ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 1693
ตอบกลับ: 1

หลวงพ่อเภา พุทธสโร พระเกจิวัดถ้ำตะโก จ.ลพบุรี

[คัดลอกลิงก์]
หลวงพ่อเภา พุทธสโร พระเกจิวัดถ้ำตะโก จ.ลพบุรี



คอลัมน์ อริยะโลกที่6หลวงพ่อเภา พุทธสโร พระเกจิวัดถ้ำตะโก จ.ลพบุรี - “พระครูพุทธสราจารย์” หรือ “หลวงพ่อเภา พุทธสโร” วัดถ้ำตะโก ต.เขาสมอคอน อ.ท่าวุ้ง จ.ลพบุรี พระเกจิชื่อดังที่ชาวบ้านย่านตำบลเขาสมอคอน ต่างให้ความเลื่อมใสพศรัทธากันมาก

เกิดเมื่อปี พ.ศ.2415 ที่บ้านใต้วัดอินทาราม อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์ โยมบิดา ชื่อ นายขำ โยมมารดา ชื่อ นางแสง
อายุ 6 ขวบ บิดามารดานำไปฝากเรียนหนังสือที่สำนักพระอธิการคง วัดอินทาราม พยุหะคีรี จนถึงอายุ 11 ขวบ จึงได้บรรพชา และศึกษาพระปริยัติกับพระอาจารย์คงจวบจนอายุ 20 ปี (พ.ศ.2435) เข้าพิธีอุปสมบทที่วัดเขาแก้ว อ.พยุหะคีรี โดยมีหลวงพ่อเทศ วัดสระทะเล เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอาจารย์คง เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์รับ เป็นพระอนุสาวนาจารย์

จำพรรษาอยู่กับหลวงพ่อเทศ พระอุปัชฌาย์ ที่วัดสระทะเล ในช่วง 12 ปีแรก ศึกษาพระปริยัติธรรม 2 ปีต่อมา ขออนุญาตพระอุปัชฌาย์เดินทางไปเรียนพระปริยัติที่สำนักวัดทุ่งแก้ว จ.อุทัยธานี ของเจ้าคุณพระสุนทรมุนี (ใจ คงคสโร) ซึ่งเป็นสำนักที่ลือชื่ออยู่ในขณะนั้น และเมื่อได้รับอนุญาตแล้ว ท่านเดินทางไปศึกษาพระปริยัติธรรมอยู่ที่สำนักวัดทุ่งแก้วอยู่ 3 พรรษา
ต่อมาเดินทางเข้ามายังกรุงเทพฯ ศึกษาอยู่กับสำนักเจ้าคุณศรีวิสุทธิวงศ์ (เหลียน) วัดสุทัศนเทพวราราม อีก 3 พรรษากระทั่งถึง พ.ศ.2442 จึงได้กลับมาจำพรรษาอยู่ที่วัดอินทาราม อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์ อันเป็นภูมิลำเนาเดิม และช่วยพระอธิการคงแสดงธรรมและสอนพระปริยัติธรรมแก่พระภิกษุ-สามเณรในวัดอินทารามอยู่ 2 ปี
จนถึง พ.ศ.2445 มีจิตใจมุ่งในทางวิปัสสนากัมมัฏฐาน จึงออกธุดงค์ไปตามสถานที่วิเวก เพื่อปฏิบัติกัมมัฏฐาน

ประมาณ พ.ศ.2446 เดินทางจากวัดท่าโขลง โดยข้ามคลองบางขามมาทางทิศตะวันออก ประมาณ 4 กิโลเมตร ได้ไปพบสถานที่แห่งหนึ่งอยู่ที่บ้านพราน ต.เขาสมอคอน อ.ท่าวุ้ง จ.ลพบุรี มีสภาพเป็นวัดร้างเก่าแก่มาแต่โบราณ มีซากอิฐเก่าปรากฏอยู่ ที่หน้าถ้ำมีต้นตะโกอยู่ต้นหนึ่ง จึงเรียกกันว่า “ถ้ำตะโก”

ภายในถ้ำ มีพระพุทธรูปศิลายืนขนาดความกว้าง 23 นิ้ว สูง 75 นิ้ว แกะสลักด้วยหินทราย พุทธลักษณะทรงเครื่องแบบลพบุรีศิลปะขอม
เมื่อกลับมาที่วัดท่าโขลง แสดงความจำนงแก่ชาวบ้านว่า ท่านจะไปจำพรรษาอยู่ที่ถ้ำตะโก ชาวบ้านจึงได้ช่วยท่านจัดเสนาสนะถวายตามกำลังที่จะทำได้ในขณะนั้น และได้มีพระภิกษุตามท่านมาด้วย 9 รูป ชาวบ้านจึงได้ช่วยกันสร้างเสนาสนะเพิ่มเติม สร้างศาลาการเปรียญ หอฉัน ศาลาปากถ้ำตะโก และกุฏิเพิ่มเติมโดยลำดับ จนได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เป็นวัดโดยสมบูรณ์แบบ

แม้หลวงพ่อเภาจะเป็นพระที่พำนักอยู่ที่วัดต่างจังหวัดห่างไกลจากเมืองหลวง แต่ท่านก็ยังเป็นที่เคารพนับถือของเจ้านายชั้นสูงหลายพระองค์ด้วยกัน อาทิ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นวิวิธวรรณปรีชา ทั้งสองพระองค์ทรงเลื่อมใสหลวงพ่อเป็นอย่างยิ่ง
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เคยเสด็จมาที่วัดเขาวงกฏได้พบหลวงพ่อเภา ที่ถ้ำคูหาสวรรค์ ทรงเลื่อมใสในปฏิปทาและแนวทางในการปฏิบัติของหลวงพ่อ จึงถวายปัจจัยเพื่อก่อสร้างวัดเป็นจำนวน 1,000 บาท ซึ่งต่อมาปี พ.ศ.2470 หลวงพ่อเภาสร้างกุฏิขึ้นหน้าถ้ำคูหาสวรรค์ให้ชื่อว่า “ตึกบริพัตร” ใช้ชื่อตามนามของผู้บริจาค
ด้านวิทยาคมของหลวงพ่อเภา เมื่อครั้งออกธุดงค์ไปตามสถานที่ต่างๆ ได้พบและศึกษาวิปัสสนากัมมัฏฐานและวิทยาการต่างๆ กับพระเกจิผู้มากด้วยวิทยาคมหลายรูป จนมีวิทยาคมเข้มขลัง
อย่างไรก็ตาม หลวงพ่อเภาไม่ชอบสร้างวัตถุมงคล เหรียญที่ท่านปลุกเสกมีเพียง 2 รุ่นเท่านั้น เป็นที่นิยมสะสมและแสวงหาอย่างสูง
มรณภาพอย่างสงบ ที่วัดเขาวงกต ต.สนามแจง อ.บ้านหมี่ จ.ลพบุรี เมื่อวันที่ 28 ก.พ.2474 เวลา 02.00 น.
สิริอายุ 60 ปี พรรษา 40

ที่มา..https://www.khaosod.co.th/amulets/news_3089673
 เจ้าของ| โพสต์ 2020-2-24 07:06 | ดูโพสต์ทั้งหมด
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้