ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

~ พระมงคลเทพมุนี(หลวงพ่อสด จนฺทสโร ) วัดปากน้ำ ~

[คัดลอกลิงก์]
21#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-5-20 20:25 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
เท่าที่ข้าพเจ้าสืบสวนและสังเกตการณ์โดยใกล้ชิดมาเป็นเวลาเกือบปี ได้ข้อเท็จจริงพอแล้วที่จะชี้ขาดว่า ข่าวอกุศลต่าง ๆ นั้นไม่มีมูลเหตุแห่งความจริงเลย ในทางตรงกันข้าม ข้าพเจ้าเชื่อเต็ม ๑๐๐ เปอร์เซนต์ว่า ท่านเป็นผู้ที่บริสุทธิ์ด้วยประการทั้งปวง และมีภูมิรู้ในทางปริยัติกว้างขวาง เป็นพระธรรมกถึกชั้นเยี่ยม ทั้งเป็นผู้ปฏิบัติอย่างดีเลิศ การปฏิบัติและแนวเทศนาของท่านดำเนินตามหลักในคัมภีร์วิสุทธิมรรคทั้งสิ้น

            เรื่อง ศีล สมาธิ ปัญญา ตามคัมภีร์วิสุทธิมรรคนั้นเป็นเรื่องใหญ่เป็นเรื่องยาก ผู้ไม่ใช่นักปฏิบัติแล้ว ยากที่จะนำมาแสดงให้แจ่มแจ้ง ให้เป็นผลปฏิบัติได้ แต่หลวงพ่อสด วัดปากน้ำแสดงได้แจ้งชัด และชี้ทางปฏิบัติให้โดยตรง จึงสมควรเถิดไว้ในฐานันดรพระธรรมกถึกชั้นเยี่ยม ซึ่งข้าพเจ้าขอกราบแสดงความเคารพอย่างสูงต่อท่านไว้ในที่นี้ด้วย

            ที่ข้าพเจ้าเอาเรื่องของวัดมาพูดโดยยืดยาวเช่นนี้ ความมุ่งหมายก็เพื่อบรรเทาบาปให้แก่ผู้แพร่ข่าวอกุศล เพราะการกล่าวเท็จใส่ไคล้ผู้มีศีลเช่นนี้เป็นบาปหนักหนา เพื่อว่าเขารู้ตัวจะยับยั้งกรรมอันชั่วนี้เสียได้ ข้าพเจ้าก็จะพลอยอนุโมทนา แล้วจะมีส่วนได้บุญอันนับเนื่องในปัตตานุโมทนามัยด้วย

            ท่านทั้งหลาย การที่เราเกิดมาเป็นมนุษย์นี้ มิได้มาตัวเปล่า ต่างมีบุญและบาปที่ทำไว้ในอดีตติดมาทุกคน ต่างกันแต่มากบ้างน้อยบ้าง ไม่ช้าเราก็ต้องตายดอก อย่ามาแบกเอาบาปเพิ่มไปอีกเลย ลาภสักการะอันหมุนลงได้เป็นราคาเงินนั้น เป็นสมบัตินอกกายตายแล้วเอาไปไม่ได้ดอก มันเป็นของใช้สอยประจำโลก เราตายแล้วก็ตกเป็นของคนอื่น เขาอาศัยใช้ต่อไป ใครจะว่าเป็นของใครไม่ได้ทั้งนั้น โลกมนุษย์เป็นแหล่งกลางสำหรับอาศัยสร้างบุญ สร้างบาป โลกนรก โลกสวรรค์ เป็นเพียงโลกที่คอยรับรองผลบุญ - บาป เท่านั้น เราได้มาเกิดอยู่ในโลกอันเป็นแหล่งกลางเช่นนี้แล้ว นับว่าเราได้มีโอกาสที่จะเพิ่มบุญผ่อนบาปให้เบาลง ให้เบาลงกว่าที่เราแบกมาจากอดีตนั้นเถิด อย่าเติมเข้าไปอีกเลย ไหน ๆ เราก็ต้องตายแน่ อย่ามาหอบเอาบาปเพิ่มไปอีกเลย

            อนึ่ง การอ่านหนังสือเรื่อง "ธรรมกาย" นี้ ถ้าได้รู้แนวปฏิบัติ บ้างแล้วจะเข้าใจได้แจ่มแจ้งดี เพื่อประโยชน์ดังกล่าวนี้ ข้าพเจ้าจึงเขียนบันทึกแนวสอน วิธีทำสมาธิ โดยย่อของท่านไว้ท้ายหนังสือเล่มนี้ ถ้าต้องการรู้ละเอียดอ่านหนังสืออีกเล่มหนึ่ง ซึ่งท่านเคยแจกกับผู้ไปเรียนสมาธิกับท่าน หนังสือเล่มนั้นเป็นแบบเจริญสมาธิโดยตรง (คือที่ข้าพเจ้าใช้คำว่าตามแบบ)
22#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-5-20 20:25 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
แต่ว่าการเรียนสมาธินั้น ถ้าจะเอากันให้ได้ผลจริงจังแล้วต้องมีอาจารย์ จะทำสุ่มไปไม่ใคร่ได้ผล แม้เราได้อ่านตำรับตำราในทางนี้ เช่นวิสุทธิมรรค เป็นต้น ถ้าไม่มีอาจารย์แนะนำวิธีปฏิบัติอีกชั้นหนึ่งแล้ว ก็ยากที่จะปฏิบัติให้ได้ผล เพราะมีรายละเอียดปลีกย่อยที่อาจารย์จะพึงแนะนำอีกมากหลาย

            สมาธิ เป็นยอดคำสอนในพระพุทธศาสนา ที่ว่ายอดนี้หมายความว่าเป็นหลักสำคัญยิ่งในจำพวกคุณธรรม ๓ ประการ คือ ศีล สมาธิ ปัญญานั้น ศีลเป็นส่วนประกอบ คือเป็นเพียงเหตุที่จะให้ดำเนินไปสู่สมาธิ ส่วนปัญญานั้นเป็นผลของสมาธิ จุดมุ่งหมายสำคัญจึงอยู่ที่สมาธิตัวกลาง ซึ่งต้องทำให้เกิดมีขึ้น ดังบาลีในวิสุทธิมรรคยืนยันว่า นตฺถิ ฌานํ อปญฺญสฺส นตฺถิ ปญฺญา อฌายิโน (นัตถิ ฌานัง อะปัญญัสสะ นัตถิ ปัญญา อะฌายิโน) ซึ่งแปลความว่า ฌานย่อมไม่มีแก่ผู้ไร้ปัญญา ปัญญาย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่มีฌาน และอานิสงส์ของสมาธินั้นก็มีอยู่ว่า บุคคลผู้ได้สมาธิแล้วย่อมได้รับอานิสงส์ ๕ ประการ คือ:-

            ๑. ความสุขในปัจจุบัน

            ๒. วิปัสสนาปัญญา

            ๓. ฌาน

            ๔. ภพอันวิเศษ

            ๕. นิโรธ

            ฉะนั้น สมาธิจึงเป็นเรื่องที่เราควรสนใจ

            เท่าที่ข้าพเจ้าได้ฟังมา วิธีปฏิบัติของหลวงพ่อวัดปากน้ำ มีผู้กล่าวออกความเห็นกันไปหลายอย่างต่าง ๆ กัน พวกหนึ่งว่า เป็นฌานโลกีย์ พวกหนึ่งว่า ติดรูป บางพวกว่า ติดนรกสวรรค์ แต่อีกพวกหนึ่งว่า ท่านเลยเถิดไปถึงนิพพาน ซึ่งมองไม่เห็น

            ข้าพเจ้าเคยนำวาทะเหล่านี้ไปสนทนากับผู้ปฏิบัติในสำนักหลวงพ่อสด วัดปากน้ำ เขาตอบขบขันเหมือนกัน เขาว่าที่ว่าติดรูปนั้นดีนะ ให้มันรู้ว่าติดรูปเถอะจะได้มีโอกาสแกะรูปออก แต่ข้อสำคัญว่าเราไม่รู้ว่าติดรูปนี่ซี เมื่อไม่รู้ว่าติดเราก็ไม่รู้จักรูป เมื่อเราไม่รู้ว่าติดเราก็ไม่ได้แกะ เมื่อเราไม่แกะมันจะหลุดได้อย่างไร เหมือนของโสโครกติดหลังเสื้อที่เราสวมอยู่ เมื่อเราไม่รู้ว่ามันติดเราก็ไม่พยายามเอาออก แล้วมันจะไปไหน ฟังดูก็แยบคายดี
23#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-5-20 20:26 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ข้าพเจ้าเคยนำวาทะเหล่านี้ไปสนทนากับผู้ปฏิบัติในสำนักหลวงพ่อสด วัดปากน้ำ เขาตอบขบขันเหมือนกัน เขาว่าที่ว่าติดรูปนั้นดีนะ ให้มันรู้ว่าติดรูปเถอะจะได้มีโอกาสแกะรูปออก แต่ข้อสำคัญว่าเราไม่รู้ว่าติดรูปนี่ซี เมื่อไม่รู้ว่าติดเราก็ไม่รู้จักรูป เมื่อเราไม่รู้ว่าติดเราก็ไม่ได้แกะ เมื่อเราไม่แกะมันจะหลุดได้อย่างไร เหมือนของโสโครกติดหลังเสื้อที่เราสวมอยู่ เมื่อเราไม่รู้ว่ามันติดเราก็ไม่พยายามเอาออก แล้วมันจะไปไหน ฟังดูก็แยบคายดี

            แต่สำหรับความเห็นข้าพเจ้านั้น เห็นควรรวมวาทะที่ว่าติดรูปกับวาทะที่ว่าเป็นฌานโลกีย์ รวมวินิจฉัยเสียเป็นข้อเดียว เพราะตามที่ว่านี้คงหมายถึงรูปฌาน เมื่อเช่นนั้นทางที่จะปลดเปลื้องความสงสัยของเจ้าของวาทะเหล่านี้ก็ง่ายขึ้น สมเด็จพระบรมศาสดาก่อนที่จะได้ตรัสรู้นั้น พระองค์ผ่านรูปฌาน อรูปฌานหรือเปล่า ข้อนี้จะต้องรับกันว่าผ่าน ก็เมื่อเช่นนี้ ใครจะปฏิเสธได้ หรือว่าโลกิยะฌานนั้นจะไม่เป็นอุปการะแก่พระองค์ในการตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ความข้อนี้ข้าพเจ้าเคยนำไปสนทนาวิสาสะกับพระเถระบางรูป ซึ่งฝักใฝ่ทั้งปริยัติและปฏิบัติ ท่านได้กล่าวอุปมาให้ฟังว่าการข้ามแม่น้ำหรือมหาสมุทร ถ้าไม่ใช้เรือหรือเครื่องบินเป็นพาหนะแล้ว มันจะข้ามไปได้อย่างไร ในที่สุด ท่านยืนยันว่าฌานโลกีย์นั้นแหละยังพระองค์ให้ข้ามถึงซึ่งฝั่งโลกุตร เมื่อนำเอาบาลีข้าต้นมาประกอบการวินิจฉัย ความข้อนี้จะแจ่มใสยิ่งขึ้น เพราะคำว่า "นตฺถิ ปญฺญา อฌายิโน" นั้นเป็นหลักอยู่ ซึ่งแปลได้ความอยู่ชัด ๆ ว่า ปัญญาย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่มีฌาน ดังนี้ เราจะไปยกวาทะ ติฌานโลกีย์อย่างไรกัน

            อันวาทะที่ว่าติดนรกสวรรค์นั้น ข้อนี้น่าเห็นใจผู้สงสัย เธอคงจะไม่ได้มีโอกาสไปฟังการแสดงธรรมของหลวงพ่อสด วัดปากน้ำเสียเลย เธอคงจะไปฟังหางเสียงของบางคนที่ฟังไม่ได้ศัพท์จับเอาไปกระเดียดเข้าแล้ว เพราะการแสดงธรรมนั้น เมื่อพูดถึงเรื่องบาปบุญคุณโทษก็ต้องอ้างเรื่องนรกสวรรค์ ท่านมีอะไรพิสูจน์แล้วหรือว่านรกสวรรค์ไม่มี ท่านมีปัญญาพอแล้วหรือว่านรกสวรรค์นั้นไม่มีผู้รู้ผู้เห็น ท่านได้เคยสนใจอ่านวิสุทธิมรรคบ้างหรือเปล่า ท่านเคยสนใจในคำว่า ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหิ ดีแล้วหรือว่ากินความเพียงไร หรือตัวท่านมีภูมิปัญญาเหนือพระคันถรจนาจารย์เหล่านั้น ขอจงใคร่ครวญเอาเอง

            ส่วนวาทะที่ว่าเลยเถิดไปถึงนิพพานนั้น ข้าพเจ้าจะขอพูดแต่โดยย่อ เพราะถ้าจะพูดกันกว้างขวางแล้ว จะเกินหน้ากระดาษหนังสือนี้ จะต้องเป็นอีกเล่มหนึ่งต่างหาก
24#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-5-20 20:26 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ท่านคงจะได้อ่านคำถวายวิสัชนาของพระเถรานุเถระ ๑๘ ความเห็น ที่พิมพ์แจกกันแพร่หลายอยู่แล้ว ในหนังสือนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชปุจฉาถึงเรื่อง "นิพพาน" ว่าคืออะไร พระเถรานุเถระ ๑๘ รูป ถวายความเห็นด้วยโวหารต่าง ๆ กัน แต่ในที่สุดมีรูปหนึ่งถวายวิสัชนาหลักแหลม โดยกล่าวว่า แปลคำว่านิพพานนั้นไม่ยาก ข้อยากอยู่ที่ ทำให้แจ้ง ท่านพูดทิ้งไว้แค่นี้เอง ขอให้เรามาคิดกันดูทีหรือ ทำให้แจ้ง หมายความว่ากระไร นี่ก็จะเห็นได้แล้วว่า เรื่องนิพพานนั้นเป็นของยากหรือง่าย คนซึ่งมีปัญญาอย่างสามัญจะพูดได้ไหม เราก็ต้องรู้ตัวดีว่าไม่สามารถ เพราะเป็นวิสัยของมรรคญาณ และการบำเพ็ญให้บรรลุมรรคญาณนั้นทำกันอย่างไรเรารู้ไหม ถ้าเราไม่รู้ จะแปลว่าคนอื่นก็ไม่รู้เหมือนกับเรากระนั้นหรือ สิ่งที่เราก็ไม่รู้ สมควรหรือที่เราจะยกวาทะกล่าวถึงผู้อื่น ในที่สุดข้าพเจ้าเห็นว่า ทางที่ดีที่สุดเราควรปฏิบัติตัวของเราเองให้รุดหน้าไปตามแนวปฏิบัติ ดีกว่าจะมามัววิจารณ์ผู้อื่น อย่าลืมคำว่า "สนฺทฏฺฐิโก อกาลิโก เอหิปสฺสิโก โอปนยิโก ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหิ" (สันทิฏฐิโก อะกาลิโก เอหิปัสสิโก โอปะนะยิโก ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ)

            การแสดงธรรมของหลวงพ่อวัดปากน้ำนั้น ตามที่ข้าพเจ้าได้ฟังมาอยู่ในเรื่องทาน ศีล ภาวนา นรก สวรรค์ นิพพาน แต่โดยมากหนักไปทางปรมัตถ์ เวลานี้กำลังแสดงพระอภิธรรมว่าด้วยมหาปัฏฐาน อนันตนัยเรียงลำดับบทมาติกา วันพระที่แล้วมาถึงบทอินทรียปัจจโยแล้ว

            ในที่สุดนี้ ขออานุภาพพระรัตนตรัย จงคุ้มครองท่านผู้ประพฤติธรรมทั้งหลาย ให้มีความสุขทั่วกัน เทอญ.

พระทิพย์ปริญญา

บ้านเลขที่ ๑๑๖ ถนนสุริวงค์ พระนคร

๑๓ กันยายน ๒๔๘๙
25#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-5-20 20:26 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
(พระนิพนธ์ของ สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ ๑๗ ต่อ)

                แม้ท่านได้รับสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร แต่ไม่มีใครเรียกชื่อนั้น เรียกหลวงพ่อเสมอมา บางคนก็ไม่ทราบว่าท่านมีสมณศักดิ์ เพราะภิกษุสามเณรในวัดและคนวัดก็เรียก "หลวงพ่อ" เสียหมด บางคนเรียกว่า "เจ้าคุณพ่อ"

                นอกจากท่านจะสร้างคนให้เป็นคนแล้ว เสนาสนะก็ได้จัดทำรุดหน้าไป แต่เพราะท่านฝักใฝ่ในด้านกรรมฐานเสียมาก การก่อสร้างปฏิสังขรณ์ก็ไม่ใคร่สนใจมากนัก ท่านพูดว่าสร้างคนนั้นสร้างยาก เรื่องเสนาสนะไม่ยาก ใครมีเงินก็สร้างได้ แต่ความสำคัญต้องสร้างคนก่อน

                ๑. กุฏิ ๒ แถว สร้างก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ ชั้นบนเป็นไม้ ชั้นล่างก่ออิฐถือปูน สร้างคู่กับโรงเรียน

                ๒. พ.ศ.๒๔๙๓ สร้างโรงเรียนปริยัติเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กสูง ๓ ชั้น ยาว ๒๙ วา ๒ ศอก กว้าง ๕ วา ๒ ศอก สิ้นเงินค่าก่อสร้างประมาณ ๒,๕๙๘,๑๑๐.๓๙ บาท (สองล้านห้าแสนเก้าหมื่นแปดพันหนึ่งร้อยสิบบาทสามสิบเก้าสตางค์)

                ๓. สร้างศาลาโรงฉันพอเหมาะแก่พระภิกษุสามเณร ๕๐๐ รูป ฉันภัตตาหารเช้า เพล เป็นเครื่องไม้มุงสังกะสี พื้นลาดปูนซีเมนต์        ภายในยกเป็นอาสนสงฆ์ มีช่องเดินในระหว่างได้ สิ้นค่าก่อสร้างประมาณ ๔๐๐,๐๐๐ บาทเศษ (สี่แสนบาทเศษ)

                ๔. สร้างกุฏิเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก เป็นตึก ๒ ชั้น พื้นฝ้าเพดานไม้สักทาสีขัดชันเล็ก มีห้องน้ำห้องส้วมและไฟฟ้า เป็นกุฏิทันสมัย ราคาก่อสร้างประมาณ ๘๐๐,๐๐๐ บาทเศษ (แปดแสนบาทเศษ)

                ๕. ก่อนมรณภาพสัก ๔-๖ เดือน ได้สร้างกุฏิอีกหลังหนึ่งสูง ๓ ชั้น เป็นตึกคอนกรีตเสริมเหล็กเช่นเดียวกัน มีเครื่องประกอบพร้อม ราคาก่อสร้าง ๓๒๗,๘๔๓.๓๐ บาท (สามแสนสองหมื่นเจ็ดพันแปดร้อยสี่สิบสามบาทสามสิบสตางค์)
26#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-5-20 20:27 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
สิ่งก่อสร้างเหล่านี้ไม่มีงบประมาณ กุฏิบางหลังไม่มีแปลน ค่าก่อสร้างทวีขึ้นแล้วแต่ช่างจะเสนอ แต่เมื่อเสร็จแล้วก็ได้ของประณีตไว้สำหรับวัด หลวงพ่อก็ไม่ว่าไร สร้างกุฏิเสร็จแล้วหลวงพ่อสดได้สั่งให้พระรูปอื่นอยู่ต่อไป ตัวท่านเองหาได้อยู่อาศัยไม่ เช่นกุฏิหลังใหม่ให้พระศรีวิสุทธิโมลี และพระครูปลัดณรงค์เข้าอยู่อาศัย ใคร ๆ จะอาราธนาให้ขึ้นกุฏิใหม่ก็ไม่ฟังเสียง ท่านเพิ่งไปอยู่เมื่อก่อนมรณภาพสัก ๓-๔ เดือน ที่จำไปนั้นเนื่องด้วยที่อยู่เดิมมีการก่อสร้างกุฏิหลังใหม่ใกล้ชิด ท่านไม่ได้ความสงบ จึงจำยอมมาพักที่กุฏิใหม่และมรณภาพที่กุฏินี้

                การสร้างคนนั้นเป็นอัธยาศัยที่ท่านสนใจ ภิกษุสามเณรรูปใดมีสติปัญญาสามารถ เที่ยวนำฝากสำนักโน้นสำนักนี้ให้ได้รับการศึกษาชั้นดีต่อไป และเพื่อรับเอาขนบธรรมเนียมของสำนักนั้นมาปฏิบัติพอเหมาะสม เป็นการให้สังคมแก่ศิษย์เป็นอย่างดี วางแนวทางให้มีการติดต่อกัน ให้มีสัมพันธ์ต่อกัน ให้แสดงความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แม้ในคณะธรรมยุตท่านก็ส่งเสริมให้ได้บรรพชาอุปสมบท คือศิษย์สมัครใจก็อนุญาต ไม่มีความรังเกียจใครผู้ใด ท่านพูดว่า เรามองกันในแง่ดีจะมีสุขใจ เพียงเท่านี้ก็พอใจแล้ว สำนักที่หลวงพ่อสนใจเป็นพิเศษคือวัดเบญจมบพิตร จะทำอะไรก็ต้องอ้างสมเด็จสังฆนายกก่อน ต้องการอาราธนาในการกุศลเสมอ งานเล็กน้อยก็ต้องต้านทานไว้ บางคราวยอมสงบให้ด้วยความไม่พอใจก็มีเหมือนกัน และสมเด็จสังฆนายกได้เมตตาแก่หลวงพ่อสดวัดปากน้ำอย่างดีเสมอมา

ความเจริญในด้านสมณศักดิ์

                ยุคก่อน หลวงพ่อสดไม่ได้รับยกย่องมากนัก ท่านมาอยู่วัดปากน้ำยุคสมเด็จพระวันรัต ติสฺสทตฺตเถร วัดพระเชตุพน เป็นเจ้าคณะอำเภอภาษีเจริญ ต่อมา พระราชสุธี (พร้อม ป.๖) วัดสุทัศน์เทพวราราม ลาสิกขาแล้วต่อมาพระสุธรรมมุนี วัดพระเชตุพน ในสามยุคนี้ พระครูสมุห์สด ก็คงได้สมณศักดิ์เป็นพระครูสมณธรรมสมาทานเท่านั้น

                  เมื่อคณะสงฆ์ปกครองโดยพระราชบัญญัติปกครองคณะสงฆ์ พ.ศ.๒๔๘๔ ตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอตกมาอยู่ในปกครองของเจ้าคุณพระวิเชียรกวี (ฉัตร ป.๕) วัดหนัง อำเภอบางขุนเทียน จังหวัดธนบุรี หลวงพ่อก็ยังคงเป็นพระครูตามเดิม ที่เป็นดังนั้นเพราะการปกครองของหลวงพ่ออยู่ในวงแคบ คือเป็นเพียงเจ้าอาวาสพระอารามหลวงตำแหน่งเดียว
27#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-5-20 20:27 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
อันความจริงหลวงพ่อสดก็ไม่ได้กระตือรือร้นหรือเที่ยววิ่งเต้นและก็ไม่สนใจในเรื่องเช่นนั้น ท่านสนใจอย่างเดียว คือต้องการให้ภิกษุสามเณรมีปัจจัย ๔ บริบูรณ์ เพียงเท่านี้ก็พอใจ

                เรื่องที่คณะวัดปากน้ำเดือดร้อนใจอยู่อย่างเดียวในสมัยโน้น คือคณะวัดปากน้ำเห็นต้องกันว่า หลวงพ่อที่เคารพของตนมีคนนับถือมาก กุลบุตรสมัครใจมาบวชปีละหลาย ๆ สิบคน ทั้งหลวงพ่อก็มีภูมิพอจะอบรมให้เกิดความรู้ในการปฏิบัติไม่ยิ่งหย่อนกว่าวัดทั้งหลาย แต่ไม่ได้รับแต่งตั้งเป็นอุปัชฌายะ ท่านครองวัดมาแต่ พ.ศ.๒๔๕๙ มาได้ตำแหน่งอุปัชฌายะเมื่อ พ.ศ.๒๔๙๐ นับเป็นเวลา ๓๐ ปีเศษ จึงได้รับ อันความจริงวัดปากน้ำเป็นพระอารามหลวงย่อมมีสิทธิพิเศษในการได้รับแต่งตั้งเป็นอุปัชฌายะ แม้ในยุคใหม่ก็มีกฎหมายเปิดโอกาสถวายเพื่อเกียรติพระอารามหลวง

                เมื่อพิจารณาอัธยาศัย หลวงพ่อสด วัดปากน้ำ หนักในกตัญญูกตเวทิตาธรรม เมื่อท่านมาปกครองวัดปากน้ำ ได้รับโยมหญิงผู้ชรามาไว้ สร้างที่อยู่อาศัยและอุปถัมภ์ด้วยเครื่องเลี้ยงชีวิตเป็นอย่างดีจนตลอดชีวิตของโยม แม้คนอื่นก็เหมือนกันท่านย่อมอนุเคราะห์ตามฐานะ

                เมื่อสมเด็จพระวันรัต ติสฺสทตฺตเถร อาพาธเป็นอวสานแห่งชีวิต หลวงพ่อวัดปากน้ำได้ปฏิการะเป็นอย่างดี โดยจัดอาหารและรังนกจากวัดปากน้ำมาถวายทุกวัน ท่านตั้งงบประมาณไว้วันละ ๔๐ บาท พอได้เวลา ๐๔.๐๐ น. ให้คนลงเรือจ้างขึ้นปากคลองตลาด พอถึงวัดพระเชตุพนได้อรุณพอดี สมัยนั้น สะพานพุทธฯ ชำรุดเพราะภัยสงคราม ถนนฝั่งธนบุรีถึงตลาดพลูยังไม่เรียบร้อย รถโดยสารยังไม่มี การคมนาคมต้องใช้เรือจ้าง หลวงพ่อเพียรปฏิบัติฉลองพระคุณดังนี้เป็นเวลาหลายเดือน เมื่อผู้นำอาหารมาถวายกลับไปแล้วต้องรายงานให้หลวงพ่อทราบทุกวัน

                การทำคิลานุปัฏฐากเป็นอวสานปฏิการะนี้ น่าจะให้ผลแก่หลวงพ่อมากอยู่ เมื่อเจ้าคุณพระพิมลธรรม ฐานทตฺต วัดมหาธาตุ หมั่นมาเยี่ยมสมเด็จพระวันรัต ติสฺสทตฺตเถร ผู้กำลังอาพาธหนัก วันหนึ่งเป็นเวลาค่ำแล้ว เจ้าคุณสมเด็จพระวันรัต ได้ขอร้องให้ช่วยแต่งตั้งพระครูสมณธรรมสมาทานวัดปากน้ำเป็นอุปัชฌายะด้วย เจ้าคุณพระพิมลธรรมยินดีและรับรองว่าจะจัดการให้ตามประสงค์ และต่อมาไม่ช้าตราตั้งเป็นอุปัชฌายะ ก็ตกถึงพระครูสมณธรรมสมาทาน คือหลวงพ่อสด วัดปากน้ำ เมื่อได้รับตราตั้งเป็นพระอุปัชฌายะแล้ว คณะวัดปากน้ำชื่นชมยินดี กุลบุตรพากันมาบรรพชาอุปสมบทในสำนักวัดปากน้ำทวีขึ้น
28#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-5-20 20:28 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
อันเจ้าคุณพิมลธรรม ฐานทตฺต นั้น ท่านชอบพอกันมานานในส่วนตัว และพอใจในการปฏิบัติด้วย ท่านเคยพูดว่าท่านพระครูวัดปากน้ำ ถึงมีข่าวอกุศลอย่างไรก็ยังดีมีคนมาขอปฏิบัติธรรมเจริญพระกัมมัฏฐาน ทุกวัดน่าจะทำตามบ้าง

                หลวงพ่อสด วัดปากน้ำได้รับสมณสักดิ์เป็นพระครูสมณธรรมสมาทานแต่ พ.ศ.๒๔๖๔ นับแต่นั้นมาเป็นเวลา ๒๘ ปี จึงได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะสามัญที่ พระภาวนาโกศลเถระ ถือพัดยอดพื้นขาวอันเป็นตำแหน่งวิปัสสนาธุระ พ.ศ. ๒๔๙๒ การได้สมณศักดิ์ครั้งนี้ นัยว่าเป็นด้วยคณะสังฆมนตรีได้ทราบเกียรติคุณของท่านอยู่บ้าง จึงได้รับคะแนนส่งเสริมเป็นอันดียิ่ง พระพิมลธรรม (อาสภเถร) วัดมหาธาตุด้วยแล้วส่งเสริมเต็มที่ และได้พยายามส่งเสริมมาทุกระยะกาล เพราะพระพิมลธรรมพอใจในสุปฏิบัติของหลวงพ่อวัดปากน้ำ

                พ.ศ.๒๔๙๔ ได้รับพระราชทานพัดยศเทียบเปรียญ

                พ.ศ.๒๔๙๘ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นราชาคณะชั้นราช มีราชทินนามว่า "พระมงคลราชมุนี"

                พ.ศ.๒๕๐๐ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ มีพระราชทินนามว่า "พระมงคลเทพมุนี"

                เมื่อได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระมงคลราชมุนีแล้ว ต่อมาท่านได้อาพาธเกี่ยวแก่ความดันโลหิตสูง เริ่มแต่เดือนมีนาคม ๒๔๙๙ เป็นต้นมา มีอาการขึ้น ๆ ลง ๆ พลเรือจัตวา เรียง วิภัตติภูมิประเทศ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลทหารเรือ แพทย์ประจำ ได้มาเยี่ยมอาการทุกเช้าเย็นและทำการพยาบาลด้วยตนเอง เมื่อเวลามาเยี่ยมตรวจอาการของโรคใดที่แพทย์สงสัย ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญแต่ละสาขามาตรวจรักษา เช่น นายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางปอด ทางหัวใจ เป็นต้น โดยที่สุดได้เชิญ คุณพระอัพภันตริกาพาธ ผู้เชี่ยวชาญชั้นเยี่ยมของประเทศไทยมาตรวจและแนะนำ เพราะท่านผู้นี้เป็นอาจารย์ของนายแพทย์ทั้งหมดด้วย โรคนั้นมีแต่ทรงกับทรุด บางคราวก็ทำให้มีความหวังบ้าง
29#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-5-20 20:28 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
การได้รับสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะที่ พระมงคลเทพมุนี ก็อยู่ในระหว่างอาพาธ อาการของโรคเริ่มจะแสดงว่าหมดหวัง แต่กำลังใจของท่านยังแข็งแกร่ง พอเข้าวังรับพระราชทานสัญญาบัตรได้ คณะวัดปากน้ำก็มีหวังอยู่ว่าคงจะหายจากโรคสักวันหนึ่งนั้นเป็นแต่เพียงความหวัง ตั้งแต่เริ่มอาพาธจนถึงมรณภาพเป็นเวลา ๒ ปีเศษ หลวงพ่อไม่ได้แสดงอาการรันทดใจใด ๆ เลย ต้อนรับแขกด้วยอาการยิ้มแย้มเสมอ เวลาจะลุกจะนั่งไม่พอใจให้ใครไปช่วยเหลือ ท่านพอใจทำเอง ผู้อื่นคอยตามเพื่อช่วยเหลือเวลาท่านเซไปเท่านั้น

                นอกจากโรคดังกล่าวแล้ว ยังมีโรคไส้เลื่อนกำเริบขึ้นอีก ถึงกับต้องไปทำการผ่าตัดที่โรงพยาบาลศิริราชในระหว่างพรรษา แม้กระนั้นท่านก็ไม่ยอมขาดพรรษา ดิ้นรนมารับอรุณที่วัดปากน้ำจนได้ และได้มาอยู่โรงพยาบาลสงฆ์ ๒ ครั้ง ได้รับการพยาบาลเป็นอย่างดีทุกแห่ง

                เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๐ อาการของโรคกำเริบมากขึ้น ท่านก็คาดว่าจะมรณภาพ จึงได้จัดการฌาปณกิจศพโยมหญิงของท่าน เพื่อสนองคุณมารดาในอวสาน เวลานั้นอาการก็หนักมากอยู่แล้ว แต่ด้วยกำลังใจอันเข้มแข็ง จึงพยายามมาบำเพ็ญกุศลได้จนตลอดพิธี

                เวลานับเป็นปี ๆ ที่กำลังอาพาธ ท่านได้กำจัดความประมาททุกวิถีทาง ทุกเวลาเย็นได้เรียกพระไปทำกัมมัฏฐานใกล้ ๆ ท่านเป็นเวลา ๑ ชั่วโมงบ้าง ๒ ชั่วโมงบ้าง หรือเวลาอื่นก็มีเช่นนั้น เวลากลางคืนก็สั่งงานให้พวกปฏิบัติกระทำกิจกัมมัฏฐาน จิตใจของท่านผูกพันอยู่อย่างนี้ ใครจะทักท้วงประการใด ท่านเพียงแต่ฟัง แต่ไม่รับปฏิบัติตามคำทักท้วงนั้น

                เมื่ออาพาธครอบงำท่านได้ ๑ ปีเศษแล้ว วันหนึ่งท่านพูดกับผู้เขียนเรื่องนี้ว่า เจ็บคราวนี้ไม่หาย ไม่มียารักษา เพราะยาที่ฉันมีอยู่นั้นมันไม่ถึงโรค ท่านเปรียบว่ายาที่ฉันนั้นเหมือนมีแผ่นหินมารองรับกั้นไว้ ไม่ให้ยาซึมไปกำจัดโรคได้ ท่านบอกว่ากรรมมันบังไว้ เป็นเรื่องแก้ไม่ได้ ท่านพูดแล้วก็ยิ้มด้วยอารมณ์เย็น

                ตั้งแต่อาพาธจนมรณภาพ เจ้าคุณพระมงคลเทพมุนี ไม่มีอาการครวญครางแสดงอาการเจ็บปวดเว้นแต่ไม่รู้สึกตัว เมื่อได้สติก็กำจัดได้ ไม่จู้จี้บ่นเอาแก่ใคร จะแสดงความไม่พอใจบ้างก็เฉพาะผู้ไม่มาปฏิบัติธรรมกับท่าน การห่วงใยใด ๆ ไม่แสดงออก วางอารมณ์เฉย สิ่งใดต้องการ ถ้ามีก็เอา ถ้าไม่มีก็นิ่งเฉยและยิ้มรับความไม่มีนั้นด้วย
30#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-5-20 20:28 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
เรื่องอาหารการขบฉันระหว่างอาพาธ ใครทำถวายอย่างไรฉันอย่างนั้น ที่ถูกปากก็ฉันมาก สิ่งใดที่มีผู้ห้ามก็เลิกฉันสิ่งนั้น แม้จะชอบก็ไม่พยายามฝืนคำห้ามของบุคคล อันผู้ที่ห้ามนั้นเกิดขัดใจกับผู้เขียนก็มีหลายครั้ง

                เป็นอันว่า หลวงพ่อสด วัดปากน้ำได้ทำพระกัมมัฏฐานและควบคุมการปฏิบัติด้วยตนเองตั้งแต่ต้นจนชีวิตเป็นอวสานสมัย เวลาป่วยไข้ก็ควบคุมและสนใจในการปฏิบัติ ท่านให้ภิกษุมานั่งสมาธิใกล้ ๆ ท่านทุกวัน เป็นงานที่หลวงพ่อสดห่วงมาก และสั่งไว้ว่า งานที่เคยทำอย่างไรอย่าให้ทิ้ง จงพยายามกระทำไป และจงเลี้ยงภิกษุสามเณรดังเคยทำมา.

ธรรมกาย

                การปฏิบัติธรรมตามหลักพระกัมมัฏฐาน อันเป็นปฏิปทาสูงสุดในพระพุทธศาสนา ถ้าการปฏิบัตินั้นเข้าขั้นปรมัตถ์ ผู้ปฏิบัติก็ย่อมเข้าถึงอมตสุข แม้ยังไม่เข้าขั้นปรมัตถ์ก็ยังอำนวยผลแก่ผู้ปฏิบัติให้มีกาย วาจา ใจ สงบระงับ อันผู้ปฏิบัติเข้าถึงธรรมย่อมมีกาย วาจา ใจ ไกลจาก โลภ โกรธ หลง เป็นบุคคลคงที่ต่อหลักธรรมไม่ก่อกรรมทำเวร

                หลวงพ่อสด วัดปากน้ำ ปฏิบัติเพื่อกำกัดโทษเช่นนี้ มีปฏิปทาเดินสายกลาง ไม่ห่วงในลาภสักการะเพื่อตน แต่ขวนขวายเพื่อส่วนรวม กิจการนิมนต์ทางไกลถึงกับค้างคืนแล้วท่านรับนิมนต์น้อยนัก โดยท่านเคยแจ้งว่าเสียเวลาอบรมผู้ปฏิบัติ ท่านมีความมุ่งหมายใช้ความเพียรติดต่อกันทุกวัน ชีวิตไม่พอแก่การปฏิบัติ จึงมีบางท่านตำหนิหลวงพ่อว่าอวดดี อันความจริงคนเรานั้นถ้ามีดีจะอวดก็ควรเอาออกแสดงได้ เว้นไว้แต่ไม่มีดีจะอวดใครแล้วเอาเท็จมาอวดอ้างว่าเป็นของดีลวงผู้อื่นให้หลงเข้าใจผิด อันหลวงพ่อไม่ใคร่รับนิมนต์ใครนั้นเป็นปณิธานในใจของท่านเอง ลงได้ตั้งใจแล้วก็ต้องทำตามตั้งใจเสมอมา มิใช่ว่าเป็นผู้หมดแล้วจากความปรารถนา ยังอยู่ในกลุ่มแห่งความปรารถนา แต่ท่านไม่หลงจนประทุษร้ายให้เสียธรรมปฏิบัติ

                ธรรมานุภาพให้ผลแก่หลวงพ่อทันตาเห็น ต้องการโรงเรียนประหนึ่งความฝัน ธรรมานุภาพก็ดลบันดาลให้สมประสงค์กลายเป็นความจริง ต้องการกุฏิ โรงฉันและการเลี้ยงพระวันละหลาย ๆ ร้อยรูปก็ได้สมความปรารถนา ต้องการให้มีผู้ปฏิบัติมาก ๆ นักปฏิบัติก็ติดตามมา ปัจจัยที่จ่ายเรื่องอาหาร เรื่องกุฏิ โรงเรียนในยุคของท่าน มีจำนวนมิใช่ล้านเดียว ถ้าคิดแต่ค่าอาหารอย่างหยาบ ๆ วันละ ๑,๐๐๐ บาท (หนึ่งพันบาท ปีหนึ่งเป็นจำนวนเงิน ๓๖๐,๐๐๐ บาท (สามแสนหกหมื่นบาท) สิบปีเป็นเงินเท่าไร นี้คิดอย่างต่ำ ถ้าหลายสิบปีจะเป็นเงินเท่าไร หลวงพ่อท่านพูดว่า เราเป็นลูกพระพุทธเจ้า เมื่อกาย วาจา ใจ บริสุทธิ์แล้ว ย่อมมีสิทธิ์ใช้มรดกของพระพุทธเจ้าได้ และใช้ได้จนตลอดชาติ ถ้าไม่บริสุทธิ์แล้ว แม้จะเอาไปใช้ก็ไม่ถาวรเท่าไร
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้