ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

~ หลวงปู่ชอบ ฐานสโม วัดป่าโคกมน ~

[คัดลอกลิงก์]
96#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 20:25 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ในช่วงปัจฉิมวัย ที่หลวงปู่มีอายุ ๙๐ พรรษากว่าแล้ว ยังมีความอดทนเป็นยอด ท่านจะไม่เคยบ่นให้ได้ยินเลยว่า ปวดหัว ตัวร้อน เป็นไข้ เป็นหวัด นอกจากพระผู้ปฏิบัติจะต้องสังเกตเอง กราบเรียนถามเอง บางครั้งท่านปวดหัวอยู่ตั้ง ๓ เดือน มีพระไปถามขึ้น ท่านจึงยอมบอก

เวลานั่งรถ ท่านกลั้นปัสสาวะครั้งละนาน ๆ เช่น ตั้งแต่กรุงเทพฯ ตลอดถึง เมืองเลย พิษณุโลกตลอดเชียงใหม่ ก็มี...นานเท่านาน ไม่ว่ากี่ชั่วโมง จะไม่ปริปากบ่น จากเมืองเลย – กรุงเทพฯ, เมืองเลย – เชียงใหม่, เชียงใหม่ – พะเยา, พะเยา – เชียงราย, เชียงราย – เชียงใหม่, หาดใหญ่ – ปีนัง, หาดใหญ่ – ภูเก็ต, เมืองเลย – ศรีสะเกษ, เมืองเลย – บ้านแพง, บ้านแพง – นครพนม, นครพนม  - มุกดาหาร, กรุงเทพฯ – จันทบุรี ฯลฯ

ท่านนั่งอยู่ท่าเดิม ไม่ขยับเขยื้อน พระเณรผู้ติดตามไม่พาพัก ท่านก็ไม่พัก

ท่านชอบ “ไป” จริง ๆ ยิ่งที่ลำบากทุรกันดาร ท่านยิ่งมักไป จะอุ้ม จะหามไป ท่านก็ไม่ว่า หลวงปู่นั่งรถได้ทุกระบบ แล้วแต่จะจัดถวาย ตั้งแต่ราคาเป็นล้าน ๆ จนถึงรถไถ รถอีแต๋น ท่านก็ยังเคยนั่งมาหลายครั้ง

ทั้ง ๆ ที่ท่านอยู่ในสภาพเคลื่อนไหวธาตุขันธ์ลำบาก ดูเหมือนลำบากมากเท่าใด ท่านก็ยิ่งชอบ ยิ่งสนุก ยิ้มได้บนความลำบากนั้น ถ้าท่านต้องการจะ “ไป” แล้ว ต่อให้ฝนตก ฟ้าร้อง แดดเปรี้ยง พายุกระหน่ำ ท่านก็จะไป และต้องไปให้ได้

ท่านจะอยู่วัดได้ไม่นาน สักวันสองวัน ท่านก็ “ไป” แล้ว พระเณรหนุ่มน้อยยังต้องยอมแพ้ท่าน ต้องเปลี่ยนวาระกันไปกับท่าน

งานนิมนต์ หรืองานพิธีต่าง ๆ ท่านไม่โปรด ท่านชอบไปตามสบายของท่าน ถ้ามีคนมานิมนต์ ท่านมักพูดว่า “ถ้าขัดข้องกะบ่ไป ถ้าบ่ขัดข้องกะไป” หรือ “ถ้าอยู่ดี สบายกะไป” และ “ถ้าเอารถมารับกะไป บ่เอารถมารับ กะบ่ไป” ทำนองนี้

เคยมีคนปรารถนาดี เสนอขอจัดรายการเดินทางถวายให้ท่านโดยละเอียด เช่นว่า นิมนต์อยู่ที่นั่น...เท่านั้นวัน อยู่ที่นี่...เท่านั้นวัน ไปที่นั่น...ที่นี่ วันนี้ วันนั้น...ฯลฯ ก็เคยลำบากมาแล้ว เพราะบทท่านจะไป ท่านไม่ได้นึกถึงงานพิธีหรือกำหนดการอะไร  ถ้ากรณีมีคนมาชี้แจงอธิบายเหตุผล ขอนิมนต์ให้อยู่ เพราะญาติโยมศรัทธาจะมาจากที่โน่น ที่นี่ มาทอดผ้าป่า ทอดกฐิน ขอให้หลวงปู่อยู่เป็นประธาน ท่านมักพูดว่า “ผู้อยู่กะรับไป ผู้ไปกะไป” ดังนี้

การไป...การอยู่ของท่าน มิได้กำหนดแน่นอน ว่าจะอยู่ที่นี่ หรือที่นั่น เท่านั้น เท่านี้คืน สุดแท้แต่ท่านจะสะดวกสบาย ไม่ว่าในพรรษา หรือ นอกพรรษา ท่านไปทั้งนั้น แต่ถ้าในพรรษา จะกำหนดไว้ไม่เกิน ๗ วัน ต้องนิมนต์ท่านกลับมาเอาราตรีที่วัดอธิษฐานพรรษาเสียก่อน นอนสักสองคืนแล้วจึงไปต่อ

ไปกันมาก ๆ จนครบทุกที่ที่เคยไป บางครั้งพระเณรเรียนถามว่า “จะไปไหนต่อครับ หลวงปู่” ท่านตอบว่า “จะไปไหนกะไป” หรือ “แล้วแต่หมู่คณะจะพาไป”

ถ้าบางโอกาสถามว่า “จะไปหรือจะอยู่ครับ หลวงปู่” ท่านมักจะตอบว่า “หมู่พาไปกะไป หมู่อยู่กะอยู่”

บางครั้ง เวลาขึ้นนั่งรถแล้ว มีที่สามารถเลือกไปวิเวกได้หลาย ๆ ที่ เรียนถามว่า “จะไปไหนดีครับ หลวงปู่” ท่านตอบว่า “แล้วแต่รถจะพาไป”

ด้วยการไป – การมาแบบปัจจุบันทันด่วนของหลวงปู่ ทำเอาลูกศิษย์ลูกหาผู้ติดตาม ตั้งตัวไม่ติดหลายต่อหลายครั้ง เพราะมิได้บอกกล่าวล่วงหน้าเป็นส่วนมาก บทท่านจะปุบปับ ใครเร็วก็ทัน ใครช้าก็พลาด และเวลาหลวงปู่ไปเยี่ยมที่บ้าน ลูกศิษย์บางท่านยังไม่ได้กราบ หลวงปู่ไปก่อนก็มี
95#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 20:25 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
การ “จงกรม” ด้วยรถเข็นนี้ จะนานประมาณ ๒ – ๓ ชั่วโมง จนคนเข็นต้องเปลี่ยนชุดกัน กำหนดเวลาขนาดนี้เข้าใจว่า คงเป็นประมาณเท่ากับที่ท่านเคยเดินจงกรมเองเวลาสุขภาพท่านยังดีอยู่ ยัง “ย่าง” เดินได้เอง

กลางคืน ท่านจะเข้าพัก ประมาณ ๒๐.๓๐ น. ประชุมทำวัตรเย็น ถ้ามีญาติโยมมามาก ท่านจะออกมานั่งเป็นประธาน ท่านจะยกมือซีกข้างดีขึ้นด้วยทุกครั้ง ก่อนทำวัตรสวดมนต์ และตอนสวดจบ

หลวงปู่จำวัตรไม่เป็นเวลา บางคืน ๒๒.๐๐ น. บางคืน ๒๓.๐๐ น. บางคืนสองยามหรือดึกกว่านั้น ถ้ามีญาติโยมอยู่คุยด้วย ท่านจะเมตตาอยู่ด้วยจนดึกดื่นก็มี

นั่นเป็นกิจวัตรนามเมื่ออยู่วัด แต่สำหรับกรณีที่มีการเดินทาง จะผิดแผกไปบ้างกล่าวคือ

ตอนเช้า ท่านจะตื่นก่อนลูกศิษย์เสมอ และจะเร่งให้รีบเตรียมของขึ้นรถ ใครช้าหรือตื่นสายก็ไม่ได้ไปกับท่าน ...นี่พูดถึงการไปฉันเช้าข้างหน้า ฉันเช้า ณ จุดใดจุดหนึ่งข้างหน้า เสร็จแล้วไปต่อ ท่านใช้รถเป็นที่ฉันเช้า และจำวัตรไปด้วย พอถึงเพลที่ไหน ก็ฉันที่นั่น บางทีก็ใช้ที่ใต้ร่มไม้ข้างทาง บางทีก็ฉันบนรถ

มีญาติโยมศรัทธาทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ได้สร้างกุฏิอย่างวิจิตรพิสดาร มูลค่านับแสน ๆ ล้าน ๆ บาท กล่าวถวายเสร็จ ท่านก็จะเมตตาอยู่ให้บ้างในตอนระยะแรก ไม่นานท่านจะย้ายไปพักกุฏิหลังอื่น กุฏิที่ท่านโปรดพัก มักจะเป็นกุฏิหลังเล็ก ๆ มุงด้วยหญ้าหรือแฝก พื้นเป็นไม้ไผ่ทุบ ที่เรียกว่า “ฟาก” ยกพื้นเหนือพื้นดินเล็กน้อย พอให้ข้างล่างได้มีที่สุมไฟไล่ยุง หรือให้ความอบอุ่นได้บนยอดดอย ทางจังหวัดเลยหรือเชียงใหม่ อากาศจะหนาวมาก แทบไม่เคยมีหน้าร้อน

ท่านว่า “สมัยท่านอาจารย์ใหญ่ (หลวงปู่มั่น อาจารย์ของท่าน) ก็อยู่อย่างนี้ สุมไฟอย่างนี้เหมือนกัน” และว่า “ที่ได้ธรรมะมาสั่งสอนอบรมหมู่คณะ ก็ได้มาจากกุฏิที่มุงด้วยหญ้า หลังเล็ก ๆ ปูด้วยฟากอย่างนี้แหละ !”

ท่านไม่สนใจให้ความสำคัญแก่เสนาสนะที่อยู่อาศัยเลย บางทีเขานิมนต์ท่านไปพักที่วัดที่สร้างใหม่ ๆ กุฏิวิหารถาวรไม่มี ท่านก็พักอยู่ได้ หรือแม้แต่กางเต็นท์ท่านก็พักได้...อย่างสบาย !

การขบฉัน ก็มิได้เอ่ยปากขอสิ่งนั้นสิ่งนี้ สุดแท้แต่ศรัทธาญาติโยมจะนำมาถวาย เป็นภาระหน้าที่ของแม่ครัวกับผู้ติดตามที่จะคอยดูแลสังเกตเท่านั้นว่า ท่านชอบฉันอะไร หรือ อาหารอย่างใด ถูก หรือไม่ถูกกับธาตุขันธ์ของท่าน

หลวงปู่ท่านไม่ชอบ “ใส่ฟัน” ท่านว่า “มันเคือง” ปัจจุบันนี้ท่านเหลือฟันจริงอยู่เพียง ๔ ซี่เท่านั้น หารที่จะฉันได้ จึงต้องเป็นอาการอ่อน ๆ นิ่ม ๆ หรือเหลว ๆ ส่วนรสของอาหารนั้นจะฉันเผ็ด หรือใส่พริกไม่ได้เลยสักเม็ดเดียว ส่วนจะเป็นข้าวเหนียว ข้าวเจ้า ข้าวต้ม ฉันได้ทั้งนั้น

หากมีการเจ็บป่วย ท่านไม่ชอบฉันยาเลย โดยเฉพาะยาที่มีรสขม ท่านบอกว่า “บ่สู้” การรักษาพยาบาลปล่อยให้เป็นหน้าที่ของแพทย์ แต่ถ้าแพทย์ทำให้เจ็บ เช่นฉีดยา ให้น้ำเกลือ เจาะเลือด ท่านก็ไม่เอา เคยมีคนเรียนถามท่านว่า “ถ้าหมอจะผ่าตัด จะให้ผ่าบ่ หลวงปู่” ท่านตอบว่า “บ่ให้ผ่า นอกจากบ่รู้สึกตัว”

ปกติ ท่านฉันน้ำน้อยมาก เฉลี่ยโดยประมาณ วันหนึ่งไม่เกิน ๒ แก้ว (รวมทั้ง น้ำร้อน น้ำชาด้วย) จะฉันเฉพาะน้ำสะอาดธรรมดา จำพวกน้ำอัดลม น้ำส้มคั้น ท่านจะจิบให้เจ้าของ ผู้ถวายได้มีศรัทธาชื่นใจเท่านั้น

บุหรี่ หลวงปู่สูบได้ทุกยี่ห้อ แต่ก็เพียงพ่นควันเล็กน้อย ที่โปรดมากคือ บุหรี่ใบตอง (ยาเส้นตามพื้นบ้าน) รองลงมาคือ บุหรี่ขี้โย เคยมีศิษย์บางคนมาขอร้องไม่ให้ท่านสูบ ท่านว่า “สูบมาแต่เป็นเด็กน้อยเลี้ยงควาย จะให้เลิกได้จั๋งได๋” และบางครั้งก็ว่า “สิสูบจนถึงวันเข้าหีบ (โลง) พู้นเหละ”
94#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 20:24 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๓๗. ปฏิปทาในปัจฉิมวัย

ปกติ หลวงปู่เป็นผู้ “อยู่ป่าอยู่เขา” เป็นนิสัย สมกับที่ท่านถือตนเป็นศิษย์ท่านพระมหากัสสปะ ไม่ค่อยจะออกมาสู่ “เมือง” และไม่ค่อยจะอยู่เป็นประจำที่ แม้แต่อยู่ตามป่าตามเขาแล้ว ท่านก็ยังวิเวกต่อไป จากป่านี้ ไปป่าโน้น จากเขาดอยนี้ ไปเขาดอยโน้น จากถ้ำนี้ ไปสู่ถ้ำโน้น ...มิได้อยู่ประจำเป็นที่ ท่านเคยเล่าให้ผู้ใกล้ชิดฟังสมัยเมื่อท่านยังเดินได้เป็นปกติว่า

“ถ้าเราเดินไม่ไหวก็จะให้เพื่อนหามไป ถ้าไม่มีใครหามก็จะกลิ้งไป ถ้ากลิ้งไม่ไหว ก็จะเอาคางเกาะไป”

ในปี ๒๕๑๔  ท่านภาวนาเห็นกระดูกของตนเอง แตกละเอียดข้างหนึ่ง ทางด้านซ้าย ท่านยังไม่ทันพิจารณาแน่นอนว่า จะเป็นอย่างไร เย็นนั้นก็เริ่มมีอาการปวดอย่างมากตามตัว โดยเฉพาะทางแขนขาข้างซ้าย พระเณรไปช่วยนวด แต่ท่านก็เพียงรู้สึกสบายเวลานวด ...หยุดเข้าก็กลับปวด ไม่ทุเลา ท่านเริ่มรู้สึกว่า ร่างกายทางซีกซ้ายชามากขึ้น แต่ท่านก็ยังฝืนเดิน วันหนึ่งกลับมาจากบิณฑบาต ท่านประคองตัวมาได้พอถึงวัด ก็ต้องล้มลง เพราะร่างกาย แขน ขา ทางซีกซ้ายนั้นชา หมดความรู้สึกไปหมด

ท่านเล่าว่า ท่านได้มีนิมิต เห็นคนร่างสูงใหญ่ มาขวางประตูไว้ ถามท่านว่า จะไปวันนี้ แน่หรือ ท่านตอบว่า เดี๋ยวก่อน โปรดสัตว์สักหน่อยเสียก่อน

คณะศิษย์พาท่านไปรักษาตามโรงพยาบาลต่าง ๆ ทั้งในต่างจังหวัดและกรุงเทพฯ รวมทั้งได้มีผู้เสนอการรักษาทั้งแบบปัจจุบันและแผนโบราณ การทำกายภาพบำบัด และนวดเส้น ฯลฯ แต่ก็มิได้หาย เดินได้อย่างเคย ความเจ็บปวดได้ทุเลาหายไป หากท่านคงเป็นอัมพาตทางซีกซ้ายมาแต่นั้น ต้องมีศิษย์คอยพยุงลุก พยุงนั่ง ช่วยเหลือทุกอิริยาบถ



และถึงท่านจะอาพาธเช่นนี้ แต่ธุดงคนิสัยของท่านก็มิได้ละลดลง หลวงปู่ยังคงเมตตาเที่ยวไปโปรดญาติโยม ลูกศิษย์ลูกหาตามเมืองต่าง ๆ อยู่เป็นประจำ และยังคงกลับไปวิเวกตามสถานที่ต่าง ๆ ที่ท่านเคยเดินธุดงค์มาแล้ว เช่น ที่บ้านม่วงไข่ บ้านสานตม...จังหวัดเลย ผาแด่น ผาเด่ง ห้วยน้ำริน...จังหวัดเชียงใหม่ เป็นอาทิ เพียงแต่มิได้เป็นการธุดงค์ด้วยเท้าอย่างเก่า แต่เป็นการธุดงค์ด้วนรถ...รถเข็น

ปฏิปทาในปัจฉิมสมัยของหลวงปู่จึงต้องเปลี่ยนแปลงไป

ปกติตอนเช้า หลวงปู่จะให้พาออกบิณฑบาต มีพระเณรหรือผ้าขาว หรือฆราวาสเข็นรถให้ท่านนั่งออกโปรดญาติโยมให้ได้ใส่บาตรเป็นประจำ ระยะในปีสองปีหลังนี้ ท่านจะให้พาออกเป็นบางวัน หรือเฉพาะโอกาสสำคัญ ๆ เช่น วันเข้าพรรษา วันออกพรรษา วันวิสาขบูชา วันมาฆบูชา งานกฐิน ผ้าป่า...เป็นต้น แต่ทุกวันตอนเช้า พอตื่นนอน ท่านมักถามพระเณร ผ้าขาวเสมอว่า “ไปบิณฑบาตแล้วบ่”

ท่านฉันเช้าเวลาประมาณ ๗.๐๐ น. ฉันเสร็จแล้วท่านจะจำวัตรประมาณ ๒๐ – ๓๐ นาที พระลูกวัดจะฉันทีหลังท่านเสมอ

ตอนเพล ท่านก็ฉันได้นิดหน่อย แต่ไม่มากเหมือนตอนเช้า เมื่อก่อน ท่านฉันมื้อเดียวเหมือนกัน ครั้นเมื่อท่านป่วยเป็นอัมพาต แพทย์จึงนิมนต์ให้ท่านฉัน ๒ มื้อ ร่างกายของท่านซึกข้างซ้าย ตั้งแต่ ไหล่ แขน ขา มือ ใช้การไม่ได้เลย ส่วนทางซีกขวายังใช้การได้ดี อย่างไรก็ดี ทุกส่วนของร่างกายท่านยังรู้สึกเจ็บ รู้สึกคันได้ เวลามดแมลงไต่ ท่านก็รู้สึก ตา หู ของท่าน ยังเห็นได้ ได้ยินได้ดี เวลาฉันอาหาร ลิ้น ฟัน ท่านเคี้ยวลำบาก ฉันไม่ได้มาก แพทย์จึงนิมนต์ให้ฉันเพลช่วย เพื่อจะได้มีอาหารเยียวยาธาตุขันธ์เพียงพอ ท่านก็อนุโลมตาม บางครั้งและหลาย ๆ ครั้ง ท่านไม่อยากฉันเพลด้วยซ้ำ แต่ท่านไม่ชอบขัดศรัทธา

ฉันเพลเสร็จ ท่านจะงีบสักครู่หนึ่ง พอตื่น ท่านจะต้องเปลี่ยนที่ไปที่อื่น หรือไม่ก็ให้คนเข็นรถไปดูรอบ ๆ บริเวณวัด ชาวบ้านจะมาคอยกราบท่านได้ในตอนนี้อีกครั้งหนึ่ง

ตกเย็นประมาณบ่าย ๔ โมง จะนิมนต์ท่านสรงน้ำด้วยน้ำอุ่นทุกครั้ง เสร็จแล้วถวายน้ำร้อน น้ำชา และนวดถวายท่านพร้อมไปด้วย ถ้ามีแขก ท่านจะรับแขกช่วงที่สรงน้ำเสร็จ เพราะอารมณ์ท่านแจ่มใส เสร็จแล้ว ท่านจะให้เข็นรถพาเที่ยวรอบ ๆ วัดอีก ส่วนมากจะเป็นการเข็น “จงกรม” กลับไปกลับมา ภายในศาลาหลังเตี้ย ๆ ติดกับพื้นดิน
93#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 20:23 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ประมวลภาพหลวงปู่เดินทางไปต่างประเทศ


หลวงปู่รับนิมนต์ไปเยี่ยมญาติโยม ณ ประเทศลาว ในเรือ นปข. จากวัดท่าแขก (ไทย) ข้ามฝั่งโขงไปบ้านสารคาม (ลาว)





หลวงปู่ได้รับนิมนต์ให้เดินทางไปโปรดญาติโยมนอกเขตประเทศไทยหลายครั้ง
นอกจากข้ามโขงเข้าไปในลาว ข้ามเขาไปในพม่า ระหว่างการเดินธุดงค์แล้ว
ท่านเดินทางไปมาเลเซีย ปีนัง สาธารณรัฐประชาชนจีน สหรัฐอเมริกา ฯลฯ ตามกิจนิมนต์

92#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 20:21 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
คำถาม       :   มาเมืองนิวยอร์ก เมืองวอชิงตัน ดี ซี ม่วนบ่ ปู่

หลวงปู่        :   ม่วนอยู่

โยม             :   หลวงปู่อายุเท่าไรแล้วคะ ?

หลวงปู่        :   เก้าสิบ

โยม             :   หลวงปู่ไปอยู่พม่ากี่ปี

หลวงปู่        :   ๖ ปี

คำถาม       :   หลวงปู่เห็นหลวงปู่ตื้อครั้งแรกที่ไหน

หลวงปู่        :   เชียงใหม่

คำถาม       :   พบหลวงปู่แหวนอยู่ที่ไหน

หลวงปู่        :   เชียงใหม่

คำถาม       :   หลวงปู่ไปจำพรรษาอยู่กับหลวงปู่แหวนกี่พรรษา

หลวงปู่        :   ๓ พรรษา

คำถาม       :   หลวงปู่ตื้ออยู่ด้วยกันกี่พรรษา

หลวงปู่        :   ไม่เคยอยู่ด้วยกัน

คำถาม       :   ตอนที่ต้นไม้ล้มทับกุฏิอยู่ที่ไหนนะ หลวงปู่

หลวงปู่        :   อยู่อุดร

คำถาม       :   เกือบออกบ่ทันน้อ ใครเป็นคนไปเรียกหลวงปู่ออกมา

หลวงปู่        :   โยมแม่

คำถาม       :   เป็นโยมแม่เก่าหลวงปู่ เป็นเทวดาบ่ ปู่

หลวงปู่        :   อือ

คำถาม       :   ปีนั้นจำพรรษากี่องค์ปู่...ปีที่ต้นไม้ล้มทับกุฏิ ?

หลวงปู่        :   จำพรรษา ๑๐ องค์

คำถาม       :   มีหลวงปู่หลุยบ่ ปู่

หลวงปู่        :   มีอาจารย์หลุย

คำถาม       :   มีเณรบ่ หลวงปู่

หลวงปู่        :   มีเณร ๒ องค์

คำถาม       :   ตอนนั้นมีเสือบ่ หลวงปู่...ตอนอยู่อุดร

หลวงปู่        :   มีอยู่

คำถาม       :   อยู่ในที่นี้ มีลูกหลานหลวงปู่ แต่ชาติก่อนบ่

หลวงปู่        :   มี

คำถาม       :   เป็นผู้หญิง หรือผู้ชาย

หลวงปู่        :   เป็นผู้หญิง
91#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 20:21 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้


ผู้เขียนนึกถึงที่ท่านเคยเล่าไว้ครั้งหนึ่งนานมาแล้วว่า คราวหนึ่งท่านอยู่กับหลวงปู่แหวนที่วัดห้วยน้ำริน จังหวัดเชียงใหม่ ปีนั้นเชียงใหม่แห้งแล้งอย่างมาก พวกญาติโยมก็พากันมาอ้อนวอนท่าน ขอให้เมตตา ต้นผลหมากรากไม้จะเหี่ยวแห้งแล้งกันตายหมดแล้ว สวนลำไย นาข้าวจะล่มหมดแล้ว ตุ๊เจ้าไม่ช่วยคงจะแย่ไปตามกัน ท่านทั้งสองเห็นใจญาติโยมที่หน้าแห้งอกไหม้ไส้ขม พากันมาร้องทุกข์ด้วยน้ำตาปริ่มตา ก็ช่วยกันสวดมนต์ขอให้ฝนตก

ท่านเล่าว่า ฝนตกหนักติดต่อกันสามวันสามคืน น้ำท่วมเชียงใหม่ทั้งเมือง

ขอพญานาคเขา เขามาช่วยกันเต็มที่ ทั้งพ่อ ทั้งแม่ ลูกเล็กเด็กแดง ตัวเล็กตัวน้อย ชูคอพ่นน้ำกันเป็นฝอย เต็มไปหมด

จริง...พญานาคมา ฝนก็มา

ท่านได้จาริกต่อไปที่วัดญาณรังษี เมืองฟอลส์เชิร์ช รัฐเวอร์จิเนีย ระหว่างพักที่วัดนี้ คืนสุดท้าย ศรัทธาญาติโยมชาวไทย ชาวลาว มามาก พากันร่ำร้องขอฟังเสียงหลวงปู่ชัด ๆ บางคนได้ข่าวเรื่องราวที่มีเทพมากราบคารวะท่านอยู่มากแล้ว จึงถือโอกาสเรียนถามย้ำถึงเรื่องราวที่ได้ยินมา บังเอิญครั้งนี้ได้มีการบันทึกเทปคำสนทนา "ถาม – ตอบ” ช่วงนั้นไว้ได้ ถึงเสียงตอบของหลวงปู่จะแผ่วเบาอยู่มาก แต่ก็ฟังได้ชัด

ผู้เขียนได้นำข้อความที่ถอดบันทึกเทปช่วงนั้นมาลงพิมพ์พอเป็นตัวอย่างดังนี้

หลวงปู่เริ่มด้วยการปฏิสันถาร ถามโยมหญิงผู้มีอายุคนหนึ่ง

หลวงปู่        :   มาอยู่นี่นานหรือยัง

โยม             :   มาอยู่นี่ ๕ – ๖ ปีแล้วค่ะ มาอยู่กับลูกสาวค่ะ (ตอบพร้อมกับน้ำตาคลอตาด้วยความปลื้มใจ ที่หลวงปู่เหนื่อย ไม่ใคร่พูด แต่ยังอุตส่าห์ทักทายอย่างเมตตา)

คำถาม       :   มาอเมริกา มีเทวดามากราบหลวงปู่ไหม

หลวงปู่        :   มา

คำถาม       :   มาหลาย บ่

หลวงปู่        :   หลายอยู่

คำถาม       :   อยู่วัดนี้ (วัดญาณรังษี) มี บ่

หลวงปู่        :   มีอยู่ วัดนี้มีอยู่

คำถาม       :   เทวดาสวยกว่าโยมอยู่นี่หรือเปล่า หรือว่าพอ ๆ กัน

หลวงปู่        :   งามอยู่

คำถาม       :   อยู่วัดที่เคลเลอร์ มีเทวดาบ่ (วัดพุทธรัตนาราม เมืองเคลเลอร์ ที่หลวงปู่ไปจำพรรษาที่อเมริกา)

หลวงปู่        :   มี

คำถาม       :   อยู่เท็กซัส ท่านเล่าว่า ตอนกลางคืนมีเทวดามากราบท่าน มาฟังธรรมกับท่าน

โยมผู้หญิง  :   เทวดาผู้หญิง หรือเทวดาผู้ชายมากกว่ากันเจ้าคะ

หลวงปู่        :   ผู้หญิงมากกว่า

คำถาม       :   เทวดามาวันนี้ เป็นผู้หญิงสาวหรือคนแก่มากกว่ากัน

หลวงปู่        :   ผู้หนุ่มหลายกว่า

โยมผู้หญิงอีกคนหนึ่ง    :   พญานาคมีจริงไหมคะ หลวงปู่

หลวงปู่        :   มีจริง

คำถาม       :   ที่ไนแอการ่ามีพญานาค บ่ ปู่

หลวงปู่        :   มี

คำถาม       :   วันนั้นมีพญานาคมาหรือเปล่า เขามาหาปู่ บ่

หลวงปู่        :   มา

พระองค์หนึ่ง  :   นั่นสิ พญานาคมา ฝนก็มา วันนั้นถึงฝนตกหนัก ตกแรง ทั้ง ๆ ที่ฝนไม่เคยตกแถวนั้นมาหลายเดือนแล้ว แต่กลับตกเฉพาะบริเวณนั้น...บริเวณปู่อยู่เท่านั้น รอบ ๆ ฝนไม่ตกเลย

คำถาม       :   เมื่อสักครู่ สวดมนต์ สวดชัย (ชัยมงคล) สวดธัมมจักร มีเทวดามาฟัง บ่

หลวงปู่        :   มี

ผู้ถามบ่น    :   เมื่อกี้มีเทวดามาฟังสวดมนต์ด้วย แต่เสียดายตาพวกเราไม่เห็นเลย (เรียนถาม) เทวดามาเท่ากับโยมที่มาสวดมนต์หรือมามากกว่านี้ ปู่

หลวงปู่        :   หลายกว่านี้

พระ             :   แสดงว่า เทวดาเขาขยันมากกว่าพวกเฮามนุษย์อีก พวกเฮาต้องอย่าขี้เกียจขี้คร้าน ให้ขยันสวดมนต์ฟังธรรมให้เหมือนเทวดา ปฏิบัติให้เหมือนหลวงปู่จะได้ “เห็น” อย่างท่าน

โยม             :   ตอนนี้ หูหลวงปู่ได้ยินดีไหมคะ

หลวงปู่        :   ได้ยิน

โยม             :   ตาเห็นดีบ่ เห็นไกลบ่

หลวงปู่        :   เห็น

90#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 20:20 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้


ระหว่างที่พำนักอยู่ที่สหรัฐอเมริกา ญาติโยมไทย - ลาวที่เคารพเลื่อมใสศรัทธาในองค์หลวงปู่ ก็มักจะนิมนต์ท่านไปโปรดตามสถานที่ต่าง ๆ แล้วแต่โอกาสอันควร ท่านมีเมตตาเล่าให้บรรดาลูกศิษย์ที่ใกล้ชิดติดตามท่านไปว่า ที่วัดที่ท่านไปพัก เช่นวัดภูริทัตตวนาราม เมืองออนทาริโอ วัดเมตตาวนาราม เมืองแซนดิเอโก วัดญาณรังษี ใกล้กรุงวอชิงตัน ดี ซี รัฐเวอร์จิเนีย ตอนกลางคืนมีพวกเทวดามานมัสการและขอฟังธรรมกับท่าน บางทีก็มามาก บางทีก็มาน้อย สำหรับที่วัดพุทธรัตนาราม ซึ่งเป็นที่ท่านอยู่จำพรรษานั้น เทวดามาทุกวันเลย ถ้าไม่มาตอนกลางคืน ก็มาตอนกลางวัน โดยมากจะพากันมาตอนกลางคืน

การที่เทวดาจะมากราบหลวงปู่ตามวัดต่าง ๆ นี้ แม้เวลาทำวัตรสวดมนต์ เขาก็มาร่วมอนุโมทนาด้วย อยู่ในบริเวณศาลาก็มี อยู่นอกศาลาก็มี มากันมากมาย ส่วนมากจะเป็นเทวดาผู้หญิงมากกว่าเทวดาผู้ชาย

คราวหนึ่งญาติโยมชาวลาวอพยพที่มาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่เมืองบัฟฟาโล รัฐนิวยอร์ก ได้มีศรัทธานิมนต์หลวงปู่พร้อมคณะลูกศิษย์ผู้ติดตามไปโปรดพวกเขายังเมืองบัฟฟาโล เพราะที่นั้นยังไม่มีวัดพุทธศาสนาที่จะทำบุญด้วย

ท่านโปรดเขาอยู่ที่เมืองบัฟฟาโลนั้นระยะหนึ่ง ท่านเล่าว่า ที่นั้นเคยเป็นสมรภูมิรบได้มีพวกอินเดียนแดงที่สู้รบกันสมัยก่อนแล้วตายไปพากันมาขอส่วนบุญมากมาย ต่อมาญาติโยมนิมนต์ท่านจาริกต่อไปยังน้ำตกไนแอการ่าที่อยู่ริมเขตแดนระหว่างอเมริกาและแคนาดา

ไปถึงที่น้ำตกไนแอการ่าสักพัก บนท้องฟ้าซึ่งปลอดโปร่งแจ่มใส มีแสงแดดเจิดจ้า ก็กลับมีเมฆดำเคลื่อนมาบังอย่างกะทันหัน แล้วมีฝนตกลงมาอย่างหนัก อย่างแทบไม่มีปี่มีขลุ่ย ทำให้คณะติดตามไปต้องรีบพากันหาที่หลบฝนกันอย่างจ้าละหวั่น เพราะเป็นที่แจ้ง ไม่มีที่กำบังเลย และก็ไม่มีวี่แววเรื่องฝนจะตกมาก่อน ฝนตกหนักสักพักจึงหยุด พอออกจากที่หลบฝนสักประเดี๋ยว ฝนก็ตกอีกเป็นรอบที่สอง ทำให้ต้องหลบเข้าหาที่มีหลังคามุงกันชุลมุน



มีศิษย์บางคนสงสัยเรื่องฝนครั้งนี้ เพราะปกติเวลาช่วงนี้ของปีเป็นฤดูร้อนที่มีอากาศแจ่มใสตลอด ปราศจากฝนมาหลายเดือนแล้ว และพยากรณ์อากาศซึ่งเคยแม่นยำตลอดมา ก็มิได้กล่าวเลยว่าวันนั้นจะมีฝน ทำไมจึงมีฝนขึ้นมาได้ ฝนตกลงมามากเสียด้วย และตกถึง ๒ ครั้ง ๒ ครา จึงได้กราบเรียนถามท่าน

ท่านตอบว่า “พญานาคเขามากราบ”

“พญานาคที่ไหนขอรับ”

“ที่นี่....ไนแอการ่า”

“พญานาคมา  ? ฝนก็มา..????”

“อือ  พญานาคมา”


89#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 20:19 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๓๖. หลวงปู่กับการเดินทางไปนอกเขตประเทศไทย

ตั้งแต่สมัยที่ท่านยังเป็นพระหนุ่ม หลวงปู่ได้ธุดงค์เข้าป่าลึก ขึ้นเขาสูงเป็นประจำ หลายต่อหลายครั้งที่ท่านได้เดินทางเข้าไปในเขตประเทศซึ่งมีชายแดนติดต่อกับไทย คือ ลาวและพม่า โดยมีประสบการณ์นานาชนิดซึ่งเป็นที่เล่าขานกันต่อ ๆ มาดังที่ได้กล่าวมาแล้ว

ในบั้นปลายแห่งชีวิต พ.ศ. ๒๕๒๖ ท่านได้รับนิมนต์ให้กลับไปเยี่ยมพม่าอีกครั้งหนึ่ง พร้อมกับหลวงปู่หลุย จันทสาโร และคณะสงฆ์อีกร่วม ๑๐ รูป เช่น หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ หลวงปู่บัวพา ปัญญาพาโส และ ท่านพระอาจารย์สุวัจน์ สุวโจ เป็นอาทิ

“อยากจะเห็นว่า เดี๋ยวนี้เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร”

ท่านบ่นถึงเมืองเก่า ๆ ในพม่าที่ท่านเคยธุดงค์ผ่านไป และจำพรรษาอยู่ถึง ๒ รอบ รวมเกือบ ๖ พรรษา แต่การไปครั้งนี้เป็นการเดินทางโดยเครื่องบิน จากกรุงเทพฯ ไปลงที่ร่างกุ้ง ได้มีโอกาสเพียงกราบพระเจดีย์ชะเวดากอง และชมสถานที่โดยรอบกรุงร่างกุ้ง  และไปเมืองหงสาวดีเท่านั้น ทางการพม่ายังจำกัดเขตการเดินทางของชาวต่างชาติอยู่ หลวงปู่จึงไม่มีโอกาสกลับไปเยี่ยมบ้านเมืองพม่า ซึ่งท่านได้บุกป่าฝ่าดง ข้ามเขาสูงเข้าไปจากทางภาคเหนือของเมืองไทย เมืองพวกนั้นท่านว่า ชื่อเมืองปัน เมืองยอง อยู่ทางด้านเหนือ สูงกว่าเมืองร่างกุ้งมาก

นอกจากพม่าและลาว ในภายหลังท่านก็ได้รับนิมนต์ไปปีนัง มาเลเซีย สาธารณรัฐประชาชนจีน และสหรัฐอเมริกา สังเกตว่าการรับนิมนต์นั้น หลวงปู่มุ่งจะไปโปรดญาติโยมที่อยู่ในดินแดนเหล่านั้นด้วย ซึ่งหลายครั้งที่ท่านยอมรับว่า เคยมีชีวิตผูกพันเกี่ยวข้องกับท่านมาแต่ในภพชาติก่อน ๆ

เฉพาะที่สหรัฐอเมริกานั้น หลวงปู่ได้เดินทางไปโปรดญาติโยม ถึง ๓ ครั้ง ครั้งแรกในเดือนเมษายน ถึง พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๓ ไปในงานวางศิลาฤกษ์ศาลาของวัดภูริทัตตวนาราม เมืองออนทาริโอ รัฐแคลิฟอร์เนีย ครั้งที่สอง เดือนตุลาคม ถึง พฤศจิกายน ในปีเดียวกันนั้น เพื่อเป็นประธานในงานทอดผ้าพระกฐินพระราชทาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ณ วัดภูริทัตตวนาราม เช่นกัน ในวันที่ ๒๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๓ และครั้งที่สาม หลวงปู่รับนิมนต์เมตตาไปจำพรรษาให้ ณ วัดพุทธรัตนราม เมืองเคลเลอร์ รัฐเท็กซัส ในปีพรรษา พ.ศ. ๒๕๓๔



โดยที่ปัจจุบันนี้ ในสหรัฐอเมริกา อันเป็นประเทศที่มีดินแดนกว้างใหญ่ไพศาล มีคนไทย ลาว เขมร อพยพไปตั้งถิ่นฐานบ้านช่องอยู่มาก แยกย้ายกันไปประกอบอาชีพกระจายกันไปทั่วทั้งประเทศ แทบทุกคนเป็นพุทธศาสนิกชน จึงได้มีพระภิกษุสงฆ์จากไทยรับนิมนต์จากศรัทธาญาติโยมไปตั้งวัดให้นับเป็นสิบ ๆ วัด นับเป็นศูนย์กลางรวมจิตใจของชาวไทยและเพื่อนชาวพุทธ ชาติอื่น ๆ ด้วย เมื่อทุกคนทราบข่าวการเดินทางไปจากเมืองไทยของหลวงปู่แต่ละครั้ง ก็จะมีผู้คนมาคอยรอรับที่สนามบินอย่างเนืองแน่น
88#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 20:19 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ท่านบอกว่า “กลับเครื่องบิน”

สามีของเธอที่เป็นผู้กราบเรียนถามก็งงว่า จะกลับอย่างไร เพราะถ้าจะกลับโดยเครื่องบิน จะต้องเดินทางไปขึ้นเครื่องบินที่เวียงจันทน์ ซึ่งอยู่ห่างจากตำบลที่หลวงปู่และคณะกำลังพำนักอยู่มาก เป็นร้อยกว่ากิโลเมตร ก็ในเมื่อตำบลที่คณะท่านพักอยู่นั้น อยู่ตรงข้ามกับฝั่งไทยพอดี เพียงข้ามแม่น้ำโขงก็จะถึงเมืองไทย การเดินทางกลับทางเรือดูจะเป็นการสะดวกที่สุด

อีกประการหนึ่ง ถึงจะไปเวียงจันทน์ แต่เครื่องบินไม่มีทุกวัน ตั๋วเครื่องบินก็ยังไม่ได้จอง จะทำอย่างไร เมื่อท่านบอกว่า กลับเครื่องบิน จึงคิดว่าไม่มีทางจะทำได้

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงเวลา ปรากฏว่ามีผู้นำเสนอจะนำเครื่องบินมาส่งให้ เป็นเครื่องของทางราชการ ซึ่งไม่มีกำหนดเวลาใด ตกลงพระ ๙ องค์ก็ขึ้นเครื่องบินมา สามีของเธอได้ติดตามมาดูแลท่าน มาในเครื่องบินลำนั้นด้วย

ขณะที่นั่งอยู่ในเครื่องบิน ได้กราบเรียนหลวงปู่ชอบว่า อยากจะขอของดีไว้ให้พวกที่เขามาส่งนี้ด้วย เช่น พวกนักบินและเจ้าหน้าที่ประจำเครื่องบินได้มีไว้คุ้มครองตัว เพราะต้องปฏิบัติงานเสี่ยงอันตรายตลอดเวลา

หลวงปู่ท่านก็ยิ้ม ๆ แล้วก็ล้วงลงไปในย่าม ซึ่งย่ามนั้นมองเหมือนไม่มีอะไร แต่ท่านหยิบออกมาทีไร ก็มีพระให้ทุกที ได้ครบกันทุกคนทั้ง ๖ –๗ คน สามีเธอเป็นคนสุดท้าย ก็คิดอยู่ในใจว่า เราจะขอ "อ้ายงั่ง" เถอะ

“อ้ายงั่ง” นี้เป็นพระที่ทางประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวยกย่องกันมากว่าศักดิ์สิทธิ์ ช่วยในด้านแคล้วคลาด ก็นึกขออยู่ในใจในสิ่งที่เขาคิดว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะเวลาที่เฝ้าดูนั้น ออกสงสัยเป็นกำลังว่า หลวงปู่ชอบหยิบอะไรออกจากย่าม พระแต่ละองค์ที่แต่ละคนได้ไม่เหมือนกัน และขนาดก็ไม่ใช่เล็กน้อย ทำไมจึงมีได้ทุกครั้ง จึงแกล้งนึกว่า ขออ้ายงั่งเถอะ แต่น่าประหลาด หลวงปู่ท่านก็ควักออกมาจากย่าม และก็ได้พระ งั่ง จริง ๆ

เรื่องนี้แม้จะเป็นการแสดงเรื่องพระเรื่องเครื่องราง แต่ก็แสดงว่าท่านมีจิตบริสุทธิ์ สามารถทำสิ่งใด ๆ ได้เสมอ เพียงแต่ท่านไม่พูด ไม่แสดงเท่านั้น

เธอกล่าวว่า อย่างไรก็ดี สิ่งที่เห็นได้ชัดคือ ความอ่อนน้อมถ่อมองค์ของหลวงปู่หลุย ระยะนั้นท่านพรรษา ๔๐ กว่า และอายุก็มากถึง ๖๘ พรรษาแล้ว คุณธรรมของท่านเองก็มีอย่างเหลือล้นแล้ว ประดุจน้ำเต็มแก้วเต็มฝั่งแล้ว แต่ท่านก็ยังคุกเข่าล้างเท้าให้หลวงปู่ชอบ และเช็ดเท้าให้อย่างนอบน้อมถ่อมตน เป็นบุคลิกประจำองค์ของท่านโดยแท้

http://www.dharma-gateway.com/mo ... lp-chob-hist-35.htm
87#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 20:18 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
หลังจากการถวายจังหันแล้ว ก็ได้ตามไปที่วัด เธอก็ได้ลองเรียนถามว่า

ได้ยินข่าวว่า พระคุณเจ้าเหล่านี้ทรงคุณธรรมอันล้ำเลิศ อยากจะทราบว่า ถ้าท่านแผ่เมตตามาถึงเรา เราจะได้รับกระแสแห่งเมตตานั้นหรือไม่

เผอิญเธอก็เป็นคนที่ช่างเจรจาสักหน่อย จึงกล่าวต่อไปเป็นเชิงตัดพ้อว่า

หลวงปู่มีลูกศิษย์มาก จะแผ่เมตตามาถึงได้อย่างไร จะต้องเจือจานคนมากมาย จะมาถึงได้ครบทุกคนกระนั้นหรือ

หลวงปู่หลุยเป็นผู้ตอบว่า “ถึงซิ เมตตาต้องมาถึงแน่” แต่หลวงปู่ชอบนั้นยิ้ม ไม่ได้ตอบว่ากระไร

เธอเล่าว่า

ในคืนนั้นเธอและสามีก็เข้าห้องพระภาวนา ต่างคนต่างเข้าที่ภาวนา จุดธูปเทียนบูชาพระแล้ว นั่งสมาธิต่อไปไม่นาน ก็ได้กลิ่นหอมดอกไม้ป่าตลบเต็มไปทั้งห้อง หอมจนทนไม่ได้ ต้องออกปากถามกัน ได้ความว่า ทั้งสามีภรรยาต่างได้กลิ่นหอมเหมือนกัน กลิ่นอธิบายไม่ถูกเช่นกัน

รุ่งขึ้นพอไปกราบที่วัดจอมไตร เธอก็ต่อว่า ว่า

“ไหนว่าจะแผ่เมตตามาให้ลูกหลาน ไม่เห็นได้รับ ไม่เห็นมาหาเลย”

หลวงปู่หลุยเป็นองค์ที่ตอบแทนว่า

“ทำไมจะไม่ไป ไปแล้ว”

ถามว่า

“ไปอย่างไร ไม่เห็นองค์มา ไม่เห็นตัว หลวงปู่นั่งอยู่เฉย ๆ แล้วบอกว่าไป ใครจะเชื่อ”

ท่านก็ยิ้มแล้วตอบว่า

“ก็ไปแล้วนะซิ ไปด้วยกลิ่น หลวงปู่ชอบก็ไป ไม่ได้กลิ่นหรือ หอมกลิ่นศีลของท่าน”

ได้ยินเช่นนั้น เธอและสามีก็ต่างมองตากันด้วยความอัศจรรย์ใจ เพราะการที่ได้กลิ่นดอกไม้ป่าเต็มห้องนั้น ไม่ได้เคยพูดกับใคร นอกจากรำพึงรำพันกันระหว่างสามีภรรยาก่อนจะไปกราบท่าน ท่านก็กลับตอบเช่นนี้ และตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา เธอก็ได้กลิ่นหอมตลอดมา และทราบว่า ถ้าเป็นหลวงปู่หลุยจะหอมกลิ่นหนึ่ง ท่านหลวงปู่ชอบจะหอมอีกกลิ่นหนึ่ง

เวลาท่านอบรม ท่านก็แนะบอกให้รักษาศีล ๘ เธอบอกว่า

ทำไม่ได้ ทำราชการไม่มีวันเวลาที่จะดูแลตน เพื่อรักษาศีล ๘ ให้บริสุทธิ์ได้

หลวงปู่หลุยท่านก็บอกว่า

ถ้าอย่างนั้น รักษาศีลอุโบสถเฉพาะวันพระก็แล้วกัน

วันหนึ่ง อยู่เวียงจันทน์ไปเที่ยว วันนั้นไม่ได้เป็นวันที่รักษาศีล แต่กลับหอมดอกไม้ หอมชื่นใจไปหมด รู้ว่าเป็นดอกไม้ที่ไม่มีขายในท้องตลาด เพียงนึกถึงท่านก็ได้กลิ่นดอกไม้

เธอเล่าว่า

กลิ่นในครั้งก่อน ๆ นั้นเป็นกลิ่นดอกไม้สด แต่เดี๋ยวนี้ดูจะปนกลิ่นกระแจะด้วย ระยะนั้นหลวงปู่ชอบยังไม่อาพาธ ท่านเทศน์ให้ฟังอยู่ด้วย จำได้ว่า เทศน์ที่ท่านเทศน์ให้ฟังนั้น เป็นเรื่องเกี่ยวกับการให้ทุกคนทำจิตให้สงบ ท่านเทศน์อยู่เป็นเวลาถึง ๑๕ นาที แล้วก็สรุปว่า

“ความสุขจะเท่ากับจิตสงบเป็นไม่มี เอวํ”

ง่าย ๆ เช่นนี้

ในระยะที่พักอยู่ที่เวียงจันทน์ นอกจากท่านจะพักที่วัดจอมไตรแล้ว ก็พักที่นาคำน้อย แต่ก็มีการนิมนต์ไปภาวนาที่ถ้ำผาพร้าวด้วย เธอว่าเธอรู้สึกประหลาดอยู่อย่างหนึ่งเกี่ยวกับหลวงปู่ทุกองค์ โดยเฉพาะวันนั้น จวนจะถึงกำหนดกลับแล้ว เพราะท่านได้มาพักอยู่หลายอาทิตย์ จึงไปกราบหลวงปู่ชอบ เรียนถามว่าจะกลับเมืองไทยอย่างไร
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้