ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 5810
ตอบกลับ: 2
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา

[คัดลอกลิงก์]


คนรักประวัติศาสตร์ไทย ได้เพิ่มรูปภาพใหม่ 2 รูป
21 ธันวาคม 2014 ·







ว่าด้วยเรื่องพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ตอนที่1 โดย อาจารย์เผ่าทอง ทองเจือ
วันนี้ผมขออนุญาตเขียนเรื่องราว ประวัติความเป็นมาของพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา หรือพิธีถือน้ำ อันหมายถึงการดื่มน้ำที่เสกแล้วเพื่อสาบานตนว่า จะซื่อสัตย์ไม่คดโกง และจงรักภักดี ไม่จำเพาะแต่กับองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเท่านั้น แต่ยังต้องจงรักภักดีต่อประเทศชาติบ้านเมือง อันเป็นแผ่นดินแม่แดนกำเนิดของตนอีกด้วย สำหรับเรื่องความซื่อสัตย์นี้ คนสมัยโบราณถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะสำหรับข้าราชการไทยทุกผู้ทุกคน และผู้ที่ปฏิบัติงานถวายการรับใช้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และประเทศชาติบ้านเมืองครับ แต่สำหรับเรื่องนี้ คนในสมัยปัจจุบัน อาจรู้สึกว่าห่างหายไกลตัว ไม่มีความสำคัญ และจำเป็นยิ่งกับเด็กวัยรุ่นทุกวันนี้ ยิ่งอาจไม่เคยผ่านตากับพระราชพิธีและความเชื่อในเรื่องเหล่านี้ี้มาก่อนเลย
หลังจากที่ผมลงมือขีดเขียน แจกแจงเรื่องราวของพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา พร้อมอธิบายจนละเอียดเสร็จสรรพแล้ว พบว่าเรื่องนี้มีความยาวมาก จนไม่สามารถนำลงให้จบได้ในครั้งนี้ เเละครั้งหน้า จำเป็นต้องแบ่งย่อยซอยสั้น ให้เหมาะสมกับเนื้อที่ จึงขอแบ่งเรื่องนี้ออกเป็น 3 ตอน และจะทยอยนำลงต่อสัปดาห์กันไปเรื่อยๆ รวม 3 สัปดาห์ หากท่านใดที่มีจิตสนใจในเรื่องราวเหล่านี้ ก็สามารถติดตามอ่านกันไปได้นะครับ ส่วนท่านที่ขี้เกียจติดตาม ก็รออ่านรวดเดียวในไทยรัฐออนไลน์นี้ เมื่อจบบริบูรณ์แล้วก็ได้ครับ หรือหากคิดว่าเป็นเรื่องไสยศาสตร์ คร่ำครึ พ้นสมัย หรือว่าจะสิ้นเมตตาสิ้นรักผมไปเเล้ว ก็ขอให้ผ่านเลยไปเสียครับ แล้วนั่งนับต่อไป จนสัปดาห์ที่สี่ ต่อจากนี้ ผมจะเปลี่ยนเรื่องราวเป็นแบบสนุกสนาน มาสลับสับเปลี่ยนบรรยากาศกันบ้าง สำหรับครั้งนี้ต้องขอให้เป็นวิชาการสักหน่อย เพื่อบันทึกทิ้งไว้ ก่อนที่คนไทยจะลืมความสำคัญของความจงรักภักดี ความซื่อสัตย์ ความกตัญญู รวมทั้งสิ่งสำคัญที่สุดในสังคมไทย คือระบบอาวุโสครับ
คนไทยโบราณ มีความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องน้ำอย่างมาก ว่าน้ำสามารถซึมซาบแทรกตัวเข้าไปในทุกอนูของร่างกายของคนเราได้อย่างดียิ่งเหนือวัตถุอื่นใด ดังนั้นในการกระทำพิธีกรรม เพื่ออาศัยความขลังและความศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ในอดีตจึงนิยมกระทำผ่านน้ำเป็นหลัก เช่น การอาบ หรือประพรมน้ำพระพุทธมนต์ หรือเทพมนต์ การรดน้ำสังข์ การแช่น้ำว่าน รวมไปถึงการดื่มน้ำสาบาน หรือที่เรียกกันว่า การดื่มน้ำพิพัฒน์สัตยา หรือที่นิยมเรียกกันสั้นๆ ว่า การถือน้ำ หรือพระราชพิธีถือน้ำ
สำหรับชื่อที่ใช้เรียกขานพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยานี้ มีการเรียกชื่อที่แตกต่างออกไปอีกมากมายหลายชื่อตามยุคสมัย คือ พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัจจา พระราชพิธีศรีสัจจา พระราชพิธีศรีสัจจปานกาล แต่ไม่ว่าจะเรียกด้วยชื่อใดก็ตาม ล้วนแล้วแต่มีความหมายเดียวกัน คือ พระราชพิธีอันเป็นมงคลแห่งความซื่อสัตย์ที่ใช้น้ำเป็นเครื่องกำหนด
อนึ่ง คำว่า "ศรีสัจจปานกาล" นั้น มีที่มาจากคำว่า
"ศรี" คือ ดีงาม มงคล
"สัจจะ" คือ ความซื่อตรงไม่กลับเป็นอย่างอื่น
"ปานะ" คือ เครื่องดื่ม , น้ำสำหรับดื่ม
"กาละ" คือ เวลา , กาลเวลา
เมื่อรวมคำกันแล้ว จะมีความหมายว่า "เวลามงคลแห่งการดื่มน้ำแสดงความซื่อตรง"
พระราชพิธีนี้น่าจะเกิดขึ้นในสมัยอยุธยา บางตำราก็ว่ามีมาแต่ครั้งพระเจ้าอู่ทอง ผู้สถาปนากรุงศรีอยุธยา แต่อย่างไรก็ตาม ต้องถือว่าเป็นพระราชพิธีเก่าแก่ที่เกี่ยวข้องกับการปกครองประเทศ ตามแบบสมบูรณาญาสิทธิราช ที่นับถือว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นสมมุติเทพ ตามคติเทวราชา ปรากฏหลักฐานอยู่ในกฎมณเฑียรบาล กฎหมายตราสามดวง เรียกว่า "ถวายบังคมถือน้ำพระพัท" จัดให้มีขึ้นด้วย วัตถุประสงค์ที่จะรวบรวมขวัญและกำลังใจของทหารให้เเน่นแฟ้น และถือเป็นกุศโลบายทางจิตวิทยาของการปกครองทางทหารที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะขั้นตอนของพิธีกรรมที่ดำเนินไปนั้น ล้วนมุ่งที่จะทำให้เกิดความเกรงกลัวต่อความผิดบาป และความน่าสะพรึงกลัวในโทษทัณฑ์และคำสาปแช่ง ที่กระทำผิดต่อคำสัตย์สาบาน ทำให้สามารถควบคุมจิตใจ และความประพฤติของข้าราชการทั้งปวง ให้ตั้งมั่นอยู่ในความซื่อสัตย์สุจริต และจงรักภักดีต่อประเทศชาติ และองค์พระมหากษัตริย์ ได้อย่างเหนียวแน่น
นอกจากนั้นแล้วในสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ตอนต้น ยังถือเป็นพระราชพิธีใหญ่แห่งพระนคร เป็นเสมือนพระราชพิธีแห่งการระงับทุกข์เข็ญของบ้านเมือง ที่จำเป็นต้องจัดให้มีเป็นพระราชประเพณีประจำทุกปีไม่ขาด ไม่ว่าจะอยู่ในภาวะบ้านเมืองอย่างไรก็ตาม
ในอดีตที่ผ่านมา กำหนดให้จัดการตั้งพระราชพิธีเป็นประจำ ปีละ 2 ครั้ง คือในช่วงพิธีตรุษ (ไทย) ราวเดือน 5 ขึ้น 3 ค่ำ และช่วงพิธีสารท (ไทย) ราวเดือน 10 แรม 13 ค่ำ ขั้นตอนสำคัญของพระราชพิธีนี้ อันอาจถือเป็นหัวใจหลักเลยก็ว่าได้ คือขั้นตอนของการปลุกเสกและแทงน้ำด้วยพระแสงราชศาสตรา พร้อมอ่านประกาศแช่งน้ำโคลงห้า หรือที่เรียกว่าโคลงแช่งน้ำ หรือลิลิตโองการแช่งน้ำ เนื้อหาคือคำสาปแช่ง ที่เรียบเรียงแต่งร้อยเป็นบทประพันธ์ และถือว่าเป็นกวีนิพนธ์อันศักดิ์สิทธิ์ สำคัญยิ่งอีกด้วย
ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ถือว่า พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยานี้ เป็นพิธีของพราหมณ์ล้วนๆ และจะประกอบพระราชพิธีนี้ที่วัดพระศรีสรรเพชญ์ ต่อมาจึงย้ายไปจัดที่วิหารวัดพระมงคลบพิตรแทน เมื่อถือน้ำเสร็จแล้วกำหนดให้นำข้าวตอก ดอกไม้ และเทียน ไปกราบถวาย บังคมพระบรมรูปของสมเด็จพระเชษฐบิดร พระรามาธิบดีที่ 1 หรือพระเจ้าอู่ทอง แล้วจึงจะไปกราบบูชาพระรัตนตรัย เป็นแล้วเสร็จ
ครั้นถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ทรงเปลี่ยนแปลงพระราชพิธีใหม่ โดยให้ข้าราชการที่เข้าพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ต้องไปกราบนมัสการพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรพระเเก้วมรกต พระสารีริกธาตุเจดีย์ และพระรัตนตรัย ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามก่อน จากนั้นจึงพากันไปเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท และรับพระราชทานน้ำพระพิพัฒน์สัตยาในพระบรมมหาราชวังต่อไป
ครั้นมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เพิ่มพิธีพุทธเข้าไปควบคู่กับพิธีพราหมณ์ และเปลี่ยนแปลงรายละเอียดปลีกย่อยต่างๆ ในช่วงขั้นตอนของพระราชพิธี เพื่อให้กระชับและสะดวกต่อผู้ปฏิบัติมากขึ้น เช่น งดการถวายภัตตาหารเช้าแด่พระสงฆ์ที่มาเจริญพระพุทธมนต์ กับทั้งยังได้พระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้ผู้สูงอายุที่เข้าร่วมพระราชพิธีนี้ สามารถรับประทานอาหารเช้ามาก่อนเข้าพิธีได้ เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย หรือเป็นลม นอกจากนั้นยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวมเอาทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายหน้า (คือฝ่ายที่เป็นชาย) และข้าราชการฝ่ายหน้า (ชาย) มาเข้าเฝ้าฯ พร้อมกันหน้าพระที่นั่ง ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เพื่อทำพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา เฉพาะต่อเบื้องหน้าองค์พระแก้วมรกต และที่สำคัญที่สุด คือทรงริเริ่มให้องค์พระมหากษัตริย์ ซึ่งในขณะนั้นคือพระองค์เอง ได้ร่วมดื่มน้ำพิพัฒน์สัตยากับพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการด้วยเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ โดยพระองค์ทรงดื่มนำเป็นปฐม อันเป็นผลให้พระมหากษัตริย์ในรัชกาลต่อๆมา จนปัจจุบันทรงถือปฏิบัติตามรอยพระยุคลบาทสืบมา
เหตุผลที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงร่วมดื่มน้ำพระพิพัฒน์สัตยาด้วย ทั้งๆ ที่พระองค์ทรงดำรงพระราชอำนาจอยู่สูงสุดของประเทศอยู่แล้ว เพราะทรงมีพระราชดำริว่า พระมหากษัตริย์นั้น จะต้องทรงมีพระราชภารกิจต่างๆ ที่จะต้องทรงปฏิบัติเนื่องในราชการแผ่นดิน เพื่อความผาสุกของอาณาประชาราษฎร และเพื่อความเจริญมั่นคงของประเทศชาติ ดังนั้น จึงสมควรที่จะเสวยน้ำพระพิพัฒน์สัตยานี้ เพื่อเป็นการสำแดงความบริสุทธิ์ และความสุจริตในพระราชหฤทัยด้วย ดังนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงร่วมดื่มน้ำพระพิพัฒน์สัตตยานี้ ร่วมกับพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าทูลละอองธุลีพระบาท มาตั้งแต่ปี พ.ศ 2394 อันเป็นปีแรกที่เสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติ ต่อจากรัชกาลที่ 3 เลยทีเดียว
ขอยกตัวที่พระมหากษัตริย์หรือพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูง ทรงร่วมดื่มน้ำพระพิพัฒน์สัตยา คือในรัชกาลปัจุบัน เมื่อครั้งที่ได้ทรงสถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าชายวชิราลงกรณ ขึ้นเป็นที่ตำแหน่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร ในวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ.2515 ก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาขึ้น เป็นส่วนหนึ่งของพระราชพิธีสถาปนาฯ นั้นด้วย และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมารพระองค์ปัจจุบัน ทรงร่วมดื่มน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ร่วมกับผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี ในครั้งนั้นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร ได้ทรงมีพระราชดำรัสถวายสัตย์ปฏิญาณต่อองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ความว่า...จะทรงรักษาเกียรติยศและอิสริยศักดิ์ที่พระราชทานไว้เสมอ.....จะภักดีต่อชาติบ้านเมือง จะซื่อสัตย์ต่อประชาชน ฯลฯ จนตราบเท่าชีวิตร่างกายจะหาไม่.....
ต่อ ตอนที่2
เครดิต ไทยรัฐ อาจารย์เผ่าทอง ทองเจือ



คนรักประวัติศาสตร์ไทย ได้เพิ่มรูปภาพใหม่ 3 รูป
21 ธันวาคม 2014 ·






ว่าด้วยเรื่องพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ตอนที่2 โดย อาจารย์เผ่าทอง ทองเจือ
ตอนที่เเล้วได้เล่าค้างเอาไว้ เกี่ยวกับเรื่องราว ประวัติความเป็นมาของการดื่มน้ำ พระพิพัฒน์สัตยา หากท่านใดลืมเลือนไปแล้ว หรืออยากฟื้นความทรงจำของเรื่อง นี้ในสัปดาห์ที่เพิ่งผ่่านมา ก็ขอความกรุณาย้อนไปกดอ่านคอลัมน์นี้ เมื่อวันพฤหัสบดีที่แล้วได้เลยนะครับ มาในวันนี้ก็ขอเล่าต่อโดยไม่อารัมพบทหรือภาษาชาวบ้าน ก็ว่า ไม่พูดพล่ามทำเพลงกันเลยนะครับ
ครั้นถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงมีพระราช ดำริให้เปลี่ยนแปลงวันถือน้ำใหม่ จากเดิมปีละ 2 ครั้ง ให้เหลือเพียงปีละ 1 ครั้ง คือให้ เป็นวันตรุษขึ้น 3 ค่ำ เดือน 5 ตกราววันที่ 3 เมษายน ของแต่ละปี และเมื่อ ถึงปีพ.ศ 2475 ซึ่งเป็นปีที่มีีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช มาเป็นระบอบประชาธิปไตย รัฐบาลในขณะนั้นจึงได้ให้ยกเลิกพระราชพิธีนี้ เป็นเหตุให้การให้สัตย์สาบาน การประกาศตนว่าจะเป็นคนซื่อสัตย์ ไม่คดโกง ต้องห่างหายไปเป็นเวลานาน จนเมื่อ 37 ปีที่แล้วมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันทรงเล็งเห็นถึงความสำคัญและเกียรติยศแห่งการรับราชการ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รื้อฟื้นพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาขึ้นใหม่ ในปี พ.ศ.2512 โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้รวมเข้ากับพระราชพิธีพระราช ทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี และทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯให้ จัดเป็นการเฉพาะ สำหรับข้าราชการทหารทั้งสามเหล่าทัพและตำรวจเท่านั้น
การถือน้ำพระ พิพัฒน์สัตยาแต่ดั้งเดิมนั้น กระทำกันหลายครั้งในช่วงปี จากหลักฐานที่พบในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ แบ่งการถือน้ำออกเป็น 2 แบบใหญ่ คือการถือน้ำ ประจำและการถือน้ำจร
- การถือน้ำประจำ สามารถแยกย่อยออกได้ตามฐานะทางสังคม คือ
1) การถือน้ำของพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการทหารและพลเรือนทุกคน รวมทั้งภรรยาบุตรธิดา และข้ารับใช้ของพระบรมวงศานุวงศ์ และบรรดาพระราช วงศ์ต่างๆที่มีศักดินา 400 ขึ้นไป กำหนดให้ถือน้ำในพิธีตรุษ เดือน 5 และพิธี สารท เดือน10 ปีละ 2 ครั้ง
2) การถือน้ำของทหารที่เข้าเวรประจำเดือนที่ผลัดเปลี่ยนเวรประจำการกันไปทุกเดือน กำหนดให้ถือน้ำทุกวันขึ้น 3 ค่ำ เพราะขณะนั้นมีระบบการเกณฑ์ราษฎรเข้า รับราชการทหารที่เรียกว่าเข้าเดือน-ออกเดือน จึงมีการสลับสับเปลี่ยนตัวคนกัน ตลอดทุกเดือน
- การถือน้ำจร เป็นการถือน้ำในกรณีพิเศษที่ไม่กำหนดเวลาตายตัว ขึ้นกับสภาวะ เหตุการณ์แวดล้อมเป็นหลัก แยกย่อยออกได้คือ
3) การถือน้ำเมื่อมีการผลัดแผ่นดิน จะต้องมีการถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาถวายพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ในทันทีที่ทรงรับราชสมบัติ
4) การถือน้ำเมื่อมีผู้ที่มาแต่เมืองปัจจามิตรเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร
5) การถือน้ำเมื่อมีการถวายตัวของบุคคลที่เข้ารับราชการ ในตำแหน่งที่ ปรึกษาข้อราชการต่างๆ ในทันทีที่เข้ารับตำแหน่ง ในปัจจุบันสำหรับข้อนี้ได้ปรับเปลี่ยนเป็นการถวายสัตย์ปฏิญาณตนต่อ เฉพาะพระพักตร์ของพระบาทสมเด็จพระ เจ้าอยู่หัวแทนการดื่มน้ำพระพิพัฒน์สัตยา
สำหรับ ในปัจจุบัน พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา กำหนดแบ่งเป็น 2 วัน โดยวันแรกจะเป็นการเสกน้ำในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยพระมหาราชครูวามเทพมุนี เป็นผู้ประกอบพิธี น้ำที่ใช้ในการเสกนี้เป็นน้ำฝนต้มสะอาด ใส่ไว้ในขันพระสาครขนาดใหญ่ เป็นขันเชิง เนื้อเงินถมตะทอง มีการอาราธนา พระสงฆ์ 10 รูป เจริญพระพุทธมนต์ทวาทศปริตร จากนั้นพระครูพราหมณ์อ่านฉันท์ สดุดี ขั้นตอนที่กล่าวมานี้ถือเป็นการเสกน้ำพระพุทธมนต์ และเทพมนต์
ในวันต่อมาจะเป็นขั้นตอนการแปลงน้ำพระพุทธมนต์เทพมนต์ ให้เป็นน้ำพระพิพัฒน์สัตยาหรือผู้ใหญ่บางท่านจะเรียกว่า "น้ำชำระพระแสง " ซึ่งถือว่าเป็นขั้นตอนที่สำคัญมาก เพราะการแปลงน้ำครั้งนี้อาจถือเป็นหัวใจของพิธีส่วนหนึ่งก็ว่าได้ ส่วนที่เรียกว่า "น้ำชำระพระแสง" ก็เพราะในสมัยโบราณ การทำสัตย์สาบานต่อกันของ ชายอกสามศอก หรือสุภาพบุรุษ-ลูกผู้ชายนั้น จะใช้อาวุธประจำกายของแต่ละคน ซึ่งถือว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์ิ และเป็นของสูงคู่ชีวิต มาล้างชำระด้วยเลือดของตนเอง ที่กรีดออกจากปลายนิ้วชี้มือขวา หรือจากท้องแขนของตนเอง หรือมิฉะนั้น ก็ล้างชำระด้วยน้ำสะอาด บรรจุลงในภาชนะเดียวกัน กล่าววาจาอันเป็นคำผูกมัดสัตย์สาบาน อย่างแม่นมั่น แล้วจากนั้นจึงนำเลือดหรือน้ำนั้นซึ่งถือว่าได้กลาย เป็นน้ำสาบานศักดิ์สิทธิ์ไปแล้ว ไปดื่มร่วมกัน เพื่อเป็นการปฏิญาณตนว่า จะรักใคร่ กลมเกลียว เกื้อกูลกันเป็นเสมือนเพื่อนตาย ไม่ทรยศหักหลังกันตลอดไป จนกว่า ชีวิตจะหาไม่
ครั้นมาถึงองค์พระมหากษัตริย์ โดยที่ทรงเป็นนักรบและทรงเป็นจอมทัพด้วย เมื่อจะ มีการทำสัตย์ปฏิญาณ จึงต้องนำพระเเสงราชศาสตราที่สำคัญองค์ต่างๆ มาชำระ ล้างด้วยน้ำสะอาด พร้อมร่ายโองการสาปแช่งกำกับน้ำนั้นไว้ด้วย แล้วจึงนำออก แจกจ่ายให้ผู้ที่รับใช้ถวายงานได้ดื่มสาบาน ถือว่าได้ดื่มน้ำชำระล้างอาวุธของพระราชา หากกาลต่อไปภายภาคหน้า ตนเองได้คิดคดทรยศ ไม่จงรักภักดี ไม่ปฏิบัติ ตนตามคำสัตย์สาบานที่ให้ไว้ขณะดื่มน้ำนั้น ก็จะเกิดมีอันเป็นไปด้วยอาการต่างๆ ด้วยคมของอาวุธแห่งองค์พระราชาที่ได้ชำระล้างและแทงลงในน้ำนั้น แต่หากผู้ใด ซื่อตรง จงรักภักดี ประกอบกิจเพื่อประโยชน์แก่ชาติบ้านเมืองและพระราชาแล้ว น้ำนั้นก็จะเป็นทั้งสิริและมงคลแก่ชีวิตตนและครอบครัวอีกด้วย
สำหรับ พระเเสงราชศาสตรา ที่เชิญเข้าในพิธีเพื่อทิ่มแทงลงในน้ำ พระพุทธมนต์- เทพมนตร์ เพื่อแปลงให้เป็นน้ำชำระพระแสงหรือน้ำพระพิพัฒน์สัตยานั้น ประกอบ ด้วยพระแสงศรสามองค์ พระแสงขรรค์ชัยศรี อันเป็นหนึ่งในเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ พระแสงดาบคาบค่าย องค์ที่รัชกาลที่ 1 ทรงสร้างขึ้นแทนองค์ของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชครั้งกรุงเก่า และพระแสงราชศาสตราประจำรัชกาลที่1-7
ใน ปี พ.ศ.2525 อันเป็นปีที่มีการเฉลิมฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปีนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตั้งการพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาด้วย ผมเองได้มีโอกาสอยู่ร่วมและรับเห็นรับรู้ในขั้นตอนของ พระราชพิธีนี้ ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามในครั้งนั้นด้วย ได้เห็นว่า พระแสงราชศาสตราองค์ต่างๆเชิญไปเข้าพิธีนั้น ได้จัดตั้งไว้ด้านหลังพระฉาก บริเวณด้านข้างของฐานชุกชีที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร เมื่อเวลาที่เจ้าพนักงานจะเชิญออกไปหน้าพระฉาก เพื่อให้พระมหาราชครูวามเทพมุนีเชิญลงแทงน้ำในขันพระสาครนั้น เจ้าพนักงานได้เชิญขึ้นจากที่ประดิษฐาน จากนั้นแพทย์และพยาบาลที่ใส่ผ้าปิดปากและจมูก ได้นำสำลีแผ่นใหญ่ชุบ แอลกอร์ฮออย่างชุ่มโชก เช็ดชะโลมลงบนใบมีดใบดาบของพระแสงเหล่านั้น แล้วจึงนำแผ่นสำลี แห้งขนาดใหญ่เช่นกันมาเช็ดลูบให้แห้งก่อน แล้วจึงเชิญออก ผมสอบถามท่านผู้ใหญ่ในนั้น ได้คำตอบว่า เพื่อความสะอาดปลอดภัยจากเชื้อโรคทั้งปวง เพราะน้ำ นั้นจะเชิญขึ้นถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นน้ำเสวยด้วย
ส่วน โองการหรือบทสวด ที่ใช้ในการปลุกเสกน้ำนั้น เรียกว่า "โองการแช่งน้ำ" คำว่า"โอง" กร่อนมาจาก "โอม" โดยที่คำว่า "โอม" จะมีที่มาจากคำที่สะกดว่า "ออ-อุ-มอ" อ่านว่า "โอม" สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นคำย่อ ที่มาจากคำว่า "อะ-อุ-มะ" อันหมายถึงเทพเจ้าสำคัญสูงสุดของศาสนาฮินดู 3 องค์คือ
อะ คือ พระศิวะ หรือคนไทยนิยมเรียกพระอิศวร
อุ คือ พระวิษณุหรือพระนารายณ์
มะ คือ พระพรหมหรือบรามัน
คำว่า "โอม" จึงถือเป็นคำศักดิ์สิทธิ์ ใช้สำหรับเป็นคำนำในการกล่าวสรรเสริญเทพเจ้า หรือเป็นคำนำในบทสวดต่างๆของพราหมณ์
ส่วน คำว่า "โองการ" มาจากคำว่า "โอมการ" มีความหมายว่า "คำศักดิ์สิทธิ์" หรือ"คำประกาศของพระมหากษัตริย์" กร่อนมาจากคำว่า "โอมการ" สำหรับเนื้อหาของ"โองการแช่งน้ำ"นั้น แบ่งเป็นบทใหญ่ๆ 4 บท
บทแรก เป็นร่ายนำ เป็นการกล่าวสรรเสริญเทพเจ้าทั้งสามองค์ของศาสนาฮินดู เหมือนบทไหว้ครู ในกวีนิพนธ์ของไทยแต่โบราณ จากนั้นเป็นการอธิบายแจกแจง ลักษณะของเทพแต่ละองค์อย่างละเอียดชัดเจน ช่วงท้ายของร่ายโองการแช่งน้ำบท นี้จะมีการเชิญพระแสงศร 3 องค์ลงแทงน้ำพระพุทธมนต์-เทพมนตร์ใน ขันพระ สาคร ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการแปลงน้ำนั้นให้เป็นน้ำชำระพระแสง โองการแช่งน้ำ บทนี้น่าจะเป็นบทเก่าที่ร่ายสืบทอดกันมา เพราะแต่เดิมพระราชพิธีนี้เป็นพระราชพิธี ที่เนื่องในศาสนาพราหมณ์ ไม่มีพุทธศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้องเลย จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่รัชกาลท ี่4 เป็นต้นมา
บทที่สองนั้น จะเป็นการกล่าวถึงเรื่องราวประวัติความเป็นมาของโลกมนุษย์ กล่าว ถึงฤทธานุภาพของเทพเจ้าทั้งสาม รวมถึงการอธิบายเรื่องไฟบรรลััยกัลป์ที่ล้างโลก จนราบเรียบ การจุติของพระพรหม การสร้างโลกขึ้นใหม่ของพระพรหม การแตก ดับ และการเกิดใหม่ของโลกตามวาระต่างๆ
บทที่สามน่าจะเป็นบทที่ประพันธ์ เสริมเพิ่มขึ้นใหม่ เพราะมีการเอ่ยถึงพุทธศาสนา ด้วย ในบทนี้จะเริ่มต้นด้วยการกล่าวอัญเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ มารับทราบรับรู้ และเป็นพยานในพระราชพิธีนี้ รวมทั้งกล่าวอัญเชิญให้ลงโทษผู้ที่คิดคดทรยศใน การถือน้ำนี้ด้วย โดยจะกล่าวอัญเชิญพระรัตนตรัยก่อนเป็นปฐม ตามด้วยเทพเจ้า ทั้งสาม เทพชั้นรองอื่นๆ พระรามพระลักษณ์ อันหมายถึงการอวตารของพระมหา กษัตริย์ เทพเจ้าเเห่งป่าเขาคือพระพนัสบดี ภูตผีต่างๆรวมทั้งผีพื้นบ้านพื้นเมือง ศรีพรหมยักษ์ ยักษ์กุมาร และอื่นๆอีกมากมาย
บทสุดท้าย เป็นบทที่จะร่ายยาวถึงผลแห่งการคิดคดทรยศต่อชาติบ้านเมือง และ พระมหากษัตริย์ มีการแจกแจงการลงโทษทัณฑ์อย่างน่าสะพรึงกลัว กล่าวถึงการตายในลักษณะอุดจาดต่างๆ อันเนื่องมาจากจากความผิดต่อคำสัตย์สาบาน ในตอนท้ายจะกล่าวถึงการปูนบำเหน็จรางวัลและยศถาบันดาศักดิ์ต่อผู้ซื่อสัตย์อีกด้วย
ในระหว่างขั้นตอนทั้งสี่ที่กล่าวมาแล้ว พระราชครูวามเทพมุนีประมุขแห่งศาสนาพราหมณ์ จะเป็นผู้อัญเชิญพระเเสงองค์ต่างๆลงแทงน้ำในขันพระสาคร พราหมณ์ทั้งนั้นบรรลือสังข์ หันปลายสังข์เข้าสู่ขันพระสาคร พนักงานภูษามาลาไกวบัณเฑาะว์
สมเด็จพระสังฆราช ประมุขแห่งพุทธศาสนาพร้อมพระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์เจริญพระพุทธมนต์บทสัจจคาถา จบแล้วจะได้น้ำพระพิพัฒน์สัตยาที่บริบูรณ์ด้วยฤทธานุภาพ แห่งโองการและมนตรา จากนั้นพระมหาราชครูวามเทพมุนีจะใช้ภาชนะที่ถ้วยทอง คำ มีคำอักษรจารึกโดยรอบว่า "เสียชีพอย่าเสียสัตย์" ตักน้ำนั้นถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อทรงดื่มเป็นปฐม
จากนั้นผู้ที่เข้าร่วม พระราชพิธีที่ีได้รับพระมหากรุณาธิคุณ ให้เข้ารับพระราชทาน น้ำพระพิพัฒน์สัตยาถวายคำนับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้วเดินไปยังท่าม กลางพระอุโบสถอันเป็นสถานที่ประดิษฐานขันพระสาคร พระมหาราชครูวามเทพ มุนีตักน้ำพิพัฒน์สัตยา หรือน้ำ ชำระพระแสงส่งให้ เมื่อรับแล้วจึงหันไปจบน้ำนั้น ขึ้นเหนือศีรษะ ถวายนมัสการพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรก่อน แล้วจึงยกขึ้น ดื่ม โดยหันหน้าไปยังพระพุทธปฏิมานั้น เสร็จแล้วคืนถ้วยน้ำต่อพระมหาราชครู วามเทพมุนี จากนั้นจึงคลานเข้าไปหมอบกราบถวาย บังคมแทบเบื้องพระยุคล บาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จนครบถ้วนทุกคน
ท้ายสุดของพระราชพิธีนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประเคนจตุปัจจัยไทย ธรรม ทรงหลั่งทักษิโณทก พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก ถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จไปทรงกราบลาพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ที่เครื่องนมัสการ ทรงรับการถวายความเคารพของผู้มาเฝ้า แล้วเสด็จพระราช ดำเนินกลับ แต่ก็มีบางครั้งที่เสด็จพระราชดำเนินต่อไปยังปราสาทพระเทพบิดร เพื่อถวายบังคมพระบรมรูปของสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชทั้งแปดรัชกาลแล้วจึงจะเสด็จพระราชดำเนินกลับ
เครดิต ไทยรัฐ อาจารย์เผ่าทอง ทองเจือ
(ภาพประกอบ วัดนก วัดตูม เเละวัดขุนเมืองใจ สามวัดสำคัญในสมัยกรุงศรีอยุธยาที่ทำพิธีถือน้ำ)






2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2015-1-25 07:48 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้


คนรักประวัติศาสตร์ไทย ได้เพิ่มรูปภาพใหม่ 2 รูป
21 ธันวาคม 2014 ·






ว่าด้วยเรื่องพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ตอนที่3 โดย อาจารย์เผ่าทอง ทองเจือ
ระเบียบการถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาในครั้งโบราณ ได้มีบทบัญญัติที่เข้มงวดมาก ทั้งในการปฏิบัติและการลงโทษผู้ฝ่าฝืน ดังปรากฏตราไว้เป็นกฎเกณฑ์ในกฎหมายตราสามดวง แต่ครั้งต้นกรุงศรีอยุธยา เช่น
- พระบรมวงศานุวงศ์ เจ้าประเทศราช ข้าราชการ ทหาร ผู้ที่เข้ามาขอพึ่งพระบรมโพธิสมภารมีหน้าที่ต้องเข้าร่วมพระราชพิธีถือน้ำฯทุกครั้ง ผู้ใดขาด-ไม่มา มีโทษประหารชีวิต ยกเว้นแต่ป่วยหนัก การวางโทษหนักที่เปรียบดั่งการกบฏมีโทษถึงตายในลักษณะนี้ก็เพื่อให้เกิดความเกรงกลัว และยอมรับในความศักดิ์สิทธิ์ของพระบรมราชโองการแห่งองค์พระมหากษัตริย์และของพระราชพิธีเองด้วย
- ห้ามสวมแหวนนากแหวนทองมาเข้าพระราชพิธีถือน้ำ ข้อห้ามนี้น่าจะมีที่มาจากการยอมรับนับถือคติในราชสำนักและคติการเข้าสู่ศาสนสถานของเขมร เนื่องจาก ในรัชสมัยของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 เจ้าสามพระยา ราว พ.ศ.1967-1991 ได้ทรงยาตราทัพไปตีกรุงกัมพูชามีชัยชนะ ได้ทรงกวาดต้อนนักปราชญ์ ราชบัณฑิตและได้ทรงนำเอาขนบประเพณีในราชสำนักหลายประการ มาปรับใช้ในกรุงศรีอยุธยา ข้อห้ามในการใส่เครื่องประดับทองคำและนากเข้าสู่ศาสนสถาน ในกัมพูชานั้น มีปรากฏชัดเจนในศิลาจารึกหลายหลัก รวมทั้งความเชื่อของคนในครั้งนั้นที่ว่า โลหะทองคำสามารถป้องกันคาถาอาคมและมนตราภัยได้
- ห้ามดื่มน้ำหรืออาหารก่อนมาเข้าพิธี ข้อนี้สามารถอธิบายได้ว่า ต้องการให้น้ำพระพิพัฒน์สัตยาเป็นสิ่งแรกที่ได้เสพและล่วงผ่านเข้าสู่ร่างกายในวันที่ประกอบพระราชพิธี ดังนั้นไม่ว่าหมายกำหนดการของพระราชพิธีนี้ จะกำหนดในเวลาใดของวัน ก็ตาม หมายความว่าผู้ที่จะเข้าร่วมพระราชพิธีทุกคน จะต้องไม่บริโภคทั้งน้ำและอาหารใดๆ มาก่อนทั้งสิ้น
-ห้ามอาบน้ำว่าน แช่น้ำว่าน อมหรือเคี้ยวว่าน ก่อนมาเข้าพระราชพิธีนี้โดยเด็ดขาด เพราะว่านบางชนิดมีสรรพคุณให้คาถาอาคมและมนตราต่างๆ คลายหรือเสื่อมไปได้ เช่น ว่านรางจืด
- ดื่มน้ำแล้วห้ามยื่นน้ำที่เหลือให้แก่กัน นั่นคือต้องการให้ดื่มให้หมดแก้วหรือจอก เพราะปริมาณของน้ำที่คะเนไว้ในแก้วหรือจอกนั้นมากพอที่จะสำแดงฤทธิ์ได้ หากน้อยไปอาจไม่สามารถชำแรกแทรกตัวได้ทั่วร่าง เหมือนกับยาสั่ง กับทั้งการดื่มน้ำพระพิพัฒน์สัตยานั้น เป็นการดื่มเฉพาะพระพักตร์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แม้ว่าจะรับถ้วยหรือจอกนั้นจากพระมหาราชครูวามเทพมุนี มิได้รับพระราชทานโดยตรงจากพระหัตถ์ก็ตาม แต่ก็เปรียบเสมือนหนึ่ง ว่าได้รับพระราชทานจาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโดยตรง การดื่มไม่หมดแล้วยื่นส่งต่อมือกัน จึงเป็นการไม่ถวายความเคารพ และถือว่าเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอย่างยิ่ง
- ดื่มแล้วต้องราดน้ำที่เหลือลงบนผมของตนเอง คือมีเจตนาจะให้ดื่มให้หมดเป็นประการหลัก ส่วนประการรองลงมาคือ ให้ถือว่าน้ำชำระพระแสงหรือน้ำพระพิพัฒน์สัตยานี้เป็นของสูง เป็นของศักดิ์สิทธิ์ และเป็นสิริมงคลกับผู้ที่ประพฤติปฏิบัติตน ตามคำสัตย์สาบาน การที่มีน้ำคงค้างอยู่ในแก้วแม้เพียงหยดเดียวก็ไม่เป็นการบังควร เพราะเป็นน้ำที่เสกแล้วและศักดิ์สิทธิ์ จึงให้เทลงใส่เหนือศีรษะแห่งตน ทั้งนี้เพราะคนไทยนับถือว่าศีรษะเป็นที่สถิตแห่งขวัญแห่งตน และศีรษะเป็นของสูง ดังนั้นจึงให้เป็นที่รองรับน้ำพิพัฒน์สัตยาในส่วนที่เหลือติดค้างด้วย
แม้ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน จะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รื้อฟื้นพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ขึ้นใหม่อีกครั้งในปี พ.ศ.2512 เป็นต้นมา แต่พระราชพิธีนี้ก็มิได้จัดเป็นพระราชพิธีประจำ เหมือนดังที่เคยจัดมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาและสมัยรัตนโกสินทร์จนถึง พ.ศ.2475 หากเเต่กลายเป็นพระราชพิธีจร คือ กำหนดให้จัดขึ้นตามพระราชอัธยาศัย ในวาระอันสมควร
นับตั้งแต่ปีพ.ศ.2512 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ได้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้จัดการตั้งพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยามาแล้ว 8 ครั้ง คือในปี พ.ศ. 2512 2516 2518 2520 2522 2523 2525 2533 อนึ่งการฟื้นฟูพระราชพิธีนี้ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดขึ้นร่วมกับพระราชพิธีพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2512 ควบคู่กันมาโดยตลอด แต่สำหรับพระราชพิธีพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ อันมีศักดิ์รามาธิบดีนั้น ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้จัดขึ้นมาก่อนแล้ว ตั้งแต่ ปีพ.ศ. 2505 2508 และ 2511 แต่ไม่มีการถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาร่วมด้วย จนถึงพ.ศ.2512 จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้จัดรวบทั้งสองพระราชพิธีควบคู่เป็นพระราชพิธีเดียวกันไป และออกหมายการพระราชพิธี เป็นหมายควบ เรียกชื่อว่า "พระราชพิธีพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดีและพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา"
พระราชพิธีพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดีนั้น เป็นการพระราชทานเป็นบำเหน็จความชอบในราชการทหารที่ได้ถวายชีวิตเป็นราชพลี เพื่อปกป้องแผ่นดินไทย โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลนี้ขึ้น ตามพระราชบัญญัติอันมีศักดิ์รามาธิบดี พ.ศ. 2461 ลงวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2461 อันเป็นวันครบรอบ 1 ปี ที่ประเทศไทยได้ส่งทหารอาสาไปร่วมรบในสงคราม โลกครั้งที่ 1 มีหลักเกณฑ์การพระราชทานทั้งในเวลาสงครามและเวลาสงบศึก แก่ผู้กระทำการรบองอาจเข้มแข็ง และผู้ควบคุมทหารในสนามรบรวมทั้งผู้ที่ปฏิบัติราชการเป็นผลดีอย่างยิ่ง ทำให้ราชการทหารเจริญรุ่งเรืองก้าวหน้า
การพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธบดีตระกูลนี้หยุดลงหลังจากสิ้นรัชกาล ในรัชกาลต่อๆ มามิได้มีการพระราชทานแก่ผู้ใดเลย จวบจนรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน เมื่อเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศต่างๆ ในทวีปยุโรปและสหรัฐอเมริกา ในปีพ.ศ.2503 ทรงมีพระราชดำริ เห็นควรว่าจะพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลนี้แก่ชาวต่างประเทศได้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เพิ่มเติมหลักเกณฑ์ใหม่จากที่มีอยู่เดิมในครั้งรัชกาลที่ 6 และประกาศเป็นพระราชบัญญัติเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี พ.ศ.2503 ด้วย
สำหรับหลักเกณฑ์ในการพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ตระกูลนี้ ที่ตราออกใหม่คือ ถวายเป็นพระราชอำนาจที่จะพระราชทานแก่ผู้ทำความดีความชอบเป็นพิเศษ หรือทำประโยชน์อย่างยิ่งแก่ราชการทหาร ไม่ว่าจะเป็นยามสงบหรือยามสงครามก็ตาม และอาจทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานแก่ผู้มีเกียรติซึ่งเป็นชาวต่างประเทศได้ โดยไม่จำเป็นต้องพิจารณาว่าได้ทำความดีความชอบเป็นพิเศษหรือเป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่ราชการทหารหรือไม่ก็ตาม
สำหรับการพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี ในรัชกาล ปัจจุบัน หลังจากที่ได้มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลักเกณฑ์ใหม่แล้วนั้น มีทั้งหมดจนถึงปัจจุบันนับรวมได้ 11 ครั้ง คือเมื่อ พ.ศ.2505 2508 2511 2512 2516 2518 2520 2522 2523 2525 2533 ตามลำดับ โดยการพระราชทานในครั้งที่ 1-3 คือในปีพ.ศ.2505 2508 2511 นั้น เป็นการพระราชพิธีพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดีแต่เพียงพระราชพิธีเดียวเท่านั้น และตั้งแต่ครั้งที่ 4 เป็นต้นมา คือตั้งแต่พ.ศ.2512 ถึง พ.ศ.2533 ได้มีการฟื้นฟูและผนวกเอาพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา เข้ามา ร่วมด้วยเป็นพิธีเดียวกันต่อเนื่องกัน
สำหรับพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ฟื้นฟู ขึ้นและจัดควบคู่กับพระราชพิธีพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี โดยรวมเข้าเป็นพระราชพิธีเดียวกันนั้น ถือได้ว่าเป็นพระราชพิธีที่มีขึ้นใหม่ ในรัชกาลปัจจุบันอย่างแท้จริง โดยเริ่มครั้งแรกในปีพ.ศ.2512 และที่สำคัญอย่างยิ่งคือทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กำหนดเฉพาะสมาชิกเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์ีรามาธิบดีเท่านั้น ที่จะได้เข้ารับพระราชทานน้ำพิพัฒน์สัตยาเพื่อดื่ม และกระทำสัตย์สาบานตนถวายเฉพาะต่อเบื้องพระพักตร์ของพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร และเฉพาะต่อเบื้องพระพักตร์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
กาลเวลาที่หมุนผ่านไป โลกที่กำลังเข้าสู่ยุคสมัยของวิทยาศาสตร์อันล้ำยุค อาจทำให้คนส่วนหนึ่งมองว่าพระราชพิธีโบราณทั้งหลายเหล่านี้คร่ำครึ เชย พ้นสมัยไปแล้ว ในยุคโลกาภิวัตน์เยี่ยงนี้จะมีแต่เรื่องทางวิทยาศาสตร์ที่พิสูจน์ให้เห็น ประจักษ์กับตาเท่านั้นที่เชื่อถือได้ เวทมนตร์คาถา ความเชื่อทางจิตวิญญาณล้วนแล้วแต่ไร้สาระ พิสูจน์ไม่ได้ แต่สำหรับผมแล้ว ผมมีความเชื่อถืออย่างมั่นคงว่า ประเทศไทย ของเราต้องมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มองไม่เห็น จับต้องไม่ได้ ปกป้องคุ้มครองอยู่ตลอดเวลา ประเทศของเรารอดพ้นวิกฤติเหตุการณ์ต่างๆ มาได้นับครั้งไม่ถ้วน ก็เพราะอำนาจ บารมีแห่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านั้น ผมจึงเชื่อมั่นในคำสัตย์สาบานว่ามีอำนาจลึกลับจริง สามารถดลบันดาลให้ผู้ที่ทรยศเป็นไปตามคำสาบานของตนเอง และจะนำพาผู้ที่มั่นคงตรงต่อคำสาบานนั้นไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง น่าเสียดายอย่างยิ่งที่ในปัจจุบัน ได้ยกเลิกการถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาสำหรับข้าราชการทั่วไปไปแล้ว ไม่เช่นนั้นเราคงจะได้เห็นความเป็นไปต่างๆ กับผู้คนที่ทรยศต่อแผ่นดินอีกมากมาย แต่อย่าห่วงไปเลยครับ แม้จะไม่ได้รับผลจากคำสัตย์สาบานจากน้ำพระพิพัฒน์สัตยา เพราะไม่ได้ดื่มแล้วก็ตาม ผลกรรมแห่งการกระทำชั่ว-ดีย่อมต้องส่งผลแก่ผู้กระทำกรรมนั้นๆ อย่างแน่นอน
เครดิต ไทยรัฐ อาจารย์เผ่าทอง ทองเจือ
ภาพจาก ภาพยนต์ สุริโยไท






ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้