ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

~ หลวงปู่บุญจันทร์ กมโล วัดป่าสันติกาวาส ~

[คัดลอกลิงก์]
21#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-1-9 13:00 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ทำบุญอุทิศให้โยมมารดา

เมื่อจำพรรษาอยู่กับท่านพระอาจารย์สวดที่วัดสามัคคีธรรม บ้านโนนเมือง ได้ 3 พรรษา แล้วก็ยังเป็นห่วงโยมมารดาที่ยังไม่ได้ทำบุญอุทิศให้ จึงได้ลาท่านอาจารย์สวดกลับไปที่วัดป่าศรีไพรวัลย์ จังหวัดร้อยเอ็ด ในขณะนั้นมีพระอาจารย์เพ็ง พุทฺธธมฺโม เป็นประธานสงฆ์อยู่วัดป่าศรีไพรวัลย์ จึงได้นิมนต์พระอาจารย์เพ็งและท่านปิ่น พร้อมด้วยสามเณรอีก 1 องค์ เดินทางไปบ้านคำพระ อำเภอพนมไพร เพื่อทำบุญอุทิศให้โยมมารดา

พวกญาติโยมในเมืองร้อยเอ็ด มีคุณนายคง และคุณแม่หนูเที่ยง ได้จัดข้าวของเครื่องทำบุญให้คนหาบเดินทางไปด้วยศรัทธา ญาติโยมเขาสงสาร เพราะไม่มีใคร เมื่อไปถึงบ้านแล้ว ได้จัดทำบุญที่วัดบ้านคำพระนั้นเอง มีการสวดมนต์เสร็จแล้วทอดบังสุกุลอุทิศให้โยมมารดา เสร็จแล้วมีการเทศน์ 2 ธรรมาสน์ คือ พระอาจารย์เพ็งและท่านปิ่น เป็นผู้เทศน์ปุจฉาและวิสัชนา พอรุ่งเช้าได้จัดถวายอาหารบิณฑบาต ถวายจตุปัจจัยไทยทานตามสมควร เสร็จแล้วจึงได้เดินทางกลับมาพักที่พนมไพร

กลับจากพนมไพร เดินทางต่อไปจังหวัดกาฬสินธุ์ กราบนมัสการท่าน พระอาจารย์อ่อน จกฺกธมฺโม วัดประชานิยม ได้พักศึกษาธรรมและช่วยงานสร้างอุโบสถอยู่กับท่านระยะหนึ่ง เกิดความเลื่อมใสในปฏิปทาและเมตตาธรรมในท่านพระอาจารย์อ่อน จกฺกธมฺโม (ในขณะนั้นท่านมีสมณศักดิ์นามว่า พระครูปฏิภาณ สุดท้ายท่านมีสมณศักดิ์ที่ พระราชธรรมานุวัตร) คิดหาสิ่งที่เป็นวัตถุจะถวายเพื่อเป็นการบูชาคุณธรรมของท่าน ก็ไม่มีอะไร พอดีมีรัดประคดเอวที่ตัวเองใช้อยู่เส้นหนึ่ง จึงได้นำเข้าไปถวายท่าน ตัวเองใช้ผ้าผูกแทนประคดเอว เมื่อจิตใจของเรายินดีน้อมไปในการให้แก่ท่านผู้มีศีลมีคุณธรรม ย่อมนำมาซึ่งความอิ่มใจเบิกบานใจ

เมื่อช่วยงานท่านอยู่ระยะหนึ่ง จึงได้กราบลาท่านพระอาจารย์อ่อน จกฺกธมฺโม เดินทางไปจังหวัดขอนแก่น ในระยะนั้น มีรถยนต์ใช้ฟืนเป็นเชื้อไฟแทนน้ำมัน วิ่งจากจังหวัดกาฬสินธุ์ถึงจังหวัดขอนแก่น ญาติโยมชาวกาฬสินธุ์จึงนิมนต์ให้นั่งรถยนต์ฟืน และจ่ายค่าโดยสารให้ด้วย จากกาฬสินธุ์ถึงขอนแก่นราคาค่ารถ 3 บาท ในขณะนั่งอยู่ในรถต้องคอยระวังไฟจะปลิวมาไหม้จีวร รถถึงขอนแก่น ลงจากรถแล้วจะเดินทางไปชุมแพ สะพายบาตรแบกกลด เดินตามทางจะไปชุมแพ พอดีมีรถผู้แทนจังหวัดขอนแก่นวิ่งมา เขาจอดถามว่า “ท่านจะไปไหน” ตอบเขาว่า “จะไปชุมแพ” เขานิมนต์ให้นั่งรถ จึงบอกเขาไปว่า “อาตมาไม่มีปัจจัยให้ค่าโดยสาร” “นิมนต์ท่านเลย แต่ว่าผมไม่ไปถึงชุมแพ ผมมีธุระไปถึงแค่หนองเรือ” จึงนั่งรถผู้แทนขอนแก่นชื่อนายสุพรรณ ไปถึงหนองเรือ ลงจากรถผู้แทนกล่าวคำอนุโมทนาแก่ผู้แทนแล้วสะพายบาตร แบกกลด หาที่พักห่างจากตลาดหนองเรือพอสมควร

จิตใจมั่นคง ไม่ลังเล

เช้าบิณฑบาตในตลาดหนองเรือ ฉันเสร็จแล้วจะเดินทางต่อไปชุมแพ พอดีมีโยมที่เป็นญาติกันชื่อโยมพัน เป็นญาติทางพ่อ แกมีรถจึงไปส่งถึงชุมแพ พอลงจากรถแล้ว นายพัดจึงถามว่า “ครูบาจะไปทางไหน”  จึงตอบว่า “ไม่รู้ ไม่มีจุดหมายปลายทาง ไม่รู้ว่าจะไปทางไหน” นายพัดเป็นห่วง แกสงสารจึงพูดว่า “กล้บบ้านเราดีกว่าครูบา” หลวงปู่จึงบอกนายพัดว่า “เราได้ตั้งใจไว้แล้วเราไม่กลับ เราจะไปข้างหน้า” นายพัดพูดว่า “จะไปอย่างไร เคยไปหรือยัง” หลวงปู่ตอบนายพัดว่า “ไม่เคยมาสักครั้งเลยแถวนี้” นายพัดพูดว่า “กลับดีกว่าครูบา” หลวงปู่ตอบว่า “เราไม่กลับ” นายพัดพูดว่า “ไปยังไง ไปคนเดียว” หลวงปู่ตอบว่า “ไปยังงั้นแหละ”

ผลสุดท้ายหลวงปู่จึงให้นายพัดไปหา (ซื้อ) เทียนไขให้ห่อหนึ่ง สมัยนั้นราคาเทียนไขไม่แพง ห่อละ 25 สตางค์ (หนึ่งสลึง) เทียนไขตรารถไฟ นายพัดก็ยังหน่วงเหนี่ยวอยู่อย่างนั้น ไม่อยากจะไปหาเทียนไขมาให้ “อ้าว รีบไป” หลวงปู่สั่ง นายพัดก็เลยไปหาเทียนไขมาให้ เมื่อนายพัดเอาเทียนไขมาให้แล้ว หลวงปู่จึงออกเดินทางจากนายพัดไป แต่นายพัดยังอยากจะให้หลวงปู่กลับอยู่ จึงเดินตามหลวงปู่ไปอีก ไปสะพายถุงบาตรให้ตามไปส่ง ตอนนี้กำลังเดินออกจากตัวอำเภอชุมแพมุ่งหน้าไปทางอำเภอภูเขียว

อีกสักครู่ นายพัดก็พูดอีกว่า “กลับเสียดีกว่าครูบา” “ไม่ ! เราไม่กลับ ให้เจ้ากลับไปเสีย (ให้แกกลับไปเสีย)” “ไม่ ! ผมจะยืนอยู่ตรงนี้เพื่อมองดูครูบา” “เอ้า ! มองดูก็มองดู” เมื่อหลวงปู่เดินจากไปปรากฏว่านายพัดยังยืนมองดูหลวงปู่อยู่อย่างนั้น จนลับตานายพัดยังตะโกนเรียกว่า “ครูบา กลับเสียเถอะ” จนหวิดเสียง (จนตะโกนไม่ได้ยิน) นายพัดจึงได้กลับไปที่รถ

หลวงปู่เดินหน้าไปตามลำพังองค์เดียว เข้าป่าเข้าดงไม่มีใครเป็นเพื่อน ตนเป็นเพื่อนของตนเอง เดินทางตอนกลางวันแดดก็ร้อน น้ำที่กรองใส่กาถือไปด้วยก็หมด หิวน้ำก็หิว คอแห้งผาก แสนทุกข์แสนทรมานในการเดินทาง แต่ก็ไม่ประมาท มีสติกำกับจิตใจ มีพุทโธเป็นอารมณ์ของใจไปตลอดทาง เดินทางถึงบ้านเป้าบ้านลาด เป็นเวลาพลบค่ำผึมฟ้า (กำลังจะมืด) จะถามหาที่พักจากชาวบ้าน ก็ไม่มีที่จะถาม ชาวบ้านก็กลัวพระธุดงค์กรรมฐาน เพราะสะพายบาตรที่บรรจุบริขารลูกใหญ่ๆ แบกกลดใหญ่ๆ มีผู้หญิงคนหนึ่งลงจากบ้านมาใต้ถุนบ้านจะมาหยิบเอาฟืนที่อยู่ใต้ถุน คิดว่าจะถาม  พอแกมองเห็นพระสะพายบาตรแบกกลด แกก็วิ่งขึ้นบ้านไป ในที่สุดไม่ได้เรื่องได้ราวจึงกลับออกมาทุ่งนานอกบ้าน
22#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-1-9 14:21 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
นอนแบบผู้ต่อสู้

หลวงปู่เล่าว่า “ในระยะนั้นเป็นฤดูเดือน 6 ตามทุ่งนาชุ่มไปด้วยน้ำ ชาวนาไถนาหว่านกล้า เมื่อกลับออกมาทุ่งนา มองหาเถียงนาที่ไหนก็ไม่มี มองหาร่มไม้ก็ไม่มี พอดีมีเนินดินอยู่ที่หนึ่งน้ำไม่ขังแต่ดินชุ่ม มีต้นกระทุ่มอยู่ต้นหนึ่ง เขาลิดกิ่งออกหมดเหลือแต่ยอด จะอาศัยแขวนกลดก็ไม่ได้ ฝนก็ตกพรำๆ ที่สุดต้องเอาบริขารเข้าในบาตรปิดฝาบาตรนั่งยองๆ มือจับกลดกันฝนอยู่ทั้งคืน ยุงก็เยอะเหมือนกับหว่านเมล็ดงาใส่ มุ้งกลดก็กางไม่ได้เพราะฝนมันตก จะนั่งให้สบายๆ ก็ไม่ได้เพราะดินชุ่ม จะนอนก็ไม่ได้ สุดท้ายต้องนั่งยองๆ ตลอดคืน ฝนก็ตกตลอดคืน เดินทางก็เหนื่อยตลอดวัน เลยภาวนาดูทุกข์อยู่ทั้งคืน พอใกล้สว่างนกไก่อูร้องเสียงดังอู้กๆ ดังสนั่นก้องไปหมด จึงรู้ว่าที่เรานั่งทรมานอยู่นั้นใกล้กับหนองน้ำ เขาเรียกว่าหนองสามหมื่น”

พอเวลาใกล้สาง วิดน้ำในทุ่งนาล้างหน้าบ้วนปากแล้ว สะพายบาตรออกเดินทาง พอดีมีผู้ชายคนหนึ่งแบกไถจูงควายออกจากบ้านมาแต่เช้ามืด หลวงปู่จึงถามว่า “พ่อออก บ้านนี้ชื่อบ้านอะไร” เขาบอกว่า “บ้านลาด” หลวงปู่ถามว่า “บ้านเป้าอยู่ไกลไหม” เขาบอกว่า “ไม่ไกลเท่าไร” ถามเขาอีกว่า “ไปบิณฑบาตทันไหม” เขาบอกว่า “ทัน” โยมผู้ชายนั้นเขาจึงพูดขึ้นอีกว่า “มีญาท่านองค์หนึ่งมาอยู่ที่บ้านโนนแห้นี้ ชื่อว่าญาท่านคำบง” พอหลวงปู่ได้ยินจึงนึกในใจว่า “จะเป็นคำบงองค์เดียวกันกับที่เราตามหาท่านหรือไม่หนอ”

พบพระอาจารย์คำบง

เมื่อได้ความจากโยมแล้ว จึงเดินทางต่อไปถึงสำนักป่าบ้านโนนแห้ พอดีมีสามเณรอยู่ด้วย 2 องค์ กำลังจะออกบิณฑบาต จึงให้เณรคอยด้วย จัดแจงเอาบริขารออกจากบาตร คลุมจีวรซ้อนสังฆาฏิ แล้วบิณฑบาตกับสามเณร เวลาเดินบิณฑบาตในหมู่บ้านก็แสนทรมาน ตามทางบิณฑบาตมีแต่หินแห้ (หินลูกรัง) เหยียบไปเท้าก็เจ็บ เนื่องจากเดินทางทั้งวันมาเท้าก็ระบมจึงอดทนเอา กลับมาถึงวัดถามสามเณรว่า “ท่านอาจารย์อยู่ที่นี่ท่านชื่ออะไร” สามเณรตอบว่า “ชื่อท่านอาจารย์คำบง” ถามเณรอีกว่า “ท่านไปไหน” เณรบอกว่า “ท่านไปกิจนิมนต์ วันสองวันท่านก็กลับมา” พอพักอยู่สองวันท่านพระอาจารย์คำบงก็กลับมา จึงได้กราบนมัสการและขอนิสัยจากท่านให้เป็นผู้อบรมสั่งสอน


๏ พรรษาที่ 6 พ.ศ. 2484
จำพรรษาที่วัดป่าบ้านโนนแท้ อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ


พรรษาที่ 6

ได้จำพรรษาอยู่กับท่านพระอาจารย์คำบง เป็นครั้งที่สอง หลังจากเคยได้จำพรรษาอยู่กับท่านครั้งหนึ่งที่บ้านวังถ้ำ จังหวัดอุบลราชธานี หลวงปู่ได้ตั้งใจประกอบความเพียรด้วยความไม่ประมาท ไม่ได้ทำอะไรให้เป็นที่หนักอกหนักใจครูบาอาจารย์ ท่านว่าการประกอบความเพียรก็ได้รับความสงบสุขเป็นที่พอใจ หลังจากออกพรรษาปวารณาแล้ว ชาวนาเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จแล้ว เป็นฤดูเหมาะแก่การวิเวกไปในที่สงบสงัดเพื่อบำเพ็ญภาวนาตามอัธยาศัย หลวงปู่จึงกราบลาและขอขมาคารวะท่านอาจารย์คำบง แล้วเดินทางออกจากวัดป่าบ้านโนนแห้ อำเภอภูเขียว เที่ยววิเวกไปทางอำเภอมัญจาคีรี ทะลุถึงอำเภอบ้านไผ่

หลวงปู่เล่าว่า มีสามเณรองค์หนึ่งขอติดตามไปด้วย พอไปถึงวัดป่าแห่งหนึ่ง ในระยะนั้นเป็นเดือนเมษายน มะม่วงกำลังพอกินส้มจิ้มเกลือดีๆ ในวันหนึ่งพอฉันจังหันเช้าเสร็จแล้ว สามเณรก็ไปแอบกินมะม่วง คิดว่าจะไม่ให้ใครรู้ แต่หลวงปู่รู้จนได้ จึงพูดกับสามเณรว่า “ทำอย่างนี้ไปด้วยกันไม่ได้” หลวงปู่จึงให้สามเณรอยู่ที่วัดป่านั้น แล้วท่านจึงเที่ยววิเวกไปลำพังองค์เดียว
23#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-1-9 14:22 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

พระอาจารย์คำดี ปภาโส  


หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ  


พบพระอาจารย์คำดี ปภาโส

เมื่อหลวงปู่เที่ยววิเวกไปถึงอำเภอบ้านไผ่ ได้ทราบว่า พระอาจารย์คำดี ปภาโส ได้พักอบรมญาติโยมอยู่ที่บ้านฮ้านหญ้า อำเภอบ้านไผ่ จึงได้เข้ากราบนมัสการพักรับการอบรมอยู่กับท่าน ในขณะนั้น หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ ก็ได้อยู่รับการอบรมกับท่านพระอาจารย์คำดีด้วย เมื่อหลวงปู่ได้พักอยู่กับท่านพระอาจารย์คำดี พอสมควรแล้ว จึงได้กราบลาท่านเดินเที่ยววิเวกไปทางจังหวัดมหาสารคาม ทะลุถึงจังหวัดร้อยเอ็ด พักที่วัดป่าศรีไพรวัลย์ ในเวลานั้นวัดป่าศรีไพรวัลย์เป็นที่รวมของบรรดาพระธุดงค์กัมมฏฐาน

24#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-1-9 14:22 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

นั่งข้างบน : หลวงปู่บุญจันทร์ กมโล, ซ้าย : พระอาจารย์สนั่น รักขิตสีโล
ขวา : หลวงปู่ลี ฐิตธมฺโม (พระครูฐิติธรรมญาณ)



๏ พรรษาที่ 7 พ.ศ. 2485 จำพรรษาที่วัดประชาบำรุง
(วัดป่าพูนไพบูลย์) อ.เมือง จ.มหาสารคาม


พรรษาที่ 7

พอใกล้จะเข้าพรรษา หลวงปู่ได้เดินทางออกจากวัดป่าศรีไพรวัลย์ ตำบลเหนือเมือง อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด ไปจำพรรษาอยู่กับ พระอาจารย์คูณ ธมฺมุตฺตโม ที่วัดป่าช้าเมืองมหาสารคาม (ในครั้งนั้นเรียกชื่อวัดว่า วัดป่าพูนไพบูลย์ ปัจจุบันนี้เป็น วัดประชาบำรุง) หลวงปู่เล่าว่า ในพรรษาได้ประกอบความพากความเพียร เดินจงกรมนั่งสมาธิภาวนาด้วยความไม่ประมาท อดนอนผ่อนอาหาร เอากายกับใจเป็นหลักในการพิจารณา พิจารณากายแล้วก็พิจารณาใจ การพิจารณากายก็พิจารณาให้เห็นเป็นสิ่งปฏิกูลเน่าเปื่อย ในที่สุดก็จะต้องตายแตกสลายลงสู่ความเป็นธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ ตามธรรมชาติ พิจารณาใจก็พิจารณาให้เป็นเป็นของเกิดๆ ดับๆ ตามอารมณ์ต่างๆ  เป็นไม่แน่นอน ไม่มีตัวตน เป็นเพียงนามธรรมเท่านั้น

การปฏิบัติอาจาริยวัตรท่านได้ทำด้วยความเคารพในครูบาอาจารย์ ทำด้วยความเอาใจใส่ ไม่ให้ย่อหย่อน ไม่เห็นแก่หลับแก่นอน ไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า มีสติสัมปชัญญะคอยระมัดระวังอยู่อย่างนั้น ในการปฏิบัติทั้งภายนอกและภายใน หลวงปู่เล่าว่า โยมเมืองมหาสารคาม เขาก็เก่งเหมือนกันในการปฏิบัติรักษาศีลภาวนา พอถึงวันพระเขาก็สมาทานอุโบสถศีล คือ รักษาศีล 8 ประการ และอธิษฐานไม่นอน เดินจงกรมนั่งสมาธิภาวนา ฟังครูบาอาจารย์อบรมธรรมะไปจนสว่าง และคอยเตือนใจให้สติพระเณรด้วย พอมีพระเณรองค์ไหนนั่งไม่ตรงพิงฝาพิงเสา เขาจะถามว่า “ท่านดูกสันหลังไม่มีหรือ” ในที่สุดพระเณรก็มีสติระมัดระวังไปด้วย

ผู้ปฏิบัติธรรมก็ต้องตาย

ในพรรษานี้มีโยมผู้ชายคนหนึ่งได้รับยศเป็นขุน หมู่เพื่อนทั้งหลายเรียกว่าท่านขุน ท่านขุนได้มารักษาอุโบสถศีล เดินจงกรม นั่งสมาธิ อดนอนในวันพระเป็นประจำ พออยู่มาใกล้จะออกพรรษา พอถึงวันพระอุโบสถ ท่านขุนก็ได้มาปฏิบัติธรรม รักษาศีล 8 เดินจงกรม นั่งสมาธิ อดนอนฟังครูบาอาจารย์อบรมไปจนสว่าง พอสว่างแล้วถึงเวลาพระไปบิณฑบาต หมู่เพื่อนทำข้อวัตร เตรียมอาหารสำหรับถวายพระ แต่ท่านขุนนั้นบอกหมู่เพื่อนว่าขอนอนพักผ่อนสักครู่หนึ่ง แต่แล้วจนพระบิณฑบาตกลับถึงวัด ท่านขุนก็ยังไม่ลุกไม่ตื่น หมู่เพื่อนจึงพูดกันว่าท่านขุนคงจะเหนื่อย ปล่อยให้นอนไปก่อน

จนในที่สุดพระเณรฉันบิณฑบาตเสร็จ ท่านขุนก็ยังไม่ตื่น หมู่เพื่อนจะรับประทานอาหาร จึงปลุกท่านขุนจะให้รับประทานอาหาร แต่แล้วในที่สุดทุกคนก็ตกตะลึงไปตามๆ กัน เพราะท่านขุนนอนไม่ยอมตื่น ได้หมดลมหายใจตายไปเสียแล้ว เมื่อเป็นเช่นนั้นหมู่เพื่อนทั้งหลายจึงพากันรับประทานอาหาร เสร็จแล้วจึงได้จัดแจงจัดงานฌาปนกิจศพให้ท่านขุนจนเป็นที่เรียบร้อย ท่านอาจารย์คูณ ธมฺมุตฺตโม จึงเทศนาว่าท่านขุนตายในขณะที่ศีลยังไม่ด่างพร้อยนับว่าตายดี สุคติย่อมเป็นที่ไป ความตายมีเหมือนกันหมด ต่างกันแต่ว่าตายในขณะที่ทำดีหรือทำความชั่ว ทำบุญหรือทำบาป
25#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-1-9 14:23 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ผู้ทำบาปก็ต้องตายเหมือนกัน

ในเมืองสารคาม มีเจ๊กฆ่าหมูอยู่คนหนึ่ง แกฆ่าหมูเป็นประจำทุกๆ วัน ฆ่าแล้วก็ชำแหละเอาเนื้อไปขายในตลาด อยู่มาวันหนึ่งหมูที่แกจะฆ่าเป็นหมูแม่ลูกอ่อน ในวันนั้นขณะที่ท่านอาจารย์คูณนั่งสมาธิจิตสงบอยู่ เป็นเวลา 4 ทุ่ม ได้มีผู้หญิงคนหนึ่งเข้ามากราบท่านในนิมิตสมาธิ ร้องไห้ขอความเมตตาจากท่านอาจารย์ว่า “ขอให้ท่านอาจารย์เมตตาข้าน้อยด้วยเถิด เขาจะเอาข้าน้อยไปฆ่าในวันนี้ แต่ข้าน้อยมีลูกน้อยอยู่ ข้าน้อยสงสารลูกยังไม่โต”

ท่านอาจารย์คูณจึงกำหนดถามในสมาธิว่า “โยมเป็นใคร” เขาจึงบอกว่า “เขาเป็นหมูแม่ลูกอ่อน”  ท่านอาจารย์จึงบอกว่า “เอาละ เป็นกรรมของเฮา ขอให้ตั้งใจภาวนาพุทโธๆ เด้อ” พอถึงเวลาตี 2 เสียงหมูร้องกิ๊กๆ เจ๊กฆ่าหมูแม่ลูกอ่อน ท่านอาจารย์จึงนึกใจว่า “ตายแล้วหนอ จะทำอย่างไร กรรมของใครของมัน” พอเจ๊กแกฆ่าหมูเสร็จ ชำแหละเรียบร้อยแล้วบังเอิญยังไม่สว่าง เพราะแกฆ่าดึกไปหน่อย พอดีเข้าฤดูหนาวอากาศก็หนาวเย็น แกจึงก่อไฟผิง ขณะนั่งผิงไฟอยู่นั้นแกก็ง่วงนอน จึงเคลิ้มหลับฟุบลงไปในกองไฟ เสร็จแล้วก็ดิ้นวนอยู่ในกองไฟ ในที่สุดก็ขาดใจตายคากองไฟนั้น นี่แหละ คนทำบาปก็ตายเหมือนกัน แต่ตายในขณะที่ทำบาป ทุคติย่อมเป็นที่ไป

คนใจบาปไม่กลัวบาป

หลวงปู่เล่าว่า มีชายคนหนึ่ง แกมาลักขโมยหน่อไม้ในวัด พอพระเดินไป แกเห็นพระแกนั่งทับหน่อไม้ไว้ พระจึงถามแกว่า “ทำอะไร” แกบอว่า “ผมถ่ายครับ” พระจึงพูดว่า “ถ่ายอะไร ไม่ใช่ลักหน่อไม้หรือ” พอพูดอย่างนั้นแกหอบหน่อไม้ได้ วิ่งออกจากวัดลงทุ่งไปเลย แกโกรธให้พระ วันหลังแกมาเดินข้างๆ วัดแล้วก็ร้องลำด่าพระ “ปะโทนๆ ปะโทนๆ หัวโล้นวัดป่าขี้ใส่ต่า (ตะกร้า) มาให้มันกิน”

พอแกว่าสมใจที่โกรธแค้นแล้วก็หนีไป พออยู่มาไม่นานแกก็เกิดท้องร่วง พอถ่ายออกมาก็กินของตัวเอง ในที่สุดก็ตายด้วยโรคท้องร่วงนั้น การทำบาปถึงแม้ไม่กลัว บาปก็ให้ผลได้

เมื่อออกพรรษาแล้ว หลวงปู่ได้กราบลาท่านพระอาจารย์คูณ ธมฺมุตฺตโม กลับไปวัดป่าศรีไพรวัลย์ จังหวัดร้อยเอ็ด
26#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-1-9 14:24 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

พระอาจารย์ลี ฐิตธมฺโม  


ไปเที่ยววิเวกทางอำเภอสุวรรณภูมิกับพระอาจารย์ลี ฐิตธมฺโม

ในระยะนั้นเป็นต้นปี พ.ศ. 2486 ได้พบกับ พระอาจารย์ลี ฐิตธมฺโม เมื่อหลวงปู่พักอยู่วัดป่าศรีไพรวัลย์ระยะหนึ่งแล้ว จึงได้เที่ยววิเวกไปทางอำเภอสุวรรณภูมิกับพระอาจารย์ลี ฐิตธมฺโม ไปถึงบ้านโนนลัง พักอยู่ที่ป่าช้าบ้านโนนลัง ในขณะนั้นมีโยมผู้หญิงคนหนึ่งมีลูกสาวคนเดียว พอดีลูกสาวของแกได้เสียชีวิตไป เกิดมีความโศกเศร้าเสียใจเป็นกำลัง จะตายตามลูกสาวให้ได้ จึงต้องเป็นภาระของหลวงปู่กับพระอาจารย์ลี ได้ช่วยอบรมให้หายจากความโศกเศร้าเสียใจ เพราะความรักความอาลัย

เมื่อมีความรักความอาลัยในสิ่งใด ก็ย่อมเป็นทุกข์เพราะสิ่งนั้น เมื่อตัดความรักความอาลัยเสียได้ ทุกข์ก็ไม่มี หลวงปู่กับพระอาจารย์ลี พักอยู่ป่าช้าบ้านโนนลังนี้หลายวัน พอเห็นว่าโยมผู้หญิงนั้นมีสติปัญญาพิจารณาเห็นสภาวะตามเป็นจริง จิตใจคลายจากความเศร้าโศกเสียใจได้แล้ว จึงได้ลาจากไป ได้เที่ยววิเวกกับพระอาจารย์ลี จนถึงเวลาใกล้จะเข้าพรรษาจึงได้กลับวัดป่าศรีไพรวัลย์ จังหวัดร้อยเอ็ด


๏ พรรษาที่ 8 พ.ศ. 2486
จำพรรษาที่วัดป่าศรีไพรวัลย์ อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด


ในฤดูการจำพรรษาไตรมาส 3 เดือนนั้น เป็นเวลาที่เร่งประกอบความพากความเพียร พระเณรต่างองค์ต่างมีความมุ่งมั่นในการเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา อยู่ด้วยกันทำเหมือนกับว่าทะเลาะกัน คือ ไม่พูดคุยกัน ไม่คลุกคลีตีโมงกัน นอกจากจะมีสิ่งจำเป็นจริงๆ จึงจะถามกันพูดกัน เสร็จแล้วต่างองค์ต่างไปทำความพากเพียรของตนเอง

เมื่อออกพรรษาแล้ว หลวงปู่ได้เที่ยววิเวกไปทางจังหวัดกาฬสินธุ์ ตามอัธยาศัย จนใกล้จะเข้าพรรษาจึงได้กลับมาที่วัดป่าศรีไพรวัลย์อีก
27#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-1-9 14:24 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๏ พรรษาที่ 9 พ.ศ. 2487
จำพรรษาที่วัดป่าศรีไพรวัลย์ อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด


พรรษาที่ 9

ระยะนี้อยู่ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง มีความลำบากข้าวยากหมากแพง ของใช้ต่างๆอดอยาก ผ้าจีวรสังฆาฏิต้องใช้ผ้าทอหูก เมื่อตัดเย็บย้อมแล้วนำมาคลุม ลูกบวบจีวรท่วมหู ชาวบ้านชาวเมืองมีความขยาดต่อภัยสงคราม กลางคืนจุดไฟไม่ได้ เพราะกลัวเครื่องบินจะทิ้งระเบิดใส่ บ้านเรือนที่มุงด้วยสังกะสีสีขาวต้องเอาก้านมะพร้าวปิดไว้ พอได้ยินเสียงเครื่องบินมา ต้องวิ่งลงหลุมเพลาะเพราะกลัวระเบิด ความเป็นอยู่ในระหว่างสงครามเป็นความลำบากยากเย็นมาก แต่หลวงปู่ท่านก็เป็นผู้ไม่ประมาท มอบกายถวายชีวิตในการทำความพากความเพียรจนตลอดไตรมาส 3 เดือน

เมื่อออกพรรษาปวารณาแล้ว ช่วยทำกิจที่สงฆ์จะช่วยกัน มีการตัดเย็บผ้าจีวรสังฆาฏิหลังจากที่ได้รับผ้ากฐินทานแล้ว การเย็บผ้าจีวรสังฆาฏิก็เย็บด้วยมือ ช่วยกันเย็บเพราะจักรเย็บผ้าไม่มี เวลาย้อมก็ย้อมด้วยน้ำต้มแก่นขนุน คือเอาแก่นขนุนมาถากเป็นชิ้นบางๆ ให้ได้มากๆ แล้วใส่ปีบต้มให้ได้ 10 ปีบ แล้วเคี่ยวลงเหลือปีบเดียว จึงนำผ้ามาย้อม การตัดเย็บย้อมผ้าในครั้งนั้นรู้สึกว่าลำบากมาก

เมื่อเสร็จกิจที่สงฆ์ได้ช่วยกันทำแล้ว ย่างเข้าฤดูแล้ง ต้นปี พ.ศ. 2488 หลวงปู่ได้เที่ยววิเวกไปทางจังหวัดชัยภูมิ เพื่อกราบเยี่ยมนมัสการพระอาจารย์คำบง ที่บ้านโนนแห้ อำเภอภูเขียว อีกครั้งหนึ่ง เมื่อพักอยู่กับพระอาจารย์คำบงเป็นเวลาพอสมควรแล้ว จึงได้กราบลาคารวะพระอาจารย์คำบงออกเดินทาง มีพระรูปหนึ่งเป็นเพื่อนเดินทางด้วย ออกจากอำเภอภูเขียว เดินทางด้วยเท้ามาเรื่อยๆ จนถึงอำเภอชุมแพ ในระยะนั้นอำเภอชุมแพกำลังเกิดโรคฝีดาษระบาดอยู่ ชาวบ้านแนะนำไม่ให้เดินผ่าน แต่หลวงปู่ไม่ฟัง เดินผ่านอำเภอชุมแพมุ่งหน้าไปทางอำเภอภูเวียง พอมาถึงบ้านฮ่องหอย อำเภอภูเวียง พระที่เดินทางมาด้วยเกิดไม่สบายเป็นไข้ จึงได้หยุดพักที่ป่าแห่งหนึ่ง มีโยมที่บ้านฮ่องหอยมาทำที่พักทางเดินจงกรมให้

โปรดนักเลงใหญ่ให้กลับใจ

หลวงปู่เล่าให้ฟังว่า พอมาพักอยู่ที่บ้านฮ่องหอย วันหนึ่งพอไปบิณฑบาตกลับมาถึงที่พัก มีญาติโยมตามมาถวายอาหาร พอฉันเสร็จล้างบาตรแล้ว หลวงปู่ได้เทศน์อบรมศีลธรรมให้พวกญาติโยมฟังอยู่ พอดีมีผู้ชายคนหนึ่งรูปร่างกำยำน่าเกรงขามเดินเข้ามา แกนั่งอยู่ข้างหลังพวกญาติโยม ในขณะนั้นหลวงปู่แสดงธรรมเรื่ององคุลิมาลโจร ทำบาปฆ่าคนเก้าร้อยเก้าสิบเก้าคนด้วยความหลงเพราะถูกหลอกลวง เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดได้สำนึกในบาปที่ตนกระทำแล้วกลับใจขอบวชในสำนักของพระพุทธเจ้า แล้วตั้งใจบำเพ็ญธรรม ได้สำเร็จพระอรหันต์ได้

เมื่อชายผู้นั้นได้ฟังจึงเข้าไปกราบใกล้ๆ แล้วบอกว่า “อาจารย์ ผมว่าจะไปไร่ พอมาถึงที่นี่ เห็นทางเตียนสะอาดดี ผมจึงเอาขวานซุกไว้แล้วเดินเข้ามา ได้ฟังอาจารย์เทศน์ให้ฟัง ทำอย่างไรผมจึงจะพ้นบาปพ้นกรรม เพราะผมทำทุกอย่าง ฆ่าเจ้าเอาของ แม้แต่พระก็เคยปล้น ถามหาเงินไม่มีก็แย่งเอาห่อผ้าครองพระไว้ ตีหัวพระจนสลบไป ทำอย่างนี้ผมก็เคยทำ”

หลวงปู่จึงพูดปลอบใจว่า “ไม่เป็นไรหรอกโยม เมื่อเรารู้แล้ว ละในการทำบาป ตั้งใจทำคุณงามความดี เราก็จะพ้นจากบาปกรรมเหล่านั้น” เมื่อได้ฟังหลวงปู่พูดให้ฟังอย่างนั้น แกจึงพูดว่า “จะไปไร่ก็ไม่ไปหรอก เพราะเวลาก็บ่ายแล้ว” แกจึงลากลับบ้านไป

พอแกกลับไปแล้ว พวกญาติโยมที่มาถวายอาหารบิณฑบาตจึงพูดว่า “ให้ท่านอาจารย์ระวังนะคนๆ  นี้ ถ้าปากว่าแล้วมือก็ถึงด้วย เป็นนักเลงหัวโจกในเขตนี้” หลวงปู่จึงบอกญาติโยมว่า “แล้วแต่พระธรรมท่านจะรักษา” พอวันหลังโยมนักเลงนั้นแกก็มาถวายอาหารบิณฑบาตด้วย พร้อมรับสารภาพบาปกรรมและจะไม่ทำบาปกรรมอีกต่อไป พร้อมทั้งถวายตัวเป็นศิษย์รับใช้ตลอดมา อยู่ต่อมาหลวงปู่ปรารภจะเดินทางไปที่ถ้ำกวาง บ้านหินร่อง เพื่อนมัสการฟังธรรมจาก พระอาจารย์คำดี ปภาโส เมื่อโยมนั้นทราบ แกอ้อนวอนไม่อยากให้หลวงปู่จากไป แกรับรองว่าจะสร้างวัดถวายให้ เพราะในหมู่บ้านนั้น แกพูดอย่างไรแล้วก็ได้อย่างนั้น เมื่อหลวงปู่ได้ฟังแกอ้อนวอนอย่างนั้น จึงมีความเมตตาสงสาร จึงพักรออีกระยะหนึ่ง
28#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-1-9 14:25 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
พระธรรมกำจัดภัยได้จริง

อยู่มาวันหนึ่งโยมลูกศิษย์นั่นแกมาถวายบิณฑบาตอยู่รับใช้หลวงปู่ หลวงปู่จึงสอนให้ยึดเอาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะที่พึ่ง ก่อนหลับก่อนนอนให้ไหว้พระสวดมนต์ เจริญพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ คือ สวดอิติปิโส...สวากขาโต...สุปฏิปันโน...ไปจนจบแล้วก็ให้เจริญเมตตาจิต เสร็จแล้วให้นั่งสมาธิ เอาขาขวาทับขาซ้าย เอามือขวาทับมือซ้าย ตั้งกายให้ตรงแล้วนึกพุทโธ ธัมโม สังโฆ ในใจ 3 หน แล้วให้นึกถึงพุทโธคำเดียวเป็นอารมณ์ของใจ ให้ทำไปจนกว่าใจของเราอยู่กับพุทโธจึงค่อยหยุดหลับนอน จึงได้ชื่อว่าเป็นผู้มีธรรมเป็นที่พึ่ง

เมื่อหลวงปู่สอนวิธีปฏิบัติให้แล้ว จึงยื่นไม้ยาชนิดหนึ่งให้ พร้อมกับบอกว่า ไม้ชนิดถ้าผีปอบ (ผีชมก) เข้าสิงใคร ให้เอาไม้นี้จี้เข้าไปพร้อมกับภาวนาว่า พุทโธ ธัมโม สังโฆ ผีจะกลัวออกไปทันที พอโยมนั้นแกได้ไม้ยาพร้อมคำภาวนาจากหลวงปู่ ตอนเย็นก็กลับบ้าน พอถึงบ้านวันนั้นภรรยานั่งหันหลังให้ซึ่งไม่เคยเป็นมาก่อน ถามอย่างไรก็ไม่พูด แกจึงเอาไม้ยาที่ได้จากหลวงปู่จี้ใส่ภรรยา พร้อมบริกรรมพุทโธ ธัมโม สังโฆ ทันใดนั้นภรรยาก็ปัสสาวะแตกออก จึงรู้สึกตัว แล้วพูดให้ฟังว่า “ไม่รู้เป็นอย่างไร เหมือนมีอะไรเข้ามาสิง” เหตุการณ์นี้ยิ่งทำให้โยมลูกศิษย์นั้นเพิ่มความเชื่อในคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ยิ่งขึ้น


พระอาจารย์คำดี ปภาโส


พระอาจารย์เพ็ง พุทฺธธมฺโม

29#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-1-9 14:26 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
เดินทางไปถ้ำกวาง
บ้านหินร่อง อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น


เมื่อหลวงปู่อยู่โปรดญาติโยมบ้านฮ่องหอย และลูกศิษย์กลับใจเป็นเวลาพอสมควรแล้ว จึงได้ลาญาติโยมเดินทางไปถ้ำกวางเพื่อกราบนมัสการและฟังธรรมจาก พระอาจารย์คำดี ปภาโส โยมลูกศิษย์นั้นได้ติดตามไปส่งถึงถ้ำกวาง และพักอยู่ด้วย 2 คืนจึงได้ลากลับไป เมื่อมาพักอยู่ถ้ำกวาง หลวงปู่เป็นไข้จับสั่น ถึงขนาดนั้นท่านก็ไม่ได้ละในการทำความเพียร ร่างกายเป็นไข้ไป ใจก็ภาวนาไป วันหนึ่งเวลากลางคืนขณะที่นั่งภาวนาในกระท่อมไม้ไผ่ ไข้กำเริบภาวนาไปตัวก็สั่น เสียงฟากไม้ไผ่ที่ปูกระท่อมก็ดังแอ๊ดๆ แอ๊ดๆ

ครู่หนึ่งได้ยินเสียงจากข้างนอกกระท่อมเข้ามาในหูดังแคบๆ แคบๆ ห่างๆ ในใจนึกขึ้นว่า “ไม่ใช่เสียงเสือหรือ” พอนึกขึ้นแค่นั้นก็มีสติระลึกได้ว่า “อะไรก็ช่างเถิด อย่าไปสนใจเลย” ตั้งใจภาวนาต่อไปจนจิตสงบ ไข้สั่นก็ระงับไป จึงได้พักผ่อน พอตอนเช้านำบาตรลงจากกระท่อมจะไปศาลา เห็นรอยเสือโคร่งอยู่ข้างกระท่อมที่พักนั้น

อยู่ต่อมาอีกวันหนึ่งท่านพระอาจารย์คำดีได้พาระบมบาตร เมื่อจุดไฟระบมบาตร หลวงปู่ถูกไอความร้อนรู้สึกสบาย จึงไม่ขยับออก ท่านพระอาจารย์คำดีสังเกตเห็นท่าน ก็รู้ว่าเป็นไข้ ท่านจึงถามว่า “ท่านบุญ ไม่ใช่เป็นไข้หรือ จึงไม่ขยับออกจากไฟ เป็นไข้ก็ไม่บอกกัน อย่างนี้ฆ่ากันทางอ้อมนะนี่” หลวงปู่ไม่ได้ตอบว่าอย่างไร

ในขณะพักอยู่กับท่านพระอาจารย์คำดี ปภาโส นั้น ได้รับความเมตตาจากท่านเป็นอันมาก ท่านมีนิสัยนิ่มนวลเยือกเย็น ท่านเป็นพระงาม ไม่ว่ากิริยาอาการเคลื่อนไหว ท่านงามทุกอิริยาบถ ในปีนั้นคิดว่าจะจำพรรษาที่ถ้ำกวางกับท่านพระอาจารย์คำดี

พออยู่ต่อมาได้รับโทรเลขว่า พระอาจารย์เพ็ง พุทฺธธมฺโม ซึ่งเป็นลูกชายของหลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ ในเวลานั้นท่านเป็นอาจารย์ ได้ป่วยอยู่วัดป่าสุมนามัย อำเภอบ้านไผ่ ให้รีบมาด่วน ถ้าช้าจะไม่เห็นใจ เมื่อได้รับโทรเลขแล้วจึงปรึกษากันกับหลวงปู่บัว เพราะขณะนั้นหลวงปู่บัวก็อยู่ถ้ำกวางด้วย จึงลงมติว่าควรจะกราบเรียนท่านพระอาจารย์คำดี ท่านจะเห็นว่าอย่างไร จึงได้นำโทรเลขกราบเรียนท่านพระอาจารย์คำดี

ท่านจึงพูดว่า “อาจารย์เพ็งก็เป็นครูบาอาจารย์และมาด้วยกันก็ควรไปดูกันนั้นแหละ”

หลวงปู่เล่าว่า “ความจริงนั้นท่านพระอาจารย์คำดีเห็นเราเป็นไข้เหมือนกัน ท่านอยากให้ออกจากถ้ำกวางเพราะท่านกลัวว่าธาตุขันธ์จะสู้ไม่ไหว”
30#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-1-9 14:26 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ออกจากถ้ำกวาง

เมื่อได้รับความเห็นจากพระอาจารย์คำดี ว่าควรจะกลับไปเยี่ยมพระอาจารย์เพ็งที่อำเภอบ้านไผ่ หลวงปู่พร้อมด้วยหลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ จึงได้กราบลาคารวะท่านพระอาจารย์คำดี ปภาโส แล้วออกเดินทางด้วยเท้าจากถ้ำกวาง บ้านหินร่อง อำเภอภูเวียง สององค์ด้วยกันกับหลวงปู่บัว บนบ่าสะพายบาตรแบกกลด เดินไปไข้จับสั่นไป แสนทุกข์ทรมาน บางทีก้าวเท้าข้ามคันนาก็จะไม่ไหว สู้อดสู้ทนเอา กายไข้ไป ใจภาวนาไป พิจารณาทุกข์ไป เดินทั้งวัน ข้ามทุ่งเข้าป่า พอใกล้ค่ำถึงบ้านหนองขอน อำเภอเมืองขอนแก่น จึงได้หยุดพักที่ป่าใกล้ๆ หมู่บ้าน

ตอนเช้าบิณฑบาตในหมู่บ้านหนองขอนทั้งไข้จับสั่นไปด้วย ได้แต่ข้าวกับมะม่วงดิบลูกเล็กๆ กับห่ออาหารห่อหนึ่ง พอกลับมาถึงที่พักจัดแจงฉันเปิดห่ออาหารออก ปรากฏว่าเป็นปลาร้าดิบฉันไม่ได้ผิดวินัย ฉันข้าวกับมะม่วงดิบก็ฉันไม่ได้ เพราะอาการไข้ทำให้ขมปาก จึงฉันแต่ข้าวเปล่าพอประทัง แล้วจึงออกเดินทางต่อมาถึงขอนแก่น พักที่วัดป่าชัยวัน จังหวัดขอนแก่น ตอนเช้าจึงขึ้นรถไฟจากขอนแก่นไปบ้านไผ่ มีพระอีกองค์หนึ่งขอติดตามไปด้วยจึงเป็น 3 องค์

หลวงปู่เล่าว่า “รถไฟคนเต็มนั่งไม่ได้ ต้องยืนระหว่างตู้รถต่อกัน บ่าก็สะพายบาตรทั้งแบกกลดทั้งเป็นไข้ พระที่ขอไปด้วยก็เมารถเป็นลม ตัวเองก็เป็นไข้ มือก็ประคองพระ เพราะกลัวจะตกรถไฟ แสนทรมานในการเดินทาง ยืนจากขอนแก่นถึงบ้านไผ่ พอถึงบ้านไผ่ นายสถานีจึงนำรถมารับไปส่งที่วัดป่าสุมนามัย พอขึ้นศาลาวัดป่าสุมนามัย ต่างองค์ต่างไข้ ไม่มีใครดูใครเลย ต่างองค์ต่างนอนภาวนาไปพร้อมกับไข้จับสั่น” ในขณะนั้น ท่านพระอาจารย์สีโห เขมโก ก็ได้มาพักที่วัดป่าสุมนามัยด้วย

เมื่อไข้พอทุเลา พวกญาติโยมจังหวัดร้อยเอ็ดได้ทราบข่าวว่าพระอาจารย์เพ็ง หลวงปู่และหลวงปู่บัว มาป่วยอยู่อำเภอบ้านไผ่ จึงได้นำรถมารับกลับไปวัดป่าศรีไพรวัลย์ จังหวัดร้อยเอ็ด เมื่อกลับถึงวัดป่าศรีไพรวัลย์แล้ว พวกญาติโยมเมืองร้อยเอ็ดหายามาถวายให้ฉัน อาการไข้จับสั่นจึงค่อยทุเลาและหายไป

ความอยากเป็นเหตุให้เกิดทุกข์

พอหายไข้ใหม่ๆ เริ่มฉันอาหารได้ รู้สึกว่าอยากโน่นอยากนี่ (ภาษาโบราณเขาว่ากำลังเป็นผีโพ คือกินอะไรไม่รู้จักอิ่ม) อยู่มาวันหนึ่งโยมเขานำลาบปลาปึ่ง (ปลาเทโพ) มาถวายจังหันตอนเช้า ฉันเอาเต็มที่ เพราะฉันไปไม่รู้จักอิ่ม ฉันด้วยความอยาก พอฉันเสร็จแล้ว อยู่อย่างไรก็ไม่สบาย สุดท้ายต้องไปยืนเหนี่ยวกิ่งไม้อยู่ตามร่มไม้ลำดวนในวัด เพราะแต่ก่อนวัดป่าศรีไพรวัลย์เป็นป่าไม้ลำดวน

ทุกข์เกิดเพราะความอยาก ทุกข์เกิดเพราะการกิน พระพุทธเจ้าจึงให้รู้ประมาณในการกิน ให้รู้เท่าความอยาก ไม่ปล่อยไปตามกระแสแห่งความอยากโดยถ่ายเดียว ถ้าปล่อยตามกระแสแห่งความอยาก ก็จะเกิดทุกข์เรื่อยไป ถ้ารู้เท่าความอยาก ไม่ปล่อยตามกระแสแห่งความอยาก ทุกข์ก็จะดับไป
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้