ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

~ หลวงปู่หลุย จันทสาโร วัดถ้ำผาบิ้ง ~

[คัดลอกลิงก์]
91#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 13:23 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
หลวงปู่ท่านบ่นว่า ความจริงท่านเลิกละแล้ว การปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้านั้นท่านมาคิดดูว่า ครูบาอาจารย์ที่มีอยู่ ต่างองค์ดีกว่า วิเศษกว่าท่านมากมาย ไม่ว่าจะเป็นท่านพระอาจารย์บุญ ท่านพระอาจารย์เสาร์ หรือ ท่านพระอาจารย์มั่น แต่ละองค์ก็ยังต้องกลับมาปรารถนาเพียงพระอรหันตสาวก เราดีวิเศษเช่นไร ถึงจะปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้า ควรจะต้องละความคิดอันนั้นเสีย

แต่ท่านว่า ท่านละแล้ว มันก็ยังไม่แน่ใจแท้ เพราะทำอะไรดูมันขัดเขินอยู่ตลอด อย่างน้อยเมื่อปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้า ก็ย่อมต้องมีผู้ปรารถนามาเกิดด้วยเป็นคู่บารมีกัน คงจะได้สร้างบารมีปรารถนาเช่นนั้นมาด้วยกันหลายภพหลายชาติหรือช้านานแล้ว เช่นที่เป็นบิดา มารดา บุตร ภริยา ทั้งบริวาร ก็คงจะได้ไปเกิดพร้อมกันเป็นบิดา มารดา บุตร ภริยา หรือบริวารของพระพุทธเจ้า เมื่อท่านจะเลิกละไป ท่านเหล่านั้นก็ย่อมมาทวงความปรารถนาอยู่ คงยังไม่ยอมเลิกรากันไปได้

ครั้งแรกก็ว่าปรารถนาให้มาพบกันก็เป็นของยาก ก็พยายามให้พบกัน เพื่อว่าเมื่อพบกันแล้วจะได้ช่วยกันสร้างบารมีกว่าจะตรัสรู้ นั้นประการหนึ่ง เกิดมาซ้ำซากหลายชาติเป็นอนันตนัย พระพุทธเจ้าถึงตรัสว่า “เอาเข็มจี้ลงแผ่นหินไม่ถูกกองฟอน ตถาคตไม่มี” สร้างบารมีกันนานหนักหนาจนกว่าจะสำเร็จพระพุทธเจ้าได้ บุตรบริวารว่านเครือโดยเฉพาะคู่บารมีนั้นก็ย่อมจะต้องมาเกิดใกล้ชิดกัน เมื่อท่านผู้เป็นหัวหน้าจะเลิกละ ผู้อื่นก็ย่อมจะต้องไม่ยอมง่าย ๆ จะต้องเจรจากัน

ท่านไม่ทราบว่าตัวท่านนั้นจะได้เกิดมานานเท่าไรที่ตั้งปรารถนาอันนี้ แต่ท่านก็ทราบดีว่าผู้ปรารถนาพุทธภูมินั้น เกิดมาชาติใดย่อมไม่ทิ้ง ทาน ศีล ภาวนา ไม่ทิ้งการสงเคราะห์ฝูงชนเป็นอย่างยิ่ง ไม่ทิ้งการเมตตาแก่สัตว์ทั้งหลายเสมอภาคกัน เกิดภพใดชาติใด ภพน้อยภพใหญ่ ย่อมไม่ทิ้งการสร้างพระบารมี เป็นบารมีที่เป็นไปเพื่อการตรัสรู้ ไม่ใช่บารมีที่จะตัดภพตัดชาติ ในชาตินี้ท่านได้พบผู้ที่เคยข้องแวะเกี่ยวข้องกันในชาติต่าง ๆ จึงทำให้ดูหวั่นไหวไปบ้าง แต่ด้วยความรักในเพศพรหมจรรย์จึงได้ผ่านมา แต่การดำเนินไปสู่ความหลุดพ้นที่สุดของจิตนั้น ก็ยังอยู่ ขัดขวางอยู่มาก ท่านแน่ใจว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่ท่านจะต้องดำเนินผ่านไปให้ได้

ท่านเล่าว่า พรรษานี้ท่านรู้สึกปลอดโปร่งใจที่ว่า สามารถหาเส้นผมที่มาบังภูเขาได้ จากข้อคิดที่ได้จากเพื่อนกัลยาณมิตร นี่แหละ ท่านจึงได้พูดว่า “การภาวนาถ้าจะเป็นไปได้ดีนั้น นอกจากจะต้องมีครูบาอาจารย์ที่ดีแล้ว ก็ควรจะต้องมีกัลยาณมิตร มีมิตรดี มีสหายที่ดีด้วย”

จริงอยู่ท่านไม่ไม่ได้คิดว่า ข้อขัดข้องของท่านจะเป็นเรื่องโทสจริต ท่านไม่ค่อยได้มีด้านโทสจริต เพราะท่านไม่ได้โกรธใครง่าย ๆ ของท่านนั้นเป็นราคจริต ซึ่งท่านได้พยายามแก้อยู่แล้ว แต่สิ่งขัดข้องของท่านนั้น มันเป็นเรื่องที่ฝังลึก ฝังรากไว้ช้านานแล้วต่างหาก ท่านจึงกล่าวว่า “ในบรรดาผู้ที่จะเจริญภาวนานั้น ย่อมใช้อารมณ์ธรรมต่าง ๆ กัน” คนหนึ่งอาจจะขัดเกลาด้านโทสจริต อีกคนหนึ่งด้านราคจริต ฯลฯ แต่ทุกคนต่างมุ่งเพื่อละกิเลสอย่างเดียวกัน ปราชญ์ท่านว่าไว้ว่า “ดุจผู้เป็นเสนาม้า เสนารถ เสนาเดินด้วยเท้า แต่ทุกด้านก็ต่างเพื่อทำสงครามเอาชนะอย่างเดียวกัน” ฉะนั้น
92#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 15:32 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
พรรษาที่ ๔๐ พ.ศ. ๒๕๐๗ สุดสะพานรุ้งสู่อวกาศ

จำพรรษาบ้านกกกอก ต.หนองงิ้ว อ.วังสะพุง จ.เลย

หลังจากที่ได้ข้อคิดจากหลวงปู่ขาวแล้ว ท่านก็ได้แยกมาบำเพ็ญประพฤติปฏิบัติธรรมอย่างเต็มที่ ระยะแรกท่านยังวิเวกอยู่ต่อไปบริเวณวัดถ้ำกลองเพล เนื่องจากเห็นว่าเป็นที่สงัดวิเวกอย่างมาก อย่างไรก็ดี ต่อมาท่านก็ต้องเปลี่ยนความคิด ด้วยที่วัดถ้ำกลองเพลนั้น ใครก็รู้ว่า พระคุณเจ้าหลวงปู่ขาว อนาลโย มาพำนักอยู่ที่นั่นหมู่สานุศิษย์จึงมากราบมาไหว้กันอยู่เสมอ สำหรับเวลาระหว่างเข้าพรรษานั้น ต่างองค์ต่างต้องจำบำเพ็ญภาวนาอยู่ในอาวาสของตน จึงจะมาได้แต่เพียงทำวัตรพระเถระผู้ใหญ่แล้วก็กลับไปเท่านั้น ครั้นเมื่อออกพรรษาปวารณาแล้ว แต่ละท่านแต่ละองค์ก็จะสามารถเดินทางธุดงค์หรือวิเวกไปตามที่ต่าง ๆ ได้ ถ้ำกลองเพลเป็นสถานที่ซึ่งขึ้นชื่อในเรื่องความสงบ สงัด วิเวก อุดมด้วยป่าเขาและภูเขา ซอกหินผามากมาย จึงมักมีหมู่พวกสัญจรมาเยือนมิได้ขาด

สุดท้าย หลวงปู่เห็นว่าที่นี่จะไม่ได้รับความวิเวกเต็มที่ ท่านก็เก็บบาตรแบกกลด เดินทางต่อไป ท่านได้มุ่งหน้ากลับไปอยู่ที่จังหวัดเลย ด้วยเห็นว่าที่นั่นอยู่ห่างไกลออกไป และยังมีที่น่าภาวนาอยู่อีกมาก เถื่อนถ้ำต่าง ๆ ในจังหวัดเลยนั้นก็ยังเป็นที่ดึงดูดจิตใจให้สงบ สงัด น่าบำเพ็ญภาวนามาก จะเป็นถ้ำผาปู่ก็ดี ถ้ำมโหฬารก็ดี ถ้ำผาบิ้งก็ดี ถ้ำแก้งยาวก็ดี หรือแม้แต่ที่วิเวก อย่างเช่น บ้านไร่ม่วง หนองบง ก็ล้วนแต่เป็นที่ซึ่งสงบสงัด น่าภาวนาทั้งสิ้น ระยะต้นท่านได้ธุดงค์เลยไปถึงบริเวณแถวแก่งคุดคู้ จังหวัดเลย

ที่แก่งคุดคู้ ท่านเห็นพญานาคทำทางให้แม่ของเขา โดยพังหินลงมาแล้วเกลี่ยทางเป็นสีแดงเถือกพาดขึ้นไปบนไหล่เขา ระยะนั้นหลวงปู่ก็ได้พบเห็นพญานาคอีกหลายครั้ง ท่านจึงค่อนข้างจะคุ้นเคยกันอยู่บ้าง เฉพาะที่แก่งคุดคู้นี้ท่านเล่าว่า

ที่เห็นน่าอัศจรรย์นั้นคือ ได้เห็นกระต่ายมาเต้นชมจันทร์ เวลากลางคืนฟ้าสว่างมาก ก้อนหินน้อยใหญ่ที่อยู่ในลำแม่น้ำโขง ก็แพรวพราวรับแสงจันทร์ ท่านภาวนาจิตถอนออกมา ก็เปลี่ยนอิริยาบถออกมาเดินเล่น จึงเห็นบรรดาหมู่กระต่ายมาเต้นชมจันทร์อยู่ และเมื่อท่านเดินจงกรม พวกกระต่ายก็มาเดินอยู่ใกล้ทางอยู่เช่นกัน มากันเป็นหมู่ ตัวหัวหน้านั้นมากราบนมัสการ แต่พวกลูกเล็กหางแถวก็ยังเล่นอยู่เหมือนกับว่า บิดามารดาพาลูกเล็ก ๆ ตามมา บิดามารดายังเข้ามากราบนมัสการพระเจ้าพระสงฆ์อยู่แต่เด็ก ๆ มิได้เดียงสาอะไร พ่อแม่ให้กราบก็กราบ แต่ก็ยังมีเล่นซนกันอยู่ มองดูแล้วน่ารักน่าสงสารเหลือ คือพวกสัตว์เหล่านี้เขาก็ต่างมีชีวิตเช่นเดียวกับคน มีความรู้สึกนึกคิดเช่นเดียวกัน หากแต่กรรมนั้นปรากฏอยู่ เขาจึงเสวยชาติเป็นสัตว์ แต่บางครั้งนิสัยเช่นคนก็ยังมีอยู่ อย่างเช่น พระเถรเจ้าหลายองค์ก็เคยพบ เมื่อเวลาที่ท่านกำลังนั่งภาวนา จะมีกระต่ายมานั่งอยู่ที่ใต้แคร่ นั่งหลับตาพริ้มภาวนา ยกมือขึ้นกอดอกก็มี บางองค์ก็พบว่า ระหว่างที่ท่านกำลังเดินจงกรม มีเจ้ากระต่ายน้อยมายืนอยู่ที่ปลายทางจงกรม ใช้ขาสองข้างกอดอกหลับตาพริ้มอยู่ เดินมาถึงหัวทางจงกรมก็ยังอยู่กลับไปจนสุดรอบ ย้อนมาก็ยังอยู่ที่นั่น จนกว่าท่านจะเลิกจงกรม มันจึงจะละวาง กระโดดเข้าป่าไป

ความอัศจรรย์ที่หลวงปู่ท่านชอบเล่ามากที่สุดก็คือเรื่องที่ท่านพระอาจารย์สิงห์ อาจารย์องค์ลำดับแรก ๆ ของท่าน ซึ่งท่านไปจำพรรษาอยู่ด้วยที่วัดป่าบ้านเหล่างา หรือวัดป่าวิเวกธรรม ที่จังหวัดขอนแก่นนั้น ท่านได้เล่าถึงว่า เมื่อเวลาท่านพระอาจารย์สิงห์เดินจงกรมในป่า ด้วยจิตท่านนั้นอ่อน แผ่เมตตาไปโดยไม่มีประมาณ ถึงกับว่า เมื่อมีเสือมานั่งอยู่ใกล้ทางจงกรม ท่านแผ่เมตตาให้จนจิตของเสือนั้นอ่อนรวมลงเป็นมิตรสนิทต่อท่าน ท่านหัดให้เสือเดินจงกรมตามท่านไปได้ ความนี้แม้แต่ภายหลัง ท่านพระอาจารย์มั่นก็กล่าวยกย่องท่านพระอาจารย์สิงห์ กรณีนี้อยู่เสมอ ท่านถึงกล่าวว่า สัตว์นั้น สุดท้ายย่อมทำให้อ่อนได้ด้วยแรงเมตตา ไม่ใช่การใช้กำลังอำนาจที่จะเอาชนะกัน มนุษย์สมัยนี้เอาชนะกันด้วยกำลัง จึงมีการฆ่าฟันกันตาย โกรธขึ้งหึงสาพยาบาทซึ่งกันและกัน พยาบาทแล้วก็เคียดแค้นกัน ก่อเวรก่อกรรมไม่มีที่สิ้นสุด
93#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 15:33 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
หากทุกท่านจะใช้พรหมวิหาร ประกอบด้วยเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เป็นอัปปมัญญาพรหมวิหารแผ่ไปให้มาก แผ่ไปโดยไม่มีประมาณ สัตว์โลกทั้งหลายก็จะเป็นมิตรสนิทกัน ไม่มีการก่อเวรก่อกรรมแต่อย่างใด

ในปี ๒๕๐๗ ที่ท่านคิดว่าทางด้านสมถะของท่านก็ได้เป็นไปพอตัวแล้วจิตมีแต่จะเสวยสุขต่อไป ถ้าหากไม่ฝึกปรือให้มันอ่อนลงควรแก่การงาน ให้พิจารณาให้ถ่องแท้ ใช้ไตรลักษณ์เข้าไปกำกับหรือ “ฟอกเช็ดจิต” อย่างที่ท่านเคยกล่าวอยู่เสมอแล้ว ก็อาจจะเปล่าประโยชน์ ท่านคงจะกลายเป็นพรหมลูกฟัก หรือไปเกิดเป็นพรหมต่อไปอย่างน่าเสียดายที่ชาตินี้ได้เกิดมาเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนาแล้ว ความปรารถนาลี้ลับที่คิดว่าจะรู้ธรรมด้วยตัวเอง ไม่ต้องการจะรู้ธรรมจากผู้ที่มาสอนให้ ไม่ต้องการเป็นสาวกใคร นั้นก็ได้อ่อนละลายลง เพราะยิ่งได้เห็นได้ฟังจากท่านพระอาจารย์มั่นนั้น ท่านยังต้องเกิดเป็นสุนัขนับเป็นอสงไขยชาติ ด้วยระหว่างที่เกิดชาติหนึ่ง ๆ นั้น เกิดไปพบนางสุนัขตัวใหม่เกิดผูกพันรักใคร่ขึ้น ก็ตั้งจิตปรารถนาที่จะพบกันในชาตินั้นต่อ ๆ กันไป จึงต้องเวียนกลับมาเกิดเป็นสุนัข ไม่มีที่สิ้นสุด นึกขึ้นได้แล้วก็ควรจะตัดภพตัดชาติ หาทางตัดภพตัดชาติ มุ่งไปสู่ที่สุดจิตเสียโดยดี

ท่านเล่าว่า การตัดความปรารถนานั้น ต้องตัดในเวลาที่จิตเข้าสู่อัปปนาสมาธิที่ลึกที่สุด แล้วถอนขึ้นมา กำหนดจิตตัดว่า ที่เราได้เคยปรารถนาพระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณนั้น เราขอลาแล้ว เราขอตัดเด็ดขาดแล้ว เราไม่ต้องการ เราต้องการมุ่งลัดตัดตรงไปสู่ที่สุดของจิตนี้โดยเร็ว ตั้งความปรารถนาย้ำหนักแน่นตลอดกาล ประกอบกับในระยะนั้นคู่บารมีของท่าน ที่มาเป็นประดุจอนุสัยก่อกวนกิเลสอยู่ตลอดให้รำลึกถึง ก็ได้สิ้นชีวิตไปแล้วหลายปี ความรู้สึกที่คล้าย ๆ กับว่าหนามปักจิตอยู่ยอกจิตอยู่ มันเหมือนมาสะกิดอยู่ ก็ถูกบ่งหายไปแล้ว ระลึกได้แต่ความเมตตาความสงสารที่ว่าเธอนั้นยังไม่ได้พบทางอันเกษม ไม่มุ่งไปหาทางอันดี มีแต่ความอาลัยอาวรณ์ถ่ายเดียว ความจริงคู่บารมีของท่านนั้น แม้แต่ท่านไปจำพรรษาที่ถ้ำเจ้าผู้ข้าพ.ศ. ๒๕๒๕ เธอผู้นั้นก็ยังแวะเวียนมากราบนมัสการด้วยความเคารพอยู่ ซึ่งท่านก็ได้เมตตาสั่งสอน ให้รีบลัดตัดเข้าสู่ทางเกษมโดยเร็ว


กุฏิที่หลวงปู่จำพรรษาที่บ้านกกกอก
เมื่อปี ๒๕๐๗


ปีนี้ท่านได้มุ่งไปที่บ้านกกกอก ที่ท่านเคยมาจำพรรษาแต่เมื่อปี ๒๔๙๙ ได้พบความอัศจรรย์อยู่ที่นั่นแล้ว บ้านกกกอกเป็นหมู่บ้านที่อยู่ในระหว่างหุบเขาด้านทิศใต้ ติดกับภูหลวง ทางทิศเหนือก็มีภูเขากั้นระหว่างบ้านกกกอกกับบ้านไร่ม่วง ด้านทิศตะวันตกก็มีภูเขาขวางกั้นอยู่อีก มีทางเข้าหมู่บ้านด้านทิศตะวันออกเพียงด้านเดียว มีลำธารน้ำไหลผ่านวัด มีน้ำตก และสัตว์ป่ามากมาย หมู่บ้านนี้มีอยู่ประมาณ ๑๐ กว่าหลังคาเรือน อยู่ในดงป่าทึบ ชาวบ้านมีอาชีพทำไร่เล็ก ๆ น้อย ๆ และเก็บของป่าขาย ซึ่งพออาศัยโคจรบิณฑบาตได้ เป็นสถานที่วิเวก วังเวง สงบ สงัด เหมาะแก่การปฏิบัติธรรมเป็นอย่างยิ่ง เพราะสามารถทำความเพียรได้ทั้งกลางวันและกลางคืน สถานที่นี้เป็นสถานที่สมกับคำสอนของหลวงปู่ ซึ่งมักจะเน้นถึง “สถานที่วิเวก ๑ กายวิเวก ๑ จิตวิเวก ๑ จึงจะเกิดธรรมะอันน่าอัศจรรย์ของจิตอันวิเศษสุด”

บ้านกกกอกนี้ สถานที่เป็นมงคล เป็นที่ที่เคยมีพระอริยเจ้าได้เคยมานิพพานอยู่ที่นั่น ดังที่เคยกล่าวมาแล้วในเรื่องหลวงปู่เอีย ที่บ้านกกกอกนั้น เป็นบริเวณป่าเขาอันสงบวิเวก

เมื่อท่านกลับไปครั้งนี้ ต้นไม้ใหญ่ก็ยังมีอยู่อีกมากมาย สมัยปี ๒๕๐๗ ยังไม่มีการตัดไม้ทำลายป่าเท่าไรนัก ความสงัดวิเวกดังที่เคยพบในปี ๒๔๙๙ ยังเหลืออยู่ส่วนมาก น้ำซำที่อยู่ใกล้บริเวณเคยทำความเพียร ยังมีน้ำไหลออกมาเกือบตลอดปี
94#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 15:33 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ท่านยังจำได้ว่า เสมอไปอยู่ครั้งก่อนนั้น นั่งได้ทุกที่ เดินจงกรมได้ทุกแห่ง เป็นภาวนาไปหมด ภาวนาได้จนมองเห็นทะลุไปทั้งตัว ภาวนาลมหายใจทุกเส้นขน เป็นที่ที่สัปปายะ พร้อมทั้งสถานที่ อากาศ บุคคล ถึงด้านอาหารการกินจะไม่สะดวกเท่าไร แต่ “การอด” นั้นเป็นสิ่งที่หลวงปู่ได้ประสบพบเห็นเสมอ ท่านไม่ได้ถือเรื่องอาหารขบฉันเป็นเรื่องสำคัญแต่ประการใด ท่านกล่าวว่า การอยู่สถานที่เป็นมงคลนั้นดีมาก เพราะทำให้เราต้องคอยตรวจวินัยให้บริสุทธิ์ ตรวจข้อวัตรให้เคร่งครัด เพราะว่า เจ้าภูมิ เจ้าสถานที่ซึ่งมีอยู่มากมาย ย่อมดูเราอยู่ จึงควรต้องแผ่เมตตาจิตถึงเทพและอมนุษย์ให้เสมอหน้ากันด้วย มิให้รังเกียจรังงอน ว่านี่เป็นอมนุษย์ นี่เป็นเทพเราต้องเอาใจมากกว่า การแผ่เมตตาไปโดยไม่มีประมาณ ให้มากเสมอกันนั้นเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เป็นการทำความคุ้นเคยกับเจ้าถิ่น เวลาน้อมจิตเข้าไปถึงหลัก จิตจึงสว่างไสวเป็นที่เบาจิต เราสามารถตรวจปฏิภาค อุคคหนิมิตได้แจ่มแจ้งดี จิตจะเข้าสู่วิปัสสนาเพื่อความรู้เท่าสังขาร นำมาซึ่งความสงบเย็นใจและสงบเป็นอย่างดี

ระหว่างที่อยู่ที่นี่ ท่านก็คิดทบทวนถึงที่ครูบาอาจารย์เคยสอนเคยสั่งมาตลอดเวลา เคยยังจำได้ซึ่งเป็นรากฐานที่จะต้องจดจำเสมอว่า ต้องพิจารณาอสุภะเพื่อแก้ราคะ ทำเมตตาเพื่อแก้โกรธ อานาปานะ เพื่อแก้วิตกวิจารณ์ อนิจจสัญญา แก้ถอนทิฐิมานะ อนัตตาให้ตั้งใจไว้โดยดี เพื่อจะได้ถอนอัสมิมานะขึ้นไปได้นิพพาน มีปัญญาเลิศกว่าทั้งปวง

ในระยะนี้ท่านพากเพียรการพิจารณาอสุภะมาก เพื่อจะตัดขาดจากอนุสัยซึ่งติดค้างมา ท่านเล่าว่าการทำความเพียรนั้น ได้จัดอยู่อย่างแบบนี้ตลอดมา คือว่า ตั้งแต่อรุณขึ้นมาถึงพลบค่ำเวลาหนึ่ง ตั้งแต่พลบค่ำไปถึงยามหนึ่งเวลาหนึ่ง ยามกลางคืนตั้งแต่ ๔ ทุ่มไปจนถึง ๘ ทุ่มนั้นนอน นอกนั้นลุกขึ้นมาภาวนาตลอดสว่าง ท่านกล่าวนำไว้ว่า แบ่ง ๓ เวลาดังนี้ ใช้ชีวิตเป็นไปด้วยวิธีนี้ตลอด หมายความว่าตั้งแต่อรุณขึ้นมาถึงพลบค่ำนั้น ท่านทำภาวนาตลอดเลย แทบจะไม่ได้เอ่ยถึงเวลาฉันจึงหันเลยจนนิดเดียว นี้แปลว่า ระยะนั้นท่านมักจะผ่อนอาหารมาก ตั้งแต่พลบค่ำไปถึงยามหนึ่งติดต่อกันไป เป็นในช่วงเวลาที่เดินจงกรมมาก ยามกลางคืนตั้งแต่ ๔ ทุ่มถึง ๘ ทุ่มนั้นนอน ๔ ชั่วโมง นอกนั้นลุกขึ้นภาวนาตลอดเกือบสว่าง สว่างเสร็จแล้วก็ตั้งต้นกันใหม่ เป็นการทำความเพียรอย่างเอกอุ การภาวนาระหว่างอยู่ที่บ้านกกกอกนี้ ท่านกล่าวว่าได้เร่งภาวนามาก แต่ขณะเดียวกันก็มีอาการไข้อาพาธขึ้น

ไข้ก็เกิด ความเพียรก็ต้องทำ ไม่มีฝ่ายใดสามารถที่จะย่อหย่อนอ่อนข้อกัน ความจริงการเป็นไข้ทำให้เป็นลมอ่อนเพลีย แต่ในขณะเดียวกันก็กลับให้ประโยชน์ เพราะว่าสามารถได้พิจารณาทุกขเวทนาทางกาย ซึ่งเป็นเรือนรังแห่งความทุกข์ได้ ไข้ยิ่งเกิดก็ยิ่งเท่ากับเวทนามากขึ้น ทุกข์เพิ่มขึ้น ยิ่งเห็นทุกข์ ก็ยิ่งพิจารณาตัดไป

ท่านบันทึกไว้หลายแง่หลายมุม ในระยะต้นท่านยังกล่าวอยู่มาก ตอนต้นเดือน กรกฎาคม

“ก่อนเข้าพรรษา มีนิมิตเห็นท่านอาจารย์สิงห์เดินมาหาแล้วเดินผ่านไป นับว่าเป็นพระคุณมาก ท่านเดินมาคนเดียว แสดงความบริสุทธิ์ในทางพรหมจรรย์”

ต่อไปนี้ จะได้ขอนำบันทึกของท่านบางตอนมาลงโดยเรียงตามลำดับที่ท่านว่าเป็นการพิจารณาด้านความตาย

“เข้าใจว่าตนจะตายอยู่เสมอ ร่างกายแปลกมาก เป็นลม ๑ อ่อนเพลีย ๑ จิตวิตก ๑ วิจารณ์ในตาย ๑ จิตไม่ฝักใฝ่สูง ๑ ไม่ทะเยอทะยาน ๑ จิตมัธยัสถ์ในการภาวนาเตรียมตัว ๑ ไม่อยากรับแขกให้เวลาล่วงไป ๑ ชอบสันโดษมักน้อยในปัจจัย ๑ (รู้สึกการเป็นลมเกือบล้มตาย ณ ที่ภูเวียง นอกนั้นก็เป็นบ่อย ๆ แต่เป็นเล็ก ๆ น้อย ๆ)”

“๑ สิงหา ๐๗ กกกอก ให้พิจารณาสังขารมันเป็นเรื่องของเขา ให้รู้ตามความเป็นจริง เพราะแสดงอยู่เป็นนิตย์ทุกอิริยาบถ นั่ง นอน เดิน ยืน สังขารแปรปรวนอยู่เสมอไม่ขาดสาย ให้ผู้ที่รู้นั้นไม่ร้อนไม่หนาวไปตาม เมื่อรู้ตามเป็นจริงแล้ววางตามสภาพได้ เรื่องของสังขารบังคับบัญชาเขาไม่ได้ เขาไม่อยู่ใต้อำนาจของใคร ร่างกายไม่มีการเกิด มีแต่แปรไปเรื่อย ๆ ส่วนเดียวไปหาความตาย จิตอาศัยกายยังมีแตกดับ”
95#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 15:33 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
“๒ สิงหา บ้านกกกอก พ.ศ.๐๗ ได้วางเจตนาสู่การตายไปจริง ๆ เพื่อชำระกิเลส ไม่ห่วงอัตภาพร่างกายว่าเป็นของเรา เพราะการเจ็บป่วยอยู่เฉพาะตนคนเดียว ไม่ได้อยู่กับหมู่เพื่อน หากอยู่กับหมู่เพื่อนก็มีความขัดข้องด้วยประการต่าง ๆ หมายความว่าชีวิตเป็นของน้อย รีบทำความเพียร เพราะชีวิตไม่พอกับการทำความเพียรให้สิ้นกิเลสเท่านั้น เพราะจิตยังยินดีอยู่ในโรคเป็นบางครั้งบางคราว อยู่ดีก็มีประโยชน์ ถ้าอยู่ไม่ดีก็ไม่มีประโยชน์อะไร บุคคลที่ไม่มีความประมาทมีราตรีเดียว ดีกว่าผู้มีชีวิตตั้งร้อยปีอยู่ด้วยความประมาท ชราแล้วเร่งความเพียรอยู่เรื่อยๆ ไม่ให้ขาดวรรคขาดตอน เพราะชีวิตเป็นของแพง”

ท่านเล่าว่า การทำความเพียรนั้นกล้ามาก จิตใจมุ่งต่อความเพียร สติปัญญาดูงอกงามขึ้น ไม่มีอับเฉา ง่วงเหงาเหมือนอย่างแต่ก่อน ๆ รู้สึกว่าอุบายวิธีที่ได้จากท่านอาจารย์ขาว ที่ให้ตรวจว่าเราขัดข้องเรื่องอะไร เมื่อท่านละสิ่งที่คาข้องใจแล้วทุกอย่างก็ดูเหมือนจะเปิดโล่งให้ดำเนินต่อไป การกินก็ไม่อยากกิน การนอนก็แทบไม่อยากนอน แม้แต่สวดมนต์บทต่าง ๆ ที่เคยสวดมาแต่เก่าก่อนต้องพัก เพื่อไปเร่งทางด้านสติปัญญาอย่างเดียว ท่านว่า เมื่อความตายมาเคาะประตูเรา เกรงว่าจะเอาไม่ทันไม่เร่งความเพียรอาจจะไม่ทันกาลเวลา กลัวจะล่วงลับดับไปเสียก่อนยังไม่ทันถึงจุดหมายที่มุ่งมาดปรารถนามาแต่ก่อนให้ทันกาล

อาการไข้ที่เกิดขึ้น ทุกข์ทรมานปล้ำลุกปล้ำนั่งอยู่คนเดียว ยิ่งทำให้เห็นตัวทุกข์มากขึ้น นี่คือทุกข์ ร่างกายก็อาจจะแปรปรวนไป...ไม่เที่ยง ไม่นานก็อาจจะต้องคืนเขาไป ท่านอาจารย์มั่นเคยบอกว่า เราได้ยืมธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟจากเขามาสร้างบารมี เมื่อสร้างเสร็จก็จะต้องคืนเขาไป คงน่าอนาถนัก ถ้าจะต้องคืนธาตุ ๔ ไปให้แก่โลกเขาไป ตั้งแต่เรายังสร้างบารมีไม่เสร็จ ไม่ไปถึงจุดมุ่งมาดปรารถนาปลายทาง

ดังนั้น ทุกข์มากเท่าไร เวทนาเกิดขึ้นเท่าไร ก็ราวกับว่าเป็นเชื้อเพลิงที่โหมใส่สติปัญญาให้หมุนเป็นเกลียวขึ้นมาอย่างเป็นใจ ถือเอาทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นจากไข้ นึกถึงความตายที่ขวางอยู่ข้างหน้าที่จะต้องพุ่งเหมือนพญาเสือที่จะพุ่งเข้าใส่ศัตรู เอาชนะห้ำหั่นมัน กิเลสที่เกิดขึ้นจะต้องประหารกันให้เขาเสียบ้าง สติปัญญาเกิด สติแก่กล้า ปัญญาเกิด ทุกขเวทนามันขึ้น จะหลีกเลี่ยงไปไหนก็ไม่ได้ ต้องสู้กัน เมื่อมันจนตรอกอยู่ ไม่เห็นทางที่จะหนีหายไปไหนได้ จึงมีแต่ว่าจะต้องหันหน้าสู้กันอย่างเดียว จึงจะเอาชนะกันได้

ท่านเร่งภาวนามาก ใจดำริมาเป็นเวลาหลายอาทิตย์ว่า พระอริยเจ้าทำสำเร็จ เราทำไมไม่สำเร็จ ธรรมก็มีอยู่ในตัวเราแท้ พระอริยเจ้าทำสำเร็จ เราทำไมไม่สำเร็จ ให้อาหารแก่จิต ให้กำลังใจแก่จิต

การ “ม้างกาย” ที่ดำเนินมานาน หนักไปทางสมถะ ในระยะนี้ท่านก็ได้เดินวิปัสสนาควบคู่ไป เป็นการม้างกาย ที่ท่านเรียกว่า “ม้างกายที่ฉลาด ม้างกายด้วยไตรลักษณ์” พยายามประหารกิเลสให้สิ้นไป จบไป ดังที่ท่านได้เขียนบันทึกไว้ในปีหลัง ๆ อธิบายความโดยสรุปว่า

“ม้างกายให้ฉลาด ม้างกายด้วยไตรลักษณ์ ม้างอนุสัยให้ฉลาดทางจิตและเจตสิก รวมทั้ง ๒ ประเภท แก้เกิดในไตรภพว่าเป็น ทุกฺขํ อนิจฺจํ อนตฺตา โดยธรรม ๒ ประเภท ชำระกิเลสออกจากดวงจิตจนเห็นไม่ถือไปเกิดอีกในภพหน้า ม้วนกลมในปัจจุบัน พระอรหันต์ไม่ก่อกิเลสในปัจจุบัน ละกิเลสทั้งอดีต อนาคต ไม่ทำกิเลสเกิดขึ้นในปัจจุบัน เสียความสุขในปัจจุบัน กว่าจะนิพพานในครั้งสุดท้าย รอรถรอเรือ จะไปนิพพาน สิ้นภพ สิ้นชาติ ทำความรู้แจ้งแทงตลอดเญยยธรรมในปัจจุบันนี้ทีเดียว”
96#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 15:34 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ปัญญาพาค้นคว้า ดำเนินไป...จิตก็ตามไป หมุนเป็นเกลียวอย่างไม่หยุดยั้ง ลืมมืด ลืมแจ้ง ลืมวัน ลืมคืน บางเวลาจิตก็ม้วนกลมลงสู่จิตเดิม จิตหด แต่บางเวลาปัญญาหมุนติ้ว จิตเหินตามไป... ที่สุดของจิตซึ่งท่านเคยคิดว่า อยู่แสนไกล ประดุจอยู่ปลายสุดสะพานรุ้ง ก็กลับเป็นดูใกล้...แทบจะเอื้อมมือถึงได้ บางเวลา เกิดปีติปลื้มคิดว่า นี่แหละ...นี่แหละ ถูกแล้ว...ใช่แล้ว

จิตกลับตกลงมาใหม่ เกิดสะดุดหยุดยั้งคิด เพียรซ้ำ เพียรซ้อน ล้มแล้วลุก...ลุกแล้วล้ม ล้มลุกคลุกคลานอยู่คนเดียว

จิตที่ถูกทรมาน ลงแซ่กำราบมาอย่างหนัก สุดท้ายก็เหนื่อยอ่อน จิตวางจิตสงบ จิตไม่กำเริบ จิตคงที่ ไม่แปรไปตามสังขารจิต ไม่ขึ้นไม่ลง...จิตเกษม

ราวกับว่า สุดสะพานรุ้งนั้น จะพุ่งไปสู่อวกาศอันเวิ้งว้าง

แล้วท่านก็ได้ลาจากบ้านกกกอกมาด้วยความระลึกถึงบุญคุณของสถานที่แห่งนี้เป็นที่สุด

จิตเคยว้าเหว่ บัดนี้จิตมีที่พึ่งแล้ว

http://www.dharma-gateway.com/mo ... ouis-hist-04-10.htm
97#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 15:34 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
พรรษาที่ ๔๑-๔๒ พ.ศ. ๒๕๐๘-๒๕๐๙ เสวยสุข

จำพรรษา ณ วัดป่าถ้ำแก้งยาว บ้านโคกแฝก ต.ผาน้อย อ.วังสะพุง จ.เลย

ปี พ.ศ. ๒๕๐๘ และ พ.ศ. ๒๕๐๙ นั้นควรจะนับได้ว่า เป็นปีแห่งการ “เสวยสุข” โดยแท้ วัดป่าถ้ำแก้งยาวเป็นสถานที่ซึ่งท่านเคยมาจำพรรษาแล้วแต่ในปี ๒๕๐๔ ได้พบงูใหญ่มานอนขดอยู่ใต้แคร่ถึงสามวันสามคืนจึงจากไป และเมื่อจากไปก็ได้ฝากรอยทิ้งไว้ในนาข้าว ขนาดตัวที่ทอดไปตามนานั้นใหญ่ขนาดทับข้าว ๓ กอเป็นแนวโล่งตรงไปทีเดียว ระหว่างการภาวนาก็ได้เห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าทรงจีวรสีเหลืองคร่ำจนเกือบจะเป็นสีใบไม้เสด็จมาเยี่ยม อนุโมทนาที่ท่านได้ทำความเพียรอย่างอุกฤษฏ์ ทำให้ท่านรู้สึกปีติเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีผู้รอบรู้การบำเพ็ญเพียรตลอดเวลา

เมื่อจากบ้านกกกอกมา ท่านจึงระลึกถึงสถานที่อันเป็นมงคลนี้ ถือเป็นที่วิเวกซึ่งจะได้พิจารณาย้อนไปเป็นอนุโลม ปฏิโลมได้อย่างสงัดเงียบ

สำหรับสถานที่เป็นมงคลนี้ ท่านเคยเทศนาสอนศิษย์รุ่นหลัง ๆ อยู่เสมอว่าต้องตรวจวินัยให้บริสุทธิ์ ข้อวัตรให้เคร่งครัด และที่ลืมไม่ได้คือ การแผ่เมตตาจิตออกไปโดยไม่มีประมาณ แผ่ไปในที่ใกล้ แผ่ไปในที่ไกล แผ่ไปในเบื้องบน แผ่ไปในเบื้องล่าง แผ่ไปในทางเบื้องซ้าย แผ่ไปในทางเบื้องขวา...หน้า หลัง...กว้าง ไกลแผ่ถึงเทพและอมนุษย์เสมอ เพื่อทำความคุ้นเคยเป็นมิตรไมตรีต่อกัน รวมทั้งสิงสาราสัตว์น้อยใหญ่ จตุบาท ทวิบาททั่วถ้วนกัน เขาจะได้รับกระแสแห่งความเย็นใจอาบรดจิตใจอย่างชุ่มฉ่ำ เวลาเจริญภาวนา

“น้อมจิตเข้าไปถึงหลัก จิตสว่างไสวมุทุจิต เบาจิต ตรวจปฏิภาค อุคคหนิมิตแจ่มแจ้งดี จิตสู่วิปัสสนาเพื่อความรู้เท่าสังขาร นำมาซึ่งความเห็นใจและสงบ”

หลวงปู่บันทึกในเดือนตุลาคม ๒๕๐๘ ถึงการภาวนา ณ ที่ถ้ำแก้งยาว ว่า

“ถ้ำแก้งยาว ตุลา ๐๘

เมื่อแต่ก่อน ภาวนาแน่วแน่ แต่ปฏิภาค แต่ธาตุ แต่ไม่แน่วแน่ทางจิต เดี๋ยวนี้แน่วแน่ทางปฏิภาคด้วย แน่วแน่ทางจิตด้วยความรู้อริยสัจจึงแม่นยำดีกว่าเก่านั้นมาก จิตสละตายลงไปถึงอมตธรรม แต่ก่อนสละตายลงไปไม่ได้เกิดกลัว เพราะภูมิสมถะและวิปัสสนาไม่พร้อมสามัคคีกัน

เมื่อภาวนาพิจารณาแยบคายแล้ว สังขารโลกปลงให้เขาเสีย แล้วแต่เขาจะแกเจ็บตาย เป็นเรื่องของเขา รีบเดินมรรคให้พ้นไปจากสังขารโลก เพราะสังขารโลกเป็นภัยใหญ่โต จะอยู่ไปก็เป็นเรื่องของเขา จะตายก็เป็นเรื่องของเขา แต่ภาวนาความรู้ความเห็นในอมตธรรมนั้นให้มาก นั้นเองเป็น “วิหารธรรม” ที่พึ่งของจิต เมื่อตายแล้วนั้นเองจะไปเกิดในที่ดี แปลว่าไม่อุทธรณ์ร้อนใจในความแก่ เจ็บ ตาย นั้นเป็นเรื่องของสังขาร

เมื่อรู้เท่าแล้ววางเฉย เป็นความสุขอย่างยิ่ง ถ้ามีความรักความชังอยู่...นั้นเองเป็นทุกข์อย่างยิ่ง เพราะยินดียินร้ายในเรื่องนั้น แปลว่า เจ็บ แสบ ร้อนไปด้วยเขา จึงเป็นทุกข์”


ท่านได้รับความสงัดวิเวกมาก มีบันทึกด้านธรรมะมากมาย ซึ่งได้แยกนำไปรวบรวมไว้กับภาค “ธารแห่งธรรม” แล้ว ประหนึ่งธรรมนั้นได้หลั่งไหลออกมาประดุจกระแสน้ำที่เชี่ยวกราก ตกลงมาจากภูผาสูง แรก ๆ อาจจะไหลแรง แต่ต่อไปก็จะไหลระเรื่อยไปตามโขดหิน กลายเป็นธารแห่งธรรม

ออกพรรษาแล้ว คงจะมีคณะญาติโยมมาอาราธนานิมนต์ให้ท่านไปร่วมงานกฐิน ทอดผ้าป่า ถวายพระไตรปิฎก ฯลฯ ตามวัดต่าง ๆ ในเขตจังหวัดเลยมากมาย ด้วยกล่าวกันว่า หากหลวงปู่ไปด้วยแล้ว ธรรมกว่าของท่านจะโน้มน้าวจิตใจคนให้ยินดีในทาน และปัจจัยบำรุงวัดมากขึ้นเสมอ ซึ่งท่านคงเมตตารับนิมนต์ไปตามที่เหล่านั้น เพราะได้มีบันทึกโดยย่อของธรรมกถาที่แสดงพรรณนาลักษณะที่ตั้งความงดงามน่าประทับใจของวัด และอานิสงส์ในการที่มาร่วมทำทานการกุศลในครั้งนั้น ๆ หลายแห่งด้วยกัน

สำหรับบันทึกเกี่ยวกับความรู้สึก วิจารณ์การบำเพ็ญภาวนาขององค์ท่านไม่ค่อยมี แต่เมื่อท่านไปอยู่ถ้ำผาบิ้งแล้ว ในปี ๒๕๑๐ ท่านได้เขียนสั้น ๆ ไว้ในสมุดบันทึกถึงการพักภาวนาระหว่างอยู่ที่ถ้ำแก้งยาวนี้ ว่า
98#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 15:35 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
“พ.ศ. ๐๔, ๐๘, ๐๙ จำพรรษา ณ ที่วัดป่าถ้ำแก้งยาว ต. ผาน้อย อ. วังสะพุง จ. เลย ได้รับความสงบสงัดมาก วิเวกมาก เพราะสถานที่เป็นมงคล ดีกว่าจำพรรษาทุก ๆ แห่ง เพราะไม่มีกังวลด้วยสิ่งใด ๆ ถึงจะมีการก่อสร้างสิ่งใด ๆ ก็ไม่เป็นสัญญา.....”

หลังจากการทำความเพียรอย่างอุกฤษฏ์ ณ บ้านกกกอก แล้ว ท่านก็ได้พัก “เสวยสุข” อยู่ จิต “ไม่มีกังวลด้วยสิ่งใดๆ” ทุกอย่างได้ เปลื้อง ออกไปหมดแล้ว

พรรษาที่ ๔๓ – ๔๔ พ.ศ. ๒๕๑๐ – ๒๕๑๕ สร้างวัดถ้ำผาบิ้ง

จำพรรษา ถ้ำผาบิ้ง บ้านนาแก ต.ผาบิ้ง อ. วังสะพุง จ. เลย

เมื่อเสร็จจากงานบุญที่วัดต่าง ๆ ในเขตจังหวัดบ้านเกิดของท่าน ที่ขอร้องให้หลวงปู่ไปเป็นประธาน และช่วยในการเทศนาโน้มน้าวให้มหาชนสนใจการทำบุญ ทาน การกุศลแล้ว ใกล้จะถึงเวลาเข้าพรรษาของปี ๒๕๑๐ ท่านก็คิดหาสถานที่ซึ่งจะ “หยุดยั้ง” อยู่กับที่บ้าง ท่านเคยอยู่องค์เดียวไปองค์เดียวมาโดยตลอด จนภายหลังจากปี ๒๕๐๐ จึงได้มีเณรดูแลบ้าง เช่น ระหว่างที่อยู่บนเขา แต่ถ้าหากเป็นการทำความเพียรอย่างอุกฤษฏ์ที่จะต้องแบกกลดขึ้นเขาไปเช่นนี้ บางทีท่านก็ไปองค์เดียวโดยไม่รอพระหรือเณรเลย


ปากถ้ำผาบิ้ง

ปี ๒๕๑๐ ท่านได้กลับไปจำพรรษาที่ถ้ำผาบิ้ง บ้านนาแก ตำบลผาบิ้ง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย เป็นการเริ่มของเวลาจำพรรษาที่ยาวนานที่สุดในชีวิตของท่าน กล่าวคือ ท่านได้อยู่จำพรรษา ณ ถ้ำผาบิ้งนี้ แต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๐ ไปจนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๕๑๕ เป็นเวลาถึง ๖ พรรษาติดต่อกัน นามถ้ำผาบิ้งปรากฏในสมุดบันทึกของหลวงปู่เท่าที่ค้นได้เป็นครั้งแรก ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๘๑ ซึ่งท่านได้บันทึกไว้ว่า

“อยู่ถ้ำผาบิ้ง วันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๔๘๑ ทำจิตสงัดเงียบมาก วิถีจิตวิปัสสนาสุขุม กลัวแต่ทีแรก ต่อไปไม่กลัว ปฏิภาคเกิดมาก จิตเกิดความรู้แปลก ๆ สถานที่ไม่เป็นมงคลเท่าไร สู้ถ้ำโพนงามไม่ได้ วิถีจิตเดินไปตามลำดับ ไม่ขอบบังคับจิต ไปตามสายกลาง รู้ตามความเป็นจริง”

ท่านบันทึกไว้อีกแห่งหนึ่งในวันเดียวกัน แสดงว่าท่าน ประทับใจ ในถ้ำผาบิ้งมาก

“ทำจิตสงัดเงียบมาก วิถีจิตสุขุม กลัวแต่ทีแรก แล้วไม่กลัว ปฏิภาคเกิดมาก จิตตามรู้แปลก ๆ ถ้ำโพนงามที่ ๑ ถ้ำผาบิ้งที่ ๒ ถ้ำผาปู่ที่ ๓”

หมายความว่า ในการไปทำความพากความเพียรระหว่างนั้น ท่านถือว่า ถ้ำโพนงามเป็นที่ ๑ อยู่ แต่ถ้ำผาบิ้งนั้นเป็นที่ ๒ ซึ่งอย่างไรก็ตาม ยังดีกว่าถ้ำผาปู่ซึ่งเป็นที่ ๓....! ปี ๒๔๘๑ นั้น ท่านอยู่ที่ถ้ำผาบิ้งแห่งเดียว ถึง ๗-๘ เดือน จนกระทั่งจะเข้าพรรษา และถึงปี ๒๔๘๒ ท่านก็ได้กลับไปอีก ท่านได้วนเวียนกลับไปวิเวกที่ถ้ำผาบิ้งอีกนับครั้งไม่ถ้วน นับจากเวลาที่ได้พบความอัศจรรย์ที่ถ้ำผาบิ้งนั้น จนกระทั่งถึงวันย้อนกลับมาเข้าพรรษาครั้งนี้ เป็นเวลาถึง ๓๐ ปีเต็ม

ท่านเล่าว่า ที่ถ้ำผาบิ้งเป็นที่พระอรหันต์ในสมัยพุทธกาล คือ ท่านพระอุบาลีเหาะมาด้วยบุญฤทธิ์มานิพพานที่นี่ และท่านพระอาจารย์มั่นก็เคยมาจำพรรษา ณ ที่นี้เหมือนกัน สำหรับท่านผู้เป็นศิษย์รุ่นพี่ของหลวงปู่ที่มาเที่ยวธุดงค์ที่นี้นั้น ตามที่ปรากฏชื่อก็คือ หลวงปู่ดูลย์ อตุโล หลวงปู่กล่าวว่า ถ้ำผาบิ้งเป็นสถานที่เป็นมงคลอย่างยิ่งนอกจากเป็นที่นิพพานของพระอรหันต์แล้ว ยังมีเทพรักษาสถานที่อย่างดี ระหว่างภาวนาจะได้กลิ่นดอกไม้หอมอยู่บ่อย ๆ เป็นการนอบน้อมบูชาของรุกขเทพที่ดูแลสถานที่
99#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 15:35 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

ระยะแรกที่หลวงปู่มาวิเวกที่ถ้ำผาบิ้ง ท่านจะใช้เพิงนี้ บริเวณในถ้ำ เป็นที่พัก
ปากรู้ถ้ำทางขวาเป็นรูพญานาค วันดีคืนดีจะมีเสียงร้องคำรามมาจากภายในรูถ้ำนี้


การกลับมาพักที่ถ้ำผาบิ้งอีกในครั้งนี้ ท่านได้มาบูรณะตั้งเป็นวัด ด้วยความอนุเคราะห์ของท่านเจ้าคุณมหาศรีจันทร์ แห่งวัดเลยหลง (เจ้าคณะจังหวัดเลย) ในสมุดบันทึกได้มีข้อความกล่าวถึงการที่จะริเริ่มทำการก่อสร้างว่า

“ถ้ำผาบิ้ง” เจ้าคณะอำเภอจะริเริ่มทำการก่อสร้างแต่ พ.ศ. ๒๕๑๐ เป็นต้นไป เพื่อความถาวร เพื่อความมั่นคง เพื่อความรุ่งเรือง บูชาอุทิศไว้ในพระพุทธศาสนา เพื่อนำคณะอุบาสก อุบาสิกาทั้งหลาย ให้เป็นมหากุศลอันไพศาล สืบบุตรลูก บุตรหลาน บุตรเหลน เป็นประวัติการณ์ต่อไปในอนาคต”

“เวลานี้ถ้ำผาบิ้งที่ได้ก่อสร้างขึ้นแล้ว เป็นศาลาก็ดี เป็นกุฎีก็ดี เป็นวัตถุชั่วคราวมุงด้วยหญ้าแฝกเป็นกำมะลอ ที่พักอาศัยยังไม่ถาวรตามที่ท่านทั้งหลายได้พากันทัศนาการเห็นแล้ว”

“ถ้ำผาบิ้งจะมีการทำบุญประจำปีทุกปี เพื่อสะสมเงินทอง การก่อสร้างขยับขยายไปทีละเล็กละน้อย ให้นึกดู คณะอุบาสก อุบาสิกาทั้งหลาย พากันบริจาคปัจจัยก่อสร้างปีละเล็กละน้อยตามความสามารถ ของพวกเราทั้งหลาย เรียกว่า พวกเราพุทธบริษัท แสวงหาเงินมาด้วยปลีแข้ง ทำการก่อสร้างไว้ในศาสนา”

“สถานที่ถ้ำผาบิ้ง เป็นสถานที่ตั้งแห่งภูเขาเอกเทศลูกหนึ่งต่างหาก ไม่ติดต่อกับเขาลกอื่น ๆ มีถ้ำอยู่ทางทิศตะวันออกกบทางทิศตะวันตกตรงกัน เป็นสถานที่ติดต่อกับทุ่งนา อากาศดีบริสุทธิ์ มีลมพัดมาชำระสิ่งโสโครกในถ้ำและภูเขาให้สะอาด ปราศจากเชื้อโรค และมีบ่อน้ำใกล้ชิดเป็นที่อาศัยอุปโภคบริโภคได้สะดวก ทั้งในฤดูแล้งและฤดูฝน ฤดูหนาว ไม่ให้ขัดข้องด้วยน้ำ ไม่กันดารน้ำเหมือนถ้ำผาปู่ ตำบลนาอ้อ อำเภอเมือง จังหวัดเลย วัดถ้ำผาบิ้งห่างไกลจากหมู่บ้านนาอ้อ และนาแก ๕๐๐ คันธนูบ้านอื่น ๆ ก็ไม่ไกลนัก เข่น บ้านกกเกี้ยง บ้านนาเหล่า เป็นต้น และไม่ห่างไกลจากอำเภอวังสะพุง ทางรถยนต์ไปมาได้สะดวกในฤดูแล้ง ศาสนิกขนมาร่วมกินร่วมทานได้สะดวก ไม่ขัดข้องด้วยประการใด”

“ถ้ำผาบิ้ง เป็นสถานที่บรรพบุรุษของพวกเราเหล่าพุทธบริษัทได้นับถือกันสืบ ๆมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ว่า เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ถึงฤดูเทศกาลปีใหม่มา ท่านพุทธศาสนิกชน พุทธบริษัท เฒ่าแก่ หนุ่มสาวตลอดพระภิกษุสงฆ์ ได้พากันมานมัสการพระพุทธรูปและรอยพระพุทธบาทซึ่งประดิษฐาน ณ ถ้ำผาบิ้งทุก ๆ ปี เพื่ออายุ วรรณะ สุขะ พละ และขอฟ้าขอฝนให้ตกต้องตามฤดูกาล นี้ก็นับว่าถ้ำผาบิ้งเป็นสถานที่อันอัศจรรย์ที่ศักดิ์สิทธิ์ อำนวยความต้องการของมนุษย์ได้”

“ระยะต่อนี้ ขอเชิญชวนท่านศาสนิกชน พุทธบริษัททั้งหลายพากันก่อสร้างให้เป็นวัตถุถาวรมั่นคง ดำรงไว้ในพระพุทธศาสนาถึงกึ่งพุทธกาลต่อไปในอนาคตข้างหน้า เพื่อสืบบุตรลูก บุตรหลาน บุตรเหลนของพวกเราทั้งหลาย พากันฝากฝังอริยทรัพย์ไว้ในพุทธศาสนา ที่ไม่ฉิบหายด้วยโจรภัย อัคคีภัย อุทกภัย ราชภัยใด ๆ เป็นที่สืบประวัติการณ์ไปข้างหน้า

อนึ่ง พระโยคาวจรเจ้าทั้งหลาย พระภิกษุสามเณรที่ทรงเพศในศาสนา ท่านเหล่านั้นรักใคร่รักษาธุดงค์ เดินตามทางพระอริยเจ้าที่สืบ ๆ กันมาแต่กาลก่อน พากันมาเที่ยววิเวกเจริญสมณธรรม มาพักพาอาศัยที่ร่มที่เย็น ณ ถ้ำผาบิ้ง ที่เราได้ก่อสร้างไว้แล้ว ขอให้ท่านทั้งหลายพุทธบริษัทคณะอุบาสก อุบาสิกา พึงพิจารณา พึงดำริ พึงสนใจ พึงตริตรองที่พวกท่านทั้งหลายพากันก่อสร้างไว้แล้ว อันเป็นบุญมหากุศลไพศาล อนึ่ง บุญกุศลอันนี้จะพาพวกเราเหล่าพุทธบริษัทไปสู่สุคติโลกสวรรค์ นำมาซึ่งความสุขอันเลิศ กายก็เลิศ วาจาก็เลิศ น้ำใจก็เลิศ เลิศตลอดทั้งที่นั่ง นอน ยืน เดิน เครื่องอุปโภค บริโภค เป็นของที่เลิศ ๆ ทั้งนั้น ถ้าเป็นเช่นนี้ เป็นเหตุให้พวกเราปลื้มอกปลื้มใจต่อสมบัติอันเลิศในกิจที่พวกเราทำบูชาไว้แล้ว”


นอกจากที่ท่านบันทึกถึงการเชิญชวนให้มาร่วมกันก่อสร้างถ้ำผาบิ้ง ซึ่งขณะเริ่มแรกนั้น ศาลา กุฏิ ที่สร้างคงยังมีสภาพ “กำมะลอ” อย่างที่ท่านกล่าวไว้คือ เป็นวัตถุชั่วคราว หลังคามุงหญ้าแฝก ท่านได้บันทึกเกี่ยวกับการเจริญสมณธรรมที่ถ้ำผาบิ้งไว้อีกหลายแห่ง เช่น

100#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-27 15:36 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

กุฏิไม้ไผ่ ผ่าแล้วทุบแบนเป็นฟาก
ท่านจำพรรษาที่กุฏินี้


“ทำความเพียรเจริญสมณธรรม ณ ถ้ำผาบิ้ง ไม่มีวันจืดจาง จิตปลื้มใจดูดดื่มเรื่อยๆ เพราะสถานที่เป็นมงคล สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ สถานที่พระอริยเจ้านิพพาน”

“ภายในจิตตัดลงไปเรื่องอริยสัจอย่างเดียว ไตรลักษณ์ลบนิมิตทั้งหลาย เพราะนิมิตและสังขารเป็นตัวมาร กำลังวิปัสสนารู้เท่าถึงการ เมื่อรู้จริงแล้วจิตไม่กำเริบด้วยประการต่าง ๆ จิตปกติ จิตบริสุทธิ์ ตั้งอยู่ด้วยอมตธรรม เพิ่งเจริญธรรมได้ ณ ถ้ำผาบิ้งนี้ ที่ไม่ประกอบด้วยความฝันเพราะจิตไม่ถือสังขารนิมิตใด ๆ เป็นตัวมารของจิต”

ความตอนนี้ท่านบันทึกต่อท้ายไว้ว่า “ตุลาคม ๒๕๑๑” แสดงว่า ท่านบันทึกในระยะนั้น

“เดินบิณฑบาตมีสติทั้งไปและทั้งกลับ ภาวนาเรื่อย ๆ ดีกว่าอยู่แห่งอื่นทั้งหมด”

การบิณฑบาตในขณะปี ๒๕๑๐ กว่านั้นเป็นอย่างไร มีพระซึ่งระหว่างนั้นยังเป็นเณรอยู่ด้วย ท่านเล่าว่า ยังคงต้องเก็บใบมะขามมาตำ ผสมกับน้ำปลาร้าต้มถวายให้ฉันอยู่แทบทุกวัน เพราะไม่มีจริง ๆ....! แต่ท่านก็คงมิได้สนใจกับอาหารว่าขาดแคลนอย่างไร ท่านสนใจแต่ สติ และจิตที่ดูดดื่ม กับการภาวนามากกว่า

“การภาวนาเป็นเครื่องจูงใจในอารมณ์ที่คุ้นเคยในกัมมัฎฐาน กระดูกและลมหายใจเป็นคู่กัน มีสมาธิเป็นบาทหน้า มีปัญญาเกิดทีหลัง คอยแก้คอยไข ส่วนร่างกายให้เห็นไตรลักษณ์ของขันธ์แปรปรวนอยู่เสมอ ลมฟืดออกถอนพิษตัณหาอาสวกิเลส พิจารณากระดูกให้เห็นแยกออกจากกันเป็นส่วน ๆ ด้วยญาณทัสนะ ด้วยความจริงใจในสังขารทั้งปวงให้เห็น ใจหดมาตั้งอยู่อมตธรรม ให้เดินอารมณ์ทั้ง ๒ อย่างนี้เป็นนิจ”

ท่านบันทึกย่อ ๆ ไว้ตอนท้ายข้อความว่า “ถ้ำผาบิ้ง เดือน ๘ พ.ศ. ๒๕๑๐”

ระหว่างที่อยู่ถ้ำผาบิ้ง ได้มีพวกที่นครเวียงจันทน์มานิมนต์พระเถระผู้ใหญ่ของฝ่ายไทยไปทำบุญ ได้ความว่า พยายามนิมนต์ ๑๐ องค์ มี หลวงปู่ชอบ ฐานสโม หลวงปู่หลุย จันทะสาโร หลวงปู่ชามา อจุตโต หลวงปูอ่อน ญาณสิริ หลวงปู่บุญมา ฐิตเปโม เป็นต้น ความจริงเขานิมนต์ หลวงปู่ขาว อนาลโย ด้วย แต่ท่านมอบให้ท่านพระอาจารย์บุญเพ็ง เขมาภิรโต เดินทางไปแทน

เรื่องนี้ได้เรียนถามท่านผู้ที่เกี่ยวข้องในการนิมนต์ที่เวียงจันทน์ เเละผู้นิมนต์ได้เล่าให้ฟังว่า ในการเดินทางไปเมื่อปี ๒๕๑๓ ก็ได้นิมนต์ท่านไปแล้ว ให้ไปพักอยู่ที่ วัดจอมไตร ที่เวียงจันทน์ ที่ดงนาซ๊อก เป็นเวลา ๒ อาทิตย์ หลังจากที่ทางเวียงจันทน์นิมนต์แล้ว มีคนไทยท่านหนึ่งซึ่งระหว่างนั้นกำลังทำงานอยู่ในองค์การระหว่างประเทศที่เวียงจันทน์ ทราบข่าวก็มาขอนิมนต์ท่านและคณะไปทำบุญบ้าน

เธอเล่าว่า หลวงปู่ชอบ หลวงปู่หลุย หลวงปู่ชามา หลวงปู่บุญมา หลวงปู่อ่อน ท่านอาจารย์บุญเพ็ง ก็รับนิมนต์มา เมื่อมาถึงบ้าน เธอได้รู้สึกประทับใจอย่างมากหลายประการ โดยเฉพาะเมื่อหลวงปู่ชอบมาถึง หลวงปู่หลุยซึ่งมาถึงก่อน ก็มาช่วยล้างเท้าให้ และเช็ดเท้าให้หลวงปู่ชอบเอง ท่านบอกว่า หลวงปู่ชอบคุณธรรมสูงกว่า ท่านต้องขอปรนนิบิต หลังจากการถวายจังหันแล้วก็ได้ตามไปที่วัด เธอก็ได้ลองเรียนถามว่า ได้ยินข่าวว่า พระคุณเจ้าเหล่านี้ทรงคุณธรรมอันล้ำเลิศ อยากจะทราบว่า ถ้าเผื่อท่านแผ่เมตตามาถึงเรา เราจะได้รับกระแสแห่งเมตตานั้นหรือไม่

เผอิญเธอก็เป็นคนที่ช่างเจรจาสักหน่อย จึงกล่าวต่อไปเป็นเชิงตัดพ้อว่า หลวงปู่มีลูกศิษย์มากจะแผ่เมตตามาถึงได้อย่างไร จะต้องเจือจานคนมากมาย จะมาถึงได้ครบทุกคนกระนั้นหรือ หลวงปู่หลุยเป็นผู้ตอบว่า “ถึงซิ เมตตาต้องมาถึงแน่” แต่หลวงปู่ชอบนั้นยิ้ม ไม่ได้ตอบว่ากระไร

เธอเล่าว่า ในคืนนั้น เธอและสามีก็เข้าห้องพระภาวนา ต่างคนต่างเข้าที่ภาวนา จุดธูปเทียนบูชาพระแล้ว นั่งสมาธิต่อไปไม่นานก็ได้กลิ่นหอมดอกไม้ป่าตลบเต็มไปทั้งห้อง หอมจนทนไม่ได้ ต้องออกปากถามกัน ได้ความว่า ทั้งสามีและภรรยาต่างได้กลิ่นหอมเหมือนกัน กลิ่นอธิบายไม่ถูกเช่นกัน รุ่งขึ้น พอไปกราบที่วัดจอมไตร เธอก็ต่อว่าว่า ไหนว่าจะแผ่เมตตามาให้ลูกหลาน ไม่เห็นได้รับ ไม่เห็นมาหาเลย หลวงปู่หลุยเป็นองค์ที่ตอบแทนว่า ทำไมจะไม่ไป ไปแล้ว

ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้