ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

~ หลวงปู่หล้า เขมปตฺโต วัดบรรพตคีรี(วัดภูจ้อก้อ) ~

[คัดลอกลิงก์]
131#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 19:19 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
วิเวกภูเก้า

ฝ่ายข้าพเจ้านึกในใจทวนไปมารอบ ๆ ด้านสารพัดว่า การไปคราวเดียวกันหลาย ๆ องค์ ยังไม่ได้ที่พักที่อยู่นี้ (เราเคย)ได้ถูกมาแล้วในคราวไปภูเก็ต พังงา เดี๋ยวนี้(ก็)ตกอยู่ในระหว่างไม่สะดวกอีกละ อยู่ก็ไม่สะดวก ไปก็ไม่สะดวก และอายุของเราก็เข้าเกณฑ์ ๔๐ แล้ว เราจำพรรษาอยู่นี่อีกปีหนึ่งเป็นหมู่ท่านอาจารย์สมเสียก่อน เราจึงยกธงตั้งใจไปองค์เดียวที่ภูเก้า

ตกลงใจได้แล้วก็อยู่ต่อ แต่ไม่พูดให้ท่านผู้ใดฟัง แล้วองค์ท่านพระอาจารย์มหาก็เตรียมตัวไปพักอยู่มุกฯ หมู่ก็ทยอยไปอีก ยังเหลืออยู่ ๖ องค์เท่านั้น แล้วองค์พระอาจารย์มหาก็ไปบวชโยมมารดาที่อุดรฯ แล้วลงไปจันทบุรี ไปตั้งวัดอยู่ใกล้สามแยกสีพลิ้ว คณะญาติอาจารย์เจี๊ยะถวายที่ดิน ออกพรรษาแล้ว โยมมารดาขององค์ท่านชวนกลับ แล้วตั้งวัดอยู่บ้านตาดปัจจุบัน

ส่วนข้าพเจ้า จำพรรษาอยู่กับครูบาสม วัดป่าบ้านห้วยทราย อีกพรรษาหนึ่งจึงรวมเป็นอยู่นั้น ๔ ปี มีพระ ๖ รูป เสร็จกฐินแล้ว เสร็จจีวรกาล เดือนพฤศจิกายน ข้างแรม ก็ลาครูบาสมและญาติโยมไปพักภูเก้า มูลค่าบาทเดียวก็มิให้โยมส่ง เอาไม้ขีดไฟไป ๕ กลักเท่านั้น บริขารก็ตัดออกเอาแต่พอดี

ทันได้อยู่ในภูเก้าองค์เดียว ๕ เดือน ก็มีโยมพ่อตาลไปบวชเป็นปะขาวด้วย ใกล้จะเข้าพรรษาก็มีโยมเข้าไปบวชเป็นปะขาวอีก เมื่อมีปะขาวมาแล้วก็ได้ตั้งกฎไว้ว่า

“อย่าไปหุงต้มอาหารใด ๆ เลย บิณฑบาตมาเลี้ยงกันตามบุญตามกรรม ธรรมชาติเห็ดก็ดี หน่อไม้ก็ดี ไม่ต้องเป็นกังวล เพราะเราออกจากครูบาอาจารย์มาใหม่ ๆ ชาวโลกที่อยู่ใกล้ก็จะมองไปในแง่ร้ายว่า ออกมาจากครูบาอาจารย์มาไม่กี่วัน ก็มาแอบกินกับตาปะขาว หุงต้มหน่อไม้และแกงเห็ดแกงหาวกินตะพึดปีนเกลียวมาก ส่วนบาตรนั้นอาตมาจะล้างเองตากเอง พวกปะขาวเฒ่าสองคน ให้พากันปัดกวาดศาลาและล้างถาดตอนฉันเสร็จ ส่วนตราดนั้นกวาดช่วยกันทุก ๆ คนลงไปจนถึงบ่อน้ำทุกวัน ส่วนรับบาตรนั้นให้เปลี่ยนกันไปรับ วันหนึ่งคนหนึ่ง ผลัดกัน อาตมามิได้มอบบาตรให้หมด คือให้สานตะกร้าทำเป็นสายสะพายหรือคอนเอา ข้าวและอาหารในบาตรจะแบ่งออกให้สองส่วน เหลือไว้ในบาตรส่วนหนึ่ง อาตมาก็จะสะพายเอง แบ่งเบากันจึงจะไม่หนักมาก ส่วนเวลาฉันเราจึงตรวจดูกันอีกว่าใครได้อะไร ไม่ได้อะไร เท่าที่ได้มาแต่ละวันอันบริสุทธิ์ตกในบาตรแล้ว ส่วนผมนั้นต้องโกนหมด ทุกคนนุ่งขาว ส่วนเงินที่ได้มาทีละ ๕ บาท ๖ บาทนั้นให้ชาวบ้านเก็บไว้คือ พ่อบี้ พ่อแหลม ไม่ให้มีอยู่ในตัวสักตังค์เลย ให้ตั้งใจภาวนา”

ข้าพเจ้ายังไม่ทิ้งตักน้ำเลยยังคอนอยู่โชกโชน เสือ ๆ แส ๆ กวาดตราดอยู่ใกล้ ๆ มันก็ร้องอยู่สบาย ใกล้ ๆ ได้ยินเสียงกวาดอยู่ มันไม่กลัว ลิงมีตั้งฝูงละ ๑๐๐ ตัวมันไม่กลัวเลย งูใหญ่ได้ยินแต่เขาว่ามันอยู่รูขี้หินลึกตามแหง (รอยแตก) เข้าไปในภู แต่งูเล็กขนาดแขนหรือเล็กกว่านั้นมีมากในฤดูฝน มันออกตกตูมมาจากหน้าผาบ่อย ๆ เขาว่ามีเปรตมีผีแต่ไม่ปรากฏ ไม่เหมือนถ้ำพระเวส นาแก

ขณะที่อยู่ภูเก้านี้ได้เป็นไข้ป่วยอยู่ ๕, ๖ วัน ขณะที่อยู่องค์เดียวยังไม่มีตาปะขาว ไปบิณฑบาตไม่ได้ ๓, ๔ วัน อาเจียน นายจูเที่ยวไปส่งอาหาร แต่ไม่ให้นอนเฝ้า โยมพ่อแหลม แม่แหลมมีศีล ๕ เป็นประจำ พ่อบี้แม่บี้ก็มีศีล ๕ เป็นบางวาระ บ้านโคกกลางทุก ๆ ท่านก็พอเป็นไป บ้านเหล่า บ้านหลุบปิ้ง บ้านแวง

สายของแม่ตาลพ่อตาล ย่าเคี้ยว แม่มุ้ย ย่าเคี้ยวเป็นนายหน้าในวงศ์นี้ พ่อทองเขียน แม่ออกสร้อย พ่อออกอาจารย์พันเป็นต้น เป็นกลุ่มบ้านเหล่า

พ่อออกขุนอินทร์ แม่ออกแพง เป็นกลุ่มบ้านหลุบปิ้ง

โยมบ้านโคกกลาง แม่ไชย ครูอุ่น ผู้ใหญ่ทอง นายกระษิณ นายศรี น.ธ.เอก แม่สุ่ย ต่างก็ได้ให้บิณฑบาตและอะไร ๆ ตามสามารถแต่ละท่าน ๆ และก็พ่อออกแพง แม่ออกแพง และนางแพงเล่าก็เป็นวงศ์สำคัญอีกวงศ์หนึ่งในโคกกลาง

แต่ขออภัยที่ไม่ได้ลงชื่อหมด คือเอาแบบรวบรัด ว่าจะออกซื่อหรือไม่ออกชื่อก็ตาม เมื่อทำดีแล้วผลของการทำดีย่อมไม่ได้ต้อนเข้าคอกยากเหมือนโคและกระบือ ผลของความดีความชั่วย่อมเข้ามาเองสู่คอกใจไม่ยาก
132#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 19:19 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
การพักปฏิบัติธรรมอยู่ภูเขาลูกนี้ก็อัตคัดทางน้ำบ้าง ชะรอยจะเป็นด้วยมิได้สร้างบารมีที่เกี่ยวกับน้ำ ๆ มาแต่ภพก่อน ๆ ก็อาจเป็นได้ และคงเป็นผลของกรรมในปัจจุบันชาติ เมื่ออยู่ฆราวาสได้ไขน้ำและวิดน้ำออกจากห้วยหนองคลองบึงต่าง ๆ เพื่อเก็บเอาตัวปลามาบูชาพญาลิ้นพญาท้องพญาไส้ก็อาจเป็นได้ หรือด้วยทางขุดน้ำบ่อ ก่อศาลาไม่ค่อยเอาใจใส่ ถือว่าเป็นงานไม่สำคัญ ก็เลยได้รับอานิสงส์จำเป็นไม่สะดวกทางน้ำ ๆ และเสนาสนะเสีย แต่ก็สมน้ำหน้าที่ตนสร้างไว้ไม่ดี จึงเป็นผู้มีลาภน้อย โดยประการทั้งปวง

มิได้เอาลาภไปพระนิพพานก็จริง แต่ปัจจัย ๔ เป็นลาภทางอนุศาสน์ของพระวินัย เพื่อเป็นเครื่องอาศัยของบรรพชิต เพื่อประพฤติพรหมจรรย์ให้สะดวกให้เจริญได้ ถึงแม้จะสอนมิให้ติดอยู่ในปัจจัย ๔ ก็จริง แต่ก็ต้องได้อาศัยที่มีมาโดยเป็นธรรมอยู่ มีน้อยก็ได้อาศัยน้อย มีมากก็ได้อาศัยมาก จะประมาทก็ไม่ได้อีก

เมื่อเห็นท่านผู้มีลาภมาก (และ)ได้มาโดยเป็นธรรม ก็มีความริษยาเสีย เห็นท่านผู้มีลาภน้อย แต่ได้มาโดยเป็นธรรม ก็ดูถูกว่าเป็นผู้มีลาภน้อยกว่าตน เมื่อผ่านพบเข้าก็ถือตัวขี้โอ่ ไม่อยากพูดอยากถามด้วย เป็นเรื่องที่ไม่รู้จักลาภทั้งนั้น เพราะหลงลาภหลงยศและไม่เป็นผู้รู้ธรรมด้วย เป็นผู้ไม่ถึงธรรมด้วย เป็นผู้ไกลพระนิพพานด้วย มักจะเห็นอยู่เป็นส่วนมาก

พักอยู่ภูนี้ก็ได้ปฏิบัติมีเวลาพอควร ฉันเช้าเสร็จเก็บบริขารเรียบร้อยก็ได้เดินจงกรมจนถึงเที่ยงวัน ภาวนาติดต่อไม่ค่อยขาดวรรคตอน แม้กวาดลานวัดก็ภาวนาพร้อมกับความเคลื่อนไหวของกายที่กำลังกวาด ที่เงื้อมือกวาดไปกวาดมา ก้าวขาไปมาก็ภาวนาพร้อม

เวลาลงไปตักน้ำบ่อหิน ไกลจากที่พักประมาณ ๑๕ เส้น ได้เอาครุหรือปี๊บไปวางไว้พร้อมทั้งไม้คอนน้ำ(ห่างไป)ประมาณ ๑๕ วา แล้วจึงคืนมากวาดไปจนถึงที่วางปี๊บไว้กับไม้คอนน้ำ แล้ววางตราดไว้ที่นั่น แล้วเอาปี๊บกับไม้คอนน้ำไปวางไว้ที่ข้างหน้าเป็นระยะ ๆ จนถึงบ่อหิน สรงน้ำ แล้วตักน้ำ แล้วคอนน้ำ เอาตราดคือไม้กวาดขึ้นข้างบนบ่า รวมกันกับไม้คอนน้ำ ค่อยปีนขึ้นตามทางที่กวาดแล้ว มาหาที่พักประจำเวลาบ่าย ๓ โมงทุกวัน ส่วนบริเวณที่พักก็กวาดทุกวันเหมือนกัน

สมัยทุกวันนี้ถือกันว่าวาสนามากกว่าคนยุคเก่า น้ำจะเปิดก๊อกที่ไหนก็ได้ทั้งนั้น กลางป่าก็สนุกนอน ลุกขึ้นแล้วก็ขบขามป้อมสมอกร๊อบ ๆ ตลอดถึงเครื่องดื่มอะไร ๆ ก็ไม่อด ทันสมัยมาก โทรทัศน์ พัดลม รถแลนด์ รถเบ๊นซ์ โตโยต้า ดัทสัน ทันสมัยทุกประการ อากาศของข้าดีมาก อากาศก็เลยเถิดกลายเป็นเฝ้าอากาศทวารหนักทวารเบาเขาเป็นส่วนมาก ผู้เขียนเขียนไว้เตือนตนต่างหาก ท่านผู้อ่านท่านผู้ฟังอย่าโกรธเน้อ ถ้าจะเอาโกรธไปพระนิพพานด้วยก็จงหาบเอาแบกเอาไปให้พอใจ เพราะไม่ได้ซื้อไม่ได้ขอกับใคร ๆ เป็นของทิพย์แบบสด ๆ ร้อน ๆ ถ้าผู้เขียนกิเลสมากผู้อ่านผู้ฟังก็จงหัวเราะเยาะเอาเทอญ ถ้าถูกก็มอบไว้กับมรรคและนิโรธเสีย ถ้าผิดก็มอบไว้กับสมุทัยและทุกข์ ไม่เป็นหน้าที่ของผู้เขียนและท่านผู้อ่าน ท่านผู้ฟังผู้พิจารณาจะไปเป็นสงครามความเห็นความรู้กับปัญหาเสียสมอง เป็นปัญหาเสียสติเสียปัญญาเสียใจเสียธรรมแต่ละรายของเจ้าตัวเอง
133#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 19:19 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ลัทธิพิสดาร

สมัยข้าพเจ้าอยู่ภูเก้าเบื้องต้น ข้าพเจ้าอยู่องค์เดียว ๕ เดือน ได้มีโยมคนหนึ่งขึ้นไปหาข้าพเจ้า อายุประมาณ ๓๐ ปี เป็นคนรูปร่างขนาดกลาง ในสมัยนั้นเขามาหาถ่ายรูป เขาเลยขึ้นไปหาข้าพเจ้า เมื่อขึ้นไปหาแล้วจึงชักชวนข้าพเจ้าว่า

“ญาครู ญาครู จะพูดอันหนึ่งให้ฟังจะเอาด้วยไหม”

ข้าพเจ้าก็เลยบอกว่า “เออ เอาไม่เอาก็ขอให้จงพูดไปเสียก่อน อย่าเพิ่งเร่งรีบมาข่มเหงนัก ให้อาตมาฟังเสียก่อน”

เขาจึงพูดไปว่า “เอา ตั้งใจฟังให้ดี จะพูดให้ฟัง ศาสนาไม่มี พ่อแม่ก็ไม่มี คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่มี ทำการทำงานได้แล้วให้ทำขึ้นสู่รัฐบาล ไม่ให้มีกรรมสิทธิ์ส่วนตัว ให้แต่พอเพียงได้กินได้อยู่ ทำงานให้รัฐบาลหมด ให้คนเสมอกัน ญาครูจะยินดีด้วยไหม”

ข้าพเจ้าเลยบอกว่า “ยินดีไม่ยินดีก็ขอให้จงพูดไปก่อน อาตมาจะฟัง อย่าเพิ่งเร่งเพิ่งรัดมากนัก”

เขาจึงพูดต่อไปว่า “ไม่ให้มีผู้ใหญ่ ไม่ให้มีผู้ต่ำ ไม่ให้มีผู้สูง ให้เสมอกันหมด เงินเดือนให้เท่ากัน มีความสุขเสมอกันหมด มีลูกออกมาให้รัฐบาลเอาไปเลี้ยงไม่ต้องลำบาก ของถ้าหากได้มา ก็ให้เอาขึ้นรัฐบาลหมด ไม่ให้ผู้หนึ่งผู้ใดเป็นเจ้าของ ให้แต่พอกินพอใช้ ให้คนเสมอกัน ไม่ให้มีชั้นวรรณะ ให้เป็นนายเหมือนกันหมด ถ้าหากเป็นลูกน้องก็ให้เป็นถูกน้องเหมือนกันหมด ถ้าจะเรียกว่าลูกน้องก็ให้เรียกว่าลูกน้องเหมือนกันหมด ถ้าจะเรียกว่านาย ก็เรียกว่านายเหมือนกันหมด ไม่ให้มีผู้ใดเป็นใหญ่ให้เสมอกันหมด ศาสนาไม่มี ญาครูเห็นดีด้วยไหม คุณพ่อคุณแม่ไม่มี ท่านเลี้ยงมาเป็นเรื่องของท่าน ท่านเป็นผู้ทำออกมาท่านก็ต้องเลี้ยง บาปไม่มี บุญไม่มี บุญก็คือกินได้นอนหลับนั่นเอง จะเอาด้วยไหม”

ข้าพเจ้าเลยบอกว่า “เออ หมดแล้วหรือยัง ถ้าหากหมดแล้วอาตมาจะตอบ ถ้าหากว่ายังไม่หมดให้พูดต่อไป”

เขาบอกว่า “ขอพูดแค่นี้เสียก่อน ขอให้ญาครูตอบมา”

ข้าพเจ้าเลยพูดว่า “อาตมาจะถามบ้างหละ จะทำให้คนเสมอกันได้อย่างไร คนขาหักจะทำให้เป็นคนขาดีได้ไหม คนโง่ทำให้เป็นคนฉลาดได้ไหม คนมีกำลังน้อยทำให้มีกำลังมากได้ไหม”

เขาตอบยอมรับความเป็นจริงว่า “ทำไม่ได้”

ข้าพเจ้าจึงพูดต่อไปว่า “พ่อก็เป็นพ่อเต็มภูมิ แม่ก็เป็นแม่เต็มภูมิ จะไปพูดว่าเสี่ยว ว่าสหายได้หรือ จะไม่ให้มีคุณมีค่าได้อย่างไร หน้าที่ท่านเลี้ยงมาแล้ว ก็เป็นหน้าที่ของเราที่จะเลี้ยงท่านตอบ ท่านได้เลี้ยงมาแล้วเลี้ยงตอบท่าน ทำกิจธุระของท่าน ดำรงวงศ์ตระกูล ประพฤติตนให้เป็นคนควรรับทรัพย์มรดก เมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว ทำบุญอุทิศให้ท่าน เราต้องประพฤติอย่างนั้น

เหมือนมีคน ๆ หนึ่งมายกมือไหว้เราว่า สบายดีหรือ เราก็ยังได้ยกมือไหว้ตอบว่า สบายดี เรื่องของท่านเลี้ยงเรา เราก็ควรเลี้ยงท่านตอบ จะไปพูดอย่างนั้นก็ไม่ได้ อาตมาก็ไม่เลื่อมใสด้วย ถ้าพูดอย่างนั้น ทำคนให้เสมอกันจะทำอย่างไร มันไม่เสมอกันดอก

เอ้า อาตมาจะพูดให้ฟัง อย่างโยมนี้เก่งทางช่างไม้ เก่งทางช่างเหล็ก อาตมาเป็นแต่เพียงทุบหิน เขาก็ไล่อาตมานี้แหละไปทุบหิน โยมเป็นช่างไม้ก็ต้องไปอยู่ร่มอยู่เงา การกินการอยู่การหลับนอนก็ต่างกัน หรืออย่างต่ำโยมก็คงเป็นผู้คุมอาตมา อาตมาเป็นผู้ทุบหิน ผู้คุมนั้นก็คงจะได้อยู่ในร่ม อาตมาก็ต้องได้ทุบหินตากแดดอยู่กลางแจ้ง มันจะเสมอกันได้อย่างไร
134#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 19:20 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
คนเรา พ่อก็ต้องเป็นพ่อเต็มภูมิ แม่ก็ต้องเป็นแม่เต็มภูมิ แผ่นดินก็ยังมีต่ำมีสูง จะให้เสมอกันได้อย่างไร เงิน ๕ บาทกับเงิน ๑๐ บาท อันไหนราคาสูงกว่ากัน เงินใบละ ๑๐๐ บาท กับใบละบาท อันไหนราคาสูงกว่ากัน”

เขาเลยตอบว่า “เงินใบละ ๑๐๐ บาทราคาสูงกว่า”

ข้าพเจ้าก็เลยพูดต่อไปว่า “มันก็มีชั้นวรรณะอยู่ในตัวมัน ใครไปทำให้มัน ก็คุณสมบัติของมันมีของมันเอง ดินไม่มีปุ๋ยกับดินมีปุ๋ยมันก็ยังมีคุณสมบัติต่างกัน ไม้ยูงกับไม้ไผ่อันไหนมันดี น้ำหนักเท่ากัน ไม้ยูงก็ราคาสูงกว่า ก็คุณสมบัติมันต่างกัน มันก็สูงขึ้นตามคุณสมบัติของมัน พ่อก็เป็นพ่อเต็มภูมิ แม่ก็เป็นแม่เต็มภูมิจะไปเตะตูดว่าสหายหมดก็ไม่ได้ ตัวเองโง่ แล้วจะมาสอนให้คนอื่นโง่ด้วย โยมเป็นบ้าแล้วยังจะมาสอนให้อาตมาเป็นบ้าด้วย อาตมาไม่ไปด้วยนะ ถ้าหากว่าไม่มีชั้นวรรณะ ทำไม่ไม่ให้สตาลินมาทุบหินบ้าง ให้ทหารไปเฝ้าอยู่ทำไมร้อยชั้นพันหลืบ”

เขาเลยพูดขึ้นว่า “โอ๊ย ถ้าพูดไปแล้วขี้ฉ่อ (ขี้โกง) ไปญาครูนี่น่าโมโหแท้ ๆ”

ข้าพเจ้าเลยพูดว่า “มันถูกตามคำอาตมานะ ขอให้พิจารณาดูอย่าเพิ่งโกรธ เพราะมันมีที่แซง อาตมาก็เลยแซง จะโกหกได้ก็โกหกได้เฉพาะคนโง่ ๆ เท่านั้น”

เขาก็เลยพูดว่า “ถ้าพูดแล้วขี้ฉ่อ (ขี้โกง) ไปตะพืดตะพือ หนีดอกญาครูนี่ อย่างนั้นจะไปเดี๋ยวนี้แหeะ”

ข้าพเจ้าเลยบอกว่า “เออ ไปก็ไปเสียซิ”

แล้วเขาก็เลยไป ส่อแสดงให้เห็นว่าเขานั้นไปเที่ยวประกาศให้คนโง่เลื่อมใสเท่านั้น ผู้ถึงศีลถึงธรรมจะเลื่อมใสได้อย่างไร

พรรษา ๑๔ ก่อตั้งภูจ้อก้อ

ครั้นพักอยู่ภูเก้าออกพรรษาแล้วก็ได้ไปมุกดาหาร ไปบวชโยมพ่อตาลผู้เป็นตาปะขาว แท้จริงท่านก็ไม่มุ่งจะบวชเป็นพระ แต่เห็นว่า คนพอหน้า ผ้าพอผืน และยังไม่เคยบวชเป็นพระสักที ก็เลยอบรมให้บวช จะอยู่ได้เท่าใดก็แล้วแต่กรณี (ส่วนตาปะขาวเทนั้นลาสึกจากตาปะขาวไปอยู่บ้าน)

ส่วนพ่อตาลเมื่อบวชแล้ว อุปสมบทแล้ว พักอยู่ภูเก้าอีกไม่กี่วันโยมแม่ตาลและคณะวงศ์ตระกูลนิมนต์มาพักภูจ้อก้อทั้งหมด จะได้ ๓ วัน ๗ วันก็แล้วแต่

มาทีแรกพักถ้ำประมาณ ๔-๕ คืน ญาติโยมบ้านแวงจึงปรึกษากันว่า “ถ้าจะให้ท่านอยู่ถ้ำก็คับแคบ ญาติโยมมาก็อัดแอ”

แล้วเขาลำเลียงไปทำกระหนำหลังถ้ำ ปูฟากมุงฟางกั้นฟาง กว้างประมาณ ๒ เมตรปริมณฑลเสาไม้กลมเท่าแข้ง ระเบียงไม่มี พาดบันไดขึ้นห้องนอนเลย เป็นป่ารกชัฏ มีต้นเปือยโต ๆ สูง ๆ เฒ่า ๆ เป็นระยะ ๆ ครึ้ม ต้นเปือยนั้นเป็นโพรงตลอดปลาย ฤดูฝนต้องมีงูขึ้นกุฏิประจำวัน มาหากินจิ้งเหลนที่มาซ่อนตัวอยู่ตามฟางที่กั้นและฟากปูขลุกขลักไม่สนิท บางทีขดอยู่ใต้ตีนบาตร แต่เป็นงูกะปะโดยมาก งูมีทุกชนิดจนไม่รู้จักชื่อก็มี เพราะเป็นภูเขาดง ตามหน้าหินหน้าผาก็มีรูมีเงื้อมขลุกขลักมาก เสือเหลือง เสือคำก็มี อีเห็น ชะมด ตะกวด เสือโคร่งมีปีทีแรกแล้วหายไป

น้ำใช้น้ำฉันอัตคัดมาก ได้หามได้คอนปีนขึ้นเขาไกลประมาณ ๒๐ เส้น ปีที่ ๒ น้ำใกล้เข้ามาบ้างประมาณ ๑๕ เส้น แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่คุ้มได้ไปตักห้วยค้ออันไกล ๒๐ เส้นอยู่ ฤดูฝนเดือน๙ เดือน ๑๐ พอทำเนาบ้าง เพราะได้ตักเอาน้ำไหลใต้หินหน้าผา ลูก ๆ หลาน ๆ เขาก็ตักช่วยด้วย แต่ผู้หนักกว่าเพื่อนก็นางวารินทร์ นางสมัย นางสัยและลูก ๆ หลาน ๆ อื่น ๆ สารพัด พระเณรจะปล่อยให้เขาหมดก็ไม่ได้อีก ต้องตักเป็นหลักไว้ประจำวัน แบ่งเบากัน

ข้าพเจ้าไปบิณฑบาต คอนปี๊บไปพร้อม คอนได้น้ำเต็มปี๊บ ทำไม้คอนให้หนักข้างหน้า ให้สามเณรอินทร์ถวายรับบาตรแล้วก็คอนน้ำมาพร้อมมิให้เสียเที่ยว

๓ วันกวาดหนทางบิณฑบาตจนถึงห้วยค้อคราวหนึ่งเพราะงูกะปะมาก มิฉะนั้นต้องเหยียบเวลาไปบิณฑบาต

ถ้าวันไหนถูกกวาดหนทาง ต้องเอาปี๊บไปวางเป็นตอน ๆ กวาดไปถึงปี๊บกับไม้คอนแล้ววางตราดไว้ เอาปี๊บกับไม้คอนไปวางไว้อีก กลับมาเอาคราตกวาดต่อไปถึงปี๊บและไม้คอนอีก เป็นระยะ ๆ จนถึงที่ตักน้ำ สรงแล้ว ตักเอาน้ำคอนขึ้นเขา เอาตราดทับข้างบนไม้คอน

บ่อที่ขุดนั้น

บ่อหนึ่ง ริมห้วยค้อ กอไผ่แม่ไลย
135#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 19:20 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๒. ริมห้วยค้อ ข้างสวนพ่อปลี แม่ธนูศิลป์และแม่ขัดสาเป็นผู้ขุด

๓. บ่อสารวัตรสำเนียง ไกลกว่าบ่อห้วยค้อ

๔. บ่อใกล้นาพ่อสงวนอีก แต่ไม่คุ้มปี

๕. ทำนบสะพานห้วยชันของพ่อนางสงวน เขาให้สรงและล้างบาตร แต่พอถึงเดือนมกราคมก็แห้งเสีย

๖. ขุดบ่อใต้ทำนบของพ่อนางสงวน ก็ไม่คุ้มปีอีก

๗. ขุดบ่อนานายเนิด ก็ไม่คุ้มปี

๘. ขุดและเจาะหินใกล้ศาลาฉันอาหาร พอได้ล้างบาตร แต่พอเดือนกุมภาพันธ์ก็แห้งเสีย ได้วันละปี๊บ ก็ทั้งขุ่นเป็นตม ไม่พ้นหาบคอนมาจากห้วยค้อ ในฤดูเดือน ๓, ๔, ๕

มีปัญหาว่า เป็นบ้าดอกหรือ จึงไปยอมเป็นยอมตายอยู่ที่อดน้ำแท้ พระนิพพานอยู่นั้นแห่งเดียวหรือ ที่อื่นมีที่ปฏิบัติถมไปภาคอีสานกว้างขวางมาก จะมาเขียนเล่ากินสมบัติอะไร มันได้ผลอะไร

ตอบว่า จริงอยู่ แต่ผลของกรรมเล่า เมื่อสร้างไว้แล้วใคร ๆ ย่อมบิดพลิ้วไม่ได้ ถ้าบิดพลิ้วได้แล้ว คุกตะรางก็ไม่ต้องมี การท่องเที่ยวในสงสาร สร้างบารมีก็ไม่มี มีแต่นิพพานสิ่งเดียวเท่านั้นเป็นเอเย่นต์อยู่ บุคคลผู้จะถึง สุคโต ได้ก็ต้องผ่าน ทุกขโต มาเต็มที่ก่อน มิฉะนั้นการเข็ดหลาบในสงสารก็ไม่ชัดได้

ฉะนั้นจึงมี ทุกขา ปฏิปทา ทันธาภิญญา ปฏิบัติลำบากทั้งรู้ได้ช้า ทุกขา ปฏิปทา ขิปปาภิญญา ปฏิบัติลำบากแต่รู้ได้เร็ว ส่วน สุขา ปฏิปทา ขิปปาภิญญา ปฏิบัติสะดวกทั้งรู้ได้เร็ว สุขา ปฏิปทา ทันธาภิญญา ปฏิบัติสะดวกแต่รู้ได้ช้า เนื่องด้วยกรรมและผลของกรรมต่างกัน สัตว์ทั้งหลายย่อมเป็นไปตามกรรมและผลของกรรม

ครั้นต่อมาก็มีคุณสีลา อินทวังโส ได้เอาแท้งค์น้ำมาให้ ๒ ลูก พอได้ใส่น้ำไว้ฉัน ถึงกระนั้นก็ยังไม่พ้นไปตักน้ำห้วยค้ออีก อยู่มาร้านสมศักคิ์ศรี นิคมคำสร้อย ได้สร้างถังน้ำคอนกรีตขึ้น ๓ ถัง กว้าง ๒ เมตร สูง ๓ เมตรก็เบาลงบ้าง กุฏิอีก ๒ หลังพร้อมทั้งโรงไฟก็รู้สึกเบาไปบ้าง แต่ฤดูเดือน ๕ ยังได้ไปตักน้ำห้วยค้ออยู่บ้าง และก็ถังอิฐสี่เหลียมผืนผ้าสูง ๑ เมตรกว่า ๆ ยาวประมาณเมตรกว่า ๆ

แต่ทุกวันนี้ประซาชนทางใกล้ทางไกลเมตตาสงเคราะห์ อะไรต่ออะไรก็พอแบ่งเบาขึ้นมาบ้าง แต่ก็ยังเป็นขี้โหล่ของภาคอีสานในทางอัตคัดทรมานอยู่ทุก ๆ ด้าน

ด้านจักรเย็บผ้า คุณสีลาหามาไว้ให้ใช้กว่า ๑๐ ปีแล้ว สะพานข้ามห้วยค้อ คุณสีลาก็พาญาติโยมสร้างขึ้นให้ เพราะแต่ก่อนไต่ขอนไม้ยางอยู่ ๘ ปี พระอาจารย์จามก็มาช่วยเมตตาสงเคราะห์อะไรต่ออะไรด้วย ญาติโยมทางบ้านแวง บ้านหลุบปิ้ง บ้านโคกตลอดหนองสูงใต้ บ้านเหล่า ตลอดถึงหนองสูง ห้วยทรายต่างก็ได้ช่วยเหลือตามสติกำลังแต่ละท่านละคนเท่าที่สามารถ และเท่าที่ศรัทธา จะพรรณนาไปเป็นท่าน ๆ คน ๆ ก็เขียนไม่ไหว

ศาลาแม่ออกรักษาศีลนั้น ครูชาลี พรรคพลและนายถนอม วงศ์เสน่ห์ เป็นผู้ริเริ่มและศรัทธาต้น ส่วนศาลาปัจจุบันและถังน้ำใหญ่ ๔ ถังเป็นส่วนรวม ทั้งพระ ทั้งเณร ทั้งญาติโยมสารพัดต่างวัดต่างจังหวัดที่มาเที่ยว เจอเข้าก็ช่วย ไม่ขัดไม่ดูดดาย

สำหรับผู้เขียนมิได้อะไรเลย ได้แต่เขียนเท่านั้น ได้อะไรมาสู่สำนักได้ด้วยเดชพุทธ ธรรม สงฆ์และครูบาอาจารย์และสหพรหมจารี ภิกษุสามเณรและคณะญาติโยมใกล้ไกลพร้อมทั้งพุทธบริษัทของพระพุทธ ธรรม สงฆ์ ใกล้ไกล

เรื่องถังน้ำคอนกรีตไม่ว่าชุดสร้างก่อนและตอนหลัง ร้านสมศักคิ์ศรี นิคมคำสร้อย ต้องเป็นภาระจิปาถะ ชาวรถและญาติโยมบ้านแวงและบ้านเป้า ก็เข้าแบกหามช่วยเหลือ

ทางบ้านเหล่า ผู้ใหญ่กองและลูกบ้านก็ช่วยเอาทรายมากว่า ๑,๐๐๐ ปี๊บ ขนขึ้นใส่รถเข็น ตลอดครูและนักเรียนตำบลหนองสูงใต้ทุก ๆ โรงเรียน ขนจากตีนเขาขึ้นบนภูอย่างโกลาหลอลหม่าน

ขอขอบคุณทุกท่าน ๆ ทุก ๆ วัยไว้อยู่โดยทุกเมื่อด้วย ท่านผู้ใดทำด้วยศรัทธาน้อยและมากด้วย พุทธ ธรรม สงฆ์จงได้รับผลตามส่วนควรค่าของเหตุที่ทำน้อยแลมากทุกถ้วนหน้านั้นเทอญ
136#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 19:20 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ผู้เขียนย่อมยินดีพอใจแต่ละท่าน ๆ ทั้งนั้น เพราะยุคภูจ้อก้อเป็นยุคอายุขัยวัยแก่ของข้าพเจ้าที่ได้ท่องเที่ยวมาในสงสาร พร้อมทั้งเป็นยุคอัตคัดทุกประเภท คมนาคมก็ไม่สะดวก ขึ้นเขาลงห้วยขลุกขลัก วัตถุนิยมก็ราคาแพงสูงขึ้นทวี

บรรดาท่านชาวพุทธในประเทศไทยก็ดีหรือนอกประเทศบ้างก็ดี นับแต่ข้าวเม็ดหักผักเส้นหนึ่งก็ดี ขึ้นไปหามาก โดยข้าพเจ้ารู้ตัวก็ดี มิได้รู้ตัวก็ดี คิดเป็นราคามูลค่าแต่สตางค์หนึ่งขึ้นไปก็ดี ได้ร่วมกุศลผลบุญกับข้าพเจ้าด้วยกำลังกาย กำลังวาจาก็ดี ด้วยกำลังใจขณะจิตเดียวก็ดี

ด้วยเดช พุทธ ธรรม สงฆ์จงภิญโญยิ่ง ๆ จนถึงที่สุขทุกข์ โดยชอบทุกถ้วนหน้า ทั่วทั้งไตรโลกาอยู่ทุกเมื่อเทอญ

แม้จะได้ร่วมหรือมิได้ร่วมก็ตาม แผ่อัปปมัญญาไปทั่วทั้งไตรโลกาผูกขาดอยู่ทุกเมื่อ และระลึกได้ไม่ระลึกได้ก็ดี เป็นอธิษฐานปารมีสัมปันโน เป็นสัจจปารมีสัมปันโน ผูกขาดจองขาดอยู่ทุกเมื่อแล นิพพานังในชาตินี้เทอญ

ไม่เคยใช้อุบายเรี่ยไร

หันมาปรารภเรื่องอยู่ภูจ้อก้อได้ ๓ พรรษา พรรษาที่ ๔ ก็รื้อกระต๊อบฟางทิ้ง ญาติโยมบ้านแวง มี พ่อศิลป์ก็ริเริ่มทำกุฏิสามัคคีขึ้นกว้าง ๓ เมตร ยาว ๔ เมตรกว่า ๆ ต่อแต่นั้นก็ค่อยทยอยขึ้นปีละหลังบ้าง ๒ ปีต่อหลังบ้าง ปีละ ๔ หลังก็มี เป็นวงศ์ของคุณนพดล กรุงเทพฯ แต่ก็ไม่อยากจะเล่าเรื่องก่อ ๆ สร้าง ๆ ดอก เพราะใคร ๆ อยู่ที่ไหน ๆ ก็พอได้พูดกันอยู่ในเรื่องนี้

ทีแรกก็นึกว่าเอาเด็ด ๆ เดี่ยว ๆ จะไม่ก่อสร้างใด ๆ ทั้งสิ้น แต่อยู่นานติดต่อกันไปหลายปี หมู่พระเณรมาพักอาศัย ไม่มีที่พักก็จำเป็นได้ทำ แต่มิได้แผ่มิได้ขอเรี่ย ๆ ไร ๆ ให้ปีนเกลียวของธรรม มีมาโดยชอบธรรมก็จึงทำ ไม่ได้ใช้อุบายจัดงานในวันเพื่อหาเงินขูด ๆ เกลา ๆ มาก่อสร้าง ทำพอได้อยู่ได้พักเท่านั้น และก็อาศัยน้ำฝนจากหลังคาใส่ลงถังเพราะภูลูกนี้มิได้มีน้ำเป็นหลัก ก็จำเป็นจำไป

และเมื่อไม่น้อมว่าเป็นสมบัติของตัวแล้ว กิเลสก็คงไม่กำเริบมากเท่าไรนักหนา น้อมเป็นของพระพุทธศาสนาแล้วกิเลสก็เบาลง คะนองตัวไม่ได้ จะน้อมเป็นของตัวได้ชั่วคราวก็แต่เพียงบริขาร ๘ เท่านั้น แม้ถึงอย่างนั้นก็ยังได้สับเปลี่ยนให้องค์นั้นองค์นี้อยู่ ไม่ว่าแต่เท่านั้น แม้หนังหุ้มอยู่โดยรอบที่ยืมมาจากธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ก็จะได้ส่งคืนให้ ดิน น้ำ ไฟ ลมอยู่ เพราะจะได้แตกสลายลงสู่ธาตุเดิมอยู่ ดินแตกไปเป็นดิน น้ำแตกไปเป็นน้ำ ไฟแตกไปเป็นไฟ ลมแตกไปเป็นลม ลงสู่มหาภูตธาตุเดิมคงที่

ด้านกิเลสคือ ความหลง ไม่รู้เท่าปัญหาของตนที่มาหลงดิน หลงน้ำ หลงไฟ หลงลมก็จะได้มาสร้างดิน สร้างน้ำ สร้างไฟ สร้างลมเป็นเปรตเป็นผีเฝ้าดิน เฝ้าน้ำ เฝ้าไฟ เฝ้าลม ฉันอยู่เหมือนนกเขา ว่า ของกู ของกู ของกูอยู่ ก็ต้องขึ้นอยู่กับกรรมและผลของกรรมอีก

พระพุทธศาสนาเป็นของลึกซึ้ง ไม่เป็นสิ่งที่ผู้หูหนาตาเถื่อนจะเข้าใจความหมายได้ง่าย ๆ ฉะนั้นในโลกจึงมักจะเจอแต่คนตาบอดมาอวดสนเข็มกับคนตาดีเป็นส่วนมาก ฝ่ายแจวเรือพายเรือข้ามน้ำ เขาโคมีน้อย ขนโคเป็นฝ่ายกางขาลงโต้น้ำให้เรือวนเรือฝืด ด้านจิตใจหนักไปในทางกิเลส ด้านมันสมองก็มันไปทางกิเลส มอบให้ใจเป็นใหญ่ทั้งทางคว่ำทางหงาย มอบให้มันสมองเป็นใหญ่ทั้งทางคว่ำทางหงาย ใจมีกิเลสหรือไม่มีกิเลสไม่ต้องมีกรรมการเลือกเฟ้นเลย มันสมองมีกิเลสหรือไม่มีกิเลสก็ไม่มีกรรมการเลือกเฟ้นเลย ด้านสติปัญญาก็เหมือนกันไม่มีกรรมการเลือกเฟ้นเลย เสือมันก็มีสติปัญญาอยู่ แต่สติปัญญาของมันมุ่งตะครุบเขามาใส่กระเป๋าท้องของมัน เมื่อจิตใจและธรรมยังไม่ถึงพระอริยบุคคลชั้นใดชั้นหนึ่งแล้ว ย่อมเป็นผู้กินไม่เลือกทั้งนั้น ธรรมะแท้เป็นทรัพย์สินของนักปราชญ์แต่เป็นหอกเป็นง้าว เป็นฟืนเป็นไฟของคนพาล หมายความว่าพวกคนพาลเข้าใจความหมายอย่างนั้น แต่ที่จริงแล้วหาได้เป็นฟืนเป็นไฟ เป็นหอกเป็นง้าวกับใครไม่ เป็นจริงอยู่ตามธรรมชาติของบาปบุญ มรรคผล นิพพานคงที่
137#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 19:21 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ยุคภูจ้อก้อปัจจุบัน

ยุคภูจ้อก้อนี้นับแต่ยุคต้นมาจนถึงปัจจุบันที่เขียนอยู่นี้ก็ดี ไม่ว่าบรรพชิดและฆราวาสใกล้และไกล ต่างก็พากันดูแลช่วยเหลือตามสติกำลังของตน ๆ อยู่เท่าที่จะทำได้ ฝ่ายพระเณรยุคต้นแท้ก็คุณอินทร์ถวาย คุณสีลา โยมบิดาของคุณอินทร์ พร้อมทั้งเผ่าพงศ์วงศ์ตระกูล พร้อมทั้งวงศ์วานตลอดวงศ์ของคุณย่าเคี้ยว วงศ์แม่อ้อ กำนันชิววรรณ กำนันบัวผันและทุก ๆ ท่านไม่สามารถจะเอามาลงให้หมดได้ นางสวางค์ พัฒนากร วงศ์ผู้ใหญ่ตาลอีก สารวัตรสำเนียงย่อมมีคุณแก่ข้าพเจ้าอยู่แต่ละท่านละคนไม่ทางหนึ่งก็ทางหนึ่ง และขออภัยที่ไม่ได้เขียนออกชื่อไว้ครบในที่นี้ด้วย

ตัวของข้าพเจ้าเองไม่ได้หัดเป็นนิสัยอกตัญญูมนุษย์เลย ย่อมถือเอาเยี่ยงอย่างพระมหาสารีบุตรมาคำนึงอยู่บ่อย ๆ พระมหาสารีบุตรนั้น พระราธะคราวเป็นฆราวาสอยู่ ได้ใส่บาตรให้พระสารีบุตรเพียงทัพพีเดียวเท่านั้น องค์ท่านก็หัดจำไว้ระลึกได้ ดังมีในเถรประวัติ ถ้าจะถูกกล่าวตู่ว่า การเขียนอย่างนี้เป็นการประจบประแจง ผู้เขียนก็มีที่อ้างอย่างนี้เพราะมนุษย์โดยมากมักจะอกตัญญูกัน ถ้าเกลียดโกรธใครก็มักแต่จะเอาสิ่งนั้นมาเป็นเจ้าหัวใจบูชาไฟโทสะ เป็นการหักดอกไม้บูชาความโกรธของตนพร้อมทั้งอุปนาหะ ผูกโกรธไว้ เวรก็ไม่มีหนทางจะเบาลงและระงับได้

คนแต่ละคนก็ต้องได้ทำความดีไว้ให้เรา ไม่อันหนึ่งก็ต้องอันหนึ่งให้จงได้ ถ้าชาตินี้ไม่มีญาติก่อน ๆ ก็คงมีและชาติหน้าไปอีกเล่าก็ยังอักโข ถ้าเผื่อว่ามีชาติหน้า ภพหน้า ญาติก่อน ภพก่อนแล้วการทำคุณให้แก่กันและกันก็ดี การระลึกถึงคุณของกันและกันก็ดี การไม่ควรทำเวรแก่กันและกันก็ดี การเชื่อกรรมและผลของกรรมก็ดี การเชื่อพุทธ ธรรม สงฆ์ก็ดี การทำต่อกันและกันก็ดี เชื่อกรรมและผลของกรรมในปัจจุบันชาติก็ดี เชื่อว่าบาปบุญมี มรรค ผล นิพพานมีในปัจจุบันจิต ปัจจุบันธรรมก็ดี ก็ได้มหาทรัพย์ภายในขุมต้นมากกว่าแผ่นฟ้าแผ่นดิน อันเป็นศรัทธาทรัพย์และปัญญาทรัพย์ สมดุลกันแล้ว เป็นทรัพย์ที่ไม่สูญหายไปไหนด้วย มิได้หาบ มิได้หิ้ว มิได้แบก มิได้คอน มิได้เอารถ มิได้เอาเกวียนขนให้ยากด้วย ไม่มีท่านผู้ใดจะมาลักไถ่ ลักถอน ลักจี้ ลักปล้น ตกน้ำก็ไม่จม ไม่พลัดไม่พราก ไม่จากไป เป็นเป็นจิตเงาใจ ไปตามตัวใจ ไปตามตัวธรรมเบามาก ข้อนี้ย่อมเป็นธรรมอันจริง เป็นใจอันจริง เป็นปัญญาอันจริง เป็นศรัทธาอันจริงของพระอริยบุคคล

บุคคลผู้เป็นบัณฑิตย่อมเชื่อสิ่งที่ควรเชื่อเช่น เชื่อว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่วเป็นต้น แต่เหตุชั่วใครจะบัญญัติเอาตามกิเลสของตนสักเพียงไรก็ตามว่าเหตุดี เหตุชั่วนั้นจะกลายเป็นเหตุดีก็ย่อมเป็นไปไม่ได้อีก เหตุดีแท้ ๆ จะบัญญัติผิดว่าเหตุชั่วเหตุนั้นก็เป็นเหตุชั่วไปไม่ได้เพราะมีผลในเหตุนั้น ๆ เป็นศาลยุติธรรมตัดสินอยู่ปลายทาง ไม่ลำเอียงในโลกไหน ๆ ในธรรมไหน ๆ ผู้ที่จะเลือกเหตุดีเหตุชั่วได้สนิทใจไม่ลังเล ก็ต้องเป็นผู้แยบตายในเหตุดีเหตุชั่วมาแล้ว พร้อมผลลัพธ์ทั้งสองฝ่ายมาชำนิชำนาญ เป็นอาจารย์สอนตัวให้รู้ตัวทั้งทางขึ้นทางล่องว่า สิ่งนี้เป็นเหตุแห่งสุข สิ่งนี้เป็นเหตุแห่งทุกข์ สุขเป็นผลแห่งเหตุอันนี้ ทุกข์เป็นผลแห่งเหตุอันนี้โดยชัดแจ้ง มิฉะนั้นแล้วก็เลือกเหตุเลือกผลไม่ได้จนวันตาย ย่อมถูกต้มตุ๋นโดยความไม่แยบตายของตนอยู่ตราบนั้น กรรมและผลของกรรม เหตุและผลของเหตุ พืชและผลของพืช เจตนาและผลของเจตนา การลงมือทำและผลของการลงมือทำ ก็มีความหมายอันเดียวกัน แต่ให้ผลต่างกันในทางดีทางชั่ว

อบายมุขทุกประเภท เป็นเหตุ พืช กรรม การลงมือทำและเจตนาเป็นทางฉิบหายผูกขาดอยู่แล้ว ไม่มีมนุษย์ เทวดา มารพรหมและพระพุทธเจ้าองค์ใด ๆ จะมาทำให้เจริญได้ในตอนนี้ นอกจากจะละเว้นเสียให้ห่างไกลเท่านั้น ธรรมอันนี้เป็นธรรมสอนฆราวาสโต้ง ๆ ส่วนพระเณรนั้นต้องเว้นกันไปผูกขาดแล้ว มิฉะนั้นแล้วจะกลายเป็นหมาป่าเป่าปี่ในนิทานอีสป และไม่รู้จักความหมายของพระเณรของพระพุทธศาสนาอีกด้วย
138#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 19:21 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ธรรมเนียมอันเป็นธรรมแท้ พระเณรต้องปฏิบัติธรรมวินัยชั้นสูงขึ้นไป เป็นหัวจักรของชาวโลก ถ้ายังเสนอหน้ามาเล่นการพนันอันเป็นอบายมุขอีก นุ่งผ้าเหลืองเสียผ้าขาว นุ่งผ้าขี้ริ้วถือเสียมไปขุดปูตามทุ่งนามากินเหมือนเด็กเสียดีกว่า แต่เด็กผู้ไม่ห่มผ้าเหลืองเขาไม่ฆ่าสัตว์ก็มี อบายมุขไม่มีอยู่ในครอบครัวใด ครอบครัวนั้นจะเจริญก้าวหน้าทั้งทรัพย์ภายนอกและภายในสูงส่งโดยรวดเร็ว โลกปัจจุบันมันข้องอยู่อย่างนี้อลหม่าน

คิดเห็นอันใดก็เขียนขึ้น เป็นเรื่องที่ไม่เป็นแนวเป็นแถวติดต่อ มาอยู่ปีทีแรกญาติโยมทำกุฏิเล็กเป็นกระต๊อบฟางทั้งมุงและกั้นด้วยฟางอยู่ได้ ๓ พรรษา พรรษาที่ ๔ เขาทำกุฏิปูกระดานไม้เปือย กว้าง ๒ เมตร ๙๐ เซ็นต์ ยาว ๔ เมตรกว่า มุงด้วยกระดาน แต่กั้นด้วยฝาไม้ไผ่สาน ที่เรียกว่าฝาไม้เฮี้ย ตามชาวอีสาน ทำเป็นฝาสาน แล้วขอบริมให้แน่น แล้วผูกแขวนค้ำเอา

ครั้นอยู่มาอีก ๓ ปีก็เลยรื้อฟากออก กั้นด้วยกระดานไม้ตะเคียน ครั้นอยู่มาก็ค่อยงอกที่นั้นที่นี้ ตามประสาของวาสนาอนาถาพอได้อยู่ได้อาศัย แต่มิใช่โอ่โถงภาคภูมิอะไร ถ้าเทียบใส่ฆราวาสก็แบบหาเช้ากินเย็น จับพลัดจับผลูเป็นธรรมเทศนาทุกข์อยู่ในตัวมิให้ลืมหลงได้เลย สถานที่และลาภยศก็พอดีกับจิตใจธรรมอันหยาบ ต้องถูกทรมานอยู่แบบขู่ว่า ๆ หือ ๆ ๆ ๆ เห็นไหมกองทุกข์ เข็ดหรือไม่เข็ด หลาบหรือไม่หลาบ อ้ายหน้าระยำดังนี้เสมอ ๆ

ที่อัตคัดทรมานนี้เป็นมหาอาจารย์ เตือนสติอยู่มิให้สงสัยในเรื่องชาติ ๆ ภพ ๆ คำว่าชาติ ๆ ภพ ๆ แล้ว จะอาวัตถุภายนอกมาพอกลวงไว้เต็มแผ่นฟ้าแผ่นดินมีแต่ขุมทองตั้งล้าน ๆ ขุมก็ตาม ผลลัพธ์ก็คือทุกข์ขาดตัวนั้นเอง เว้นพระอริยะเสีย เพราะจิตใจและธรรมเหนือสิ่งเหล่านี้ไปแล้ว เพราะเครื่องผูกได้ขาดไปแล้ว ถอดออกแล้ว วัตถุนิยมไม่เป็นเชือกจะผูกท่านได้ เพราะฝึกจิตใจให้เหนือวัตถุนิยมไปได้ เพราะองค์ท่านไม่ติดอยู่ในสมมุติว่าได้ ๆ และไม่ติดอยู่ในสมมุติว่าเสีย ๆ ได้ก็มอบคืนให้ได้ เสียก็มอบคืนให้เสีย มิได้ตั้งอยู่ในเงื่อนทั้งสอง ยอมตัวทำจิตใจให้เป็นโสด ธรรมที่เป็นอาหารของใจ ใจที่เป็นอาหารของธรรมก็พลอยเป็นโสดไปในตัว ไม่ขี้หึงกัน ธรรมก็ส่งคืนให้ธรรมไปในตัว ใจก็ส่งคืนให้ใจไปในตัวมิได้มาเป็นศัตรูสงครามกัน ใจและธรรมก็ไม่มีใครผูกปัญหาให้กันและกันแก้เพื่อเอาคะแนนแพ้คะแนนชนะ ธรรมะชั้นนี้เป็นธรรมลึกผูกขาดของผู้ใจสูงอยู่แล้ว แต่ธรรมทรงอยู่ก่อนใจ เป็นธรรมชาติอันละเอียดกว่าใจแล้ว ถ้าธรรมไม่ทรงมีอยู่ก่อนใจแล้ว ใจไม่มีหนทางจะรู้ธรรมได้ และไม่มีหนทางจะเลือกเฟ้นได้

พระอรหันต์สิ้นลมปราณเข้าสู่อนุปาทิเสสนิพพานไปแล้ว ไม่เป็นหน้าที่จะไปบัญญัติว่าใจ ๆ อีกเลย เพราะไม่สมเกียรติ บัญญัติได้แต่เพียงว่าธรรมอันไม่ตาย ธาตุอันไม่ตาย อายตนะอันไม่ตาย อินทรีย์อันไม่ตาย แปลว่าเป็นผู้ใหญ่ในทางอันไม่ตาย เพราะธรรมก็ดี ธาตุก็ดี อายตนะก็ดี อินทรีย์ก็ดี ไม่อิงอาศัยกับกองนามรูปแล้ว และกองนามรูปเล่า ก็ไม่เป็นหน้าที่จะไปแอบอาศัยได้ เป็นของละเอียดลออมากมายจนไม่มีที่จะเปรียบเทียบได้

ผู้มิได้เห็นชัดซึ่งสังขารที่เกิดขึ้น ที่แปรปรวน ที่ดับไป ติดต่ออยู่อย่างไม่ขาดสาย และไม่ได้พิจารณาให้ติดต่ออยู่พร้อมกับลมออกเข้าแห่งพระอานาปานสติแล้ว ไฉนจิตใจพร้อมทั้งสติปัญญาอันสมดุลกันในขณะเดียวอันเป็นปัจจุบันทันตา ทันใจ ทันปัญญา ทันธรรม จึงจะเอนไป โอนไป น้อมไป ยินดีไป หนักไป ด่วนไปในพระนิพพานได้ เพราะบารมีอินทรีย์ยังอ่อนอยู่

เพราะอำนาจกรรมและผลของกรรมอันเป็นตัววัฏจักร อวิชชาความหลง ๆ เป็นเจ้าใหญ่นายโต ผลักดันอันดองอยู่ในขันธสันดานผูกมัดรัดรึงไว้ จิตใจยังโอนไป เอนไป น้อมไป หมุนไป ส่ายไป ดึงดูดไป จูงไปเป็นพหุลกรรม กรรมที่เคยติดมาจนชินเป็นอาจิณกรรมเป็นแม่เหล็กดึงดูดในทางวัตถุนิยมภายนอกและภายใน

วัตถุนิยมภายนอกมี รูป เสียงกลิ่น รส โผฏฐัพพะ ในส่วนรูปขันธ์ภายนอก ธรรมภายนอก ธาตุภายนอก

วัตถุนิยมภายในก็คือ ตา หู จมูก ลิ้น กายเรียกว่ารูปขันธ์ภายใน ธรรมภายใน ธาตุภายในหรืออินทรีย์ภายในก็ว่า

ส่วนนามนิยมกันภายใน ก็คือใจ ธรรมภายในก็ว่า ธาตุภายในก็ว่า เรียกว่านามธรรม นามธาตุ นามอินทรีย์ นามขันธ์ภายในก็มีความหมายอันเดียวกัน

ส่วนนามธรรมภายนอก ธรรมารมณ์ภายนอกก็ว่า
139#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 19:21 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
คู่ต่อสู้ที่แท้จริง

แล้วธรรมภายนอกภายในเหล่านี้เล่า ธาตุภายนอกภายในเหล่านี้เล่า ทั้งหมดมารวมกันแบ่งออกเป็น ๓ กาล ปัจจุบันกาลอดีตกาล อนาคตกาล เกิดขึ้นเป็นเบื้องต้น แปรปรวนในท่ามกลางดับเป็นสุดท้ายเป็นนิจวัตร หาระหว่างมิได้

เมื่อปัญญาญาณไม่เห็นแจ้งในฝ่ายนิโรธสัจจะเป็นเนืองนิตย์ติดต่ออยู่แล้ว ความเบื่อหน่ายจากความหลง ความคลายเมาจากความหลง ความหลุดพ้นจากความหลงก็ไม่มีหนทางจะปรากฏ ญาณวิมุตติอันถ่องแท้ก็ยิ่งมองไม่เห็นพอริบหรี่เลย

เมื่อฟันยังไม่ถึงแก่น จะเห็นแก่นอย่างไรได้ เมื่อฟันเมื่อเลื่อยยังไม่ขาด จะสมมุติว่าขาดอย่างไรได้ เมื่องานยังไม่เสร็จ จะสมมุติว่าเสร็จอย่างไรได้ จะหลับหูหลับตาโกหก ตนก็ไม่พ้นพิษอันเดือดร้อนอีกละ เพราะความลับไม่มีในตน คือโลกภายใน อัชฌัตตาโลก ปัจจุบันโลก ปัจจุบันสังขารก็ว่า ปัจจุบันกิเลสก็ว่า เพราะกิเลสมีทั้งปัจจุบันกิเลส อดีตกิเลส อนาคตกิเลส

ถ้าปัจจุบันจิตปัจจุบันธรรมไม่มีกำลัง พร้อมด้วยสติปัญญาแก่กล้า เหนืออ้ายหลง ๆ ไปแล้ว ย่อมตีเมืองกิเลสไม่แตก ฉะนั้นแล้วกิเลสมันจึงมักจับเอาเป็นเชลยศึก

ไฟราคะ ไฟโทสะ ไฟโมหะ กับไฟกิเลส กับไฟโลภ โกรธหลงนั้นต่างกันอย่างไร ก็ต้องมีความหมายรสชาติอันเดียวกัน หลายชื่อหลายนาม หลายสมมุติเรียกกันเฉย ๆ จะบรรเทาระงับได้ด้วยศีล สมาธิ ปัญญาอันถูกต้องทางพุทธศาสนาเท่านั้น

ไฟภายนอกจะระงับได้ด้วยน้ำภายนอก หรือระงับได้ด้วยไม่ให้เกิดขึ้นในต้นมือเท่านั้น ไฟภายนอกมีโทษมหันต์ มีคุณอนันต์ ขึ้นอยู่กับการใช้ถูกหรือไม่ถูก ไฟกิเลสมีโทษโดยส่วนเดียว มิได้มีคุณ ไฟภายนอกดับได้ด้วยน้ำภายนอก แต่ไฟมากน้ำน้อย น้ำก็ดับไม่ได้ น้ำมากอยู่ แต่ไม่รู้จักวิธีดับ ก็ใช้ไม่ได้อีก เพราะธรรมดาไฟเมื่อไหม้ลงไปแล้วและมีเชื้อล่อมากมายอยู่แล้ว ไม่เป็นหน้าที่ของไฟจะคอยให้น้ำมาดับ ตนมีหน้าที่ไหม้ไปตะพึด น้ำไม่เป็นหน้าที่ว่าเราจะคอยเป็นกองปราบดับไฟ

ฉันใดก็ดีศีล สมาธิ ปัญญาก็มิได้ยืนยันว่าเราจะเป็นกองปราบกิเลสเลย ถ้าประกอบ ศีล สมาธิ ปัญญาน้อย แต่ประกอบกิเลสมากกว่า ศีล สมาธิ ปัญญาก็ปราบกิเลสไม่ชนะ

เรื่องแพ้เรื่องชนะภายนอก ไม่เป็นที่นิยมซมชอบของพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาถือว่าเป็นเรื่องเวรสนองเวร เรื่องภัยสนองภัย เป็นเรื่องกรรมสนองกรรม เป็นเหตุสนองเหตุ เป็นเรื่องภายนอกของพระพุทธศาสนาทั้งนั้น

โอปนยิโกภายในของพระพุทธศาสนาสอนไว้ว่า ถ้าถูกแพ้ ก็ถูกแพ้กิเลสของตน คือหลง ๆ เป็นต้น ถ้าชนะ ก็ชนะความหลงของตนไปเป็นตอน ๆ ก็ดี หรือโดยสิ้นเชิงก็ดี มีกฎเกณฑ์และความหมายของพระพุทธศาสนาเท่านี้

แต่ชาวโลกิยวิสัยย่อมนิยมชมชอบว่าถูกแพ้คนอื่น พวกอื่นหมู่อื่น บ้านอื่น ตำบลอื่น อำเภออื่น จังหวัดอื่น ภาคอื่น ประเทศอื่น และมักนิยมซมชอบว่าถูกชนะคนอื่น พวกอื่น หมู่อื่น บ้านอื่น ตำบลอื่น อำเภออื่น จังหวัดอื่น ภาคอื่น ประเทศอื่น จนเป็นยาเสพติดนิสัยแก้ยาก

ถ้าหากว่าโลกทั้งปวงต่างมุ่งหน้าประชันขันแข่ง เพื่อสู้รบขบกัดกับกิเลสของตนแล้ว โลกก็เต็มไปด้วยความเมตตาสามัคคี จะประสบแต่ความร่มเย็น ปราศจากเวรภัย นอนหลับสนิท ไม่สะดุ้งผวา เพราะไม่มีเวรอยู่รอบด้าน เหมือนลูกพ่อแม่เดียวกัน รักชีวิตตน ก็ต้องรักชีวิตผู้อื่นด้วย รักความสุขตน ก็รักความสุขผู้อื่นด้วย รักเคารพของตน ก็ต้องรักเคารพของผู้อื่นด้วย เหล่านี้เป็นต้น ทะเลเลือด ทะเลน้ำตา ทะเลเวร ทะเลภัยก็สงบไป

เพียงรักษาศีล ๕ เท่านั้น กฎหมายโลก กฎหมายธรรมก็บริบูรณ์แล้ว ไม่ต้องบัญญัติหลายมาตราก็ได้ พระพุทธศาสนาเป็นกฎของธรรมตายตัวทั่วไตรโลกา ทั้งโลกอดีต โลกอนาคต โลกปัจจุบันด้วย เป็นกฎของธรรม แท้อยู่ทุกกาล ทันสมัยอยู่ทุกกาล มิใช่ธรรมเถื่อน มิใช่ธรรมเดา มิใช่ธรรมด้น มิใช่ธรรมคาดคะเน เป็นธรรมมีแต่เนื้อ ไม่มีก้างเจือปน มิได้นิยมเพศชั้นวรรณะเลย
140#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-25 19:39 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ศาสนธรรมคุ้มครองโลก

พระพุทธศาสนาเป็นธรรมคุ้มครองสรรพโลกอยู่โดยตรง ๆ แล้ว ผ่านการบ้านการเมืองไปแล้ว ข้ามไปเป็นการคุ้มครองโลก เหนือไปกว่าการบ้านการเมืองไปอีก พระบรมศาสดาจึงยืนยันว่าธรรมเป็นโลกบาล คือคุ้มครองโลกได้ มีอยู่ ๒ ข้อ หิริ ความละอายต่อบาปทุจริต โอตตัปปะ ความสะดุ้งกลัวต่อบาปทุจริต

ถ้าหากว่าธรรม ๒ ข้อเท่านี้ มีประจำใจของมนุษย์อยู่ทุก ๆ ท่าน ทุก ๆ หัวใจ เป็นมหาอาจารย์ กระซิบบอกและเตือนตนอยู่ทุกหัวใจแล้ว กฎหมายก็ดี ธรรมะก็ดี ก็ไม่ต้องได้จำ ได้เรียน ได้ท่อง ได้บ่นมากมายนัก เป็นหลักหัวใจ ของศีล ของธรรม ของกฎหมายอีก

ถ้าไม่มีหิริ-โอตตัปปะ แล้วจะเรียนจบไตรปิฎกก็ใบลานเปล่า เป็นถังก้นทะลุ เทน้ำใส่เท่าใดก็เก็บไว้ไม่ได้ แม้จะเรียนกฎหมายจบทั้งนอกประเทศและในประเทศก็ตาม ก็เป็นถังก้นทะลุ ไม่รับน้ำไว้ (โลก ๆ ก็ต้องเจอแต่ก้างอยู่ตามเคย)

พวกเราชาวพุทธจะหวังเอาลูกระเบิดปรมาณูเป็นสรนังคัจฉามิ ไม่เป็นที่พึ่งอันเกษม กลายเป็นปรมาณูเวรภัย

อัปปมาโณ พุทโธ อัปปมาโณ ธัมโม อัปปมาโณ สังโฆ มีพระมหาคุณอันไม่มีประมาณ ผู้มีปัญญาน้อยระลึกได้น้อย ผู้มีปัญญามากระลึกได้มาก ผู้มีเชือกสั้นขึงได้ใกล้ ผู้มีเชือกยาวขึงได้ไกล ผู้มีกำลังน้อยแบกของได้น้อย ผู้มีกำลังมากแบกของได้มาก ผู้ตามัวสนเข็มยาก ผู้ตาดีสนเข็มได้ง่ายนัก

สมัยที่อยู่ภูจ้อก้อตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๐ ติด ๆ กันมาทั้งฤดูแล้ง ฤดูฝน ฤดูหนาว ฤดูร้อน จนถึงขณะกำลังเขียนอยู่นี้ เป็นปีพ.ศ. ๒๕๒๔ พระอาจารย์ที่เทศน์ให้ฟังพร้อมทั้งเฆี่ยนเล็ก เฆี่ยนน้อย เฆี่ยนใหญ่ เฆี่ยนโตประจำกายอยู่พร้อมทั้งขู่เข็ญว่า “เธอเห็นไหม เธอรู้ไหม เธอเข็ดหลาบไหม”

พร้อมทั้งเฆี่ยนพร้อมทั้งย้อนถามว่า

“เห็นไหมทุกข์เกิด”

เรียนตอบว่า

“เห็นขอรับผม”

“เห็นไหมทุกข์แก่”

เรียนตอบว่า

“เห็นขอรับผม”

“เห็นไหมทุกข์เจ็บปวดในสกลกายจิปาถะ สรรพเย็น สรรพร้อน สรรพโรค สรรพหิวข้าว สรรพกระหายน้ำ สรรพปวด อุจจาระปัสสาวะ”

เรียนตอบว่า

“เห็นด้วยรู้ด้วย รู้ด้วยเห็นด้วย ขอรับผม”

“เธอเห็นไหมความตายเป็นทุกข์ ถูกโรคชราถูกโรคต่าง ๆ ทำให้ตาย ถูกตัดคอ ถูกยิงตกรถตกรา ถูกทุบตีตาย ตกน้ำตาย ไฟไหม้ตาย ตายโหงจิปาถะ ตายผอม ตายแห้ง ตายจากเช้า สาย บ่าย เย็น ตายจากคุณความดีอันจะพึงได้พึงถึง เธอเห็นไหม รู้ไหม ทั้งเห็นทั้งรู้ ทั้งรู้ทั้งเห็นไหม”
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้