ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

~ หลวงปู่ครูบาเจ้าชุ่ม โพธิโก วัดชัยมงคล (วัดวังมุย) ~

[คัดลอกลิงก์]
11#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-4-7 11:04 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
การบูรณะวัดพระธาตุจอมกิจจิ * อ.สันทราย จ.เชียงใหม่

* วัดพระธาตุจอมกิจจิ จ.เชียงใหม่ - ปัจจุบันเรียกว่า วัดพระธาตุจอมกิตติ  
พ้องกับที่ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย



หลวงปู่ครูบาเจ้าชุ่ม มีวัย ๗๗ ปี แล้ว ในตอนที่มานั่งหนักเป็นประธาน
บูรณะวัดพระธาตุจอมกิจจิ ในปี พ.ศ. ๒๕๑๘
แม้ท่านจะชราภาพแล้ว แต่ดูเหมือนจะมีเหตุให้ต้องมาทำภารกิจนี้ในที่สุด
อาจจะเนื่องเพราะวาจาสิทธิ์ของครูบาเจ้าศรีวิชัย ผู้เป็นพระอาจารย์ของท่าน
ซึ่งกล่าวกับผู้ใหญ่บ้านในท้องที่ ตอนเขาเหล่านั้นมาอาราธนาท่าน
ให้บูรณะวัดพระธาตุจอมกิจจิ  สถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้

"สถานที่นี้ต้องรอเจ้าของเขามาสร้าง ซึ่งจะเป็นศิษย์ของเราเอง
โดยจะเริ่มสร้างในปี พ.ศ. ๒๕๑๘"

และในปี พ.ศ. ๒๕๑๘ นี้เอง ที่หลวงปู่ครูบาเจ้าชุ่มได้พบกันด้วย "กายเนื้อ"
กับ หลวงพ่อพระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ) วัดท่าซุง เป็นครั้งแรก


ครูบาเจ้าชุ่ม กับ พระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤาษีลิงดำ)


หลวงพ่อพระราชพรหมยานท่่านเป็นพระอริยะเจ้าผู้มีชื่อเสียงเกียรติคุณขจรไกล
มีศิษยานุศิษย์มากมายทั่วประเทศ ในราวปี พ.ศ. ๒๕๑๘
ท่านพาคณะศิษย์เดินทางมากราบพระอริยเจ้า "สายเหนือ"
ที่ท่านเรียกว่า "พระสุปฏิปันโน" หลายรูป รวมทั้งหลวงปู่ครูบาเจ้าชุ่ม โพธิโก ด้วย
มูลเหตุดังนี้จึงทำให้คนเมืองหลวง และภาคอื่นๆ ได้รู้จักพระ "อริยเจ้า" อีกหลายรูป
ซึ่งหลบเร้นอยู่ในดินแดนแห่งป่าเขาทางภาคเหนือ ดินแดนศักดิ์สิทธิ์ที่มีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน

แล้วก็ด้วยเหตุนี้เช่นกัน ทำให้หนังสือของวัดท่าซุงหลายเล่ม
มีเนื้อหากล่าวถึงหลวงปู่ครูบาเจ้าชุ่มอยู่ไม่น้อย
เช่น หนังสือ "ตามรอบพระบาท" ของพระอาจารย์ชัยวัฒน์ อชิโต วัดท่าซุง

"ตามรอยพระบาท" มุ่งนำเสนอเรื่องราวประวัติศาสตร์-ตำนานอันทรงคุณค่า
เนื่องแต่การเดินทางเผยแผ่ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
บางสถานที่ ยังเป็นการตามรอยพระบาทของครูบาอาจารย์ที่ยิ่งใหญ่
อย่างครูบาเจ้าศรีวิชัยด้วย เพราะสถานที่นั้นๆ ครูบาอาจารย์ให้ไปสักการะ
บูรณะพัฒนาไว้ก่อนแล้ว นับเป็นการตามรอยพระบาทสมดังชื่อหนังสืออย่างแท้จริง


เรื่องการเข้านิโรธสมาบัติ

หลวงปู่ครูบาเจ้าชุ่มท่านเป็นพระนักปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน
ที่ได้รับการถ่ายทอดวิชาความรู้มาจากครูบาอาจารย์ต่างๆ หลายองค์
และได้นำมาปฏิบัติตั้งแต่เมื่อเป็นสามเณร สมัยอยู่กับ ครูบาอินตา วัดเจดีย์ขาว

ครูบาเจ้าศรีวิชัย เป็นผู้ที่วางขนบจารีตเกี่ยวกับการ “เข้านิโรธ” ไว้
ทำให้ครูบาอาจารย์และพระภิกษุทางภาคเหนือยึดถือปฏิบัติสืบๆ กันมา
รวมถึงหลวงปู่ครูบาเจ้าชุ่ม ท่านมักหาวาระและโอกาสเข้านิโรธอยู่เนืองๆ
เท่าที่ทราบกันเป็นวงกว้าง และมีหลักฐานบันทึกไว้ระบุว่า
ครูบาเจ้าชุ่ม โพธิโก เข้านิโรธสมาบัติมาแล้ว ๘ ครั้ง
ครั้งหลังสุด เข้าเมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๘
และออกจากนิโรธสมาบัติในตอนย่ำรุ่ง วันที่ ๒๑ มิถุนายน คือ ๗ วันต่อมา

การเข้านิโรธสมาบัติของหลวงปู่ครูบาเจ้าชุ่ม โพธิโก ครั้งนี้
เป็นพิเศษยากยิ่งกว่าทุกครั้ง เพราะท่านเข้าด้วยอิริยาบถ ๔
โดยทรงอารมณ์อยู่ในจตุตถฌานตลอดเวลา นับว่ากำลังจิตท่านแข็งแกร่ง
มีบุญบารมีสูงยิ่ง และการเข้านิโรธสมาบัติในครั้งนี้นี่เอง ที่มีประชาชนทราบกันแพร่หลายมากที่สุด

มีครั้งหนึ่ง ท่านไปเข้าอยู่กรรมที่วัดน้ำบ่อหลวง พระที่เข้าไปอยู่กรรมในครั้งนั้น
มี ครูบาอินทจักร์รักษา ครูบาชัยยะวงศา ครูบาขันแก้ว และอีกหลายรูป
หลังจากออกกรรมแล้ว ได้มาเข้านิโรธองค์เดียว ๗ วัน ที่วัดเก่า (วัดศรีสองเมือง)
ก่อนที่จะเข้านิโรธ ท่านได้ตั้งสัจจะอธิษฐาน บอกกล่าวสิ่งศักดิ์สิทธิ์และครูบาอาจารย์
หลังจากนั้นได้คล้องบาตรไปรับน้ำ ๓ แก้ว จากลุงอ้าย
และได้ฉันน้ำในบาตรจนพอสมควร จึงได้เดินเข้าไปในกระท่อมที่ศรัทธาได้สร้างไว้ที่วัดเก่า
ตลอด ๗ วันนี้ จะไม่มีใครเข้าไปหา หรือรบกวนท่าน
โดยจ่าสรสิทธิ์ ได้นำลูกน้องมาคุ้มครองดูแล จัดเวรยาม รักษาความสงบให้กับครูบาชุ่ม
คนทั้งหมดจะอยู่ล้อมรอบบริเวณด้านนอกของเขตวัดทั้งหมด
ห้ามบุคคลภายนอกเข้าไปใกล้กระท่อม ตั้งแต่วันที่ท่านเข้านิโรธ จนถึงวันที่ท่านออก
ปรากฏว่าด้านนอกวัด มีชาวบ้านวังมุยและประชาชนจากที่อื่น
พากันมานอนเฝ้าชมบารมีของท่านเป็นจำนวนมากมายทุกวัน

ในวันหนึ่ง ระหว่างที่ท่านข้านิโรธอยู่นั้น มีลูกศิษย์และคนทั่วไปที่อยู่ด้านนอก
มองเห็นหลวงปู่ลงมาจากกระท่อม มาเดินจงกรม ยืนภาวนา
และเดินไปนั่งสมาธิที่ใต้ต้นโพธิ์ในวัดห่าง
พอได้เวลาท่านจะเดินขึ้นไปนั่งหรือนอนสมาธิบนกระท่อมอีกครั้ง

ลักษณะเช่นนี้ ตรงกับคำพูดที่หลวงพ่อพระราชพรหมยาน วัดท่าซุง
เคยกล่าวกับศิษยานุศิษย์ของท่านว่า

“หลวงปู่ชุ่ม ท่านเป็นพระสุปฏิปันโน เป็นพระที่ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ
และเป็นพระน้อยองค์นักที่จะสามารถเข้านิโรธสมาบัติได้ทุกอิริยาบถ คือ ยืน เดิน นั่ง นอน”



ออกจากนิโรธสมาบัติครั้งสุดท้าย

วันที่หลวงปู่ครูบาเจ้าชุ่มออกจากนิโรธ ได้มีประชาชนทั่วไปทั้งใกล้และไกล
ทราบข่าวแล้วพากันเดินทางมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก
ทั้งทหาร ตำรวจ และประชาชน ในครั้งนี้มีพระผู้ใหญ่เดินทางมาร่วมงานบุญหลายรูปด้วยกัน คือ

- ครูบาพรหมา วัดพระพุทธบาทตากผ้า อ.ป่าซาง จ.ลำพูน

- หลวงปู่คำแสน คุณาลังกาโร วัดป่าดอนมูล อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่

- ครูบาวงศ์ วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม อ.ลี้ จ.ลำพูน

- ครูบาธรรมชัย วัดทุ่งหลวง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ และ

- หลวงพ่อพระราชพรหมยาน วัดท่าซุง อ.เมือง จ.อุทัยธานี

ในวันที่ครูบาเจ้าชุ่มออกจากนิโรธนั้น ครูบาวงศ์ ได้นำคณะลูกศิษย์พร้อมชาวเขามาร่วมพิธี
พร้อมกับนำเรือขนาดใหญ่มาถวายครูบาเจ้าชุ่ม โดยทำฐานเป็นล้อไม้รองรับเรือ
แล้วเข็นมาจากวัดห้วยต้ม อ.ลี้ ใช้เวลาเดินทางบากบั่นมาราว ๑ เดือน
จึงเข็นเรือมาถึงที่วัดชัยมงคล (วังมุย) การถวายเรือนี้มีเหตุว่า วัดวังมุยนั้นอยู่ในที่ลุ่ม
จึงเกิดน้ำท่วมทุกปี ท่วมครั้งหนึ่งกินเวลานานหลายวัน เคยท่วมอยู่นานที่สุดถึง ๒ เดือน
ระดับน้ำสูงเป็นเมตร พระเณรต้องลำบากอย่างยิ่ง
ด้วยเหตุนี้ครูบาวงศ์ และศรัทธาชาวเขาจึงได้นำเรือเดินทางรอนแรมมาถวาย

ตอนที่ครูบาเจ้าชุ่มออกนิโรธสมาบัติ ครูบาอาจารย์ท่านอื่น ได้ยืนคอยรับท่านอยู่แล้ว
ต่างตรงเข้าประคองท่านขึ้นนั่งบนเสลี่ยง โดยมีบรรดาชาวบ้าน และชาวเขา
พร้อมใจกันช่วยหามเสลี่ยง จากนั้น พระเถระทุกองค์เดินนำหน้าเสลี่ยง
ตามมาด้วยศรัทธาชาวบ้าน แห่ครูบาเจ้าชุ่มมาจนถึงวัดใหม่ (วัดชัยมงคล-วังมุย)
ระหว่างทาง ชาวบ้านและคนทั่วไปที่มาร่วมงาน ได้พร้อมใจกันทำบุญ
โดยการโยนเงินขึ้นมาตรงบริเวณหน้าตักของครูบาเจ้าชุ่ม
จนเงินที่หน้าตักของท่านได้ล้นตกลงมาตามทาง
ในวันนั้น คณะศรัทธาทำบุญกับท่านนับได้ประมาณ ๑๕๐,๐๐๐ บาท
เงินจำนวนนี้ ต่อมาครูบาชุ่มได้นำมาบูรณะทำนุบำรุงวัดชัยมงคล (วังมุย)
และใช้ในการศาสนาทั้งสิ้น

พอขบวนแห่มาถึงวัดใหม่ หลวงปู่หลวงพ่อทุกท่าน
ต่างได้ป้อนข้าวทิพย์ให้แด่ครูบาเจ้าชุ่มองค์ละคำ
ตามด้วยผู้ถือศีล ๘ (เทวบุตร) ได้ตักข้าวใส่บาตรท่าน
จากนั้นเป็นชาวบ้านทั่วไปที่ถือศีล ๕ โดยลำดับ
จากนั้น ทางวัดชัยมงคล (วังมุย) และชาวบ้านได้พร้อมใจกันจัดงานต่อ
เพื่อฉลองศรัทธาของสาธุชนอีก ๘ วัน
12#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-4-7 11:06 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ปัจฉิมวัยของหลวงปู่ครูบาเจ้าชุ่ม โพธิโก

หลวงตาวัชรชัย หรือ พระครูภาวนาพิลาศ เป็นศิษย์ใกล้ชิดอีกท่านของหลวงพ่อฤๅษีลิงดำ
ผู้ได้เคยมีโอกาสใกล้ชิดและอุปัฏฐากหลวงปู่ครูบาเจ้าชุ่ม ในช่วง พ.ศ. ๒๕๑๘
และได้เขียนหนังสือระลึกถึง “พระสุปฏิปันโน” ทั้งหลาย
ที่เป็นสหธรรมิกกับหลวงพ่อฤๅษีลิงดำไว้ในหนังสือชื่อ “บนเส้นทางพระโยคาวจร”
นามปากกา “สายฟ้า” เป็นหนังสือที่เขียนถึงพระอริยเจ้าหลายท่านได้อย่างซาบซึ้ง
และก่อให้เกิดศรัทธาปสาทะต่อท่านเหล่านั้นได้ในทันที


วาจาสุดท้าย ณ บ้านวังมุย

พ่อเลื่อน กันธิโน ศิษย์ใกล้ชิดของหลวงปู่ครูบาเจ้าชุ่ม
เล่าถึงช่วงเวลาก่อนที่ท่านจะมรณภาพว่า ตอนที่ท่านจะตัดสินใจมากรุงเทพฯ นั้น
ชาวบ้านวังมุยหลายคนขอร้องไม่ให้ท่านมา เพราะเห็นว่าท่านอาพาธอยู่
แต่ดูเหมือนหลวงปู่ท่านจะรู้วาระของท่านจึงได้เอ่ยวาจาว่า

“เฮาจะไม่ตายที่นี่ เฮาจะไปตายที่เมืองกรุงบางกอก”

นับได้ว่าเป็นวาจาประโยคสุดท้ายของท่านที่บ้านวังมุย

พ่อเลื่อนเป็นผู้พาหลวงปู่นั่งเครื่องบินเดินทางไปกรุงเทพฯ
โดยท่านเจ้ากรมเสริม (พล.อ.ท.ม.ร.ว.เสริม ศุขสวัสดิ์)
กับคุณอ๋อย (คุณเฉิดศรี ศุขสวัสดิ์ ณ อยุธยา มารอรับที่สนามบินดอนเมือง
เพื่อพาหลวงปู่ชุ่มไปรักษาที่โรงพยาบาลพร้อมมิตร
คณะแพทย์ได้ตรวจรักษาโดยใช้แสงเลเซอร์ผ่าตัดบริเวณต่อมลูกหมาก
หลวงปู่ท่านกะว่าจะนอนพักผ่อนแค่ ๒ วันแล้วจะกลับวัดวังมุย
แต่แพทย์ได้ห้ามไว้ เพราะหลวงปู่เพิ่งผ่าตัด
ควรจะนอนพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลต่อสัก ๔-๕ วัน
พร้อมกันนี้ แพทย์ได้ขอร้องหลวงปู่ไม่ให้เดินเพราะเพิ่งจะผ่าตัด

แต่ด้วยความที่หลวงปู่ท่านเปี่ยมไปด้วยความเมตตาสูงส่ง
เมื่อท่านนอนพักฟื้นได้สักระยะหนึ่ง จนพอมีแรงขึ้นมาบ้าง
ท่านก็เมตตาเดินขึ้นไปตามชั้นต่างๆ ของโรงพยาบาลที่มี ๔ ชั้น
เพื่อไปรดน้ำมนต์ให้กับบรรดาผู้ป่วยของโรงพยาบาล

ปรากฏว่าพอหลวงปู่กลับมาพักที่ห้องของท่าน
เลือดได้ไหลออกมาจากตรงบริเวณแผลที่เพิ่งผ่าตัด
พอคณะแพทย์พยาบาลทราบ ต่างตกใจและรีบช่วยกันเยียวยาหลวงปู่อย่างเต็มความสามารถ
แต่เนื่องจากหลวงปู่เสียเลือดมาก ประกอบกับการที่ท่านชราภาพมากแล้ว
จึงไม่สามาถต้านทานความเจ็บปวดเอาไว้ได้
ท่านจึงมรณภาพอย่างสงบในเวลาเย็น ท่ามกลางความโศกเศร้าเสียใจของศิษยานุศิษย์

พล.อ.ท.ม.ร.ว.เสริม ศุขสวัสดิ์ ได้นำสังขารของหลวงปู่ชุ่ม
มาตั้งบำเพ็ญกุศลที่บ้านสายลม อันเป็นสถานที่ที่หลวงพ่อพระราชพรหมยานมาสอนกรรมฐาน
เป็นเวลา ๑ วัน จากนั้นชาวบ้านวังมุยจึงพากันเดินทางไปกรุงเทพฯ
เพื่อขอนำสังขารของหลวงปู่ครูบาเจ้าชุ่มกลับไปสู่บ้านวังมุย
เจ้ากรมเสริมจึงได้สั่งการให้ทหารเอารถจี๊บใหญ่นำสังขารของหลวงปู่ครูบาเจ้าชุ่ม
มาส่งถึงวัดชัยมงคล (วังมุย) โดยมีรถทหารนำขบวนมาด้วย

จากนั้นทางวัดชัยมงคล (วังมุย) ได้จัดงานบำเพ็ญกุศลตามประเพณีอีก ๗ วัน
หลังจากนั้นจึงปิดโลงเก็บสังขารของท่านไว้เป็นแรมปี จนถึงปี พ.ศ. ๒๕๒๑
จึงมีกำหนดการพระราชทานเพลิงศพหลวงปู่ครูบาเจ้าชุ่ม โพธิโก
โดยก่อนที่จะทำการเคลื่อนย้ายสังขารของท่านไปเผา ณ เมรุปราสาท นั้น
ศิษยานุศิษย์บ้านวังมุยได้เปิดฝาดลงดูสังขารของท่านเป็นครั้งสุดท้าย
จึงเห็นว่า สังขารของหลวงปู่ไม่ได้เน่า เพียงแต่ร่างกายแห้งลงเท่านั้น

ในวันงานพระราชทานเพลิงศพหลวงปู่ครูบาเจ้าชุ่ม โพธิโก
มีครูบาอาจารย์สายเหนือหลายรูป เช่น ครูบาพรหมา ครูบาธรรมชัย ไปร่วมงานด้วย

เปลวเพลิงได้เผาร่างสมมุติของท่าน
เหลือไว้เพียงนามอันเป็นวิมุตติของหลวงปู่ครูบาเจ้าชุ่ม โพธิโก พระอริยเจ้าแห่งหริภุญชัย


ประมวลกิจในพระศาสนาสำคัญ

ดำเนินตามรอยบาท แผ่บารมีเพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์

หลวงปู่ครูบาเจ้าชุ่ม ได้เจริญตามรอยบาทของพระอาจารย์ที่เคารพอย่างครูบาเจ้าศรีวิชัย
โดยการแผ่บารมี ช่วยเหลืองานสาธารณประโยชน์ไว้มากมายหลายแห่ง
เท่าที่มีบันทึกไว้เพียงบางแห่ง มีรายละเอียดมากน้อยต่างกัน คือ

- ร่วมสร้างทางขึ้นพระบรมธาตุดอยสุเทพ ในปี พ.ศ. ๒๔๗๘

- ร่วมสร้างสะพานศรีวิชัย สานต่อภารกิจของครูบาเจ้าศรีวิชัย ในปี พ.ศ. ๒๔๘๑

- สร้างทางขึ้นพระธาตุดอยตุง อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย

- สร้างสะพาน แม่น้ำขาน ที่หนองห้า อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่

- ร่วมสร้างวัดร่มหลวง ต.แม่แฝก อ.สันทราย จ.เชียงใหม่

- สร้างสะพานบ้านเหมืองฟู ต.ยุหว่า อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่
สะพานยาว ๒๕ วา ๒ ศอก กว้าง ๘ ศอก ใช้เวลาก่อสร้าง ๓ เดือน
จึงแล้วเสร็จ สิ้นเงิน ๘๐,๖๓๐ บาท

- สร้างสะพานที่ ต.สันทราย อ.สารภี จ.เชียงใหม่
สะพาน กว้าง ๘ ศอก ยาว ๑๒ วา สิ้นเงิน ๔๘,๐๐๐ บาท

- สร้างสะพานข้ามแม่น้ำปิง ที่ ต.ขัวมุง จ.เชียงใหม่
กว้าง ๘ ศอก ยาว ๕๕ วา ใช้เวลา ๗ เดือน ๑๕ วัน จึงเสร็จ
สิ้นเงินประมาณ ๕๐,๐๐๐ บาทเศษ

- สร้างสะพานวัดชัยชนะ ข้ามลำน้ำแม่ปิงที่ ต.ประตูป่า จ.ลำพูน
กว้าง ๘ ศอก ยาว ๑๐ วา ใช้เวลา ๑๐ เดือน สิ้นเงิน ๓๐,๐๐๐ บาทเศษ

- ชาวบ้านริมปิง อ.เมือง จ.ลำพูนได้อาราธนาท่านไปนั่งหนักสร้างสะพานให้อีก
กินเวลา ๔ เดือน กว้าง ๘ ศอก ยาว ๑๕ วา ยังใช้อยู่ถึงทุกวันนี้

- สร้างสะพานหน้าวัดวังมุย มีความกว้าง ๘ ศอก ยาว ๑๒ ศอก
สิ้นเงิน ๓๐,๐๐๐ บาทเศษ ใช้เวลาก่อสร้าง ๒ เดือนจึงเสร็จสิ้นสมบูรณ์

- สร้างสะพานที่ห้องกาศ (ห้องแล้ง) อ.เมือง จ.ลำพูน

- สร้างวัดสถานีรถไปลำปาง (พระอุโบสถ) อฬห้างฉัตร จ.ลำปาง ปี พ.ศ. ๒๕๑๘

- บูรณะพระธาตุจอมกิจจิ ต.แม่แฝก อ.สันทราย จ.เชียงใหม่
และสร้างพระนอนที่วัดพระธาตุจอมกิจจิ (ปัจจุบันเรียกพระธาตุจอมกิตติ)

หลวงปู่เคยเล่าว่า ทุกครั้งที่ไปเป็นประธานการสร้างในที่ต่างๆ
นายห้างบริษัท ธานินท์อุตสาหกรรม จำกัด จะส่งเงินมาร่วมสมทบทำบุญด้วยทุกครั้ง


   

ที่มา
http://www.dharma-gateway.com/monk/monk ... x-page.htm                                                                                       
.....................................................

ที่มา http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=45065

กราบๆๆ
สาธุ กราบหลวงปู้เจ้าข้า
สาธุ กราบนม้สการหลวงปู่เจ้าครูบาเจ้า
กราบหลวงปู่
พบฤๅษี ๔ ตนหน้าถ้ำ

เมื่อขึ้นถึงบริเวณหน้าถ้ำ ได้พบฤๅษี ๔ ตน
เมื่อพวกฤๅษีเห็นคณะของครูบาเจ้าชุ่มผ่านป่าขึ้นมาได้
จึงไต่ถามระคนแปลกใจว่า

"ท่านพระภิกษุผู้เจริญ ขณะเดินผ่านป่ามาพบช้างตกมันอยู่หรือไม่"

ครูบาเจ้าชุ่มตอบคำถามของท่านฤๅษีไปตามตรงว่า

"พบ...แต่ไม่เห็นเขาทำอะไรอาตมาและคณะเลย"

เหล่าฤๅษีต่างยกมืออนุโมทนาท่วมหัว พร้อมกับอุทานออกมาว่า

"ช้างหนุ่มตัวนี้ตกมัน ดุร้ายมาก
เมื่อเช้านี้มันยังไล่พวกกลุ่มของผมที่ออกไปหาผลหมากรากไม้อยู่เลย
เป็นเรื่องที่น่าแปลกมากที่มันไม่ทำร้ายท่าน
พวกผมที่อยู่บนถ้ำนี้ ไม่สามารถออกไปสู่ภายนอก
เพื่อขอข้าวสารจากชาวบ้านได้ เป็นเวลาเกือบอาทิตย์มาแล้ว
นับว่าเป็นบุญบารมีของท่านโดยแท้ ที่ช้างตกมันตัวนี้ไม่ทำอันตรายท่านเลย"


ครูบาเจ้าชุ่มได้แต่รับฟังด้วยอาการวางเฉย

ในบริเวณใกล้ถ้ำ มีสำนักสงฆ์เล็กๆ และมีพระภิกษุชราพำนักอยู่
ครูบาเจ้าชุ่มได้พาสามเณรทั้ง ๒ รูปพร้อมศรัทธาผู้ติดตาม ไปพบพระภิกษุชรานั้น
พร้อมเอ่ยปากฝากศิษย์ไว้สักอาทิตย์ จากนั้นครูบาเจ้าชุ่มได้บอกแก่ลูกศิษย์ว่า

"หลวงพ่อจะเข้าไปปฏิบัติธรรมในถ้ำสัก ๗ วัน
หากหลวงพ่อไม่กลับออกมา ให้พวกเธอกลับวัดกันได้เลย
ในย่ามของหลวงพ่อพอมีปัจจัยอยู่บ้าง ให้ใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางกลับ
แล้วหากกลับไปก็ไม่ต้องบอกกล่าวสิ่งใดกับญาติโยมทั้งสิ้น"


ท่านบอกศิษย์เพียงเท่านั้น แล้วจัดแจงครองผ้าให้เป็นปริมณฑล
พร้อมเตรียมดอกไม้ ธูปเทียน ไม้ขีดไฟ และตักน้ำใส่ในบาตรเดินทางเข้าสู่ถ้ำ

บรรยากาศภายในถ้ำค่อนข้างอับชื้น กลิ่นมูลค้างคาวโชยมาเป็นระยะ
ท่านเดินลึกเข้าไปเรื่อยๆ แสงสว่างภายในถ้ำมีไม่มากนัก สลัวๆ เท่านั้นเอง
เมื่อไปถึงบริเวณก้นถ้ำ
ท่านจึงพิจารณาสถานที่ที่เหมาะสมในการเจริญสมาธิเข้านิโรธสมาบัติ

เมื่อได้สถานที่เหมาะสมแล้ว ท่านจึงปัดกวาดบริเวณพื้นถ้ำให้สะอาด
จุดธูปเทียน พร้อมดอกไม้ นบนอบไหว้ ตั้งจิตอธิษฐาน
รำลึกถึงพระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า และพระอริยสงฆ์เจ้า
คุณบิดรมารดา ครูอาจารย์ เทพเทวดาอารักษ์ที่สถิตอยู่ในถ้ำแห่งนี้
อาตมาเข้ามาปฏิบัติธรรม ขอให้ช่วยดูแลให้ได้รับความสะดวกในการปฏิบัติธรรมพอสมควรด้วย

จากนั้นจึงเริ่มต้นนั่งสมาธิเข้านิโรธสมาบัติ เป็นเวลา ๗ วัน ๗ คืนติดต่อกัน
โดยมิได้ฉันอาหารใดๆ เลย นอกจากน้ำในบาตรที่นำเข้าไปเท่านั้น
เมื่อครบกำหนด ๗ วัน ครูบาเจ้าชุ่มได้กำหนดจิตถอนสมาธิออกจากนิโรธสมาบัติ
ท่านพบว่าจีวรและสังฆาฏิที่ครองอยู่เปียกชื้นไปหมด
จากนั้นท่านจึงได้ลุกเดินออกมาสู่บริเวณใกล้ๆ ปากถ้ำ
และได้พักนิ่งอยู่ เพื่อเตรียมจะเข้านิโรธสมาบัติต่อไปอีกเป็นวันที่ ๘
ชีปะขาวปรากฏในนิมิต นำมงกุฎใส่พานมาถวาย

ค่ำคืนหนึ่ง ในบรรยากาศอันวิเวกของป่าช้าวัดหนองบัวคำ
ลมพัดเอื่อยๆ เย็นสบาย หลังจากที่ครูบาเจ้าชุ่มได้ทำกิจวัตรส่วนตัวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ท่านก็ได้เข้าสู่กลด เพื่อนั่งสวดมนต์ไหว้พระทำจิตเข้าถึงพระไตรสรณคมน์
รำลึกถึงแก้วสามดวงอันประเสริฐเป็นสรณะ
และจากนั้นจึงได้เจริญสมาธิภาวนาตามแนวที่ได้ศึกษามาจากครูบาอาจารย์
ท่านรู้สึกจิตสงบดิ่งดีมาก ขณะที่ครูบาเจ้าชุ่มกำลังนั่งสมาธิ
ฉับพลันนั้น ก็ได้ปรากฏนิมิตเห็นชีปะขาว ๕ ตน นำมงกุฎใส่พานมาถวายท่าน
ในนิมิตท่านก็ได้ให้ศีลให้พร และแผ่เมตตาให้
หลังจากนั้น ชีปะขาวทั้ง ๕ ตน ก็ได้กราบลาจากไป
เมื่อครูบาเจ้าชุ่มถอนจิตออกจากสมาธิ รู้สึกจิตชุ่มชื่นดี สังเกตว่าเป็นเวลาตี ๔ พอดี

ท่านครุ่นคิดถึงนิมิตเมื่อคืน รู้สึกว่าจะเป็นนิมิตที่มีความหมายดี
ในคืนต่อมา ครูบาเจ้าชุ่มก็ได้เข้าสมาธิเจริญพระกรรมฐานอีกตามปกติ
ก็เห็นนิมิตเช่นเดียวกับคืนก่อน โดยมีชีปะขาวนำมงกุฎใส่พานมาถวายท่านอีก
แต่คราวนี้มาเพียง ๔ ตนเท่านั้น ครูบาเจ้าชุ่มท่านก็ได้ให้ศีลให้พรไปเช่นเดิม
และถอนจิตออกจากสมาธิ เป็นเวลาตี ๔ เช่นคืนก่อน

ในคืนที่ ๓ อันเป็นคืนวันเพ็ญ พระจันทร์ส่องแสงนวล
ทำให้ป่าช้าที่เคยทึบทึมมืดมิด แลดูสว่างขึ้น ครูบาเจ้าชุ่มได้เข้าสมาธิอีก
ปรากฏว่าในคืนนี้ ท่านเกิดนิมิตไม่เหมือน ๒ คืนแรก
โดยคืนนี้ได้นิมิตเห็นต้นมะม่วงใหญ่ มีลูกดกมากและมีกลิ่นหอมหวานยิ่งนัก
บนต้นมะม่วงมีฝูงลิง และชะนีมาเก็บกินกันมากมาย
ต่อมาปรากฏมีลิงแก่รูปร่างสูงใหญ่ตัวหนึ่ง ออกมาไล่ฝูงลิงและชะนีที่มาเก็บผลมะม่วงกิน
หลังจากถอนออกจากสมาธิ ก็เป็นเวลาตี ๔ เช่นคืนก่อนๆ

ตอนสาย กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน พร้อมด้วยชาวบ้าน
ได้พากันมาหาครูบาเจ้าชุ่มยังสถานที่ที่ท่านปักกลดอยู่
ท่านจึงได้บอกเล่าให้ชาวบ้านทราบว่า
ท่านปรารถนาจะบูรณะซ่อมแซมองค์พระบรมธาตุดอยเกิ้งนี้
และถาวรวัตถุที่จำเป็นบางอย่างในอาณาบริเวณพระบรมธาตุ
จึงขอให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ไปบอกกับทางอำเภอด้วย ต่อมาเมื่อได้ร่วมประชุมกัน
จึงทำให้เห็นอุปสรรคใหญ่ คือการบูรณะพระบรมธาตุเห็นจะทำได้ยาก
เนื่องจากขาดแคลนแหล่งน้ำ ในสระน้ำก็ไม่มีน้ำเลย
การที่จะทดน้ำจากแหล่งอื่นเข้ามาเก็บไว้ในสระน้ำ ก็ลำบากยากยิ่ง
โดยลำห้วยที่จะทดน้ำได้นั้นก็อยู่ไกลออกไปถึงขนาดต้องข้ามภูเขาถึง ๔ ลูก
แต่ครูบาเจ้าชุ่มท่านยังยืนยันที่จะบูรณะองค์พระบรมธาตุดอยเกิ้ง
ให้กลับมาสมบูรณ์ดังเดิมให้จงได้

ครูบาเจ้าชุ่มจึงได้ให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และชาวบ้าน
ร่วมกันตั้งจิตอธิษฐานขอให้การดำเนินงานนี้จงสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี
ขออย่าให้มีอุปสรรคใดๆ มาขัดขวางได้เลย
ปรากฏว่าการทดน้ำจากลำห้วยที่ต้องผ่านภูเขาถึง ๔ ลูกนั้น
สามารถกระทำได้โดยไม่มีอุปสรรคใดๆ เลย สามารถทดน้ำมาเก็บไว้ในสระได้ราวปาฏิหาริย์
ครูบาเจ้าชุ่มได้นั่งหนัก (เป็นประธาน) อยู่บูรณะซ่อมแซมองค์พระบรมธาตุดอยเกิ้ง
จนสำเร็จเรียบร้อย ด้วยความร่วมแรงร่วมใจของชาวเขา ชาวบ้านใกล้ไกล
การบูรณะพระบรมธาตุในครั้งนี้กินเวลา ๔๕ วันจึงแล้วเสร็จ

ส่วนการสร้างถนนขึ้นสู่พระบรมธาตุนั้น ได้รับการขัดขวางจากเจ้าคณะตำบล
โดยอ้างเหตุผลว่า แม้แต่ท่านครูบาศรีวิชัยก็ยังไม่สร้างถนนขึ้นพระบรมธาตุ
ฉะนั้น จึงยังไม่สมควรสร้าง เมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้น
ทางฝ่ายกรรมการอำเภอเห็นว่าครูบาเจ้าชุ่มเป็นผู้มีบุญบารมีมาโปรด
ก็ควรให้ท่านอยู่เป็นประธานสร้างต่อไป และได้ขอร้องท่าน
โดยบอกว่าเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายจะร่วมมือกับท่าน แต่ครูบาชุ่มได้พิจารณาแล้วเห็นว่า
หากทำการสร้างถนนต่อไป ก็จะเกิดปัญหาขัดแย้งกับเจ้าคณะตำบลเป็นแน่
จึงได้ประกาศให้ชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ฝ่ายบ้านเมืองทราบว่า
จะระงับการก่อสร้างถนนขึ้นสู่พระบรมธาตุไว้ก่อน จนกว่าจะถึงเวลาอันสมควร            

กราบนมัสการครับ

ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้