ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 4070
ตอบกลับ: 4
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

การเป็นผู้ให้และการเป็นผู้รับ

[คัดลอกลิงก์]
การเป็นผู้ให้และการเป็นผู้รับ พระถวิล ฐานุตฺตโม





ชีวิตประจำวันของคนเรานั้น เราเป็นทั้งผู้ให้สิ่งต่างๆแก่ผู้อื่น และเป็นผู้รับสิ่งต่างๆจากผู้อื่น เราลองนึกทบทวนดูว่า

ทุกๆวันที่ผ่านมานั้น เราได้ให้อะไรแก่ผู้อื่นบ้าง เป็นการให้สิ่งที่ดีและเป็นกุศล หรือให้สิ่งที่ไม่ดี และเป็นอกุศลแก่ผู้อื่น

ชีวิตแต่ละวันนั้น เราควรมอบความยิ้มแย้มแจ่มใส การพูดจาที่ไพเราะ ให้กับ คนในครอบครัวของเรา ไม่ว่าจะเป็นลูกๆ สามี หรือภรรยา เพื่อนร่วมงาน ลูกน้องของเรา ตลอดจน ลูกค้าของเรา หรือว่าเราได้ให้ใบหน้า ที่หน้าหงิกหน้างอ แล้วก็แว้ดๆ ใส่ลูกของเรา หรือว่าพูดจาไม่ไพเราะ ไม่น่าฟัง กับเพื่อนร่วมงานหรือกับลูกน้องของเรา

ชีวิตแต่ละวันนั้น เราได้ให้อภัยผู้อื่น เมื่อผู้อื่นทำผิดพลาด หรือว่าเราคิดเครียดแค้น เพราะทำให้เรารู้สึกเจ็บแค้นใจ วันนี้เราต้องเอาคืนให้ได้ เราให้สิ่งใดมากกว่ากัน

ชีวิตแต่ละวันนั้นเราได้ให้ความรักแก่ผู้อื่น หรือว่าเราให้ความเกลียดชังแก่ผู้อื่นมากกว่ากัน

ชีวิตแต่ละวันนั้นเราให้ความยินดี หรือมุทิตาจิตชื่นชมยินดีผู้อื่นที่ประสบความสำเร็จ หรือว่าเรารู้สึกอิจฉาริษยาในความสำเร็จ ไม่อยากให้ผู้อื่นเติบโตในหน้าที่การงานมากกว่าเรา


ชีวิตแต่ละวัน เราได้ให้โอกาสแก่ผู้อื่น หรือว่าเราตัดโอกาสหรือปิดโอกาสกับผู้อื่นมากกว่ากัน

ชีวิตแต่ละวันนั้น เราได้ให้ความรู้ ให้ปัญญา ให้ธรรมะกับผู้อื่น หรือให้ในสิ่งที่ไร้สาระแก่ผู้อื่น ที่อยู่รอบตัวเรา



ถ้าเราหาโอกาสทบทวนการใช้ชีวิตแต่ละวันที่ผ่านมานั้นว่า เราได้ให้ในสิ่งที่ดีและเป็นกุศลแก่ผู้อื่น หรือว่าเราได้ให้สิ่งที่ไม่ดี และเป็นอกุศลแก่ผู้อื่นมากกว่ากัน หากเราเป็นผู้ให้สิ่งที่ดีและเป็นกุศลมากกว่าสิ่งที่ไม่ดี และเป็นอกุศลแก่ผู้อื่น ก็ขอให้เรารักษาสิ่งที่ดีนี้ไว้ ความดีนี้ไว้ และพยายามทำความดีและเป็นกุศลให้มากขึ้น ทุกวัน และส่วนความไม่ดีและเป็นอกุศลต้องพยายาม ลด ละ เลิกไป จนเหลือแต่สิ่งที่ดีๆ และเป็นกุศลที่จะให้แก่ผู้อื่น

ในอีกด้านหนึ่งของการเป็นผู้รับจากผู้อื่นนั้น ควรเลือกที่จะรับสิ่งที่ดี และเป็นกุศล และปฏิเสธที่จะรับสิ่งไม่ดี และเป็นอกุศล เช่นกัน

ชีวิตแต่ละวันนั้น เราฟังสิ่งที่ดีๆ ได้ฟังธรรมะดีๆ เราอ่านสิ่งที่เป็นสาระ สิ่งที่เป็นประโยชน์ เป็นข้อธรรม เพื่อก่อให้เกิดปัญญาให้แก่เรา เราดู เราเห็นสิ่งต่างๆ เลือกที่จะชมรายการที่เป็นประโยชน์ให้แก่ชีวิตของเรา

หรือ ชีวิตแต่ละวันนั้น เราฟังสิ่งที่ไร้สาระ ไม่ได้ก่อให้เกิดปัญญา เราอ่านสิ่งที่ไม่ค่อยเกิดประโยชน์ในชีวิต เราดูรายการที่ไม่ค่อยได้สาระในชีวิต



2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-10-15 09:24 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ท่านพระเดชพระคุณ พระพรหมคุณาภรณ์เป็นแบบอย่างที่ดี ที่ประเสริฐยิ่ง ทั้งในด้านที่เป็นผู้ให้และในด้านที่เป็นผู้รับ กล่าวคือ ในด้านที่เป็นผู้ให้นั้น ท่านพระพรหมคุณาภรณ์ได้เป็นผู้ที่มีเมตตา ได้ให้ธรรมปัญญาแก่ผู้คนทั้งหลาย ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ท่านได้ให้ธรรมปัญญาทั้งในรูปแบบหนังสือธรรมนิพนธ์ ทั้งที่เป็นแก่นธรรม และธรรมประยุกต์ อาทิเช่น หลักธรรมการดำเนินชีวิต เรื่องชีวิตคู่ สุขภาพ ธรรมะที่เกี่ยวกับหลักนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์ ไว้มากมายถึง 400-500 เล่ม ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าในชีวิตของบุคคลท่านหนึ่งสามารถสร้างสรรค์ธรรมนิพนธ์ได้มากมายถึงขนาดนี้ นอกจากหนังสือธรรมนิพนธ์แต่ละเล่มที่เป็นประโยชน์แล้ว ท่านก็ยังได้บรรยายธรรม เทศนาธรรม ในโอกาสต่างๆ มากกว่า 400 ครั้ง ซึ่งเป็นคุณูปการทางปัญญาแก่ชาวพุทธเป็นอย่างสูง โดยเฉพาะหนังสือพุทธธรรม ซึ่งท่านพระพรหมคุณาภรณ์ได้เรียบเรียง รวบรวม หลักธรรมของพระพุทธเจ้าที่บันทึกในพระไตรปิฎก 45 เล่ม รวมทั้งอรรถกถาและฎีกา ในทุกแง่ทุกมุมที่เป็นสาระสำคัญให้มารวมอยู่ในพุทธธรรมเพียงเล่มเดียว และ ท่านพระเดชพระคุณได้เขียนบันทึกไว้ในหนังสือพุทธธรรม ซึ่งคิดว่าน่าจะสะท้อนถึงความเมตตาของท่าน ไว้ว่า



“...อาตมา ผู้เขียนหนังสือนี้ อย่างเป็นนักศึกษาผู้หนึ่ง ทำหน้าที่เป็น ผู้ไปสืบค้น รวบรวมเอา

เนื้อหาทั้งหลายของหลักธรรมมาส่งวางให้แก่ผู้อ่าน ถ้าสิ่งที่นำมาส่งวางให้นั้น เป็นของแท้

หยิบมาถูกต้องผู้นำส่งก็หมดความรับผิดชอบ จะหายตัวไปไหนก็ได้ ผู้ได้รับไม่ต้องนึกถึง

ไม่ต้องมองที่ผู้นำส่งอีกต่อไป และถ้าผู้เขียนได้นำเอาตัวหลักพุทธธรรมมาแสดงแก่ผู้อ่าน

ได้สำเร็จ ก็เหมือนกับได้พาผู้อ่านเข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดาเองแล้ว ผู้อ่านก็ไม่ต้องเกี่ยวข้อง

กับผู้เขียนอีกต่อไปผู้อ่านพึงตั้งใจสดับและพิจารณาพุทธธรรมที่แสดงโดยตรงออกมาจาก

พระโอษฐ์ของพระบรมศาสดานั้นอย่างเดียว…”



สิ่งที่ท่านพระเดชพระคุณได้เขียนไว้นั้นแสดงว่าท่านเป็นผู้ที่มีเมตตาจริงๆ ท่านได้ให้ปัญญาแก่ผู้อื่นแล้วท่านก็วาง ไม่ได้ยึดติดว่าจะต้องให้ใครมาชื่นชม มาให้เกียรติ ยศและลาภสักการะใดๆ ท่านทำด้วยจิตที่อยากจะให้แก่พวกเราชาวพุทธจริงๆ แม้ว่าสถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัยหลายๆ แห่งทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ได้มอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์แก่ท่านหลากหลายสาขา ท่านก็รับไว้ด้วยอนุโมทนาแล้วท่านก็วาง ท่านไม่ได้ยึดติดแต่อย่างใด เมื่อได้รับแล้ว ก็เอาปริญญาทั้งหลายเก็บใส่ตู้ปิดกุญแจ มิได้เอามาตั้งแสดงโอ้อวดแต่อย่างใด เมื่อให้แล้วท่านก็วางจริงๆ ไม่ต้องการให้ใครมายึดติดในตัวท่าน แต่ให้ยึดติดในหลักธรรม ยึดติดในสิ่งที่ท่านได้นำมาสื่อ ซึ่งเป็นหลักธรรมของพระพุทธองค์นั่นเอง



ในอีกด้านหนึ่ง ท่านได้เป็นแบบอย่างที่ดีของการเป็นผู้รับ โดยท่านได้เขียนไว้ในหนังสือพุทธธรรมเช่นเดียวกันว่า


“…เพราะเหตุที่ได้เขียนพุทธธรรมในฐานะของผู้ศึกษา การเขียนนี้จึงเป็นการเขียน

เพื่อการศึกษาของอาตมาเองด้วย และจึงยินดีที่จะรับฟังคำทักท้วง แนะนำ ตลอดจน

แก้ไขปรับปรุงในเมื่อพบสิ่งพลาดพลั้งบกพร่อง ตามคำบอกกล่าวด้วยท่าทีแห่งความ

มีเมตตากรุณาหวังดีต่อกัน..... ”



นี่ก็สะท้อนให้เห็นว่า ท่านเจ้าคุณ พร้อมที่จะรับฟัง พร้อมที่จะแก้ไข และพร้อมที่จะเรียนรู้จากผู้อื่นอยู่ตลอดเวลาเช่นเดียวกัน แม้ว่าท่านจะเป็นผู้มีปัญญาเลิศ และเป็นผู้ที่มีความรู้อย่างมากมาย ท่านก็ไม่มีมานะ ทิฏฐิ หรือหลงตนเอง ท่านพร้อมที่จะเรียนรู้จากผู้อื่นอยู่เสมอ



อาตมาได้มีโอกาสอ่านประวัติและปฏิปทาของท่านเจ้าคุณ ซึ่งได้มีการจัดพิมพ์ขึ้นมา โดยบางตอนในหนังสือนี้ ท่านพระครูปลัดสุวัฒนพรหมคุณ ( รองเจ้าอาวาสวัดญาณเวศกวัน ) ได้เคยเล่าว่า ท่านเจ้าคุณนั้นได้เปิดโอกาสให้ญาติโยมมาสนทนาธรรม แลกเปลี่ยนข้อธรรมะ และบางครั้งญาติโยมก็ได้แนะนำ ได้ให้ข้อคิด ข้อวิจารณ์หลายๆอย่างที่เป็นประโยชน์ ท่านเจ้าคุณก็รับฟัง ด้วยความยิ้มแย้ม ด้วยความยินดี ท่านไม่เคยโกรธ ท่านไม่เคยหลงตนเองว่า ท่านมีความรู้มากกว่า แต่ท่านรับฟังด้วยความเคารพในความคิดความเห็นของญาติโยม ที่ได้มาร่วมสนทนากัน และเมื่อท่านได้รับฟังแล้ว ท่านก็ใช้สติในการพิจารณา ใช้หลักโยนิโสมนสิการ ในการที่จะแยกแยะว่า สิ่งที่ได้รับฟังนั้น สิ่งใดเป็นข้อเท็จจริง หรือ เป็นข้อคิดความเห็น เป็นคุณค่าแท้ หรือ เป็นคุณค่าเทียม เป็นคุณเป็นประโยชน์ หรือ เป็นโทษ เป็นเหตุ หรือเป็นปัจจัย แล้วท่านก็เลือกที่จะรับสิ่งที่ดีๆ เก็บเอาไว้


ถ้าเปรียบความรู้หรือปัญญาเหมือนน้ำที่อยู่ในแก้ว เมื่อท่านเจ้าคุณได้รับความรู้ปัญญา ซึ่งเป็นน้ำที่ดีแล้ว ท่านก็จะนำไปใส่ไว้อีกแก้วหนึ่ง อีกแก้วหนึ่ง อีกแก้วหนึ่ง ท่านก็จะมีน้ำแห่งความรู้ แห่งปัญญา ที่เต็มแก้วอยู่เป็นร้อยๆใบ เป็นพันๆใบ เป็นหมื่นๆ ใบ แล้วท่านก็จะให้แก้วน้ำที่เป็นใบหลักนั้นว่างไว้อยู่ตลอดเวลาเพื่อพร้อมที่จะรับความรู้ใหม่ๆ ปัญญาใหม่ๆ หากเราไม่หลงตน ไม่ทำตัวเป็นน้ำที่เต็มแก้ว เราก็พร้อมที่จะรับสิ่งใหม่ๆได้ตลอดเวลาเช่นกัน แต่ถ้าเราทำตัวเป็นน้ำเต็มแก้ว เมื่อมีความรู้ใหม่ๆเข้ามา ก็ไม่สามารถเติมเข้าไปในแก้วนั้นได้ เพราะว่าน้ำมันเต็มอยู่ เราก็จะมีปัญญาเพียงแค่น้ำในแก้วหนึ่งใบเท่านั้นเอง



ดังนั้น ไม่ว่าเราจะประกอบอาชีพอะไร เช่น ถ้าเราเป็นคุณหมอ คุณหมอกำลังรักษาคนไข้อยู่ ในขณะที่คุณหมอรักษาคนไข้อยู่นั้น หมอก็ได้เรียนรู้จากคนไข้นั่นเอง คนไข้นั้นเป็นครูของคุณหมอ ยิ่งทำการรักษาคนไข้ ก็ยิ่งมีประสบการณ์ที่จะรักษาคนไข้มากขึ้น คุณหมอก็จะได้เรียนรู้ถึงการเจ็บไข้ได้ป่วยของคนไข้ที่มีเหตุและปัจจัยแตกต่างกัน ยิ่งคุณหมอมีประสบการณ์รักษาคนไข้มากเท่าไหร่ ก็จะมีประสบการณ์ในการวินิจฉัยโรคได้ดียิ่งขึ้น และ ถ้าเราเป็นคุณครู ขณะที่กำลังสอนศิษย์อยู่นั้น คุณครูก็กำลังจะได้เรียนรู้จากลูกศิษย์เช่นเดียวกัน ลูกศิษย์ก็จะสะท้อน หรือว่าแสดงถึงศักยภาพที่หลากหลาย ที่แตกต่างกัน ลูกศิษย์ก็อาจจะมีคำถามที่ดีๆ หรือคำตอบที่ดีๆ ก็จะทำให้คุณครูได้พัฒนาในการที่จะสอน ในการที่จะให้ความรู้แก่ลูกศิษย์ได้อย่างตรงตามศักยภาพของผู้เรียน เป็นต้น ไม่ว่าเราจะประกอบอาชีพอะไรก็ตาม ถ้าเราใช้หลักคิดในการที่จะเป็นทั้งผู้ให้และผู้รับไปพร้อมๆกัน โดยทำตัวเป็นทั้งนักเรียนน้อย และครูใหญ่ เป็นนักเรียนน้อยเพื่อพร้อมที่จะเรียนรู้จากผู้อื่นอยู่ตลอดเวลา และเมื่อท่านมีความรู้ ความเชี่ยวชาญในเรื่องใดแล้ว เราก็ต้องทำตัวเป็นครูใหญ่ที่พร้อมจะให้ความรู้กับผู้อื่นเช่นเดียวกัน

หากเปรียบว่า มือขวานั้นเสมือนเป็นผู้ให้ ในขณะที่เรากำลังให้อยู่นั้น มือซ้ายก็เปรียบเสมือนเป็นผู้รับ คือพร้อมที่จะรับฟังสิ่งใหม่ๆ พร้อมที่จะรับฟังความคิดเห็นต่างๆ เพื่อที่เราจะได้เป็นผู้ให้และผู้รับไปพร้อมๆกัน



ท้ายนี้ขอให้เราเป็นผู้ให้ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความเมตตา และเป็นผู้ให้ด้วยปัญญา และขอให้เราเป็นผู้รับที่มีสติสัมปชัญญะ และเป็นผู้รับที่ใช้หลักโยนิโสมนสิการ ในการที่จะรับสิ่งต่างๆ ด้วยปัญญา

ขอให้เราพร้อมที่จะรับ น้ำแห่งพระธรรมทุกๆวัน เพื่อให้มีแก้วน้ำแห่งพระธรรมเป็นสิบใบ ร้อยใบ พันใบ เพื่อที่จะเป็นพลังให้เกิดมีสติ มีสมาธิ มีปัญญา ที่จะใช้ชีวิตที่ดี ประเสริฐ ตลอดกาลทุกเมื่อเทอญ


ขออภัย! โพสต์นี้มีไฟล์แนบหรือรูปภาพที่ไม่ได้รับอนุญาตให้คุณเข้าถึง

คุณจำเป็นต้อง ลงชื่อเข้าใช้ เพื่อดาวน์โหลดหรือดูไฟล์แนบนี้ คุณยังไม่มีบัญชีใช่ไหม? ลงทะเบียน

x
ขอบคุณครับ
5#
 เจ้าของ| โพสต์ 2018-6-12 05:26 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้