ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 15246
ตอบกลับ: 32
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

~ หลวงพ่อใช่ สุชีโว วัดปาลิไลยวัน(วัดเขาฉลาก) ~

[คัดลอกลิงก์]

ประวัติและปฏิปทา
พระครูวิสุทธิสังวร
(หลวงพ่อใช่ สุชีโว)


วัดปาลิไลยวัน (วัดเขาฉลาก)
ต.บางพระ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี



๏ คำนำ
๏ กิตติกรรมประกาศ
๏ ปฐมบทแห่งตำนานชีวิต  
๏ เฉียดเงามัจจุราช
๏ สัจธรรมแห่งความทุกข์
๏ ออกบวช
๏ ชีวิตพระวัดบ้าน
๏ วัดเขาพระบาทบางพระ
๏ สร้างวัดเขาฉลาก
๏ ความเป็นอยู่ในยุคแรก
๏ หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต  
๏ ติดความว่าง
๏ ศึกษาธรรมกับหลวงพ่อสาลี
๏ อุบายธรรมจากส้วมหลุม
๏ ณ เกาะสีชัง  
๏ กลางดงจงอาง
๏ อยู่กระท่อมผี
๏ ถอนอารมณ์
๏ โยมจวน
๏ ใต้ร่มเงาแห่งธรรม ณ วัดป่าบ้านตาด  
๏ สายสัมพันธ์หนองป่าพง
๏ สุปฏิปันโนแห่งหุบเขาฉลาก
๏ งานด้านการปกครองและสมณศักดิ์
๏ สู่แดนพุทธภูมิ
๏ ความเสื่อมแห่งสังขาร
๏ ล่วงลับลาโลก
๏ บรรณานุกรม

ขออภัย! โพสต์นี้มีไฟล์แนบหรือรูปภาพที่ไม่ได้รับอนุญาตให้คุณเข้าถึง

คุณจำเป็นต้อง ลงชื่อเข้าใช้ เพื่อดาวน์โหลดหรือดูไฟล์แนบนี้ คุณยังไม่มีบัญชีใช่ไหม? ลงทะเบียน

x
2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-10-22 19:09 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

หลวงพ่อใช่ สุชีโว


คำนำ

พระครูวิสุทธิสังวร (หลวงพ่อใช่ สุชีโว) เป็นพระเถระฝ่ายวิปัสสนาธุระรูปหนึ่งที่ทรงปฏิปทาสมแก่คำว่า “พุทธบุตร” อย่างแท้จริง ท่านได้ดำเนินตามปฏิปทาที่สมเด็จพระบรมศาสดาทรงวางไว้สู่ความหลุดพ้นด้วยความตั้งใจยิ่ง จนสำเร็จประโยชน์ตน แล้วมาเกื้อกูลประโยชน์แก่โลกนี้ต่อไป ปฏิปทาของท่านเป็นที่ยอมรับในบรรดาพระเถระฝ่ายวิปัสสนาธุระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบหลายรูปด้วยกัน อาทิ พระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฏ์ (หลวงปู่เทสก์ เทสรํสี), พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน), พระโพธิญาณเถร (หลวงปู่ชา สุภทฺโท) เป็นต้น ตลอดจนเป็นที่เคารพนับถือของศิษยานุศิษย์ทั้งฝ่ายบรรพชิตและฆราวาสอย่างสนิทใจ

จากที่กล่าวมาข้างต้น ชีวิตของท่านจึงเป็นคติที่อนุชนรุ่นหลังผู้ใฝ่ต่อทางสู่ความหลุดพ้น สมควรที่จะศึกษา แล้วน้อมนำมาปฏิบัติ ผู้รวบรวมจึงได้รวบรวมประวัติหลวงพ่อจากเอกสารต่างๆ มารวมไว้ในประวัติฉบับนี้ เพื่อหวังประโยชน์แด่สาธุชนผู้ใคร่ในธรรมทั้งหลาย

ถ้าประวัติหลวงพ่อฉบับนี้ ก่อให้เกิดผลดีแก่สาธุชนผู้ใคร่ในธรรมทั้งหลายแล้ว ผู้รวบรวมขอน้อมอุทิศถวายแด่พ่อแม่ครูบาอาจารย์ โดยเฉพาะพระครูวิสุทธิสังวร (หลวงพ่อใช่ สุชีโว) พระเถระผู้ทรงคุณอันประเสริฐ ถ้าหากมีข้อผิดพลาดประการใด ผู้รวบรวมขอน้อมรับไว้เพียงแต่ผู้เดียว และกราบขออภัยทุกๆ ท่านมา ณ ที่นี้ด้วย


รพงษ์ เบศรภิญโญวงศ์
ตุลาคม 2548
3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-10-22 19:09 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

หลวงพ่อใช่ สุชีโว


กิตติกรรมประกาศ

การรวบรวมประวัติหลวงพ่อใช่ในครั้งนี้ ประสบความสำเร็จด้วยความเมตตาของบุคคลดังรายนามต่อไปนี้

ท่านอาจารย์อนันต์ อกิญฺจโน วัดมาบจันทร์ อ.เมือง จ.ระยอง

ท่านอาจารย์สมชาย สิริธมฺโม วัดมาบจันทร์ อ.เมือง จ.ระยอง

พระอาจารย์วิชาญ ธมฺมาลโย สำนักสงฆ์โฆษิตตาราม จ.ชลบุรี

ครูบาอาท วัดมาบจันทร์ อ.เมือง จ.ระยอง

คุณพ่อคุณแม่ตลอดจนพี่ๆ น้องๆ ที่คอยให้ความช่วยเหลือมาโดยตลอด

ผู้รวบรวมขอกราบขอบพระคุณและขอบคุณในความเมตตาของทุกๆ ท่านมา ณ ที่นี้ด้วย
4#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-10-22 19:11 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

ขวามือ : หลวงพ่อใช่ สุชีโว


๏ ปฐมบทแห่งตำนานชีวิต

เส้นทางสู่ความหลุดพ้นที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้แล้วนั้น เป็นของจริงที่ผู้ปฏิบัติย่อมได้รับผลโดยไม่ขึ้นกับกาลเวลา ด้วยเหตุนี้แม้พระองค์จะเสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้วก็จริง แต่ก็ยังมีเหล่าพุทธสาวกผู้เด็ดเดี่ยวในการดำเนินตามทางสู่ความหลุดพ้น ได้ฝาก “ตำนานชีวิต” ในการเป็นพยานแห่งพระปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธองค์ เพื่อเป็นคติแก่โลกสืบไป

แม้ในประเทศไทย ก็ได้มีพุทธสาวกผู้ดำเนินตามทางสายประเสริฐสายนี้อยู่อย่างไม่ขาดสาย ซึ่งในจำนวนนี้รวมถึงพระครูวิสุทธิสังวร (หลวงพ่อใช่ สุชีโว) วัดปาลิไลยวัน ต.บางพระ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี พระเถระผู้มีปฏิปทาตรงต่อพระธรรมวินัย จนเป็นที่ยอมรับในหมู่สหธรรมิกผู้เป็นพระสุปฏิปันโน และบรรดาศิษยานุศิษย์ทั้งหลาย

ตำนานชีวิตของหลวงพ่อ เริ่มขึ้นเมื่อวันศุกร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2462 ตรงกับวันศุกร์ ขึ้น 9 ค่ำ เดือน 4 ปีมะแม ณ หมู่ที่ 1 ต.วัดหลวง อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี โยมบิดาและโยมมารดาของท่านคือ นายปุย และนางจาก รอดเงิน อาชีพชาวนา ท่านมีพี่น้องรวมตัวท่านเองเป็น 5 คน คือ

1. นางเจียก
2. นายจอก
3. น.ส.ช่วย (เสียชีวิตเมื่ออายุยังรุ่น)
4. พระครูวิสุทธิสังวร (หลวงพ่อใช่ สุชีโว)
5. นายชื่น

เมื่อเด็กชายใช่เจริญวัยพอสมควร ได้เป็นศิษย์วัดภายใต้การปกครองของพระครูอินทโมฬีสังวร (คำ) วัดหลวง อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี พระมหาเถระผู้เปี่ยมด้วยเมตตาธรรม เชี่ยวชาญด้านคันถธุระและวิปัสสนาธุระ ตลอดจนวิชาอาคมและการรักษาโรค

ด้านการศึกษา เด็กชายใช่จบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนวัดหลวงพรหมาวาส อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี  เมื่อปี พ.ศ. 2474


๏ เฉียดเงามัจจุราช

เมื่อเด็กชายใช่อายุได้ 10 กว่าขวบ วันหนึ่งในฤดูร้อน เด็กชายใช่และเพื่อนเด็กวัด ได้พากันเล่นสนุกโดยการเกาะและปีนป่ายรถขนซุงที่กำลังวิ่งช้าๆ อยู่ เล่นบนรถขนซุงจนเบื่อแล้ว ก็ได้พากันไปกระโดดน้ำเล่น ทำให้ร่างกายปรับตัวไม่ทัน ผลที่สุด เด็กๆ เหล่านั้นต่างพากันเป็นไข้ โดยเด็กชายใช่และเพื่อนอีกคนหนึ่งมีอาการหนักมาก

ต่อมาได้มีเด็กเสียชีวิตไปสองคน เด็กคนอื่นๆ อาการดีขึ้น เหลือแต่เด็กชายใช่ ที่ต้องทรมานกับแผลพุพองตามร่างกาย เวลากดที่ผิวหนังจะมีเสียงดัง “ฟอดๆ” พร้อมกับมีน้ำเหลืองไหลเยิ้มออกมา ไม่สามารถสวมเสื้อผ้าได้ ต้องนอนบนใบตอง

อย่างไรก็ตาม เมื่อพระครูอินทโมฬีศรีสังวร (คำ) ได้ตรวจดูอาการและจัดการผูกดวงให้แล้ว ท่านได้บอกกับนายปุยและนางจากว่า “มันไม่ตายหรอก” แล้วทุกอย่างก็เป็นไปตามคำกล่าวของท่าน อีกไม่กี่วันต่อมา อาการของเด็กชายใช่ก็ทุเลาลงและหายป่วยในที่สุด

ในภายหลัง หลวงพ่อท่านได้ดำริสร้างวิหารถวายท่านพระครูอินทโมฬีศรีสังวร (คำ) และได้สร้างเสร็จก่อนที่หลวงพ่อจะมรณภาพ อันเป็นการแสดงถึงความกตัญญูกตเวทีซึ่งเป็นเครื่องหมายของคนดีทั้งหลาย
5#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-10-22 19:12 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๏ สัจธรรมแห่งความทุกข์

กาลเวลาผ่านไป เด็กชายใช่ได้เติบใหญ่เป็นนายใช่ ผู้มีอุปนิสัยใจนักเลง รักความยุติธรรม ไม่รังแกหรือทำร้ายใครก่อน ทั้งยังช่วยเหลือผู้อ่อนแอที่โดนนักเลงคนอื่นรังแกโดยไม่หวั่นเกรงอาวุธใดๆ  ทั้งสิ้น

ในช่วงวัยหนุ่มนี้ นายใช่ได้ประสบกับสัจธรรมแห่งความทุกข์ อันได้แก่ ความพลัดพรากจากสิ่งเป็นที่รักที่พอใจก็เป็นทุกข์ และปรารถนาสิ่งใด ไม่ได้สิ่งนั้น นั่นก็เป็นทุกข์

เรื่องความพลัดพรากนั้น ได้เข้ามาในปี พ.ศ. 2479 เมื่อนายใช่อายุได้ 17 ปี ในวันหนึ่งขณะที่กำลังไถนาที่กลางทุ่งตามปกติ ญาติได้มาตามตัวกลับบ้านอย่างเร่งด่วน พร้อมแจ้งข่าวการสิ้นใจของมารดาให้ทราบ

หลวงพ่อได้เล่าถึงตอนนั้นให้ฟังว่า

“โยมแม่เขาป่วยมาหลายวัน ก่อนที่จะป่วยก็ออกไปนาตามปกติ วันหนึ่งขณะที่นั่งพักกินข้าวกลางวัน ได้เกิดลมหมุนที่เขาเรียกว่า ลมงวงช้าง ลมนั้นหอบเอาขนำนาหลังหนึ่งขึ้นไปลอยอยู่บนอากาศ โยมแม่ขณะนั้นอยู่คนเดียว พอเห็นเข้าก็ตกใจกลัว แต่นั้นมาก็ได้จับไข้และเสียชีวิตในที่สุด ตอนที่ญาติเขาไปตาม ผมยังไถนาอยู่เลย”

ในเรื่องการไม่ได้สิ่งที่ปรารถนานั้น นายใช่ในวัยหนุ่มได้มีความรักกับสาวชาวจีนซึ่งปลูกผักอยู่แถวบ้าน แต่ถูกพ่อแม่ฝ่ายหญิงกีดกั้น ถึงกระนั้นนายใช่ก็ไม่ย่อท้อ ได้อาศัยเพื่อนหญิงของสาวคนนั้นทำหน้าที่เป็นแม่สื่อ

ในเย็นวันหนึ่ง เพื่อนฝ่ายหญิงได้นำจดหมายมาให้ เนื้อความในจดหมายฉบับนั้น เป็นการนัดแนะของฝ่ายหญิงให้หนีตามไปในตอนเช้าวันนั้น โดยให้ไปเจอกันที่ท่ารถและต่อเข้ากรุงเทพฯ เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้จึงไม่ทันการและไม่สามารถจะทำอะไรได้ ได้แต่เสียใจ

หลวงพ่อสรุปเหตุการณ์ตอนนี้ว่า

“โบราณท่านว่า พ่อสื่อแม่ชัก วัวพันหลัก ทำไปทำมาแม่สื่อก็มาชอบเรา เรื่องก็เลยไปกันใหญ่ สงสารแต่ผู้หญิงคนนั้น ต้องเดินทางเข้ากรุงเทพฯ คนเดียว ข่าวว่าไปพักอยู่กับญาติ 2-3 วันจึงกลับมา แต่นั่นก็ไม่ได้ติดต่อกันอีก นี่แหละเรื่องของโลก”
6#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-10-22 19:13 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

พระครูสุนทรธรรมรส พระอุปัชฌาย์  


พระอธิการบุญมา พระกรรมวาจาจารย์  


๏ ออกบวช

หลังเสร็จจากการเกณฑ์ทหาร นายใช่ได้อุปสมบท เมื่อวันจันทร์ที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2484 ตรงกับวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 8 ปีมะโรง ณ พัทธสีมาวัดโพธิ์ อ.เมือง จ.ชลบุรี โดยมี

พระครูสุนทรธรรมรส วัดอ่างศิลา ต.อ่างศิลา อ.เมือง จ.ชลบุรี  เป็นพระอุปัชฌาย์

พระอธิการบุญมา วัดอุทยานนที ต.มะขามหย่ง อ.เมือง จ.ชลบุรี  เป็นพระกรรมวาจาจารย์

พระอธิการบุญยอด (พระอาจารย์ยอด) วัดโพธิ์ ต.บ้านโขด อ.เมือง จ.ชลบุรี  เป็นพระอนุสาวนาจารย์
7#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-10-22 19:14 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

พระอธิการบุญยอด พระอนุสาวนาจารย์


หลวงปู่เณร (อดีตพระอธิการบุญยอด)


สำหรับพระอธิการบุญยอดนั้น ภายหลังท่านได้ลาสิกขาออกมามีครอบครัว แล้วเมื่อปี พ.ศ. 2526 เมื่ออายุได้ 74 ปี ท่านได้ไปขอบรรพชากับหลวงพ่อ ซึ่งหลวงพ่อได้เมตตาอนุเคราะห์ในการบรรพชาครั้งนี้ โดยเป็นพระอุปัชฌาย์ พร้อมทั้งจัดหาเครื่องบริขารให้ เมื่อบรรพชาแล้ว หลวงพ่อได้ดูแลอดีตพระอธิการบุญยอด หรือที่เรียกกันว่าหลวงปู่เณร เป็นอย่างดี


๏ ชีวิตพระวัดบ้าน

หลังการอุปสมบท พระใช่ได้อยู่ศึกษาพระธรรมวินัยกับพระอาจารย์ยอดที่วัดโพธิ์ ท่านได้ใส่ใจอบรมพระใช่เป็นอย่างดียิ่ง ตัวพระใช่เองก็มีความใคร่ต่อการศึกษา ว่านอนสอนง่าย เมื่อพระอาจารย์ยอดสั่งให้พระใช่ท่องมนต์บทไหน พระใช่ก็จะรีบท่องทันที ทั้งยังเป็นผู้ยินดีรับฟังข้อตำหนิและรับแก้ไข ทำให้พระใช่เป็นที่รักใคร่ของพระอาจารย์ยอดและเพื่อนบรรพชิตด้วยกัน

ด้านการศึกษาพระปริยัติธรรม พระใช่สอบได้นักธรรมชั้นตรี เมื่อปี พ.ศ. 2484 และในปีถัดมา คือ พ.ศ. 2485 ก็สอบได้นักธรรมชั้นโท

ในระหว่างที่ศึกษานักธรรมนั้น พระใช่ได้ศึกษาการแปลบาลีควบคู่กัน ระยะแรกก็พอไปไหว แต่ระยะหลัง เนื่องจากการเรียนในสมัยก่อนต้องท่องจำกันให้ได้ทุกตัวอักษร ทำให้พระใช่เกิดอาการเครียดทางสมอง จึงต้องยุติการเรียนพระปริยัติธรรมในที่สุด

หลวงพ่อได้เล่าถึงการเรียนพระปริยัติธรรมของท่านไว้ว่า  “...บวชแล้วก็เรียน เรียนจนเกือบประสาทเป็นบ้า จิตมันรุนแรงไป ทำอะไรมันรุนแรง นิสัยเอาจริง เรียนนักธรรมโทคู่กับบาลี เรียนชวเลขด้วย เอาทุกอย่างไม่ให้ว่างเลย ชอบทำอะไรไม่ให้ว่าง

วันไหนเห็นพระเพื่อนต่างจังหวัดมาหานี่ ใจหายวาบเลย กลัวไม่ได้ดูหนังสือ นี่มันถึงขนาดนั้น แล้วต้องทำเป็นใจดีต้อนรับ ถ้าพูดอย่างนั้นจะสะเทือนใจเพื่อนใช่ไหม นี่ความรู้สึกถึงขนาดนั้น ถ้ารู้ว่าเพื่อนค้างคืนก็ตายแล้ว แสดงไม่ออก บอกไม่ได้ เสียเพื่อนหมด ตายแล้วคืนนี้ไม่ได้ดูอีก มันถึงขนาดนั้น ค้นคว้ามากมีประโยชน์เยอะ เป็นประโยชน์กับพวกเรา ค้นคว้าพระไตรปิฎกตั้งแต่ยังอยู่ในเมือง สมัยนั้นยังเป็นใบลาน ยังไม่มีเป็นเล่ม”

“เดิมทีผมก็ไม่ค่อยเอา ผมฝึกตัวเอง ผมได้ยินเจ้าคุณนิรันดร์ เป็นคนสะพานแดง จ.ชลบุรี เรียน ม.8 แล้วก็ไปบวชเป็นเณรอยู่วัดเขาบางทราย สมเด็จฯ ท่านเอาไปเรียนบาลีที่วัดเทพศิรินทร์ ตั้งแต่เป็นเณรสอบไม่ตกเลย อยู่ใต้ตึกสมเด็จฯ สมเด็จฯ อยู่ชั้นบน สามเณรชั้นล่าง เขาก็จะหาว่าทุจริต สอบไม่ตกเลย แต่ก็เป็นความสามารถ

ทุกวันนี้ก็ยังอยู่เป็นเจ้าอาวาสอยู่วัดเทพศิรินทร์ (หมายเหตุ : สมณศักดิ์สุดท้ายเป็นสมเด็จพระวันรัต ปัจจุบันมรณภาพแล้ว) เป็นคนชลบุรีนี่เอง องค์นี้ดูหนังสือเก่ง ไม่ยุ่งกับใครเลย ไม่เข้าสังคม ดูหนังสือติดเลย มีความรู้มาก ผมก็เอาอย่าง ผมได้ยินกิตติศัพท์อย่างนั้น ผมก็ขยันดูหนังสือ เขาว่าแม้แต่เข้าห้องน้ำ ท่านยังถือหนังสือเข้าไปอ่านด้วย ติดถึงขนาดนั้น ผมก็เอาอย่างท่านบ้าง เข้าห้องน้ำ ผมก็เอาหนังสือติดเข้าไปด้วย ผมก็พยายามเลียนแบบท่าน สมัยเรียนยังฉันเพล พอฉันเพลเสร็จก่อนจะนอนจะพักกลางวันสักตื่นหนึ่งนี่ต้องอ่านหนังสือให้ได้ 1 เรื่องก่อน ผมตั้งสัจจะไว้เพิ่มความรู้ คิดดูต้องกี่วัน วันละเรื่องๆ เท่าไรแล้ว

ผมก็เอาอย่างท่านเจ้าคุณนิรันดร์ ผมติดหนังสือ ผมมาสร้างวัดเขาฉลาก ผมมีหนังสือติดมา 100 กว่าเล่มที่ได้มา ใครให้มา เราก็เก็บเรื่อยมา สะสมไว้ ผมก็อยากทำหอสมุด ปลูกต้นสนเว้นที่ไว้จะทำหอสมุด คุณวรากรมา ก็พาเดินเที่ยวดู ก็ถามว่าตรงนี้เว้นว่างไว้ทำไม ก็บอกว่าจะทำหอสมุด ผมจะสร้างถวาย นั่นแหละ หอสมุดไรวา ผมได้หอสมุดสมปรารถนา ตั้งใจตลอดว่าจะทำหอสมุด ผมก็เคารพตำรามาก ก็ดูในหอสมุดซิ เขาส่งหนังสือมาให้ ดูไม่หวัดไม่ไหวเลย ผมก็รู้สึกปิติมาก หนังสือพยายามส่งเข้าหอสมุด”
8#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-10-22 19:15 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

พระใช่ สุชีโว


การใช้ชีวิตพระวัดบ้านนั้น พระใช่ต้องผจญกับมารในรูปของอารมณ์ทั้งความรักและความโกรธ แต่ท่านก็สามารถผ่านมาได้ด้วยดี ดังนี้

1) ครั้งหนึ่ง พระใช่ได้ไปอยู่ที่วัดอ่างศิลา ซึ่งเป็นวัดของพระอุปัชฌาย์ วันหนึ่งได้ยินหนุ่ม 2 คน คุยกัน คนหนึ่งบอกว่ากำลังไปจีบสาวคนหนึ่งที่อำเภอพนัสนิคม มีอาชีพอย่างนั้นๆ รูปร่างอย่างนั้นๆ ท่านนึกสังหรณ์ใจว่าจะเป็นแฟนเก่าหรือเปล่า  อยู่มาวันหนึ่งขณะที่อยู่ในวัด ท่านได้เห็นหญิงสาวคนหนึ่งเดินขึ้นมาจากโรงโป๊ะ เมื่อเห็นก็จำได้ทันทีว่า เป็นแฟนเก่านั้นเอง ท่านเล่าว่า ท่านรีบหลบทันทีเลย ไม่รู้ว่าเขาจะทันเห็นท่านหรือเปล่า ตั้งแต่นั้นมาก็ไม่เคยเจอกันอีกเลย

2) ในระหว่างที่อยู่วัดโพธิ์นั้น เวลาพระฉันอาหาร จะฉันรวมกันเป็นหมู่ โดยมีจานอาหารอยู่ตรงกลาง พระที่ร่วมวงฉันกับท่านมีอยู่รูปหนึ่งเป็นโรคชนิดหนึ่ง เกิดแผลพุพองทั่วร่าง ท่านมีความรังเกียจเป็นอย่างมาก เมื่อพระรูปนั้นตักอาหารอย่างใด ท่านจะไม่ฉันอาหารนั้นเลย ดังนั้น ท่านจึงต้องรีบตักอาหารให้เพียงพอก่อนที่พระรูปนั้นจะตัก จึงทำให้พระรูปนั้นขุ่นเคืองใจ

วันหนึ่ง เมื่อตั้งวงฉันอาหาร พระรูปนั้นจึงถ่มน้ำลายลงในอาหารทุกจาน ทำให้ท่านฉันไม่ได้ ท่านโกรธมาก เดินเข้าไปในกุฏิหยิบมีดขึ้นมาเล่มหนึ่ง กะว่าจะเอาไปแทงพระรูปนั้นให้หายโกรธ แต่ท่านก็พยายามระงับความโกรธอย่างที่สุด ได้นอนคลุมโปง ตัวสั่นเทา ท่านว่าสั่นขนาดกุฎิแทบไหว ได้มีพระรูปหนึ่งนำเรื่องไปกราบเรียนถวายพระอาจารย์ยอด พระอาจารย์ยอดได้เรียกท่านไปอบรมด้วยกุศโลบายอันเยือกเย็น จนท่านคลายโกรธลงไปได้บ้าง ท่านว่า ถ้าไม่ได้พระอาจารย์ยอดแล้ว ท่านคงจะกลายเป็นฆาตกรแน่ๆ เพราะนิสัยของท่านเป็นคนไม่ยอมใคร ไม่กลัวใครง่ายๆ อยู่แล้ว


หนังสือสุทธิของพระใช่ สุชีโว
9#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-10-22 19:16 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

พระใช่ สุชีโว


๏ วัดเขาพระบาทบางพระ

เมื่ออาการอาพาธจากโรคเครียดทุเลาลง พระใช่ได้พยายามศึกษาวิธีปฏิบัติพระกรรมฐานอย่างจริงจัง ต่อมาท่านได้ออกเดินธุดงค์กับคณะพระภิกษุจากวัดใกล้เคียงที่คุ้นเคยกันมาก่อน

อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไปหลายวัน พระบางรูปในคณะได้ประพฤติย่อหย่อนจากพระธรรมวินัย พระใช่กับคณะอีกส่วนหนึ่งได้ขอแยกทางออกเดินธุดงค์เพื่อแสดงหาครูบาอาจารย์ แต่ก็ยังไม่พบที่สอนทางตรง

พ.ศ. 2490 พระใช่พร้อมคณะได้เดินธุดงค์มุ่งหน้ามาทางอำเภอศรีราชา ได้พักปฏิบัติธรรมและจำพรรษาที่วัดเขาพระบาทบางพระ เป็นเวลาสองพรรษา

ที่วัดเขาพระบาทบางพระในสมัยนั้น มีสหธรรมิกร่วมปฏิบัติธรรมกันหลายรูป มีพระเถระอาวุโสเป็นประธานสงฆ์อยู่รูปหนึ่ง รวมทั้งอุบาสกอุบาสิกาผู้ปฏิบัติธรรมรวมอยู่หลายคนด้วย หนึ่งในจำนวนนั้นมีปัญหาเกิดขึ้นคือ เนื่องจากตนเคยขึ้นกรรมฐานกับพระธรรมยุต เวลามีปัญหาการปฏิบัติก็ให้ท่านช่วยแก้ปัญหาจนมีความก้าวหน้าพอสมควร ในเวลานั้นก็ใกล้พรรษาเข้ามาทุกที โยมแกก็คิดอยากกลับไปอยู่วัดฝ่ายธรรมยุต เพราะเวลาเข้าพรรษา แกก็อธิษฐานเข้าพรรษาด้วย และด้วยความที่แกเชื่อว่า ไม่มีพระมหานิกายที่จะสามารถปฏิบัติเก่งๆ พอจะเป็นอาจารย์ปรึกษาให้แกได้

วันหนึ่ง แกจึงมาปรึกษากับประธานสงฆ์ถึงความในใจของแก เวลานั้นพระใช่นั่งฟังอยู่ด้วย พระเถระรูปนั้นจึงมอบปัญหาให้ท่านแก้ไข

ขณะนั้น โยมผู้นั้นปฏิบัติขั้นกำหนดนาม-รูป แม้ว่าท่านจะผ่านขั้นนี้ไปแล้ว แต่ท่านก็ลองถามโยมเพื่อซักซ้อมความเข้าใจว่า นามเป็นอย่างไร รูปเป็นอย่างไร โยมก็ตอบตามภูมิของตนว่านามเป็นอย่างนั้นๆ รูปเป็นอย่างนั้นๆ ก็เป็นอันถูกต้อง ทีนี้ท่านจึงถามว่า ในขณะกำหนดนามรูปอยู่นั้น ถ้าเกิดมีธรรมะของพระพุทธเจ้าขึ้นมา เช่น วิริยะ อย่างนี้ได้ไหม

โยมตอบว่า “ไม่ได้” ท่านจึงได้โอกาสว่า ในขณะนั้นแม้ธรรมโอวาทของพระพุทธองค์ยังเกิดไม่ได้ แล้วธรรมยุตกับมหานิกายจะเกิดขึ้นได้ไหม พอโดนเข้าอย่างนี้ โยมก็จนแต้มบอก “ไม่ได้” เช่นกัน ส่วนพระเถระผู้ใหญ่รูปนั้นก็หัวเราะชอบใจใหญ่ และกล่าวสนับสนุนท่านว่า “ถูกของท่านใช่ ถูกของท่านใช่”


พระอาจารย์ชอบ สตฺตธโน
สหธรรมิกผู้ร่วมสร้างวัดปาลิไลยวัน (วัดเขาฉลาก)  

10#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-10-22 19:17 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๏ สร้างวัดเขาฉลาก

พ.ศ. 2491 ได้มีการบูรณะถนนสุขุมวิท ทำให้มีเสียงดังรบกวนความสงบ หลวงพ่อใช่จึงปรารภที่จะหาสถานที่ปฏิบัติใหม่ ระหว่างที่ซ่อมถนน ได้มีญาติโยมชวนหลวงพ่อไปดูสถานที่บริเวณหุบเขาฉลาก หลวงพ่อพร้อมด้วยพระอาจารย์เช้า จนฺทสีโล (ภายหลังลาสิกขาบทไป), พระอาจารย์ชอบ สตฺตธโน (ต่อมาเป็นเจ้าอาวาสวัดเกาะแตน อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี) และญาติโยมอีก 5-6 คน ได้ไปดูสถานที่ ท่านมีความพอใจในความวิเวกเหมาะแก่การภาวนาของหุบเขาฉลากเป็นอย่างยิ่ง

เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2492 หลวงพ่อพร้อมด้วยพระอาจารย์เช้า และพระอาจารย์ชอบ ได้อาศัยอยู่บริเวณสวนของนายเปรม (โป๊) นางกิมซัว สถิตย์เสถียร ซึ่งทั้งสองเป็นผู้ช่วยเหลือจัดสถานที่พักให้ในระยะแรก และนางพยุง แสงสว่าง น.ส.ชั้นยอด พยนต์ จัดเครื่องบริขารถวายประจำ

นอกจากนี้คณะญาติโยมประกอบด้วย น.ส.สำรอง สถิตเสถียร, นางฮื้อ น.ส.สำเนา บุรีเทศน์, นางตั้ง พยนต์, นางจิว ธาราศักดิ์, น.ส.บุญนารถ พยนต์, นายแดง นายจวน นายพยอม แสงสว่าง, นายละออง นางจำเนียร สุภาโอษฐ์ ร่วมกันปลูกกระต๊อบพื้นไม้หมากหลังคามุงจากขึ้น 3 หลัง และทำทางสำหรับให้พระเดินจงกรมได้ ใช้เวลาก่อสร้าง 1 วัน

หลังจากอยู่ได้นานพอสมควร นางศรีชุน นายศิริ จำปีรัตน์, นางพยุง แสงสว่าง ได้ช่วยกันสร้างศาลาชั่วคราวหลังเล็กขึ้น 1 หลัง ถังเก็บน้ำฝนขนาดเล็กก่ออิฐโบกปูน 1 ลูก ต่อมาได้ปลูกกระต๊อบมุงจากขึ้นอีก 2 หลังที่เชิงเขา เพื่อเป็นที่พักปฏิบัติธรรมของอุบาสกอุบาสิกา

หลวงพ่อจำพรรษาปีแรกที่เขาฉลากเมื่อปี พ.ศ. 2493 ปรากฏว่า เจ้าคณะอำเภอไม่ยอมอนุญาตให้จำพรรษาที่เขาฉลาก เพราะถือว่าเป็นสำนักปฏิบัติที่ยังไม่ได้ขออนุญาตโดยถูกต้อง นอกเสียจากจะเข้าสังกัดวัดใดวัดหนึ่งในอำเภอศรีราชา ต่อมาท่านอาจารย์นิด วัดรังสีสุทธาวาส (ไร่กล้วย) ได้เมตตารับสำนักหุบเขาฉลากไว้ในปกครอง ในพรรษาแรกนี้ มีพระอยู่จำพรรษา 4 รูป อุบาสก 1 คน อุบาสิกา 5 คน อุบาสิกาชั้นยอด พยนต์ เป็นผู้ทอดผ้ากฐินในพรรษานี้

ในปีถัดมา ได้เกิดอุปสรรคขึ้นอีก คราวนี้ท่านได้ขอความช่วยเหลือจากวัดวิเวการาม, ท่านพระครูพิภัทรธรรมคุณ วัดประชุมคงคา (โรงโป๊ะ), ท่านพระครูปรีชานุศาสน์ วัดบึงบวรสถิต และท่านพระครูไพศาลสารคุณ วัดโพธิ์ จ.ชลบุรี ท่านทั้งสามได้ช่วยเจรจากับท่านพระครูพรหมจริยธิมุต วัดบางเป้ง เจ้าคณะอำเภอ จนหลวงพ่อสามารถอยู่จำพรรษาที่เขาฉลากต่อไปได้ ภายใต้สังกัดวัดรังสีสุทธาวาส (ไร่กล้วย) เช่นเดิม

พรรษาที่ 5 พ.ศ. 2497 อุบาสิกาแฉล้ม แสงสว่าง และอุบาสิกาชั้นยอด พยนต์ มีความศรัทธาถวายที่ดินจำนวน 4 ไร่ 3 งาน 10 ตารางวา ให้สร้างเป็นวัดถาวร พร้อมกับถวายเงินอีกจำนวนหนึ่งเพื่อสร้างกุฎิ หลวงพ่อจึงย้ายสถานที่ปฏิบัติธรรมจากที่ของนายเปรม นางกิมซัว ซึ่งให้อาศัยชั่วคราว มาเริ่มก่อสร้างในที่ดินของอุบาสิกาแฉล้ม และอุบาสิกาชั้นยอด ซึ่งเป็นที่ตั้งของวัดปาลิไลยวัน (วัดเขาฉลาก) ในปัจจุบัน

พรรษาที่ 13 พ.ศ. 2505 ในปีนี้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองคณะสงฆ์จากคณะสังฆมนตรี เป็นเถรสมาคม คณะวัดเขาฉลากจึงเริ่มขออนุญาตทางราชการเพื่อสร้างวัดอย่างถูกต้อง โดยมีนายวิชัย อุนากูล เป็นผู้ประสานงาน และนางพยุง แสงสว่าง ถวายที่ดินเพิ่มอีก รวมเป็นที่ดินขณะนั้นประมาณ 9 ไร่ 3 งานเศษ ในการขออนุญาตนี้ได้อาศัยเมตตาบารมีของพระครูสุนทรธรรมรส จนทุกอย่างสำเร็จด้วยดี

ในการทอดกฐินสามัคคีเมื่อปี พ.ศ. 2507 หลวงพ่อและคณะศรัทธาอันประกอบด้วย นายวิชัย อุนากูล, อุบาสิกาทองเย็น อุนากูล, อุบาสิกาชั้นยอด พยนต์, นายทองใบ บุรีเทศน์, นายประสิทธิ์ ปัทมดิลก, อดีตพระอาจารย์ยอด ได้ปรึกษาหารือถึงวิธีการขออนุญาตสร้างอุโบสถ คณะผู้ริเริ่มก่อสร้างได้มอบหมายให้นายวิชัย อุนากูล เป็นผู้ดำเนินการขออนุญาต และในการนี้ ผู้ที่มอบที่ดินให้เป็นที่ตั้งพระอุโบสถ คือ นายทองใบ-นางน้อม บุรีเทศน์, นายบุญรอด-นางศรีเชิญ ผลชีวิน

วันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2508 ทางวัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา กว้าง 20 เมตร ยาว 40 เมตร
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้