เห็นเพื่อนเรือเรียงรายทั้งชายหญิง ดูก็ยิ่งทรวงช้ำเป็นน้ำหนอง ไม่แม้นเหมือนคู่เชยเคยประคอง ก็เลยล่องหลีกมาไม่อาลัย กระแสชลวนเชี่ยวเรือเลี้ยวลด ดูค้อมคดขอบคุ้งคงคาไหล แต่สาชลเจียวยังวนเป็นวงไป นี่หรือใจที่จะตรงอย่าสงกา นิราศเมืองแกลง ของ สุนทรภู่ หัวจระเข้ ถวายแก้บนเจ้าพ่อพระประแดงศาลเจ้าพ่อพระประแดง อยู่ริมแม่น้ำฯ คนสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ไม่เคยเห็นเทวรูป “พระประแดง” เพราะพระยาละแวกขนไปเขมร ตั้งแต่สมัยอยุธยา จึงโอนนิทานจระเข้เหนือทำศึกจระเข้ใต้ ที่มีมาดั้งเดิมก่อนแล้ว (ตั้งแต่สมัยอยุธยา) เข้าสวมสิงศาลพระประแดง มีในนิราศฉลาง (เมืองถลาง จ. ภูเก็ต) ของเสมียนมี (หมื่นพรหมสมพัตสร กวีสมัย ร.3) ดังนี้ ถึงศาลเจ้าพระประแดงแสยงเกล้า นึกกลัวเจ้าพระประแดงแรงหนักหนา บนศาลศรีมีเศียรของกุมภา แต่พันตาพันวังหัวฝังดิน พระประแดงแข็งกล้าเจ้าข้าเอ๋ย ขอลาเลยลับไปดั่งใจถวิล ช่วยป้องกันกุมภาในวาริน อย่าให้กินชาวบ้านชาวบูรี มาตะบึงลุถึงพระโขนง น้ำก็ลงเรือก็ล่องยิ่งหมองศรี ดูพวกเพื่อนทั้งหลายสบายดี แต่ตัวพี่โศกศัลย์ถึงขวัญตา ฯ ศาลเจ้าพ่อพระประแดง ฝั่งท่าเรือคลองเตย (สร้างขึ้นใหม่) ที่ความเชื่อเรื่องการถวายหัวจระเข้ยังคงอยู่ แม้ในปัจจุบันจะพัฒนาเป็นถวายจระเข้ปูนปั้น และจระเข้ยางแล้วก็ตาม
|