ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 2265
ตอบกลับ: 4
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

~ ถักจิตทอใจด้วยใยธรรม ~

[คัดลอกลิงก์]
ถักจิตทอใจด้วยใยธรรม

พระราชสังวรญาณ (หลวงพ่อพุธ ฐานิโย)

ธรรมะในคัมภีร์อยู่ไกล

ธรรมะในใจอยู่ใกล้แค่เอื้อม ถ้าเราไปอ่านเรื่องธรรมะในคัมภีร์ ก็ดูเหมือนกับว่าธรรมะนี้อยู่ไกลสุดเอื้อม แต่เมื่อเราจะมาศึกษาและเรียนรู้ธรรมะในตัวของเรานี่ เราจะรู้สึกว่าธรรมะที่จะต้องเรียนรู้และจำเป็นต้องรู้ก็ไม่ใช่อื่นไกล ก็คือเรื่องของกายกับใจของเรานั่นเอง

กายกับใจเป็นที่เกิดของความสุขและทุกข์ ความดีและความชั่วเกิดที่กายกับใจ บุญและบาปเกิดที่กายกับใจ มรรค ผล นิพพาน ความดีเกิดที่กายกับใจ

เพราะฉะนั้น การเรียนรู้ธรรมะ เราควรจะได้เรียนรู้เรื่องกายกับใจ ของเรา มากกว่าที่จะไปเรียนในคัมภีร์ให้มันมีความรู้มาก ๆ เป็นการส่งเสริมทิฏฐิมานะให้มันเกิดมากขึ้น ๆ แล้วก็เที่ยวแบกคัมภีร์ไปขัดคอกัน

ผู้ปฏิบัติที่จะสำเร็จมรรค ผล นิพพานกันจริง ๆ ต้องเรียนรู้เรื่องของโลก ในหลักธรรมะท่านสอนให้เรียนรู้ เรื่องกาย เรื่องจิต

รู้อะไรก็ไม่สู้รู้ใจตนเอง

ถ้าเราพิจารณาธรรมะ เราพิจารณาที่ใจเรา น้อมเข้ามาที่ใจ มารู้อยู่ที่ใจ นึกแต่เพียงว่าสิ่งภายนอกเป็นเพียงอารมณ์ สิ่งรู้ของจิต สิ่งระลึกของสติเท่านั้น

รู้นอกเป็นสมุทัย รู้ในเป็นมรรค

ถ้าไปรู้นอก เป็นเหตุให้สร้างบาปสร้างกรรม

ถ้ารู้เข้ามาในเป็นเหตุให้ละวาง

ความรู้ที่จำเป็นที่สำคัญที่สุด ก็คือรู้จิตรู้ใจของเราเอง ว่าปัจจุบันนี้สภาพจิตใจของเราเป็นอย่างไร เศร้าหมองหรือผ่องใส มีกิเลสตัวไหนอยู่ในใจเราบ้าง เมื่อเรารู้ความจริงของตัวเราแล้ว เราจะแก้ไขดัดแปลงอย่างไรนั้น ก็ขึ้นอยู่กับความตั้งใจของเรา

อ่านจริตของเราให้รู้ว่า เราเป็นราคะจริต โทสจริต โมหจริต วิตกจริต พุทธิจริต ศรัทธาจริต อย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อจะดูให้รู้แจ้ง เพื่อจะเป็นพื้นฐานที่เราจะแก้ไขดัดแปลงจิตของเรา เมื่อเรารู้ชัดลงไปแล้ว เรามีกิเลสตัวไหน เป็นจริตประเภทไหน เราจะได้แก้ไขดัดแปลง ตัดทอนสิ่งที่เกินแล้วเพิ่มสิ่งที่หย่อน ให้อยู่ในระดับพอดีพองาม เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา
2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-18 13:07 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
วางใจเป็นกลาง ละวางความทุกข์

ความทุกข์ที่บังเกิดขึ้นที่จิต เพราะอาศัยความยินดียินร้าย เป็นตัวสมุทัยหนุนให้เกิดทุกข์ ทุกข์ตัวนี้ คือ ทุกข์อริยสัจที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ เมื่อเรามีสติกำหนดอารมณ์จิตของเราอยู่ตลอดเวลา สุขทุกข์เกิดสลับกันไป เมื่อสติสัมปชัญญะตัวนี้เด่นขึ้น มีพลังแก่กล้าขึ้นเมื่อใด เราสามารถที่จะกำหนดรู้ รู้ธรรมะตามความเป็นจริงเมื่อจิตของท่านสามารถี่จะดำรงอยู่ในความเป็นปรกติ ไม่หวั่นไหวต่อเหตุการณ์นั้น ๆ ความเป็นปกติจิตปรากฏเด่นชัดอยู่ตลอดเวลา ตัวปกติของจิตนั่นแหละคือนิโรธ เพราะฉะนั้น การกำหนดรู้อารมณ์จิตจึงเป็นสิ่งสำคัญ

ศีล ๕ บริสุทธิ์ สุดประเสริฐ

แม้ทำสมาธิไม่เป็น ภาวนาไม่เป็น แต่ศีล ๕ บริสุทธิ์ เป็นสิ่งประเสริฐสุดในการปฏิบัติธรรม ศีลมากก็ไร้ค่า ถ้าศีล ๕ ไม่มี ท่านที่ทะนงตัวว่ามีศีลมาก ๆ เป็นกอบเป็นกำ แต่ถ้าหากมองข้ามศีล ๕ ยังละเมิดศีล ๕ ข้อใดข้อหนึ่งอยู่ ก็ไม่เกิดผลประโยชน์อันใด เพราะเหตุว่าที่มีกายใจ ที่จะรองรับคุณธรรมเบื้องสูงขึ้นไปต้องมีศีล ๕ บริสุทธิ์บริบูรณ์ดี

ศีล ๕ ละกิเลสทางกาย กิเลสไม่ใช่เรื่องที่เราจะละไม่ได้ กิเลสที่ละได้คือละการไม่ทำ ละการไม่พูด แต่ความรู้สึกทางใจนี่ตั้งใจละเองไม่ได้ การละกิเลสทางกาย ก็คือ ศีลข้อ ๕

พลิกกิเลสให้เป็นธรรม

กิเลสที่มีอยู่ในใจของเรานั้น อย่าไปพยายามละ แต่ต้องมีสติปัญญา กำหนดพิจารณาให้รู้ว่า เรามีกิเลสตัวใด ในเมื่อเรารู้ว่า เรามีกิเลส โลภ โกรธ หลง เราพยายามใช้กิเลสให้เกิดประโยชน์โดยความเป็นธรรม อย่าปล่อยให้โลภ โกรธ หลง มันพาเราไปทำบาปทำชั่ว ที่เราจะป้องกันอำนาจของกิเลส โลภ โกรธ หลง ไม่ให้พาเราไปทำบาปทำชั่ว เราต้องยึดศีล ๕ เป็นหลัก

เรายังมีกิเลส โลภ โกรธ หลง มากน้อยเพียงใด พยายามดูจิตของเราให้มันรู้ว่ามีกิเลสตัวไหน ในเมื่อเรารู้แล้ว เราจะใช้กิเลสให้เกิดประโยชน์อย่างไร จึงมีความยุติธรรม หรือเป็นไปเพื่อความสันติสุขใน สังคมมนุษย์ ถ้าหลง หลงในคุณงามความดี ถ้าโกรธ โกรธความชั่ว ความไม่ดี ความบาป ถ้าโลภ โลภในการสร้างคุณธรรมให้มีให้เกิดขึ้นใจจิตในใจ ให้ทาน รักษาศีล เจริญเมตตาภาวนา สร้างพลังสมาธิปัญญาให้แก่กล้า

โลภอย่างไร ไม่เป็นบาป

ท่านจะโลภเพียงใดแค่ไหน เชิญท่านโลภไปเถิด ท่านจะทะเยอทะยานไปถึงไหน เชิญท่านทะเยอทะยานไปเถิด แต่การประพฤติดี หรือการกระทำของท่าน หรือการแสวงหาผลประโยชน์ที่ต้องการ อย่าให้ผิดศีลข้ออทินนาทาน คืออย่าลักขโมย จี้ ปล้น ฉ้อโกง อย่าให้มันผิดศีลข้อนี้ ข้อมุสาวาท อย่ายักยอกหลอกลวง
3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-18 13:07 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ศีล คือ เจตนาสำรวมระวัง

การสำรวม นั่นแหละ คือ ศีล ศีล คือ เจตนาที่จะสำรวมระวัง แล้วศีลของเราจะบริสุทธิ์สะอาด เพราะความมีสติสังวรระวังอยู่

สมาธิภาวนาแก้ปัญหาใจ

ที่เราแก้ไขปัญหาจิตใจของเราไม่ได้อยู่นี้ เพราะเราไม่รู้จัดตัวของเราเอง

ในเมื่อเป็นเช่นนั้น เราจึงควรจะศึกษาให้รู้จักตนของตน วิธีที่จะศึกษาปฏิบัติให้รู้ตนของตน ก็ไม่หนีไปจากหลักของการทำสมาธิ ในเมื่อฝึกสมาธิ จิตสงบเป็นสมาธิ ได้สติสัมปชัญญะ ได้ความรู้สึกสำนึกผิดชอบชั่วดี แต่ถ้าสมาธิมันมีพลังงานแล้ว มันทำให้เกิดปัญญา สามารถแก้ไขปัญหาจิตใจของตนเองได้ดี

ใช้แก้ปัญหาชีวิตและสังคม การทำสมาธิเช่นอย่างเราจะไปเข้าห้องกรรมฐาน ไม่เอาไหนเลย ไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งใดเลย อันนั้นมันก็ไม่ดี เพราะเราทิ้งการทิ้งงานส่วนอื่น การทำสมาธินี่เรามุ่งหวังให้เรามีพลังจิต มีสติสัมปชัญญะ ต่อสู้กับการงานที่เรารับผิดชอบอยู่ สามารถที่จะแก้ปัญหา ในชีวิตประจำวันได้ สามารถที่จะแก้ไขปัญหาสังคมได้

ไม่ใช่ทำสมาธิแล้วไปหลับหูหลับตาไม่เอาไหน แบบนั้นไม่ถูกต้องแน่ ทำสมาธิเป็นแล้วต้องสนใจการงาน สนใจในหมู่คณะ สนใจการการรับผิดชอบ สนใจในทุกสิ่งทุกอย่าง เพราะว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่ในโลกนี้เป็นสภาวธรรม

สวดมนต์ภาวนา

บทสวดมนต์ที่เราเปล่งวาจา เช่น สวดอิติปิโส ภควา อรหัง สัมมา สัมพุทโธ เป็นต้น เมื่อเรามีสติสัมปชัญญะ กำหนดตามรู้บทสวดที่กำลังสวดอยู่ ทำจิตให้มันรู้ชัดเจนว่า เราสวดไปอักษรไหน ทำจิตให้รู้ มีสติรู้ชัด ๆ ได้ชื่อว่าเป็นการฝึกสมาธิเช่นเดียวกัน

แม้เราสวดมนต์อยู่ก็คือสมาธิ แม้เรานั่งสมาธิบริกรรมภาวนา ก็คือการฝึกสมาธิ ต้องมีความเข้าใจให้มันสัมพันธ์กัน แม้ว่าเราทำธุรกิจอย่างอื่น ถ้าเรามีสติสัมปชัญญะรู้ตัว อยู่ตลอดเวลา ก็คือการฝึกสมาธิ

คุณสมบัติของผู้ปฏิบัติธรรม

การปฏิบัติธรรมต้อง ในเย็น ๆ เชื่อในสมรรถภาพของตนเอง มีความเพียรพยายามให้มาก ๆ

นักปฏิบัติสมาธิต้องสู้ สู้ต่อการงานทุกสิ่งทุกอย่าง เพราะการทำสมาธิ ทำให้จิตมีสมาธิ มีความตั้งมั่น มีความมั่นใจ มั่นใจต่อหน้าที่การงานที่เรารับผิดชอบอยู่ อันนี้คือผลของการทำสมาธิ

อย่าติดวิธีการ

เป็นนักปฏิบัติสมาธิ อย่าไปติดวิธีการ ถ้าเราไปติดวิธีการแล้ว เราจะเอาวิธีการนั้นมาฟัดกัน เสร็จแล้วก็จะเกิดทะเลาะกัน การทำสมาธิเป็นกิริยาของจิต นั่งทำสมาธิได้ เดินทำสมาธิได้ นอนทำสมาธิได้ หรือใครจะแน่จริงวิ่งทำสมาธิก็ได้ ถ้าหากการปฏิบัติ เราไม่ยึดติดวิธีการเป็นใหญ่ เราเอาประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในจิตเป็นเครื่องตัดสิน เราจะหมดปัญหาข้อสงสัย

ยึดถูกเห็นทิศ ยึดผิดหลงทาง

แม้ว่าผู้ภาวนาอาจสร้างนิมิตเป็นดวงอะไรก็ตาม หรืออาจเห็นภาพนิมิตต่าง ๆ ก็ตาม หรือสามารถทำจิตให้บันดาลให้เกิดภูมิความรู้อะไรได้มากมาย ก่ายกองสักเพียงใดก็ตาม แต่สิ่งเหล่านั้นก็เป็นเพียงสภาวธรรม เครื่องรู้ของจิต เครื่องระลึกของสติเท่านั้น ถ้าใครไปยึดเอาความรู้ความเห็น ความเป็นเช่นนั้น เป็นสาระแก่นสารในการปฏิบัติ ไม่ยึดเอาตัว “สติ” ที่มีความมั่นคง ซึ่งสามารถรู้เท่าทันเหตุการณ์ภายในจิต ทั้งภายนอกภายใจได้ ก็ยังชื่อว่าจับหลักการปฏิบัติไม่ได้แน่นอน
4#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-18 13:08 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
หมดเมื่อไร ได้เมื่อนั้น

สมาธิ เกิดขึ้นได้เมื่อเราหมดความตั้งใจ วิปัสสนาจะเกิดขึ้นได้เมื่อเราหมดความคิด

สมาธิปัญญา

การรู้กายรู้จิต รู้ด้วยความตั้งใจกำหนดรู้ เรียกว่ารู้โดยสติปัญญาธรรมดา แต่ถ้าจิตมีพลังงานเกิดจากสมาธิ มีสติสัมปชัญญะ สามารถกำหนดรู้กายและจิตเอง เรียกว่ารู้เห็นโดยสมาธิปัญญา

ความคิดอันใดที่มีสติรู้ทันทุกขณะจิต แล้วจิตก็คิดขึ้นมาเอง โดยที่เราไม่ได้ตั้งใจ มีสติรู้พร้อมทุกขณะจิต ความคิดอันนั้นเป็นสมาธิปัญญา

ปัญญา ตามสัญญาหรือความทรงจำ เป็นอุปกรณ์ให้เกิดสติปัญญา ในขั้นสมาธิภาวนา เป็นสิ่งที่อาศัยซึ่งกันและกัน

เหนือสมมติบัญญัติ

ของจริงที่ปรากฏขึ้นกับจิตของผู้ภาวนานั้น ต้องอยู่เหนือสมมติบัญญัติเสมอ ถ้าสิ่งใดยังมีสมมติบัญญัติอยู่ สิ่งนั้นยังไม่ใช่ความจริง ยังไม่ใช่สัจจธรรม

สัจจบารมี

การนอนเป็นเวลา การตื่นเป็นเวลา การรับประทานเป็นเวลา ทำอะไรให้ตรงต่อเวลา ก็ให้มีสัจจะไว้ในใจว่า เราจะทำอะไรให้มันจริงใจสักอย่างหนึ่ง ให้เป็นวิหารธรรมเครื่องอยู่ของใจ ที่คือแผนการสร้างพลังจิตพลังใจ การทำอะไรเป็นเวลาตรงไปตรงมา เป็นการสร้างสัจจบารมี

ถ้าใครมีสัจจะบารมี มีสัจจะบารมี ใกล้ต่อการตรัสรู้ ถ้าขาดสัจจะความจริงใจแล้วยังห่างพระพุทธเจ้า

ผิดรู้ตัวว่าผิด ถูกรู้ตัวว่าถูก ไม่โกหกใคร ผิดรับไปตามผิด ถูกรับไปตามถูก นั่นเป็นการสร้างสัจจบารมี เพราะฉะนั้นท่านทั้งหลายก็ควรจะได้ฝึกตัวเองให้มีสัจจบารมีบ้าง

สร้างบารมีธรรม

หน้าที่ของผู้ศึกษาธรรม ปฏิบัติธรรม ก็คือพยายามละความชั่ว เริ่มต้นตั้งแต่ตั้งใจละโดยเจตนา ฝึกฝนจนกระทั่งเป็นนิสัยที่เคยชินต่อการละ นิสัยที่เคยชินเพิ่มพลังงานขึ้น กลายเป็นอุปนิสัยวาสนาบารมี สิ่งที่เป็นอุปนิสัย คือสิ่งที่เป็นเองโดยอัตโนมัติ ที่เราฝึกหัดเสียจน คล่องตัว จนเป็นอุปนิสัยฝังแน่นอยู่ในสันดาน สิ่งที่เป็นอุปนิสัยที่ สะสมอบรมบ่มเอาให้มาก ๆ เมื่อเพิ่มพูนขึ้น หนักแน่นลงไปเป็น วาสนาบารมี ในเมื่อถึงขั้นแห่งอุปนิสัยวาสนาบารมี คุณงาม ความดีที่เราทำมาแล้ว ไม่ต้องนึกก็ได้ นึกถึงก็ได้ มันมีอยู่ในจิตของเราตลอดเวลา

ที่มา http://www.dharma-gateway.com/monk/preach/lp_poot/lp-poot_43.htm

ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้