ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

~ หลวงปู่หลุย จันทสาโร วัดถ้ำผาบิ้ง ~

[คัดลอกลิงก์]
11#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 12:42 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
พบท่านพระอาจารย์บุญ


รูปปั้นท่านพระอาจารย์บุญ พระอาจารย์องค์แรกของหลวงปู่
ปั้นตามคำบอกเล่าของชาวบ้านในยุคนั้น


พักภาวนาอยู่ ณ พระธาตุพนมพอสมควร ท่านก็ออกเดินทางเตรียมกลับจังหวัดเลย ผ่านอำเภอนาแก จังหวัดสกลนคร อำเภอพรรณานิคม วาริชภูมิ สว่างแดนดิน หนองหาน จังหวัดอุดรธานี ปากดง

มาถึงอำเภอหนองวัวซอ ได้ยินกิตติศัพท์ว่ามีพระอาจารย์ที่มีชื่อทางธุดงคกัมมัฏฐานองค์หนึ่ง ได้พาชาวบ้านอพยพมาจากจังหวัดอุบลราชธานี มาตั้งบ้านเรือนและสร้างวัดอยู่ที่หนองวัวซอ มีผู้คนพากันไปฟังธรรมจากท่านกันอย่างล้นหลาม ท่านได้ยินคำว่า "กัมมัฏฐาน" ก็สนใจ เลยแวะเข้าไปดูลาดเลากับเขาบ้าง

ปรากฏว่า การแวะเข้าไปดูลาดเลากับเขาบ้าง ในครั้งนั้น ทำให้ท่านอยู่ต่อมากับพระธุดงคกัมมัฏฐานรูปนั้นไปอีกหลายเดือน จนถึงเวลาเดือนเมษายน ใกล้จะเกณฑ์ทหาร จึงลาจากท่านไป

เป็นวาระแรกที่ท่านได้พบ ท่านพระอาจารย์บุญ ปัญญาวุโธ.....

ท่านเล่าว่า ได้เห็นศีลาจารานุวัตรและข้อปฏิบัติ ได้ฟังธรรมเทศนาของท่านพระอาจารย์บุญแล้วก็เลื่อมใสมาก ขอถวายตัวเป็นศิษย์ ตามแต่ท่านจะเมตตาสั่งสอน แต่ก็มีปัญหา ด้วยการบวชของท่านนั้นยังเป็นมหานิกายอยู่ ท่านพระอาจารย์บุญจึงแนะนำว่า หากไม่ได้รับการเกณฑ์ทหารแล้วก็ให้ขอญัตติเป็นธรรมยุตเสียที่จังหวัดเลย หลวงปู่จึงได้ไปขอญัตติจตุตถกรรมใหม่เป็นพระธรรมยุตที่ วัดศรีสะอาด อำเภอเมืองจังหวัดเลย โดยมี ท่านพระคูรอดิสัยคุณาธาร (อ่ำ อรโก) เป็นพระอุปัชฌาย์

พบท่านพระอาจารย์เสาร์ และท่านพระอาจารย์มั่น

ท่านได้อยู่กับพระอุปัชฌาย์พอสมควร แล้วก็ได้เดินทางจากจังหวัดเลยกลับไปอยู่กับท่านพระอาจารย์บุญ ที่อำเภอหนองวัวซออีก และได้ติดตามท่านพระอาจารย์บุญไปยังวัดพระบาทบัวบก ณ ที่นี้เองที่หลวงปู่ได้พบกับ ท่านพระอาจารย์เสาร์ กนตสีโล และได้อยู่ปฏิบัติรับฟังโอวาทจากท่านพระอาจารย์เสาร์ โดยมีท่านพระอาจารย์บุญเป็นพระพี่เลี้ยงผู้ชี้แนะในข้อที่ท่านไม่เข้าใจอีกชั้นหนึ่งด้วย
12#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 12:43 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ากนั้น ท่านพระอาจารย์บุญก็ได้พาหมู่คณะศิษย์พร้อมด้วยหลวงปู่ไปกราบนมัสการ ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตมหาเถระ ที่ท่าบ่อ อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย คณะท่านพระอาจารย์บุญได้อยู่อบรมรับฟังโอวาทและฝึกปฏิบัติจากท่านพระอาจารย์มั่น จนกระทั่งจวนจะเข้าพรรษา จึงได้พากันย้อนกลับมาจำพรรษาที่วัดพระบาทบัวบก

หลวงปู่นับหนึ่ง ๓ ครั้ง

ในพรรษานี้ การภาวนาของหลวงปู่ก็ยังมีอุปสรรคเกิดขึ้น คือเมื่อภาวนาจิตร่วมลงแล้ว เกิดอาการสะดุ้ง จิตถอนขึ้นมาเองโดยไม่ได้กำหนด บางครั้งก็ไม่มีการเป็นไป เกิดการขัดข้องอยู่ในจิตเสมอ จึงได้นำความไปกราบเรียนถามท่านพระอาจารย์บุญ ก็ได้รับคำแนะนำให้ทำญัตติจตุตถกรรมใหม่ เพราะสงสัยว่าการญัตติครั้งที่แล้วคงจะไม่ถูกต้องนัก หลวงปู่ก็ได้ปฏิบัติตามคำแนะนำ โดยไปทำพิธีญัตติจตุตถกรรมใหม่ ที่วัดโพธิสมภรณ์ ตำบลหมากแข้ง อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานีเมื่อวันที่ ๑๔ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๖๘ เวลา ๑๓.๐๘ น. โดยมี ท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล) แต่เมื่อครั้งเป็น ที่ พระครูสังฆวุฒิกร เป็นพระอุปัชฌาย์ และท่านพระอาจารย์บุญ ปัญญาวุโธ เป็นพระกรรมวาจาจารย์

หลวงปู่เล่าขัน ๆ ว่าท่านนับพรรษาหนึ่ง อยู่ถึง ๓ ครั้ง "หนึ่ง” ครั้งแรกเป็นพระมหานิกาย "หนึ่ง" ครั้งที่สอง เมื่อญัตติเป็นธรรมยุตครั้งแรก พ.ศ. ๒๔๖๗ "หนึ่ง" ครั้งที่สาม เมื่อญัตติเป็นธรรมยุตครั้งที่สอง พ.ศ. ๒๔๖๘

หลวงปู่นับ “หนึ่ง” ๓ ครั้ง ด้วยประการฉะนี้

http://www.dharma-gateway.com/mo ... ouis-hist-04-01.htm
13#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 12:43 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
พรรษาที่ ๑-๖ พ.ศ. ๒๔๖๘-๒๔๗๓

จำพรรษาอยู่กับท่านพระอาจารย์บุญ ปัญญาวุโธ

พ.ศ. ๒๔๖๘ จำพรรษา ณ วัดพระบาทบัวบก อ. บ้านผือ จ. อุดรธานี

พ.ศ. ๒๔๖๙ – ๒๔๗๓ จำพรรษา ณ วัดป่าหนองวัวซอ อ.หนองวัวซอ จ. อุดรธานี

เสร็จจากการทำพิธีญัตติจตุตถกรรมใหม่แล้ว ท่านก็กลับมาจำพรรษาร่วมกับท่านพระอาจารย์บุญ ที่วัดพระบาทบัวบก อ.บ้านผือ จ. อุดรธานี ในพรรษาแรกปี พ.ศ. ๒๔๖๘ และต่อมาพรรษาหลัง ๆ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๖๙ ก็ได้มาอยู่ที่วัดป่าหนองวัวซอตลอดเวลา ๕ พรรษา


พระอุโบสถวัดป่าหนองวัวซอ

สำหรับวัดป่าหนองวัวซอนั้น หลวงปู่เล่าว่า เป็นวัดที่ท่านพระอาจารย์บุญได้พาชาวบ้านมาจากจังหวัดอุบลราชธานี อพยพโยกย้ายมาตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนที่อำเภอหนองวัวซอ แล้วก็จัดตั้งวัดขึ้นที่บ้านนาเหล่า ปัจจุบันมีชื่อว่า "วัดบุญญานุสรณ์” เป็นชื่อที่ตั้งเป็นอนุสรณ์สำหรับท่านพระอาจารย์บุญ ในสมัยนั้น บริเวณวัดป่าหนองวัวซอ อุดมด้วยสัตว์ป่านานาชนิด ทั้งสัตว์เล็กอย่างกระต่าย ไก่ป่า นก ลิง ค่าง บ่าง ชะนีและทั้งสัตว์ใหญ่อย่างเสือ กระทิง เม่น หมี และหมูป่า โดยเฉพาะจ้าวป่าใหญ่อย่างช้างป่า จะผ่านมาในเขตวัดเป็นประจำ สำหรับเสือนั้นมีมากมาย ได้ยินเสียงมันร้อง"อ่าว...อือ อ่า...ววว อือ” แต่ไกลแทบทุกคืน สงัดวิเวกมาก บริเวณวัดก็มีสภาพเป็นป่าจริง ๆ บริบูรณ์ด้วยต้นไม้ใหญ่สูงเสียดฟ้ามืดครึ้ม มีเถาวัลย์รกเลี้ยวคลุมหนาแน่น หนามไผ่หนามหวายปกคลุมแน่นไปหมด เป็นที่เหมาะแก่การเจริญสมณธรรมบำเพ็ญเพียรภาวนาอย่างยิ่ง

ท่านเล่าว่า หนองวัวซอสมัยนั้นบริบูรณ์ด้วยช้างป่ามากมายเหลือเกิน ใกล้วัดมีต้นมะขามป้อมป่ามาก พระเณรได้ฉันเป็นยาปนมัตถ์ แต่ขณะเดียวกัน พวกสัตว์ป่าก็เยี่ยมกรายเข้ามาเพื่อจะอาศัยลูกมะขามป้อมเป็นอาหารมากเหมือนกัน จึงมีหลายครั้งที่ขณะซึ่งบรรดาเณรกำลังเก็บมะขามป้อมร่วงตามโคนต้น มักจะมีพวกเก้ง กวาง โผล่หน้าเยี่ยมเข้ามาหาอาหารบ้าง ต่างฝ่ายต่างก็จะผงะถอยหลัง ฝ่ายเณรก็ตกใจ ฝ่ายกวางก็ตกใจ กระโดดหนีไป มีแม้กระทั่ง กระทิง หมูป่า เม่น ทั้งมนุษย์และสัตว์ต่างก็อาศัยผืนแผ่นดินในโลกเป็นที่อยู่อาศัยเช่นเดียวกัน ไม่มีการปักป้ายกั้นเขตแดนไปเลยว่า นั่นเป็นเขตของมนุษย์ นี่คือเขตของสัตว์ บริเวณแถบนั้นยังเป็นป่า ไม่มีที่จะสำแดงว่าเป็นเมือง มีแต่พระธุดงคกัมมัฏฐานที่ไปพำนักอยู่ตามแคร่ตามกุฏิเล็ก ๆหรือใต้รุกขมูลร่มไม้เท่านั้น กลางคืนจะได้ยินเสียงนกหรือลิงร้องกรีดในเวลากลางคืน พระ ป่า ก็อยู่ในป่า สัตว์ป่าก็เป็นของ ป่า กลมกลืนกันไป

ท่านพระอาจารย์บุญอาจารย์ของท่านนั้น เป็นสัทธิวิหาริกของ ท่านเทวธัมมี (ม้าว) ท่านอธิบายว่า ท่านเทวธัมมี (ม้าว) พระอุปัชฌาย์ของท่านพระอาจารย์บุญนั้นเป็นสัทธิวิหาริกของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะยังทรงผนวชอยู่ ท่านเทวธัมมี (ม้าว) เป็นพระเถราจารย์องค์หนึ่งที่เป็นผู้นำข้อวัตรปฏิบัติระเบียบวินัยและจารีตประเพณีดีงามของสงฆ์ฝ่ายธรรมยุตให้เจริญรุ่งเรืองอยู่ในภาคอีสาน ท่านพระอาจารย์บุญเป็นพระเถราจารย์ฝ่ายวิปัสสนาธุระที่มีชื่อมากองค์หนึ่ง ท่านเล่าว่าสมัยนั้นครูบาอาจารย์ฝ่ายกัมมัฏฐานซึ่งเป็นที่เคารพยกย่องมีอยู่ไม่กี่องค์ อาทิเช่นท่านพระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ท่านพระอาจารย์สุวรรณ สุจิณโณ ท่านพระอาจารย์พา และ ท่านพระอาจารย์บุญ พระอาจารย์องค์แรกของท่าน

ความจริงระหว่างที่หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ได้เรียบเรียงประวัติ วัดพระบาทคอแก้งที่อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย หลวงปู่เทสก์ท่านได้เล่าในตอนหนึ่งว่า สมัยที่ท่านอายุ ๑๒ ปี ยังเป็นเด็ก พระอาจารย์ของท่านเคยพาท่านไปเที่ยวที่พระบาทคอแก้งก็ได้พบท่านพระอาจารย์บุญพาลูกศิษย์คณะใหญ่ ๘ - ๙ องค์ มาบำเพ็ญเพียรที่พระบาทคอแก้ง แสดงว่า ท่านพระอาจารย์บุญเป็นคณาจารย์ที่มีชื่อทางด้านวิปัสสนาธุระมีลูกศิษย์ลูกหามากมายมาแต่ครั้งหลวงปู่เทสก์ยังเป็นเด็กอายุ ๑๒ ปีแล้ว
14#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 12:44 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
หลวงปู่เป็นผู้ที่ละเอียดลออมาก ท่านพบใคร ท่านก็จะจดบันทึกถึงประวัติ และโวหารธรรมที่ได้ฟังมาอย่างมาก สำหรับท่านพระอาจารย์บุญนี้ หลวงปู่ได้บันทึกประวัติไว้ว่า

“ท่านอาจารย์บุญเกิดเมื่อปี ๒๔๒๙ ที่บ้านกอก ตำบลหนองไข่นก อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี มารดาของท่านซื่อแม่อุ่น ท่านบวชปีพ.ศ. ๒๔๔๙ โดยมีท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ สิริจันโท (จันทร์) เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้ศึกษาธรรมและปฏิบัติธรรมอยู่กับท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ เป็นเวลา ๕ พรรษา จึงได้ออกปฏิบัติธรรมตามอัธยาศัย ท่านชอบศึกษาเล่าเรียนและชอบปฏิบัติ แต่ไม่ค่อยชอบสอนเท่าไรนัก”

หลวงปู่ได้บันทึกไว้อีกว่า

“เมื่อสมัยท่านพระอาจารย์บุญอยู่ถ้ำบัวบก ท่านนั่งอยู่ภายในถ้ำมืด ๆ ก็มีแสงสว่างเกิดขึ้น แลเห็นสว่างไปทั้งถ้ำ ความมืดนั่นหายไปหมดท่านเคยมีประสบการณ์งูอยู่ในถ้ำข้างบน ก็ต่างออกเข้าหากินตามภาษาของมัน มิได้สนใจพระ บางครั้งท่านกางกลดอยู่ก็มีตัวเหม็นเข้าไปอยู่ในมุ้งคอยหยอกท่านเรื่อย ๆ”

หลวงปู่ได้บันทึกต่อไปอีกว่า

“ท่านกล้าหาญ พูดเรื่องเสือที่ไปภาวนาอยู่บนเขากับท่านอาจารย์สีทา ท่านอาจารย์มั่นได้พิจารณาแล้วว่านิสัยพระอนุรุทธ ท่านอาจารย์บุญก็ว่าท่านอาจารย์มั่นเป็นนิสัยพระกัสสปะ นิสัยท่านอาจารย์บุญชอบสงบเสงี่ยมไม่โลดโผน พูดช้า ๆ ลึก ๆ เสียงน้อย รักษาสันโดษยิ่ง รักษากิริยามารยาทรูปสวยมาก มหาชนติดท่าน เป็นผู้แตกฉานในทางปริยัติพอสมควร เป็นนายช่างแก้นาฬิกาเครื่องกลทกอย่าง เคยเป็นนักเรียนโรงเรียนมหาดเล็กหลวง จบเพียงแค่ชั้นปีที่ ๒ ก็ออกไป แล้วไปบวช ท่านสั่งสอนศิษย์ตามวาสนา ท่านอาจารย์มั่นว่า ท่านบุญเอาตัวรอดไปได้แต่ลูกศิษย์ไม่ได้นิสัย ท่านหลุยอย่าเอาอย่าง ท่านบุญเป็นวัณโรคต้องเดินจงกรมให้เก่ง ไม่งั้นชีวิตจะสั้น เราชอบมารยาทท่าน แต่จิตนั้นเราชอบท่านอาจารย์มั่น ท่านอาจารย์บุญบอกว่า ที่ถ้ำบัวบกนั้นรุกขเทพมาก ใครทำผิดแล้วมักเกิดวิบัติ”

หลวงปู่เล่าเพิ่มเติมอีกว่า

“ท่านพระอาจารย์บุญนั้นหมดสิ้นอาสวกิเลส ณ ถ้ำแห่งหนึ่งในจังหวัดอุดรธานี ท่านรูปร่างงาม ขาว สูงใหญ่ และกิริยานิ่มนวล "เดินตามฟากไม่ดังเลย” เหมือนกิริยาของแมว ได้พาหลวงปู่เที่ยววิเวกไปตามภูเขาต่าง ๆ ในเขตภูพาน ซึ่งอุดมด้วยถ้ำ เงื้อมหินมากมาย รวมทั้งที่พระบาทคอแก้ง อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคายด้วย ระหว่างที่อยู่ที่วัดป่าหนองวัวซอ ก็พากลับไปวิเวกที่วัดพระบาทบัวบก อำเภอบ้านผือซึ่งท่านได้พบท่านพระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล เป็นคำรบแรก ณ ที่นั้นการอยู่กับท่านพระอาจารย์บุญนี้ ทำให้หลวงปู่สามารถเรียนรู้วิธีการปฎิบัติอุปัฎฐากครูบาอาจารย์ผู้ใหญ่อย่างคล่องแคล่วว่องไว
15#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 12:44 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
กิจวัตรต่อครูบาอาจารย์

สิ่งทีท่านจำได้ไม่ลืม คือ หลักการที่พระอาจารย์บุญได้สอนไว้ว่าเป็นพระเล็กเณรน้อย ได้โอกาสมาอยู่ด้วยเพื่อจะเรียนรู้จากพระผู้ใหญ่ ก็ต้องหัดจำข้อวัตรปฏิบัติให้ได้ หลักง่าย ๆ ๔ อย่าง ควรจำให้ขึ้นใจ คือ

๑. ต้องฉันหลังอาจารย์

๒. ต้องฉันให้เสร็จก่อนอาจารย์

๓. ต้องนอนหลังอาจารย์

๔. ต้องตื่นก่อนอาจารย์

หลัก ๔ อย่างนั้นฟังดูสั้นและง่าย แต่การปฏิบัติจริง ๆ จะต้องมีข้อวัตรที่จะต้องปฏิบัติมากมาย ผู้ที่จะเรียกได้ว่าเป็น พระปฎิบัติอุปัฎฐาก ครูบาอาจารย์นั้นจะต้องเป็นผู้ที่คล่องแคล่ว ว่องไว กล่าวคือ...พอสว่างได้อรุณแล้ว ต้องรีบนำบาตรและบริการของตนไปโรงฉัน จัดแจงโรงฉันให้เรียบร้อย ต้องหัด นอนดึก ลุกเช้า เมื่อจัดโรงฉันเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ต้องรีบไปเพื่อทำกิจวัตรต่อท่านอาจารย์ใหญ่ในที่พักของท่าน รอเวลาท่านจะออกห้อง โดยคอยอยู่ตามบริเวณใกล้เคียงนั้น ระหว่างที่รอคอยต้องทำความเพียร รอเวลาท่านออกมา ไม่ควรจะนั่งจับกลุ่มคุยกันกับหมู่พวก

พอได้ยินเสียงท่านกระแอมหรือไอ หรือเกิดเสียงกระเทือนจากการไหวตัวของท่าน เนื่องจากท่านมักจะพักอยู่ตามแคร่ซึ่งทำด้วยฟากไม้ไผ่ เพียงท่านขยับตัวนิดเดียว เสียงสะเทือนก็จะดัง ต้องรีบเอาบริขารท่านลงไปโรงฉัน โดยก่อนหน้านั้นจะต้องจัดกระโถนและหม้อมูตรไปชำระเสียก่อน เมื่อนำบริขารของท่านไปถึงโรงฉันแล้ว ก็รอเวลาไปบิณฑบาต หากท่านยังลงมาไม่ทัน โอกาสมี ก็ไปเดินจงกรมเสียก่อน หรือนั่งกำหนดจิตไปพลาง ๆ พอได้เวลาไปบิณฑบาต ท่านก็ให้เดินไปที่โรงฉัน หรือแห่งใดแห่งหนึ่ง แล้วแต่ความสะดวกของท่าน คอยรับเก็บรองเท้าท่าน (ถ้ามี) หรือผลัดเปลี่ยนผ้า ห่มผ้าติดลูกดุมถวายท่านก่อน ครองผ้าถวายท่านเสร็จแล้ว ต้องครองผ้าของตนให้เสร็จก่อนท่านอีก แล้วเอาบาตรของตนและของท่านเดินล่วงหน้าไปก่อน รอคอยท่านอยู่ที่ใกล้ทางเข้าหมู่บ้านที่จะบิณฑบาต เมื่อท่านไปถึงให้เอาบาตรถวายท่าน แล้วเข้าแถวเดินไปตามลำดับพรรษา เดินไปตามหลังท่าน เสร็จการรับบิณฑบาตแล้ว ต้องรีบเดินออกล่วงหน้าท่านกลับก่อน เพื่อจะได้รีบไปจัดทำกิจทุกอย่างให้เสร็จก่อน จะได้เพียงแต่คอยนั่งฉันอยู่เท่านั้นก็หาไม่

ก่อนท่านฉันอาหารจะต้องคอยดูแลปฏิบัติถวายท่าน เช่น รับประเคนบาตรและอาหาร จัดอาหารในบาตรถวายอาจารย์ให้เรียบร้อย แล้วจึงกลับมานั่ง ณ ที่อาสนะของตน

ความจริงระหว่างการจัดอาหารถวายท่านนั้น ต้องคอยดูด้วยความฉลาดว่าควรจะเป็นอาหารที่เหมาะกับธาตุขันธ์ของท่าน เป็นที่สบายต่อสุขภาพของท่านหากเป็นอาหารที่ไม่สมควร ท่านอาจจะไม่รับเลยก็ได้

ในด้านการฉัน ผู้ปฏิบัติต้องรีบฉันให้อิ่มก่อนท่านเสมอ สังเกตว่าท่านฉันอาหารคาวเสร็จแล้ว ลงมือฉันอาหารหวาน ต้องให้อิ่มทันตอนนั้นพอดี ถ้าเลยไปกว่านี้แล้วจะไม่ทันต่อการทำกิจวัตรอย่างอื่น คือการเตรียมถวายน้ำล้างมือ ถวายไม้สีฟันซึ่งมี ๓ ขนาด คือทั้งเล็ก กลาง ใหญ่ น้ำสำหรับบ้วนปาก เสร็จก็นำบาตรอาจารย์ไปล้าง เช็ดให้แห้ง นำไปเก็บไว้ให้เรียบร้อย กลับมาดูแลเก็บบริขาร นำบริขารไปส่งยังที่พักของอาจารย์ ต่อนั้นจึงจะกลับไปปฏิบัติภาวนาได้ จนได้เวลาที่ต้องทำกิจวัตรร่วมกับหมู่คณะ ต้องมาร่วมทำกิจวัตรนั้นจนเสร็จเรียบร้อย แล้วจึงถวายน้ำปานะตลอดจนการเตรียมน้ำร้อนสำหรับให้อาจารย์สรงให้เรียบร้อย แล้วจึงกลับไปทำธุรกิจส่วนตน การปฏิบัติภาวนาก็จะต้องทำไปด้วยควบคู่กัน จนได้เวลาก่อนทำวัตรเย็น และต้องรีบกลับมาตระเตรียมดูแลสถานที่สำหรับอาจารย์ให้เรียบร้อยก่อนที่ท่านจะลงมาทำวัตรเย็นในเวลาประมาณทุ่มครึ่ง
16#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 12:45 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ในการทำวัตรเย็น ท่านพระอาจารย์บุญจะกล่าวนำบูชาพระรัตนตรัย แล้วพาสวดตามตำรับ “ยมหํ ” ที่หลวงปู่ได้ยึดถือนำมาปฏิบัติจนตลอดชีวิตของท่าน ต่อจากนั้นก็รับฟังเทศน์ ถามตอบปัญหาในภาคปฏิบัติ แล้วนั่งสมาธิภาวนาจนท่านอาจารย์เห็นสมควรแก่เวลาจึงได้สั่งเลิกไป เมื่อการประชุมเสร็จสิ้นลง ก็ต้องดูแลเก็บบริขารและไปส่งท่านอาจารย์ถึงที่พัก ตลอดทั้งต้องถวายการนวดเฟ้นซึ่งหลวงปู่ใช้คำว่า “คั้นเอ็น” แก่ครูบาอาจารย์ จนกระทั่งสั่งหยุด แล้วกลับมาดูแลความเรียบร้อยที่ศาลาต่อ จึงจะกลับไปที่พัก ปฏิบัติภาวนาพิจารณาคำสั่งสอนที่ได้รับมาจากท่านอาจารย์ได้ นำเอาอุบายและวิธีต่าง ๆ มาเป็นแนวชี้แนะในทางปฏิบัติอันเป็นงานสำคัญยิ่งสำหรับพระ

การปฏิบัติภาวนานี้จะใช้เวลามากน้อย ขึ้นอยู่กับความสงบของจิต ที่จะตามเข้าไปรู้เห็นธรรมนั้นตามสภาพความเป็นจริง จนเป็นที่เข้าใจอย่างหมดสงสัย แล้วจึงพักผ่อนได้ แต่ถ้ายังไม่เป็นที่เข้าใจ ยังมีความสงสัยอยู่ บางครั้งอาจจะไม่ได้พักผ่อนกันเลย ซึ่งข้อนี้อยู่ในเรื่องที่ว่า ต้องนอนหลังอาจารย์ ก่อนที่จะเข้าที่พักผ่อนก็ต้องกำหนดจิตก่อน คือตั้งเจตนาให้จิตรู้สึกและตื่นก่อนท่านอาจารย์ เพื่อจะได้ไปเตรียมน้ำล้างหน้า น้ำสีฟัน น้ำบ้วนปากถวายท่าน ถ้าอยู่กันหลายองค์ก็จะได้แข่งกันขึ้นปฏิบัติอาจารย์ เพื่อเป็นการฝึกหัดและตั้งสติรอบรู้ของตนให้พร้อมอยู่เสมอ


เจดีย์ที่บรรจุอัฐิธาตุของท่านพระอาจารย์บุญ
ที่วัดพระบาทบัวบก อ.บ้านผือ อุดรธานี


เมื่อถวายการปฏิบัติต่ออาจารย์เรียบร้อยแล้ว ก็กลับมาทำภัตวัตร ปัดกวาดปูลาดเสนาสนะ จัดเตรียมที่ฉัน แล้วดูแลอุปกรณ์ของใช้ในการฉันให้เรียบร้อย จึงลงไปเดินจงกรมภาวนา จนถึงเวลาออกบิณฑบาต วนเวียนกันไปเช่นนั้น

หลวงปู่มีความเลื่อมใสศรัทธาในปฏิปทาของท่านพระอาจารย์บุญมาก ท่านอุปัฏฐากรับใช้จนท่านพระอาจารย์บุญมรณภาพ ในกลางปี ๒๔๗๓ ระหว่างพรรษานั้น ซึ่งท่านพระอาจารย์บุญจำพรรษาอยู่ที่วัดป่ามหาชัย เสร็จงานถวายเพลิงแล้ว ท่านได้นำอัฐิธาตุพระอาจารย์ของท่านไปไว้ที่วัดพระบาทบัวบก อันเป็นสถานที่ที่ท่านพระอาจารย์บุญอยู่จำพรรษานานที่สุด พระเณรและญาติโยม โดยมีท่านพระอาจารย์ขัน อาภัสสโร เป็นประธาน ได้ช่วยกันสร้างเจดีย์บรรจุอัฐิธาตุของท่านให้ เมื่อหมดสิ้นภาระหน้าที่อันควรถวายครูบาอาจารย์แล้ว หลวงปู่ก็ออกวิเวกต่อไป โดยไปทางหล่มสัก เพชรบูรณ์บ้าง จังหวัดเลยบ้าง.
17#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 12:45 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ได้พบและจำพรรษากับกัลยาณมิตร

ณ ที่วัดป่าหนองวัวซอนี้ หลวงปู่เล่าว่า เป็นที่ซึ่งท่านได้พบและจำพรรษากับกัลยาณมิตร ๒ องค์ กล่าวคือ หลวงปู่ขาว อนาลโย และ หลวงปู่ชอบ ฐานสโมสำหรับหลวงปู่ขาว นับแต่ที่ได้บวชเป็นคู่นาคกันแล้ว เป็นการพบกันครั้งแรก แต่สำหรับหลวงปู่ชอบนั้น ท่านเล่าว่า เคยพบกันมาก่อนแล้วระหว่างธุดงค์อยู่ตามป่าเขาแถบจังหวัดเลย อันเป็นภูมิลำเนาบ้านเกิดของท่านทั้งสอง แต่ครั้งยังเป็นพระน้อยเพิ่งเริ่มบวช

การมาอยู่จำพรรษาด้วยกัน ทั้ง ๓ องค์ ในพรรษาที่ ๖ พ.ศ. ๒๔๗๓ ทำให้ชอบอัธยาศัยและใกล้ชิดถูกนิสัย แลกเปลี่ยนธรรมสากัจฉาเป็นกัลยาณมิตรเอื้อเฟื้อต่อกันตลอดมา จนหลวงปู่ขาวมรณภาพจากไปก่อนในปี พ.ศ. ๒๕๒๖ และองค์หลวงปู่เอง ในเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๒ ซึ่งยังคงเหลือหลวงปู่ชอบ ฐานสโมเท่านั้น สำหรับเป็นหลักชัย เป็นเพชรบนยอดมงกุฎแห่งจังหวัดเลยเพียงองค์เดียว

ณ ที่วัดป่าหนองวัวซอนั้นเป็นที่หลวงปู่เล่าเสมอ ว่าท่านได้ประจักษ์ในบุญญาบารมีในกัลยาณมิตรของท่าน กล่าวคือ ระหว่างจำพรรษาด้วยกัน คืนหนึ่งเกิดฝนตกหนัก ลมพายุพัดรุนแรง ฝนตกหนักตลอดทั้งวันทั้งคืน ครั้นถึงเวลากลางวันขณะที่หลวงปู่ชอบกำลังจำวัด ก็ต้องสะดุ้งตื่น ด้วยได้ยินเสียงโยมมารดามาร้องเรียกให้ออกไปรับเสด็จพระนางมัทรี พอท่านออกมานอกกุฏิตามเสียงเรียกของโยมมารดา ต้นไม้ใหญ่ก็หักโค่นลงทับกุฏิของหลวงปู่ชอบพังเป็นจุณไป ทำให้หลวงปู่ชอบพ้นอันตรายไปอย่างน่าอัศจรรย์

ความจริงเรื่องที่ว่า โยมมารดาเห็นพระนางมัทรีนั้น เมื่อหลังจากที่เกิดเหตุแล้ว ก็พาหลวงปู่ไปที่ศาลาที่ว่านางมัทรีมารออยู่ โยมมารดาเล่าว่า ได้เห็นพระนางมัทรีลงมาหา เป็นหญิงที่สวยงามที่สุด ครั้งแรกไม่รู้จักชื่อ พอถาม นางก็บอกว่า นางเองคือพระนางมัทรี โยมมารดาเห็นผู้หญิงนั้นงามเหลือที่จะประมาณ งามยิ่งกว่านางฟ้าที่เคยเห็นในรูป รู้สึกตื่นเต้นจึงวิ่งไปตามพระลูกชายดังกล่าว แต่เมื่อมาถึงศาลา ไม่มีใครเห็นผู้หญิงที่โยมมารดากล่าวอ้างเลย คงเห็นแต่รูปพระนางมัทรีติดอยู่บนศาลาเท่านั้น น่าคิดว่านางฟ้าหรือเทพยดาอารักษ์ เทพธิดาองค์ใดไปช่วยปรากฏกายให้โยมมารดาไปเรียกหลวงปู่ชอบออกมาได้ เพราะถ้าท่านยังคงจำกัดอยู่ ท่านต้องมรณภาพแน่

สำหรับกรณีหลวงปู่ขาวนั้น ท่านเล่าว่า ต้นไม้หักโค่นลงมาเหมือนกัน แต่ต้นที่ล้มลงระเนระนาดนั้นมีจำนวนมาก แต่ละต้นต่างล้อมกุฏิหลวงปู่ขาวไว้โดยรอบเป็นวงกลม ไม่มีแม้แต่ต้นเดียว กิ่งเดียว ที่จะหักมาทับหรือก่ายกุฏิหลวงปู่ขาวเลย เป็นประหนึ่งเทวดาช่วยจับเวียนต้นไม้ล้อมรอบกุฏิหลวงปู่ขาวเอาไว้ฉะนั้น

เป็นเรื่องที่หลวงปู่หลุยจะเล่าให้ศิษย์ใกล้ชิดฟังเสมอว่า บุญบารมีที่แต่ละคนสร้างสมอบรมมานั้น โดยเฉพาะท่านผู้จะเดินไปสู่มรรคผลนิพพานนั้น จะต้องมีเทพยดาอนุรักษ์มาบำรุงรักษาปกป้องคุ้มครองให้พ้นจากภัยอันตรายเสมอ
18#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 12:46 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
พระบาทบัวบก


เงื้อมหิน ภายในบริเวณพระบาทบัวบก

พระบาทบัวบก ตั้งอยู่ในเขตตำบลเมืองพาน อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานีเป็นสถานที่ที่สวยสดงดงาม สงบเยือกเย็น อยู่ในระหว่างไหล่เขาภูพาน เป็นเนื้อที่อันกว้างใหญ่ สถานที่เป็นพระพุทธบาทนั้น ตั้งอยู่บนเขา ประกอบด้วยศิลปวัฒนธรรมวรรณคดีต่าง ๆ ตลอดทั้งภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์ติดอยู่ที่เพิงหินเป็นจำนวนมาก นับว่าเป็นปูชนียวัตถุที่สำคัญยิ่งแห่งหนึ่งของชาวจังหวัดอุดรธานี เชื่อกันว่าเป็นที่ประดิษฐานรอยพระบาทของพระพุทธเจ้า เมื่อพระองค์ยังทรงพระชนม์อยู่ ได้เสด็จมาด้วยบุญฤทธิ์ มาประสานรอยพระบาทไว้ ณ ที่นี้ เพื่อให้สาธุชนผู้มีความเลื่อมใสในพระองค์ได้กราบไหว้บูชา บริเวณวัดเป็นที่ที่งดงามมาก มีพลาญหินกว้างใหญ่และมีถ้ำมากมายหลายถ้ำ ชะง่อนหินหลายแห่งเป็นเงื้อมหินยื่นแผ่ออกมา ประดุจพญานาคแผ่เศียรพังพานให้ร่มเงา เหมาะแก่การเป็นที่พักบำเพ็ญเพียรทั้งนั้น ท่านพระอาจารย์บุญชอบใจที่นี่มาก ท่านได้มาจำพรรษาอยู่ ณ ที่นี้หลายครั้งหลายหนแล้วเพราะฉะนั้น เมื่อมีศิษย์หน้าใหม่มารับการอบรม ท่านก็จะพามาให้พักจำพรรษาบ้างหรือกลับมาแสวงหาความวิเวกบ้าง

ระยะนั้นบ้านเมืองยังอุดมสมบูรณ์ด้วยป่าไม้ น้ำประปาธรรมชาติก็มีสะดวกทั้งปี มีน้ำไหลมาตามร่องของหินของภูเขา แล้วก็กระโจนลงมาเหมือนน้ำตกผู้ที่มาพักก็สามารถดัดแปลงน้ำตกนั้นให้กลายเป็นน้ำประปาได้ โดยหาไม้ไผ่มาผ่าครึ่งตลอดลำ แล้วเซาะเอาปล้องกลางออก เพื่อให้น้ำไหลไปตามรางได้โดยสะดวกแล้วเอาลำไม้ไผ่ที่แต่งดีแล้วนั้น ไปรองรับน้ำที่พุ่งออกมาตามร่องหินนั้น ให้มันไหลไปเป็นประปาธรรมชาติตามรางไม้ไผ่ แล้วแต่จะต้องการจะให้หันเหไปทางใด น้ำใสมากเย็นเฉียบ มีน้ำไหลได้ตลอดปี ซึ่งเดี๋ยวนี้น่าเสียดายที่ไม่มีน้ำไหลอีกแล้ว เพราะแม้แต่บนเขาภูพานเองก็หาต้นไม้ใหญ่แทบไม่พบ แทบจะไม่มีป่าอยู่บนภูเขา กลายเป็นภูเขาหัวโล้นไปเกือบหมด ทำให้น้ำแห้งไปตลอดด้วย


รอยพระบาท ภายในเจดีย์พระบาทบัวบก

รอยพระบาทนั้นอยู่ท่ามกลางพลาญหินยาวประมาณ ๒ เมตร กว้าง ๗๐ เซนติเมตร ลึกประมาณ ๖๐ เซนติเมตร ได้เป็นที่ที่พวกพรานป่าได้มาพบ เนื่องจากเขาเหล่านั้นได้พยายามจะยิงสัตว์ แต่เมื่อสัตว์วิ่งมาที่ตรงกลางพุ่มไม้นี้ พรานตามมายิงเท่าไรก็ไม่สามารถทำอันตรายแก่พวกกวางเก้งนั้นได้ เมื่อตามกวางเก้งที่ถูกยิงมาถึงที่นี้ ก็เห็นว่า เมื่อมันมากินน้ำนี้แล้ว แผลทั้งหมดก็หายไปด้วย

พวกพรานป่าเห็นเป็นอัศจรรย์จึงแหวกพงหญ้าเข้ามาจนพบรอยพระบาทนี้ได้มีการสร้างเจดีย์ครอบพระพุทธบาทหลายครั้ง ครั้งสุดท้ายท่านอาจารย์สีทัด ชาวนครพนมได้เดินธุดงค์มาเห็น ท่านได้เคยบูรณะสร้างเจดีย์ที่นครพนมมาแล้ว มาเห็นพระบาทบัวบกรู้สึกเลื่อมใสมาก ท่านเลยพาญาติโยมมาสร้างเจดีย์ครอบพระบาทบัวบก ลักษณะรูปทรงเหมือนเจดีย์พระธาตุพนม สูงประมาณ ๑ เส้น ยอดเจดีย์เป็นฉัตรทองเหลือง จึงแลดูงดงามยิ่งนัก เจดีย์ธาตุท่านพระอาจารย์บุญก็ได้สร้างห่างออกมาจากเจดีย์พระบาทบัวบกเพียงเล็กน้อย อยู่ในลักษณะรูปพรรณสัณฐานคล้ายกัน
19#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 12:46 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
บริเวณพระบาทบัวบกยังมีรูปหินธรรมชาติอันงดงาม มีเรื่องราวเล่ากันถึงเรื่องนางอุษา เป็นตำนานที่เล่าสู่กันมา

แต่ทางพระธุดงคกัมมัฏฐานได้พอใจพากันมาแสวงหาความวิเวก ณ ที่นี้ตลอดมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้ ถึงจะมีความแห้งแล้งอย่างไร แต่พลาญหิน เงื้อมถ้ำยังคงอยู่ พอจะแสวงหาความสงัดวิเวกได้

สำหรับคำว่า บัวบก นั้นเป็นคำบอกชื่อพันธุ์ไม้ดอกชนิดหนึ่ง ซึ่งแต่ก่อนนั้นเคยเกิดอยู่ตามพื้นดิน แต่ไม่ชอบน้ำ กล่าวกันว่ามีดอกสีขาวและลักษณะของกลีบคล้ายกลีบบัว แต่พันธุ์ไม้ชนิดนี้ถูกคนทำลายได้สูญพันธุ์ไปเกือบหมดแล้ว ปัจจุบันนี้จึงหาดูได้ยาก เป็นพันธุ์ไม้ที่คนอีสานเรียกว่า ต้นบัวบกหรือหัวบัวบกนั่นเอง

สมัยก่อนที่หลวงปู่ได้ธุดงค์ไป ยังพบพันธุ์ไม้บัวบกนี้มากอยู่ โดยเฉพาะรอบองค์เจดีย์ องค์ซึ่งหักโค่นลงแล้วเหลือให้เห็นซากอิฐเป็นกอง ประมาณได้เมื่อตอนนั้นสูงประมาณ ๘ เมตร มียอดทิ้งไว้มีสามยอดติดกัน ต้นบัวบกเต็มไปหมด ขึ้นอยู่ตามซากเจดีย์ พอถึงฤดูแล้งใบและดอกก็จะตาย พอถึงฤดูฝนต้นบัวบกก็จะผลิดอกขาวเต็มไปหมด ตามลักษณะของดอกไม้ป่า ที่มักจะมีอุดมสมบูรณ์อยู่ตามพลาญหิน ในเขตหุบเขาและป่าทางอีสาน สำหรับบัวบกนี้ เมื่อมีคนไปบูรณะเจดีย์ ส่วนมากก็จะถางทิ้งเพื่อความสะดวกในการก่อสร้างบ้าง ในการไปมาบ้าง ภายหลังจึงแทบจะสูญพันธุ์ไป

ณ ที่ฐานเจดีย์ท่านพระอาจารย์บุญ ได้มีคำจารึกโดยละเอียด เห็นควรเชิญมาลงพิมพ์ด้วย... ที่น่าสนใจอย่างยิ่ง คือ ราคาค่าก่อสร้างเจดีย์สูง ๖ วา ๓ ศอก ใน พ.ศ. ๒๔๗๓ นั้น เป็นเงินเพียง ๓๒๕ บาท ๒๑ สตางค์ น่าคิดว่า ค่าของเงินปัจจุบันนี้ แตกต่างกว่าสมัยก่อนนั้นเพียงไร


ธาตุสาวก

สร้าง พ.ศ. ๒๔๗๓

คำไหว้

มยาหํ อาจาริยํ ปุญญนามกํ อฎฺฐิธาตุ สิรสา นะมามิ ฯ

พระปัญญาวุโธ (บุญ) อายุ ๔๔ ปี พรรษา ๒๔ ถึงแก่มรณภาพ

พระอาภัสสโร (ขัน) พร้อมภิกษุ สามเณร และ อุบาสก อุบาสิกา

ทั้งหลายได้พากันสร้างธาตุบรรจุอัฐิของท่านไว้ ณ ที่นี้

ฝ่ายอุบาสก อุบาสิกา ได้ออกทรัพย์รวมเป็นเงิน ๓๒๕ บาท ๒๑ สตางค์

ขอวุฒิธรรมทั้ง ๔ ประการ คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ

จงมีแก่ข้าพเจ้าทั้งหลายสิ้นกาลนานเทอญ ฯ

สูง ๖ วา ๓ ศอก
20#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 12:47 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
อดีตที่ฝังรอยมาจากบุพชาติ

หลังจากที่เสร็จงานพิธีบรรจุอัฐิธาตุท่านพระอาจารย์บุญในเจดีย์ที่ก่อขึ้นมา ณ บริเวณวัดพระบาทบัวบกแล้ว หลวงปู่ก็ออกธุดงค์วิเวกมาทาง จ.เลย และเพชรบูรณ์ ทางสายนั้น ขณะนั้นยังเป็นป่าเขาที่อุดมสมบูรณ์มากที่สุด มีภูเขาใหญ่น้อยเรียงรายกันเป็นดุจทะเลภูเขา เวลาเย็นเห็นแสงพระอาทิตย์ส่องผ่านไปให้สีสันต่าง ๆ กัน เหมือนคลื่นภูเขาเหล่านั้นกำลังตีฟองคะนองอยู่ในอากาศ อากาศวิเวก ชวนให้ภาวนา ท่านเล่าว่า การเดินแบบนั้นได้ประสบรสแห่งความวิเวกอย่างดีที่สุด ซึ่งในปัจจุบันนี้แทบจะหาความสงบสงัดวิเวกทำนองนั้นไม่ได้อีกแล้ว เพราะได้มีรถยนต์เป็นยานพาหนะจะไปไหนมาไหนก็รวดเร็ว การสงบจิตติดตามไปมิได้วังเวงวิเวกเช่นการเดินด้วยเท้าดังครั้งก่อน

ท่านแวะมาที่หล่มสัก ด้วยโยมมารดาของท่านมีพื้นเพภูมิลำเนาอยู่ที่นั้นจึงยังมีบ้านญาติบ้านพี่บ้านน้อง คนคุ้นเคยอยู่มาก ท่านมาถึงได้ทราบว่า บ้านญาติคนหนึ่งมีงานศพ นิมนต์พระไปสวดมนต์ ท่านก็ได้รับนิมนต์ไปในงานสวดมนต์นั้นด้วย

หลวงปู่เล่าให้ฟังว่า ท่านไม่เคยคิดเลยว่า การแวะไปเยี่ยมญาติและสวดมนต์ในครั้งนั้น จะทำให้ท่านถึงกับซวดเซลงแทบจะล้มลงทั้งยืน

ล้ม...ล้มอย่างไม่มีสติสตังเลยทีเดียว

ท่านเล่าให้เฉพาะผู้ใกล้ชิดฟังว่า วันนั้นท่านกำลังสวดมนต์เพลินอยู่ ระหว่างหยุดพักการสวด เจ้าบ้านก็นำน้ำปานะมาถวายพระแก้คอแห้ง บังเอิญตาท่านชำเลืองมองไปในหมู่แขกที่กำลังนั่งฟังสวดมนต์อยู่เพียงตาสบตา ท่านก็รู้สึกแปล๊บเข้าไปในหัวใจ

เหมือนสายฟ้าฟาด แทบจะไม่เป็นสติสมประดี

ท่านกล่าวว่า เพียงตาพบแว้บเดียว ไม่เข้าใจว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ท่านก็เซแทบจะล้ม เผอิญขณะนั้นท่านพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม ได้รับนิมนต์ไปด้วย ท่านคงสังเกตถึงอาการหรือว่าท่านอาจจะกำหนดจิตทราบเหตุการณ์ก็ได้ ท่านจึงเข้ามาประคองไว้ เพราะมิฉะนั้นหลวงปู่คงจะล้มลงจริง ๆ

ฝ่ายหญิงที่นั่งอยู่ทางด้านโน้นก็เป็นลมไปเช่นกัน คงจะเป็นอำนาจความเกี่ยวข้องแต่บุพชาติมา ที่มาบังคับให้เกิดความรู้สึกเช่นนั้น


พระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม

ท่านบอกว่าในหัวอกเหมือนจะมีอะไร แต่ภายหลังได้พิจารณากลับมา และเมื่อท่านพระอาจารย์สิงห์ได้อธิบายให้ท่านทราบในภายหลังว่า การครั้งนี้เป็นนิมิต เนื่องจากบุพเพสันนิวาสท่านและสุภาพสตรีผู้นั้นเคยเป็นเนื้อคู่เกี่ยวข้องกันต่อมาช้านาน เคยบำเพ็ญบารมีคู่กันมาโดยเฉพาะเมื่อภายหลัง หลวงปู่ได้สารภาพถึงความในใจที่ตั้งปรารถนาพุทธภูมิ ท่านพระอาจารย์สิงห์ก็อธิบายว่า เธอผู้นั้นก็คงได้ปรารถนา บำเพ็ญบารมีคู่กันมาเช่นกัน
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้