00 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

พระอุโบสถวัดสุปัฏนาราม

สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ จึงมีบัญชาให้พระอาจารย์ฝั้นไปจำพรรษาอยู่กับท่านที่จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อจะได้ศึกษาธรรมให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นดังกล่าวแล้ว โดยพระอาจารย์ฝั้นได้เลือกเอาวัดบูรพาเป็นที่จำพรรษา เพราะวัดนี้อยู่ฝั่งเดียวกันกับวัดสุปัฏน์ที่สมเด็จฯ พำนักอยู่ การไปมาสะดวกกว่าวัดป่าแสนสำราญ ซึ่งอยู่ทางฝั่งอำเภอวารินชำราบ

วัดบูรพาที่ท่านเลือกพัก มีเขตเป็นสองตอน ตอนหนึ่งเป็นสำนักเรียนพระปริยัติธรรม อีกตอนหนึ่งเป็นป่า มีกุฏิหลังเล็ก ๆ อยู่ ๕ – ๖ หลัง สำหรับพระเณรอาศัยปฏิบัติธรรมโดยเฉพาะ พระอาจารย์ฝั้นได้เลือกเอาด้านที่เป็นป่า เป็นที่พักตลอดพรรษานั้น และได้หมั่นไปอธิบายธรรมปฏิบัติถวายสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ที่วัดสุปัฏน์เกือบทุกวัน และด้วยอำนาจการปฏิบัติธรรมนั้น สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ก็หายวันหายคืน ทั้งอยู่ได้ตลอดพรรษาและล่วงเลยต่อมาอีกหลายปี

สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ได้ออกปากยอมรับในความจริงและชมว่า พระคณะกัมมัฏฐานนี้เป็นผู้ปฏิบัติดีจริง ทั้งยังทำได้ดังพูดจริง ๆ อีกด้วย สมควรที่พระมหาเปรียญทั้งหลายจะถือเอาเป็นตัวอย่างปฏิบัติต่อไป ท่านได้กล่าวต่อหน้าพระอาจารย์ฝั้นด้วยว่า ฉันเป็นพระอุปัชฌาย์ บวชพระบวชเณรมาจนนับไม่ถ้วน แต่ไม่เคยนึกสนใจใน ตจปัญจกกัมมัฏฐานเหล่านี้เลย เพิ่งจะมารู้ซึ้งในพรรษานี้เอง พูดแล้วท่านก็นับ เกสา โลมา นขา ทนฺตา ตโจ แล้วถามพระอาจารย์ฝั้นว่า นี่เป็นธาตุดิน นี่เป็นธาตุน้ำ นี่เป็นธาตุลม นี่เป็นธาตุไฟใช่ไหม ? พระอาจารย์ฝั้นก็รับว่าใช่ จากนั้นท่านก็ปรารภขึ้นว่า ตัวท่านเองเปรียบเหมือนผู้บวชใหม่ เพิ่งจะมาเรียนรู้ เกสา โลมา ฯลฯ ความรู้ในด้านมหาเปรียญ ที่เล่าเรียนมามากนั้น ไม่ยังประโยชน์และความหมายต่อชีวิตท่านเลย ยศฐาสมณศักดิ์ ก็แก้ทุกข์ท่านไม่ได้ ช่วยท่านไม่ได้ พระอาจารย์ฝั้นให้ธรรมปฏิบัติในพรรษานี้ได้ผลคุ้มค่า ทำให้ท่านรู้จักกัมมัฏฐานดีขึ้น


บริเวณวัดป่าแสนสำราญ อ.วารินชำราบ

ในพรรษา พ.ศ. ๒๔๘๗ นั้น พระอาจารย์ฝั้นเกือบไม่มีเวลาเป็นของตัวท่านเองเลย ทั้งนี้เพราะท่านได้ทำหน้าที่อุปัฏฐากพร้อมกันถึง ๒ อาจารย์ กล่าวคือ นอกจากกลางคืนจะต้องเข้าถวายธรรมแก่สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ที่วัดสุปัฏน์ จากหัวค่ำไปจนถึงเวลาประมาณ ๔ ทุ่ม บางครั้งก็ถึง ๖ ทุ่ม จึงได้กลับวัดบูรพา แล้วพอเช้าขึ้น ท่านก็ออกบิณฑบาตไปเรื่อย ๆ แล้วข้ามแม่น้ำมูลไปทางฝั่งอำเภอวารินชำราบ ไปฉันเช้าที่วัดป่าแสนสำราญ ฉันเสร็จก็ประกอบยารักษาโรค ถวายพระอาจารย์มหาปิ่น ซึ่งปีนั้นกำลังอาพาธด้วยโรคปอด อยู่ที่วัดป่าแสนสำราญ พระอาจารย์ฝั้นได้พยายามหาสมุนไพรต่าง ๆ มาปรุง แล้วกลั่นเป็นยาถวายพระอาจารย์มหาปิ่น หยูกยาที่ทันสมัยก็ไม่มี เพราะขณะนั้นกำลังอยู่ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒

เมื่อพูดถึงสงครามโลกครั้งที่ ๒ น่าบันทึกไว้เป็นพิเศษในที่นี้ด้วยว่า การหยั่งรู้เหตุการณ์ล่วงหน้าของพระอาจารย์ฝั้น ยังเป็นที่จดจำและประทับใจในบรรดาลูกศิษย์ลูกหาและบรรดาพุทธบริษัทจำนวนมากในจังหวัดอุบลราชธานีมาจนกระทั่งทุกวันนี้

34#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 11:01 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ปีนั้นอยู่ในราวกลางพรรษา พ.ศ. ๒๔๘๗ จังหวัดอุบลราชธานี กลาดเกลื่อนไปด้วยทหารญี่ปุ่นซึ่งเข้าไปตั้งมั่นอยู่ จึงเป็นธรรมดาอยู่เองที่ฝ่ายสัมพันธมิตรจะต้องจดจ้องทำลายล้าง โดยส่งเครื่องบินเข้ามาทิ้งระเบิดตามจุดยุทธศาสตร์อยู่เสมอ ชาวบ้านร้านถิ่นจึงพากันอพยพหลบภัยออกไปอยู่ตามรอบนอก หรืออำเภอชั้นนอกที่ปลอดจากทหารญี่ปุ่น ในตัวเมืองอุบลฯ จึงเงียบเหงาลงถนัด จะหลงเหลืออยู่ก็เฉพาะผู้ที่มีความจำเป็นไม่อาจโยกย้ายหรืออพยพเท่านั้น ตกกลางคืน คนเหล่านี้จะนอนตาไม่หลับลงง่าย ๆ ต้องคอยหลบภัยทางอากาศกันอยู่เสมอ ปกติเครื่องบินฝ่ายพันธมิตรจะมาทิ้งระเบิดในราวอาทิตย์ละ ๒ หรือ ๓ ครั้ง ถ้าวันไหนเครื่องบินจะล่วงล้ำเข้ามาทิ้งระเบิด พระอาจารย์ฝั้นจะบอกล่วงหน้าให้บรรดาศิษย์ทั้งหลายรู้ก่อนอย่างน้อย ๒ ชั่วโมง เช่นในตอนเย็น ขณะพระเณรซึ่งเป็นศิษย์ กำลังจัดน้ำฉันน้ำใช้ถวายอยู่นั้น ท่านจะเตือนขึ้นว่า ให้ทุกองค์รีบทำกิจให้เสร็จไปโดยเร็ว แล้วเตรียมหลบภัยกันให้ดี คืนนี้เครื่องบินจะมาทิ้งระเบิดอีกแล้ว ภิกษุสามเณรทั้งหลายก็รีบทำตามที่ท่านสั่ง พอตกกลางคืน ก็มีเครื่องบินข้าศึกเข้ามาทิ้งระเบิดจริง ๆ


พระอาจารย์ฝั้น พระอาจารย์มหาปิ่น พระอาจารย์สิงห์

บางครั้งในตอนกลางวันแท้ ๆ ท่านบอกลูกศิษย์ลูกหาว่า เครื่องบินมาแล้ว รีบทำอะไรให้เสร็จ ๆ แล้วรีบไปหลบภัยกันเสีย ทุกองค์ต่างมองตากันด้วยความงุนงง แต่อีกไม่นานนัก ก็มีเครื่องบินเข้ามาจริง ๆ ชาวบ้านหอบลูกจูงหลานเข้าไปหลบภัยอยู่ในบริเวณวัดเต็มไปหมด พระอาจารย์ฝั้นก็ลงจากกุฏิไปเตือนให้อยู่ในความสงบ และให้ภาวนา “พุทโธ พุทโธ” ไว้โดยทั่วกันทั้งเด็กและผู้ใหญ่

ออกพรรษาปี พ.ศ. ๒๔๘๗ เสร็จฤดูกาลกฐินแล้ว พระอาจารย์ฝั้น ได้เข้านมัสการลาสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ที่วัดสุปัฏนาราม ขอเดินทางไปสกลนคร อันเป็นจังหวัดบ้านเกิดของท่าน เพื่อบำเพ็ญกุศลทักษิณานุปทาน อุทิศแด่บุพการี คือโยมบิดามารดา สมเด็จฯ ก็อนุญาต จากนั้นท่านได้ไปนมัสการลาพระอาจารย์สิงห์ กับพระอาจารย์มหาปิ่นที่วัดแสนสำราญ อำเภอวารินชำราบ แล้วไปลาญาติโยมพุทธบริษัท เสร็จแล้วท่านพร้อมด้วยพระภิกษุรูปหนึ่ง สามเณรรูปหนึ่ง กับเด็กลูกศิษย์อีกคนหนึ่ง ได้ออกเดินทางจากอุบลราชธานี มุ่งหน้าไปสกลนคร


พระธาตุพนม

ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ น้ำมันเชื้อเพลิงขาดแคลนมาก รถยนต์โดยสารต้องใช้ถ่านแทน และมีวิ่งน้อยคัน พระอาจารย์ฝั้นได้พาพระภิกษุสามเณรและลูกศิษย์ นั่งรถโดยสารซึ่งใช้ถ่านเป็นเชื้อเพลิง ออกจากอุบลราชธานีตั้งแต่เช้า ไปถึงอำเภอมุกดาหารจังหวัดนครพนม เมื่อเวลา ๓ ทุ่มเศษ แล้วไปขอพักค้างคืนที่วัดศรีมงคล เช้ารุ่งขึ้นได้โดยสารรถคันเดิมไปพักค้างคืนที่วัดป่าเกาะแก้ว อำเภอธาตุพนม ซึ่งที่นั่นพระอาจารย์ฝั้นได้พาคณะของท่านไปกราบนมัสการพระธาตุพนมด้วย แล้วได้กล่าวแก่พระภิกษุสามเณรและลูกศิษย์ว่า ใครผู้ใดเดินทางผ่านมาถึงแล้วไม่แวะนมัสการองค์พระธาตุพนม คน ๆ นั้นนับว่าบาปหนา มีกรรมปกปิดจนไม่สามารถจะมองเห็นปูชนียสถานอันสำคัญ ท่านเล่าด้วยว่า ก่อนโน้น บริเวณพระธาตุพนมเต็มไปด้วยป่ารกรุงรัง องค์พระธาตุก็เต็มไปด้วยเถาวัลย์ปกคลุม พระอาจารย์เสาร์กับพระอาจารย์มั่น สมัยยังหนุ่มแน่นเมื่อเที่ยวธุดงค์ถึงที่นั่นก็มักจะนำญาติโยมไปรื้อเถาวัลย์ออก และถางป่ารอบ ๆ บริเวณจนสะอาด
35#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 11:02 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
หลังจากพักอยู่ที่วัดป่าเกาะแก้วได้ ๔ – ๕ วัน พระอาจารย์ฝั้นก็พาคณะออกเดินทางต่อ โดยสะพายบาตรแบกกลด หิ้วกาน้ำออกเดินทาง จากอำเภอธาตุพนมมุ่งไปยังอำเภอนาแก กว่าจะถึงก็เกือบมืด จึงแวะพักที่วัดบ้านนาแกน้อยคืนหนึ่ง พอเช้าวันรุ่งขึ้นก็ออกเดินทางต่อไปถึงวัดป่าบ้านนาโสก ที่วัดนี้ท่านได้บำเพ็ญภาวนาอยู่หลายคืน และที่วัดนี้เอง ท่านได้ดัดนิสัยกลัวภูตผีของพระภิกษุลูกศิษย์ที่ร่วมคณะไปด้วยจนได้ผล


กุฏิพระอาจารย์เสาร์ ที่วัดป่าเกาะแก้ว อ.ธาตุพนม

เรื่องมีอยู่ว่า ท่านจะพำนักอยู่วัดใดก็ตาม ปกติท่านจะลงจากกุฏิไปอยู่ตามร่มไม้ ซึ่งเรียกว่าอยู่รุกขมูลเสมอมา เมื่อมาพักที่วัดป่านาโสก เจ้าอาวาสได้จัดกุฏิถวายให้ท่านพักก็จริง แต่ท่านพักได้คืนเดียว ก็พาพระภิกษุที่เดินทางไปด้วย ลงไปทำที่พักใหม่ โดยยกแคร่ขึ้นใต้ร่มไม้ในบริเวณป่าช้า ซึ่งที่นั่นเป็นป่าโปร่งบ้าง ทึบบ้าง สัตว์ป่าต่าง ๆ ก็ชุกชุมมาก เมื่อทำที่พักเฉพาะท่านเสร็จแล้ว ท่านก็บอกพระภิกษุให้หาที่พักในบริเวณเดียวกันตามใจชอบ แล้วถามว่ากลัวผีกันหรือเปล่า พระภิกษุรูปนั้นก็ตอบตามตรงว่า กลัว แต่แทนที่ท่านจะบอกให้ทำที่พักใกล้ ๆ ท่านกลับพาไปหาที่พักกลางป่าช้า ลึกเข้าไปในดงดิบ รอบ ๆ ที่พักเต็มไปด้วยหลุมศพทั้งเก่าและใหม่ แต่เนื่องจากเคารพและเชื่อฟังในตัวท่าน พระภิกษุรูปนั้นจึงจัดทำที่พักโดยมิได้อิดเอื้อนแต่ประการใด ทั้ง ๆ ที่จิตใจเต็มไปด้วยความหวาดหวั่น

ระยะนั้น อากาศกำลังหนาวจัด แต่คืนนั้นพระภิกษุลูกศิษย์แม้ไม่ใช้ผ้าห่มเลย เหงื่อก็ยังไหลโทรมร่าง เพราะจิตใจไม่เป็นปกติให้กลัวผีมาหลอกหลอนอยู่เรื่อย คืนต่อมา พระอาจารย์ฝั้นก็สั่งสอนให้รู้จักแก้ความกลัวในสิ่งต่าง ๆ โดยท่านถามว่า เมื่อคืนนี้ เวลากลัวมาก ๆ อย่างนั้นน่ะ ภาวนาไปแล้วจิตมันสงบหรือเปล่า พระภิกษุรูปนั้นตอบว่า จิตไม่สงบเลย เพราะมีแต่ความกลัวจนนอนไม่หลับ พระอาจารย์ฝั้นก็บอกว่า ถ้าจิตไม่สงบก็แสดงว่ามันไม่กลัวน่ะซี เพราะถ้าจิตมันกลัว มันก็ต้องสงบ และต้องรวมเป็นสมาธิได้ ถ้าจิตมันยังแส่หา หรือนึกว่ามีผีและยังกลัวอยู่ เรียกว่าจิตไม่สงบ เมื่อจิตไม่รวม ไม่สงบ ก็แสดงว่าจิตมันไม่กลัว ตามธรรมดา เมื่อคนเราบังเกิดความกลัวขึ้นมา เป็นต้นว่า กลัวช้าง กลัวเสือ หรือกลัวสัตว์ต่าง ๆ ย่อมต้องหาที่หลบที่กำบัง หรือหาที่พึ่ง เช่นวิ่งเข้าหลบในบ้านเรือน เมื่อหลบกำบังแล้ว ความกลัวมันก็หายไป ตรงกันข้าม ถ้าวิ่งออกไปข้างนอกโดยปราศจากที่สำหรับกำบัง ความปลอดภัยจะเกิดขึ้นได้อย่างไร จิตของคนเราก็เช่นกัน เมื่อบังเกิดความกลัว ก็ความสวบนิ่งอยู่กับสมาธิภาวนา ไม่ใช่วิ่งออกไปหาผีตามป่าช้าแล้วก็นั่งกลัวตัวสั่นอยู่คนเดียว แล้วท่านก็สั่งสอนอีกว่า ความกลัวผีนั้นเป็นเพียงอุปาทานของเราเอง เราหลอกตัวเราเอง เราเองนึกขึ้นว่าผี แล้วเราก็กลัวผี เมื่อบังเกิดความกลัวขึ้นมา ต้องรีบสำรวมใจให้สงบ จิตจะได้มีกำลังต้านทานต่อสิ่งร้ายเหล่านั้นได้ จิตของเราจะได้มีกำลังพิจารณาหาเหตุผลต่าง ๆ เพื่อจะได้ต่อสู้กับภัยทั้งปวงที่จะเกิดขึ้น จิตยิ่งฟุ้งซ่านเท่าไหร่ แม้ใบไม้ร่วงก็เข้าใจว่าผีหลอก ดีไม่ดี ออกวิ่งจีวรปลิวไปเปล่า ๆ เมื่อสั่งสอนถึงตอนนี้แล้ว ท่านก็บอกต่อไปว่า ต่อไปนี้ ถ้ากลัวผีมากกว่าครูบาอาจารย์ละก็ จงไปคุกเข่ากราบผีเสียดีกว่า ไม่ต้องมากราบไหว้ครูบาอาจารย์ให้เสียเวลา พระภิกษุรูปนั้นเล่าในภายหลังว่า ได้ยินคำสอนของพระอาจารย์ฝั้นเช่นนั้นแล้ว ให้บังเกิดความมานะเป็นอันมาก พยายามต่อสู้ความกลัวด้วยการรวบรวมสมาธิจนเป็นผลสำเร็จ และได้พบความจริงด้วยว่า เมื่อพิจารณากันด้วยเหตุผล กล้าต่อสู้กับความเป็นจริงอย่างพระอาจารย์ฝั้นสั่งสอนแล้ว แม้ตกอยู่กลางป่าช้าดงดิบอันเต็มไปด้วยหลุมฝังศพ ก็ไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัวแต่ประการใด เพียงแต่ตัวเองคิดขึ้นมาหลอกตัวเองเท่านั้น
36#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 11:03 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
พักอยู่ที่วัดป่าบ้านนาโสกประมาณ ๘ – ๙ วัน พระอาจารย์ฝั้นก็พาภิกษุสามเณรเดินทางต่อไปพักที่วัดป่าบ้านนามน ตำบลตองโขบ อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร อันเป็นวัดที่พระอาจารย์มั่นพักจำพรรษาอยู่ก่อน แต่ขณะนั้นพระอาจารย์มั่นได้ย้ายไปพักมนที่วิเวกใกล้ ๆ กับบ้านห้วยแคนแล้ว เช้าวันรุ่งขึ้น พระอาจารย์ฝั้นจึงเดินทางไปกราบนมัสการพระอาจารย์มั่น ที่วัดป่าห้วยแคน และอีก ๓ วันต่อมา ได้เดินทางต่อไปยังวัดป่าบ้านโคก ซึ่งเป็นวัดที่พระอาจารย์มั่น เคยพักจำพรรษามาก่อนเช่นกัน


กุฏิวัดป่าบ้านโคก จ.สกลนคร

พระอาจารย์ฝั้นพักอยู่กับพระอาจารย์กงมา จิรปญฺโญ ประมาณ ๔ – ๕ คืน ก็เดินทางต่อไปยังวัดป่าสุทธาวาส แต่ไปได้แค่บ้านนายอก็ค่ำลงเสียก่อน ท่านจึงแวะพักค้างคืนที่โรงเรียนประชาบาล เช้าวันรุ่งขึ้น หลังจากบิณฑบาตและฉันเสร็จก็เดินทางต่อไปยังวัดป่าสุทธาวาส พักอยู่ที่วัดนั้นอีก ๓ คืน จึงเดินทางต่อไปยังอำเภอพรรณานิคมแล้วเดินทาง ตัดทุ่งนาไปยังบ้านบะทอง อันเป็นบ้านเกิดของท่านเอง พักที่บ้านบะทองเพียงคืนเดียว ก็ย้ายเข้าไปพักในป่าข้างป่าช้าใกล้ ๆ กับหนองแวง ซึ่งบรรดาญาติโยมได้พากันไปถากถางทำที่พักชั่วคราวถวายให้


โบสถ์น้ำกลางหนองแวง

ที่พักชั่วคราวดังกล่าวได้กลายมาเป็นวัดป่าอุดมสมพรในปัจจุบัน ส่วนหนองแวงได้กลายมาเป็นสระน้ำใหญ่ที่มีโบสถ์น้ำอยู่กลางสระ

ณ ที่พักชั่วคราวนั้นเอง พระอาจารย์ฝั้นได้เตรียมการทำบุญอุทิศส่วนกุศล แด่บุพการีของท่าน โดยมีญาติโยมมาช่วยเตรียมการด้วยอย่างแข็งขัน เมื่อทุกอย่างพร้อมแล้ว ท่านจึงได้เริ่มพิธี งานทำบุญครั้งนั้นปรากฏว่าได้กระทำกันอย่างใหญ่โต ชาวบ้านหลายหมู่บ้านได้ไปร่วมงานอย่างคับคั่ง ไม่มีมหรสพ ไม่มีเครื่องกระจายเสียง มีแต่ฟังเทศน์อบรมธรรมแต่ประการเดียวตลอดคืน โดยมีพระเถระผู้ใหญ่ไปร่วมในพีด้วยหลายรูป
37#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 11:05 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
เมื่อพระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์เรียบร้อยแล้ว ก็เป็นการแสดงธรรม พระภิกษุองค์แรกที่ขึ้นแสดงธรรมคือพระอาจารย์ฝั้น ในนามของเจ้าภาพ ท่านได้ตักเตือนให้บรรดาญาติโยมตั้งใจรับการอบรมอย่างจริงจัง อย่ารบกวนสมาธิของผู้ฟังด้วยกัน จากนั้นก็นิมนต์พระอาจารย์ดี หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “ท่านอาญาครูดี” ขึ้นเทศน์เป็นองค์ต่อไป พระอาจารย์ดีเทศน์จนถึง ๖ ทุ่ม ก็จบลง ต่อไปพระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ ได้ขึ้นเทศน์ต่อตั้งแต่ ๖ ทุ่มไปจนสว่าง เมื่อได้เวลาออกบิณฑบาต ท่านจึงได้ลงจากธรรมาสน์ บรรดาญาติโยมที่ไปร่วมงานบำเพ็ญกุศลกับพระอาจารย์ฝั้นครั้งนั้น ต่างก็ปลื้มปีติและซาบซึ้งเป็นอย่างยิ่ง เพราะนาน ๆ จะมีพระภิกษุไปชักจูงให้ประกอบการบุญการกุศลสักครั้งหนึ่ง

และตั้งแต่ปีนั้นเป็นต้นมา สถานที่แห่งนั้นก็เริ่มมีพระภิกษุสามเณรอยู่จำพรรษามาตลอด จนได้กลายเป็นวัดป่าอุดมสมพรดังได้กล่าวแล้วข้างต้น

น่าสังเกตว่า คืนแรกที่พระอาจารย์ฝั้นได้พาพระภิกษุร่วมคณะเข้าไปพักในป่าแห่งนี้นั้น ท่านได้ให้โยมถางป่าแล้วเอาฟางมาปู จากนั้นก็ปูเสื่อทับลงไปบนฟาง ตกกลางคืนปลวกได้กลิ่นฟางจึงออกมาอาละวาด ต้องย้ายกันตลอดคืนถึง ๔ – ๕ ครั้งจนสว่าง ทุกรูปต่างไม่ได้หลับไม่ได้นอนตลอดคืน เช้ารุ่งขึ้นต้องทำเป็นแคร่ยกขึ้นพ้นจากพื้น จึงปลอดภัยจากกองทัพปลวกไปได้ การที่สถานที่นั้นกลายมาเป็นวัดป่าอุดมสมพร ที่เจริญรุ่งเรืองอยู่ในปัจจุบัน ก็เป็นเพราะว่าพระอาจารย์ฝั้นได้บุกเบิกมาด้วยความยากลำบาก นับตั้งแต่คืนแรกเลยทีเดียว

เสร็จจากการบำเพ็ญกุศลทักษิณานุปทานแด่บุพการีของท่านแล้ว อีกไม่กี่วันต่อมา พระอาจารย์ฝั้นได้ลาบรรดาญาติโยมทั้งหลายเดินทางไปยังจังหวัดอุบลราชธานีอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากได้รับนิมนต์ไปร่วมงานศพของคุณแม่ชีสาริกา ซึ่งทางเจ้าภาพและคณะสงฆ์จากจังหวัดอุบลฯ นิมนต์ไว้ล่วงหน้าแล้ว ก่อนจะเดินทางออกจากจังหวัดอุบลฯ มาจังหวัดสกลนคร เมื่อจัดบริขารเสร็จเรียบร้อยแล้ว พระอาจารย์ฝั้นก็พาศิษย์ออกเดินทางโดยเดินเท้าจากที่พักดังกล่าว ย้อนกลับไปทางตัวเมืองสกลนคร แต่เดินทางไปทั้งวันไปได้แค่บ้านพาน จึงแวะเข้าไปพักในป่าช้าหนึ่งคืน รุ่งเช้าจึงออกไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน วันนั้นพระอาจารย์ฝั้นและพระลูกศิษย์บิณฑบาต ได้เพียงข้าวเหนียวกับน้ำอ้อยเพียง ๔ ก้อนเท่านั้น

เกี่ยวกับบิณฑบาตนี้ พระอาจารย์ฝั้นได้เคยเล่าให้บรรดาพระภิกษุสามเณรที่เป็นศิษย์ใกล้ชิดฟังว่า สมัยก่อนท่านเที่ยวธุดงค์ไปตามที่ต่าง ๆ บางหมู่บ้านท่านบิณฑบาตไม่ได้อะไรเลยก็มี แม้ข้างเหนียวสักปั้นหนึ่งก็ไม่ได้ ต้องอดอาหารเดินทางต่อไปอีก แต่ถึงจะลำบากยากเข็ญสักเพียงใด ท่านก็ไม่เคยย่อท้อ ยิ่งอดอยากมากเท่าไรก็ยิ่งทำความเพียรได้มากขึ้นเท่านั้น สำหรับท่านเองนั้นเคยฝึกหัดทรมานตนด้วยการอดอาหารมาแล้วเป็นเวลาหลาย ๆ วันก็มี

เมื่อฉันข้าวเหนียวกับน้ำอ้อยตอนเช้าวันนั้นเสร็จแล้ว พระอาจารย์ฝั้นกับพระภิกษุลูกศิษย์ก็เดินทางต่อไปยังวัดป่าธาตุนาเวง ซึ่งพระอาจารย์พรหม จิรปุญฺโญ เคยเป็นเจ้าอาวาสอยู่มาก่อน วัดนี้เป็นป่าดงดิบอยู่ใกล้กับโรงเรียนพลตำรวจ เขต ๔ เมื่อสมัยโน้น แต่ปัจจุบันเปลี่ยนมาเป็นวิทยาลัยครูสกลนครไปแล้ว
38#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 11:05 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

วัดป่าธาตุนาเวง จ.สกลนคร
ปัจจุบันคือวัดป่าภูธรพิทักษ์


ท่านตั้งใจจะพักที่วัดป่าธาตุนาเวงเพียงคืนเดียว แต่เนื่องจากมีผู้นิมนต์ให้ท่านจำพรรษาอยู่ที่สกลนคร เพื่อแบ่งเบาภาระพระอาจารย์มั่นอีกแรงหนึ่ง ประกอบกับธุรกิจการกุศลที่ท่านตั้งใจไปกระทำที่อุบลราชธานี ได้หมดความจำเป็นไปแล้ว เพราะศพคุณแม่ชีสาริกาได้จัดการเผาไปเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้เนื่องจากกำหนดการเดิมผิดพลาดไป ท่านจึงตกลงใจรับปาก และพักจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าธาตุนาเวง ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๘๘ เป็นต้นมา

ขณะจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าธาตุนาเวงนั้น พระอาจารย์ฝั้นได้เป็นผู้นำในการบูรณะวัด โดยซ่อมแซมกุฏิที่ผุพังให้มีสภาพดีขึ้นสำหรับอยู่อาศัย ภายหลังวัดนี้ได้เปลี่ยนชื่อเป็นวัดป่าภูธรพิทักษ์

พอถึงวันอุโบสถ พระอาจารย์ฝั้นจะอบรมสานุศิษย์เป็นประจำ อบรมแล้วก็นำให้นั่งสมาธิภาวนาและเดินจงกรมตลอดคืน

ระหว่างพรรษานั้น มีเรื่องอัศจรรย์ซึ่งบรรดาพระลูกศิษย์ชุดที่จำพรรษาอยู่ด้วยยังจำกันได้แม่นยำอยู่เรื่องหนึ่ง

กล่าวคือ เวลาพระอาจารย์ฝั้นมีกิจธุระต้องเข้าไปในตัวเมือง หรือไปที่วัดป่าสุทธาวาสนั้น หากคิดระยะทางดูแล้วจะเห็นได้ว่า จะต้องเดินเท้าออกจากวัดไปเป็นระยะทาง ๑ กิโลเมตรเศษจึงจะถึงสี่แยกถนนใหญ่ และจากสี่แยกไปจนถึงตัวเมืองสกลนคร จะเป็นระยะทางอีกประมาณ ๖ กิโลเมตร บางครั้งท่านจะนำพระภิกษุสามเณรออกเดินทางด้วยเท้าไปจนถึงตัวเมืองเลยทีเดียว แต่ที่น่าอัศจรรย์มีอยู่ว่า บางครั้ง เมื่อเตรียมตัวจะออกจากวัดเพื่อเดินทาง ก็ได้ยินเสียงรถยนต์วิ่งกระหึ่มอยู่บนถนนใหญ่ ซึ่งแน่ใจได้ว่าเป็นรถโดยสารที่วิ่งจากอุดรฯ จะเข้าสู่ตัวเมืองสกลนคร พอได้ยินเสียงรถ พระภิกษุที่จะร่วมเดินทางด้วยก็เรียนท่านว่า จะขอวิ่งออกไปก่อนเพื่อบอกให้รถหยุดรอตรงสี่แยก แต่ท่านจะบอกว่า ไม่ต้องหรอก วิ่งไปให้เหนื่อยเปล่า ๆ รถคันนั้นต้องหยุดรอเราแน่ ๆ จากนั้นท่านก็นำคณะออกเดินเท้าไปตามสบาย พอถึงสี่แยกก็พบรถโดยสารจอดรอเราอยู่แล้วจริง ๆ

ปรากฏว่าเครื่องยนต์ดับ คนขับสตาร์ทเท่าไหร่ก็ไม่ติด

พระอาจารย์ฝั้นได้สอบถามดูแล้ว ท่านก็บอกแก่คนขับรถโดยสารว่า เอาละ เครื่องดีแล้ว รีบไปกันเถอะ อาตมาขอโดยสารไปในตัวเมืองด้วย กล่าวจบท่านก็พาคณะก้าวขึ้นรถ คนขับลองสตาร์ทดูใหม่ ก็ปรากฏว่าเครื่องติดดังกระหึ่มขึ้นจริง ๆ ผู้คนในรถจึงพากันเอ่ยปากว่าแปลกแท้ และต่างมองหน้ากันเองด้วยความไม่เข้าใจ

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ไม่อาจมีใครทราบได้ว่า เกิดจากกระแสจิตอันแรงกล้าของพระอาจารย์ฝั้นหรืออย่างไร แต่พระภิกษุผู้เป็นศิษย์ของท่านรูปหนึ่ง ยังจำได้ถึงคำสั่งสอนของท่านเกี่ยวกับอำนาจจิตได้ดี กล่าวคือ ท่านเคยเทศน์ถึงความแก่กล้าของจิตว่า ก่อนจะทำต้องบำเพ็ญความเพียร ชำระกิเลสออกจากจิตให้หมดสิ้นไปเสียก่อน เมื่อขัดเกลาจนหมดจดได้แล้ว อำนาจของจิตย่อมเกิดขึ้นได้เอง เปรียบเช่นกับน้ำฝน เมื่อตกลงสู่เผ่นดินอันเต็มไปด้วยฝุ่นละออง น้ำฝนที่ใสก็กลายเป็นข้นขุ่น ยิ่งไปกวนเข้าก็ยิ่งขุ่นมากขึ้น ใครฉลาดตักใส่ภาชนะวางทิ้งไว้นิ่ง ๆ  ความสกปรกก็จะตกตะกอน และน้ำนั้นก็จะใสขึ้นใหม่ สามารถใช้ดื่มกินได้ สภาพของจิตนั้นเดิมก็ใสสะอาด ปราศจากมลทินเป็นสิ่งที่มีอำนาจอยู่แล้ว แต่เมื่อเข้ามายึดถือในอัตภาพร่างกาย อันเต็มไปด้วยกิเลสต่าง ๆ จิตก็จะเศร้าหมองขุ่นมัว หากชำระให้หมดไปได้ จิตก็จะใสสะอาด มีพลังและมีอำนาจสามารถทำอะไร ๆ ได้ตามกำลังของจิต

http://www.dharma-gateway.com/mo ... phun-hist-01-04.htm

39#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 11:06 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ก่อนเข้าพรรษาปี พ.ศ. ๒๔๘๘ พระอาจารย์ฝั้นได้พาพระภิกษุอีกบางรูป เที่ยวธุดงค์ต่อไปโดยออกจากวัดป่าบ้านหนองผือ เมื่อเดินทางไปถึงวัดป่าบ้านโคก พระภิกษุรูปหนึ่งเกิดอาพาธเป็นไข้มาเลเรียอย่างหนัก ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ หยูกยาหายากมาก ท่านได้รีบพากลับวัดป่าธาตุนาเวง และให้การรักษาพยาบาลป้อนข้าวป้อนน้ำอย่างใกล้ชิด จนกระทั่งหายเป็นปกติ เกี่ยวกับเรื่องไข้มาเลเรียนี้ ท่านได้เล่าให้บรรดาสานุศิษย์ฟังว่า ตัวท่านเคยประสบมาแล้วเช่นเดียวกัน ออกเดินธุดงค์คราใด จะต้องมีรากยาติดย่ามไปด้วยเสมอ บางครั้งเดินอยู่ดี ๆ เกิดอาการไข้ขึ้นมาอย่างกะทันหัน ต้องแวะนอนใต้ร่มไม้ เอารากยาออกมาเคี้ยวแล้วกลืนน้ำลายเข้าไปแทน เพราะน้ำที่จะฝนรากยาหาไม่ได้ในละแวกนั้น ต้องทนลำบากเพราะไข้มาเลเรียอยู่ถึงสิบกว่าปี จึงได้ชินกับไข้ประเภทนี้

ท่านได้เตือนบรรดาพระลูกศิษย์ที่ร่วมธุดงค์อยู่เสมอมาด้วยว่า เวลาเดินธุดงค์ไปในที่ต่าง ๆ ให้ระวังเรื่องน้ำ เหนื่อย ๆ และหิวจัดอย่าดื่มน้ำในทันทีที่เห็นน้ำ ควรรอให้หายเหนื่อยเสียก่อนจึงค่อยดื่ม เหงื่อกำลังออกโชกร่างก็เช่นเดียวกัน อย่าอาบน้ำทันที ควรรอให้เหงื่อแห้งเสียก่อน จึงค่อยอาบน้ำ ถ้าดื่มน้ำในเวลาที่หิวจัด หรืออาบน้ำทั้งเหงื่อ หรือกำลังเหนื่อย บางครั้งจะจับไข้ทันที

เสร็จฤดูกาลรับกฐิน หลังออกพรรษาปี ๒๔๘๘ พระอาจารย์ฝั้น ได้ออกเที่ยวธุดงค์ไปในเขตเทือกเขาภูพาน ไปพักวิเวกตามสถานที่อันสงบตามเชิงเขาบ้าง ไปป่าทึบอันเต็มไปด้วยสัตว์ร้ายต่าง ๆ บ้าง แล้วเลยขึ้นไปพักบนภูเขาใกล้ ๆ กับบ้านนาสีนวล (วัดดอยธรรมเจดีย์ในปัจจุบัน) ซึ่งขณะนั้นยังเป็นป่า เต็มไปด้วยเสือร้ายและสัตว์ป่านานาชนิด พักวิเวกอยู่ที่นั่นได้ประมาณเดือนเศษก็ลงมา แล้วไปพักที่วัดป่าบ้านโคก จากนั้นเดินทางไปพักที่วัดป่าร้างใกล้กับบ้านหนองมะเกลือ ตำบลดงชนอีกประมาณเดือนเศษ จึงย้ายไปพักที่ป่าไผ่ บ้านธาตุดุม ห่างตัวเมืองสกลนครในราว ๔ – ๕ กิโลเมตร โดยมีพระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ ร่วมขบวนไปด้วย


กุฏิพระอาจารย์มั่น วัดป่าบ้านหนองผือ อ.พรรณานิคม

ครึ่งเดือนกว่า ๆ ต่อมา เมื่อทราบข่าวว่าพระอาจารย์มั่นอาพาธอยู่ที่วัดป่าบ้านหนองผือ พระอาจารย์ฝั้นกับพระอาจารย์กงมา จึงรีบเดินทางไปเยี่ยม ปรนนิบัติท่านอยู่ในราว ๒ สัปดาห์ พระอาจารย์มั่นก็ทุเลาลง จึงเดินทางกลับไปพักที่ป่าไผ่บ้านธาตุดุมอีก และต่อมาได้ย้ายไปพักที่วัดร้างแห่งหนึ่งในเขตเทศบาลเมืองสกลนคร คือวัดสระแก้ว วัดนี้ร้างพระเณรอยู่หลายปีมาแล้ว บริเวณวัดจึงเต็มไปด้วยป่ารกรุงรัง (ปัจจุบันปลูกสร้างเป็นโรงพยาบาลจังหวัดสกลนคร)

ระยะแรกที่พระอาจารย์ฝั้น กับพระอาจารย์กงมา พร้อมด้วยพระภิกษุสามเณรอีกบางรูป ได้เข้าไปพักในวัดร้างแห่งนี้ ภายในวัดมีกุฏิร้างจะพังมิพังแหล่หันหน้าเข้าหากันอยู่ ๒ หลัง ระหว่างกลางเป็นชานโล่ง ปูพื้นติดต่อถึงกัน พระอาจารย์ทั้งสองท่านต่างก็พักอยู่รูปละหลัง พระภิกษุสามเณรไปพักรวมกันอยู่อีกหลังหนึ่ง คนละด้านกับพระอาจารย์ ส่วนอีกหลังหนึ่งนั้น จัดไว้สำหรับเป็นที่ฉันจังหันรวม สำหรับพระอาจารย์กงมานั้น พักอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่งก็เดินทางกลับไปวัดป่าบ้านโคก
40#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 11:06 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ต่อมาวันหนึ่ง พระอาจารย์ฝั้นได้บอกกับพระภิกษุสามเณรว่า พักอยู่บนกุฏินี้ไม่ค่อยสงบนัก ลงไปอยู่ร่มไม้รุกขมูลกันดีกว่า แล้วท่านก็ลงจากกุฏิไปเลือกเอาที่พักใหม่ใต้ต้นสัก ซึ่งมีสระน้ำอยู่ใกล้ ๆ โดยทำที่พักและทางจงกรมขึ้น แล้วยกแคร่ไม่ไปตั้งเป็นที่นอน

พระอาจารย์ฝั้นพักอยู่ตรงนั้นได้ ๒ –๓ คืน เช้ารุ่งขึ้นก็บอกกับพระลูกศิษย์ว่า เมื่อคืนนี้เห็นแก้วอะไรใส ๆ จมอยู่ที่ก้นสระ แล้วจึงพาพระลูกศิษย์กับนายใช้ ผู้ซึ่งมีบ้านอยู่ติดกับรั้ววัดและได้ปฏิบัติอุปัฏฐากพระอาจารย์ฝั้นมาตลอดเวลาที่พักอยู่ในวัดนั้น ไปเดินรอบ ๆ สระ ปรากฏว่าสระนั้นเต็มไปด้วยสาหร่ายมองไม่เห็นอะไรเลย พระอาจารย์ฝั้นเดินสังเกตอยู่ครู่หนึ่ง ก็ชี้ลงไปที่สาหร่ายแห่งหนึ่ง แล้วบอกว่าอยู่ตรงนี้แหละ เมื่อนายใช้ลงไปงมดูก็พบขวดโหลแก้วขนาดกลางจมอยู่ในเลน ๒ ลูก เมื่อล้างสะอาดพิจารณาดูแล้ว พระอาจารย์ฝั้นก็เอ่ยขึ้นว่า คงเป็นโหลใส่อัฐิของท่านผู้ใดผู้หนึ่ง อาจเป็นโหลใส่อัฐิของคุณพระพินิจฯ ก็ได้ เพราะบริเวณนั้นมีเจดีย์เก็บอัฐิของคุณพระพินิจฯ อยู่ใกล้ ๆ จึงพากันเดินไปดูที่เจดีย์ เมื่อให้นายใช้ปีนขึ้นไปดูด้านบน ก็พบว่าเจดีย์ถูกคนร้ายลอบขุด โดยคนร้ายทุบคอเจดีย์แตกแล้วขนสมบัติมีค่าต่าง ๆ ที่บรรจุอยู่ข้างในไปหมด ส่วนอัฐิของคุณพระพินิจฯ และภรรยา ก็ถูกเทออกจากขวดโหลกองไว้เป็น ๒ กอง เมื่อญาติ ๆ ของคุณพระพากันมาดู ก็ยืนยันว่าเป็นขวดโหลที่ใส่อัฐิดังกล่าวจริง จึงพร้อมใจกันทำบุญอุทิศส่วนกุศลและทำพีบรรจุอัฐิใหม่ แล้วบรรจุเข้าไว้ยังเจดีย์ตามเดิม

พระอาจารย์ฝั้น พักวิเวกอยู่ที่วัดร้างแห่งนั้นประมาณเดือนเศษ ก็พาพระภิกษุสามเณรกลับไปวัดป่าธาตุนาเวงอีก และได้นำบรรดาทหาร ตำรวจในจังหวัดให้ช่วยกันพัฒนาวัดป่าธาตุนาเวงให้สะอาดเรียบร้อยขึ้น จนเจริญรุ่งเรืองสืบต่อมาเป็นวัดป่าภูธรพิทักษ์กระทั่งทุกวันนี้

มีข้อเท็จจริงที่ประจักษ์แจ้งอยู่ประการหนึ่งว่า การพัฒนาบ้านเมืองซึ่งทางราชการกำลังเร่งรัดเพื่อความเจริญของท้องถิ่น ตลอดจนสนับสนุนให้ประชาชนร่วมกันพัฒนาอยู่ในปัจจุบันนี้นั้น แม้ที่จริงพระอาจารย์ฝั้น ได้มีโครงการและลงมือปฏิบัติเอง และได้เป็นผู้นำในการพัฒนามาก่อนแล้ว กล่าวคือ ไม่ว่าท่านจะไปพำนักอยู่ที่ใด แม้จะชั่ว ๓ วัน ๗ วันก็ตาม ท่านจะแนะนำชาวบ้านให้ทำความสะอาดบ้านเรือน ตลอดจนถนนหนทางให้ดูสะอาดตาอยู่เสมอ แม้ขณะที่ท่านไปพำนักอยู่ในป่าช้าหรือหมู่บ้านบริเวณเชิงเขาภูพาน หนทางที่ท่านจะเดินไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน จะมีชาวบ้านร่วมกันถากถาง ปัดกวาด และทำความสะอาดอยู่เสมอ ที่โรงเรียนพลตำรวจเขต ๔ ในสมัยนั้นก็เช่นเดียวกัน

ก่อนที่พระอาจารย์ฝั้นจะไปพักอยู่ที่วัดป่าธาตุนาเวง บริเวณนั้นรกรุงรังด้วยป่าหญ้า ไข้มาเลเรียก็ชุกชุม ตำรวจป่วยเป็นไข้มาเลเรียขึ้นสมอง ถึงขนาดโดดหน้าต่างกองร้อยตายไปก็มี ตำรวจและครอบครัวเชื่อกันว่า เป็นเพราะผีเจ้าพ่อหนองหญ้าไซพิโรธ หาใช่โรคมาเลเรียอะไรไม่ พระอาจารย์ฝั้น ได้พยายามอธิบายให้ตำรวจเหล่านั้นเข้าใจในเหตุผล เลิกเชื่อถือผีสาง แต่ตำรวจและครอบครัวเหล่านั้นก็ยังไม่ยอมเชื่อ

ต่อมาเมื่อคณะตำรวจนิมนต์ท่านไปเทศน์ที่กองร้อย ท่านจึงปรารภกับผู้กำกับการตำรวจว่า ถ้าอยากให้เกิดความอยู่เย็นเป็นสุข ก็ควรจัดสถานที่ให้สะอาดขึ้น ตัดถนนหนทางเรียบร้อย ถางป่าและหญ้าในบริเวณเสียให้เตียน อากาศจะได้ปลอดโปร่งและถ่ายเทได้ดีขึ้น สำหรับหนองหญ้าไซนั้นเล่าก็ควรขุดลอกให้เป็นสระน้ำเสีย จะได้ดูสวยงามและได้ประโยชน์ในการใช้สระน้ำด้วย เมื่อผู้กำกับประชุมตำรวจแล้ว ที่ประชุมตกลงทำทุกอย่าง เว้นแต่การขุดลอกหนองหญ้าไซเท่านั้น เพราะกลัวผีเจ้าพ่อหนองหญ้าไซจะพิโรธ คร่าชีวิตตำรวจตลอดจนสมาชิกในครอบครัวมากขึ้น แล้วก็จัดการตัดถนน ทำสนามฟุตบอล สนามเด็กเล่น ถางป่า ถางหญ้าจนสะอาดตา ทำให้อากาศถ่ายเทโดยสะดวกขึ้นกว่าก่อน
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้