ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

~ หลวงพ่อใช่ สุชีโว วัดปาลิไลยวัน(วัดเขาฉลาก) ~

[คัดลอกลิงก์]
21#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-10-22 19:27 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๏ โยมจวน

โยมจวน เป็นอุบาสกที่อยู่ปฏิบัติธรรมกับหลวงพ่อในสมัยแรกๆ แกเป็นคนมีพื้นฐานทางจิตดี มีสมาธิเข้มแข็ง โดยได้กสิณสีขาวเป็นอารมณ์ หลวงพ่อเล่าให้ฟังว่า กสิณแกได้แล้วไม่เสื่อม แม้ตอนกินข้าว แกก็ประคองดวงกสิณไว้เฉพาะหน้าตลอด ตาแข็ง มือก็ตักข้าวกินไปโดยแทบไม่มองในจานเลย

แกเป็นคนไม่ห่วงเรื่องกินเรื่องอยู่เท่าไหร่นัก บางครั้งหลวงพ่อก็ไปธุดงค์ด้วยกัน เวลาไปพักที่ไหนใหม่ๆ แกก็แทบไม่ได้หลับได้นอนเลย แม้หลวงพ่อเองซึ่งสมัยนั้นยังหนุ่มแน่นกว่าแกมากนัก เมื่อเดินทางมาเหน็ดเหนื่อย ก็แค่สวดมนต์ทำวัตรนิดหน่อย คิดว่าจะพักผ่อนเอาแรงเสียก่อน พอมีกำลังตื่นขึ้นมา ค่อยภาวนาจริงๆ จังๆ ก่อนพักท่านก็เห็นโยมนั่งภาวนาอยู่ พอตื่นขึ้นก็ยังเห็นโยมนั่งอยู่ที่เดิม ครั้นมีโอกาสสนทนากับโยมจวน เพราะท่านไม่เห็นโยมพักผ่อนเลย แกตอบว่า “ไม่ได้หรอกขอรับท่านอาจารย์ เราเพิ่งจะมาถึงใหม่ๆ เจ้าของสถานที่เขาจะต้อนรับเราแค่ไหน เราก็ไม่รู้ จะประมาทไม่ได้”

ก่อนที่ท่านจะเดินทางขึ้นมาปฏิบัติบนเขาเขียวครั้งแรก ท่านก็บอกให้โยมจวนช่วยพิจารณาดูว่าจะมีอุปสรรคอะไรไหม โยมแกก็กำหนดอยู่ครู่หนึ่ง ก็กราบเรียนว่า “นิมนต์ท่านอาจารย์เดินทางตามสบายเลยขอรับ กระผมพิจารณาภูเขาทุกลูกทะลุปรุโปร่งหมด ไม่เห็นมีอุปสรรคอันตรายใดๆ ขัดขวาง มีก็แต่เห็นเมฆฝนตั้งเค้าอยู่”

แต่แรกที่ท่านได้ยินดังนั้นก็ไม่ใคร่เชื่อมากนัก เพราะเพิ่มจะแค่กลางเดือนสี่ ลมว่าวก็ยังพัดอู้ๆ อยู่ ครั้นพอหลวงพ่อเดินทางขึ้นไปก็เอาญาติโยมไปกัปปิยะทางด้วยหลายคน ขากลับเกิดฝนตกลงมาห่าใหญ่ ต่างคนต้องตัดเอาใบก้านกล้วยมาเป็นร่มกันฝน ท่านจึงได้นึกเลื่อมใสโยมจวน

อย่างไรก็ตาม ท่านได้พิจารณาแล้วว่า แม้โยมจวนจะเป็นผู้มีสมาธิจิตเข้มแข็ง แต่ก็เป็นแค่ขั้นโลกียฌานเท่านั้น ท่านจึงคิดจะอนุเคราะห์โดยการแนะนำให้โยมไปปรึกษากับท่านอาจารย์ถวิล วัดวิเวการาม

ท่านอาจารย์ถวิลได้พิจารณาดูก็ได้ให้อุบายโยมจวนให้รู้จักใช้สมาธิที่ได้เป็นพื้นฐานในการพิจารณาน้อมธรรมเข้ามาในตัว หกวันแรกผ่านไปไม่ได้ผล พอวันที่เจ็ด ท่านได้แนะอุบายสุดท้ายคือ ให้โยมกำหนดดวงกสิณ ค่อยๆ จับหันเข้าหาตัว แล้วก็ผ่าเข้ามาในตัวโยมจวน เมื่อโยมนำมาปฏิบัติก็บังเกิดผลทันที และด้วยพื้นฐานสมาธิจิตที่เข้มแข็งอยู่แล้ว ก็ทำให้โยมจวนเห็นแจ้งในอริยสัจสี่ทันที  ภายหลังไม่นาน โยมจวนก็เสียชีวิต หลังฌาปนกิจแล้ว หลวงพ่อได้เก็บอัฐิของแกไว้บูชาบนหิ้งพระในห้องส่วนตัวท่าน ท่านสังเกตดูเรื่อย ก็เห็นว่า อัฐินั้นทำท่าจะรวมตัวเป็นพระธาตุเหมือนกัน
22#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-10-22 19:53 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

พระประธานภายในศาลาวัดป่าบ้านตาด จ.อุดรธานี


พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน)


๏ ใต้ร่มเงาแห่งธรรม ณ วัดป่าบ้านตาด


หลวงพ่อได้พบกับ พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน) เป็นครั้งแรกที่วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ องค์หลวงตาได้ทักหลวงพ่อว่า “สีจีวรท่านเหมือนพ่อแม่ครูจารย์มั่นเลย” หลวงพ่อได้กราบเรียนว่า จำสีจีวรหลวงปู่มั่นมาจากความฝัน และได้เล่าเรื่องที่ท่านเคยฝันเห็นหลวงปู่มั่นให้องค์หลวงตาฟัง

องค์หลวงตาท่านจึงว่า “นี่แสดงว่าท่านมีนิสัยกับองค์ท่านอยู่ จึงได้มีนิมิตให้เห็นอย่างนั้น” แล้วองค์หลวงตาได้ซักถามประวัติหลวงพ่อต่อไป

“ใครเป็นอาจารย์กัมมัฏฐานของท่าน”

“อาจารย์ถวิล ขอรับ”

“อาจารย์ถวิลเป็นลูกศิษย์ใคร”

อาจารย์เกิ่ง ขอรับ”

“อาจารย์เกิ่งเป็นคนจังหวัดอะไร”

“จังหวัดสกลนครขอรับ”

พอถามเท่านี้ องค์หลวงตาก็รู้ว่าเป็น พระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตฺตโก ศิษย์รุ่นอาวุโสของหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต

ต่อมาท่านได้ไปศึกษาปฏิบัติธรรมกับองค์หลวงตาที่วัดป่าบ้านตาด ต.บ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี ซึ่งในช่วงนั้นมีครูบาอาจารย์อยู่ที่นั้นมาก รวมทั้ง พระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร เนื่องจากในสายปฏิบัติมีกฎอยู่ข้อหนึ่งว่า ถ้าพระอาคันตุกะมาขออยู่ด้วย หากยังไม่คุ้นเคยในข้อวัตรปฏิบัติของกันและกันแล้ว แม้พระอาคันตุกะจะมีพรรษามากก็ตาม ต้องนั่งต่อท้ายพระผู้มีพรรษาน้อยที่สุดในสำนักนั้น จนกว่าครูบาอาจารย์เห็นสมควร จึงนั่งตามลำดับพรรษาได้ ดังนั้น ในช่วงแรกหลวงพ่อได้ถูกจัดให้นั่งอาสนะสุดท้ายเพื่อศึกษาข้อปฏิบัติก่อน

หลังจากที่หลวงพ่อได้มีโอกาสสนทนาธรรมและรับอุบายจากองค์หลวงตา วันรุ่งขึ้น พระลูกวัดก็มาจัดบาตรและอาสนะของหลวงพ่อให้นั่งติดกับองค์หลวงตา เป็นรูปที่สองรองจากองค์หลวงตาตามลำดับพรรษา หลวงพ่อบอกกับพระรูปนั้นว่า ให้ท่านนั่งที่เก่าก็ดีอยู่แล้ว พระรูปนั้นได้ตอบไปว่า ทำตามคำสั่งขององค์หลวงตา นับเป็นความเมตตาอย่างยิ่งขององค์หลวงตา แม้ในภายหลัง หลวงพ่อมักกล่าวสรรเสริญองค์หลวงตาให้คณะศิษย์ฟังเสมอ

ครั้นได้อยู่ศึกษาธรรมและข้อปฏิบัติจากองค์หลวงตาเป็นเวลาพอสมควร หลวงพ่อได้กราบลาองค์หลวงตากลับชลบุรี พร้อมกันนั้นได้นิมนต์องค์หลวงตาแวะเยี่ยมวัดเขาฉลาก ซึ่งท่านรับที่จะมา หากได้โอกาสอันเหมาะสม และในกาลต่อมา องค์หลวงตาได้เมตตาแวะมาเยี่ยมวัดเขาฉลาก ตามคำนิมนต์ ยังความปิติแก่หลวงพ่อและคณะวัดเขาฉลากยิ่งนัก
23#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-10-22 19:53 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

พระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตฺตโก


พระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร


๏ สายสัมพันธ์หนองป่าพง

ช่วงบ่ายวันหนึ่ง หลวงพ่อชา สุภทฺโท วัดหนองป่าพง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ได้มากิจธุระทางจังหวัดชลบุรี และได้แวะเยี่ยมวัดเขาฉลาก หลังจากทักทายปราศรัยกันแล้ว จึงได้ทราบว่า หลวงพ่อชาอายุมากกว่าหลวงพ่อหนึ่งปี ด้านพรรษาก็ต่างกันหนึ่งพรรษาเช่นกัน

ช่วงหนึ่งของการสนทนา หลวงพ่อชาได้ถามหลวงพ่อว่า ศึกษาด้านข้อปฏิบัติและพระธรรมวินัยจากสำนักไหน หลวงพ่อได้ตอบว่า ศึกษามาจากหลวงพ่อสาลี วัดเขาวัง จ.ราชบุรี ผู้เป็นศิษย์หลวงปู่เภา วัดเขาวงกฎ จ.ลพบุรี หลวงพ่อชายิ้มและอุทานว่า “งั้นเราก็เค้าเดียวกัน ผมก็ศึกษามาจากวัดเขาวงกฎเหมือนกัน”

หลวงพ่อได้เล่าเกี่ยวกับหลวงพ่อชาไว้ตอนหนึ่งว่า “...เป็นวาสนาของเรากับหลวงพ่อชา เกิดจากต้นตอเดียวกัน สำนักปฏิบัติสายหลวงพ่อเภาเหมือนกัน เราก็เลยสบาย อาจารย์ทวีจะให้ผมไปเป็นสาขา ไปช่วยติดต่อหลวงพ่อชาให้รับเขาฉลากเป็นสาขา พอท่านทราบจากผมว่า ผมเป็นลูกศิษย์สายหลวงปู่เภา ท่านว่าไม่ได้ ให้เป็นสาขาไม่ได้ ต้องร่วมกัน ท่านว่าอย่างนี้ มันระดับเดียวกัน...”

จากสายสัมพันธ์ครูบาอาจารย์ พระเณรทั้งสองสำนักจึงมีการไปมาหาสู่ ศึกษาข้อวัตรปฏิบัติร่วมกัน อาทิเช่น พระอาจารย์ผัส จารุธมฺโม เจ้าอาวาสวัดหนองเลง สาขาวัดปาลิไลยวัน (วัดเขาฉลาก) อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี

พระอาจารย์ผัส จารุธมฺโม มีนามเดิมว่า นายผัส ภูมิสา เกิดที่ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ต่อมาได้อุปสมบทที่จังหวัดอุดรธานี เมื่ออายุได้ 33 ปี แล้วไปจำพรรษาที่วัดหนองป่าพงกับหลวงพ่อชา สุภทฺโท ต่อมาได้ย้ายไปจำพรรษาที่สาขาวัดหนองป่าพง ในอ.เชียงคำ จ.พะเยา และจังหวัดเพชรบุรี

ท่านอยู่กับหลวงพ่อชาได้ 8 พรรษา เมื่อพรรษาท่านมากขึ้นต้องนั่งหัวแถวของหมู่สงฆ์ และจำเป็นต้องแสดงธรรม แต่ท่านไม่ถนัดการเทศนา ท่านจึงได้ขออนุญาตหลวงพ่อชาไปจำพรรษากับหลวงพ่อที่เขาฉลาก 2 ครั้งแรกหลวงพ่อชาบอกให้รอไปก่อน ครั้งที่ 3 ท่านบอกว่า “อยากไปก็ไปเถอะ ถ้าไม่ถึง 10 ปี อย่ากลับมา” ด้วยเหตุนี้ พระอาจารย์ผัสจึงมาอยู่กับหลวงพ่อที่เขาฉลากตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2525  ต่อมาหลวงพ่อได้เริ่มสร้างวัดหนองเลงในปี พ.ศ. 2530 และในปี พ.ศ. 2531 ท่านได้ส่งพระอาจารย์ผัสมาประจำที่นี่


หลวงพ่อชา สุภทฺโท

24#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-10-22 19:55 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

หลวงพ่อใช่ สุชีโว ขณะอยู๋ในกุฏิของท่าน


๏ สุปฏิปันโนแห่งหุบเขาฉลาก

กาลเวลาที่ผ่านมาได้เป็นเครื่องพิสูจน์ถึงความเป็นพระสุปฏิปันโนผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบของหลวงพ่อ แม้ว่าจะลำบากสักเพียงใด ท่านก็ยังมั่นคงในข้อวัตรปฏิบัติเสมอมา กระทั่งในช่วงวัยชรา หากท่านไม่ติดธุระที่จำเป็นหรือเจ็บป่วยจริงๆ ท่านจะเดินบิณฑบาตโปรดญาติโยมทุกเช้า ตราบจนวาระสุดท้ายของชีวิต ท่านเคยอบรมเสมอว่า “การบิณฑบาตนั้น เป็นนิสัยของพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระอริยเจ้าทั้งหลาย ฉะนั้น พวกเราที่เข้ามาบวชในพระธรรมวินัยของพระองค์ท่าน ต้องดำเนินตามนิสัยของท่าน เว้นแต่มีเหตุขัดข้องจริงๆ”

หลวงพ่อเป็นพระที่สันโดษ ไม่แสวงหาลาภยศสรรเสริญ ได้เคยมีลูกศิษย์บางคนติดตั้งเครื่องปรับอากาศถวายหลวงพ่อ ท่านได้ฉลองศรัทธาเจ้าภาพเพียงคืนเดียว แล้วท่านก็ไม่ใช้อีกเลย ท่านไม่เรี่ยไรใครและไม่อนุญาตให้ตั้งตู้บริจาคภายในวัด ท่านกล่าวว่า ถ้าใครศรัทธาเขาบริจาคเอง กุศลจะเกิดกับตัวเขาอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย

ตอนที่วัดไทยกุสินาราสร้างเสร็จ ได้มีพระผู้ใหญ่มาชักชวนให้หลวงพ่อไปเป็นเจ้าอาวาสที่นั่น แต่ท่านได้ปฏิเสธไป แม้แต่หนังสือประเภทปาฏิหาริย์ จะมาสัมภาษณ์ท่านเพื่อเอาประวัติลงหนังสือ ท่านได้กล่าวกับพวกเขาว่า “พวกโยมเที่ยวไปเขียนกันว่าพระองค์นั้นองค์นี้เป็นพระอริยะ พวกโยมทราบได้อย่างไร และจะทำให้พระพวกนั้นเสื่อมเสียไปด้วย ไม่ควรเขียนเพื่อขายหนังสืออย่างเดียว” พวกนั้นก้มลงกราบ และกล่าวว่าไม่เคยมีพระรูปไหนพูดกับพวกเขาอย่างนี้เลย

หลวงพ่อเป็นผู้มีความกตัญญูกตเวที เมื่อตั้งวัดเขาฉลากได้ระยะหนึ่ง ท่านได้รับเอาโยมบิดามาอยู่ด้วย และได้บำรุงโยมบิดาด้วยปัจจัยสี่มิให้ขาดแคลน ตลอดจนให้คำแนะนำในข้อธรรมปฏิบัติ ซึ่งโยมบิดาก็ปฏิบัติตามด้วยดีและอยู่ ณ วัดเขาฉลาก ตราบจนสิ้นอายุขัย

สำหรับอดีตพระอาจารย์ยอด ซึ่งเคยอบรมหลวงพ่อเมื่อครั้งอยู่ที่วัดโพธิ์ จ.ชลบุรี ต่อมาได้บรรพชาเป็นสามเณรที่เขาฉลาก เมื่อายุได้ 74 ปี หลวงพ่อได้ดูแลเป็นอย่างดี ดังที่หลวงปู่เณร (อดีตพระอาจารย์ยอด) ได้เล่าใน “หลวงปู่เณรอาลัย” ในอนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพหลวงพ่อ ความว่า

“ส่วนฉันเอง ต่อมาเมื่อปี 2526 ฉันพิจารณาดูแล้วว่าหลวงพ่อใช่องค์นี้ เป็นผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ พอจะเป็นที่พึ่งแก่ฉันได้ ฉันอายุ 74 ปี ใกล้ตายแล้ว จึงตัดสินใจสละลูกเมียสมบัติทั้งหมด ไปหาท่านขอบรรพชา ท่านก็เมตตาอนุเคราะห์เป็นพระอุปัชฌาย์ให้ เครื่องอัฏฐบริขารทั้งหมดท่านเมตตาจัดให้ นับว่าเป็นผู้มีพระคุณอย่างสูง เมื่อบวชแล้วท่านก็แนะนำสั่งสอนข้อวัตรปฏิบัติให้ แล้วยังเมตตาอีก ท่านเห็นว่าฉันแก่แล้ว ก็บอกว่าไม่ต้องลงไปบิณฑบาตที่ตีนเขา มันเดินไกล ให้บิณฑบาตที่โรงครัว ให้แม่บ้านเขาใส่ให้ แล้วยังมีเมตตาอีกตั้งมากมาย...”

คุณธรรมประการหนึ่งที่เป็นลักษณะเด่นของหลวงพ่อ คือความเมตตา ทั้งในหมู่ศิษยานุศิษย์และบุคคลทั่วไป ตลอดจนสัตว์ทั้งหลาย อย่างทั่วถึงกัน

พระภิกษุสามเณรนั้น หากท่านรูปใดอาพาธ หลวงพ่อจะดูแลให้กำลังใจ แนะนำวิธีบำบัดรักษา ถ้ามีอาการรุนแรงจนถึงกลับต้องนอนโรงพยาบาล หลวงพ่อก็จะเมตตาไปเยี่ยมไข้อยู่เสมอๆ ทำให้พระเณรที่กำลังอาพาธ มีกำลังใจสู้กับทุกขเวทนาที่เกิดขึ้น

ในส่วนของฆราวาสญาติโยม ท่านเมตตาให้คำปรึกษาเวลาพวกเขาเหล่านั้นประสบปัญหาชีวิต ตลอดจนให้ความช่วยเหลือตามควร แม้กระทั่งพวกพ่อค้า แม่ค้าขายยา ขายน้ำผึ้งที่เดินทางมาไกลๆ มาขอร้องให้ท่านช่วยอุดหนุน ด้วยความเมตตา ท่านจะสั่งให้แม่ชีซื้อแบบเหมาหมด โดยไม่สนใจว่าจะเป็นยาดีหรือน้ำผึ้งปลอม ถ้ามีหลายเจ้าก็จะเฉลี่ยซื้อเท่าๆกันหมดทุกคนเพื่อไม่ให้เสียน้ำใจ

พลเอกสุเมธ ภวมนตรี ได้เล่าถึงความเมตตาของหลวงพ่อใน “สร้างเหตุให้ดี แล้วผลจะดี” ในอนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพหลวงพ่อไว้ว่า

“หลวงพ่อมีความเมตตาแก่ผู้มีความทุกข์ มีลูกศิษย์ของหลวงพ่อคนหนึ่งทำกิจการค้า แต่มีหนี้สินมาก คิดจะหนีเจ้าหนี้ หลวงพ่อไม่ให้หนี แนะนำให้ทำบุญ ให้มีสติ และหลวงพ่อได้แผ่เมตตาให้ จนปัจจุบันนี้มีกิจการดีมาก อีกรายหนึ่ง ถูกฟ้องเกี่ยวกับหุ้นส่วนโรงแรม เมื่อหลวงพ่อพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นฝ่ายถูก ท่านก็แนะนำเช่นเดียวกันกับคนแรก หลวงพ่อแผ่เมตตาช่วยจนชนะคดี ปัจจุบันนี้มีฐานะดีมาก

หลวงพ่อมีเมตตาช่วยเหลือทุกคน ท่านให้การต้อนรับอย่างเป็นกันเอง ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง ไม่ว่าจะมีหรือจนเพียงใด แม้แต่บางคนที่ไม่เคยรู้จักกับหลวงพ่อมาก่อน ท่านก็ช่วยเหลือ เช่นมีอยู่ครั้งหนึ่งในตอนเช้า ข้าพเจ้าและคุณพงศ์สวัสดิ์ รัตนะเหลี่ยมได้ไปพบหลวงพ่อซึ่งกำลังฉันอาหารเช้าอยู่ สตรีมีครรภ์ผู้หนึ่งได้เข้ามากราบหลวงพ่อและพูดอะไรกับท่าน ข้าพเจ้าได้ยินไม่ถนัด หลวงพ่อได้ถามคุณพงศ์สวัสดิ์ว่า “เจี๊ยบมีสตางค์ไหม” หลวงพ่อบอกให้เจี๊ยบมอบเงินให้แก่สตรีผู้นั้นไป 300 บาท ข้าพเจ้าเรียนถามหลวงพ่อว่า สตรีผู้นั้นเป็นใคร หลวงพ่อตอบว่า “ไม่ทราบ ไม่เคยเห็นมาก่อน สงสารเด็กในท้อง”...”

แม้พวกสัตว์ทั้งหลาย หลวงพ่อก็มีเมตตาต่อพวกมัน หากสัตว์ตัวใดผอมโซหรือได้รับบาดเจ็บ ท่านจะให้ความช่วยเหลือทันที ในวันหนึ่ง ท่านเห็นตัวด้วงเกาะอยู่ที่ล้อรถ ท่านยังเข้าไปจับมันออก กลัวรถจะทับมัน

ในด้านการอบรมศิษยานุศิษย์นั้น ท่านก็ทำได้เป็นอย่างดียิ่ง ท่านคอยเอาใจใส่พระบวชใหม่ให้มีความเข้าใจในเรื่องของศีล วินัย และข้อวัตรต่างๆ ท่านสอนผู้บวชใหม่ว่า “เมื่อบวชแล้ว เธอจะต้องเป็นพระ พระในที่นี้คือเป็นพระตามพระธรรมวินัย หมายถึงต้องนั่งอย่างพระ เดินอย่างพระ พูดอย่างพระ ฉันดื่มอย่างพระ ถ่ายอุจจาระปัสสาวะอย่างพระ” คำว่าอย่างพระในที่นี่ ก็คืออย่างพระธรรมวินัย ตามเสขิยวัตรนั่นเอง ท่านเคยพูดอยู่เสมอว่า “อุปัชฌาย์อาจารย์เขามีไว้เพื่ออบรมสั่งสอนกัน ไม่ใช่มีไว้เพื่อเรียกขานกันเฉยๆ”

หลวงพ่อเป็นผู้ใคร่ต่อการศึกษา ที่กุฏิท่านจะมีหนังสือมากมาย และท่านยังทุ่มเทให้กับการศึกษาพระปริยัติธรรมของพระภิกษุสามเณร โดยการสอนนักธรรม ท่านมีความละเอียดในเรื่องพระวินัยและธรรมะ สามารถอธิบายให้เข้าใจง่าย

จากความเป็นพระสุปฏิปันโนผู้เอื้อประโยชน์แก่หมู่ชนทั้งหลาย ได้เป็นดั่งกลิ่นหอมทวนลมไปในทิศทั้งสี่ ประกาศเกียรติคุณของหลวงพ่อให้สาธุชนได้รับรู้ แม้ป่าเขาจะหนาทึบเพียงใด ก็ไม่อาจปิดกั้นเกียรติคุณของหลวงพ่อผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบแห่งเขาฉลากได้เลย

“พระหลงใหลยศศักดิ์ผิดหลักพระ
ต้องมุ่งละทุกข์โทษโลภโกรธหลง
จึงจะชอบระบอบบุตรพุทธองค์
พระถ้าหลงลาภยศก็หมดงาม”

ลิขิตหลวงพ่อใช่

25#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-10-22 19:56 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

พัดยศสมณศักดิ์ที่พระครูวิสุทธิสังวร  


๏ งานด้านการปกครองและสมณศักดิ์

วันที่ 25 สิงหาคม 2508 รักษาการเจ้าอาวาสวัดปาลิไลยวัน

วันที่  30 มิถุนายน 2509 เจ้าอาวาสวัดปาลิไลยวัน

วันที่  7 กันยายน 2522 เจ้าคณะตำบลบางพระ

วันที่  16 กุมภาพันธ์ 2524 ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์

วันที่  5 ธันวาคม 2525 ได้รับแต่งตั้งเป็นพระครูวิสุทธิสังวร ชั้นเอก ฝ่ายวิปัสสนาธุระ


พัดยศสมณศักดิ์จากประเทศศรีลังกา


วันที่  15 พฤษภาคม 2531 ได้รับพัดยศสมณศักดิ์จากประเทศศรีลังกา


หลวงพ่อกับคณะศิษยานุศิษย์ ถ่ายที่ประเทศอินเดีย  


๏ สู่แดนพุทธภูมิ

หลวงพ่อท่านเคยกล่าวถึงการไปสังเวชนียสถานว่า “ไปแล้วเกิดจิตเกิดใจที่สงบลึกซึ้งปีติมากกว่ากราบไหว้พระองค์ที่อยู่เมืองไทยหลายเท่านัก เสมือนได้เข้าไปกราบนมัสการอยู่แทบฝ่าพระบาทของพระองค์ ใครได้ไปเป็นกำไรของชีวิต” และท่านยังได้พูดให้เห็นเป็นรูปธรรมอีกว่า “ไหว้พระพุทธเจ้าที่เมืองไทย สมมุติเราพูดพระพุทธคุณได้ 100 คำ แต่ถ้าไปไหว้พระองค์ที่อินเดีย จะเกิดปีติ เกิดจิตเกิดใจ พูดถึงพระพุทธคุณได้ถึง 500 คำ”

จากคำปรารภตรงนี้เอง ท่านจึงได้นำคณะศรัทธาญาติโยมไปนมัสการสังเวชนียสถาน ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2529 ถึง พ.ศ. 2538 จำนวน 8 ครั้งด้วยกัน ระหว่างที่ไป ท่านได้มีเมตตาแสดงธรรมโปรดคณะศิษยานุศิษย์ แม้ว่าในช่วงครั้งหลังๆ ท่านจะอาพาธก็ตาม

26#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-10-22 19:57 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้


๏ ความเสื่อมแห่งสังขาร

ร่างกายนั้นเมื่อเกิดขึ้นแล้ว ก็ต้องมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา สำหรับสุขภาพของหลวงพ่อในช่วงบั้นปลายชีวิต ท่านได้อาพาธหลายโรคด้วยกัน โดยโรคประจำตัวของท่านคือ โรคเกี่ยวกับกระเพาะและลำไส้อักเสบ ท่านเป็นโรคนี้นานมาก และได้เคยปรารภว่าอาการของโรคนี้เป็นวิบากกรรมจากสมัยที่ท่านเป็นเด็ก ได้ร่วมกับเพื่อนเด็กวัด นำข้าวก้นบาตรมาคลุกกับลูกสลอดให้กากิน พอกากินแล้วเกิดอาการถ่ายท้อง ไม่สามารถบินไปไหนได้ ท่านและเพื่อนๆ ได้ตีกาตัวนั้นจนตาย และนำไปให้บึ้งกิน

นอกจากนี้ ท่านยังมีอาการปวดหลัง ความดันโลหิต เบาหวาน โรคหลอดลมอักเสบ ไขมันในโลหิตสูง โรคหัวใจ ท่านต้องเดินทางไปให้แพทย์ตรวจสุขภาพเป็นประจำ


๏ ล่วงลับลาโลก

วันที่ 3-4 ตุลาคม พ.ศ. 2538 เป็นวันสอบธรรมะประจำปีของพระนวกะ หลวงพ่อยังคงปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเจ้าคณะตำบล และเจ้าของสนามสอบอย่างบริบูรณ์

5 ตุลาคม พ.ศ. 2538 ได้มีญาติโยมมาทำบุญที่วัด พร้อมทั้งได้นิมนต์พระจากวัดสาขาของวัดเขาฉลากมาร่วมด้วย เมื่อพิธีเสร็จลง พระภิกษุสามเณรที่มาจากวัดสาขาต่างขอโอกาสลาท่านกลับ โดยไม่ได้เฉลียวใจเลยแม้แต่น้อยว่า เป็นการกราบลาครั้งสุดท้าย

ต่อจากนี้จะขอนำบันทึกของ พระวันชัย กิตฺติโสภโณ จากวิสุทธิสังวรบูชา หน้า 223-226 ซึ่งท่านได้ลำดับเหตุการณ์เอาไว้ ดังนี้

“พระเดชพระคุณหลวงพ่อ มีโรคประจำตัวท่านหลายโรค เช่น ท่านเคยเป็นโรคลำไส้ใหญ่อักเสบ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหลอดลมอักเสบ และมีไขมันในหลอดเลือดสูงเป็นบางครั้ง โรคที่ท่านเป็นอยู่ประจำคือ โรคหลอดลมอักเสบ ไปตรวจครั้งสุดท้ายเมื่อวันพุธที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2538 ที่โรงพยาบาลกรุงเทพ 2 ซอยศูนย์วิจัย ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ กรุงเทพฯ โดยเป็นคนไข้ของคุณหมอสมศักดิ์

ปรากฏว่าความดันปกติ โรคหลอดลมอักเสบก็ใกล้จะปกติแล้ว คุณหมอสมศักดิ์สั่งยาเพิ่มจากเดิมนิดหน่อย และนัดวันที่จะไปตรวจอีกครั้งในวันพุธที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2538 แต่ยังไม่ถึงวันที่คุณหมอนัด เหตุการณ์อันเศร้าสลดที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อต้องมามรณภาพละสังขารไปเสียก่อน ดังจะได้ลำดับความไว้เป็นที่ระลึกพระคุณท่าน ดังต่อไปนี้

เมื่อเวลาประมาณ 02.30 น. (ตีสองครึ่ง) ได้ยินเสียงหลวงพ่อท่านเรอเบาๆครั้งหนึ่ง อาตมาจำวัดอยู่ใต้ถุนกุฏิท่านจึงได้ยินเสียง ตอนนี้หลวงพ่อลุกออกมาจากที่พักของท่านแล้ว ซึ่งปกติช่วงระยะเวลานี้ถ้าท่านปกติดี ท่านจะลุกขึ้นมาเดินจงกรม อีกสักครู่ได้ยินเสียงท่านเรออีกครั้ง คราวนี้เสียงดังผิดปกติ คล้ายๆ เหมือนคนแน่นหน้าอก

อาตมารีบลุกออกจากกลดวิ่งขึ้นไปบนกุฏิ พบท่านกำลังนั่งที่พื้นไม้หน้าโซฟาที่ท่านนั่งรับแขกญาติโยมเป็นประจำ มีเหงื่อออกโทรมทั้งกาย ท่านเห็นอาตมาเลยเรียกเข้าไปช่วยท่าน บอกให้อาตมากดหลังท่านเบาๆ อาตมามองดูเหมือนท่านจะแน่นหน้าอก อยากจะอาเจียน แต่อาเจียนไม่ออก มีแต่เสียงเรอลมออกเท่านั้น

ท่านบอกว่าปวดขาข้างซ้ายมาก ให้อาตมาเอามือขวากดแรงๆ สักครู่ท่านบอกปวดแขนซ้ายมากตั้งแต่หัวไหล่ไปตลอดแขนถึงปลายนิ้วมือ เดี๋ยวท่านก็บอกให้กดหัวไหล่ขวาให้ท่านหน่อย กดแรงๆ อาตมาก็เอามือซ้ายกดให้ท่าน ท่านบอกว่าแขนขวาของท่านชาไปหมดเป็นอาการของคนที่จะเป็นอัมพาต ท่านให้กดแรงๆ ค่อยดันเลื่อนมือไปจนสุดปลายนิ้ว ท่านบอกปวดนิ้วมือมาก ก็กดบนนิ้วมือท่าน

อาตมาสังเกตดูที่ใบหน้าท่านตลอด ท่านจะกัดฟันและเป่าลมปากออกมา เนื่องจากคงจะปวดมาก ท่านบอกปวดต้นขาซ้ายและแขนขวามาก อาตมานวดกดตรงที่ท่านปวดสักครู่ใหญ่ ท่านถามว่า “อุ้มประคองผมเข้าไปที่ในกลดไหวหรือเปล่า” อาตมาตอบว่า “ไหวครับหลวงพ่อ” อาตมาเอามือสอดใต้รักแร้ของท่าน ประคองท่านไปที่กลด นอนลงพักบนที่นอนและบีบนวดกดตรงที่ท่านปวดอีก ถ้าความปวดเบาลงบ้างท่านก็นอนสงบ ถ้ามีความปวดเกิดขึ้นท่านก็พลิกไปพลิกมา กัดฟันเป่าปาก เป็นแบบนี้จนได้ยินเสียงพระตีระฆัง ประมาณ 03.30 น. (ตีสามครึ่ง) เป็นเวลาที่พระจะต้องตื่นลงมาทำวัตรเช้าตี 4 และครองผ้า

ท่านบอกอาตมาให้ไปเรียกหลวงพี่แสงชัยมาช่วยนวดด้วย อาตมายังไม่ไปเรียกทันที รอสักครู่เพื่อให้พระลงทำวัตร อาตมาก็กราบเรียนท่านว่า “หลวงพ่อครับ เดี๋ยวกระผมจะไปตามหลวงพี่แสงชัยมาช่วยนวดครับ” ท่านบอกว่า “ไปแล้วท่านจะลงมาทำวัตรหรือ” ความจริงวันนั้นหลวงพี่แสงชัยก็ไม่ได้ลงมาทำวัตรจริงๆ ด้วย อาตมาก็เลยเงียบ

ท่านให้บีบนวดกดตรงที่ท่านปวดต่อไป บางทีท่านเอามือท่านกุมอาตมากดแรงๆ ให้กำมือทุบเบาๆ บ้าง สับเบาๆ บ้าง ช่วงนี้อาตมาคิดในใจว่า ในราตรีนี้อาตมาจะไม่ครองผ้ายอมขาดครองผ้าเพื่อดูแลปรนนิบัติท่าน สักครู่ท่านบอกว่า “วันชัย ลงไปเอาผ้าครองแล้วรีบขึ้นมา” อาตมาก็ลุกขึ้นแล้วรีบลงไปเอาผ้าครองขึ้นมาแล้วบีบนวดท่านต่อ ตอนนี้อาตมาซึ้งใจท่านมาก ท่านมีเมตตากับอาตมามาก ไม่ยอมให้อาตมาขาดครองผ้า ถ้าขาดครองผ้าต้องอาบัตินิสสัคคีย์ปาจิตตีย์ แสดงว่าท่านเคารพพระธรรมวินัยมาก ถึงแม้ท่านจะเจ็บป่วยถึงขนาดนี้ ยังไม่ยอมผิดพระธรรมวินัยเลย เคารพพระธรรมวินัยจริงๆ

ตอนที่ท่านปวดมากๆ จะมีเหงื่อออกมาก ท่านบอกว่า “ผมก็ภาวนาสู้เหมือนกัน” อาตมาก็นวดและคอยเช็ดเหงื่อท่านไปด้วย ท่านนอนตะแคงข้างขวา บอกให้อาตมาตบหลังท่านเบาๆ สามครั้ง ดูอาการท่านเหมือนกับแน่นหน้าอก หายใจไม่ค่อยออก อยากจะอาเจียนแต่อาเจียนไม่ออก ท่านพูดว่า “ออกสิๆ” แต่ไม่ออก และต่อมาให้อาตมาตบหลังท่านเบาๆ อีกสามครั้ง อาการปวดเริ่มมากขึ้นๆ สักครู่ก็ค่อยๆ เบาลงๆ ท่านบอกอาตมาว่าปวดปัสสาวะ “ปัสสาวะลงในกระโถนได้ไหม” อาตมาตอบว่า “ได้ครับ” ท่านก็ลุกขึ้นนั่งปัสสาวะลงในกระโถนแล้วส่งให้อาตมา อาตมาก็นำออกไปเทในห้องน้ำท่านแล้วล้างกระโถน เช็ดกระโถน

ปกติท่านจะลุกนั่งเองไม่ไหว มีบางเวลาท่านให้อาตมาประคองท่านลุกขึ้นนั่ง ท่านยังนั่งไม่ไหว ต้องลงนอนตามเดิมอีก แต่ตอนปัสสาวะท่านกลับลุกขึ้นนั่งเองไหว อาตมาคิดว่าท่านคงจะค่อยยังชั่วขึ้นแล้ว ขณะมองนาฬิกาเป็นเวลา 05.55 น. รีบลงมารับประเคนเครื่องดื่มใต้กุฏิให้ท่าน แล้วบอกโยมแม่ชีว่า “หลวงพ่อป่วยหนักนะ ไม่รู้จะไหวหรือเปล่า” แล้วรีบขึ้นมาบนกุฏิท่าน ต้มน้ำร้อนให้ท่าน เพราะท่านบอกว่าให้ต้มน้ำร้อนให้ท่านด้วย

พอเสียบปลั๊กกาน้ำร้อน ได้ยินเสียงท่านครางครืดๆ อาตมารีบไปที่มุ้งกลดของท่าน เห็นมือท่านเกี่ยวมุ้งกลดดึงไปแนบที่หน้าอีก อาตมาเลยรีบเข้าไปในมุ้งกลด เห็นท่านเอามือประกบหน้าอก อาตมารีบเข้าไปประคอง แล้วเรียกท่านสามครั้ง ตอนนี้ท่านไม่รู้สึกตัวเสียแล้ว มีแต่เพียงลมปุดๆออกจากปากท่านจนหมดลมสุดท้าย ท่านละสังขารไปด้วยอาการอันสงบในเวลาประมาณ 05.59 น. ของเช้าวันศุกร์ที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2538 สมกับที่ท่านเคยบอกพระว่า ผมเป็นอะไรจะไม่ร้องสักแอะเดียว” โดยคำสอนของท่านที่ตราตรึงในจิตใจเสมอ ก็คือ

“เยือกเย็นเหมือนดั่งน้ำฝน
อดทนเหมือนดั่งผาหิน”

27#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-10-22 19:58 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

สรีระสังขารของหลวงพ่อใช่ สุชีโว


การจากไปของหลวงพ่อได้นำความอาลัยมาสู่คณะศิษยานุศิษย์เป็นอย่างยิ่ง จากนั้นได้มีการบำเพ็ญกุศลเรื่อยมา ในการสวดพระอภิธรรม 7 คืนแรก ได้อาราธนาครูบาอาจารย์มาแสดงพระธรรมเทศนารูปละคืน



12 ตุลาคม พ.ศ. 2538 ทำบุญเลี้ยงพระเมื่อสวดครบเจ็ดวัน



24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2538 ทำบุญเลี้ยงพระเมื่อครบห้าสิบวัน



13 มกราคม พ.ศ. 2539 ทำบุญเลี้ยงพระเมื่อครบ 100 วัน



7 เมษายน พ.ศ. 2539 พระราชทานเพลิงศพ โดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวฑฺฒโน) เสด็จทรงเป็นองค์ประธาน ณ เมรุชั่วคราว วัดปาลิไลยวัน (วัดเขาฉลาก) ต.บางพระ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี

แม้ธาตุขันธ์ของหลวงพ่อจะแตกสลายไปตามกฎของธรรมชาติแล้วก็ตาม แต่ความดีทั้งหลายที่ท่านได้กระทำบำเพ็ญไว้ จะยังคงเป็นอนุสรณ์ถึงท่าน และเป็นคติแก่อนุชนรุ่นหลังสืบไป

“ถึงบิดามารดาคณาญาติ
อีกโอวาทของครูผู้สงสาร
จะเตือนเราเช้าค่ำประจำการ
ฤๅจะปานตัวเราเฝ้าเตือนตัว”

ลิขิตหลวงพ่อใช่


28#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-10-22 19:59 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

เครื่องบริขาร พัดยศ และรูปภาพของหลวงพ่อใช่ สุชีโว

29#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-10-22 20:00 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย kit007 เมื่อ 2013-10-22 20:01

• รวมภาพเกี่ยวกับหลวงพ่อใช่-วัดปาลิไลยวัน •


อัฐิธาตุหลวงพ่อใช่ สุชีโว


อัฐิธาตุและรูปปั้นหุ่นขี้ผึ้งหลวงพ่อใช่ สุชีโว


อัฐิธาตุหลวงพ่อใช่ สุชีโว


ภายในกุฏิหลวงพ่อใช่ สุชีโว


ศาลาไม้ วัดปาลิไลยวัน (วัดเขาฉลาก)

30#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-10-22 20:03 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย kit007 เมื่อ 2013-10-22 20:04

บรรณานุกรม

(1) สุชีโวรำลึก อาจาริยบูชาแด่พระครูวิสุทธิสังวร (ใช่ สุชีโว)

(2) ทรง จิตประสาท, นที ลิ้มประสิทธิ์ศักดิ์, อรรณพ ดิษริยกุล และคณะ. วิสุทธิสังวรบูชา

(3) พระครูวิสุทธิสังวร (ใช่ สุชีโว). วิสุทธิสังวรธรรม, 2541

(4) อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พระครูวิสุทธิสังวร (ใช่ สุชีโว)

(5) บันทึกประวัติบางส่วนของหลวงพ่อ โดยลูกศิษย์ท่านหนึ่ง



.............................................................

คัดลอกมาจาก ::
http://www.geocities.com/dharmapage/
                                                                                       
.....................................................

ที่มา http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=22809
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้