padiphatbeer โพสต์ 2016-2-7 15:12

วิธีสร้างบุญบารมี2สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช

วิธีสร้างบุญบารมี(2)
3.        ร่ำรวยปัจฉิมวัย         คือร่ำรวยในบั้นปลายชีวิตนั้น         สืบเนื่องมาจากผลทานที่ผู้กระทำมีเจตนางามไม่บริสุทธิ์ในระยะแรกและระยะที่ 2        แต่งามบริสุทธิ์เฉพาะในระยะที่ 3 กล่าวคือ ก่อนและในขณะที่ลงมือทำทานอยู่นั้น         ก็มิได้มีจิตโสมนัสยินดีในการทำทานนั้นแต่อย่างใด แต่ได้ทำลงไปโดยบังเอิญ         เช่นทำตามๆพวกพ้องไปอย่างเสียไม่ได้ แต่เมื่อได้ทำไปแล้ว         ต่อมาหวนคิดถึงผลทานนั้น ก็เกิดจิตโสมนัสร่าเริงยินดีเบิกบาน         หากผลทานชนิดนี้จะน้อมนำให้มาบังเกิดเป็นมนุษย์         ก็จะเกิดในตระกูลที่ยากจนคับแค้น         ต้องต่อสู้ดิ้นรนศึกษาเล่าเรียนและขวนขวายสร้างตนเองมากตั้งแต่วัยต้นจนล่วงวัยกลางคนไปแล้ว         กิจการงานหรือธุรกิจนั้นก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ เช่นต้องล้มลุกคลุกคลานตลอดมา         แต่ครั้นถึงบั้นปลายชีวิตก็ประสบช่องทางเหมาะ         ทำให้กิจการงานนั้นเจริญรุ่งเรืองทำมาค้าขึ้นและร่ำรวยอย่างไม่คาดหมาย         ซึ่งชีวิตจริงๆของคนประเภทนี้ก็มีให้เห็นเป็นตัวอย่างอยู่มาก        องค์ประกอบข้อ 3.        "เนื้อนาบุญต้องบริสุทธิ์"
       คำว่า        "เนื้อนาบุญ" ในที่นี้ได้แก่บุคคลผู้รับการทำทานของผู้ทำทานนั้นเอง         นับว่าเป็นองค์ประกอบข้อที่สำคัญที่สุด แม้ว่าองค์ประกอบในการทำทานข้อ 1 และ 2        จะงามบริสุทธิ์ครบถ้วนดีแล้ว         กล่าวคือวัตถุที่ทำทานนั้นเป็นของที่แสวงหาได้มาด้วยความบริสุทธิ์         เจตนาในการทำทานก็งามบริสุทธิ์พร้อมทั้งสามระยะ         แต่ตัวผู้รับการทำทานเป็นคนที่ไม่ดี ไม่ใช่ผู้ที่เป็นเนื้อนาบุญที่บริสุทธิ์         เป็นเนื้อนาบุญที่เลว ทานที่ทำไปนั้นก็ไม่ผลิดอกออกผล         เปรียบเหมือนกับการหว่านเมล็ดข้าวเปลือกลงในพื้นนา 1 กำมือ         แม้เมล็ดข้าวนั้นจะเป็นพันธุ์ดีที่พร้อมจะงอกงาม (วัตถุทานบริสุทธิ์)       และผู้หว่านคือกสิกรที่มีเจตนาจะหว่านเพื่อทำนาให้เกิดผลิตผลเป็นอาชีพ (เจตนาบริสุทธิ์)              แต่หากที่นานั้นเป็นที่ที่ไม่สม่ำเสมอกัน       เมล็ดข้าวที่หว่านลงไปก็งอกเงยไม่เสมอกัน โดยเมล็ดที่ไปตกในที่เป็นดินดี ปุ๋ยดี         มีน้ำอุดมดีก็จะงอกเงยมีผลิตผลที่สมบูรณ์ ส่วนเมล็ดที่ไปตกบนพื้นนาที่แห้งแล้ง         มีแต่กรวดกับทรายและขาดน้ำ ก็จะแห้งเหี่ยวหรือเฉาตายไป หรือไม่งอกเงยเสียเลย               การทำทานนั้น ผลิตผลที่ผู้ทำทานจะได้รับก็คือ        "บุญ"       หากผู้ที่รับการให้ทานไม่เป็นเนื้อนาที่ดีสำหรับการทำบุญแล้ว         ผลของทานคือบุญก็จะได้เกิดขึ้น แม้จะเกิดก็ไม่สมบูรณ์         เพราะแกร็นหรือแห้งเหี่ยวเฉาไปด้วยประการต่างๆ ฉะนั้น ในการทำทาน         ตัวบุคคลผู้รับของที่เราให้ทานจึงเป็นเงื่อนไขที่สำคัญที่สุด         เราผู้ทำทานจะได้บุญมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับคนพวกนี้         คนที่รับการให้ทานนั้นหากเป็นผู้ที่มีศัลมีธรรมสูง ก็ย่อมเป็นเนื้อนาบุญที่ดี         ทานที่เราได้ทำไปแล้วก็เกิดผลบุญมาก         หากผู้รับการให้ทานเป็นผู้ที่ไม่มีศีลไม่มีธรรม ผลของทานก็ไม่เกิดขึ้น         คือได้บุญน้อย ฉะนั้น คติโบราณที่กล่าวว่า "ทำบุญอย่าถามพระ         หรือตักบาตรอย่าเลือกพระ" เห็นจะใช้ไม่ได้ในสมัยนี้         เพราะในสมัยนี้ไม่เหมือนกับท่านในสมัยก่อนๆ ที่บวชเพราะมุ่งจะหนีสงสาร         โดยมุ่งจะทำมรรคผล และนิพพานให้แจ้ง ท่านจึงเป็นเนื้อนาบุญที่ประเสริฐ         แต่ในสมัยนี้มีอยู่บางคนที่บวชด้วยคติ 4 ประการ คือ "บวชเป็นประเพณี         บวชหนีทหาร บวชผลาญข้าวสุก บวชสนุกตามเพื่อน"              ธรรมวินัยใดๆ ท่านไม่สนใจ         เพียงแต่มีผ้าเหลืองห่มกาย ท่านก็นึกว่าตนเป็นพระและเป็นเนื้อนาบุญเสียแล้ว         ซึ่งป่วยการจะกล่าวไปถึงศีลปาฏิโมกข์ 227 ข้อ แม้แต่เพียงแค่ศีล 5        ก็ยังเอาแน่ไม่ได้ว่าท่านจะมีหรือไม่ การบวชที่แท้จริงแล้วก็เพื่อจะละความโลภ         โกรธ และหลง ปัญหาว่าทำอย่างไรจึงจะได้พบกับท่านที่เป็นเนื้อนาบุญที่ประเสริฐ         ข้อนี้ย่อมขึ้นอยู่กับวาสนาของเราผู้ทำทานเป็นสำคัญ         หากเราได้เคยสร้างสมอบรมสร้างบารมีมาด้วยดีในอดีตชาติเป็นอันมากแล้ว         บารมีนั้นก็จะเป็นพลังวาสนาน้อมนำให้ได้พบกับท่านที่เป็นเนื้อนาบุญที่ประเสริฐ         ทำทานครั้งใดก็มักโชคดี ได้พบกับท่านที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบไปเสียทุกครั้ง         หากบุญวาสนาของเราน้อยและไม่มั่นคง ก็จะได้พบกับท่านที่เป็นเนื้อนาบุญบ้าง         ได้พบกับอลัชชีบ้าง คือดีและชั่วคละกันไป         เช่นเดียวกับการซื้อสลากกินแบ่งกลากกินรวบ         หากมีวาสนาบารมีเพราะได้เคยทำบุญให้ทานฝากกับสวรรค์ไว้ในชาติก่อนๆ         ก็ย่อมมีวาสนาให้ถูกรางวัลได้         หากไม่มีวาสนาเพราะไม่เคยทำบุญทำทานฝากสวรรค์เอาไว้เลย         ก็ไม่มีสมบัติสวรรค์อะไรที่จะให้เบิกได้ อยู่ๆ ก็จะมาขอเบิก         เช่นนี้ก็ยากที่จะถูกรางวัลได้        สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสเอาไว้ว่า แม้วัตถุทานจะบริสุทธิ์ดี         เจตนาในการทำทานจะบริสุทธิ์ดี จะทำให้ทานนั้นมีผลมากหรือน้อย         ย่อมขึ้นอยู่กับเนื้อนาบุญเป็นลำดับต่อไปนี้ คือ

padiphatbeer โพสต์ 2016-2-7 15:13

1. ทำทานแก่สัตว์เดรัจฉาน แม้จะมากถึง 100 ครั้ง ก็ได้บุญน้อยกว่าให้ทานดังกล่าวแก่มนุษย์ แม้จะเป็นมนุษย์ที่ไม่มีศีล ไม่มีธรรมเลยก็ตาม ทั้งนี้เพราะสัตว์ย่อมมีบุญวาสนาบารมีน้อยกว่ามนุษย์ และสัตว์ไม่ใช่เนื้อนาบุญที่ดี
2. ให้ทานแก่มนุษย์ที่ไม่มีศีล ไม่มีธรรมวินัย แม้จะให้มากถึง 100 ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าให้ทานดังกล่าวแก่ผู้ที่มีศีล 5 แม้จะให้เพียงครั้งเดียวก็ตาม
3. ให้ทานแก่ผู้ที่มีศีล 5 แม้จะมากถึง 100 ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าให้ทานดังกล่าวแก่ผู้มีศีล 8 แม้จะให้แต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม
4. ให้ทานแก่ผู้ที่มีศีล 8 แม้จะมากถึง 100 ครั้ง         ก็ยังได้บุญน้อยกว่าถวายทานแก่ผู้ที่มีศีล 10 คือสามเณรในพระพุทธศาสนา แม้จะได้ถวายทานดังกล่าวแต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม
5. ถวายทานแก่สามเณรซึ่งมีศีล 10 แม้จะมากถึง 100 ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าถวายทานดังกล่าวแก่พระสมมุติสงฆ์ ซึ่งมีศีลปาฏิโมกข์สังวร 227 ข้อ
        พระด้วยกันก็มีคุณธรรมแตกต่างกัน จึงเป็นเนื้อนาบุญที่ต่างกัน บุคคลที่บวชเข้ามาในพระพุทธศาสนามีศีลปาฏิโมกข์สังวร 227 ข้อนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่ตรัสเรียกว่าเป็น         "พระ" แต่เป็นเพียงพระสมมุติเท่านั้น เรียกกันว่า "สมมุติสงฆ์" พระที่แท้จริงนั้น หมายถึงบุคคลที่บรรลุคุณธรรมตั้งแต่พระโสดาปัตติผลเป็นพระโสดาบันเป็นต้นไป ไม่ว่าท่านผู้นั้นจะได้บวชหรือเป็นฆราวาสก็ตาม นับว่าเป็น "พระ"         ทั้งสิ้น และพระด้วยกันก็มีคุณธรรมต่างกันหลายระดับชั้น จากน้อยไปหามากดังนี้คือ พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ พระปัจเจกพุทธเจ้า สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และย่อมเป็นเนื้อนาบุญที่แตกต่างกัน ดังต่อไปนี้
        6. ถวายทานแก่พระสมมุติสงฆ์ แม้จะมากถึง 100 ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถวายทานแก่พระโสดาบันแม้จะได้ถวายทานดังกล่าวแต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม         (ความจริงยังมีการแยกเป็นพระโสดาปัตติมรรคและพระโสดาปัตติผล ฯลฯ เป็นลำดับไปจนถึงพระอรหัตผล แต่ในที่นี้จะกล่าวแต่เพียงย่นย่อพอให้ได้ความเท่านั้น)
        7. ถวายทานแก่พระโสดาบัน แม้จะมากถึง 100 ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถวายทานดังกล่าวแก่พระสกิทาคามี แม้จะถวายทานดังกล่าวแต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม
8. ถวายทานแก่พระสกิทาคามี แม้จะมากถึง 100 ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถวายทานดังกล่าวแก่พระอนาคามีแม้จะถวายทานดังกล่าวแต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม
9. ถวายทานแก่พระอนาคามี แม้จะมากถึง 100 ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถวายทานดังกล่าวแก่พระอรหันต์ แม้จะถวายทานดังกล่าวแต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม
10. ถวายทานแก่พระอรหันต์ แม้จะมากถึง 100 ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถวายทานแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า แม้จะถวายทานดังกล่าวแต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม
11. ถวายทานแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า แม้จะมากถึง 100 ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถวายทานแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้จะถวายทานดังกล่าวแต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม
12. ถวายทานแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้จะมากถึง 100 ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถวายสังฆทานที่มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประธาน แม้จะได้ถวายสังฆทานดังกล่าวแต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม
13. การถวายสังฆทานที่มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประธาน แม้จะมากถึง 100 ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถวายวิหารทาน แม้จะได้กระทำแต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม วิหารทาน ได้แก่การสร้างหรือร่วมสร้างโบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญ ศาลาโรงธรรม ศาลาท่าน้ำ ศาลาที่พักอาศัยคนเดินทาน อันเป็นสาธารณประโยชน์ที่ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน อนึ่ง การสร้างสิ่งที่เป็นสาธารณประโยชน์หรือสิ่งที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน แม้จะไม่เกี่ยวเนื่องกับกิจในพระพุทธศาสนา เช่น โรงพยาบาล โรงเรียน บ่อน้ำ แท็งก์น้ำ ศาลาป้ายรถยนต์โดยสารประจำทาง สุสาน เมรุเผาศพ ก็ได้บุญมากในทำนองเดียวกัน
14. การถวายวิหารทาน แม้จะมากถึง 100 ครั้ง         (100หลัง)         ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการให้ธรรมทาน แม้จะให้แต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม การให้ธรรมทานก็คือการเทศน์ การสอนธรรมะแก่ผู้อื่นที่ยังไม่รู้ให้ได้รู้ ที่รู้อยู่แล้วให้รู้ยิ่งๆขึ้น ให้ได้เข้าใจในมรรค ผล นิพพาน ให้ผู้ที่เป็นมิจฉาทิฐิได้กลับใจเป็นสัมมาทิฐิ ชักจูงผู้คนให้เข้าปฏิบัติธรรม รวมตลอดถึงการพิมพ์การแจกหนังสือธรรมะ
        15. การให้ธรรมทาน แม้จะมากถึง 100 ครั้ง         ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการให้         "อภัยทาน" แม้จะให้แต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม การให้อภัยทาน ก็คือการไม่ผูกโกรธ ไม่อาฆาตจองเวร ไม่พยาบาทคิดร้ายผู้อื่นแม้แต่ศัตรู ซึ่งได้บุญกุศลแรงและสูงมากในฝ่ายทาน เพราะเป็นการบำเพ็ญเพียรเพื่อละ "โทสกิเลส" และเป็นการเจริญ "เมตตาพรหมวิหารธรรม" อันเป็นพรหมวิหารข้อหนึ่งในพรหมวิหาร 4 ให้เกิดขึ้น อันพรหมวิหาร 4 นั้น เป็นคุณธรรมที่เป็นองค์ธรรมของโยคีบุคคลที่บำเพ็ญฌานและวิปัสสนา ผู้ที่ทรงพรหมวิหาร 4 ได้ย่อมเป็นผู้ทรงฌาน ซึ่งเมื่อเมตตาพรหมวิหารธรรมได้เกิดขึ้นแล้วเมื่อใด ก็ย่อมละเสียได้ซึ่ง         "พยาบาท"         ผู้นั้นจึงจะสามารถให้อภัยทานได้ การให้อภัยทานจึงเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและยากเย็น จึงจัดเป็นทานที่สูงกว่าการให้ทานทั้งปวง

        อย่างไรก็ดี การให้อภัยทาน แม้จะมากเพียงใด แม้จะชนะการให้ทานอื่นๆทั้งมวล ผลบุญนั้นก็ยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า         "ฝ่ายศีล"         เพราะเป็นการบำเพ็ญบารมีคนละขั้นต่างกัน

padiphatbeer โพสต์ 2016-2-7 15:14

2. การรักษาศีล

"ศีล" นั้น แปลว่า "ปกติ" คือสิ่งหรือกติกาที่บุคคลจะต้องระวังรักษาตามเพศและฐานะ ศีลนั้นมีหลายระดับ คือ ศีล 5 ศีล 8 ศีล 10 และ ศีล 227 และในบรรดาศีลชนิดเดียวก็ยังจัดแยกออกเป็นระดับธรรมดา มัชฌิมศีล (ศีลระดับกลาง) และอธิศีล (ศีลอย่างสูง ศีลอย่างอุกฤษฏ์)

คำว่า"มนุษย์" นั้น คือผู้ที่มีใจอันประเสริฐ คุณธรรมที่เป็นปกติของมนุษย์ที่จะต้องทรงไว้ให้ได้ตลอดไปก็คือศีล 5 บุคคลที่ไม่มีศีล 5 ไม่เรียกว่ามนุษย์ แต่อาจจะเรียกว่า "คน" ซึ่งแปลว่า "ยุ่ง" ในสมัยพระพุทธกาลผู้คนมักจะมีศีล 5 ประจำใจกันเป็นนิจ ศีล 5 จึงเป็นเรื่องปกติของบุคคลในสมัยนั้น และจัดว่าเป็น "มนุษยธรรม" ส่วนหนึ่งในมนุษยธรรม 10 ประการเป็นปกติ (ซึ่งรวมถึงศีล 5 ด้วย)รายละเอียดจะมีประการใดจะไม่กล่าวถึงในที่นี้

การรักษาศีลเป็นการเพียรพยายามเพื่อระงับโทษทางกายและวาจา อันเป็นเพียงกิเลสหยาบมิให้กำเริบขึ้น และเป็นการบำเพ็ญบุญบารมีที่สูงขึ้นกว่าการให้ทาน ทั้งในการถือศีลด้วยกันเอง ก็ยังได้บุญมากและน้อยต่างกันไปตามลำดับต่อไปนี้คือ

1. การให้อภัยทาน
แม้จะมากถึง 100 ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถือศีล 5 แม้จะได้ถือแต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม

2. การถือศีล 5
แม้จะมากถึง 100 ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถือศีล 8 แม้จะถือแต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม

3. การถือศีล 8
แม้จะมากถึง 100 ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถือศีล 10 คือการบวชเป็นสามเณรในพระพุทธศาสนา แม้จะบวชมาได้แต่เพียงวันเดียวก็ตาม

4. การที่ได้บวชเป็นสามเณรในพระพุทธศาสนา
แล้วรักษาศีล 10 ไม่ให้ขาด ไม่ด่างพร้อย แม้จะนานถึง 100 ปี ก็ยังได้บุญน้อยกว่าผู้ที่ได้อุปสมบทเป็นพระในพระพุทธศาสนา มีศีลปาฏิโมกข์สังวร 227 แม้จะบวชมาได้เพียงวันเดียวก็ตาม

ฉะนั้น ในฝ่ายศีลแล้ว การที่ได้อุปสมบทเป็นพระในพระพุทธศาสนาได้บุญบารมีมากที่สุด เพราะเป็นเนกขัมมบารมีในบารมี 10 ทิศ ซึ่งเป็นการออกจากกามเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติธรรมขั้นสูงๆ คือการภาวนาเพื่อมรรค ผล นิพพาน ต่อๆไป ผลของการรักษาศีลนั้นมีมาก ซึ่งจะยังประโยชน์สุขให้แก่ผู้นั้นทั้งในชาตินี้และชาติหน้า เมื่อได้ละอัตภาพนี้ไปแล้วย่อมส่งผลให้ได้บังเกิดในเทวโลก 6 ชั้น ซึ่งแล้วแต่ความละเอียดประณีตของศีลที่รักษาและที่บำเพ็ญมา ครั้งเมื่อสิ้นบุญในเทวโลกแล้ว ด้วยเศษของบุญที่ยังคงหลงเหลืออยู่แต่เพียงเล็กๆ น้อยๆ หากไม่มีอกุศลกรรมอื่นมาให้ผล ก็อาจจะน้อมนำให้ได้มาบังเกิดเป็นมนุษย์ที่ถึงพร้อมด้วยสมบัติ 4 ประการ เช่นอานิสงส์ของการรักษาศีล 5 กล่าวคือ

(1)ผู้ที่รักษาศีลข้อ 1 ด้วยการไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต
ด้วยเศษของบุญที่รักษาศีลข้อนี้ เมื่อน้อมนำมาเกิดเป็นมนุษย์ก็จะทำให้มีพลานามัยแข็งแรง ปราศจากโรคภัย ไม่ขี้โรค อายุยืนยาว ไม่มีศัตรูเบียดเบียนให้ต้องบาดเจ็บ ไม่มีอุบัติเหตุต่างๆที่จะทำให้บาดเจ็บหรือสิ้นอายุเสียก่อนวัยอันสมควร

(2)ผู้ที่รักษาศีลข้อ 2 ด้วยการไม่ถือเอาทรัพย์ของผู้อื่นที่เจ้าของมิได้เต็มใจให้
ด้วยเศษของบุญที่นำมาเกิดเป็นมนุษย์ ย่อมทำให้ได้เกิดในตระกูลที่ร่ำรวย การทำมาหาเลี้ยงชีพในภายหน้ามักจะประสบช่องทางที่ดี ทำมาค้าขึ้นและมั่งมีทรัพย์ ทรัพย์สมบัติไม่วิบัติหายนะไปด้วยภัยต่างๆ เช่น อัคคีภัย วาตภัย โจรภัย ฯลฯ

(3)ผู้ที่รักษาศีลข้อ 3 ด้วยการไม่ล่วงประเวณีในคู่ครอง หรือคนในปกครองของผู้อื่น   
ด้วยเศษของบุญที่รักษาศีลข้อนี้ เมื่อมาเกิดเป็นมนุษย์ ก็จะประสบโชคดีในความรัก มักได้พบรักแท้ที่จริงจังและจริงใจ ไม่ต้องอกหัก อกโรย และอกเดาะ ครั้นเมื่อมีบุตรธิดา ก็ว่านอนสอนง่าย ไม่ดื้อด้าน ไม่ถูกผู้อื่นหลอกลวงฉุดคร่าอนาจารไปทำให้เสียหาย บุตรธิดาย่อมเป็นอภิชาตบุตร ซึ่งจะนำเกียรติยศชื่อเสียงมาสู่วงศ์ตระกูล

(4)ผู้ที่รักษาศีลข้อ 4 ด้วยการไม่กล่าวมุสา
ด้วยเศษของบุญที่รักษาศีลข้อนี้ เมื่อนำมาเกิดเป็นมนุษย์ จะทำให้เป็นผู้ที่มีสุ้มเสียงไพเราะ พูดจามีน้ำมีนวลชวนฟัง มีเหตุมีผล ชนิดที่เป็น"พุทธวาจา"มีโวหารปฏิภาณไหวพริบในการเจรจา จะเจรจาความสิ่งใดก็มีผู้เชื่อฟังและเชื่อถือ สามารถว่ากล่าวสั่งสอนบุตรธิดาและศิษย์ให้อยู่ในโอวาทได้ดี

(5) ผู้ที่รักษาศีลข้อ 5 ด้วยการไม่ดื่มสุราเมรัยเครื่องหมักดองของมึนเมา
ด้วยเศษของบุญที่รักษาศีลข้อนี้ เมื่อนำมาเกิดเป็นมนุษย์ ย่อมทำให้เป็นผู้ที่มีสมอง ประสาท ปัญญา ความคิดแจ่มใส จะศึกษาเล่าเรียนสิ่งใดก็แตกฉานและทรงจำได้ง่าย ไม่หลงลืมฟั่นเฟือนเลอะเลือน ไม่เสียสติวิกลจริต ไม่เป็นโรคสมอง โรคประสาท ไม่ปัญญาทราม ปัญญาอ่อนหรือปัญญานิ่ม
อานิสงส์ของศีล 5 มีดังกล่าวข้างต้น สำหรับศีล 8 ศีล 10 และ ศีล 227 ก็ย่อมมีอานิสงส์เพิ่มพูนมากยิ่งๆขึ้นตามระดับและประเภทของศีลที่รักษา แต่ศีลนั้นแม้จะมีอานิสงส์เพียงไร ก็ยังเป็นแต่เพียงการบำเพ็ญบุญบารมีในชั้นกลางๆในพระพุทธศาสนาเท่านั้น เพราะเป็นแต่เพียงระเบียบหรือกติกาที่จะรักษากายและวาจาให้สงบ ไม่ให้ก่อให้เกิดทุกข์โทษขึ้นทางกายและวาจาเท่านั้น ส่วนทางจิตใจนั้น ศีลยังไม่สามารถที่จะควบคุมหรือทำให้สะอาดบริสุทธิ์ได้ ฉะนั้น การรักษาศีลจึงยังได้บุญน้อยกว่าการภาวนา เพราะการภาวนานั้น เป็นการรักษาใจ รักษาจิต และซักฟอกจิตให้เบาบางหรือจนหมดกิเลส คือความโลภ โกรธ และหลง อันเป็นเครื่องร้อยรัดให้บรรดาสรรพสัตว์ทั้งหลายต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารวัฏ การภาวนาจึงเป็นการบำเพ็ญบุญบารมีที่สูงที่สุด ประเสริฐที่สุด ได้บุญมากที่สุด เป็นกรรมอันยิ่งใหญ่ เรียกว่า"มหัคคตกรรม"อันเป็นมหัคคตกุศล
หน้า: [1]
ดูในรูปแบบกติ: วิธีสร้างบุญบารมี2สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช