พิษสวาท เป็นเรื่องราวของสตรีแสนสวยงามสง่าและลึกลับผู้หนึ่ง ที่ปรากฎกายอย่างลึกลับในวงสังคม เธอมีนามว่า สโรชินี ไม่มีใครรู้ที่มาที่ไปของเธอ แต่ความงามและความลึกลับของเธอทำให้ใครต่อใครล้วนใหลหลง โดยเธอเข้าไปใกล้ชิดกับ อัคนี นักโบราณคดีหนุ่มรูปงาม ในอดีตชาติ สมัยปลายกรุงศรีอยุธยา อัคนี เป็นขุนศึกคู่บัลลังก์ ได้รับพระราชทานนางละครผู้งดงามเลื่องชื่อในราชสำนักนาม อุบล เป็นภรรยา ก่อนเสียกรุง ๗ วัน พระเจ้าเอกทัศน์ได้จัดการซ่อนทรัพย์สมบัติของกรุงไว้ให้พ้นเงื้อมมือศัตรูโดยให้ อัคนี เป็นผู้ดูแล หากเขาไม่ไว้ใจผู้ใด เขาไว้ใจเพียง อุบล ภรรยาอันเป็นที่รักยิ่ง ให้เธอเฝ้าทรัพย์สมบัตินั้น ขณะที่ อุบล ชื่นชมสมบัติท้องพระคลังหลวงอันงดงามละลานตา ทั้งเพชร ทอง ทับทิมสว่างกระจ่างวาววับไปทั้งห้องลับนั้น คมดาบของชายอันเป็นที่รักก็ตวัดลงบนคออันงามระหงของเธอ และนับแต่นั้นเธอก็ต้องเฝ้าทรัพย์สมบัติเหล่านั้นชั่วกัปชั่วกัลป์จนกว่าไฟบรรลัยกัลย์จะมาล้างโลก อุบลกลับมาอีกครั้งในนามของ สโรชินี ครั้งนี้เธอกลับมาหา อัคนี การกลับมาของ อุบล ในครานี้มีความหมายมากกว่าการกลับมาหาชายอันเป็นที่รักยิ่งในอดีต อุบล กลับมาด้วยความรู้สึกที่ทั้งเจ็บ ทั้งแค้น และทรมานนานลึกที่ถูกชายที่รักหักหลังกักขังเธอไว้เกือบสามร้อยปีให้เธอทนทุกข์อยู่ในกรุสมบัติต้องห้ามตลอดกาลสำหรับบทประพันธ์ เรื่องพิษสวาท นี้เคยนำมาสร้างเป็นละครและภาพยนตร์มาแล้วหลายครั้ง ซึ่งทุกครั้งจะเกิดเรื่องราวลี้ลับ ปรากฎการณ์แปลก กับผู้คน ดารานักแสดงที่เกี่ยวข้อง เริ่มตั้งแต่ผู้เขียนบทประพันธ์นี้คือทมยันตี ในขณะที่ทมยันตีกําลังเขียนนวนิยายเรื่องนี้ลงตีพิมพ์นิตยสารสกุลไทยรายสัปดาห์ ในเวลานั้น ก็ร่วม ๔๐ ปีมาแล้ว คุณหญิงได้ทั้งเล่าให้คนใกล้ชิดและสัมภาษณ์เบื้องหลังนวนิยายเรื่องนี้ว่า ระหว่างที่เขียนถึงอุบลหรือสโรชินีในเวลากลางคืนอยู่นั้น คุณหญิงจะได้กลิ่นหอมของดอกบัวโชยตลบทั่วห้องทํางาน และเห็นภาพผู้หญิงนุ่งห่มสไบมายืนอยู่ที่มุมห้องเสมอ ซึ่งคุณหญิงไม่กลัวแต่กลับพูดคุยด้วย โดยเรียกหญิงนางนั้นว่า คุณบัว อยู่เสมอ พร้อมทั้งจุดธูปไหว้ขออนุญาตหญิงนางนั้นไปด้วย ทําให้คุณหญิงเขียนเรื่องนี้ได้อย่างราบรื่นจนจบเรื่อง และหญิงนางนั้นก็หายไปพร้อมกับอุบลด้วยเช่นกัน กระทั่งต่อมา เทิ่ง สติเฟื่อง นักจัดละครฟอร์มใหญ่คนแรกของวงการละครโทรทัศน์ไทยที่ว่า ฉิบหายไม่ว่า ต้องการชื่อเสียง ซึ่งต่อมา ไก่-วรายุธ มิลินทจินดา ซึ่งเป็นคนที่สองที่มีคติพจน์นี้เช่นกัน คือ เล็กๆ ไม่ ใหญ่ๆ ไก่ทํา ในปี พ.ศ. ๒๕๑๔ เป็นครั้งแรกที่ พิษสวาท ปรากฏบนจอโทรทัศน์ขาว-ดํา โดยทมยันตี และเทิ่ง สติเฟื่อง ต่างร่วมกันเขียนบทละครโทรทัศน์เรื่องนี้ พร้อมทั้งมีเพลงประกอบละครถึง ๒ เพลงด้วยกัน โดยทมยันตีเขียนคําร้องทั้งสองเพลง และครูใหญ่ นภายน เรียบเรียงเสียงประสาน เพลงทั้งสองนี้คือ เพลงมิ่งมิตร ร้องโดย ชาญวิทย์ ผลประเสริฐ และเพลงอุบล ร้องโดย บุษยา รังสี เป็นเพลงที่ไพเราะมาก ซึ่งทั้งคนจัดและคนดูต่างติดตามเรื่องนี้ด้วยความสนุกปนหวาดกลัว และยิ่งหวาดกลัวมากขึ้นเมื่อนางเอกของเรื่อง คือ เสาวนีย์ สกุลทอง ที่กําลังเล่นเรื่องนี้ได้เพียงตอนเดียว จากกําหนดไว้ ๓ ตอนจบ เกิดอุบัติเหตุรถชนกันจนเสียชีวิตทันที ทั้งเทิ่ง และนักแสดงต่างๆ ของเรื่องนี้ต่างตกใจอย่างไม่คิดฝัน ทําให้เทิ่งต้องหานางเอกใหม่มาแทนซึ่งหายากมาก เพราะไม่มีใครกล้าที่จะมารับบทนี้ เทิ่งจึงตัดสินใจจบละครเรื่องนี้ภายใน ๒ ตอนทันที อีก ๓ ปีต่อมา พิษสวาทก็ถูกนํามาทําเป็นทั้งละครวิทยุและภาพยนตร์ ครั้งนี้ก็เริ่มอาถรรพ์อีก โดยเริ่มที่คณะละครวิทยุอัชชาวดี ของจีรภา ปัญจศิลป์ พี่สาวแท้ๆ ของไพโรจน์ สังวริบุตร ซึ่งในระหว่างที่คนฟังละครวิทยุกําลังสนุกกับการแสดงอยู่นั้น ก็เกิดได้ยินข่าวมาว่าห้องเสียง จาตุรงค์ สถานที่ที่ชาวคณะอัชชาวดีกําลังอัดเทปเล่นเรื่องนี้อยู่ เกิดระเบิดไฟลุกไหม้โดยไม่รู้สาเหตุ ดีว่าดับไฟทัน ไฟจึงไม่ลุกลามจนมอดไหม้ไปหมด แต่ก็ทําให้นักแสดงละครวิทยุต่างอกสั่นขวัญแขวนกันทุกคน ผู้จัดจึงตัดสินใจรีบจบเรื่องนี้เร็วขึ้นกว่ากําหนดทันที และในปีเดียวกันนั้นเอง เมื่อเป็นภาพยนตร์ก็มีคนดูกันมาก แต่ก็เริ่มพูดถึงอาถรรพ์กันบ้างแล้ว ทว่า รุจน์ รณภพ กลับไม่เชื่อเรื่องนี้ เหมือนที่เขารับบทเป็นเชษฐา ซึ่งเป็นดอกเตอร์สาขาวิทยาศาสตร์ แต่แล้วก็ปรากฏข่าวหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ ทั้งที่ภาพยนตร์พิษสวาทกําลังฉายในช่วงต้นๆ ของโปรแกรม และกําลังทํารายได้ดี คือ รุจน์ รณภพ และ อรัญญา นามวงศ์ ได้ประกาศแยกทางกันโดยไม่มีใครทันตั้งตัวสักคน ซึ่งสร้างความตระหนกตกใจให้กับแฟนหนังกันทั้งสิ้น ส่วนสาเหตุใดนั้น ขอละไว้ ไม่กล่าวถึง
|