ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

~ หลวงปู่ดูลย์ อตุโล วัดบูรพาราม ~

[คัดลอกลิงก์]
21#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-24 18:02 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ผู้นำทางการปฏิบัติ

ประมาณปี พ.ศ. ๒๔๖๖ ภายหลังจากที่พระอาจารย์ดูลย์จาริกออกจากวัดม่วงไข่ บ้านกุดก้อม จ.สกลนครแล้ว  พระอาจารย์ดูลย์ได้พาภิกษุสามเณรวัดม่วงไข่รวมทั้งพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร จาริกไปตามป่าเขาลำเนาไพรเพื่อติดตามค้นหาพระอาจารย์มั่น

การเดินทางครั้งนั้นไม่มีกำหนดการที่แน่นอน  บางแห่งก็หยุดพัก ๕ วันบ้าง ๗ วันบ้าง ตามความเหมาะสมในการปรารภความเพียรของแต่ละสถานที่

การจาริกธุดงค์ครั้งนี้  ถือว่าเป็นครั้งสำคัญอย่างยิ่งของพระอาจารย์ดูลย์  เนื่องจากท่านได้เป็นผู้นำทางการปฏิบัติของพระเณรที่ติดตามมาจากวัดม่วงไข่  โดยทำหน้าที่เป็นพระอาจารย์ที่ปฏิบัติตนเป็นแบบอย่าง  และคอยแนะนำพระเณรทั้งหลายให้บำเพ็ญไปในแนวทางของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ซึ่งพระเณรทุกรูปต่างก็ปฏิบัติตามคำแนะนำของพระอาจารย์ดูลย์อย่างเคร่งครัด  และด้วยจิตใจที่มุ่งมั่น ทำให้ต่างก็ได้รับผลแห่งการปฏิบัติโดยทั่วกัน

ค้นพบความจริงอันประเสริฐ

เมื่อจำพรรษาตามสถานที่ที่ผ่านมาในเวลาอันเหมาะสมแล้ว  พระอาจารย์ดูลย์ได้นำพระภิกษุสามเณรจาริกมุ่งหน้าไปยัง จ.นครพนม  จนถึงถ้ำพระเวสสันดรซึ่งตั้งอยู่บนเทือกเขาภูพาน ใน อ.นาแก จ.นครพนม  และได้พำนักบำเพ็ญภาวนาอยู่ ณ ถ้ำพระเวสสันดร ตลอดฤดูแล้งนั้น

ขณะพำนักอยู่ที่ถ้ำพระเวสสันดรนั้น  ท่านและคณะติดตามได้บำเพ็ญเพียรอย่างจริงจัง  โดยเฉพาะตัวท่านเองได้ทบทวนถึงคำสอนของพระอาจารย์อยู่เป็นประจำ  จนในที่สุดก็ค้นพบอริยสัจ  อันเป็นธรรมะหมวดแรกที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงตรัสรู้  ซึ่งเป็นหัวข้อธรรมอันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา และสามารถอธิบายได้อย่างแจ่มแจ้งอีกด้วย

ภายหลังท่านได้กล่าวถึงการบำเพ็ญเพียรในครั้งนั้นว่า  ท่านได้ตริตรองพิจารณาตามหัวข้อของกัมมัฏฐานที่ได้รับจากพระอาจารย์มั่นที่บอกว่า สพฺเพ สงฺขารา สพฺพสญฺญา ก็บังเกิดความสว่างไสวรู้แจ้งตลอดว่า

เมื่อสังขารดับไปแล้ว ความเป็นตัวตนจักมีไม่ได้  เพราะไม่ได้เข้าไปเพื่อปรุงแต่ง  ครั้นเมื่อความปรุงแต่งขาดไป และสภาพแห่งความเป็นตัวตนไม่มีความทุกข์จะเกิดขึ้นแก่ใครได้อย่างไร  และยังค้นพบธรรมะที่เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา  ตลอดจนรู้ซึ้งถึงแก่นแท้ของหลักธรรมทั้งหลาย  จนจับใจความอริยสัจแห่งจิต ดังถ้อยคำที่ท่านกล่าวไว้ว่า

จิตส่งออกนอก เพื่อรับสนองอารมณ์ทั้งสิ้น เป็นสมุทัย

ผลอันเกิดจากจิตที่ส่งออกนอกแล้วหวั่นไหว เป็นทุกข์

จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง เป็นมรรค

ผลอันเกิดจากจิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง เป็นนิโรธ

22#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-24 18:03 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
จากนั้นท่านก็ได้พิจารณาถึงปฏิจจสมุปบาท  จนสามารถแก้ไขได้อย่างไม่มีข้อสงสัย  ซึ่งท่านกล่าวว่า เมื่อได้พิจารณาตามหลักอริยสัจ ๔ โดยเห็นแจ้งดังนี้แล้ว  ก็ย่อมหมายถึงการผ่านเลยแห่งความรู้ในปฏิจจสมุปบาทไปแล้ว  เนื่องเพราะความรู้ในเหตุแห่งทุกข์  การดำรงอยู่แห่งทุกข์ และวิธีดับทุกข์นั้น  คือแก่นกลางแท้จริงของปฏิจจสมุปบาท

ความรู้ความเข้าใจเรื่องจิตอย่างลึกซึ้งในครั้งนี้เอง  เป็นผลทำให้ท่านได้รับการยอมรับในหมู่พระภิกษุและฆราวาสผู้ปฏิบัติ  ว่าเป็นผู้ที่มีความลึกซึ้งในเรื่องของจิต  จนได้รับสมญานามว่าเป็นบิดาแห่งการภาวนาจิต  อันเป็นสมญานามที่เหมาะสมอย่างยิ่ง  ดังจะเห็นได้จากคำสอนและความสนใจของท่าน  ซึ่งอยู่แต่ในเรื่องของจิตเพียงอย่างเดียว และได้ประกาศหลักธรรมโดยใช้คำว่า จิต คือพุทธะ  ส่วนเรื่องอื่นที่นอกเหนือจากจิตแล้ว  หาได้อยู่ในความสนใจของท่านไม่

ในปี พ.ศ. ๒๔๖๗ เมื่อพำนักที่ถ้ำพระเวสสันดรเป็นเวลาอันสมควรแล้ว  และเข้าใจแจ่มแจ้งในอริยสัจแล้ว  พระอาจารย์ดูลย์ได้พาคณะพระภิกษุสามเณรที่ติดตาม  จาริกออกจากถ้ำพระเวสสันดรด้วยจิตใจที่อิ่มเอิบ  ตามหาพระอาจารย์มั่น  เพื่อจะได้กราบเรียนถึงผลการบำเพ็ญภาวนาของท่านให้ได้รับทราบ

คณะพระธุดงค์ที่นำโดยพระอาจารย์ดูลย์ได้พบพระอาจาย์มั่น ภูริทัตโต ที่วัดโนนสูง  จ.นครพนม (ปัจจุบันเป็น จ.มุกดาหาร)

ณ ที่นั้น พระอาจารย์ดูลย์ได้กราบเรียนถึงผลการปฏิบัติ และเรียนถามถึงการปฏิบัติของท่านต่อพระอาจารย์มั่นว่าเป็นอย่างไร  เมื่อพระอาจารย์มั่นได้ทบทวนถึงผลการปฏิบัติแล้ว ได้ยกย่องต่อศิษย์ทั้งหลายว่า  การปฏิบัติดำเนินมาอย่างถูกต้อง สามารถเอาตัวรอดได้ ไม่ถอยหลังอีกต่อไปแล้ว  และให้ท่านดำเนินตามปฏิปทาที่ปฏิบัติมานี้ต่อไป

ครั้งนั้นพระอาจารย์ดูลย์ได้นำพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร  และภิกษุสามเณรเข้าถวายตัวต่อพระอาจารย์มั่น  ซึ่งพระอาจารย์มั่นได้กล่าวยกย่องและชื่นชมท่านว่าเป็นคนมีความสามารถมากที่มีสานุศิษย์และผู้ติดตามมากมาย

และในครั้งนี้เอง  พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ได้ถวายผ้าไตรซึ่งเย็บด้วยมือของท่านเอง  มอบให้แก่พระอาจารย์ดูลย์ ๑ ไตร ซึ่งนับว่าเป็นรางวัลชีวิตที่มีค่ายิ่งนักของพระอาจารย์ดูลย์
23#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-24 18:03 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
อาถรรพ์ที่ถ้ำผาบิ้ง

พระอาจารย์ดูลย์ อตุโล ได้อยู่ปรนนิบัติพระอาจารย์มั่นที่วัดโนนสูง  จนจวนจะถึงกาลเข้าพรรษาแล้ว  จึงได้กราบลาพระอาจารย์มั่นออกจาริกธุดงค์แสวงหาสถานที่สงบสงัดเพื่อบำเพ็ญเพียรให้ยิ่ง ๆ ขึ้น  โดยมีสามเณรอ่อน (ต่อมา คือ พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ) ติดตามไปในครั้งนี้ด้วย

ในพรรษานั้น พระอาจารย์ดูลย์พร้อมสามเณรอ่อน พำนักจำพรรษาอยู่ที่ อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย ระหว่างพรรษานั้นมีภิกษุสามเณรและอุบาสก อุบาสิกาที่อยู่ใน อ.ท่าบ่อและบริเวณใกล้เคียง  พากันมาฟังพระธรรมเทศนาและร่วมบำเพ็ญภาวนากับท่านเป็นจำนวนมาก  ซึ่งท่านได้กล่าวภายหลังว่ามากมายจนแทบไม่มีที่นั่ง  และแทบทุกคนก็ได้ประจักษ์ผลแห่งการปฏิบัติตามสมควร

ภายหลังจากออกพรรษา พระอาจารย์ดูลย์ได้จาริกออกจากที่นั่น  พร้อมสามเณรติดตามรูปหนึ่ง  โดยท่านตั้งใจว่าจะเดินทางไปโปรดญาติโยมที่ จ.สุรินทร์ อันเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของท่านต่อไป

พระอาจารย์ดูลย์เดินธุดงค์ต่อไปจนถึงถ้ำผาบิ้ง บ้านนาแก อ.สะพุง จ.เลย  ท่านมีความเห็นว่าเป็นสถานที่สงบสงัดเหมาะที่จะบำเพ็ญเพียรยิ่งนัก จึงตกลงใจที่จะพำนักอยู่ที่นั่น

ณ ถ้ำผาบิ้งนี้  ซึ่งเป็นที่ร่ำลือของชาวบ้านในเรื่องของความอาถรรพ์  และมากไปด้วยตำนานมหัศจรรย์ที่เล่าขานกันมาเป็นเวลานานว่า  เมื่อถึงเวลาโพล้เพล้ใกล้ค่ำจะมีเสียงพิณพาทย์บรรเลงดังกระหึ่มไปทั่ว  และมีตัวประหลาดซึ่งมองคล้ายควันดำ ๆ เหาะลอยฉวัดเฉวียนไปในอากาศและหายวับไป  ทำให้เป็นที่สะพรึงกลัวแก่ผู้คนยิ่งนัก  ชาวบ้านบริเวณนั้นเมื่อทราบความประสงค์ของท่านต่างก็มีความเป็นห่วงจึงได้พากันห้ามไว้  ถึงแม้ได้ฟังคำทัดทานจากชาวบ้านเพียงไรท่านก็ไม่หวั่นไหว  ยังตั้งใจแน่วแน่ที่จะพำนักอยู่ที่นั่นเพื่อพิสูจน์หาความจริงของอาถรรพ์ดังกล่าว  จึงพร้อมด้วยสามเณรเดินทางไปพำนัก ณ ถ้ำผาบิ้ง ทันที

เมื่อท่านเข้าพักบำเพ็ญภาวนาอยู่นั้น  ก็ได้พิจารณาถึงสิ่งที่ชาวบ้านเล่าลือ ในที่สุดก็พบความจริงว่า  อาถรรพ์ที่ชาวบ้านหวาดกลัวกันนั้น  เกิดจากค้างคาวจำนวนมากที่อาศัยอยู่ในถ้ำพากันออกหากิน  ทำให้เสียงกระพือปีกกระทบกันผสมกับเสียงสะท้อนจากผนังถ้ำ  จึงเกิดเป็นเสียงต่าง ๆ ดังก้องสลับกันเป็นจังหวะราวกับเสียงของวงพิณพาทย์ดังที่ชาวบ้านได้ยิน  และที่เห็นควันพวยพุ่งนั้นก็เป็นฝูงค้างคาวนั่นเอง  และเมื่อท่านได้นำความจริงที่ได้พบเห็นมาบอกให้แก่ชาวบ้านบริเวณนั้นฟัง  เสียงเล่าลือในเรื่องอาถรรพ์ที่เล่าลือกันมานานก็หายไป

ท่านพำนักปฏิบัติธรรมอยู่ ณ ถ้ำผาบิ้งได้ประมาณ ๑ เดือน ก็ออกจาริกธุดงค์ต่อไปยัง จ.อุบลราชธานี และ จ.สกลนคร ตามลำดับ
24#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-24 18:03 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
พระมหาปิ่น

เมื่อจาริกธุดงค์ไปถึง อ.วาริชภูมิ จ.สกลนคร  พระอาจารย์ดูลย์ได้มีโอกาสพบและกราบนมัสการพระอาจารย์มั่นอีกครั้งหนึ่ง  การพบในครั้งนี้ท่านมิได้กราบเรียนถึงผลการปฏิบัติของท่าน  และก็ไม่ได้รับการแนะแนวทางการปฏิบัติจากพระอาจารย์มั่นแต่ประการใด  เป็นแต่เพียงการสนทนาธรรมกันในเรื่องของจิตอย่างเดียวเท่านั้น  จากนั้นก็กราบนมัสการพระอาจารย์มั่นเดินทางต่อไป

ระหว่างทางได้แวะเยี่ยมและพำนักอยู่กับอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม ที่ จ.กาฬสินธุ์ และได้มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นกล่าวคือทั้งสองท่านได้ร่วมมือกันโน้มน้าวใจพระมหาปิ่น ปญฺญาพโล ผู้เป็นน้องชายของพระอาจารย์สิงห์ ซึ่งเป็นครูสอนปริยัติธรรมอยู่ที่วัดสุทัศนาราม อุบลราชธานี  ภายหลังจากที่ศึกษาเปรียญธรรมจากสำนักวัดบวรนิเวศวิหาร  และมีความรู้ด้านพระปริยัติธรรมอย่างแตกฉาน  ที่สนใจแต่ทางปริยัติอย่างเดียว  ไม่นำพาต่อการบำเพ็ญภาวนาและฝึกฝนจิตและธุดงค์กัมมัฏฐาน  ให้มาอยู่กับฝ่ายปฏิบัติได้ในที่สุด

โดยทั้งสองท่านได้เดินทางมาพักจำพรรษาอยู่ที่วัดสุทัศนาราม และได้ปลูกกุฏิหลังเล็ก ๆ อยู่ต่างหาก  ต่างปฏิบัติกัมมัฏฐานอย่างเคร่งครัด  พร้อมกับค่อย ๆ โน้มน้าวจิตใจพระมหาปิ่นให้เกิดความศรัทธาเลื่อมใสในทางปฏิบัติ  ด้วยการชี้แจงถึงผลที่จะได้รับจากการปฏิบัติให้รู้แจ้งเห็นจริงให้พระมหาปิ่นเข้าใจ  ด้วยเหตุที่พระมหาปิ่นเป็นผู้มีสติปัญญา ได้พิจารณาและได้เห็นข้อวัตรปฏิบัติของทั้งสองท่าน  จึงเกิดความเลื่อมใสเป็นอย่างยิ่งและคล้อยตาม

ครั้นถึงกาลออกพรรษาครั้งนั้น  ท่านก็ได้เตรียมบริขารแล้วออกจาริกธุดงค์ติดตามพระอาจารย์สิงห์ไปทุกหนทุกแห่ง  ทนต่อสู้กับอุปสรรคนานาชนิดอย่างที่ไม่เคยพบมาก่อนท่ามกลางป่าเขาลำเนาไพร  มุ่งหาความเจริญในทางธรรม จนท่านสามารถรอบรู้ได้ในที่สุด

การที่พระมหาปิ่น ปญฺญาพโล เปลี่ยนใจมาปฏิบัติตามที่พระอาจารย์สิงห์ ผู้เป็นพระพี่ชายและพระอาจารย์ดูลย์แนะนำ  อันเป็นเหตุให้ท่านตัดสินใจออกธุดงค์ในครั้งนั้น  ทำให้พุทธศาสนิกชนในภาคอีสานกล่าวขานกันอย่างแตกตื่นด้วยเหตุที่ว่า  ท่านเป็นพระมหาเปรียญหนุ่มจากเมืองบางกอก  ซึ่งมีความรู้ปริยัติอย่างแตกฉาน  อีกทั้งยังเป็นอาจารย์สอนปริยัติธรรมด้วย ได้ตัดบ่วง ไม่ห่วงอาลัยในยศฐาบรรดาศักดิ์ต่าง ๆ เปลี่ยนมาดำเนินชีวิตเยี่ยงพระธุดงค์  ฝึกฝนจิตอบรมกัมมัฏฐาน  และฝึกสมาธิภาวนาเป็นองค์แรกในสมัยนั้น

ต่อมาพระมหาปิ่นก็ได้กลายเป็นที่เคารพนับถือเลื่อมใสศรัทธาจากผู้คนจำนวนมาก  ในฐานะผู้นำกองทัพธรรมออกเผยแพร่คำสอนในสายพระกัมมัฏฐานคู่กับพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม ผู้เป็นพระพี่ชาย
25#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-24 18:04 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๖. เปิดกรุแห่งพระธรรม

นับตั้งแต่พระอาจารย์ดูลย์เดินทางออกจาก จ.สุรินทร์ เพื่อไปศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรม  จนถึงปี พ.ศ. ๒๔๖๖  ท่านจึงได้เดินทางกลับไปยัง จ.สุรินทร์ ซึ่งเป็นบ้านเกิดของท่าน  เพื่อเผยแผ่พระธรรมคำสอนของพระบรมศาสดาแก่ผู้ที่สนใจ

การเดินทางกลับมายังบ้านเกิดครั้งนี้  เป็นการมาแบบพระธุดงค์อย่างสมบูรณ์ด้วยภูมิปัญญาที่แก่กล้าและจริยาวัตรที่งดงาม  ได้เข้าพำนักอยู่ ณ วัดนาสาม ต.นาบัว อ.เมือง จ.สุรินทร์  ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองสุรินทร์ไปทางทิศใต้ประมาณ ๑๕ กิโลเมตร  การมาครั้งถือได้ว่ากรุแห่งพระธรรมได้เปิดขึ้นแก่ชาวสุรินทร์แล้ว  ได้สร้างความปีติให้แก่ชาวบ้านเป็นอย่างมาก  โดยเฉพาะชาวบ้านที่อยู่ใน ต.นาบัว และ ต.เฉนียง ที่พากันแตกตื่นพระธุดงค์  ต่างก็ชักชวนกันไปฟังท่านแสดงพระธรรมเทศนา  และร่วมปฏิบัติธรรมกับท่านกันอย่างล้นหลาม

ครั้นเมื่อกาลจวนจะเข้าพรรษาอีกครั้ง  พระอาจารย์ดูลย์เห็นว่า วัดนาสามไม่เหมาะที่จะวิเวกและปรารภธรรมตามแบบอย่างของพระธุดงค์  จึงเดินทางออกจากวัดนาสามมุ่งหน้าไปยังป่าหนองเสม็ด ต.เฉนียง จ.สุรินทร์ อันเป็นที่ซึ่งท่านเห็นว่าเหมาะสมต่อการบำเพ็ญเพียรมากกว่า  และเมื่อมาถึงที่แห่งนั้นท่านก็ได้สมมติขึ้นเป็นสำนักป่า  แล้วอธิษฐานจำพรรษาอยู่ ณ สถานที่นั้น

การมาตั้งสำนักปฏิบัติธรรมที่ป่าหนองเสม็ดนั้น  ญาติโยมที่ได้เคยร่วมปฏิบัติธรรมกับท่านและได้รับผลจากการปฏิบัติจากวัดนาสาม  ได้เดินทางติดตามท่านมาด้วย  แม้จะลำบากเพราะต้องเดินด้วยเท้าเป็นระยะทางเกือบ ๑๐ กิโลเมตรก็ตาม  ต่างก็ไม่ได้ย่อท้อ มีจิตใจที่แน่วแน่และมุ่งมั่นที่จะเจริญสมาธิภาวนาให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น  และจะได้ฟังพระธรรมเทศนาที่ลึกซึ้งจากพระอาจารย์ดูลย์

ณ ป่าหนองเสม็ดแห่งนี้  ผู้ที่ชื่นชอบและยกย่องสรรเสริญท่านว่าเป็นผู้ประกาศธรรมด้วยการลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง  ต่างก็ร่วมกันทำนุบำรุงส่งเสริมและเข้ากราบเป็นลูกศิษย์  ร่วมฝึกปฏิบัติบำเพ็ญสมาธิภาวนากับท่าน  ส่วนผู้ที่ไม่ต้องการแสวงหาสัจธรรม  ก็มีปฏิกิริยาในทางต่อต้านท่านด้านการปฏิบัติด้วยการด่าว่าให้เสียหาย  และวางอุบายทำลายจนถึงขั้นลงมือทำร้ายเลยก็มี  แต่ท่านก็ไม่ได้รับอันตรายแต่ประการใดเลย  แม้จะมีคำพูดเสียดสี และปฏิกิริยาในทางต่อต้านจากผู้ที่ไม่ชอบเพียงใดก็ตาม  ก็ไม่อาจทำให้พระอาจารย์ดูลย์หวั่นไหว  ท่านยังคงตั้งหน้าตั้งตาเผยแพร่พระธรรมคำสอนของพระบรมศาสดาด้วยความมั่นคง  และเต็มเปี่ยมไปด้วยความเมตตาต่อญาติโยมที่สนใจ ทำให้มีผู้ศรัทธาเลื่อมใสในตัวท่านเพิ่มขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก

เมื่อครั้งที่พระอาจารย์ดูลย์ อตุโล พำนักจำพรรษาอยู่ ณ ป่าหนองเสม็ดนั้น  อุบาสิกาคนหนึ่งชื่อว่า นางเหรียญ เป็นชาวบ้านกระทม ต.นาบัว จ.สุรินทร์ มีความสนใจในการปฏิบัติธรรมและเลื่อมใสศรัทธาในวัตรปฏิบัติของท่านเป็นอย่างมาก  ได้ติดตามท่านมาปฏิบัติธรรมที่สำนักป่าหนองเสม็ดนั้นด้วย

ทุกครั้งที่นางเหรียญมาปฏิบัติธรรม  ก็จะพาเด็กชายโชติ เมืองไทย ผู้เป็นบุตรชาย ซึ่งในขณะนั้นมีอายุได้ ๑๒ ปี  มาปฏิบัติธรรมด้วยเป็นประจำ และด้วยเหตุที่เด็กชายโชติเป็นเด็กที่มีอุปนิสัยรักความสงบ  และมีสติปัญญาเฉลียวฉลาด  เมื่อได้มาฝึกปฏิบัติธรรมและเรียนรู้พระธรรมวินัยจากพระอาจารย์ดูลย์ก็เกิดความศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก  จนไม่อยากกลับบ้าน  นางเหรียญผู้เป็นมารดา จึงถวายเด็กชายโชติให้อยู่คอยรับใช้พระอาจารย์ดูลย์

เมื่อเด็กชายโชติ เมืองไทย อยู่กับพระอาจารย์ดูลย์ได้ระยะหนึ่ง  ท่านจึงได้จัดการบรรพชาให้เป็นสามเณร นับเป็นสามเณรรูปแรกที่ท่านบวชให้

ครั้นเมื่อเด็กชายโชติได้บรรพชาเป็นสามเณรแล้ว ก็ได้ติดตามพระอาจารย์ดูลย์จาริกธุดงค์อย่างใกล้ชิด  พร้อมกันนั้นได้ยึดถือวัตรปฏิบัติแห่งพระอาจารย์ดูลย์เป็นแนวทางอย่างเคร่งครัด

สามเณรโชติ เมืองไทย นี้  ต่อมาเป็นที่รู้จักกันในนามของหลวงปู่โชติ  ท่านเป็นพระเถระที่มีพุทธศาสนิกชนเคารพนับถือเป็นจำนวนมาก  ต่อมาภายหลังท่านได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระเทพสุธาจารย์ (โชติ คุณสมฺปนฺโน) เจ้าอาวาสวัดวชิราลงกรณ์ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา (มรณภาพเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๘)
26#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-24 18:04 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ถ้ำน้ำจันทร์

ออกพรรษาคราวหนึ่ง พระอาจารย์ดูลย์ได้นำศิษย์ซึ่งเป็นสามเณร ๒ รูป คือ สามเณรโชติ และสามเณรทอน  ออกจากสำนักสงฆ์ป่าหนองเสม็ด  เดินธุดงค์ไปตามเทือกเขาดงเร็กซึ่งเป็นป่ารกชัฏ  ลักษณะเป็นป่าดงดิบและมีสัตว์ป่ามากมาย  ทำให้การเดินทางเต็มไปด้วยความยากลำบากและอันตรายยิ่งนัก

วันหนึ่ง ขณะที่พระอาจารย์ดูลย์และศิษย์เดินธุดงค์ โดยพระอาจารย์ดูลย์เป็นผู้เดินนำหน้า และมีสามเณรทั้งสองรูปเดินตามอยู่ห่าง ๆ

ขณะนั้นเองมีควายป่าตัวหนึ่ง  วิ่งมาทางข้างหลังของสามเณรทั้งสองอย่างรวดเร็ว  สามเณรทั้งสองแลเห็นเสียก่อนจึงหลบเข้าข้างทางและพากันปีนต้นไม้หลบควายป่าตัวนั้น  แต่พระอาจารย์ดูลย์หลบทัน ควายป่านั้นวิ่งเข้าถึงตัวท่านแล้วขวิดเต็มแรงจนท่านกระเด็นล้มลงไป  มันขวิดท่านซ้ำอีกหลายทีจนพอใจ แล้วจึงวิ่งเข้าป่าไป

สามเณรทั้งสองรูปแลเห็นดังนั้นจึงตกใจเป็นยิ่งนัก  และเมื่อได้สติได้พากันลงมาจากต้นไม้  เข้ามาหาพระอาจารย์ดูลย์ แต่เมื่อเห็นพระอาจารย์ดูลย์ของตนปลอดภัยก็พากันโล่งใจ  เป็นที่น่าอัศจรรย์ใจแก่ศิษย์ทั้งสองเป็นยิ่งนัก  เพราะแม้ท่านถูกควายป่าขวิดจนจีวรขาดรุ่งริ่ง  แต่ก็ไม่ถูกอวัยวะสำคัญ  เพียงแต่เป็นรอยขีดข่วนตามซอกแขนและขาของท่านเท่านั้น

เมื่อกลับจากจาริกธุดงค์ในคราวนั้นแล้ว  พระอาจารย์ดูลย์พร้อมกับศิษย์ทั้งสอง  ได้กลับมาพำนักที่สำนักสงฆ์ป่าหนองเสม็ดเช่นเดิม  แต่ก็มีบางคราวที่ไปพำนักอยู่ที่วัดปราสาท เพื่อโปรดญาติโยมบ้าง

ครั้นจวนจะเข้าพรรษาคราวหนึ่ง  ท่านได้ดำริที่จะเรียนพระปริยัติธรรมเพิ่มเติม  จึงพาสามเณรโชติไปฝากที่วัดสุทธจินดา จ.นครราชสีมา เพื่อศึกษาพระปริยัติธรรม  จากนั้นตัวท่านจึงเดินทางต่อไปยังกรุงเทพฯ และได้เข้าพำนักจำพรรษาอยู่ที่วัดสัมพันธวงศาวาส (วัดเกาะ) เพื่อศึกษาพระปริยัติธรรมเพิ่มเติมตามที่ประสงค์  แต่ศึกษาอยู่ได้ไม่นานนักท่านก็เลิก  เพราะจิตใจของท่านเอนเอียงไปทางด้านธุดงค์กัมมัฏฐานมากกว่าเสียแล้ว  จึงเพียงแต่อยู่ปฏิบัติธรรมและโปรดญาติโยมที่วัดสัมพันธวงศาวาสเท่านั้น  เมื่อเป็นดังนั้นภายหลังจากที่ออกพรรษาแล้ว ท่านจึงเดินทางกลับ

เมื่อเดินทางถึง จ.ลพบุรี ท่านได้พำนักอยู่กับอาจารย์อ่ำ (พระเทพวรคุณ เจ้าอาวาสวัดมณีชลขันธ์)  เป็นเวลาประมาณ ๓ เดือน ระหว่างนั้นทั้งสองท่านได้แลกเปลี่ยนความรู้ในทางปฏิบัติขั้นสูงต่อกัน  และจากนั้นพระอาจารย์อ่ำได้พาพระอาจารย์ดูลย์ไปพำนักที่ถ้ำอรหันต์  หรือถ้ำน้ำจันทร์  ด้วยทราบว่าพระอาจารย์ดูลย์มุ่งหาสถานที่ซึ่งมีความวิเวกยิ่ง ๆ ขึ้นไปอีก

ถ้ำน้ำจันทร์นี้ ภายในถ้ำมีแอ่งน้ำเล็ก ๆ เต็มไปด้วยน้ำที่ใสสะอาดมีกลิ่นหอมอบอวล ชาวบ้านจึงเรียกว่าถ้ำน้ำ

พระอาจารย์ดูลย์ชอบถ้ำนี้มาก  เพราะเป็นสถานที่ที่เงียบสงบ ท่านตั้งใจที่จะอยู่ที่นี่ไปเรื่อย ๆ  แต่แล้วความตั้งใจของท่านก็เป็นอันต้องถูกล้มเลิกจนได้  เพราะวันหนึ่ง ขณะที่ท่านกำลังสรงน้ำอยู่นั้น  พระมหาพลอย อุปสโม (จุฑาจันทร์)  พระวัดสัมพันธวงศาวาส กรุงเทพฯ ได้ติดตามมาหาท่านจนพบ และได้กราบอาราธนาให้ท่านกลับไป จ.สุรินทร์  โดยได้กราบเรียนถึงจุดมุ่งหมายในครั้งนั้นว่า บรรดาญาติโยมอุบาสกอุบาสิกาทาง จ.สุรินทร์  ผู้สนใจในการประพฤติปฏิบัติธรรม และพอจะเห็นผลของการปฏิบัติบ้าง  ต่างก็มีความปรารถนาที่จะพบและร่วมปฏิบัติธรรมกับท่าน

เมื่อทราบความมุ่งหมายเช่นนั้น  ท่านจึงเดินทางกลับ จ.สุรินทร์ ตามคำอาราธนาของพระมหาพลอย และเข้าพำนักอยู่ที่สำนักสงฆ์ป่าหนองเสม็ดยังความปลาบปลื้มแก่บรรดาญาติโยมชาว จ.สุรินทร์เป็นยิ่งนัก
27#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-24 18:04 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
หลวงปู่สาม อกิญฺจโน

การกลับมาพำนักที่สำนักสงฆ์หนองเสม็ดของพระอาจารย์ดูลย์ อตุโล ในครั้งนี้ ตรงกับปี พ.ศ. ๒๔๖๘

ในระหว่างนั้นเอง พระอาจารย์ดูลย์ได้พบกับพระภิกษุหนุ่มรูปหนึ่งมีนามว่า “สาม” ซึ่งได้เข้ามากราบถวายตัวเป็นศิษย์ของท่าน  เพื่อศึกษาพระกัมมัฏฐานซึ่งมีความชอบใจในวัตรปฏิปทาและแนวทางในการปฏิบัติของพระอาจารย์ดูลย์ที่ถูกกับจริตของท่าน  และต่อมาได้ติดตามท่านออกธุดงค์ไปในสถานที่ต่าง ๆ ละแวกใกล้กับ จ.สุรินทร์

ครั้นในปี พ.ศ. ๒๔๖๙ ขณะที่พระอาจารย์ดูลย์เห็นว่าพระสามรูปนี้ได้รับผลจากการปฏิบัติมาพอสมควรแล้ว  และเป็นผู้มีศรัทธามั่นคงดีแล้ว จึงได้แนะนำให้พระสามเดินทางไปกราบนมัสการและศึกษาธรรมกับพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต  ซึ่งขณะนั้นพระอาจารย์มั่นพำนักจำพรรษาอยู่ที่เสนาสนะป่าบ้านสบบง อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม

พระสามกับพระภิกษุอีกรูปหนึ่งคือพระบุญธรรม  จึงได้ออกเดินทางไป จ.นครพนม และได้อยู่ปฏิบัติธรรมกับพระอาจารย์มั่นเป็นเวลา ๓ เดือนตามคำแนะนำของพระอาจารย์ดูลย์

จากนั้นต่อมา พระอาจารย์ดูลย์ได้แนะนำให้ภิกษุทั้งสองรูปเดินธุดงค์ไปปฏิบัติธรรมที่ จ.สกลนคร  ด้วยเหตุว่า จ.สกลนครนั้น มีสถานที่ที่เหมาะแก่การเจริญสมณธรรมตรงตามพุทธบัญญัติ  นอกจากนี้ยังมากไปด้วยพระนักปฏิบัติที่จะคอยเป็นกัลยาณมิตร  และให้คำแนะนำในเรื่องเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรมได้เป็นอย่างดี  คือ พระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม ซึ่งเป็นสหายสนิทของท่านอีกด้วย

พระภิกษุทั้งสองได้ปฏิบัติตามคำแนะนำของพระอาจารย์ดูลย์  ได้ออกเดินธุดงค์ไปยัง จ.สกลนคร และปฏิบัติธรรมอยู่ที่นั่น แต่ในเวลาไม่กี่ปีพระบุญธรรมซึ่งเป็นสหายธรรมของพระสามได้มรณภาพลง  พระสามจึงได้เดินธุดงค์ไปในทั่วทุกภาคของประเทศไทยเพียงรูปเดียวเป็นเวลานานนับสิบปี  ท่านพำนักจำพรรษามาหลายแห่ง นับได้ว่าพระสามรูปนี้เป็นพระที่เจริญด้วยธุดงควัตร เที่ยวธุดงค์อยู่เป็นเวลานาน

จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๕๑๑ ขณะที่ท่านมีอายุได้ ๖๘ ปี ท่านได้มาพำนักอยู่ที่วัดป่าไตรวิเวก อ.เมือง จ.สุรินทร์ อันเป็นที่รู้จักกันในนามของหลวงปู่สาม อกิญฺจโน

พระอาจารย์สาม อกิญฺจโน มรณภาพหลังพระอาจารย์ดูลย์ อตุโล ๘ ปี คือในวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๔ ขณะมีอายุได้ ๙๑ พรรษา
28#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-24 18:04 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ตอบแทนคุณพระอุปัชฌาย์

พระอาจารย์ดูลย์ อตุโล คงพำนักที่สำนักสงฆ์ป่าหนองเสม็ด เพื่อโปรดญาติโยมอีกระยะหนึ่ง  แต่ด้วยจิตใจที่โน้มเอียงในการปฏิบัติมากกว่า  ท่านจึงดำริที่จะออกธุดงค์กัมมัฏฐานเพื่อบำเพ็ญเพียรอีกครั้ง

เมื่อตัดสินใจดังนั้นแล้ว  จึงได้ลาญาติโยมออกจาริกธุดงค์ โดยตั้งใจว่าจะเดินทางไปเรื่อย ๆ แต่เมื่อเดินทางไปถึงวัดสุทัศนาราม  อันเป็นวัดที่ท่านเคยมาพำนักเมื่อครั้งมาศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรม  และเป็นวัดที่ท่านญัตติเป็นธรรมยุติกนิกาย  ก็ได้พบกับพระอุปัชฌาย์ของท่านขอร้องให้ช่วยกันสร้างโบสถ์วัดสุทัศนารามให้เสร็จเสียก่อนแล้วค่อยเดินธุดงค์ต่อ  ด้วยในขณะนั้นทางวัดมีทุนทรัพย์ที่จะใช้ในการก่อสร้างเพียง ๓๐๐ บาทเท่านั้น  เมื่อได้รับการขอร้องเช่นนั้น พระอาจารย์ดูลย์ก็ไม่อาจขัดพระอุปัชฌาย์ได้  ท่านจึงตกลงใจพำนักอยู่ที่วัดสุทัศนาราม เพื่อคุมการสร้างโบสถ์ให้เสร็จก่อน  ซึ่งต้องใช้เวลา ๖ ปี นับว่าเป็นโบสถ์ที่ใหญ่ที่สุดของ จ.อุบลราชธานี

ระหว่างที่พำนักอยู่ที่วัดสุทัศนารามนั้น  นอกเหนือจากการควบคุมดูแลการก่อสร้างโบสถ์แล้ว  พระอาจารย์ดูลย์ยังได้รับมอบหมายจากพระอุปัชฌาย์ให้ท่านรับผิดชอบงานอย่างอื่นควบคู่กันไปอีกด้วย  กล่าวคือปกครองพระภิกษุสามเณรในวัดสุทัศนาราม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ เป็นต้น

ในระหว่างนี้เอง  ท่านก็ได้ศิษย์เพิ่มขึ้นมาอีกผู้หนึ่ง ซึ่งภายหลังมีตำแหน่งเป็นถึงระดับอธิบดี ท่านผู้นั้นคือ พันเอกปิ่น มุทุกันต์ ซึ่งในขณะนั้นได้บวชเป็นสามเณรอยู่

ศิษย์ของพระอาจารย์ดูลย์คนนี้  เป็นผู้มีความเฉลียวฉลาดยิ่งนัก สนใจใฝ่หาความรู้อยู่เสมอ  และต้องการไปศึกษาเล่าเรียนในกรุงเทพฯ  ครั้นเมื่อพระอาจารย์ดูลย์ทราบเรื่อง จึงได้นำสามเณรปิ่นไปฝากไว้กับพระมหาเฉย (พระเทพกวี) ที่วัดสัมพันธวงศาวาส กรุงเทพฯ  เพื่อศึกษาเล่าเรียนตามที่ต้องการ จนสามเณรปิ่นสอบได้เปรียญ ๙ ประโยค  และลาสิกขาเพื่อออกไปรับราชการเป็นอนุสาสนาจารย์ในกองทัพบก  จนได้เป็นอธิบดีกรมการศาสนา ท่านเป็นนักปาฐกฝีปากกล้า ซึ่งท่านให้ความเคารพนับถือพระอาจารย์ดูลย์เป็นอาจารย์ตลอดมา  ท่านได้กล่าวถึงพระอาจารย์ดูลย์ว่า  เป็นอาจารย์กัมมัฏฐานที่พูดน้อย แต่ทำงานมากกว่า

หลังจากอยู่ที่วัดสุทัศนาราม ๖ ปี  การก่อสร้างโบสถ์ก็แล้วเสร็จตามภารกิจที่ได้รับมอบหมายจากพระอุปัชฌาย์แล้ว  พระอาจารย์ดูลย์จึงเตรียมกายที่จะออกจากริกธุดงค์แสวงหาความวิเวกเพื่อบำเพ็ญเพียรตามที่ท่านตั้งใจไว้แต่แรกที่ท่านออกจาริกธุดงค์จากสำนักสงฆ์ป่าหนองเสม็ด จ.สุรินทร์ ทันที
29#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-24 18:05 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
รับบัญชาคณะสงฆ์

แต่ในที่สุดความหวังที่จะเดินธุดงค์ก็หาได้สมปรารถนาไม่ มีอันต้องเกิดอุปสรรคขึ้นอีก  ทำให้ท่านต้องล้มเลิกความตั้งใจไปอีกคราวหนึ่ง

ในปี พ.ศ. ๒๔๗๖ พระธรรมปาโมกข์ (อ้วน ติสฺโส) ต่อมาเลื่อนสมณศักดิ์เป็นที่ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์  เจ้าคณะมณฑลนครราชสีมา ร่วมกับคณะสงฆ์ ดำริที่จะสถาปนาวัดบูรพารามขึ้นเป็นวัดธรรมยุติกนิกายแห่งแรก ของ จ.สุรินทร์ ได้มีบัญชาให้พระมหาพลอย จากวัดสัมพันธวงศาวาส กรุงเทพฯ เดินทางมาจัดการฟื้นฟูด้านการศึกษา  ขณะเดียวกันก็มีบัญชามาถึงพระอาจารย์ดูลย์ อตุโล ให้เดินทางกลับไป จ.สุรินทร์  เพื่อช่วยทางด้านวิปัสสนาธุระ บูรณะปฏิสังขรณ์วัดบูรพารามให้กลับคืนสู่สภาพที่ดี  และเป็นศูนย์การศึกษาพระพุทธศาสนาทั้งฝ่ายปริยัติและปฏิบัติ  ซึ่งขณะนั้นกำลังทรุดโทรมอย่างหนักเพราะก่อสร้างมาเกือบ ๒๐๐ ปีแล้ว  ทำให้ท่านต้องกลับ จ.สุรินทร์ ตามคำบัญชาของคณะสงฆ์ดังกล่าว

๗. วัดบูรพาราม

ด้วยความเป็นผู้เจริญด้วยคุณธรรม  จึงไม่อาจขัดต่อบัญชาของคณะสงฆ์  พระอาจารย์ดูลย์จึงออกเดินทางมายังวัดบูรพาราม จ.สุรินทร์ ในวันที่ ๒๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๗

วัดบูรพาราม ตั้งอยู่ใจกลางเมืองสุรินทร์ เป็นวัดเก่าแก่  สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยธนบุรี หรือต้นสมัยกรุงรัตนโกสินทร์  พร้อม ๆ กันกับกลางสร้างเมืองสุรินทร์  ซึ่งตั้งอยู่ภายในกำแพงชั้นในตามความประสงค์ของจางวางเมืองในสมัยนั้น  คือพระยาสุรินทร์ภักดีศรีณรงค์จางวาง (เชียงปุม) ที่ต้องการพัฒนาเมืองในด้านวัตถุให้เจริญควบคู่ไปกับความเจริญทางด้านจิตใจ

วัดนี้มีปูชนียวัตถุสำคัญเป็นที่เคารพนับถือของชาว จ.สุรินทร์  ว่าเป็นของคู่บ้านคู่เมืองคือหลวงพ่อพระชีว์ เป็นพระพุทธรูปปางมารศรีวิชัย  องค์ใหญ่หน้าตักกว้าง ๔ ศอก ประดิษฐานในมณฑปจตุรมุขก่ออิฐถือปูน  ด้านตะวันตกของพระอุโบสถ สันนิษฐานว่าสร้างมาพร้อมกับการสร้างเมืองสุรินทร์
30#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-24 18:05 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ฟื้นฟูการศึกษาพระศาสนา

การบูรณะฟื้นฟูวัดบูรพารามนี้ งานด้านพระศาสนานับเป็นงานที่หนักมาก  ด้วยในขณะนั้นยังล้าหลังในทุก ๆ อย่าง  เมื่อพระอาจารย์ดูลย์มาพำนักอยู่ที่วัดนี้  ท่านต้องริเริ่มใหม่ทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาด้านปริยัติ การปฏิบัติ การบูรณะปฏิสังขรณ์วัด และการเผยแผ่พระศาสนา ซึ่งต้องพัฒนาไปพร้อม ๆ กัน

พระอาจารย์ดูลย์ได้ปฏิบัติภารกิจนี้อย่างจริงจัง โดยเฉพาะในเรื่องการศึกษาด้านพระปริยัติธรรม  ด้วยการศึกษาในสมัยก่อนเป็นเพียงการทำสืบต่อกันมา  จ.สุรินทร์ซึ่งมีพื้นที่อยู่ใกล้กับประเทศกัมพูชานั้น  มักจะมีภาษาพื้นเมืองหรือตัวอักขระ และพยัญชนะที่ใช้ในการเรียน การเทศน์ การสวด หรือพิธีกรรมต่าง ๆ ตลอดจนคัมภีร์ก็โน้มเอียงไปทางเขมรอยู่มาก

ดังนั้นเมื่อพระอาจารย์ดูลย์เริ่มพัฒนาในด้านพระปริยัติ  ท่านก็เริ่มใช้อักษรไทยและภาษาไทยมากขึ้น  ซึ่งนับเป็นภารกิจที่หนักมากทีเดียว  จึงกล่าวได้ว่าเป็นยุคเริ่มแรกของการศึกษาด้านพระปริยัติธรรมแผนใหม่  หากมีพระภิกษุสามเณรองค์ใดสนใจในการศึกษาปริยัติ หลังจากศึกษาเบื้องต้นที่วัดแล้ว ท่านก็ส่งไปศึกษาในระดับสูงต่อที่กรุงเทพฯ

สำหรับการปฏิบัตินั้นท่านยึดแนวทางที่ท่านเคยศึกษามาในทางกัมมัฏฐานเป็นหลักสำคัญ  ในส่วนของท่านเองท่านก็ปฏิบัติอย่างเคร่งครัด  ขณะเดียวกันก็แบ่งเวลาสอนพระภิกษุสามเณรและญาติโยมที่สนใจในการปฏิบัติเป็นประจำเสมอมา  พระภิกษุสามเณรองค์ใดที่สนใจในการธุดงค์กัมมัฏฐานอย่างจริงจัง  หลังจากที่ได้รับการฝึกอบรมจากท่านแล้ว ท่านก็จะส่งไปอยู่กับพระอาจารย์ฝั้น อาจาโรบ้าง พระอาจารย์บัว ญาณสัมปันโนบ้าง เป็นต้น

การพัฒนาด้านปริยัติและปฏิบัติของพระอาจารย์ดูลย์ นับเป็นการวางรากฐานที่มั่นคงของการศึกษาพระศาสนาทั้งสองด้านมาจนตราบเท่าทุกวันนี้

นอกจากภารกิจดังกล่าวแล้ว ในสมัยนั้น จ.สุรินทร์ยังไม่มีแบบแผนในเรื่องของพิธีการปฏิบัติในวันสำคัญต่าง ๆ ทางพระพุทธศาสนาเลย เช่น วันวิสาขบูชา วันมาฆบูชา วันออกพรรษา เป็นต้น  คณะสงฆ์ในสมัยนั้นได้ริเริ่มจัดให้มีขึ้น  และกำหนดแบบอย่างในการปฏิบัติในวันสำคัญต่าง ๆ ขึ้น เช่น พิธีเวียนเทียนในวันสำคัญ การตักบาตรเทโวในวันออกพรรษา ตลอดจนศาสนพิธีก็ได้มีการฟื้นฟูขึ้นในสมัยที่พระอาจารย์ดูลย์พำนักอยู่ที่วัดบูรพารามนี่เอง

การปฏิบัติภารกิจทั้งหลายของพระอาจารย์ดูลย์ในสมัยนั้น  นับเป็นมรดกอันล้ำค่าอย่างยิ่ง ที่ท่านได้มอบให้แก่ จ.สุรินทร์ ถือได้ว่าท่านเป็นผู้เปิดกรุแห่งการศึกษาทั้งทางปริยัติและปฏิบัติ  ตลอดจนแบบอย่างให้แก่ จ.สุรินทร์จนสืบทอดมาจนถึงทุกวันนี้
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้