ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 6805
ตอบกลับ: 2
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

สัปปายะ 4 อย่าง

[คัดลอกลิงก์]
มีผู้รู้อธิบายไว้น่าสนใจว่าการบริหารจัดการวัดของเจ้าอาวาสควรให้เกิดความสุข (สัปปายะ) 4 อย่าง คือ



อาวาสสัปปายะ ที่อยู่เป็นที่สบาย คือทำวัดให้เป็นอาราม เป็นรมณียสถาน รื่นรมย์เจริญตาเจริญใจแก่ผู้พบเห็น เป็นศูนย์กลางของชุมชนด้านจิตใจ ที่ตั้งวัดไม่ใกล้ไม่ไกลจากชุมชนเกินไป มีการแบ่งเขตพุทธาวาส สังฆาวาสชัดเจนเป็นสัดส่วน ยิ่งในภาวะโลกร้อนด้วยแล้ว หากวัดได้มีการปลูกต้นไม้ให้ร่มเงา ร่มรื่นดูเป็นธรรมชาติ นับว่าเหมาะกับภาวะโลกอันแสนที่จะร้อนเหลือหลาย ส่วนบางวัดตั้งอยู่ในทำเลที่เหมาะสมเป็นทุนเดิม เช่น ภูเขา ลำธาร สวน ป่า ได้เน้นเรื่องความ
สะอาดหรือความเป็นระเบียบเรียบร้อยสม่ำเสมอเท่ากับว่าได้สร้างความสุขเพิ่มขึ้นแก่ผู้พบเห็น


อาหารสัปปายะ อาหารเป็นที่สบาย เมื่อมีที่อยู่ที่สบายต้องคำนึงถึงการกินอาหาร ในสมัยก่อนเป็นหน้าที่ของพระภัตตุเทศ ปัจจุบันเป็นหน้าที่ของเจ้าอาวาส การจัดสวัสดิการด้านอาหารจึงควรเป็นภาระของฝ่ายสาธารณูปการรวมเรื่องต่าง ๆ เช่น การกำหนดเส้นทางโคจรบิณฑบาต ควรแบ่งเป็นสาย มีการเปลี่ยนเวรกันเพื่อเจริญศรัทธาของผู้ทำบุญและป้องกันการติดในตัวบุคคล มีการจัดฉันรวมกันเป็นที่แห่งเดียว เพื่อประโยชน์คือทำให้เกิดความเป็นธรรมในอดิเรกลาภ ขจัดความขัดแย้งในการแสวงหาอุปัฏฐาก ก่อให้เกิดความสามัคคีธรรม เป็นที่เจริญศรัทธาของผู้ถวายและสามารถแนะนำอบรมได้ง่ายในเวลาก่อนและหลังอาหาร มีเจ้าหน้าที่รับนิมนต์ และทำหน้าที่แจกรายการนิมนต์ให้ทั่วถึงโดยความเป็น
ธรรมหรือจัดตั้งมูลนิธิสงเคราะห์สวัสดิการด้านอาหารในยามขาดแคลน


บุคคลสัปปายะ  บุคคลเป็นที่สบาย คำนึงถึงเรื่องบุคคลที่อยู่ภายในวัดหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกับวัด ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของความเจริญและความเสื่อมขิงศาสนา คนวัดแบ่งออกเป็น พระภิกษุสามเณร อุบาสก อุบาสิกา หรือแม่ชี และเด็กวัด วัดใดดีหรือไม่ดีบ้างบอกว่าให้ดูจากบุคคลทั้ง 4  ประเภทดังกล่าว ควรจัดที่อยู่อาศัยของบุคคลแต่ละประเภทให้เหมาะสมตามสถานภาพ การติดต่อกันควรกำหนดเวลาสถานที่ ที่อยู่ของเด็กวัดควรสะอาดและมีระเบียบ มีการวางกฎเกณฑ์ให้ปฏิบัติพร้อมบทกำหนดโทษและควรกำหนดวันให้มีการพัฒนาวัดร่วมกัน


ธรรมสัปปายะ ธรรมเป็นที่สบาย จุดมุ่งหมายหลักของวัดคือสถานที่ประพฤติธรรม สิ่งที่จะก่อให้เกิด

  

ธรรมสัปปายะ คือ บริเวณวัดร่มรื่น เป็นระเบียบ มีโครงการต้นไม้พูดได้ มีสุภาษิตสอนใจ ปริศนาธรรม คติธรรม โครงการเสียงธรรมะตามสาย รับฟังกันทั่วบริเวณวัดทั้งในวันจัดงานบุญ และกระจายเสียงไปถึงชุมชนหมู่บ้าน จัดสถานที่ฟังเทศน์ฟังธรรมในสถานที่สงบร่มเย็น อากาศถ่ายเทสะดวก จัดทำห้องสมุดธรรมะ โดยจัดหาหนังสือธรรมะ หนังสืออื่น ๆ ที่มีสาระประโยชน์เพื่อให้ผู้มาวัดได้อ่าน และมีที่นั่งอ่านหนังสือเป็นสัดส่วนเพียงพอ รักษาศิลปะหรือพุทธศิลป์ภายในวัด พิพิธภัณฑ์ของวัดจัดให้เป็นแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น  เป็นต้น


การบำรุงรักษาส่งเสริมวัดให้เป็นบ่อเกิดแห่งความสุข ส่วนหนึ่งจึงมาจากสัปปายะ 4 อย่างข้างต้น  ที่อำนวยประโยชน์สุขแก่ประชาชนหรือสังคม สำคัญคือวัดยังมีอีกหลายเรื่องหลายด้านที่เป็นเรื่องดี พูดได้ไม่รู้จบอเนกอนันต์จริง ๆ

2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-2-5 09:34 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
“สัปปายะ 7”



ในชีวิตของคนทุกคนล้วนแล้วแต่ปรารถนาความสบาย

ทุกคนก็พยายามทำสิ่งที่คิดว่าตนเองสบายให้มากที่สุด
ในเรื่องนี้ด้วยพุทธิปัญญาอันเลิศล้ำของพระพุทธองค์
ก็มีอยู่ในธรรมเรื่องที่ว่า “สัปปายะ 7”


คำว่า “สบาย” แท้ที่จริงก็มีรากศัพท์มาจากคำว่า “สัปปายะ” นี่เอง
โดยคำนี้ปรากฏอยู่ในพระวินัยปิฎกและถูกขยายความในคัมภีร์วิสุทธิมรรคไว้อย่างกระจ่างแจ้ง
ซึ่งพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)
ได้อธิบายไว้โดยละเอียดให้เราสามารถหาศึกษาอ่านกันได้…


พระพุทธองค์ทรงระบุไว้ว่า “นี่คือ สิ่งที่เหมาะกัน สิ่งที่เกื้อกูล ช่วยสนับสนุน
ในการบำเพ็ญภาวนาให้ได้ผลดี ช่วยให้สมาธิตั้งมั่น ไม่เสื่อมถอย”
นี่คือ ปัจจัยสำคัญใน “การบรรลุธรรม” นั่นเอง….
ด้วยภูมิปัญญาแห่งจิตอัจฉริยะจึงได้ทำการวิเคราะห์รหัส 7 ประการนี้
พบว่า… เมื่อสิ่งนี้เป็นประโยชน์ทางธรรมแล้ว ย่อมยังผลย้อนกลับมาสู่ทางโลกด้วย
คือ สามารถน้อมมาเป็นแนวทางชีวิตได้เป็นอย่างดี
ในการที่เราจะมีสิ่งที่เหมาะกัน สิ่งที่เกื้อกูล ช่วยสนับสนุนให้ชีวิต



และการทำงานต่างๆ ได้ผลดีเลิศด้วยองค์ประกอบ 7 ประการ คือ


1. สบายการอยู่ (อาวาสสัปปายะ) ที่อยู่เหมาะสม ไม่พลุกพล่านจอแจเกินไป
2. สบายการไป (โคจรสัปปายะ) แหล่งการกิน การเดินทาง
สถานที่สำคัญต่าง ๆ มีระยะพอเหมาะ ไม่ไกลเกินไปนัก เดินทางได้ง่าย
3. สบายพูดคุย (ภัสสสัปปายะ) การพูดคุยที่เหมาะสมในหมู่คนดี ไม่พูดมากหรือน้อยเกินไป
4. สบายคบคน (ปุคคลสัปปายะ) คบหาบุคคลที่ถูกกันเหมาะสมกัน
พากันไปในทางที่ดีมีผู้รู้เป็นที่ปรึกษา มีมิตรแท้ที่จริงใจ
5. สบายการกิน (โภชนสัปปายะ) รับประทานอาหารที่เหมาะสมต่อสุขภาพ เพศ วัย
อย่างไม่ยากและไม่เป็นโทษต่อร่างกาย
6. สบายอากาศ (อุตุสัปปายะ) ดินฟ้าอากาศธรรมชาติแวดล้อมที่เหมาะสม
ไม่หนาวเกินไป ไม่ร้อนเกินไป น้ำไม่ท่วม ไม่มีภัยธรรมชาติ
7. สบายท่าทาง (อิริยาปถสัปปายะ) การอยู่ในอิริยาบถที่เหมาะสมกับเหตุการณ์


เคลื่อนไหวได้สะดวก อิสระ วางตนได้เหมาะกับกาลเทศะ
เราจะเห็นได้ว่าพระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมอันเป็นเที่ยงแท้
เหมาะแก่ทุกกาลเวลา คือไม่ว่าเมื่อใดก็ยังเป็นจริงเสมออย่างชัดแจ้ง
หากเราสามารถนำตนและทำตนให้เดินตามแนวของสัปปายะ 7 นี้ได้บริบูรณ์
ชีวิตความสบายที่เราปรารถนาจะไปไหนเสีย


ซึ่งทั้งหมดทั้งปวงนี้ก็สอดคล้องกับวิถีชีวิตตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงของพระเจ้าอยู่หัว
สอดคล้องกับหลักของการดูแลสุขภาพตามวิถีธรรมชาติ และตรงกับวิถีชีวิตของมนุษย์…


ธรรมะ… จึงเป็น… ธรรมชาติ
ธรรมชาติ… จึงเป็น… ความจริง
ความจริง… จึงเป็น… ทุกสิ่ง
ทุกสิ่ง… จึงเป็น… ธรรมะ

สาธุครับ
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้