ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 1702
ตอบกลับ: 2
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

รูปพระพุทธย่อมศักดิ์สิทธิ์

[คัดลอกลิงก์]
รูปพระพุทธย่อมศักดิ์สิทธิ์

คอลัมน์ พันธุ์แท้พระเครื่อง
พระพุทธรูป (Buddha Images) และพระเครื่อง (Buddha amulets) นับเป็นหนึ่งในอุเทสิกเจดีย์ ให้คติความเชื่อทางศาสนาพุทธ ‘อุเทสิก’ มาจากคำว่า อุทิศ คือการมอบให้พระศาสนา ซึ่งรูปดังกล่าวเป็นการผสมผสานความเชื่อท้องถิ่นเกี่ยวกับบุคลาธิษฐานกับคติการนับถือรูปเคารพที่ได้รับจากกรีกในลักษณะของอารยธรรมเฮเลนิสติก (Hellenistic) ที่เผยแพร่เข้ามาทางตอนเหนือของลุ่มแม่น้ำสินธุหรืออินเดียตะวันตกเฉียงเหนือ เมื่อครั้งพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช แห่งมาซิโดเนีย
รูปแห่งองค์พระพุทธเจ้า จึงมีความหมาย หรือ ‘นัย’ เกินกว่าที่จะเป็น อิฐ หิน ปูน ทราย ทองเหลือง ไม้แกะ หรือวัสดุอื่นๆ เพียงอย่างเดียว เริ่มจาก ‘พระพุทธรูป’ มีความสำคัญทางด้านความเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี งานศิลปกรรม อันเป็นตัวแทนแห่งยุคสมัยต่างๆ ที่แสดงให้เห็นถึงความเจริญทางด้านเทคโนโลยีในการแกะแม่พิมพ์ การหล่อ การขึ้นรูป

นอกจากนั้น พระพุทธยังเป็นสิ่งแสดงถึงความเชื่อความศรัทธาของกลุ่มชนต่างๆ เช่นเดียวกับรูปเคารพทางศาสนาอื่นๆ และไม่ใช่เฉพาะในพุทธแบบหินยานเท่านั้น หากแต่ยังแพร่หลายอย่างกว้างขวางในพุทธแบบมหายาน แถบ จีน ทิเบต ญี่ปุ่น เขมรนครธม ศรีวิชัย เป็นต้น
รูปแบบของพระพุทธ ยังเป็นเครื่องเตือนสติและเป็นสิ่งที่โบราณาจารย์ได้ใช้ประโยชน์ทางการเผยแพร่พระพุทธศาสนา เริ่มตั้งแต่การวาดภาพลงบนพระบฏและงานจิตรกรรม เป็นการใช้ภาพเล่าเรื่องชาดกอันหมายถึงคุณความดีขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าในอดีตชาติ และแพร่หลายไปตามท้องถิ่นต่างๆ ที่เรียกกันว่า ‘ปัญญาสชาดก’ ก่อนจะพัฒนามาเป็น ‘พระพุทธรูปปางต่างๆ’ เพื่อให้ประชาชนได้เข้าใจในพุทธประวัติตอนต่างๆ ได้ง่ายขึ้น อันเป็นสิ่งที่เรียกว่า ‘ปาง’ แห่งองค์พระพุทธรูป ซึ่งในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ สมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรสได้จัดมาตรฐานรวบรวมให้เป็นระบบได้รวม 40 ปาง นอกจากการสร้างแต่โบราณเพื่อสืบอายุพระศาสนาให้รุ่งเรืองสืบต่อไป

มิพักต้องกล่าวถึงเรื่องอื่นด้วยมหาประโยชน์แห่งองค์พระที่มีต่อพระศาสนา รูปแห่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าย่อมทรงคุณอันประเสริฐ ประกอบไปด้วย ‘ศักดิ์’ และ ‘สิทธิ์’ ในตัวพระองค์เอง ด้วยปัจจัยแห่งการเป็นอุเทสิกเจดีย์อันเป็นความศักดิ์สิทธิ์ที่มิจำเป็นต้องประกอบไปด้วยสิ่งอื่นสิ่งใดด้วยซ้ำ ศักดิ์สิทธิ์เกินกว่าผู้อวดตนว่าเป็นปราชญ์ ผู้รู้ ทั้งหลายทั้งปวง ศักดิ์สิทธิ์กว่าความเป็นก้อนอิฐ ดิน ไม้ ทองเหลือง ศักดิ์สิทธิ์เพราะท่านยังประโยชน์แห่งการพระศาสนาทั้งปวงยิ่งกว่าผู้อื่นผู้ใดในสากลจักรวาล
นอกจากนี้ หากจะเลี่ยงบาลีกล่าวถึงความศักดิ์สิทธิ์ในด้านอื่น ยังอาจจะกล่าวได้อีกว่า ในการจัดสร้างพระพุทธรูป พระเครื่องแต่โบราณ วัสดุมวลสารโลหะที่นำมาใช้จัดสร้างหล่อหลอมจะเกิดจากแรงศรัทธาของการ ‘ร่วมบุญ’ แห่งพุทธศาสนิกชน ที่บรรจงหย่อนแก้วแหวนเงินทองลงในเบ้าหลอมถวายเป็นพุทธบูชา และวัสดุการสร้างจะต้องคัดสรรเอาแต่สิ่งวิเศษ ศักดิ์สิทธิ์ ตามตำราที่สืบทอดมาแต่เก่าก่อน เช่น เบญจโลหะ สัตตโลหะ นวโลหะ ดินใจกลางเมือง ว่านแร่อันเชื่อว่าทรงมหันตนุภาพในการให้คุณแก่ผู้เคารพบูชา ถือกำลังฤกษ์ กำลังวัน อันเข้มขลังในการจัดสร้าง เรียกกันว่า ‘ดีใน’

ยังเพิ่มความเข้มขลังของกระบวนการจัดสร้างด้วยพิธีกรรม พุทธาภิเษก โดยเกจิอาจารย์ผู้ทรงคุณและวิทยาคมอันประเสริฐ ซึ่งโบราณเรียกพิธี ‘เบิกเนตร’ เรียกกันว่า ‘ดีนอก’
ในพระคัมภีร์แห่งพระพุทธศาสนา ได้พยายามอรรถาธิบายให้ผู้คนเข้าถึงในลักษณะแห่งปริศนาธรรมเอาไว้มากมาย ผู้เป็นพหูสูตรอันประกอบด้วยพุทธิปัญญาย่อมสามารถเข้าใจได้ว่า รูปแบบแห่งองค์พระพุทธเจ้าที่จำเริญมาเป็น แผ่นภาพ งานจิตรกรรม องค์พระพุทธรูป และพระเครื่องในลักษณาการต่างๆ ย่อมเป็นหนึ่งในการเจริญพุทธิปัญญาแห่งปริศนาธรรม แสดงให้เห็นความศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งหมายถึงพุทธิภาวะแห่งความดีขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งพุทธศาสนิกชนสามารถกราบบูชาเจริญพุทธิปัญญาได้อย่างบริบูรณ์ อันเป็นความหมายว่า ‘รูปพระพุทธย่อมศักดิ์สิทธิ์ในตัวเอง’
https://www.khaosod.co.th/amulets/news_94662


ขอบคุณครับ
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้