ตำนานและบทบาทของพระวิษณุกรรมในวรรณคดีและสังคมไทย พระวิศวกรรมนั้นถือเป็นเทพ "ชั้นผู้ใหญ่" ที่สถิตย์อยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงษ์ และเป็นบริวารของพระอินทร์อีกทีหนึ่ง มีชื่ออยู่หลากหลายตามประสาของเทพ ทั้งพระวิษณุกรรม พระวิศวกรรมา พระวิสสุกรรม วิศวกรรมัน พระเวสสุกรรม หรือ พระเพชฉลูกรรม ซึ่งชื่อทั้งหมดที่ว่ามานั้นสามารถกล้อมแกล้มแปลความหมายได้ว่า "ผู้ทำทุกสิ่งทุกอย่าง" ตำนานเทพเจ้าของฮินดูนั้นกล่าวว่า พระวิศวกรรมมีสามตา กายสีขาว ทรงอาภรณ์สีเขียว โพกผ้า ในการสร้างรูปเคารพมักจะไม่เหมือนกัน เช่นบ้างก็สร้างให้พระองค์ถือคทา จอบ ไม้วา ไม้ฉาก ผึ่ง (เครื่องมือสําหรับถากไม้ รูปร่างคล้ายจอบ แต่มีขนาดเล็กกว่าและด้ามสั้นกว่า) และลูกดิ่ง เป็นต้น ในพุทธศาสนาของเรานั้นพระวิศวกรรมมีบทบาทมาก ในตำนานเล่าว่า ท่านเป็นผู้สร้างบรรณศาลาและอาศรมให้แก่พระโพธิสัตว์หลายพระองค์ เท่าที่จำได้ก็เห็นจะเป็นพระเวสสันดร ในมหาเวสสันดรชาดก เป็นผู้สร้างบันไดเงิน บันไดทอง บันไดแก้วถวายแด่สมเด็จพระสรรญเพชรชุดาญาณสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อใช้เสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์มายังโลกมนุษย์ที่เมืองสังกัส-สนคร หลังจากเสร็จภารกิจในการเทศนาโปรดพุทธมารดาบนสวรรค์ช่วงเข้าพรรษา ส่วนในวรรณคดีไทยก็มีปรากฏอยู่หลาย ๆ เรื่องที่พระวิศวกรรมเข้าไปเกี่ยวข้อง เพราะต้องทำตามบัญชาของพระอินทร์ในการช่วยเหลือผู้มีบุญ เช่นในเรื่องสังข์ทอง (ในปัญญาสชาดกเรียกว่า "สุวรรณสังขราชกุมาร") พระอินทร์ก็มีเทวบัญชาให้พระวิศวกรรมไปท้าท้าวสามนต์บิดาของนางจรนาตีคลี ซึ่งสุดท้ายพระสังข์ก็ต้องถอดรูปเงาะและอาสาออกไปแข่งคลีแทน ในรามเกียรติ์ก็บอกว่าเมืองลงกาของทศกัณฐ์และเมืองทวารกาของพระกฤษณะนั้นก็สำเร็จด้วยฝีมือของพระวิศวกรรมเช่นกัน และถ้าใครอ่านชื่อเต็มของกรุงเทพฯ ให้ดี ๆ ก็จะพบว่า พระวิษณุกรรมเป็นผู้สร้างด้วยนะ ไม่เชื่อลองไปดูคำว่า “…วิษณุกรรมประสิทธิ์” สิครับ อีกตอนหนึ่งที่พระวิศวกรรมมีบทบาทก็คือตอนกำเนิดพระคเณศวร คือแรกเริ่มเดิมทีพระคเณศวรก็เหมือนกับกุมารธรรมดาทั่วไปนั่นแหละ แต่ด้วยวาจาสิทธิ์ของพระนารายณ์ก็เลยทำให้เศียรของพระกุมารคเณศวรขาดหายไป ครานี้ก็ถึงทีที่พระวิศวกรรมต้องระเห็จไปหาเศียรมาต่อ ตามหาเท่าไหร่ก็ไม่พบ พอดีไปเจอช้างพลายตัวหนึ่งนอนตายโดยหันหัวไปทางทิศเหนือ (บ้างก็ว่าทิศใต้) พระวิศวกรรมก็เลยตัดหัวช้างตัวนั้นแล้วนำมาต่อเข้ากับกายพระกุมารคเณศวร และพระคเณศวรจึงมีเศียรเป็นช้างแต่นั้นมา ในวรรณคดีเรื่องลิลิตนารายณ์สิบปาง พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่หก มีการกล่าวถึงพระวิศวกรรมไว้ในปางที่สอง กูรมาวตาร เรื่องของเรื่อก็คือว่ามีการกวนน้ำอมฤตกัน และเมื่อกวนไป ๆ ก็เกิดของวิเศษผุดขึ้นมา ได้แก่ โคสุรภี (เทวดายกให้พระฤษีวศิษฐ์) เหล้า ต้นไม้ปาริชาต (พระอินทร์เอาไปเก็บไว้บนสวรรค์) นางอัปสร พระจันทร์ (พระอิศวรเอาไปเป็นปิ่นปักผม) พิษ (ตอนแรกงูและนาครีบมาสูบ แต่พระอิศวรกลัวว่าจะเป็นอันตรายต่อโลก พระองค์ก็เลยเสวยเสียเอง ทำให้พระศอของพระองค์ไหม้เป็นสีดำ) พระศรีเทวี และสุดท้ายน้ำอมฤตก็ตามมา |