บางทีนะครับเรื่องของค่านิยมหรือทัศนคติมันก็สามารถนำมาวัด”ความเป็นอัตลักษณ์”ของคนในพื้นที่ได้ ดังนั้นในเรื่องของการพ้องกันในด้านลักษณะหรือชื่อเรียก มันจึงไม่สามารถอธิบายความทางด้านวิชาการได้ชัดเจนนัก ด้วยเหตุนี้เราจึงไม่ควรด่วนวินิจฉัยเรื่องที่ยังคงเป็นสีเทาๆแบบนี้ แต่เชื่อไหมครับว่าความเป็นคนไทย วัฒนธรรมไทย มันมีจุดที่ทำให้เราสามารถอยู่ร่วมกันหรือสามารถอธิบายในเรื่องที่ยากๆให้เข้าใจได้อย่างไม่ต้องมานั่งโต้เถียงกัน จุดที่ผมพูดถึงนี้เราเรียกกันว่า “ความเชื่อ ความศรัทธา” คนไทยโดยส่วนมากมักจะเคยผ่านหูกับคำว่า “ไตรภูมิพระร่วง” หรือ “ป่าหิมพานต์” ทั้งสองคำนี้ล้วนนำมาซึ่งจินตนาการในการสร้างประติมากรรมโดยเฉพาะประติมากรรมรูปสัตว์ กล่าวคือสัตว์ที่มนุษย์นำมาสร้างเป็นรูปเหมือนนั้นจะมีทั้งสัตว์ที่มีตัวตนอยู่จริงและสัตว์ที่ไม่มีตัวตนอยู่เลย จะว่าไปแล้วผมคิดว่าคนไทยฉลาดในการจัดกลุ่ม หากว่าเป็นสัตว์ที่มีตัวตนอยู่จริงก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าไม่มีตัวตนอยู่จริงระบบความเชื่อและคตินิยมของคนไทยจะนำเอาสัตว์เหล่านี้ไปรวมอยู่ในป่าหิมพานต์ ซึ่งป่าหิมพานต์ตามความเชื่อคือที่อยู่อาศัยของบรรดาสัตว์ลูกผสม เช่น บัณฑุราชสีห์ ไกรสรนาคา มอม ฯลฯ หากว่าเป็นคน ก็จะเป็นคนจำพวกที่มีฤทธิ์ มีเดช มีคาถาอาคมเหนือมนุษย์ปกติ เช่นพวกคนธรรพ์ นักสิทธิวิทยา ฯลฯ เราอาจอธิบายความได้ง่ายๆว่า พวกที่อาศัยอยู่ในป่าหิมพานต์คือ “พวกที่สวรรค์อยู่ไม่ไกลแต่ก็ยังไปไม่ถึง ครั้นจะลงมาอยู่ในโลกมนุษย์ก็ดูจะไม่สมศักดิ์ศรีเอาเสียเลย” ดังนั้นไม่ว่าคนหรือสัตว์ที่อาศัยอยู่ในป่าหิมพานต์จึงอยู่ในอารมณ์ที่สามารถสร้างทั้งบุญและบาปได้ตลอดเวลา จะว่าไปแล้วในเรื่องของความเชื่อ ความศรัทธานี่แหละครับทำให้เราต้องชมเชยภูมิความรู้ของคนในยุคโบราณที่สามารถนำเอาความเชื่อ ความศรัทธามาผูกเข้ากับรูปสัตว์เพื่อให้เกิดผลทางด้านจิตใจ... และด้วยเหตุที่มอมเป็นสัตว์ป่าหิมพานต์ ที่มีรูปลักษณ์องอาจผึ่งผายราวราชสีห์ แข็งแกร่งดังเสือ นิ่มนวลเหมือนแมวและแคล้วคล่องว่องไวดุจลิง...... ”มอม”จึงถูกนำขึ้นมาผูกเข้ากับอักขระเลขยันต์เพื่อให้ส่งผลด้านคงกระพัน มหาอำนาจ และตามที่ผมได้อธิบายไปข้างต้นว่าดินแดนล้านนาคือเขตอิทธิพลของมอม ดังนั้นจึงไม่แปลกว่ารอยสักยันต์รูปมอม จึงกระจุกอยู่เฉพาะในเขตภาคเหนือตอนบนและกระจายอยู่ในกลุ่มคนล้านนา รวมไปถึงชนชาวไทยบางกลุ่มเท่านั้น..... ว่ากันว่าด้วยความที่มอมเป็นสัตว์ที่มีอำนาจมาก ทำให้มอมมีความหยิ่งลำพอง ด้วยคุณสมบัติเฉพาะตัวที่ไม่ดีเหล่านี้จึงฉุดให้มอมไม่สามารถบรรลุธรรมก้าวสู่ความหลุดพ้น คนล้านนาจึงได้นำเอารูปประติมากรรมมอม มาตั้งไว้บริเวณทางขึ้นหรือทางเข้าโบสถ์ วิหาร ศาลา ฯลฯ ทั้งนี้เพื่อเป็นอนุสติให้คนเรามีจิตสำนึกลดความมีอคติและมุ่งปฏิบัติธรรมเพื่อให้ตนเองหลุดพ้น ตามหลักของพระพุทธศาสนา... สุระณันตุ โภนโต ปัชชุนนะเทโว ข้าแต่เทพไธ้ ตนเปนใหญ่แก่เทวา เป็นเจ้าแก่เฆมะธาราฟากฟ้า กาละบัดนี้ก็เปนระดูวัสสา อันควรมีน้ำฟ้าสายฝน หยาดตกจากบนสู่ลุ่มใต้ ชุ่มเย็นแก่มวลหมู่ไม้รุกขา บัดนี้นาก็ยังว่าไป่เปนดั่งอั้น โขงชมพูนั้นก็ขาดกลั้นสายฝน น้ำจากพายบนบ่ตกลุ่มใต้….....ฯลฯ ว่ากันว่าเมื่อถึงฤดูฝนซึ่งเป็นช่วงที่ชาวนาจะเริ่มทำนา หากฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาล ชาวล้านนาจะมีคติความเชื่อในเรื่องของการบวงสรวงเทพเจ้าที่ชื่อว่า “ปัชชุนเทวบุตร” ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งฟ้าฝน สถิต ณ สรวงสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา ทรง “มอม” เป็นสัตว์พาหนะ ปัชชุนนะ แปลว่า “เมฆฝน” ผู้ที่ครองเมฆ ก็คือผู้ที่ครองฝน ด้วยฝนเกิดจากเมฆ ทำให้เทพปัชชุนนะ มีบทบาทสำคัญในการร้องขอฝน เมื่อบ้านเมืองขาดน้ำฟ้าในการทำนา แม้แต่พระพุทธเจ้าในกาลเสวยพระชาติเป็นพญาปลาช่อน ก็ยังได้ร้องขอฝนต่อเทพปัชชุนนะ ปัชชุนนเทพ ท่านจงคำรณคำรามให้ฝนตกมา
ทำลายขุมทรัพย์ของฝูงกา ทำฝูงกาให้ได้รับความเศร้าโศก
และช่วยปลดเปลื้องข้าพเจ้าและหมู่ญาติ ให้พ้นจากความเศร้าโศกเถิด.... ด้วยความไม่แน่นอนใจว่า”ข้าว” จะได้ผลดีหรือไม่ อำนาจลึกลับและความเชื่อที่จะช่วยบันดาลให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ จึงถูกตอบสนองผ่านพิธีกรรมแห่งท้องทุ่ง... สาธุการ ยกมือหว่านไหว้ พุทะเทพไท้ต๋นสัพพัญญู ชุมหมู่ข้าตู่ตกแต่งแป๋งสร้าง บอกไฟขึ้นก๊างจิเป็นบูชา หื้อหันกับต๋า ขึ้นปล๋อมเมฆฟ้า บ่าวสาวแหวนหน้า ต๋าปอมือบัว เสียงไหว้ดังรัว ปานดอยจะปิ๊น ฮ้าวสาวท่าวดิ้นสลบไสล ยอดสายใจ๋ ฝอด้วยเน้อเจ้า.... หากแม้ใกล้ฤดูกาลทำนายามใด ลำนำบทสวดที่ถือปฏิบัติทุกปี ก็หวนกลับดังก้องทุ่งนาเพื่ออ้อนวอนขอน้ำฟ้าอีกครั้งหนึ่ง สิ่งสำคัญในการทำนาที่ชาวนานึกถึงคือ “น้ำ” กล่าวคือเมื่อใกล้ฤดูทำนาหนใด หากท้องฟ้ายังไร้ฝน ชาวบ้านจะเริ่มบอกกล่าวขอฝนกับอำนาจความศักดิ์สิทธิ์ของ “ปัชชุนเทวบุตร” ผ่านทาง “มอม” เพื่อเป็นการย้ำถึงความมั่นใจว่าการบอกกล่าวครั้งนี้ปัชชุนเทวบุตรต้องได้รับแน่ พิธีกรรมในการขอฝนจากมอม เริ่มจากชาวบ้านจะแห่มอมไปตามท้องถนน ระหว่างทางที่แห่มอม ชาวบ้านข้างทางจะร่วมประพรมน้ำให้กับมอมและคนที่ร่วมในพิธี ด้วยความเชื่อที่ว่าหากพวกเขาเซ่นไหว้มอมแล้ว มอมจะนำความเดือดร้อนของชาวบ้านไปบอกกล่าวแก่ “ปัชชุนนะเทวบุตร” เพื่อบันดาลให้ฝนฟ้าตกลงมาให้ความชุ่มฉ่ำแก่ชาวบ้าน ถึงเรื่องเล่าข้างต้นจะไม่ใช่เรื่องราวทั้งหมดของมอม แต่ผมก็เชื่อว่าเรื่องราวบางส่วนเหล่านี้จะช่วยให้เราเข้าใจในตัวตนของมอมมากขึ้น ถึงแม้บางคนจะว่ามอมเป็นสัตว์ในจินตนาการ แต่ก็ยังไม่มีใครออกมายืนยันว่าสัตว์ในจินตนาการจะไม่ได้มีอยู่ในโลกนี้จริงๆ อย่าลืมนะครับว่ายังมีอะไรอีกหลายอย่างในโลกที่ไม่แบนใบนี้ที่เรายังไม่รู้ สัตว์อีกหลายพันธุ์ หลายประเภทที่รอการค้นพบ แน่นอนครับทุกอย่างคงต้องรอการพิสูจน์ แต่ไม่ว่ามอมจะมีจริงหรือไม่มีจริง ผลจากการมีมอมขึ้นมาได้ก่อให้เกิดเรื่องจริงขึ้นสองประการคือ หนึ่งเป็นการบ่งบอกถึงความเป็นคนไทยและวัฒนธรรมไทย สองคือเป็นการบอกเล่าว่าคนไทยมีประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน สวัสดีครับ..... ขอขอบคุณ เอกสารอ้างอิง – หนังสือ “ข้าวบนแผ่นดินกลายเป็นอื่น” โดยเมียงซอ คีรีมัญจา,ปกรณ์ คงสวัสดิ์ ภาพมอม – จากเวปไซด์หลายๆแห่ง คุณพรชนก สุขพงษ์ไทย กับข้อมูล เพื่อนต่อกับคำแนะนำ และคุณสมบูรณ์ ร้านนายอ้อ สระบุรี สำหรับกำลังใจ
|