Sornpraram โพสต์ 2015-7-15 06:40

จิตตภาวนาพลานุภาพแห่งธรรม

จิตตภาวนาพลานุภาพแห่งธรรม                                        จิตตภาวนาพลานุภาพแห่งธรรม : วิปัสสนาบนหน้าข่าว โดยพิสุทธิ์ เกรียงบูรพา
http://www.komchadluek.net/media/img/size_photo_slide/2015/07/14/f9bha7ejkkijh6h8ahdif.jpg
                        มีนักเผยแผ่พระศาสนาอยู่ไม่น้อย ที่สนใจฝึกฝนแต่วาทศิลป์และลีลา บ้างก็ออกไปทางตลกโปกฮา บ้างก็ออกไปทางอภินิหาร บ้างก็ออกไปทางสร้างความน่าเชื่อถือโดยยึดกอดพุทธพจน์ไว้คนเดียว บ้างก็ออกไปทางค้าบุญ ขายการตุนเสบียงกันไว้ไปเกิดใหม่กันท่าเดียว ฯลฯ แต่การอบรมตนให้มีคุณธรรมสูง ถึงขั้นโลกุตตรธรรม พวกเขาเหล่านั้นมักจะละเลยเสีย

               อันที่จริง การทำได้อย่างที่สอนเพียงอย่างเดียว นั่นแหละคือ ยอดแห่งพุทธวิธีในการสอนธรรม การเผยแผ่พระศาสนา

               เพราะสิ่งที่สอน จะมีลักษณะที่เรียกว่า “บานออกมาจากข้างใน” มีความจริงใจ คือ “ใจ” มีความรู้สึกอย่างที่พูดออกมานั้นจริงๆ บางทีไม่ต้องพูดด้วยซ้ำ แค่ทำให้ดู อยู่ให้เห็น เย็นว่างให้ได้สัมผัส หรือ พูดน้อยแต่ได้ผลมากก็โอเคแล้ว

               สมัยพุทธกาลมีพระเถระรูปหนึ่ง ใครๆ เรียกท่านว่า “เอกอุทาน” แปลว่า เทศน์สอนอยู่เรื่องเดียว! ท่านประจำพำนักอยู่ในป่า เมื่อเทศน์ทีไร มนุษย์และเทวดาทั้งหลายก็กล่าวสาธุการกันสนั่นหวั่นไหว ลั่นป่า!

                       ต่อมามีพระธัมมถึก ผู้มีความรู้มาก เรียนมาก จดจำได้มาก ไปพำนักในสำนักพระเอกอุทานเถระ ถึงวันอุบาสก ท่านนิมนต์ให้พระธัมมถึก ผู้เป็นอาคันตุกะขึ้นเทศน์ ท่านก็เทศน์แบบจัดเต็ม อย่างวิจิตรพิสดารทีเดียว พอจบลง ปรากฏว่า ไม่มีใครสักคนเดียว ที่สาธุการ เงียบกันไปหมดทั้งมนุษย์ เทวดา หรือ พรหม

               ทั้งนี้เพราะพระธัมมถึกพูดได้อย่างเดียว (ทำไม่ได้ตามที่พูด) แต่พระเอกอุทานท่านทำได้อย่างที่ท่านพูด เรียกว่า “บานมาจากข้างใน” จึงซาบซึ้ง กินใจผู้ฟังยิ่งนัก ไม่ว่าท่านจะกล่าวเทศน์เรื่องเดียว เรื่องเดิม ซ้ำไปซ้ำมา อย่างไรก็ตาม

               ทั้งนี้มิได้หมายความว่า สิ่งที่ตนทำไม่ได้นั้น ให้เลิกพูด-เลิกสอนเสีย ควรจะพูดและสอนอยู่นั่นเอง ทำนองว่า นำคำสอนของพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลาย มาเปิดเผยให้รู้โดยทั่วกัน เผื่อท่านผู้ฟัง ที่มีนิสสัยดี อินทรีย์แก่กล้า จะทำสำเร็จได้อย่างพระอริยเจ้านั้น ตัวอย่างเคยมีมาแล้วในครั้นพุทธกาล...พระสาวกของพระพุทธเจ้ากลุ่มหนึ่งราว ๖๐ รูป กำลังปฏิบัติในป่าพงไพร ขณะนั้นก็มีอุบาสิกาคนหนึ่ง มีจิตศรัทธา เข้ามาใส่บาตรถวายอยู่เนืองๆ พระผู้หนึ่ง ก็ได้สอนกรรมฐานให้แก่อุบาสิกา ได้พิจารณา อาการ ๓๒ อันประกอบ ด้วย ผม – ขน – เล็บ – ฟัน – หนัง เป็นต้น ปรากฏว่า อุบาสิกาท่านนี้พิจารณากรรมฐานอยู่ไม่นานก็สำเร็จเป็นพระอานาคามิผล (อริยบุคคลชั้นที่ ๓) ในขณะที่ภิกษุผู้บอกกรรมฐานแก่นางนั้น ยังไม่สำเร็จในขั้นไหนเลย!

                       ด้วยเหตุนี้และเหตุนี้ พุทธวิธีที่ดีที่สุด คือ ทำได้ดั่งที่สอนคนอื่นเขาด้วย ส่วนการจะทำเช่นนั้นได้ ต้องเป็นผู้ที่ปรารภความเพียร หมั่นกระทำจิตภาวนา กระทั่งเกิดความรู้ระดับภาวนามยปัญญา (รู้แจ้งเห็นจริง) นั่นเอง เวลาจะกล่าวบรรยายธรรมครั้งใด ก็จะเกิดพลานุภาพแห่งธรรมนั้น อย่างไม่ต้องสงสัยเลย ไม่จำเป็นต้องติดตลกเวลาบรรยาย ไม่จำเป็นต้องโฆษณาชวนเชื่อจนเฝือ ไม่จำเป็นต้องมีวัตถุมงคล น้ำมนต์ ของขลัง ต่างๆ มาล่อ แต่อย่างใด

               และถ้านักเผยแผ่ธรรม ผู้ทำได้อย่างที่ตนเองสอน มีมากขึ้นในแผ่นดินไทย ก็จะเกิดผู้ฟังธรรมที่เข้าใจหลักธรรมที่ถูกต้องมากยิ่งๆ ขึ้น ศรัทธาเพิ่มขึ้น หมั่นปฏิบัติปรารภความเพียรกันเป็นกิจวัตรประจำวัน เป็นเรื่องปกติ เมื่อนั้นชาวไทยเราจะนั่งสมาธิอย่างเป็นสัมมาสมาธิ ฝึกจิตภาวนากันวันละ ๒-๓ รอบ (เหมือนการกินข้าว) หรือ มีสติไปทุกขณะที่ทำกิจกรรมต่างๆ นานา สังคมอุดมปัญญาก็ไม่ไกลเกินฝัน มันสามารถเป็นไปได้ ที่นี่ และเดี๋ยวนี้ เมื่อเรา “บานจากข้างใน”

               โดยความเห็นส่วนตัวของผมคิดว่า นี่แหละคือการปฏิรูปพุทธศาสนาที่แท้จริง และจะส่งผลอย่างมหึมาครับ

        อย่าว่าแต่เขา แล้วอิเหนาเป็นเอง

        อย่าสอนธรรมเก่ง แต่ตัวเองเหลวไหล

        สอนไปพลาง ปฏิบัติไปพลาง จึงเห็นผลไซร้

        ทำได้ตามที่สอน คือยอดแห่งการสอนธรรมฯ

http://www.komchadluek.net/detail/20150715/209769.html

Sornpraram โพสต์ 2015-7-28 18:26

{:6_200:}{:6_200:}{:6_200:}
หน้า: [1]
ดูในรูปแบบกติ: จิตตภาวนาพลานุภาพแห่งธรรม