ปฏิบัติแบบโง่ๆ
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย รามเทพ เมื่อ 2022-4-22 05:22ปฏิบัติแบบโง่ๆ
นับเป็นเวลาที่ค่อนข้างยาวนานทีเดียว กว่าที่คำพูดที่หลวงพ่อดู่เคยพูดสอนว่า ในเวลาปฏิบัติสมาธิภาวนา ให้ปฏิบัติแบบโง่ๆ นั้น จะค่อยๆ กระจ่างชัดขึ้นเรื่อยๆ การอ่านมาก รู้มาก บางครั้งก็เป็นดาบสองคม
เพราะในด้านหนึ่ง การรู้มาก ก็ช่วยให้สามารถมองเห็นเส้นทางเดิน รวมทั้งเห็นสิ่งที่ต้องระมัดระวังล่วงหน้า ฯลฯ
แต่อีกด้านหนึ่ง ความรู้มากนั้น ก็จะมาเป็นตัวอุปสรรคเสียเอง เช่น เผลอคิดว่าความรู้ (รู้จำ) นั้นเป็นปัญญา (รู้จริง) เกิดเป็นทิฏฐิมานะ ปิดกั้นการดูดซับความรู้จากภายนอก
ที่สำคัญในขณะปฏิบัติจิตภาวนานั้น ความรู้มากนี้ก็กลายเป็นสิ่งรุงรังในจิตใจ ใช้ความคิดผิดกาลเทศะ จนกลายเป็นตัวสร้างนิวรณ์บ้าง คิดไปล่วงหน้าตามประสาคนรู้มากบ้าง คอยใส่ชื่อเรียกให้กับสภาวะต่างๆ ที่กำลังประสบบ้าง คอยสงสัยนั่นนี่บ้าง
การรับรู้หรือสัมผัสจึงไม่เป็นไปอย่างตรงไปตรงมา แล้วเจ้าตัวก็ยังสำคัญตัวว่ากำลังคิดพิจารณาหรือมองดูสภาวะต่างๆ ตามความเป็นจริง ทั้งๆ ที่ของจริง "นิ่งเป็นใบ้"
พอจิตเข้าไปปรุงแต่งจนรุงรังไปหมดแล้ว จึงยากที่จะถอยออกมาให้เห็นไปตามสภาวะที่มันเป็นอย่างธรรมชาติ หากแต่เป็นไปอย่างที่จิตเราอยากให้มันเป็น
จึงมาตระหนักว่าการปฏิบัติแบบโง่ๆ นี้ สำคัญมาก และจะต้องวางความรู้ต่างๆ ไว้ข้างนอกเสีย กระทั่งเพิกสัญญาความมั่นหมายว่าเราว่าเขา ว่านั่นว่านี่ออกเสีย แล้วรู้สิ่งที่มากระทบใจอย่างว่าเป็นสภาวะล้วนๆ
นี่แหละหนา หลวงพ่อดู่ถึงว่า "สอนคนรู้มาก นั้นสอนยาก สู้สอนเด็กๆ หรือคนรู้น้อยไม่ได้"
คติธรรมคำสอนโดย... หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ วัดสะแก ต.ธนู อ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธย
http://1.bp.blogspot.com/-dMQgS1DSG7k/Um-R5mp6IjI/AAAAAAAAChM/bduOh9oF0TA/s640/index.php.jpg
หน้า:
[1]