Sornpraram โพสต์ 2015-12-2 06:06

ถึงแม้ว่านั่งอยู่เฉยๆก็เหมือนนั่งสมาธิ

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย Sornpraram เมื่อ 2015-12-2 06:08

ผู้ตามรักษา

http://www.luangta.com/Salawatpa/picture/A-Cha/033bGlassesTurnLeft.jpg


นี้คือการปฏิบัติ ละมัน ถอนมัน เลิกมันออก ดูแต่จิตของเราเท่านั้นแหละ ถึงแม้ตัวเราจะไปไหนก็ดูจิต ความรู้ของเราดูเราอยู่เสมอเลยทีเดียว อารมณ์ที่เกิดขึ้นมาในที่นั้นจะรู้จักเลยแหละ เราไปส่งเสริมมันซะ ที่นั่นแหละความเพียร "ขันติ" ก็อยู่นั่น "วิมังสา" ก็อยู่นั่น ถ้าเราเป็นอย่างนั้น ถ้าเราเรียนตัวของเราอยู่เสมอๆแล้ว "ธรรมเครื่องตรัสรู้" จะเกิดขึ้นมา อาศัยทำไปนานดูบ้าง อย่าอยู่ไปนานเฉยๆ ไม่ได้ทำจริงๆ การทำเพียรไม่ใช่ว่าจะวิ่งจะเต้นจะทำจริงๆจังๆ แม้จะนั่งอยู่ทั้งคืนไม่ได้เป็นอย่างนั้นนะ "ปฏิบัติ" ไม่ใช่ว่านั่งอยู่ทั้งคืน เดินอยู่ทั้งคืนไม่ใช่ อันนี้เป็นทางอ้อมคือทางกาย ทางนั่ง ทางนอน ทางยืน ทางเดินนี้ เป็นทางอ้อม ทางตรงมันจริงๆคือ "จิต" ทำสมาธิ เดินจงกรม ทำอะไรเป็นต้น เพื่ออยากจะให้รู้จิตของเรานี้เอง ให้ดูจิตของเรา ถ้าหากว่าผู้ใดมารู้จักจิตของตัวเองแล้วไปไหนก็ช่าง ถึงแม้ว่านั่งอยู่เฉยๆก็เหมือนนั่งสมาธิ ถึงจะเดินไปไหนก็เหมือนเดินจงกรม อยู่ในหมู่ก็เป็นอย่างนั้น นอกหมู่ก็เป็นอยู่อย่างนั้น ไม่ใช่ว่าคิดฟุ้งซ่านไปต่างๆนานา ทิ้งตัวเองไปลืมตัว ไม่ได้เป็นอย่างนั้นมันดูตัวเองอยู่อย่างนั้นแหละ พิจารณาทำลายอยู่ตลอด ถอนอยู่เรื่อยๆอยู่อย่างนั้น สอนมันเรื่อยๆไป สอนตัวเองอยู่ตลอดเวลาอยู่อย่างนั้นแหละ ไม่ได้ทิ้งตัวเองหรอก ห่วงตัวเองมากเหมือนกับแม่เหล็กที่มีเครื่องดึงดูด เหมือนกันกับเอาเข็มเอาแม่เหล็กล่อมันก็วิ่งตาม ฉันใด สติกับอารมณ์ก็เหมือนกันเป็นอยู่อย่างนั้น


อาการที่มันเป็นไป อาการที่กระทบอารมณ์ที่ชอบหรือไม่ชอบ จะดีหรือไม่ดี ผู้หนึ่งดูอีก มันชอบดีไม่ดี ผู้นี้รู้จักความชอบความดีอีก ผู้ตามรักษาอยู่อีก

ดังนั้นพระท่านจึงว่า "ผู้ใดตามดูจิตของตน ผู้นั้นจะพ้นจากบ่วงของมาร"

ถ้าพิจารณาจิตแล้ว ให้ตามรักษาจิต แล้วเอาใครตามอีก ให้ดูชัดๆนะ ให้รู้จักจิตตัวเอง แล้วให้รู้จักผู้ตามรักษาจิตอีก มันมีอยู่นั่นแหละ ถ้าผู้ใดรู้อย่างนี้แล้ว ความโลภจะเกิดขึ้นมาไม่ได้ ถ้าเกิดก็ระงับได้ โกรธจะเกิดขึ้นมาไม่ได้ ถ้าเกิดก็ต้องระงับได้ เหมือนกันกับเราไปเลี้ยงควายถือตะพดอยู่ ปล่อยให้กินดูเอ้า!...ลองดู มันจะกินข้าวกินน้ำอยู่อย่างไร เราถือตะพดอยู่มันไม่กล้าเพราะดูมันอยู่ อันนั้นควาย ควายคือจิต เจ้าของควายคือผู้ตามดูจิต จิตของเราเป็นต้นมีเจตนาจับนั้นจับนี้ ผู้ตามดูจิตคือผู้รู้อันหนึ่งอีกแฝงออกมาจากจิต เหมือนกันกับว่าใครเป็นคนเลี้ยงควาย คือเจ้าของควายนั่นแหละ แฝงออกมาจากควายอีกทีหนึ่งไม่ใช่ควายนะ ผู้รักษาควาย ควายคือ "จิต" คนผู้รักษาควายคือ"ผู้รู้" ถ้าแยกออกอย่างนี้เห็นกับตัวเองได้เหมือนกัน ตามดูจิตคือผู้รู้ ให้พิจารณาดูชัดๆอันนี้ ถ้าหากว่าอารมณ์มากระทบให้มีเจตนาตั้งขึ้นคือ "จิต" ชอบหรืออะไรต่างๆ ตัว "ผู้รู้" คอยระงับเลย ถ้าตัวผู้รู้หายแล้วไม่ได้ถ้าชอบก็ปล่อยให้ชอบไป ถ้าร่าเริงก็ปล่อยให้ร่าเริงไป ไม่ได้ตามดูจิตแล้วอย่างนี้ ถ้าโศกก็ปล่อยให้โศกไป ถ้าโกรธก็ปล่อยให้โกรธไป ตัวผู้รู้ไม่มี มีแต่จิตอันนั้นไปเลย ไม่ได้ตามดูจิต ฉะนั้นจึงถูกบ่วงเขา ถ้าผู้ปฏิบัติไม่ได้เป็นอย่างนั้น เหมือนเจ้าของควายกับควาย ต้องสะกดรอยเรื่อยๆ ฉะนั้นจะทรมานจิตของเราได้อย่างไรบางทีเกิดกระทบมันจะโกรธอย่างนี้


ถ้ามีแต่ "จิต" ก็ต้องโกรธเลยถ้ามี "ผู้รู้" ก็ต้องระงับตามรักษา ถ้าจะโลภปุบ มีแต่มันก็โลภเท่านั้นแหละ ถ้ามีผู้รู้ตามรักษามันก็หยุด นี้คือ "ทรมานจิต"ตามดูจิต จนเห็นเป็นอยู่อย่างี้ เห็นเหมือนกันกับเราไปเลี้ยงควายควายอันหนึ่ง เจ้าของควายผู้หนึ่ง คนผู้เป็นเจ้าของควายตามรักษาควาย ควายจึงไม่เสียหาย ควายคือจิต ผู้เลี้ยงควายคือผู้รู้จิตเราเหมือนกันอันนั้น มันอาศัยอารมณ์เป็นอยู่ อารมณ์ดีอารมณ์ร้าย มันก็เป็นไปตามนั้นแหละอารมณ์ เป็นอย่างนั้น ถ้าไม่มีผู้ตามรักษาก็วุ่นวายเท่านั้นแหละ ไม่รู้ว่าอารมณ์เป็นจิต จิตเป็นอารมณ์ ปังกันเลยทีเดียว เลยเป็นไปตามอารมณ์ พูดไปตามอารมณ์เขาว่า ทำไปตามอารมณ์นั้นเองแหละ จิตขาดผู้รักษา จิตขาดจากผู้รู้ จิตเป็นอนาถา นักปฏิบัติเราก็เหมือนกัน ถ้าอยากโกรธก็โกรธขึ้น ใครจะไม่รู้จักมันความโกรธ มันจะเกิดขึ้น นี่ก็รู้ โกรธแล้วได้ประโยชน์อะไร ถ้าผู้รู้ตามรักษาก็หายไปเลย มันก็เป็นอย่างนั้น ผู้รู้ตามรักษามันจะเป็นอะไรขึ้นมา ถ้าเราจะทำจะพูดจา ทำดีแล้วจึงพูดไม่ให้เสียเรา ตั้งใจแล้วทำแล้วปฏิบัติแล้วกลั่นแล้วกรองแล้วจึงทำจึงพูด มีความสามารถอย่างนี้ ฉะนั้นปฏิบัติจึงไม่เห็นผู้รู้ไม่เห็นจิตตัวเอง มันจึงไปถูกบ่วงเขาเรื่อย ไม่รู้จักเลย ก่อนจะรู้จักทำอย่างไร ต้องปฏิบัติต้องเอาจริงๆจึงได้ ความเพียร ฉันทะ วิริยะจิตตะ เกิดพร้อมกันปุบ "ฉันทะ" ความพอใจรักใคร่ในสิ่งนั้น "วิริยะ" ความเพียรในสิ่งเหล่านั้น "จิตตะ" เอาใจฝักใฝ่ "วิมังสะ" หมั่นตริตรอง มันเป็นเองมันถ้าเราปฏิบัติ ถ้าหากว่าใครไม่มีอย่างนี้ก็ไม่ได้ ้ถามีอย่างนี้จะไปที่ไหนก็ตาม อยู่ในชุมนุมชนก็ช่าง อยู่โดดเดี่ยวก็ตาม ให้ดูใจของเรามันเป็นอย่างเก่าของมันนั่นแหละ ตามรักษาระวังอยู่เสมอเลย มีผู้ปราบบอยู่เสมอ นั้นเรียกว่า "ผู้รู้ตามรักษา" อันนี้ยากนะจะต้องทำจริงๆ ปฏิบัติจริงๆ ให้เห็นอย่างนี้จริงๆ

เมื่อเห็นผู้ร้ายปุ๊บ ตำรวจก็ตะครุบเลยแหละ เจ้าหน้าที่ก็มีเลย เมื่อเห็นผู้ร้ายปุ๊บเจ้าหน้าที่ก็ปุ๊บเลย อย่างนี้นะถึงจะได้ พวกเรานี้ชอบปล่อยให้มันไปลักของเขาอยู่อย่างนั้นแหละ ไปแง่ไหนมุมไหนก็อยู่อย่างนั้นแหละ มันขนเข้ามาซิทีนี้ ขนเข้ามาชนเข้าเพราะไม่สำรวม เกิดทุกข์เกิดอยากเกิดลำบากวุ่นวายต่างๆนานามันไม่รู้จักอะไรจึงเก็บเอามาเผาตัวเอง อย่างนี้แหละพระพุทธเจ้าของเราท่านจึงให้ภาวนาให้ปฏิบัติ ว่าเฉยๆมันไม่ได้ปฏิบัติ เป็นวิบัติ เรื่องเหล่านี้เกิดจากการกระทำ ถ้าปฏิบัติแล้วไม่กลัว เสื่อมก็เสื่อมไป เจริญก็เจริญไป เรื่องโลกมันเป็นของมันอยู่อย่างนี้มันมีแต่เสื่อมกับเจริญเท่านั้นแหละ นี้คือการปฏิบัติของเรา ไม่ต้องเกรงใจไม่ต้องกลัวไม่ต้องหวาด ไม่ต้องสะดุ้ง จะแก้มันทำไมจะกำจัดอะไร มันเป็นของมัอยู่อย่างนั้น พระพุทธเจ้าก็ปฏิบัติกับสิ่งเหล่านี้ รู้สิ่งอันนี้ รู้สังขารอันนี้รู้ปฏิบัติอันนี้ การปฏิบัติจึงชอบขึ้นมา จึงตั้งขึ้นมา ไม่ต้องน้อยใจอันใดเราละ มันจะดีใจก็ไม่ใช่ที่เอา มันจะเสียใจก็ไม่ใช่ที่เอา มันจะสงสัยก็ไม่ใช่ที่เอา มันจะเป็นอะไรก็ไม่ใช่ของเอาทั้งนั้น ไม่ยากหรอกการปฏิบัตินี้ อยู่คนเดียวผมก็สงสัยเหมือนกันแต่ก่อน ปฏิบัติไปเกิดสงสัย สงสัยก็ไม่ต้องสงสัยมัน ทิ้งหมดทุกอย่างนั่นแหละ อย่าเอามาค้างไว้ในใจของเรา รแล้วก็วาง รู้แล้วก็วาง รู้แล้วก็วาง วางไปเถอะ อยู่ที่ไหน?

อยู่ที่มันว่างๆนั่นแหละ อยู่นั้นแหละ อยู่ที่ไม่สงสัยนั้นแหละเรื่อยๆไป ได้อะไรไม่ได้อะไรก็ไม่ต้องสงสัยมัน ใจเราเมื่อคิดมาเป็นสุขผิด คิดไปเกิดอารมณ์เสียใจผิด คิดไปเกิดเศร้าโศกก็ผิด ผิดหมดทุกอย่างทุกด้าน เสียใจก็ตัณหา ดีใจก็ตัณหา แต่ว่าความดีใจเสียใจนั้นมีไหม?...มีอยู่ แต่ว่ามันเป็นเพียงอาการมัน ถ้าเป็นกล้วยก็มีแต่เปลือกมัน ถ้าเป็นข้าวต้มก็มีแต่เปลือกมัน มันไม่ได้อยู่ในจิตของเรา จิตเป็นผู้รู้เฉยๆก็ปล่อยมันเท่านั้นแหละ อันนี้ไม่ต้องสงสัยหรอการปฏิบัติ เมื่อใจของเรามันเกิดคิดทุกข์ขึ้นมาก็ผิดแล้วผิดเกิดขึ้นมาก็ทุกข์เหมือนกัน แต่อย่าไปหมายมั่น แต่อย่าไปห้ามมัน มันเกิดสุขเกิดทุกข์ก็ไม่ห้าม ทุกข์เกิดขึ้นมาก็ไม่ได้เสียใจกับมัน สุขเกิดขึ้นมาก็ไม่ได้ดีใจกับมัน ต้องดูอยู่อย่างนี้ตลอดกาล "วาง" ลักษณะวางอะไรก็ช่างถ้าเรามีความเห็นอย่างนี้แล้ว ขอแต่ว่าให้ความทุกข์หายออกจากใจของเราได้นั้นแหละถูกแล้ว

http://www.luangta.com/salawatpa/thamma/slp_thamma_talk_text_print.php?ID=212
หน้า: [1]
ดูในรูปแบบกติ: ถึงแม้ว่านั่งอยู่เฉยๆก็เหมือนนั่งสมาธิ