ทำอย่างไรจึงจะมีสติรู้เท่าทันความโกรธ
ถาม –ทำอย่างไรที่จะพยายามเอาสติตามจิตให้ทันคะคิดว่าใจเย็นได้แล้ว แต่พออะไรมากระทบก็โกรธง่ายได้อีกค่ะ
http://www.entraining.net/imgs2012/emotions06.jpg
อย่าไปตั้งสเปคไว้อย่างนั้นว่าใจเย็นแล้วจะไม่โกรธหรือว่าโกรธยากนะ
จำไว้เป็นคีย์เวิร์ดดีๆ นะ
คนใจเย็นไม่ใช่คนที่โกรธยาก โกรธได้ยากเสมอไปนะ คนใจเย็นโกรธง่ายก็ได้
คือมันเป็นนิสัยเก่าน่ะ มันเป็นความอ่อนไหวทางจิต
ที่ยังไปไม่ถึงจุดที่ความโกรธจะไม่เกิดขึ้น
ก็อย่าไปกะเกณฑ์ว่าใจเย็นแล้วแปลว่าต้องโกรธยาก ใจเย็นโกรธง่ายก็ได้
แต่โกรธง่ายแล้วเรามีท่าทีอย่างไร มีปฏิกิริยาทางสติอย่างไร
นั่นแหละ ตรงนี้แหละที่เราควรจะพูดถึงกัน
เมื่อโกรธง่ายขอให้คิดอย่างนี้นะ ขอให้จำไว้เลยนะ
ถ้าโกรธง่ายนะขอให้คิดว่า ดี เราจะได้ฝึกสติได้ง่ายๆ เช่นกัน
คือถ้าโกรธยาก เราก็ไม่รู้จะเอาสติไปฝึกกับความโกรธแบบไหน
นานๆ มันถึงจะโกรธที
สติที่จะเอามารู้ความโกรธก็เลยไม่เกิดขึ้นไปด้วย มันเกิดขึ้นยากตามไปด้วย
แต่ถ้าโกรธง่ายก็แสดงว่าเราฝึกสติในขณะโกรธได้ง่าย
แล้วตัวที่จะนำให้เราเข้ามาเห็นส่วนของนามธรรม
คือ สภาพทางใจ สภาพปรุงแต่งทางใจ
ไม่มีอะไรที่มันเห็นได้เร็วเห็นได้ง่ายไปกว่าความโกรธอีกแล้ว
อย่างตอนที่เราเกิดความโลภ หรือว่าเกิดราคะ เกิดโมหะ แบบนี้บางทีมันยาก
เพราะตอนเกิดราคะใจมันก็จะพุ่งไปยึดไอ้สิ่งที่ชอบใจ
คำว่าราคะนี้ไม่ได้หมายถึงกามราคะอย่างเดียว
เหมือนอย่างเวลาที่เราดูมิวสิควิดีโอหรือว่าดูละครอย่างนี้
นี่เกิดราคะแล้ว ราคะทางตา ราคะทางหู ราคะทางจินตนาการ
คือบางทีมันเข้าไปหลงยึดเต็มๆ เต็มเหนี่ยวเลยว่าเรามีส่วนร่วมอยู่ในละคร
อย่างนี้เรียกว่าเกิดราคะ เรียกว่าเกิดความยินดี
ซึ่งจะให้ไปพิจารณาอะไรในขณะที่เกิดราคะ
มันยากนะเพราะใจมันไม่ยอม มันติดไปแล้วมันหลงไปแล้ว
หรือว่าในขณะที่เราเกิดโมหะ อย่างเกิดความหลงตัว
มีดีกว่าเขาหรือว่าแย่กว่าเขา หรือว่ามีความคิดอะไรผิดๆ ขึ้นมา
ใจมันจะเข้าไปรวมอยู่กับความรู้สึกผิดๆ หรือว่าความรู้สึกหลงยินดีในตัวในตน
จนเกินกว่าจะมาพิจารณาธรรมได้
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่เราเริ่มฝึกเจริญสติใหม่ๆนี่นะ
ราคะกับโมหะนี่เป็นอะไรที่ยากจริงๆ กับการเอามาเป็นแบบฝึกหัด
แต่ความโกรธนี่ทุกคนรำคาญตัวเองอยู่แล้วเมื่อโกรธ
ความโกรธเป็นสิ่งที่ทุกคนอยากจะให้มันออกไปจากจิตใจอยู่แล้ว
เหมือนกับคนที่ไม่อยากอยู่ในห้องร้อน ไม่อยากที่จะอยู่ในฤดูร้อน
โดยเฉพาะเดือนเมษาวันที่ปลายๆ เดือนนะ ยี่สิบปลายๆ เนี่ย ไม่มีใครอยากอยู่ร้อน
ความโกรธจึงเป็นสิ่งที่มนุษย์เรา เมื่อเริ่มเจริญสติ น่าเอามาใช้มากที่สุด
เพราะเราไม่หวงมันไว้อยู่แล้ว
เราหวงราคะ เราหวงโมหะ แต่ไม่หวงโทสะ
อยากให้มันหายไปทุกคน อยากให้มันสาบสูญหรือว่าไม่เกิดขึ้นอีกเลยแต่มันเป็นไปไม่ได้
แล้วเมื่อมันเป็นไปไม่ได้เราก็เอามันมาใช้ประโยชน์ซะ
เวลาที่เราใจเย็นนะ พอเราใจเย็นลงแล้วประโยชน์อย่างยิ่งก็คือว่า
ประโยชน์ของมันไม่ใช่ไม่ทำให้ความโกรธไม่เกิด
แต่ประโยชน์ของความใจเย็นคือการที่เราจะเห็นความโกรธได้ง่าย
เพราะมันแตกต่างไง ตอนแรกเย็นอยู่ แล้วเพิ่มอุณหภูมิขึ้นมาเป็นร้อน
มันมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน สติไม่ต้องไปเพ่ง ไม่ต้องไปพิจารณาอะไร
มันสามารถเห็นได้เลยว่าความร้อนเกิดขึ้น
แล้วประโยชน์อีกประการของความใจเย็นก็คือคุณจะพบว่าความร้อนมันตั้งอยู่ได้ไม่นาน
เหมือนกับไฟไม่สามารถที่จะสู้กับน้ำกลุ่มใหญ่ได้
ถ้าหากน้ำมีกำลังมากกว่าไฟสิบเท่า ดับพรึ่บเดียว เพียงด้วยการสาดทีเดียว
แต่ทีนี้เราไม่ได้ตั้งใจที่จะไปดับไฟนะ เราตั้งใจที่จะดูไฟมันมอดไปเอง
แล้วคนใจเย็นจะเห็นว่าไฟนี่นะมันมอดเร็ว
แค่ดูนิดเดียว ขอให้มีสติเถอะ
ขออย่าเผลอไปปรุงแต่งตามสิ่งยั่วยุที่มากระตุ้นให้โกรธ
เราจะรู้สึกขึ้นมาว่า เออ ตอนแรกใจเย็นอยู่ มีอะไรมากระทบ ปัง เอ้า ไฟลุก พรึ่บ เสร็จแล้วไอ้พรึ่บนั้น มันเหมือนไฟไหม้ฟาง เราจะรู้สึกเลยนะว่าความใจเย็น ทำให้ไฟโกรธเปรียบเสมือนไฟไหม้ฟาง และประโยชน์อย่างยิ่งที่เราเห็นไฟไหม้ฟางคืออะไร มันรู้สึกหลายๆ ทีขึ้นมา มันรู้สึกขึ้นมาเป็นจริงเป็นจัง ว่าความโกรธนี่ไม่ใช่ตัวเรา มันเหมือนไฟที่ลุกพรึ่บขึ้นมาแล้วแป๊บเดียวก็หายไป ความใจเย็นไม่ใช่ไม่มีประโยชน์ และความใจเย็นไม่ใช่เอาไว้ป้องกันไม่ให้ความโกรธเกิดขึ้น ไม่ใช่นะ จำไว้ดีๆ เลย หรือแก้ไขภาพลักษณ์เกี่ยวกับความใจเย็นใหม่เลย เราเอามาใช้เจริญสติต่างหาก เราจะเห็นได้ง่ายขึ้นต่างหาก
{:6_200:}{:6_201:}{:6_202:}
หน้า:
[1]