ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

~ หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม วัดป่าสาลวัน ~

[คัดลอกลิงก์]
11#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-23 15:24 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๏ หลวงปู่ดูลย์พบพระอาจารย์มั่นอีกครั้ง

หลวงปู่ดูลย์ อตุโล เองก็ได้จาริกตามลำพังเช่นกัน มาจนถึงบ้านม่วงไข่ ตำบลม่วงไข่ อำเภอพังโคน จังหวัดสกลนคร แล้วจึงได้ไปพำนักจำพรรษาอยู่ที่วัดโพธิ์ชัย ได้ไปพบ ท่านอาญาครูดี พระอาจารย์กู่ ธมฺมทินฺโน และพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร คณะของท่านอาญาครูดีจึงได้ศึกษาธรรมเบื้องต้นกับหลวงปู่ดูลย์อยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่ง และเนื่องจากต่างก็มีความประสงค์จะตามหาพระอาจารย์มั่นด้วยกันอยู่แล้ว ดังนั้น พระอาจารย์ทั้ง ๔ จึงได้ร่วมกันเดินธุดงค์ติดตาม โดยหลวงปู่ดูลย์รับหน้าที่เป็นผู้นำทาง เมื่อธุดงค์ติดตามไปถึงตำบลบ้านคำบก อำเภอหนองสูง (ปัจจุบันคืออำเภอคำชะอี) จังหวัดนครพนม จึงทราบว่า พระอาจารย์มั่นอยู่ที่บ้านห้วยทราย และกำลังเดินธุดงค์ต่อไปยังอำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร พระอาจารย์ทั้ง ๔ จึงรีบติดตามไปอย่างเร่งรีบ จนกระทั่งถึงบ้านตาลเนิ้ง อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร และสอบถามชาวบ้านที่นั่นได้ความว่า มีพระธุดงค์เป็นจำนวนมากมาชุมนุมกันอยู่ในป่าใกล้ๆ หมู่บ้าน ท่านรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่ง ด้วยมั่นใจว่าต้องเป็นพระอาจารย์มั่นอย่างแน่นอน จึงรีบเดินทางไปยังป่าแห่งนั้นทันที และเมื่อไปถึงก็เป็นความจริงดังที่ท่านมั่นใจ

ขณะนั้น หลวงปู่สิงห์ซึ่งได้ธุดงค์แยกกันกับหลวงปู่ดูลย์ มาพบพระอาจารย์มั่นก่อน และพักแยกกับพระอาจารย์มั่นอยู่ที่บ้านหนองหวาย ในวันนั้นหลวงปู่สิงห์เข้ามาฟังธรรมกับพระอาจารย์มั่น ขณะที่หลวงปู่ดูลย์มาถึงก็เห็นท่านและพระรูปอื่นๆ นั่งแวดล้อมพระอาจารย์มั่นอยู่ด้วยอาการสงบ ขณะนั้นเป็นปี พ.ศ. ๒๔๖๔

พระอาจารย์ทั้ง ๔ ได้ศึกษาธรรมอยู่กับพระอาจารย์มั่นเป็นเวลา ๓ วัน จากนั้นจึงได้ไปกราบนมัสการพระอาจารย์เสาร์ ที่บ้านหนองดินดำ แล้วไปหาหลวงปู่สิงห์ ที่บ้านหนองหวาย ตำบลเดียวกัน ศึกษาธรรมอยู่กับท่านอีก ๗ วัน จากนั้นก็ได้กลับไปอยู่บ้านตาลเนิ้ง และได้ไปรับฟังธรรมจากพระอาจารย์มั่นอยู่เสมอๆ

ต่อมาพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร กับสามเณรพรหม สุวรรณรงค์ ผู้มีศักดิ์เป็นหลาน ได้เดินธุดงค์ไปอำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี และได้ไปภาวนาอยู่ที่ถ้ำพระบท เมื่อครบ ๑๕ วันแล้ว พระอาจารย์ฝั้นจึงได้พาสามเณรพรหมออกเที่ยวธุดงค์ต่อไป รวมทั้ง ได้พาสามเณรพรหมเดินทางไปกราบนมัสการพระอาจารย์มั่น ที่บ้านนาสีดา ตำบลกลางใหญ่ อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี

ต่อจากนั้นพระอาจารย์มั่นได้ถามพระอาจารย์ฝั้นด้วยว่า จะไปเรียน “หนังสือใหญ่” คือ เรียนประถมกัปป์ ประถมมูล และมูลกัจจายน์ ตามที่ได้ตั้งใจไว้จริงๆ หรือ ? พระอาจารย์ฝั้นตอบว่า มีเจตนาไว้เช่นนั้นจริง พระอาจารย์มั่นเห็นความตั้งใจอย่างเด็ดเดี่ยวของพระอาจารย์ฝั้นจึงบอกว่า “ท่านฝั้น ไม่ต้องไปเรียนถึงเมืองอุบลฯ หรอก อยู่กับผมที่นี่ก็แล้วกัน ผมจะสอนให้จนหมดไส้หมดพุงเลยทีเดียว หากยังไม่จุใจค่อยไปเรียนต่อทีหลัง ส่วนเณรพรหมเธอจะไปเรียนที่เมืองอุบลฯ ก็ได้ตามใจสมัคร”

สามเณรพรหมจึงได้แยกกันกับพระอาจารย์ฝั้น ตอนนั้นเป็นปลายปีพุทธศักราช ๒๔๖๔ สามเณรพรหมลงไปเมืองอุบลฯ กับหลวงปู่สิงห์ ส่วนพระอาจารย์ฝั้นอยู่เรียน “หนังสือใหญ่” กับพระอาจารย์มั่น
12#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-23 15:24 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๏ หลวงปู่สิงห์กลับอุบลฯ

จนกระทั่งในช่วงประมาณปี พ.ศ. ๒๔๖๖ หลังจากพระมหาปิ่นสอบได้เปรียญธรรม ๕ ประโยค จากสำนักเรียนวัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ แล้ว จึงได้กลับมาจังหวัดอุบลราชธานี บ้านเกิดตามที่ปฏิญาณไว้ แล้วมาพักที่วัดสุทัศนาราม ได้เป็นครูสอนนักธรรมบาลีแก่พระภิกษุสามเณร ตลอดจนชาวบ้าน เพื่อสนองคุณครูบาอาจารย์

ในปีนั้นเองโยมมารดาของหลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม ซึ่งอยู่ที่บ้านหนองขอน จังหวัดอุบลราชธานีนั้นเอง ก็ได้ถึงแก่กรรม ขณะนั้นหลวงปู่สิงห์ได้ออกธุดงค์ไปกับพระอาจารย์มั่น ดังนั้น พระมหาปิ่น ปญฺญาพโล ผู้เป็นพระน้องชาย จึงได้เป็นผู้จัดการเกี่ยวกับงานศพของโยมมารดาและจัดการฌาปนกิจศพ ส่วนหลวงปู่สิงห์เมื่อได้ข่าวเรื่องโยมมารดาถึงแก่กรรม และทราบว่าพระน้องชายกลับจากกรุงเทพฯ มาพำนักจำพรรษาอยู่ที่วัดสุทัศนารามแล้ว ก็ได้พาคณะรวม ๖ องค์ คือ พระภิกษุ ๔ องค์ สามเณร ๒ องค์ มาพำนักจำพรรษาอยู่ที่วัดสุทัศนารามด้วย

๏ หลวงปู่สิงห์ร่วมกับหลวงปู่ดูลย์
ชักจูงพระน้องชายให้มาสนใจกรรมฐาน


ต่อมา หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม ผู้เป็นพระพี่ชาย เห็นว่า พระมหาปิ่น ปญฺญาพโล ผู้เป็นเปรียญธรรมจากสำนักวัดบวรนิเวศวิหาร มีความรู้ด้านพระปริยัติธรรมอย่างแตกฉานนั้น สนใจแต่ทางปริยัติอย่างเดียว ไม่นำพาต่อการบำเพ็ญภาวนาฝึกฝนจิตและธุดงค์กัมมัฏฐานเลย จึงได้คิดหาทางชักจูงพระน้องชายให้หันมาในใจทางด้านการปฏิบัติกัมมัฏฐานบ้าง มิฉะนั้นต่อไปจะเอาตัวไม่รอด

พอดีปี พ.ศ. ๒๔๖๗ หลวงปู่ดูลย์ อตุโล ซึ่งได้กราบลาพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ซึ่งจำพรรษาอยู่ที่บ้านค้อ อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี แล้วก็ออกเดินทางมุ่งไปจังหวัดสุรินทร์ ในระหว่างทางหลวงปู่ดูลย์ได้แวะเยี่ยมหลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม พระสหธรรมิกผู้มีคุณูปการใหญ่หลวงแก่ท่าน ขณะนั้นหลวงปู่สิงห์ธุดงค์อยู่ในแถบจังหวัดกาฬสินธุ์ หลวงปู่สิงห์เมื่อได้พบกับหลวงปู่ดูลย์ อตุโล ก็ปรารภปัญหาเกี่ยวกับพระมหาปิ่นผู้น้องชาย และขอคำปรึกษาและอุบายธรรมจากหลวงปู่ดูลย์และขอร้องให้มาช่วยกล่อมใจพระน้องชาย ในเรื่องว่าหากต้องการพ้นทุกข์ จะมาหลงปริยัติเพียงอย่างเดียวไม่ได้ เพราะปริยัติธรรมนั้นเป็นเพียงแผนที่แนวทางเท่านั้น

หลวงปู่สิงห์จึงชักชวนหลวงปู่ดูลย์ ให้เดินทางไปจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อให้ช่วยชักนำพระมหาปิ่นให้สนใจในทางปฏิบัติพระกัมมัฏฐานบ้าง ไม่เช่นนั้นจะไปไม่รอด หลวงปู่ทั้ง ๒ องค์ได้พักจำพรรษาที่วัดสุทัศนาราม วัดที่ท่านเคยอยู่มาก่อน คราวนี้ท่านได้ปลูกกุฏิหลังเล็กๆ อยู่ต่างหาก ปฏิบัติพระกัมมัฏฐานอย่างเคร่งครัด แล้วก็ค่อยๆ โน้มน้าวจิตใจให้พระมหาปิ่นเกิดความศรัทธาเลื่อมใสทางด้านการปฏิบัติด้วย
13#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-23 15:25 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ทั้งหลวงปู่สิงห์และหลวงปู่ดูลย์ ได้ชี้แจงแสดงเหตุผลว่า ในการครองเพศสมณะนั้น แม้ว่าได้บวชมาในพระบวรพุทธศาสนาก็นับว่าดีประเสริฐแล้ว ถ้าหากมีการปฏิบัติให้รู้แจ้งในธรรม ก็จะยิ่งประเสริฐขึ้นอีก คือจะเป็นหนทางออกเสียซึ่งความทุกข์ ตามแนวคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

พระมหาปิ่น ปญฺญาพโล เป็นพระสงฆ์ที่มีสติปัญญา พิจารณาปฏิปทาข้อวัตรปฏิบัติธรรม พร้อมทั้งคำเทศน์ของพระอาจารย์ทั้ง ๒ องค์ ที่ได้กระทำเป็นแบบอย่าง ก็เกิดความเลื่อมใสเป็นอย่างยิ่ง

โดยปกติแล้วหลวงปู่สิงห์และหลวงปู่ดูลย์ เป็นนักปฏิบัติธรรมขั้นสูง แม้จะมีความอาวุโสแต่ก็มีลักษณะประจำตัวในการรู้จักนอบน้อมถ่อมตน ระมัดระวังกาย วาจา ใจ ไม่คุยโม้โอ้อวดว่าตนเองได้ธรรมขั้นสูง และเห็นว่าธรรมะเป็นสมบัติอันล้ำค่าของนักปราชญ์มาประจำแผ่นดิน ซึ่งควรระมัดระวังให้สมกับผู้มีภูมิธรรมในใจ

พระมหาปิ่นได้พิจารณาด้วยเหตุด้วยผลอย่างรอบคอบแล้ว พอถึงกาลออกพรรษา จึงรีบเตรียมบริขาร แล้วออกธุดงค์ติดตามหลวงปู่สิงห์ ผู้เป็นพระพี่ชาย ไปทุกหนทุกแห่ง ทนต่อสู้กับอุปสรรคยากไร้ท่ามกลางป่าเขา มุ่งหาความเจริญในทางธรรม จนสามารถรอบรู้ธรรมด้วยสติปัญญาของท่านในกาลต่อมา

การที่พระมหาปิ่น ปญฺญาพโล ออกธุดงค์กัมมัฏฐานในครั้งนั้นประชาชนในภาคอิสาน ได้แตกตื่นชื่นชมกันมากว่า “พระมหาเปรียญธรรมหนุ่มจากเมืองบางกอก ได้ออกฝึกจิตดำเนินชีวิตสมณเพศ ตัดบ่วง ไม่ห่วงอาลัยในยศถาบรรดาศักดิ์ ออกป่าดงเดินธุดงค์กัมมัฏฐานฝึกสมาธิภาวนาเป็นองค์แรกในสมัยนั้น”

ชื่อเสียงของพระมหาปิ่น ปญฺญาพโล ในครั้งนั้นจึงหอมฟุ้งร่ำลือไปไกล ท่านได้ยืนเคียงบ่าเคียงไหล่กับพระพี่ชาย คือ หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม นำกองทัพธรรมออกเผยแผ่พระธรรมคำสอนในสายพระธรรมกัมมัฏฐาน จนมีผู้เลื่อมใสศรัทธาอย่างกว้างขวางมาจนปัจจุบัน
14#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-23 15:25 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๏ หลวงปู่สิงห์พาพระน้องชายออกธุดงค์

ในปี พ.ศ. ๒๔๖๗ เมื่อออกพรรษาหมดเขตกฐินแล้ว หลวงปู่สิงห์ได้พาพวกศิษย์เป็นคณะใหญ่ออกเดินธุดงค์ การออกเดินธุดงค์ครั้งนี้ ผู้ที่ออกใหม่ นอกจากพระมหาปิ่นแล้วแล้ว ยังมีพระเทสก์ เทสรํสี พระคำพวย พระทอน บ้านหัววัว อำเภอลุมพุก จังหวัดอุบลราชธานี และสามเณรอีก ๒ รูป รวมทั้งหมดแล้ว ๑๒ องค์ด้วยกัน

คณะธุดงค์ของหลวงปู่สิงห์ได้เดินทางออกจากเมืองอุบลฯ ในระหว่างเดือน ๑๒ แล้วได้พักแรมมาโดยลำดับ จนถึงบ้านหัวตะพาน อำนาจเจริญ แล้วพักอยู่นั่นนานพอควร แล้วย้ายไปพักที่บ้านหัวงัว อำเภอกุดชุม เตรียมเครื่องบริขารพร้อมแล้ว จึงได้ออกเดินรุกขมูล การออกเดินรุกขมูลครั้งนี้ ถึงแม้จะไม่ได้วิเวกเท่าที่ควร เพราะเดินด้วยกันเป็นคณะใหญ่ แต่ก็ได้รับรสชาติของการออกเที่ยวรุกขมูลพอสมควร

หลวงปู่สิงห์พาคณะศิษย์บุกป่ามาทางจังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดกาฬสินธุ์ ผ่านดงลิงมาออกอำเภอสหัสสขันธ์ เข้าเขตกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี แต่ไม่ได้เข้าไปในเมือง เว้นไปพักอยู่บ้านเชียงพินตะวันตก จังหวัดอุดรธานี เพื่อรอ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) สมัยเมื่อดำรงสมณศักดิ์เป็น พระเทพเมธี เจ้าคณะมณฑลอิสาน ซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์ของหลวงปู่สิงห์ด้วย ที่กำลังมาจากกรุงเทพฯ

การที่หลวงปู่สิงห์ให้คณะมารออยู่ที่อุดรธานีครั้งนี้ ท่านมีจุดประสงค์อยากให้พระมหาปิ่นมาประจำอยู่ที่นี่ เพราะที่อุดรธานียังไม่มีคณะธรรมยุต แต่ความมุ่งหมายของหลวงปู่สิงห์นั้นก็ไม่เป็นไปดังประสงค์เนื่องจาก เมื่อเจ้าคณะมณฑลมาจากกรุงเทพฯ ครั้งนี้ พระยาราชนกูลวิบูลย์ภักดีพิริยพาห (อวบ เปาโรหิตย์) อุปราชมณฑลภาคอีสาน (ภายหลังเป็นเจ้าพระยามุขมนตรีศรีสมุหนครบาล) ได้นิมนต์พระมหาจูม พนฺธุโล เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์เป็นพระครูสังฆวุฒิกร (ภายหลังเป็นพระธรรมเจดีย์) มาด้วยเพื่อจะให้มาอยู่วัดโพธิสมภรณ์ จังหวัดอุดรธานี

ฉะนั้น เมื่อเจ้าคณะมณฑลมาถึงแล้ว หลวงปู่สิงห์จึงพาคณะเข้าไปกราบนมัสการ ท่านจึงกำหนดให้เอาพระมหาปิ่นไปไว้ที่จังหวัดสกลนคร และให้พระเทสก์ เทสรํสี อยู่ช่วยพระมหาปิ่น
15#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-23 15:26 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๏ พบพระอาจารย์มั่นเป็นครั้งที่สอง

เมื่อตกลงกันเรียบร้อยดังนั้นแล้ว หลวงปู่สิงห์ได้พาคณะออกเดินทางไปนมัสการกราบหลวงปู่ใหญ่เสาร์ กับพระอาจารย์มั่นที่บ้านค้อ อำเภอบ้านผือ ซึ่งท่านได้จำพรรษาอยู่ ณ ที่นั้น ตกกลางคืนพระอาจารย์มั่นได้เทศนาอบรมธรรมคณะหลวงปู่สิงห์ หลวงปู่เทสก์ได้เล่าเรื่องนี้ไว้ในหนังสืออัตตโนประวัติของท่านไว้ดังนี้

“คืนวันนั้นเสร็จจากการอบรมแล้ว ท่านก็สนทนาธรรมสากัจฉากันตามสมควร แล้วจบด้วยการพยากรณ์พระมหาปิ่น แลตัวเราในด้านความสามารถต่างๆ นานา ตอนนี้ทำให้เรากระดากใจตนเองในท่ามกลางหมู่เพื่อนเป็นอย่างยิ่ง เพราะตัวของเราเองพึ่งบวชใหม่แลมองดูตัวเราแล้วก็ไม่เห็นมีอะไรพอที่ท่านจะสนใจในตัวของเรา มันทำให้เราขวยเขินอยู่แล้ว แต่คนอื่นเราไม่ทราบเพราะเห็นสถานที่แลความเป็นอยู่ของพระเณรตลอดถึงโยมในวัด เขาช่างสุภาพเรียบร้อย ต่างก็มีกิจวัตรและข้อวัตรประจำของตนๆ นี่กระไร พอท่านพยากรณ์พระมหาปิ่นแล้วมาพยากรณ์เราเข้า ยิ่งทำให้เรากระดากใจยิ่งเป็นทวีคูณ แต่พระมหาปิ่นคงไม่มีความรู้สึกอะไร นอกจากท่านจะตรวจดูความสามารถของท่านเทียบกับพยากรณ์เท่านั้น”

รุ่งเช้าฉันจังหันแล้ว หลวงปู่สิงห์ได้พาคณะเดินทางต่อไปบ้านนาสีดา ได้พาพักอยู่ ณ ที่นั่น ๔ คืนแล้วย้อนกลับทางเดิม มาพักกับพระอาจารย์มั่นที่บ้านค้ออีกหนึ่งคืน จึงเดินทางกลับอุดรธานี แล้วได้เดินทางต่อไปสกลนครตามที่ได้ตกลงไว้กับเจ้าคณะมณฑล แต่การนั้นไม่เป็นไปตามจุดประสงค์ของเจ้าคณะมณฑล เพราะพระมหาปิ่นอาพาธไม่สามารถจะไปรับหน้าที่ที่มอบหมายให้ได้ ฉะนั้น ในพรรษานั้น หลวงปู่สิงห์จึงได้พาคณะไปจำพรรษาที่วัดป่าหนองลาด อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร
16#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-23 15:26 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๏ พระอาจารย์มั่นให้ตามท่านไปตั้งวัดที่บ้านสามผง

ส่วนหลวงปู่ใหญ่เสาร์ กนฺตสีโล กับพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต พอออกพรรษา ปี พ.ศ. ๒๔๖๗ ท่านก็ออกจากบ้านค้อ อำเภอผือ จังหวัดอุดรธานี พาคณะออกธุดงค์ แสวงหาที่สงัดวิเวกแยกกันออกเป็นหมู่เล็กๆ เพื่อมิให้เป็นปลิโพธในหมู่มาก ปีนี้ท่านได้เดินธุดงค์ไปทางบ้านนาหมี บ้านนายูง (อุดรธานี) และบ้านผาแดง-แก้งไก่ (หนองคาย) ครั้นพระอาจารย์มั่นได้พักวิเวกอยู่ที่ผาแดง-แก้งไก่ พอสมควรแล้วก็ได้ออกเดินทางไปทางอำเภอท่าบ่อ หลวงปู่ใหญ่เสาร์ได้พักจำพรรษาที่วัดราช ใกล้บ้านน้ำโขง อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย ส่วนพระอาจารย์มั่นได้เข้าไปพักอยู่ที่ราวป่าใกล้กับป่าช้าของอำเภอท่าบ่อนั้น (ปัจจุบันเป็นวัดอรัญญวาสี)

ขณะเดียวกันพระกรรมฐานกลุ่มของหลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม กับพระมหาปิ่น ปญฺญาพโล ยังคงจำพรรษาอยู่ที่เดิมที่วัดป่าหนองลาด บ้านปลาโหล อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร

หลวงปู่ใหญ่เสาร์ กนฺตสีโล และคณะศิษย์ ได้อยู่จำพรรษาที่วัดพระงามแห่งนี้นาน ๒ พรรษา คือในปี พ.ศ. ๒๔๖๗-๒๔๖๘ เป็นพรรษาที่ ๔๔ และ ๔๕ ของท่าน

พ.ศ. ๒๔๖๘ เมื่อใกล้จะออกพรรษา ทางด้านพระอาจารย์มั่นก็ได้ประชุมหมู่ศิษย์เพื่อเตรียมออกเที่ยวธุดงค์หาที่สงัดวิเวก และได้จัดหมู่ศิษย์ออกไปธุดงค์เป็นพวกๆ เป็นชุดๆ ส่วนตัวท่านเองนั้น พระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตฺตโก และพระอาจารย์สีลา อิสฺสโร ได้อาราธนาให้ไปจำพรรษาอยู่ที่เสนาสนะป่าบ้านสามผง อำเภอท่าอุเทน (ปัจจุบันอยู่ในอำเภอศรีสงคราม) จังหวัดนครพนม หลังออกพรรษาแล้ว พระอาจารย์มั่นจึงได้เดินทางมาถึงบ้านหนองลาด ที่หลวงปู่สิงห์ พระมหาปิ่น และคณะจำพรรษาอยู่ และพระอาจารย์มั่นได้ให้หลวงปู่สิงห์และคณะติดตามท่านไปตั้งสำนักที่บ้านสามผง อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม

ในปี พ ศ. ๒๔๖๙ หลวงปู่ใหญ่เสาร์ กนฺตสีโล ธุดงค์ออกจากวัดพระงาม อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย แล้วก็ไปเชียงคาน จังหวัดเลย ขึ้นไปที่ภูฟ้า ภูหลวง แล้วก็กลับมาจังหวัดอุดรธานี จำพรรษาอยู่ที่เสนาสนะป่าบ้านดงยาง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี
17#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-23 15:26 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
พระอาจารย์มั่นและพระภิกษุสามเณรหลายรูป จำพรรษาที่เสนาสนะป่า บ้านสามผง อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม ศิษย์อาวุโสองค์อื่นๆ แยกพักจำพรรษาในที่ต่างๆ ดังนี้

หลวงปู่สิงห์ พระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล ผู้เป็นน้องร่วมสายโลหิต และพระอาจารย์เทสก์ เทสฺรํสี จำพรรษาที่ป่าบ้านอากาศ ตำบลอากาศ อำเภอวานรนิวาส (ปัจจุบันเป็นอำเภออากาศอำนวย) จังหวัดสกลนคร พระอาจารย์กู่ ธมมทินโน จำพรรษาที่บ้านโนนแดง พระอาจารย์อุ่น ธมฺมธโร จำพรรษาที่บ้านข่าใกล้บ้านสามผง พระอาจารย์มั่นและคณะส่วนหนึ่งได้ไปจำพรรษาที่เสนาสนะป่าบ้านสามผง อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม ใกล้กับวัดโพธิ์ชัย ตามคำอาราธนาของพระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตฺตโก และพระอาจารย์สีลา อิสฺสโร

วันที่ ๑๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๙ พระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตฺตโก และพระอาจารย์สีลา อิสฺสโร ก็ได้ทำญัตติกรรมพร้อมกับพระภิกษุที่เป็นศิษย์ของท่านทั้งสองอีกประมาณ ๒๐ องค์ อีกด้วย ในจำนวนพระภิกษุที่มาทำการญัตติ มี พระอาจารย์สิม พุทธาจาโร ซึ่งครั้งนั้นยังเป็นสามเณรรวมอยู่ด้วยรูปหนึ่ง โดยได้กระทำพิธีที่อุทกุกเขปสีมา (โบสถ์น้ำ) หนองสามผง สำหรับโบสถ์น้ำที่ท่านจัดสร้างขึ้นนี้ ใช้เรือ ๒ ลำลอยเป็นโป๊ะ เอาไม้พื้นปูเป็นแพ แต่ไม่มีหลังคา เหตุที่สร้างโบสถ์น้ำทำสังฆกรรมคราวนี้ ก็เพราะในป่าจะหาโบสถ์ให้ถูกต้องตามพระวินัยไม่ได้ การทำญัตติกรรมครั้งนี้ ได้อาราธนา ท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์เป็น พระครูชิโนวาทธำรง มาเป็นพระอุปัชฌาย์, พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม เป็นพระกรรมวาจาจารย์, พระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล เป็นพระอนุสาวนาจารย์ และพระอาจารย์มั่นนั่งหัตถบาสร่วมอยู่ด้วย
18#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-23 15:27 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๏ ตามพระอาจารย์มั่นไปอุบลราชธานี

หลังจากออกพรรษา ปี พ.ศ. ๒๔๖๙ แล้ว หลวงปู่สิงห์ได้พาคณะไปกราบนมัสการพระอาจารย์มั่นที่บ้านสามผง ซึ่งท่านได้จำพรรษาอยู่ที่นั่น แล้วท่านก็ได้พาคณะเดินทางมาที่บ้านโนนแดง อำเภอท่าอุเทน (ปัจจุบันอยู่ในกิ่งอำเภอนาหว้า) จังหวัดนครพนม พร้อมด้วยพระภิกษุสามเณรประมาณ ๗๐ รูป และได้มีการประชุมหารือกันในเรื่องที่จะไปเผยแผ่ธรรม และไปโปรดเทศนาญาติโยมที่เมืองอุบลฯ และได้วางระเบียบการปฏิบัติเกี่ยวกับการอยู่ป่า เกี่ยวกับการตั้งสำนักปฏิบัติ เกี่ยวกับแนวทางแนะนำสั่งสอนปฏิบัติจิต เพื่อให้คณะศิษย์นำไปปฏิบัติให้เป็นระเบียบเดียวกัน จากนั้นท่านปรารภเรื่องจะนำโยมแม่ออก (มารดาท่านซึ่งบวชเป็นชี) ไปส่งมอบให้น้องสาวท่านที่จังหวัดอุบลฯ ช่วยดูแล เพราะท่านเห็นโยมแม่ท่านชรามาก อายุ ๗๘ ปีแล้ว เกินความสามารถท่านผู้เป็นพระจะปฏิบัติได้แล้ว หลวงปู่สิงห์ พระอาจารย์มหาปิ่น ต่างก็รับรองเอาโยมแม่ออกท่านไปส่งด้วย เพราะโยมแม่ออกของพระอาจารย์มั่นแก่มากหมดกำลัง ต้องไปด้วยเกวียนจึงจะไปถึงเมืองอุบลฯ ได้

การเดินทางไปจังหวัดอุบลราชธานีอันเป็นถิ่นบ้านเกิดเมืองนอนของท่านในครั้งนี้ ถือว่าเป็นครั้งสำคัญครั้งหนึ่ง เพราะบรรดาศิษยานุศิษย์ทั้งใหญ่และเล็กก็ได้เตรียมที่จะเดินทางติดตามท่านในครั้งนี้แทบทั้งนั้น การเดินทางเป็นการเดินแบบเดินธุดงค์ แต่การธุดงค์นั้นเพื่อให้เป็นประโยชน์ด้วย ท่านจึงจัดเป็นคณะๆ ละ ๓ รูป ๔ รูปบ้าง ท่านเองเป็นหัวหน้าเดินทางไปก่อน เมื่อคณะที่ ๒ ไปก็จะพักที่เดิมที่คณะที่ ๑ พัก คณะที่ ๓-๔ เมื่อตามคณะที่ ๒ ไปก็จะพักที่เดิมนั้น ทั้งนี้เพื่อจะได้สอนคณะศรัทธาญาติโยมตามรายทางด้วย การสอนนั้นก็เน้นหนักไปในทางกัมมัฏฐาน และการถึงพระไตรสรณาคมน์ ที่ให้ละการนับถือภูตผีปีศาจต่างๆ นานา เป็นการทดลองคณะศิษยานุศิษย์ไปในตัวด้วยว่าองค์ใดจะมีผีมือในการเผยแผ่ธรรม

ในการเดินทางนั้น พอถึงวันอุโบสถก็จะนัดทำปาฏิโมกข์ หลังจากนั้นแล้วก็จะแยกย้ายกันไปตามที่กำหนดหมาย

การเดินธุดงค์แบบนี้ท่านบอกว่าเป็นการโปรดสัตว์ เพื่อให้เป็นประโยชน์แก่พุทธบริษัททั้งหลาย และก็เป็นจริงเช่นนั้น แต่ละแห่งที่ท่านกำหนดพักนั้น ตามหมู่บ้านประชาชนได้เกิดความเลื่อมใสยิ่งในพระคณะกัมมัฏฐานนั้นเป็นอย่างดีและต่างก็รู้ผิดชอบในพระธรรมวินัยขึ้นมาก ตามสถานที่เป็นที่พักธุดงค์ในการครั้งนั้น ได้กลับกลายมาเป็นวัดของคณะกัมมัฏฐานเป็นส่วนใหญ่ในภายหลัง โดยญาติโยมทั้งหลายที่ได้รับรสพระธรรมได้พากันร่วมอกร่วมใจกันจัดการให้เป็นวัดขึ้น โดยเฉพาะให้เป็นวัดพระภิกษุสามเณรฉันมื้อเดียว ฉันในบาตร บำเพ็ญสมาธิกัมมัฏฐาน

อย่างไรก็ตาม คณะธุดงค์ทั้งหลายก็เผอิญไปพบกันเข้าอีก ที่จังหวัดสกลนคร เพื่อร่วมงานศพมารดานางนุ่ม ชุวานนท์ และงานศพพระยาปัจจันตประเทศธานี บิดาของพระพินิจฯ เมื่อเสร็จงานฌาปนกิจทั้งสองศพนั้นแล้ว พระอาจารย์ทั้งสองและสานุศิษย์ต่างก็แยกย้ายกันธุดงค์ต่อไปเพื่อมุ่งไปยังจังหวัดอุบลราชธานี

ส่วนพระอาจารย์มั่นธุดงค์ไปทางบ้านเหล่าโพนค้อ ได้แวะไปเยี่ยมอุปัชฌาย์พิมพ์ ต่อจากนั้นท่านก็ธุดงค์ต่อไป และพักบ้านห้วยทราย ๑๐ วัน โดยจุดมุ่งหมายท่านต้องการจะเดินทางกลับไปที่จังหวัดอุบลราชธานี ก็ได้บรรลุถึงหมู่บ้านหนองขอน อยู่ในเขตอำเภออำนาจเจริญ จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นบ้านเกิดของท่านหลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม ซึ่งชาวบ้านเมื่อได้ฟังธรรมเทศนาของท่านแล้ว เกิดความเลื่อมใสจึงได้พร้อมใจกันอาราธนาให้ท่านจำพรรษา เมื่อท่านเห็นว่าจะเป็นประโยชน์ก็รับอาราธนา ชาวบ้านจึงช่วยกันจัดแจงจัดเสนาสนะถวายจนเป็นที่พอเพียงแก่พระภิกษุที่ติดตามมากับท่าน

พ.ศ. ๒๔๗๐ ในพรรษานี้พระอาจารย์มั่นได้พักอยู่บ้านหนองขอน ตามที่ชาวบ้านได้อาราธนาหลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม และพระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล จำพรรษาที่บ้านหัวตะพาน บริเวณใกล้เคียงกัน
19#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-23 15:27 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๏ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) กับพระกัมมัฏฐาน

เรื่องปัญหาที่พระกัมมัฏฐานในสมัยนั้นได้ประสบ ซึ่งเป็นเรื่องที่ก่อให้เกิดทั้งความยุ่งยากต่อหมู่คณะพระกัมมัฏฐาน และทั้งผลดีในแง่ที่ก่อให้เกิดการแพร่ขยายทั้งการสร้างวัดป่าขึ้นในสถานที่ต่างๆ ที่พระกัมมัฏฐานได้ธุดงค์ไปพัก และทั้งทางด้านการปฏิบัติธรรมของประชาชนตามทางที่พระกัมมัฏฐานได้ธุดงค์ไปโปรด

สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) นั้น แม้เจ้าประคุณสมเด็จฯ จะเป็นพระผู้มีคุณูปการต่อวงการพระพุทธศาสนาอย่างมหาศาล จัดการศึกษาแก่พระสงฆ์และแก่ประชาชนอย่างได้ผลดียิ่ง จัดการปกครองคณะสงฆ์ได้อย่างเรียบร้อยดีงาม ท่านมีลูกศิษย์ลูกหามากมายเต็มบ้านเต็มเมืองทีเดียว แต่ในระยะต้นนั้นท่านไม่ชอบพระธุดงค์เอาเลย ท่านว่าเป็นพระขี้เกียจ ไม่ศึกษาเล่าเรียน ถึงกับมีเรื่องต้องขับไล่ไสส่งมาแล้วหลายครั้งหลายหน ท่านไม่เห็นด้วยกับการเป็นพระธุดงค์กัมมัฏฐาน ไม่เห็นด้วยกับการศึกษาธรรมด้วยการนั่งสมาธิภาวนา ท่านจึงขัดขวางหลวงปู่ใหญ่เสาร์ กนฺตสีโล และหลวงปู่ใหญ่มั่น ภูริทตฺโต แทบทุกวิถีทางก็ว่าได้

จากการที่เจ้าประคุณสมเด็จฯ ไม่เห็นด้วยในการออกธุดงค์ ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง เป็น “พระธุดงค์เร่ร่อน” นี้ เจ้าประคุณสมเด็จฯ จึงพยายาม “จัดระเบียบพระ” ให้อยู่เป็นหลักแหล่ง มีสังกัดที่แน่นอน ปัญหานี้จึงเป็นเหตุให้พระบูรพาจารย์บางองค์ท่านหลบหลีกความรำคาญ ข้ามโขงไปอยู่ทางฝั่งลาวก็มี หรือธุดงค์เข้าป่าทึบดงดิบไปเลยก็มี ในปี พ.ศ. ๒๔๗๐ นี้ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่เกิดขึ้น
20#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-23 15:27 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๏ พระกัมมัฏฐานโดนพระเถระผู้ใหญ่ขับไล่

ระหว่างปีนั้น สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเป็น พระโพธิวงศาจารย์ เจ้าคณะมณฑลและเจ้าคณะธรรมยุตในภาคอิสาน ทราบข่าวว่ามีคณะพระกัมมัฏฐานของพระอาจารย์มั่น เดินทางมาพักอยู่ที่บ้านหัวตะพาน จึงสั่งให้เจ้าคณะแขวง อำเภอม่วงสามสิบ กับเจ้าคณะแขวงอำเภออำนาจเจริญ พร้อมด้วยนายอำเภออำนาจเจริญ ไปทำการขับไล่พระภิกษุคณะนี้ออกไปให้หมด ทั้งยังได้ประกาศด้วยว่า ถ้าผู้ใดใส่บาตรพระกัมมัฏฐานเหล่านี้จะจับใส่คุกให้หมดสิ้น แต่ชาวบ้านก็ไม่กลัว ยังคงใส่บาตรกันอยู่เป็นปกติ นายอำเภอทราบเรื่องจึงไปพบพระภิกษุคณะนี้อีกครั้งหนึ่ง แล้วแจ้งมาว่า ในนามของจังหวัด ทางจังหวัดสั่งให้มาขับไล่

หลวงปู่สิงห์ซึ่งเป็นคนจังหวัดอุบลราชธานี ได้ตอบโต้ไปว่า ท่านเกิดที่นี่ท่านก็ควรจะอยู่ที่นี่ได้ นายอำเภอไม่ยอม พระอาจารย์ฝั้นก็ได้ช่วยพูดขอร้องให้มีการผ่อนสั้นผ่อนยาวกันบ้าง แต่นายอำเภอก็ไม่ยอมท่าเดียว จากนั้นก็จดชื่อพระกัมมัฏฐานไว้ทุกองค์ รวมทั้ง ท่านพระอาจารย์มั่น พระอาจารย์สิงห์ พระอาจารย์มหาปิ่น พระอาจารย์เที่ยง พระอาจารย์อ่อน พระอาจารย์ฝั้น พระอาจารย์เกิ่ง พระอาจารย์สีลา พระอาจารย์กู่ พระอาจารย์กว่า เป็นต้น นายอำเภอจนหมดแม้กระทั่งนามโยมบิดา-โยมมารดา สถานที่เกิด วัดที่บวช ทั้งหมดมีพระภิกษุสามเณรกว่า ๕๐ รูป และพวกลูกศิษย์ผ้าขาวอีกมากร่วม ๑๐๐ คน นายอำเภอต้องใช้เวลาจดตั้งแต่กลางวันจนถึงสองยามจึงเสร็จ ตั้งหน้าตั้งตาจดจนกระทั่งไม่ได้กินข้าวเที่ยง เสร็จแล้วก็กลับไป

ทางฝ่ายพระทั้งหลายก็ประชุมปรึกษากันว่า ทำอย่างไรดีเรื่องนี้จึงจะสงบลงได้ ไม่ลุกลามออกไปเป็นเรื่องใหญ่ พระอาจารย์อ่อน และพระอาจารย์ฝั้นรับเรื่องไปพิจารณาแก้ไข

เสร็จการปรึกษาหารือแล้ว พระอาจารย์ฝั้นก็รีบเดินทางไปพบพระอาจารย์มั่น ที่บ้านหนองขอน ซึ่งอยู่ห่างออกไป ๕๐ เส้น พระอาจารย์มั่นทราบเรื่องจึงให้พระอาจารย์ฝั้นนั่งพิจารณา พอกำหนดจิตเป็นสมาธิแล้วปรากฏเป็นนิมิตว่า “แผ่นดินตรงนั้นขาด” คือแยกออกจากกันเป็นสองข้าง ข้างโน้นก็มาไม่ได้ ข้างนี้ก็ไปไม่ได้ พอดีสว่างพระอาจารย์ฝั้นจึงเล่าเรื่องที่นิมิตให้พระอาจารย์มั่นฯ ฟัง

เช้าวันนั้นเอง พระอาจารย์มหาปิ่นกับพระอาจารย์อ่อนได้ออกเดินทางไปจังหวัดอุบลฯ เพื่อพบกับเจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะจังหวัดชี้แจงว่า ท่านไม่ได้รู้เรื่องอะไรเลย จากนั้นได้ให้นำจดหมายไปบอกนายอำเภอว่า ท่านไม่ได้เกี่ยวข้อง เรื่องยุ่งยากทั้งหลายจึงได้ยุติลง
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้