ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

~ หลวงปู่หล้า เขมปตฺโต วัดบรรพตคีรี(วัดภูจ้อก้อ) ~

[คัดลอกลิงก์]
141#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 19:40 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
เรียนตอบว่า

“ทั้งรู้ทั้งเห็น ทั้งเห็นทั้งรู้ กลมกลืนกันขอรับผม”

“แล้วเธอเห็นรู้ว่าเป็นธรรมดาอะไรเล่า”

เรียนตอบว่า

“เป็นธรรมดาทุกข์ ขอรับผม ไม่ใช่เป็นธรรมดาสุข เพราะธรรมดามันมีหายธรรมดา ขอรับผม ธรรมดาทุกข์อิงอามิสก็มี ธรรมดาทุกข์มิได้อิงอามิสก็มี ธรรมดาสุขอิงอามิสก็มี ธรรมดาสุขมิได้อิงอามิสก็มี ธรรมดาพระนิพพานก็มี ขอรับผม”

“เธอทำไมถึงอวดฉลาดตอบเกินคำถามลามบ้าไป เธอใช้อุบายสอนผู้ถามไปในตัวหรือ”

เรียนตอบว่า

“ถ้าเรียนตอบไม่สมเหตุผลบ้างก็เกรงว่าจะถูกเฆี่ยนขอรับผม”

“ทีนี้เราจะถามเธอต่อไป เธอจงตั้งใจตั้งธรรมตั้งสติปัญญาให้สมดุลกันในปัจจุบันทันกาล

ทีนี้ทุกข์ปรารถนาไปมิสมหวัง ทุกข์พลัดพรากจากของรักของชอบใจ ทุกข์ประสบสิ่งที่ไม่น่าชอบ เหล่านี้ เธอจะปฏิบัติยังไงเล่า”

เรียนตอบว่า

“ทุกข์เหล่านี้เป็นทุกข์ฝ่ายกิเลสโต้ง ๆ อยู่แล้ว ต้องทำใจพร้อมทั้งสติปัญญาให้เหนือและสูงไปกว่าทุกข์เหล่านี้ ด้วยวิธีเห็นว่าต้องไม่ยืนยันเอาทุกข์มาเป็นตัวตน เรา เขา สัตว์ บุคคล ไม่ยืนยันเอาเรา เขา สัตว์ บุคคลว่าเป็นทุกข์ ไม่ยอมทำใจให้โศกเศร้าด้วยเพราะอำนาจที่ได้เคยรู้แจ้งในกองนามรูปว่าเป็นของไม่ได้อยู่ในวงแขนของผู้ใด มีหน้าที่เกิดขึ้นแล้วแปรไป แตกสลายไปอยู่ ไม่ว่าจะเป็นทาสของผู้ปรารถนาและไม่ปรารถนา ถ้าไม่ยอมละยอมถอนความเข้าใจผิดตอนนี้แล้ว ก็จะทุกข์ใจทวีคูณไม่มีประตูจะดับทุกข์ได้ เพราะส่วนนี้เป็นทุกข์ที่ควรละด้วยปัญญาอันรอบคอบ เพราะทุกข์เหล่านี้มันเนื่องมาจากวัตถุนิยม หวังอยากจะให้อยู่ในวงแขนและกำมือของตนคล้ายกับว่าจะกอบเอาดินทราย กำเอาดินทราย มิให้เล็ดลอดมือของตัวเลย คล้ายกับจะปั้นน้ำให้เป็นตัว รูปสัตว์ รูปคนไปต่าง ๆ ย่อมเป็นไปไม่ได้ ก็ต้องทวนคระแสดูความเข้าใจผิดของตน แล้วก็ปล่อยวางความหวังแบบโง่ ๆ เสีย ปัญญาก็เหนือสูงขึ้นจากความหลงแล้ว ไม่สามารถจะกลับกลืนความหลงคืนได้ง่าย ๆ ได้เลย เว้นไว้แต่สติปัญญาอ่อนกว่าความหลงในตอนนี้ ถ้าสติปัญญาเหนือจากความหลงในตอนนี้แล้ว ก็เหนือจากความโง่ไปหมดทุกประเภท ความโง่จะขบถคืนไม่ได้ ชนะความหลงตอนนี้แล้วไม่มีประตูกลับคืนแพ้อีกเลย”

http://www.dharma-gateway.com/mo ... /lp-lah-hist-11.htm
142#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 19:40 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
โลกุตตรจิต โลกุตตรธรรม

ผู้มีศรัทธาความเชื่อในสิ่งที่ควรเชื่อ มีวิริยะในสิ่งที่ควรเพียร มีสติในสิ่งที่ควรระลึกได้ มีสมาธิในสิ่งที่ควรตั้งมั่น มีปัญญาในสิ่งที่ควรรอบรู้ เป็นกองทัพธรรมสมดุลกันแล้ว ย่อมเป็นช้างสารมหากำลังใหญ่ ความหลงที่เรียกว่าอวิชชา จะตั้งกองพลเข้ามาทางประตูใด ความหลงย่อมอยู่ใต้อำนาจของธรรมแท้ ใจแท้ ศรัทธาแท้วิริยะแท้ สติแท้ สมาธิแท้ ปัญญาแท้ เพราะธรรมเหล่านี้ขึ้นสู่โลกุตรแล้ว ไม่มีเทวดา มาร พรหมและมนุษย์ใด ๆ จะปลดเกษียณให้ลงสู่โลกีย์ได้

โลกุตรจิต-โลกุตรธรรม มิใช่ธรรมลวงโลก มิใช่ปู่ทวด ย่าทวด ตาทวด ยายทวด ปู่ ย่า ตา ยาย พ่อ แม่ลวงโลก เพราะข้ามปุถุชนโคตรไปแล้วไกล ไม่อาลัยว่าจะลวงตนจะลวงโลก เหมือนโลกีย์วิสัยที่หนักไปในทางอามิสสรณัง คัจฉามิ ที่เที่ยวกวาดต้อนผู้อยู่ในระดับเดียวกันเข้า ให้เป็นพรรค ตามกรรมนิยม กรรมบันดาล เหนี่ยวรั้งตั้งเจตนาและความหวัง ก็เป็นไปตามโลกีย์ ไกลจากโลกุตระจนมองไม่เห็น จะเห็นกันได้ง่าย ๆ ก็เพียงกายและความประพฤติเป็นบางส่วนเท่านั้น เว้นไว้แต่จำพวกพระอริยะ จำพวกเจโตปริยญาณเท่านั้น เหลือนั้นก็เดาด้นคาดคะเนผิดบ้างถูกบ้าง แต่ต้องผิดนั้นแหละเป็นส่วนมาก

ผู้เห็นภัยอย่างเต็มที่ในสงสารทั้งอดีต ทั้งอนาคต ทั้งปัจจุบันนั้น กับผู้สนใจในทางปฏิบัติอย่างเต็มที่ก็ดี

กับ ผู้ไม่ประมาทนอนใจนั้นก็ดี

กับ ผู้สนใจในธรรมเพื่อหลุดพ้นนั้นก็ดี

กับ ผู้เชื่อมรรค ผล นิพพานนั้นก็ดี

กับ ผู้ไม่ตีตนตายก่อนไข้นั้นก็ดี

กับ ผู้เลือกเฟ้นธรรม เลือกเฟ้นใจ ในธรรมที่ควรเลือก ในใจที่ควรเลือก

นั้นก็มีความหมายอันเดียวกัน

ส่วนท่านผู้เห็นภัยในสงสารอย่างเต็มที่ และผู้ปฏิบัติธรรมให้สมควรแก่ธรรมอย่างเต็มที่นั้นก็ดี

กับท่านผู้พ้นจากกิเลสโดยสิ้นเชิงอย่างเต็มที่นั้นก็ดี

กับท่านผู้พ้นจากผู้รู้ในอดีต ผู้รู้ในอนาคต ผู้รู้ในปัจจุบันนั้นก็ดี แล้วไม่ติดข้องอยู่ทั้งผู้รู้ในอดีต ผู้รู้ในอนาคต ผู้รู้ในปัจจุบันนั้นก็ดี

กับผู้ไม่ติดอยู่ในนิมิตฝ่ายรูปขันธ์ก็ดี

กับผู้ไม่ติดอยู่ในอรูปคือนามขันธ์นั้นก็ดี

กับผู้ไม่ติดอยู่ในสรรพธาตุทั้งปวงก็ดี

กับผู้ไม่ติดอยู่ในสรรพธรรมทั้งปวงก็ดี

กับผู้ไม่ติดอยู่ในสรรพจิตทั้งปวงก็ดี

กับผู้ไม่ติดอยู่ในสรรพอัตตาทั้งปวงก็ดี

กับผู้ไม่ติดอยู่ในสรรพอนัตตาทั้งปวงก็ดี

กับผู้ไม่ติดอยู่ในสูญ ๆ สาญ ๆ ทั้งปวงก็ดี

กับผู้ไม่ติดอยู่ในสมมุติและวิมุติก็ดี

กับผู้ไม่ติดอยู่ในได้ในเสีย

กับผู้ไม่ติดอยู่ในอุปาทานก็ดี เป็นต้น

เหล่านี้ย่อมมีรสชาติและความหมายอันเดียวกัน เหลือวิสัยที่จะบัญญัติและสมมุติไปแล้ว ไม่เป็นธรรมที่ชาวโลกจะเอามาซื้อมาขายมาขายในตลาดโลกได้ เพราะมิใช่ธรรมลิเก ละคร และกีฬา และฉายหนังภาพยนตร์โทรทัศน์ใด ๆ ทั้งสิ้น

ผู้เขียนก็เขียนไปตามจิตสังขาร ท่านผู้อ่านผู้ฟังก็ต้องอ่านต้องฟังไปตามจิตสังขาร ปัญหาก็หากจบไปเอง
143#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 19:40 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
เจตนาผิดปิดทางหลุดพ้น

ยุคของผู้เขียนมาพักชั่วคราวอยู่ภูจ้อก้อนี้ สนุกฟังเทศน์ทั้งภายนอกภายในมากมายนัก

ที่ว่า พักอยู่ชั่วคราว ก็หมายความว่า ที่สมมุติกันว่าวินาทีหนึ่งก็ดี นาทีหนึ่งก็ดี ชั่วโมงหนึ่งก็ดี วันหนึ่งคืนหนึ่งก็ดี เดือนหนึ่งก็ดี สองพันห้าร้อยยี่สิบสี่ก็ดี เป็นเวลาน้อยนัก ไม่หยุดยั้ง ล่วงไป ๆ

จะว่าวันเวลาล่วงไปก็ถูก จะว่าชีวาล่วงไปตามสมมุติก็ถูก แต่ปรมัตถ์มิใช่สัตว์ มิใช่ชีวิต ไม่มีใคร ๆ ล่วงไปไหน ส่วนวันคืนก็ไม่ล่วงไปไหน เอกรัตตินทิวัง มีแต่กลางคืนกับกลางวัน เท่านั้น

พูดกลับไปกลับมา เพื่อมิให้ติดอยู่ในการพูดกลับไปกลับมา ทั้งสมมุติและปรมัตถ์ แต่ก็ตรงกันข้าม สิ่งที่ติดก็คอยแต่จะติด เช่นยางขนุนและยางมะตอยเป็นต้น สิ่งที่ไม่ติดก็ไม่ค่อยอยากติด เช่นน้ำค้างบนใบบัว ปลายเหล็กแหลมไม่เก็บพันธุ์เมล็ดผักกาดไว้ นกบินในอากาศไม่มีรอย มีดเฉือนน้ำไม่มีแผล

ธรรมะในทางพระพุทธศาสนาเป็นธรรมลุ่มลึกและสูงยิ่งกว่าศาสนาใด ๆ ทั้งสิ้น ผูกขาดอยู่ทุกกาล ไม่ได้พูดเข้าข้างตัว พูดเข้าข้างธรรมะตามเป็นจริงของธรรม มิได้พูดเข้าข้างตัวตามความสำคัญว่าตัวเป็นเจ้าธรรม ยอมยกธงขาว ยอมให้ธรรมอยู่เหนือตัวเสมอ ๆ ไม่ตีตนเสมอธรรมเลย

ฉะนั้นพระบรมศาสดาจึงยอมเคารพธรรม ถือว่าธรรมทรงอยู่ก่อนพระองค์ ถ้าธรรมไม่ทรงมีอยู่ก่อนพระองค์แล้ว พระองค์ก็ไม่สามารถจะรู้ธรรมได้ ศาสนาอื่น ๆ รู้ได้ปฏิบัติได้เพียงแต่เหตุผล แต่มิใช่ทางเหตุผลไปทางโลกุตระ มีแต่ตามความประสงค์ของกิเลส ไปทางวัตถุนิยม เป็นอัตตาธิปไตย เข้าข้างตนเข้าข้างกิเลสอย่างลึกบ้าง อย่างโลดโผนสุกเอาเผากิน เจอก้างเต็มโลก

ฉะนั้นสมณะทั้ง ๔ จึงไม่มีในศาสนาอื่น ๆ นอกจากศาสนาพุทธ คือ โสดา สกิทาคา อนาคา อรหันต์ แต่พากันบัญญัติเอาแบบเข้าใจผิดบ้าง แบบหัวดื้อหัวแข็งสารัมภะแข่งดีบ้าง ประมาทบ้าง

ฉะนั้นในมหาปรินิพพานสูตร พระบรมศาสดาจึงยืนยันตามธรรมาธิปไตยว่า สมณะในที่อื่นนอกจากพุทธศาสนาแล้ว ไม่มีสมณะทั้ง ๔ ดังกล่าวนั้นเลย

เพราะศาสนาอื่นประพฤติพรตมุ่งลาภอามิสที่ตนหวัง ข้อวัตรปฏิบัติทั้งปวงจะเด็ดเดี่ยวสักเพียงไรก็ตาม เจตนาไม่นอกเหนือไปจากมุ่งลาภภายนอกที่ตนหวัง จึงปิดหนทางอันจะออกจากชาติ ชรา พยาธิ มรณะไปได้เสียแล้ว

เพราะผู้ต้นศาสนาทั้งหลายเหล่านั้น ศีล สมาธิ ปัญญาเป็นไปได้เพียงโลกิยวิสัย อย่างสูงก็พรหมโลกเท่านั้น ด้วยกำลังฌานโลกีย์ ไม่สามารถเป็นธรรมเบื่อหน่ายคลายเมา คลายกำหนัดได้ พอได้เป็นนิสัยได้เท่านั้น

แม้ผู้ถือศาสนาพุทธ แต่เจตนาเป็นเจ้าเรือน มุ่งปัจจัยสี่เป็นเจ้าใหญ่นายโตของเจตนา เป็นเจ้าเป็นจอมอยู่ ก็ไม่สามารถจะบรรลุพรหมจรรย์เบื้องต้นได้ในปัจจุบันชาติ คือพระโสดาบันได้เลย จะเดินจงกรมภาวนาตลอดคืนตลอดวัน อดข้าวอดอาหารจนขุมผมขุมขนหล่นก็ตาม ไม่ขึ้นถึงโสดาได้

ทั้งนี้เพราะเหตุใดเล่า

เพราะเหตุมุ่งลาภมุ่งอามิสภายนอกปิดประตูแล้ว แต่(จะ)พอเป็นนิสัยในชาติภพต่อ ๆ ไปนั้นได้อยู่

ข้อนี้นักปฏิบัติควรโอปนยิโก น้อมเข้ามาในใจตน ตรวจดูเจตนาตนให้แยบคายทั้งนั้น เว้นไว้แต่ไม่ต้องการพระอริยะในชาตินี้ ชั้นใดชั้นหนึ่ง หรือจนถึงที่สุดโดยด่วนเท่านั้น ผู้ไม่ต้องการโลกุตระกับผู้น้อยใจในสงสาร กับผู้หวังอามิสเป็นเจ้าหัวใจ ก็อันเดียวกัน
144#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 19:41 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
สติ ปัญญา เป็นอาจารย์

อนึ่ง อดีต อนาคตย่อมเป็นเมืองขึ้นของปัจจุบัน เพราะปัจจุบันเป็นผู้ส่งส่ายเอามาใช้ให้รู้ความหมาย เมื่อปัจจุบันเป็นโลกิยวิสัย อดีตอนาคตก็พลอยเป็นโลกิยวิสัยไปด้วย แต่อดีตอนาคตไม่มี มีแต่ชื่อและบัญชี เพราะล่วงไปแล้ว เพราะยังไม่มาถึง ดีก็ดีไปแล้ว ชั่วก็ชั่วไปแล้ว อนาคตเล่า ถ้าจะดี ก็ยังไม่มาถึง ถ้าจะชั่ว ก็ยังไม่มาถึง ปัจจุบันจิต ปัจจุบันธรรม เท่านั้น จะละเว้นได้ในทางที่ไม่ชอบ และก็จะปฏิบัติได้ในทางที่ชอบ ถ้าหากว่าคอยไปบดเอื้องอยู่แต่อดีต อนาคตเท่านั้น ก็ลืมโอปนยิโกมาในปัจจุบัน จิตใจก็ห่างเหินจากสมาธิและปัญญา

ผู้กำลังเดินมรรคภาวนายังไม่หลุดไม่พ้นจากความหลงของเจ้าตัวโดยสิ้นเชิงแล้ว ก็สงสัยลังเลในปฏิปทาของตน จับต้นชนปลายอยู่มั่วสุม เดี๋ยวก็กล่าวตู่ตน ว่ากรรมฐานแบบนั้นดี แบบนี้ดีอยู่อย่างนั้น

อุบายกรรมฐานวิธีใด ๆ ก็ตาม ถ้าไม่เคารพรักใคร่ปฏิบัติอาจารย์สติ อาจารย์ปัญญาในปัจจุบันแล้ว ย่อมเป็นไปไม่ได้เลย เว้นไว้แต่ท่านผู้พ้นไปแล้ว เพราะปัญญาองค์ท่าน แก่กล้าเหนือความหลงไปแล้ว ย่อมไม่ติดอยู่ในเงื่อนทั้ง ๓ ทั้งอดีต ทั้งอนาคต ทั้งปัจจุบันด้วย เพราะขาดจากอุปาทานในเงื่อนทั้ง ๓ ไปแล้ว ถึงจะเอามาใช้ตามชาวโลกนิยมพูดกัน ก็ใช้แบบไม่มีพิษเลย นกบินในอากาศวันยังค่ำไม่มีรอย มีดเฉือนน้ำวันยังค่ำไม่มีรอย

อดีต อนาคต ปัจจุบันเมื่อมีผู้เข้าไปสอดแทรกยึดถือเอาเป็นเจ้าของ ย่อมเป็นโทษในธรรมสุดท้ายของพระพุทธศาสนาทั้งนั้น เพราะมีวิญญาณปฏิสนธิสัมปยุตกันอยู่ มีทั้งเหตุ กรรม วิบาก สมดุลกันอยู่ในตัว ไม่มีอันใดก่อนอันใดหลัง

ผู้ไม่หนักในอานาปานสติพร้อมกับเจตสิกที่นึกคิดและผู้รู้ในขณะเดียวกันแล้ว จะเห็น จะรู้ตามเป็นจริงได้ยาก และจะไม่ยอมเชื่อได้ง่าย ๆ ในธรรมตอนนี้ เพราะเป็นธรรมอันละเอียดมากมายนัก จะเห็นจะรู้ได้บ้างแบบมัว ๆ เมา ๆ ก็เพียงแต่รูปขันธ์อันหยาบ ๆ เท่านั้น (ถ้า)ตายคารูปขันธ์ที่กำลังพิจารณาอยู่ มิได้ส่งลงถึงไตรลักษณ์ให้แจ้งชัดด้วยสติปัญญาอันชอบแท้ อย่างสูงก็ไปเกิดเป็นพรหมที่มีรูปเท่านั้น

จะอย่างไรก็ตาม ถ้าไม่มีญาณอันถ่องแท้รู้ปฏิบัติ รู้ชัด รู้ชอบในอนัตตาจิต อนัตตาธรรม อนัตตาผู้รู้รู้แล้วในขณะเดียว โดยมิได้ส่งส่ายหาแล้ว จะเบื่อ จะหน่าย จะคลาย จะหลุด จะพ้นจากความหลงโดยสิ้นเชิงย่อมเป็นไปไม่ได้

แต่การพิจารณาเลยครูเลยเถิดไป จนเห็นดิ่งลงไปว่าสูญไปหมดโดยมิได้ไว้หน้า ไม่มีขอบเขตเกินความเป็นจริงของธรรมแท้แล้ว ก็ย่อมตกนรกเป็นทิฏฐิมานะขุมดิ่ง ก็ไม่มีศาสดาใด ๆ จะสอนได้อีกละ เพราะคำว่าปัจจัตตัง ย่อมเอามาอ้างได้ทั้งโลกีย์และโลกุตระทั้งนั้น คำว่าอกาลิโกก็เหมือนกัน

อกาลิโกและปัจจัตตังของพระอรหันต์ เป็นธรรมอันไม่มีกิเลสสิง ต่ำกว่านั้นลงมาก็อ้างอกาลิโกและปัจจัตตังตามภูมิของตนได้ทั้งนั้น แม้ผู้เขาถือว่าไม่มีบาปไม่มีบุญ ไม่มีมรรค ผล นิพพาน อกาลิโกของเขา เขาก็อ้างได้ว่าไม่มีบาป ไม่มีมรรค ไม่มีผลอยู่ทุกกาล ตลอดถึงปัจจัตตังเขาก็อ้างได้ว่าเห็นและรู้เฉพาะตนเองอยู่ว่า ไม่มีบาป ไม่มีบุญ ไม่มีมรรค ผล นิพพานเลยดังนี้ ฉะนั้นการอ้างบาลีจึงเอาเป็นประมาณได้ยากนัก

เขาเอาทองเก๊ไปลวงคนโง่ว่าเป็นทองแท้ก็ได้ แต่ไม่อาจลวงผู้ที่รู้จักทองแท้ได้ง่าย ๆ เลย ธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนาแท้ มิได้ลวงโลก โลกลวงโลกต่างหาก กิเลสลวงกิเลสต่างหาก ขี้ขโมยลวงขี้ขมาย เวรสนองเวร ภัยสนองภัย ศีลสนองศีล สมาธิสนองสมาธิ ปัญญาสนองปัญญา นิพพิทาสนองนิพพิทา วิราคะสนองวิราคะ วิมุตสนองวิมุต วิสุทธิสนองวิสุทธิ นิพพานสนองนิพพาน (ไม่ต้องสงสัยในการสนองเลย) หลับตาเข้าก็สนองมืด ปรารภชั้นสูงชั้นต่ำปะปนกัน แกงหม้อใหญ่หรือเล็กผู้ฉลาดย่อมไม่รับกลืนทั้งก้างและกระดูก ย่อมเลือกรับเอา
145#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 19:41 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ผู้น้อมธรรมบูชากิเลส

เมื่อวัยชะแรแก่เรามาเท่าใดใกล้สิ้นลมปราณก็สนุกฟังเทศน์แห่งกองรูป นามขันธ์วิบาก แก่ เจ็บ ตายก็ไม่ลงธรรมาสน์ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณก็ไม่ลงธรรมาสน์ อนิจจตา ทุกข์ตา อนัตตตาก็ไม่ลงธรรมาสน์

อกาลิโกมีอยู่ทุกกาล เทศนอยู่ทุกกาล อริยสัจธรรมทั้ง ๔ ก็เทศน์อยู่ทุกกาล

ผู้ฟังเทศน์ตามเป็นจริง ปฏิบัติและพิจารณาตามเป็นจริง รู้ตามเป็นจริง พ้นจากความสงสัยตามเป็นจริงไปเป็นชั้น ๆ ก็มีอยู่ทุกกาล

ผู้ที่ถึงที่สุขทุกข์โดยชอบก็มีอยู่ทุกกาล

ตรงกันข้ามผู้ไม่อยากฟังเทศน์เสียเลยก็มีอยู่ทุกกาล

ผู้ยอมฟังเทศน์แต่น้อมธรรมลงมาบูชากิเลสของตัวก็มีอยู่ทุกกาล เช่น น้อมลงมาผูกเอาเลขเอาผา อันเห็นผิดเป็นชอบ เข้าข้างกิเลสของตัวก็มีอยู่ทุกกาล

ผู้ให้ทานรักษาศีลภาวนาเพื่อโลกีย์ก็มีอยู่ทุกกาล

ดอกบัว ๔ เหล่าก็มีอยู่ทุกกาล

อกาลิโกย่นลงมาโดยย่อมี ๒ โลกิยะหนึ่ง โลกุตระ ๑ ปัจจัตตังก็ย่นลงมาเป็น ๒ มีความหมายอันเดียวกัน สฺวากฺขาโต ภควตา ธัมโม ก็เหมือนกัน ธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงพระมหากรุณากล่าวดีแล้ว ทั้งโลกิยะ และโลกุตระ กล่าวตามชั้นปฏิปทาของมนุษย์และเทวดา มาร พรหมผู้ปฏิบัติอันเป็นฝ่ายเหตุฝ่ายผลของผู้ปฏิบัติ อันจะได้รับตามเหตุผลเท่าที่ตนสร้างขึ้นในมโนภาพ
146#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 19:41 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
อรหัตผล กับกรรมเก่า

ส่วนอรหัตผลเป็นผลขาดตอน มิได้โยงถึงเหตุ เพราะเหนือเหตุไปไกลแล้ว จะโยงคืนมาคลุกเคล้ากับเหตุมิได้ เพราะตัดสะพานกับเหตุอยู่ในตัวสิ้นเชิงไปแล้ว เหลือวิสัยไม่เป็นฐานะจะโยงคืนมาอาศัยเหตุ

อรหัตมรรค และต่ำกว่านั้นลงมา ยังอาศัยเหตุอยู่ แต่เหตุอรหัตมรรคเป็นเหตุละเอียดที่สุดในพระพุทธศาสนา ส่วนผลอันขาดตอนกับเหตุในอรหัตผลเล่า ก็เป็นผลอันละเอียดที่สุดในพระพุทธศาสนา ไม่เป็นหน้าที่จะมาเดาด้นคาดคะเนให้เป็นธรรมมัจฉากัจฉ้อ ตาดำตาแดงใส่กันเลย ผลของการปราศจากโลภ โกรธ หลงโดยสิ้นเชิงนี้เป็นปัจจัตตังและสันทิฏฐิโก สุดท้ายของพระพุทธศาสนา

ธรรมดามนุษย์ เทวดา มาร พรหม จิตใจและสติปัญญาอยู่ในระดับโลก ก็ยืนยันความเห็นของตนอยู่ในระดับนั้น จะปรารภออกมาหรือ ไม่ปรารภออกมา ก็ไม่เป็นปัญหา

แต่พระบรมศาสดามิได้รับรองโดยถ่ายเดียว ว่าบุคคลจะบริสุทธิ์ด้วยความรู้และความเห็น แต่ท่านผู้ใดปราศจากโลภ โกรธ หลงแล้ว ท่านผู้นั้นแหละเป็นผู้บริสุทธิ์โดยแท้

แต่โดยมากมักจะเอาความรู้และความเห็นของตน อันยังมีกิเลสอยู่ มาเป็นความบริสุทธิ์โดยสิ้นเชิง บาลีท่านยังมิได้อริยมรรค อริยผลชั้นใดชั้นหนึ่งเลยเถียงเอาก็มี เถียงเอาในทางตรงและทางอ้อมก็มี เพราะอยากได้ แต่ยังไม่ได้เลย แต่ก็ขึ้นอยู่กับกรรมและผลของกรรมอีกละ

กรรมและผลของกรรมเป็นของละเอียดมากนักหนาแท้ ๆ แม้พระอรหันต์(จะ)มีผลกรรมเก่าตามมาก็จริง แต่ปัจจุบันกรรมและอนาคตกรรมไม่มี ผลของกรรมเก่าตามมาถึง ก็พบแต่เรือนร้าง คือขันธ์ ๕ ล้วน ๆ และก็ไม่มีกิเลสยึดถือเอาเป็นเจ้าของอยู่ในเรือนว่างเปล่า คือขันธ์ ๕ นั้น เพราะเป็นขันธ์ที่ไม่มีเจ้าของหลง เพราะทอดบังสุกุลไปแล้ว คล้ายกับเอาไฟไปเผา น้ำลายที่เทออกจากกระโถนแล้ว เจ้าของน้ำลายย่อมไม่เดือดร้อนและไม่ผูกเวรผูกภัย
147#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 19:42 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ผู้ไม่ต้องระวังใจ

ผู้เขียนอยู่นี้ล่ะเป็นอย่างไรเล่า

ตอบว่า เขียนตามกายสังขาร วจีสังขาร จิตสังขาร จะเอาการเขียนการอ่านมาเป็นเครื่องบริสุทธิ์ หรือไม่บริสุทธิ์ก็ไม่ได้ เพราะความบริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์ ต้องอยู่ฟากการเขียนการอ่านย้อนหลังคืนมา มิได้ข้ามฟากไปหาอนาคต และอดีต แล้วแต่ศาลธรรมในปัจจุบันตรวจดู จะตรวจผิดตรวจถูก ก็ขึ้นอยู่กับศาลธรรมในปัจจุบันเท่านั้น ศาลอดีตก็ล่วงไปแล้ว ศาลอนาคตก็ยังไม่มาถึง ศาลปัจจุบันเท่านั้นจึงจะตัดสินได้ ถ้าหากว่าศาลปัจจุบันไม่ลำเอียงก็ตัดสินพอดีพองาม ถ้าหากว่าลำเอียงแล้วก็ตัดสินหย่อนบ้างเกินบ้าง ลำเอียงหมายความว่ากิเลสยังหลายอยู่ ปรมาณูของกิเลสย่อมดึงดูดไปไม่รู้ตัว

ธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นธรรมอันลุ่มลึกละเอียดมากกว่าศาสนาใด ๆ ทั้งสิ้น ผู้มีอำนาจวาสนาน้อย อินทรีย์ ๕ พละ ๕ ยังอ่อนอยู่ ย่อมเป็นไปได้ยาก

อินทรีย์ ๕ พละ ๕ นั้นท่านกล่าวไว้ว่า ธรรมอันเป็นกำลัง ๕ ประการให้สมดุลกันคือ

ศรัทธา เชื่อสิ่งที่ควรเชื่อเช่น เชื่อว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เชื่อว่าบาปมีบุญมี มรรค ผล นิพพานมี เป็นต้น เชื่อว่าศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีลมาในพระปาฏิโมกข์ หรือพุทธบัญญัติ และอภิสมาจาร ย่อมเป็นประโยชน์แก่ท่านผู้รักษาและประพฤติได้ ย่อมเป็นได้ทั้งโลกีย์และโลกุตระ ต้องขึ้นอยู่กับแต่ละรายของบุคคลตามเหตุผลเฉพาะส่วนตัวเป็นราย ๆ ไป แม้ศรัทธาเชื่อสิ่งที่ควรเชื่อก็เหมือนกัน เป็นได้ทั้งโลกีย์และโลกุตระ ขึ้นอยู่แต่ละรายของบุคคลอีก

วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ก็เหมือนกัน ที่เอาศีลมาแทรกเข้านี้เป็นโวหารพิเศษ ความหมายของพระพุทธศาสนาโดยมากถ้ากล่าวถึง ศีล สมาธิ ปัญญา แล้วจะถือเป็นกฎเกณฑ์เบื้องต้นของพระพุทธศาสนาได้ก็คือ ศีล สมาธิ ปัญญาของพระโสดาบันเป็นต้นไป เพราะเป็นศีล สมาธิ ปัญญา เข้าสู่โลกุตร ก้าวหน้า ไม่ถอยหลัง ไม่วนเวียนเหมือนศีลสมาธิ ปัญญาของโลกียวิสัยเพราะข้ามโคตรโลกิยะแล้ว ไม่สงสัยในปฏิปทาทางดำเนินของตน

มีปัญหาว่าพระอรหันต์เล่า จัดเป็นศีล สมาธิ ปัญญา ได้หรือไม่

ตอบแบบติดไม่คาว่า จัดเป็นมหาวิมุตติศีล มหาวิมุตติสมาธิ มหาวิมุตติปัญญา แต่มิได้เรียงแบบ กลมกลืนกันอยู่ในขณะเดียวทุกอิริยาบถของจิตใจ มิได้รักษาลำบากเหมือนผู้คุมคุมนักโทษ เพราะเจอของที่ไม่มีโทษเจือเลยแม้แต่นิดเดียว ผู้เตรียมระวังอยู่ กับ ผู้ยังมีโทษอยู่ ก็มีความหมายอันเดียวกัน ผู้มีใจที่ไม่มีโทษแล้วจะระวังใจทำไม แต่เมื่อยังไม่ถึงพระอรหันต์ก็ต้องระวังใจอยู่ ถ้าไม่ระวังมันก็ผิดจริง ๆ ไม่น้อยก็มาก

ตา หู จมูก ลิ้น กาย รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะไม่สำคัญเท่าใดนัก เพราะเป็นหน้าที่ส่งเมล์เข้ามาสู่เมืองใจ ใจผู้ตรวจเมล์เป็นตัวสำคัญ เมื่อรับทราบแล้ว ใจโอนเอียงไปทางไหนเล่า ใจต้องตรวจดูใจทั้งเหตุผลโดยเฉพาะใจให้แยบคาย ใจอย่าตื่นว่าเป็นเมล์ใหม่ก็แล้วกัน คือเมล์เก่าเรื่องเก่าที่เคยส่งเข้ามาประจำเป็นนิจวัตรนั้นเอง

ถ้าใจต่ำ รับเมล์แล้ว ก็รักบ้าง ชังบ้าง เฉยบ้าง คำว่า เฉย แปลว่าเมล์ที่ไม่น่ารัก เมล์ที่ไม่น่าชัง

ใจชั้นสูงก็เป็นแต่สักว่ารู้ เป็นแต่สักว่าเห็น (รู้ในที่นี้หมายความว่ารู้ด้วยปัญญา เห็นในที่นี้หมายความว่าเห็นด้วยปัญญา)

ส่วนใจชั้นกลาง สติปัญญาชั้นกลางก็สารพัดจะน้อมลงสู่ตามสติปัญญาของตน ๆ ตามอิสระเท่าที่เห็นสมควร เพราะนานาจิตตัง นานาธัมมัง

ท่านผู้ไม่ติดอยู่ในจิต ไม่ติดอยู่ในธรรม ไม่ติดอยู่ในผู้รู้นั้นคือพระอรหันต์ เพราะรู้เท่าจิต รู้เท่าธรรม รู้เท่าผู้รู้โดยแท้จริงแล้วจิตก็ดี ธรรมก็ดี ผู้รู้ก็ดี จึงไม่มีพิษ ไม่เป็นปัจจัยส่งต่ออะไร ๆ ให้เป็นไปในอนันตรเหตุ อนันตรผลอันเป็นสหชาติให้วนเวียนในสังสารวัฏ
148#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 19:42 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
อวิชชาตัวโง่ ๆ หลง ๆ ถูกทำลายไปด้วยมรรคปัญญาญาณอันถ่องแท้ เป็นมหาสัมมาวิมุตติ เป็นมหาสัมมาญาณสามัคคี กลมเกลียวดึงดูดกันทันเวลาในขณะเดียวโดยมิได้ส่งส่ายร้องเรียกหา ชนะสงครามโลกหลงด้านภายในที่เคยดองขันธสันดานมาไม่มีประตูไม่มีเวลาจะขบถคืนได้ เรียกว่าชนะสงครามอวิชชาก็ได้ไม่ผิด

สังขาร วิญญาณ นามรูป อายตนะ ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ ชรา มรณะ โสกะปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส อุปายาส ไม่ต้องกล่าวพรรณนาเรียงแบบไปก็ได้ ไม่ต้องสาวไป ไม่ต้องสาวกลับ เป็นอนุโลมเป็นปฏิโลมก็ได้ เพราะตัดในระหว่างไหน ๆ (ถ้า)ขาดแล้ว(เป็น)ใช้ได้ทั้งนั้นแหละ เพราะเหตุว่าเป็นเชือกเส้นเดียวกัน เป็นบ่วงอันเดียวกัน เป็นลูกโซ่อันเดียวกัน ที่เกี่ยวข้องติดโยงกันเป็นวงกลม ตัดขาดที่ไหนใช้ได้ทั้งนั้น แก้ได้ทั้งนั้น หลุดไปได้ทั้งนั้น พ้นไปได้ทั้งนั้น ไม่สงสัย

ยินดีในปัจจุบัน คือ ปฏิบัติถูกทาง

บางท่านกล่าวว่า ข้าพเจ้าเบื่อชอบแล้ว หน่ายชอบแล้ว พ้นชอบแล้ว ในเรื่องอดีต อนาคตนี้ แต่ทุกวันนี้อาศัยอยู่แต่ในปัจจุบันเท่านั้นดังนี้ก็มี

แต่ข้าพเจ้าผู้เขียนเข้าใจว่า ผู้ยินดีในปัจจุบัน แปลว่าเป็นผู้ปฏิบัติถูกทาง เดินมรรคภาวนาถูกทาง แต่ยังมิได้หลุดพ้นถึงขั้นอรหันต์ เป็นเพียงเดินมรรคใดมรรคหนึ่งอยู่เท่านั้น และได้รับผลใดผลหนึ่งอยู่ในตัวเท่านั้น ยังมิใช่อรหัตผล เป็นเพียงได้ดื่มปีติความอิ่มใจที่พอใจในสมถะและวิปัสสนาในปัจจุบัน แล้วหลงยึดถือเอาปัจจุบันเป็นพระนิพพาน

ปัจจุบันมิได้เป็นพระนิพพาน เป็นเพียงทางเดินเข้าสู่พระนิพพานเท่านั้นเอง ด้วยอำนาจมรรคสามัคคี มรรคสามัคคีกับศีล สมาธิ ปัญญารวมพลกันในขณะเดียวกันไม่มีอันใดก่อนไม่มีอันใดหลัง ในชั้นติดอยู่ในปัจจุบันจิต ปัจจุบันธรรมนี้ มิใช่เดินทางถึงปลายทางแล้ว เป็นเพียงใช้คำว่าเดินถูกทางเฉย ๆ

ท่านผู้ถึงอรหัตผลแล้วมิได้ติดข้องอยู่ในอดีต อนาคตหรือปัจจุบันหรือสูญ ๆ สาญ ๆ หรือไม่สูญไม่สาญหรืออะไร ๆ ใด ๆ ทั้งสิ้น ถ้าหากว่าติดอยู่เงื่อนใดเงื่อนหนึ่งแห่งปัจจุบันแล้ว วิญญาณปฏิสนธิก็มีเกิดมีตายอยู่ในปัจจุบันจิตปัจจุบันธรรมนั้นเอง

ความทะเยอทะยานในปัจจุบันจิตปัจจุบันธรรม เป็นสมุทัยและตัณหาอันละเอียดมาก เมื่อเป็นตัณหามันละเอียดก็เป็น อุปาทาน ภพ ชาติ ชรา มรณะ ฯลฯ อันละเอียดอยู่ในตัวด้วยไม่ต้องจำกล่าวไปใยก็ได้

เหตุไฉนจึงติดอยู่ในปัจจุบัน จนลืมตัว จนสำคัญตนว่าตนพ้นไปแล้วโดยสิ้นเชิง เพราะเหตุว่า สำคัญตนเป็นปัจจุบัน และ สำคัญปัจจุบันว่าเป็นตน ใน ๒ แง่นี้ แล้วก็แตกแยกออกไปอีกเป็นอีก ๒ แง่รวมเป็น ๔ คือ สำคัญว่า ผู้อื่นเป็นปัจจุบัน สำคัญว่า ปัจจุบันเป็นผู้อื่น

เมื่อสำคัญว่าตนมีอยู่ในปัจจุบัน สำคัญว่าปัจจุบันมีอยู่ในตน แล้วจะไม่หลงไปยึดถืออดีต อนาคตว่าเป็นตัวตนเราเขาสัตว์บุคคลนั้นเป็นไม่มีเลย เป็นเพียงสติปัญญาไม่กล้า แล้วก็เข้าใจผิดฟิตตัวขึ้นว่าละได้แล้วเรื่องอดีตอนาคต ความสำคัญตัวย่อมเป็นรากเหง้าของกิเลสอยู่โดยตรง ๆ แล้ว จะปฏิเสธไปไหนก็ไม่รอดได้เลย

อดีต อนาคต ปัจจุบันก็คล้าย ๆ กับปลาตัวเดียวกัน แต่หัวและหางไม่กิน เพราะไม่อร่อย แต่เป็นยาเสพติด มากินพุงของมันที่ตรงกลางตัวแล้วจะยืนยันว่าเราไม่กินปลาตัวนั้นดอก ดังนี้ก็ไม่พ้นตกอยู่แบบฉลาดแต่แกมโกงซึ่ง ๆ หน้า ท่านผู้ทรงคุณปัญญาคมคายชำแรกกิเลส ย่อมรู้ได้ไม่ต้องดำดินบินบน เหมือนนกและปลาไหล ก็รู้ได้ไม่ค่อยผิด

ปัญญาย่อมเป็นนายหน้าของธรรมทุกประเภท ทั้งที่เป็นโลกิยะและโลกุตระ ทางโลกีย์หยาบ ๆ ที่เป็นนายหมวด นายพรรคนายพวก นายพัน นายพลเป็นต้น ต้องเอาผู้ฉลาดเป็นหัวหน้า ทางพุทธศาสนาว่าบัณฑิต ปัณฑิตา ปรินายกา บัณฑิตเท่านั้นจึงควรเป็นหัวหน้าของกาย วาจา คือใจที่ประกอบด้วยปัญญา นัตถิพาลา ปรินายกา คนพาลมิควรเป็นหัวหน้า ใจที่เป็นพาลไม่ควรเป็นหัวหน้าของกาย วาจา นี้น้อมเข้ามาในฝ่ายปฏิบัติทางธรรมปรมัตถ์ เพื่อให้รู้ชัดปฏิบัติสะดวกเป็นโอปนยิโกไม่ส่งส่ายหนีหลักเดิม
149#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 19:42 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
การนึกคิดทั้งปวงออกไปจากคอกใจ ต้องกลับเข้าคอกใจ ใครเป็นเจ้าของใจ ใจที่มีกิเลสย่อมยึดถือเอาใจเป็นตน ตนเป็นใจ ใจที่ไม่มีกิเลสสิงจะบัญญัติและไม่บัญญัติก็มิได้ติดอยู่ในเงื่อนใด ๆ ทั้งสิ้น นี่ธรรมในพระพุทธศาสนาลึกซึ้งเพียงใดเล่าโลกาเอ๋ย เหตุนั้นพระบรมศาสดาตรัสรู้ใหม่ ๆ จึงใช้กิริยาระอา(ที่)จะสั่งสอนโลก และเป็นธรรมเนียมของพระพุทธเจ้าทั้งหลายต้องใช้กิริยาอย่างนั้นก่อน จึงเป็นเหตุให้พรหมได้อาราธนาตามธรรมเนียม

ธรรมเนียม กับ ธรรมวินัย

ธรรมเนียม อ่านว่าธรรมเนียม ธรรมเนียมนี้ว่าโดยย่อแบ่งออกเป็น ๒ เป็นโลกิยธรรมเนียม เป็นโลกุตรธรรมเนียม

สัมมาสัมพุทธธรรมเนียม ปัจเจกพุทธธรรมเนียม สาวกธรรมเนียม สาวิกาธรรมเนียม โสดาปัตติมรรคโสดาปัติติผลธรรมเนียม สกทาคามิมรรคสกทาคามิผลธรรมเนียม อนาคามิมรรคอนาคามิผลธรรมเนียม อรหัตมรรคอรหัตผลธรรมเนียม จะธรรมเนียมใด ๆ ก็มีธรรมวินัยเป็นประมาณขอบเขตไม่เลยเถิด เพราะอยู่ระดับธรรมวินัยเป็นชั้น ๆ ของภูมินั้น ๆ ไม่ได้เอากิเลสเป็นนายหน้านายกของธรรมเนียมเพราะเข้าสู่โลกุตรธรรมเนียมแล้ว

โลกิยธรรมเนียมนั้นเอาเป็นประมาณไม่ได้ หมู่มากลากไปทางธรรมเนียมผิดก็มี หมู่มากลากไปทางธรรมเนียมถูกก็มี หมู่น้อยลากไปทางธรรมเนียมถูกก็มี หมู่น้อยลากไปทางธรรมเนียมผิดก็มี เพราะทางโลกิยวิสัยเลือกเฟ้นธรรมวินัยมาเป็นอาจารย์ยังไม่สันทัด ยังบกพร่องทางเหตุผลอยู่

บางทีเหตุชั่วแท้ ๆ บัญญัติเอาดื้อ ๆ ว่าเหตุดีก็มี เช่น เหตุแห่งอบายมุขทุกประเภทเป็นต้น เป็นเหตุแห่งฉิบหายโต้ง ๆ ไม่มีศาลอุทธรณ์เลยในทางธรรมวินัย แล้วบัญญัติเอาดื้อ ๆ ว่าเป็นทางเจริญแห่งโภคทรัพย์ ก็ไม่ผิดแปลกจากบัญญัติว่า กงจักรเป็นดอกบัว แล้วเอื้อมมือเข้าไปจับ มือก็ขาด แล้วก็ไม่รู้ตัวเลยว่ามือขาด เพราะเข้าใจผิดว่ากงจักรเป็นดอกบัว โลกิยวิสัยย่อมเป็นกันอยู่อย่างนี้เป็นส่วนมาก

ฉะนั้นพระบรมศาสดาจึงลงทุนลงแรงสร้างบารมีมาในสงสารอเนกปริยาย เพื่อขนรื้อเอาสัตว์ออกจากความเข้าใจผิด ที่เห็นผิดเป็นชอบ เพื่อให้เห็นชอบเป็นชอบตรงกับเหตุตรงกับผล ด้วยทรงพระเมตตาอันหาประมาณมิได้ ด้วยทรงพระมหากรุณาดังสาครอันหาประมาณมิได้เลย ถึงกระนั้นก็รื้อได้ขนได้เท่าเขาโคเท่านั้น ส่วนขนโคนั้นรื้อไม่ได้ มอบไว้ให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าในอนาคตต่อไปตามกรรมและผลของกรรมของสัตว์โลกแต่ละรายเป็นยุค ๆ และสมัย
150#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 19:43 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ทำดี ทำชั่ว ไม่ล้าสมัย

เขียนทั้งต่ำ ทั้งสูง ทั้งลึก ทั้งตื้นปะปนกันไป เมื่อมีเวลาชีวาทรงอยู่ ก็เขียนซะซ้ำซากตามประสาของผู้รู้งู ๆ ปลา ๆ ล้าสมัย แต่ก็ไม่มีท่านผู้ใดล้าสมัยเลยในโลกนี้ ถ้าทำดีก็ไม่ล้าสมัยในทางดี ถ้าทำชั่วก็ไม่ล้าสมัยในทางชั่ว ถ้าพ้นจากกิเลสโดยสิ้นเชิงแล้วก็ไม่ล้าสมัยจากพระอรหันต์ ไม่ล้าสมัยทั้งเข้าสู่อนุปาทิเสสนิพพานด้วยการไม่ล้าสมัย ก็ไปจบกันในที่นั้น ต่ำกว่านั้นลงมา การไม่ล้าสมัยขึ้นอยู่กับเหตุผลทางดีและทางชั่วที่สร้างขึ้น

หันย้อนคืนมาปรารภเจตนาของผู้ปฏิบัติพระพุทธศาสนาย่นลงมามี ๒ เจตนา คือ เจตนาโลกิยะหนึ่ง เจตนาโลกุตระหนึ่ง

เจตนาก็ดี ความประสงค์ก็ดี ความต้องการก็ดี ความหมายก็ดี ความอธิษฐานก็ดี ความหวังก็ดี ก็มีความหมายแห่งใจความและรสชาติอันเดียวกัน จะผิดกันบ้างก็แต่ต้องการช้าหรือเร็วเท่านั้นแหละ

เจตนาโลกุตระก็แจกออกไปหลายประเภท

ประเภทที่ ๑ เจตนาพุทธภูมิ ออกปากบ้างไม่ออกปากบ้าง ได้รับลัทธพยากรณ์บ้าง ยังมิได้รับบ้าง ตามเหตุผลที่ได้สร้างมาน้อยและมากในปุเรชาติ

เป็นศรัทธาธิกะบ้าง ปัญญาธิกะบ้าง วิริยาธิกะบ้างตามเจตนาที่ชอบของตน พุทธภูมิจำพวกที่ได้รับลัทธพยากรณ์แล้วจึงเป็นการแน่นอนได้ ไม่มีเจตนาเปลี่ยนแปลงไปทางอื่น ต่ำกว่านั้นลงมาในพวกปรารถนาพุทธภูมินี้สามารถเปลี่ยนแปลงเจตนาของตนไปทางอื่นได้ เช่น เจตนาเปลี่ยนแปลง ลงมาเป็นปัจเจกภูมิ หรือสาวกภูมิก็อาจเป็นได้ ไม่แน่นอนได้เลย

บางจำพวกเมื่ออุปสมบทแล้ว ออกปฏิบัติเบื้องต้นก็เจตนาว่าจะปฏิบัติเพื่อพ้นทุกข์ในปัจจุบันชาตินี้ แต่เมื่อปฏิบัติไป ๆ ก็คลายออกเพราะเห็นว่าคงไปไม่รอด แล้วพลิกใจใหม่ว่าจะปรารถนาพุทธภูมิดังนี้ก็มี แล้วลาสิกขามาสู่ฆราวาสก็มี และไม่ลาก็ยังเป็นเพศบรรพชิตอยู่ จำพวกนี้ข้าพเจ้ายังไม่เข้าใจดี พิจารณายาก ขอฝากไว้ให้ท่านผู้รู้ทั้งหลายอธิบายให้ฟังแล
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้