Baan Jompra

ชื่อกระทู้: สัตว์หิมพานต์ในด้านสังคมศาสตร์ [สั่งพิมพ์]

โดย: oustayutt    เวลา: 2013-11-3 21:11
ชื่อกระทู้: สัตว์หิมพานต์ในด้านสังคมศาสตร์
สัตว์หิมพานต์ในสายตาของคนโบราณอยู่ปะปนกับมนุษย์ทั่วไปในป่าหิมพานต์ เนื่องจากป่าหิมพานต์ในตำราระบุไว้ชัดเจนว่า เป็นส่วนหนึ่งของชมพูทวีป สูงพ้นมหาสมุทรสีทันดร ๕๐๐ โยชน์ มีเนื้อที่ ๖๐๐ โยชน์ เป็นที่อยู่มนุษย์และสัตว์ใหญ่น้อย ๓๐๐ โยชน์ เป็นที่อยู่อมนุษย์และสัตว์ใหญ่น้อย ๓๐๐ โยชน์ มีมหาสมุทรสีทันดรล้อมรอบ ๔๐๐ โยชน์ คิดเป็นอัตราส่วน ๓๐๐: ๓๐๐: ๔๐๐ รวมกันได้ ๑๐๐๐ ส่วน
ฉะนั้น ผู้ที่ปฏิบัติตนไม่สม่ำเสมอใน กุศล และ อกุศล คือผู้ที่ยังเป็นชาวป่าหิมพานต์อยู่นั่นเอง
ตัวอย่างสายพันธุ์สิ่งมีชีวิตหิมพานต์ มีดังนี้ฯ

โดย: oustayutt    เวลา: 2013-11-3 21:12
๑.นาค(naga) เป็นอมนุษย์โหงวเฮ้งหน้ามู่ทู่ ขี้โมโห(ขี้โกรธ โกรธง่าย หายง่าย) ชอบร้องรำทำเพลง (เต้น ดิ้น เลื้อย)ในจังหวะรุนแรง(คงประมาณ เฮฟวี่ เมทัล) ชายเรียกนาคา (naga) หญิงเรียกนาคี(nagi) อมนุษย์นี้อาจดื่มสุราบ้างเล็กน้อย(พอครึ้ม) คนโบราณสร้างค่าพฤติกรรมและความหมายของนาคาและนาคี ไว้ต่างกัน คือ นาคา บุรุษที่กำเนิดในสังคมชนบทที่ถูกอมนุษย์อย่าง ครุฑ และ นรสิงห์เบียดเบียน นาคี สตรีที่กำเนิดในสังคมชนบทตลอดจนจารีต วิถีชีวิตแบบชนบทที่ถูกสังคมเมืองทำลายล้าง ยังมี นาคเฝ้าทรัพย์และนาคเฝ้าคัมภีร์ ที่ไม่สามารถไปไหนได้เพราะต้องเฝ้าปกป้องของสำคัญ นาคเฝ้าทรัพย์นั้นมักเห็นเวลาเกิดภัยธรรมชาติ โดยเฉพาะน้ำท่วมเพราะไปไหนไม่ได้กลัวของหาย(ที่รื้อบิ๊กแบ็กก็น่าจะใช่)ผิดกับนาคเฝ้าคัมภีร์ที่มักหลบซ่อนรวบรวมและศึกษาคัมภีร์ต่างๆอย่างไม่เปิดเผยรึเปิดเผยไม่ได้เพราะคุยกับใครไม่ค่อยรู้เรื่อง ธรรมดานาคมีพิษและโทสะรุนแรง นาคและมนุษย์จึงพยายามหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากัน โดยเฉพาะเวลามีอะไรมากระทบสิ่งที่เฝ้า ในบางกรณีนาคเฝ้าทรัพย์และนาคเฝ้าคัมภีร์จะสัมพันธ์กันถ้านาคนั้นเฝ้าทรัพย์ที่สร้างจากคัมภีร์ มีข้อมูลที่แสดงว่า กลุ่มกอร์กอน(Gorgon)หรือเก็งกองอาจเกี่ยวข้องกับนาคในเรื่องการใช้พิษทำร้ายผู้อื่น(กลุ่มกอร์กอนทำร้ายผู้อื่นโดยการเพ่งมองเพื่อให้แข็งเป็นหินเหมือนนาคที่มีความสามารถใกล้เคียงกัน)
พิษนาคมี๔ชนิด คือ(พิษนาค๔ชนิดนี้ในทางสังคม คือ ทำเลที่หากิน)
๑.กัฏฐมุข พิษซึ่งทำให้ธาตุดิน(ในกาย)กำเริบ ร่างกายจะแข็งไปหมดทั้วตัวยุติการทำงานของระบบทั้งหมดในร่างกาย(อาการ เหน็บชา ตะคริว ด้วย)(ในทางสังคม คือ ทำเลที่หากินบนพื้นดิน/มีอำนาจบนพื้นดิน)
๒.ปูติมุข พิษซึ่งทำให้ธาตุน้ำ(ในกาย)กำเริบ คือโดนแล้วจะบวมพองและเน่าเปื่อย ใช้แปลงโฉมได้ด้วย(แบบพระนล)(ในทางสังคม คือ ทำเลที่หากินในน้ำ/มีอำนาจในน้ำ เช่น มาเฟียบนเรือยอร์ช)
๓.อัคคิมุข พิษซึ่งทำให้ธาตุไฟ(ในกาย)กำเริบเกิดอาการปวดแสบปวดร้อน(ร้อนในก็ใช่) ฟ้าผ่า เพลิงสันดาปตนก็ใช่ (เกิดการเผาไหม้ภายใน)(ในทางสังคม คือ ทำเลที่หากินบนดวงอาทิตย์!!!แต่คงไม่มีใครหากินแบบนี้)
๔.สัตถมุข พิษซึ่งทำให้ธาตุลม(ในกาย)กำเริบ ลมในกายตีกลับเกิดอาการท้องเดิน(ท้องอืด ท้องเฟ้อ ไม่ระบาย)(ในทางสังคม คือ ทำเลที่หากินในอินเตอร์เน็ต แว๊บไปแว๊บมาแบบลม)
(พิษนี้คือธาตุ๔ ดิน น้ำ ไฟ ลม)

วิธีการทำร้ายด้วยพิษมี๔ชนิด คือ(ในทางสังคม คือ พรรคพวกบริวาร)
๑.ทัฏฐะวิสะ เมื่อขบกัดแล้วจะเกิดพิษซ่านไปทั่วร่างกาย(ในทางสังคม คือ เมื่อใช้วาจาสั่งพรรคพวกบริวาร พรรคพวกบริวารก็จะจัดการให้)
๒.ทิฏฐะวิสะ ใช้วิธีมองแล้วพ่นพิษออกทางตา(ในทางสังคม คือ เมื่อใช้ดวงตาเพ่งเล็งให้พรรคพวกบริวารรู้พรรคพวกบริวารก็จะจัดการให้)
๓.ผุฏฐะวิสะ ใช้ลมหายใจพ่นเป็นพิษแผ่ซ่าน(ในทางสังคม คือ เมื่อถอนหายใจให้พรรคพวกบริวารรู้พรรคพวกบริวารก็จะจัดการให้)
๔.วาตาวิสะ มีพิษที่กาย จะแผ่พิษจากตัว(ในทางสังคม คือ มีตัวเองพรรคพวกบริวารจัดการให้/ทำเองทุกอย่าง)
ลักษณะการทำร้ายของพิษมี๔ชนิด คือ
๑.อาตตะวิสนะโฆระวิสะ มีพิษแผ่ซ่านออกไปอย่างรวดเร็วแต่ไม่รุนแรง
๒.โฆระวิสนะอาคตะวิสะ มีพิษรุนแรงมาก แต่พิษนั้นแผ่ออกไปช้าๆ
๓.อาคตวิสนะโฆระวิสะ มีพิษแผ่ซ่านไปอย่างรวดเร็วและรุนแรงมาก
๔.นะอาควิสนะโฆระวิสะ มีพิษแผ่ช้าๆและไม่รุนแรง
ความพิโรธของพญานาค คือ ปรากฏการณ์ น้ำท่วม น้ำหลาก และ แผ่นดินไหวขนาดใหญ่ ที่คนโบราณระบุชัดเจนว่าใหญ่และรุนแรงขนาดกลืนกินอาณาจักร หรือ ล่มเมืองได้อย่างในตำนานแคว้นโยนก(แคว้นสิงหนวัติ)กับปลาไหลเผือก(ขนาดยักษ์) หรือ นครเอกชะทีตา(ผาแดง-นางไอ่ กับกระรอกเผือก)ทั้ง๒อาณาจักรนี้ คนโบราณระบุชัดเจนว่าเช่นกันว่า“พระยานาค”เป็นผู้(ออกแบบ)สร้างขึ้นมา

โดย: oustayutt    เวลา: 2013-11-3 21:13
๒.ครุฑ(garuda) ครุฑนั้นช่างเจรจา ชอบกินงู(หรือนาค) เป็นอมนุษย์โหงวเฮ้งปากแหลม สัญลักษณ์ของครุฑสำหรับคนโบราณคือ สัญลักษณ์ของความมั่งคั่งคาถาบูชาครุฑที่คนโบราณออกแบบไว้ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับเงินทอง เป็นคาถาเรียกทรัพย์ ฉะนั้นความหมายของครุฑค่อนข้างชัดเจนว่าเป็นอมนุษย์ที่กุมอำนาจทางเศรษฐกิจ(นายทุน) เพราะความหมายของครุฑสัมพันธ์กับความมั่งคั่ง(ทางเศรษฐกิจ)สำหรับผู้บูชาและเกี่ยวข้องโดยตรงกับความมั่งคั่ง(ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ)ของสังคมที่บูชาด้วย ที่อยู่ของครุฑอยู่บนยอดต้นงิ้ว เป็นอมนุษย์ที่อยู่สูงมากภัยใดๆจากเบื้องล่างไม่อาจเอื้อมถึงได้เพราะต้นงิ้วปีนยากและยังมีหนามแหลม ใครที่คิดทำร้ายครุฑในที่อยู่จะบาดเจ็บเสียเอง(อาจเพราะฟ้องร้องแล้วโดนฟ้องกลับ)ครุฑชอบกินนาคแต่ไม่ใช่ทุกตัวจะกินนาค (ก็คงจริงถ้าจะพัฒนาเศรษฐกิจอย่างง่ายๆเร็วๆโลภๆก็คงต้องเบียดเบียนทรัพยากรธรรมชาติ ทรัพยากรธรรมมนุษย์ในชุมชนเอา)

โดย: oustayutt    เวลา: 2013-11-3 21:14
๓.นรสิงห์(narasiha) ชายเรียกนรสีห์(narasiha นร/นรี/นารี แปลว่า มนุษย์) หญิงเรียกอัปสรสีห์(apsara อัปสร แปลว่า นางฟ้า) พฤติกรรมของกลุ่มนรสิงห์คล้ายกับแพนของกรีก นรสิงห์เฉลียวฉลาด เจ้าเล่ห์ เย่อหยิ่ง และชอบใช้กำลัง มีเท้า๒แบบ คือ เท้ากีบ และ เท้าเล็บ เดรัจฉานจะหากินโดยที่ท้องจะขนานกับพื้นโลก(หากินแนวนอน)คือหากินทางขวาง แต่พวกมนุษย์ครึ่งเดรัจฉานเหล่านี้จะใช้ปัญญาในทางขวาง(ผลประโยชน์ส่วนรวม) ทำเพื่อเรื่องกินและกาม(ผลประโยชน์ส่วนรวม)คือ กิน นอน และสืบพันธุ์ นรสิงห์มักอาศัยรวมกันตั้งแต่สองตัวไปจนถึงฝูงใหญ่เพื่อออกล่าหรือผสมพันธุ์ นรสิงห์กินทั้งพืช ทั้งสัตว์ รวมถึงซากสัตว์(ดูจากลักษณะเท้า) ตามลักษณะนรสิงห์มีทั้งเท้ากีบและเท้าเล็บ จะสามารถจำแนกพฤติกรรมได้เป็น๒ชนิด กลุ่มนรสิงห์เท้าเล็บมีวาจาเยี่ยงราชสีห์คำรามที่สามารถกำราบผู้ที่อยู่ต่ำกว่าตนได้ทุกชนิด และมักขู่เอากับกลุ่มนรสิงห์เท้ากีบในบางโอกาส สมกับลักษณะทางกายภาพที่เป็นราชสีห์ถึง๕๐% ในขณะที่กลุ่มนรสิงห์เท้ากีบมักอยู่กับความกลัวและใช้ชีวิตหลบซ่อน กลางวันเที่ยวป่า กลางคืนเที่ยวแจ้ง คล้ายๆพวกตัวเนื้อ เช่น เก้ง กวาง ละมั่ง เลียงผา ฯลฯ(พอๆกับวัยรุ่นสมัยนี้ไม่สว่างไม่ถึงบ้าน) เพราะกลัวถูกกลุ่มนรสิงห์เท้าเล็บไล่ล่า แต่บางครั้งกลุ่มนรสิงห์เท้ากีบจะขอรวมฝูงกับกลุ่มนรสิงห์เท้าเล็บเพื่อรับใช้ ทำตามคำสั่งเพื่ออยู่รอด แต่อาจไม่รอดเพราะนรสิงห์อาจกินพวกที่อ่อนแอกว่า(ทั้งเท้ากีบและเท้าเล็บ) หรือลูก(ที่รัก)ตนเองอย่างหน้าตาเฉย ในบางครั้งนรสิงห์อาจใช้กำลังแบบโง่ๆ ไม่รู้จักประมาณตน(เช่น ปล้นมาเฟีย) หรือหยิ่งจนเกินจะนอบน้อมผู้ใด(เช่น เหยียบเท้านักเลงแล้วไม่ยอมขอโทษ) บางครั้งจะยกพวกตีกันด้วย จึงมักไม่ได้ตายดีนัก

โดย: oustayutt    เวลา: 2013-11-3 21:14
๔.ยักษ์(yaksha) บุคลิกและพฤติกรรมของยักษ์คือการบันดาลโทสะอย่างเกรี้ยวกราด เป็นอมนุษย์โหงวเฮ้งตาโต ตัวดำ(เขียวคล้ำถึงดำ) กายยักษ์(ทั่วไป)มีสีเขียว(โกรธจนตัวเขียว) เป็นพวกบ้าอำนาจ สกปรก กักขฬะ ก้าวร้าว อาจอยู่ในตระกูลสูง ชอบแสดงอำนาจ และอาละวาด หน้าตาของยักษ์มี๔แบบ สร้างจากองค์ประกอบของตา๒แบบ และ ปาก๒แบบ คือ ตาโพลง ตาจระเข้ ปากขบ ปากแสยะ ลักษณะหน้าตาของยักษ์มีลักษณะคล้ายเทพ(ยักษ์)เฝ้าประตู(อะเงียว-อุนเงียว)ของญี่ปุ่น ชายเรียก ยักษา(yaksha) หญิงเรียก ยักษี(yakshi) ยักษ์เป็นพวกชอบเฝ้ามีฤทธิ์อำนาจในการแย่งชิงของผู้อื่นมาครองแล้วตั้งตนเป็น”ผู้เฝ้า”
ลักษณะตา และ ปากของยักษ์หมายถึงความโกรธ ๔ ลักษณะ(คล้ายลักษณะการทำร้ายของพิษนาค๔ชนิด)
๑.ตาโพลง ปากขบ-โกรธง่าย หายยาก
๒.ตาโพลง ปากแสยะ-โกรธง่าย หายง่าย
๓.ตาจระเข้ ปากขบ-โกรธยาก หายยาก
๔.ตาจระเข้ ปากแสยะ-โกรธยาก หายง่าย
๕.รากษส(rakshasa)บุคลิกและพฤติกรรมคล้ายยักษ์ แต่รากษสอยู่ในกลุ่ม กุมภัณฑ์และผีเสื้อน้ำเป็นอมนุษย์ขี้โกรธ เป็นพวกชอบรักษามีฤทธิ์อำนาจในการแย่งชิงของผู้อื่นมาครองแล้วตั้งตนเป็น“ผู้รักษา”ชายเรียกรากษส(rakshasa)หญิงเรียกรากษสี(rakshasi) รากษสอาศัยตามป่าต้นน้ำ(ที่ราบลุ่ม)ฝรั่งเรียกว่าพวกโทรล(Troll)
ผีเสื้อน้ำนั้นสิง(อาศัย)อยู่ในน้ำทั้งน้ำจืดและน้ำเค็ม(โดยใช้ฤทธิ์อำนาจแย่งชิงแหล่งน้ำนั้นมา) มี๒กลุ่ม คือ ผีเสื้อน้ำ(จืด)และผีเสื้อสมุทร(น้ำเค็ม)ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง เป็นพวกชอบผูกขาดแหล่งน้ำครื่องอุปโภคบริโภคต่างๆด้วย)แต่จะหากินในวงจำกัดคือ แหล่งน้ำที่ตนเองอยู่เท่านั้น ในชาดกเรื่อง พญาวานรกับต้นอ้อ แสดงว่าผีเสื้อน้ำไม่สามารถจับเหยื่อที่ไม่แตะต้องน้ำได้จึงหลอกล่อให้เหล่าวานรลงน้ำเพราะเขตนั้นไม่มีแหล่งน้ำอื่นนอกจากของตน(ผูกขาด)แต่ไม่สำเร็จ ต่างกับเปรตบางตระกูลที่กินไม่เลือก
๖.กุมภัณฑ์(kumabhan)บุคลิกและพฤติกรรมคล้ายยักษ์ แต่กุมภัณฑ์นั้นชอบยืน เดิน นั่ง(เห็นบ่อยๆบนรถเมล์) นอน “ถ่างขา”เพราะ ต้องแบกอัณฑะ กุมภัณฑ์ แปลว่า ผู้มีอัณฑะใหญ่(กุมโภ แปลว่า หม้อ+อัณฑะ แปลว่า ไข่)รูปปั้นตามโบราณสถานต่างๆที่ยืนถ่างขา หรือ นักเล่นโขน/เล่นหนังใหญ่ที่ยืนถ่างขา ก็คือลักษณะการเคลื่อนไหวของกุมภัณฑ์นั่นเอง(กุมภัณฑ์คล้ายทานุกิของญี่ปุ่นที่มีอัณฑะใหญ่)

โดย: oustayutt    เวลา: 2013-11-3 21:15
๗.นารีผล(nariphala)อมนุษย์ที่เกิดแบบ“โอปปาติกะ”เพียงอย่างเดีนวคือ เป็นเองโดยไม่จำเป็นต้องมีพ่อแม่หรือบุพพการี(หรือพ่อแม่ไม่เลี้ยง) มีรูปลักษณ์ประดุจสาวแรกรุ่นอายุ๑๖ปี ปัจจุบันพบได้ทั่วไป ตาม ผับ เธค หรือตาม(ใต้)ต้นไม้(ตั้งแต่สมัยก่อน)อาจรวมถึงโคนเสาไฟด้วย เดี๋ยวนี้เจอยาเร่งเข้าไป๑๑-๑๒ก็หง่อมคาต้นแล้ว
๘.กินรี(kinari)ชายเรียกกินนร(kinnara) หญิงเรียกกินรี(kinari)อมนุษย์ครึ่งมนุษย์ครึ่งหงส์ สง่างาม และค่อนข้างหยิ่ง จะไม่สมาคมกับชนชั้นที่ต่ำกว่า เช่น มนุษย์ แต่จะสมาคมกับชนชั้นที่สูงกว่าอย่างเทวดา เป็นต้น
๙.เทพอัศวิน(tebaasavin)อมนุษย์ครึ่งมนุษย์ครึ่งม้าชายเรียกเทพอัศวิน(tebaasavin) หญิงเรียกเทพีอัศวิน(tebiasavin)อยู่ทั้งแบบเดี่ยวและรวมเป็นกลุ่ม(ฝูง) ฝูงเทพอัศวินนั้นมักปรากฏตัวเวลากลางคืนในช่วงดึก ที่มนุษย์หลับไหล ถนนปลอดรถราใดๆ ฝูงเทพอัศวินนั้นจะมาพร้อมกับเสียง(แว้นๆ)อันดังกระหึ่มทั่วท้องถนน พฤติกรรมทั่วไปคล้ายนรสิงห์ แต่มีความเร็วมากกว่า(ในบางกรณีจะมีนารีผลซ้อนท้ายด้วย)
๑๐.คนธรรพ์(gandharva)อมนุษย์ที่คล้ายมนุษย์ที่สุดพวกคนธรรพ์มีบ้านเมืองของตนเองอยู่ระหว่างสวรรค์ และโลกมนุษย์ และเป็นพวกมีนิสัยเป็นเจ้าชู้ มีเสน่ห์ทำให้ผู้หญิงหลงรักคนธรรพ์มีความรู้ความสามารถในด้านดนตรีที่ดีมาก(ชอบดนตรีเป็นชีวิต) ปัจจุบันพบได้ทั่วไป ตาม ผับ เธค บ้างเล็กน้อย(เล่นดนตรีตาม ผับ เธค) ชอบฆ่ากันตายเพราะแย่งนารีผล พวกคนธรรพ์มักจะไม่รอจนนารีผลสุกดี(วัยกำลังได้ที่)ก็จะเด็ดไปแล้ว เนื่องจากมีวิธีบ่มให้แก่ทันใช้ได้(เลี้ยงต้อย) คนธรรพ์บางพวกมีชื่อเสียงในสังคมด้วย(นักร้อง นักดนตรี) ชายเรียกคนธรรพ์(gandharva) หญิงเรียกอัปสร(apsara)
คนธรรพ์แบ่งได้เป็น 3 ระดับ คือ
๑.คนธรรพ์ชั้นสูง มีวิมานอยู่ในสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา เช่น ปัญจสิขเทพบุตร มีเทพธิดาประจำอยู่ในวิมาน
๒.คนธรรพ์ชั้นกลาง เกิดอยู่ในป่าหิมพานต์ มีวิมานอยู่ในต้นไม้เป็นบริวารของคนธรรพ์ชั้นสูง
๓.คนธรรพ์ชั้นล่าง อยู่บนพื้นมนุษย์ สิงอยู่ในต้นไม้จำพวกไม้หอม
๑๑.วิทยาธร(bitayadhara)อมนุษย์ที่คล้ายมนุษย์ที่สุดเช่นกัน เป็นพวกที่มีศาสตร์ความรู้ที่หลากหลาย(รวมถึงดนตรีด้วย) พวกนี้เหาะได้ มีเวทมนตร์คาถา อาคมต่างๆ วิทยาธรมีรูปร่างหลากหลาย อยู่แบบเดี่ยวก็มีอยู่เป็นหมู่เป็นกลุ่มก็มีชอบฆ่ากันตายเพราะแย่งนารีผลเช่นกัน(วิธีบ่มนารีผลน่าจะมาจากวิทยาธรนี่เอง) ชายเรียกวิทยาธร(bitayadhara)หญิงเรียกวิทยาธรี(bitaydhri)

โดย: เฟม...zonya    เวลา: 2013-11-3 23:19
ขอบคุณมากค่ะ
โดย: Nujeab    เวลา: 2013-11-6 12:55
วิธีบ่มนารีผล




ยินดีต้อนรับสู่ Baan Jompra (http://www.baanjompra.com/webboard/) Powered by Discuz! X3.2