ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 2156
ตอบกลับ: 2
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

ลัทธิบูชางู บูชานาค

[คัดลอกลิงก์]

ลัทธิบูชางู บูชานาค


ในตำราเกี่ยวกับศาสนาต่างมีความเห็นตรงกันว่าศาสนาที่นับถืองูเป็นศาสนาเก่าแก่ดึกดำบรรพ์ มีมาก่อนสมัยพุทธกาลนับเป็นพันๆปีทีเดียว เช่นที่เรียกกันว่าศาสนา ปฤศ หรือ ปฤศวิ พวกนับถือบูชาดินและงู พวกที่นับถืองูนี้คือพวกกราวิเกียร์ ซึ่งต่อมากลายเป็นพวกทมิฬ พวกนับถือแผ่นดิน ภูเขาว่าเป็นสิ่งประเสริฐเลิศกว่าสิ่งทั้งปวงเพราะเป็นบิดามารดาของสรรพสิ่งทั้งหลายนอกจากนี้ยังนับถือสัตว์มีพิษที่อยู่ในดินคืองู ว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์อีกด้วย

การบูชางูบูชานาคนี้ ในอินเดียปัจจุบันก็ยังมีนับถือกันอยู่ ในหนังสือประเพณีฮินดู ดังกล่าวข้างต้นได้ยกตัวอย่างพิธีนครปัญจมี (Nagara Panchami) ว่ามีการเลี้ยงงูในเดือนกุมภาพันธ์ พิธีนี้เป็นการเลี้ยงงูเห่าโดยทั่วๆ ไป คือประชาชนนำอาหารได้แก่นม กล้วยไปเลี้ยงงูที่อยู่ตามรูตามโพรงเท่าที่จะหาได้ พิธีบูชางูของอินเดียทำกันอยู่เสมอในระหว่างเดือนกรกฏาคม เช่นพิธีนาควิธานำ ในหนังสือ คำให้การพราหมณ์อัจจุตะนัน ได้กล่าวถึงพิธีนี้ไว้ว่า

“เดือน ๙ ชื่อนาควิธินำ วันขึ้น ๕ ค่ำ แต่งเครื่องบูชาขนมของกินดอกไม้ธูปเทียนบูชาพญาเศษนาค พราหมณ์ราชครูเขียนรูปพญาเศษนาคแปดหาง เมื่อบูชานั้นปิดประตูวัง ประตูบ้านกระทำบูชาทุกวังทุกบ้าน”

เรื่องพิธีนาควิธานำที่กล่าวถึงข้างต้นนี้ พราหมณ์ ป.ส.ศาสตรี ได้ให้คำอธิบายเพิ่มเติมไว้ว่า “วันขึ้น ๕ ค่ำ เดือนศราวณะเป็นฤกษ์บูชารูปพญาเศษนาค และนาคผู้เป็นบริวารอีก ๘ นิยมกันว่าผู้บูชานาคเช่นนี้จะไม่มีอันตรายจากงู ตำราไม่กล่าวว่าต้องปิดประตูบ้านบูชา แต่น่าจะเชื่อว่าโดยมากคงเลือกปิดประตู ด้วยเขาเลือกบูชาที่นอกชานเรือน ถ้าเปิดประตูไว้ก็คงได้รับความไม่สะดวกเช่นลมพัดแรง ประทีปที่จุดบูชาอาจดับหรืออาจมีสุนัขเข้ามา”

ในตอนต้นกล่าวถึงการบูชางูที่เรียกว่านครปัญจมีซึ่งทำในเดือนกุมภาพันธ์ แต่ในอีกแห่งหนึ่งกล่าวว่าพิธีนาคปัญจมี แต่ทำในวันขึ้น ๕ ค่ำ เดือนศราวณะคือเดือน ๙ ตรงกับที่กล่าวมาแล้วข้างต้น แต่ขยายความออกไปว่าในแคว้นองคราษฎร์ (เบงกอล) ยังทำกันอยู่ พิธีนี้ในตำนานบางแห่งว่าเป็นวันที่พระกฤษณะสังหารพญานาคชื่อ กาลี เป็นพิธีที่ชนทั้งหลายกระทำเพื่อป้องกันมิให้งูมาขบกัดตน แต่จากคำอธิบายหลายๆ อย่าง ดูจะนอกเหนือไปจากการบูชาพระกฤษณะ

พิธีบูชาดังกล่าวข้างต้นมีการเชิญต้นปัญจธารี ซึ่งบางท่านแปลว่าต้นกระบองเพชร ต้นไม้ชนิดนี้ถือกันว่าเป็นต้นไม้ของมนสาเทวี ผู้เป็นเจ้าแห่งงูเหมือนกัน มนสาเทวีมีประวัติว่าเป็นธิดาของพระกัศยป คือเป็นพ่อลูกเดียวกันกับพญาเศษนาค และมีศักดิ์เป็นน้องพญาเศษนาคนั่นเอง


2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2015-5-9 17:47 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

มนสาเทวีเป็นภรรยาของมุนีชื่อชรัตการุ มนสาเทวีมีชื่อเรียกกันหลายชื่อ เช่น ชยัดเคารี นิตยา และปัทมาวดี ใน เทวีปุราณะ กล่าวว่า นางมนสาเทวีนั้น “งามดุจดวงศศิธรประดับด้วยไข่มุกมีค่า ล้วนแต่มณีอันได้แต่หัวนาคทรงเป็ดเป็นพาหนะ แวดล้อมไปด้วยนาคสำคัญทั้ง ๘”

การบูชามนสาเทวีในเดือนกรกฏาคม ซึ่งเป็นเดือนเริ่มฤดูฝน ก็มีเค้าเงื่อนชอบกลเพราะในฤดูฝนพื้นดินจะมีพวกงูเลื้อยเพ่นพ่านเต็มไปหมด พวกมนุษย์คงจะเกิดความกลัวขึ้นมา จึงทำพิธีบูชามนสาเทวีเพื่อให้นางไปกำชับกำชาพวกงู ไม่ให้มาทำร้ายพวกตน ด้วยเหตุนี้จึงต้องเอาต้นกระบองเพชรเข้ามาบูชาในบ้าน เพื่อให้งูเห็นจะได้ไม่กล้าทำร้ายคนในบ้าน

ตามประเพณีเมื่อเอาต้นกระบองเพขรมาตั้งไว้ในที่อันควรแล้ว ก็สังเวยด้วยข้าวขิจาดี ข้าวชนิดนี้เป็นข้าวประสมกับถั่วแระ แล้วเอามาหุง ในวันทำพิธีนี้มีข้อห้ามหลายอย่าง เช่นห้ามไถนา ห้ามตัดหรือหั่นผักหญ้า ห้ามหุงต้มอาหารไม่รับประทานอาหารที่หุงต้ม และให้นมสดเป็นอาหารแก่งู พิธีนี้เขาว่าต้นเรื่ื่องเกิดจากหญิงท้องแก่คนหนึ่ง ที่ชอบเลี้ยงอาหารแก่พวกงูต่างๆ จนมนสาเทวีโปรด จึงได้เกิดพิธีนี้ จากเรื่องนี้ทำให้นึกถึงเรื่องที่เคยเชื่อกันว่า สตรีมีครรภ์พวกงูจะไม่ทำร้าย บางทีจะมาจากคติความเชื่อเรื่องเดียวกัน ในหนังสือ An Introduction to The Popular Religion and Folklore of Northen India แต่งโดย W.Crooke หน้า ๖๗๕ กล่าวว่าถ้าเงาของหญิงมีครรภ์ทอดไปถูกงูก็จะทำให้งูตาบอด

ในวันนาคปัญจมีที่กล่าวถึงข้างต้นว่าห้ามไถนานั้นก็เพราะเกรงไปว่าจะไถไปถูกงูเข้านั่นเอง มีตำนานเล่าถึงต้นเรื่องไว้ว่า

กาลครั้งหนึ่ง มีชาวนาคนหนึ่งกำลังไถนาอยู่ ผาลไถได้ขุดลงไปในรูงูซึ่งมีลูกงูตัวเล็กๆ อยู่หลายตัว ลูกงูเหล่านั้นถูกผาลไถตายหมด เมื่อแม่งูกลับมารู้ว่าลูกตายและพบรอยเลือดที่ผาลไถก็รู้ว่าชาวนาเป็นคนฆ่าลูก จึงตามชาวนาไปที่บ้าน แล้วกัดชาวนาตลอดจนคนในบ้านตายหมด เท่านั้นยังไม่หายแค้นเมื่อแม่งูทราบว่ายังเหลือลูกสาวของชาวนาอยู่อีกคนหนึ่ง แม่งูจึงตามไปที่บ้านขณะนั้นลูกสาวชาวนากำลังบูชาพญาเศษนาคอยู่ แม่งูเลื้อยเข้าไปในกองไม้จันทร์ ซึ่งอยู่ตรงหน้ารูปพญาเศษนาค แม่งูได้ดื่มน้ำนมที่ตั้งสังเวยไว้ เมื่อแม่งูกินแล้วความโกรธก็ดูจะบรรเทาเบาบางลง ได้ออกไปปรากฏตัวตรงหน้าลูกสาวชาวนาแล้วถามว่า หล่อนเป็นลูกสาวใคร เมื่อลูกสาวชาวนาเล่าให้ฟังแม่งูก็สารภาพว่าตนได้ฆ่าพ่อแม่พี่น้องของหล่อนหมด แต่ไม่เป็นไรพอมีทางแก้ไข ให้เอาน้ำทิพย์ไปหยอดในปากก็จะฟื้นขึ้นมา ลูกสาวชาวนาเอาน้ำทิพย์ไปหยอดในปากพ่อแม่ตามที่แม่งูแนะนำ คนเหล่านั้นก็ฟื้นขึ้นมา

ด้วยเหตุนี้ในวันนาคปัญจมี จึงได้ห้ามอะไรต่างๆ ดังกล่าวมาข้างต้นนั้น พิธีนาคปัญจมียังคงทำกันอยู่ในอินเดียและเนปาล ในเนปาลยังมีชื่อของพญานาคแปลกๆ และเขาไม่ทำร้ายงู จัดเตรียมพิธีบูชากันอย่างจริงจัง

นอกจากพิธีต่างๆ ที่กล่าวมาแล้ว ยังมีพิธีของชาวฮินดูอีกอย่างหนึ่งเรียกว่า อนันตะจตุรทศี ตกในวันขึ้น ๑๔ ค่ำเดือนภัทรบท คือเดือน ๑๐ (ในราวเดือนกันยายน เป็นวันนักขัตฤกษ์ของพญานาคชื่อ อนันตนาคราช ผู้มีกายยาวไม่มีที่สิ้นสุด ความจริงก็เป็นนาคตัวเดียวกันกับที่กล่าวมาแล้ว แต่เหตุใดจึงมาทำในวันนี้อีกยังไม่พบตำนาน สังเกตชื่อพิธีที่กำหนดไว้เช่น วันนาคปัญจมี ก็ทำในวันขึ้น ๕ ค่ำ พิธีนครปัญจมีทำในเดือนกุมภาพันธ์ ประมาณเดือน ๓ ของไทย และวันอนันตะจตุรทศี ทำในวันขึ้น ๑๔ ค่ำ บางทีจะมีเหตุการณ์อะไรในวันดังกล่าว ซึ่งยังไม่พบอธิบายเท่านั้น


3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2015-5-9 17:48 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

ที่กล่าวว่า พญาเศษนาค กับ พญาอนันตนาคราช เป็นนาคตัวเดียวกันนั้น ก็เพราะในตำนานฮินดูกล่าวว่า

อนันต (Ananta) แปลว่าไม่สิ้นสุด หมายถึงมีตัวยาวมากสุดประมาณเป็นชื่อหนึ่งของเศษะ (Sesha) ก็พญาเศษนาคนั้นเป็นเจ้าแห่งนาคทั้งหลายอยู่ในบาดาลมีพันเศียร และขดร่างเป็นที่บรรทมของพระวิษณุ ชูเศียรแผ่เป็นเพดานกั้นเบื้องบน ซึ่งเป็นเวลาที่พระวิษณุบรรทมพักผ่อนรอเวลาที่จะสร้างโลกใหม่ หน้าที่ของพญาเศษนาคมีมากจึงกล่าวไว้ในตำนานหลายแห่ง บ้างก็ว่าโลกอยู่บนเศียรของพญาเศษนาค เมื่อพญาเศษนาคอ้าปากหาวคราวใดโลกก็กระเทิือน (แผ่นดินไหว) คราวนั้น และที่สำคัญก็คือเมื่อจะสิ้นสุดกัลป์คือโลกหมดอายุ พญาเศษนาคก็มีหน้าที่พ่นพิษเป็นไฟเผาผลาญโลก ที่เราเรียกกันว่า ไฟบรรลัยกัลป์หรือไฟล้างโลก

เมื่อครั้งเทวดาและอสูรกวนเกษียรสมุทร ก็ใช้พญาเศษนาคต่างเชือกเส้นใหญ่พันรอบมันทระ (Mandara) ๔ รอบ แล้วดึงชักเขามันทระให้หมุนไปมา

กล่าวเฉพาะรูปพญาเศษนาคว่าทรงอาภรณ์สีม่วงสวมสร้อยคอสีขาวกรหนึ่งถือคันไถ อีกกรหนึ่งถือสาก ใน บาลีลิปิกรม ว่า มีหน้าเป็นคน มีหางเป็นงูเป็นพวกกึ่งเทวดา มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า อนันต มเหสีชื่ออนันตศิรษา ที่คอหรือที่แผ่แม่เบี้ยเรียกว่า มณีทวีป (เกาะแห่งเพชร) วังที่ประทับชื่อ มณีภีตติ (กำแพงเพชร) หรือ มณีมณฑป (วังเพชร)

ในตำนานทั่วๆ ไปบางครั้งก็ออกชื่อพญาอนันตนาคราช บางครั้งก็ออกชื่อพญาเศษนาค เพราะเป็นนาคตัวเดียวกันนั่นเอง ส่วนตำนานในเอกสารฝ่ายไทยชอบอ้างชื่อพญาอนันตนาคราชมากกว่าพญาเศษนาค เรื่องรูปพญาเศษนาคที่กล่าวว่ามี ๒ กรนั้นยังไม่พบ บางทีจะเป็นแบบพระราหูที่มีร่างเป็นงู มี ๒ กร ใบหน้าเป็นมนุษย์เช่นเดียวกับมนสาเทวีซึ่งเป็นน้องสาว แต่ที่เห็นโดยมากจะเป็นพญานาคเต็มตัวอย่างเรือพระที่นั่งอนันตนาคราชเป็นต้น

ในส่วนประวัติก็มีต่างกันอยู่บ้าง ตามคัมภีร์บุราณะกล่าวว่าพญาเศษนาคเป็นโอรสของพระกัศยปและนางกัทรุร่วมพระบิดาเดียวกันกับพญาครุฑแต่ในหนังสือ นารายณ์สิบปาง ฉบับโบราณของคุณหญิงเลื่อนฤทธิ์ ต.จ.กล่าวไปอีกอย่างหนึ่งว่า

“พระอิศวรผู้เป็นเจ้าจึงเปลื้องสายซำร่ำออก บันดาลให้เป็นพระอนันตนาคราช มีศักดานุภาพยิ่งนัก พระอนันตนาคราชมีจิตคิดฟุ้งซ่าน อยากจะสำแดงฤทธิ์จึงออกวาจา ว่าผู้ใดในไตรภพนี้ไม่มีฤทธิ์เสมอเราผู้ชื่อว่า พระอนันตนาคราชนี้หามีไม่แล้วหรือเทวดาองค์ใดจะมีฤทธิ์บ้าง ก็มาลองฤทธิ์กันต่อพระพักตร์พระผู้เป็นเจ้าทั้งสี่พระองค์ เทพยดาทั้งหลายมิอาจที่จะผจญด้วยพระอนันตนาคราชไม่ตอบประการใด

ฝ่ายพระพายผู้เป็นธาตุแห่งโลก มีฤทธิ์ศักดาอันประเสริฐจึงรับว่า เราชื่อพระพายจะขอลองฤทธิ์กับท่าน ฝ่ายพระอิศวรผู้เป็นเจ้าทรงทราบ ก็ส่องญาณดูก็รู้ว่าเกิดเหตุแล้วจึงเกิดผลจึงมีเทวบัญชาอนุญาตให้ท่านทั้งสองลองฤทธิ์กันฝ่ายพระอนันตนาคราชก็แผลงเดชานุภาพ เอากายกระหวัดรัดเขาพระสุเมรุราชตั้งแต่ปฐพีขึ้นไปจนถึงยอดเขาพระสุเมรุราช โดยสูงได้สี่หมื่นโยชน์แล้วเลิกพังพานไว้คอยรับพระพายซึ่งจะพัดมา แล้วจึงว่าแก่พระพายว่า ท่านถือว่ามีฤทธิ์กว่าเรา ท่านจงเร่งพัดให้เขาพระสุเมรุราชหักลงแล้วเมื่อใด ท่านจึงจะชนะเรา ฝ่ายพระพายก็เร่งพัดจะให้เขาพระสุเมรุราชหักลงให้จงได้ ฝ่ายพระอนันตนาคราชก็เลิกพังพานอ้าโอษฐ์ออกกลืนลมเสียสิ้น เขาพระสุเมรุราชมิได้หวาดไหว ฝ่ายพระพายก็โกรธหนักก็บันดาลให้เป็นลมพายุใหญ่ พัดทวีหนักยิ่งขึ้นไปกว่าเก่า ฝ่ายพระอนันตนาคราชก็เนรมิตองค์ใหญ่ยาวยิ่งขึ้นไปกว่าเก่าก็กลืนลมเสียสิ้น และลมพัดมาเท่าใดๆ พญานาคก็เนรมิตเศียรกายใหญ่ยาวขึ้นทุกครั้งเป็นอนันตังอปริมาณัง ฝ่ายพระพายเทวบุตรเห็นฤทธิ์พญานาคดังนั้นก็ทรงพระพิโรธโกรธยิ่งนัก จึงไปเก็บเอาลมอัสสาสวาตปัสสาสวาต ซึ่งรักษากายเทวดามนุษย์และสัตว์ทั้งปวง อันมีวิญญาณหายใจได้เก็บแบ่งเอามาประชุมกันทั้งหมดสิ้น จะพัดให้เขาพระสุเมรุราชหักลงให้จงได้

ครั้งนั้นเทวดาแต่บรรดาซึ่งมีลมหายใจเข้าออกนั้นก็ตกใจชวนกันไปทูลพระอิศวรผู้เป็นเจ้าว่าพระพายกับพระอนันตนาคราชแผลงฤทธิ์กัน แบ่งเอาลมที่รักษาร่างกายข้าพเจ้าทั้งหลายไปเสียครึ่งหนึ่ง ข้าพเจ้าทั้งหลายก็หายใจไม่ทั่วท้อง ได้ความกระวนกระวายเพียงสิ้นชีวิต ฝ่ายพระอนันตนาคราชก็อมลมไว้มิดชิด ขอพระผู้เป็นเจ้าได้โปรดเถิด พระอิศวรผู้เป็นเจ้าจึงมีเทวบัญชากับพระอนันตนาคราชว่าท่านทั้งสองยุทธนากันเป็นมหัศจรรย์ยิ่งนัก ก็เห็นประจักษ์อยู่ทั่วโลกแล้วว่าฤทธิ์ท่านยิ่งเสมอกันทั้งสองฝ่าย ให้พระอนันตนาคราชคายลมเสีย ท่านทั้งหลายได้ความเดือดร้อนนัก พระอนันตนาคราชก็คายลมตามเทวบัญชาสั่ง ฝ่ายพระพายก็พลุ่งออกจากโอษฐ์พระอนันตนาคราชกระทบเขาพระสุเมรุหักแตกกระจายเป็นปัถวีธาตุ ราบไปดุจดังหน้าเภรี มีปริมณฑลกว้างข้างละหมื่นโยชน์ ฯลฯ”


ที่มา http://www.siamganesh.com/hindu/archives/344

ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้