ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 4904
ตอบกลับ: 12
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

ศาสนา ทำคนให้วิเศษกว่าสัตว์

[คัดลอกลิงก์]
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย รามเทพ เมื่อ 2013-8-23 12:54

เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๒ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๑๙
ศาสนา ทำคนให้วิเศษกว่าสัตว์









            โลกที่ไม่มีศาสนา ต้องเป็นโลกที่เดือดร้อนอย่างไม่มีปัญหาสิ้นสุด คนไม่มีศาสนาก็เป็นคนเดือดร้อนไม่มีขอบเขตเช่นเดียวกัน แยกออกเป็นโลก อันเป็นส่วนใหญ่ และแยกมาเป็นรายบุคคล เป็นราย ๆ

         การให้ความเป็นธรรม ไม่มีสิ่งใดที่จะให้ความเป็นธรรมยิ่งไปกว่าศาสนา เพราะศาสนาออกมาจากท่านผู้เป็นธรรม คือ พระพุทธเจ้า ผู้มีพระจิตเป็นธรรมทั้งดวงอยู่แล้ว ทรงนำธรรมมาแผ่กระจายทั่วโลกสงสาร ด้วยพระเมตตาอันหาประมาณมิได้ ราวท้องฟ้าอากาศ


         ผู้มุ่งต่อเหตุผล คือ ธรรมก็ยอมรับ ผู้มีสิ่งเป็นพิษเป็นภัยอยู่ภายในใจหนาแน่น ก็ไม่ยอมรับ นั้นนับว่าเป็นกรรมของสัตว์ที่มีความหนาบางต่างกัน ที่ไม่ยอมรับเลยนั่นก็สุดวิสัยที่ศาสนาจะช่วยได้ จัดเป็นโรคสุดวิสัย
         การให้ความเป็นธรรม จากผู้สิ้นกิเลส กับการให้ความเป็นธรรมของผู้ยังมีกิเลสนั้นต่างกันอยู่มาก แม้จะมีเจตนาดีด้วยกัน แต่ความสามารถ ฉลาดแหลมคม และความสะอาดของใจ ที่ทรงความเป็นธรรม มีหนักเบาต่างกันมาก การให้ความเป็นธรรมจึงเป็นไปตามภูมิแห่งความสามารถของผู้ให้ ที่มีภูมิจิตภูมิธรรมต่างกัน
         ใครจะพูดว่ากระไรก็ตามเถิด ถ้าจิตใจยังมีพิษภัยอยู่ภายใน สิ่งนั้นต้องแซงออกมาหรือระบายออกมาจนได้ไม่มากก็น้อย ผู้ที่ไม่มีสิ่งที่เป็นพิษเป็นภัยเลยนั้น จึงไม่มีอะไรที่จะแทรกออกมา หรือแฝงออกมา เพราะไม่มี มีแต่ธรรมล้วนๆ ธรรมล้วนๆ นี้ให้ความเสมอภาค ให้ความเป็นธรรมสม่ำเสมอแก่สัตว์และบุคคลทั่วหน้ากัน

         แม้แต้สัตว์เดรัจฉานตัวเล็กๆ ขนาดไหนก็ตาม ธรรมท่านสอนไม่ให้เบียดเบียนทำลายเลย ทั้งนี้ก็เพราะเห็นคุณค่า และความสำคัญของสัตว์ประเภทนั้นๆ เสมอกัน นั่นแล ดังที่บัญญัติห้ามไว้ไม่ให้ทำลายสัตว์ แม้แต่อยู่ในครรภ์ นี่ธรรมเคยให้ความเสมอภาคแก่โลกมาแล้วตั้งแต่กาลไหนๆ จนอาจพูดได้ว่า “แสนกัปแสนกัลป์อนันตกาล” ที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายให้ความเป็นธรรมถ่ายทอดกันมา อย่าว่าแต่ที่ออกมาเป็นตนเป็นตัว และเป็นสัตว์เป็นบุคคล ให้เห็นกันชัดเจนเช่นนี้เลย แม้แต่อยู่ในครรภ์ พระพุทธเจ้าผู้ทรงธรรมบริสุทธิ์ก็ทรงเห็นความสำคัญเสมอกัน จึงสอนให้งดเว้นจากการทำลาย โดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ ทั้งสิ้น ฉะนั้น การให้ความเสมอภาคแก่ผู้คน และสัตว์ทั่วไป   จึงไม่มีสิ่งแซงศาสนธรรมของพระพุทธเจ้าไปได้
         

การที่มาชี้แจง และเปลี่ยนแปลงธรรมให้เป็นอื่นไป ด้วยอำนาจของ “ลิ้น” อันเป็นคารมแห่งน้ำลายของผู้มีกิเลสลามกเต็มหัวใจนั้น แม้ใครจะว่า “เยี่ยม” ว่า “ยอด” ว่าดี ขนาดไหน ก็ไม่พ้นจากความเลวร้าย ทำลายศาสนา และจิตใจคนเป็นจำนวนมากไปได้อยู่นั่นแล ความจอมปลอม กับความจริง มันตรงกันข้ามอย่างเห็นได้ชัดในสายตา และหัวใจคนด้วยกันอย่างหลีกไม่พ้น เพราะเสกสรรกันขึ้นมาเฉย ๆ ไม่ใช่เป็นขึ้นตามหลักธรรมชาติ
         หลักธรรมชาติที่เป็นเอง  กับสิ่งที่เสกสรรขึ้นมานั้นมันผิดกันมาก  และเคยผิดกันมากราวฟ้ากับดินมาประจำแผ่นดิน แต่กาลไหนๆ ไม่จำเป็นต้องหลงเชื่อให้เสียเวลาและขายตัวให้แมลงวันหัวเราะเยาะเย้ยเปล่า ๆ

         พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนธรรมไปตามหลักธรรมชาติ คือความจริงล้วนๆ จึงเข้ากันได้กับสัตว์โลกทุกภูมิ เช่น การไม่ฆ่า ไม่เบียดเบียนทำลายสัตว์ เป็นต้น เป็นคำสอนที่สัตว์โลกยอมรับทั่วหน้ากัน เพราะใครก็ไม่อยากตายด้วยการฆ่าการทำลาย ไม่อยากเจ็บแค้นเพราะความถูกเบียดเบียน ไม่อยากให้สมบัติต่าง ๆ สูญหายไป เพราะถูกขโมย คดโกง รีดไถ ถูกล่วงล้ำสิ่งที่รักสงวน คือ สามี ภรรยา ลูกหลาน พูดโกหก หลอกลวง ต้มตุ๋น ดื่มของมึนเมาเข้าสู่สมองจนกลายเป็นคนบ้าคนบอไปอย่างสดๆ ร้อนๆ ที่น่าทุเรศเหลือประมาณ

         เคยมีปัญหาขัดแย้ง หรือลบล้างศาสนาเหมือนกันว่า การประมงเป็นเศรษฐกิจสำคัญที่ทำให้โลกเจริญ แต่พระพุทธเจ้าบัญญัติไม่ให้ฆ่าสัตว์ ซึ่งเป็นการกดถ่วงความเจริญของโลกในด้านเศรษฐกิจกับการประมง เมื่อเห็นเรานิ่งเฉย เขาจึงถามขึ้นว่า “ท่านจะเห็นอย่างไร? คำตอบจึงเริ่มขึ้นตอนเขาพูดเป็นเชิงถามเรา “คุณเองก็เป็นมนุษย์เหมือนโลกทั่วๆ ไป คุณเห็นอย่างไร? คุณต้องการความเจริญเพราะถูกเขาฆ่าตายอย่างนั้นหรือ? จึงกล่าวชมเชยเศรษฐกิจประเภทนี้ เรื่องนี้แม้แต่สัตว์เขาไม่ฉลาด และไม่ได้ร่ำเรียนเหมือนมนุษย์เขายังรู้จักกลัวตาย แต่คนฉลาด ทั้งได้เรียนกันมากมาย กลับชอบและชมการฆ่าการตายว่าเป็นของดี ว่าเศรษฐกิจเจริญ ถ้าเช่นนั้นมนุษย์ก็ต้องโง่กว่าสัตว์ที่ไม่ได้ร่ำเรียนอยู่มาก โดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ มาเป็นข้อลบล้างแก้ตัวเลย เพราะเรื่องนี้เป็นการขัดต่อหลักธรรมชาติของโลกที่รักสงวนชีวิตเสมอกัน จึงไม่มีใครยอมรับเป็น “หมู” ให้คนนำไปฆ่า ยกขึ้นเขียงสับยำเหมือนเนื้อ เพื่อเป็นอาหาร
ขอบคุณครับ
เยี่ยม
โอวาทธรรมหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต

เราเกิดมาเป็นมนุษย์
มีความสูงศักดิ์มาก


อย่านำเรื่องของสัตว์มาประพฤติ
มนุษย์เราจะต่ำลงกว่าสัตว์
และจะเลวกว่าสัตว์อีกมากมาย
อย่าพากันทำ


ให้พากันละบาป บำเพ็ญบุญ
ทำแต่คุณความดี

อย่าให้เสียชีวิตเปล่าที่มีวาสนาเกิดมาเป็นมนุษย์



ขออภัย! โพสต์นี้มีไฟล์แนบหรือรูปภาพที่ไม่ได้รับอนุญาตให้คุณเข้าถึง

คุณจำเป็นต้อง ลงชื่อเข้าใช้ เพื่อดาวน์โหลดหรือดูไฟล์แนบนี้ คุณยังไม่มีบัญชีใช่ไหม? ลงทะเบียน

x

ขออภัย! โพสต์นี้มีไฟล์แนบหรือรูปภาพที่ไม่ได้รับอนุญาตให้คุณเข้าถึง

คุณจำเป็นต้อง ลงชื่อเข้าใช้ เพื่อดาวน์โหลดหรือดูไฟล์แนบนี้ คุณยังไม่มีบัญชีใช่ไหม? ลงทะเบียน

x
ขอบคุณครับ
7#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-8-23 12:59 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
การอาศัยธาตุขันธ์ สมบัติ บริษัทบริวาร เงินทอง ก็ได้อาศัยมาพอรู้รสชาติของสิ่งนั้นๆ ได้ดีพอควร ส่วนรสชาติของธรรม คือความดีงาม เวลานี้ยังไม่จุใจ จงพยายามบำเพ็ญให้เป็นที่แน่ใจ จะไม่เสียท่าเสียที สมกับความเป็นมนุษย์ที่ฉลาดกว่าบรรดาสัตว์ มนุษย์เราสูงกว่าสัตว์ สูงด้วยความประพฤติดี เชื่อบุญ เชื่อบาป นรก สวรรค์ ไม่ใช่สูงแบบขึ้นอวกาศ ดังที่เขาเคยขึ้นกันมาแล้ว ไม่เห็นเป็นสุขและวิเศษวิโสอะไร กลับมาถึงพื้นโลก ถูกเขาสรรเสริญเยินยอ เลยลืมตัวและเป็นบ้าไปก็มีให้เห็นประจักษ์อยู่แล้ว การยกย่องก็ทำให้คนลืมตัวเป็นบ้าได้ เช่นเดียวกับผู้ถูกนินทาว่าร้าย เกิดความเสียใจเป็นบ้าไปจนเสียคน
         คำว่า “สูง” ให้สูงด้วยจิตใจที่มีธรรมนำตัวไปสู่ที่สูง และปลดเปลื้องทุกข์ได้ตามส่วนแห่งคุณธรรมที่มีในใจมากน้อย และสูงสุด คือถึง “วิมุตติ พระนิพพาน” ชื่อว่า “ผู้สูงตามหลักธรรมของชาวพุทธแท้”
         กรุณาพากันทำใจ ยกใจ ให้สูงกว่าสิ่งลามกทั้งหลาย จะชื่อว่า “เป็นผู้มีจิตใจสูงโดยคุณธรรมแท้” เอาละ การแสดงธรรมก็เห็นว่าสมควรฯ


เครดิต  http://www.luangta.com
6#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-8-23 12:58 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
พิจารณาเวทนา ก็สักแต่เวทนาไม่ร้อนไม่ทุกข์ เพราะมีเครื่องป้องกัน จิตที่เป็นสุข ย่อมมีเครื่องป้องกันเต็มตัว ทุกขเวทนาจะเกิดขึ้นเหมือนกองไฟทั้งกองก็ตาม จิตก็เป็นจิตล้วนๆ เป็นความรู้ล้วนๆ สุขก็เป็นสุขล้วนๆ ไม่ได้คละเคล้ากันเลย “ต่างอันต่างจริง ตามหลักความจริงแท้” เป็นอย่างนี้แล กรุณาพิจารณาให้เห็นแจ้งกับตัวเอง จะยอมรับพระธรรม ตลอดครูอาจารย์ ด้วยใจจริงในตัวเองเพราะความจริงนั้นเหมือนกัน
         สิ่งที่ “ปีนเกลียว” ต่อหลักความจริงก็คือ อะไรเกิดขึ้น ก็เอื้อมไปจับ อะไรเกิดขึ้นก็เอื้อมไปจับ ไปยึดไปถือ จึงเหมือนเอื้อมมือไปจับไฟ ซึ่งต้องนำความร้อนเข้ามาสู่ใจอยู่ดี ร้อนมาก หรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับความหลงมาก หลงน้อย ยึดมาก ยึดน้อย ถ้าไม่ยึดเสียเลย ด้วยอำนาจของปัญญาที่รู้รอบขอบชิดหมดแล้ว หรือจิตบริสุทธิ์ล้วน ๆ แล้ว สิ่งนั้น ๆ ก็สักแต่ว่าแสดงตัวตามเรื่องของมันอยู่เท่านั้น ไม่มีความหมายใด ๆเลย แม้ต่างอันต่างแสดง ก็ไม่มีความหมายในตัวเอง เพียงต่างอันต่างจริงอยู่ตามธรรมชาติของมันเท่านั้น จิตก็จริงไปตามธรรมชาติของจิต จึงไม่มีปัญหาอะไรในเรื่องความเจ็บปวดในธาตุในขันธ์ ไม่มีปัญหาอันใดในเรื่องความล้ม ความตาย ความสลายแห่งธาตุ มีเท่าไร ก็สลายไปตามเรื่องของมัน แม้ขณะที่มันสลายลงไปนั้น ก็ไม่มีอะไรมาเกี่ยวข้องจิตใจให้ยุ่งเหยิง วุ่นวายไปตามเลย
         นี่แหละ หลักธรรมที่พระพุทธเจ้าท่านทรงสอน ผู้ปฏิบัติตามหลักธรรมนี้แล้ว จะรู้ความจริง ดังที่กล่าวมานี้ เป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ ดังที่ท่านว่า “ความเป็น ความตาย มีน้ำหนักเท่ากัน” ไม่มีอะไรยิ่งหย่อนกว่ากัน ในความรู้สึกของพระอรหันต์ท่าน เวลามีชีวิตอยู่ ก็ไม่ได้อะไรจากธาตุ จากขันธ์อันนี้ เพราะจิตพอตัวเสียทุกอย่างแล้ว ไม่ต้องการอะไรมาเพิ่มเติมจากธาตุ จากขันธ์ หรือจากสิ่งใด ๆ ในโลก เวลาขันธ์สลายตัวลงไป จิตก็พอตัวอยู่แล้ว จะไปล่มจมที่ไหนกัน! จึงหาความล่มจมไม่มี เพราะธรรมชาติ “ผู้รู้ที่บริสุทธิ์” นี้ไม่ใช่ผู้ล่มจม สิ่งต่างๆ จะเอาความล่มจมมายัดเยียดให้ธรรมชาตินี้ได้อย่างไร! เมื่อธรรมชาตินี้พอตัวอยู่แล้ว จะเอาอะไรมาแฝง มาเพิ่ม ก็ไม่ติด ท่านว่า “ความตายกับความเป็นอยู่มีน้ำหนักเท่ากัน” ไม่มีอะไรผิดแผกแตกต่างกัน ท่านถือว่าเป็นธรรมด๊าธรรมดา! เมื่อรู้เห็นตามเป็นจริงแล้ว เป็นอย่างนั้นด้วยกันทั้งสิ้น ความรู้จริงเต็มภูมิจิตภูมิธรรมด้วยกันแล้ว จึงไม่มีอะไรจะขัดแย้ง ถกเถียงกันเหมือนพวกเราคอยรับเหมากิเลสความขัดแย้ง แข่งดีกัน
         ถ้า “ปีนเกลียว” กับความจริงก็เป็นเรื่องใหญ่โต ขณะที่เกิดก็ใหญ่ ดีใจ “โอ้โฮ หนูดีใจมาก เพราะหนูต้องการลูกผู้หญิงอยู่แล้ว” ถ้าต้องการลูกผู้ชาย หลานผู้ชาย ก็ดีใจมาก โอ้โฮ ได้ลูกผู้ชายทั้งคน สมกับบนบานไว้จริงๆ แหม! “หลวงพ่อเก่งมากเชียวนี่นา! มันเป็นเรื่องใหญ่โตไหมล่ะ เรื่องดีใจกับความเกิดนั่นน่ะ
         ทีนี้เวลามันตายละซิ ความดีใจอย่างใหญ่หลวง กับความเสียใจอย่างใหญ่โต มันรุมกันจนตั้งตัวไม่ติด แทบเป็นบ้าเป็นบอไปก็มี ทั้งนี้คือ โทษแห่งความหลงรัก หลงชัง ความยินดี ยินร้าย ในอิฏฐารมณ์ และอนิฏฐารมณ์ นั้นแล เป็นตัวเหตุใหญ่ ปราชญ์จึงสอนให้รู้เท่าทันไว้แต่เนิ่นๆ ก่อนเหตุจะเกิดขึ้น จะได้ตั้งตัวได้ไม่รุนแรง เวลาเผชิญกับเหตุการณ์ที่ไม่ต้องใจ จะมีสติยั้งคิดเพื่อหาทางผ่อนคลายได้บ้าง ไม่จมไปทั้งเป็น
         การพิจารณาไว้ก่อนเพื่อทราบไว้แต่ต้นทางที่เรื่องจะเกิดขึ้นก็ไม่เป็นทุกข์มาก พอมีที่ปลงวางได้บ้าง เช่น ความเกิด เมื่อคิดย้อนไปข้างหลังในเวลาเกิด มันก็ไม่ใหญ่โต การเกิด การตาย เป็นเรื่องทุกข์ของผู้เกิด ผู้ตายเท่ากัน การเรียนธรรม เรียนอย่างนี้จึงชื่อว่า “เรียนเพื่อรู้ความจริง ทั้งต้น ทั้งปลาย”
         การปฏิบัติธรรม ก็ปฏิบัติที่ตัวเรา เพราะเรื่องอยู่ที่ตัวเรา เรื่อง “ทุกข์” ก็อยู่ที่ตัวเรา “สมุทัย” คือ เหตุให้เกิดทุกข์ ก็อยู่ที่ตัวเรา “มรรค” คือ ข้อปฏิบัติ กำจัดความลุ่มหลง อันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ทั้งมวลก็อยู่ที่ตัวเรา เมื่อกำจัดได้มากน้อย “นิโรธ” คือความดับทุกข์ ก็ดับลงไปเป็นลำดับๆ ตามอำนาจของ “มรรค” ที่มีกำลังมากน้อย เมื่อ “มรรค” ดับ“สมุทัย” ได้หมด ไม่มีสิ่งใดเหลือแล้ว “นิโรธ” อันเป็นกิริยาแห่งความดับทุกข์ ก็ดับทุกข์สิ้นเชิงในใจเรานี่เอง ไม่ดับที่ไหน เพราะกองทุกข์ทั้งมวลอยู่ที่ตรงนี้ ดับก็ดับลงที่ตรงนี้ ไม่มีอะไรเป็นกิเลส และบาปธรรม นอกจากใจเป็นผู้ผลิตแต่ผู้เดียวและดับได้แต่ผู้เดียว ตามอุบายแห่งธรรมว่า “อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งของตนแต่ผู้เดียว” พระพุทธเจ้าทั้งหลาย เป็นแต่ผู้ชี้บอกอุบายวิธีแก้ หรือถอดถอนกิเลสทั้งปวงเท่านั้น
         ศาสนา เมื่อรวมลงแล้วแต่ละคน ละคน ที่ปฏิบัติ ต้องมารู้มาละกันที่ตรงนี้ทั้งนั้น ไม่มีอะไรมาเกี่ยวข้องให้ยุ่งเหยิงวุ่นวาย เพราะผู้นี้ไม่เป็นผู้วุ่นวายอีกแล้ว
         นี่แหละความมีศาสนาอยู่ภายในตน ย่อมมีหวังได้รับสิ่งพึงใจจากการปฏิบัติของตน ถ้าไม่มีศาสนาประจำตน ความหวังแม้มีอยู่เต็มใจด้วยกันก็เป็น “โมฆะ” ความเป็นอยู่ความเป็นไปของคตินั้น หาความแน่นอนไม่ได้เลย อยู่ในโลกมนุษย์ก็เหมือนสัตว์ที่หากินอยู่ตามวิสัยของตน เมื่อตายไปก็หมดความหมาย ไม่มีสิ่งอาศัยพึ่งพิงของใจ อันเป็นตัวการสำคัญในตัวคนและสัตว์ ฉะนั้นความไม่มีศาสนาเป็นที่ยึดเหนี่ยวเกี่ยวเกาะของใจ จึงเป็นความล่มจมอย่างหาที่เปรียบเทียบไม่ได้ ราวกับตายทั้งเป็นนั่นแล
         มนุษย์ฉลาดกว่าสัตว์ เวลา “เป็น” อยู่ก็มีบ้านมีเรือน มีพ่อมีแม่ มีสมบัติเงินทอง มองดูอะไรก็ภูมิใจกับสมบัตินั้นๆ แต่สิ่งที่ให้เกิดความภูมิใจ คือศาสนธรรมภายในใจไม่มี ย่อมขาดที่พึ่งทางใจอันเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง ใจไม่มีหลักไม่มีเกณฑ์ คิดแล้วก็ว้าเหว่ มองไปเห็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ซึ่งเป็นสิ่งนอกกาย นอกใจ มองเข้ามาที่จิตไม่รู้จะอาศัยอะไรต่อไป ใจย่อมว้าวุ่นขุ่นมัวหนักเข้า ตายก็ตายแบบใจอนาถา หาที่ยึดไม่ได้และล่มจมไปตามยถากรรม ซึ่งน่าทุเรศมากมาย
         คนเราเวลาจะตาย ใจเกิดความว้าวุ่นขุ่นมัวมากมาย ก็เพราะจิตไม่มีหลักยึดภายในใจ ไปยึดแต่สิ่งภายนอก กลัวจะตาย จะพลัดพรากจากสิ่งที่รักเจริญใจ กลัวจะพลัดพรากจากสิ่งนั้น คนนี้ ยุ่งกันไปหมด ซึ่งเป็นการก่อความวุ่นวายให้แก่ตนในวาระสุดท้ายมาก ฉะนั้นศาสนาจึงเป็นเหมือนประทีปดวงไฟส่องทาง เพื่อความเป็น “สุคโต” ได้เป็นอย่างดี ทั้งปัจจุบันและอนาคต ไม่ปรากฏว่าผู้ปฏิบัติธรรม ถูกธรรมนั้นพาไปลงนรกตกเหว ให้ได้รับความทุกข์ความทรมาน นอกจากธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม ไม่ให้ตกไปในที่ชั่ว ไม่พึงปรารถนาโดยถ่ายเดียว ไม่เคยเห็น ธรรมเปรต ธรรมผี มาคอยกัดฉีกกินคนผู้รักษาธรรมปฏิบัติธรรมให้สิ้นเนื้อประดาตัวเลย นอกจากธรรมปลอม ศาสนาจอมปลอม ซึ่งกำลังแทรกออกจากความอุบาทว์ เที่ยวหลอกลวงคนโง่ให้เผลอตัว ลงไปเข้าหม้อแกงเขาเท่านั้น
         จิตที่มีศาสนา จิตมีธรรมเป็นเครื่องปกครองเป็นเครื่องสนับสนุน ย่อมเป็นจิตที่เยือกเย็นอ่อนโยน มีความอบอุ่นอยู่ภายในตัว ผิดกับจิตที่ไม่มีศาสนา ซึ่งมีแต่ความโหดร้ายทารุณเป็นเจ้าอำนาจครองใจเป็นไหนๆ เพราะภายในจิตมีธรรมเป็น “แกน” มีธรรมเป็น “หลักยึด” ของใจ แม้ยากดีมีจนก็มีความอบอุ่นอยู่ภายใน เวลานี้เราอาศัยกายนี้อยู่ ต่อไปเรายึดบุญ เราอาศัยบุญ เวลาที่สุดวิสัยที่จะยึดกายนั้นแล้ว สิ่งที่เป็นวิสัยของเรา เหมาะสมกับใจเราอย่างยิ่งก็คือความดี คือบุญ จำต้องยึดธรรมเป็นหลักใจ ตายก็ “สุคโต”ไปเลย คนมีศาสนาภายในจิตใจเป็นอย่างนี้ ไม่เสียท่าเสียที ทั้งในเวลามีชีวิตอยู่ ทั้งในเวลาตายไป
5#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-8-23 12:58 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ขึ้นชื่อว่าภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา” นี้ มันยุ่งเสียจริงแต่วันเริ่มแรก แตกไปเสียก็หมดความรับผิดชอบกันเพียงเท่านี้ ซึ่งเป็นครั้งสุดท้าย ต่อไปก็หมดห่วงกัน มันเพียงเท่านี้ “ต่อไปจิตไม่ต้องรับผิดชอบกับสิ่งเหล่านี้อีกเลย”
         นั่นน่ะ ฟังซิ ผู้สิ้นกิเลส ท่านว่า “อนุปาทิเสสนิพพาน” หายกังวลไปโดยประการทั้งปวง! เวลาที่มีชีวิตอยู่ ต้องได้รับทราบ และรับผิดชอบกันอยู่ตลอดเวลา ตามที่ประสาทรับรู้อยู่ในร่างกายนี้ส่วนต่างๆ ทางหู ทางตา ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ตลอดถึงทางใจก็ต้องมีคิด มีปรุง เวลาอาศัยกันอยู่ก็ต้องรับผิดชอบกันอย่างนี้ เหมือนคนทั่วไป เป็นแต่ไม่ยึด และไม่หวังอะไรจากขันธ์นี้ เท่านั้น
         ท่านว่า “สอุปาทิเสสนิพพาน” ใจถึงความบริสุทธิ์ “วิมุตติ” ไปแล้ว แต่ธาตุขันธ์ไม่บริสุทธิ์กับเรา เขาต้องก่อกวนอยู่อย่างนั้น ก่อกวนอยู่อย่างนี้ ให้ได้รับทราบ และรับผิดชอบกันอยู่ตลอดเวลา พาหลับ พานอน กินอยู่พูวายต่างๆ เป็นแต่ใจ ไม่ทุรนทุรายต่างๆ ไม่หลงมันเท่านั้นเอง ท่านปฏิบัติต่อขันธ์อันเป็นสมมุติ เหมือนผู้ใหญ่ปฏิบัติตามใจเด็กเล็กๆ นั่นแล เช่น พาเล่นตุ๊กตาบ้าง พาเล่นฟุตบอลบ้าง เป็นต้น ไม่งั้น เด็กมันกวน และร้องไห้
         ท่านนักปฏิบัติ จงมีความมั่นคงภายในใจ ให้เป็นที่แน่ใจตน อย่าให้เสียที ทุกข์ขนาดไหน ก็ให้ปลงลงในบทธรรมว่า “ทุกขเวทนา” เป็นสัจธรรมอันหนึ่ง หรือเป็นองค์แห่งไตรลักษณ์อันหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา และไม่ใช่ของใครทั้งสิ้น ความเป็นไตรลักษณ์กับความที่รู้อยู่ภายในจิตนี้ เป็นคนละอย่างไม่ใช่อันเดียวกัน ร่างกายก็เป็นส่วนหนึ่ง ทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นเพราะร่างกายผิดปกติ ก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง จิตที่รู้ก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง สติปัญญาที่นำมาใช้เพื่อรู้เท่า และถอดถอน หรือเพื่อกำจัดปัดเป่าสิ่งเหล่านี้ ก็เป็นสัจธรรมอันหนึ่ง ซึ่งเป็นฝ่ายแก้ ฝ่ายถอดถอนกิเลสทั้งปวง ตัวหลงยึดมั่นถือมั่น สำคัญผิด
         ปัญญามีไว้สำหรับใช้แก้กิเลส แก้ความลุ่มหลงของตน ใช้ให้เพียงพอกับความต้องการ เรื่องตายนั้นมีอยู่กับทุกคน ไม่เป็นสิ่งที่น่าวิตกกังวลให้เกิดทุกข์ทางใจ ตายก่อนตายหลังก็คือความตายนั่นเอง ไม่เห็นมีอะไรแปลกกัน คนนี้ตายวันนี้ คนนั้นจะตายวันพรุ่งนี้ ก็คือความตายนั่นแล แปลกต่างกันที่ไหน พอจะได้เปรียบ และเสียเปรียบกัน? ความโง่ กับความฉลาดต่างหากที่ทำคนให้ได้เปรียบ และเสียเปรียบกิเลสน่ะ
         จิตล้วนๆ ไม่มีกาล ไม่มีเวลา เรื่องกาล เรื่องเวลานั้น เป็นความคาดความหมายของจิต ซึ่งก่อความหลง ความกังวลให้ตนต่างหาก ความตายจริงๆ เขาไม่มีกาล ไม่มีเวลาของเขา เขาไม่มีกฎมีเกณฑ์ตั้งไว้เหมือนมนุษย์เรา มนุษย์เราชอบตั้งกฎตั้งเกณฑ์ นั้นอย่างนั้น นี้อย่างนี้ และสิ่งที่ทำความสำคัญมั่นหมายถึงตั้งกฎตั้งเกณฑ์นั้น ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ก่อความกังวลให้แก่ตนทั้งนั้น ที่ถูกเขย่าก่อกวนอยู่ตลอดเวลาก็คือ ใจ จงทราบสิ่งเหล่านี้ไว้ด้วยสติปัญญา อย่าหลงใหลใฝ่ฝันไปกับสิ่งเหล่านี้แบบลม ๆ แล้ง ๆ ที่มาก่อกวน ก็ชื่อว่า “ฉลาดรอบตัว” ไม่กลัวเป็นกลัวตาย ตลอดสภาวะทั่วไปที่มาเกี่ยวข้องกับใจ ตายที่ไหน ตายกาลใด เวลาใด ตายโดยโรคอะไร มันก็คือ ความตาย ตายวันนี้ ตายวันหน้า ก็คือความตายนั่นแล ตื่นกันหาประโยชน์อะไร แบบไม่ได้เรื่องได้ราว ยิ่งกว่าเด็กอมมือ
         จิตจริงๆ ไม่มีตาย ไม่มีสถานที่ ไม่มีกาล ไม่มีโรค เพราะจิตไม่ได้เป็นโรคแบบนั้น เป็นโรคกิเลสต่างหาก ถ้าแก้กิเลสออกได้มากน้อย จิตก็มีความสุขสบาย โดยไม่ต้องมีกาลมีเวลามาให้ความสุข ยิ่งจิตบริสุทธิ์ด้วยแล้วเป็น “อกาลิโก” ไม่มีอะไรเข้ามาแทรกเลย เป็นสุขล้วนๆ คือ “ปรมํ สุขํ สุขโดยธรรมชาติแท้ ไม่แปรผันเหมือนสุขในวงสมมุติซึ่งคอยแต่จะหลุดมือไป”
         ถ้าคิดปลงตกในทุกสิ่งทุกอย่าง ชื่อว่า “ผู้ปฏิบัติธรรม” และชื่อว่า “ผู้ครองธรรมสมบัติอย่างภูมิใจ” สิ่งที่เกี่ยวข้องกับตน เช่น สมบัติ เงินทอง ข้าวของ คนนั้น คนนี้ ญาติมิตรสหาย อะไรเหล่านี้ มันอยู่ไกลจากตัวเรามาก สิ่งที่เกี่ยวพันกับตนอยู่เวลานี้ คือขันธ์ห้า ได้แก่ร่างกาย กับจิตที่อยู่ด้วยกัน นี่เป็นสิ่งสำคัญ ต้องเรียนให้รู้ทัน และปลงให้ตก ด้วยสติปัญญารู้ความจริงของมัน อย่าไปขัดขวางความจริง ถ้าไปขัดความจริงแล้วเป็นการคุ้ยกิเลสขึ้นมา เหมือนปลูกกิเลสให้เป็นต้นเป็นลำใหญ่โตขึ้นมา แล้วก็มาราวีเรานั่นแหละ คือราวีใจ ดวงโง่ต่อเขานั่นแล
         ขันธ์ห้าเป็นเช่นไร จิตเป็นอย่างไร? เราเคยเรียนรู้ และปฏิบัติต่อสิ่งเหล่านี้มาแล้ว จึงไม่ควรหลงการแสดงออกของขันธ์ ซึ่งเป็นกิริยาของจิตแทรกอยู่ด้วยแทบทุกขันธ์เว้นแต่ “รูปขันธ์” เท่านั้น
         รูป หมายถึงกายทั้งหมด นี่ก็เป็นขันธ์อันหนึ่ง เป็นหมวดอันหนึ่ง หรือเป็นกองอันหนึ่ง ก็กองทุกข์นั่นแลจะเป็นกองอะไร ขันธ์ห้า แปลว่า กองทุกข์นั่นแหละ ทุกข์มีอยู่ที่นี่ ทุกข์มันอยู่ที่นี่ ภูเขา ไม่ได้มาทำให้คนมีทุกข์ หรือภูเขาไม่ได้เป็นทุกข์ ดิน ฟ้า อากาศ ไม่ได้เป็นทุกข์ มันเป็นทุกข์ที่ขันธ์ห้านี้ ถ้าจิตเราหลง เราก็เป็นทุกข์ด้วย ถ้าจิตไม่หลง ก็เป็นทุกข์ที่ขันธ์ห้าเท่านั้น จิตไม่เป็นทุกข์ด้วยเลย แม้อยู่ด้วยกันก็ตาม เพราะเป็นคนละภาคละส่วน
         เวทนา คือ สุข ทุกข์ เฉยๆ ท่านเรียกว่า “เวทนาขันธ์” หมายถึงขันธ์ห้านั่นเอง “สัญญาขันธ์” คือ ความจดจำ “สังขารขันธ์” คือ ความคิดปรุง “วิญญาณขันธ์” คือความรับทราบจากสิ่งที่มาสัมผัสทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย รวมแล้วท่านเรียกว่า “ขันธ์ห้า” หรือ วิญญาณขันธ์” ก็กองทุกข์ทั้งมวลนั่นเอง จะเป็นกองเงินกองทองที่ไหนกัน พอให้หลง ให้เพลินไปตามเขา
         ถ้าเป็นทุกข์ ก็เป็นทุกข์อยู่ในวง “ขันธ์ห้า” นี้ เวทนา มันก็แสดงตัวของมัน ตามสภาพของมันอย่างนั้น จะเป็นสุข ก็เป็นเรื่องของสุขล้วน ๆ จะเป็นทุกข์ ก็ทุกข์ล้วน ๆ มันเป็นของมันอย่างนั้น รูปกาย ก็เป็นรูปกายของมันอย่างนั้น ทุกข์กับสุขมีมากน้อยรูปกายไม่รับทราบ รูปกายไม่มีความหมายในตัวเอง และไม่มีความหมายในทุกข์ ทุกข์ที่เกิดขึ้นก็ไม่มีความหมายในตัวเอง และไม่ทราบว่าตัวเองนั้นเป็นทุกข์ นี่! จึงเรียกว่าเป็นความจริงแต่ละอย่าง ละอย่าง ตามหลักความจริงแห่งขันธ์ห้า
         ทุกข์จริงๆ ที่มันเกิดขึ้นในร่างกายนี้ มันไม่ได้ทราบความหมายของมันว่ามันเป็นทุกข์ และมันก่อขึ้นให้แก่ผู้ใด มันเองก็ไม่มีความหมายในตัวมัน ไม่รู้สึก นอกจากใจของเราไปหมายมันเท่านั้น
         สัญญา สังขาร วิญญาณ ความจำก็เหมือนกัน มันสักแต่ว่าจำ สังขาร ความคิดปรุง ก็สักแต่ว่าปรุง ใครจะเป็นผู้รับช่วงจากความปรุง ใครจะเป็นผู้รับช่วงจากความจำ (สัญญา) ใครจะเป็นผู้รับช่วงจากความรับทราบ (วิญญาณ) นั้น ถ้าไม่ใช่จิต? ก็มีจิตดวงเดียวเท่านั้น เป็นผู้รับภาระทั้งรับรู้ ทั้งรับหลง
         จิต ถ้าเป็นจิตที่รู้รอบด้วยปัญญาก็มีเครื่องมือจับ เหมือนกับเราจับไฟด้วยเครื่องจับ เช่น คีมคีบถ่านไฟ มันก็ไม่ไหม้เรา ถ้ามือไปจับไฟก็ไหม้ จิตที่มีเครื่องมือ มีสติ มีปัญญารอบตัว ทุกข์ในขันธ์ก็ไม่เผาใจได้ ย่อมอยู่ด้วยกันด้วยความจริงเสมอไปตลอดอวสาน
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้