ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

~ หลวงปู่ชา สุภัทโท วัดหนองป่าพง ~

[คัดลอกลิงก์]
21#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-30 20:31 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
รักษาโรคด้วยธรรมโอสถครั้งที่ ๒ ในปี พ.ศ.๒๔๙๔ นั่นเอง หลวงพ่อป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับท้องมีอาการบวมขึ้นทางด้านซ้าย รู้สึกเจ็บปวดที่ท้องมาก และผมกับโรคหืดที่เคยเป็นอยู่แล้วก็ซ้ำเติมอีก หลวงพ่อชาพิจารณาว่า อันตัวเรานี้ก็อยู่ห่างไกล ญาติพี่น้อง ข้าวของเงินทองก็ไม่มี เมื่อป่วยขึ้นมาครั้นจะไปรักษาที่โรงพยาบาลก็ขาดเงินทอง จะเป็นการทำความยุ่งยากแก่คนอื่น อย่ากระนั้นเลยเราจะรักษาด้วยธรรมโอสถโดยยึดเอาพระธรรมเป็นที่พึ่ง ถ้ามันจะหายก็หาย ถ้าหากมันทนไม่ได้ก็ให้มันตายไปเสีย...จึงทอดธุระในสังขารของตนโดยการอดอาหารไม่ยอมฉันจะดื่ม
เพียงแต่น้ำนิดๆหน่อยๆ เท่านั้น...ทั้งไม่ยอมหลับนอน จึงได้แต่เดินจงกรมและนั่งสมาธิลับกันไป เวลารุ่งเช้าเพื่อนๆเขาไปบิณฑบาต หลวงพ่อก็เดินจงกรม พอเพื่อนกลับมาก็ขึ้นกุฏิ นั่งสมาธิต่อไปมีอาการอ่อนเพลียทางร่างกาย แต่กำลังใจดีมาก ไม่ย่อท้อต่อสิ่งทั้งปวง หลวงพ่อเคยพูดเตือนว่า การอดอาหารนั้นสระวังให้ดี...บางทีจะทำให้เราหลง เพราะจิตคิดไปมองดูเพื่อนๆ เขาฉันอาหารนั้นเป็นการยุ่งยากมีภาระมากจริงๆ เลยคิดว่าเป็น การลำบากแก่ตัวเองอาจจะไม่ยอมฉันอาหารเลย เป็นทางให้ ตายได้ง่ายๆเสียด้วย เมื่อหลวงพ่ออดอาหารมาได้ครบ ๘ วัน ท่านอาจารย์ฉลวยจึงขอร้องให้กลับฉันดังเดิม โรคในกายปรากฏว่า หายไป ทั้งโรคท้องและโรคหืดไม่เป็นอีก หลวงพ่อจึงกลับฉัน อาหารตามเดิมและได้ให้คำแนะนำไว้ว่าเมื่ออดอาหารหลายวัน เวลากลับฉัน สิ่งที่ควรระวังก็คือ อย่าเพิ่งฉันมากในวันแรก ถ้า ฉันมากอาจตายได้ ควรฉันวันละน้อยและเพิ่มขึ้นไปทุกวันจนเป็นปกติในระยะที่จำพรรษาอยู่ที่วัดใหญ่นั้นหลวงพ่อมิได้
แสดงธรรมต่อใครอื่นมีแต่อบรมตัวเองโดยการปฏิบัติและพิจารณาเตือนตนอยู่ตลอดเวลา เมื่อออกพรรษาแล้วได้เดินทางไปพักอยู่เกาะสีชัง เพื่อหาความสงบเป็นเวลาหนึ่งเดือน และถือคติเตือนตนเองว่า ชาวเกาะเขาได้อาศัยพื้นดินที่มีน้ำทะเลล้อมรอบ ที่ที่เขาอาศัย อยู่ได้ต้องพ้นน้ำจึงจะเป็นที่พึ่งได้ เกาะสีชังเป็นที่พึ่งทางนอก ของส่วนร่างกาย เรามาอาศัยอยู่ที่เกาะนี้คือที่พึ่งทางในซึ่งเป็นที่อันน้ำ คือกิเลสตัณหาท่วมไม่ถึง แม้เราจะอยู่บนเกาะสีชังแต่ก็ยังค้นหาเกาะภายในอีกต่อไป ผู้ที่ท่านได้พบ และอาศัยเกาะอยู่ได้นั้นท่านย่อมอยู่เป็นสุข ต่างจากคนที่ลอยคออยู่ในทะเล คือความทุกข์ซึ่งมีหวังจมน้ำตาย ทะเลภายนอกมีฉลามและสัตว์ ร้ายอื่นๆ แต่ทะเลภายในยิ่งร้ายกว่านั้นหลายเท่า เมื่อได้ธรรมะจากทะเล และเกาะสีชังพอสมควร ซึ่งเป็นเวลาหนึ่งเดือนแล้วจึงออกจากเกาะสีชังเดินทางกลับวัดใหญ่ จ.อยุธยา และพักอยู่ที่วัดใหญ่เป็นเวลานานพอสมควรจึงได้เดินทางกลับ มาบ้าน และได้มาพักที่ป่าช้าบ้านก่อตามเคยมีโอกาส เทศน์โปรดโยมแม่และพี่ชาย(ผู้ใหญ่ลา) และญาติพี่น้องหลายคน จนเป็นเหตุให้งดทำปาณาติบาต และเชื่อมั่นในพระรัตนตรัยยิ่งขึ้น พักอยู่ที่ป่าช้าบ้านก่อเป็นเวลา ๑๕ วัน จึงเดินทางต่อไป

พ.ศ.๒๔๙๕ (เป็นพรรษาที่๑๔) ในระหว่างต้นปีนี้ หลวงพ่อจึงได้เดินธุดงค์ขึ้นไปจนถึงบ้านป่าตาว อ. เลิงนกทา จ.ยโสธร ซึ่งเป็นสถานที่เคยอยู่มาก่อน คราวนี้ไม่ไปอยู่ที่เก่า ไปอยู่จำพรรษาในป่าห่างจากหมู่บ้าน ๒ กิโลเมตร ซึ่งปัจจุบัน เป็นที่พักสงฆ์บำเพ็ญธรรม หลวงพ่อได้มีโอกาส เทศน์สั่งสอนประชาชนจนเต็มความสามารถ ทำให้เขาเข้าใจในหลักคำสอน ในศาสนาดียิ่งขึ้น และเกิดความเลื่อมใสการรับแขกและการพบปะสนทนาธรรมมีมากและบ่อยครั้งยิ่งขึ้น

สถานที่พักแห่งนั้นเรียกว่า วัดถ้ำหินแตก เป็นลานหินดาด ทางด้านทิศเหนือของที่พักนั้นเป็นแอ่งน้ำมีปลาชุมทางทิศตะวันออก ของแอ่งน้ำเป็นคันหินสูงนิดหน่อย ต่อจากคันหินไปทางด้านทิศตะวันตกเป็นที่ลาดลงไปเวลาน้ำล้นแอ่งก็ไหลไปตามที่ลาดลงสู่เบื้องล่างโดยมาก
มีพวกปลาดุกพยายามตะเกียกตะกายขึ้นมาตามน้ำ บางตัวก็ข้ามคันหินไปถึงแอ่งน้ำ บางตัวก็ข้ามไปไม่รอดจึงนอนอยู่บนคันหิน หลวงพ่อเคยสังเกตเห็นตอนเช้าๆท่านจะเดินไปดู เมื่อเห็นปลานอนอยู่บนคันดินจึงจับมันปล่อยลงไปในแอ่งน้ำ แล้วจึงกลับมาเอาบาตรไปบิณฑบาต
22#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-30 20:32 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ยอมอดเพื่อให้ชีวิตสัตว์

เช้าวันหนึ่งก่อนจะออกบิณฑบาต หลวงพ่อจึงเดินไปดูปลาเพื่อช่วยชีวิตมันทุกเช้า แต่วันนั้นไม่ทราบใครเอาเบ็ดมาตกไว้ตามริมแอ่งน้ำ เห็นเบ็ดทุกคันมีปลาติดอยู่ หลวงพ่อจึงรำพึงว่า เพราะมันกินเหยื่อเข้าไป เหยื่อนั้นมีเบ็ดด้วยปลาจึงติดเบ็ดสมองดูปลาติดเบ็ดสงสารก็สงสาร แต่ช่วยมันไม่ได้ เพราะเบ็ดมีเจ้าของ ท่านจึงมองเห็นด้วยความลดใจ เพราะความหิวแท้ๆเจ้าจึงหลงกินเหยื่อที่เขาล่อไว้ ดิ้นเท่าไรๆก็ไม่หลุด เป็นกรรมของเจ้าเองเพราะความไม่พิจารณาเป็นเหตุให้เตือนตนว่า ฉันอาหารไม่พิจารณาจะเป็นเหมือนปลากินเหยื่อย่อมติดเบ็ด...ได้เวลาจึงกลับออกไปเที่ยวภิกขาจาร ครั้นกลับจากบิณฑบาตเห็นอาหารพิเศษสมองดูเห็นต้มปลาดุกตัวโตๆทั้งนั้น หลวงพ่อนึกรู้ทันทีว่าต้องเป็นปลาติดเบ็ดที่เราเห็นนั้นแน่ๆ บางทีอาจจะเป็นพวกที่เราเคยช่วยชีวิตเอามันลงน้ำก็ได้ ความจริงก็อยู่ใกล้ๆแอ่งน้ำนี้เท่านั้น...และโดยปกติแล้วอาหารจะฉันก็ไม่ค่อยจะมีอยู่แล้ว แต่หลวงพ่อเกิดความรังเกียจขึ้นมาถึงเขาจะเอามาประเคนก็รับวางไว้ตรงหน้าไม่ยอมฉัน ถึงแม้จะอดอาหารมานานก็ตาม เพราะท่านคิดว่าถ้าเราฉันของเขาในวันนี้ วันต่อๆไปปลาในแอ่งน้ำนั้นก็จะถูกฆ่าหมด เพราะเขาจะทำเป็นอาหารนำมาถวายเรา ปลาตัวใดที่อุตส่าห์ตะเกียกตะกายขึ้นมาพบแอ่งน้ำแล้วก็ยังจะต้องพากันมาตายกลายเป็นอาหารของเราไปหมด ดังนั้นหลวงพ่อจึงไม่ยอมฉัน จึงส่งให้พระทองดีซึ่งนั่งอยู่ข้างๆ พระทองดีเห็นหลวงพ่อไม่ฉัน ก็ไม่ยอมฉันเหมือนกันมีอะไรที่ไปบิณฑบาตได้มาก็แบ่งกันฉันตามมีตามได้ ส่วนโยมที่เขาต้มปลามาถวายนั่งสังเกตอยู่ตั้งนานเมื่อเห็นพระไม่ฉันจึงเรียนถามว่า ท่านอาจารย์ไม่ฉันต้มปลาหรือครับ ...หลวงพ่อจึงตอบว่าสงสารมัน เท่านี้เอง ทำเอาโยมผู้นำมาถวายถึงกับนิ่งอึ้ง...แล้วจึงพูดว่า ถ้าเป็นผมหิวอย่างนี้คงอดไม่ได้แน่ๆ ตั้งแต่นั้นมาปลาในแอ่งน้ำนั้นจึงไม่ถูกรบกวนพวกโยมก็พากัน เข้าใจว่าปลาของวัด...

ท่านทั้งหลายลองนึกดูเถิดว่า หลวงพ่อมีจิตประกอบด้วยเมตตามากแค่ไหน ถ้าเป็นเราแล้วจะทนความหิวได้หรือเปล่ายังไม่แน่... ส่วนหลวงพ่อท่านทนหิวเพื่อเห็นแก่ชีวิตเพื่อนร่วมวัดถ้านึกรังเกียจหรือรู้ว่าเขาฆ่ามาเฉพาะ (อุททิสะมังสะ) แบบนี้ท่านจะไม่ยอมฉันเลย... ถ้าเป็นเราๆท่านๆปลาทั้งหลายในแอ่งน้ำ นั้นอาจจะสูญพันธุ์ในระยะอันนั้นก็อาจเป็นได้

ดังนั้นเมื่อหลวงพ่อมาอยู่วัดหนองป่าพงนี้ ท่านจึงห้าม ไม่ให้นำสัตว์ มีชีวิตมาทำปาณาติบาตในวัดเป็นเด็ดขาด ถึงแม้วัดเป็นสำนักสาขาของท่านก็ถือปฏิบัติแบบเดียวกัน

พ.ศ.๒๔๙๖ ซึ่งนับเป็นปีที่ ๒ ที่หลวงพ่อได้อยู่ป่าใกล้บ้านป่าตาวมีพระภิกษุสามเณรอยู่ ๙ รูป เฉพาะศิษย์ที่เป็นคน ทางอำเภอวารินชำราบมีพระเที่ยง (อาจารย์เที่ยงวัดเก่าน้อย) กับ พระหนู (หนู ขวัญนู) ได้อยู่ปฏิบัติธรรมร่วมพระเณรอื่นๆ
23#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-30 20:32 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
เมื่อมีพระเณรอยู่ด้วยกันหลายรูปหลวงพ่อจึงคิดว่าควร จะปลีกตัวไปอยู่แต่ลำพังคนเดียว เพื่อให้ได้รับความสงบยิ่งขึ้น จึงตกลงให้พระเณรอยู่จำพรรษาที่วัดถ้ำหินแตก ส่วนหลวงพ่อเองขึ้นไปจำพรรษาอยู่ภูกอย ซึ่งบริเวณนั้นหลังจากหลวงพ่อได้จาก ภูกอยไปหลายปี จึงมีผู้ค้นพบรอยพระพุทธบาทและเป็นที่ สักการบูชาของพุทธศาสนิกชนอยู่เดี๋ยวนี้ ภูกอยนี้อยู่ห่างจาก ถ้ำหินแตกประมาณ ๓ กิโลเมตร ทำให้ได้รับความสุขมาก พอถึงวันอุโบสถสวดพระปาฏิโมกข์ หลวงพ่อก็ลงมาร่วมทำสังฆกรรม ที่วัดถ้ำหินแตก และได้ให้โอวาทเตือนติพระภิกษุสามเณรมิได้ขาด บางโอกาส ได้เทศน์ให้โยมฟังพอสมควรแล้ว กลับไปที่พักภูกอยตามเดิม

รักษาโรคด้วยธรรมโอสถครั้งที่ ๓ ในระหว่างพรรษานี้หลวงพ่อป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับฟันเหงือกบวมทั้งข้างบนและข้างล่าง รู้สึกบวมมาก โรคปวดฟันนี้มีรส ชาติเป็นอย่างไรนั้นใครเคยเป็นแล้วไม่อยากเป็นอีก แต่ก็หนีไม่พ้นจึงต้องจำยอม...ขนาดพวกเราปวดซี่เดียวสองซี่ ก็ยังทรมานไม่น้อยเลย หลวงพ่อท่านหายา มารักษาตามมีตามได้ โดยใช้ตบะธรรมและขันติธรรมเป็นที่ตั้ง พร้อมทั้งพิจารณาว่า พยาธิง ธัมโมมหิ พยาธิง อะนะ ตีโต เรามีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา หนีความเจ็บไข้ไปไม่พ้น รู้เท่าทันสภาวธรรมนั้นๆมีความอดทนอดกลั้น แยกโรคทางกายกับโรค ทางใจออกเป็นคนละส่วน เมื่อกายป่วยก็ป่วยไปไม่ยอมให้ใจ ป่วยด้วย แต่ถ้ายอมให้ใจป่วยด้วยก็เลยกลายเป็นป่วยด้วยโรค สองชั้น ความทุกข์เป็นสองชั้นเช่นเดียวกัน โรคปวดฟันมันทรมานหลวงพ่อมาก กว่าจะสงบลงได้ต้องใช้เวลาถึง ๗ วัน

หลวงพ่อได้เล่าให้ฟังว่า พูดถึงการสังวรระวังเรื่องศีลแล้ว เมื่อคราวออกปฏิบัติไปคนเดียวอยู่รูปเดียว ยิ่งมีความหวาดกลัว ต่ออาบัติมาก ออกปฏิบัติครั้งแรกมีเข็มเล่มเดียวทั้งคดๆเสียด้วย ต้องคอยระวังรักษากลัวมันจะหัก เพราะถ้าหักแล้วไม่รู้จะไปขอใคร ญาติพี่น้องก็ไม่มี ด้ายสำหรับเย็บก็เอาเส้นไหมสำหรับจูงผี ขวั้นเป็นเส้นแล้วห่อรวมกันไว้กับเข็ม เมื่อผ้าเก่าขาดไปบ้างก็ไม่ยอมขอ เวลาเดินธุดงค์ผ่านวัดต่างๆตามชนบท ไม่มีผ้าสำหรับปะ จึงไปชักบังสุกุลเอาผ้าเช็ดเท้าตามศาลาวัด ปะบงจีวรที่ขาดเสร็จแล้ว ก็เดินธุดงค์ต่อไป และได้เตือนตนเองว่า ถ้าไม่มีใครเขาถวายด้วยศรัทธา เธอก็อย่าได้ขอเขา เป็นพระธุดงค์นี่ให้มันเปลือยกายดูซิ เธอเกิดมาครั้งแรกก็มิได้นุ่งอะไรมิใช่หรือเป็นเหตุให้พอใจในบริขาร ที่มีและเป็นการห้ามความทะเยอทะยานอยากในบริขารใหม่ได้ดีมาก พูดถึงอาหารบิณฑบาตนับว่ามีหลายๆ ครั้ง เวลาออกบิณฑบาตได้แต่ข้าวเปล่าๆ ท่านก็สอนตนเองว่าดีแล้ว...ได้ข้าวฉันเปล่าๆ ก็ยังดีกว่ามิได้ฉัน ดูแต่สุนัขนั่นซิมันกินข้าวเปล่าๆมันยังอ้วนและแข็งแรงดีแกลองเกิดเป็นหมาสักชาติดูซิทำให้ฉันข้าวเปล่าๆ ด้วยความพอใจและมีกำลังปฏิบัติธรรมต่อไป...
24#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-30 20:33 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
พูดถึงเรื่องอาพาธแล้ว หลวงพ่อเล่าว่า ได้เคยผ่านความลำบากมามากครั้งหนึ่งเมื่ออยู่ในเขต สกลนคร นครพนม ป่วยเป็น ไข้มาหลายวัน อยู่คนเดียวกลางภูเขาอาการหนักพอดู ลุกไม่ขึ้นตลอดวันด้วยความอ่อนเพลียจึงม่อยหลับไป พอรู้สึกตัวก็เป็นเวลาเย็นมากตะวันจวนจะตกดินกำลังนอนลืมตาอยู่ ได้ยินอีเก้งมันร้องจึงตั้งปัญหาถามตัวเองว่า พวกอีเก้งและสัตว์ ป่ามันป่วยเป็นไหม? คำตอบเกิดขึ้นว่า มันป่วยเป็นเหมือนกัน เพราะพวกมันเป็นสังขาร ที่ต้องปรุงแต่งเช่นเดียวกับเรานี่แหละมันมียากินหรือเปล่า? มันก็คงหากินยอดไม้ใบไม้ตามมีตามได้มีหมอฉีดยาให้มันไหม? เปล่า...ไม่มีเลย...แต่ก็ยังมีอีเก้ง และสัตว์ เหลืออยู่สืบพันธุ์กันเป็นจำนวนมากมิใช่หรือ? คำตอบเกิดขึ้นว่า ใช่แล้ว...ถูกแล้ว...พอได้ข้อคิดเท่านี้ทำให้มีกำลังใจดีขึ้นมาก จึงพยายามลุกนั่งจนได้ และได้พยายามทำความเพียรต่อไปจนกระทั่งไข้ได้ทุเลาลงเรื่อยๆ หลวงพ่อพูดให้ฟังว่า เป็นไข้หนักอยู่คนเดียวกลางภูเขาไม่ตายหรอก ถ้าไม่ถึงที่ตาย แม้จะไม่มีหมอรักษาก็ตามแต่ว่ามันหายนานหน่อยเท่านั้นเอง

พ.ศ.๒๔๙๗ ในระหว่างปลายเดือน ๓ โยมมารดา (แม่พิม) ของหลวงพ่อพร้อมทั้งพี่ชาย(ผู้ใหญ่ล่า) และญาติโยมอีก ๕ คนได้เดินทางขึ้นไปพบหลวงพ่อ เพื่อนมัสการนิมนต์ให้กลับลงมาโปรดญาติโยมในถิ่นกำเนิด หลวงพ่อพิจารณาเห็นเป็นโอกาส อันเหมาะแล้วจึงรับนิมนต์ และตกลงให้โยมมารดาและคณะที่ไปนั้น ขึ้นรถโดยสารลงมาก่อน ส่วนหลวงพ่อพร้อมด้วยพระเชื้อ พระหนู พระเลื่อน สามเณรอ๊อด พร้อมด้วยพ่อกี พ่อไต บ้านป่าตาว เดินธุดงค์ลงมาเรื่อยๆ หยุดพักเป็นระยะๆ ตามทางเป็นเวลา ๕ คืน

กำเนิดวัด

วันนั้นเวลาตะวันบ่าย คณะของหลวงพ่อได้เดินทางมาถึงชายดงป่าพงแห่งนี้ซึ่งเป็นวันจันทร์ ขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๔ ปีมะเส็ง ตรงกับวันที่ ๘มีนาคม พ.ศ.๒๔๙๗ ซึ่งเป็นนิมิตเครื่องหมาย ครั้งสำคัญที่จะเปลี่ยนแปลงป่าที่น่ากลัวให้เป็นป่าที่น่าชม รื่นรมย์ไปด้วยรสแห่งสัทธรรม

เช้าวันที่ ๙มีนาคม ๒๔๙๗ จึงได้พากันเข้าสำรวจ สถานที่พักในดงป่านี้ โยมได้ถากจอมปลวกถางต้นไม้เล็กๆออกจัดที่พักให้ใกล้ต้นมะม่วงใหญ่หลายต้นซึ่งอยู่ข้างโบสถ์ด้านทิศใต้ปัจจุบันนี้ ต่อมามีญาติโยมชาวบ้านก่อและบ้านกลางผู้เลื่อมใส จึงช่วยกันปลูกกุฏิเล็กๆให้อาศัยกันต่อไป
25#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-30 20:33 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
บังเกิดนิมิต

เมื่อหลวงพ่อและคณะได้เข้ามาอยู่ในดงป่าพงได้ ๑๐ วัน วันนั้นเป็นวันเพ็ญ เดือน ๔ เวลานั้นประมาณทุ่มกว่าๆ ญาติโยมมาฟังธรรมไม่มากเท่าใดนัก เกิดบุรพนิมิตมีแสงสว่างพุ่งปราด ไปข้างหน้าเป็นทางยาว แล้วหดตัวมาดับวูบลงที่มุมวัดด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้นั่นเอง ทำให้ญาติโยมที่เห็นด้วยตาเกิดอัศจรรย์ขนพองยองเกล้า ต่างก็พูดไม่ออก

เมื่อได้มาอยู่ที่ป่าพงแล้ว หลวงพ่อท่านถือหลักคำสอน ของพระพุทธองค์ที่ตรัสว่า ทำตนให้ตั้งอยู่ในคุณอันสมควรเสียก่อน แล้วจึงสอนคนอื่นทีหลัง จึงจักไม่เป็นบัณฑิตสกปรกดังนั้นไม่ว่ากิจวัตรใดๆเช่นกวาดวัดจัดที่ฉันล้างบาตร ตักน้ำ หามน้ำ ทำวัตร สวดมนต์ เดินจงกรม นั่งสมาธิ วันพระ ถือเนสัชชิกไม่นอนตลอดคืน หลวงพ่อชาลงมือทำเป็นตัวอย่าง ของศิษย์ โดยถือหลักที่ว่า สอนคนด้วยการทำให้ดู ทำเหมือนพูด พูดเหมือนทำ ดังนั้นจึงมีศิษย์และญาติโยมเกิดความเคารพยำเกรง และเลื่อมใสในปฏิปทาที่หลวงพ่อดำเนินอยู่ เมื่อเทศน์ก็ชี้แจงถึงหลักความจริงที่จะนำไปทำตามให้เกิดประโยชน์ได้ หลวงพ่อและศิษย์รุ่นแรกที่เข้ามาอยู่ต้องต่อสู้กับไข้ป่า ขณะนั้นยังชุกชุมมากเพราะเป็นป่าทึบ ยามพระเณรป่วยจะหายารักษาก็ยาก ต้องต้ม บอระเพ็ดให้ฉันก็พอทุเลาลงบ้าง เนื่องจากโยมผู้อุปัฏฐากยัง ไม่ค่อยเข้าใจในการอุปถัมภ์ ทั้งหลวงพ่อก็ไม่ยอมออกปากขอจากใครๆ แม้จะพูดเลียบเคียงก็ไม่ทำ ปล่อยให้ผู้มาพบเห็นด้วยตา พิจารณาแล้วเกิดความเลื่อมใสเอาเอง พูดถึงอาหารการฉันก็รู้สึกจะฝืดเคือง

เมื่อหลวงพ่อได้มาอยู่ที่ป่าพงแล้ว เดือนแรกผ่านไป และในเดือนต่อมาคุณแม่พิม ช่วงโชติ โยมมารดาของหลวงพ่อ พร้อมด้วยโยมผู้หญิงอีก ๓ คน ได้มาบวชเป็นชี อยู่ประพฤติปฏิบัติธรรม พวกญาติโยมจึงปลูกกระท่อมให้อยู่อาศัย...โยม แม่พิมจึงเป็นชีคนแรกของวัดหนองป่าพง และมีแม่ชีอยู่ติดต่อกันมาจนถึงปัจจุบันนี้เป็นจำนวนมาก

ปี พ.ศ.๒๕๐๐ ซึ่งชาวพุทธถือว่าเป็นปีที่สำคัญมีการทำบุญทั้งส่วนวัตถุทาน และธรรมทานมีการบวชตนเองและบวชลูกหลานเป็นภิกษุสามเณร และบวชเป็นชีและตาปะขาวเป็นจำนวนมากมีการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาเป็นพิเศษ ทางวัดหนองป่าพงหลวงพ่อก็อนุญาตให้มีการบวชเช่นกันมีบวชเป็น สามเณร ๒ รูป บวชเป็นตาปะขาว ๗๐ บวชเป็นชี ๑๗๘ คน รวมเป็น ๒๕๐ คน

ปี พ.ศ.๒๕๐๑ มีประชาชนสนใจการฟังเทศน์ฟังธรรม และการปฏิบัติธรรมมีจำนวนเพิ่มขึ้นมีญาติโยมชาวบ้านเก่าน้อย ต.ธาตุ ซึ่งเคยมาฟังธรรม ปฏิบัติธรรมที่หนองป่าพงมานิมนต์หลวงพ่อให้ไปพักอยู่ที่ป่าละเมาะใกล้กับป่าช้า และหลวงพ่อได้ไปพักอยู่สอบรมธรรมะแก่ผู้สนใจในถิ่นนั้นได้จำพรรษาอยู่ที่ป่าแห่งนั้น และนับว่าเป็นสาขาแรกของวัดหนองป่าพง และในปีต่อมาก็ได้จัดส่งลูกศิษย์ไปอยู่ประจำจนถึงทุกวันนี้
26#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-30 20:33 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
และในปีต่อๆมา ก็มีญาติโยมผู้เลื่อมใสสนใจในการปฏิบัติมานิมนต์หลวงพ่อไปรับอาหารบิณฑบาตและอบรมธรรมะเพิ่มจำนวนมากขึ้นๆ เช่น นิมนต์ไปทางบ้านกลางใหญ่ อ.เขื่องในบ้าง นิมนต์ไปเยี่ยมทางชาวไร่ภูดินแดง อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษบ้าง นิมนต์ไปทางบ้านหนองเดิ่นหนองไฮบ้าง ซึ่งต่อมาก็ได้มีลูกศิษย์ของหลวงพ่อไปอยู่และเป็น สาขาที่ ๒-๓-๔ ของหนองป่าพง

ประมาณเดือนพฤษภาคม พ.ศ.๒๕๑๑ มีญาติโยมอำเภออำนาจเจริญมานิมนต์หลวงพ่อขึ้นไปฉันภัตตาหาร และอบรมธรรมะที่วัดต้นบกเตี้ย(ปากทางเข้าถ้ำแสงเพชร) โดยมีอาจารย์โสม พักอยู่ที่นั่นและเขานิมนต์หลวงพ่อเข้าไปดูถ้ำแสงเพชร (ถ้าภูขาม) ขอนิมนต์ให้ท่านพิจารณาจัดเป็นที่ปฏิบัติธรรม แต่หลวงพ่อก็ยังมิได้ตกลงใจ ยังเฉยๆอยู่

ครั้นเมื่อออกพรรษา รับกฐินแล้ว เมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๑๑ หลวงพ่อรับนิมนต์ของโยมชาวจังหวัดอุดรฯ เดินทางไปจังหวัดอุดรฯ พักที่วัดป่าหนองตุสระยะที่พักอยู่ที่นั่นหลวงพ่อ ได้พาไปกราบนมัสการท่านพระอาจารย์มหาบัว วัดป่าบ้านตาด และท่านพระอาจารย์ขาววัดถ้ำกลองเพล และได้เดินทางไปเยี่ยมท่านเจ้าคุณเจ้าคณะจังหวัดหนองคาย ท่านเจ้าคุณพาไปเยี่ยม วัดโศรกป่าหลวง นครเวียงจันทน์ และไปเยี่ยมวัดเนินพระเนาว์ ซึ่งล้วนแต่เป็นสำนักปฏิบัติธรรมทั้งนั้น แล้วพักอยู่วัดศรีสะเกษ กับท่านเจ้าคณะจังหวัดแล้วเดินทางกลับมาถึงอุดร และแวะเยี่ยมภูเพ็ก แล้วเดินทางมาถึงบ้านต้องแวะกราบนมัสการท่านอาจารย์กินรี ที่วัดกันตศิลาวาส และกราบลาท่านอาจารย์กินรี ลงมาถึงอำเภออำนาจเจริญ หลวงพ่อพาแวะไปเยี่ยม อาจารย์โสมที่วัดต้นบกเตี้ย วันนั้นเป็นวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๑๑ พักอยู่หนึ่งคืน

ฉะนั้นจึงพอถือได้ว่า วันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๑๑ เป็น วันบุกเบิกเริ่มต้นแห่งการสร้างวัดถ้ำแสงเพชร และได้ไปพักอยู่ตรงถ้ำที่มีรูปพระพุทธองค์และปัญจวัคคีย์ (เขาเรียกกันว่า ถ้ำพระใหญ่ และเริ่มปรับปรุงตรงนั้นพอเป็นที่พักได้สะดวก)

หลวงพ่อปรารภว่ามาอยู่ถ้ำแสงเพชรนี้สบายใจดีมาก สมองไปทางไหนจิตใจเบิกบานคล้ายกับ เป็นสถานที่เคยอยู่มาก่อน นั่งสมาธิสงบดี ถ้าไม่คิดอยากพักผ่อนจะนั่งสมาธิอยู่ตลอดคืนก็ได้ วัดนี้มีพื้นที่ ๑,๐๐๐ ไร่ เป็นสาขาที่ ๕ ของวัดหนองป่าพง

พ.ศ.๒๕๑๒ ในระยะเดือนเมษายนของปีนี้ ญาติโยมบ้านสวนกล้วยได้มานิมนต์หลวงพ่อไปอบรมธรรมะและรับไทยทาน เขาได้จัดที่พักไว้ในป่าโดยปลูกกุฏิไว้ ๒ หลัง เมื่อได้ไปถึงแล้ว ญาติโยมจึงกราบเรียนขอให้หลวงพ่ออุปการะเป็นสาขาของท่าน (เป็นสาขาที่ ๖) ได้จัดส่งลูกศิษย์ไปอยู่ประจำ

เมื่อวันที่ ๒มกราคม พ.ศ.๒๕๑๓ หลวงพ่อได้รับนิมนต์จากคุณแม่บุญโฮม ศิริขันธ์ และญาติโยมทางอำเภอม่วงฯ ให้ไปร่วมงานทำบุญร้อยวันถึงหลวงตาอุย (บิดาของแม่บุญโฮม) อาศัยที่ญาติโยมเคยมาฟังเทศน์และมาถือศีลปฏิบัติธรรมอยู่กับหลวงพ่อบ่อยๆ และเป็นเวลาหลายปีมาแล้ว จึงพิจารณาสถานที่อันเหมาะสมพอจะจัดเป็นที่พักได้ จึงตกลงจัดที่พักให้ ณ ป่าบ้านร้าง ดงหมากพริกอยู่ห่างจากอำเภอม่วงสามสิบ ๒ กม. และหลวงพ่อชา กับผู้ติดตามได้ไปพักในดงแห่งนั้น และต่อมาก็ได้กลายเป็นวัดป่า วิเวกธรรมชาน์ สาขาที่ ๗ หลวงพ่อได้ส่งลูกศิษย์ไปอยู่เป็นประจำ
27#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-30 20:34 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
สาขาวนโพธิญาณ ในระยะเดียวกับที่ชาวอำเภอม่วงสามิบมีความประสงค์อยากให้หลวงพ่ออนุญาตให้ตั้งสาขาขึ้นในเขตอำเภอนั่นเอง ญาติโยมทางอำเภอพิบูลมังสาหาร เขื่อนโดมน้อยซึ่งมีพ่อใบ พ่อลา พ่อลือ ได้มาปรารภนิมนต์หลวงพ่อไปชมป่าหน้าเขื่อนเห็นว่าเป็นสถานที่เหมาะดีแก่การปฏิบัติธรรม เป็นระหว่างที่นายปรีชา คชพลายุกต์ นายอำเภอพิบูลมังสาหารในสมัยนั้นได้ไปเยี่ยมหลวงพ่อที่วัดป่าพงบ่อยครั้ง บางครั้งก็ได้สนทนา กับหลวงพ่อทำให้เกิดความซาบซึ้งและเลื่อมใส เมื่อได้ทราบว่าหลวงพ่อไปเยี่ยมป่าทางด้านหน้าเขื่อน ก็ยินดีสนับสนุนในการ จัดปรับปรุงป่าให้เป็นที่บำเพ็ญธรรม นายอำเภอและคุณนายได้ละทรัพย์สร้างกุฏิถาวรไว้ ๑ หลัง และเป็นกำลังในการสร้าง ศาลาการเปรียญที่วัดเขื่อนแม้แต่นายวิเชียรสีมันตรผู้ว่าราชการ จังหวัดในสมัยนั้นก็ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ ในระหว่างเดือนกรกฎาคม ๒๕๑๓ เมื่อหลวงพ่อไปเยี่ยมป่าหน้าเขื่อนอีก ญาติโยม ขอร้องหลวงพ่อว่า พระพุทธบาทที่หอพระบาท วัดถ้ำพระ อยู่ในระดับใต้พื้นน้ำถ้าน้ำท่วมจะเสียหายจมอยู่ในน้ำเสียดายปูชนียวัตถุสำคัญ ขอให้พาอัญเชิญรอยพระพุทธบาทขึ้นไปเก็บไว้ ณ ที่น้ำท่วม ไม่ถึง หลวงพ่อจึงพาญาติโยมอัญเชิญออกจากหอพระบาทเดิม ไปเก็บไว้บนหัวหิน (โขดหิน) ที่สูงกว่าระดับน้ำ และต่อมาชาวบ้าน และวัดหนองเม็ก โดยการนำของเจ้าคณะผู้ปกครองมาเอาไปรักษาไว้ที่วัดหนองเม็ก ต.ฝางคำ อ.พิบูลฯ จนกระทั่งเดี๋ยวนี้ เมื่อออก พรรษาแล้วในวันแรม ๖ ค่ำ เดือน ๑๑ หลวงพ่อจึงส่งท่านอาจารย์สี กับสามเณร ๓-๔ รูป ไปอยู่และต่อมาอีกประมาณ ๓ เดือนกว่า หลวงพ่อจึงส่งอาจารย์เรืองฤทธิ์ไปอยู่ด้วย และเมื่อออกพรรษา ปี ๒๕๑๔ ท่านอาจารย์สีกลับวัดป่าพง คงเหลืออาจารย์เรืองฤทธิ์ปกครองพระเณรอยู่เป็นประจำมาจนถึงปัจจุบันนี้ สาขาที่ ๘ นี้ครั้งแรกเรารู้กันในนามสำนักวนอุทยาน ครั้นเมื่อวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน หลวงพ่อได้รับพระราชทานเป็นพระราชาคณะนามว่า พระโพธิญาณเถร เลยเปลี่ยนชื่อสาขานี้ใหม่ว่า สำนักสงฆ์วนโพธิญาณรู้สึกว่าเป็น สาขาที่หลวงพ่อให้การสงเคราะห์เป็นพิเศษ และสาขานี้มีเนื้อที่ประมาณ ๒,๐๐๐ ไร่เศษ จึงเป็นอันได้ทราบกันว่าในปี พ.ศ.๒๕๑๓ นี้หลวงพ่อได้อนุญาตให้จัดตั้ง สาขาที่ ๗ คือ วัดป่าวิเวกธรรมชาน์ และสาขาที่ ๘ คือ วัดป่าวนโพธิญาณขึ้นในปีเดียวกัน...

เมื่อหลวงพ่อได้มาอยู่เป็นที่พึ่งทางใจของศิษย์ และญาติโยมผู้ใคร่ต่อการปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เริ่มแต่ปี ๒๔๙๗ เป็นต้นมาจนกระทั่งถึงปี พ.ศ. ๒๕๑๓มีศิษย์และญาติโยมบางคนกราบเรียน เรื่องการขออนุญาตตั้ง (สร้าง) วัดเมื่อก่อนนั้นหลวงพ่อมักพูดว่า ไม่ต้องขอสร้างวัดเราก็สร้างก็ตั้งมานานแล้ว แต่เพื่อให้ถูกต้องตามกฎระเบียบ หลวงพ่อจึงอนุญาตให้มีการขอสร้างวัดขึ้น และเมื่อได้รับอนุญาตให้สร้างวัดเรียบร้อยแล้ว จึงได้รับตราตั้งดังนี้

๑)เป็นเจ้าอาวาสวัดหนองป่าพง เมื่อวันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๑๖

๒)ได้รับพระราชทานเป็น พระราชาคณะมีนามว่า พระโพธิญาณเถร เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๑๖

๓)เมื่อปลายเดือนมกราคม ปี๒๕๑๗ ได้รับหนังสือให้เข้าไปอบรมเป็นพระอุปัชฌาย์ และได้รับตราตั้งพระอุปัชฌาจารย์ เมื่อวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๗

หลวงพ่อได้ใช้ขันติธรรมอดทนต่อสู้กับความลำบากมานานพอสมควร ได้ผ่านทั้งคนผู้หวังดีและหวังไม่ดีมามากต่อมาก แต่ด้วยน้ำใจที่มุ่งประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์ และหวังเจริญรอยตามยุคลบาทของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยเรียนและปฏิบัติด้วยตนเอง แล้วจึงนำไปสอนคนอื่นต่อไป มิได้หวังเพียงเอาตัวรอดแต่ผู้เดียว ฉะนั้นหลวงพ่อจึงได้ยอมเสียละความสุขส่วนตนอุตส่าห์แนะนำสั่งสอนศิษย์และผู้ใคร่ในธรรมให้ได้รับความซาบซึ้งใจ ซึ่งท่าน ทั้งหลายผู้ที่ได้มากราบ และได้ฟังโอวาทของหลวงพ่อ ย่อมก่อให้เกิดศรัทธาเลื่อมใสเสมอมา
28#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-30 20:34 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
โยมมารดามรณะ

หลังจากหลวงพ่อชาและคณะได้เข้ามาอยู่ที่ดงป่าพงนี้เดือนกว่า คุณแม่พิม ช่วงโชติ ซึ่งเป็นโยมมารดาของท่านก็ ได้เข้ามาบวชเป็นชีอยู่ปฏิบัติธรรมตามอย่างพระลูกชาย พร้อมทั้งมีโยมผู้หญิงบวชตามอีก ๓ คน ยังผลให้คุณแม่พิมได้รับรส แห่งธรรม ทำให้จิตใจเยือกเย็นเป็นที่พึ่งแก่ตนทำให้ตรีเหล่าอื่นผู้หวังความสงบได้เข้าบวชชีเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ โยมแม่ชี ได้สร้างความดี ทั้งที่เป็นส่วนอามิสบูชา และปฏิบัติบูชาตามกำลังความสามารถ ได้โอกาส อุปถัมภ์บำรุงพระภิกษุสามเณรทั้งในยามปกติและคราวอาพาธเสมอมา

หลวงพ่อเองก็ได้ทำการบำรุงโยมมารดาตามสมควรแก่หน้าที่อันบุตรที่ดีจะพึงกระทำแก่ผู้บังเกิดเกล้า คอยเอาใจใส่ ทั้งอาหารกาย และอาหารใจมิได้เพิกเฉย ครั้นหลายปีผ่านๆไป หนีความผุพังไปไม่พ้น...ดังนั้นเมื่อคราวที่โยมป่วย หลวงพ่อและญาติ ตลอดทั้งบรรดาแม่ชีก็ได้เอาใจใส่พยาบาลรักษาตามความสามารถ หลวงพ่อก็หาโอกาส เข้าไปเยี่ยมและให้ติทางธรรมอยู่บ่อยๆ ผลสุดท้ายแม่ชีพิมก็ได้ทอดทิ้งร่างกายอันแก่หง่อมไปเมื่อวันที่ ๑๗ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๑๗

กำหนดงานฌาปนกิจศพโยมแม่ในระยะวันมาฆบูชา ซึ่งตรงกับวันที่ ๒๕มีนาคม พ.ศ.๒๕๑๘ และในงานนี้ได้อนุญาตให้กุลบุตร กุลธิดาบวชเป็นสามเณร ๑๐๕ รูป บวชเป็นชี ๗๒ คน เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา...
29#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-30 20:35 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
จาริกสู่ต่างประเทศ ครั้งที่๑

นับเป็นเวลา ๒๓ ปีกว่า ที่หลวงพ่อชาได้อาศัยวัดบ้านหนองป่าพง เป็นหลักชัยในการประกาศสัจธรรมอันนำสันติสุข มาสู่มวลมนุษย์ ได้มีภิกษุสามเณร และประชาชน เดินทางมา ฝากตัวเป็นลูกศิษย์ เพื่ออบรมการปฏิบัติธรรม เพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งได้ขยายสำนักสาขาแยกออกไป ในต่างอำเภอและต่างจังหวัด ซึ่งในปัจจุบันนี้มีอยู่ประมาณ ๘๒ สาขา และมีชาวต่างประเทศเกิดความเลื่อมใสมาขอบวชเป็นศิษย์เพื่ออยู่ปฏิบัติธรรม เพิ่มจำนวนมากขึ้น จนกระทั่งหลวงพ่อได้อนุญาตให้จัดตั้งสำนักสาขา สำหรับชาวต่างประเทศขึ้นเป็นส่วนหนึ่งต่างหากมีชื่อเรียกว่า วัดป่านานาชาติ เป็นสาขาที่ ๑๙ ของวัดหนองป่าพง ตั้งอยู่ในเขตตำบลบุ่งหวาย อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี

ในปี พ.ศ.๒๕๑๙ อาจารย์สุเมโธ ได้เดินทางไปเยี่ยมโยมมารดาที่สหรัฐอเมริกา ขากลับเดินทางมาแวะประเทศอังกฤษ พักที่สำนักธรรมประทีปแฮมป์สะเตท กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ได้มีเจ้าหน้าที่ของสำนักนั้นมาสนทนาธรรมจนเกิดศรัทธาเลื่อมใส เขาถามถึงสำนักที่เป็นครูบาอาจารย์ นิมนต์ให้ท่านอยู่จำพรรษาที่อังกฤษ อาจารย์สุเมโธ จึงได้บอกว่าเป็นลูกศิษย์ของหลวงพ่อชาแห่งวัดหนองป่าพง อ. วารินชำราบ จ. อุบลราชธานี (ประเทศไทย) ถ้าต้องการอยากให้อยู่ในประเทศอังกฤษ ก็ให้ไปตกลงขอจากหลวงพ่อชาเสียก่อน ต่อจากนั้นอาจารย์สุเมโธ จึงได้เดินทางกลับมาประเทศไทย

จึงเป็นเหตุให้ชาวสังฆทรัสต์แห่งประเทศอังกฤษ ได้ติดต่อ ขอนิมนต์หลวงพ่อชาและอาจารย์สุเมโธ ให้เดินทางไปประกาศ สัจธรรม และเพื่อประดิษฐานหลักปฏิบัติไว้ในภาคพื้นตะวันตก ให้เจริญรุ่งเรืองโชติช่วงชัชวาล ตามสมควรแก่กาลและฐานะที่จะพึงมีพึงเป็นได้

ดังนั้น เมื่อวันที่ ๒ พฤษภาคม ๒๕๒๐ ซึ่งเป็นปีที่ หลวงพ่อได้มีอายุ ๕๙ ปี พรรษา ๓๘ หลวงพ่อได้ออกเดินทางจากวัดหนองป่าพง สู่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๕๒๐ ขึ้นเครื่องบินออกจากดอนเมือง

วันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๕๒๐ ขณะที่เครื่องบิน บินมุ่งสู่เมืองการาจีประเทศปากีสถานหลวงพ่อได้บันทึกไว้ว่าเหตุการณ์ ที่เกิดขึ้นในการเดินทาง ในวันที่ ๖ ในขณะที่บินอยู่ เครื่องบิน ได้เกิดอุบัติเหตุยางระเบิด ๑ เส้น บนอากาศ พนักงานการบิน จึงได้ประกาศ ให้ผู้โดยสารเตรียมตัวรัดเข็มขัดมีฟันปลอมก็ต้องถอดออก แม้กระทั่งแว่นตาหรือรองเท้าเครื่องบริขารทุกอย่าง ต้องเตรียมพร้อมหมด ผู้โดยสารทุกคนเมื่อเก็บบริขารทุกอย่างหมดแล้ว ต่างคนก็ต่างเงียบคงคิดว่าคงเป็นวาระสุดท้ายของ พวกเราทุกคนเสียแล้ว...
30#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-30 20:35 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ขณะนั้นเราก็ได้คิดว่า เป็นครั้งแรกที่เราได้เดินทางมาเมืองนอกเพื่อสร้างประโยชน์แก่พระศาสนา จะเป็นผู้มีบุญอย่างนี้เทียวหรือ...? เมื่อระลึกได้เช่นนี้แล้ว ตั้งสัตย์อธิษฐานสมอบชีวิตให้พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ แล้วก็กำหนดจิตรวมลงในสถานที่ควรอันหนึ่ง...แล้วก็ได้รับความสงบ เยือกเย็น ดูคล้ายกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น...พักในที่ตรงนั้นจนกระทั่งเครื่องบินได้ลดระดับลงมาถึงแผ่นดินด้วยความปลอดภัย

เมื่อหลวงพ่อกลับถึงประเทศไทยแล้วมีคนเรียนถามหลวงพ่อว่าเมื่อเครื่องบินเอียงวูบๆเช่นนั้นเจ้าหน้าที่เขาบอก ให้เตรียมตัวแล้วหลวงพ่อทำอย่างไร? หลวงพ่อตอบว่า คู้ขาขึ้นนั่งสสมาธิ หลับตา ตั้งจิตรวมลงผ่อนลมเข้าออก เพ่งๆไปที่ล้อเครื่องบินจนกระทั่งเครื่องบินมีการทรงตัว เมื่อเครื่องบินลงจอดเรียบร้อยแล้วจึงลืมตา หลวงพ่อเล่าว่า...ทางหอบังคับการบินได้ส่ง เฮลิคอปเตอร์ขึ้นคุ้มกันความปลอดภัย ทางพื้นดินก็มีรถดับเพลิงเตรียมพร้อมคอยดับ ถ้ามีการเกิดเพลิงไหม้ แต่ก็น่าแปลกใจที่เครื่องบินลงสู่นามด้วยความปลอดภัยและเรียบร้อย

วันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๒๐ ซึ่งนับว่าวันแรกที่หลวงพ่อ ได้ออกบิณฑบาต ที่บ้านเศรษฐีผู้นี้เขาได้ถวายอุปัฏฐากเป็นอย่างดี เขาชอบฟังธรรม สนทนาธรรม และนั่งสมาธิด้วย นับว่าเมื่อมาอยู่ อังกฤษพึ่งจะได้ออกบิณฑบาตเป็นครั้งแรก หลวงพ่อได้แสดงธรรม และอบรมกรรมฐานให้ญาติโยมผู้สนใจ ซึ่งมาประชุมกันอยู่ที่บ้านเศรษฐีผู้นั้นและพักอยู่ในบริเวณบ้านเศรษฐีซอร์ ๓ วันจึงได้กลับลอนดอน

โยมฟรีดาผู้อุปัฏฐากธรรมประทีป ได้เอารถมานิมนต์ไปชมมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง คนรู้จักดีและได้ไปชมสถานที่ต่างๆพอสมควร

วันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๒๐ ได้มีพระญี่ปุ่นมาพัก ด้วยกันอยู่ที่วัดธรรมประทีป หลวงพ่อได้สนทนากันตอนหนึ่ง หลวงพ่อจึงถามว่า รักษาศีลเท่าไหร่? เขาจึงตอบว่า การกระทำ ซึ่งติให้สมบูรณ์อยู่เท่านั้นเรียกว่าการปฏิบัติของเรา และให้อยู่ในปัจจุบันไม่มีต้นไม่มีปลาย เป็นอยู่ทั้งกลางวันและกลางคืน เขาบอก หลวงพ่อว่าเขาเป็นคนญี่ปุ่น ได้กระทำการปฏิบัติลัทธิเฉ็นจาธิเบต

วันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๒๐ ออกบิณฑบาตในลอนดอน ครั้งแรก หลวงพ่อได้เขียนไว้ในสมุดบันทึกว่า...วันนี้เป็นวันแรกที่ได้ออกบิณฑบาตในกรุงลอนดอนพร้อมด้วยพระสุเมโธ ๑ พระเขมธัมโม ชาวอังกฤษ ๑ และสามเณรชินทัตโต ๑ ซึ่งเป็นสัญชาติฝรั่งเศส พระโพธิญาณเถรเป็นหัวหน้า

ออกบิณฑบาตวันแรกได้ข้าวพออิ่ม ผลแอปเปิ้ล ๒ ใบ กล้วยหอม ๑ ใบ ้ม ๑ ใบ แตงกวาส๑ ลูก แคร์รอต ๒ หัว ขนม ๒ ก้อน
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้