ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 1676
ตอบกลับ: 2

สิงโตคู่

[คัดลอกลิงก์]

แม้เมืองไทยจะไม่ใช่ถิ่นอาศัยตามธรรมชาติของสิงโต แต่ที่แหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรีมีตำนานอ้างว่าที่แห่งนี้มีสิงโตอาศัยอยู่ (อาจจะนำเข้ามาจากอินเดีย หรือแอฟริกา?) และกลายเป็นที่มาของหินก้อนใหญ่รูปร่างคล้ายสิงโต จุดสังเกตของนักเดินเรือแต่โบราณ ดังความในตำราระบุว่า

“ตำนานสิงโตคู่ที่แหลมสิงห์ มีที่มาจากภูเขาลูกหนึ่งชื่อ ‘เขาแหลมสิงห์’  ตั้งอยู่บริเวณปากน้ำจันทบุรี  การที่เรียกชื่อเขาลูกนี้ว่าเขาแหลมสิงห์นั้นเพราะด้านหน้าเขามีหินเป็นแก่งเกาะยื่นล้ำออกไปในทะเล  และในบรรดาก้อนหินเหล่านี้  มีอยู่ 2 ก้อนลักษณะคล้ายตัวสิงโต มีหัว มีลำตัว มีหาง มีเท้า และดวงตา  มีขนาดลำตัวยาว 6 เมตร กว้าง 1.5 เมตร  สูงจากพื้นน้ำทะเล 2.5 เมตร  ยืนคู่กันล้ำเข้าไปในทะเล  สิงโตคู่นี้เป็นที่สักการะนับถืออย่างยิ่งของชาวประมง  คำโบราณปรัมปราเล่าว่าเมื่อก่อนนี้ไม่มีสิงโตคู่นี้  แต่กล่าวกันว่าบนเขาแหลมสิงห์มีสิงโตจริงๆ อยู่คู่หนึ่ง  สิงโตตัวผู้ตัวเมียคู่นี้ไปไหนด้วยกันเสมอ  และลงอาบน้ำทะเลด้วยกันทุกวัน

ต่อมาฝรั่งเศสพวกหนึ่งคอยดักทำร้ายสิงโตนี้  โดยใช้วัตถุระเบิดชนิดหนึ่ง  สิงโตตัวหนึ่งถึงแก่ความตาย  อีกตัวหนึ่งวิ่งหนีลงทะเลทัน  ตัวที่หนีลงทะเลไปนั้น  เมื่อตายในน้ำแล้วก็มากลายรูปเป็นสิงโตศิลายืนหยัดอยู่ริมทะเล  ส่วนตัวที่ถูกยิงตายอยู่ที่ริมฝั่งทะเล เหลือเพียงแต่ซากหินปรักหักพังยืนข้างศิลาตัวใหญ่  พอจะจับสังเกตเป็นเค้าได้  มีแววเป็นรูปสิงโตได้บ้าง” (คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุฯ 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542. ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น: ความเป็นมาของอำเภอสำคัญในประวัติศาสตร์ภาคตะวันออก และ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ. หน้า 58-59)

โขดหินรูปสิงโตหมอบที่ปากอ่าวจันทบูร ภาพวาดลายเส้นโดย ซาบาติเยร์ จากรูปสเก็ตช์ของมูโอต์

นอกจากนี้ยังมีอีกตำนานอีกสำนวนหนึ่งเล่าว่า “แหลมสิงห์เป็นชื่อของภูเขาลูกหนึ่งที่มีบางส่วนยื่นออกไปในทะเลเป็นแหลม ตรงปลายแหลมมีหินซ้อนกันเป็นกลุ่มก้อน เมื่อมองจากทะเลจะเห็นคล้ายสิงโตยืนอยู่ ๒ ตัว ชาวบ้านจึงเรียกแหลมนี้ว่า แหลมสิงห์ ในสมัยที่ฝรั่งเศสเข้ายึดครองจันทบุรี ได้ใช้หินก้อนหนึ่งที่ดูคล้ายสิงโตนั้นเป็นเป้าทดลองปืนจนหินส่วนนั้นแตกสลาย ที่เหลืออีกก้อนหนึ่งนั้นคือส่วนที่คล้ายหัวสิงโตก็หักหลุดตกน้ำไป” (สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคกลาง. กรุงเทพฯ : มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพานิชย์, 2542. หน้า 7241)


 เจ้าของ| โพสต์ 2019-10-20 07:22 | ดูโพสต์ทั้งหมด

ข้อแตกต่างของสองสำนวนคือ สำนวนแรกเล่าว่า สิงโตคู่เคยเป็นสิงโตที่มีชีวิตมาก่อน ต่อมาถูกพวก “ฝรั่งเศส” ฆ่าตายจึงกลายมาเป็นหิน ส่วนสำนวนหลังเหมือนจะเชื่อว่าหินพวกนี้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่มาถูกทำลายไปส่วนหนึ่งด้วยฝีมือชาว “ฝรั่งเศส” ที่ใช้มันเป็นที่ลองปืน ซึ่งคล้ายกับตำนานที่เล่าขานต่อกันมาว่าทหารฝรั่งเศสของนโปเลียนคือผู้ที่ใช้ปืนใหญ่ยิงจมูก “สฟิงซ์แห่งกีซา” จนเสียหาย

ภาพสเก็ตช์สฟิงซ์แห่งกีซาโดย เฟรเดอริก หลุยส์ นอร์เดน

แต่ตำนานดังกล่าวขัดกับข้อเท็จจริง เพราะความเสียหายที่เกิดขึ้นกับสฟิงซ์แห่งกีซามีอยู่ก่อนที่กองทัพนโปเลียนจะรุกรานดินแดนอียิปต์ อย่างน้อยความเสียหายก็น่าจะเกิดก่อนศตวรรษที่ 15 เพราะนักประวัติศาสตร์อาหรับสมัยนั้นเล่าว่า จมูกของสฟิงซ์ถูกทำลายก็เพราะผู้นำอิสลามในศตวรรษที่ 14 สั่งให้ทำลาย ด้วยไม่พอใจชาวบ้านที่พากันมาบูชารูปปั้นยักษ์แห่งนี้ และหลักฐานที่สำคัญอีกชิ้นก็คือภาพสเก็ตช์ของ เฟรเดอริก หลุยส์ นอร์เดน (Frederic Louis Norden) นักสำรวจในศตวรรษที่ 18 ซึ่งสเก็ตช์ภาพของสฟิงซ์แห่งกีซาในสภาพที่ไม่มีจมูกไว้ตั้งแต่ปี 1737 (พ.ศ. 2280) ก่อนที่นโปเลียนจะเกิด กองทัพฝรั่งเศสของนโปเลียนจึงน่าจะเป็นผู้บริสุทธิ์ที่ถูกกล่าวหา แต่ก็ยังมีคนเชื่อตำนานดังกล่าวที่เล่าต่อๆ กันมาจนถึงทุกวันนี้


 เจ้าของ| โพสต์ 2019-10-20 07:23 | ดูโพสต์ทั้งหมด

และทหารฝรั่งเศสก็อาจจะเป็นจำเลยผู้บริสุทธิ์ในตำนานแหลมสิงห์ด้วยเหมือนกัน เพราะการยึดครองจันทบุรีของฝรั่งเศสเกิดขึ้นจากเหตุวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 ความเสียหายของหินสิงโตคู่จะเป็นฝีมือของทหารฝรั่งเศสอย่างที่ตำนานสำนวนหนึ่งเล่าไว้จริงก็จะต้องเกิดขึ้นหลัง พ.ศ. 2436

แต่บันทึกของอ็องรี มูโอต์ นักสำรวจชาวฝรั่งเศสได้เล่าไว้ว่า “วันที่ ๓ มกราคม ปี ๑๘๕๙ [พ.ศ. 2402] หลังจากแล่นผ่านอ่าวจันทบูรท่ามกลางท้องทะเลที่มีคลื่นลมแรงจัด เราก็เห็นหินรูปสิงโตอันลือชื่อ ตั้งโดดเด่นเป็นเครื่องหมายบ่งบอกว่าถึงสุดปลายแหลมของอ่าว มองจากไกลๆ เหมือนสิงโตกำลังหมอบ เราแทบไม่เชื่อเอาเลยว่าเป็นฝีมือของธรรมชาติแต่เพียงฝ่ายเดียวที่ปั้นแต่งหินก้อนมหึมาเป็นรูปทรงชวนฉงนเช่นนี้

นี่เป็นผลจากการกัดเซาะของน้ำทะเล ขัดผิวหินจนเรียบเนียนเป็นรูปทรงอย่างที่เห็น เราถึงเข้าใจว่าเหตุใดชาวสยามจึงเคารพบูชาหินก้อนนี้อย่างลึกซึ้ง เช่นเดียวกับสิ่งอื่นๆ ที่เขาเห็นเป็นของพิเศษหรือแปลกมหัศจรรย์ มีเรื่องเล่าว่าครั้งหนึ่งเมื่อเรืออังกฤษเข้ามาทอดสมอในอ่าวจันทบูร พอกัปตันเรือเห็นสิงโตหินนี้เข้าก็ขอซื้อ แต่เจ้าเมืองไม่ยอมขายให้ นายอังกฤษไร้เมตตาคนนั้นถึงกับระดมยิ่งใส่ ‘เจ้าสัตว์น้อยผู้น่าสงสาร’ จนหมดชุดกระสุน เรื่องนี้กวีสยามผู้หนึ่งนำไปจดจารไว้ในผลงาน เป็นพยานร้องทุกข์ต่อความใจหินของคนเถื่อนจากแดนตะวันตก” (บันทึกการเดินทางของอ็องรี มูโอต์ ในราชอาณาจักรสยาม กัมพูชา ลาว และอินโดจีนตอนกลางส่วนอื่นๆ. กรุงเทพฯ : มติชน, 2558. หน้า 111.)

ดังนั้น ความเสียหายที่เกิดกับหินสิงโตคู่แห่งแหลมสิงห์จึงน่าจะเกิดขึ้นก่อนการมาถึงของมูโอต์ และก่อนที่ฝรั่งเศสจะยึดจันทบุรีได้ แต่จะเป็นฝีมือของคนอังกฤษอย่างที่มูโอต์อ้างไว้หรือไม่นั้นยากจะบอกได้ (เพราะจริงๆ แล้ว หินสิงโตที่แหลมสิงห์อาจจะมีตัวเดียวแต่แรกก็ได้) ส่วนเหตุที่คนไทยผูกตำนานโทษว่าความเสียหายนั้นเกิดขึ้นจากฝีมือทหารฝรั่งเศส ก็อาจจะด้วยเหตุผลที่คล้ายๆ กับที่ชาวอียิปต์เล่าว่า จมูกสฟิงซ์เสียหายเพราะฝีมือทหารนโปเลียน ด้วยดินแดนทั้งสองแห่งต่างรู้สึกว่าตนถูกข่มเหงจากนักล่าอาณานิคมกลุ่มเดียวกัน


ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้