ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 1472
ตอบกลับ: 1
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

รักษาใจ

[คัดลอกลิงก์]
ในครั้งพุทธกาล มีชายคนหนึ่ง มีนิสัยชอบเข้าวัดเข้าวาเพื่อทำบุญทำทานอยู่เป็นประจำ พอทำบุญทำทานแล้วก็อยากที่จะได้บุญมากขึ้นอีก  เลยสอบถามพระเถระผู้ใหญ่ว่าต้องทำอย่างไรจึงจะได้บุญมากกว่านี้  พระท่านก็เมตตาแนะนำว่าเมื่อทำบุญทำทานแล้วก็ควรที่จะรักษาศีลด้วย โดยมีศีล ๕ เป็นพื้นฐานในเบื้องต้นเสียก่อน  


พอต่อมาเมื่อชายคนนี้ได้รักษาศีล ๕ แล้ว เขาก็เกิดรู้สึกปีติสุขใจ จึงได้กลับไปถามพระท่านต่อว่าแล้วต้องทำอย่างไรต่อจึงจะได้บุญมากยิ่งขึ้นไปอีก  พระท่านจึงได้แนะนำต่อว่าให้ลองขยับขึ้นไปรักษาศีลอุโบสถ ซึ่งก็คือศีล ๘


จากนั้นเมื่อชายคนนี้ได้รักษาศีล ๘ แล้ว ก็เกิดรู้สึกปีติสุขใจยิ่งขึ้นไปอีก เขาก็เลยอยากที่จะได้บุญยิ่งๆขึ้นไปอีกทีนี้ จึงได้กลับไปถามพระท่านต่ออีกว่า แล้วต้องทำอย่างไรต่อจึงจะได้บุญมากยิ่งๆขึ้นไปอีก   พระท่านก็เลยแนะนำว่า ถ้าอย่างนั้นก็ควรที่จะบวชเป็นพระเพื่อปฏิบัติให้พ้นทุกข์ในวัฏสงสารไปเลย  


เมื่อได้ยินดังนั้น ชายคนนี้ก็เลยสละเพศฆราวาสออกบวช  ทีนี้ก่อนบวช พระอุปัชฌาย์ผู้ที่จะบวชให้ท่านก็ไม่ได้แนะนำบอกกล่าวเกี่ยวกับวินัยของพระสงฆ์ให้ฟังก่อนนะ เพราะพระพุทธองค์ท่านทรงบัญญัติห้ามไว้ไม่ให้ภิกษุสอนวินัยสงฆ์ก่อนให้แก่ผู้ที่กำลังจะบวช มิเช่นนั้นปรับอาบัติทุกกฎ


ในขณะที่บวช พระอุปัชฌาย์ท่านก็ให้พิจารณากรรมฐาน ๕ เป็นเบื้องต้น อันได้แก่ เกสา-ผม  โลมา-ขน นะขา-เล็บ ทันตา-ฟัน ตะโจ-หนัง พอเมื่อบวชเป็นพระแล้วเข้าไปขอนิสัยกับพระอาจารย์  


ท่านก็สอนวินัยบัญญัติให้อันได้แก่ อนุศาสน์ ๘ อย่าง ซึ่งประกอบด้วย นิสสัย ๔ คือกิจที่ควรทำ และ อกรณียกิจ ๔คือกิจที่ไม่ควรทำ รวมเป็น ๘ อย่าง จากนั้นท่านก็อธิบายต่อไปอีกว่าพระนั้นต้องรักษาศีลในพระปาฏิโมกข์คือศีล ๒๒๗ ข้อ โดยไล่ไปเรื่อยตั้งแต่ปาราชิก ๔ สังฆาทิเสส ๑๓ อนิยต ๒ นิสสัคคิยปาจิตตีย์ ๓๐ ปาจิตตีย์ ๙๒ ปาฏิเทสนียะ ๔ เสขิยวัตร๗๕ อธิกรณสมถะ ๗ รวมกันเป็น ศีล ๒๒๗ ข้อ  


นอกจากนี้แล้วก็ยังศีลอภิสมาจารซึ่งเป็นศีลนอกพระปาฏิโมกข์อีกด้วยนะ  แล้วศีลอภิสมาจารนั้นคืออะไร  ศีลอภิสมาจารคือกฎบัญญัติขึ้นเพื่อให้พระสงฆ์ปฏิบัติ ถ้าหากเรื่องใดที่ไม่มีระบุในพระวินัยศีล ๒๒๗


แต่ว่ามีระบุในศีลอภิสมาจารซึ่งท่านบัญญัติรองลงไป อันนี้ก็ถือเป็นกฎระเบียบให้พระสงฆ์ปฏิบัติตาม ตัวอย่างเช่น ศีลอภิสมาจารที่บัญญัติว่าให้ภิกษุปลงหนวด ปลงผม และตัดเล็บให้เรียบร้อย ถ้าไม่ปลงหนวด ไม่ปลงผม และไม่ตัดเล็บ ให้ปรับอาบัติ


ทีนี้พอพระใหม่องค์นี้ท่านได้ทราบ ก็เกิดรู้สึกท้อแท้อ่อนอกอ่อนใจเป็นกังวล  เพราะศีล ๒๒๗ ข้อก็ว่ามากแล้ว แถมยังต้องรักษาศีลอภิสมาจารซึ่งมีอีกเป็นพันๆสิกขาบทอีก  รู้สึกว่ามันเยอะเหลือเกิน ไม่รู้ว่าจะรักษาศีลทั้งหมดได้อย่างไร ผลที่สุด ก็เกิดท้อแท้ใจมากจนคิดอยากที่จะลาสิกขา ท่านจึงได้ไปกราบลากับพระอาจารย์ของท่านว่า


“กระผมคงไม่สามารถจะรักษาศีลเหล่านี้ทั้งหมดได้หรอก ถ้าอย่างนั้น กระผม จะขอลาสิกขา”


ทีนี้ฝ่ายพระอาจารย์ เมื่อได้ยินดังนั้นแล้ว ก็จนปัญญาไม่รู้จะแนะนำอย่างไรต่อ เพราะได้สอนจนหมดภูมิปัญญาตามที่พระพุทธองค์ท่านได้ทรงบัญญัติเอาไว้แล้ว


เพราะพระวินัยทั้งหลาย ไม่ใช่พระวินัยที่พระสงฆ์บัญญัติขึ้น แต่เป็นพระวินัยของพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นพระศาสดาเป็นผู้ทรงบัญญัติขึ้น จากนั้นพระอาจารย์ก็เลยคิดได้ว่า แล้วถ้าหากต่อไป เมื่อมีคนบวชเข้ามาแล้วมาขอลาสิกขาในลักษณะเดียวกันนี้อีก แล้วทีนี้เราควรจะตอบเขาว่าอย่างไร   พระอาจารย์ท่านก็เลยบอกพระใหม่ว่า


“ถ้าอย่างนั้นจะพาไปกราบพระพุทธเจ้าเสียก่อน” เมื่อได้พากันไปกราบพระพุทธเจ้า พระอาจารย์ท่านจึงได้กราบทูลเล่าเรื่องราวทั้งหมดให้พระพุทธองค์ทรงรับทราบว่า


“ข้าพระพุทธเจ้าได้แนะนำบอกกล่าวเรื่องพระวินัยทั้งหมดแล้ว  แต่พระใหม่องค์นี้ท่านไม่สามารถที่จะรักษาศีลทั้งหมดนี้ได้ เพราะมันมากเกินไป  มันหยุมหยิมเกินไป  กลัวว่าจะเป็นบาป หรือไม่ก็เป็นบ้าไปเสียก่อน ดังนั้น ท่านจึงได้ขอลาสิกขา


ข้าพระพุทธเจ้าจึงได้นำพระใหม่องค์นี้มา เพื่อว่าต่อไปภายหน้าถ้ามีผู้ที่บวชเข้ามาแล้วขอลาสิกขาในลักษณะเดียวกันนี้อีก ขอพระพุทธองค์ทรงเมตตาแนะนำข้าพระพุทธเจ้าว่าควรที่จะแนะนำเขาว่าอย่างไรดี พระเจ้าข้า” พระพุทธเจ้าจึงได้ทรงเรียกพระใหม่องค์นั้นเข้ามาเพื่อตรัสถามว่า


“ทำไมเธอถึงรักษาศีลเหล่านี้ไม่ได้  ทั้งๆที่พระใหม่ท่านอื่นๆเขายังรักษากันได้เลย” พระใหม่รูปนั้นก็กราบทูลตามตรงว่า


“ทีแรกข้าพระพุทธเจ้าอยากจะได้บุญมากจึงได้บวชเข้ามาเป็นพระ  แต่พอมาเจอกับศีลและวินัยที่มีมากมายเป็นพันๆข้อขนาดนี้แล้ว รู้สึกว่ามันมีมากมายละเอียดถี่ยิบเหลือเกิน ไม่ว่าจะทำอะไรก็รู้สึกว่ามันจะผิดไปเสียหมดทุกอย่าง ทำอันนี้ก็ผิด ทำอันนั้นก็ผิด อันนี้ก็ห้ามว่าไม่ควรทำ อันนั้นก็ห้ามว่าไม่ควรทำ


ถ้าจะต้องรักษาศีลทั้งหมดนี้แล้ว ก็คงจะทำไม่ได้ ประเดี๋ยวจะกลายเป็นบ้าไปเสียก่อน  ทีนี้แล้วเกิดไปฉันข้าวน้ำโภชนา ไปใช้ข้าวของที่ชาวบ้านเขาถวายมาทั้งที่ศีลของตัวเองก็ยังไม่บริสุทธิ์ ก็กลัวจะเป็นบาปเป็นกรรมไปเสียเปล่าๆ  แต่ถ้ากลับไปเป็นฆราวาสรักษาศีล ๕ หรือศีล ๘ อีกอย่างเก่า  แบบนั้นน่าจะดีกว่า น่าจะได้กุศลมากกว่าที่จะมาเป็นพระแล้วรักษาศีลไม่ได้ เพราะถึงอย่างไรก็ยังกินข้าว ยังใช้ข้าวของของตนเอง อย่างนี้คงจะไม่เป็นบาปกระมัง”
“ข้าพระพุทธเจ้าคิดอย่างนี้ จึงได้อยากจะขอลาสิกขา พระเจ้าข้า”  


พระพุทธองค์จึงตรัสตอบว่า


“ถ้าเธอคิดว่ารักษาศีลเหล่านี้ มันมากเกินไป ถ้าอย่างนั้นแล้ว ถ้าเกิดเราตถาคตจะให้เธอรักษาเพียงแค่ข้อเดียว เธอจะทำได้หรือไม่”


“ถ้าให้รักษาเพียงแค่ข้อเดียว คิดว่าทำได้ พระเจ้าข้า”


“ถ้าอย่างนั้น ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เธอไม่ต้องรักษาอย่างอื่นให้มันยุ่งยากมากมายหรอก แต่ให้เธอรักษาใจเอาไว้อย่างเดียวเท่านั้นพอ คือให้มีสติอยู่กับตนเองอยู่ตลอดเวลา ไม่ต้องคิดอย่างอื่น ให้ภาวนาอยู่ตลอด ให้มีพุทโธอยู่ในใจ ให้ดูใจ ให้รักษาใจของตนเองเอาไว้อยู่ตลอดเวลา อย่าให้มันแฉลบออกไปหาสิ่งที่ไม่ดี อย่าไปคิด อย่าไปพูดในทางชั่ว ในทางอกุศล ในทางที่จะเบียดเบียนคนอื่น ในทางโลภ โกรธ หลง ให้เธอรักษาใจแค่นี้เพียงอย่างเดียว ทำได้หรือไม่”


“ถ้าให้รักษาใจแค่เพียงอย่างเดียว แบบนี้คิดว่าทำได้ พระเจ้าข้า”  


จากนั้นพระรูปนั้นท่านก็ไม่ต้องรักษาวินัยอีกต่อไป ท่านแค่รักษาใจของท่านแต่เพียงอย่างเดียวอยู่ตลอดเวลา กิเลสก็เข้ามาหาใจของท่านไม่ได้  พอจากนั้นไม่นาน ท่านก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์


นี่แหละ พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ไม่ต้องให้รักษาอย่างอื่น ให้รักษาใจอย่างเดียว เพราะศีลล้วนออกไปจากใจทั้งหมด มันเป็นเงาของใจ ใจไปทำเรื่องนั้น เรื่องนี้ มันก็เลยยุ่งเหยิงวุ่นวาย ก็เลยต้องบัญญัติวินัยขึ้นมา


สรุปแล้วก็คือ #ศีลของพระพุทธเจ้านั้นสรุปรวมลงมาสู่ที่ใจที่นี่ที่เดียว เพราะในเมื่อเรื่องทั้งหลายล้วนออกมาจากใจ พอมาดูที่ต้นตอของมันคือใจอย่างเดียว พอรักษาที่ต้นตอคือใจได้แล้วเท่านั้นแหละ  มันก็จบเลยทีนี้ เพราะศีลมันก็ออกมาจากใจทั้งหมด  


#การปฏิบัติธรรมนี้ก็เหมือนกัน อย่าไปดูที่อื่น #ให้ดูที่ใจอย่างเดียวพอ ดูที่ใจ แก้ที่ใจ หลุดพ้นที่ใจ  กิเลสอยู่ที่ใจ ธรรมอยู่ที่ใจ ความโง่อยู่ที่ใจ ความฉลาดอยู่ที่ใจ มันอยู่คนละอันกันเท่านั้นเอง พลิกอันใดอันหนึ่งมันขึ้นมา อีกอันมันก็ตกไป  

หลวงพ่ออินทร์ถวาย สันตุสสโก
คัดจาก “ธรรมทั้งหมดของพระพุทธเจ้านั้นรวมลงแล้วก็คือ ให้รักษาใจเท่านั้นพอ”
จากหนังสือ “แนวทางครูบาอาจารย์พาดำเนิน” เล่ม ๑ หน้า ๕๕ – ๖๐

ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้