ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

~ หลวงปู่ชอบ ฐานสโม วัดป่าโคกมน ~

[คัดลอกลิงก์]
36#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 19:58 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
หลวงปู่ก็เช่นเดียวกัน ท่านพระพากุละมาเยี่ยมชมเชยและสรรเสริญข้อวัตรปฏิบัติของหลวงปู่มาก โดยเฉพาะด้านธุดงควัตรที่ท่านถือเคร่งควรเป็นเนติแบบอย่างของผู้สืบพระศาสนาเป็นอย่างดี ท่านได้แสดงธรรมยืนยันประโยชน์ของธุดงควัตรที่มีต่อผู้หวังผลที่สุดแห่งการปฏิบัติ อย่างไพเราะลึกซึ้ง และอนุโมทนาด้วยที่หลวงปู่ได้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ น่าเคารพเลื่อมใส จนท่านต้องมาเยี่ยมถึงที่อยู่

ท่านเล่าว่า วาระแรกที่ท่านพาพระกุละมาเยี่ยมอนุโมทนาและแสดงธรรมนั้น ท่านมีความปีติเปี่ยมในจิต ออกจากสมาธิมาเดินจงกรม รู้สึกตัวเบาราวกับจะเหาะเหินเดินอากาศลอยตามพระอรหันต์พากุละไปฉะนั้น ท่านเดินจงกรมจนสว่างโดยมิได้นึกเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าแต่ประการใด จิตเบา กายเบา จิตอ่อน กายอ่อน จิตสงบ กายสงบ ไม่มีอารมณ์ใดมาเกาะเกี่ยว

ท่านว่า ปรากฏการณ์ครั้งนั้น ทำให้ท่านมีความเชื่อมั่นในธรรมมากขึ้น และมีกำลังใจที่จะบำเพ็ญความเพียรให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป

ใครจะนึกฝันว่า จะมีพระอรหันต์ผู้ทรงคุณวิเศษเมตตามาเยี่ยม บริขารหาย ท่านก็เมตตาบอกที่ให้ ปฏิบัติทำความเพียรอยู่ ท่านก็มาอนุโมทนาและเมตตาแสดงธรรมสั่งสอน ท่านเล่าว่า ท่านมิได้นึกเห่อเหิมประการใด ว่าตนมีความดี ความวิเศษเลิศเลอกระทั่งมีพระอรหันต์มาเยี่ยม แต่ท่านกลับยิ่งต้องพิจารณาไตร่ตรองเทียบเคียงข้อวัตรปฏิบัติของท่านกับธรรมคำสั่งสอนที่ได้รับ ระมัดระวังมิให้ผิดพลาดหรือเสื่อมถอยลง

เพียร...ก็ต้องเพียรพยายามให้มากขึ้น

พิจารณา
...ปัญญาก็ต้องพิจารณาฟาดฟันกิเลสให้รอบรู้...รู้เท่ายิ่งขึ้น

สติ...ต้องกำกับรักษาจิต พยายามไม่ให้พลั้งเผลอสักขณะจิต รวมความว่า กลับยิ่งต้องระวังรักษาตัวทุกประการให้สมควรกับที่ได้มีวาสนาประสบพบเห็นสิ่งที่ไม่น่าจะเห็น ได้ยิน ได้ฟัง สิ่งที่ไม่คาดฝันว่าจะได้ยินได้ฟัง

ระหว่างที่พำนักอยู่ในพม่าเช่นกัน ท่านได้เดินธุดงค์ไปหาที่วิเวก พบถ้ำอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งมีชัยภูมิสงัดลี้ลับ ห่างจากหมู่บ้านมาก การออกบิณฑบาตจากถ้ำที่ปรารภความเพียร ไปหมู่บ้านนั้น ต้องใช้เวลาถึงเกือบสองชั่วโมง ไปกลับก็ร่วมสี่ชั่วโมงกว่าจะถึงที่พักได้ฉันอาหาร แต่ท่านก็พอใจที่จะอยู่บำเพ็ญความเพียร ณ ที่นั้น ด้วยเป็นที่สงัด สัปปายะแก่การภาวนา บางวันเวลาหากการบำเพ็ญเพียรเป็นไปอย่างดูดดื่มลึกซึ้ง ท่านก็พักการออกบิณฑบาตเป็นวัน ๆ ไป

ท่านเล่าว่า คืนวันหนึ่ง พอจิตรวมสงบลงก็ปรากฏ พระมหากัสสปเถรเจ้า เหาะลอยลงมาข้างหน้าท่าน ท่านว่า เป็นภาพที่งามมาก ด้วยเห็นท่านเหาะมาแต่ไกล จนกระทั่งใกล้เข้ามาเห็นรัศมีแพรวพรายสว่างเรือง ร่างของท่านค่อยเลื่อนลอยลงสู่พื้นแล้วค่อย ๆ นั่งลงตรงหน้าท่านด้วยความสงบเยือกเย็น ใบหน้าของท่านเปี่ยมล้นด้วยความเมตตา แล้วก็มีปฏิสันถารกับหลวงปู่อย่างอ่อนโยน ท่านถามถึงธาตุขันธ์ของหลวงปู่ว่าพอเป็นไปไหวไหมกับการบำเพ็ญความเพียรอย่างอุกฤษฎ์ที่น่าอนุโมทนาเช่นนี้
35#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 19:58 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๑๗. พระอรหันต์สมัยพุทธกาลมาเยี่ยมท่าน

ระหว่างท่านวิเวกอยู่ในเขตประเทศพม่า พักบำเพ็ญเพียรภาวนาอยู่ ณ ถ้ำแห่งหนึ่งที่บ้านเมืองยางแดง ท่านได้ทำมีดหายไป หาอยู่สามสี่วันก็ไม่พบ ท่านว่าก็มิใช่มีดพิเศษพิสดารอะไรนัก เป็นมีดประเภทธรรมดาที่ชาวบ้านใช้ถางป่านั่นเอง เพราะพระกรรมฐานจะมีของวิเศษเลิศเลออะไร ท่านก็ได้อาศัยมีดถางป่าพื้น ๆ นี้เอง เป็นบริขารประจำตัวสารพัดประโยชน์...หั่น...ตัด...ถาก...ถาง...งัด...แงะสิ่งใดก็ด้วยมีดประจำตัวนี้ ท่านใช้แล้วไปอาบน้ำ คิดว่าลืมทิ้งไว้บริเวณที่อาบน้ำ แต่เมื่อออกไปหาดูโดยทั่วหมดบริเวณแถวนั้น ทั้งที่บริเวณอาบน้ำ ที่ในถ้ำ หรือแม้แต่ที่อื่นใดที่คิดว่า อาจจะลืมไว้ ก็ไม่เห็นเลย เวลาผ่านไปสามวันสี่วันก็ยังไม่พบ ทำให้ท่านออกรู้สึกรำคาญใจ

ตอนกลางคืน ขณะมี่ท่านกำลังนั่งเข้าที่สมาธิภาวนาในเวลาดึกสงัด ปรากฏมีพระอรหันต์องค์หนึ่ง เหาะมาเยี่ยมท่านทางสมาธิภาวนา ท่านเหาะลอยมาทางอากาศ มีรัศมีสว่างแพรวพราย น่าเคารพน่าเลื่อมใสอย่างที่สุด หลวงปู่รีบกราบด้วยความเคารพอย่างสูงสุด ทั้งปีติทั้งยินดีอย่างสุดจะพรรณนา พระอรหันต์องค์นั้นพอเหาะลงถึงพื้นนั่งเรียบร้อยแล้ว ก็ถามทันทีว่า มีดของท่านหายไปใช่ไหม เมื่อท่านเรียนตอบรับคำ พระอรหันต์องค์นั้นก็บอกว่า ไม่ได้หายไปไหน ท่านลืมที่ต่างหาก นั่นไง... ท่านบอกพลางชี้มือ ....มีดของท่านอยู่นั่นไง ไปเอาเสียซี

หลวงปู่เล่าว่า ตอนเช้าท่านก็ไปดูที่พระอรหันต์ท่านชี้บอกไว้ในนิมิต ซึ่งเป็นหลังก้อนหิน ก็เห็นมีดอยู่ตรงนั้นจริง ๆ

ประหลาดที่ว่าท่านหาอยู่หลายวันไม่เห็น และความจริงท่านก็ไม่ได้บนบานอธิษฐานให้เทวดาหรือใครช่วยหาให้เลย แต่น่าอัศจรรย์ ที่พระอรหันต์ท่านกลับทราบ ทั้งยังเมตตาช่วยบอกให้ ทำให้ท่านได้มีดคืนโดยไม่คาดฝัน

พระอรหันต์องค์นี้ชื่อ พระพากุละ ท่านเล่าว่า พระพากุละนี้เมตตามาเยี่ยมท่านมิได้ขาด จากครั้งแรกที่มาชี้บอกเรื่องบริขารหายที่ถ้ำในพม่าแล้ว ต่อมายังให้ความเมตตามาแสดงธรรมโปรดท่าน มาเยี่ยมท่านตลอดมาจนปัจจุบันนี้ (กราบเรียนถามท่านครั้งสุดท้ายในปี ๒๕๒๙ นี้ ท่านรับว่าพระพากุละก็ยังคงมาเยี่ยมท่านอยู่)

เมื่อเราเรียนว่า เชื่อว่าท่านและท่านพระพากุละคงจะเคยมีความผูกพันกัน ท่านคงจะเคยเป็นศิษย์ของพระพากุละกระมัง

หลวงปู่ก็อธิบายว่า ...ต่างคนต่างเคยเกิดเป็นศิษย์ซึ่งกันและกัน !

ผู้เขียนได้ยินแล้ว ก็อดมิได้ที่จะนึกซาบซึ้งในคุณธรรมของท่านผู้รู้อย่างสุดซึ้ง ผู้เป็นปราชญ์ราชบัณฑิตอย่างแท้จริงนั้น ท่านย่อมครองคุณธรรมด้านกตัญญูกตเวทิตาคุณตลอดกาล ภพชาติจะผ่านไปเช่นไร ศิษย์และอาจารย์ย่อมเป็นศิษย์และอาจารย์ต่อกันอย่างมิรู้ลืม เราเคยอ่านพบในพระไตรปิฎกอยู่เสมอว่า เมื่อท่านผู้หนึ่งผ่านภพแห่งโลกนี้ไปเสวยสุขได้สวรรคสมบัติหรือพรหมสมบัติแล้ว เมื่อผู้เคยเป็นศิษย์ของท่าน หรือผู้เคยเป็นอาจารย์ของท่านยังครองชีวิตอยู่ในมนุษยโลก หากหลงผิด ท่านก็จะลงมาตักเตือนหรือแนะข้อคิดที่ถูกต้องให้ หากปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติถูก ปฏิบัติชอบ ท่านก็จะลงมาเยี่ยมอนุโมทนาสรรเสริญในศีลานุจารวัตร แสดงธรรมให้เป็นที่รื่นเริงบันเทิงในจิต และระยะนี้เอง ที่ท่านผู้ยังดำรงธาตุขันธ์อยู่ในโลกมนุษย์ก็อาจจะเรียนถามข้อสงสัยในธรรมวินัยบางประการได้
34#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 19:58 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
.....เผชิญเสือใหญ่ ตัวขนาดเท่าม้า มาดักหน้าดักหลังพร้อมกันถึง ๒ ตัวบ้าง ลำพังตัวเดียวบ้าง แต่ละครั้งมาใกล้เพียงสาม – สี่วาก็จะถึงองค์ท่าน และเช่นกันกับเรื่องงูพิษ อำนาจเมตตาธรรมที่แผ่ไป ก็ทำให้เสือร้ายเหล่านั้นเชื่องลงอย่างน่าอัศจรรย์

ท่านเล่าว่า ตอนอยู่พม่า ท่านผจญกับเสือมากที่สุด แต่ก็ผ่านพ้นเหตุการณ์นั้น ๆ มาได้เสมอ

...รวมทั้งเรื่องการที่มีผู้หญิงตายทั้งกลม ขอถวายไหเงิน ไหทอง เพื่อขอให้พระยอมเป็นสามีสมสู่อยู่กับนาง...

...ฯลฯ

คงเป็นการยากที่ผู้เขียน ผู้มีปัญญาน้อย ด้อยความคิด จะสามารถเขียนความพิสดารเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ได้ เพราะในการดำเนินเรื่องหลายแง่หลายตอน มีการบรรยายเนื้อธรรมขั้นสูงแทรกคละเคล้ากลมกลืนกันอยู่ จึงใคร่ขออภัยท่านผู้อ่าน โปรดกรุณาไปอ่านความโดยพิสดารในภาค “ธรรมอุโฆษ” ตอนที่ผู้เขียนได้อัญเชิญข้อความที่ พระคุณเจ้า ท่านพระอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน ได้เคยเขียนพรรณนาเรื่องราวเกี่ยวกับหลวงปู่ไว้ในหนังสือ “ประวัติท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ” และหนังสือ “ปฏิปทาของพระธุดงคกรรมฐาน สายท่านพระอาจารย์มั่น ภูริมัตตเถระ”

มาลงพิมพ์ซ้ำรวมไว้ด้วย ด้วยความเคารพรักเทิดทูนบูชาอย่างสูงสุด ทั้งองค์ท่านเจ้าของประวัติ และองค์ท่านผู้เรียบเรียง

หลวงปู่อยู่ในพม่า โปรดทั้งมนุษย์ และพวกกายทิพย์อย่างเทวดา ภูตผีปีศาจ จนปลายสงครามโลกครั้งที่สอง ญี่ปุ่นที่มายึดครองพม่าแพ้สงคราม ทหารอังกฤษเข้ามารักษาการณ์และตรวจตรา พบท่านหลายครั้ง แม้ชาวบ้านญาติโยมจะระแวดระวังพาท่านไปแอบซ่อนตามที่ต่าง ๆ แต่ก็เป็นอันตรายอยู่ดี เพราะท่านเป็นชนต่างชาติ สงครามไม่เลือกว่าเป็นพระหรือเป็นคนธรรมดา เห็นว่าเป็นต่างชาติเขาก็จะต้องถือเป็นศัตรูต้องทำลาย และผู้ปกปิดรักษาท่านไว้ก็จะเป็นผิดด้วย เพื่อไม่ให้เป็นภาระความยุ่งยากแก่ญาติโยมเหล่านั้น ท่านจึงตกลงกลับเมืองไทย

พวกญาติโยมชาวพม่า นำทางมาในป่าเปลี่ยว มาส่งหลวงปู่ครึ่งทาง พามาจนถึงริมแม่น้ำแล้วก็บอกลา มีเด็กคนหนึ่ง อายุ ๑๐ กว่าขวบติดตามมาด้วย ทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่ต่างร้องไห้อาลัยท่านอย่างไม่อับอายใคร น้ำตาไหลพราก ท่านแผ่เมตตาอวยชัยให้พร ให้เขามีแต่ความสุขสวัสดีแล้วก็จากมา เหลียวไปดู ก็ยังเห็นทั้งสองคนร้องไห้อยู่จนสุดสายตา

สำหรับช่วงการเดินทางจากพม่ามาตามทางลัดในป่า เพื่อหลบหลีกทหารอังกฤษ รวมตลอดถึงเรื่องอัศจรรย์ที่ท่านต้องอดข้าว อดน้ำอยู่กลางป่าถึง ๓ วัน จนต้องปรารภถึงเทวดา และได้มีเทวดามาใส่บาตร...ซึ่งเป็นเรื่องที่อัศจรรย์เลื่องลือกันมากนี้ ผู้เขียนก็ขอประทานอภัย ขอให้ท่านผู้อ่านกรุณาต่อไปอ่านความโดยละเอียดในภาค “ธรรมอุโฆษ” ท้ายเล่ม ตอนที่อัญเชิญข้อความมาจากหนังสือ “ประวัติท่านอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ” ของ พระคุณเจ้าท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน

http://www.dharma-gateway.com/mo ... lp-chob-hist-16.htm
33#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 19:57 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ศีลเป็นกำลังอย่างไม่มีที่เปรียบ           ศีลเป็นอาวุธอันสูงสุด

ศีลเป็นเครื่องประดับอันประเสริฐ                    ศีลเป็นเกราะอย่างอัศจรรย์

ศีลเป็นคุณรวมกำลังอย่างเลิศ                        ศีลเป็นเสบียงทางอย่างสูงสุด

ศีลเป็นผู้นำทางอย่างประเสริฐ                       ซึ่งเป็นเครื่องขจรไปทั่วทุกทิศ

ศีลเท่านั้นเป็นเลิศในโลกนี้                             ส่วนผู้มีปัญญาย่อมเป็นผู้สูงสุด

ความชนะในหมู่มนุษย์และเทวดา                  ย่อมมีเพราะศีลและปัญญา


หลวงปู่อธิบายว่า ใครอยากเกิดเป็นคนรูปงาม ผิวขาวสวย ต้องพยายามรักษาศีลห้าให้บริสุทธิ์ ชาติหน้าจะได้เกิดเป็นคนสวยสมใจ

ที่พม่านี้ หลวงปู่ได้พบหญิงสาวคนหนึ่ง อายุประมาณ ๓๐ ปี นำผ้าขาวมาทำบุญถวายท่านให้ทำเป็นผ้าอาบ หญิงคนนี้นุ่งขาวห่มขาว ถือเพียงศีลแปด แต่การทำสมาธิภาวนาเก่งมาก พระบางองค์ยังต้องอายเพราะเหาะได้ สามารถไปเที่ยวสวรรค์ตั้งแต่ยังไม่ตาย นางสร้างบุญบารมีมาแต่ชาติปางก่อนอย่างเต็มที่ และมาถึงชาตินี้ก็ได้ปฏิบัติเพิ่มเติมต่อเนื่อง...ทั้งทาน ศีล ภาวนา ก่อให้เกิดสมาธิและปัญญาเป็นที่สุด

นับว่าเป็นคนที่เกิดมาอย่าง สุคโต และคงจะไปอย่าง สุคโต เช่นกัน

ตลอดเวลาทั้งหมด ๕ ปีกว่าที่อยู่ที่พม่านั้น พ้นเวลาเข้าพรรษา หลวงปู่ก็จะเที่ยวรุกขมูลไปเรื่อย ๆ จากเขาลูกนี้ไปดอยโน้น...และดอยโน้น จากถ้ำหนึ่ง ต่อไปอีกถ้ำหนึ่ง... และอีกถ้ำหนึ่ง ที่ไหนสงบสงัดภาวนาดีก็อยู่แห่งละ ๖ คืนบ้าง ๗ คืนบ้าง ๑๐ คืนบ้าง หรือบางแห่ง ถ้าสัปปายะมากในการภาวนา ก็อาจจะอยู่ถึงเป็นเดือน เช่นที่ถ้ำผาแดง นาไหง่ ซึ่งเป็นถ้ำอยู่ระหว่างบ้านหนองคัน ในหมู่บ้านนี้มีเพียงสิบปาย (หลังคาเรือน) เท่านั้น แต่ชาวบ้านก็เคารพเลื่อมใสศรัทธาหลวงปู่เป็นอย่างดี

ที่ถ้ำผาแดง นาไหง่นี้ ท่านเล่าว่าศักดิ์สิทธิ์มาก มีเทพมีภุมเทวดารักษามาก ระหว่างท่านพำนักบำเพ็ญสมณธรรม เคยมีช้างเข้ามาในถ้ำ (เป็นถ้ำเปิด) มาร้อง แคว้...แคว้ อยู่ห่างจากหลวงปู่เพียงสี่ห้าวาเท่านั้น แต่เมื่อท่านแผ่เมตตาให้ มันก็ก็ยอมถอยห่างออกจากถ้ำแต่โดยดี

ความจริงไม่แต่ที่ถ้ำผาแดง นาไหง่ นี่เท่านั้นที่มีเทพ มีภุมมเทวดารักษามาก ท่านว่า เกือบจะกล่าวได้ว่า ในป่า ในถ้ำ เกือบทุกถิ่น ทุกสถาน ล้วนศักดิ์สิทธิ์ มีเทพ มีภุมเทวดามากเช่นกัน เขามักมาอาราธนาท่าน ขอให้แสดงธรรมโปรดพวกเขาเกือบทุกคืน

ณ ที่พม่านี้เอง ที่มีพระอรหันต์มาแสดงธรรมให้ท่านฟัง เช่น พระพากุละ พระมหากัสสปะ พระอนุรุทธะ ซึ่งจะได้แยกกล่าวโดยละเอียดต่อไปข้างหน้า

และที่ในถ้ำ ตามท้องเถื่อนในถิ่นไพรพฤกษ์ ในเขตพม่านี้เอง ที่หลวงปู่ได้มีประสบการณ์รู้เห็นสิ่งลึกลับมากมาย....ได้เผชิญภัยจากสัตว์ป่าซึ่งถือกันเป็นเพศที่ดุร้ายเป็นภัยต่อมนุษย์...เผชิญภูตผีปีศาจ ซึ่งหมกไหม้อยู่ตามบาปกรรมที่เขาหลง... เผชิญงูพิษในถ้ำ ซึ่งลือชื่อกันว่าแสนดุ เป็นจ้าวถ้ำ ใครก็ตามไม่ว่าฆราวาสหรือพระที่ไปพักพำนักในนั้น มันจะต้องกัดทำอันตรายถึงชีวิตกันไปนักแล้ว แต่ท่านก็ขึ้นพักบำเพ็ญสมณธรรมโดยไม่หวั่นเกรงคำเตือน แต่ด้วยบารมีธรรมของท่าน ท่านได้แผ่เมตตาจนเจ้างูนั้นยอมสิโรราบ ซบหัวหมอบลงจนเหมือนจะคารวะท่าน แต่ท่านกับงูผู้ถูกทรมานดัดสันดาน ก็อยู่ร่วมกันในถ้ำนั้นได้ต่อไปอย่างสงบสันติ
32#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 19:57 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๑๖. ธุดงค์เข้าเขตพม่าและจำพรรษาในพม่า

ไม่เป็นการผิดเลยที่จะกล่าวว่า สำหรับหลวงปู่แล้ว “ป่าลึกและเขาสูง” นั่นเอง คือ “บ้านอันแสนผาสุก” ของท่าน เมื่อมีโอกาสท่านจะต้องเข้าฝ่าเข้าเขาไปตามนิสัย ได้ไปถึงใจกลางป่าลึก ถึงบนยอดดอยเขาสูงแล้ว ใจจึงจะมีความปลอดโปร่งโล่งสบายอย่างบอกไม่ถูก

การเที่ยวธุดงคกรรมฐานครั้งนี้ ท่านกำหนดจะเลยไปให้ถึงพม่า หมู่เพื่อนทราบข่าวต่างก็ทักท้วงว่า ได้ยินว่าทางที่ไปนั้นมีแต่ความทุรกันดาร เต็มไปด้วยป่าดิบดงร้าย ไม่มีบ้านคน มีแต่สัตว์ป่าซึ่งมักจะเป็นประเภทดุร้าย อย่างเสือ อย่างช้าง ท่านเล่าว่า เหมือนกับพม่านั้นมีมนต์เพรียกให้ไปเยี่ยม อันที่จริงคงเป็นความปรารถนาลึก ๆ ในหัวใจที่ท่านต้องการจะไปดูบ้านเกิดแต่อดีตชาติมากกว่า (ท่านเคยเกิดเป็นพม่า ชาติหนึ่ง)



สุดท้ายท่านก็ได้กัลยาณมิตรคู่คิดที่ออกเที่ยวธุดงคกรรมฐานไปพม่าด้วยกัน คือหลวงปู่พรหม จิรปุญโญ ซึ่งเป็นศิษย์ท่านพระอาจารย์มั่น รุ่นใกล้เคียงกับท่าน หลวงปู่พรหมต่างมีนิสัยอาจหาญ เด็ดเดี่ยว ใจเด็ดไม่กลัวตายเช่นเดียวกับท่าน จึงเดินทางฟันฝ่าความลำบากไปถึงเขตประเทศพม่าด้วยกันได้โดยผ่านทางแม่ฮ่องสอน

ไปถึงพม่า แล้วก็แยกทางกัน หลวงปู่พรหมต้องการจะเที่ยวไปดูเมืองต่าง ๆ ด้วย แต่หลวงปู่ปรารถนาจะอยู่แต่ในป่า ไม่ต้องการเข้าเมืองเลย จึงตกลงแยกกัน โดยหลวงปู่คงอยู่ตามป่า...เขา เพื่อโปรดชาวบ้านอย่างพวกยาง พวกกระเหรี่ยง

ท่านเอ็นดูชาวพม่ามาก ที่ส่วนใหญ่เป็นคนดีมีศีลธรรม ไม่ลักขโมย ไม่ฉ้อโกงกัน ทั้งมีน้ำใจศรัทธาในพระศาสนาอย่างดียิ่ง พวกยาง พวกไทยใหญ่ที่อยู่ในป่าในเขา แม้จะจนยากลำบากตรากตรำอย่างไร ก็จะต้องหาอาหารมาใส่บาตรอย่างเหลือเฟือ ท่านชมว่าพวกเขามีจิตใจงาม ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ถือศีลห้าบริสุทธิ์ แม้เป็ดไก่ก็หายาก ไม่มีคนเลี้ยง เพราะเขาต่างไม่ฆ่าสัตว์

ท่านเล่าว่า ท่านไปพม่าสองครั้ง ครั้งแรกที่ไปพร้อมหลวงปู่พรหม อยู่ติดต่อกัน ๒ ปี โดยจำพรรษาที่ ๑๔ พ.ศ. ๒๔๘๑ ที่ บ้านยาง พรรษาที่ ๑๕ พ.ศ. ๒๔๘๒ จำพรรษาบน ดอยอีต่อ ซึ่งเป็นเขาอยู่บนดอยยางแดง

จากนั้นท่านก็กลับเมืองไทย วิเวกอยู่แถวเชียงใหม่ ๓ ปี จึงหวนกลับไปพม่าอีกครั้งหนึ่ง เมื่อระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองระเบิดขึ้นแล้ว ในปลายปี ๒๔๘๕ พอปวารณาออกพรรษา ท่านก็เตรียมอัฐบริขารพร้อมเพื่อกลับไปโปรดชาวยาง ชาวพม่าอีกวาระหนึ่ง

พรรษาที่ ๑๙ พ.ศ. ๒๔๘๖ จำพรรษา ณ บ้านคนดอย ที่อยู่บนเขาในเขตพม่า

พรรษาที่ ๒๐ พ.ศ. ๒๔๘๗ จำพรรษาที่ ดอยเชียงตอง เขตไทยใหญ่

พรรษาที่ ๒๑ พ.ศ. ๒๔๘๘ จำพรรษาที่ ดอยเชียงคำ แดนพวกไทยใหญ่ เช่นกัน

รวมเวลาที่ท่านเที่ยวธุดงค์ในพม่าสองครั้งสองหนนี้ เป็นเวลาเกือบ ๖ ปี ทำให้เทศน์เป็นภาษาพม่าได้อย่างคล่องแคล่ว

ท่านชมผู้หญิงไทยใหญ่ว่า มีผิวขาวเหลือง งามทั้งรูปและงามจิตใจ ท่านว่าเป็นผลบุญของการที่เขายึดมั่นรักษาศีลไม่ให้ด่างพร้อย ไม่ให้ขาด ไม่ให้ทะลุ การอยู่โปรดพวกเขา เกือบจะไม่จำเป็นต้องพรรณนาคุณของศีล เพราะดูเขาจะซาบซึ้งรู้อานุภาพของศีลกันเป็นอย่างดีว่า
31#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 19:56 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
พรรษาที่ ๑๑ พ.ศ. ๒๔๗๘ ท่านจำพรรษาที่วัดสระคงคา บ้านคลองสีพัน เมืองหล่มใหม่ จังหวัดเพชรบูรณ์

พรรษาที่ ๑๒ พ.ศ. ๒๔๗๙ จำพรรษาที่ วัดดงขวาง อันอยู่ในเขตเมืองหล่มใหม่ จังหวัดเพชรบูรณ์เช่นกัน เพียงแต่อยู่ห่างกันมากเท่านั้น

ท่านเร่งความเพียรอย่างอุกฤษฏ์ อาจจะเป็นเพราะที่ได้ถูกเทวดาไปกระซิบทักกับผ้าขาวตอนอยู่ถ้ำนายมก็ได้ ท่านว่า เราเป็นพระ มีศีลถึง ๒๒๗ ข้อ แต่ผ้าขาวนั้นเพียงศีลแปด แต่ก็เป็นพระอนาคามีแล้ว อายเขาเหลือใจ

ความจริง นับจากที่จากถ้ำนายมมาแล้ว ท่านก็เร่งในการทำความพากเพียรอย่างยิ่งเช่นกัน ตลอดเวลา ๒ พรรษาที่ผ่านมา ณ วัดสระคงคา และวัดดงขวาง มีการอดอาหารมากขึ้น ผ่อนอาหารสลับกัน บางโอกาสได้ทำความเพียรเฉพาะอิริยาบถ ๓ คือ ยืน เดิน นั่ง โดยอธิษฐานไม่นอน เพื่อเอาชนะกิเลส

ออกพรรษาแล้ว ท่านก็หลีกเร้นไปอยู่ตามป่าตามเขาสูง ในเขตจังหวัดเพชรบูรณ์และจังหวัดเลย จนเกือบจะกล่าวได้ว่า ไม่มีภูเขาใด ดอยยอดใดในสองจังหวัดนี้ ที่รอยเท้าของท่านจะไม่เคยเหยียบย่างธุดงค์ผ่าน

ท่านได้ธุดงค์จากจังหวัดเลย มุ่งไปทางเชียงใหม่ด้วยได้ข่าวว่า ท่านพระอาจารย์มั่นอยู่ที่นั่น ผ่านภูเรือ ด่านซ้าย นครไทย ใช้เวลาเดินทางรอนแรมไป ๙ วัน ๙ คืน ไม่มีอุปสรรคใด ๆ

พรรษาที่ ๑๓ พ.ศ. ๒๔๘๐ ท่านได้ไปจำพรรษาอยู่ ณ วัดบ้านโป่ง อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่

วัดบ้านโป่งนี้ เป็นสำนักที่ครูบาอาจารย์เคยไปพักบำเพ็ญเพียรกันมาก เช่น ท่านพระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล ท่านเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท) เป็นต้น แม้ท่านพระอาจารย์มั่นเอง ก็เคยจำพรรษา ณ ที่วัดนี้

ท่านเล่าว่า

เป็นที่สัปปายะ เหมาะแก่การภาวนามาก ภาวนาไม่นาน จิตจะสงบลงถึงฐานของสมาธิอย่างง่ายดาย การนั่งภาวนาจนตลอดสว่าง วันยังค่ำคืนยังรุ่งก็ทำได้โดยไม่ยาก เวลาเดินจงกรมก็รู้สึกเหมือนกับเหาะลอยไปในอากาศ

สถานที่นี้เหมาะแก่การทำประโยคความเพียร ไม่แต่ท่านเอง แม้แต่พระอื่น ก็ทำได้ถึงอัปปนาสมาธิโดยง่ายเช่นกัน จึงเป็นที่ซึ่งพระธุดงค์กรรมฐานนิยมไปพำนักไม่ขาดสาย จนเท่าทุกวันนี้



ในพรรษานี้ หลวงปู่มีกัลยาณมิตรที่ดีอยู่จำพรรษาด้วย คือ ท่านพระอาจารย์เทสก์ เทสรังสี (ปัจจุบัน... พระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฎ์) ซึ่งท่านพระอาจารย์เทสก์ได้เป็นหัวหน้าเทศนาอบรม และให้อุบายอันมีค่าแก่หมู่เพื่อน เตือนมิให้ติดสุข พอใจแต่เพียงการทำจิตให้สงบแต่อย่างเดียว การเดินปัญญา เพื่อพิจารณาถอดถอนกิเลสจะต้องดำเนินควบคู่กันไป

ปกติจิตของหลวงปู่จะรวมลงถึงฐีติจิต หรือ อัปปนาสมาธิ สงบนิ่งอยู่เช่นนั้นเป็นวันเป็นคืน หรือถอยออกมาสู่อุปจารสมาธิ ซึ่งเป็นภาวะตอนที่ ออกรู้ หรือ รับแขก อยู่เสมอ จิตรวมมีกำลังจริง...  แต่ปัญญาไม่แก่กล้า ฉะนั้น ณ ทีวัดบ้านโป่งนี้ ท่านจึงพักการรับแขกนอก แต่หันมาคิดค้นดูแขกภายใน... หรือกายของตนเองอย่างเอาเป็นเอาตาย อุบายปัญญาก็บังเกิดขึ้นทันกับสติ ที่จะห้ำหั่นกิเลสให้ขาดลงเป็นลำดับ ๆ

ครั้นออกพรรษา ปวารณาแล้ว ท่านก็ได้ลาจากวัดบ้านโป่งไปด้วยความสำนึกในคุณของสถานที่แห่งนี้เป็นที่สุด

http://www.dharma-gateway.com/mo ... lp-chob-hist-15.htm
30#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 19:56 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๑๕. สถานที่ซึ่งมีบุญคุณที่สุด

ปกติหลวงปู่มีนิสัยเด็ดเดี่ยว อาจหาญ ชอบไปและอยู่ตามลำพังองค์เดียว นาน ๆ จะชวนเพื่อนชวนหมู่ไปด้วยสักครั้งหนึ่ง แต่ก็จะเลือกเฉพาะผู้ที่ใจเด็ด ใจถึง ตายเป็นตาย เท่านั้น ท่านอธิบายว่า การไปคนเดียว อยู่คนเดียว ทำให้มีสติรู้ตัว สังวรระวังอยู่ตลอดเวลา ไม่ประมาทมัวแต่จะนึกอาศัยเพื่อนหรือผู้อื่น ทั้งไม่ต้องมีเรื่องมาก ต้องคอยพูดคุยสนทนากันในบางโอกาสบางเวลา ไปคนเดียว ไม่ต้องรั้งรอกัน คิดจะไป เพียงเก็บบริขารใส่บาตร คว้ากลดร่มก็ไปได้แล้ว ไม่ต้องเสียเวลารอโน่นรอนี่ หรือคำท้วงติง....

“อย่าเพิ่งไปเลย กำลังอยู่สบาย”

“ไปทำไม ญาติโยมเพิ่งทำแคร่ ที่มุงบังถวายเสร็จ ไม่อยู่ต่อไปหรือท่าน...”
จะได้ไม่ต้องได้ยินคำทัดทาน เหนี่ยวรั้งเหล่านี้

มีผู้เคยเรียนถามท่านว่า ไปองค์เดียว เจ็บจะทำอย่างไร ตายจะทำอย่างไร ท่านก็จะยิ้มและตอบเรียบ ๆ ว่า “เจ็บก็รักษาธาตุขันธ์ไปตามมีตามเกิด หายก็หาย ตายก็ตาย”

นั่นซี...ตายจะทำอย่างไร  ผู้สงสัยเร่งถาม

ท่านตอบง่าย ๆ ว่า “ก็ปล่อยไปตามคติธรรมดา”

ถามซ้ำกันอีกว่า คติธรรมดาเป็นอย่างไร ท่านจึงต้องอธิบายเพิ่มขึ้น ธาตุทั้ง ๔ เขาก็กลับคืนไปสู่สภาพเดิมของเขา ที่เป็นลม เป็นไฟ ก็หยุด แล้วเมื่อพอหมดลมหายใจ ที่เป็นน้ำและดิน ก็กลับสู่น้ำและดินน่ะซี

ออกพรรษาแล้ว ท่านก็จะจากวัดที่พัก ไปแสวงหาที่วิเวกอยู่เสมอ พรรษา ๑๐ นี้ แม้ท่านจะจำพรรษาในถ้ำนายม ซึ่งอยู่กลางป่าลึก เป็นที่สงัดวิเวกอย่างยิ่งอยู่แล้ว แต่วิสัยของท่าน ไม่ชอบการอยู่ในที่ซ้ำซาก จำเจ ไม่ติดถิ่น ไม่ลังเลอาลัย เทวดาผู้อารักขาท่าน และเทวดาที่อยู่โดยรอบบริเวณ จะพยายามอาราธนา ขอให้ท่านอยู่ต่อไปเพื่อให้ความสงบร่มเย็น เป็นที่พึ่งพักพิงทางใจของบรรดากายทิพย์เหล่านั้น แต่ท่านก็ต้องปฏิเสธว่า ท่านมีความจำเป็นต้องจากไป ท่านเห็นประจักษ์ในพระพุทธภาษิต

อุยฺยุญฺชนฺติ สติมนฺโต             น นิเก เต รมนฺติ เต

หํสาว ปลฺลํ หิตฺวา                  โอกโมกํ ชหนฺติ เต ฯ

ผู้มีสติ ย่อมหลีกออก                      ท่านไม่ยินดีในที่อยู่

ท่านย่อมละอาลัย (ที่อยู่) เสียได้   ดุจพญาหงส์ละเปือกตมไปฉะนั้น


ท่านออกวิเวกต่อไป ในเขตต่อจังหวัดเพชรบูรณ์ และจังหวัดเลย ซึ่งท่านเคยท่องเที่ยวหาความสงบตลอดมา...ทางภูเขียว ภูเรือ ภูหลวง... ท่านว่า เวลาอยู่ในวัดหรือที่เป็นป่าธรรมดา ไม่ใช่ป่าดงพงลึกนั้น ใจท่านมักจะอึดอัด อ่อนล้าไปในทางขี้เกียจ ประมาท นอนใจ ไม่กระฉับกระฉงว่องไว ดังที่ไปทรมานตนในป่าลึกเขาสูง สติปัญญาก็ล่าช้า ดุจจะเสื่อม ถอยหลัง ไม่องอาจแกล้วกล้า ดั่งเวลาเผชิญภัยในป่าเขา

ป่าเขา...สำหรับท่าน... เป็นประดุจหินกล้าที่ลับมีดให้คมกริบ พร้อมที่จะตัดฟันกิเลสที่จะเผยอตัวขึ้นมา ให้ขาดกระเด็นไป

ป่าเขา...สำหรับท่าน...เป็นประดุจครูที่ให้อุบายทรมานกิเลสให้สยบราบคาบ


การทำความเพียรของท่าน สามารถกระทำต่อเนื่องกันไปโดยไม่หยุดยั้ง หรือต้องถูกเหนี่ยวรั้งกังวลเพราะหมู่พวก สติปัญญาก็เกิดขึ้น งอกงามคู่เคียงกับความเพียร และในขณะเดียวกัน ระหว่างที่ทำความเพียร ก็ยังพอมีเวลาให้ความอนุเคราะห์แก่พวกสิ่งลึกลับกายทิพย์เขาได้ด้วย
29#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 19:56 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
เทวดาอธิบายว่า

ไม่ใช่อาหารธรรมดาที่จะฉัน จะเคี้ยว จะกลืนดังอาหารธรรมดา อาหารทิพย์นี้ เป็นเพียงโอชารสที่จะซึมซาบเข้าไปในร่างกายเท่านั้น เปรียบเหมือนยา หรือน้ำเกลือ น้ำหวานที่พระอาจฉันได้หลังเพลาเพลแล้ว เพียงใช้ถูเบา ๆ ความเป็นทิพย์ก็จะซึมซาบเข้าไปตามส่วนของร่างกาย เหมือนฉีดยาบำรุงกำลังนั่นเทียว

ระยะแรก ท่านค้านมาก เหตุผลที่สำคัญที่สุด ก็คือ เทวดานั้นเป็นผู้หญิง ท่านเกรงว่าจะเกิดอาบัติ และถึงว่ากายทิพย์ของเทวดาจะไม่เป็นที่รู้เห็นของคนทั่วไป แต่สำหรับตัวท่านเองนั้น หลับตาก็มองเห็นเทวดา ลืมตาก็มองเห็นเทวดา แม้ทางพระวินัยจะไม่มีความเสียหาย แต่ถ้าเผื่อผู้มีสายตาดี มีญาณผ่านมาเห็นเข้า ก็จะเป็นที่ครหาว่า พระอยู่ลำพังกับสตรี

เทวดากราบเรียนว่า

อาหารที่ท่านเห็นนั้น ท่านเห็นได้จากใจทิพย์ เทวดาเพียงจะนำอาหารทิพย์มาถวายทางกายทิพย์ ไม่ใช่กายเนื้อ ที่ท่านว่า ลืมตาก็เห็นหรือตาเนื้อมองเห็นด้วยนั้น แท้จริงเป็นเพราะญาณภายในของพระคุณเจ้าสนับสนุนให้เห็นดอก เทวดาเป็นผู้รักและเทิดทูนท่านผู้มีศีลธรรม ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ อย่างพระคุณเจ้า เทวดาก็อยากได้บุญได้กุศลเช่นกัน จึงขอถวายอาหารทิพย์บ้าง พระคุณเจ้ายังออกบิณฑบาตโปรดให้มนุษย์ได้ใส่บาตร ได้บุญ ได้กุศล เทวดาทำไมจึงอาภัพอับวาสนา ไม่มีสิทธิ์ถวายอาหาร หรือยาบำรุงกำลัง เพื่อส่วนบุญกุศลส่วนกุศลของตนบ้างบ้าง

ท่านเล่าว่า การคิด การโต้ตอบนี้ เป็นไปในสมาธิภาวนาตลอด ดังนั้น เวลาเพียงไม่กี่วินาที ถ้อยคำ กระแส ความคิดของมนุษย์หรือเทวดาจะปรากฏไปได้ยืดยาวมาก

ปรากฏว่า หลังจากที่เทวดามาถวายอาหารทิพย์ ถูให้ท่านทางกายทิพย์แล้ว พอท่านออกจากสมาธิ ก็รู้สึกว่า ร่างกายมีกำลังสดชื่นราวกับได้ฉันอาหารตลอดเวลาหลาย ๆ วันที่ผ่านมา

เทวดาองค์นี้ได้เล่าถวายถึงบุพเพนิวาสที่ได้เคยมีต่อหลวงปู่อย่างละเอียด และแม้จะอยู่คนละภพและภูมิ แต่ก็ปวารณาขอถวายอารักขา แม้ท่านจะปฏิเสธว่า องค์ท่านมิได้ลำบาก ติดขัด หรือขาดแคลนสิ่งใด ความเป็น ความอยู่ ก็พอเป็นไปตามอัตภาพของพระธุดงคกรรมฐาน ผู้ฉันน้อย อยู่น้อย ใจมุ่งต่ออรรถต่อธรรมเป็นส่วนใหญ่ ที่เทวดาว่า ท่านจะหิว จะไม่มีกำลัง ท่านก็มิได้รู้สึกเลย

อย่างไรก็ดี แม้ท่านจะปฏิเสธอย่างไร เทวดาองค์นั้นก็คอยมาดูแล อารักขาท่านอยู่เสมอ บางครั้งท่านมองไปจะเห็นเทวดานั่งเรียบร้อยอยู่บนโขดหิน ห่างท่านสัก ๔ – ๕ วา ราวกับจะเป็นยามมิให้พระต้องอนาทรร้อนใจ

ท่านว่า เป็นเหตุการณ์ที่แปลกอย่างหนึ่ง อันปรากฏกับท่านระหว่างที่ท่านจำพรรษาอยู่ที่ถ้ำนายม จังหวัดเพชรบูรณ์

http://www.dharma-gateway.com/mo ... lp-chob-hist-14.htm
28#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 19:55 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ที่ถ้ำนายมนี้มีเทพมาก และมักจะอาราธนาให้ท่านแสดงธรรมโปรดพวกเขาเสมอ ชาวบ้านป่าที่อยู่ใกล้ถ้ำนายมที่สุดนั้น มีเพียงสองสามครอบครัว มีฐานะแบบหาเช้ากินค่ำ ที่พยายามถวายอาหารพระก็ด้วยใจเคารพเลื่อมใส แต่ความที่เขาเองก็ลำบากแทบไม่มีจะกิน ท่านจึงไม่ค่อยจะออกมาบิณฑบาตนัก เว้นสี่ซ้าห้าวันจึงจะออกมาบิณฑบาตสักหนหนึ่ง หรือบางทีการภาวนาดื่มด่ำมาก ท่านก็จะเว้นการบิณฑบาตนานมากขึ้น ทำสมาธิทั้งกลางวัน กลางคืน เวลา เช้า – สาย – บ่าย – เย็น มืดหรือสว่างแทบไม่มีความหมาย จิตสว่างโพลง ไม่มีกลางวัน ไม่มีกลางคืน

จิตลงได้สนิทเต็มที่ถึงฐานสมาธิ ได้ครั้งละหลาย ๆ ชั่วโมง กว่าจะถอนขึ้นมา เมื่อถอนขึ้นมาแล้ว ก็พิจารณาด้านปัญญา จนกว่าปัญญาจะฟาดฟันกิเลสดับสิ้นลง เวลาเข้าสมาธินั้นประมาณแน่นอนไม่ได้ ถ้าเป็นเวลากลางวัน ซึ่งอากาศมักจะร้อนสักหน่อย ก็จะอยู่ในราวสอง หรือ สาม หรือ สี่ชั่วโมง แต่ถ้าเป็นเวลากลางคืน อากาศเย็นโปร่งสบาย ก็สี่ถึงห้าชั่วโมงเป็นประจำ แต่ก็บ่อยครั้งที่จิตอาจจะถอน ต่อเมื่อถึงเวลารุ่งเช้าสว่างแล้ว หลังจากทำสมาธิแล้ว เพื่อเปลี่ยนอิริยาบถ ท่านก็จะเดินจงกรมต่อไป

จิตดื่มด่ำในธรรมที่ผุดขึ้น ธรรมก็แนบกับจิตไม่เสื่อมคลาย ท่านไม่ได้สนใจกับเวลาทีผ่านไป หรืออาหารที่ไม่ได้ตกถึงท้องเป็นวัน ๆ เป็นอาทิตย์ ๆ ผ้าขาวที่อยู่ด้วย ท่านก็ไม่ได้ห่วงใยอาลัยอาหารเช่นเดียวกัน จึงต่างคนต่างทำความเพียรอย่างอุกฤษฎ์ ท่านเล่าให้ศิษย์ผู้หนึ่ง คือ พระอาจารย์บุญญฤทธิ์ ปัณฑิโต ฟังในภายหลังว่า



ตอนที่ท่านนั่งภาวนา และเห็นเทวดาองค์หนึ่งเหาะผ่านท่านไปโดยไม่สนใจ แต่ไปกระซิบหูผ้าขาวนั้น ท่านรู้สึกอายใจอย่างบอกไม่ถูก

“แหม...เราบวชมา ๑๐ ปี แล้ว ยังสู้เขาไม่ได้ ! ผ้าขาวนั้นได้อนาคามีแล้ว !”

เรื่องในสมัยพุทธกาลก็เคยมี ที่ภิกษุบำเพ็ญภาวนาแล้วสู้อุบาสกอุบาสิกาไม่ได้ อุบาสิกานางหนึ่ง พิจารณาแล้วได้อนาคามี นางมีใจเมตตา เห็นแก่หมู่ภิกษุยังไม่บรรลุธรรม พิจารณารู้ว่า ยังติดขัดอาหารไม่สัปปายะ เป็นที่สบายแก่จิต ก็พยายามจัดหาปรุงอาหารที่ถูกแก่จริตถวาย ภิกษุเหล่านั้นนึกอาย ที่อุบาสิกาได้บรรลุธรรมถึงอนาคามีแล้ว แต่ท่านทุกองค์ยังเป็นปุถุชน ท่านพยายามเร่งความเพียรอย่างหนัก และสุดท้ายก็ได้สำเร็จอรหัตผลกันทุกองค์ ขณะมี่โยมอุปัฏฐากของท่านก็ยังเป็นพระอนาคามีเช่นเดิม

อย่างไรก็ดี สำหรับเรื่องของหลวงปู่นี้ เราไม่กล้าอาจเอื้อม จะคิด จะวิจารณ์เช่นไร เทวดาองค์นั้นไปกระซิบให้ผ้าขาวมาเรียนถามหลวงปู่เป็นเชิงสัพยอก หรือ ให้อุบายหรือเปล่า ที่ว่า

“ถึงขั้นอะไรแล้ว ถึงขั้นอะไรแล้ว”

แต่ก็ทำให้ท่านเร่งความเพียรหนักขึ้น จนไม่ได้เป็นอันนึกถึงการบิณฑบาตหรือฉันอาหาร ด้วยใจนั้นประชิดติดพันรุกไล่อยู่กับการห้ำหั่นกิเลสอย่างไม่ลดละ ท่านไม่ได้นึกถึงเดือน นึกถึงตะวัน เพลินด้วยการภาวนาทั้งอิริยาบถ ๔ จนไม่ได้นึกถึงสังขารร่างกายเลยว่า ซูบผอมอ่อนเพลียไปเช่นไร

ออกประหลาดใจที่วันหนึ่งได้เห็น เทวดาองค์หนึ่งเข้ามากราบคารวะขออนุญาตถวายอาหารทิพย์

เทวดากราบเรียนท่านว่า

ที่ท่านมาบำเพ็ญความเพียรอยู่ ณ ที่นี้ เทวดาได้เป็นผู้มาคอยอารักขาท่านตลอดเวลา ด้วยความเคารพเลื่อมใส ศรัทธาอย่างสูงยิ่ง เหล่าเทพบริเวณนี้มีความสุขสงบร่มเย็นโดยทั่วกัน ด้วยกระแสธรรมและเมตตาที่ท่านแผ่ไปให้โดยไม่มีประมาณ เทวดาทั้งหลายขออนุโมทนาด้วยพระคุณเจ้า แต่ระยะนี้พระคุณเจ้าเร่งความเพียรอย่างอุกฤษฎ์ ไม่บิณฑบาต ไม่ฉันอาหาร ธาตุขันธ์ขาดอาหารไปหล่อเลี้ยงร่างกายมาหลายเพลาแล้ว แม้ใจของท่านจะผ่องใส อาจหาญ ร่าเริงในธรรม แต่ร่างกายที่อ่อนเพลีย อาจจะเป็นอุปสรรคให้ท่านล้มเจ็บลงได้ เทวดาสงสาร ทนดูอยู่หลายวันแล้ว อดไม่ได้ วันนี้ต้องขออนุญาตถวายท่านด้วยอาหารทิพย์

ท่านว่า อาหารทิพย์เป็นอย่างไร และนี่ก็ตกบ่ายแล้ว ฉันไม่ได้ เป็นอาบัติ

เทวดา ก็แสดงอาหารทิพย์ในมือถวายให้ท่านดู ลักษณะเป็นแท่งเหมือนดินสอพอง
27#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 19:54 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๑๔. จำพรรษาที่ถ้ำนายม เทวดามาอารักขาและถวายอาหารทิพย์

ในพรรษาที่ ๑๐ พ.ศ. ๒๔๗๗ ท่านจำพรรษาอยู่ ณ ถ้ำนายม จังหวัดเพชรบูรณ์ ถ้ำนี้เป็นถ้ำที่ปรากฏให้ท่านเห็นในนิมิต ตั้งแต่ท่านยังอยู่ที่วัดป่าบ้านเหล่างา จังหวัดนครราชสีมา กับท่านพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม เมื่อท่านล่วงรู้อนาคตถึงถ้ำที่ท่านจะต้องไปอยู่ ท่านก็เดินทางจากนครราชสีมา บุกป่ามุ่งไปทางเพชรบูรณ์ เพื่อสืบหาถ้ำนายมที่เห็นในนิมิต

ท่านเดินทางมากับผ้าขาวคนหนึ่ง เป็นคนบ้านนอก รักษาศีล ๘ ไปถึงเมืองเพชรบูรณ์ ถามหาถ้ำนายม แต่ก็ไม่มีผู้ใดรู้จัก จนสุดท้ายจึงมาพบเข้า เป็นถ้ำที่ซอกซอนอยู่ในป่าลึก จากบ้านชาวป่าที่ใกล้ที่สุด ต้องบุกป่าไม้ไผ่อันหนาทึบเข้าไปถึง ๕ กิโลเมตร จึงจะถึงถ้ำนายม

ท่านเล่าว่า

ตั้งแต่เห็นถ้ำมา ท่านไม่เคยเห็นถ้ำที่ไหนจะใหญ่โตและงดงามเท่าถ้ำนายมนี้ ภายในถ้ำมีบริเวณอันกว้างใหญ่ เป็นหลืบเขา เป็นชั้นช่องปล่องเปลว เพดานเป็นหินระย้าย้อยงดงาม บางตอนก็เลื่อมพรายระยิบระยับประดุจแก้วมุกดา แต่ละห้องคูหาล้วนใหญ่โตมโหฬาร ต่อเนื่องกันไปดุจท้องพระโรง และห้องหอในปราสาทราชวัง บางตอนที่แยกออกไปเป็นซอกเล็ก คูหาน้อย แม้จะขาดแสงดูทึบมืดมาก แต่ก็ไม่มีอับชื้น อากาศโปร่งเย็นสบาย มีลมพัดโกรกตลอดเวลา ชวนให้นั่งภาวนาเป็นอย่างมาก

ท่านว่า เป็นถ้ำอันศักดิ์สิทธิ์ ไม่มีมด ไม่มีแมลงปรากฏ พระเณรหรือใครก็ตามจะไปทำความสกปรกในนั้นไม่ได้เลย และถ้าขี้เกียจภาวนา เห็นแก่หลับแก่นอน ก็จะถูกปลุก ถูกเตือน ดึงแขน ดึงขา เพื่อไม่ให้ประมาทในการภาวนา

ท่านบอกว่า พิจารณาแล้ว เคยเป็นถ้ำอยู่ใต้ทะเลมาก่อน จนเดี๋ยวนี้พื้นถ้ำก็ยังคงเป็นทรายทะเลอยู่ แต่ก็น่าประหลาด ดังที่กล่าวมาแล้ว ว่าแม้พื้นถ้ำจะเป็นทราย แต่มิได้มีมดมีแมลงเล็กน้อยอาศัยอยู่ในพื้นทราย ดังที่เคยพบในพื้นทรายแถบอื่นเลยสักตัวเดียว ดูราวกับมีผู้มาปัดกวาดทำความสะอาดให้ดูราบเรี่ยมเอี่ยมสำอางอยู่ตลอดเวลา

บริเวณหน้าถ้ำ มีกระทะเหล็กใหญ่ ๆ หม้อ ไห มากมาย ถามดูก็ไม่ทราบว่าเป็นของใคร ชาวบ้านบอกว่า ได้ยินปู่ย่าตายายเล่าสืบ ๆ กันมาว่า เคยเห็นข้าวของเครื่องใช้เหล่านี้อยู่หน้าถ้ำนี้มานานนักหนาแล้ว เวลาชาวบ้านจะมีงานฉลองปีหนึ่ง ก็ได้ใช้ ถ้วยชาม หม้อ ไห กระทะเหล่านี้ครั้งหนึ่ง ใช้แล้วก็เก็บล้างนำมาคืนที่หน้าถ้ำ วางไว้เฉย ๆ ไม่ต้องเก็บงำซุกซ่อนอะไร ไม่มีใครกล้าไปฉกลัก ยึดเอามาเป็นสมบัติส่วนตัวสักราย

ท่านกล่าวชมเชยผ้าขาวที่ไปอยู่ด้วยกับท่านมาก ว่าปฏิบัติธรรมบำเพ็ญเพียรได้อย่างน่าสรรเสริญ วันหนึ่งระหว่างนั่งภาวนา ท่านเห็นเทวดาองค์หนึ่งเหาะลอยมา แต่ผ่านท่านไปอย่างไม่สนใจ และไปกระซิบอะไรไม่ทราบใส่หูผ้าขาวนั้น พอเสร็จภาวนาแล้ว โยมผ้าขาวก็มาถามท่านว่า

“ถึงขั้นอะไรแล้ว”

ท่านก็เลยปรามว่า

“อย่าไปยุ่งกับมันเลย ขั้นเคิ่นอะไรกัน เราภาวนาต่อไปเถอะ”

ท่านอธิบายว่า ความจริง โยมผ้าขาวผู้นั้นได้เป็นอนาคามีแล้ว ออกพรรษาแล้ว เมื่อท่านจะไปจากถ้ำนายม โยมผ้าขาวก็ยังดื่มด่ำในการภาวนามาก ไม่ยอมตามท่านไป ขออยู่ที่ถ้ำนายมต่อ พวกลูกหลานของแกเป็นห่วง อ้อนวอนให้ไป เพราะในนั้นอดอยากมาก ไม่มีอาหารกิน แต่โยมผ้าขาวก็ไม่ยอมกลับบ้านกับลูก ลูกชายลูกสาวจึงออกอุบายชวนให้ออกจากถ้ำไปดูห้วยซึ่งอยู่ใกล้ถ้ำ แล้วก็จับเอาตัวพ่อเฒ่ากลับไปบ้าน ผ้าขาวกลับบ้าน ก็ไม่สนใจงานการอะไร คงแต่ภาวนาและเดินจงกรมลูกเดียว

หลวงปู่เล่าว่า แกเป็นอนาคาแล้ว กำหนดรู้วันตายล่วงหน้า และเมื่อถึงวันที่แกบอกล่วงหน้าไว้ว่าจะเป็นวันตาย ลูกหลานก็ว่า ไม่เห็นพ่อเฒ่าเจ็บไข้ได้ป่วยแต่อย่างไร คงเดินจงกรมเป็นปกติ แต่ในวันนั้นเอง ระหว่างเดินจงกรม แกตกนอกชาน ซี่โครงไปโดนล้อเกวียนหัก ตายตรงตามเวลาที่บอกลูกชายลูกสาวไว้พอดี
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้