ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

~ หลวงปู่ฝั้น อาจาโร วัดป่าอุดมสมพร ~

[คัดลอกลิงก์]
41#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 12:46 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ต่อมาถึงวาระประชุมอบรมฟังเทศน์ที่กองร้อยอีก คณะตำรวจและครอบครัวไปประชุมฟังเทศน์กันอย่างคับคั่ง พระอาจารย์ฝั้นจึงหยิบยกปัญหาการขุดลอกหนองหญ้าไซขึ้นมาปรารภอีกครั้งหนึ่ง ทุกคนก็บอกว่าไม่กล้า กลัวเจ้าพ่อหักคอเอา แต่หากท่านไปนั่งเป็นประธานดูพวกตนขุดแล้วจึงจะยอมทำ พระอาจารย์ฝั้นก็ตอบตกลง

การขุดลอกหนองหญ้าไซจึงได้เริ่มขึ้นในโอกาสต่อมา ต่อหน้าพระอาจารย์ฝั้น จนกลายเป็นสระน้ำขึ้นมา อากาศก็ดีขึ้น ไข้มาเลเรียที่เคยชุกชุมก็ค่อย ๆ ทุเลาลงจนเหือดหายไปในที่สุด

ก่อนเข้าพรรษาปีนั้นคือปี พ.ศ. ๒๔๘๙ หลวงหาญสงคราม ผู้บัญชาการทหารนครราชสีมา ซึ่งเป็นศิษย์ที่มีความเคารพพระอาจารย์ฝั้นเป็นอย่างมาก ได้เดินทางไปตรวจราชการที่จังหวัดสกลนคร พอทราบว่าพระอาจารย์ฝั้นพำนักอยู่ที่วัดป่าธาตุนาเวง ก็รีบรุดไปหา เพื่อขอนิมนต์ไปโปรดทหาร และประชาชนชาวจังหวัดนครราชสีมาอีกครั้ง หลวงหาญสงครามนี้เคยเป็นศิษย์ของท่านสมัยที่ท่านพำนักอยู่ที่นครราชสีมา โดยเฉพาะเมื่อคราวที่ท่านเป็นแม่ทัพนำกำลังเข้าล้อมเมืองเชียงตุง ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ ล้อมอยู่หลายวัน ไม่อาจหาทางเข้าตีขั้นแตกหักได้ จึงนั่งสมาธิภาวนาระลึกถึงพระอาจารย์ฝั้นในคืนวันหนึ่ง เช้ามืดวันรุ่งขึ้น ได้ชวนทหาร ๒ –๓ คนออกเดินสำรวจไปเรื่อย ๆ ในที่สุดก็ไปพบมารดาเจ้าเมืองเชียงตุงเข้าโดยบังเอิญ จึงได้รู้ถึงทางเข้าตีเมืองเชียงตุงจากมารดาเจ้าเมือง การยกเข้าตีก็ประสบความสำเร็จ หลวงหาญฯ จึงรำลึกในพระคุณ ของพระอาจารย์ฝั้นยิ่งขึ้น ภายหลังเที่ยวได้ตามหาพระอาจารย์ฝั้น แต่ไม่พบ จนกระทั่งไปราชการที่สกลนครแล้วทราบที่พำนักของท่านเข้า จึงรีบรุดไปนิมนต์ดังกล่าวแล้ว

แต่หลวงหาญสงครามไม่อาจนิมนต์พระอาจารย์ฝั้นไปโปรดที่นครราชสีมาได้ เพราะผู้กำกับการโรงเรียนพลตำรวจเขต ๔ ได้พยายามทัดทานไว้อย่างหนัก ต่างฝ่ายต่างขอกันอยู่พักใหญ่ ในที่สุดหลวงหาญฯ ก็ใจอ่อนเลิกล้มความตั้งใจ กล่าวคือไม่นิมนต์ท่านไปนครราชสีมา แต่ท่านตั้งข้อแม้เอาไว้ว่า ท่านผู้กำกับการตำรวจจะต้องดูแลปฏิบัติพระอาจารย์ฝั้นของท่านให้ดี ผู้กำกับการก็รับปากจะปฏิบัติตามนั้นอย่างแข็งขัน

ในปี พ.ศ. ๒๔๘๙ หลังเข้าพรรษามาจนถึงเดือนเก้า คือ เดือนสิงหาคมเข้าไปแล้ว ฝนฟ้าก็ยังไม่ตกต้องตามฤดูกาล ชาวบ้านกลัวอดข้าวเพราะทำนาไม่ได้ จึงไปปรารภกับพระอาจารย์ฝั้น ท่านจึงแนะนำให้รักษาศีลให้เคร่งครัดโดยพร้อมเพรียงกัน ท่านกล่าวว่า หากยึดมั่นในพระรัตนตรัยแล้วจะไม่อดตายอย่างแน่นอน กุศลความดีทั้งหลายจะรักษาผู้ปฏิบัติชอบเสมอ บรรดาญาติโยมและอุบาสกอุบาสิกาทั้งหลายต่างก็พากันเข้าวัด ปฏิบัติถือศีล ๕ ศีล ๘ กันอย่างมั่นคง ต่อมาวันหนึ่ง พระอาจารย์ฝั้นให้ศิษย์เอาเสื่อไปปูที่กลางแดดบนลานวัด แล้วท่านกับพระภิกษุ ๒ รูป สามเณรอีก ๒ รูป ก็ลงไปนั่งสวดคาถาท่ามกลางแสงแดดจ้า (คาถาที่สวดนั้นพระอาจารย์ฝั้นเป็นผู้จดลงในสมุดปกแข็งสีน้ำเงิน มีความยาวประมาณ ๓ หน้ากระดาษ) นั่งสวดไปได้ประมาณครึ่งชั่วโมง ก็เกิดสิ่งมหัศจรรย์ขึ้น ท้องฟ้าที่กำลังมีแดดจ้า พลันมีเสียงฟ้าคำราม แล้วบังเกิดก้อนเมฆกับมีฝนเทลงมาอย่างหนัก พระอาจารย์ฝั้นจึงให้พระเณรที่ร่วมสวดหลบฝนไปก่อน ส่วนตัวท่านเองก็ยังคงนั่งอยู่ที่เดิมอีกนานจึงได้ลุกขึ้น

ฝนตกอย่างลืมหูลืมตาไม่ขึ้นเกือบ ๓ ชั่วโมง จึงได้หยุดตก และเมื่อหยุดตกแล้ว ท้องฟ้าก็แจ่มใสดังเดิม ตั้งแต่นั้นมา ฝนฟ้าก็ตกต้องตามฤดูกาล ชาวบ้านได้ทำนากันตามปกติโดยทั่วถึง

พระอาจารย์ฝั้นได้พำนักและบูรณะวัดป่าธาตุนาเวงเป็นเวลานานถึง ๙ ปี ระหว่างนั้นเมื่อเสร็จฤดูกาลกฐิน ท่านจะพาภิกษุสามเณร เดินธุดงค์ไปวิเวกตามสถานที่ต่าง ๆ อยู่เสมอ

ในปีพ.ศ. ๒๔๙๑ เมื่อออกพรรษา ท่านได้พาภิกษุสามเณร เดินธุดงค์ไปวิเวกที่ภูวัว ในท้องที่อำเภอบึงกาฬ จังหวัดหนองคาย
42#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 12:47 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
เหตุที่จะไปพำนักเพื่อบำเพ็ญความเพียรบนภูวัว เริ่มจากท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ วัดโพธิสมภรณ์ ได้นิมนต์ท่านไปในงานศพของพระอาจารย์อุ่น ที่อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม เสร็จงานศพแล้ว พระอาจารย์ฝั้น พระอาจารย์อ่อน และท่านพระครูอุดมธรรมคุณ (ทองสุข สุจิตโต อดีตเจ้าอาวาส วัดป่าสุธาวาส) ได้ปรึกษาหารือกันว่า จะไปทางไหนกันดี หรือจะแยกย้ายกันกลับวัด พระอาจารย์อ่อนก็ออกความเห็นว่า ไปวิเวกต่อแถว ๆ ภูลังกา หรือภูวัวก่อนดีกว่า ต่างก็เห็นดีด้วย ทั้งสามท่าน พร้อมด้วยภิกษุผู้เป็นศิษย์อีกบางรูป จึงพร้อมกันออกเดินทางจากอำเภอท่าอุเทนไปทางอำเภอบ้านอพง ตนกระทั่งถึงภูลังกา ซึ่งเป็นที่พำนักของพระอาจารย์วัง ฐิติสาโร

เมื่อขึ้นไปพักอยู่กับพระอาจารย์วังฯ ได้ประมาณ ๗ – ๘ วัน พระอาจารย์ฝั้นได้พิจารณาเห็นความยากลำบากในการขึ้นลง เพราะเขาสูงมากลงมาบิณฑบาตไม่ได้ พวกญาติโยมต้องจัดเสบียงอาหารส่งขึ้นไปให้ลูกศิษย์ทำอาหารถวาย พระเณร ยิ่งมากรูปก็ยิ่งลำบากแก่ญาติโยมมากขึ้น จึงได้สอบถามพระอาจารย์วังฯ เกี่ยวกับภูวัว โดยปรารภว่า อยากจะไปวิเวกอยู่ที่นั่น พระอาจารย์วังก็บอกว่า ภูวัวเป็นที่วิเวกดีมาก เป็นป่าดงดิบเต็มไปด้วยสัตว์ร้ายนานาชนิด เช่น ช้าง เสือ ตลอดจนวัวกระทิง โดยเฉพาะอีเก้ง กับกวางลิงมีเป็นฝูง ๆ พระอาจารย์อ่อนกับพระอาจารย์ฝั้น และท่านพระครูอุดมธรรมคุณ จึงได้ลงจากภูลังกา เดินทางต่อไปยังบ้านโพธิ์หมากแข้ง แล้วไปพักอยู่ในวัดร้างบริเวณป่าใกล้ ๆ บ้านโสกก่าม เมื่อถามญาติโยมถึงสถานที่อันเหมาะแก่การบำเพ็ญกัมมัฏฐานบนภูวัว พวกญาติโยมก็บอกว่ามีอยู่หลายแห่ง พระอาจารย์ฝั้นจึงให้นำขึ้นไป


หิน "ก้อนน้ำอ้อย" ที่ถ้ำพระ บนภูวัว

วันแรกที่ขึ้นภูวัว ได้ไปพักที่ “ก้อนน้ำอ้อย” ที่เรียกว่าก้อนน้ำอ้อยเพราะเป็นหินก้อนใหญ่ รูปร่างคล้ายงบน้ำอ้อย ตั้งอยู่บนหินใหญ่อีกก้อนหนึ่ง ใต้หินก้อนน้ำอ้อยเป็นที่หลบแดดหลบฝนได้สบายมาก เพราะด้านใต้ของหินเป็นเพิงออกมาโดยรอบคล้าย ๆ ถ้ำ พระอาจารย์ทั้งสามพำนักอยู่ที่นี่หลายวัน ก็เห็นว่าเป็นสถานที่ไม่สงบนัก เพราะเป็นทางช้างผ่านขึ้นลงอยู่เป็นประจำ กลางคืนช้างจะขึ้นมาทั้งโขลง ส่งเสียงรบกวนสมาธิอยู่เสมอ โขลงหนึ่งนับร้อย ๆ เชือก ช้างไม่อาจใช้ทางอื่นได้ เพราะทางอื่นเป็นหน้าผาชันไปทั้งหมด ทั้งสามท่านจึงย้ายไปพักวิเวกที่ถ้ำพระ โดยให้พวกญาติโยมยกแคร่ขึ้นเป็นที่พัก

ถ้ำพระแห่งนี้ อยู่ในบริเวณริมห้วยบางบาด มีลานหินกว้างใหญ่ และมีที่สำหรับบำเพ็ญภาวนาอย่างเหมาะสม ร่มรื่นและสงบดีเป็นอันมาก แต่ถึงอย่างไรก็ยังห่างไกลจากหมู่บ้าน ลงไปบิณฑบาตไม่ได้ ต้องให้ลูกศิษย์ทำอาหารถวายทุกวัน โดยอาศัยญาติโยมบ้านนาตะไก้ บ้านโสกก่าม และบ้านดอนเสียด หมุนเวียนกันส่งเสบียงทุกวันพระ ถ้าวันไหนพระอาจารย์ฝั้นจะไม่ฉันจังหัน ท่านก็จะบอกให้ทำฉันกันเอง ท่านจะอดอาหารไปกี่วัน ท่านก็จะบอกล่วงหน้าให้ทราบ เพื่อความสะดวกในการจัดทำอยู่เสมอ
43#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 12:48 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
จริงอย่างที่พระอาจารย์วังพูดไว้ บนภูวัวเต็มไปด้วยสัตว์ป่านานาชนิด น้ำท่าก็อุดมสมบูรณ์ดี ในห้วยบางบาดมีวังน้ำอยู่แห่งหนึ่ง น้ำลึกมากและมีจระเข้ตัวใหญ่ ๆ อาศัยอยู่หลายตัว กลางวันแดดร้อนจัด มันจะขึ้นจากถ้ำมานอนอ้าปากตากแดดอยู่เป็นประจำ แม้กระทั่งทุกวันนี้ก็ยังมีจระเข้อาศัยอยู่ในวังน้ำแห่งนั้น แต่ขณะนี้มีหมู่บ้านใหม่ตั้งใกล้เข้าไปอีก ห่างจากถ้ำพระประมาณ ๖ – ๗ กิโลเมตร พระและเณรที่ไปพักวิเวกจึงพอเดินไปบิณฑบาตกันได้แล้ว


พระพุทธรูปที่ภูวัว

พระอาจารย์ฝั้นพักวิเวกอยู่ที่ถ้ำพระบนภูวัวได้ประมาณ ๒ เดือนเศษ ท่านพระครูอุดมธรรมคุณ ก็ออกความเห็นขึ้นว่า ควรจะทำอะไรไว้เป็นที่ระลึกในสถานที่นั้นสักอย่าง บังเอิญบนที่พักสูงขึ้นไปเป็นหน้าผา เหมาะสำหรับจะสร้างพระประธานไว้สักการะบูชาเป็นอย่างยิ่ง พระอาจารย์ฝั้นจึงได้ตกลงสร้างพระพุทธรูปบนหน้าผาขึ้นด้วยวัสดุที่หาได้ง่าย ๆ เช่น มูลช้าง มูลวัว จึงแจ้งให้บรรดาญาติโยมบ้านดอนเสียด บ้านโสกก่าม และบ้านนาตะไก้ พร้อมด้วยบ้านอื่น ๆ ใกล้เคียงช่วยหาให้ สำหรับช่างปั้นนั้น พระอาจารย์ฝั้นกับพระครูอุดมมีฝีมือเยี่ยมอยู่แล้ว จึงไม่ต้องเสาะหา เมื่อได้ของพร้อมแล้วก็ลงมือทันที

ปีนั้นฝนตกหนัก น้ำก็หลากมาแรง การสร้างพระพุทธรูปบนหน้าผาจึงประสบอุปสรรคไปบ้าง แต่ทั้ง ๆ ที่ยังสร้างไม่เสร็จ พระอาจารย์ฝั้นก็ผลุนผลันชวนท่านพระครูอุดมธรรมคุณลงจากภูวัวโดยไม่มีใครคาดฝัน

พระอาจารย์ฝั้นไม่มีเหตุผลอะไรในสายตาของพระภิกษุลูกศิษย์ และในสายตาของญาติโยมทั้งหลายทั้งปวง ในการทิ้งงานสำคัญไปอย่างกะทันหัน

พระภิกษุลุกศิษย์ไปทราบเอาเมื่อท่านกลับไปถึงวัดป่าบ้านหนองผือแล้วว่า การที่ท่านผลุนผลันลงมาจากภูวัวนั้น เป็นเพราะท่านต้องการกลับไปเยี่ยมอาการอาพาธของพระอาจารย์มั่น ซึ่งขณะนั้นกำลังป่วยหนักยิ่งกว่าครั้งใด ๆ

พระอาจารย์ฝั้นทราบได้อย่างไรว่าพระอาจารย์มั่นกำลังป่วยหนัก เรื่องนี้เป็นที่ประหลาดใจกันอยู่ในหมู่พระภิกษุผู้เป็นศิษย์ ยิ่งไปกว่านั้นยังปรากฏด้วยว่า พระอาจารย์มั่นกำลังต้องการพบพระอาจารย์ฝั้นอยู่จริง ๆ ถึงขนาดให้พระเณรออกตามหาพระอาจารย์ฝั้นอยู่ด้วยซ้ำ

เมื่อปฏิบัติพระอาจารย์มั่นอยู่ได้ประมาณ ๒ สัปดาห์ พระอาจารย์มั่นก็ค่อยทุเลาลง พระอาจารย์ฝั้นจึงได้กลับไปจำพรรษาที่วัดป่าภูธรพิทักษ์ เมื่อออกพรรษาปีนั้น (พ.ศ. ๒๔๙๑) พระอาจารย์ฝั้นได้ไปเยี่ยมอาการของพระอาจารย์มั่นอีกครั้งหนึ่งที่วัดป่าบ้านหนองผือ พักอยู่ที่นั่นหลายวัน จึงได้กลับไปวัดป่าภูธรพิทักษ์อีกเพราะเห็นว่าอาการดีขึ้นมากแล้ว

ต่อมาประมาณเดือนมกราคม ๒๔๙๒ พระอาจารย์ฝั้นก็ชวนท่านพระครูอุดมธรรมคุณไปวิเวกที่ภูวัวอีก เพื่อสร้างเสริมพระประธานบนหน้าผาให้เสร็จเรียบร้อย การเสริมสร้างได้กระทำอย่างเร่งรีบ เพราะท่านเป็นห่วงพระอาจารย์มั่นเป็นอันมาก เมื่อทำเสร็จเรียบร้อยแล้ว บรรดาญาติโยมได้ขึ้นไปร่วมอนุโมทนา บำเพ็ญกุศลด้วยเป็นจำนวนมาก จากนั้นท่านจึงได้ลาญาติโยมลงจากภูวัวกลับไปยังวัดภูธรพิทักษ์ รวมเวลาที่พักอยู่ในถ้ำพระที่ภูวัวประมาณ ๒ เดือนเศษ

กลับไปที่วัดป่าภูธรพิทักษ์คราวนี้ เมื่อเห็นว่าอาการอาพาธของพระอาจารย์มั่น ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วงอีกแล้ว พระอาจารย์ฝั้นจึงได้เริ่มงานสำคัญอีกชิ้นหนึ่ง กล่าวคือได้ชักชวนบรรดาสานุศิษย์ทั้งหลายสร้างศาลาโรงธรรมหลังใหม่ขึ้นที่วัดป่าภูธรพิทักษ์ (คือศาลาโรงธรรมในปัจจุบันนี้) โดยท่านเองเป็นประธานสำหรับการควบคุมการก่อสร้าง ในการนี้ ตำรวจกับชาวบ้านได้มีจิตศรัทธาไปร่วมมือกับพระภิกษุสามเณรอยู่ตลอดเวลา การก่อสร้างกระทำแบบค่อยทำค่อยไป กินเวลา ๗ เดือนเศษจึงได้เสร็จ
44#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 12:48 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ในกลางพรรษา ระหว่างก่อสร้างศาลาโรงธรรมดังกล่าว มีเหตุที่ควรบันทึกไว้ในที่นี้อีกเรื่องหนึ่ง กล่าวคือ ตอนเข้าพรรษาปีนั้น ได้มีพระภิกษุสามเณรมากเป็นพิเศษ ยิ่งไปกว่านั้น แม้การก่อสร้างศาลาโรงธรรมจะกำลังดำเนินอยู่ แต่ตอนกลางคืน ท่านก็ให้ทำความเพียรอย่างไม่ลดละ ท่านได้นำพระภิกษุสามเณรทำความเพียรด้วยการเดินจงกรมและนั่งสมาธิกันเป็นประจำ อนึ่งกลางพรรษานั้นฝนตกหนัก บางครั้งตกทั้งกลางวันและกลางคืน อากาศก็เปลี่ยนแปลงไม่เป็นปกติ เป็นเหตุให้พระภิกษุสามเณร เป็นไข้มาเลเรียกันหลายรูป เณรรูปหนึ่งอาการหนักต้องนำส่งโรงพยาบาลนครพนม รักษาอยู่หลายสัปดาห์กว่าจะหายเป็นปกติ พระภิกษุรูปหนึ่งเกิดวิปริตทางจิต จะเป็นด้วยไข้ขึ้นสมองหรืออย่างไรไม่ทราบ เป็นมากถึงขนาดพูดไม่ยอมหยุด คือพูดฝ่ายเดียวโดยไม่เปิดโอกาสให้คู่สนทนาได้พูดเลย

พระอาจารย์ฝั้นจึงได้เรียกพระภิกษุรูปนั้นขึ้นไปหาท่านบนกุฏิเพื่อถามอาการ พระภิกษุก็บอกท่านว่า ไม่ได้เป็นอะไรเลย สบายดีทุกอย่าง แต่ก็พูดอยู่ตลอดเวลาไม่ยอมหยุด ท่านจะตักเตือนอย่างไรก็ไม่ฟัง เอาแต่พุดอย่างน้ำไหลไฟดับ พระอาจารย์ฝั้นจึงปล่อยให้พูดไปเรื่อย ๆ ส่วนท่านนั้นก็นั่งกำหนดจิตของท่านด้วยความสงบนิ่ง ประมาณ ๕ นาทีต่อมา ปรากฏว่าพระภิกษุรูปนั้นหยุดพูดลงทันที แล้วอ้าปากหาวล้มลงนอนต่อหน้าท่านไปเฉย ๆ ท่านก็บอกให้พระภิกษุรูปหนึ่งหาหมอนมารองศีรษะให้ แล้วสั่งว่า ให้นอนหลับอยู่เช่นนี้แหละ นอนอิ่มแล้วจะตื่นขึ้นมาเอง ท่านพูดแล้วก็ลงทำกิจวัตรด้วยการปัดกวาดลานวัดตามแกติ จากนั้นสรงน้ำแล้วก็เดินจงกรมต่อ

พระภิกษุรูปนั้นหลับไปตั้งแต่ ๑๕ น. จนถึงเวลาราว ๑๘ น. จึงได้ลุกขึ้นมาอย่างงง ๆ แล้วถามขึ้นว่า ผมมานอนอยู่ที่นี่ตั้งแต่เมื่อไหร่ ส่วนอาการอาพาธก็หายไปราวกับปลิดทิ้ง เมื่อพระภิกษุอื่น ๆ เล่าความให้ฟังแล้ว ท่านก็แสดงความแปลกใจ บอกว่าไม่รู้ตัวอะไรเลย แม้การพูดโดยไม่ยอมหยุด ก็กระทำไปโดยไม่รู้ตัว

พระอาจารย์ฝั้นไม่ได้พูดอะไรถึงเรื่องนี้ แต่บรรดาสานุศิษย์ต่างในใจกันว่า นี่เป็นเรื่องน่าอัศจรรย์อีกเรื่องหนึ่งและคงจะเป็นอื่นไปไม่ได้ นอกจากเป็นการใช้กระแสจิตเข้าแก้ไข

ศาลาโรงธรรมดังกล่าว พอออกพรรษาก็เสร็จเรียบร้อย ทันพิธีรับกฐินบนศาลาหลังใหม่พอดี

พอถึงกลางพรรษา พระอาจารย์มั่นก็อาพาธอีก พระอาจารย์ฝั้นได้รีบไปเยี่ยมทันที โดยแวะรับพระอาจารย์อ่อน จากวัดป่าบ้านม่วงไข่ไปด้วย อาการอาพาธของพระอาจารย์มั่นครั้งนี้ปรากฏว่าน่าวิตกกว่าทุกคราว ทางจังหวัดสกลนครทราบข่าวจึงให้คุณวัน คมนามูล นำรถยนต์ไปรับพระอาจารย์มั่น ไปพักที่วัดป่าสุทธาวาส เพื่อให้ใกล้หมอยิ่งขึ้น พระอาจารย์อ่อน พระอาจารย์ฝั้น พร้อมด้วยพระภิกษุสามเณรอีกมากมาย ได้ตามไปพักที่วัดนั้นด้วย เป็นเหตุให้กุฏิไม่พอพักอาศัย ต้องพักรวมกันทั้งพระอาจารย์ กับพระลูกศิษย์

แพทย์ผู้รักษาได้ให้ยานอนหลับแก่พระอาจารย์ในในตอนกลางวันของวันที่ไปถึงวัด พระภิกษุรูปหนึ่งผู้เป็นศิษย์พระอาจารย์ฝั้น ยังจำเหตุการณ์ในวันนั้นได้ดีว่า หลังจากพระอาจารย์มั่นฉันยานอนหลับไปแล้ว พระอาจารย์ฝั้นได้ลงจากกุฏิที่พระอาจารย์มั่นพักอยู่ แล้วบอกแก่พระภิกษุสามเณรบางรูปว่า ถึงเวลา ๖ โมงเย็น พระอาจารย์มั่นจึงจะตื่น ให้รีบสรงน้ำกันแต่วัน ๆ หน่อย สำหรับพระอาจารย์ฝั้นนั้น เมื่อสรงน้ำเสร็จก็รีบกลับขึ้นไปเฝ้าดูอาการของพระอาจารย์มั่นอีก จนกระทั่งประมาณ ๓ ทุ่มเศษ ท่านจึงได้ลงจากกุฏิมาบอกว่าพระอาจารย์มั่นยังไม่ฟื้น ท่านเองจะพักสักครู่หนึ่งก่อน หากถึงเวลา ๖ ทุ่มแล้ว ถ้าท่านยังหลับอยู่ ก็ให้พระภิกษุผู้เป็นศิษย์ปลุกด้วย เพราะจะต้องขึ้นไปเปลี่ยนเวรเฝ้าพระอาจารย์มั่น
45#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 12:49 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
กว่าพระอาจารย์ฝั้นจะหลับก็ร่วม ๆ ๕ ทุ่มเข้าไปแล้ว พอถึงเวลาประมาณ ๖ ทุ่มเศษ ท่านก็ลงจากกุฏิแล้วเรียกน้ำไปบ้วนปาก พอพระภิกษุผู้เป็นศิษย์ยกน้ำเข้าไป ท่านก็เร่งว่าเร็ว ๆ หน่อย

ท่านบ้วนปากอย่างลวก ๆ แล้วรีบไปที่กุฏิพระอาจารย์มั่นทันที

สักครู่จากนั้น พระอาจารย์ฝั้นก็สั่งให้พระภิกษุรีบไปนิมนต์ครูบาอาจารย์ทุก ๆ องค์ไปพร้อมกันที่กุฏิที่พักพระอาจารย์มั่นโดยด่วน

เมื่อศิษย์ชั้นผู้ใหญ่ของพระอาจารย์มั่นไปรวมพร้อมกันทุกรูปแล้ว ถึงเวลาประมาณตี ๒ เศษ พระอาจารย์มั่นก็ถึงแก่มรณภาพด้วยอาการสงบ ท่ามกลางบรรดาสานุศิษย์ที่รายล้อมเฝ้าดูอาการอยู่ ณ ที่นั้น


งานถวายเพลิงศพหลวงปู่มั่น  ภูริทัตตมหาเถร  ณ  วัดป่าสุทธาวาส  จ.สกลนคร
วันอังคารที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๓


บรรดาศิษย์ชั้นผู้ใหญ่ของพระอาจารย์มั่นได้ประชุมเพื่อจัดงานศพ และได้เตรียมงานกันถึง ๓ เดือน จึงกำหนดประชุมเพลิง พระอาจารย์ฝั้นได้อยู่ช่วยจัดการมาแต่ต้น จนกระทั่งประชุมเพลิงแล้วเสร็จ ต่อมาประมาณต้นเดือนมีนาคมของปี ๒๔๙๓ พระอาจารย์ฝั้น ได้นำพระภิกษุบางรูปออก (พระอาจารย์คำพอง ติสฺโส หลวงตาจรัส พระอาจารย์ผ่าน ปัญญาปทีโป และสามเณร) เดินทางธุดงค์ไปทางจังหวัดนครพนม เพื่อหาสถานที่วิเวกทำความเพียรต่อไป

พระอาจารย์ฝั้นท่านพาเดินทางไปที่วัดดอยธรรมเจดีย์ของ พระอาจารย์กงมา จิรปุญโญ อยู่ ๒ คืน จากนั้นโยมเอารถมารับไปพักที่วัดป่าบ้านท่าควาย เมื่อไปอยู่วัดป่าบ้านท่าควาย พระอาจารย์ฝั้นกำลังเร่งความเพียร วันหนึ่งๆ จะฉันนมเพียง ๑ แก้ว พระเณรที่ตามไปด้วย จึงพากันฉันวันเว้นวันบ้าง หลายวันต่อมาพระอาจารย์ฝั้นพาเทศน์พระเวส (งานบุญพระเวส) มีเทศน์ทำบุญอย่างเดียว ไม่ได้จัดแต่งดอกบัว ดอกผักตบอย่างละ ๑,๐๐๐ ตามที่อื่นเขาทำกัน เป็นเหตุให้พวกชาวบ้านท่าควายไม่กล้ามางาน เพราะกลัวว่าทำไม่ถูกวิธีแล้วจะมีลมพญามารใหญ่พัดมา มีญาติโยมมีศรัทธาเลื่อมใสมานิดหน่อย ท่านก็เทศน์จบแล้วทุกอย่าง ไม่มีลมใหญ่อะไร ต่อมาไม่นานทางวัดที่หมู่บ้านเขาจัดบ้าง ปรากฏตอนบ่ายมีลมพายุพัดทำลายข้าวของในงาน และกระท่อมเสียหายหมด พระอาจารย์ผ่านว่า นี้เป็นกำลังจิตของหลวงปู่ฝั้น จึงไม่มีอะไรรบกวน

เมื่ออยู่บ้านท่าควายหลายวันแล้ว วันหนึ่งไปบิณฑบาตพอไปถึงสุดทางบิณฑบาต พระอาจารย์ฝั้นท่านได้หยุดยืนแล้วพูดกับพระอาจารย์ผ่าน ว่า “นั่นๆ ท่านผ่าน ที่จะไปภาวนา” ที่นั้นคือภูกระแต บ้านไผ่ล้อม ๒-๓ วันต่อมาพระอาจารย์ฝั้นจึงพาเดินไปประมาณ ๕ กิโลเมตรจนกระทั่งถึงภูกระแต แล้วจึงแยกย้ายกันไปพำนักบำเพ็ญภาวนา ที่นี่เป็นสถานที่สัปปายะ มีสัตว์ป่ามากมาย มีแอ่งน้ำซับซึ่งผุดออกมาจากดิน อยู่ที่ตีนเขา พอรุ่งเช้ามีชาวบ้านมาเล่าถวายว่า “เมื่อคืนฝันเห็นพวกภูตผีปีศาจบนภูเขาพากันแตกตื่นย้ายครอบครัวหนี บอกว่าเจ้านายมา” พระอาจารย์ฝั้นอยู่ที่นี้ได้ ๒ เดือน ก็ปรารภขึ้นว่า พักที่นี่อันที่จริงก็ดีอยู่ แต่ผู้คนมาเยี่ยมเยียนเป็นการรบกวนมากเหลือเกิน ไม่มีโอกาสที่จะทำความเพียรได้โดยสะดวก ท่านจึงได้เดินทางไปภูวัวต่อ โดยกลับไปพักที่บ้านท่าควายอีกครั้ง พระอาจารย์ผ่านกับหลวงตาจรัสพักอยู่ที่วัดป่าบ้านท่าควาย คณะที่เหลืออันมีพระอาจารย์ฝั้น พระอาจารย์คำพอง และสามเณอีก ๑ รูปลงเรือขึ้นเหนือไปขึ้นบกที่บ้านท่าสีได จากนั้นเดินทางไปพักที่บ้านโสกก่ามคืนหนึ่ง เพื่อให้ญาติโยมได้เตรียมเสบียงอาหารสำหรับขึ้นภูวัว
46#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 12:49 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
อนึ่ง ก่อนจะออกจากบ้านท่านสีได ไปยังบ้านโสกก่าม พระอาจารย์ฝั้นได้พาภิกษุสามเณรไปพักอยู่ในป่าดงดิบคืนหนึ่ง รุ่งเช้าท่านได้ถามพระอาจารย์คำพองที่ไปด้วย ว่าเป็นยังไง เมื่อคืนภาวนาได้ดีไหม พระอาจารย์คำพองก็ตอบไปตามตรงว่า เมื่อคืนรู้สึกนานเหลือเกินกว่าจะสว่าง ท่านก็หัวเราะแล้วพูดขึ้นว่า มัวแต่นั่งเหงื่อแตกกลัวเสือร้องอยู่น่ะซิ มัวแต่นั่งกลัว นอนกลัว จะไปสวรรค์ ไปนิพพานได้อย่างไรกันล่ะ

ปรากฏว่าพระอาจารย์คำพองนั้นไม่เป็นอันภาวนาทั้งคืนจริง ๆ เพราะตลอดคืนได้ยินแต่เสียงเสือรอบ ๆ ที่พัก ถึงขนาดจะออกจากกลดมาเดินจงกรมก็ไม่กล้า ได้แต่นั่งเหงื่อแตกอยู่ข้างใน

พระอาจารย์ฝั้นได้เทศน์สั่งสอนไว้ในตอนนั้นด้วยว่า ได้เคยบอกแล้วหลายครั้งว่า “พระนิพพานอยู่ฟากตาย ความสุขก็อยู่ฟากทุกข์” เราทำความเพียรภาวนาไป พอถึงทุกข์ก็เกิดความกลัวทุกข์เสียแล้ว แล้วเมื่อใดจะพ้นทุกข์ไปได้เล่า พาไปอยู่ป่าช้าก็กลัวผี พามาอยู่ในดงก็กลัวเสือ การกลัวผีก็ดี การกลัวเสือก็ดี นั่นไม่ใช่กลัวตายหรอกหรือ ลองนั่งภาวนาดูซิว่า เสือมันจะมาคาบคอไปกินจริง ๆ ไหม การกลัวควรกลัวแต่ในทางที่ผิด คือกลัวความผิด ไม่กระทำผิด กลัวว่าตนเองจะไม่พ้นจากวัฏทุกข์ แล้วรีบเร่งบำเพ็ญความเพียรเข้าจึงจะถูก

การขึ้นภูวัวครั้งนี้ มีญาติโยมไปส่ง ๖ –๗ คนพร้อมเสบียงอาหาร โดยออกเดินทางลัดเลาะไป สองฟากข้างทางเป็นป่าดงดิบที่แสนจะรกทึบ ทางเดินก็เต็มไปด้วยรอยเท้าช้างกับรอยเท้าเสือทั้งเก่าและใหม่ กว่าจะขึ้นถึงถ้ำพระบนภูวัวก็ตกบ่ายประมาณ ๓ โมงกว่า

พวกญาติโยมได้ช่วยกันซ่อมแซมที่พักอาศัย และนอนค้างอยู่บนนั้นด้วย คืนนั้นพระอาจารย์ฝั้นได้เทศนาอบรมให้ตั้งใจปฏิบัติธรรมและรักษาศีล ๕ ศีล ๘ จากนั้นได้นำญาติโยมนั่งสมาธิภาวนาอยู่จนใกล้จะตี ๒ จึงได้หยุดพักผ่อน

เช้าวันรุ่งขึ้น พวกญาติโยมได้จัดการทำอาหารใส่บาตร แล้วไปหาไม้มาซ่อมที่พักต่อ เสร็จเรียบร้อยแล้วก็พากันลงจากภูวัว ไปในตอนบ่าย ๓ โมง บนถ้ำพระ ภูวัวจึงเหลือแต่พระอาจารย์ฝั้นกับพระภิกษุสามเณรอีก ๒ รูป

ทั้ง ๓ รูป ได้ทำความเพียรทั้งกลางวันและกลางคืนเป็นเวลาหลายเดือน เรื่องอาหารการฉัน พระอาจารย์ฝั้นสั่งสอนให้ฉันแต่พอควร พอเป็นกำลังให้อยู่เพื่อบำเพ็ญภาวนาก็พอแล้ว ถ้าวันไหนคิดจะไม่ฉันก็ไม่ต้องประกอบอาหาร แต่ถึงอย่างไร ท่านก็กำชับว่า อย่าถึงกับหักโหมอดอาหารเสียเลย ให้ฉันแต่น้อยก่อน แล้วค่อย ๆ ผ่อนลง ถ้าอดอาหารทันที โดยกำลังใจไม่เข้มแข็งพอจะเกิดโทษ นับแต่นั้นมา การฉันอาหารของภิกษุสามเณรก็น้อยลงตามลำดับ พระอาจารย์ฝั้นเองก็พยายามลดอาหารลง จนกระทั่งบางวันไม่ฉันอะไรเลย บางทีก็อดไปเป็นเวลาหลาย ๆ วัน

พระอาจารย์ฝั้นได้ปรารภกับภิกษุสามเณรว่า ปีนี้ท่านจะจำพรรษาอยู่บนภูวัว พอถึงเดือน ๘ ก่อนเข้าพรรษา ท่านก็บอกให้พระภิกษุสามเณรลงจากภูวัวกลับไปวัด ตัวท่านเองจะจำพรรษาอยู่รูปเดียวตามที่ตั้งใจไว้แล้ว ท่านบอกว่า บนภูเขาเช่นนั้น ผู้ที่มีกำลังใจไม่เข้มแข็งพออาจเกิดอันตรายถึงชีวิตได้ ทั้งยังกล่าวด้วยว่า ก่อนหน้านี้ มีพระอาจารย์มั่นเป็นครูบาอาจารย์ และเป็นที่พึ่งแก่สานุศิษย์ทั้งหลายอยู่ บัดนี้ ท่านล่วงลับไปแล้ว เราจำเป็นต้องรีบเร่งทำความเพียร เพื่อปฏิบัติเอาตัวรอดก่อน

ปรากฏว่า ระยะนั้นฝนกำลังตกหนักทั้งกลางวันและกลางคืน บางครั้งตกติดต่อกันหลายวัน ทำให้ญาติโยมไม่สามารถส่งเสบียงอาหารขึ้นมาได้ ครั้นต่อมาในวันพระใกล้จะเข้าพรรษา แม้ว่าฝนจะกำลังตกหนัก แต่ความเป็นห่วงและด้วยศรัทธาอันแก่กล้า บรรดาญาติโยมก็ได้บุกฝ่าห่าฝนขึ้นมาด้วยความยากลำบากทุลักทุเล คืนนั้นหลังจากพระอาจารย์ฝั้นได้เทศนาอบรมญาติโยมแล้ว ท่านได้พิจารณาเห็นว่า ถ้าจะจำพรรษาอยู่ที่นี่ต่อไปแล้ว จะเป็นภาระหนักต่อญาติโยมเป็นอย่างมาก

ดังนั้นในวันรุ่งขึ้น ท่านก็ได้ตัดสินใจลงจากภูวัว เสร็จแล้วท่านจึงได้พาภิกษุและสามเณรเดินทางต่อไป

http://www.dharma-gateway.com/mo ... phun-hist-01-05.htm
47#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 13:16 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ในระหว่างที่พักอยู่ในถ้ำพระ บนภูวัวครั้งนั้น พระอาจารย์ฝั้นได้ประสบอุบัติเหตุ ซึ่งน่าจะนับว่าร้ายแรงที่สุดในชีวิตของท่าน

กล่าวคือ วันหนึ่ง พวกญาติโยมบ้านดอนเสียดและบ้านโสกก่ามได้พากันขึ้นไปนมัสการ ตกกลางคืน พระอาจารย์ฝั้นได้เทศนาอบรมตามปกติ พอเช้าวันรุ่งขึ้น ท่านก็ขอให้พวกญาติโยมพาไปชมภูมิประเทศบนภูวัว และเพื่อที่จะแสวงหาสมุนไพรบางอย่างด้วย เมื่อฉันจังหันเสร็จ ก็ออกเดินทางโดยมีโยม ๒ คนเดินนำหน้า พระอาจารย์ฝั้นและพระภิกษุตามหลัง ส่วนสามเณรอีกรูปหนึ่งท่านสั่งให้อยู่ที่พัก


สถานที่พระอาจารย์ฝั้นประสบอุบัติเหตุ บนภูวัว

ทั้งหมดเดินขึ้นไปตามลำห้วยบางบาด พอถึงลานหินที่ลาดชันขึ้นไปข้างบน ยาวประมาณ ๑๐ กว่าวา บนลานมีน้ำไหลริน ๆ และมีตะไคร่หินขึ้นอยู่ตามทางลาดชันนั้นโดยตลอด

โยม ๒ คนเดินนำหน้าขึ้นไปก่อน ท่านเดินตามขึ้นไป และตามด้วยพระภิกษุซึ่งรั้งท้ายอีกรูปหนึ่ง โยมทั้งสองไต่ผ่านลานหินอันชันลื่นขึ้นไปได้ ส่วนพระอาจารย์ฝั้นไต่จวนจะถึงอยู่แล้วเพียงอีกก้าวเดียวก็จะพ้นไปได้ พอก้าวเท้าข้ามร่องน้ำ ท่านก็ลื่นล้มลงทั้งยืน ศีรษะฟาดกับลานหินดังสนั่น เหมือนมะพร้าวถูกทุบ จากนั้นก็ลื่นไถลลงมาตามลาดหิน โดยศีรษะลงมาก่อน

พระภิกษุซึ่งรั้งท้าย ตกใจตัวสั่นอยู่กับที่ จะช่วยเหลืออะไรก็ไม่ได้ เพราะท่านเองประคองตัวแทบไม่ได้อยู่แล้ว ได้แต่มองดูพระอาจารย์ไถลผ่านหน้าไปด้วยความตกตะลึง

ไถลลงไปได้ประมาณ ๖ วา ก็ไปตกหลุมหินซึ่งเป็นแอ่งแห่งหนึ่ง แต่ด้วยความลื่นของตะไคร่ ท่านไม่ได้หยุดอยู่ลงเพียงนั้น กลับหมุนไปอยู่ในลักษณะเอาศีรษะขึ้น แล้วไถลลื่นต่อไปอีก

ข้างหน้าของท่านมีช่องหิน ใหญ่ครือ ๆ กับตัวคน น้ำที่ไหลลงมา ไปรวมหล่นอยู่ในช่องนั้นเป็นส่วนใหญ่ หากท่านไถลไปถึงช่องนั้นแล้วไหลพรวดลงไป ย่อมมีทางเดียวคือมรณภาพอย่างแน่นอน

แต่ด้วยอำนาจบุญ ก่อนจะถึงช่องหิน ท่านก็กลับตั้งหลักลุกขึ้นได้ แล้วเดินขึ้นไปตามทางเดิมเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น พระภิกษุที่ไปด้วยได้ขอให้ท่านขึ้นไปทางอื่น แต่ท่านไม่ยอม บอกว่า เมื่อมันตกลงมาตรงนี้ ก็ต้องขึ้นไปตรงนี้ให้ได้” แล้วท่านก็เดินขึ้นไปใหม่ จนถึงที่จริง ๆ

น่าอัศจรรย์ตรงที่ว่า พระอาจารย์ฝั้นไม่มีบาดแผลเลยแม้แต่น้อย ถึงจะมีถลอกเพียงเท่าหัวไม้ขีดบนข้อศอก ก็ไม่น่าจะเรียกว่าบาดแผล

ตกเย็นกลับมาถึงที่พัก หลังจากสรงน้ำและต้มน้ำร้อนเสร็จแล้ว ท่านก็ออกเดินจงกรมตามปกติ พอตกค่ำ พระภิกษุได้เข้าไปปฏิบัติ แล้วถามอาการของท่าน ว่าขณะมี่ศีรษะกระแทกหินดังสนั่นนั้น ท่านรู้สึกอย่างไรบ้าง ท่านก็ตอบว่า อาการก็เหมือนสำลีตกลงบนหินนั่นแหละ

พระภิกษุรูปนั้นขณะนี้ยังมีชีวิตอยู่ มีความเห็นว่า ในขณะที่ท่านกำลังลื่นล้มก่อนศีรษะฟาดลานหินนั้น ท่านสามารถกำหนดจิตได้ในชั่วพริบตา ทำให้ตัวท่านเบาได้ดังสำลีโดยฉับพลัน เพราะท่านเคยเทศน์สั่งสอนเสมอว่า จิตของผู้ที่ฝึกให้ดีแล้ว ย่อมมีสติพร้อมอยู่ทุกอิริยาบถ ไม่ว่าจะยืน เดิน นั่ง หรือนอน ถึงแม้หลับอยู่ ก็หลับด้วยการพักผ่อนในสมาธิ
48#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 13:16 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ในระหว่างที่พักอยู่ในถ้ำพระ บนภูวัวครั้งนั้น พระอาจารย์ฝั้นได้ประสบอุบัติเหตุ ซึ่งน่าจะนับว่าร้ายแรงที่สุดในชีวิตของท่าน

กล่าวคือ วันหนึ่ง พวกญาติโยมบ้านดอนเสียดและบ้านโสกก่ามได้พากันขึ้นไปนมัสการ ตกกลางคืน พระอาจารย์ฝั้นได้เทศนาอบรมตามปกติ พอเช้าวันรุ่งขึ้น ท่านก็ขอให้พวกญาติโยมพาไปชมภูมิประเทศบนภูวัว และเพื่อที่จะแสวงหาสมุนไพรบางอย่างด้วย เมื่อฉันจังหันเสร็จ ก็ออกเดินทางโดยมีโยม ๒ คนเดินนำหน้า พระอาจารย์ฝั้นและพระภิกษุตามหลัง ส่วนสามเณรอีกรูปหนึ่งท่านสั่งให้อยู่ที่พัก

สถานที่พระอาจารย์ฝั้นประสบอุบัติเหตุ บนภูวัว

ทั้งหมดเดินขึ้นไปตามลำห้วยบางบาด พอถึงลานหินที่ลาดชันขึ้นไปข้างบน ยาวประมาณ ๑๐ กว่าวา บนลานมีน้ำไหลริน ๆ และมีตะไคร่หินขึ้นอยู่ตามทางลาดชันนั้นโดยตลอด

โยม ๒ คนเดินนำหน้าขึ้นไปก่อน ท่านเดินตามขึ้นไป และตามด้วยพระภิกษุซึ่งรั้งท้ายอีกรูปหนึ่ง โยมทั้งสองไต่ผ่านลานหินอันชันลื่นขึ้นไปได้ ส่วนพระอาจารย์ฝั้นไต่จวนจะถึงอยู่แล้วเพียงอีกก้าวเดียวก็จะพ้นไปได้ พอก้าวเท้าข้ามร่องน้ำ ท่านก็ลื่นล้มลงทั้งยืน ศีรษะฟาดกับลานหินดังสนั่น เหมือนมะพร้าวถูกทุบ จากนั้นก็ลื่นไถลลงมาตามลาดหิน โดยศีรษะลงมาก่อน

พระภิกษุซึ่งรั้งท้าย ตกใจตัวสั่นอยู่กับที่ จะช่วยเหลืออะไรก็ไม่ได้ เพราะท่านเองประคองตัวแทบไม่ได้อยู่แล้ว ได้แต่มองดูพระอาจารย์ไถลผ่านหน้าไปด้วยความตกตะลึง

ไถลลงไปได้ประมาณ ๖ วา ก็ไปตกหลุมหินซึ่งเป็นแอ่งแห่งหนึ่ง แต่ด้วยความลื่นของตะไคร่ ท่านไม่ได้หยุดอยู่ลงเพียงนั้น กลับหมุนไปอยู่ในลักษณะเอาศีรษะขึ้น แล้วไถลลื่นต่อไปอีก

ข้างหน้าของท่านมีช่องหิน ใหญ่ครือ ๆ กับตัวคน น้ำที่ไหลลงมา ไปรวมหล่นอยู่ในช่องนั้นเป็นส่วนใหญ่ หากท่านไถลไปถึงช่องนั้นแล้วไหลพรวดลงไป ย่อมมีทางเดียวคือมรณภาพอย่างแน่นอน

แต่ด้วยอำนาจบุญ ก่อนจะถึงช่องหิน ท่านก็กลับตั้งหลักลุกขึ้นได้ แล้วเดินขึ้นไปตามทางเดิมเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น พระภิกษุที่ไปด้วยได้ขอให้ท่านขึ้นไปทางอื่น แต่ท่านไม่ยอม บอกว่า เมื่อมันตกลงมาตรงนี้ ก็ต้องขึ้นไปตรงนี้ให้ได้” แล้วท่านก็เดินขึ้นไปใหม่ จนถึงที่จริง ๆ

น่าอัศจรรย์ตรงที่ว่า พระอาจารย์ฝั้นไม่มีบาดแผลเลยแม้แต่น้อย ถึงจะมีถลอกเพียงเท่าหัวไม้ขีดบนข้อศอก ก็ไม่น่าจะเรียกว่าบาดแผล

ตกเย็นกลับมาถึงที่พัก หลังจากสรงน้ำและต้มน้ำร้อนเสร็จแล้ว ท่านก็ออกเดินจงกรมตามปกติ พอตกค่ำ พระภิกษุได้เข้าไปปฏิบัติ แล้วถามอาการของท่าน ว่าขณะมี่ศีรษะกระแทกหินดังสนั่นนั้น ท่านรู้สึกอย่างไรบ้าง ท่านก็ตอบว่า อาการก็เหมือนสำลีตกลงบนหินนั่นแหละ

พระภิกษุรูปนั้นขณะนี้ยังมีชีวิตอยู่ มีความเห็นว่า ในขณะที่ท่านกำลังลื่นล้มก่อนศีรษะฟาดลานหินนั้น ท่านสามารถกำหนดจิตได้ในชั่วพริบตา ทำให้ตัวท่านเบาได้ดังสำลีโดยฉับพลัน เพราะท่านเคยเทศน์สั่งสอนเสมอว่า จิตของผู้ที่ฝึกให้ดีแล้ว ย่อมมีสติพร้อมอยู่ทุกอิริยาบถ ไม่ว่าจะยืน เดิน นั่ง หรือนอน ถึงแม้หลับอยู่ ก็หลับด้วยการพักผ่อนในสมาธิ

การเดินทางลงจากถ้ำพระภูวัว ในคราวนั้น ประสบความยากลำบากยิ่งกว่าคราวก่อน เพราะฝนตกหนักทำให้น้ำมาก การข้ามห้วยข้ามคลองซึ่งมีอยู่หลายแห่งจึงไม่สะดวกเท่าที่ควร ที่น่าหนักใจอีกอย่างหนึ่งก็คือ ตัวทาก ซึ่งชอบเกาะแข้งเกาะขาเพื่อกัดกินเลือด โดยเฉพาะในเขตที่เป็นดงดิบ จะมีฝูงทากนับไม่ถ้วนสองข้างทางเลยทีเดียว ดีที่โยมตัดไม้ไผ่เอามาเหลาให้แบนคล้ายใบมีด แล้วถวายพระอาจารย์ฝั้นกับพระภิกษุสามเณรที่ร่วมทาง พอมันกระโดดเกาะขาก็เขี่ยหลุดไปได้โดยมันไม่ทันกัด
49#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 13:17 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
พระอาจารย์ฝั้นพยายามทำตนเป็นตัวอย่างแก่สานุศิษย์ตลอดพรรษา ไม่ว่ากลางวันหรือกลางคืน แทบว่าจะหาเวลาพักผ่อนได้ยากยิ่ง เช่นตอนหัวค่ำ ท่านเทศน์อบรมพระเณรจน ๓ ทุ่มครึ่ง จากนั้นท่านก็ลงเดินจงกรมไปจนถึง ๕ ทุ่มเศษ แล้วท่านก็ขึ้นกุฏิให้พระภิกษุขึ้นไปปฏิบัติท่านจนถึง ๖ ทุ่มเศษ เสร็จจากนั้นท่านก็ลงมาเดินจงกรมอีก แล้วขึ้นกุฏิ พอประมาณตี ๓ ท่านก็ออกมาล้างหน้าบ้วนปาก ไหว้พระสวดมนต์ สวดมนต์จบแล้วเดินจงกรมต่อจนสว่าง พอถึงเวลาออกบิณฑบาต ท่านจึงได้ขึ้นศาลาเตรียมครองผ้าออกบิณฑบาตต่อไป


กุฏิที่วัดดำรงธรรม อ.ขลุง ที่พระอาจารย์ฝั้นเคยมาพัก

เมื่อออกพรรษาปี พ.ศ. ๒๔๙๓ พระอาจารย์ฝั้นพร้อมด้วยพระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ ได้พาพระภิกษุสามเณรอีกบางรูปเดินธุดงค์ไปจังหวัดจันทบุรี โดยพระอาจารย์วิริยังค์ได้นิมนต์ไปในงานที่วัดดำรงธรรม ในเขตอำเภอขลุง การเดินทางครั้งนี้ ท่านกับคณะได้นั่งรถยนต์โดยสารจากสกลนครไปขึ้นรถไฟที่อุดรฯ เข้ากรุงเทพฯ แล้วนั่งรถโดยสารจากกรุงเทพฯ ไปจันทบุรีอีกทอดหนึ่ง

ระหว่างพักที่วัดดำรงธรรม อำเภอขลุง ได้มีประชาชนสนใจเข้าฟังธรรมและรับการอบรมเป็นจำนวนมาก ต่อมา พระอาจารย์วิริยังค์ได้นิมนต์ไปพักที่สำนักสงฆ์บ้านกงษีไร่ ซึ่งสร้างขึ้นใหม่ ลึกเข้าไปในป่า ท่านได้พักอยู่ที่นั้นหลายวัน แล้วจึงกลับไปพักที่วัดดำรงธรรม

ต่อมาอีกหลายวัน ก็มีโยมนิมนต์ท่านและคณะไปพักวิเวกบนเขาหนองชึม อำเภอแหลมสิงห์ พักอยู่ที่นั่นได้ประมาณครึ่งเดือนก็มีโยมนิมนต์ท่านกับคณะไปพักที่ป่าเงาะ ข้างน้ำตกพริ้วอีกหลายวัน ซึ่งที่นั่นมีญาติโยมเข้ารับการอบรมในข้อปฏิบัติกันเป็นจำนวนมากตามเคย หลังจากนั้น จึงรับนิมนต์ไปพักตามป่าตามสวนของญาติโยมอีกหลายแห่ง

การเดินทางกลับ พระอาจารย์ฝั้นและคณะได้แวะตามสถานที่ต่าง ๆ อีกหลายแห่ง ครั้งสุดท้ายได้ไปพักที่วัดเขาน้อย ท่าแฉลบ เพื่อรอเรือกลับกรุงเทพฯ พักที่วัดนั้นประมาณ ๙ – ๑๐ วัน จึงได้ลงเรือมาถึงกรุงเทพฯ ในตอนเช้าของวันใหม่ รวมเวลาที่พักอยู่ในจันทบุรีเกือบ ๓ เดือน

ในกรุงเทพฯ พระอาจารย์ฝั้นกับคณะได้ไปพักที่วัดนรนารถฯ ๓ คืน จากนั้นก็มีโยมรับไปพักที่วัดอโศการาม จังหวัดสมุทรปราการ แต่ขณะนั้น พระอาจารย์ลี ยังสร้างวัดไม่เสร็จเรียบร้อย พระอาจารย์ลีจึงได้พาพระอาจารย์ฝั้นกับคณะไปชมวัดต่าง ๆ ในจังหวัดลพบุรี และนมัสการพระพุทธบาทที่จังหวัดสระบุรีด้วย หลังจากนั้นอีก ๗ – ๘ วัน ท่านจึงพาคณะกลับไปยังวัดป่าภูธรพิทักษ์ จังหวัดสกลนคร และนับแต่นั้นมา พระอาจารย์ฝั้นได้มีกิจนิมนต์ต้องเดินทางไปจังหวัดจันทบุรี เป็นประจำเกือบทุกปี
50#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 13:18 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
กลับวัดป่าภูธรพิทักษ์คราวนี้ พอถึงเดือนกุมภาพันธ์ พระอาจารย์ฝั้นได้จัดงานสำคัญขึ้นชิ้นหนึ่งที่วัดป่าสุทธาวาส และหลังจากนั้น งานดังกล่าวได้ถือปฏิบัติตลอดมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน นั่นคือจัดวันประชุมใหญ่พระกัมมัฏฐาน ในวันคล้ายวันประชุมเพลิงศพของพระอาจารย์มั่น เพื่อระลึกถึงพระคุณของท่านที่มีต่อสานุศิษย์อย่างคงเส้นคงวามาตลอด พระอาจารย์ฝั้นได้ไปพักที่วัดป่าสุทธาวาสเพื่อเตรียมงานก่อนเป็นเวลาหลายวัน เพราะการก่อสร้างพระอุโบสถ เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งพระอาจารย์มั่น กำลังกระทำอยู่อย่างรีบเร่ง โดยสร้างขึ้นบนพื้นที่ที่ใช้เผาศพพระอาจารย์มั่น

เสร็จงานประชุมพระกัมมัฏฐานคราวนั้นแล้ว พระอาจารย์ในได้กลับไปยังวัดป่าภูธรพิทักษ์ เพราะได้ตรากตรำในการงานมามาก สังขารเล่าก็ทรุดโทรมและอ่อนแอลงไปมาก

ประมาณเดือนเมษายน หรือพฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๔ ท่านเจ้าคุณ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) วัดบรมนิวาส ได้มีบัญชาให้พระอาจารย์ฝั้น ไปพบที่กรุงเทพฯ ด่วน ท่านและพระภิกษุอีกรูปหนึ่ง กับเด็กลูกศิษย์อีกคนหนึ่งได้เดินทางเข้ากรุงเทพทันที ท่านเจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ให้พักที่วัดบรมนิวาสได้สองคืน ก็เรียกท่านเข้าพบอีกครั้งแล้วให้ท่านเดินทางไปที่วัดแห่งหนึ่งในจังหวัดฉะเชิงเทราโดยด่วน เพราะที่วัดนั้นมีเรื่องไม่สงบเกิดขึ้นภายใน พระภิกษุสามเณรแตกความสามัคคีกัน พระอาจารย์ฝั้น จึงพร้อมด้วยพระภิกษุและสานุศิษย์ที่มาจากสกลนคร เดินทางไปวัดนั้นทันที เมื่อไปถึง ได้ไปสังเกตการณ์และสืบหาข้อเท็จจริงจากข้าหลวงอยู่ที่วัดนั้น ๔ – ๕ วัน พอประมวลเหตุการณ์ได้แล้ว จึงเดินทางกลับวัดบรมนิวาส และได้รายงานให้ท่านเจ้าคุณ สมเด็จฯ ทราบว่า ชาวบ้านและพระลูกวัดต้องการให้ส่งเจ้าอาวาสวัดนั้น ที่สมเด็จฯ เรียกมาสอบเรื่องราวแล้วยังไม่ได้ส่งกลับไป จึงเกิดเรื่องขัดแย้งไม่เข้าใจ และแตกแยกกันขึ้น เมื่อเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ได้ทราบข้อเท็จจริงแล้ว จึงได้ส่งเจ้าอาวาสกลับคืนวัดนั้นไป เรื่องต่าง ๆ จึงค่อยสงบลง

ระหว่างที่อยู่ที่วัดบรมนิวาส พระอาจารย์ฝั้น กับพระลูกศิษย์ต้องออกบิณฑบาตไปเรื่อย ๆ ตามตรอกซอยต่าง ๆ พอเข้าไปในซอยแห่งหนึ่ง ชาวบ้านดีใจกันเป็นอันมาก เพราะไม่เคยมีพระไปบิณฑบาตในซอยนั้นมาก่อนเลย ต่างนิมนต์ให้รอก่อน บางบ้านก็จัดหาเก้าอี้มาให้นั่ง แล้วเตรียมข้าวปลาอาหารใส่บาตรกันอย่างฉุกละหุก เมื่อทราบว่าพระอาจารย์ฝั้นมาจากต่างจังหวัด ก็นิมนต์ให้เข้าไปบิณฑบาตทุกวันจนกว่าจะกลับ

โดยเฉพาะในซอยหนึ่งแถว ๆหลังวัดพระยายัง พระอาจารย์ฝั้นสามารถทำให้ฝรั่งครอบครัวหนึ่งเกิดศรัทธาออกมาใส่บาตร ทั้ง ๆ ที่ครอบครัวนี้ไม่เคยใส่บาตรมาก่อนเลย เมื่อจากฝรั่งครอบครัวนั้นออกมาแล้ว พระอาจารย์ฝั้นได้ปรารภกับพระลูกศิษย์ว่า ฝรั่งแท้ ๆ ยังรู้จักใส่บาตร

อีกไม่กี่วันต่อมา พระอาจารย์ฝั้นก็เดินทางกลับวัดป่าภูธรพิทักษ์ที่จังหวัดสกลนคร ก่อนกลับท่านเจ้าคุณสมเด็จฯ ได้ปรารภขึ้นว่า ตั้งใจจะให้ท่านไปเป็นเจ้าอาวาสวัดเทพนิมิตร ที่ฉะเชิงเทรา แต่ท่านไปสังเกตการณ์ตนได้ความกระจ่าง สามารถคลี่คลายสถานการณ์ไปได้เช่นนี้ ก็นับว่าท่านได้ทำประโยชน์ให้มากทีเดียว

หลังจากพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ถึงแก่มรณภาพไปแล้ว ที่วัดป่าภูธรพิทักษ์ มีสามเณรเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ เพราะหลายรูปหันเข้ามาปฏิบัติต่อพระอาจารย์ฝั้น ส่วนที่ยังอ่อนต่อการศึกษาก็มุ่งหน้ามาเล่าเรียนฝึกหัด กุฏิที่มีอยู่จึงไม่เพียงพอให้พำนัก ในปี ๒๔๙๔ พระอาจารย์ฝั้นจึงได้จัดให้มีการก่อสร้างกุฏิถาวรขึ้นหลายหลัง เพื่อให้เพียงพอแก่การอยู่จำพรรษา น่าสังเกตว่า ท่านได้เตือนพระภิกษุสามเณรอยู่เสมอว่า การก่อสร้างใด ๆ ไม่ให้มีการบอกบุญเรี่ยไรเป็นอันขาด ให้ทำเท่าที่จำเป็นสามารถจะทำได้ และให้ทำต่อเมื่อมีผู้ศรัทธาจะทำ มิฉะนั้นจะเป็นเรื่องเดือดร้อนถึงชาวบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ที่จะให้ท่านคิดทำขึ้นเองนั้นน้อยเหลือเกิน เพราะท่านไม่ต้องการให้เป็นปลิโพธิกังวล แก่บรรดาพระเณร จะได้มีเวลากระทำความเพียรได้โดยปราศจากอุปสรรคของข้อกังวลนั้น ๆ
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้