ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 12833
ตอบกลับ: 6
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

หลวงพ่อหร่ำ วัดกร่าง อ.สามโคก จ.ปทุมธานี

[คัดลอกลิงก์]
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย lnw เมื่อ 2016-4-18 14:01

  

     ย้อนหลังไปเมื่อสี่สิบกว่าปีมาแล้ว  หลวงพ่อหร่ำ วัดกร่าง อ.สามโคก จ.ปทุมธานี    ได้ถึงแก่กาลมรณ ภาพจากผู้ที่เคารพนับถือไปอย่างไม่มีวันหวนกลับ ซึ่งนับเป็นการสูญเสียพระเกจิอาจารย์ยุคเก่าของ อ.สามโคก จ.ปทุมธานีที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง...
     หลวงพ่อหร่ำ วัดกร่างชาตะเมื่อวันที่ ๑๓ พฤษภาคม ๒๔๑๕ ที่บ้านตำบลบางกระบือ อ.สามโคก ปทุม ธานี เป็นบุตรของคุณพ่อแอบและคุณแม่เผือน     ท่านได้ศึกษาหาความรู้ทางอักขระสมัยในวัดบ้านกร่างจนอ่านออกเขียนได้และได้เข้ารับการบรรพชาเป็นสามเณรจนอายุครบอุปสมบท  พระอธิการนอม วัดกร่างจึงรับเป็นธุระอุปสมบทให้ร่วมกับโยมบิดามารดาของหลวงพ่อหร่ำ
     เมื่อุปสมบทแล้ว  ท่านได้ศึกษาด้านวิปัสสนากัมมัฎฐานจากหลวงพ่อนอมซึ่งเป็นพระผู้เชี่ยวชาญในด้านกัมมัฎฐานและพระเวทวิทยาคมยิ่งนัก พระอาจารย์นอมองค์นี้ เป็นสหายทางธรรมกับหลวงพ่อกลั่น ธัมมะโชโตแห่งวัดพระญาติการาม จ.พระนครศรีอยุธยา  ซึ่งคราใดก็ตามที่หลวงพ่อกลั่นท่านเข้ามากรุงเทพ ฯ ท่านจะต้องแวะวัดกร่างเพื่อเยือนหาสู่หลวงพ่อนอมอยู่เสมอ    โดยหลวงพ่อกลั่นอ่อนอาวุโสกว่าหลวงพ่อนอม และนอกจากนี้ หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอกก็ยังเคยมาศึกษาวิชากับหลวงพ่อนอมถึงที่วัดกร่างอีกด้วย พระเวทวิทยาคมที่ถ่ายทอดจากหลวงพ่อนอมสู่หลวงพ่อหร่ำเมื่อครั้งยังเป็นพระบวชใหม่ จึงมีความเข้มขลังและแกร่งกล้าอย่างยิ่ง
     ครั้นเมื่อหลวงพ่อนอมมรณภาพลง     พระอาจารย์กันต์ที่เป็นคู่สวดของหลวงพ่อหร่ำก็ขึ้นเป็นเจ้าอาวาสแทน  แต่ไม่นานก็สึกลาเพศไป ทางวัดกร่างขาดเจ้าอาวาสสืบแทน   ชาวบ้านจึงพร้อมใจกันอาราธนาหลวงพ่อหร่ำที่เป็นพระผู้สำรวมระวังในพระธรรมวินัยขึ้นครองวัดสืบแทน
     หลวงพ่อหร่ำองค์นี้  ปลายชีวิตหลวงพ่อนอมได้ไว้ใจให้ลงตะกรุดโทนและถวายให้ท่านปลุกเสกกำกับ และตอนหลังหลวงพ่อนอมได้บอกกับญาติโยมว่า " ถ้าต้องการได้ตะกรุดโทนล่ะก้อ ไม่ต้องมาหาฉันเพราะฉันหูตาไม่ดีแล้ว ให้ท่านหร่ำเขาลงให้และปลุกเสกให้     ส่วนถ้าจะให้ฉันปลุกเสกก็ค่อยเอามาให้ตอนหลังก็ได้ ท่านหร่ำเขาก็เสกได้เหมือนฉันนั่นแหละ "

     หลวงพ่อหร่ำนิยมออกธุดงค์เป็นประจำ ท่านได้นำพระกรุเก่าที่ได้จากการธุดงค์มาบรรจุไว้ในวัดกร่างที่มีผู้พบแตกกรุตอนหลัง ซึ่งต่างคิดว่าหลวงพ่อหร่ำท่านสร้างไว้ แต่ความจริงแล้วเข้าใจผิด  เพราะหลวงพ่อไปนำพระเหล่านี้จากกรุเก่าที่ท่านธุดงค์มาบรรจุไว้ ซึ่งสร้างปรากฎการณ์อภินิหารมากมาย


     ตะกรุดโทนของหลวงพ่อหร่ำ   เรื่องมหาอุดสุดยอด  ยิงปืนไม่ลั่น  กระบอกปืนบวมกันมานักต่อนักแล้ว ส่วนเหรียญทำบุญอายุของท่านปี ๒๔๖๙ ที่คณะศิษย์ได้ร่วมใจกันจัดสร้างให้หลวงพ่อหร่ำปลุกเสก    ด้านหน้าเป็นรูปท่านนั่งเต็มองค์  ตรงหน้าหลวงพ่อมีบาตรน้ำมนต์และมีลิงอยู่ด้วย  ซึ่งลิงที่ปรากฎนี้เป็นการแทนความหมายปีเกิดของท่านซึ่งก็คือปีวอก  ด้านหลังเป็นยันต์สี่   เหรียญนี้ทางมหาอุดดังมากจนมีเรื่องเล่าเป็นตำนานสืบต่อมาว่า...

     ในคืนเดือนมืดวันหนึ่ง  มีชายฉกรรจ์สามคนพายเรือมาจอดที่หน้าวัดกร่าง แล้วทั้งสามคนก็เดินขึ้นไปบนกุฎิหลวงพ่อหร่ำซึ่งยังจุดตะเกียงลานเหมือนจะรอชายทั้งสามอยู่ พอชายทั้งสามกราบนมัสการหลวงพ่อหร่ำท่านก็พูดลอย ๆ ว่า " ไอ้คนโตเอาหัวของข้าไปปล้นเขากิน   ไอ้คนกลางเอาอกของข้าไปลักวัวความยชาวบ้านเขา ส่วนไอ้คนสุดท้องเอาขาข้าไปย่องเบา  พวกเอ็งมันเอาข้าไปหากินจนเขาเดือนดร้อนกันไปทั่ว  ข้ารอพวกเอ็งมานานแล้ว  รู้ว่าอย่างไรเสียพวกเอ็งก็ต้องมาหาข้า   เพราะเอ็งมันเห็นว่าหลวงตาองค์นี้ช่วยพวกเอ็งหากิน ต่อไปนี้หากเอ็งไปปล้นใครอีก หรือไปขโมยของใครอีก   จะต้องฉิบหายตายโหงแม้โลงก็จะไม่มีใส่ เอาชิ้นส่วนของข้าคืนมาให้หมด "
     ทั้งสามคนตกใจหน้าซีดตัวสั่นปากคอสั่นเพราะไม่เคยมาหาหลวงพ่อหร่ำ    แต่ท่านกลับพูดได้อย่างถูกต้องทุกอย่าง คนโตที่เป็นพี่ใหญ่เคยใช้เหรียญหลวงพ่อหร่ำไปปล้นแล้วถูกเจ้าทรัพย์ยิงเอา แต่ยิงไม่ออก ออกก็ไม่ถูก ถูกก็ไม่เข้า  จึงชวนน้องคนกลางกับคนสุดท้องมาร่วมทำมาหากินในทางลักขโมยโดยเอาเลื่อยตัดแบ่งเหรียญหลวงพ่อหร่ำเป็นสามส่วนเหมือนที่หลวงพ่อหร่ำบอก

     ชายที่เป็นพี่ใหญ่โต้หลวงพ่อหร่ำว่า   " ให้ผมเลิกอาชีพโจรลักเล็กขโมยน้อยไม่ยาก ผมรับปาก เพราะเมื่อหลวงพ่อสาปแช่งแล้วผมก็ไม่อาจจะทำมาหากินทางทุจริตได้อีก     แต่เรื่องให้ผมคืนชิ้นส่วนเหรียญให้หลวงพ่อ ผมทำไม่ได้ ใครจะรับผิดชอบชีวิตของพวกผมเล่า "

     หลวงพ่อหร่ำจึงหยิบเหรียญรุ่นแรกของท่านออกมาจากย่ามสามเหรียญ   แล้วบอกกับพวกโจรว่า " เอาชิ้นส่วนมาแลกเป็นเหรียญเต็ม ๆ ไป ข้าเก็บเอาไว้ให้พวกเอ็งสามเหรียญ จงเลิกอาชีพนี้เสีย ไปประกอบอา ชีพใหม่ให้สุจริต แล้วใครก็ทำอะไรเจ้าไม่ได้ แม้แต่อาญาบ้านเมืองก็จะไม่มาคร่าตัวไปได้ "
     หลวงพ่อหร่ำเป็นพระที่มีพรรษกาลสูง  อายุยืนยาวมาจนถึงวัยอายุ ๘๘ จึงมรณภาพด้วยโรคชราเมื่อวันที่ ๑๘ เมษายน   พ.ศ.๒๕๐๔ ด้วยพรรษที่ ๖๘
     ทุกวันนี้เหรียญรุ่นแรกของหลวงพ่อหร่ำ  หากสวย ๆ ราคาขยับไปอยู่หลักหมื่นกลาง ๆ แม้แต่เหรียญรุ่นสองและรูปถ่ายอัดกระจก ก็มีค่านับเป็นพัน ส่วนพระกรุที่พบในวัด  บางพิมพ์ราคาหลักพันไปจนถึงพันกลางเหมือนกัน แต่ค่อนข้างจะหายาก และนี่ก็คือตำนานของหลวงพ่อหร่ำ วัดกร่างที่ชาวปทุมธานี ไม่มีใครลืมได้มาจนถึงทุกวันนี้...

***************************
     สาระประโยชน์อันใดที่เกิดจากกระทู้บทความที่ข้าพเจ้าได้เป็นผู้เรียบเรียงมานี้ ข้าพเจ้าขอมอบอุทิศคุณความดีและกุศลบุญทั้งหลายแด่ดวงวิญญาณหลวงพ่อหร่ำ วัดกร่าง จ.ปทุมธานี  ตลอดจนครูบาอาจารย์และเจ้ากรรมนายเวรทั้งหลายทั้งในอดีตชาติและปัจจุบันชาติของข้าพเจ้าด้วยเทอญ....
สุวัจชัย สมไพบูลย์

http://www.bp.or.th/webboard/index.php?topic=11427.0;wap2
2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2016-4-18 13:58 | ดูโพสต์ทั้งหมด
พระขุนแผนใบพุทรา


วัดกร่างเป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ตำบลบางกระบือ อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี สร้างขึ้นประมาณปี พ.ศ. 2300 ในสมัยอยุธยาโดยความศรัทธาในพระพุทธศาสนาของพุทธศาสนิกชนได้ร่วมสละปัจจัยบ้าง ที่ดินบ้าง เพื่อสร้างขึ้นมาเป็นวัด วัดนี้ตั้งอยู่ใกล้ริมแม่น้ำเจ้าพระยา

โดยมีเจาอาวาสองค์แรกชื่อพระอธิการวัน และหลวงพ่อหร่ำก็เป็นหนึ่งในเจ้าอาวาสวัดกร่างที่มีชื่อเสียงมาก และเป็นที่ศรัทธาแก่ประชาชนทั่วประเทศ มิใช่แต่เฉพาะชาวจังหวัดปทุมธานีเท่านั้น

หลวงพ่อหร่ำ เกสโร นามเดิมชื่อหร่ำ อยู่บ้านบางกระบือ อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี เกิดเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2415 ตรงกับวันจันทร์ขึ้น 6 ค่ำ เดือน 7 ปีวอก ท่านเป็นบุตรคนที่ 4 ในจำนวน 6 คน บิดาชื่อ นายแอบ มารดาชื่อนางเผือน ครั้งเมื่อวัยเยาว์ท่านได้ศึกษาภาษาไทย และภาษาบาลีจนแตกฉานกับพระอธิการนอมที่วัดกร่าง หลังจากนั้นจึงได้บรรพชาเป็นสามเณรจนอายุครบอุปสมบท ก็ได้ทำการอุปสมบทเป็นพระภิกษุที่วัดกร่าง ได้มีพระอธิการหิน แห่งวัดสวนมะม่วงเป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการนอมวัดกร่างเป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์กันต์วัดกร่างเป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้ฉายาว่า "เกสโร"

หลวงพ่อหร่ำ เกสโร ท่านเป็นลูกศิษย์พระอธิการนอม และด้รับถ่ายทอกวิชาทั้งภาษาไทยและภาษาบาลี ตลอดจนพระเวทมนต์คาถาและวิชาไสยศาสตร์จนหมดสิ้น พระอธิการนอมซึ่งเป็นพระอาจารย์ของหลวงพ่อหร่ำ เกสโรนี้ ท่านเป็นพระมอญและเป็นที่นับถือเคารพและศรัทธาจากหลวงพ่อกลั่น วัดพระญาติ จังหวัดอยุธยา และหลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก จังหวัดอยุธยา ซึ่งท่านได้เคยเดินทางมาศึกษาวิชาจากพระอธิการนอมนี้ด้วยเสมอ

ตลอดเวลาที่หลวงพ่อหร่ำได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสที่วัดกร่างนี้ ได้สร้างความเจริญมากมายเช่น พระอุโบสถ วิหาร และศาลาการเปรียญสืบมาจนเท่าทุกวันนี้

วัตถุมงคลที่หลวงพ่อหร่ำ เกสโร ได้จัดสร้างขึ้นนั้นมีทั้งเหรียญและรูปถ่าย แต่ที่นิยมและศรัทธาแก่นักอนุรักษ์พระเครื่องก็คือ พระขุนแผนใบพุทรา ซึ่งได้จัดสร้างขึ้นด้วยเนื้อดินผสมผงและว่านมหาเสน่ห์ มีทั้งส่วนผสมของพระกรุต่างๆ เนื้อพระของท่านค่อนข้างแห้งและหยาบ ปรากฎแร่เม็ดสีแดงบ้าง สีขาวขุ่นแบบพระบ้านกร่าง จังหวัดสุพรรณบุรี

พระขุนแผนใบพุทรานี้ท่านได้สร้างขึ้นในราวปี พ.ศ. 2460 และได้ปลุกเสกหลายพรรษาจนมั่นใจในพุทธคุณ แล้วได้นำมาบรรจุกรุในพระเจดีย์ด้านหน้าพระวิหาร โดยส่วนมากพระของท่านจะหย่อนความงามเพราะเป็นฝีมือช่างชาวบ้าน โดยชาวบ้านบริเวณวัดได้ช่วยกันแกะแม่พิมพ์จากหินมีดโกน สำหรับองค์ที่นำมาให้ศึกษานี้มีเนื้อที่จัด และสภาพค่อนข้างสมบูรณ์

พระพุทธคุณของท่านหนักไปทางเมตตา มหาเสน่ห์ และมีทั้งแคล้วคลาด คงกระพัน พระขุนแผนใบพุทราของท่านค่อนข้างหายาก ไม่ค่อยปรากฏในสนามพระ จึงไม่พอต่อความต้องการของนักสะสมเท่าที่ควร

จากสารานุกรมพระ



http://www.oknation.net/blog/chaiunpenteeruk/2007/09/12/entry-4
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้